-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ข่าวเกษตร...ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างโลกทัศน์ 6938-24-1800
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ข่าวเกษตร...ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างโลกทัศน์ 6938-24-1800
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ข่าวเกษตร...ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างโลกทัศน์ 6938-24-1800
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10  ถัดไป
 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 4:32 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การุณย์ มะโนใจ

ข้าวก่ำ พันธุ์พืชสำคัญทางโภชนาการ ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ข้าว เป็นธัญพืชหลักเพื่อการบริโภคของคนไทยทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว หรือข้าวเจ้า ในอดีตคนไทยนิยมบริโภคข้าวที่ผ่านการสีด้วยวิธีโบราณ เช่น การใช้ครกไม้ ใช้ครกกระเดื่อง จะได้ข้าวสารที่มีสีธรรมชาติ มีจมูกข้าวที่ให้ธาตุอาหารและช่วยป้องกันรักษาโรคบางชนิด ปัจจุบัน ข้าวสาร ที่รับประทานจะได้จากการสีของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งสีข้าวได้รวดเร็วและปริมาณมาก ข้าวสารที่ได้เป็นสีขาว แต่ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้หายไปกับเปลือกข้าว รำข้าว แม้แต่จมูกข้าวต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของปลายข้าว จะเห็นได้ว่าขณะนี้เริ่มให้ความสำคัญของข้าวจากธรรมชาติ นิยมบริโภคข้าวกล้อง ข้าวที่ไม่ได้ขัดสี แต่ยังมีข้าวอีกชนิดหนึ่งที่บางคนอาจจะลืมไปแล้วว่า เป็นข้าวที่ให้สีออกแดงหรือแดงก่ำ หรือสีม่วงจากธรรมชาติ มีคุณค่าทางอาหารมาก นิยมนำไปประกอบเป็นขนมหวาน ข้าวหลาม ขนมเทียน มากกว่าการบริโภคโดยตรง นั่นคือ ข้าวก่ำ หรือข้าวเหนียวดำ ความเชื่อแต่โบราณว่า เป็นข้าวประกอบพิธีกรรมในการบำบัดรักษา สีของข้าวก่ำออกแดงม่วง เป็นธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ในการป้องกันโรคและแมลง โดยถือว่าข้าวก่ำเป็นพญาข้าวที่สามารถสังเคราะห์และปล่อยสารที่ช่วยป้องกันแมลงและโรคให้แก่ข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกใกล้เคียงกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการปลูกข้าวก่ำแทรกในการปลูกข้าวอื่นๆ ข้าวก่ำมีหลายชื่อ ชื่อที่ภาคกลางรู้จักกันดีคือ ข้าวเหนียวดำ ภาคใต้เรียก เหนียวดำ บางที่ก็เรียกข้าวนิล ที่เอามาทำขนม ข้าวหลาม นั่นแหละ

ส่วน ข้าวก่ำ เป็นชื่อเรียกของทางภาคเหนือและทางอีสาน ข้าวก่ำน่าจะมาจากคำว่า แดงก่ำ จากการค้นหาข้อมูล พบว่า ข้าวก่ำ (Purple Rice) เป็นข้าวพื้นเมืองของเอเชีย มีชื่อเรียกหลายหลากชื่อมาก ทั้งข้าวเหนียวดำ (Black Sticky Rice) ที่บ้านเรารู้จักกันดี ข้าวที่ถูกลืม (Forbidden Rice) ซึ่งหมายถึงข้าวที่ไม่ใช่ข้าวเศรษฐกิจ ไม่นิยมปลูกกัน ข้าวป่า (Wild Rice) ข้าวดำจีน (Chinese Black Rice) โดยในประเทศไทยมีอยู่กว่า 42 สายพันธุ์ ในยุโรปและอเมริกาก็มีข้าวก่ำที่ตั้งวางขายตามตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่ก็ไปจากไทย อินโดนีเซีย สำหรับบ้านเราก็มีขายบนห้างเหมือนกัน โดยเอกชนหลายบริษัทที่ผลิตออกมาจำหน่าย จากชื่อภาษาอังกฤษว่า Black Glutinousrice น่าจะแปลว่า ข้าวเหนียวสีดำ อันเป็นคุณสมบัติของข้าวก่ำคือ หุงแล้วมันจะเหนียวๆ เป็นยางติดมือ สีของข้าวก่ำออกแดงม่วง ด้วยคุณค่าทางอาหารของข้าวก่ำ นอกจาก ไขมัน 4.6 คาร์โบไฮเดรต 25.5 ไฟเบอร์ 16.6 วิตามินเอ 0.38 วิตามินบี 1 36.67 วิตามินบี 2 17.1 แคลเซียม 3.25 เหล็ก 15.33 รวมทั้ง โปรตีน และวิตามินอีอีกเล็กน้อย แต่ที่สำคัญคือสารสีม่วงแดงของเปลือกหุ้มเมล็ด คือแอนโทไซยานิน และแกมมาโอไรซานอล โดยแอนโทไซยานิน มีคุณสมบัติในการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ช่วยการหมุนเวียนของกระแสโลหิต ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ร่างกาย ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โดยเฉพาะแอนโทไซยานิน ชนิดพบในข้าวสีม่วงกลุ่มอินดิก้า ซึ่งก็รวมข้าวก่ำไทย คือไซยานินไซด์สาม ก็ได้มีการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด ส่วนสารแกมมาโอไรซานอล นอกจากจะมีคุณสมบัติเป็นการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเช่นเดียวกันแล้ว ยังสามารถลด คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับของ high density lipoprotien (HDL) หรือไขมันที่มีประโยชน์ในเลือด และยังมีผลต่อการทำงานของต่อมใต้สมอง ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ลดน้ำตาลในเลือด และเพิ่มระดับของฮอร์โมนอินซูลินของคนเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ต้านการหืนของไขมันในรำข้าว และของนมผงไขมันเต็ม รวมทั้งกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในคนด้วย

ข้าวก่ำ นอกจากการเอาไปทำขนมและข้าวหลามอย่างที่เรารู้ๆ กันแล้ว สามารถนำข้าวก่ำไปทำเป็นข้าวต้มและข้าวสวยด้วย วิธีแรกใช้ข้าวก่ำผสมกับข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ต่อ 1 เมื่อนำไปต้มจะทำให้ข้าวต้มที่ได้มีความเหนียวนุ่ม อร่อย และรสชาติดี วิธีที่ 2 นำ ข้าวก่ำ (ข้าวเหนียว) หนึ่งหยิบมือ ผสมกับข้าวสาร (ข้าวเจ้า) ประมาณ 2 กระป๋อง เอามาหุง เวลาหุงแล้ว ข้าวสวยทั้งหมดจะมีสีคล้ายๆ ข้าวกล้อง ออกม่วงๆ หน่อย มียางเล็กน้อย ข้าวจะหอม น้องๆ ข้าวหอมมะลิเลย กินอร่อยดี แต่เก็บไว้ได้ไม่นานจะบูดเร็ว เวลาหุงต้องพอดี คนเห็นอย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมกินข้าวก่ำเป็นประจำนะครับ

ดร. ดำเนิน กาละดี หัวหน้าหน่วยวิจัยข้าวก่ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดตั้งเป็นหน่วยวิจัยข้าวก่ำ ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวก่ำพื้นเมืองของไทยมาตั้งแต่ปี 2539 ปฏิบัติงานด้านการรวบรวมและวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด คณะผู้วิจัยได้เพียรพยายามรวบรวมพันธุ์ข้าวก่ำพื้นเมืองจากแหล่งปลูกข้าวต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 42 พันธุ์ จากการดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้การยอมรับและขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่คือ ข้าวเหนียวดำ พันธุ์ก่ำดอยสะเก็ด และพันธุ์ก่ำอมก๋อย ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 นอกจากนี้ ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ อันเนื่องมาจากผลงานวิจัยข้าวก่ำ ในชื่อผลิตภัณฑ์ว่า กรรมวิธีผลิตข้าวก่ำมอลล์ กรรมวิธีผลิตข้าวก่ำมอลล์เฟลก ข้าวก่ำมอลล์เอกแพน หรือเอกซ์ทรูด และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวิธีนี้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549

หัวหน้าวิจัยข้าวก่ำ เล่าต่อว่า ผลงานวิจัยสำคัญได้นำเสนอเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการ คือคุณประโยชน์เชิงโภชนาการศาสตร์เกษตร คือข้าวก่ำมีสารต้านอนุมูลอิสระ แอนโทไซยานิน และแกมมาโอซานอล ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีผลที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเส้นเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ในด้านการเป็นสมุนไพรที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือคือ ใช้เป็นสมุนไพรสำหรับหญิงที่ตกเลือดในขณะคลอดบุตร ใช้ทำเป็นข้าวหลามรักษาโรคท้องร่วง ใช้ข้าวก่ำผสมกับดินประสิวช่วยรักษาโรคหิด ฯลฯ

ในอนาคต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะสามารถผลิตข้าวก่ำที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านโภชนาการศาสตร์เกษตร ด้านโภชนาการสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการอนุรักษ์ข้าวก่ำ ข้าวพื้นเมืองของไทยที่มีคุณภาพ เป็นการพัฒนาข้าวก่ำให้สามารถแข่งขันในตลาดเสรีได้อย่างภาคภูมิใจ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยวิจัยข้าวก่ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. (053) 944-045 งานประชาสัมพันธ์ (084) 043-3806

ในส่วนของจังหวัดพะเยาถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์ข้าวก่ำแห่งหนึ่งของประเทศไทย ยืนยันได้จากมีตำบลหนึ่งในอำเภอจุน ชื่อว่าตำบลห้วยข้าวก่ำ อันแสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวได้ปลูกข้าวก่ำมาเนินนานแล้ว ตัวแทนเกษตรกรข้าวก่ำพะเยา ซึ่งเข้าร่วมประชุมการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ร่วมกับกรมการข้าว เพื่อร่วมหาแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ของกรมการข้าวให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรมการข้าว โดยสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว จัดประชุมแสดงความคิดเห็นและกำหนดแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ของกรมการข้าวขึ้น เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดประชุมไปใช้เป็นกรอบและแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ให้มีความทัดเทียมกับมาตรฐานนานาชาติและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก่ำสายพันธุ์พะเยา ของจังหวัดพะเยาได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

โดย คุณบุญรอง ปิยวรรณหงษ์ ประธานกลุ่มข้าวก่ำพะเยา กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทางกลุ่มได้รับความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความสำคัญของมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ของกรมการข้าว ตลอดจนได้ระดมความคิดเห็นในการปรับมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เตรียมขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวก่ำสายพันธุ์พะเยาให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดพะเยา เพื่อรักษาพันธุ์ข้าวของจังหวัดให้คงอยู่ต่อไป ผ่านการแนะแนวความรู้เรื่องของการเพาะปลูกข้าวและการเกษตรแบบอินทรีย์ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวก่ำอินทรีย์ ตลอดจนร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการทำนาข้าวอินทรีย์ได้ที่ คุณบุญรอง ปิยวรรณหงษ์ ประธานกลุ่มข้าวก่ำพะเยา เลขที่ 59 หมู่ที่ 8 ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 56150 โทร. (054) 896-062 หรือ (086) 115-7131 และเว็บไซต์ http://blackricephayao.co.c

ก่อนหน้านี้ทางกรีนพีซได้จัดกิจกรรม "ปลูกรักให้ต้นข้าว" ในวันแห่งความรัก เพื่อสร้างสรรค์ศิลปะบนนาข้าวอินทรีย์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดราชบุรี โดยปลูกข้าวในนาข้าว 2 สี (ข้าวสีทองกับข้าวก่ำสีดำ) ขนาด 10 ไร่ เพื่อสร้างศิลปะอันสวยงาม ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งได้มีการร่วมหารือเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรมอินทรีย์กับปราชญ์ข้าวไทย การสอนการทำสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น น้ำส้มควันไม้ ที่ชาวนาผลิตขึ้นเพื่อใช้ไล่แมลงในนาข้าว โดยศิลปะบนนาข้าวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นศิลปะที่เกิดจากต้นข้าวในพื้นที่ 10 ไร่ คือ ข้าวสายพันธุ์ชัยนาท 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้า ชนิดไม่ไวแสง ลำต้นและกาบใบมีลักษณะสีเขียว เมื่อนำมาปักดำจะให้สีเขียวเป็นพื้นหลังของภาพ และพันธุ์ก่ำพะเยา ซึ่งให้สีดำจนสามารถสร้างสรรค์เป็นภาพชาวนาและลวดลายต่างๆ บนผืนนา และรอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในราวเดือนพฤศจิกายน 2552

คุณบุญรอง กล่าวว่า ข้าว ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อคนไทยและประชาชนทั่วโลก หากชาวไทยทุกคนร่วมกันรักษาสายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของประเทศ เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านการเพาะปลูกข้าวด้วยวิธีเกษตรกรรมยั่งยืน วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การปกป้องข้าวไทยให้พ้นจากเทคโนโลยีที่เสี่ยงอย่าง จีเอ็มโอ และมุ่งสู่การทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะให้ผลผลิตที่ดีแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีที่เป็นอันตรายอีกด้วย

คุณบุญรอง บอกว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมากรีนพีซนำความภาคภูมิใจในข้าวไทยมาสู่คนไทยทั้งประเทศ เมื่อกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดส์ได้ออกประกาศนียบัตรยกย่องให้ประเทศไทยเป็น ประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก พร้อมเรียกร้องให้ชาวไทยร่วมปกป้องข้าวไทยให้ปลอดจากการดัดแปลงพันธุกรรม ประธานกลุ่มผู้ปลูกข้าวก่ำ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ให้ความสนใจข้าวก่ำสายพันธุ์พะเยาเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะบนนาข้าวร่วมกับทางกรีนพีซ ที่ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ประกอบกับคุณค่าทางสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของข้าวก่ำเอง ยิ่งทำให้กลายเป็นที่น่าสนใจของสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคจากต่างจังหวัดมากกว่าคนในพื้นที่ที่ยังพบว่าได้รับความสนใจที่น้อย โดยได้รับการประสานงานติดต่อขอซื้อพันธุ์ข้าวดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการจำหน่าย ซึ่งต้องการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสิ่งสำคัญเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดพะเยา

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเครือข่ายเกษตรผู้ปลูกข้าวก่ำสายพันธุ์พื้นเมืองพะเยา ยังไม่หยุดนิ่งในการพัฒนากระบวนการด้านเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เข้าอบรมและศึกษาดูงานร่วมกับสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว ที่โรงเรียนชาวนาเกษตรอินทรีย์บ้านดอนหมู ตำบลขามเตี้ย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการผลิตข้าวอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารอินทรีย์ รวมถึงพัฒนาข้าวอินทรีย์ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างครบวงจรต่อไป


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 4:42 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

นิพนธ์ สุขสะอาด

"สวนจาก" พืชเลี้ยงชีวิต เลี้ยงเศรษฐกิจชุมชน

ต้นจาก พืชตระกูลปาล์ม ชอบขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำ และมีน้ำกร่อย น้ำเค็มท่วมถึงในบางฤดู อย่างเช่น ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง เกษตรกรทำมาหากิน โดยใช้ผลผลิตจากสวนจาก เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงชุมชนมาหลายชั่วอายุคน สินค้าหลักคือ "น้ำตาลจาก" ที่เป็นสารตั้งต้นของอาหารแปรรูปหลากหลายชนิด

คณะทำงานประชาสัมพันธ์ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นัดหมายกับเกษตรอำเภอปากพนัง (คุณวิจิตร นวลพลับ) และคณะ ให้ช่วยประสานงานกับเกษตรกรที่ทำสวนจาก ในอำเภอปากพนัง เพื่อเก็บข้อมูลมาเผยแพร่เมื่อหลายวันก่อน คณะได้เดินทางถึงบ้านป่าขลู่ หมู่ที่ 2 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. โดยมีคณะผู้นำชุมชนคอยต้อนรับ นำโดย ผู้ใหญ่เจริญ ชื่นสระ ผู้ใหญ่บ้าน คุณปรีชา แก้วกาญจน์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คุณสุชาติ สระศรีสุวรรณ ส.อบต.ขนาบนาก คุณหมูแม้ ศรีนุ่นวิเชียร ปราชญ์ชาวบ้าน และเกษตรกรผู้ทำสวนจากอีกหลายคน ต้อนรับกันตามธรรมเนียม ก่อนนำคณะลงแปลงดูวิถีชีวิตการเก็บเกี่ยวน้ำหวานจาก ถึงในแปลงของเกษตรกร คณะทำงานได้เก็บภาพขั้นตอนการผลิตน้ำตาลจาก ที่สำคัญๆ เสร็จพร้อมๆ กับที่เจ้าของแปลงเก็บเกี่ยวน้ำหวานเสร็จและนำมารวบรวม ณ โรงเตา คณะทำงานก็ได้เดินทางมาสมทบกันที่ศาลาโรงเตา ดูขั้นตอนการปฏิบัติไปพลาง เปิดวงคุยกันไปพลาง จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจและนำมาเสนอดังต่อไปนี้

คุณปรานี สงดำ หญิงแกร่ง วัย 62 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 2 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง ได้เล่าให้คณะฟังว่า ตนเองสืบทอดการทำสวนจาก มาจากรุ่นพ่อ ซึ่งมีอายุสวนประมาณ 100 ปี ตนมีสวนจากจำนวน 20 ไร่ เริ่มทำมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ขณะนี้อายุ 62 ปี รวมประสบการณ์ 44 ปี โดยคุณปรานีเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนต่างๆ พอลำดับได้ดังนี้

1. การจัดการสวนจาก ในพื้นที่ 20 ไร่ จะใช้วิธีการจัดการสวนแบบหมุนเวียน แบ่งพื้นที่ใช้ ครั้งละ 5 ไร่ เก็บเกี่ยวน้ำหวาน 3-4 เดือน จึงเปลี่ยนไปใช้แปลงถัดไป การหมุนเวียนดังกล่าวจะเป็นการพักฟื้นแปลงไปในตัวซึ่งจะเหมาะกับแรงงานที่มีเพียง 2 คนในครอบครัว

2. การเลือกต้นและทะลายที่จะใช้ ต้นอายุอย่างน้อย 7 ปี เลือกทะลายที่มีความสมบูรณ์ ก้านทะลายใหญ่ยาว ผลอยู่ในระยะผลอ่อน ใน 1 กอ จะเลือกเอา 2 ทะลาย

3. การเตรียมงวง เมื่อเลือกทะลายเสร็จแล้ว ทำความสะอาดพื้นที่ ตัดแต่งกาบก้านทะลาย และใช้ไม้ตะพดตีที่บริเวณกลางๆ ก้านทะลาย เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำหวาน โดยตีวันละ 1 รอบ รอบละประมาณ 50 ครั้ง ตี 5 วัน ติดต่อกัน พักไว้ 15 วัน แล้วกลับมาตีต่ออีก 5 วัน

4. การปาดงวง โดยใช้มีดทับที่มีความคมมากๆ ลักษณะคล้ายเคียว นำมาตัดทะลายออกให้เหลือเฉพาะก้านทะลาย หลังจากปาดงวง จะมีน้ำหวานไหลออกมา แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำหวาน หลังจากนั้นจะต้องปาดหน้างวงทุกเช้าเย็น จนกว่าจะหมดงวง

5. การรองรับน้ำหวาน เกษตรกรจะต้องเตรียมกระบอกไม้ไผ่ไว้ให้เพียงพอกับปริมาณงวงที่ทำ ก่อนนำกระบอกไม้ไผ่ไปใช้จะต้องล้างทำความสะอาด ลวกฆ่าเชื้อ และวางเอียงคว่ำให้สะเด็ดน้ำก่อน นำสะเก็ดเนื้อไม้เคี่ยม จำนวน 1 หยิบมือ ใส่ลงในกระบอกเพื่อช่วยกันบูด ก่อนนำกระบอกไปรองรับน้ำหวาน

6. การเก็บเกี่ยว ทุกๆ วัน ระหว่างเวลา 11.00-12.00 น. จะเป็นช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวน้ำหวานทุกต้น ทุกงวง จะถูกเก็บมารวบรวมที่โรงเตา โดยใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง

7. การเคี่ยวน้ำหวาน หลังจากเก็บเกี่ยวน้ำหวานมารวมที่โรงเตา จะต้องเริ่มขั้นตอนการเคี่ยวทันที โดยการนำน้ำหวานจากทุกกระบอกมาผ่านตะแกรง เพื่อกรองสิ่งเจือปนออก นำลงกระทะใหญ่และติดไฟเพื่อเคี่ยวน้ำหวาน เคี่ยวนาน 2 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 3 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำตาลปึก ที่พร้อมจำหน่ายได้ โดยเฉลี่ยน้ำหวาน 6 ปี๊บ จะได้น้ำตาล 1 ปี๊บ ซึ่งกำลังการผลิตของคุณปรานี จะผลิตน้ำตาลได้ประมาณวันละ 1 ปี๊บ

8. ต้นทุนการผลิต และรายได้ในการผลิตน้ำตาล 1 ปี๊บ จะต้องใช้ต้นทุนเป็นค่าปี๊บ ค่าไม้เคี่ยมและค่าฟืน ประมาณ 130 บาท ส่วนค่าแรงงาน และค่าเสื่อมราคาของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ได้คิด เมื่อขายน้ำตาลได้ปี๊บละ 900 บาท จะมีกำไรเบื้องต้นประมาณ 700 บาทเศษ

9. ปัญหาอุปสรรค ที่พบนับว่าน้อยมาก อาจจะมีหนู หรือกระรอก มากัดแทะกระบอกน้ำหวานบ้าง ไม้เคี่ยมหาซื้อยาก และปัญหากระทบแล้งในบางฤดูทำให้ได้น้ำหวานน้อย

10. การตลาด นับว่าลู่ทางดีมาก เพราะน้ำตาลจากจะนำไปใช้ประโยชน์ เป็นส่วนประกอบอาหารหลายชนิดมาก โดยเฉพาะส่วนผสมของขนมพื้นเมืองต่างๆ ในช่วงวันสาร์ทเดือนสิบ ขนมทั่วไป และเป็นวัสดุตั้งต้นที่สำคัญของสุรากลั่น ที่ใช้กันแพร่หลายมาก

คุณอรุณ สังข์สิงห์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้รับผิดชอบตำบลขนาบนาก บอกว่า ขณะนี้พื้นที่สวนจาก ทั้งที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติ และที่เกษตรกรปลูกขึ้น ในตำบลขนาบนาก ประมาณ 7,500 ไร่ ผู้ถือครองทั้งหมดเป็นเกษตรกรในพื้นที่ ใช้ประโยชน์ทั้งจัดการเองและให้เพื่อนบ้านเช่า ทำน้ำตาลจาก

ส่วนคณะผู้นำชุมชน ร่วมกันให้ข้อมูลว่า การทำสวนจาก นับเป็นอาชีพที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำปากพนังนับหลายร้อยปี และจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนตลอดไป เพราะทุกส่วนของต้นจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่ยอดอ่อนนำมาตากแห้งขายเป็นใบจากมวนยาสูบ ใบแก่ใช้ทำวัสดุมุงหลังคา ใช้ห่อขนม ทางใบใช้ทำเชื้อเพลิง ช่อดอก ดอกอ่อน และผลอ่อนใช้ประกอบอาหาร ผลแก่ใช้ทำเชื้อเพลิง ฯลฯ คนในชุมชนมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับสวนจาก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทุกคนจึงช่วยกันอนุรักษ์ป่าจาก ไม่ทำลาย ไม่ขายที่ดิน ส่งเสริมการปลูกเพิ่ม พยายามขยายแนวคิด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย พัฒนาคุณภาพ ความสะอาดปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากขึ้น ขณะนี้มีรายได้เข้าชุมชนไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ล้านบาท นอกจากจะมีพ่อค้ามารับซื้อจากจังหวัดพัทลุง นราธิวาส กระบี่ และจังหวัดอื่นๆ และการนำน้ำตาลไปเป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ แล้วคนในชุมชนยังได้ร่วมกันคิดพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตสุรากลั่นในพื้นที่ถึง 8 โรง เป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

ท่านใดสนใจจะศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนจาก หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่เจริญ ชื่นสระ โทร. (081) 958-3201 หรือคุณปรานี สงคำ โทร. (087) 275-5247 ได้ทุกวัน


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 4:58 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ข้าวหอมมะลิ ชนะเลิศในเวทีโลก

ข้าวหอมมะลิไทย สร้างชื่อเสียงกระหึ่มในเวทีประชุมข้าวโลก ซี.พี. ส่งข้าวฉัตรทอง-ข้าวหอมมะลิ 100% เข้าประกวดคว้ารางวัลชนะเลิศ "ข้าวที่ดีที่สุดในโลก" โดยมติเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการตัดสิน 7 ท่าน สร้างเกียรติภูมิให้ข้าวหอมมะลิไทย

คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด (ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราฉัตร) บอกว่า ข้าวหอมมะลิตราฉัตรทอง ได้รับการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ "ข้าวที่ดีที่สุดในโลก" (World"s Best Rice Award 2009) ในการสัมมนาข้าวโลก ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

งานประชุมข้าวโลก 2009 (World Rice Conference 2009) ถือเป็นงานสัมมนาระดับนานาชาติสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดการค้าข้าวทั่วโลก ใช้เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ สถานการณ์ด้านข้าว และสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมค้าข้าว โดยมีผู้ประกอบการ-ผู้บริหารจาก 200 องค์กรที่เกี่ยวข้องในแวดวงการค้าข้าวและด้านการเกษตรจำนวนกว่า 500 คน จาก 33 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม และในงานนี้ได้มีการเปิดตัวโครงการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก (Best Rice in the World) ขึ้นเป็นครั้งแรก

"การประกวดครั้งนี้ถือเป็นครั้งปฐมฤกษ์ โดยผู้จัดคือองค์กรการค้าข้าว ซึ่งเป็นองค์กรหลักในธุรกิจการค้าข้าวระหว่างประเทศ ร่วมกับวารสารตลาดข้าวนานาชาติ จัดขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งยังไม่เคยมีเวทีการสัมมนาด้านข้าวที่ใดเคยจัดมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องข้าวคุณภาพของแต่ละประเทศ และกระตุ้นให้มีการพัฒนาสินค้าข้าวของผู้ส่งออกในแต่ละแบรนด์และถือเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะจัดให้มีการประกวดต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปของการสัมมนาข้าวโลก"

สำหรับ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ได้ส่งข้าวหอมมะลิตราฉัตรทอง ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 100% เกรดพรีเมี่ยมเข้าประกวด โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร อาทิ ซีวิงเกอร์ และแพทริค แมคดอนเนล หุ้นส่วนของแมคดอนเนล คินเดอร์ และสมาคมบริษัท ที่ปรึกษาเกี่ยวกับการทำอาหารในสหรัฐอเมริกา โจนาธาน จัสตัส พ่อครัวชั้นแนวหน้าของร้านอาหารชื่อดัง-จัสตัส ที่สมิธวิล มลรัฐมิสซูรี ซึ่งชนะการประกวด "Lord of the Rice" รวมถึงพ่อครัวที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่มและรูปร่างลักษณะ โดยใช้วิธีตัดสิน แบบการทดสอบโดยไม่เปิดเผยตราสินค้า (Blind testing) ปรากฏว่า ข้าวหอมมะลิตราฉัตรได้รับการลงมติ ให้เป็นข้าวที่ดีที่สุดอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการ ที่ได้ชิมรสชาติของข้าวที่ส่งเข้าประกวดกว่า 20 ตราจากนานาประเทศ

"ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพดี และเป็นข้าวหอมหนึ่งเดียวของโลกที่มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ และรสชาติอร่อย จึงนับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย และชาวนาไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวที่ดีที่สุดในโลก" คุณสุเมธ กล่าว

ข้าวหอมมะลิตรา "ฉัตรทอง" ใช้สายพันธุ์ข้าวขาวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและรสชาติที่ให้ความหอมและความนุ่มเมื่อหุงสุกแล้ว ผ่านการคัดสรรแหล่งวัตถุดิบควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนการผลิต ระบบการปรับปรุงคุณภาพข้าวด้วยอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ทันสมัยมาตรฐานระดับโลก และการแพ็กสินค้าบรรจุถุง ภายใต้การควบคุมอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นสำหรับการบริโภคภายในประเทศหรือการส่งออก

ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ยังได้เปิดเผยด้วยว่า ในโอกาสที่ข้าวตราฉัตรทองได้รับรางวัลอันมีคุณค่านี้ ทางบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จึงได้มีนโยบายที่จะเผยแพร่คุณภาพและความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น สร้างภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยให้โดดเด่นในตลาดโลก เสริมสร้างเกียรติภูมิของประเทศไทยและชาวนาไทยในฐานะผู้ผลิตข้าวที่ดีที่สุดของโลก ขณะเดียวกันจะเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ครองใจผู้ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก สมดังนโยบายธุรกิจที่ยึดมั่นมาโดยตลอดของข้าวตราฉัตรคือ

"ข้าวตราฉัตร มาตรฐานแน่นอนทุกถุง เหมือนกันทั่วโลก"

ข้าวตราฉัตร เป็นสินค้าส่งออกของกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปัจจุบันได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นข้าวสารบรรจุถุงที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นก็มีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ถึง 102 ประเทศทั่วโลก


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:04 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

กุณฑล เทพจิตรา

บุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรดีเด่นสาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2552 ผู้นำการผลิตหัวพันธุ์และการคิดค้นเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อสร้างมาตรฐานการปลูกมันฝรั่ง

เมื่อครั้งปี 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรแปลงปลูกมันฝรั่งของ คุณบุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรที่ได้ทำงานทดลองวิจัยร่วมกับโครงการหลวงที่บ้านเจดีย์แม่ครัว ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และทรงรับสั่งก่อนจะเสด็จกลับว่า "มันฝรั่ง ไม่ใช่พืชท้องถิ่นของเรา ดูแล้วการพัฒนาการปลูกมันฝรั่งไม่ใช่เรื่องง่าย คงต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องเหนื่อยอีกนาน แต่ถ้าทำสำเร็จได้ จะช่วยให้คนอีกจำนวนมาก มีอาชีพที่ดีทำ ขอให้อดทนหน่อยนะ"

จากวันนั้นถึงวันนี้ 24 ปี ที่คุณบุญศรี ใจเป็ง ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการทดสอบ ทดลองและวิจัยเกี่ยวกับการปลูกและการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งร่วมกับโครงการหลวง สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถผลิตหัวพันธุ์ลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งยังได้บริการเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งมีความรู้และการจัดการที่ถูกต้องในการผลิตมันฝรั่งที่ได้คุณภาพ

ความคิดริเริ่มและความพยายาม ในการพัฒนาการผลิตมันฝรั่ง
มันฝรั่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับต้นๆ ของชาวโลก ประเทศไทยมีการปลูกมันฝรั่งมาหลายสิบปีแล้ว การบริโภคมันฝรั่งในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ทั้งตลาดหัวมันฝรั่งสดและหัวมันฝรั่งเพื่อการแปรรูป ในแต่ละปีได้มีการนำเข้าหัวมันฝรั่งเพื่อการเพาะปลูกในประเทศ คิดเป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตมันฝรั่งของเกษตรกรสูงขึ้นตาม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า จึงสามารถจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ นอกจากนี้แล้ว ยังได้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องจักรกลเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันฝรั่งจนเป็นที่ยอมรับและขยายผลอย่างกว้างขวางแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง จากการที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพที่เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่ยอมรับแก่คนทั่วไปและสังคมส่วนรวม ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติ เมื่อปี 2547

ผลงานความสำเร็จและการขยายผล ด้านการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งปลอดโรคทดแทนการนำเข้า
[/color]
ในอดีตประเทศไทยต้องนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งแต่ละปีคิดเป็นมูลค่านับหลายร้อยล้านบาท ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทางคุณบุญศรี ใจเป็ง ได้เป็นผู้นำในการทำงานทดลองและวิจัยร่วมกับโครงการหลวง มหาวิทยาลัยแม่โจ้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการปลูกและการผลิตหัวพันธุ์ พร้อมทั้งการศึกษาดูงานจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเกาหลี จากนั้นได้นำวิชาความรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ได้สะสมมานั้น พัฒนาการผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรค โดยใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรด้านการผลิต ได้แก่ การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษาและการควบคุมโรคแมลง จนสามารถผลิตหัวพันธุ์ทดแทนการนำเข้าได้ ซึ่งในปี 2552/2553 นี้จะสามารถผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรคได้ 1,400 ตัน คิดเป็นมูลค่า 25,200,000 บาท

พัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อสร้างมาตรฐานการผลิต
การปลูกมันฝรั่งโดยทั่วไปใช้แรงงานคน ที่นับวันจะเป็นปัญหามากขึ้น ทั้งในด้านการขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงสูง เสียเวลา คุณภาพไม่ได้มาตรฐานและอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น คุณบุญศรี ใจเป็ง จึงได้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อทดแทนปัญหาดังกล่าว ได้แก่ เครื่องหัวหมู เพื่อพรวนดินยกร่องและกลบหัวพันธุ์ เครื่องรีดแปลงแบบโค้งเพื่อแก้ไขปัญหาการเน่าของต้นมันฝรั่งจากการขังของน้ำฝน เครื่องให้ปุ๋ยและเครื่องขุด เป็นต้น ซึ่งเครื่องจักรกลต่างๆ เหล่านั้น ถ้านำเข้าจากต่างประเทศจะมีมูลค่าสูงมาก แต่เครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นทดแทนนั้นราคาต่ำและเกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้กับรถไถเดินตามและแทร็กเตอร์ขนาดเล็กที่เกษตรกรมีอยู่ได้ไม่ต้องดัดแปลงเพิ่มเติม การทำงานของเครื่องจักรต่างๆ ใช้แรงงานเพียง 1 คน ต่อคนงาน 15-20 คน และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพและมาตรฐาน ปัจจุบันเกษตรกรและเครือข่ายผู้ปลูกมันฝรั่งได้นำไปใช้ได้ผลมากในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพื้นที่ปลูกในภาคอีสาน


ปลูกมันฝรั่งระบบใหม่ พัฒนาโดยเกษตรกร บุญศรี ใจเป็ง
การปลูกมันฝรั่งระบบเดิม เกษตรกรใช้วิธีการปลูกแบบแถวคู่ ซึ่งจะต้องใช้แรงงานคนเกือบทั้งหมด เช่น การปลูกมันฝรั่ง 10 ไร่ ต้องใช้แรงงาน 20 คน และจะใช้เวลากว่า 3 วัน จึงจะเสร็จ และขณะขนย้ายหัวพันธุ์อาจเกิดความเสียหาย เมื่อปลูกไปแล้วหัวพันธุ์เน่าเพราะปลูกลึกไม่สม่ำเสมอและขณะฝนตกมีน้ำขังในหลุมปลูก จากนั้นต้องใช้คนกลบโคนให้ปุ๋ยให้น้ำและเก็บเกี่ยวโดยใช้จอบขุดทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงได้ปรับวิธีการปลูกมันฝรั่งระบบใหม่ ได้แก่ การปลูกแบบแถวเดี่ยวและนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ ซึ่งเปรียบเทียบการปลูกระบบเก่าแถวคู่กับระบบใหม่แถวเดี่ยวนี้ ในพื้นที่ 10 ไร่ จะใช้แรงงานเพียง 2 คน แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 วัน

การเตรียมหัวพันธุ์
เมื่อได้หัวพันธุ์มาจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ นำมาผ่าแยกตา หัวพันธุ์มันฝรั่ง 1 กิโลกรัม สามารถผ่าแยกแบ่งตาได้ตั้งแต่ 15-45 ชิ้น จากนั้นนำมาคลุกปูนซีเมนต์เพื่อเคลือบปากแผลและนำไปเก็บไว้ในกระสอบตาข่ายรัดปากถุงให้แน่น นำวางเรียงในห้องบ่มพลาสติคเพื่อกันลมและรักษาความชื้นให้กับหัวพันธุ์ที่ต้องพักตัวหลังจากการผ่า บ่มประมาณ 7 วัน หัวพันธุ์เริ่มงอกจึงนำไปปลูกได้

ปลูกมันฝรั่งแบบแถวเดี่ยว
ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว จะฉีดพ่นเชื้อจุลินทรีย์ลงบนฟางข้าวเพื่อช่วยการย่อยสลายเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ให้กับดิน และการเตรียมดิน ไถพรวน ยกร่องปลูก ขุดหลุมปลูก ให้ปุ๋ยและไถกลบโดยรถแทร็กเตอร์แบบนั่งขับขนาดเล็กที่ติดตั้งเครื่องมือที่ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นเอง เมื่อถึงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวใช้รถขุดทำให้รวดเร็วและผลผลิตเสียหายน้อยมาก เพียงร้อยละ 1 ซึ่งผลผลิตต่อไร่ประมาณ 3,500-4,500 กิโลกรัม

ผลตอบแทนจากการปลูกมันฝรั่งต่อไร่นั้นค่อนข้างสูงประมาณ 1-2 หมื่นบาท เพราะตลาดมีความต้องการสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูป เกษตรกรที่จะปลูกจำเป็นต้องศึกษาและวางแผนการผลิตให้ดีและทำสัญญาซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรล่วงหน้ากับภาคเอกชนเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย ถ้าท่านสนใจระบบการผลิตและการตลาดมันฝรั่ง ติดต่อขอข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมกับคุณบุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรดีเด่นสาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2552 ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ริเริ่มปลูกมันฝรั่งและผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งรายแรกของประเทศไทย โทร. (053) 848-572, (081) 992-5510


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:06 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ภาวิณี สุดาปัน

ฟาแลนนอปซิส สุดสวย ไปไกลถึงยุโรป...ประยูร พลอยพรหมมาศ คนไทยทำเอง

ช่วงนี้ก็เข้าสู่ต้นปีใหม่แล้ว อากาศกำลังดี อยู่ในช่วงหน้าหนาว บรรยากาศเหมาะกับของสวยๆ งามๆ ดอกไม้ออกดอกเบ่งบาน ชูช่อ สร้างสีสันสวยงามเข้ากับฤดูกาลพอดี กล้วยไม้ก็เป็นไม้ดอกไม้ประดับชนิดหนึ่ง ซึ่งสร้างความเจริญตาเจริญใจให้กับผู้ที่พบเห็นดีนักแล เขาว่ากันว่ากล้วยไม้เป็นของป่า หายากยิ่งนัก ถ้าจะจริงดังคำกล่าวขาน เพราะกว่าที่ผู้เขียนจะตามหากล้วยไม้ เก็บภาพสวยๆ มาฝากแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน ตะวันคล้อย แดดร่ม ลมเย็น ผู้เขียนเดินทางไปถึงจุดหมาย เป้าหมายในวันนี้คือ กล้วยไม้ เมื่อได้พบเห็นสิ่งอันเป็นสาระดีๆ ก็นำมาฝากท่านผู้อ่าน ด้วยการบอกเล่าผ่านตัวหนังสือ รายละเอียดจะกล่าวให้ฟัง

กล้วยไม้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orcidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีสีสันสวยงาม แถมยังเป็นไม้เศรษฐกิจของไทย คนไทยทำเป็นธุรกิจไม้ตัดดอกส่งนอกก็เยอะ บ้างก็นิยมนำดอกกล้วยไม้มาปักแจกันบูชาพระ ปัจจุบัน ผู้คนนิยมนำมาเลี้ยงไว้เป็นไม้ประดับในสวน ช่วยเป็นเพื่อนคลายเหงาได้อีกทาง หากจะเลี้ยงเป็นธุรกิจก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงกล้วยไม้เพื่ออะไร เหมือนดังเช่น คุณประยูร พลอยพรหมมาศ ที่ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis)

