-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-* นานาสาระเรื่องเกษตร
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - * นานาสาระเรื่องเกษตร
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

* นานาสาระเรื่องเกษตร
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3 ... 63, 64, 65 ... 72, 73, 74  ถัดไป
 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 7:35 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลำดับเรื่อง....



1,710. ยีนส์ข้าวของประเทศจีน

1,711. ข้าวทอง (Golden Rice)
1,712. ฟันธง ทศวรรษนี้เอเชียเป็นเจ้าตลาดพืช จีเอ็มโอ ต่อจากสหรัฐฯ
1,713. ตัดต่อยีนหนอนไหมสร้างใย “สไปเดอร์แมน”
1,714. คนวงในโอดแบน “จีเอ็มโอ” ลงภาคสนาม ทำเสียโอกาสนับสิบปี
1,715. สหรัฐฯ รับรอง "แซลมอน ตัดต่อพันธุกรรม" กินได้ปลอดภัย

1,716. จับมือ “เจียไต๋” ถอด จีโนม แตงกวา ผลิตเมล็ดพันธุ์ต้านโรคราน้ำค้าง
1,717. มก.รับทุนวิจัย “สบู่ดำ” ลดสารพิษ-เพิ่มผลผลิต-ทนน้ำท่วม 20 ล้าน
1,718. จดสิทธิบัตร "ทรัพยากรชีวภาพ" ตอบแทนต้นทางภูมิปัญญาดั้งเดิม
1,719. พันธุ์ข้าวหอม 10 ชนิด
1,720. ขั้นตอนคัดกรองอาหารญี่ปุ่น ก่อนถึงมือผู้บริโภคไทย

1,721. ปลูกข้าวระบบใหม่ ชาวนาไทยยั่งยืน
1,722. แปลงข้าวนาโน ที่กำแพงเพชร
1,723. ไบโอ เอทานอล จากต้นมันสำปะหลัง
1,724. การให้น้ำอ้อย
1,725. พด. เปิดผลวิจัยการไถกลบตอซัง ลดภาวะโลกร้อน

1,726. พด. เปิด 6 ผลงานวิจัยดีเด่น
1,727. ศูนย์นาโนฯ เพื่อการเกษตร
1,728. 'รร.นาบ่อคำวิทยาคม' ผลงานนักเรียน 'ข้าวนาโนฯ' คว้ารางวัลฯ
1,729. แนวทางการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์
1,730. เล็งขยายตลาดข้าวอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิไทยที่ญี่ปุ่นโตฉลุย

1,731. ปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูง
1,732. ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวจนได้ :
1,733. ไทยปลูกข้าวอย่างมี “ประสิทธิภาพ” แค่ไหน ?
1,734. ไทยยังเป็นผู้นำส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก



-----------------------------------------------------------------------------------------------






1,710. ยีนส์ข้าวของประเทศจีน


ประเทศจีนจะเป็นประเทศแรกที่สามารถปลูกข้าวตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically modified organism: GMOs) เพื่อการค้า เนื่องจากจีนจะอนุญาตให้มีการปลูกข้าวดังกล่าวในต้นปี 2554 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองสำหรับข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Huahui 1 และ Bt Shanyou 63 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มี โปรตีน Bt จากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ที่ช่วยป้องกันแมลงกัดเจาะ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของการปลูกข้าวในจีน ทั้งนี้ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 ปีนี้ (2554)

อนึ่ง การค้าข้าวตัดแต่งพันธุกรรมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรชาวจีนและลดอันตรายจากยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute: IRRI) ได้ให้ความเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมสามารถถ่ายทอดลักษณะพิเศษได้ โดยในปีนี้เกษตรกรอินเดียและฟิลิปปินส์จะเริ่มได้รับข้าวที่ทนต่อน้ำท่วม ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) อย่างไรก็ตาม ข้าวดังกล่าวไม่ใช่ข้าวตัดแต่งพันธุกรรมแต่ได้จากการศึกษาเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรม



http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=7650


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 10/08/2012 3:10 pm, แก้ไขทั้งหมด 13 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 7:52 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,711. ข้าวทอง (Golden Rice)



