-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตร ทางรายการวิทยุ 27 SEP
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - การปลูกพริกกระเหรี่ยง - ประสบการณ์ตรง...
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

การปลูกพริกกระเหรี่ยง - ประสบการณ์ตรง...

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
thanaset57
หนาวดึ่ง
หนาวดึ่ง


เข้าร่วมเมื่อ: 27/09/2012
ตอบ: 4

ตอบตอบ: 27/09/2012 7:50 am    ชื่อกระทู้: การปลูกพริกกระเหรี่ยง - ประสบการณ์ตรง... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลุงคิมครับ ช่วยแนะนำการปลูกพริกกระเหรี่ยงตั้งแต่เตรียมดินเลยครับ พื้นที่อยู่สัตหีบ ห่างจากทะเล 8 กม. เนื้อที่ 6 ไร่

1. ใช้น้ำจากลำลางสาธารณะ
2. สภาพดินเป็นดินเหนียว ค่าความเป็นกรดและด่างที่ 3.5-4
3. ใช้รถไถผาน 2 กลบหญ้าทิ้งไว้ 15 วัน ตามด้วยผาน 7 และผานยกร่อง
4. กล้าพริกเพาะและย้ายลงถุงชำแล้ว วันนี้มีใบจริงประมาณ 4 ใบ ยังไม่ได้ใส่ปุ๋ย



ขอบคุณมากครับ




.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11562

ตอบตอบ: 27/09/2012 10:16 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การเดินทางของพริก


http://maejo.wordpress.com/chili-sauce/


........................ฯลฯ..................


พริกที่เกษตรกรไทยปลูกมากที่สุด คือ พริกขี้หนูผลใหญ่ ลักษณะเรียวปลายแหลม ความยาว ๓-๑๒ เซนติเมตร มีรสเผ็ด พันธุ์ที่ปลูกได้แก่ พริกจินดา พริกหัวเรือ พริกห้วยสีทน พริกยอดสน พริกซูเปอร์ฮอต พริกบิ๊กฮอต ฯลฯ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ เลย ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ส่วนพริกขี้หนูผลเล็ก ยาวน้อยกว่า ๓ เซนติเมตร รสเผ็ดจัด เช่น พริกขี้หนูสวน พริกกะเหรี่ยง พริกตุ้ม และพริกขี้นก

คนไทยรู้จักเลือกพริกให้เหมาะกับการประกอบอาหารแต่ละประเภท เช่น พริกชี้ฟ้า พริกเหลือง ใช้ประกอบอาหารประเภทแกงที่รสไม่เผ็ดจัด ส่วนพริกหยวกใช้สำหรับอาหารที่ต้องการรสเผ็ดน้อยประเภทผัด เป็นต้น

สำหรับอาหารรสเผ็ดจัดจ้าน อย่างต้มยำ ผัดเผ็ด แกงเผ็ด ผัดฉ่า ใช้พริกขี้หนูเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยเฉพาะพริกขี้หนูสวนที่รสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว และว่ากันว่าน้ำพริกกะปิที่อร่อยต้องใช้พริกขี้หนูสวนเท่านั้น



ไร่พริกกะเหรี่ยงที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี พริกกะเหรี่ยงถิ่นนี้มีชื่อเสียงว่าเผ็ดจัดและหอมมาก



ชาวกะเหรี่ยงจะเด็กพริกกะเหรี่ยงจากต้น โดยเด็ดมาทั้งก้านแล้วค่อยมาเด็ดออกจากก้านทีละเม็ดๆ ที่บ้านอีกทีหนึ่ง



พริกกะเหรี่ยงสด ใช้เวลาตากแดด ๓-๕ วัน จะได้พริกแห้งพร้อมบรรจุถุงส่งขาย
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)



นอกจากพริกขี้หนู ยังมีพริกที่เผ็ดร้อนแรงและหอมฉุนจนขึ้นชื่อ ก็คือพริกกะเหรี่ยงนั่นเอง

ชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยอาศัยอยู่ทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ไล่ลงมาตามแนวชายแดนภาคตะวันตกที่จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ชาวกะเหรี่ยงทุกกลุ่มล้วนปลูกและกินพริกกะเหรี่ยงกันมานาน อย่างไรก็ตาม พริกกะเหรี่ยงแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ ว่ากันว่าพริกกะเหรี่ยงที่เผ็ดจัดและหอมมากต้องมาจากอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี

หากใครเคยไปจังหวัดเพชรบุรี อาจสังเกตเห็นว่าบรรดาร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวหลายร้านพร้อมใจขึ้นป้ายประกาศว่าร้านของตนนั้นใช้พริกกะเหรี่ยง

วันที่เราไปเดินตลาดท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้พบร้านขายพริกแกงป้าควร ซึ่งใช้พริกกะเหรี่ยงเป็นวัตถุดิบสำคัญ พริกแกงแต่ละอย่าง เช่น พริกแกงป่า พริกแกงส้ม ฯลฯ กองพูนในกะละมังวางเรียงรายหน้าร้าน ล้วนสีสันแสบตาส่งกลิ่นเผ็ดร้อนแตะจมูก มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อใส่ถุงกลับบ้านเป็นระยะ

ป้าควรพาเราไปที่บ้าน เปิดประตูห้องเก็บของให้เราดู ในนั้นเต็มไปด้วยถุงพลาสติกใบใหญ่บรรจุพริกแห้งจนแน่น วางเบียดชิดเรียงรายเต็มพื้นห้องแทบไม่เหลือที่ว่าง กลิ่นพริกแห้งเผ็ดฉุนคลุ้งปะทะจมูกจนทำให้บางคนที่ไปด้วยกันถึงกับไอโขลก

ป้าควรบอกว่านี่คือพริกกะเหรี่ยงแห้งที่แกซื้อเก็บไว้สำหรับใช้ทำพริกแกงตลอดทั้งปี

ช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ เราเดินทางไปถึงถิ่นปลูกพริกกะเหรี่ยงที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง ซึ่งมีพริกกะเหรี่ยงปลูกมากที่ตำบลยางน้ำกลัดเหนือและยางน้ำกลัดใต้ จุดหมายของเราอยู่ที่บ้านห้วยเกษม ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ

สิงห์ ทองสื่อ ชาวกะเหรี่ยงวัย ๕๐ ปี เป็นผู้นำทางพาเราออกจากหมู่บ้านไปตามถนนดินลูกรัง บางช่วงผ่านดงไม้และหญ้าสูงขึ้นรกทึบ เราจอดรถไว้ที่ตีนเนินแห่งหนึ่ง แล้วเดินขึ้นไปตามทางชัน กระทั่งถึงไร่พริกกะเหรี่ยงของ เก้า สะเนติบัง ชาวกะเหรี่ยงวัย ๔๕ ปี ภูมิประเทศเป็นเชิงเขาและลอนเนินขนาดย่อม มีพริกกะเหรี่ยงปลูกแซมแปลงข้าวไร่ปกคลุมพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่

เก้าและภรรยาในชุดเสื้อแขนยาวสะพายถุงปุ๋ย กำลังเดินวนเวียนเด็ดพริกกะเหรี่ยงอยู่ในดงต้นพริก เมื่อสิงห์ตะโกนเรียก ทั้งสองละจากงานมาคุยกับเรา

“คนกะเหรี่ยงกินพริกกะเหรี่ยงมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย” สิงห์เล่าให้ฟัง “เมื่อสัก ๗๐-๘๐ ปีก่อน คนกะเหรี่ยงเดินลงไปที่เขาย้อย เอาพริกกะเหรี่ยงไปแลกข้าว กะปิ และเกลือจากคนพื้นราบ”

เก้าอธิบายการปลูกพริกกะเหรี่ยงให้ฟังว่า “ปลูกพริกกะเหรี่ยงเราไม่ต้องให้น้ำ แล้วต้องปล่อยตามธรรมชาติ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เพราะถ้าเราใช้ปุ๋ยใช้ยา พริกกะเหรี่ยงจะกลายพันธุ์ รสชาติจะไม่เหมือนเดิม แม่ค้าจะไม่รับซื้อเลย เพราะเขาดูรู้”