ถึงแม้เดิมกล้วยไม้จะเป็นไม้ที่มาจากป่า หากสังเกตแล้วไม่คิดอะไรมาก ก็คงจะเป็นไม้ป่าธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่ง แต่ถ้าหากสังเกตเห็นแล้วนึกตรองดีๆ ก็จะรู้ว่าไม้ที่ออกจากป่า สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ (แต่ไม่แนะนำให้ลักลอบนำพันธุ์ไม้ป่าออกมาจำหน่ายน่ะ เพียงแต่จะบอกว่าของแต่ละชิ้นมันมีคุณค่าในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ถึงจุดเด่น และดึงส่วนนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่)

ผู้เขียนได้พบปะพูดคุยกับนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงอย่าง คุณประยูร พลอยพรหมมาศ เจ้าของ บริษัท ประยูรออร์คิด ผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคุณประยูรกันหน่อยเห็นจะดี

คุณประยูร เป็นนักเรียนนอก หันมาจับธุรกิจเป็นผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้กว่า 30 ปี บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และปัจจุบันยังได้ขยายต่อยอดธุรกิจออกไปในพื้นที่กว่า 100 ไร่ ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นทั้งผู้ผลิตเอง ส่งออกเอง แบบนี้แหละเขาถึงเรียกว่า นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง คนไทยผู้นี้เป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กล้วยไม้ส่งออกนอก คนไทยก็สามารถทำได้ ด้วยใจรักและหมั่นฝึกฝน หาความรู้อยู่เสมอ จึงทำให้คุณประยูรนำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ การศึกษาดูงานกล้วยไม้นานาชาติ มาเป็นโจทย์ในการพัฒนาห้องแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของตน ซึ่งประยูรออร์คิดจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส

คุณประยูร เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาในการก่อตั้งบริษัทว่า "ตั้งแต่เล็กอยู่กับกล้วยไม้มาก่อน สัมผัสและใช้ชีวิตอยู่กับกล้วยไม้มาตั้งแต่เด็ก เห็นและได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงมาหลายอย่าง อาเป็นนายกสมาคมพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย พ่อก็ทำงานอยู่ที่เดียวกับอา ตอนเด็กๆ ได้เห็นและเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ต่างๆ จึงทำให้ตนรู้สึกหลงใหล ชื่นชอบกล้วยไม้เป็นพิเศษ จากนั้นก็ได้ไปเรียนภาษาต่อที่เมืองนอก พอเรียนจบกลับมาจึงตั้งบริษัทเป็นของตนเอง ชื่อว่า...ประยูร ออร์คิด"

คุณประยูร กล่าวว่า การเลี้ยงกล้วยไม้ทุกคนก็เลี้ยงได้ ถ้าเลี้ยงในปริมาณที่ไม่มาก แต่หากจะเลี้ยงเพื่อทำเป็นธุรกิจ คงต้องคิดและศึกษากันให้ดีสักหน่อย เพราะธุรกิจส่งออกกล้วยไม้เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง และที่สำคัญเรื่องคุณภาพต้องให้ตรงตามคุณภาพมาตรฐานสากล วิธีการจะเพาะพันธุ์กล้วยไม้ส่งนอก จะต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก บนหลักของความต้องการนั้น คุณภาพของกล้วยไม้จะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งคุณประยูรบอกว่า บริษัทของตนเป็นมาตรฐานของยุโรป คือ เป็นตลาดหลักที่ต่างชาติต้องการกล้วยไม้ โดยเฉพาะสกุลฟาแลนนอปซิส บริษัทจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเอง ขนาดที่เพาะเลี้ยง มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าต้องการกล้วยไม้ขนาดเท่าไร สามารถสั่งทำได้ กลุ่มลูกค้าตลาดหลักคือ ยุโรป รองลงมาจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แอฟริกา เอเชียบ้างนิดหน่อย

ปัจจุบันนี้ คุณประยูร จะส่งออกเพียง 15 ล้านต้น ต่อปี เท่านั้น แต่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงถึง 150 ล้านต้น ต่อปี คุณภาพสินค้าที่ดีคือ กล้วยไม้ต้องแข็งแรง รากต้องสมบูรณ์ ไม่มีแมลง ทางบริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ ใส่ใจตั้งแต่การควบคุมกระบวนการผลิต เริ่มจากการเพาะเลี้ยงจนถึงระบบการขนส่ง โรงเรือนเลี้ยงกล้วยไม้จะต้องทำอย่างดี เครื่องปลูกใช้เปลือกสนนำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์ ส่วนปุ๋ยที่ใช้จะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ลูกค้าจะเป็นคนแนะนำมาว่ากล้วยไม้ แบบนี้จะต้องใช้ปุ๋ยอะไร ส่วนน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ จะใช้น้ำ Reverse Osmosis (RO) เป็นน้ำบริสุทธิ์ผสมกับสารต่างๆ ที่ทางบริษัทคิดค้นขึ้นเอง

คุณประยูร เล่าถึงเหตุผลในการเพาะพันธุ์กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสว่า สาเหตุที่ตนเลือกฟาแลนนอปซิส เป็นเพราะว่าสกุลนี้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการในปริมาณมาก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับกล้วยไม้สกุลอื่น พวกซิมบิเดียม ตนก็ทดลองปลูกที่เขาใหญ่ แต่ความต้องการของตลาดสู้ฟาแลนนอปซิสไม่ได้ ส่วนออนซิเดียมเป็นไม้เมืองหนาวก็จริง แต่ยังอยู่ในขั้นทดลองปลูกอยู่ ไม่ได้ส่งออก ซึ่งตลอดระยะเวลาการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสไม่เคยตกเกรดเลย หากจะพูดถึงในเรื่องราคา ตนจะเพาะเลี้ยงขาย ราคาต้นละ 8 บาท หากเป็นไม้รุ่น ขนาด 3 นิ้ว 5 นิ้ว ขายราคาต้นละ 35 บาท หากต่างชาติทำขายเองจะตกราคาต้นละ 100 บาท

กล้วยไม้ของประยูรออร์คิด มี 2 เกรด คือ เกรดเอ เป็นไม้คุณภาพ ไม่มีโรคและแมลง ตรงตามมาตรฐานของตลาดยุโรป และเกรดบี เป็นไม้ที่ตกเกรด ต้นสมบูรณ์รองลงมา อาจจะถูกพวกแมลงรบกวน แต่ยังถือว่าเป็นกล้วยไม้ที่ได้คุณภาพ ทางบริษัทจะไม่ส่งออก แต่จะนำมาวางขายที่ตลาดนัดจตุจักรของไทย เปิดร้านขายเอง ขายทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี หากใครสนใจสามารถไปเดินดูเลือกซื้อหาได้ หรือหากท่านใดสนใจเข้าเยี่ยมชมสวนกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสที่เขาใหญ่ได้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้ดอกกล้วยไม้จะสวยเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในช่วงหน้าหนาว

ส่วนเรื่องโรคและแมลง ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมดูแล ทางบริษัทมีมาตรการในการควบคุมส่วนนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน

นอกจากนี้ ทาง บริษัท ประยูรออร์คิด ยังเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน ใช้อาหารวุ้นธรรมชาติที่เป็นของไทยหาได้ตามตลาดทั่วไป มีส่วนผสมของกล้วยหอม น้ำมะพร้าว มัน เป็นต้น บริษัทรับรองเรื่องคุณภาพและป้องกันการกลายพันธุ์ได้ บริษัทประหยัดพลังงานด้วยการใช้ตาข่ายอำพรางแสงคลุมบนหลังคาห้องเย็นเพื่อป้องกันแสงแดดที่ก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานได้ หากเป็นห้องที่ต้องการแสงมาก ตนจะนำหลังคาอะลูมิเนียมมาดูดเอาเฉพาะแสงไว้ ส่วนความร้อนก็จะถูกสะท้อนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยประหยัดพลังงานได้มากเช่นกัน รอบๆ บริเวณห้องแล็บจะปลูกต้นไผ่ เพื่อช่วยให้ความร่มรื่น

เป็นรูปแบบหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการทำธุรกิจที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ และลดความสิ้นเปลืองให้กับบริษัทได้อีกช่องทางหนึ่ง

ผู้สนใจถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณประยูร พลอยพรหมมาศ เลขที่ 9 หมู่ที่ 11 ถนนรังสิตนครนายก (คลองสิบเอ็ด) ซอยวัดโปรยฝน ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โทร. (089) 766-4646 Email:prayoon@prayoonorchids.com

กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส
กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นแบบโมโนโพเดียล ที่มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติและกระจายพันธุ์กว้างขวางอยู่ในบริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะใกล้เคียงมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากคุณลักษณะอันงามเด่นของดอกและช่อดอกเป็นที่น่าสนใจของบรรดาผู้นิยมกล้วยไม้ทั่วๆ ไป ประกอบกับอุปนิสัยเลี้ยงง่าย สามารถเจริญงอกงามและออกดอกได้ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง

การปลูกกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส หากปลูกลงกระถางหรือกระเช้าไม้ ควรจะตั้งต้นกล้วยไม้ลงตรงกลาง ให้ระดับโคนต้นส่วนเหนือรากอยู่ต่ำกว่าระดับขอบภาชนะปลูกเล็กน้อย การวางต้นกล้วยไม้สูงเกินไปจะทำให้รากกล้วยไม้ได้รับความชื้นไม่เพียงพอ แต่ถ้าปลูกต่ำเกินไปกล้วยไม้ก็จะอยู่ในสภาพที่ชื้นเกินไปหรือแฉะได้ การใส่เครื่องปลูกควรจะใส่พอเพียงแต่กลบรากเท่านั้น อย่าใส่เครื่องปลูกมากเกินไป จนกระทั่งสูงขึ้นมากลบส่วนของโคนต้น เพราะอาจจะทำให้โคนต้นแฉะและโคนใบเน่าได้ ฤดูการปลูกควรเป็นเวลาที่ก่อนจะย่างเข้าฤดูฝน ประมาณเดือนมีนาคม ถ้าปลูกหลังจากย่างเข้าฟดูฝนแล้วบรรยากาศจะมีความชื้นสูง และกล้วยไม้กำลังอวบน้ำ อาจจะทำให้ใบและยอดเน่าได้ง่าย แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็ก มีความไวต่อการเจริญเติบโตดีกว่ากล้วยไม้ใหญ่ ก็ไม่สู้จะเกิดปัญหานัก ยิ่งถ้าหลังจากปลูกแล้ว เก็บไว้ในที่ปลอดฝนและประคับประคองพรมน้ำให้ทีละเล็กละน้อย อย่าให้ชื้นมากก็น่าจะทำได้


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:13 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

มนตรี กล้าขาย วรนุช สีแดง

ทุเรียนทอดกรอบ สแน็กไทยไปอินเตอร์

ทุเรียน เขายกย่องบอกกันว่า เป็นราชาแห่งผลไม้ (King of Fruit) ที่ใครๆ ก็ชื่นชอบอยากรับประทาน โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองที่เป็นพระเอกในบรรดาทุเรียนทุกพันธุ์ เพราะอุดมไปด้วยเนื้อสีทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอม โภชนาเปี่ยมล้น เนื้อไม่เละ กลิ่นไม่แรง เก็บไว้ได้นาน สุกงอมก็ยังกินได้ ขนส่งไปไกลๆ ก็ไม่เน่าเสียง่าย ที่สำคัญเป็นทุเรียนพันธุ์เดียวที่นำมาแปรรูปเชิงอุตสาหกรรมแบบง่ายๆ ได้ดี และผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพ โดยเฉพาะการทำทุเรียนทอดกรอบที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทขบเคี้ยว (Snack) ที่กำลังมาแรง จนเดี๋ยวนี้ต่างประเทศออเดอร์เข้ามามากจนผลิตส่งกันไม่ทัน ขณะที่คนไทยกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะเยาวชนกลับนิยมพวกมันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบพวกข้าวเกรียบจากแป้งสาลีรสเค็ม ตามด้วยสาหร่ายทอดสารพัดยี่ห้อ จาระไนกันไม่หมด ก็เป็นเรื่องไม่แปลก มีสุภาษิตไทยบทหนึ่งที่เขียนไว้ว่า "ใกล้เกลือกินด่าง" ช่างสอดคล้องกับสถานการณ์จริงๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ลองมาพิจารณาสิว่าหากหน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมด้านตลาดให้ดีและเป็นระบบแล้ว ทุเรียนทอดกรอบของไทยจะขยายตลาดทั้งภายในประเทศและจะไปอินเตอร์ได้ฉลุยขึ้น จะทำเงินเข้าประเทศได้มากมายมหาศาล และจะช่วยแก้ไขปัญหาทุเรียนล้นตลาดได้แบบถาวร

ภูมิปัญญาชาวบ้าน : พัฒนาการสู่สากล
หากย้อนดูความเป็นมาของทุเรียนทอดกรอบ ก็พบว่า ได้พัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่จังหวัดจันทบุรี หาใช่ผลงานวิจัยหรือพัฒนาจากนักวิชาการ หรือสถาบันวิจัยอะไร จากการสอบถามผู้รู้ในจังหวัดระยองพอสรุปได้ว่า ราวๆ ปี 2534-2535 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรได้ทดลองนำทุเรียนหมอนทองที่แก่จัดไปลองทอดดู แล้วก็พบว่า ให้ลักษณะที่ดีทั้งสีสัน ความกรอบ รสชาติอร่อยหวานมัน เก็บไว้ได้นาน และทำได้ง่ายๆ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากอะไร ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ทุเรียนทอดกรอบสามารถเพิ่มมูลค่าจากทุเรียนสดได้มากถึง 100% ตอนแรกๆ การแปรรูปทุเรียนทอดกรอบก็ยังไม่ลงตัวเป็นแบบลองผิดลองถูก เช่น เรื่องพันธุ์ทุเรียนอะไรที่ทอดแล้วให้ผลดีที่สุด วิธีการปอกเปลือกทุเรียน การเลือกขนาดความแก่ของทุเรียนว่าแก่หรือดิบหรือเกือบสุก จะทอดด้วยความร้อนขนาดไหน นานเท่าไร การหั่นชิ้นทุเรียนหนากี่มิลลิเมตร ปริมาณเนื้อทุเรียนที่นำลงทอดแต่ละครั้ง หั่นกักตุนไว้เลย แล้วทยอยทอดได้ไหม การเก็บรักษา เรียกว่าทำไปสังเกตไป แล้วค่อยๆ ปรับปรุงองค์ประกอบและเทคนิควิธีการทอด จนกระทั่งได้องค์ความรู้ในจุดที่เหมาะสมลงตัว จึงผลิตเป็นการค้าอย่างจริงจังและขยายสู่อุตสาหกรรมส่งออกถึงปัจจุบัน

เทคนิคและวิธีการผลิต
จากจุดเริ่มต้นที่มีการพัฒนาถึงเทคนิคและวิธีการผลิตที่เหมาะสมนั้น มีขั้นตอนที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนากันพักใหญ่เพราะว่าผู้บริโภค (ลูกค้า) มีข้อแนะนำเพิ่มเติม ขณะที่บางอย่างที่ว่าลงตัวก็ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ ตัวอย่าง เช่น

1. ความแก่ของทุเรียนนั้น ควรมีความแก่อยู่ระหว่าง 70-80% เพราะหากใช้ทุเรียนที่แก่ห่ามเกือบสุกมาทอดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล (brown) หรือสีน้ำตาลไหม้ เพราะปริมาณน้ำตาลของเนื้อทุเรียนที่มีมากขึ้น (แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาล) และเมื่อน้ำตาลเจอความร้อนจะไหม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

2. ความหนาของการหั่นแผ่นทุเรียนก็ไม่คงที่ จะออกหนาหรือบางไป เพราะช่วงแรกนั้นใช้มือหั่นด้วยมีดยังไม่มีเครื่องหั่น (Slicer) ทำให้การกะขนาดความหนาของแผ่นทุเรียนไม่สม่ำเสมอ คนกินก็บ่นว่าไม่อร่อย ต่อมามีเครื่องสไลซ์ที่ปรับขนาดความหนาการหั่นทุเรียนได้ ความหนาคงที่สม่ำเสมอ แล้วก็หั่นทุเรียนได้รวดเร็วมากขึ้น จึงทอดได้เร็วและปริมาณมากขึ้น โดยใช้เวลาทำเท่ากับวิธีหั่นด้วยมือ

3. การเก็บทุเรียนทอดกรอบไว้นานๆ มีปัญหาทุเรียนทอดกรอบมีกลิ่นเหม็นหืน เพราะปฏิกิริยา oxidation ทำให้เก็บไว้ได้ไม่นาน วางบนชั้นขายมีปัญหาคุณภาพ ลูกค้าซื้อไปแล้วก็ต่อว่าหรือบ่น ทำให้ทุเรียนทอดกรอบไม่เป็นที่ยอมรับ ยอดขายไม่เพิ่มต่อมาจึงมีเทคนิคการอบไล่น้ำมัน โดยใช้ตู้อบและ/หรือเตาอบไล่น้ำมันทั้งขนาดเล็กและตู้อบขนาดใหญ่เพื่อให้ทุเรียนทอดกรอบแห้งที่สุด ก่อนบรรจุถุงจำหน่าย หรือใส่ถุงใหญ่เก็บสต๊อค (Stock) ไว้ขายต่อไป

4. เมื่อมีการผลิตทุเรียนทอดกรอบกันมากขึ้น ด้านคุณภาพของสีทุเรียนทอดกรอบ รสชาติก็ไม่สม่ำเสมอ เพราะประสบการณ์และวิธีการของแต่ละคน (เจ้า) แตกต่างกัน ความพิถีพิถัน ต้นทุนมาตรฐานและราคาขายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสีของทุเรียนทอดมีความหลากหลายตั้งแต่ออกเหลืองซีด เหลือง เหลืองทอง และเหลืองออกน้ำตาลปนกันบ้าง เพราะ (ไม่คัดเกรด) จึงมีการแต่งเติมสีเหลืองลงในน้ำมันปาล์มที่ใช้ทอด โดยใช้ขมิ้นผงเติมลงไปเล็กน้อยเพื่อให้ทุเรียนทอดกรอบออกสีเหลืองทองน่ารับประทาน ซึ่งลูกค้าก็พอใจ เพราะยึดติดกับทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ว่าสีทุเรียนทอดกรอบต้องเหลืองทองด้วย

5. การบรรจุถุงที่ตอนแรกๆ นั้นก็ง่ายมาก เพียงใส่ถุงพลาสติคใสพับปากถุงแล้วเย็บปากถุงด้วยแม็กซ์ 2-3 จุด ก็ใช้ได้แล้ว ไม่มีป้ายบอกยี่ห้อหรือแหล่งผลิต เป็นแนวชาวบ้านขายกันตามตลาดนัด ออกงานเทศกาลและ/หรือร้านขายของฝากทั่วไป ต่อมาก็ติดสติ๊กเกอร์ โลโก้ ตรายี่ห้อของแต่ละคน เพื่อให้ลูกค้าจำได้ แล้วลักษณะของถุงบรรจุก็เปลี่ยนไป มีการออกแบบให้สวยงาม มีขนาดบรรจุหลายขนาด รูปทรง สีสัน สะดุดตา ติดสติ๊กเกอร์ หลากสี หลายแบบ

6. การคัดขนาดแผ่นทุเรียนทอดกรอบ ในระยะแรกที่ผลิตขายกันจะขายแบบเกรดผสม คือไม่คัดเกรดทุเรียนทอดกรอบ เมื่อได้ที่แล้วก็ตักบรรจุถุงขายกันเลย เป็นแบบคละปนกันทั้งชิ้นเล็ก กลาง ใหญ่ ใส่ปนกันและขายราคาเดียว ต่อมาก็มีการคัดเกรดทุเรียนทอดกรอบเป็น 3 เกรด (ขนาด) ชิ้นใหญ่ ชิ้นกลาง และชิ้นเล็ก (จิ๋ว) ราคาขายก็แตกต่างกันไปตามขนาดชิ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นทางเลือกให้ลูกค้าว่าต้องการขนาดแบบไหน เพราะจะมีกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งต้องการทุเรียนทอดกรอบแผ่นกลางและเล็ก (จิ๋ว เกรด C) ไปเป็นส่วนประกอบของอาหารอื่นๆ อีกทีหนึ่ง

จากภูมิปัญญา : การแก้ปัญหาและสร้างมูลค่าเพิ่ม
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ภาคตะวันออก) ที่สำรวจข้อมูล แล้วสรุปไว้ว่า มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 800,000 ไร่ ให้ผลผลิตแต่ละปีในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด อยู่ระหว่าง 700,000-800,000 ตัน โดยผลผลิตทุเรียนจะออกตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม ของทุกปี โดยเฉพาะผลผลิตจะชุกมากช่วงกลางเดือนพฤษภาคม กลางเดือนมิถุนายน ราคาทุเรียนจะต่ำมาก มีปัญหาที่ภาครัฐต้องเข้าไปแก้ไขโดยใช้เงินแทรกแซงราคา สนับสนุนเงินหมุนเวียนให้กับสถาบันเกษตรกรและใช้มาตรการการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ โดยต้องใช้หน่วยงาน และบุคลากรจำนวนมากเพื่อระดมกันเข้าแก้ไขปัญหาผลผลิตส่วนเกินที่ตลาดในจังหวัดไม่สามารถรองรับได้ แม้ว่าจะช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาไปได้บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ยั่งยืน ต้องคอยแก้ปัญหากันทุกปีไม่รู้จบ ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นทางแก้ปัญหาแบบถาวรนั้น ช่องทางมีหลายแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือการแปรรูปเป็นทุเรียนทอดกรอบและรูปผลิตภัณฑ์ทุเรียนอื่นๆ กวน อบแห้ง ท็อฟฟี่ แช่แข็ง ทุเรียนผง/แป้ง และบรรจุลงกระป๋อง สำหรับแนวคิดด้านการพัฒนาทุเรียนทอดกรอบให้เป็นสแน็ก (Snack) ระดับอินเตอร์นั้น มีความเป็นไปได้สูงมาก มาดูว่าในส่วนของรายละเอียดคืออะไร

หากพิจารณาผลผลิตทุเรียนทั้งหมดในประเทศแต่ละฤดูแล้วจะพบว่า เป็นทุเรียนหมอนทอง ราวๆ 70-80% และช่วงที่ทุเรียนออกมากและมีปัญหาก็เป็นทุเรียนหมอนทองนี่แหละ ดังนั้น หากเราตัดวงจรทุเรียนหมอนทองไม่ให้เข้าตลาดผลสดเสียส่วนหนึ่ง ตรงนี้ก็จะทำให้ผลผลิตทุเรียนในตลาดสดของประเทศลดน้อยลงไป ส่วนที่ตัดออกไปนั้น จะเป็นทุเรียนแก่ 70-80% ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำทุเรียนทอดกรอบ ซึ่งจะง่ายต่อการบริหารจัดการมาก เพียงแต่ส่งเสริมสนับสนุนด้านงบประมาณหมุนเวียนให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SML) ในรูปของเครื่องมืออุปกรณ์ส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ ให้เข้ามาลงทุน หรือสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้พวกเขา ประมาณว่าผลผลิตที่ออกมาล้นตลาด จะอยู่ระหว่าง 30,000- 40,000 ตัน เท่านั้น หากเฉลี่ยราคาทุเรียนที่ซื้อทำทุเรียนทอดกรอบ ก็ราวๆ 20 บาท ต่อกิโลกรัม ก็จะใช้เงินหมุนดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย สัก 800-1,000 ล้านบาท เท่านั้น ก็จะทำให้เกิดการแปรรูปทุเรียนทอดกรอบได้ระหว่าง 3,000-4,000 ตัน เอาไว้ขาย ออกขายหมุนเวียนตลาดในประเทศและส่งออกต่างประเทศบางส่วน สามารถเก็บสต๊อค (Stock) ไว้รอจำหน่ายได้นาน 1-2 ปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพ ตรงนี้เป็นจุดเด่นของทุเรียนทอดกรอบที่เหนือกว่าผลไม้ทอดกรอบชนิดอื่นๆ และจากประสบการณ์ของผู้ผลิตที่เก็บทุเรียนทอดกรอบไว้ในห้องเก็บธรรมดาไม่ซับซ้อนอะไร ลงทุนไม่มาก แต่หากจะเก็บในห้องเย็นขนาดใหญ่ ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง จากการสำรวจข้อมูลการตอบรับของผู้บริโภคในประเทศและแถบเอเชียนั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่การกระจายสินค้าสู่ต่างจังหวัดและการทำตลาดต่างประเทศยังไม่ค่อยดีเท่านั้น ผลผลิตแปรรูปจึงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และจังหวัดข้างเคียงใกล้ๆ ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น รัฐต้องช่วยเป็นผู้นำร่องโดยนำทุเรียนทอดกรอบออกโชว์ตามเทศกาลงานส่งเสริมการตลาดระหว่างประเทศ หรือทำโรดโชว์ (Road Show) ร่วมกับสินค้าเกษตรอื่นๆ จะช่วยให้การตลาดขยายตัวได้เร็วขึ้น

ทุเรียนทอดกรอบ สูตรกลุ่มแม่บ้านยายดาพัฒนา จังหวัดระยอง
จากการไปเยี่ยมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรยายดาพัฒนา ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับตลาดผลไม้ตะพง ตลาดผลไม้ประจำจังหวัดที่จัดเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้พบกับ คุณสมคิด เชื้อบำรุง ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรยายดาพัฒนา คุณวิภาดา ชัยศรี ประชาสัมพันธ์และสมาชิกกลุ่มที่กำลังทำทุเรียนทอดกรอบกันอยู่ จึงได้ข้อมูลการทำทุเรียนทอดกรอบมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นความรู้ ซึ่งคุณสมคิด เชื้อบำรุง และสมาชิกแต่ละท่านเล่าถึงเทคนิคและวิธีการทำทุเรียนทอดกรอบไว้ ดังนี้

เครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบด้วย กระทะใบบัวขนาดใหญ่ใช้ทอดทุเรียน เตาแก๊ส น้ำมันปาล์มคุณภาพดี ตะแกรงใส่ทุเรียนทอด เครื่องหั่นทุเรียน ชาม กะละมัง ตะแกรงร่อนคัดขนาดชิ้นทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนหมอนทองผลใหญ่ น้ำหนัก 5-10 กิโลกรัม ต่อผล ความแก่ 75-80% (ยังไม่สุก) มีดปอกเปลือกทุเรียน ถุงพลาสติค บรรจุขนาด 5-10 กิโลกรัม และกระดาษซับน้ำมัน

เริ่มต้นจากการเตรียมทุเรียนที่จะทำทุเรียนทอดกรอบต้องเป็นพันธุ์หมอนทองเท่านั้น และหากเป็นทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี และระยอง จะมีคุณภาพการทอดดีกว่าจากภาคใต้ (ทุเรียนจากภาคใต้น้ำมาก แป้งน้อย) เลือกเอาผลที่แก่เต็มที่มาผ่า แล้วเอาเมล็ดออก ตัดแต่งเอาส่วนไส้ออกให้หมด นำเข้าเครื่องหั่นแผ่นโดยตั้งเครื่องสไลซ์แผ่นให้มีขนาดความหนาของแผ่นทุเรียนประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ขณะที่ปอกเปลือกทุเรียนและหั่นชิ้นทุเรียนก็ตั้งน้ำมันไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทำเป็นแบบหั่นไปทอดไป การทอดโดยใช้กระทะใบใหญ่ ใส่น้ำมันปาล์ม 1 ปี๊บ ตั้งไฟจนน้ำมันเดือดพล่าน (ร้อนจัด) แล้วลดความร้อนลงโดยใช้ไฟกลาง นำทุเรียนที่หั่นไว้ลงทอดโดยใส่เนื้อทุเรียนที่หั่นแล้ว ครั้งละประมาณ 1 กิโลกรัม ใช้เวลาทอดประมาณ 15 นาที ต่อกระทะ ระหว่างทอดก็พลิกกลับแผ่นทุเรียน 1-2 ครั้ง เพื่อให้ได้รับความร้อนทั้ง 2 ด้าน สังเกตว่าพอทุเรียนสุกเหลืองดีก็ตักขึ้นผึ่งในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน แล้วใส่เนื้อทุเรียนที่สไลซ์ไว้ลงทอดต่อกันไปเลย ซึ่งทุเรียนหั่นแผ่น ที่นำลงทอด น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะได้ทุเรียนทอดกรอบประมาณ 1 ขีด ทุเรียนทอดกรอบที่ตักขึ้นผึ่งในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน จะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที จนดูว่าแห้งดีแล้ว จึงนำไปร่อนด้วยตะแกรงคัดขนาด โดยแบ่งคัดชิ้นทุเรียนออกเป็น 3 ขนาด คือ ชิ้นใหญ่ ชิ้นกลาง และชิ้นเล็ก ซึ่งจะได้ชิ้นใหญ่ 330 กรัม ชิ้นกลางประมาณ 150 กรัม และชิ้นเล็ก 70-80 กรัม หลังจากคัดขนาด (เกรด) แล้ว จะนำใส่ถุงพลาสติคใหญ่ใส่ทุเรียนทอดกรอบลงถุงจะใส่เป็นชั้น ชั้นละกิโลกรัม สลับด้วยกระดาษซับน้ำมัน ทุเรียนทอดแผ่นใหญ่ บรรจุถุงละ 5-5.2 กิโลกรัม ชิ้นกลาง บรรจุถุงละ 7-8 กิโลกรัม และชิ้นเล็ก บรรจุถุงละ 9-10 กิโลกรัม ทุเรียนทอดกรอบบรรจุถุงจะนำเก็บรักษาไว้ในห้องมืด รอการนำออกจำหน่าย ซึ่งเก็บไว้ได้นาน 1-2 ปี ไม่เสีย ทุเรียนทอดกรอบบางส่วนหลังจากวางผึ่งจนสะเด็ดน้ำมันแล้ว จะนำไปอบในตู้อบลมร้อน ใช้เวลาอบประมาณ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อไล่น้ำมันออกให้มากที่สุด (ให้แห้ง) คัดเกรดอีกครั้งแล้วนำบรรจุถุงเพื่อขายปลีก โดยบรรจุถุงให้มีน้ำหนักบรรจุ 500 กรัม ขายราคา 200 บาท ต่อถุง ขนาดบรรจุ 300 กรัม ขายราคา 120 บาท ต่อถุง ขนาดบรรจุ 250 กรัม ขายราคา 100 บาท ต่อถุง และขนาดบรรจุ 150 กรัม ขายราคา 60 บาท ต่อถุง

การตลาดจุดชี้วัดคุณภาพผลิตภัณฑ์
หลังจากที่ได้ทุเรียนทอดกรอบแล้ว เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ การจำหน่าย ตรงนี้เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายเลยทีเดียวหาก "ทำได้ขายไม่เป็น" หรือผลิตภัณฑ์ลูกค้าไม่ยอมรับมันก็จบ โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่ออกสินค้า ทางกลุ่มออกวางจำหน่ายซึ่งจะวางขายตามกลุ่มและร้านค้าในชุมชน ที่เป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งในช่วงฤดูผลไม้จะขายดี แล้วก็ออกขายตามสถานที่ราชการ เทศกาล/งานต่างๆ ในตัวจังหวัด และขายส่งร้านค้าของฝากในจังหวัด และต่างจังหวัดอื่นๆ งาน OTOP ที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ

สัดส่วนการแปรรูปและต้นทุนการผลิต
ข้อมูลจากการทำทุเรียนทอดกรอบสรุปได้ว่า หากใช้ทุเรียนสดทั้งเปลือกน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม จะทำทุเรียนทอดกรอบได้ประมาณ 90-100 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับว่าคุณภาพทุเรียนเป็นอย่างไร หากทุเรียนมีเนื้อหนาก็จะได้น้ำหนักทุเรียนทอดกรอบมากขึ้น

ด้านต้นทุนการผลิตทุเรียนทอดกรอบจะเป็นค่าทุเรียน น้ำมันปาล์ม ค่าแก๊ส ค่าแรงปอก/หั่นทุเรียน ค่าขนส่ง ถุงบรรจุ ฯลฯ รวมแล้วก็จะตกประมาณ 2,750 บาท ต่อตัน หรือเป็นต้นทุนทุเรียนทอดกรอบประมาณ 275 บาท ต่อกิโลกรัม

สำหรับปัญหาการดำเนินงานของกลุ่มแม่บ้านนั้น ประธานกลุ่มแม่บ้านกล่าวว่า ทางกลุ่มไม่สามารถทำทุเรียนทอดกรอบได้จำนวนมากในแต่ละปี ทางกลุ่มทำได้เพียง 40-50 ตันทุเรียนสด ต่อปี ซึ่งก็จะได้ทุเรียนทอดกรอบประมาณ 4-5 ตัน ต่อปีเท่านั้น ในความเป็นจริงทางกลุ่มอยากจะทำทุเรียนทอดกรอบให้มากกว่านี้ เพราะพอถึงกลางปีนอกฤดูก็จะขายหมดแล้ว แต่กลุ่มขาดเงินทุนหมุนเวียนมาดำเนินการ การขอเครดิตก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพง ร้อยละ 10-12 บาท ต่อปี ดังนั้น หากภาครัฐสนับสนุนเงินกู้หมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ก็จะช่วยให้กลุ่มมีงานทำมากขึ้น สร้างงานและอาชีพให้สมาชิกและชุมชน ที่สำคัญจะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตทุเรียนสดให้ออกจากตลาดผลสดได้โดยเปลี่ยนไปเป็นผลิตภัณฑ์ทุเรียนทอดกรอบที่สร้างมูลค่าเพิ่มและเก็บรักษาไว้ได้ยาวนาน หากส่งเสริมและขยายให้เป็นอุตสาหกรรมระดับชุมชน หรือโรงงานมาตรฐานพร้อมกับการส่งเสริมการตลาดในประเทศและส่งออกต่างประเทศก็จะทำให้มีช่องทางตลาดเพิ่มขึ้น กลายเป็นสแน็กระดับอินเตอร์ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ที่สำคัญสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและกลุ่มอาชีพในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด จะมีอาชีพที่มีความมั่นคง มีรายได้ตลอดปี จุดนี้จึงฝากกรมส่งเสริมการเกษตรไปพิจารณาด้วย

ติดต่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นได้ที่ โทร. (038) 611-578, (089) 095-0035

ขอขอบคุณ คุณสมคิด เชื้อบำรุง และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรยายดาพัฒนา ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

คุณบุญชื่น โพธิ์แก้ว เจ้าของสวนยายดาเชิงเกษตรท่องเที่ยว เลขที่ 30 หมู่ที่ 3 ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง




สรุปขั้นตอนการทำทุเรียนทอดกรอบ

เตรียมทุเรียนหมอนทองแก่ผลใหญ่ น้ำหนัก 5-10 กิโลกรัม/ผล

ผ่าเอาเปลือกออก/แกะ เพื่อผ่าเมล็ดออก ผ่าเนื้อเป็น 2 ซีก

หั่นเป็นชิ้นบางๆ ขนาด 1-2 มิลลิเมตร ด้วยเครื่องหั่น

นำลงทอดในน้ำมันที่ร้อนปานกลาง (ไฟกลาง) เดือดจัด ประมาณ 15 นาที สังเกตว่าสุกเหลือง

ตักขึ้นวางบนตะแกรง ประมาณ 5 นาที ให้สะเด็ดน้ำมัน

คัดเกรดโดยผ่านตะแกรงร่อน เป็น 3 ขนาด แผ่นใหญ่/แผ่นกลาง และแผ่นเล็ก (จิ๋ว)

แยกบรรจุถุงพลาสติค ขนาด 5-10 กิโลกรัม เก็บไว้ในห้องมืด รอจำหน่าย หรือ อบในตู้อบลมร้อนไล่น้ำมัน นาน 1 ชั่วโมง

บรรจุถุงขนาด 500 กรัม 300 กรัม 250 กรัม 150 กรัม

ติดสติ๊กเกอร์ส่งขายหรือวางขายที่ร้าน


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:23 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

วิชัย รัตนจินดา มือหนึ่งในการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้าง

สวนกล้วยไม้อีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในเขตภาคเหนือตอนล่างโดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลช้างคือ สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ที่มี คุณวิชัย รัตนจินดา เป็นเจ้าของสวน บ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 2 ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร 62120 โทร. (055) 724-289, (081) 887-1080 ปัจจุบันกล้วยไม้ตระกูลช้างของสวนกล้วยไม้แห่งนี้มีโรงเรือนขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งภายในโรงเรือนจะถูกแบ่งเป็นสัดส่วน แยกไม้ในระยะการเจริญเติบโตอย่างชัดเจน เพื่อให้สะดวกในการจัดสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูให้เหมาะสม เช่น แปลงพ่อ-แม่พันธุ์ที่คุณวิชัยใช้เวลาเสาะหาและสะสมมาอย่างยาวนาน อาทิ แปลงไม้ออกขวด แปลงเลี้ยงไม้ออกขวด แปลงเลี้ยงไม้รุ่น และแปลงเลี้ยงไม้พร้อมจำหน่าย เป็นต้น

เดิมไม่ได้มีความชอบปลูกเลี้ยงในกล้วยไม้เลย
คุณวิชัยเล่าว่า ได้เริ่มต้นกับกล้วยไม้สกุลแวนด้าเป็นชนิดแรกในปี พ.ศ. 2531 ย้อนกลับไปในอดีต ครอบครัวคุณวิชัยมีพี่น้องหลายคน ประกอบอาชีพเปิดร้านโชห่วยค้าขายเป็นระบบกงสี เหมือนครอบครัวคนจีนทั่วไป ต่อมาก็ได้คิดจะแยกออกมาประกอบอาชีพของตนเอง ในตอนนั้นมีพรรคพวกที่เขารับจ้างเลี้ยงกล้วยไม้และนำมาส่งขายให้ผู้รับซื้อเพื่อการส่งออก จึงได้เริ่มต้นสัมผัสการเลี้ยงกล้วยไม้เป็นครั้งแรกโดยเริ่มเลี้ยงกล้วยไม้แวนด้าเป็นชนิดแรก คุณวิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากขาดความรู้ ไม่เข้าใจถึงการเลี้ยง ประกอบกับคำดูถูกจากบุคคลรอบข้างที่คิดว่าไม่น่าจะไปรอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีประสบการณ์มากขึ้น เรียนรู้การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ว่าต้องทำอย่างไร และต่อมาได้ทดลองผสมพันธุ์กล้วยไม้ดูแล้วก็มาลุ้นดูว่าที่เราผสมพันธุ์ไปนั้น เมื่อไปได้สัก 3 ปี ก็ได้ลุ้นว่าดอกจะออกมาเป็นเช่นไร ในช่วงแรกนั้นคุณวิชัยบอกว่ายากมาก เพราะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการดูสีกล้วยไม้ การเรียกเฉดสี และการเลือกคู่ผสม ได้มีการศึกษา เริ่มศึกษามากขึ้นทั้งจากตำราและสอบถามจากผู้รู้ ไปดูงานประกวดกล้วยไม้ ดูฟาร์มกล้วยไม้ และดูสีกล้วยไม้ที่ได้รางวัลชนะการประกวดว่าเป็นเช่นไร ฟอร์มดีเป็นอย่างไร ดอกดี และสีดีเป็นเช่นไร และมีอีกหลายๆ อย่างที่ต้องเรียนรู้ รวมถึงมองอนาคตว่า กล้วยไม้บางต้นมีจุดเด่นที่ยังนำมาพัฒนาต่อได้อีกหรือให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเกิดความเข้าใจมากขึ้นตามประสบการณ์ก็สนุกกับการผสมพันธุ์ ได้ลุ้นกับผลงานตัวเอง เพราะกล้วยไม้ที่ผสมออกมา 1 ฝักนั้น มันจะมีความหลากหลายมาก นั่นเป็น "เสน่ห์" ที่ทำให้ผู้เลี้ยงกล้วยไม้รวมถึงคุณวิชัยเกิดความหลงใหลรักในกล้วยไม้ขึ้นมา

สวนวิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ขึ้นชื่อมากในเรื่องของ "ช้างแดง"
คุณวิชัยเล่าว่า ที่สวนจะเน้นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างมากเป็นพิเศษ เช่น ช้างแดง ช้างกระ ช้างเผือก ช้างส้ม ช้างประหลาด และช้างการ์ตูน เป็นต้น คือปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างเกือบทุกชนิด รวมถึงกลุ่มไอยเรศด้วย ตัวอย่างไอยเรศ ต้นที่ทำชื่อเสียงให้กับสวนมากที่สุดคือ เมื่อครั้งที่นำกอไอยเรศไปโชว์ในงาน "มหัศจรรย์กล้วยไม้ไทย" ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ไอยเรศออกดอกพอดี ซึ่งออกดอกทั้งหมด 52 ช่อ แต่ผมทำหักในขั้นตอนการห่อช่อดอกตอนขนย้าย 1 ช่อ จึงเหลือไปโชว์ในงานเพียง 51 ช่อ แต่ละช่อก็ยาวถึง 60 เซนติเมตร ก็เป็นการขนย้ายที่ยากมาก แต่ก็ผ่านไปด้วยดี หลังงานเลิกไอยเรศต้นนี้ก็มีผู้มาขอซื้อ แล้วคุณวิชัยจำหน่ายไปในราคา 500,000 บาท เลยทีเดียว

ในบรรดาสกุลช้างด้วยกัน คุณวิชัยกล่าวว่า ช้างแดงถือว่าเลี้ยงยากที่สุด โตช้า ตายง่าย อย่างปลูกเลี้ยงเปอร์เซ็นต์การตายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว แต่ความนิยมในการปลูกเลี้ยงช้างแดงในปัจจุบันกลับสวนทาง คือนักเลี้ยงกล้วยไม้จะนิยมหามาเลี้ยงกันมากขึ้นเป็นลำดับ น่าจะด้วยความท้าทายในการปลูกเลี้ยงนั่นเอง เหตุผลหนึ่งที่กล้วยไม้สกุลช้างเลี้ยงยาก เนื่องจากเป็นลักษณะของการ "ห่างป่า" จึงทำให้ช้างอ่อนแอ ทั้งต่อสภาพแวดล้อม ทั้งโรค-แมลง ซึ่งต่อๆ ไปการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างจะต้องนำต้นป่าแท้เข้ามาผสมกลับเข้าไปอีก

การพัฒนากล้วยไม้สกุลช้าง จะเน้นการเพาะเมล็ดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ปั่นตา

สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ไม่นิยมนำกล้วยไม้สกุลช้างมาปั่นตา เพราะที่ผ่านมา การปั่นตากล้วยไม้สกุลช้างยังไม่ค่อยดีนัก มีเปอร์เซ็นต์การตายสูง ซึ่งพ่อ-แม่พันธุ์ดีของเราก็เกิดความเสี่ยง แล้วอีกเหตุผลหนึ่ง หากทุกคนในวงการทำแต่เพาะไม้ปั่นตาอย่างเดียว วงการพัฒนากล้วยไม้สกุลช้างมันก็จะหยุดอยู่กับที่ทันที แต่จากการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดนั้น เจ้าของหรือนักผสมพันธุ์ผสมจนติดฝักเฝ้ารอคอยเวลาได้ลุ้นว่ามันจะหน้าตาเป็นอย่างไร บางครั้งได้ต้นดีที่สุดก็เพียงต้นเดียวจากหลายๆ ร้อยหลายๆ พันต้นก็ดีใจแล้ว แต่ต้นดีเพียง 1-2 ต้นในแต่ละครั้ง คุณวิชัยกล่าวว่า สามารถขายให้ผู้ที่ชื่นชอบและนักสะสม ตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท ต่อ 1 ต้น เลยทีเดียว ขอเพียงเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อกล้วยไม้เราสวย ในวงการเขาก็จะรู้ถึงกันหมด ไกลแค่ไหนผู้ที่ชื่นชอบเหล่านั้นก็จะตามมาซื้อถึงสวนเลยทีเดียว

ผู้ที่ชื่นชอบก็จะไปติดตามไม้ของแต่ละสวนในงานประกวดบ้าง จากอินเตอร์เน็ตบ้าง เพียงดูรูปก็รู้แล้วว่าไม้ของแต่ละสวนเป็นอย่างไร อย่างไม้สกุลช้างทุกวันนี้คนหันมานิยมกันมากขึ้น ราคาก็สูงขึ้นสำหรับพ่อ-แม่พันธุ์ดีๆ หรือลูกผสมใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา จนในช่วงหลังถึงกับมีการลักขโมยกล้วยไม้ช้างจากสวนดังๆ ก็มาก โดยขโมยสามารถหยิบต้นที่ดีที่สุดได้อย่างถูกต้อง คุณวิชัยกล่าว โดยเฉพาะสวนกล้วยไม้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่โดนขโมยกันมาก

การขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างที่สวนวิไลรัตน์ ออร์คิดส์ จึงเป็นการเพาะเมล็ดทั้งหมด ซึ่งหลังจากผสมดอกจนติดฝักประมาณ 10-11 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น ในช่วงอากาศร้อนมาก ฝักกล้วยไม้มักจะแก่เร็วขึ้นและฝักร่วงง่าย แต่ถ้าอากาศทางภาคเหนือซึ่งอากาศเย็น ฝักกล้วยไม้ที่ผสมจะแก่ช้ากว่าเล็กน้อย เมล็ดกล้วยไม้ที่ดี ไม่ควรปล่อยให้เมล็ดแก่จนเป็นสีน้ำตาลเข้มจัด เพราะเมื่อส่งเพาะแล็บ เมล็ดแก่จะเพาะไม่ค่อยขึ้น กล้วยไม้เพียง 1 ฝัก แล็บก็จะสามารถเพาะได้ถึง 100-300 ขวด เลยทีเดียว โดยเฉพาะถ้าเป็นฝัก "ช้างแดง" คุณวิชัยจะสั่งให้ทางแล็บเพาะให้ได้จำนวนขวดมากที่สุด เพราะนอกจากเป็นการผสมระหว่างพ่อ-แม่ช้างดีแล้ว ก็ต้องเผื่อในการปลูกเลี้ยงที่จะมีการตายไว้ด้วย

เลี้ยงดูจนลุ้นดอกแรกของช้าง ก็ต้องรอเวลาถึง 3 ปีครึ่ง
คุณวิชัยเล่าว่า เมื่อนำลูกกล้วยไม้ออกจากขวดอนุบาลราว 1 ปี บนโต๊ะที่วางไว้บนซาแรนดำ เลือกซาแรนดำที่ลักษณะหยาบๆ เพื่อให้รากกล้วยไม้สามารถแทงทะลุลงข้างล่างได้ ซึ่งคุณวิชัยแนะว่า เป็นวิธีที่ได้ผลดี รากกล้วยไม้จะเจริญได้ดีมาก รากยาวเมื่อเราดึงกล้วยไม้ขึ้นกระเช้า รากกล้วยไม้จะไม่ขาดหรือหักเสียหายเลย ซึ่งส่งผลไม่ให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตหรือลดเปอร์เซ็นต์การตายในระหว่างย้ายขึ้นกระเช้าแขวน โดยหากเป็นเมื่อก่อนนั้นเราจะอนุบาลเลี้ยงลูกกล้วยไม้ในกระถางเล็กๆ หรือกระถางเจี๊ยบ เมื่อเลี้ยงได้ 1 ปี พอจะถอนต้นย้ายขึ้นบนโต๊ะกระเช้าแขวน รากกล้วยไม้ทั้งหัก ทั้งขาด ทำให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตไป พอเลี้ยงอนุบาลได้ 1 ปี คุณวิชัยก็จะนำขึ้นกระเช้าแขวน เลี้ยงบำรุงอย่างดีอีกราว 2 ปีครึ่ง ก็จะได้ลุ้นดอกแรกของช้าง แต่ถ้าเป็นแวนด้าก็จะเร็วกว่านี้คือราว 3 ปี ก็จะเห็นดอกแรก

นิสัยของกล้วยไม้สกุลช้างจะไม่ชอบอากาศร้อน
คุณวิชัยกล่าวว่า กล้วยไม้สกุลช้างจะไม่ชอบอากาศร้อนและแสงแดดแรงจัด ซึ่งในโรงเรือนจะต้องมุงซาแรนให้พรางแสงได้อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ (คือแสงผ่านได้ 30 เปอร์เซ็นต์) แต่เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่สวนจะต้องเพิ่มซาแรนให้อีกชั้นหนึ่ง เพราะอากาศในพื้นที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร นี้จะร้อนมาก แดดจะแรงมาก จากนั้นก็ต้องควบคุมเรื่อง "น้ำ" ให้ดี ต้องสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้เย็น เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนลง สามารถให้น้ำได้วันละ 1-2 ครั้ง ตามแต่สภาพอากาศร้อนมากเพียงใด

การให้ปุ๋ยกล้วยไม้สกุลช้าง
คุณวิชัยแนะนำว่า สามารถให้ได้แต่อย่าให้มาก อย่าปล่อยให้เขางามและใบอวบอ้วนจนเกินไป เพราะจะทำให้เขาอ่อนแอต่อโรค "ยอดเน่า" ซึ่งหากกล้วยไม้อย่างช้างเป็นมักจะแก้ไขยากมาก ไม่เหมือนกับกลุ่มแวนด้าที่เป็นยอดเน่า ยังพอใช้ยาเชื้อราฉีดรักษาอาการ ตัดยอดเลี้ยงรักษาได้ แต่สำหรับกล้วยไม้สกุลช้าง เมื่อเป็นโรคยอดเน่าแล้วมีโอกาสตายสูงมาก โดยเฉพาะช้างแดงที่อ่อนแอมาก ประสบการณ์ที่ผ่านมา ช้างแดงที่มีคนให้ราคาไว้หลายหมื่นบาทตายไปเพราะโรคนี้แล้วก็มี

การฉีดปุ๋ยทางใบโดยปกติก็จะฉีดให้ไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะฤดูฝนเป็นช่วงที่ช้างจะโตเร็ว ก็จะงดหรือเว้นระยะห่างในการใช้ปุ๋ย อย่าให้เขาอวบอ้วนจนเกินไป ช้างแดงเลี้ยงให้อวบอ้วนนั้นไม่ยาก แต่เลี้ยงให้เขารอดนั้นยากกว่า แต่คุณวิชัยจะให้ความสำคัญเรื่องการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอมากกว่า สกุลช้างเป็นกล้วยไม้ที่บังคับให้ออกดอกนอกฤดูไม่ได้ ไม่เหมือนกับสกุลแวนด้า หรือเขาแกะที่ยังสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้ พอเข้าสู่ฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน ช้างก็จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาแล้ว ดอกจะเริ่มบานได้เดือนธันวาคม-เดือนมกราคมของทุกปี ส่วนการออกดอกจะมากหรือน้อยนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าถ้าอากาศเย็นมาก ช้างก็จะออกดอกแทงช่อดี

การมองตลาดกล้วยไม้สกุลช้าง โดยเฉพาะ "ช้างแดง" อนาคตทุกสวนก็ต้องแข่งขันกันเรื่องฝีมือ ที่จะพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้น ผลิตลูกไม้จากการเพาะเมล็ดให้เกิดความหลากหลาย ให้ได้เลือก อย่างที่สวนจะขายไม้เพาะเมล็ด เลี้ยงจนเป็นไม้รุ่นจึงจะจำหน่ายออกไป จะไม่ขายออกไปเป็นไม้ปั่นตาหรือขายไม้ในขวด

นอกจากกล้วยไม้สกุลช้างแล้ว สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ยังมีกล้วยไม้อย่างตระกูลแวนด้า แคทลียา ฯลฯ ที่ต้องปลูกเลี้ยงไว้รองรับลูกค้าที่ต้องการความหลากหลายในเวลาเลือกซื้อสินค้า หรือมาซื้อกล้วยไม้จากทางสวนเพื่อนำไปขายต่อจะได้ไม่เสียเที่ยว เป็นต้น ด้วยประสบการณ์ในวงการกล้วยไม้ของคุณวิชัยมากว่า 20 ปีนั้น ท่านจะมาถ่ายทอดแนวคิดประสบการณ์ดีๆ ให้ได้ติดตาม

คุณวิชัยทิ้งท้ายว่า "แต่ถ้ามีนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นใหม่ที่เขาสนใจจริง ตั้งใจเลี้ยง คุณวิชัยจะยกไม้ขวดที่ดีที่สุดให้เขาไปเลี้ยงเพื่ออีกสัก 3-4 ปีข้างหน้า เมื่อเขาเลี้ยงจนเห็นดอกที่สวย เขาก็จะได้มีกำลังใจและชื่นชอบกล้วยไม้ต่อไป บ้านเราก็จะได้มีนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้วงการกล้วยไม้ประเทศไทยไม่หยุดนิ่ง"



หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เงินล้าน" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เชิงพาณิชย์" และ หนังสือ "การผลิตและการตลาดกล้วยไม้สกุลหวาย" รวม 3 เล่ม จำนวน 252 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 100 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:26 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

บันไดสามขั้นสำหรับนักเลี้ยงกล้วยไม้

งานอดิเรกของผู้นิยมชมชอบต้นไม้ที่ฮิตมากก็คือ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ กล้วยไม้ที่ว่ามักจะเป็นกล้วยไม้ที่นำออกจากป่า หรือที่นักกล้วยไม้เรียกว่า ไม้กำ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้านำมากำขายเป็นกำๆ ในตลาดนัดจตุจักรหรือแหล่งขายกล้วยไม้ป่าทั่วๆ ไป กล้วยไม้ดังกล่าวกว่าจะมาถึงมือผู้ซื้อส่วนใหญ่อยู่ในสภาพบอบช้ำแสนสาหัสมาแล้วแทบทั้งนั้น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ซื้อไปเลี้ยงมักจะไม่รอด

สำหรับนักกล้วยไม้ที่เป็นมือฉมังขั้นเซียนในปัจจุบันล้วนผ่านเวทีการเลี้ยงกล้วยไม้ป่ามาแล้วทั้งสิ้น ตำรากล้วยไม้ที่มีก็ซื้อหามาเพื่ออ่านดูว่ามีชนิดไหนบ้าง ตำราประเภทนี้มักจะเน้นที่รูปดอกให้รู้ว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดไหน เห็นดอกสวยก็จำชื่อไปเสาะหาซื้อ โดนหลอกมาก็มาก จะเอาต้นชื่อนี้ กลับได้อีกต้นหนึ่ง ซึ่งสำหรับมือใหม่ดูต้นกล้วยไม้ไม่ออกว่าเป็นชนิดไหนกันแน่ นักเลี้ยงกล้วยไม้ทุกคนจะต้องผ่านการเป็นมือใหม่หัดเลี้ยงก่อน และต้องผ่านบันไดสามขั้นนี้ทุกคน

บันไดขั้นที่หนึ่ง เลี้ยงให้รอด
บนบันไดขั้นนี้เป็นขั้นแรกสำหรับนักกล้วยไม้ มือใหม่หัดเลี้ยงกล้วยไม้จะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ชอบดอกกล้วยไม้ชนิดไหนก็จะหาซื้อต้นกล้วยไม้ชนิดนั้น โดยไม่พิจารณาถึงสภาพพื้นที่หรือสถานที่เลี้ยงของตนเองเลย ขอให้ชอบเป็นอันซื้อ กล้วยไม้หลายชนิดมีถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติเหนือระดับน้ำทะเลสูงกว่าสถานที่เลี้ยงของตัวเองมาก เช่น บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล แทบจะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำ กลับซื้อรองเท้านารีดอยตุง รองเท้านารีเหลืองเลย มาเลี้ยง หรือไม่ก็ ฟ้ามุ่ย สามปอย ผลที่ได้ก็คือ สภาพต้นจะค่อยๆ เหี่ยวลงทิ้งใบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตายในที่สุด เพราะฉะนั้นในการอ่านตำรากล้วยไม้ ไม่ว่าของอาจารย์อบฉันท์ หรืออาจารย์ท่านใดก็ตาม นอกจากดูความสวยงามของดอกแล้ว ควรอ่านถึงสภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนั้นด้วย ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมี 3 ประการ

ประการแรก ให้ศึกษาว่ากล้วยไม้ชนิดนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติเหนือระดับน้ำทะเลกี่เมตร แล้วเปรียบเทียบดูสถานที่เลี้ยงของเราเองว่าใกล้เคียงกับที่ตำราบอกไหม ซึ่งประการนี้ไม่จำเป็นต้องเท่ากันและถ้าสูงกว่าไม่เป็นไร ถ้าต่ำกว่ามากก็ไม่ควรเลี้ยง ขอให้จำไว้ว่า กล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก มักจะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลไม่มาก จะปลูกเลี้ยงได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มาจากภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะอาศัยอยู่ในธรรมชาติที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป อย่างนี้ในการเลี้ยงก็ค่อนข้างยาก ยิ่งถ้าแหล่งอาศัยในธรรมชาติสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ไม่ควรเลี้ยงเลย เพราะจะเสียเงินไปเปล่าและยังบั่นทอนกำลังใจในการเลี้ยงอีก

ประการที่สอง ให้ศึกษาดูให้ดีว่า กล้วยไม้ชนิดนั้นๆ พบในแหล่งธรรมชาติที่ป่าชนิดไหน เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ หรือป่าพรุ สภาพของป่าแต่ละอย่างมีความแตกต่างกันทั้งในสภาพของแสง สภาพของความชื้นในบรรยากาศ ปริมาณฝนที่ตก อุณหภูมิในป่าตามฤดูกาลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของการดำรงอยู่ของกล้วยไม้แต่ละชนิด ยากไหมครับ บอกได้เลยว่าไม่ยาก ถ้าการปลูกกล้วยไม้เป็นสิ่งที่เรารัก เราต้องเอาใจใส่ในสิ่งที่เรารักเป็นเรื่องธรรมดา เอาอย่างนี้ เรื่องทั้งหมดแทบจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เรารู้กันแทบทั้งนั้น ถ้าเราพูดถึงป่าดิบชื้น ชื่อก็บอกในตัวอยู่แล้วว่า ป่าดิบก็คือป่าที่ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่ใช่ไหม แล้วชื้นล่ะ ชื้นก็คือมีความชื้นในป่ามาก ป่าดิบชื้นก็คือสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีความชื้นมาก ก็แค่นั้น แล้วยังไงต่อ ต่อก็คือ เมื่อเรารู้ว่ากล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ในป่าที่เป็นป่าดิบชื้น เราก็ต้องดัดแปลงสถานที่ปลูกของเราให้คล้ายสภาพในธรรมชาติที่กล้วยไม้อยู่ เปล่า ไม่ได้บอกให้เอาป่ามาปลูกไว้ข้างบ้าน ป่าดิบชื้น เราจะพิจารณาได้ว่า สภาพแสงจะต้องไม่มากนัก ซาแรนที่พรางแสงใช้ 80% น่าจะใช่ แล้วสภาพความชื้นละ สภาพพื้นโรงเรือนควรจะเป็นทรายไหม หรือมีสภาพน้ำเจิ่งอยู่ตลอดเวลา แล้วปริมาณฝนในป่าดิบชื้น ควรจะมากหรือน้อย ก็ต้องควรจะมาก ถ้าสภาพฝนมากในธรรมชาติแล้วในโรงเรือนควรรดน้ำวันละกี่ครั้ง รดสัก 2 ครั้ง จะคล้ายปริมาณฝนที่มากไหม อุณหภูมิที่เลี้ยงล่ะ ก็ให้ดูจังหวัดหรือภาคที่พบ ถ้าพบทั่วประเทศก็แสดงว่ากล้วยไม้ชนิดนี้มีสภาพความเป็นอยู่หลากหลาย เลี้ยงได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเลี้ยงที่กรุงเทพฯ ก็ยังแนะนำให้เอากล้วยไม้ที่มาจากทางภาคใต้เลี้ยง เพราะจะเลี้ยงง่ายกว่าภาคเหนือ แต่ถ้าอยู่ภาคเหนือเอากล้วยไม้จากภาคไหนก็เลี้ยงได้หมด ยกเว้นการเลี้ยงบนดอยซึ่งมีอากาศหนาวมาก กล้วยไม้บางชนิดที่พบในภาคเหนือจะเลี้ยงไม่ได้เลยในกรุงเทพฯ เช่น เอื้องแซะหอม เอื้องแซะดอยปุย

สรุปแล้ว ถ้าพบชื่อเป็นสถานที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรหลีกเลี่ยงในการเอามาปลูกเลี้ยงในกรุงเทพฯ เช่น รองเท้านารีดอยตุง รองเท้านารีอินทนนท์ เก๊ากิ่งแม่สะเรียง กะเรกะร่อนอินทนนท์ หนวดพราหมณ์ดอย สิงโตเชียงดาว เอื้องจำปาน่าน กระดิ่งภู อย่าได้ริซื้อมาปลูกเลี้ยงเป็นอันขาด เพราะกล้วยไม้ชนิดนี้จะต้องอาศัยอยู่อุณหภูมิที่ต่ำจึงจะออกดอก

ประการที่สาม คือสาเหตุประการแรกเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัจจัยที่สองเราสามารถทำขึ้นมาให้ใกล้เคียงได้ ประการที่สามคือ เราสามารถเอาใจใส่ดูแลกล้วยไม้อย่างที่ว่าในปัจจัยที่สองได้ไหม ถ้าไม่ได้ขอแนะนำให้เลี้ยงให้น้อยต้นลง หรือไม่ก็เลี้ยงกล้วยไม้สกุลหวายที่ตัดดอกสำหรับไหว้พระเถอะ กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย ออกดอกตลอดปี เป็นที่นิยมมาก แถมราคาถูกอีกด้วย และไม่เป็นการรังแกธรรมชาติเพราะกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นลูกผสมที่นำมาปั่นเนื้อเยื่อกันคราละเป็นแสนต้น ตายก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ เป็นการอุดหนุนเกษตรกรอีกทาง

บันไดขั้นที่สอง เลี้ยงให้ออกดอก
กล้วยไม้พันธุ์แท้โดยทั่วๆ ไปเมื่อเลี้ยงไม่ตายมักจะออกดอกเมื่อถึงฤดูดอกของแต่ละชนิดนั้นๆ ถึงสภาพการเลี้ยงดูจะไม่ดีมากก็ตาม ดังจะเห็นได้จากที่เราเอากล้วยไม้พันธุ์แท้ต่างๆ ไปเกาะตามต้นไม้ใหญ่บริเวณบ้าน ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่มากนัก จนลืมไปเสียแล้วก็มี พอถึงฤดูดอกก็จะมีดอกออกมาให้ชม ถึงรู้ว่าปลูกกล้วยไม้เอาไว้ แต่สภาพดอกอาจไม่ดีนัก อันนี้มักจะไม่แน่เสมอไป บางครั้งสภาพแวดล้อมอาจเหมาะสำหรับกล้วยไม้ชนิดนั้นก็จะได้เห็นดอกที่มีสภาพสมบูรณ์ได้ไม่ยาก แต่สำหรับกล้วยไม้ลูกผสมต่างๆ ที่ปลูกเลี้ยงกัน เช่น สกุลแวนด้า เอสโคเซนด้า แคทลียา ถ้านำไปเกาะตามต้นไม้ฝากเทวดาเลี้ยงมักจะไม่ได้ผล เนื่องจากกล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้มีคุณสมบัติในการออกดอกถี่มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ทำให้ต้องการปุ๋ย ยา และการดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างดี การซื้อมาปลูกแล้วรดเพียงแต่น้ำ การออกดอกค่อนข้างยาก หนำซ้ำจะตายเอาอีก ส่วนกล้วยไม้พันธุ์แท้ออกดอกเพียงปีละครั้ง ดังนั้น ความต้องการปุ๋ยยาและการดูแลจะน้อยกว่า การออกดอกก็ง่ายกว่าเพราะสะสมอาหารเพื่อการนี้ไว้ตั้งปี กว่าจะออกดอก แต่ดอกจะสวยสมบูรณ์หรือไม่ก็อยู่ที่สภาพแวดล้อมของต้นไม้ที่เกาะ แต่ถ้ากล้วยไม้พันธุ์แท้ได้รับการดูแลเอาใจใส่เหมือนกล้วยไม้ลูกผสม การออกดอกก็ยิ่งจะมีสภาพสมบูรณ์กว่า การให้ปุ๋ยเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ต้นกล้วยไม้มีความสมบูรณ์ การรดแต่น้ำอย่างเดียวโดยไม่ให้ปุ๋ยเหมือนกับคนกินเฉพาะข้าวไม่ได้กินกับ การให้ปุ๋ยอย่างไร เช่น ความถี่ในการให้ เวลาในการให้ จำนวนที่ให้ ชนิดปุ๋ยที่ให้สอดคล้องกับฤดูกาลหรือระยะเวลาการเจริญเติบโตของวงจรชีวิตช่วงไหนของกล้วยไม้ชนิดนั้น เป็นสิ่งสำคัญ นักปลูกเลี้ยงมักจะให้ปุ๋ยสูตรเสมอเพื่อความสมบูรณ์ของต้นก่อน จนต้นสมบูรณ์เต็มที่ใกล้จะออกดอกจึงจะใส่ปุ๋ยเร่งดอก ส่วนยาที่ให้ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ กล้วยไม้แต่ละชนิดมีความทนทานโรคต่างกัน การให้ยาในกล้วยไม้สกุลเดียวกันค่อนข้างง่าย ถ้าปลูกเลี้ยงหลายๆ สกุลรวมกัน การให้ปุ๋ยยาค่อนข้างยาก จึงควรแยกโซนการปลูกเป็นแต่ละส่วนไปเพื่อสะดวกในการให้ปุ๋ยยา

บันไดขั้นสาม เลี้ยงอย่างไรให้ดอกสวย
เลี้ยงมาถึงขั้นนี้แล้ว เราจะรู้ว่ากล้วยไม้ชนิดไหนเราเลี้ยงได้ และกล้วยไม้ชนิดไหนไม่เหมาะสมกับเราด้วยประการทั้งปวง ถ้าชอบก็เลี้ยงไว้ดูบ้างเล็กน้อยจะได้มีเวลาประคบประหงม แต่อย่าดันทุรังเลี้ยงจำนวนมากๆ กล้วยไม้เราจะเหลือแค่ไม่กี่สกุล แต่จำนวนในสกุลที่เลี้ยงได้จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ กล้วยไม้สกุลไหนที่เลี้ยงไม่ได้ก็จะหยุดซื้อ ที่มีอยู่ก็แจกจ่ายให้กับคนอื่นไป กล้วยไม้ที่เหลือก็จะถูกจัดแบ่งแยกเป็นส่วนๆ แต่ละสกุลไปเพื่อง่ายในการดูแล เมื่อเราเหลือเฉพาะกล้วยไม้สกุลที่เลี้ยงได้และที่เรารักแล้ว เราก็ต้องตั้งใจเรียนรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้สกุลนั้นๆ จากผู้รู้หรือตำรับตำราทั้งหลาย เลี้ยงอย่างไรให้ดอกสวย คำตอบนี้คุณต้องเป็นผู้แสวงหาเอง เลี้ยงให้สวยเพื่ออะไร เอาไว้ชื่นชมเองกับบ้าน หรือเริ่มเข้าวงการเพื่อประกวดกล้วยไม้ เปิดหูเปิดตาดูกล้วยไม้ต่างๆ ที่เขาเอามาประกวดบ้างเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ก็จะค่อยๆ รู้เรื่องกล้วยไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอาประสบการณ์ของคนอื่นมาใช้บ้าง แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะการเลี้ยงกล้วยไม้ให้ได้ดีต้องมีปัจจัยหลายอย่าง อย่าเอาเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียวมาใช้กับกล้วยไม้ของเราทันที ให้ค่อยๆ ทดลองทำทีละส่วนน้อยๆ ก่อน ถ้าเห็นว่าเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ในสวนเราแล้วละก็ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าของเรามีส่วนดีอยู่แล้วอย่าพยายามริเปลี่ยน เพราะมันอาจจะเลวลงก็ได้

นักกล้วยไม้ที่เริ่มทำสวนกล้วยไม้ เริ่มมาจากการผ่านบันไดสามขั้นนี้มาทั้งนั้น การที่มีเงินแล้วเอามาลงทุนทำสวนกล้วยไม้เลยด้วยทุนจำนวนมาก มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในงานเลี้ยง จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่น เขาว่าอย่างไรก็ว่าตามเขา ไม่นานก็จะค่อยๆ ม้วนเสื่อกลับบ้าน โบราณว่า อย่าพึ่งจมูกเขาหายใจ มีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถเป็นเจ้าของสวนกล้วยไม้ได้เป็นวิธีการเรียนลัด คือการเข้ามาทำงานในสวนกล้วยไม้ที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว มาทำงานให้เขา เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรียนรู้เรื่องราวจากสวนกล้วยไม้นั้น เอาใจใส่จริงๆ ไม่เกิน 3 ปี 5 ปี ก็น่าจะมีประสบการณ์พอสำหรับสร้างสวนของตัวเอง วิธีนี้ก็สร้างเจ้าของสวนได้หลายแห่ง แล้วแต่จังหวะชีวิตของคนจะใช้วิธีไหนในการเดิน


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:28 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การุณย์ มะโนใจ

เพาะเห็ดหอม อาชีพสร้างรายได้ ที่เวียงป่าเป้า *

เห็ดหอม เป็นเห็ดที่มีผู้นิยมบริโภคมาก มีรสชาติอร่อย สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด ปัจจุบันสามารถเพาะจากขี้เลื่อยได้แล้ว เห็ดหอมมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นเรียกว่า ไชอิตาเกะ เกาหลีเรียกว่า โบโกะ จีนเรียกว่า เฮียโกะ ภูฏานเรียกว่า ชิชิ-ชามุ อังกฤษเรียกว่า Black Mushroom หรือ เห็ดดำ มีถิ่นกำเนิด ประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ หมวกเห็ดหอมมีรูปทรงกลม ผิวมีขนรวมกันเป็นเกล็ดหยาบๆ สีขาวกระจายอยู่ทั่วไป ผิวหมวกด้านบนสีน้ำตาล น้ำตาลปนแดง หรือน้ำตาลเข้ม ครีบดอกเป็นแผ่นบางสีขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเข้ม ก้านดอกมีสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน หากปล่อยไว้ให้ถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีเข้ม โคนก้านดอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาว เห็ดหอมเนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงได้ชื่อว่า เห็ดหอม ฤดูกาลเพาะสามารถเพาะได้ตลอดปีแต่จะให้ผลผลิตดีในช่วงฤดูหนาว แหล่งปลูกหรือเพาะมีมากทางภาคเหนือตอนบนแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ภาคอีสานแถบจังหวัดเลยและสกลนคร การกิน เห็ดหอมที่นำมากิน มีทั้งเห็ดหอมสดและเห็ดหอมแห้ง หากเป็นเห็ดหอมแห้งจะต้องนำมาแช่น้ำก่อนปรุงอาหาร เช่น เห็ดหอมผัดน้ำมันหอย เห็ดหอมตุ๋น โจ๊กเห็ดหอม ใส่ในข้าวผัด และผัดผัก เป็นต้น สรรพคุณทางยา คนจีนใช้เห็ดหอมเป็นอายุวัฒนะ รักษาหวัดทำให้เลือดลมดี แก้โรคหัวใจ ป้องกันการเติบโตของเนื้อร้าย ต้านพิษงู ป้องกันโรคเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็ง โรคร้ายจากเชื้อไวรัส ช่วยลดความดันโลหิต ผู้เป็นความดันโลหิตต่ำไม่ควรบริโภค เห็ดหอมมีกรดอะมิโนชื่อ eritadenine ช่วยให้ไตย่อยโคเลสเตอรอลได้ดี มีสารเลนติแนน (Lentinan) ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ ในระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพ ในการต่อสู้กับเซลล์เนื้องอก

คุณอัครพล อ่องเภา เจ้าของฟาร์มเพาะเห็ดหอม อ.รุ่งเรืองฟาร์ม ผู้เพาะเห็ดแห่งบ้านแม่ห่างเหนือ ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เล่าให้ฟังว่า การเพาะเห็ดหอมในถุงพลาสติค ในสภาพธรรมชาติได้ประสบความสำเร็จมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบันในการเพาะเห็ดหอมด้วยวิธีเพาะเลียนแบบธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ไม้ก่อ (ไม้ที่ควรสงวนและรักษา) โดยใช้หลักการที่ว่า เห็ดหอมสามารถย่อยเซลลูโลสและลิกนินได้ ขี้เลื่อยจึงเป็นวัสดุเพาะที่ใกล้เคียงที่สุด และช่วยแก้ไขปัญหาการนำไม้ก่อมาใช้เพาะเห็ดหอมได้อีกทางหนึ่ง

วัสดุอุปกรณ์ในการเพาะประกอบด้วยวัสดุเพาะ ที่ได้ผลดีคือ ขี้เลื่อยไม้มะขาม รองมาคือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้กระถินณรงค์หรือขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณหมัก และวัสดุเสริม ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำข้าว 5 กิโลกรัม น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม ยิปซัมครึ่งกิโลกรัม ผสมน้ำให้มีความชื้น 55-65% ถุงพลาสติคทนร้อน และอุปกรณ์การเพาะเห็ดในถุงพลาสติคหม้อนึ่งความดัน หรือถังนึ่งไม่อัดความดันพร้อมอุปกรณ์การให้ความร้อนในการนึ่งฆ่าเชื้อและโรงเรือน หรือสถานที่บ่มเส้นใยและให้ผลผลิต

วิธีการเพาะ ผสมวัสดุเพาะและวัสดุเสริมทั้งหมดให้เข้ากัน อย่าให้แห้งหรือแฉะ ให้วัสดุพอจับตัวกันได้ เมื่อบีบดูต้องไม่มีหยดน้ำ เมื่อคลายมือออก ส่วนผสมต้องไม่แตกร่อนออกอย่างรวดเร็ว บรรจุส่วนผสมลงในถุงพลาสติคทนร้อน อัดแน่นพอประมาณ ถุงละครึ่งกิโลกรัมถึง 1 กิโลกรัม ใส่คอขวดปิดจุกสำลี และปิดทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบกันไอน้ำ แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเป็นเวลา 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ด้วยความดัน 15-20 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว (หรือใช้ถังนึ่งไม่อัดความดันก็ได้ผลดีพอควร โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่ไอน้ำเดือดพุ่งตรงสม่ำเสมอ เป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง ต้องรักษาระดับไอน้ำไว้ตลอดเวลา ด้วยการปรับความร้อนให้มีอุณหภูมิภายในถังนึ่ง 85-100 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา) แล้วทิ้งให้เย็น แกะกระดาษหรือฝาครอบออก เปิดจุกสำลีแล้วใส่เชื้อเห็ด (นิยมใช้หัวเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่าง) ควรทำในบริเวณที่สะอาด ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค แล้วนำไปบ่มเส้นใย การบ่มเส้นใย ระยะเวลาที่บ่มเส้นใย 3-4 เดือน ขึ้นกับน้ำหนักอาหารที่ใช้ หรือมีการสร้างตุ่มดอก ประมาณ 2/3 ของก้อนเชื้อ

ปัจจัยที่สำคัญและการดูแล คืออุณหภูมิการบ่มเส้นใยเห็ดหอมที่ดีที่สุด คือที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส การทำห้องหรือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาไม้สำหรับบ่มเส้นใยอย่างง่าย เช่น ทำจากหญ้าคา จากฟาง ไม้ไผ่ ฯลฯ ก็ได้ และมีการให้น้ำภายนอกโรงเรือน หรือบริเวณพื้นโรงเรือนเป็นครั้งคราวเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ความชื้นระยะบ่มเส้นใย ต้องการความชื้นในบรรยากาศในระดับปกติคือ ประมาณ 50% ไม่ต้องให้น้ำที่ถุงเห็ด ถ้ามีความจำเป็นต้องให้น้ำโรงเรือนต้องระวังมิให้น้ำถูกสำลีที่จุกปากถุง เพราะจะเป็นทางทำให้เกิดเชื้อโรคไปทำลายเชื้อเห็ดได้ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการสร้างดอกเห็ดและการเจริญของดอกเห็ด อยู่ระหว่าง 80-90% และ 60-70% ตามลำดับ การผ่านลมเย็นในขณะดอกเห็ดเจริญ จะทำให้หมวกเห็ดแตก คล้ายกับดอกเห็ดหอมที่นำเข้าจากต่างประเทศ อากาศ การถ่ายเทอากาศที่ดีจำเป็นต่อการเจริญของดอกเห็ด และทำให้มีการสะสมเชื้อโรคน้อยลง ถ้ามีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะทำให้เห็ดมีก้านยาว บางครั้งหมวกเห็ดอาจจะไม่เจริญหรือมีลักษณะผิดปกติอื่นๆ แสงช่วยกระตุ้นให้เส้นใยเกิดตุ่มเห็ด สร้างแผ่นสีน้ำตาล และเจริญเป็นดอกเห็ดได้เร็วกว่าที่มืดและยังช่วยให้หมวกเห็ดมีสีเข้ม ไม่จางซีด การแช่น้ำเย็นหลังจากบ่มเส้นใยสมบูรณ์แล้ว ให้แช่ก้อนเชื้อในน้ำเย็น 2 ชั่วโมง หรือค้างคืนก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก

การให้ผลผลิตโดยเปิดปากถุงให้ออกดอกทางด้านบนหรือเปลือยก้อนเชื้อโดยแกะถุงพลาสติคออกทั้งหมด ให้ก้อนเชื้อสัมผัสอากาศเป็นการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด ถ้าต้องการเห็ดดอกใหญ่ก็เปิดให้มีการเกิดดอกเป็นบางส่วน การเปลือยก้อนเชื้อจะได้ดอกเห็ดจำนวนมากแต่ดอกจะเล็ก และอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือถูกกระทบจากสภาพแวดล้อมได้ง่าย ผลผลิตดอกเห็ดสดจะได้ 50-400 กรัม ต่อก้อนเชื้อครึ่งกิโลกรัม ถึง 1 กิโลกรัม ขึ้นกับความใส่ใจและเทคนิควิธีการของผู้เพาะเห็ด ราคาของเห็ดหอมเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100 บาท ต่อกิโลกรัม ในรายนักเพาะเห็ดหอมมือใหม่ ก้อนเห็ดอาจให้ดอกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ไม่ออกดอกสามารถนำไปเพาะเห็ดอื่นๆ ได้ แต่ไม่สามารถนำมาเพาะเห็ดหอมซ้ำได้ คือการเพาะเห็ดหอมจะต้องใช้ขี้เลื่อยใหม่เท่านั้น