การสร้างสายพันธุ์ข้าวทอง
นายอินโก โปเตรคูส (Ingo Potrykus) แห่งสถาบันวิทยาการพืช สถาบันเทคโนโลยีสวิสเซอร์แลนด์ (the Institute of Plant Sciences at the ETH Zürich|Swiss Federal Institute of Technology) ร่วมกับ นายปีเตอร์ เบเยอร์ (Peter Beyer) แห่งมหาวิทยาลัยไฟรเบอร์ (Freiburg University) ได้ร่วมกันสร้างสายพันธุ์ข้าวทองขึ้น โดยโครงการได้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 และได้ตีพิมพ์ผลงานในปี ค. ศ. 2000 ซึ่งการสร้างสายพันธ์ข้าวทอง ถือได้ว่าเป็นผลงานที่สำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพ ที่นักวิจัยสามารถปรับแต่งกระบวนการชีวสังเคราะห์ได้ทั้งกระบวนการ

พันธุ์ข้าวตามธรรมชาตินั้นมีการผลิตสารเบต้าแคโรทีนออกมาอยู่แล้วเพียงแต่สารนั้นจะอยู่ที่ใบ ไม่ได้อยู่ในส่วนของเอนโดสเปิร์ม ซึ่งอยู่ในเมล็ดข้าว พันธุ์ข้าวทองนั้นถูกสร้างขึ้นโดยการตัดต่อยีนสังเคราะห์เบต้าแคโรทีน ไพโตนซินเตส (phytoene synthase) จาก ต้นแดฟโฟดิล (daffodil) และ ซีอาร์ทีหนึ่ง (crt1) จาก แบคทีเรีย เออวินเนีย ยูเรโดวารา (Erwinia uredovara) เข้าไปในจีโนมของข้าวตรงส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอนโดสเปิร์ม จึงทำให้ข้าวที่ได้มีเบต้าแคโรทีน อยู่ในเอนโดสเปิร์ม

หมายเหตุ : ยีนที่เกี่ยวกับไลโคเพน ไซเคลส (lycopene cyclase) ซึ่งเดิมเชื่อว่าจำเป็นในกระบวนการนี้ด้วย แต่ภายหลังเชื่อว่า ไลโคเพน ไซเคลส ถูกสร้างขึ้นในเอนโดสเปิร์ม ตามธรรมชาติ





กระบวนการสร้างเบต้าแคโรทีนในเอนโดสเปิร์มของข้าวทอง เอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องแสดงเป็นสีแดง



การสร้างสายพันธุ์ข้าวทองโดยการใช้เทคนิครีคอมบิแนนต์ดีเอ็นเอก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีของการตัดแต่งดัดแปลงพันธุกรรมพืชจำเป็นต้องใช้พลาสมิดของเซลล์แบคทีเรียเป็นพาหะนำพาหน่วยพันธุกรรมที่ต้องการถ่ายโอนไปให้เซลล์พืชเป้าหมาย ซึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้เอนไซม์ตัดเอา เฉพาะหน่วยพันธุกรรมที่มีสมบัติควบคุมการสร้างสารบีตาแคโรทีน (beta-carotene) ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นตัวสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์วิตามิน เอ. ออกมาพร้อมกับโปรโมเตอร์ (promoter) ที่มีบทบาทในการแสดงออกของยีนที่ต้องการนั้นจากต้นแดฟโฟดิล (daffodil) พร้อมกันนั้นก็ตัดเอาหน่วยพันธุกรรมที่ต้องการจากแบคทีเรียชนิด Erwinia uredovora จากนั้นจึงนำหน่วยพันธุกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารบีตาแคโรทีน ไปถ่ายโอนฝากไว้ในพลาสมิดของแบคทีเรียชนิด Agrobacterium tumefaciens ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพาหะนำพันธุกรรมเหล่านี้ถ่ายโอนต่อไปให้เอ็มบริโอข้าว โดยนำแบคทีเรียพาหะนี้ไปใส่ผสมในจานเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอข้าว เพื่อให้แบคทีเรียพาหะนี้ติดเชื้อเข้าไปในเอ็มบริโอข้าว ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายโอนตัด ต่อหน่วยพันธุกรรมที่เราต้องการเหล่านั้นโดยกระบวนการธรรมชาติภายในเอ็มบริโอข้าวต่อไป ส่งผลให้เกิดเอ็มบริโอข้าวที่ตัดแต่ง พันธุกรรม (genetically engineering embryo) หรือเอ็มบริโอถ่ายโอนพันธุกรรม (transgenic embryo) ที่มียีนควบคุมการสังเคราะห์สารบีตาแคโรทีนเรียบร้อย และปล่อยให้เอ็มบริโอ ถ่ายโอนพันธุกรรมนั้นเจริญเติบโตจนเป็นเมล็ดข้าว แล้วนำไปเพาะปลูกจนได้สายพันธุ์ข้าวที่มียีนที่ต้องการดังกล่าว จากนั้นจึงนำพันธุ์ข้าวถ่ายโอนพันธุกรรมนี้ไปผสมพันธุ์ตามปกติกับสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวทองหรือพันธุ์ข้าวจีเอ็มที่มีพันธุกรรมควบคุมการสังเคราะห์บีตาแคโรทีนได้ตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาประชากรโลกที่ขาดแคลนอาหารที่มีวิตามิน เอ.ได้อย่างมีประสิทธิผล ยิ่งขึ้น