สิงห์เสริมว่า “ปีที่แล้วมีเจ้าหนึ่งเขาปลูกพริกกะเหรี่ยง แล้วใช้ปุ๋ยใช้ยา แม่ค้าไม่เอาเลย เขาดูผิวแล้วมันไม่เป็นธรรมชาติ ต้องหยุดปลูกเป็นช่วงเลย คือไม่ใส่อะไรทั้งนั้นจึงจะขายออก”

นอกจากนั้น พวกเขาบอกว่าการปลูกพริกกะเหรี่ยงแซมในไร่ข้าวซึ่งมีความชุ่มชื้น ต้นพริกจะขึ้นดี แข็งแรงและออกผลดกกว่าแปลงที่ปลูกเฉพาะพริกอย่างเดียว

เก้าเล่าว่าพริกกะเหรี่ยงจะออกผลและเก็บได้มากตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงตุลาคม พอเดือนพฤศจิกายนก็ใกล้หมด โดยเขาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับปลูกในรอบปีถัดไปด้วย

พริกกะเหรี่ยงถ้าขายเป็นพริกสด ราคาขายส่งจากไร่อยู่ที่กิโลกรัมละ ๔๐-๕๐ บาท แต่ถ้าขายเป็นพริกแห้ง โดยพริกสด ๔ กิโลกรัมจะได้พริกแห้ง ๑ กิโลกรัม ราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ ๒๐๐-๒๕๐ บาท

พริกกะเหรี่ยงทั้งสดและแห้งสามารถใช้แทนพริกขี้หนูในการทำอาหารได้ทุกประเภท นอกจากนั้นยังใช้ทำพริกป่น พริกดอง หรือพริกน้ำส้มที่ให้รสเผ็ดถึงใจ

แผงลอยเจ้านี้คงถูกใจผู้รักความเผ็ดเพราะมีขายทั้งพริกสด เครื่องแกง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และพริกแกงทำกับข้าว เช่น พริกแกงป่า พริกแกงเขียวหวาน ฯลฯ
(ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)



วิถีการปลูกพริกกะเหรี่ยงที่ปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติดูแลน้อย ไม่ต้องให้น้ำ ไม่ใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง แตกต่างอย่างมากจากแนวทางการปลูกพริกขี้หนูลูกผสมที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเรามีโอกาสได้ไปสำรวจ

อำเภอชุมแสงเป็นแหล่งปลูกพริกที่สำคัญอีกแห่งของประเทศไทย ในตำบลที่เราไปเยือน ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนทำไร่พริกไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็เป็นคนรับจ้างเก็บพริก เดินไปทางไหนก็เห็นแต่ไร่พริกเรียงรายอยู่ทุกที่

เราเดินผ่านไร่พริกแปลงแล้วแปลงเล่า กระทั่งมาถึงบ้านไม้กลางวงล้อมไร่พริกของ สุด พิญเพียร หญิงวัยกลางคนผู้เป็นเจ้าของไร่ เธอนั่งพักอยู่กับหลานสาวชื่อเยา และปองเพื่อนบ้านหญิงวัยกลางคนที่มาช่วยทำไร่พริกด้วยกัน

ทั้งสามคนเล่าให้เราฟังว่า พริกที่พวกเธอและชาวบ้านแถวนี้ปลูก ล้วนใช้เมล็ดพันธุ์ที่พ่อค้าคนกลางผู้รับซื้อพริกจัดหามาให้ เป็นเมล็ดพันธุ์พริกบรรจุกระป๋องที่บริษัทสินค้าการเกษตรเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย

“เมล็ดพันธุ์ต้องซื้อเขา กระป๋องละ ๙๐๐ นะ เอากระป๋องมาให้เขาดูสิ” เยาบอก

ปองอธิบายว่าเมล็ดพันธุ์พริก ๑ กระป๋องปลูกได้คลุมพื้นที่ ๑ ไร่

เราดูข้างกระป๋อง ระบุว่าเป็นเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูลูกผสม พันธุ์แชมเปี้ยนฮอต (Champion Hot)

“เดี๋ยวนี้คนแถวนี้ใช้แต่ (เมล็ดพันธุ์) พริกกระป๋อง” ปองบอก “พ่อค้าคนกลางเป็นคนเอามาให้ เขาดูว่าแม่ค้าในตลาดที่กรุงเทพฯ หรือนครสวรรค์นิยมพริกพันธุ์ไหน ก็เอาพันธุ์นั้นมาให้เราปลูก”

พ่อค้าคนกลางจะออกเงินค่าเมล็ดพันธุ์พริกให้ก่อน โดยมีข้อตกลงกับเกษตรกรว่าต้องขายผลผลิตพริกแก่เขา แล้วค่อยหักค่าเมล็ดพันธุ์จากราคารับซื้อพริก เรียกว่าเป็นการผูกการซื้อขายกันไว้ล่วงหน้า

“ถ้าเราไม่ปลูกพริกพันธุ์ที่เขาหามาให้ได้ไหม” พวกเราคนหนึ่งถาม

“เขา (พ่อค้าคนกลาง) ก็ไม่รับซื้ออีกแหละ เพราะไม่เข้าระบบเขา ไม่ได้เกรดของเขา ไม่เหมือนสมัยก่อน ปลูกพริกพันธุ์อะไรก็ได้ แต่สมัยนี้พ่อค้าจะเอาเมล็ดพันธุ์มาลงให้ลูกไร่ เขาจะหามาเลยอีไหนดีไม่ดี แล้วเขาจะมารับซื้อไปขายอีกที”

พวกเราถามอีกว่าหากเก็บเมล็ดพันธุ์พริกแชมเปี้ยนฮอตไว้ปลูกในปีถัดไปได้ไหม

ปองบอกว่า “เราเก็บไว้เพาะมันก็ขึ้น แต่มันเป็นพริกมือสอง จะไม่เหมือนอย่างที่เขาเอามาให้เรา คือพริกจะออกไม่ดกเหมือนรุ่นแรก แล้วเม็ดพริกจะไม่สวย ทั้งเล็กและสั้นลง”

สรุปว่าเกษตรกรแถบนี้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พริกกระป๋องใหม่ทุกปี พ่อค้าคนกลางจึงจะรับซื้อพริกของพวกเขา

ขั้นตอนการปลูกพริกเริ่มจากนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะกล้า เมื่อขึ้นแล้วค่อยย้ายลงหลุม ให้ปุ๋ยบำรุงและพ่นยาฆ่าแมลงเป็นระยะ ประมาณเดือนกว่าพริกเริ่มออกผล เมื่อเก็บแล้วทิ้งช่วงสัก ๑๕-๒๐ วันจึงเก็บได้อีก พริกต้นหนึ่งสามารถเก็บเม็ดได้หลายรอบในช่วงเวลา ๓-๔ เดือน พอถึงปลายปี น้ำในแม่น้ำจะเอ่อท่วมแถบนี้เป็นประจำจนต้นพริกตายหมด รอน้ำลด ชาวไร่ค่อยเพาะกล้าพริกรอบใหม่

“สมมุติวันนี้เราเก็บพริกหมดแล้ว พรุ่งนี้ก็หว่านปุ๋ย รดน้ำ ฉีดยาฆ่าแมลงเลย บำรุงให้พริกแตกดอกออกเม็ดใหม่” เยากล่าว

ปองบอกว่าการปลูกพริกต้องฉีดยาฆ่าแมลงอาทิตย์ละครั้ง

“กลิ่นยามันหอมชื่นใจชาวไร่พริกเลยละ” เยาพูดจบแล้วทั้งสามคนหัวเราะพร้อมกัน

ปองพูดบ้าง “สูด (ยาฆ่าแมลง) อยู่ทุกวัน สะสมอยู่ในร่างกายนี่แหละ มันไม่ไปไหนหรอก”

“พอหมอจากโรงพยาบาลออกมาตรวจที่สถานีอนามัย เขาเกณฑ์ลูกบ้านไปตรวจสารพิษในร่างกายกัน โอ้โห มีหมดทุกคนเลย จะมากจะน้อยเท่านั้น” เยาบอก