การเก็บผลผลิตและการทำแห้ง อย่างถูกวิธีในการเก็บผลผลิตนั้น ควรเก็บดอกเห็ดขณะที่หมวกเห็ดยังไม่บานเต็มที่ หรือขอบหมวกยังงุ้มอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะที่ตลาดต้องการ และอย่าให้ส่วนของดอกเห็ดเหลือติดอยู่ที่ก้อนเชื้อ จะทำให้เน่าเสียและเกิดโรค ในขณะที่เก็บผลผลิตถ้ามีการให้น้ำที่ดอกเห็ดมากเกินไปจะทำให้ดอกเห็ดเน่าเสียง่าย ถ้าไม่มีการให้น้ำดอกเห็ดเมื่อเก็บดอกเห็ดแล้วใส่ถุงพลาสติคไว้ จะสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 3-4 สัปดาห์ โดยจะต้องห่อด้วยผ้าชุบน้ำก่อนเก็บในตู้เย็น มิเช่นนั้นเห็ดจะมีเมือกสีดำเปรอะเปื้อนถุงบรรจุ ไม่สวยงาม เป็นที่รังเกียจของผู้บริโภค

การทำแห้งเห็ดหอม ทำได้ 2 วิธี การตากแห้งโดยตากแดด จนกว่าดอกเห็ดจะแห้งสนิท ควรหลีกเลี่ยงตากแดดจัดมากเกินไป เพราะจะทำให้ดอกเห็ดไหม้เกรียม และควรคว่ำดอกเห็ดให้ครีบอยู่ด้านใต้ เพื่อป้องกันครีบสีคล้ำ การตากแดดเป็นวิธีลดความชื้นในดอกเห็ดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ดอกเห็ดยุบตัวมาก เมื่อดอกเห็ดแห้งสนิทดีแล้ว เก็บในภาชนะที่กันความชื้น มิฉะนั้นอาจจะมีเชื้อราเกิดขึ้นได้ การอบแห้งใช้ลมร้อนค่อยๆ ลดความชื้นภายในดอกเห็ด ซึ่งจะได้เห็ดที่มีคุณภาพที่ดีกว่าเห็ดที่ตากแดด การอบใช้อุณหภูมิ เริ่มแรกประมาณ 30 องศาเซลเซียส จากนั้นเพิ่มอุณหภูมิขึ้นทีละ 1-2 องศาเซลเซียส ทุก 1 ชั่วโมง จนถึง 50 องศาเซลเซียส แล้วเพิ่มให้เป็น 60 องศาเซลเซียส และรักษาอุณหภูมิระดับนี้ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มรสชาติ กลิ่น และทำให้ดอกเห็ดหอมมีลักษณะเป็นเงาสวยงาม

หากสนใจการเพาะเห็ดหอมสร้างรายได้ สอบถามจากคุณอัครพล อ่องเภ่า ที่บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 10 บ้านแม่ห่างเหนือ ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดพะเยา โทร. (053) 704-551


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 16/03/2010 7:07 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:38 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

พานิชย์ ยศปัญญา

มะละกอฮาวาย สวนสระแก้ว ยืนหยัดผลิตและส่งขายมา 20 ปี *

ได้ยินชื่อเสียงของ อาจารย์โชคยิ่ง พิทักษากร เจ้าของสวนสระแก้ว ที่ผลิตมะละกอฮาวาย มานานแล้ว เพียรพยายามนัดเพื่อสัมภาษณ์แต่ก็คลาดเคลื่อน จนกระทั่งกลางฝน ปี 2552 จึงมีโอกาส สถานที่พูดคุยคือ สวนสระแก้ว เลขที่ 150 หมู่ที่ 6 กม. 8 ถนนวังใหม่-ทุ่งกบินทร์ ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว

สวนสะแก้ว ผลิตมะละกอฮาวาย สายพันธุ์โซโล ซันไรซ์ มานาน 20 ปี ผลผลิตส่งโรงแรม 5 ดาว การบินไทย ต่างประเทศ และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

อาจารย์โชคยิ่ง เรียนจบปริญญาโท เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนภรรยาอาจารย์ที่ช่วยเรื่องการตลาด เรียนจบปริญญาตรีศึกษาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

วันที่ไปพูดคุย ทีมงานของเราไปถึงสวนสระแก้วก่อนอาจารย์ คงเป็นเพราะเกรงว่าพวกเราจะหิว ทั้งๆ ที่พวกเราอิ่มกันแล้ว อาจารย์นำข้าวกับแกงป่าเจ้าอร่อยติดมือมาด้วย ก่อนกลับพวกเราจึงได้แกงป่ากลับไปอร่อยที่บ้านด้วย

สายฝนที่สวนสระแก้ว โปรยปรายไม่หยุด เมื่ออาจารย์มาถึง หลังแนะนำตัวเล็กน้อย การสนทนาจึงเริ่มขึ้น

เริ่มจากพืชแซม แต่ยั่งยืนมาถึง 20 ปี
อาจารย์โชคยิ่ง บอกว่า พื้นที่สวน ของสวนสระแก้วมีประมาณ 200 ไร่ ปลูกไม้ผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมะขามหวาน มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ และอื่นๆ เมื่อปลูกต้นไม้ผลลงไป ก่อนที่ไม้ผลจะให้ผลผลิต ตามหลักการแล้วต้องมีพืชแซม เจ้าของสวนมองหาพืชหลายชนิด สุดท้ายมาลงที่มะละกอ โดยวางแผนว่าปลูกไป 2-3 ปี พอไม้ผลให้ผลผลิตก็เลิก

แต่โจทย์ยังมีต่อว่า แล้วจะใช้มะละกอพันธุ์อะไร มีคนแนะนำอาจารย์โชคยิ่งว่า มีเมล็ดมะละกอฮาวายเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง น่าจะนำมาลองปลูกดู หลังปลูกและเก็บผลผลิตจำหน่าย อาจารย์โชคยิ่งเห็นช่องทางการตลาดของมะละกอฮาวาย

"เห็นความแตกต่าง เรื่องรูปทรงและรสชาติ น่าจะเหมาะต่อสังคมในปัจจุบันและอนาคตของบ้านเรา เป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น ผมกับภรรยาชอบทานผลไม้ เราทานมะละกอทุกวัน หากผลใหญ่ทานไม่หมด สายพันธุ์นี้ผลเล็ก เป็นช่องทาง เราเริ่มวางตลาดตั้งแต่ที่ใครยังไม่รู้จัก ภรรยาผมรับหน้าที่ตลาด เดินไปที่ท็อปส์ เริ่มมีมา 18 ปีแล้ว รวมเวลาปลูกด้วยก็ 20 ปี สิ่งที่ทำให้สวนสระแก้วประสบผลสำเร็จคือ สวนสระแก้วปลูกเอง ผลผลิตมีคุณภาพ เราทำตลาดได้ด้วย ของเราปลูกแล้วทำตลาดไปพร้อมกัน เรื่องการผลิตเป็นผม การตลาดภรรยาผม เราต่างจากเกษตรกรทั่วไป เกษตรกรมุ่งเน้นปลูกไปก่อน ยังไม่รู้ตลาดอยู่ที่ไหน เราวางแผนพร้อมกับการผลิต" อาจารย์บอก

พันธุ์มะละกอฮาวาย เก็บและคัดพันธุ์เอง
อาจารย์โชคยิ่ง บอกว่า ทางสวนเก็บและคัดพันธุ์มะละกอฮาวายเอง ที่ปรึกษาชั้นเยี่ยม คือ อาจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ

มะละกอฮาวายสายพันธุ์ โซโล ซันไรซ์ ผลที่พอเหมาะมีขนาด 5-6 ขีด จุดเด่นคือ มีความหอมกว่าพันธุ์อื่น ความหวานหากดูแลดี เคยทำได้ 16 องศาบริกซ์ รูปทรงทางสวนเน้นมากต้องทรงหลอดไฟ ขั้วผลคลอด กลางป่องออก ต้องมีการคัดพันธุ์ที่เข้มงวดมาก

วิธีการบริโภคมะละกอฮาวายอย่างถูกวิธี เมื่อเก็บจากต้นมี 3 แต้ม เวลาผ่านไป 4 วัน ใช้มีดผ่าครึ่งตามยาว แคะเมล็ดออกแล้วใช้ช้อนตักกิน

บางคนเมื่อมีมะละกอฮาวายสุก ใช้มีดปอกเปลือก ทำไม่ถูกต้อง เพราะเนื้อจะบางมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจารย์โชคยิ่งจะแนะนำการบริโภคมะละกอฮาวายอยู่เสมอ

"มะละกอฮาวายเราอยู่ตัว ตลาดในประเทศส่งห้างท็อปส์ เดอะมอลล์ ต่างประเทศมีฮ่องกง นอกจากนี้ มีการบินไทย โรงแรมโอเรียนเต็ล สุโขทัย เชอราตัน เราทำตลาดเอง 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ลงสู่ตลาดกลางและตลาดล่าง เนื่องจากผลผลิตไม่พอ เราจึงกระจายการผลิตไปยังสมาชิกเครือข่าย ปัจจุบันมี 20 ราย พื้นที่ปลูก 200 ไร่ หมุนเวียน นอกจากฮาวายแล้วยังมีอย่างอื่นมาเสริมคือ มะละกอแขกดำ มะละกอเรดเลดี้" อาจารย์อธิบาย

ปริมาณการส่ง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สัปดาห์ละ 2 ตัน ปัจจุบัน ส่งทุกวัน จำนวน 2 ตัน ต่อวัน สมาชิกเครือข่ายมีอยู่ที่สระแก้ว ปราจีนบุรี กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงราย พะเยา

เมื่อก่อน ผลผลิตมะละกอฮาวายปีหนึ่งผลิตได้ 11 เดือน ณ สวนสระแก้ว

แต่ทุกวันนี้ น้ำใต้ดินน้อยลง ฝนน้อยลง ความห่างในการขาดมะละกอมีมากขึ้น แต่ก็มีส่งทุกวัน เพราะผลิตในหลายพื้นที่ หมุนเวียน

แล้วสร้างตลาดอย่างไร เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก อาจารย์อธิบายให้ฟัง โปรดติดตาม
ดู
"เราคงมีพื้นฐานไว้วางใจกับลูกค้าก่อน เราเริ่มต้นทำมาได้ เนื่องจากสินค้าเราตัวแรกคือ มะละกอฮาวาย เราพยายามสุดชีวิต เปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ในสวน คนงาน เรื่องการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การขนส่ง เน้นทุกกระบวนการ ลูกค้าอาจจะมองว่าเป็นของพื้นๆ เมื่อ 20 ปีมาแล้ว เรารักษาไว้ จึงเกิดความไว้วางใจ ทำให้สามารถต่อเนื่องไปยังผลผลิตตัวอื่นๆ เป็นความไว้วางใจเรื่องคุณภาพ เกษตรกรส่วนใหญ่มองว่า ผลิตให้ได้มาก ไม่มองเรื่องคุณภาพ"

อาจารย์บอก และอธิบายอีกว่า
"อีกอย่าง เรื่องของความจริงใจ คือการแก้ปัญหา การยอมรับซึ่งกันและกัน พยายามแก้ปัญหาให้กับลูกค้า ไม่ใช่มีของมากแล้วยัดเยียดให้ลูกค้า หรือขายของแพงๆ ให้ เราพยายามให้เกิดความนิ่ง ไม่ต้องกังวลว่าของจะถูกหรือจะแพง สมาชิกที่ทำกับเรามีเข้ามีออก เรื่องของความซื่อสัตย์สำคัญ เรื่องราคากับสมาชิกเครือข่าย บางปีราคาทำให้เขาอ่อนไหวไปด้วย...ลูกค้าเขาไม่ถามวันนี้ราคาเท่าไหร่ เพียงแต่เราชดเชยความเสี่ยงให้ ลูกค้าแม้แต่ผู้ปลูกก็ตาม บางครั้งเรายอมเสี่ยงยอมเสียหาย เพื่อคงไว้ซึ่งลูกค้า เขาได้ 1 บาท เขาก็เอาแล้ว เมื่อมีรถเร่มา บทบาทของเรานอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว เรายังเป็นผู้นำเครือข่าย"

คุณสมบัติของสมาชิกเครือข่ายที่ต้องการ
อาจารย์โชคยิ่ง เคยสนับสนุนเกษตรกรรอบข้างให้ผลิตมะละกอ ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องมะละกอมาก่อน โดยอาจารย์หวังสร้างอาชีพ จึงให้ทั้งพันธุ์ รวมทั้งปัจจัยการผลิต ปรากฏว่า ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

คนที่จะร่วมเป็นเครือข่ายกับอาจารย์ ในยุคใหม่นี้ จึงต้องมีความรู้พอสมควร มีพื้นที่และปัจจัยการผลิต ทางอาจารย์จะใส่เทคโนโลยีให้ รวมทั้งเทคนิคเรื่องของการผลิตที่ทันสมัย ให้เรื่องการตลาด

"สมาชิกเครือข่าย ต้องเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ ไม่ใช่มือใหม่ ตอนนี้พยายามคัดเกษตรกรยกระดับให้ผลผลิตได้โกลบอลแกป ไม่ได้หวังเรื่องตลาด แต่อยากยกระดับ ส่วนตลาดอาจจะตามมาเป็นเรื่องผลพลอยได้ อยากให้เกษตรกรไทยยกระดับขึ้น ผู้ที่อยากเข้าร่วมโครงการต้องคุยกันก่อน เหมือนอย่างคัดตัวนักฟุตบอลทีมชาติ เป็นนักตะกร้อจะมาคัดตัวฟุตบอลไม่ได้ ต้องมีพื้นฐานทางด้านฟุตบอลมาก่อน"

อาจารย์บอกและพูดต่ออีกว่า
"เราไม่ใช่ผู้ค้าที่ยิ่งใหญ่ เราถือว่าเราเป็นเกษตรกร เราต้องมีเพื่อนแล้วไปด้วยกัน นอกจากมะละกอ ตอนนี้เริ่มส่งมะม่วงมหาชนก แก้วมังกร มีที่รวบรวมอยู่ที่ปทุมธานี มีพนักงาน มีรถห้องเย็น ทำงานแบบพอเพียง ราคาที่เรารับซื้อ ผู้ปลูกพอใจ ผู้บริโภคมะละกอฮาวาย กิโลละ 40 บาท การส่งของเข้าห้างมีรายละเอียดมาก ส่งของช้า 1 นาที ถูกปรับ แต่เวลาเจ้าหน้าที่ของเรานำของไปส่งต้องรอคิวเกือบครึ่งวัน จนไปส่งของที่อื่นไม่ทัน"

อนาคตจะเป็นอย่างไร
ในฐานะที่ปลูกและส่งมะละกอฮาวายมานาน อาจารย์บอกว่า คุณภาพต้องมาอันดับ 1 ปริมาณเป็นรอง การดูแลทุกขั้นตอนต้องเข้มงวด เริ่มตั้งแต่การคัดพันธุ์ เตรียมดิน ดูแลรักษา เก็บเกี่ยวและดูแลหลังการเก็บเกี่ยว

มะละกอให้ผลผลิต 2 ผล ต่อต้น ต่อสัปดาห์ ปีหนึ่งให้ผลผลิตราว 70 กิโลกรัม ต่อต้น ดังนั้น ต้องใส่ปุ๋ยให้มะละกออย่างเหมาะสม มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายได้

เรื่องการเก็บเกี่ยว ได้รับคำแนะนำว่า อาจารย์ทำอย่างนุ่มนวล พนักงานเล็บต้องไม่ยาว เพราะจะทำลายผิวผล ผลผลิตจะชั่งใส่ตะกร้า 20 กิโลกรัม รวมตะกร้าเป็น 23 กิโลกรัม มีลูกค้าบอกให้อาจารย์ใส่โฟมให้ แต่อาจารย์บอกว่า ผลผลิตมีคุณภาพลูกค้าสามารถตรวจสอบได้ บางครั้งการใส่โฟมของผู้ผลิตบางคน ใส่เพื่ออำพรางผลที่ไม่สวยมีตำหนิ เมื่ออธิบายและทำของคุณภาพ ลูกค้าของอาจารย์จึงเข้าใจ

"อนาคตของมะละกอสายพันธุ์นี้จะสดใสหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ไม่ว่าทำอะไร ถ้ารักษาคุณภาพไว้ ผมว่าตลาดจะไม่ไปไหน การค้นหาตลาดมันทั้งยากและง่าย อยู่ที่ตัวสินค้าด้วย" อาจารย์ให้แง่คิด

การใช้ประโยชน์จากมะละกอฮอาวาย ไม่ใช่นำมาบริโภคอย่างเดียว การบินไทยตักเอาเนื้อออก เพื่อใช้ผลที่ผ่าครึ่งเป็นภาชนะใส่อย่างอื่น ที่ญี่ปุ่นตักเอาเนื้อออกเล็กน้อย แล้วใส่ไอศครีมลงไป ทั้งนี้เพราะมะละกอฮาวายมีรูปทรงที่สวยงาม

นอกจากที่อยู่ข้างต้นแล้ว ยังสามารถติดต่อได้ที่ บริษัท ซี.โอ.สวนสระแก้ว จำกัด เลขที่ 300/199-200 ซอยพหลโยธิน 87 ถนนพหลโยธิน ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร. (02) 536-3701-3, (081) 928-5745 และ (081) 444-5945 e-mail chokying@yahoo.com

คุณภาพ เสริมคุณค่า พัฒนา คู่ความปลอดภัย (QVaDS) คุณภาพ (Quality)

คือหัวใจของชาวสวนสระแก้ว เราได้ปลูกฝังค่านิยมด้านคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้น โดยเน้นความสำคัญของทุกห่วงโซ่แห่งคุณภาพ ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ปลูก การสรรหาเมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ การเพาะปลูก การดูแลรักษา เอาใจใส่กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว Post Harvest Practice ปฏิบัติ เพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่า ผลผลิตที่เราเฝ้าทะนุถนอม จะถึงมือลูกค้าหรือผู้บริโภค ตรงต่อเวลา และคงคุณภาพที่สามารถสร้างความประทับใจได้ตลอดไป

เสริมคุณค่า (Value Added )
เป็นพลังในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสวนสระแก้ว โดยการให้ความรู้และความเข้าใจ ถึงคุณลักษณะที่แตกต่างของผลิตผลของเรา เน้นย้ำถึงคุณค่าทางโภชนาการ และความปลอดภัยจากสารเคมีที่ไม่พึงปรารถนา เข้าถึงกระบวนการผลิต โดยเปิดโอกาสให้เยี่ยมชมแปลงปลูก ทดลองชิมผลไม้ได้อย่างสนิทใจ สวนสระแก้ว มีความแข็งแกร่งและให้ความสำคัญด้านบรรจุภัณฑ์ ในอันที่จะเสริมภาพลักษณ์และคุณค่า และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผลิตผลของเรา

พัฒนา (Development)
เราก้าวเดินพร้อมๆ กับเกษตรกรบนเส้นทางของการพัฒนา Development ทั้งปริมาณและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นทุกปี พัฒนาเกษตรกรให้ความรู้ การอบรมการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาตลาด ให้การสนับสนุนในการยกระดับความเป็นอยู่ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันของกลุ่มเกษตรกร ขยายเครือข่ายเกษตรกรครอบคลุมพื้นที่ทุกภาค เพื่อผลในด้านการผลิตที่ต่อเนื่อง และลดความเสี่ยงในการสูญเสีย เนื่องจากฤดูกาลและภัยธรรมชาติ และให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ความปลอดภัย (Safety)
สวนสระแก้วให้ความสำคัญ และเป็นผู้นำในด้านความปลอดภัย ด้านสารเคมี ที่จะมีผลกระทบกับผู้บริโภคและเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2543 โดยใช้หลักการบริหารจัดการศัตรูพืชอย่างผสมผสาน Integrate pest Management (IPM) ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นผู้ปลูกและจำหน่ายผัก ผลไม้ อนามัย ประเภทมะละกอฮาวายเป็นรายแรกของประเทศไทย ในปี 2547 ได้รับการรับรองเป็นแหล่งผลิตพืชเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agriculture Practice) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2549

ได้เข้าร่วมโครงการรับรองการผลิต GAP เพื่อส่งของครัวการบิน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม

ความมุ่งมั่นด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคตลอดมา เป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องสำหรับการทำเกษตรที่ยั่งยืน


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 16/03/2010 7:02 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 5:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

แตงโมยักษ์ไต้หวัน ปลูกได้คุณภาพดีในประเทศไทย *

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ทุกวันนี้ในวงการพืชผักและผลไม้ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์และนำมาทดลองปลูกในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มของพืชผักซึ่งมีหลายชนิดที่มีการนำพันธุ์มาจากไต้หวัน หรือแม้แต่ไม้ผล อาทิ พุทราผลใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ พันธุ์ซื่อหมี่ พันธุ์มิ่งเฉา ฯลฯ มีเกษตรกรไทยนำมาปลูกให้ผลผลิตและคุณภาพไม่แตกต่างไปจากที่ปลูกในไต้หวัน ปัจจุบัน การปลูกพุทราในประเทศไทยเกือบทั้งหมดได้เปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ที่นำมาจากไต้หวัน เกษตรกรไทยหลายรายมีรายได้ดีจากการปลูกพุทราไต้หวัน เนื่องจากผลผลิตขายได้ราคาดี ขนาดของผลใหญ่และทุกสายพันธุ์ติดผลดกมาก มะม่วงพันธุ์จินหวงของไต้หวัน ซึ่งมีลักษณะเด่นตรงที่ขนาดของผลใหญ่และเป็นสายพันธุ์มะม่วงหลักพันธุ์หนึ่งของไต้หวัน ทางโครงการหลวงได้สายพันธุ์มาปลูกและได้เปลี่ยนเป็นชื่อไทยว่า "นวลคำ" และมีเกษตรกรอีกหลายรายนำมะม่วงพันธุ์นี้ไปปลูกและเปลี่ยนชื่อไทยอีกหลายชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นมะม่วงสายพันธุ์เดียวกัน แต่ที่น่าแปลกใจมากที่เกษตรกรไทยอีกเป็นจำนวนมากไม่ทราบก็คือ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2513 ไต้หวันได้มีการนำฝรั่งจากประเทศไทยซึ่งมีขนาดของผลใหญ่ เนื้อแน่น และกรอบ ไปปลูก ผลผลิตเป็นที่ชื่นชอบของคนไต้หวันในขณะนั้น ไต้หวันได้มีการปรับปรุงได้ฝรั่งสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีเมล็ดน้อยและนิ่ม รสชาติอร่อย เช่น พันธุ์เจินจู ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากในบ้านเราขณะนี้

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวัน เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ก่อนอื่นจะต้องขอขอบพระคุณ คุณเฉิน ชิงเฉิน เจ้าของ บริษัท แสงจิต เครื่องจักรการเกษตร จำกัด หรือที่รู้จักกันดีคือผู้นำเข้าถุงห่อผลไม้ "ชุนฟง" จากไต้หวัน เป็นหัวหน้าคณะนำเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงชั้นแนวหน้าของจังหวัดพิจิตร ไปดูงานเกษตรไต้หวันในครั้งนั้น ระหว่างดูงานผลไม้ที่เสิร์ฟหลังอาหารทุกมื้อ จะเป็น "แตงโม" คณะผู้ร่วมดูงานทุกคนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า แตงโม ที่ปลูกในไต้หวันมีรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก บางคนถึงกลับบอกว่าไม่เคยรับประทานแตงโมที่มีรสอร่อยเช่นนี้มาก่อน ผู้เขียนยังได้สังเกตต่อไปว่า แตงโมที่นำมาให้รับประทานนั้นจะเฉือนเป็นชิ้นติดเปลือก ซึ่งเมื่อสังเกตแล้วคาดจากสายตาว่าน่าจะเป็นแตงที่มีขนาดผลใหญ่มาก แตกต่างจากแตงโมที่นิยมปลูกในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดของผลเล็กกว่า ระหว่างการเดินทางดูงานเกษตรไต้หวันได้มีโอกาสแวะชมตลาดขายผลไม้ตามอำเภอต่างๆ ได้พบเห็นแตงโมมีวางขายเป็นจำนวนมาก และมีขนาดของผลใหญ่มาก น้ำหนักผลเฉลี่ย 15-20 กิโลกรัม และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนให้ความสนใจที่จะหาซื้อเมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวันสายพันธุ์นี้มาทดลองปลูกในประเทศไทยให้ได้

แตงโมยักษ์ไต้หวัน มีพื้นที่ปลูกมากที่จังหวัดอิ๋นหลิน
อิ๋นหลิน (Yunlin) เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของไต้หวันจังหวัดหนึ่ง พื้นที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะไต้หวัน แตงโมยักษ์มีพื้นที่ปลูกมากที่จังหวัดนี้คือ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 6,250 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 16,000 ตัน โดยมีช่วงฤดูกาลปลูกจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม ของทุกปี สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ลักษณะเด่นของแตงโมยักษ์ไต้หวันจัดเป็นแตงโมขนาดผลใหญ่ ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดี น้ำหนักผลจะมีน้ำหนักได้ถึง 20 กิโลกรัม รูปทรงผลรีคล้ายลูกรักบี้ เปลือกมีสีเขียวอ่อนและมีลายทั่วผล เนื้อมีสีแดงเข้ม การขายผลผลิตแตงโมยักษ์ในไต้หวันถ้าขายแบบยกผล จะมีราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 15-20 บาท แต่ส่วนใหญ่พ่อค้าที่นำมาขายปลีกจะผ่าขายเป็นชิ้นๆ

ได้เมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวัน มาทดลองปลูก ที่จังหวัดพิจิตร
ในที่สุดผู้เขียนก็ได้ซื้อเมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวันมาทดลองปลูกที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร โดยเริ่มปลูกครั้งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2552 โดยเริ่มต้นจากการเพาะกล้าด้วยการนำเมล็ดแตงโมมาแช่ในน้ำอุ่น นานประมาณ 30 นาที จากนั้นให้นำเมล็ดบ่มในผ้าขาวบางที่เก็บความชื้นเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มแทงรากออกมา นำเมล็ดไปเพาะในกระบะเพาะกล้า รดน้ำทุกวัน จนต้นกล้ามีอายุได้ 10-13 วัน จึงย้ายต้นกล้าแตงโมยักษ์ลงปลูกในแปลง (มีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการปลูกแตงโมในช่วงฤดูหนาว มีเกษตรกรบางรายหยอดเมล็ดลงปลูกในหลุมเลย จะพบว่าเมล็ดงอกช้ามากหรือไม่งอกเลย เนื่องจากถ้าอุณหภูมิของดินปลูกต่ำกว่า 15.5 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอกโดยธรรมชาติ แก้ปัญหาด้วยการหุ้มเมล็ด แช่เมล็ดแตงโมในน้ำอุ่น ทิ้งไว้ 1 วัน กับ 1 คืน แล้วเอาผ้าเปียกห่อวางไว้ในที่ร่ม จะช่วยทำให้เมล็ดแตงโมงอกได้เร็วขึ้น)

การเตรียมแปลงปลูกแตงโมยักษ์

ในการทดลองปลูกแตงโมยักษ์ของแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้มีการเตรียมแปลงด้วยการขึ้นแปลงแบบคู่กัน โดยให้มีความกว้างของแปลงประมาณ 1 เมตร สำหรับความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความสะดวกในการจัดการ แปลงปลูกแตงโมแต่ละคู่จะให้ห่างกันประมาณ 7-10 เมตร เพื่อให้เป็นพื้นที่ให้เถาแตงโมได้เลื้อยและติดผล สภาพของดินปลูกถ้าเลือกสภาพดินได้ ควรเป็นดินร่วนปนทรายจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีการระบายน้ำที่ดี จะต้องปรับสภาพค่าความเป็นกรด-ด่าง ให้มีค่า pH เฉลี่ยอยู่ที่ 6-6.5 ถ้าดินมีสภาพความเป็นกรดให้ใส่ปูนขาว เนื่องจากเป็นแตงโมที่มีขนาดของผลใหญ่มาก ระบบการให้น้ำจะต้องดีและมีประสิทธิภาพ จึงใช้ระบบน้ำหยด ต้นละ 1 หัว และแปลงปลูกจะคลุมแปลงด้วยพลาสติค โดยให้ด้านสีบรอนซ์อยู่ด้านบน ซึ่งจะมีส่วนช่วยไล่แมลงศัตรูแตงได้ระดับหนึ่ง ก่อนย้ายต้นกล้าลงปลูกควรจะรองก้นหลุมด้วยสาร สตาร์เกิล จี อัตรา 2 กรัม ต่อหลุม

การไว้เถาและการเด็ดตาข้างของการปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวัน
ความจริงแล้วในการทดลองปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวันนั้น ในการเตรียมแปลง การปลูกและการบำรุงรักษาใช้วิธีการเดียวกับการปลูกแตงโมในบ้านเรา แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยและเทคนิคที่มีความแตกต่างกันบางประการเท่านั้น อาทิ ในแต่ละต้นหรือแต่ละหลุมปลูกจะปล่อยให้ผลแตงโมยักษ์ติดเพียงผลเดียวเท่านั้น ในขณะที่การปลูกแตงโมของเกษตรกรไทยจะปล่อยให้ติดหลายผล อย่างน้อย 2-3 ผล ต่อ 1 ต้น หลังจากที่ปลูกต้นกล้าแตงโมยักษ์ลงแปลงมีการแตกใบใหม่ออกมา 2-3 ใบ ให้เด็ดยอดแตงโมออกเพื่อให้แตกออกเป็น 2 ตา ซึ่ง 2 ตาข้างดังกล่าวจะเจริญเติบโตเป็นเถา 2 เถา และจะให้แตงโมติดผลเพียงเถาเดียวเท่านั้น ส่วนอีกเถาหนึ่งให้สังเคราะห์แสงเพื่อช่วยเลี้ยงผลเท่านั้น

ในการเด็ดตาข้างจะเด็ดตาข้างตั้งแต่ตาข้างที่ 1-19 ของทั้ง 2 เถา และจัดการเถาให้เลื้อยไปในแนวทางเดียวกัน มีการจัดเถาให้เลื้อยไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เถาพันกัน และง่ายต่อการจัดการ ตั้งแต่ตาข้างที่ 20 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นจะต้องเด็ดทิ้ง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าทุกข้อที่มีตาข้างจะมีรากแทงออกมา จึงควรเจาะพลาสติคเพื่อให้รากแทงลงไป ยิ่งมีจำนวนรากมากเท่าไร มีส่วนช่วยให้ผลแตงโมมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย การผสมดอกมีส่วนสำคัญของการปลูกแตงโมยักษ์ ถ้าเป็นไปได้เมื่อผสมดอกจนติดผลแล้วควรเลือกผลที่ 3 หรือ 4 โดยนับจากการติดผลแรกจะดีที่สุด ช่วงเวลาในการผสมดอกคือ ช่วงเวลาเช้า 06.00-09.00 น.

ผลจากการปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวัน 2 รุ่น ได้แตงโมที่มีขนาดผลใหญ่สุด มีน้ำหนักเกือบ 20 กิโลกรัม
จากการทดลองปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวันดังกล่าวที่จังหวัดพิจิตร ในรุ่นแรกพบว่าขนาดของผลมีน้ำหนักใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน ลักษณะของผล, เนื้อ เหมือนกัน แต่เนื่องจากในการปลูกรุ่นแรกปลูกในช่วงฤดูฝน รสชาติยังไม่อร่อยเท่ากับที่ปลูกในไต้หวัน แต่สิ่งที่สร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่งก็คือ ขนาดของผลและสีของเนื้อเหมือนกัน ทำให้สรุปได้ในเบื้องต้นว่า แตงโมยักษ์สายพันธุ์นี้ปลูกได้ในบ้านเรา เมื่อผลผลิตแตงโมยักษ์ ในรุ่นที่ 2 ออกมาในช่วงปลายฤดูฝน คุณภาพของเนื้อดีขึ้นและมีรสชาติใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน และที่สำคัญผลผลิตแตงโมยักษ์ไต้หวัน ในรุ่นที่ 2 นี้ มีอยู่ต้นหนึ่งที่ให้ผลผลิตมีน้ำหนักถึง 19 กิโลกรัมเศษ นับว่าใหญ่มาก ใครเห็นรู้สึกแปลกใจด้วยคนไทยอาจจะไม่เคยเห็นแตงโมที่มีขนาดของผลใหญ่ขนาดนี้ และในขณะนี้ทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้ทดลองปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวัน ในรุ่นที่ 3 และ รุ่นที่ 4 เพื่อให้ผลผลิตออกให้ทันงาน "เกษตรมหัศจรรย์ วันเทคโนโลยีชาวบ้าน ครั้งที่ 2" จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่เดอะมอลล์ บางแค

ปลูกแตงโมยักษ์ในไทย : ตลาดอยู่ที่ไหน
จริงอยู่พฤติกรรมในการบริโภคแตงโมของคนไทยมักจะคุ้นเคยกับแตงโมที่มีขนาดผลไม่ใหญ่มากนัก มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 2-3 กิโลกรัม เท่านั้น ในขณะที่ผู้บริโภคตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ฯลฯ หรือเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต ฯลฯ พ่อค้าซื้อแตงโมยักษ์ไปแบ่งผ่าเป็นชิ้นๆ ขายเหมือนกับที่ไต้หวัน จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งทางการตลาดในอนาคต ความจริงแล้วตามโรงแรมหรือการจัดงานเลี้ยงตามสถานที่ต่างๆ มีความต้องการแตงโมที่มีขนาดผลใหญ่ ขอเพียงแต่แตงโมมีรสชาติหวาน กรอบ และอร่อย เป็นอันใช้ได้ ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้นำผลผลิตแตงโมยักษ์บางส่วนมาทดลองคั้นน้ำแยกกากเพื่อทำเป็นน้ำแตงโมสด 100% (ตามห้องอาหาร โรงแรมใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร จะมีน้ำแตงโมสดบริการแขกที่มาใช้บริการ) ผลปรากฏว่าแตงโมยักษ์ที่มีน้ำหนักผลประมาณ 15 กิโลกรัม เมื่อทำเป็นน้ำแตงโมสด 100% บรรจุขวดละ 200 ซีซี ได้จำนวน 50 ขวด เป็นอย่างน้อย และนำมาจำหน่ายถึงผู้บริโภคในราคาขวดละ 10 บาท นั่นแสดงให้เห็นว่าแตงโมยักษ์ผลหนึ่งจะทำรายได้ถึงผลละ 400-500 บาท

จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแตงโมยักษ์ไต้หวันที่ปลูกที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ซึ่งปลูกในสภาพไร่พื้นราบและมีอุณหภูมิเหมือนกับพื้นที่ที่ปลูกแตงโมทั่วไป 2 รุ่น สรุปข้อมูลของความเป็นไปได้ในเบื้องต้นว่า สามารถปลูกและให้ผลผลิตมีขนาดผลใหญ่ได้ใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน ในเรื่องของรสชาติยังต้องมีการตรวจสอบเรื่องอายุของการเก็บเกี่ยวว่า แตงโมยักษ์สายพันธุ์นี้มีอายุการเก็บเกี่ยวและการจัดการในเรื่องของการให้ปุ๋ย โดยเฉพาะการปลูกในช่วงฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนอาจจะมีผลต่อรสชาติบ้าง แต่ผลผลิตที่ปลูก ในรุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้และเป็นช่วงปลายฤดูฝน รสชาติของผลผลิตมีความหวานและกรอบใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน ในเรื่องของโรคและแมลงแตงโมยักษ์เหมือนกับการปลูกแตงโมทั่วไป สิ่งที่จะต้องระวังเป็นพิเศษคือ โรคเถาเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม ซึ่งโรคนี้เป็นปัญหาหลักของการปลูกแตงโมในบ้านเรา โรคนี้จะระบาดมากในช่วงแตงโมออกดอก การปลูกแตงโมซ้ำที่เดิมและสภาพดินเป็นกรดจัด ขณะนี้ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้เมล็ดพันธุ์แตงโมยักษ์ไต้หวันอีกสายพันธุ์หนึ่งมาเริ่มทดลองปลูก และเป็นสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคเถาเหี่ยว


หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรมทำง่าย-รายได้งาม" เล่ม 1-4 รวม 4 เล่ม จำนวน 336 หน้า มีแจกฟรี เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์เป็นมูลค่า 100 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 16/03/2010 7:01 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:04 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ภาวิณี สุดาปัน

ชวนชม สวนหัสดี ดอกซ้อนหลากสี ทำได้ดี ขายได้เงิน

ปักษ์นี้ ก็ย่างเข้าสู่เทศกาลแห่งความรักแล้ว ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี อากาศกำลังดี ไม่หนาวและไม่ร้อนจนเกินไป คนที่มีคู่อยู่แล้วก็หวานกันจนน่าอิจฉา ส่วนคนที่ไม่มีคู่ก็ต้องเหงาหงอยกันตามเคย เดือนนี้ของทุกปีดอกกุหลาบจะเป็นไม้ดอกขายดีและเป็นที่ต้องการของทุกๆ วัย โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว แต่ช่วงนี้ดอกกุหลาบราคาจะแพงมาก

หากผู้ให้เคยให้ดอกกุหลาบเป็นประจำทุกปี เกรงว่าผู้รับจะเบื่อหรืออยากจะลองเปลี่ยนเป็นไม้ดอกชนิดใหม่ ที่มีชื่อเหมือนกันแต่เป็นดอกไม้คนละชนิดกัน มอบให้แล้วผู้รับสามารถปลูกเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ดูแลรักษาดีดอกก็สวยงาม (เหมือนกับคำพูด "ดอกไม้เป็นหน้าต่างของหัวใจ" คนให้ประทับใจ เมื่อเห็นต้นสวยดอกงาม คนรับก็ชื่นชอบ เพราะได้คอยเอาใจใส่ไม้ดอกที่ได้รับมาเป็นอย่างดี เสมือนต่างดูแลทะนุถนอมดอกไม้ของผู้ให้เป็นอย่างดี) นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปปลูกเลี้ยงประดับตามสวนเพื่อความสวยงามหรือนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อขายต้นได้อีกทางหนึ่งด้วย ไม้ดอกที่กล่าวถึงนี้ คือ ชวนชม นั่นเอง ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมของคนเล่นไม้ ส่วนชื่อไม้ดอกที่เอ่ยถึงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็คือ กุหลาบวาเลนไทน์ (Rose Valentine) (เป็นดอกชวนชมนะ ไม่ใช่ดอกกุหลาบ เดี๋ยวคนอ่านจะเข้าใจผิดหมด) ซึ่งจะหาดูได้ที่ สวนหัสดี เจ้าของคือ คุณสุทธิกานต์ เจียมรัตนประทีป หรือ เฮียคุ้ง อยู่เลขที่ 39/2 หมู่ที่ 3 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