ข้าวทองหรือโกลเดนไรซ์ พัฒนาจากข้าวพันธุ์ญี่ปุ่น ข้าวทองหรือโกลเดนไรซ์2 พัฒนาจากข้าวสายพันธุ์อินดิคา



การพัฒนาสายพันธุ์
ต่อมาข้าวทองได้ถูกผสมกับสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และ ข้าวอเมริกาพันธุ์โคโคไดร์ (Cocodrie) การทดลองภาคสนามในไร่ของพันธุ์ข้าวทองครั้งแรก ถูกดำเนินการโดยศูนย์การเกษตร มหาวิทยาลัยรัฐหลุยเซียร์น่า (Lousiana State University) ในปี ค.ศ. 2004 การทดลองภาคสนามจะช่วยให้ผลการประเมินคุณค่าทางอาหารของพันธุ์ข้าวทองได้แม่นยำขึ้น และจากการทดลองในขั้นต้นพบว่าพันธุ์ข้าวทองที่ปลูกจริงในไร่มีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนมากกว่าที่ปลูกในเรือนกระจกราวๆ 4 ถึง 5 เท่า

ปี ค.ศ. 2005 ทีมนักวิจัยของบริษัทซินเจนต้า (Syngenta) ได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวทองขึ้นมาอีกสายพันธุ์ ชื่อว่า พันธุ์ข้าวทอง 2 (Golden Rice 2) โดยการรวมเอาไฟโตนซินเตสยีนจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับ ซีอาร์ที หนึ่งของพันธุ์ข้าวทองเดิม พันธุ์ข้าวทอง 2 นี้มีรายงานว่าสามารถให้คาโรตินอยด์ได้มากถึง 37 µg/g หรือ มากกว่าพันธุ์ข้าวทองดั่งเดิมได้ถึง 23 เท่า

นายอินโค โปไตรคูส คาดว่าสายพันธุ์ข้าวทองน่าจะผ่านปัญหาเรื่องการกฎระเบียบต่างและสามารถที่จะออกสู่ตลาดได้ในปี ค.ศ. 2012






วัตถุประสงค์ในการทำพันธุวิศวกรรมข้าวทอง
ยุคแรกของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมพืช เกิดขึ้นในบริษัทเอกชนเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะใหม่ๆ เช่น การต้านทานแมลงศัตรูพืช การต้านทานไวรัสศัตรูพืช หรือการทนทานต่อยาฆ่าแมลง

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา งานด้านพันธุวิศวกรรมพืชมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ให้เป็นข้าวทองหรือโกลเดนไรซ์ ซึ่งมีสารโปรวิตามิน เอ.สูง โดยใช้ยีนจากดอกแดฟโฟดิล และแบคทีเรีย หลังจากนั้นมีการทำโกลเดนไรซ์ 2 ในข้าวสายพันธุ์อินดิคา โดยใช้ยีนจากข้าวโพด ปัจจุบัน มีการทำข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ กล้วย มันสำปะหลัง และมันเทศที่มีวิตามิน เอ. วิตามิน อี.และแร่เหล็กมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนธาตุอาหารของประชากรในกลุ่มประเทศโลกที่สาม