เราถามพวกเธอว่าไม่กลัวที่มีสารพิษสะสมในร่างกายหรือ

คำตอบคือ “ก็แล้วจะทำไงล่ะ”

สิ่งที่พวกเธอกังวลมากกว่าน่าจะเป็นเรื่องของราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่แพงขึ้นทุกวัน

“ตอนนี้พริกเหลือกิโลละ ๑๐ บาท ลูกจ้าง (เก็บพริก) กินไป ๓ บาท เจ้าของต้นเหลือ ๗ บาท ไหวมั้ย ยาฆ่าแมลงขวดละ ๕๐๐ ปุ๋ยลูกละ ๑,๐๐๐ เมล็ดพันธุ์ก็กระป๋องละ ๑,๐๐๐ ความจริงเรารวยอยู่แล้ว รวยหนี้ไง” ปองพูดแล้วหัวเราะเอง

สุดผู้เป็นเจ้าของไร่พริกค่อนข้างพูดน้อย กล่าวว่า “แต่เราไม่รู้จะไปทางไหน ก็ต้องทำแบบนี้”

“ถ้าเราไม่ใช้ยาฆ่าแมลงได้หรือเปล่า” พวกเราไม่วายสงสัยอีก

“ไม่ใช้ก็หมดสิ เพลี้ยมันลง” ปองมองหน้าคนถาม “มียาอะไรมาให้ใช้ล่ะ นึกว่ามีจะได้เอามาลอง”

เธอกล่าวอีกว่า “ปลูกพริกนี่ยิ่งทำยิ่งจน บอกตรงๆ เลย”

นอกจากนั้นพ่อค้าคนกลางจะรับซื้อพริกจากเกษตรกรโดยยังไม่จ่ายเงินทันที แต่จะนำพริกไปขายที่ตลาดก่อน พอรับเงินแล้วค่อยย้อนกลับมาจ่ายเงินแก่เกษตรกร โดยพ่อค้าคนกลางจะเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อเอง ขึ้นอยู่กับราคาพริกที่เขาขายได้ในตลาด


เยาอธิบายเรื่องนี้ว่า “สมมุติเขาตกลงซื้อพริกเรากิโลละ ๙ บาทนะ ไปขายที่ตลาดแล้วย้อนกลับมาบอกว่า ฉันขายได้แค่กิโลละ ๙ บาทเอง แกเอาไปกิโลละ ๗ บาทแล้วกัน เราก็ต้องเอา เพราะเขาไม่ได้จ่ายเงินเราเลย เขาไปขายเสร็จแล้วถึงจะมาตีราคาให้เรา เราก็ไม่รู้”

“ถ้าเขาโกหกล่ะ” พวกเราถาม
“โกหกหรือไม่โกหก เราก็ไม่รู้”

สุดบอกว่า “ตอนนี้คือว่า เขาเอา (พริก) ไปแล้ว เราไม่รู้ราคา เขาให้เราเท่าไหร่เราก็ต้องเอา เพราะไปถึงเขาแล้ว

ใช่ไหมล่ะ กิโลละ ๓ บาทเราก็ต้องเอา”
“เหมือนอ้อยเข้าปากหมา” บางคนโพล่งขึ้น
“ปากช้าง ไม่ใช่ปากหมา” เยาแก้

“เราไม่มีทางเลือก เขาตีราคาให้เราเอง เราไปตีราคาไม่ได้เลย” ปองบอก
เยาว่า “บ่นอะไรไม่ได้เลย เราต้องยอมเขาทุกอย่าง”


แม้ว่าพริกขี้หนูลูกผสมจะมีคุณสมบัติคือให้ผล (เม็ด) ดกมาก อย่างที่เยาบอกว่า “พริกมันดก เวลามันออกเต็มหมดเลยนะ ถึงขนาดคนเก็บตาลาย ไม่รู้จะคว้ากิ่งไหน ไม่รู้จะเก็บเม็ดไหนก่อน”

แต่ว่าเกษตรกรอย่างพวกเธอขายพริกที่ตนเองปลูกจนหมด โดยไม่เหลือเก็บไว้กินเอง

“พริกอย่างนี้กินไม่ได้ มันแสบร้อนปาก ขายหมดแล้วไปซื้อพริกเขามากิน พวกพริกขี้หนูพันธุ์พื้นบ้าน” สุดบอก
“แล้วใครกินพริกอย่างนี้” พวกเราถาม

“ขายคนเมือง” เยาตอบ “พริกแชมป์อย่างนี้มันไม่หอม เผ็ดโด่ ๆ พวกนี้เขาเอาไปทำพริกแกง ปนกับพริกใหญ่ด้วย ไม่งั้นมันจะเผ็ดโด่”

ปองเสริมว่า “พริกพวกนี้กินแล้วแสบปาก เผ็ดมากแต่ไม่หอม เปลือกก็หนา มันเผ็ดแบบไม่อร่อย เผ็ดโด่ ๆ ไม่มีรสชาติ”

…และทั้งหมดนี้คือชีวิตจริงของคนปลูกพริก เบื้องหลังความเผ็ดโด่ของพันธุ์พริกกระป๋อง






http://maejo.wordpress.com/chili-sauce/


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 28/09/2012 7:25 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11562

ตอบตอบ: 27/09/2012 10:41 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

2. พริกกะเหรี่ยง


พริกกะเหรี่ยง มีการปลูกกันมากตามแนวชายแดนไทย-พม่าของ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีการคมนาคมลำบากมากในช่วงของฤดูฝน ตรงกับ การปลูกพริกของชาวกะเหรี่ยง และเมื่อผลผลิตพริกสามารถเก็บเกี่ยว ได้ก็ไม่สามารถนำออกมาจำหน่ายได้ ต้องแปรรูปเป็นพริกแห้ง


ลักษณะเด่นพริกกะเหรี่ยง
1. มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนทานต่อสภาวะอากาศและโรคแมลง
2. ลำต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถให้ผลผลิตติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
3. เป็นที่นิยมทำเป็นพริกตากแห้งได้ดี คุณภาพผลสด 3 กิโลกรัม ตากแห้งได้ 1-1.3 กิโลกรัม
4. มีความเผ็ดและหอมซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของพริกกะเหรี่ยง
5. โรงงานทำซอสพริกนิยมนำไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพื่อเพิ่มความเผ็ดและความหอม


การเตรียมเมล็ดและต้นกล้าก่อนปลูก
1. เลือกต้นที่มีลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง สามารถปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อม ในท้องถิ่นได้ดี ให้ผลผลิตดก ขนาดใหญ่เต็มที่และเก็บผลในรุ่นที่ 2-3

2. ผลพริกที่เลือกเก็บนั้น ควรเป็นผลที่เริ่มสุกหรือสุกสีแดงสดปราศจากโรคแมลงทำลาย นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน หรือนำมาห่อ ในผ้าขาวบางซับ ๆ เก็บไว้ประมาณ 2-3 วัน จนมีตุ่มรากสีขาวเล็ก ๆ แล้วนำไปเพาะ


การเตรียมแปลงเพาะกล้า
การเลือกพื้นที่สำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ต้องทำการเตรียมดินให้ละเอียดพร้อมผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 แล้วคลุกเคล้า ให้เข้ากัน แล้วนำเมล็ดพริกโรยเป็นแถวห่างกันประมาณ 3 นิ้ว กลบหน้าดิน ประมาณ 1 ซม. หลังเพาะนาน 7-10 วัน เริ่มงอกหมั่น รดน้ำ ให้ชุ่มอยู่เสมออย่าปล่อยให้แปลงแห้งจนกระทั่งต้นกล้าเจริญเติบโตมีใบประมาณ 3-4 คู่ หรือต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน สามารถนำไปปลูกในแปลงปลูก