ปัจจุบันนี้ นับได้ว่า ชวนชม กลายเป็นไม้เศรษฐกิจของประเทศไปแล้ว ทั้งๆ ที่แต่เดิมชวนชมกลีบดอกชั้นเดียวยังไม่เป็นที่รู้จักแต่เดี๋ยวนี้พัฒนามาเป็นชวนชมกลีบดอกซ้อน 2 ชั้นบ้าง 3 ชั้นบ้าง นอกจากนี้ เกษตรกรไทยหลายท่านยังสามารถพัฒนาความหลากหลายของสีดอกไปไกลถึงเมืองนอกแล้ว (นี้ถ้าหากพัฒนาให้กลีบดอกชวนชมมีลักษณะแข็งคงจะดีไม่ใช่น้อย ดอกจะได้ไม่ช้ำง่าย) คุณสุทธิกานต์ ก็เป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่สามารถนำเทคนิคที่ได้จากการกลายพันธุ์ของดอกชวนชมมาพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ (ถ้าหากเป็นภาษาราชการคงจะเรียกได้ว่าเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชเลยละ) ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับไม้ดอกเลย แต่ก็สามารถทำอาชีพนี้ได้

จุดเริ่มต้นนั้นเจ้าของบอกว่า เกิดจากความชอบเป็นการส่วนตัว อีกอย่างหนึ่งมีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวที่สวนคุณเผด็จ จังหวัดกาญจนบุรี เลยซื้อลูกไม้ติดมือมาด้วย ซื้อบ่อยครั้งจำนวนลูกไม้ก็มากขึ้นจนสามารถขยายพันธุ์และเพาะขายเองได้ แต่ก่อนตนทำสวนส้ม บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ แต่ประสบอุทกภัยทำให้ผลผลิตเสียหาย ขาดทุนจนต้องเลิกทำอาชีพนี้ไปเลย ทำสวนส้มมาเกือบ 20 ปี หลังจากเลิกทำสวนก็หันมาปลูกชวนชมแทน ตอนนั้นทำชวนชมกลีบดอกเดียว ด้วยความที่เป็นคนขยันหมั่นเพียร ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอๆ ทุกวันเฮียคุ้งจะเข้าสวนไม้ดอกเพื่อไปสังเกตดอกชวนชมที่อยู่ในสวน หากมีอะไรแปลกใหม่ซึ่งอาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์ของดอกเอง ตนก็จะนำเรื่องราวที่ได้พบพานมาคิดว่าจะพัฒนาสายพันธุ์ดอกอย่างไร เพื่อให้เกิดลักษณะที่แปลก ใหม่ และสวยงามสมกับชื่อ "ชวนชม"

เฮียคุ้ง มีลูกชาย 2 คน ปัจจุบันนี้เรียนปริญญาโทอยู่ที่ประเทศจีน ลูกๆ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพนี้หรอก โดยส่วนมากเฮียคุ้งจะเป็นคนดูแลเองทั้งหมด ส่วนภรรยาจะเป็นผู้ช่วยอีกทีหนึ่ง สวนหัสดีมีพื้นที่จำนวนทั้งหมด 20 ไร่ สวนแห่งนี้จะใช้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ต้นแม่ชวนชมมากกว่า แต่ถ้าหากเป็นตลาดที่ขายต้นไม้จริงๆ จะอยู่ที่คลองสิบสาม โดยส่วนมากลูกค้าจะไปซื้อที่นั่นกัน

ชวนชมตัวแรกที่ทางสวนหัสดีนำมาปลูกก็เป็นเพียงชวนชมธรรมดาต้นหนึ่ง ไม่ได้มีจุดเด่นอะไรเลย แต่ต่อมาสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้ชวนชมที่มีชื่อว่า "อะเมสซิ่งไทยแลนด์" ซึ่งเป็นชวนชมตัวแรกของสวนหัสดี ขายดีมาก ซึ่งต้นตอที่ใช้เป็นแม่พันธุ์คือ ต้นตอไทยผสมกับฮอลแลนด์ โดยวิธีการเขี่ยเกสรได้สายพันธุ์ลูกผสมออกมา แล้วนำไปเป็นต้นตอแม่พันธุ์พร้อมที่จะนำไปเสียบยอดเพื่อคัดสายพันธุ์ต่อไป

สาเหตุที่เลือกลูกผสมระหว่างตอไทยกับฮอลแลนด์เพราะว่า เมื่อผสมกันแล้วจะได้ลักษณะพันธุ์ดีที่ทนทาน ความสวยงาม สีสันแปลกตาของฮอลแลนด์มา ส่วนเรื่องความคงทน แข็งแรง ดอกดกนั้น จะเป็นของตอไทย ต่อมาตนก็พัฒนาดอกชวนชมกลีบดอกชั้นเดียวมาเป็นดอกหลายสี จากนั้นก็สามารถพัฒนาเป็นชวนชมกลีบดอกซ้อน 2 ชั้น และ 3 ชั้น ได้อีก โดยปกติดอกชวนชมจะมีกลีบดอกเพียง 5 กลีบ แต่ปัจจุบันสวนหัสดีสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้ออกมาเป็นดอกชวนชม 6 กลีบ ได้ นับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากน้ำมือของชาวสวนโดยแท้ ลูกไม้สวนหัสดีแต่ละชนิดที่ผลิตออกมาจะมีลิขสิทธิ์ของแต่ละสายพันธุ์ ถ้าหากว่าเกษตรกรท่านใดหรือคนชอบเล่นไม้สนใจก็ไปหาซื้อได้ที่สวนหัสดี หรือที่ตลาดคลองสิบสาม สนนราคาขายอยู่ที่ ราคาต้นละ 2,000 บาท 10 ต้น ก็ราคา 20,000 บาท บางทีก็มีลูกค้ามาสั่งจอง สั่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตบ้าง บ้างก็มาติดต่อซื้อเองที่สวน ส่วนลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาซื้อทั้งไทยและต่างชาติก็จะต้องมารับสินค้าเอง เพราะทางสวนหัสดีไม่สามารถไปส่งได้ ต้องมารับเองที่สวน ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่ผลิตออกมาโดยส่วนมากก็ไม่พียงพอกับความต้องการของตลาด

การปลูกการดูแลรักษาเหมือนต้นไม้ทั่วไป ต้องระวังช่วงการเปลี่ยนดินโดยเฉพาะรากต้องรอให้แห้งก่อนแล้วค่อยนำลงปลูกในกระถาง ส่วนวัสดุปลูกก็จะเป็นดินร่วนผสมปุ๋ยคอก เรื่องการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ก็ให้ปกติ บำรุงปุ๋ยพอสมควร ช่วงที่ออกดอกดกคือช่วงหน้าแล้ง หน้าฝนจะออกดอกน้อย ปัญหาสำคัญคือเรื่องโรคและแมลงต้องคอยเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะแมลงตัวบั่ว (ลักษณะคล้ายยุง) จะชอบมาวางไข่และเจาะกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบแห้ง ต้นไม่โต เหี่ยวเฉาตายในที่สุด

ชวนชมสวนหัสดีมีช่องทางการจำหน่าย 3 ช่องทาง คือผ่านอินเตอร์เน็ต ตลาดคลองสิบสาม และสวนหัสดี

สำหรับเรื่องการประกวด สวนหัสดีเพิ่งได้รับรางวัลลูกไม้แปลกสวยงาม (อันดับที่ 1, 2 และ 3) มาจากงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. 9 เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

เจ้าของสวนบอกว่า ตนจะไม่ค่อยส่งเข้าประกวด เพราะแข่งทีไรไม่มีที่อื่นสู้สวนของตนได้ ก็เลยต้องปล่อยให้สวนอื่นเขาประกวดกันดีกว่า ชวนชมสวนหัสดีไม่เคยหยุดการพัฒนาสายพันธุ์ มีแต่จะหาความแปลกใหม่และความสวยงามมาให้ได้พบพานกันอยู่เสมอ ท่านผู้สนใจต้องคอยติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนสิงหาคมและธันวาคม คุณสุทธิกานต์ได้วางแผนไว้แล้วว่าจะนำสายพันธุ์ใหม่มาผสมเพื่อให้ได้ลูกไม้ที่แปลก สวย เข้ากับวันสำคัญของไทย ต้องรอเพื่อที่จะได้ยลโฉมชวนชมสายพันธุ์ที่กล่าวถึง

ไม้ดอกไม้ประดับก็เป็นพืชชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับเกษตรกรได้ หากใฝ่รู้หมั่นดู คิดหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอๆ แล้วนำมาต่อยอดโดยการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์จนสามารถก้าวล้ำขึ้นมาเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจของประเทศก็ว่าได้ เฉกเช่นชวนชม

ถ้าหากมีท่านใดสนใจ สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ โทร. (081) 973-4161 หรือ www.ThaiNeoDoxon.com


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:12 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

บุปผา มั่นอารมณ์

กลิ่นหอมละมุน เปี่ยมคุณค่า ของข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากภูมิปัญญาไทย

ข้าวหอมทอง ข้าวฮางงอก ภูมิปัญญาไทย

ข้าวฮาง อุดมคุณค่าจากข้าวพื้นเมืองของชาวภูไท จังหวัดสกลนคร

สกลนคร ดินแดนแห่งความปราดเปรื่องทางภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) คุณภาพสูงเพื่อสุขภาพ จากภูมิปัญญาของชาวสกลนครที่เป็นผู้ผลิตข้าวเป็นอาหารเลี้ยงคนไทยมาช้านาน และความฉลาดเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศของชาวภูไท ที่มีความรักษ์ถิ่นและมีความแยบยลหลักแหลมในการดำเนินชีวิต จึงสร้างสรรค์ ?ข้าวฮาง? หรือ ?ข้าวหอมทอง? ที่เป็นการหลบเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมหรือฝนแล้งที่ทำให้ข้าวไม่สุกแก่เพียงพอ อันจะมีผลทำให้ข้าวแตกหักจากการขัดสีข้าวฮางชาวภูไทผ่านการแช่ นึ่งและตากก่อนการขัดสี ทำให้การขัดสีไม่สามารถกะเทาะจมูกข้าวฮางให้หลุดร่วงจากเมล็ดข้าว ทำให้ข้าวมีสีเหลืองทอง หอมกรุ่น มีเมล็ดสวย ไม่แตกหัก และยังมีคุณค่าสูงกว่าข้าวกล้องอีกด้วย ฮาง ในภาษาอีสาน แปลว่า ?การนึ่ง? โดยเฉพาะเมื่อผสมผสานกับเทคนิคการทำข้าวงอก ยิ่งทำให้ข้าวฮางสกลนครมีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น นอกเหนือจากความนุ่มหอมอร่อยอย่างมีเอกลักษณ์ ปัจจุบัน ข้าวฮางงอกสกลนครมีหลากหลายชนิด คือ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิมันปู และข้าวสามสี ที่ผู้บริโภคจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์พร้อมความนุ่มหอมละมุนลิ้นที่จะพบได้เฉพาะข้าวฮางสกลนครเท่านั้น

ข้าว เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีการเจริญเติบโต จะมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มขึ้นเมื่อน้ำได้แทรกเข้าไป โดยจะกระตุ้นให้เอ็นไซม์ภายในเมล็ดข้าวเกิดการทำงาน เมื่อเมล็ดข้าวเริ่มงอกสารอาหารที่ถูกเก็บไว้ในเมล็ดข้าวก็จะย่อยสลายไปตามกระบวนการทางเคมี จนเกิดเป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กลง และน้ำตาลรีดิวซ์ นอกจากนี้ โปรตีนภายในเมล็ดข้าวก็จะถูกย่อยให้เป็นกรดอะมิโนและเปปไทด์ รวมทั้งยังพบการสะสมสารเคมีที่สำคัญ เช่น แกมมาออริซานอลโทโคฟิรอล โทโคไตรอีนอล และโดยเฉพาะสารแกมมาอะมิโนบิวทิริกแอซิด หรือที่รู้จักกันว่า ?สารกาบ้า? (GABA : Gamma Amino Butyric Acid)

ความเป็นมาของข้าวฮางงอก
"ข้าวฮางงอก" ประยุกต์มาจากการผลิต "ข้าวฮาง" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวภูไท อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เดิมวัตถุประสงค์ในการผลิตก็เพื่อการบริโภค เนื่องจากสมัยโบราณการผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคทั้งปี ในช่วงก่อนที่จะมีข้าวใหม่ออก เกษตรกรอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนข้าวเพื่อบริโภค ต้องอาศัยธัญพืชอื่นในการดำรงชีวิตไปก่อน เมื่อข้าวในท้องนาออกรวงพัฒนาเมล็ดไป ประมาณร้อยละ 78-85 ขึ้นไป เกษตรกรจะผลิตเป็นข้าวฮาง เพื่อใช้ในการบริโภคก่อนที่ข้าวจะสุกแก่

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวฮางงอก
เนื่องจากอุดมด้วยคุณค่า วิตามินบี 1, บี 2 ไนอะซิน ธาตุเหล็ก แคลเซียม (GABA : Gamma Amino Butyric Acid) ช่วยลดความดันโลหิตและปริมาณคอเลสเตอรอล มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งมีธาตุแมงกานีสในปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง นอกจากนั้น ข้าวฮางงอกมีค่าการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมระบบประสาท รวมทั้งกล้ามเนื้อ นอกจากนั้น จากกรรมวิธีผลิตข้าวฮางงอกทำให้ได้ข้าวเต็มเมล็ดที่มีจมูกข้าวและรำข้าวซึ่งเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ รวมกว่า 20 ชนิด อีกทั้งข้าวฮางมีเส้นใยอาหารปริมาณสูง ช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย จุดเด่นของข้าวฮางงอกที่ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว จะมีลักษณะพิเศษนิ่มอร่อยใกล้เคียงข้าวขาว

ประโยชน์ของสารกาบ้าจากข้าวฮางงอก
สารกาบ้า(GABA) หรือ Gamma Amino Butyric Acid ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารสื่อ ประเภท (neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลางและเป็นสารสื่อประสาทประเภทสารยับยั้ง (inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมองที่ได้รับการกระตุ้น ซึ่งช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ anterior pituitary ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (high) ให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการกระชับและเกิดสารป้องกันไขมัน ที่ชื่อ lipotropic ในวงการแพทย์มีการนำสารกาบ้ามาใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ หลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก เป็นต้น สารกาบ้ายังมีผลกระตุ้นฮอร์โมน ทำให้ระดับฮอร์โมนมีสม่ำเสมอ ช่วยชะลอความแก่ และขับเอ็นไซม์ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ควบคุมระดับน้ำตาลและพลาสมา คอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ให้เลือดไหลหมุนเวียนดีและลดความดันเลือดลง กระตุ้นการขับถ่ายน้ำดีสู่ลำไส้เพื่อสลายไขมัน ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้และช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย

กรรมวิธีการทำข้าวฮางงอก
1. นำข้าวเปลือกมาแช่น้ำสะอาด เป็นเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง

2. นำเมล็ดข้าวเปลือกที่ดูดน้ำจนอิ่มตัวมาบ่มในกระสอบ เป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง เพื่อให้ข้าวงอก

3. นำข้าวเปลือกไปนึ่ง ประมาณ 40 นาที

4. พักไว้ประมาณ 20 นาที ราดน้ำให้เย็นอีกครั้ง

5. นำข้าวเปลือกนึ่งผึ่งลมให้แห้งพอประมาณ

6. นำข้าวเปลือกนึ่งไปสี โดยระวังอย่าให้จมูกข้าวหลุด แล้วผึ่งลมให้แห้งสนิท



ข้าวสังข์หยด ข้าวเพื่อสุขภาพ
กลุ่มชาวนาศูนย์เกษตรชีววิถีบ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

ข้าวสังข์หยด เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดพัทลุง จัดเป็นกลุ่มข้าวที่มีสีแดงหรือม่วง ในอดีตจะหุงข้าวสังข์หยดเพื่อรับแขก นำไปกราบคารวะผู้ใหญ่ในวันสำคัญต่างๆ เป็นของฝากของกำนัล นิยมหุงบริโภคในรูปแบบข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ เมล็ดข้าวอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ในปี พ.ศ. 2549 ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ได้ทำการศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบคุณค่าของสารอาหารในข้าวพันธุ์ต่างๆ ปรากฏว่า ข้าวสังข์หยด มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ กล่าวคือ มีกากใยอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ จึงมีประโยชน์ในการชะลอความแก่ นอกจากนี้ มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัสสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการบำรุงโลหิต บำรุงร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันโรคความจำเสื่อม และยังมีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ พวก oryzanol และมี Gamma Amino Butyric Acid (GABA) ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง จึงนับได้ว่า ข้าวพันธุ์สังข์หยด เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางอาหารสูง คุณลักษณะของข้าวสารสังข์หยด เมล็ดเล็ก เรียว ท้ายงอน เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีแดงถึงแดงเข้ม เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่ม และจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว วิธีการหุง ให้ซาวข้าวเบาๆ โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้สูญเสียคุณค่าของข้าว เติมน้ำให้ท่วมข้าว สูง 1 ข้อนิ้ว เมื่อข้าวสุกทิ้งไว้ให้ข้าวระอุ ประมาณ 5-10 นาที หากต้องการให้ข้าวแข็งหรือนุ่มสามารถเติมหรือเพิ่มน้ำได้ตามความชอบ

ข้าวสังข์หยด ของกลุ่มชาวนาศูนย์เกษตรชีววิถีบ้านเกาะกลาง มีหลักคิดวิธีการที่พึ่งพิงธรรมชาติและห่วงใยสุขภาพผู้บริโภค โดยยึดหลักการว่า อนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุกรรมข้าว พื้นที่ทำนาในถิ่นเดิมพึ่งพาน้ำฝนและฤดูกาลธรรมชาติในการทำเกษตร อย่างอ่อนน้อมสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น มุ่งเน้นวิธีการผลิตด้วยพึ่งพาตัวเองอย่างพอเพียง ปลูกกินและแบ่งปัน คัดพันธุ์ข้าวด้วยความรักผ่านวิถีชีวิตคนทำนา ทั้งเมล็ดพันธุ์ ผืนดิน แหล่งน้ำ และแสงแดด เฝ้าดูแลต้นกล้า จนเป็นต้นข้าวออกรวงอย่างสมบูรณ์ จวบจนเวลาผ่านไป 150 วัน จึงได้เก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวพื้นบ้าน นาน้ำฝน ลุ่มน้ำทะเลปาก แม่น้ำกระบี่ หนึ่งฤดูกาล หนึ่งครั้งทำนา มาเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ ?ข้าวสังข์หยด? สนับสนุนโดย โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โรงไฟฟ้ากระบี่

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวสังข์หยด ต่อน้ำหนัก 100 กรัม
พลังงาน 364.2 กิโลแคลอรี โปรตีน 73 กรัม คาร์โบไฮเดรต 73.1 กรัม เส้นใย 4.81 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 317 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 1.4 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.32 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม ไนอะซิน 6.4 มิลลิกรัม

ข้าวสาลี....หมู่บ้านข้าวสาลีบ้านผาคับ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

หมู่บ้านผาคับ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงตระหนักถึงสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนห่างไกลความเจริญ ทำให้ราษฎรขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม หมู่บ้านผาคับ อำเภอบ่อเกลือ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร พื้นที่โอบล้อมไปด้วยป่าไม้สีเขียว มีลำน้ำมาง ซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำน่าน ไหลผ่านด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำและป่า ซึ่งเหมาะกับการทำเกษตร ปัจจุบัน มี 39 ครัวเรือน ประชากรรวม 158 คน มีการทำเกษตรเพื่อยังชีพ รับจ้างทั่วไปและหาของป่า

ในปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กำหนดให้หมู่บ้านผาคับเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่มุ่งมั่นปฏิบัติงานเพื่อสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน และมุ่งนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยมีศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเป็นหน่วยงานหลักที่ประสานการดำเนินงาน มีพันธมิตรจากองค์กรและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมปฏิบัติงานและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลีคุณภาพดี เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่บนพื้นที่สูง เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ เป็นต้น

ข้าวหอมนิล....หมู่บ้านข้าวหอมนิล ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

หมู่บ้านข้าวหอมนิล ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำน้อยไหลผ่านและมีคลองชลประทานที่ลำเลียงน้ำสู่พื้นที่การเกษตร ประชากรมีจำนวน 3,674 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ค้าขายและรับจ้างทั่วไป หมู่บ้านข้าวหอมนิลมีความเหมาะสมในการที่จะเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้านที่เข้มแข็ง ดังจะเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กลุ่มพัฒนาอาชีพวีรไทย ดำเนินกิจกรรมด้านการผลิตเยื่อและกระดาษ การผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดต่างๆ จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร วัชพืชและเศษกระดาษ

กลุ่มแม่บ้านบ้านมะขาม ดำเนินกิจกรรมด้านการแปรรูปอาหารโดยเน้นการผลิตน้ำพริกชนิดต่างๆ

กลุ่มสตรีทำขนมไทย ดำเนินกิจกรรมด้านการผลิตขนมไทยชนิดต่างๆ

กลุ่มแม่บ้านผลิตอาหารแปรรูปชนิดต่างๆ จากผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ปลา น้ำนมแพะ เป็นต้น

กลุ่มโรงสีข้าวชุมชนวัดขุมทอง ดำเนินการบริการสีข้าวให้กับประชาชนในชุมชนและประชาชนทั่วไป รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนในตำบลไผ่จำศีลและบริเวณใกล้เคียง ปลูกข้าวหอมนิลและข้าวพันธุ์อื่นๆ เพื่อสีเป็นข้าวกล้องบริโภคและจำหน่าย

กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพวัดขุมทอง ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ดใช้ในนาข้าวและพืชสวนต่างๆ ให้กับสมาชิกในกลุ่มและจัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป เป็นต้น

จากศักยภาพความพร้อมและความเข้มแข็งหมู่บ้านข้าวหอมนิล ตำบลไผ่จำศีล กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงได้กำหนดเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่นเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์แล้วสามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและชุมชนให้เป็นสังคมที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

สอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. (02) 354-4466 ต่อ 118, 120 โทรสาร (02) 354-3763 http://www.most.go.th e-mail : pr@most.go.th


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:16 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

องอาจ ตัณฑวณิช ชมรมกล้วยไม้ดิน โทร. (081) 909-8117 หรือ ongart04@yahoo.com

กล้วยไม้รองเท้านารี "ขาวสตูล" กล้วยไม้แสนสวย และทนายนักเลี้ยง ที่เมืองขุนแผน

กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี เป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนกับกล้วยไม้ทั่วไป โดยกล้วยไม้ทั่วๆ ไป มีกลีบดอกจำนวน 6 กลีบ แต่กล้วยไม้สกุลรองเท้านารีมีกลีบดอกแค่ 5 กลีบ และกลีบนอกคู่ล่างติดกันเป็นกลีบเดียว มีลักษณะคล้ายหัวรองเท้าของผู้หญิง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เลดี้ สลิปเปอร์ (Lady"s Slipper) ทำให้มองดูเหมือนรองเท้านารีมีแค่ 4 กลีบ บ้างก็คิดว่ารองเท้านารีเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดหนึ่ง

กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี พบในประเทศไทย 18 ชนิด กระจายอยู่ทั่วทุกภาค และมักจะตั้งชื่อกล้วยไม้ตามสีของดอกและสถานที่พบ เช่น รองเท้านารีดอกสีขาว พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2411 ที่จังหวัดสตูล จึงเรียกว่า ขาวสตูล (Paphiopedilum nivium) และพบรองเท้านารีดอกสีเหลือง ครั้งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี จึงเรียกว่า เหลืองปราจีน (Paphiopedilum concolor) เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลนี้เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงมีราคาต่อต้นสูง และมีราคาค่อนข้างแพงกว่ากล้วยไม้สกุลอื่น อาจเป็นเพราะดอกมีความแปลกแตกต่างกว่ากล้วยไม้สกุลอื่น หรือใช้สถานที่ในการปลูกเลี้ยงน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้ราวแขวน โดยจะจัดวางกระถางให้สูงกว่าพื้นเล็กน้อยก็เพียงพอ

ลักษณะของต้นและใบ
ใบ ของรองเท้านารีขาวสตูล ด้านบนจะเป็นลาย ส่วนด้านล่างจะเป็นสีม่วงอ่อนแก่ต่างกัน ใบเป็นรูปขอบขนาน ค่อนข้างหนา ยาวแค่ประมาณคืบเดียว แต่ก้านช่อดอกจะมีความยาวตั้งแต่ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งมีความเด่นของก้านช่อ สีของดอกจะเป็นพื้นขาว มีจุดกระหรือเส้นบางๆ ที่โคนกลีบ จุดกระยิ่งน้อยเท่าใด จะยิ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะจะดูดอกเป็นสีขาวสะอาดตา ถ้าดอกของรองเท้านารีขาวสตูลไม่มีจุดกระเลย มีเฉพาะสีพื้นขาว จะถือว่าเป็น รองเท้านารีเผือก ซึ่งค่อนข้างหายาก จำนวนดอกในช่อปกติจะมีแค่ 1-2 ดอก ถ้าช่อที่มีดอกได้ 3 ดอก จะถือว่าพิเศษกว่าต้นอื่น ระยะเวลาในการบานของดอก ประมาณ 30 วัน ยกเว้นถ้ามีน้ำขังอยู่ในกระเป๋า จะทำให้ดอกช้ำและหลุดร่วงไปก่อนเวลาอันควร บางต้นของรองเท้านารีชนิดนี้จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่มีจำนวนน้อยมาก

ถิ่นอาศัยที่อยู่ในธรรมชาติ
ถิ่นอาศัยในธรรมชาติของรองเท้านารีชนิดนี้ มักจะพบตามป่าดิบเขา หรือบริเวณที่เป็นเขาหินปูนเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ รวมถึงชายฝั่งทะเล และบนเกาะแก่งต่างๆ รองเท้านารีขาวสตูลที่พบในจังหวัดสตูลมีต้นและดอกขนาดเล็ก ฟอร์มดอกค่อนข้างกลม แต่รองเท้านารีที่พบในจังหวัดกระบี่ และรอยต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดตรัง ดอกและต้นค่อนข้างโตกว่า ฟอร์มดอกที่พบเห็นจะผึ่งผายกว่าที่พบเห็นในที่อื่นๆ นอกจากนี้ ในจังหวัดกระบี่เราจะพบเห็นลูกผสมของรองเท้านารีขาวสตูลกับรองเท้านารีเหลืองพังงาหรือเหลืองตรังที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ทั้งบนเกาะและบริเวณชายฝั่ง ลักษณะดอกรองเท้านารีลูกผสมนี้มีความหลากหลายมาก

โดยธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนี้ จะอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือใต้ชะง่อนหิน ทำให้ฝนที่ตกลงมาไม่โดนใบของรองเท้านารีโดยตรง ซึ่งจะทำให้ใบช้ำได้ง่าย ทั้งนี้ จะรวมถึงแสงที่ส่องลงมาก็จะผ่านการกรอง ทำให้รองเท้านารีขาวสตูลได้รับแสงไม่มากจนเกินไป ซึ่งเรามักจะนำสิ่งที่เป็นสภาพแวดล้อมในธรรมชาติของถิ่นอาศัยมาปรับใช้ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้แต่ละชนิด

การปลูกเลี้ยงและสภาพโรงเรือน
การปลูกเลี้ยงในปัจจุบันสำหรับนักเล่นกล้วยไม้ จะนิยมปลูกเลี้ยงต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์ในห้องแล็บจากฝักใส่ลงในขวดแก้ว ซึ่งเรียกกล้วยไม้ที่ขยายพันธุ์แบบนี้ติดปากว่า ไม้ขวด และเรียกต้นว่า ลูกไม้ กล้วยไม้ที่ได้จากการขยายพันธุ์แบบนี้เป็นกล้วยไม้ที่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์ที่มีความโดดเด่นและงามมากกว่าต้นที่พบในธรรมชาติ หรือจะเป็นการผสมข้ามชนิดก็มี ความแปลกใหม่หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้กล้วยไม้ที่นำมาจากป่าไม่เป็นที่นิยมสำหรับนักเล่นกล้วยไม้ สำหรับผู้หัดเลี้ยงมือใหม่จะไม่ค่อยซื้อไม้ขวดมาปลูกเลี้ยง เนื่องจากต้นมีขนาดเล็ก และเข้าใจว่าปลูกเลี้ยงยาก แต่ที่จริงแล้วการปลูกให้ถูกวิธีทำให้โอกาสรอดของกล้วยไม้รองเท้านารีจากขวดมีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว โรงเรือนที่ปลูกเลี้ยงรองเท้านารีมักจะทำเป็นหลังคา ซึ่งโปร่งแสง แต่สามารถกันฝนได้ และต้องการพรางแสงให้ด้วยซาแรน 60-80 เปอร์เซ็นต์ ควรพิจารณาให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เลี้ยง การเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีแทบทุกชนิด จะต้องมีความเอาใจใส่มากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น หากไม่มีเวลาดูแล ไม่แนะนำให้เลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้

วัสดุปลูกต้องโปร่ง และเก็บความชื้นได้ดี

วัสดุที่ใช้ปลูกต้นที่แยกหน่อมาและมีขนาดโตเต็มที่แล้ว จะใช้โฟมหักขนาดหัวแม่มือรองก้นกระถาง ประมาณ 1 ใน 3 วางต้นลงแล้วจึงใช้ใบไม้ที่ย่อยสลายแล้วผสมกับดินพร้อมปลูกทับรากอีก 1 ส่วน ส่วนที่เหลือด้านบนให้เอาถ่านหรือหินภูเขาไฟโรยทับหน้าไว้ กันไม่ให้ดินกระเด็นออกจากกระถางในขณะที่รดน้ำ โรยปุ๋ยละลายช้าทุก 3 เดือน ใช้ยากันราหรือน้ำปูนใส ฮอร์โมนเร่งราก ยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรไล่แมลงฉีด 7-14 วันครั้ง ในกรณีที่เลี้ยงจำนวนไม่มาก

สภาพความเป็นอยู่ของรองเท้านารีขาวสตูลในธรรมชาติค่อนข้างชื้นกว่ารองเท้านารีชนิดอื่น แต่ไม่ใช่สภาพเครื่องปลูกแฉะเพราะจะเกิดการเน่าที่โคนต้นหรือราก ตอนรดน้ำจะสังเกตเห็นว่าน้ำไหลผ่านออกทางก้นกระถางทันที จึงถือว่าวัสดุปลูกในกระถางโปร่ง โอกาสที่จะเกิดการเน่าค่อนข้างน้อย แต่ทั้งนี้ให้ดูสภาพแวดล้อมอื่นประกอบด้วยในการเลี้ยง เช่น แสงสว่าง กระแสลม ความชื้นในโรงเรือน เป็นต้น อย่ามุ่งในปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะต้องอาศัยปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบร่วมกัน จึงจะสามารถปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้ประสบความสำเร็จได้

พันธุ์แท้รองเท้านารีขาวสตูลที่พัฒนาแล้ว มีความสวยงามกว่ามาจากป่า

ปัจจุบัน รองเท้านารีขาวสตูล มีการคัดสายพันธุ์ที่มีความสวยงามแล้วทำเป็นไม้ขวดจำหน่ายมากมาย ยิ่งไม้ขวดที่ได้ทำจากพ่อแม่ที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมแล้วด้วย ลูกไม้ที่ได้มาค่อนข้างจะสวย แต่ขอออกตัวก่อนว่า ลูกกล้วยไม้ที่ได้จากการติดฝัก ต้นที่ได้แต่ละต้นจะมีความสวยงามไม่เหมือนกัน เราอาจจะได้ต้นที่ไม่สวยเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความผิดพลาดทางเทคนิค ดอกที่ได้มักจะสวยมากกว่าไม่สวย สนนราคากล้วยไม้ขวดรองเท้านารีขาวสตูลจะอยู่ประมาณ 300-3,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสวยของพ่อแม่กล้วยไม้ที่นำมาผสม

รองเท้านารีขาวสตูล .....รางวัลเกียรตินิยม
คุณอรรณพ มากสอน หรือ ทนายอั้น ทนายความหนุ่ม จากอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าของรองเท้านารีขาวสตูลต้นสวย รางวัลเกียรตินิยม เอ.เอ็ม. ของสมาคมพฤษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ ชื่อ ไหมแก้ว ในปี 2551 และ ชื่อ พิมพิลาส ในปี 2552 ซึ่งเป็นรองเท้านารีขาวสตูลที่มีความสวยงามมาก ทนายอั้น เริ่มเลี้ยงกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีจนถึงปัจจุปัน เป็นเวลา 11 ปีแล้ว โดยตอนแรกปลูกเลี้ยงรองเท้านารีแทบทุกสกุล แต่มาติดใจรองเท้านารีขาวสตูล ทนายอั้นให้เหตุผลว่า ขาวสตูลเป็นรองเท้านารีที่มีก้านยาวเด่นสง่า ดอกเป็นฟอร์มกลม สีขาวบริสุทธิ์ดูสะอาดและสบายตา เป็นสาเหตุที่ทนายอั้นหลงรักรองเท้านารีขาวสตูล ตอนนี้ในรังกล้วยไม้จึงมีรองเท้านารีขาวสตูลเสียเป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นชนิดที่ทนายอั้นกำลังพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น

การพัฒนารองเท้านารีขาวสตูล
ในทรรศนะของทนายอรรณพ การคัดพันธุ์ของรองเท้านารีขาวสตูลจะต้องพิจารณาหลายประการ เช่น ก้านช่อดอกจะต้องมีขนาดสูงอย่างน้อย 15 เซนติเมตร ขึ้นไป ฟอร์มดอกจะต้องมีความสวยงามสมมาตรกันซ้ายขวา ขนาดดอกต้องกว้างขนาด 5 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย สีของดอกต้องมีสีขาวสะอาดตา จุดประมีไม่มากนัก ส่วนต้นควรจะเป็นต้นที่เลี้ยงง่าย มีการแตกกอง่าย แข็งแรง และไม่ค่อยเป็นโรค เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นคุณสมบัติที่จะต้องมีในพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งทนายอั้นได้คัดเลือกรองเท้านารีขาวสตูลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ จึงจะทำให้ได้ลูกกล้วยไม้ที่มีความสวยงามตามที่ต้องการ

การใช้พ่อแม่พันธุ์ดังกล่าว จะซื้อพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสวยงามจากแหล่งต่างๆ นำมาคัดต้นที่มีความสวยงามตามความต้องการแล้วจึงนำมาผสมเกสร โดยจะไม่ได้นำรองเท้านารีขาวสตูลออกจากป่า เพราะนั่นหมายถึงต้องนำออกมาเป็นจำนวนมากแล้วจึงจะคัดต้นที่มีดอกสวยมา ซึ่งเป็นการทำลายธรรมชาติ การนำต้นที่มีดอกสวยแล้วมาผสมกันอีกต้นที่สวย เป็นการต่อยอดอีกขั้นหนึ่ง สามารถร่นระยะเวลาในการพัฒนาได้เร็วกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนากล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลจะต้องใช้เวลาในการติดฝัก 6 เดือน แล้วจึงนำฝักไปเพาะในห้องแล็บ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อได้ไม้ขวดแล้วนำมาเลี้ยงตั้งแต่ช่วงอนุบาลถึงออกดอก จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี เป็นอย่างเร็ว รวมระยะเวลาเกือบ 5 ปี เป็นเวลาที่นานพอสมควรสำหรับการรอคอย ในช่วงนี้ทนายอั้นจึงยังไม่มีลูกไม้รองเท้านารีขาวสตูลจำหน่าย เพราะลูกไม้ที่ได้ยังมีจำนวนน้อยอยู่ จะต้องเก็บไว้สำหรับการคัดพันธุ์ต่ออีกระยะหนึ่ง ในช่วงของปีหน้าทนายอั้นจึงจะมีลูกไม้รองเท้านารีขาวสตูลสวยๆ มาแบ่งให้ผู้สนใจได้ปลูกเลี้ยงกันบ้าง

ทนายอั้น มีความคิดในเรื่องการพัฒนากล้วยไม้รองเท้านารีว่า นอกจากนักพัฒนาจะต้องมีสายตาที่เฉียบแหลมมองคู่ผสมแต่ละคู่ให้ออกแล้ว ทำให้ได้สมกับที่คาดหวังไว้ ก็ยังมีจริยธรรมอีกข้อหนึ่งที่ควรยึดถือคือ ความซื่อสัตย์ ในการจับคู่ผสม ไม่ควรที่จะนำรองเท้านารีต่างชนิดกัน หรือต้นพ่อแม่ที่มีประวัติคลุมเครือไม่แน่ชัดมาจับคู่ผสม แล้วจำหน่ายไปในนามของพันธุ์แท้ สนใจสอบถามรายละเอียดในการปลูกเลี้ยงรองเท้านารีขาวสตูลได้ที่ โทร. (085) 235-9516



กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล


ชื่อสกุล Paphiopedilum

ชื่อชนิด niveum (Rchb.f.) Stein

ประเภท กล้วยไม้กึ่งดิน

ฤดูดอก เดือนมีนาคม-กรกฎาคม

จำนวนดอกในช่อ 1- 2 ดอก

แหล่งอาศัยในธรรมชาติ ป่าดิบเขา

แหล่งที่พบในประเทศไทย ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล

สถานภาพ ในธรรมชาติมีเหลือจำนวนน้อย ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในสถานที่ปลูกเลี้ยง มีจำนวนมาก เนื่องจากมีการเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการ ทำให้มีการปลูกเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

เขตการกระจายพันธุ์ มาเลเซีย


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 18/03/2010 4:24 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:17 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไพบูลย์ แพงเงิน

มิคกี้ เม้าส์-ไม้กระถาง ที่เหมาะแก่การตกแต่งสถานที่

อาคารสถานที่ต่างๆ ที่มีระเบียง ห้องโถง หรือห้องประชุม ที่มีความกว้างขวาง และมีแสงสาดส่องถึงแบบรำไร สมควรที่จะต้องมีกระถางปลูกต้นไม้ประดับตามมุมต่างๆ หรือวางตั้งเป็นระยะๆ เพื่อให้เป็นจุดพักสายตา หรือเพื่อสร้างความสดชื่นมีชีวิตชีวาแก่เจ้าของสถานที่หรือแขกผู้มาเยือน สมัยเมื่อสัก 30-50 ปีก่อน เจ้าของสถานที่มักนิยมตั้งกระถางที่ใช้ต้นไม้ประดิษฐ์ตั้งประดับแทนต้นไม้จริง เพราะเป็นการประหยัดแรงงานในด้านการดูแลรักษา เนื่องจากต้นไม้ประดิษฐ์ไม่ต้องการคนรดน้ำหรือตัดแต่งกิ่ง เพียงซื้อหาครั้งเดียวก็สามารถตั้งประดับสถานที่ได้นานหลายปี อาศัยแต่เพียงคนคอยปัดฝุ่นหรือเช็ดตามใบหรือดอกบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่จุดอ่อนของต้นไม้ประดิษฐ์ก็อยู่ตรงที่ว่า ราคาค่อนข้างแพง และสิ่งที่สำคัญคือเป็นดอกไม้ไร้ชีวิตที่ขาดชีวิตชีวา ซึ่งสำหรับคนดูบางคนแล้ว ถึงกับออกปากว่า "ดูแล้วรู้สึกหดหู่ใจมาก" เลยทีเดียว

แต่มาถึงสมัยนี้ ความนิยมในกระถางต้นไม้ประดิษฐ์ลดลงไป ประกอบกับสามารถหาต้นไม้กระถางที่เหมาะสมและหาได้ง่าย มีความสวยงามได้มากขึ้น คนจึงนิยมที่จะใช้ต้นไม้จริงขนาดย่อมๆ มาใส่กระถาง เพื่อตั้งประดับอาคาร สถานที่ และห้องประชุมแทนต้นไม้เทียมที่ไร้ชีวิตชีวา