อันตราย ของพืชที่เกิดจากการทำพันธุวิศวกรรม
1. เกิดธัญพืช และวัชพืชพันธุ์ใหม่ที่มีความต้านทานต่อ แมลง
2. ทำให้ความหลากหลายของหน่วยพันธุกรรมลดลง
3. เกิดการผสมข้ามเผ่าพันธุ์ของเชื้อ virus และ bacteria โดยไม่ทราบผลกระทบที่จะตามมา
4. เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อเผ่าพันธุ์แมลงต่างๆ เช่น แมลงเต่าทอง และแมลงในตระกูล Chrysopidae ซึ่งมีปีกเป็นลายตาข่าย
5. ถ้าเกิดความผิดพลาดในการเปลี่ยนถ่ายหน่วย พันธุกรรมแล้ว จะไม่สามารถถ่ายหรือล้างกลับได้ และจะคงอยู่กับสิ่งมีชีวิตใหม่และแพร่พันธ์ต่อไปตลอดทุกชั่วอายุ
6. เกิดการถ่ายทอดสารพันธุกรรมแปลกปลอมไปสู่ธัญพืชอื่นๆ ได้
7. ทำให้การกสิกรรมต้องพึ่งพาทางเคมีมากเกินไป
8. เกิดความล้มเหลวในการควบคุมแปลงทดลองปลูกพืช GMO เช่น กรณี bollguard cotton ในUSA ประเทศที่เป็นผู้ส่งออก GMO รายใหญ่
9. ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในพืชมากเกินไป
10. เกิดการชี้นำกสิกรรมของโลกโดยบริษัทฯผู้ผลิตเมล็ดพันธ์ที่ได้จากการเปลี่ยนถ่ายหน่วยพันธุกรรมและบริษัทฯผู้ขายเคมีที่ใช้ในการเปลี่ยนถ่ายหน่วยพันธุกรรม
11. เกิดการฆ่าทำลายแมลง นก สัตว์ป่า ฯลฯ โดยธัญพืชพันธุ์ใหม่ที่จะขยายและกระจายไปทั่วโลก โดยไม่ สามารถควบคุมได้ มีตัวอย่างให้เห็นในแปลง ทดลองปลูกพืชตัวอย่างที่ได้จากการเปลี่ยนถ่ายหน่วยพันธุกรรม





อุตสาหกรรมพืชจีเอ็มโอปลุกกระแสข้าวสีทองรอบใหม่
ในหน้านี้ อัมสเตอร์ดัมส์ ผู้คิดค้นข้าว จีเอ็มโอ ออกมาปลุกกระแสของข้าวสีทองอีกครั้ง ด้วยการประกาศต่อสาธารณชน ว่าข้าวสีทองรุ่นใหม่มีปริมาณของโปรวิตามิน เอ. 10 เท่าหรือมากกว่านั้น เมื่อเทียบกับข้าวรุ่นแรกที่ทดลอง

กรีนพีซจึงขอเตือนสาธารณชนและนักการเมือง อย่าหลงเชื่อบริษัท Syngenta ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการทดลองข้าวสีทอง และ คำสัญญาที่เชื่อถือไม่ได้ บริษัทนี้มีจุดประสงค์เพื่อกรุยทางสะดวกสำหรับการเพิ่มผลผลิต จีเอ็มโอ ในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อที่บริษัทจะได้แสวงหาผลกำไรมากยิ่งขึ้น

Potrykus โจมตีข้อห้ามการค้าเมล็ดพันธุ์ จีเอ็มโอ อย่างรุนแรง เขาเรียกร้องว่า พืช จีเอ็มโอ ควรจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับพืชทั่วไป และ การประ เมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

Christoph Then นักรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซสากล ซึ่งเข้าฟังบรรยายของ Potrykus กล่าวว่า บริษัท Syngenta อ้างว่า กำลังพยายามหาทางช่วยประชาชนจากโรคขาดวิตามิน เอ. แต่ถ้อยคำโจมตีของ Potrykus แสดงให้เห็นชัดว่า อุตสาหกรรม จีเอ็มโอ ใช้ข้าวสีทองเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ เพื่อให้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ จีเอ็มโอ ได้ง่ายขึ้น ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังทำเช่นนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นการทำร้ายประชาชนที่เดือดร้อนจากโรคขาดสารอาหารอย่างรุนแรง

แม้ระหว่างการกล่าวบรรยาย จะมีการระบุถึงปริมาณของโปรวิตามิน เอ. ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีการยอมรับว่า ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับข้าวสีทอง นักวิจัยที่แม้จะทำการทดลองมาถึง 5 ปีแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าหลังผ่านการหุงต้มแล้วจะเหลือปริมาณโปรวิตามิน เอ.เท่าไหร่ และ ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้แค่ไหน ทั้งยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และ ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย

รายงานของกรีนพีซ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ชี้ว่า ปัญหาโรคขาดวิตามิน เอ.ควรได้รับการแก้ไขที่หลากหลาย โรคขาดวิตามิน เอ.พบได้ทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนา และ กระทบต่อประชากรหลายล้านคน ทางแก้ไข เช่น การทานอาหารที่หลากหลาย การให้วิตามิน เอ.เสริม และ การปลูกผักกินเอง เป็นวิธีที่ใช้ได้ผล เรื่องราวของข้าวสีทองหันเหการสนับสนุนจากรัฐในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง และ อาจจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง จากการส่งเสริมให้ข้าวสีทองเป็นแหล่งอาหารหลักในทางโภชนาการ

โชคไม่ดีที่ไม่มีเวทมนตร์ใดๆจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โฆษณาชวนเชื่อเรื่องข้าวสีทองไม่ได้ช่วยประชาชนอย่างแท้จริง แต่หันเหผู้คนไปจากวิธีการแก้ไขโรคขาดวิตามิน เอ.ที่มีอยู่แล้ว ราคาถูก และ พอเพียงมากกว่า ที่สำคัญคำบรรยายของ Potrykus นั้นชัดเจนว่า อุตสาหกรรม จีเอ็มโอ จะทำทุกวิถีทาง เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของตนแม้กระทั่งว่าจะมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม และ สุขภาพมนุษย์ก็ตาม






กลุ่มที่คัดค้านการทำพันธุวิศวกรรม (GMO)
The Soil Association are campaigning for a ban.
Greenpeace – ban.
Friends of the Earth
– 5 year moratorium.

อ้างอิง
http://th.wikipedia.com




http://goldenrice-601.blogspot.com/2011/09/golden-rice.html


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 31/07/2012 5:58 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 8:44 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,712. ฟันธง ทศวรรษนี้เอเชียเป็นเจ้าตลาดพืช จีเอ็มโอ ต่อจากสหรัฐฯ



กูรู จีเอ็มโอ ฟันธง แนวโน้มอีก 10 ปี เอเชียครองตลาดพืช จีเอ็มโอ พร้อมเผยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นปีทองของสหรัฐฯ ในการปลูกพืช จีเอ็มโอ ทว่ามีอัตราการเติบโตในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า เชื่อแนวโน้มพืชพลังงานจะมาแรง แถมมี จีเอ็มโอชนิดใหม่เกิดขึ้นอีก เพิ่มอีก 100 ล้านครอบครัวเกษตรกร จีเอ็มโอ

ดร.ไคล์ฟ เจมส์ (Dr. Clive James) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศเทศอังกฤษ ผู้ก่อตั้งองค์กรไอซา (International Service for Agri-biotech Acquisition Association: ISAAA) ซึ่งปัจจุบันเป็น ประธานและคณะกรรมการบริหารของไอซา บรรยายพิเศษเรื่อง "สถานภาพการผลิตพืชเทคโนโลยีชีวภาพ ปี ค.ศ.1996-2007" เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2551 ณ โรงแรมรามาการ์เดน ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.)

รศ.ดร.สุพัฒน์ อรรถธรรม ผอ.ศูนย์ข้อมูลทางชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ และนักวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน สรุปเนื้อหาที่ ดร.ไคล์ฟ เจมส์ บรรยาย ได้ความว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการปลูกพืชเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2539 (1996) จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว และมีพื้นที่เพาะปลูกกระจายไปทั่วโลกใน 23 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนา 12 ประเทศ และประเทศอุตสาหกรรม 11 ประเทศ คิดเป็นพื้นที่กว่า 114.3 ล้านเฮคตาร์ โดยมีเกษตรกรผู้เพาะปลูกราว 12 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาถึง 11 ล้านคน

ดร.เจมส์ มองว่าสิ่งท้าทายนักวิทยาศาสตร์คือทำอย่างไรจึงจะเพิ่มปริมาณอาหารคนและสัตว์ได้ในพื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิมและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้ ขณะที่หากเป็นวิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบปรกติอย่างเดียวไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้เท่าตัวภายในปี 2593

12 ปีที่ผ่านมา พืชจีเอ็มโอช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้และลดความยากจนให้กับเกษตรกรรายย่อยได้ถึง 11 ล้านครอบครัว เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการหักล้างถางพงเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน รวมถึงภัยแล้งที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต โดยในปี 2549 ลดการใช้สารเคมีได้กว่า 2 แสนตัน ลดการไถพรวนดินทำให้ลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ 15 พันล้านกิโลกรัม เทียบได้กับการเอารถยนต์ 6.5 ล้านคัน ออกจากถนน ทั้งยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินด้วย