การปลูกและการดูแลรักษา
1. การปลูกพริกกะเหรี่ยงโดยนำเมล็ดพริกที่เก็บเมล็ดจากต้นแล้วนำมาตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนำไปตำในครก หรือกระบอก ไม้ไผ่ ให้เมล็ดแตกออก นำเมล็ดมาหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละประมาณ 5-10 เมล็ด ระยะปลูก 80X80 เซนติเมตร และหากปลูก แซมข้าวไร่ ระยะปลูกจะห่างตามความต้องการและสภาพพื้นที่เป็นหลัก

2. การปลูกด้วยต้นกล้า ควรมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา 800-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวนต้นกล้า ประมาณ 2,500-3,000 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 80X80 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชแซม กับข้าวไร่ หรือพืชชนิดอื่นๆ

3. การปลูกพริกกะเหรี่ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าของพริกสด สามารถทำได้โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่สามารถให้น้ำได้ และเป็นพื้นที่ดอนน้ำ ไม่ท่วมขัง เกษตรกรเริ่มเพาะกล้าพริกตั้งแต่เดือน กันยายน-ตุลาคม หลังปลูกแล้ว 90 วันก็จะเริ่มเก็บผลผลิต ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูแล้ง พริกสดจะเริ่มราคาแพงเนื่องจากชาวกระเหรี่ยงที่ปลูกพริกในป่า ไม่สามารถให้น้ำพริกได้ และผลผลิตก็จะหมดเร็ว ทำให้พริกสด ขาดแคลน เกษตรกรที่ปลูกพริกกะเหรี่ยงฝืนฤดู สามารถขายพริกสดได้ถึงราคา 50-80 บาท/กิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป


การให้น้ำและปุ๋ย
การให้น้ำอาศัยน้ำฝนธรรมชาติ และช่วงที่เหมาะสมในการปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การกำจัดวัชพืชไม่ใช้สารเคมี และไม่นิยมใส่ปุ๋ยเคมีเนื่องจากจะทำให้พริกกะเหรี่ยงที่มีความหอมที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวลดลง


ศัตรูพืชที่สำคัญและวิธีการป้องกันกำจัด
1. โรค โรครากเน่าโคนเน่า และโรคกุ้งแห้ง ป้องกันโดยคัดเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า รองก้นหลุมก่อนปลูก

2. แมลง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ทำให้พริกใบหงิกงอ ลักษณะใบม้วนผิดปกติ ระบาดในช่วงแห้งแล้ง ป้องกันกำจัด โดยใช้น้ำหมัก สมุนไพร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน หรือเชื้อราบิวเบอร์รี่


การเก็บผลผลิต
หลังย้ายปลูกประมาณ 60 วัน พริกกะเหรี่ยงเริ่มทยอยผลผลิตและสามารถเก็บผลผลิตได้โดยเลือกเก็บเมล็ดที่มีสีแดงสดเพื่อใช้ ในการแปรรูป ผลผลิตพริกสดประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นพริกแห้งได้ประมาณ 80-100 กิโลกรัมๆ ละประมาณ 80-150 บาท รายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อไร่


การจำหน่ายพริกกะเหรี่ยง
1. จำหน่ายพริกสดราคาขายขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณของพริก
2. จำหน่ายเป็นพริกแห้ง ซึ่งจะได้ราคาที่สูง กว่าพริกชนิดอื่น
3. ตลาดแปรรูปในอุตสาหกรรมการแปรรูป พริกป่น พริกคั่ว พริกดอง ซอสพริก หรือน้ำจิ้ม น้ำพริก น้ำพริกแกง อาหารสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป พริกแช่แข็ง





3. "คีรีราษฎร์ 1" พริกกะเหรี่ยงสายพันธุ์ใหม่ ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า "พริกกะเหรี่ยง" มีการปลูกกันมากตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีการคมนาคมลำบากมากในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ชาวกะเหรี่ยงเก็บเกี่ยวผลผลิตพริกพอดี ทำให้ไม่สามารถนำพริกกะเหรี่ยงสดออกมาจำหน่ายได้ จะต้องมีการแปรรูปเป็นพริกแห้งก่อน และอีกพื้นที่หนึ่งที่มีพื้นที่ปลูกมากจะอยู่ในเขตตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ปัจจุบันทางสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง โดยมี ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ได้รวบรวมพันธุ์และศึกษาลักษณะพันธุ์พริกพื้นเมืองของจังหวัดตาก ซึ่งรวมถึงพริกกะเหรี่ยงด้วย ได้จำนวน 192 สายพันธุ์ พบว่าในขณะนี้พบพันธุ์พริกที่พัฒนาพันธุ์ได้จำนวน 11 สายพันธุ์ ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสดมากกว่า 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่


ทำความรู้จักกับพริกกะเหรี่ยง
อาจจะกล่าวได้ว่า พริกกะเหรี่ยงเป็นวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงก็ว่าได้ ถึงกับมีคำกล่าวว่า "มีข้าว มีพริก มีฟืน ไม่ต้องมีเงิน" ก็อยู่ได้ หลายคนเคยรับประทานก๋วยเตี๋ยวน้ำพริกกะเหรี่ยง แต่ไม่ทราบว่าพริกกะเหรี่ยงคือพริกอะไร? พริกกะเหรี่ยงไม่ใช่พริกขี้หนูสวน ในธรรมชาติพริกขี้หนูจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ปลูกที่ร่มรำไร ในขณะที่พริกกะเหรี่ยงชอบแสงแดดจัด การปลูกพริกกะเหรี่ยงของคนกะเหรี่ยงจะปลูกแบบพืชไร่ โดยการเอาเมล็ดพริกผสมกับเมล็ดพืชอื่นๆ อาทิ เมล็ดฟัก แฟง แตงกวา ฯลฯ หว่านในไร่หลังจากที่หยอดเมล็ดข้าวไปแล้ว เมล็ดข้าวงอกก่อนและเป็นร่มเงาให้ต้นกล้าผักซึ่งรวมถึงต้นกล้าพริกด้วย ระหว่างที่รอต้นข้าวให้ผลผลิต ชาวกะเหรี่ยงจะได้รับประทานผักชนิดต่างๆ เป็นอาหาร เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ต้นพริกกะเหรี่ยงอยู่ในระหว่างออกดอกและติดผลพอดี ชาวกะเหรี่ยงทยอยเก็บเกี่ยวพริกกะเหรี่ยงได้ต่อเนื่อง 5-6 เดือน


ลักษณะเด่นของพริกกะเหรี่ยง
ชาวกะเหรี่ยงบอกถึงคุณลักษณะที่เด่นเฉพาะตัวของพริกกะเหรี่ยงดังนี้ "ต้องปลายแหลม ก้นโต สีส้มจัด (ไม่แดงคล้ำ) เผ็ดแต่ไม่แสบลิ้นและมีกลิ่นหอม" ทางศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี ได้บอกถึงการปลูกพริกกะเหรี่ยงว่ามีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีลำต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถเก็บผลผลิตติดต่อกันได้ระยะเวลานาน นิยมแปรรูปเป็นพริกแห้งโดยใช้พริกกะเหรี่ยงสด 3 กิโลกรัม เมื่อเป็นพริกแห้งได้น้ำหนักเฉลี่ย 1-1.3 กิโลกรัม ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตซอสพริกนิยมนำเอาพริกกะเหรี่ยงแห้งไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพื่อเพิ่มความเผ็ดและมีกลิ่นหอม

ผลผลิตพริกกะเหรี่ยงในธรรมชาติ ให้ผลผลิตเพียง 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่
ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการศึกษาสถานภาพการผลิตและความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผลผลิต คุณภาพและปริมาณสาร "แคปไซซิน" (capsaicin) ในพริกพันธุ์การค้าของประเทศไทย ว่าจากการเดินทางศึกษาดูงานแปลงพริกและสถานการณ์การผลิตและการตลาดพริกกะเหรี่ยงในเขตตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, องค์การบริหารส่วนตำบลคีรีราษฎร์, ผู้ประกอบการซื้อพริกกะเหรี่ยง และเกษตรกรผู้ปลูกในพื้นที่ พบว่า พริกกะเหรี่ยงที่ปลูกที่อำเภอพบพระ จัดเป็นพริกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งด้านรูปร่าง สีผิว ความเผ็ด และความหอม รวมทั้งเป็นพริกที่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการปลูก ให้ผลผลิตพริกที่เก็บเกี่ยวมามีความปลอดภัย ผลผลิตส่งขายยังตลาดใหญ่ๆ อาทิ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ปากคลองตลาด ฯลฯ ราคาขายผลผลิตพริกสดเฉลี่ย 7-25 บาท ต่อกิโลกรัม