ตัวผู้เขียนเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือสถานที่ทำงาน ก็ชอบที่จะตั้งกระถางต้นไม้จริงอยู่เสมอ ไม่เป็นไม้ดอกก็เป็นไม้ใบที่มีขนาดต้นย่อมๆ ดูแลรักษาง่าย ไม่เป็นไม้ที่ทิ้งใบ รวมทั้งเป็นไม้ที่ไม่ต้องเสียเวลาดูแลรักษามากนัก นานๆ จึงจะมีการตัดแต่งกิ่งเสียทีหนึ่ง การให้น้ำเพียง 2-3 วัน ต่อครั้ง เป็นต้น

สมัยที่ยังรับราชการอยู่ ผู้เขียนเคยนำเอาเมล็ดพิกุลมาเพาะ ชำจนเติบโตในกระถางได้ ส่วนสูงราว 1-2 เมตร ก็จะยกกระถางไปตั้งในบริเวณหน้าอาคารของสำนักงาน หรือบางแห่งถึงกับนำไปตั้งในห้องทำงานบริเวณใกล้ๆ หน้าต่างที่มีแสงแดดส่องถึง ทำให้บรรยากาศมีความร่มเย็นขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้แก่สถานที่อีกด้วย ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนมีความประทับใจในต้นและดอกพิกุลตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยเคยไปเก็บพิกุลกลางลานวัดมาร้อยเป็นพวงถวายพระ ได้พวงดอกไม้ที่หอมกรุ่นชื่นใจ แต่เนื่องจากผู้ใหญ่ท่านห้ามปลูกพิกุลไว้ในบริเวณบ้าน จึงใช้วิธี "เลี่ยงบาลี" ยักย้ายไปปลูกในสถานที่ราชการแทน คิดว่าคงจะช่วยลดความไม่เป็นมงคล (ข้อห้ามของโบราณ) ลงไปได้ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด มีคนหลายคนไปเห็นเข้าก็ชอบใจหลายราย ถือเป็นวิธีการอนุรักษ์ไม้ไทยที่ดีได้อีกวิธีหนึ่ง

มาในระยะหลังๆ นี้ ผู้เขียนไปได้เมล็ดของต้นไม้จากต่างประเทศชนิดหนึ่งเข้า เมื่อนำมาเพาะก็งอกได้ง่าย เจริญเติบโตดี พุ่มสวย ไม่ทิ้งใบ ดูแลง่าย ปลูกไม่นานก็ออกดอกสวยงาม มีทั้งดอกสีแดง (ดอกตัวเมีย) และดอกสีเหลือง (ดอกตัวผู้) ให้ได้ชมตลอดปี ต้นไม้ที่ว่านี้ มีชื่อสามัญว่า "มิคกี้ เม้าส์" (Micky Mouse), มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ochna kirkii Oliv. สกุล Ochna วงศ์ OCHNACEAE ซึ่งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวทวีอเมริกา ไม่ทราบว่าเดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่แถวสุพรรณบุรี ผู้เขียนเห็นต้นไม้ชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อราวๆ 25 ปีก่อน แต่สมัยนั้นหาเมล็ดพันธุ์ได้ค่อนข้างยาก ต่างกับสมัยนี้ที่เห็นอยู่ทั่วไปและหาเมล็ดพันธุ์ได้ง่าย

เหตุที่มีการตั้งชื่อไม้ประดับชนิดนี้ว่า "ต้นมิคกี้ เม้าส์" นั้น ก็เนื่องจากเมื่อต้นไม้มีเมล็ด เมล็ดที่แก่เต็มที่จะมีลักษณะกลมรีและมีสีดำ คล้ายกันกับลักษณะของจมูกของ "มิคกี้ เม้าส์" การ์ตูนตัวเก่งของ "วอลต์ ดิสนีย์" ราชาการ์ตูนของโลกนั่นเอง

ต้นมิคกี้ เม้าส์ นั้น มีลักษณะเป็นพุ่มคล้ายๆ พุ่มพิกุลนั่นเอง หากตกแต่ง ตัดกิ่งอย่างสม่ำเสมอก็จะสวยงาม ไม่เกะกะเก้งก้าง ใบมีลักษณะเรียวแหลม ขนาดเล็ก สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกตัวเมีย (สีแดง) จะมีกลีบ 4-5 กลีบ เกิดเมล็ดตั้งแต่ 1-5 เมล็ด เมล็ดแก่เร็ว (เพียง 1 สัปดาห์ เมล็ดที่มีสีเขียวก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำและร่วงลงสู่พื้นดิน) ดังนั้น การขยายพันธุ์จึงทำได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อได้ดินดี น้ำดี ไม่ช้าก็จะแตกพุ่มให้ชื่นชมได้ หากมีกิ่งยื่นออกนอกทรงพุ่มก็ควรตัดแต่งให้บ้าง เพียงแค่นี้เราก็จะได้ไม้กระถางไว้ตั้งประดับสถานที่แล้ว สำนักงานหรือสถาบันใดมีพื้นที่กว้างขวาง ก็ให้จัดหากระถางขนาดเขื่องมาตามจำนวนที่ต้องการ หาวัสดุปลูกให้พอเพียง หาเมล็ดพันธุ์ของต้นมิคกี้ เม้าส์ ให้ได้จำนวนหนึ่ง มอบภาระการปลูก การดูแลรักษาให้แก่คนงานที่รับผิดชอบด้านสถานที่ให้เรียบร้อย เพียงไม่กี่เดือนก็จะมีกระถางไม้ประดับไว้ตั้งอวดแขกแล้ว โดยควรจะมีกระถางสำรองเพื่อใช้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในกรณีที่มีกระถางใดต้นไม้เกิดโทรมลงไป วิธีนี้จะช่วยประหยัดเงินงบประมาณด้านต้นไม้ไปได้มาก

เนื่องจากมิคกี้ เม้าส์ เป็นพันธุ์ไม้ต่างด้าวที่เพิ่งจะเข้ามาในเมืองไทยได้ไม่นาน แม้แต่ชื่อไทยๆ ก็ยังไม่มีจะใช้เรียก ดังนั้น เราจึงยังไม่ทราบข้อมูลว่าจะมีส่วนใดใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคใดได้บ้าง แต่ที่แน่ๆ ต้นไม้ชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับต้นไม้สมุนไพรของไทยที่ชื่อว่า กำลังช้างสาร (ตานเหลือง, ช้างน้าว หรือ ตานนกกด) หากมีการทดลองหาสารสำคัญโดยละเอียดก็เข้าใจว่าน่าจะพบสารที่ใช้เป็นสมุนไพรได้ ขอฝากให้เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ไทยด้วยก็แล้วกันครับ

กำลังช้างสาร หรือตานเหลือง เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น ชนิด Ochna integerrima (Lour.) Merr. ในวงศ์ Ochnaceae พบในป่าเบญจพรรณแล้ง เปลือกสีน้ำตาลแก่ ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อสั้น ดอกบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลิ่นหอมอ่อน และผลัดใบขณะมีดอก (บางตำราว่าเป็นพืชชนิด Ochna wallichii Planch. วงศ์ Ochnaceae)

กำลังช้างสาร (เนื้อไม้) มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้วปวดเมื่อยเส้นเอ็น มักจะเข้าในตำรับยาดองประเภทบำรุงกำลังและบำรุงพลังทางเพศ และเป็นสมุนไพรที่มีรสสุขุม

ไม้ในวงศ์เดียวกันแต่ต่างชนิดกับที่เอ่ยชื่อมาแล้วข้างต้น ยังมีอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อไทยว่า ช้างน้าว และชื่ออื่นๆ อีก คือ หางกวางผู้ (อุบลราชธานี), กาปิโต (ตราด), ท้องปลิง (ภาคใต้), ช้างโน้ม (ปราจีนบุรี) และยูลง (มลายู-นราธิวาส) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gomphia serata (Gaerth.) Kanis ดอกและเมล็ดคล้ายกับ มิคกี้ เม้าส์ มาก ผิดแต่เพียงก้านดอก เนื่องจากช้างน้าวชนิดหลังนี้มีก้านดอกยาว ในขณะที่ดอกของ มิคกี้ เม้าส์ ไม่มีก้านดอก ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้มีระบุสรรพคุณทางยาไว้ว่า ทั้งต้น เข้าตำรับยารักษาโรคเบาหวาน ราก นำมาต้มน้ำดื่มแก้ผิดสำแดง (อ้างโดย พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคอีสาน/2549)

ก็ขอแนะนำให้ท่านที่รักต้นไม้ได้รู้จักกับต้นไม้ต่างด้าว ที่ชื่อว่า "มิคกี้ เม้าส์" และประโยชน์ในด้านเป็นไม้ประดับไว้แต่เพียงแค่นี้ ส่วนข้อมูลประโยชน์ในด้านอื่นๆ คงจะมีตามมาเรื่อยๆ ในอนาคต

เรื่องราวของ "มิคกี้ เม้าส์" ต้นไม้ดอกสวย จากอเมริกาก็ขอจบลงแต่เพียงแค่นี้


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:20 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

สตรอเบอรี่ปลอดสาร เกษตรกรฝางยิ้ม กำไรอื้อ *

แต่ก่อนเป็นคนที่ชอบสตรอเบอรี่คนหนึ่ง ครั้นพอได้ยินใครต่อใครพูดว่า อย่าไปกินเยอะ เพราะมีแต่ยา เลยตัดสินใจกินน้อยลง และถ้าไม่เกิดความอยากจริงๆ ก็จะไม่แตะ แต่พอไปทำข่าวโครงการหลวง ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมเกษตรกรในลุ่มแม่น้ำงอนปลูกสตรอเบอรี่ โดยในปีนี้ทางเทสโก้ โลตัส รับซื้อมาขาย เพื่อให้ผลผลิตสดออกสู่ตลาดทั่วประเทศ ทำให้ได้รู้ว่ามีเกษตรกรหลายรายหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเองแล้ว ยังส่งผลในการลดต้นทุนการผลิตด้วย เรียกว่าดีกับทุกๆ ฝ่าย

วันนั้นทางโครงการหลวงชวนไปดูไร่สตรอเบอรี่ของ คุณสมศักดิ์ สิทธิกัน ที่บ้านห้วยห้อม ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง ในเนื้อที่ 20 ไร่ แต่แบ่งมาปลูกสตรอเบอรี่เพียง 1 ไร่ นอกนั้นปลูกมะม่วง และในอนาคตจะปลูกลิ้นจี่อีกด้วย

เดิมคุณสมศักดิ์ปลูกสวนส้มทั้งหมด แต่ก็ต้องล้มทิ้ง เพราะประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งก็เหมือนกับเกษตรกรจำนวนนับไม่ถ้วนในอำเภอฝางที่นิยมปลูกส้มสายน้ำผึ้ง เพราะช่วงนั้นประมาณ ปี 2546 ส้มสายน้ำผึ้งได้ราคาดี มีกำไรนับล้านบาท แต่ต่อมาเจอโรคแมลง กำไรก้อนโตที่เคยได้หดหาย กระทั่งไม่คุ้มทุน จนต้องล้มสวนส้มกันเป็นแถว

สาเหตุที่คุณสมศักดิ์เปลี่ยนมาเป็นมะม่วง เพราะเห็นว่าต้นทุนต่ำ และไม่ต้องดูแลมาก ขณะที่เกษตรกรหลายรายหันไปปลูกลิ้นจี่แทน

จุดเด่นไร่สตรอเบอรี่ของสมศักดิ์ก็คือ เป็นแปลงที่ปลอดสารพิษจริงๆ ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ

ถามคุณสมศักดิ์ว่า ทำไม ปลูกแค่ไร่เดียว เขาตอบอย่างตรงไปตรงมา เคยได้ยินคนพูดว่าสตรอเบอรี่ปลูกยาก ปีนี้อยากจะลองดู โดยทำเป็นแปลงตัวอย่างปลอดสารพิษจริงๆ ไม่มีปุ๋ยเคมีเลย ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูป ซึ่งพรรคพวกใช้กันอยู่ จึงนำมาใส่บ้างก็ให้ผลผลิตดี ใช้สะดวกเป็นแบบฉีดพ่นภายใน 7 วัน

สตรอเบอรี่นั้น เป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวเร็ว ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ไร่ของคุณสมศักดิ์เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นพันธุ์ 329

ช่วงเดือนมกราคมก็เริ่มมีลูกเก็บได้เรื่อยๆ วันหนึ่งเก็บได้ 1-2 กิโลกรัม โดยจะมีพ่อค้ามารับไปขายนักท่องเที่ยวอีกต่อหนึ่ง เพราะบ้านห้วยห้อม เป็นเส้นทางผ่านไปยังดอยอ่างขาง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของเชียงใหม่

ทั้งนี้ ในช่วงต้นฤดูประมาณเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ ราคาขายต่อกิโลกรัมจะดีมาก ตกประมาณ 80 บาท ในส่วนพ่อค้าแม่ค้าจะขายให้ผู้บริโภคถึงกิโลกรัมละ100-200 กว่าบาทก็มี ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมสตรอเบอรี่จะออกมากที่สุด วันหนึ่งๆ สามารถเก็บได้ 100 กิโลกรัมขึ้นไป แต่ราคาจะถูกลง

สำหรับการลงทุนนั้น คุณสมศักดิ์ บอกว่า ต่อไร่ประมาณ 40,000 บาท จะขายได้ประมาณ 100,000 กว่าบาท

จากการสอบถามตัวเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ พบว่า ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำงอนนั้นมีเกษตรกรจำนวนมากที่หันมาปลูกสตรอเบอรี่กันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ยังใช้สารเคมีกันอยู่ เพราะชาวบ้านเคยชินกับการปลูกแบบเก่า และเห็นว่าจะทำให้พืชเจริญเติบโตเร็ว

ในขณะที่ คุณสมศักดิ์ มองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีก็มีผลเสียหลายอย่าง อาทิ ถ้าดินเป็นกรด หรือเดินเสีย ทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี เพราะรากพืชจะดูดกินอาหารไม่ได้

อย่างที่คุณสมศักดิ์บอก ปีนี้คาดว่าจะขายสตรอเบอรี่ได้ประมาณ 100,000 กว่าบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ดีทีเดียวถ้าเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ดังนั้น ในปีหน้าคุณสมศักดิ์ตั้งใจว่าจะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ไร่ เพราะมีประสบการณ์แล้วว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพสามารถควบคุมโรคพืชได้แน่นอน เพราะไม่มีแมลงสักตัว

ถ้าใครไปเห็นแปลงปลูกสตรอเบอรี่อาจจะมองไม่ออกว่า พืชตัวนี้ปลูกยากอย่างไร ในฐานะเกษตรกรตัวจริงเสียงจริง คุณสมศักดิ์แจกแจงให้ฟังว่า เริ่มตั้งแต่ยกแปลงเริ่มปลูก จะต้องใช้คนงานช่วย แต่หลังจากปลูกเสร็จตนและคนในครอบครัวทำเองหมดทุกอย่าง โดยใช้ระบบน้ำหยดเปิดตอนเช้า-เย็น ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง นอกจากนั้น ก็ต้องถางแปลงอย่าให้หญ้าขึ้น และต้องเอาใจใส่ดูแลแมลงต่างๆ

คุณสมศักดิ์ แจกแจงอีกว่า สตรอเบอรี่ปลอดสารพิษนั้นรสชาติจะดีกว่าที่ใช้สารเคมี จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรได้แสวงหาสิ่งที่ดีๆ เพื่อจะมาช่วยเรื่องเพิ่มผลผลิต พร้อมๆ กับการลดต้นทุน

ถ้าใครไปแถวดอยอ่างขางอยากชมไร่สตรอเบอรี่ปลอดสารพิษของคุณสมศักดิ์ ก็ โทร.ไปสอบถามเส้นทางได้ ที่ โทร. (080) 031-1513

ฟังเกษตรกรพูดกันไปแล้ว ลองมาดูในมุมมองของนักวิชาการบ้าง คุณราชันย์ จันทรากาศ เกษตรอำเภอฝาง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่อำเภอฝางส่วนใหญ่เหมาะสมปลูกพืชเศรษฐกิจแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นส้ม ลิ้นจี่ ลำไย หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง เนื่องจากอากาศดี อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 18 องศา พืชผลไม้ที่ปลูกมากๆ ได้แก่ ส้ม แต่ว่าส้มเป็นพืชที่ลงทุนสูง ต้องใช้สารเคมีตลอดเวลา เกษตรกรที่ไม่มีทุนมักจะผลิตไม่ได้มาตรฐาน จึงล้มสวนส้มกันเป็นจำนวนมาก หันไปปลูกพืชอื่นที่มีตลาดดีกว่า เช่น สตรอเบอรี่ และลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ อย่างไรก็ตาม คุณราชันย์ มองว่า ถ้าเกษตรกรไม่ปลูกส้มกันเพิ่มขึ้นและระดับมาตรฐานยังอยู่แบบนี้ ราคาส้มจะดีไปอีก 6 ปี เป็นอย่างน้อย ซึ่งตอนนี้เฉลี่ยขายกิโลกรัมละประมาณ 15 บาท ต้นทุนการผลิตจะตกอยู่ 11 บาท

เกษตรอำเภอฝางบอกว่า การปลูกส้มจริงๆ แล้ว หากส้มที่มีอายุ 15 ปี มักจะต้านทานโรคไม่อยู่ แต่ถ้าล้มและปลูกใหม่แล้วปรับปรุงดินให้ดีขึ้น จะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้

สาเหตุที่เกษตรกรหันมาปลูกสตรอเบอรี่นั้น เหตุผลหลักคือ ใช้เวลาสั้นแค่ 6 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว ลงทุนต่อไร่ประมาณ 40,000-47,000 บาท ได้กำไรไม่ต่ำกว่าไร่ละ 100,000 บาท

สำหรับปัญหาหนักของสตรอเบอรี่นั้น คุณราชันย์ อธิบายว่า หากเกษตรกรไม่มีความรู้ในเรื่องการจัดการกับศัตรูพืช เช่น แมลงหรือโรคต่างๆ ไปทำตามคำแนะนำ หรือเชื่อตามโฆษณาของยาต่างๆ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง สองเป็นการเพิ่มเติมให้โรคดื้อยา เห็นได้จากหลายๆ พื้นที่ เกษตรกรปลูกสตรอเบอรี่แล้วล้มเลิกไป คือเมื่อปลูกได้ระยะหนึ่งโรคและแมลงจะมีความต้านทานต่อยามากขึ้น

ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำงอนในโครงการพระราชดำรินี้ ได้นำปัญหาจากพื้นที่อื่นแล้วมาแก้ไข เช่น สอนให้เกษตรกรผลิตเชื้อจุลินทรีย์เอง คือเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราใดเพื่อแก้ปัญหาโรคโคนเน่า รากเน่า

อีกอันหนึ่ง คือ บิวเวอร์เรีย เชื้อราตัวนี้ป้องกันและกำจัดพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอน ส่วนสมุนไพรอื่น อย่างสะเดา ตะไคร้หอม ใช้ไล่แมลงได้ผลดีมาก

คุณราชันย์ แจงว่า ปีที่ผ่านมาเกษตรกรในอำเภอฝางนิยมปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์ 329 ที่มีลักษณะเรียวๆ ยาวๆ มาในปีนี้ได้ส่งเสริมให้ปลูกอีกพันธุ์ คือ เบอร์ 80 ที่ลักษณะคล้ายหัวใจ สวยกว่า หวานกว่า แต่กลิ่นหอมสู้ 329 ไม่ได้ ทั้งนี้ พันธุ์ 329 โดยธรรมชาติจะหอม รสชาติจะหวาน อมเปรี้ยว กลิ่นหอม

เกษตรอำเภอฝางแนะนำว่า โดยปกติ สตรอเบอรี่ 1 ไร่ จะใช้คนดูแลประมาณ 3 คน การปลูกสตรอเบอรี่จะต้องดูแลรักษามากทุกวัน ไม่ใช่วันเว้นวัน โดยเฉพาะเรื่องโรค เรื่องแมลง จะต้องใช้มือบี้ให้ตาย ถ้าปล่อยไม่ดูแล สัก 3-4 วัน จะเอาไม่อยู่ แล้วหากเกษตรกรดูแลทุกวัน แทบไม่จำเป็นจะต้องใช้สารเคมีเลย

นี่ถ้าเกษตรกรที่ปลูกสตรอเบอรี่ได้ยินได้ฟังแบบนี้ พร้อมกับเห็นตัวอย่างของผลสำเร็จในการเลิกใช้สารเคมี อันจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เชื่อว่าอีกหน่อยเกษตรกรทั้งหลายคงหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนแน่นอน เพราะไม่มีใครอยากเสียเงิน พร้อมๆ กับเสียสุขภาพแน่


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 16/03/2010 7:00 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:26 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การุณย์ มะโนใจ

พุทรายักษ์ซุปเปอร์จัมโบ้ ทำเงินแสน ที่พะเยา *

มีเกษตรกรไทย ได้นำเอาพุทรายักษ์สายพันธุ์ใหม่จากประเทศพม่ามาทดลองปลูกในไทยได้ผลผลิตมีขนาดผลใหญ่มาก มีรูปทรงคล้ายกับผลแอปเปิ้ล รสชาติหวาน กรอบ และมีน้ำหนักผลเฉลี่ย 5-7 ผล ต่อกิโลกรัม นับเป็นพุทราที่มีขนาดผลใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการปลูกพุทราในประเทศไทย หลังจากนั้น ได้มีการเผยแพร่พุทราสายพันธุ์นี้ออกไปปลูกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผลตอบรับกลับมาว่าดีจริง สร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุกรายไป

ในขณะเดียวกัน ยังมีพุทรายักษ์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีการนำสายพันธุ์มาจากไต้หวัน มาทดลองปลูกในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า "พุทรานมสด" ซึ่งที่จริงแล้วคือ พันธุ์ "ซื่อหมี่" เป็นพุทราที่มีทรงผลใหญ่ทรงกระบอก มีน้ำหนักผลเฉลี่ยใกล้เคียงกับพุทราซุปเปอร์จัมโบ้ จากการสอบถามผู้ปลูกพุทราหลายคนพบว่า เมื่อนำพุทรานมสดมาปลูกในเขตที่มีอากาศร้อน เช่น พื้นที่บริเวณภาคกลาง หรือภาคเหนือตอนล่าง จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพด้อยกว่าที่ปลูกในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในขณะที่พันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ปลูกได้คุณภาพดีในเกือบทุกพื้นที่ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาวก็ตาม

ปัจจุบัน พุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ และพุทรานมสดได้เข้ามาแทนที่ตลาดพุทราสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกอยู่ในบ้านเรา แต่เกษตรกรจะต้องผลิตพุทราทั้งสองสายพันธุ์นี้ให้แก่และเก็บผลผลิตได้ในช่วงตลอดฤดูหนาว คือระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี จะได้พุทราที่มีรสชาติยอดเยี่ยม ความจริงแล้วพุทราซุปเปอร์จัมโบ้เป็นพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลดกมาก สามารถกำหนดการออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าผลิตให้ออกตลาดในช่วงฤดูฝนมักจะพบว่ารสชาติจืดและไม่อร่อยถึงแม้ว่าจะมีขนาดผลที่ใหญ่มากก็ตาม หลายคนไม่เชื่อว่าพุทราซุปเปอร์จัมโบ้ปลูกไปได้เพียงครึ่งปีจะเริ่มให้ผลผลิตในเชิงการค้าได้แล้ว ทำให้เป็นไม้ผลที่คืนทุนเร็วที่สุดชนิดหนึ่ง

มีคำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่จะปลูกพุทรายักษ์ซุปเปอร์จัมโบ้ว่า ควรจะเตรียมต้นพันธุ์และเริ่มปลูกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน

พื้นที่ปลูกจะต้องมีแหล่งน้ำที่ดี ถ้าเป็นไปได้ติดระบบน้ำสปริงเกลอร์ ต้นละ 1 หัว ปลูกไปได้เพียง 3-4 เดือน ต้นจะเริ่มออกดอกติดผล จะเก็บผลผลิตรุ่นแรกขายได้ในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน คือตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เวลาเพียง 8 เดือน เท่านั้น

ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรที่ปลูกพุทรายักษ์สายพันธุ์นี้ก็คือ การปลิดผลและในบางพื้นที่มีการห่อผล เนื่องจากเป็นพุทราที่ติดผลดกมาก ถ้าไม่ปลิดผลทิ้งบ้างถ้าเป็นต้นพุทราที่เริ่มปลูกใหม่อาจจะทำให้กิ่งฉีกขาดได้ ในช่วงเลี้ยงผลต้นพุทราจะต้องไม่ขาดน้ำ ถ้าปลูกทิ้งปลูกขว้างนอกจากจะผลไม่ใหญ่แล้ว เนื้อจะเหนียว แมลงศัตรูที่สำคัญอยู่ในช่วงออกดอกและเริ่มติดผลคือ เพลี้ยไฟและโรครา ถ้าเกษตรกรควบคุมเพลี้ยไฟไม่ได้ ผิวบริเวณที่ก้นผลจะลายทำให้ราคาตก เพราะผิวไม่สวย

คุณลุงเจริญ คำโล อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งปลูกพุทราจัมโบ้อยู่เล่าให้ฟังว่า ที่จริงพุทราจัมโบ้ มันมีหลายสายพันธุ์ ที่ออกผลมีขนาดใหญ่เกือบเท่าผลแอปเปิ้ลก็มี แล้วก็ขนาดเล็กรองลงมาก็มี แต่ถ้าเป็นต้นกล้าเล็กๆ จะดูไม่ออกเลยทีเดียว และคุณลุงเจริญก็ได้ให้คำแนะนำมาว่า ถ้าอยากจะได้ไม้ผลที่ตรงตามเราต้องการละก็ ประการแรกต้องหาแหล่งผลิตให้ได้เสียก่อนว่าอยู่ที่ใด จากนั้นเข้าไปเจรจากับเจ้าของสวนว่า ต้องการกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ ถ้าตกลงกันได้ ก็ให้เขาขยายพันธุ์ให้ แล้วนัดวันกันมารับของ ราคาคุยกันเอาเอง หรืออีกวิธี ก็ต้องหาร้านที่มีชื่อเสียงที่ดี ซื่อสัตย์ต่อลูกค้าให้เขาหากิ่งพันธุ์ให้ พุทราเป็นไม้ผลยืนต้นอายุหลายปี แล้วก็ขึ้นในที่มีอินทรียวัตถุดีพอควร เพราะเขามีนิสัยคล้ายๆกับฝรั่ง คือให้ผลผลิตเร็วในเวลาไม่นาน แถมยังออกไม่เป็นรุ่นด้วย กิ่งไหนแก่ ก็ออกก่อน กิ่งเล็กกิ่งน้อยก็ชอบออกเรื่อยๆ ต้องมีการตัดแต่งกิ่งเสมอๆ ไม่ให้หนาแน่นทึบ

เนื่องจากพุทราเป็นไม้ผลที่มีพุ่มกว้างพอสมควร แต่ที่สวนของคุณลุงเจริญจะตัดแต่งและบังคับ ทรงพุ่มมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ให้เกินกว่า 3 เมตร แล้วเว้นระยะช่องทางเดินไว้ 1 เมตร ดังนั้น หลุมปลูกจึงมีระยะ 3 เมตร ต่อหลุม หรือต้น ทีนี้เมื่อเราได้ระยะแล้ว ก็ขุดหลุมเตรียมเหมือนฝรั่ง แต่ว่าหลุมพุทราจะกว้างและลึกกว่าฝรั่ง คือมีขนาดรัศมีวงกลม 50 เซนติเมตร และลึก ไม่เกิน 30 เซนติเมตร เนื่องจากพุทรามีการเจริญเติบโตเร็วกว่าฝรั่ง รากจะเดินเร็วกว่า การกินอาหารก็กินมากกว่า ก็ต้องทำหลุมให้เขาใหญ่หน่อย จากนั้นก็ใส่อินทรียวัตถุและธาตุอาหาร อย่าลืมใบมะรุมแห้ง แต่ถ้าไม่มีก็เอาใบสะเดาแก่ใส่ลงไปคลุกให้เข้ากัน แล้วเอาต้นพันธุ์ลงปลูกเหมือนฝรั่ง

วิธีการดูแลในระยะนี้อย่าขาดน้ำ ต้องมีการให้สม่ำเสมอ พอหน้าดินชื้น พุทราไม่ชอบน้ำแฉะ ช่วงสัปดาห์แรก ให้น้ำเปล่าๆ ก่อน พอเห็นว่าไม่เฉา อยู่รอดได้แน่ ทีนี้ก็เริ่มให้สารอาหารทางใบปุ๋ย เป็นน้ำชีวภาพทำเอง 2 ช้อนแกง ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตอนเช้าช่วงที่รู้สึกว่าแดดจะเริ่มร้อน แต่อย่าให้เกินเที่ยง ทุกๆ 5 วัน ทำครั้งหนึ่ง

สมุนไพรก็ทำเอง ฉีดพ่นในช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก ใช้สัก 5 ช้อนแกง ผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร ให้ทุกๆ 3 วันครั้ง

ทางดินไม่ต้องไปใส่อะไร นอกจากให้น้ำวันเว้นวันพอให้หน้าดินชื้น แค่นี้เดี๋ยวก็แตกก้าน แตกใบอ่อน แล้วทีนี้พอพุทราเริ่มโต สูงประมาณ 80 เซนติเมตร ก็เริ่มตัดแต่งกิ่ง ระวังกิ่งที่ออกใหม่ มันจะยาวแถมเรียวอีกด้วย หากยาวมากเกินงามก็เล็มๆ ออกบ้าง ช่วงนี้พุทราก็จะออกดอกออกผล ก็อย่าไปเสียดายลิดออกให้หมด ขืนปล่อยไว้ด้วยความอยากได้ไวๆ ละก็ ต้นจะโทรมเร็ว

คุณลุงเจริญ บอกว่า ศัตรูในช่วงนี้คือ เพลี้ยอ่อน แต่จะเพิ่มเจ้าผีเสื้อสมุทร จะเข้ามาวางไข่ แถวๆ ใต้ใบ คอยสังเกตดูว่าใบไหน มันม้วนเป็นขนมทองม้วนละก็ใช่เลย จับเด็ดใบออกแล้วทำลาย ทางแก้ก็ไม่ยาก ให้น้ำพุทราตอนเย็นๆ รดให้ทั่ว ทั้งใต้ใบ บนใบ แค่นี้ก็พอ อยากรู้ว่าทำไมเหรอ ง่ายๆ จำไว้ แมลงทุกชนิดที่ชอบวางไข่ ไม่ชอบพื้นผิวที่มีความเปียกชื้น นอกจากจะวางไข่ไม่ติดแล้ว ไข่ที่ถูกวางเมื่อโดนน้ำหรือความชื้นมันจะฝ่อ นี่แหละเจ้าพวกนี้มันถึงชอบวางไข่ใต้ใบ แต่ถ้าใครอยากจะใช้สมุนไพรด้วยก็ยิ่งดี

เอาสมุนไพรที่มีกลิ่นแรงๆ ฉุนๆ ที่สวนคุณลุงเจริญใช้สาบเสือ ข่า ตะไคร้หอม หางไหล แค่นี้ก็พอเอาตัวรอดได้

ช่วงระยะสะสมตาดอกเพื่อการออกดอกช่วงนี้พุทราที่เราปลูกก็เป็นสาวแล้ว พอที่จะออกดอกออกลูกได้ ทางดินก็หว่านปุ๋ยขี้วัว บางๆ ให้รอบ แล้วคลุมด้วยเศษใบไม้ รดน้ำแบบพอชื้น วันเว้นวัน ทีนี้ต้องหมั่นสังเกตดูเรื่อยๆ ว่า หากใบแก่ที่โคนกิ่งเริ่มมีสีดำ และใบอ่อนที่ปลายกิ่งเริ่มเขียวเข้ม นั่นก็แสดงว่า กิ่งนั้นพร้อมที่จะออกดอกแล้ว

ระยะออกดอกติดผล ไม่ต้องทำอะไรมาก คอยระวังเจ้าแมลงกินใบมันจะมากัดกิน นอกนั้นเชื่อหรือไม่ว่า จะมีของดีที่ไม่ได้เชิญ จะมาช่วยเราผสมเกสร นั้นคือ ผึ้ง ไม่รู้ว่ามาจากไหน คงจะแอบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ แถวนั่นแหละ เพราะเวลาดอกบานแล้ว กลิ่นหอมก็ปล่อยให้บานไปเรื่อยๆ จนติดผล ส่วนทางดิน ให้น้ำแบบโชยๆ อย่าให้ขาดน้ำ พุทราขาดน้ำเมื่อใด ขาดใจเมื่อนั้น ระยะติดผลอ่อนที่สวนก็บำรุงเหมือนตอนดูแลระยะแรกเลย ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก ทางดินรดน้ำพอชื้นวันเว้นวัน ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องรด

ระยะบำรุงผล เมื่อผลเริ่มมีขนาดเท่าลูกมะนาว ช่วงนี้จะมีแมลงวันทองกับด้วงกัดใบ เพลี้ยไฟ จะมาเยี่ยมเยือน และก็มาเป็นทีมโดยมิได้นัดหมาย ก็ใช้สารชีวภาพที่ทำไว้ฉีดไล่แมลงทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็คอยปลิดผลเหี่ยว ผลเสียรูปเสียทรงทิ้งลงตะกร้า อย่าทิ้งลงบนพื้น หากพบเห็นก็เอาโยนลงบ่อน้ำ หรือไม่ก็ทำบ่อซีเมนต์ใส่น้ำ เอาไว้ใส่ผลไม้ที่เสีย หรือถังทำปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพ เพราะถ้าขืนทิ้งไว้บนดินล่ะก็เท่ากับเป็นการสร้างบ้านให้เจ้าพวกนี้มาอยู่

เนื่องจากพุทราไม่เหมือนผลไม้อื่นที่ต้องเก็บเกี่ยวก่อนผลแก่ได้ที่แล้วทิ้งให้ลืมต้น แต่พุทราจะเก็บก็เมื่อผลแก่เท่านั้น ข้อสังเกต คือ ผลจะมีผิวเป็นมันวาวและเนียน ไม่นวล สีจะออกเป็นสีเขียวตองอ่อนออกจางนิดๆ ถ้าสียังเข้มก็ยังไม่แก่

ข้อสังเกตในกิ่งเดียวกันจะมีลูกรุ่นอื่นออกตามมา ดังนั้น จึงต้องพิจารณาเอาเองว่า ถ้าต้องการเก็บไว้เพื่อเอาผล เราก็บำรุงดูแลต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าสมควรจะต้องตัดแต่งกิ่ง ก็ให้ลิดลงเพื่อเตรียมทำกิ่งใหม่ได้

กิ่งพุทราจะยื่นยาวเป็นแนวตรง แต่เมื่อติดผลและผลมีขนาดใหญ่กิ่งก็จะโน้มลงมาเอง ให้เอาไม้ไผ่รวกมาทำเป็นคอกล้อมต้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยประคองกิ่งไม่ให้ฉีกขาดได้ ปัจจุบัน คุณลุงเจริญเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ยวันละ 120 กิโลกรัม ในช่วงเดือน ธันวาคมถึงมกราคม 2 เดือน ก็ 60 วัน ผลผลิตรวม 7,200 กิโลกรัม เป็นเกรด เอ 30 เปอร์เซ็นต์ เกรดบี 70 เปอร์เซ็นต์ ราคาขายอยู่ที่ 25 และ 20 บาท ตามลำดับ ในพื้นที่ 3 ไร่ ทำรายได้ดีพอสมควร

ข้อปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว ให้ตัดแต่งกิ่งที่ให้ผลแล้วออก กิ่งกระโดง กิ่งไขว้ กิ่งที่ไม่พึงประสงค์ และยอดประธานที่เราต้องการควบคุมความสูง ทุกแผลที่ตัดให้ใช้สีน้ำมันทาปิดแผล เพื่อป้องกันโรคเข้าทำลาย

กรณีทำสาว สามารถตัดกิ่งทำสาวใหม่ได้ในตำแหน่งที่ต้องการ ตัดด้วนๆ เลยไม่ตายหรอก แต่ก่อนตัดต้องใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก พรวนดินกำจัดวัชพืช รดน้ำให้ชุ่ม ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ แล้วตัด และให้เหลือกิ่งใดก็ได้ที่มีใบเอาไว้ 1 กิ่ง หลังจากตอหรือกิ่งที่ถูกตัด เกิดใบอ่อนหรือกิ่งใหม่ออกมา จึงค่อยตัดกิ่งที่เอาไว้ออก

สนใจพุทราจัมโบ้แลกเปลี่ยนความรู้หรือดูงาน ติดต่อ คุณลุงเจริญ คำโล ตามที่อยู่ข้างต้น หรือที่เบอร์ โทรศัพท์ (054) 423-228 หรือ (081) 026-9336


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 16/03/2010 7:00 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:31 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ภาวิณี สุดาปัน Email: sudapun101@hotmail.com

พริกขี้หนูลูกผสม ซุปเปอร์ฮ็อต และเพชรดำ เกษตรกรศรีสะเกษ ปลูกแล้วได้เงิน *


"เกษตรกร" คำนี้ ใครเป็นคนให้คำจำกัดความไว้ ผู้เขียนก็มิทราบ หากจะทราบก็เพียงแต่ว่า เกษตรกรหมายรวมถึงผู้ที่ทำการเกษตรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ชาวประมง ป่าไม้ หรือเลี้ยงสัตว์

เกษตรกรกับเกษตรกรรมเป็นของคู่กัน ความสำคัญนั้นยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะอาหารทุกชนิด ข้าวทุกมื้อที่เรากินล้วนมาจากผลผลิตที่ได้จากการเกษตรทั้งนั้น หากรู้จักกิน รู้จักใช้ อย่างพอเพียง ก็จะไม่เดือดร้อน ตัวอย่างมีให้เห็น ดังเช่น เกษตรกรจะกินทุกอย่างที่ปลูก และปลูกทุกอย่างที่กิน พืชผักสวนครัวรั้วกินได้มีไว้ประจำบ้านดีนักแล จะหยิบจับใช้สอยก็สะดวกนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารโดยมิต้องซื้อหา แถมโรคภัยไม่มาเยือนด้วย เพราะกินผักปลอดสารที่ปลูกเองกับมือ

หากจะพูดถึงพืชผักสวนครัวที่นำมาเป็นเครื่องปรุงอาหาร ตามวัฒนธรรมไทยแล้วคงจะขาดพริก ขิง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียมใบมะกรูด ไปมิได้ โดยเฉพาะพริกหากขาดแล้วอาหารคงมีหน้าตาจืดชืด สีสันไม่น่ากินเป็นแน่ ยิ่งคนที่ชอบกินอาหารรสจัด หากขาดเครื่องปรุงชนิดนี้แล้ว ชีวิตก็เปรียบเสมือนขาดอะไรไปสักอย่าง อาหารที่คนนิยมบริโภคมักมีรสจัดจ้าน เผ็ดบ้าง เปรี้ยวบ้างตามแต่คนชอบ ต้นพริกก็เช่นกัน หากขาดการดูแลบำรุงรักษา ต้นก็เหี่ยวเฉาตายในที่สุด ตอนต้นเรื่องผู้เขียนบอกไว้ว่า เกษตรกรกับเกษตรกรรมต้องมาคู่กัน เพราะฉะนั้นพริกกับเจ้าของสวนก็ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยกัน พริกสร้างเงินให้กับเจ้าของ ส่วนเจ้าของจะคอยเฝ้าดูแลทะนุถนอมต้นพริกเป็นอย่างดี เพื่อให้ต้นงามและผลดก มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด

สำหรับปักษ์นี้มีเรื่องพริกมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ และเดินทางต่อไปทำบุญที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกพืชไร่กันมาก ขึ้นชื่อในเรื่องหอม กระเทียม พริกก็เป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่ปลูกกันมาก เรียกว่าเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงนำเรื่องราวของพริกขี้หนูสวนลูกผสมมาบอกต่อ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ แต่มากด้วยคุณค่า และสามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้

คุณสาย คำสี อยู่บ้านเลขที่ 126 หมู่ที่ 7 ตำบลโพนเขวา อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าของสวนพริก จำนวน 5 ไร่ มีที่นาอีก 30 ไร่ เล้าหมูอีก 1 เล้า ฝูงเป็ดจำนวนหนึ่ง และไก่จำนวนไม่กี่ตัว โรงสีข้าว 1 แห่ง ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย

หากจะย้อนความถึงเรื่องเก่าเมื่อครั้งเยาว์วัย คุณสายไม่ได้เป็นคนร่ำรวยเงินทองแม้แต่น้อย หากแต่เป็นคนยากจน ไม่มีอันจะกินด้วยซ้ำ แต่ด้วยความขยันจึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรคมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ด้วยสายเลือดเกษตรกร บวกกับความขยันจนมีวันนี้ คุณสายมีภรรยาชื่อ คุณอ่อนจันทร์ มีลูกด้วยกัน 3 คน ชาย 1 หญิง 2 คนโตเป็นผู้หญิง ทำงานที่สถานีอนามัยในหมู่บ้าน คนรองเป็นผู้ชาย ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ส่วนคนเล็กกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทุกคนในครอบครัวล้วนขยันขันแข็ง โดยเฉพาะคุณสาย ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบชีวิตอีกหลายชีวิต ทำนา ทำไร่พริก สามารถเลี้ยงดูครอบครัวมาด้วยดี

เจ้าของสวนพริกเล่าให้ฟังว่า "ผมทำไร่พริกมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว แรกๆ จะปลูกพริกในช่วงว่างเว้นจากการทำนา แต่ปัจจุบันนี้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี พันธุ์พริกที่ปลูกแต่ก่อนก็เป็นพันธุ์พื้นเมืองธรรมดา แต่ปัจจุบันนี้พันธุ์ที่ปลูกจะเป็น ของ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด คือพันธุ์ซุปเปอร์ฮ็อตกับเพชรดำ ทราบข่าวจากการฟังรายการวิทยุ และดู ทีวี จึงรู้จักพริกพันธุ์นี้ ก็เลยไปซื้อพันธุ์มาปลูก ผมไม่ได้ไปศึกษาตำรับตำราวิชาการมาจากไหนหรอก ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของตนเองนี้แหละ ทั้งเรื่องการปลูก การดูแลรักษา การให้น้ำ ให้ปุ๋ย การเก็บเกี่ยวผลผลิต ผมทำเองทั้งสิ้น"

พริกพันธุ์ซุปเปอร์ฮ็อตกับเพชรดำ เป็นต้นพริกที่มีลักษณะแข็งแรง ทนทานโรค ใบเป็นทรงพุ่ม เหมาะสำหรับปลูกตลอดฤดูกาล แม้กระทั่งในฤดูฝน ต้นแตกแขนงปานกลาง ต้นสูง 70-80 เซนติเมตร ติดผลดก ผลชูเหนือทรงพุ่ม ผลดิบสีเขียวเข้ม ผลสุกสีแดงสด ผลยาว 5-7 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 70-80 วัน หลังย้ายกล้า ท่านผู้อ่านสามารถสังเกตเห็นได้จากรูปภาพว่ามีผลดกจริงๆ

[color=red]เทคนิคและวิธีการปลูก ดูแลรักษาต้นพริกของสวนแห่งนี้ เป็นเทคโนโลยีแบบบ้านๆ ที่ไม่ได้อิงหลักวิชาการแต่อย่างใด อาศัยความรู้และประสบการณ์ล้วนๆ ของผู้ปลูกเอง [/color]

คุณสาย เล่าให้ฟังว่า เมื่อแรกเริ่มก่อนการเพาะปลูก คุณสายจะนำฝุ่น (ภาษาราชการ เรียก ปุ๋ยขี้วัว) ไปใส่ให้ทั่วแปลงปลูก จากนั้นก็ใช้รถไถ (ควายเหล็ก) ไถกลบแปลง แล้วยกร่องแปลงปลูก ระยะที่ใช้ปลูก กว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ห่าง 40 เซนติเมตร แบ่งพื้นที่ไว้ด้านข้างเพื่อตีร่องแปลงปลูกด้วย เมื่อทำแปลงเสร็จ ขั้นต่อไปก็เริ่มดำเนินการปลูกต้นกล้า แต่ก่อนที่จะนำต้นพริกมาปลูกต้องเพาะกล้าก่อน โดยนำเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อนำมาเพาะบนแปลง ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 5 เมตร (พริก 1 กระป๋อง เพาะได้ 5 แปลง) ต้นกล้าใช้เวลาในการเติบโต อยู่ในช่วงระหว่าง 25-30 วัน ถ้าจะให้เหมาะ อย่าให้ต้นกล้ามีอายุมากกว่า 30 วัน เพราะพริกจะอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต แตกกิ่งแรก หากเคลื่อนย้ายต้นกล้าในช่วงนี้จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก พริกจะขยายกิ่งยาก เมื่อปลูกต้นกล้าได้อายุ 1 สัปดาห์ ถ้าฝนไม่ตกสามารถใส่ปุ๋ยบำรุงดินได้ ใส่ปุ๋ยเม็ดโดยจะใส่ตรงกลางร่องแปลงปลูกระหว่างต้น ห้ามใส่ลงโคนรากโดยตรง เพราะจะทำให้รากเกิดเชื้อรา เน่าตายได้ง่าย หยอดปุ๋ยเสร็จกลบด้วยฝุ่น (เศษวัชพืช ขี้วัว) เพื่อไม่ให้ปุ๋ยกระจายไปที่อื่น

เรื่องดูแล เจ้าของเฝ้าระวังเรื่องโรคใบหงิกใบงอ ตัวบุ้งก็เป็นตัวการสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง หมั่นถอนวัชพืชอยู่เป็นประจำ ส่วนการให้น้ำ คุณสายจะรดน้ำวันเว้นวัน สาเหตุที่รดน้ำวันเว้นวันเพราะไม่มีแรงงาน ใช้แรงงานในครอบครัวก็เลยรดน้ำวันละแปลงสลับกัน ถ้าหากติดสปริงเกลอร์จะทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนการผลิต อีกอย่างถ้าให้น้ำมากๆ จะทำให้น้ำท่วมรากเน่าได้ พริกเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ปลูกได้เพียง 1 ปี ก็ถอนต้นแล้วปลูกใหม่ได้ ช่วงที่ถอนต้นจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี (ถอนต้นเพื่อเป็นการพักดิน) เมื่อถอนต้นแล้วก็สามารถปลูกพืชชนิดใหม่ได้ พืชที่ตนปลูกก็จะเป็น มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว และมะเขือ ปลูกหมุนเวียนกันไป ทำให้ตนมีรายได้ตลอดเวลา และดินไม่เสื่อมคุณภาพ

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรภูมิใจเป็นที่สุด เพราะกว่าจะมาถึงฤดูกาลนี้ ก็ใช้เวลาเกือบ 4 เดือน ช่วงการเก็บเกี่ยวตนจะจ้างแรงงานชาวบ้านในแถบละแวกนี้ ต้นพริกปลูกรุ่นหนึ่งเก็บได้ จำนวน 10 ครั้ง ระยะเวลาก็ประมาณ 1 ปีพอดี ภาพถ่ายที่นำมาแสดงให้เห็นนี้จะเป็นพริก รุ่นที่ 5 แล้ว แต่ผลก็ยังสมบูรณ์ ดกเต็มต้น สวยงามเหมือนเดิม ช่วงการเก็บเกี่ยวผ่านไป 1 สัปดาห์ ก็สามารถออกดอกและให้ผลใหม่ได้ รุ่นนี้ต้นพริกเริ่มแก่วันอังคาร สามารถเก็บผลผลิตได้ และพริกจะเริ่มแก่อีกทีในวันพฤหัสบดี เก็บได้เลย แต่ไม่ได้เก็บเสร็จในทีเดียว เพราะบางผลก็แก่ บางผลก็อ่อน จะต้องคอยสังเกตอยู่เสมอๆ แต่ละรุ่นเก็บพริกได้ประมาณ 500-600 กิโลกรัม จากทั้งหมด 5 ไร่

ส่วนเรื่องการตลาดนั้น หากจะพูดถึงเรื่องพ่อค้าคนกลางก็อดสงสารเกษตรกรชาวสวนชาวไร่ของเราไม่ได้ เพราะราคาออกจากสวนไม่กี่บาท พ่อค้าคนกลางรับซื้อ แต่ผู้บริโภคซื้อกินราคาก็แพงน่าดู อย่างช่วงนี้พริกราคากิโลกรัมละ 20 บาท เพราะเป็นช่วงที่พริกราคาตก แต่ถ้าหากช่วงที่ราคาแพงก็จะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 60-80 บาท เกษตรกรที่สนใจปลูกอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะพริกก็มีช่วงราคาขึ้นราคาลงเหมือนสินค้าเกษตรทั่วไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณสายขาดทุนแต่อย่างใด ช่วงปี พ.ศ. 2551 พริกราคาสูงมาก คุณสายปลูกและขายได้เงินไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท ต่อปี แต่ปีที่แล้ว (2552) ปลูกและขายได้เพียง 50,000-60,000 บาท ต่อปี สวนพริกของคุณสายมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้ออีกทอดหนึ่ง มีลูกค้าที่ขายพริก 3-4 ราย

สำหรับการลงทุน คุณสายไม่ได้ลงทุนค่าใช้จ่ายอะไรมาก เพราะมีที่ดินเป็นของตนเอง จะจ้างเพียงรถไถไถยกแปลงในช่วงแรก และจ้างแรงงานช่วงเก็บเกี่ยวเท่านั้น ส่วนอื่นคุณสายจะทำเองทั้งหมด และครอบครัวจะมาช่วยบ้าง ถ้าใครสนใจสามารถมาดูได้ที่สวนพริกของคุณสายตามที่อยู่ดังกล่าว หรือติดต่อได้ที่ โทร. (080) 474-3846 เป็นเบอร์โทร.ของผู้ช่วยผู้ใหญ่ลัว (ลูกชาย) ถ้าโทร.มาหาตอนกลางวันจะไม่ได้คุยกัน แต่สามารถฝากข้อความไว้ได้ แต่ถ้าโทร.มาช่วงเย็นกลับจากสวนก็สามารถพูดคุยกันได้

เกษตรกรรายนี้ ยินดีให้คำแนะนำ หรือหากจะให้ไปสอนก็ได้ แต่ต้องไม่ไกลจากแปลงปลูกของตน เพราะไม่มีคนดูแลแทน จึงไม่สามารถเดินทางไกลๆ ได้ แต่ถ้าใกล้ๆ สามารถไปดูให้ได้

นอกจากทำสวนพริกแล้ว คุณสายยังมีการบริหารจัดการที่ดินได้อย่างยั่งยืน เรียกว่าทุกตารางนิ้วไม่มีพื้นที่ว่างเหลืออยู่เลย ปลูกข้าวนาปี ปลูกมะม่วงตามคันรอบแปลง สามารถขายได้ ปลูกมะเขือ มะเขือเทศ ตามขอบแปลงพริก เลี้ยงหมูขายลูก ขายแม่ (ไม่ต้องซื้อหัวอาหาร เพราะคุณสายมีโรงสีข้าว และรำข้าวก็นำมาจากโรงสีตนเอง) เลี้ยงไก่ไว้ขายไข่ กินเนื้อก็ได้ เลี้ยงเป็ดไว้ขายไข่ ขาย 3 ฟอง 10 บาท (คุณสายยังให้ไข่เป็ดผู้เขียนมาจำนวนหนึ่งด้วย) และเลี้ยงวัวเนื้อฝูงหนึ่ง เอาไว้ขายยามจำเป็น เหมือนมีกระปุกออมสินกระปุกใหญ่อยู่ในบ้าน ส่วนเรื่องการใช้จ่ายก็มิได้ฟุ่มเฟือย พอมีพอกิน ใช้ชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง เท่านี้ก็มีความสุข


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 16/03/2010 7:00 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/03/2010 6:42 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา ta-nu-pong@hotmail.com

สารพัดเรื่องเห็ด กับ ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล

ขณะนี้ผู้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคอาหาร ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยมาให้ความสำคัญต่อการรับประทานพืช ผักมากขึ้น มุ่งเน้นเรื่องประโยชน์และความปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย

"เห็ด" มีสรรพคุณด้านโภชนาการค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้บริโภคจึงหันมานิยมการบริโภคเห็ดมากขึ้นในขณะนี้
สมัยก่อนการบริโภคเห็ดในประเทศ ส่วนหนึ่งสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเห็ดได้ ที่สำคัญคือเป็นประเทศผู้ผลิตได้ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยผู้เพาะเห็ดส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศนับแสนครอบครัว ทั้งนี้มูลเหตุจูงใจที่ทำให้มีการเพาะเห็ดกันมากเพราะสามารถเพาะได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องอาศัยฝนหรือแสงแดด สามารถเพาะได้ทุกสถานที่ที่เหมาะสม สามารถเพาะกับภาชนะประเภทใดๆ ก็ได้

มีการวิจัย ค้นคว้า และปรับปรุงงานด้านวิชาการเกี่ยวกับเห็ดของบรรดานักวิชาการทั้งหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
มีการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเพาะในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ไปเสาะแสวงหาวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ ที่นับวันจะหายากและมีราคาแพงอีกต่อไป ดังนั้น การเพาะเห็ดในขณะนี้จึงดูเป็นเรื่องง่ายและสะดวก จนทำให้เกิดผู้เพาะเห็ดหน้าใหม่ๆ ขึ้นอย่างมากมาย เพราะสามารถทำเป็นงานเสริมเพิ่มรายได้อีกทางจากรายได้หลักที่มีอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าตำรับตำราคู่มือการเพาะเห็ดจะมีให้ศึกษาอยู่มากมายหลายเล่ม หลายแห่ง แต่การหาซื้อมาศึกษาด้วยตนเองคงยังไม่พอ ทั้งนี้เพราะแนวปฏิบัติบางอย่างอาจไม่ชัดเจน ดังนั้น การศึกษาที่ดีคือจะต้องมีการปฏิบัติจริงควบคู่กันไป ซึ่งควรจะมีการทดสอบ ทดลอง เพราะเทคนิคหรือวิธีการที่มีอยู่ในตำรานั้น มิใช่เรื่องที่ตายตัวเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาเหล่านักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านเห็ดนั้น ได้มีนักวิชาการอยู่ท่านหนึ่งที่สนใจและทุ่มเทในเรื่องการเพาะเห็ดมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวท่านเพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพจึงส่งผลให้ท่านได้ศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติ ตลอดจนคลุกคลีอยู่กับเกษตรกร และท่านก็คือ ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล

ดร.อานนท์ คือใคร?
ในบรรดานักวิชาการที่คร่ำหวอดอยู่กับเห็ดในประเทศไทย ก็มีอยู่หลายท่าน แต่สำหรับ ดร.อานนท์อาจมีความแตกต่างตรงที่ท่านได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาเห็ดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในระหว่างปี 2524-2548 นอกจากนั้น ยังได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาด้านเห็ดขององค์กรในต่างประเทศอีกหลายองค์กร

ดร.อานนท์ เป็นคนจังหวัดแพร่ การศึกษาในระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ท่านก็เรียนที่จังหวัดแพร่ จบปริญญาตรี วทบ.(พืชไร่), (BSC.) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, ปริญญาโท วทม. (MS.) Colombo University, Sri Lanka และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัย Kandy University, Sri Lanka

ท่านได้เข้าร่วมกับชมรมเห็ด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2516 ต่อมาปี 2518 ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานชมรมเห็ดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งท่านก็ได้ริเริ่มโครงการอบรมเห็ดขึ้นก่อนในส่วนภูมิภาค และก็ได้รับรางวัลถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ต่อมาในปี 2520 ท่านก็ยังได้รับรางวัลวิจัยการเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม และหลังจากนั้นก็ได้เริ่มงานเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ชื่อ ?หากินบนผืนแผ่นดินไทย? (2518-2521) ทั้งยังได้จัดรายการวิทยุของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้วิธีโทรศัพท์สายตรงมาจากแอฟริกาเข้ามาจัดรายการสดๆ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ (2541-2544) ซึ่งเป็นการให้ความรู้เรื่องของเห็ดในด้านต่างๆ และสมุนไพร

นอกจากนั้น ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสมาคมถึง 2 สมัย และที่เป็นความภูมิใจมากที่สุดคือ เมื่อปี 2524-2528 ท่านได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาเห็ดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำประเทศภูฏาน เป็นคนไทยคนแรกที่ประจำประเทศนี้

ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดจึงได้รับเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ขององค์กรระหว่างประเทศทั้งภายในและหลายประเทศในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกากลาง แอฟริกา ฯลฯ เป็นต้น เชิญท่านไปเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาและให้ความรู้

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ อานนท์ไบโอเทค
เป็นสถานที่สำหรับจัดการฝึกอบรมการเพาะเห็ดทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นองค์กรที่ถือได้ว่าบุกเบิกเรื่องเห็ดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นองค์กรที่ทำการค้นคว้า ศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิชาการเรื่องของเห็ดมาอย่างต่อเนื่องและช้านาน นอกจากนั้น ยังเป็นองค์กรที่ริเริ่มและเป็นผู้นำทางด้านการผลิตและพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เกี่ยวกับการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การทำเห็ดเป็นยา และการแปรรูปเห็ด

ดร.อานนท์ เป็นบุคคลที่ทุ่มเทการทำงานด้านเห็ดมาก ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลองการเพาะเห็ดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตำราในประเทศไทยหรือตำราของต่างประเทศก็ตาม เป็นบุคคลที่สนใจถึงลักษณะทางธรรมชาติของเห็ดทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ของทุกประเทศทั่วโลก

นอกจากนั้น ท่านยังได้เดินทางไปประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเห็ดกับผู้เชี่ยวชาญของนานาประเทศอยู่ตลอดเวลา และจากวัยเยาว์ที่ท่านต้องช่วยเหลือครอบครัวที่เพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพเสริม จนถึงวันนี้ท่านได้สะสมความรู้ลักษณะที่เป็นการเฉพาะของเห็ดแต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ ได้จำแนกข้อดี ข้อเสียเกี่ยวกับเห็ดเป็นจำนวนมาก

จากที่ผ่านมา คนทั่วไปหลายคนขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับการเพาะเห็ด ก็ลงมือปฏิบัติอย่างผิดๆ ถูกๆ ทำให้เสียเงินเสียทอง เสียเวลาไปอย่างน่าเสียดายและไม่รู้จะไปพึ่งใคร ดังนั้น ท่านจึงมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับผู้ที่มีใจรักเห็ดและมีความประสงค์จะเพาะเห็ดเป็นอาชีพ แต่ขาดการชี้แนะอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ ในปี 2517 จึงได้ตั้งชมรมผู้เพาะเห็ดสมัครเล่นขึ้นที่ถนนงามวงศ์วาน (ซึ่งเป็นร้านแดรี่ ควีน ในปัจจุบัน) จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้ามประตูใหญ่ ด้านพหลโยธิน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงปัจจุบัน ชื่อชมรมเห็ดสากล โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับเห็ด ขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ผลิตหัวเชื้อให้แก่บรรดาสมาชิก รวมถึงเป็นศูนย์กลางรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ไว้บริการด้วย กิจกรรมของชมรมก็ดำเนินการเรื่อยๆ พร้อมกับสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นเหตุผลให้ ดร.อานนท์เปิดสถานที่ฝึกอบรมการเพาะเห็ดชื่อ ?ศูนย์ไทยไบโอเทค ที บี ซี? ขึ้นในปี 2538 ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้หวังผลทางธุรกิจ แต่เน้นเฉพาะทางด้านวิชาการอย่างเดียว และเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ด้านเห็ดแก่บุคคลทั่วไปและกลุ่มคณะต่างๆ จากทั่วประเทศ โดยจัดอบรมขึ้นประมาณเดือนละครั้ง และผู้ที่สนใจจะต้องมาลงชื่อลงทะเบียนไว้กับทางศูนย์ไทยไบโอเทคซึ่งเป็นสำนักงานที่ตั้งอยู่ที่ตลาดไทก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์รวบรวมจำนวนคนที่จะเข้าอบรมได้ตามที่ต้องการ (ประมาณ 20 คน ต่อครั้ง) ก็จะติดต่อกลับเพื่อแจ้งวันที่อบรม ซึ่งการอบรมจะใช้เวลาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น

สมัยก่อนอบรมครั้งละ 200 กว่าคน แต่ปัจจุบันต้องการเพียงแค่ครั้งละ 20 คนเท่านั้น เพราะเป็นการอบรมแนวใหม่ กล่าวคือไม่ต้องจดเลย สอนแนวคิดที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น สอนให้เข้าใจในความเป็นธรรมชาติของเห็ด จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนมีการเพาะเห็ดเฉพาะในถุง แต่เดี๋ยวนี้เพาะที่ไหนก็ได้ เพาะกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น? ดร.อานนท์ กล่าว

เรื่องการจัดอบรมได้จัดให้กับผู้สนใจมาตั้งแต่ปี 2516 แล้ว ส่วนที่มาทำเป็นจริงจังที่ศูนย์แห่งนี้เมื่อปี 2538 อย่างล่าสุดก็มีหน่วยงานจากทั่วประเทศที่เป็นหมู่คณะติดต่อมาจัดอบรมให้ ซึ่งทางศูนย์ก็ยินดี เพราะหลังจากที่ผ่านการอบรมไปแล้วก็ยังคงต้องเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือและให้ข้อมูลด้านต่างๆ อีกต่อไป

ส่วนด้านเนื้อหาของการอบรมที่เป็นลักษณะขั้นตอนหรือทฤษฎีต่างๆ จะอบรมเหมือนกันทุกกลุ่ม หากจะแตกต่างกันก็ในเรื่องของพันธุ์เห็ดที่แต่ละภูมิภาคของประเทศไม่เหมือนกัน โดยจะเป็นการให้ความรู้เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิภาคนั้นๆ แต่ถ้าต้องการอบรมทุกเรื่อง ทางศูนย์ก็ยินดีสอนให้ทุกอย่าง

อย่างกรณีของที่จังหวัดกระบี่ ทางกลุ่มต้องการให้สอนเห็ดฟาง เพราะทุกวันนี้ที่กระบี่เพาะเห็ดฟางส่งมาให้ที่ร้านสุกี้ เอ็ม เค ที่กรุงเทพฯ โดยส่งมาทางเครื่องบิน ในอดีตทางใต้ไม่มีการเพาะเห็ดอย่างเพียงพอ จึงต้องนำเห็ดจากจังหวัดเพชรบุรีเพื่อส่งไปขายทางภาคใต้ หลังจากที่ ดร.อานนท์กลับมาจากกานา ก็ได้ใช้ทะลายปาล์มมาเพาะเห็ดและก็ได้นำวิธีนี้มาสอนคนที่ทางภาคใต้ ปัจจุบันทางภาคใต้กลายเป็นแหล่งผลิตเห็ดฟางที่ใหญ่ที่สุดและส่งมาขายในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม กรรมวิธีในการเพาะยังไม่ทันสมัย ทางศูนย์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันศูนย์ได้ดำเนินการในเชิงธุรกิจ ควบคู่ไปกับงานบริการด้านวิชาการและการตลาด โดยล่าสุดเน้นการผลิตเห็ดเป็นยาเพื่อส่งออก

สำหรับผู้ที่สนใจอยากทราบรายละเอียดหรือสนใจการอบรมเพาะเห็ดสามารถติดต่อได้ที่ ร้านไทยไบโอเทค วงเวียนที่สอง หลังตลาดไท ตรงข้ามที่จอดรถเมล์สาย 39, 510 และ 520 โทรศัพท์ (02) 908-0282, (02) 908-3308 หรือที่ www.anonbiotec.com หรือที่ tbcbiotec@yahoo.com



ขั้นตอนการเพาะเห็ด

สำหรับขั้นตอนการเพาะเห็ด ดร.อานนท์กล่าวว่า สามารถทำได้ง่ายโดยสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้

1. การทำหัวเชื้อเห็ด เริ่มจากการนำเอาสายพันธุ์เห็ดมาจากธรรมชาติ และจากทั่วทุกมุมโลก ที่ถูกคัดเลือกหรือตรวจสอบสายพันธุ์แล้ว จากนั้นจึงนำมาทำเชื้อเห็ดที่บริสุทธิ์ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากดอกเห็ด ในอาหารเพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ที่อยู่ในอาหารวุ้น โดยใช้เวลาต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า อาจใช้เวลา 7-10 วัน เห็ดเป๋าฮื้อใช้เวลา 20-30 วัน เชื้อเห็ดก็จะเจริญทั่วผิวหน้าอาหารวุ้น จากนั้นก็นำเอาเชื้อบริสุทธิ์ไปเลี้ยงในเมล็ดธัญพืช ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ข้าวฟ่าง ทั้งนี้เมล็ดข้าวฟ่างจะต้องผ่านการนึ่งให้สุกเสียก่อน (แต่เดิมใช้วิธีต้ม อาหารของเห็ดจะหายไปกับน้ำต้ม) จึงนำไปกรอกขวด แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 125 อาศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง จากนั้นให้ตัดเอาเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากอาหารวุ้นใส่เข้าไป ต่อมาให้นำไปเพาะเลี้ยงในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ หากเป็นเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าประมาณ 7-10 วัน เส้นใยเห็ดก็จะเจริญทั่วเมล็ดข้าวฟ่างและสามารถนำไปใช้เป็นหัวเชื้อเพื่อเพาะในถุงหรือในไม้ก็ได้

สำหรับขั้นตอนการทำหัวเชื้อจะเหมือนกันทุกเห็ด แต่จะต่างกันเฉพาะเวลาที่เส้นใยเจริญเต็มที่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้จะไม่ค่อยแนะนำให้ทำ เพราะต้องลงทุนสูงและต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญเป็นอย่างดี แนะนำให้ไปซื้อจากแหล่งที่ผลิตและเชื่อถือได้ เพราะหากหัวเชื้อไม่ดี การเพาะเห็ดก็ไม่ได้ผล ซึ่งปัจจุบันนี้ราคาถูกมาก

2. การเพาะเห็ดในถุง เป็นขั้นตอนที่ส่งเสริมให้ทำกันเองด้วยวิธีง่ายๆ คือ นำวัสดุเพาะที่เป็นขี้เลื่อย ซังข้าวโพด ฟาง หญ้า ใบไม้อะไรก็ได้ หรือนำมาผสมรวมกันก็ได้ จากนั้นผสมอาหารเสริมที่มีโปรตีน เกลือแร่ วิตามินที่เห็ดต้องการ อาทิ รำละเอียด รำข้าวสาลี แป้ง ส่าเหล้า ฯลฯ เป็นต้น ในอัตราไม่เกิน 10% ผสมกับน้ำ 1 เท่าตัวของน้ำหนักวัสดุเพาะแห้ง แล้วบรรจุลงในถุงพลาสติคที่ทนร้อน ใส่คอขวดแล้วอุดจุกด้วยสำลี ต่อจากนั้นนำไปนึ่งในลังหรือใช้ถัง 200 ลิตร ที่ภายในมีตะแกรงใส่น้ำสูงประมาณ 5 นิ้ว แล้วปิดฝาที่เจาะรูเพื่อให้ไอน้ำออก 1 รู ให้นึ่งนับตั้งแต่ไอน้ำเดือดเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วจึงนำออกมาไว้ในที่เย็น จึงนำหัวเชื้อในข้อ 1 เขย่าให้ร่วนเสียก่อน (ถ้าให้ดีเขย่าล่วงหน้าสัก 1-2 วัน) เทหัวเชื้อใส่ประมาณ 15-20 เมล็ด (หัวเชื้อเห็ด 1 ขวด สามารถเทได้ประมาณ 50-70 ถุง) หลังจากใส่หัวเชื้อเห็ดแล้วนำก้อนเชื้อนั้นไปบ่มหรือตั้งไว้ในที่ร่มที่อุณหภูมิปกติประมาณ 25-30 วัน เส้นใยเห็ดก็จะเจริญเติบโตเต็มวัสดุเพาะ แล้วจะนำไปขายเพื่อให้คนเปิดดอกเห็ดต่อ หรือนำไปเพื่อเปิดดอกเห็ดเองก็ได้

3. การเปิดดอกเห็ด สำหรับผู้ที่หัดเพาะเห็ดใหม่ๆ ควรเริ่มต้นด้วยขั้นตอนนี้ก่อน โดยการไปซื้อก้อนเห็ดที่ทำแล้วและมีเชื้อเห็ดเจริญทั่ววัสดุเพาะแล้ว เพียงแต่นำมาเปิดดอกจะด้วยการเปิดเอาคอและจุกออกก็จะทำให้ดอกเห็ดออกน้อยแต่ขนาดจะโต หรือจะเปิดให้กว้างทั้งปากด้วยการใช้มีดปาดปากถุงดอกเห็ดก็จะออกมามากแต่ขนาดจะเล็ก เมื่อเปิดปากถุงแล้วให้นำไปไว้ในโรงเรือน ห้องน้ำ ใต้ต้นไม้ แต่อย่าให้มีลมโกรกมาก และไม่ต้องการแสงแดด ควรเป็นที่ที่เก็บความชื้นได้ดีและอากาศต้องถ่ายเทได้สะดวก การออกดอกเห็ดแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า 5-7 วัน เห็ดเป๋าฮื้อ ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ ต่อครั้ง แต่จะให้ผลผลิตนานเป็นปี

ทั้งหมดนี้คือวิธีการเพาะเห็ดอย่างคร่าวๆ ซึ่งจะเห็นว่าไม่ยากเลย สามารถเริ่มต้นที่ขั้นตอนไหนก่อนก็ได้ แต่แนะนำให้เริ่มที่เปิดดอกก่อน โดยก้อนเชื้อที่ซื้อ-ขายกันก็อยู่ที่ราคา 6-10 บาท เก็บเห็ดแล้วน่าจะขายได้ประมาณ 20-30 บาท โดยเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อย ไม่อาศัยดิน ไม่ต้องอาศัยเทวดา ไม่ต้องการแดด ทำเป็นอาชีพเสริมได้ ที่สำคัญของที่เหลือจากการเพาะเห็ดก็กลายเป็นปุ๋ยแก่พืชได้อีก? ดร.อานนท์ กล่าว

อาหารเสริมของเห็ด
ดร.อานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสมัยก่อนการเพาะเห็ดจะต้องไปหาวัสดุจากแหล่งต่างๆ เช่น ไม้มะม่วง ไม้ก้ามปู ไม้ยางพารา ผสมกับรำละเอียด 10% ปูนขาว 1% และดีเกลือ 0.1% ซึ่งเป็นสูตรอมตะมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันวัสดุดังกล่าวนับวันจะหายากและมีราคาแพงซึ่งก็อาจเกี่ยวพันกับต้นทุนการผลิต ทางศูนย์จึงได้ทำการศึกษาวิจัยสูตรอาหารและพัฒนาวิธีการเพาะ จึงได้ผลิตออกมาเป็นอาหารเสริมที่เหมาะกับเห็ดชนิดต่างๆ อาทิ อาหารเสริม KAT 101 ที่เหมาะกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู เห็ดโคนญี่ปุ่น หรืออาหารเสริม KAT 105 ที่เหมาะกับเห็ดหอม เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ เห็ดลม เห็ดหลินจือ ดังนั้น การเพาะเห็ดในปัจจุบันมีความสะดวกและรวดเร็ว เพียงแต่ใช้อาหารเสริมดังกล่าวก็สามารถทำให้เพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตเห็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุขอนามัยโรงเรือนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ความล้มเหลวทางธุรกิจการเพาะเห็ด มักจะเกิดขึ้นจากการเพาะซ้ำๆ ติดต่อกันไป ซึ่งยิ่งนานเท่าไรก็จะทำให้ผลผลิตตกต่ำลงเรื่อยๆ บ้างคิดว่าเป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นเพราะกรรมวิธีการเพาะที่ไม่ถูกต้อง ทั้งหลายเหล่านั้นเกิดจากความละเลยในเรื่องของความสะอาด เพราะการเพาะเห็ดไปนานๆ ซ้ำๆ ก็จะเกิดการสะสมของเชื้อโรค ทั้งนี้เพราะสภาพของโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ เสื่อมลง

สุขอนามัยที่ถูกต้อง จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหมักปุ๋ย ก็ควรอยู่ห่างจากสถานที่เพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะดอกเห็ด และทุกครั้งที่ทำงานเสร็จควรกำจัดของเสียให้หมดอย่าให้สะสม สถานที่ อุปกรณ์ทุกชนิดหรือแม้แต่โรงเรือนเปล่าด้วย ล้างด้วยน้ำยาคลอรีนสลับกับน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และฟังแบคคิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เพาะเห็ดอยู่ ทุกประตูทางเข้า-ออก หรือช่องระบายอากาศจะต้องปิดด้วยผ้าขาวบางหรือตาข่ายชนิดความถี่อย่างน้อย 20 รู ต่อตารางนิ้ว นอกจากนั้นแล้ว ควรปล่อยให้โรงเรือนมีโอกาสพักให้แห้งบ้างเพื่อเป็นการตัดวงจรของโรคและแมลงหรือแม้กระทั่งพื้นที่รอบๆ อาคารก็ควรทำความสะอาด อย่าให้รกรุงรัง ดร.อานนท์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม


เห็ดถั่งเช่า (Cordyceps sinensis)
ดร.อานนท์เล่าให้ฟังว่า ในระหว่างที่ไปปฏิบัติงานเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดให้แก่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศภูฏานในปี พ.ศ. 2524-2527 ในช่วงวันหยุดก็จะพาครอบครัวไปสำรวจเห็ดธรรมชาติที่เกิดตามป่า ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลที่แตกต่างกัน ซึ่งหลายครั้งก็ได้ขึ้นไปยังที่สูงๆ ที่มีหิมะปกคลุมในช่วงฤดูหนาวอยู่เป็นเวลานาน อาทิ เมือง Bumthung ที่ในช่วงฤดูร้อนในระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน หิมะจะละลายแต่อากาศก็ยังเย็นจัด ซึ่งก็จะมีเห็ดมากมายหลายชนิดเกิดขึ้น และเห็ดที่มักเจอบ่อยที่สุดคือ เห็ดที่มีสีน้ำตาลที่เกิดขึ้นบนตัวหนอน ซึ่งมักจะหยิบมาแกล้งลูกชายวัยขวบเศษอยู่บ่อยๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางคนแนะนำว่าสิ่งนั้นคือสุดยอดของยาบำรุงกำลัง หากเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว สามารถเดินป่าในระยะทางไกลๆ ได้โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลย ดังนั้น ผมจึงได้นำมาส่องกล้องและเพาะเลี้ยงเส้นใยดูก็พบว่าที่เห็นเป็นหนอนนั้นก็เป็นเฉพาะเปลือกภายนอกเท่านั้น แต่ข้างในจะถูกอัดแน่นไปด้วยเส้นใยของเห็ด ครั้นเมื่ออากาศอบอุ่นขึ้น เส้นใยของเห็ดในตัวหนอนก็จะรวมกันเป็นดอกคล้ายๆ ดอกหญ้า ด้วยเหตุนี้เองภาษจีนจึงเรียกว่า ?Dong Chong Xia Cao? ซึ่งภาษาจีนแต้จิ๋วที่เรียกกันอยู่ของคนจีนในประเทศไทยเรียกว่า ตังถั่งเช่า แปลว่า สมุนไพร ?หนาวเป็นหนอน ร้อนเป็นยา worm in winter and grass in summer? ภาษาทิเบตเรียก Yar Tsa Gumba ภาษาภูฏานเรียก Yartsa Goenbub ภาษาเนปาลเรียก ศรีปาดี Sheepadee ภาษาทางวิทยาศาสตร์ชื่อ Cordyceps sinensis

งานวิจัยเห็ดเพื่อผลิตเป็นยาและอาหารเสริม
ที่ผ่านมา คนทั่วไปมักจะซื้อหาเห็ดบางชนิดมารับประทานเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคร้ายต่างๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยมามาก อาทิ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แต่เนื่องจากมักจะประสบปัญหาในเรื่องการหายาก และมีราคาแพง อีกทั้งเห็ดชนิดหนึ่งสามารถสร้างภูมิต้านทานได้เฉพาะโรคเท่านั้น ดังนั้น เพื่อตอบสนองในเรื่องดังกล่าวจึงได้มีการทดลองศึกษาคุณสมบัติของเห็ดแต่ละชนิดที่มีสรรพคุณและนำสรรพคุณของเห็ดแต่ละชนิดมาผสมรวมกันเพื่อทำเป็นอาหารเสริมสร้างภูมิต้านทานแก่ร่างกายในการป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม

จุดเริ่มต้นที่ผมคิดตรงนี้ เพราะตัวเองมีโรคประจำตัวคือเป็นเบาหวานและแพ้อากาศ ขณะเดียวกันก็มีญาติพี่น้องหลายคนป่วยเป็นโรคอื่นอยู่ด้วย เลยคิดว่าจะรักษาด้วยวิธีอะไร จึงใช้ความรู้ที่มีอยู่นำเห็ดมาศึกษาว่าสรรพคุณแต่ละชนิดเป็นอย่างไรและพอจะมีประโยชน์ด้านการสร้างภูมิต้านทานโรคได้บ้างหรือไม่ พอหลังจากที่ได้ศึกษาเสร็จก็ทดลองใช้กับตัวเองและญาติพี่น้อง ปรากฏว่ามีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจาก ท่านเซอร์ แซม โจนาท เจ้าของเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดและมากที่สุดในโลก (มีเหมืองทอง 17 แห่งทั่วโลก) ได้นำเอาเห็ดเป็นยาเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคเอดส์ คนงานเหมืองแร่นับล้านที่ทวีปแอฟริกา (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.anonbiotec.com) ต่อจากนั้นจึงได้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังและได้ผลิตออกมานำไปช่วยผู้ช่วยที่เป็นมะเร็งบ้าง เป็นเอดส์บ้างตามสถานที่ต่างๆ และก็ได้เฝ้าติดตามอาการพบว่าผู้ป่วยเหล่านั้นไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่อย่างใดเลย กลับมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ? ดร.อานนท์ กล่าว