ในด้านการผลิตและการจัดการของเกษตรกรในพื้นที่พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกพริกกะเหรี่ยงแซมหรือปลูกหมุนเวียนร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวโพด ผักกาดขาวและมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยสามารถปลูกพริกได้เพียงละ 1 ครั้ง เท่านั้น ศักยภาพในการผลิตพริกกะเหรี่ยงของเกษตรกรในเขตตำบลคีรีราษฎร์ สามารถผลิตพริกได้เฉลี่ยเพียง 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่เท่านั้น ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มีผลผลิตออกในแต่ละปีเฉลี่ยวันละ 200,000 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่า มีปัญหาหลายประการที่เป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เช่น ปัญหาจากการระบาดของโรคและแมลง โรคที่พบ ได้แก่ โรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อไฟทอปทอร่า สำหรับแมลงที่พบมากคือ หนอนเจาะผล นอกจากนั้น ยังพบปัญหาเรื่องสภาพดินปลูกมีค่าความเป็นกรดปานกลางถึงกรดจัด ปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการใช้ที่ดินซ้ำซากและขาดการบำรุงดิน ขาดแคลนน้ำและขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกพริกที่ถูกต้อง


พริกกะเหรี่ยงมีปริมาณสารแคปไซซินสูง
เหตุผลหนึ่งที่ ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ให้ความสนใจในการคัดเลือกพันธุ์พริกกะเหรี่ยงเพื่อแนะนำให้เกษตรกรได้นำไปขยายพื้นที่ปลูกและผลผลิตสูง เนื่องจากพบว่าในผลพริกกะเหรี่ยงมีปริมาณของสารแคปไซซินสูงกว่าพริกชนิดอื่นๆ ที่ปลูกในบ้านเรา ในงานวิจัยอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของ ดร.ชฎา พิศาลวงศ์ พบว่า "แคปไซซิน" คือสารสำคัญที่มีอยู่ในพริกทุกชนิดและเป็นตัวที่ทำให้พริกมีรสชาติเผ็ดร้อน แต่ปริมาณของสารแคปไซซินจะมีปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์พริก ในวงการแพทย์ต่างก็ยอมรับกันว่าสารแคปไซซินนี้จะช่วยกระตุ้นเซลล์ในกระเพาะอาหารให้มีการหลั่งกรดเกลือมากขึ้นและทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากกว่าปกติ เนื่องจากพริกจะไปกระตุ้นการบีบและการคลายตัวของกระเพาะอาหาร การบริโภคพริกจึงช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้นเพราะไปกระตุ้นต่อมน้ำลาย


การเตรียมเมล็ดและต้นกล้าก่อนปลูกแบบชาวบ้าน
ในคำแนะนำของศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี แนะนำชาวกะเหรี่ยงที่จะปลูกพริกกะเหรี่ยง เลือกต้นที่มีลำต้นสมบูรณ์ แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นได้ดี ให้ผลผลิตดก ขนาดใหญ่เต็มที่และเก็บผลในรุ่นที่ 2-3 ผลพริกที่เลือกเก็บนั้น ควรเป็นผลที่เริ่มสุกหรือสุกสีแดงสด ปราศจากโรคแมลงทำลาย นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน หรือนำมาห่อในผ้าขาวบางซับๆ เก็บไว้ประมาณ 2-3 วัน จนมีตุ่มรากสีขาวเล็กๆ แล้วนำไปเพาะ ในการเตรียมแปลงเพาะกล้า เลือกพื้นที่สำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ ต้องเตรียมดินให้ละเอียดพร้อมผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำเมล็ดพริกโรยเป็นแถวห่างกันประมาณ 3 นิ้ว กลบหน้าดินประมาณ 1 เซนติเมตร หลังเพาะนาน 7-10 วัน เริ่มงอก หมั่นรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้แปลงแห้ง จนกระทั่งต้นกล้าเจริญเติบโตมีใบประมาณ 3-4 คู่ หรือต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน สามารถนำไปปลูกในแปลงปลูก


การปลูกและการดูแลรักษาพริกกะเหรี่ยง
1. การปลูกพริกกะเหรี่ยงโดยนำเมล็ดพริกที่เก็บเมล็ดจากต้นแล้วนำมาตากแดดจนแห้งสนิท แล้วนำไปตำในครก หรือกระบอกไม้ไผ่ ให้เมล็ดแตกออก นำเมล็ดมาหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละประมาณ 5-10 เมล็ด ระยะปลูก 80x80 เซนติเมตร และหากปลูกแซมข้าวไร่ ระยะปลูกจะห่างตามความต้องการและสภาพพื้นที่เป็นหลัก

2. การปลูกด้วยต้นกล้า ควรมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวนต้นกล้าประมาณ 2,500-3,000 ต้น ต่อไร่ ระยะปลูก 80x80 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชแซมกับข้าวไร่ หรือพืชชนิดอื่นๆ

3. การปลูกพริกกะเหรี่ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าของพริกสด สามารถทำได้โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่ สามารถให้น้ำได้ และเป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง เกษตรกรเริ่มเพาะกล้าพริกตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม หลังปลูกแล้ว 90 วัน ก็จะเริ่มเก็บผลผลิต ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูแล้ง พริกสดจะเริ่มราคาแพง เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงที่ปลูกพริกในป่า ไม่สามารถให้น้ำพริกได้ และผลผลิตก็จะหมดเร็ว ทำให้พริกสดขาดแคลน เกษตรกรที่ปลูกพริกกะเหรี่ยงฝืนฤดู สามารถขายพริกสดได้ถึงราคา 50-80 บาท ต่อกิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป


การใช้สารเคมีในการปลูกพริก เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การบริหารเรื่องต้นทุนในการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในการปลูกพริกถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก เนื่องจากพริกเป็นพืชที่มีแมลงและโรครบกวนมาก ดังนั้น การใช้สารเคมีในการปลูกพริกจึงเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่เกษตรกรจะมีการจัดการในเรื่องนี้ได้ดีเพียงใด จะมีการตั้งโปรแกรมการฉีดพ่นสารเคมีปราบศัตรูพืชอย่างกว้างๆ เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนความถี่ในการฉีดพ่นจะมากน้อยลงกว่านี้ขึ้นอยู่กับการสำรวจแมลงและโรคที่เราพบเป็นหลัก เกษตรกรที่จะปลูกพริกให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการศึกษาและหาความรู้ในเรื่องสารเคมีที่ดีพอสมควร สำหรับการเลือกใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชจะต้องมองถึงรายละเอียดมากเข้าไปอีก จะต้องทราบว่าสารเคมีแต่ละชนิดมีฤทธิ์ตกค้างนานขนาดไหน


แนวทางในการป้องกันโรคแอนแทรกโนสในพริก
เกษตรกรที่มีอาชีพในการปลูกพริกต่างก็ทราบดีว่าเมื่อพบการระบาดของโรคแอนแทรกโนสในแปลงปลูกพริกแล้ว ผลผลิตของการปลูกพริกในฤดูกาลนั้นมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหายมากจนขาดทุนได้ การป้องกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ถ้าปล่อยให้มีการระบาดแล้วยากต่อการควบคุม สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคคือ การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดให้ถูกจังหวะ เกษตรกรจะต้องเป็นคนที่หมั่นสังเกตว่าเมื่อมีโรคแอนแทรกโนสเข้ามารบกวน ต้นพริกจะเริ่มแสดงอาการบางอย่างออกมาให้เห็น เช่น เริ่มมีใบจุดเล็กๆ บนใบพริกหรือบริเวณโคนต้น หลังจากฝนตกหนัก มีหมอกลงจัด หลังการให้น้ำหรือแปลงปลูกพริกข้างเคียงเป็นโรคนี้ ก็ให้พึงระวังและเตรียมป้องกันว่าในแปลงพริกของท่านมีโอกาสที่จะมีการระบาดของโรคแอนแทรกโนส เกษตรกรจะต้องมีการเริ่มฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืชประเภทดูดซึมทันที อาจจะใช้ยาเชื้อราที่มีราคาไม่แพงนัก เช่น ยาแอนทราโคล เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ปริมาณของเชื้อมีปริมาณมากขึ้นจนก่อให้เกิดโรคได้

จากการดำเนินงาน นักวิจัยได้รวบรวมพันธุ์พริกพื้นเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จากอำเภออุ้งผาง แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง และพบพระ จนได้พริกจำนวน 192 สายพันธุ์ และได้ดำเนินการคัดเลือกพันธุ์ 2 ชั่วรุ่น โดยการปลูกลงแปลงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร จังหวัดลำปาง และแปลงเกษตรกรในพื้นที่พบพระ จนได้พริกสายพันธุ์ดี 14 สายพันธุ์ หลังจากนั้นทดสอบและประเมินพันธุ์โดยนักวิจัยและภาคเอกชน ผลสำเร็จที่ได้คือ "พริกพันธุ์คีรีราษฎร์ 1" ที่สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ และให้ผลผลิตสูงมากกว่า 1.5 ตัน ต่อไร่ ทั้งนี้เป้าหมายหลักของโครงการนอกจากได้พริกสายพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิต และสารแคปไซซินสูง รวมทั้งปรับตัวได้ดีแล้ว เป้าหมายหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การส่งมอบเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาได้คืนกลับสู่ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรนำไปเพาะและเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์เพื่อการผลิตและจำหน่ายเป็นพริกพันธุ์การค้าในระยะต่อไป



หนังสือ "คู่มือการปลูกพริกเชิงพาณิชย์" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่มที่ 5" รวม 2 เล่ม จำนวน 120 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์เป็นมูลค่า 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398


ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ



http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=2152


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 27/09/2012 6:01 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11562

ตอบตอบ: 27/09/2012 10:50 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การปลูกพริกกะเหรี่ยงในประเทศไทย


อาจจะกล่าวได้ว่าพริกกะเหรี่ยงเป็นวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงก็ว่าได้ ถึงกับมีคำกล่าวว่า “มีข้าว มีพริก มีฟืน ไม่ต้องมีเงิน” ก็อยู่ได้ หลายคนเคยรับประทานก๋วยเตี๋ยวน้ำพริกกะเหรี่ยง แต่ไม่ทราบว่าพริกกะเหรี่ยงคือพริกอะไร

พริกกะเหรี่ยงไม่ใช่พริกขี้หนูสวน ในธรรมชาติพริกขี้หนูสวนจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ปลูกที่ร่ม รำไรในขณะที่พริกกะเหรี่ยงชอบแสงแดดจัดการปลูกพริกกะเหรี่ยงของคนกะเหรี่ยงจะปลูกแบบพืชไร่โดยการเอาเมล็ดพริกผสมกับเมล็ดพืชอื่น ๆ อาทิ เมล็ดฟัก, แฟง, แตง กวา ฯลฯ หว่านในไร่หลังจากที่หยอดเมล็ดข้าวไปแล้วเมล็ดข้าวงอกก่อนและเป็นร่มเงา ให้ต้นกล้าผักซึ่งรวมถึงต้นกล้าพริกด้วย ระหว่างที่รอต้นข้าวให้ผลผลิตชาวกะเหรี่ยงจะได้กินผักชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จต้นพริกกะเหรี่ยงอยู่ในระหว่างออกดอกและติดผลพอดี ชาว กะเหรี่ยงทยอยเก็บเกี่ยวพริกกะเหรี่ยงได้ต่อเนื่องถึง 5-6 เดือน

ชาวกะเหรี่ยงบอกถึงคุณลักษณะที่เด่นเฉพาะตัวของพริกกะเหรี่ยงดังนี้ “ต้องปลายแหลม ก้นโต สีส้มจัด (ไม่แดงคล้ำ) เผ็ดแต่ไม่แสบลิ้นและมีกลิ่นหอม” พริกกะเหรี่ยงว่ามีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีลำต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถเก็บผลผลิตติดต่อกันได้ระยะเวลานาน นิยมแปรรูปเป็นพริกแห้งโดยใช้พริกกะเหรี่ยงสด 3 กิโลกรัม เมื่อเป็นพริกแห้งได้น้ำหนักเฉลี่ย 1-1.3 กิโลกรัม ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตซอสพริกนิยมนำเอาพริกกะเหรี่ยงแห้งไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพื่อเพิ่มความเผ็ดและมีกลิ่นหอม

ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่า การปลูกพริกกะเหรี่ยงของเกษตรกรในเขตพื้นที่ ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกพริกกะเหรี่ยงแซมหรือปลูกหมุนเวียนร่วมกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นต้น

โดยสามารถปลูกพริกได้เพียงละ 1 ครั้งเท่านั้น ศักยภาพในการผลิตพริกกะเหรี่ยงของเกษตรกรในเขต ต.คีรีราษฎร์ สามารถผลิตพริกได้เฉลี่ยเพียง 200-300 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มีผลผลิตออกในแต่ละปีเฉลี่ยวันละ 200,000 กิโลกรัม จากการดำเนินงานนักวิจัยได้รวบรวมพันธุ์พริกพื้นเมืองจนได้พริกสายพันธุ์ดี 14 สายพันธุ์

หลังจากนั้นทำการทดสอบและประเมินพันธุ์โดยนักวิจัยและภาคเอกชน ผลสำเร็จที่ได้ คือ “พริกพันธุ์คีรีราษฎร์ 1” ที่สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ และให้ผลผลิตสูงมากกว่า 1.5 ตันต่อไร่ และได้ส่งเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปเพาะและเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์เพื่อการ ผลิตและจำหน่ายเป็นพริกพันธุ์การค้าในระยะต่อไป.



ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=568&contentID=79905



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11562

ตอบตอบ: 27/09/2012 11:13 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ปลูกพริก : จากประสบการณ์ตรง


ปรัชญาการเกษตร :

- ก่อนลงมือกระทำการใดๆ ต้อง "วางแผน" ..... ในแผนประการแรก คือ ศึกษาส่วนที่จะเป็น "ปัญหา" ให้ครบทุกมิติก่อน แล้วหาทาง "ป้องกัน" ปัญหานั้นๆ ไว้ล่วงหน้า เมื่อลงมือทำแล้วจะไม่เกิดปัญหา เพราะได้ป้องกันไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วนั่นเอง ..... เมื่อไม่มีปัญหา ย่อมเกิด "ความสำเร็จ" เป็นธรรมดา ในทางตรงกันข้าม หากไม่ป้องกันปัญหาไว้ล่วงหน้าแล้วลงมือทำเลย ระหวางที่ทำก็จะเกิดแต่ปัญหา ปัญหา และปัญหา สุดท้ายก็คือ เกิดความล้มเหลว

- ปลูกพริก ตามใจพริก ไม่ใช่ตามใจคน (คนขายปุ๋ย คนข้างบ้าน คนที่ล้มเหลว)
- ทำตามคนที่ล้มเหลว จะประสบความล้มเหลวยิ่งกว่า...ทำตามคนที่ประสบความสำเร็จ จะประสบความสำเร็จยิ่งกว่า

- ปลูกพริกกะเหรี่ยงบนแนว อินทรีย์ นำ - เคมี เสริม - ตามความเหมาะสมของพริกกะเหรี่ยง ช่วงหน้าฝน หน้าร้อน หน้าหนาว และอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับพริกกะเหรี่ยง จึงจะประสบความสำเร็จ