สำหรับเรื่องการวิจัยเห็ดเพื่อผลิตเป็นยานั้น ดร.อานนท์กล่าวว่า ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่จำนวนการผลิตยังไม่มากพอ ก็มีจำหน่ายให้กับลูกศิษย์ คนใกล้ชิดในปริมาณที่เพียงพอ แต่หากจะให้ทำในเชิงธุรกิจคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เหตุเพราะว่าเห็ดที่ทำเป็นยาไม่ได้เกิดจากการนำเห็ดเพียงชนิดเดียวมาทำ แต่เป็นการนำเห็ดจำนวน 6-7 ชนิด มาผสมร่วมกัน ด้วยเหตุผลว่าสรรพคุณของเห็ดแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ซึ่งการทำดังกล่าวจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของเห็ดเป็นอย่างดี ต้องอาศัยหลักทางวิชาการ ไม่ใช่จับโน่นมาใส่ จับนี่มาใส่ ไม่ใช่ยาผีบอก ดังนั้น ระยะนี้ ดร.อานนท์ อยู่ระหว่างการเร่งรัดผลิตเห็ดและสมุนไพรเป็นยาร่วมกับประเทศต่างๆ หลายประเทศ เพื่อผลิตเห็ดเป็นยาแต่ละชนิด ตามความเหมาะสมของแต่ละท้องที่ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมเห็ดเป็นยาได้อย่างเพียงพอในอนาคตอันใกล้นี้

หากมีการสืบค้นเรื่องของเห็ดเป็นยานั้นมีมาตั้งแต่โบราณ จะพบว่ามีการคิดค้นกันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ดังนั้น การที่ใช้เวลานานเพื่อศึกษาและคิดค้นจะต้องทำกันอย่างละเอียดและเป็นขั้นตอน เพียงแต่ไม่รู้ว่าอะไรมันอยู่ข้างใน แต่ปัจจุบันวิทยาการมีความก้าวหน้ามากจนทำให้สามารถรู้ได้เลยว่าข้างในของเห็ดมีอะไรอยู่บ้าง

การสกัดเห็ดออกมาเป็นยา เป็นการสกัดสารต่างๆ ที่อยู่ในเห็ดหลายๆ ชนิดมารวมกัน แล้วใช้เพื่อสร้างภูมิต้านทาน เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานที่ดีแล้วก็จะไปทำให้โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นหายไป เพราะฉะนั้นหากถามว่าเห็ดรักษาโรคอะไร ขอย้ำว่าสามารถรักษาได้ทุกโรค เพราะการรับประทานเห็ดนั้น เห็ดจะช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เห็ดเป็นยา ไม่ใช่ตัวการในการรักษาโรคโดยตรง อย่างที่วัดเทพชัยมงคล อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ลูกศิษย์ที่เคยมาอบรมเห็ด เป็นพระที่วัดแห่งนี้มานาน 20 กว่าปีที่แล้ว ก็นำเอาเห็ดเป็นยาไปขยายผลและแนะนำให้ญาติโยมต่อ นอกจากนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เลือกเป็นวัดที่ใช้สำหรับปฏิบัติธรรมของผู้ที่เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ก็เลยเป็นภาระหน้าที่ของผมที่ต้องคอยให้ความช่วยเหลือทางด้านยาที่สกัดมาจากเห็ด

ด้วยความที่ ดร.อานนท์เป็นคนช่างสังเกต เมื่อท่านสงสัยว่าทำไมต้นโกงกางจึงได้โตเร็ว ทั้งที่เป็นไม้เนื้อแข็ง และทำไมน้ำที่เสียเมื่อผ่านรากโกงกางแล้วกลับเป็นน้ำดีหมด ทำไมกุ้ง หอย ปู ปลา จึงชวนกันมาอยู่บริเวณนี้ ทำไมกลิ่นที่ไม่ดีจึงหายไป จึงได้ลองศึกษาโครงสร้างของรากโกงกางพบว่า มีกลุ่มของเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด ที่มีคุณสมบัติสามารถบำบัดน้ำเสีย สร้างฮอร์โมนและเอ็นไซม์ที่ทำให้ต้นโกงกางเจริญเติบโตได้

ผมจึงได้นำเอากลุ่มจุลินทรีย์ดังกล่าว ตั้งชื่อว่า เชื้อ ยูเอ็ม 92 (UM 92) มาใช้กับกิจการเห็ดของผม ซึ่งสมัยก่อนเวลาแช่ข้าวฟ่างจะต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้เราใช้จุลินทรีย์ใส่ลงไป และหลังจากที่ใช้น้ำล้างข้าวฟ่างเสร็จแล้วก็ได้นำไปทิ้งในสระน้ำที่ขุดไว้ ซึ่งจะเห็นว่าน้ำในสระนั้นไม่มีขุ่น ไม่เสียเลย หรืออย่างกรณีที่มีการจัดสัมมนาอบรมบ่อยๆ ต้องใช้ห้องน้ำมาก ก็ได้นำจุลินทรีย์ไปใส่เพื่อเป็นการช่วยบำบัดน้ำได้เช่นกัน นอกจากนี้ หากนำไปใช้หมักกับเศษอาหาร เศษปลา ก็จะได้น้ำปุ๋ยหมักชั้นเลิศอีกด้วย? ดร.อานนท์ กล่าว

แวะเยี่ยมร้านจำหน่ายเห็ดที่เป็นอาหารเสริม
ปัจจุบันธุรกิจการผลิตเห็ดเป็นยาเสริมภูมิต้านทานของศูนย์ไทยไบโอเทค ได้ดำเนินการผลิตเพื่อส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ โดยมีวางจำหน่าย 2 แห่ง คือ ที่ชมรมเห็ดสากล ตั้งอยู่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ฝั่งตรงข้ามประตูทางเข้า กับที่ตลาดไท โดยร้านจำหน่ายหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี คุณยงยศ เอื้อตระกูล บุตรชายเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

เดิมทีมีอยู่หลายห้องที่ทำธุรกิจนี้แต่ถูกเวนคืนเพื่อตัดถนนเกษตร-นวมินทร์ เลยเหลือเพียงห้องเดียว ก็เลยต้องย้ายไปตั้งโรงงานที่ตลาดไท แต่เนื่องจากยังมีลูกค้าเก่าที่เคยเดินทางมาซื้อที่เกษตรก็เลยต้องใช้ที่นี่ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเก่า ในส่วนร้านตรงนี้จะทำเกี่ยวกับการรับสั่งตัดสติ๊กเกอร์ ตรายาง งานด่วนต่างๆ และก็ยังจำหน่ายสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับเห็ดด้วย? บุตรชายกล่าว

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มาซื้ออุปกรณ์เห็ดก็จะเป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็ก-กลาง เพราะถ้าเป็นขนาดใหญ่ก็จะแนะนำให้ไปที่โรงงาน ส่วนปริมาณการขายถ้าหากเป็นหัวเชื้อก็จะสั่งกันเป็นสิบๆ ลัง หรือเป็นสิบๆ กระสอบ ซึ่งพอลูกค้าตกลงการสั่งซื้อในจำนวนที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว ทางร้านก็จะแจ้งไปยังโรงงานเพื่อจัดของตามความต้องการของลูกค้าแล้วจึงส่งไป

ในเรื่องของเห็ดที่ผลิตเป็นยาเสริมภูมิต้านทานได้จัดทำเป็นแบบแค็ปซูล ซึ่งการแบ่งชนิดนั้นได้จัดแบ่งตามอาการที่เกิดและส่วนใหญ่ลูกค้าที่ซื้อไปก็เป็นกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน ความดัน ราคาจำหน่ายเป็นเม็ด เม็ดละ 32 บาท ก็มีการบรรจุเป็นชนิดซองและเป็นขวด แรกๆ ในการแนะนำใช้เห็ดเป็นยานั้น จะอยู่ในแวดวงที่แคบๆ ที่รู้จัก ญาติพี่น้อง เมื่อได้ผลดี จึงมีการแนะนำต่อๆ กันไปจนเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การรับประทานเห็ดเป็นยารักษาโรคนั้น จะได้ผลมากน้อยประการใด ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระยะของโรค และการควบคุมอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งนี้ ผู้ที่นำเอาเห็ดเป็นยาไปใช้นั้น ส่วนใหญ่จะได้รับการติดตามผลและแนะนำอย่างใกล้ชิดจาก ดร.อานนท์ ส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่สิ่งที่จะต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้าย เมื่ออาการดีขึ้น สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ อาหารพวกโปรตีน ที่ไม่ควรรับประทานมากเกินไป โดยเฉพาะปลาและอาหารทะเล เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องบวม ถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว

ทางด้านการส่งออกของเห็ดที่เป็นยาเสริม คุณยงยศกล่าวว่า ประเทศที่ส่งออกหลักๆ ตอนนี้คือ แอฟริกาใต้ อังกฤษ เยอรมนี และจีน โดยจำหน่ายภายใต้ชื่อสินค้าว่า ?เอ็มไซม์?, ?M-Sign? ส่วนแผนการตลาดในอนาคตคาดว่าจะมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศมากกว่า อาจจะมีการสร้างโรงงานขึ้นในต่างประเทศ โดยมีประเทศที่ให้ความสนใจแล้วคือ แอฟริกาใต้ บราซิล และเยอรมนี

ผู้ที่สนใจอยากทราบรายละเอียดหรือหาซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเพาะเห็ดทุกชนิด สามารถโทรศัพท์ไปได้ที่ ชมรมเห็ดสากล โทร. (02) 579-9200, (02) 579-7759 (คุณยงยศ) ในทุกวันจันทร์-เสาร์ ระหว่างเวลา 09.00-17.00 น.

อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง และทุ่มเทให้กับการศึกษา วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับเห็ดของ ดร.อานนท์ จึงทำให้ท่านได้พัฒนา ปรับปรุงวิธีการ ตลอดจนเทคนิคการเพาะเห็ดให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตให้ดียิ่งขึ้น อย่างกรณีการเพาะเห็ดแบบเดิมที่เรียกว่า ?อานนท์ 17? ก็ได้มีการพัฒนาแก้ไขรูปแบบและนำเทคนิคใหม่เข้ามา ซึ่งก็ได้พัฒนามาเป็น ?อานนท์ 52? อย่างในปัจจุบัน และจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป

ดร.อานนท์ไม่เพียงแต่สนใจเฉพาะในเรื่องเห็ดเท่านั้น แต่ท่านยังให้ความสนใจกับพันธุ์ไม้ที่เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ?เบาบับ (Baobab)? ซึ่งมีสรรพคุณและประโยชน์นานัปการ โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้น ในการนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมเพื่อสร้างภูมิต้านทางโรคให้แก่ร่างกาย นอกจากนั้นแล้ว ยังมีขนาดลำต้นใหญ่มาก ใหญ่จนรถบรรทุกสามารถวิ่งลอดเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม ความมหัศจรรย์ของต้นไม้ดังกล่าวยังส่งผลไปถึงทางด้านวงการกีฬาของโลกคือ กีฬาฟุตบอลโลกที่จะจัดขึ้นในปี 2553 ได้ใช้เครื่องดื่มที่มาจากต้นเบาบับเป็นเครื่องดื่มในการแข่งขันด้วย จึงถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีความมหัศจรรย์เป็นอย่างมาก และในประเทศไทยก็นำต้นไม้ดังกล่าวเข้ามาปลูกและใช้ประโยชน์บ้างแล้ว สำหรับเรื่องราวของต้นเบาบับที่เป็นต้นไม้ที่มีความมหัศจรรย์ก็จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไปเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนและกองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ขอขอบพระคุณ ดร.อานนท์ และ อาจารย์เยาวนุช เอื้อตระกูล รวมไปถึง คุณยงยศ และ คุณอรนุช เอื้อตระกูล ที่กรุณาเสียสละเวลาเพื่อการให้ข้อมูล ตลอดจนได้พาไปชมกระบวนการเพาะเห็ดทุกขั้นตอน ทุกซอก ทุกมุม อย่างละเอียด ทั้งที่ท่านและครอบครัวก็ไม่ค่อยมีเวลา นอกจากความกรุณาในด้านการให้ข้อมูลการพูดคุยแล้ว ท่านยังกรุณามอบเอกสาร หรือแม้กระทั่งการส่งข้อมูลทางอี-เมลเกี่ยวกับการเพาะเห็ดเพื่อนำมาใช้ในการเผยแพร่เป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่สนใจต่อไป


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 17/03/2010 7:40 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การใช้ปุ๋ยทางใบในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว

ชื่อผู้แต่ง: สำเร็จ พฤกประสงค์

บทคัดย่อ

การศึกษาการใช้ปุ๋ยทางใบ 2 ชนิด ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด คือ ธาตุอาหารเสริมและปุ๋ยเกล็ด ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 ฤดูแล้งปี 2536 เปรียบเทียบระหว่าง การใช้ธาตุอาหารเสริมและปุ๋ยเกล็ด บนดินร่วนเหนียว ( ดินชุดเชียงราย ) หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดยการวางแผนการศึกษาแบบ Randomized Complete Block Design จำนวน 4 ซ้ำ ( Block )

ประกอบด้วยวิธีการ 4 กรรมวิธี คือ
- ไม่ฉีดพ่นธาตุอาหาร ฉีดพ่นธาตุอาหารเสริม อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร 3 ครั้ง
- ฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15 อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 3 ครั้ง
- ฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมพร้อมกับปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15 อัตรา 10 และ 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 3 ครั้ง ....... เมื่อถั่วเขียวอายุได้ 15 30 และ45 วัน

ผลการศึกษาปรากฏว่าการฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมพร้อมกับปุ๋ยเกล็ดให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเฉลี่ย 112.57 กก./ไร่ ซึ่งมีแนวโน้มสูงกว่าการฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดและธาตุอาหารเสริมเพียงอย่างเดียวที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 109.34 และ 89.32 กก./ไร่ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามชนิดของปุ๋ยทางใบที่ฉีดพ่นไม่ทำให้ผลผลิตของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ กำแพงแสน 1 แตกต่างกันทางสถิติ ตลอดจนไม่มีอิทธิพลต่อน้ำหนัก 1,000 เมล็ด จำนวนฝักต่อต้น และจำนวนเมล็ดต่อฝัก และเมื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการศึกษาข้างต้นมาวิเคราะห์คุณภาพด้านความงอกและความแข็งแรงโดยวิธีเร่งอายุก็ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ อีกเช่นกัน


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 17/03/2010 9:08 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 17/03/2010 7:45 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ปัจจัยบางประการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลผลิตสับปะรดของเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี

ชื่อผู้แต่ง: นาง อมรรัตน์ สว่างลาภ

บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพพื้นฐานทั่วไปของเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสับปะรด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลผลิตสับปะรดและปัญหาการผลิตสับปะรดของเกษตรกร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดของจังหวัดเพชรบุรีที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2540 จำนวน 117 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างมีระบบ วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ Chi-Square จากการศึกษาพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชายจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 84.6 มีอายุโดยเฉลี่ย 44.20 ปี มีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรเฉลี่ย 43.79 ไร่ มีสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.59 คน สมาชิกในครัวเรือนใช้แรงงานในการปลูกสับปะรดเฉลี่ย 2.32 คนมีการจ้างแรงงานและมีการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนในการปลูกสับปะรดโดยส่วนใหญ่กู้มาจากธ.ก.ส.เงินที่กู้โดยเฉลี่ย 70,153 บาท ต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่เคยเข้าประชุมหรืออบรมเกี่ยวกับการปลูกสับปะรด และได้รับความรู้เกี่ยวกับการปลูกสับปะรดจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ จากเจ้าหน้าที่การเกษตร จากเอกสารคำแนะนำและผู้นำกลุ่มหรือเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่ขายผลผลิตสับปะรดให้กับโรงงาน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการทำข้อตกลงซื้อขายสับปะรดกับโรงงาน เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกสับปะรดเฉลี่ย 37.75 ไร่

สภาพพื้นที่ปลูกสับปะรดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบและเป็นดินร่วนปนทราย ในด้านการผลิตเกษตรกรส่วนใหญ่มีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเตรียมดินการใช้ระบบปลูก การใช้จำนวนต้นต่อไร่การใช้สารเคมีชุบหน่อพันธุ์ และการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดวัชพืชได้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ

ส่วนวิธีการผลิตที่เกษตรกรมีการปฏิบัติน้อย ได้แก่ การเลือกชนิดและการคัดขนาดวัสดุปลูก การกำหนดช่วงเวลาการปลูก การให้น้ำ การกำหนดช่วงเวลาการให้ปุ๋ย การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ และการกำหนดช่วงเวลาการบังคับการออกดอก จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถกระจายผลผลิตสับปะรดได้ในระดับน้อย

จากการทดสอบสมมติฐานของปัจจัยบางประการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลผลิตสับปะรดของเกษตรกรปรากฏว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์หรือมีผลต่อการกระจายผลผลิตสับปะรดของเกษตรกรได้แก่ ขนาดพื้นที่ปลูกสับปะรด การกำหนดช่วงเวลาการปลูก วิธีการให้ปุ๋ยทางดินร่วมกับการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ และการกำหนดช่วงบังคับการออกดอกสับปะรด

ส่วนปัจจัยที่ไม่มีผลต่อการกระจายผลผลิตสับปะรดของเกษตรกรได้แก่ การเลือกชนิดและการคัดขนาดวัสดุปลูก การให้น้ำในสับปะรด และการกำหนดช่วงเวลาการให้ปุ๋ย

ส่วนปัญหาด้านการผลิตสับปะรดของเกษตรกรส่วนใหญ่ คือ ราคาผลผลิตตกต่ำและไม่แน่นอนปัจจัยการผลิตมีราคาแพงและคุณภาพต่ำและขาดแคลนเงินทุนในการผลิต ดังนั้น จึงควรแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีต่างๆที่มีผลต่อการกระจายผลผลิตสับปะรดดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 17/03/2010 7:46 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การใช้เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดบริโภคผลสดของเกษตรกร

ชื่อผู้แต่ง: นายศุภนารถ เกตุเจริญ ,

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การใช้เทคโนโลยีของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดบริโภคสด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมบางประการของเกษตรกร

ศึกษาสภาพการใช้เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดบริโภคสดของเกษตรกร และศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะในการผลิตสับปะรดบริโภคสด โดยศึกษาจากเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดบริโภคสดในจังหวัดเชียงราย เพชรบุรี ชุมพร ตราดและหนองคาย จำนวน 250 ราย รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เกษตรกร แล้วนำมาแจกแจงความถี่และวิเคราะห์หาค่าร้อยละและมัชฌิมเลขคณิตด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์

ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 48.5 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 มีสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 3.8 คน สมาชิกที่เป็นแรงงานเฉลี่ย 2.2 คน มีการจ้างแรงงานในการผลิตเฉลี่ย 4.8 คนโดยจ้างแรงงานช่วงปลูกมากที่สุด อาชีพหลักของเกษตรกรคือการทำสวน อาชีพรองคือการทำไร่ พื้นที่ทำการเกษตรกรเฉลี่ย 23.1 ไร่ มีประสบการณ์ในการปลูกสับปะรดเฉลี่ย 12.9 ปี พื้นที่ปลูกสับปะรดในปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 16.3 ไร่ รายได้จากการขายสับปะรดเฉลี่ย 56,955.5 บาท

ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่ม ธ.ก.ส. และใช้ทุนส่วนตัวในการปลูกสับปะรด เกษตรกรได้รับความรู้เกี่ยวกับสับปะรดจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชนมากที่สุด พันธุ์สับปะรดที่เกษตรกรใช้ปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์ปัตตาเวีย

พื้นที่ปลูกสับปะรดเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่นำดินในแปลงสับปะรดไปวิเคราะห์ การเตรียมดินก่อนปลูกเกษตรกรจะไถดะ ไถพรวน ยกร่อง และปลูกในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ส่วนใหญ่ใช้หน่อพันธุ์ซึ่งเก็บไว้เองและไม่ชุบสารเคมี เกษตรกรปลูกแบบแถวคู่ จำนวนจุกหรือหน่อพันธุ์เฉลี่ย 5,030.8 ต้นต่อไร่

ส่วนใหญ่ไม่ปลูกพืชแซมและไม่มีแหล่งน้ำ จึงไม่มีการให้น้ำสับปะรด เกษตรกรมีการคลุมดินในไร่สับปะรดโดยใช้เศษต้นสับปะรดคลุมดิน

เรื่องการใส่ปุ๋ยมีเกษตรกรเพียงบางส่วนที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยเคมีโดยใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 เป็นปุ๋ยรองพื้น สูตร 16-20-0 ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในช่วงสับปะรดอายุ 2 เดือน ใส่ที่กาบใบล่างและครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในช่วงสับปะรดอายุ 5 เดือน ใส่ที่กาบใบล่าง

นอกจากนี้เกษตรกรยังใส่ปุ๋ยทางใบใช้ปุ๋ยสูตร 23-0-30 ใส่ในช่วงสับปะรดอายุ 10 เดือนด้วย เกษตรกรใส่ปุ๋ยต้นตอครั้งที่ 1 สูตร 46-0-0 ครั้งที่ 2 สูตร 15-15-15 และครั้งที่ 3 สูตร 13-13-21

เรื่องการป้องกันกำจัดวัชพืช เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดวัชพืช ส่วนเรื่องโรคเกษตรกรพบโรคผลแกร็นมากที่สุด เมื่อพบแล้วป้องกันกำจัดโดยถอนตัดทำลาย สำหรับแมลงเกษตรกรพบเพลี้ยแป้งมากที่สุด เมื่อพบแล้วป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี

เกษตรกรมีการบังคับสับปะรดออกดอก 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 บังคับด้วยการใช้สารเอทธีฟอนผสมยูเรียฉีดพ่น ครั้งที่ 2 บังคับด้วยการใช้สารเอทธีฟอนผสมยูเรียฉีดพ่นเช่นกันและครั้งที่3 บังคับด้วยการใช้ถ่านแก๊สหยิบหยอดและฉีดพ่นสารเคมีในช่วงเย็น สับปะรดที่ปลูกด้วยจุกจะบังคับการออกดอกเมื่ออายุเฉลี่ย 10.3 เดือน

ส่วนสับปะรดที่ปลูกด้วยหน่อบังคับการออกดอกเมื่ออายุเฉลี่ย 8.5 เดือน เกษตรกรมีการคลุมผลสับปะรดโดยใช้ฟางข้าวหรือหญ้าแห้งคลุม

เกษตรกรสังเกตผลสับปะรดเพื่อทำการเก็บเกี่ยวด้วยการดูผลเปลี่ยนสีและเก็บเกี่ยวสับปะรดในเดือนพฤษภาคมมากที่สุด

ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวสับปะรด เกษตรกรใช้มีดตัดผลเหลือก้านติดผลและจุกแล้วจำหน่ายโดยไม่มีการทำความสะอาดผล เกษตรกรจัดการต้นตอโดยตัดต้นสับปะรดสูงเหนือดินประมาณ 20-30 ซ.ม.

ผลผลิตส่งทั้งตลาดบริโภคและโรงงานกระป๋อง โดยมีการคัดเกรดก่อนขายซึ่งจะมีพ่อค้ามาซื้อและขนส่งเอง ปัญหาที่เกษตรกรพบมากที่สุดคือ ราคาสับปะรดไม่แน่นอนและราคาตกต่ำ ส่วนข้อเสนอแนะ เกษตรเสนอแนะให้รัฐแทรกแซงช่วยเหลือเรื่องราคา โดยประกันราคามากที่สุด


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 17/03/2010 7:53 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การผลิตพริกของเกษตรกรอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ชื่อผู้แต่ง: นางเพ็ญพิศ พลทรัพย์ศิริ ,

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องการผลิตพริกของเกษตรกรอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2547
มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา

1) ลักษณะทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร
2) การผลิตพริกของเกษตรกร
3 ) ปัญหาและข้อเสนอแนะของเกษตรกรในการผลิตพริก จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 124 ราย รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์

ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาย อายุเฉลี่ย 46.7 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนต้น มีสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 5 คน มีแรงงานในการปลูกพริกเฉลี่ย 3 คน ไม่มีการจ้างแรงงานประจำ มีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 16.6 ไร่ พื้นที่เป็นของตนเองเฉลี่ยร้อยละ16.5 ไร่

มีรายได้ในภาคเกษตรเฉลี่ย 26,227.4 บาทต่อปี รายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย 15,150 บาทต่อปี มีรายได้รวมทั้งหมด เฉลี่ย 43,222.7 บาทต่อปี

เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ ใช้ทุนตนเองในการปลูกพริก และรายได้เป็นสิ่งจูงใจให้ปลูกพริก

เกษตรกรมีประสบการณ์ในการปลูกพริกเฉลี่ย 9.2 ปี ส่วนใหญ่ปลูกพริกเพื่อเพิ่มรายได้หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ความรู้ส่วนใหญ่ได้จากพ่อค้าท้องถิ่นหรือผู้จำหน่ายสารเคมี มีพื้นที่ปลูกพริก 1-5 ไร่

สภาพพื้นที่ปลูกพริกเป็นที่ดอน ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย มีการไถเตรียมดินก่อนปลูก

เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพริกในเดือนกันยายน เก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม ใช้ระยะปลูก 30 x 30 ซม. จำนวน 3 ต้นต่อหลุม ส่วนใหญ่ใช้พันธุ์หัวเรือ เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 0.57 กก.ต่อไร่ ใส่ปุ๋ยมูลไก่ อัตรา 500-700 กก.ต่อไร่ ปุ๋ยเคมีใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก.ต่อไร่ ใส่ช่วงพริกติดผล

ส่วนใหญ่มีการใส่ปุ๋ยทางใบ กำจัดวัชพืชโดยการใช้สารเคมี ใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นโดยใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้าต่อสายยางรดน้ำพริกในช่วงเช้า

ส่วนใหญ่ มีการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของลำต้นและใบ การป้องกันกำจัดโรคและแมลง โดยใช้สารเคมีชนิดดูดซึม

เมื่อสังเกตเห็น เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวพริกตามอายุ ไม่มีการคัดคุณภาพ ผลผลิตพริกสดเฉลี่ย 1,340.3 กก.ต่อไร่ ราคาพริกสดเฉลี่ย 11.40 บาทต่อกก. ราคาพริกแห้งเฉลี่ย 68.15 บาทต่อกก. ส่วนใหญ่จำหน่ายให้พ่อค้าท้องถิ่น

เกษตรกรแก้ไขปัญหาราคาพริกตกต่ำโดยการทำพริกแห้ง ส่วนใหญ่ไม่ขยายพื้นที่ปลูก ในภาพรวมเกษตรกรมีปัญหาในระดับมาก ได้แก่ ขาดเงินทุน ขาดแรงงานเก็บเกี่ยว ราคาผลผลิตตกต่ำ โรคแมลงระบาด ดินขาดความอุดมสมบูรณ์

ปัญหาในระดับน้อย ได้แก่ ขาดความรู้ ขาดแรงงานปลูกพริก ขาดการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่าย น้ำไม่เพียงพอ ฝนแล้ง น้ำท่วม น้ำเป็นกรดเป็นด่าง คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การกลายพันธุ์ พ่อค้ากดราคา

ข้อเสนอแนะ ควรจัดทำแปลงศึกษาหรือแปลงเรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาพิสูจน์ทราบในด้านการตรวจวิเคราะห์สภาพดินก่อนปลูกพริก การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ด้านสารเคมีในการผลิตพริก รวมกลุ่มเพื่อการจำหน่ายผลผลิต และการตรวจรับรองผลผลิตภายในกลุ่ม


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 17/03/2010 9:04 pm, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 17/03/2010 7:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การผลิตพริกของเกษตรกรอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2547

ชื่อผู้แต่ง: นางทิพจันทร์ กาญจนเตชะ ,

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องการผลิตพริกของเกษตรกรในอำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา

1) เพื่อศึกษาพื้นฐานบางประการทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้ผลิตพริก
2) เพื่อศึกษาการผลิตพริกของเกษตรกร
3) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะในการผลิตพริกของเกษตรกร กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 200 ราย รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์

ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาย มีอายุ เฉลี่ย 48 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น สมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 5 คน พื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 16.66 ไร่ พื้นที่ปลูกพริกเป็นดินร่วนปนทราย

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนและค้าขาย รายได้จากภาคการเกษตรเฉลี่ย 26,257 .01 บาทต่อปี มีรายได้จากนอกภาคการเกษตรเฉลี่ย 15,348.00 บาทต่อปี มีรายได้ทั้งหมดเฉลี่ย 43,193.25 บาทต่อปี

เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ อาศัยกองทุนพัฒนาหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินทุนในการปลูกพริก ส่วนใหญ่เห็นว่าการปลูกพริกมีรายได้ดี

เกษตรกรมีประสบการณ์ในการปลูกพริกเฉลี่ย 8.96 ปี ปลูกพริกเพื่อเพิ่มรายได้หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ได้รับความรู้คำแนะนำในการปลูกพริกจากญาติ หรือเพื่อนบ้าน มีพื้นที่ปลูกพริกเฉลี่ย 1.48 ไร่

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ทำการปลูกพริกในเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตพริกในเดือนธันวาคม โดยใช้เมล็ดพริกพันธุ์หัวเรือ

ใช้เมล็ดพันธุ์จากการเก็บเองในอัตราเฉลี่ย 0.54 กก.ต่อไร่ ได้ผลผลิตพริกสดเฉลี่ย 1,338.5 กก.ต่อไร่ ใช้การเพาะกล้าแล้วย้ายปลูก

ใส่ปุ๋ยคอกและใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใส่ปุ๋ยทางใบ ไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช ใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาลโดยใช้ปั้มไฟฟ้าแล้วต่อสายยางรดน้ำในช่วงเช้า

โรคที่ป้องกันกำจัดคือโรคกุ้งแห้ง โรคและแมลงจะเกิดในระยะการเจริญเติบโตของลำต้นและใบ

มีการใช้ยาเคมีในการป้องกันกำจัด ประเภทดูดซึม

เมื่อสังเกตเห็นว่ามีโรค/แมลง เก็บเกี่ยวตามอายุประมาณ 65 วัน

ไม่มีการคัดเลือกคุณภาพพริกหลังการเก็บเกี่ยว ได้ผลผลิตพริกสดเฉลี่ย 1,339.5 กก.ต่อไร่ ราคาผลผลิตพริกสดเฉลี่ย 11.41 บาทต่อกก.

ราคาพริกแห้งเฉลี่ย 68.08 บาทต่อกก. จำหน่ายให้กับพ่อค้าท้องถิ่น

เกษตรกรส่วนใหญ่แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตต่ำโดยการตากเป็นพริกแห้ง และไม่ขยายพื้นที่ปลูก ปัญหาในการผลิตพริก

เกษตรกรประสบปัญหาอยู่ในระดับมาก ได้แก่ สภาพพื้นที่ปลูกไม่เหมาะสม ขาดเมล็ดพันธุ์ดี กลายพันธุ์ ขาดแรงงาน ประสบปัญหาน้อยได้แก่ ขาดความรู้ ขาดเงินทุน แหล่งน้ำ น้ำเป็นกรดเป็นด่าง น้ำไม่เพียงพอ คุณภาพผลผลิตไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ ขาดการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่าย

ข้อเสนอแนะของผู้ศึกษา ควรมีการส่งเสริมความรู้เรื่องการคัดเมล็ดพันธุ์ โดยจัดทำแปลงศึกษาหรือแปลงเรียนรู้โดยเฉพาะหากเป็นเกษตรกรรายใหม่ และภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทสนับสนุนในด้านการตลาด โดยควรจัดให้มีตลาดรองรับผลผลิต มีการประกันราคาผลผลิต


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 17/03/2010 9:00 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 17/03/2010 7:56 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ปลูกพืชอายุสั้นสู้ภัยแล้ง

สภาวะแห้งแล้ง หรือภัยแล้ง หมายถึง สภาวะที่ขาดแคลนปริมาณน้ำฝน อย่างผิดปกติจนไม่เพียง พอต่อความต้องการ นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป และเกิดครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เป็นผลสืบเนื่องมาจากปริมาณฝนตกในช่วงต ้นปีที่ผ่านมาน้อยกว่าปกติทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง คือช่วงธันวาคม-เมษายน อย่างรุนแรง ซึ่งมีผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรโดยตรง

เมื่อหมดฤดูนาปีแล้ว จำเป็นต้องให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง ในส่วนที่ทำได้ ซึ่งพ ืชที่แนะนำได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพด ทานตะวัน และพืชผักต่าง ๆ ซึ่งพืชที่แนะนำได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพด ทานตะวัน และพืชผัก ต่าง ๆ ซึ่งพืชไร่อายุสั้นเหล่านี้ใช้น้ำน้อยเพียง 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่ถ้าทำนาข้าวจะใช้น้ำถึง 5 เท่า คือ 1,500-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อ ไร่

แต่การปลูกพืชอายุสั้นนั้น การเตรียมดินจะยุ่งยาก เนื่องจากดินนาส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว การระบายน้ำค่อนข้างเลว จึงต้องเตรียมดินให้ร่วนแล้วทำร่องช่วยระบายน้ำแและเป็นการเพิ่มความลึกของหน้าดิน หากระบายน้ำออกไม่ได้หรือน้ำยังท่วมขัง ไม่ควร<ปลูกพืชอายุสั้นใด ๆ
การปลูกพืชอายุสั้นทดแทนนาปรัง ควรปฏิบัติดังนี้

ระยะเวลาปลูก
ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรปลูกในช่วง 15 ธันวาคม - 15 มกราคม เพราะช่วงนี้ดินมีความชื้นสูง และพืชเหล่านี้ ยังทนต่ออุณหภูมิต่ำได้ดี ข้าวโพดฝักอ่อน สามารถปลูกได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถั่วเขียวควรปลูกในเดือนกุมภาพันธ์

ยกร่องแปลงปลูก
ยกร่องกว้าง 1.5 เมตร ทำคลองส่งน้ำและคูระบายน้ำให้เหมาะสมกับความยาวของร่องปลูกเพื่อสามารถให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้น้ำท่วมถึงบริเวณสันร่องปลูกแล้วปล่อยน้ำค่อย ๆ ซึมเข้าไปในแปลงปลูก


พื้นที่ที่เป็นดินทรายจัด
ควรปลูกถั่วเหลืองโดยไม่เตรียมดิน การให้น้ำควรปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงแล้วระบายออก เป็นการให้น้ำปริมาณสูงกว่าการให้น้ำแบบ ยกร่องปลูกแต่ประหยัดน้ำกว่าการทำนาปรัง ควรใช้ฟางข้าวหรือเศษวัชพืชคลุมสันร่องปลูกพืชไร่ (ยกเว้นถั่วลิสง)

ระยะเวลาการให้น้ำ
ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ข้าวโพดฝักอ่อน, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง ควรให้น้ำ 14 วันต่อครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงระยะออกดอก จาก นั้นให้น้ำ 7 วันต่อครั้ง จนอีก 14 วัน ก่อนจะเก็บเกี่ยวจึงงดให้น้ำโดยสิ้นเชิง (ยกเว้น ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดฝักอ่อน ควรงดให้น้ำ 7 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว) ถั่วเขียว ควรให้น้ำ 21 วันต่อครั้ง และงดให้น้ำ 14 วันก่อนเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย

การจะเลือกปลูกพืชไร่ชนิดใดมีข้อเสนอแนะดังนี้
พืชต้นฤดู ควรเป็นพืชอายุสั้น (70-80 วัน) ทนแล้ง แต่ถ้าไม่สามารถปลูกได้ภายในเดือนพฤษภาคม เพราะฝนมาล่าช้า ไม่ควรปลูกพืชอายุสั้น เพราะเป็นการเสี่ยงในช่วงเก็บเกี่ยวจะเจอฝนหนัก ดังนั้นถ้าฝนมาล่าช้าควรปลูกพืชที่มีอายุยาวเพียงพืชเดียว พืชที่สอง ควรปลูกทันทีหลังเก็บเกี่ยวเพราะฝนจะไม่ทิ้งช่วงนานในช่วงนี้ ถ้าปลูกล่าช้าไปจะมีผลกระทบต่อ ผลผลิต และถ้าฝนตกหนักตามมาจะทำให้เตรียมพื้นที่ปลูกได้ยาก

พืชที่สองนี้ต้องพิจารณาชนิดของพืชเป็นสำคัญและระยะเวลาฤดูฝนที่ยังเหลืออยู่ว่ามีกี่วันโดยถือว่าฝนจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม

การปลูกถั่วเขียว
ควรปลูกพืชในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ความชื้นในดินยังเหลืออยู่ ในภาคเหนือและอีสานควรปลูกในเด ือนกุมภาพันธ์เพราะเป็นช่วงหมดฤดูหนาวจะทำให้ถั่วเจริญเติบโตได้ดี พันธุ์ที่แนะนำคือ อู่ทอง 1 ฝักไม่แตกง่าย อายุ 60-70 วัน กำแพงแสน 2 เหมาะปลูกในฤดูแล้งนอกเขตชลประทาน อายุ 65-75 วัน การปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ที่เหมาะสมในสภาวะแห้งแล้ง คือ พันธุ์สจ. 4, สจ. และเชียงใหม่ 60 อายุเก็บเกี่ยว 95-100 วัน ข้อควรระวัง ไม่ควรปลูกให้ช่วงออกดอกตรงกับอากาศร้อนจัดในเดือนเมษายน เพราะจะทำให้ไม่ติดฝัก

การปลูกข้าวโพด
พันธุ์ที่แนะนำคือ พันธุ์ลูกผสม จะทนแล้งได้ดีกว่าพันธุ์ผสมเปิด ได้แก่ สุวรรณ 2301, และพันธุ์ลูกผสมจากบริษัทเอกชนต่าง ๆ จะทนแล้ง ได้ดี อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ข้อควรระวัง ในการปลูกข้าวโพดคือ ช่วงผสมเกสรอย่าให้ขาดน้ำ เพราะจำทำให้ติดเมล็ดไม่ดี เมล็ดจะลีบและช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี หนูจะระบาดอย่างรุนแรง เพราะเป็นช่วงที่อาหารเริ่มขาดแคลน ควรหาทางป้องกันหนูไว้แต่เนิ่น ๆ

การปลูกทานตะวัน
ทานตะวันเป็นพืชที่ทนต่อสภาวะแห้งแล้งได้ดีกว่าถั่วเหลือง พันธุ์ที่แนะนำ คือ พันธุ์ลูกผสม เพื่อการผลิตน้ำมันพืช เพราะมีระบบ รากที่ดีรากแผ่กว้างดูดซับความชื้นได้ดี ตอบสนองต่อปุ๋ยและมีแมลงศัตรูรบกวนน้อย อายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ทานตะวันสามารถปลูกแทนข้าวนาปรังได้ในบางพื้นที่ที่มีการจัดการดี และสภาพพื้นที่นาที่มีการระบายน้ำดีไม่ท่วม ขัง ในที่นาดอนก็ปลูกได้เหมือนพืชไร่ทั่ว ๆ ไป เช่น ข้าวโพด, ถั่วต่าง ๆ

การปลูกหอม กระเทียม และพืชผักอื่น ๆ
ให้คลุมด้วยฟางข้าว, หญ้าแห้ง เพื่อลดการระเหยของน้ำ และลดความรุนแรงจากแสงแดดส่องโดยตรง รวมทั้งรักษาความชื้นในดิน และบังแสงสว่างทำให้เมล็ดวัชพืชไม่สามารถงอกได้


การปลูกพืชอายุสั้น นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำโดยตรงแล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากมายที่ตามมาไ ด้แก่
1. เป็นการตัดวงจรชีวิตของศัตรูข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล, โรคไหม้คอรวง เป็นต้น
2. เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น
3. ลดการเสี่ยงเนื่องจากผลผลิตนาปรังอาจเสียหายเมื่อน้ำไม่เพียงพอเกษตรกรจะมีรายได้ชดเชยหรือได้มากกว่าการทำนาปรัง


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10  ถัดไป
หน้า 3 จากทั้งหมด 10

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©