- ปลูกขายต้องถือหลัก การตลาดนำการผลิต
- เทคโนโลยีที่ยากที่สุด คือ เทคโนโลยีการตลาด

- พริกกะเหรี่ยงสด กก.ละ 100
- พริกกะเหรี่ยงแห้ง กก.ละ 200
- พริกกะเหรี่ยงป่น กก.ละ 300
- น้ำมันพริกกะเหรี่ยง (แค็ปไซนิน) ลิตรละ 100,000

- เนื้อพริกทำพริกป่นบรรจุซอง สำหรับรับประทาน 1 ครั้ง ซองละ 25 สต. แต่ออร์เดอร์ครั้งละ 10,000 - 50,000 ซอง .... รกพริก + เมล็ดพริก ที่เหลือเอาไปทำสารสมุนไพร ลิตรละ 200-500
- ต้นพริกแก่จัด เผาเป็นถ่าน ใช้ทำดินปืนได้ เอาไปทำบั้งไฟพญานาค กก.ละหลายตังค์

- พริกป่นเผ็ดจัดผสมใบกระท้อนแห้ง (สีแดงเหมือนพริก) บดป่น ใส่ มาก/น้อย สามารถลดความเผ็ดจัดลงเหลือตามต้องการได้
- กินพริกเผ็ดมากจนปวดแสบปวดร้อนในปาก แก้ไขด้วยการกินนมสด

- ต้นพริกใบ หงิก-เหลือง-เล็ก เกิดจากได้รับเชื้อไวรัส โดยแมลงปากกัดปากดูดเป็นหาพะ ในโลกนี้ไม่มีสารเคมีหรือสารสมุนไพรใดๆ กำจัดเชื้อโรคตัวนี้ได้ พริกต้นใดได้รับเชื้อโรคตัวนี้เข้าไปแล้ว คุณภาพผลผลิตจะไม่ดีและต้นไม่เจริญเติบโตต่อ รอวันตายอย่างเดียว .... สู้กับเชื้อโรคตัวนี้ด้วยมาตรการ "กันก่อนแก้" เท่านั้น

- สารกำจัดวัชพืชทุกชนิด เป็นอันตรายต่อต้นพริก


ลักษณะทางธรรมชาติ :
- พริกเป็นพืชสวนครัว ประเภทกินผล พุ่มเตี้ย อายุข้ามปั ออกดอกติดผลได้ตลอดปี แบบไม่มีฤดูกาล
- ต้นโตเต็มที่อาจสูงได้ถึง 1.5 ม. ทรงพุ่มกว้าง 1-1.5 ม.
- ต้นอายุมากๆ หรือต้นที่แก่มากแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งแบบทำสาว (เหมือนไม้ผล) แล้วบำรุงใหม่ ต้นจะแตกยอดใหม่ตามกิ่งที่ตัด เมื่อกิ่งเหล่านี้โตขึ้นก็จะออกดอกติดผลให้ผลผลิตได้เหมือนเดิม นั่นหมายความว่า ปลูก 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายรุ่นอายุต้น
- ต้องการแสงแดด 100% ตลอดวัน
- ต้องการน้ำระดับชื้น (ชื้น-ชุ่ม-โชก-แฉะ-แช่) สม่ำเสมอ
- พริกออกดอกติดผลจากปลายยอดของกิ่งนอกทรงพุ่ม ดังนั้น จึงต้องเลี้ยงกิ่งนอกทรงพุ่มไว้ ส่วนกิ่งในทรงพุ่มควรตัดออก เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองน้ำเลี้ยง และไม่ทำให้ทรงพุุ่มแน่นทึบเป็นแหล่งอาศัยของศัตรูพืช



เตรียมดิน :

- ใส่อินทรีย์วัตถุ (ขี้วัว-ขี้ไก่-ยิบซั่ม-กระดูกป่น) อัตราประมาณ 10-20% ของเนื้อดิน
- ให้มี หญ้าแห้ง/ฟางแห้ง คุมหน้าดินหนาๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นหน้าดิน และส่งเสริมกระบวนการจุลินทรีย์
- ให้น้ำหมักชีวภาพ ระเบิดเถิดเทิง เดือนละ 1 ครั้ง

หมายเหตุ :
ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ดินดีเท่ากับประสบความสำเร็จแล้วกว่าครึ่ง เพราะฉนั้นต้องใจเย็นจริงๆ รอเวลาให้จุลินทรีย์ปรับสภาพโครงสร้างดิน (บ่มดิน) และสร้างสารอาหารรอไว้ในดินให้พร้อมอย่างแท้จริงเสียก่อน จึงลงมือปลูก......ดินดี นอกจะช่วยให้พริกรุ่นแรกประสบความสำเร็จแล้ว ยังส่งไปถึงต่อไป และต่อๆไป อีกด้วย หรือแม้จะเปลี่ยนชนิดพืช จากพริกเป็นอย่างอื่นก็จะได้ผลดีเช่นกัน


เตรียมแปลง :
- ไถดะให้ขี้ไถใหญ่ๆ ตากแดดจัด 15-20 แดด เพื่อฆ่าเชื้อโรค
- ไถพรวนดินเพื่อส่งอินทรีย์ลงไต้ผิวดินลึก 20-30 ซม.
- ทำแปลงแบบ "ลูกฟูกแห้ง" ไม่มีน้ำขังหล่อในร่องระหว่างสันแปลง

- การปลูกแบบใช้พลาสติกคุมแปลง ดินไต้ผืนพลาสติกจะมีอุณหภูมิสูงกว่าดินนอกพลาสติกคุม 3-5 องศา ซึ่งอุณหภูมิที่สูงกว่าระดับนี้ จะส่งเสริมให้เชื้อโรคในดินเจริญเติบโตดีและเร็วขึ้น......พลาสติกคุมแปลงมีประโยชน์เพียง ป้องกันวัชพืชกับรักษาความชื้นหน้าดินเท่านั้น แต่ข้อเสียมีมากกว่าคณานับ

- การกำจัดวัชพืชที่ดีที่สุด คือ "ถอน" เพราะนอกจากวัชพืชจะไม่ขึ้นอีกเลยแล้ว ยังไม่เป็นการทำลายวงจรจุลินทรีย์ในดินอีกด้วย.....ในขณะที่ยาฆ่าหญ้าทำได้เพียงใบไหม้เท่านั้น ไม่ช้าไม่นานก็งอกใหม่ เจริญเติบโต ต้นใหญ่ หัวใหญ่ เหง้าใหญ่ ไหลใหญ่ สมบูรณ์กว่าเดิม


เตรียมเมล็ดพันธุ์ :
- แช่เมล็ดใน "น้ำ (พีเอช 6.0) 1 ล. + ไคโตซาน 1 ซีซี. + สังกะสี อะมิโน คีเลต 1 ซีซี." นาน 6 ชม. แล้วนำขึ้นห่มในผ้าขนหนูชื้น (ชุบน้ำที่ใช้แช่เมล็ดพันธุ์) ..... วางเมล็ดพันธุ์บนผ้าขนหนูให้แบนราบ เพื่อให้ทุกเมล็ดได้รับอ๊อกซิเจนสม่ำเสมอกันตลอดเวลา .... ห่มนาน 24-48 ชม. ระหว่างนี้ให้สำรวจเมล็ด ถ้าพบเมล็ดที่เริ่มมีตุ่มตารากออกมาแล้ว ให้นำไปเพาะในภาชนะเพาะเมล็ดได้
- เมล็ดที่มีตุ่มตารากงอกออกมาแล้ว นำไปเพาะ จะได้เปอร์เซ็นต์การงอกสูง ส่วนเมล็ดที่ไม่มีตุ่มตารากออกมา นำไปเพาะ หมายถึงเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ

หมายเหตุ :
- ไคโตซาน มีสารไคติเนส. ที่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับเมล็ดพันธุ์ได้
- สังกะสี อะมิโน คีเลต. เป็นสารอาหารส่งเสริมการงอกของเมล็ด
- ไม่มี สังกะสี อะมิโน คีเลต.โดยตรง สามารถใช้ ธาตุรอง/ธาตุเสริม ที่มีส่วนผสมของสังกะสี อะมิโน คีเลต.แทนได้ ในอัตราเดียวกัน.....แบลนด์ ซุปไก่ อาหารเสริมสำหรับคนก็ใช้แช่เมล็ดพันธุ์ได้.....ใน ไบโออิ.มี สังกะสี อะมิโน คีเลต. เป็นส่วนผสม ก็สามารถใช้แทนได้เช่นกัน

*** การแช่เมล็ดพันธุ์ในสารอาหาร หมายถึง ต้นพริกได้รับสารอาหารตั้งแต่ก่อนเกิด ต่างจากการแช่เมล็ดพันธุ์ในสารเคมี ซึ่งสารเคมี คือ สารพิษ เท่ากับต้นพริกได้รับสารพิษตั้งแต่ก่อนเกิด.....เปรียบเสมือนลูกในท้อง ระหว่างแม่กินอาหารดีๆ มีประโยชน์ กับแม่กินเหล้า ย่อมส่งผลต่อลูกในท้องต่างกัน
*** ต้นพริกไม่รู้จักยี่ห้อปุ๋ย ไม่รู้จักโฆษณา ไม่รู้จักเจ้าของสูตร ต้นพริกรู้จักและต้องการแต่ส่วนผสมสารอาหารในปุ๋ยเท่านั้น

ปุ๋ยถูก + ใช้ผิด = ไม่ได้ผล
ปุ๋ยผิด + ใช้ถูก = ไม่ได้ผล

ปุ๋ยผิด + ใช้ผิด = ไม่ได้ผล ยกกำลังสอง
ปุ๋ยถูก + ใช้ถูก = ได้ผล ยกกำลังสอง

ปุ๋ย ถูก/ผิด ........ วัดที่พืช
ใช้ ถูก/ผิด ......... วัดที่คน

ต้นพริกไม่โต ไม่สมบูรณ์ อย่าคิดว่า "อ่อนปุ๋ย" อย่างเดียว แต่ให้พิจารณาปัจจัยพื้นฐาน (ดิน-น้ำ-แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล-สายพันธุ์-โรค) ประกอบด้วย

ใส่ปุ๋ย 1 กก. ได้ผลผลิต 10 กก. ..... ใส่ปุ๋ย 10 กก. (มากกว่า 10 เท่า) ก็ได้ผลผลิต 10 กก.เหมือนกัน ใยไม่ได้ผลผลิต 100 กก.


การบำรุง :
- บำรุงต้นกล้าในภาชนะเพาะกล้า.....ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ระเบิดเถิดเทิง 30-10-10 อัตรา 10 ซีซี./น้ำ 20 ล. ฉีดโคนต้นในภาชนะเพาะกล้า 1 ครั้ง เมื่อต้นกล้าโตได้ใบ 4-6 คู่

- ระยะกล้า...... ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ระเบิดเถิดเทิง 30-10-10 อัตรา 40 ซีซี./น้ำ 20 ล. หลังกล้ายืนต้นได้ 1-2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 เดือน ฉีดพ่นอาบจากใบลงถึงพื้น ระยะนี้ในปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงยังใม่ต้อง +เพิ่มปุ๋ยเคมี เพราะ 30-10-10 ที่ใส่ไว้เพียงต่อต้นพริกระยะกล้าอยู่แล้ว

- ระยะให้ผลผลิตแล้ว
ทางใบ.....ให้ "น้ำ 100 ล.(พืเอช 6.0) + ฮอร์โมนไข่ไทเป 100 ซีซี. + ไบโออิ 100 ซีซี. + ยูเรก้า 100 ซีซี. + สารสมุนไพร 1 ล." ฉีดพ่นทางใบ ช่วงเช้าแดดจัด ทุก 10-15 วัน......ให้สูตรนี้ทางใบ 2 ครั้ง แล้วให้ แคลเซียม โบรอน. 1 ครั้ง

ทางราก.....ให้ ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 30-10-10 (1-2 ล.) +เพิ่ม 30-10-10 หรือ 25-7-7 หรือ 16-8-8 หรือ 16-16-16 สูตรใดสูตรหนึ่ง 2-3 กก.สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ เดือนละ 1 ครั้ง

หมายเหตุ :
- ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง, ไทเป, ไบโออิ, ยูเรก้า, แคลเซียม โบรอน. รายละเอียดสูตรอยู่ที่หน้าเว้บ....ทำเองเพื่อประหยัด และชัวร์
- ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง เป็นทั้งปุ๋ยอินทรีย์ (สารอินทรีย์-จุลินทรีย์) และปุ๋ยเคมี (สารสังเคราะห์) สูตรตรงตามความต้องการของพริก
- ฮอร์โมนไข่ไทเป เป็นทั้งปุ๋ยอินทรีย์ (สารอินทรีย์-จุลินทรีย์) และปุ๋ยเคมี (สารสังเคราะห์) มีปุ๋ยทางใบสูตรเปิดตาดอก (13-0-46) และสะสมตาดอก (0-52-34) สำหรับพริก
- ไบโออิ. ส่วนผสมหลัก คือ แม็กเนเซียม, สังกะสี อะมิโน คีเลต, ยูเรีย จี. ประสิทธิภาพช่วยบำรุงต้นไม่ให้โทรม ทำให้อายุต้นยืนนาน ส่งผลให้มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้นาน
- ยูเรก้า. ส่วนผสมหลัก คือ 21-7-14, ไคโตซาน, อะมิโน โปรตีน. ประสิทธิภาพช่วยบำรุงผล ขยายขนาด
- แคลเซียม (จากแคลเซียม โบรอน. และจากยิบซั่ม. ช่วยบำรุงผลให้เนื้อหนา น้ำหนักดี)

**** ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ระเบิดเถิดเทิง, ไทเป, ไบโออิ, ยูเรก้า. ทุกสูตรมี ธาตุรอง/ธาตุเสริม เป็นส่วนผสมร่วมอยู่ด้วย


เทคนิคพิเศษ :
- พริกบ้าใบ แก้ไขโดยเด็ดใบแก่โคนกิ่งทิ้ง 3-5 ใบ
- เทคนิคการทำพริกแห้งให้สีแดงสดใส โดยเก็บผลพริกแก่จัด สีแดง มาแล้ว ลวกในน้ำร้อน 100 องศา นาน 3-5 นาที จากนั้นนำไปตากแดดตามปกติจนแห้งสนิท พริกที่แห้งแล้วจะมีแดงสดใสดี
- ต้นพริกน้ำท่วม รากแช่น้ำนาน แก้ไขโดยการทำร่องระบายน้ำออก แล้วให้ทางใบด้วย "ไบโออิ + กลูโคส" สลับกับ "แคลเซียม โบรอน + กลูโคส" ห่างกันสูตรละ 3 วัน พริกต้นนั้นจะแตกยอดใหม่ เจริญเติบโตต่อไปได้.....ไม่มีกลูโคสจริง ใช้น้ำมะพร้าวแก่ (น้ำมะพร้าวน้ำหวานดีที่สุด) แทนได้
- การให้สารอาหารทางราก (ปุ๋ยน้ำชีวภาพฯ) ให้ที่โคนต้นโดยตรง ตอนเย็นหลังค่ำ จะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตเร็วกว่าให้ตอนกลางวัน ทั้งนี้ เพราะธรรมชาติของพืชจะดูดสารอาหารจากดินโดยรากขึ้นสู่ต้นในช่วงกลางคืน (ไซเล็ม) นั่นเอง.....ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพฯ เสร็จแล้วฝนตกใส่ หรือให้ท่ามกลางสายฝน น้ำฝน (น้ำฝนใหม่เป็นกรดอ่อนๆ) จะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดียิ่งขึ้น



.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 29/09/2012 5:42 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
thanaset57
หนาวดึ่ง
หนาวดึ่ง


เข้าร่วมเมื่อ: 27/09/2012
ตอบ: 4

ตอบตอบ: 27/09/2012 10:38 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ขอบคุณมากครับลุงคิม จะทำตามไปทีละขั้นตอนครับ
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©