เฉพาะในอเมริกาเหนือ ปี 2550 ปลูกพืช จีเอ็มโอ เพิ่ม 37% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เช่น ปลูกข้าวโพด จีเอ็มโอ เพิ่มขึ้น 40% เพื่อนำไปผลิตเอทานอล แต่หากพิจารณาทั่วโลกแล้วจะพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศอินเดียมีพื้นที่เพาะปลูกพืช จีเอ็มโอ เพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็น 63% จากการปลูกฝ้าย บีที ส่วนในบราซิลก็เพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองและฝ้าย จีเอ็มโอ อีก 30 % เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปแอฟริกาที่ปลูกพืช จีเอ็มโอ เชิงพาณิชย์ โดยมีชิลีและโปแลนด์เป็นประเทศใหม่ที่เพิ่งเริ่มปลูกพืช จีเอ็มโอ เชิงพาณิชย์เมื่อไม่กี่ปีมานี้

ทั้งนี้ โปแลนด์เป็นประเทศที่ 8 ในสหภาพยุโรปที่ปลูกข้าวโพดบีที ตามหลังสเปน ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเชค โปรตุเกส เยอรมนี สโลวาเกีย และโรมาเนีย ทำให้ยุโรปมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 100,000 เฮคตาร์ (625,000 ไร่) เป็นครั้งแรก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 77% ในปี 2550 เฉพาะประเทศสเปนอย่างเดียวก็ใช้พื้นที่กว่า 70,000 เฮคตาร์ ดังนั้นเรื่องที่กล่าวกันว่าสหภาพยุโรปปฏิเสธพืชจีเอ็มโอจึงไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ดี จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าประเทศกำลังพัฒนามีพื้นที่เพาะปลูกพืช จีเอ็มโอ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากกว่าประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2550 พื้นที่เพาะปลูกพืช จีเอ็มโอ ในประเทศอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 21% โดย 5 อันดับแรก หรือ 5 เสือไบโอเทคในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้แก่ จีน อินเดีย อาร์เจนตินา บราซิล และแอฟริกาใต้

ดร.เจมส์ กล่าวต่อว่า ในช่วงทศวรรษแรกของพืช จีเอ็มโอ นับเป็นปีทองของสหรัฐฯ ทว่าแนวโน้มของทศวรรษที่ 2 ของการปลูกพืช จีเอ็มโอ เชิงพาณิชย์ จะมีพื้นที่เพาะปลูกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีจีนและอินเดียเป็นผู้นำ และอาจมีประเทศใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น เวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศไทย ส่วนในแอฟริกามีแนวโน้มว่าประเทศอียิปต์ เบอร์กินาฟาโซ และเคนยา และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก

ในอนาคตยังจะมีพืช จีเอ็มโอ ชนิดใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย หรือเป็นพืชที่มีลักษณะดีด้านต่างๆ รวมอยู่ในต้นเดียวกัน เช่น ต้านแมลง ทนต่อสารเคมี และทนแล้ง โดยเฉพาะพืชพลังงานที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ลดน้อยลงทุกขณะ

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2558 จะมีการเพาะปลูกพืช จีเอ็มโอ เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 40 ประเทศ โดยเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านครอบครัวทั่วโลก ซึ่ง ดร.เจมส์ ก็หวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในนั้นด้วย




http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000019428
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 8:47 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,713. ตัดต่อยีนหนอนไหมสร้างใย “สไปเดอร์แมน”



เส้นใยที่มีความแข็งแรงมากของ "ไอ้แมงมุม" เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยพัฒนาวิธีผลิตเส้นใยที่แข็งแรงเช่นนี้ออกมาในปริมาณมากๆ

การตัดต่อพันธุกรรมเป็นวิธีผสานจุดเด่นของเส้นใยแมงมุมที่แข็งแรงและใยไหมที่ผลิตในปริมาณมากๆ ได้สะดวก

นักวิจัยสหรัฐฯ พยายามตัดต่อพันธุกรรมหนอนไหมเพื่อให้ผลิตเส้นใยที่แข็งแรงกว่าเดิม ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาเส้นใยที่แข็งแรงดุจใยแมงมุมและมีปริมาณมากพอสำหรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเช่นใยไหม โดยรวมจุดเด่นของแมงมุมที่ผลิตใยได้แข็งแรงและหนอนไหมที่ผลิตเส้นใยได้ปริมาณมากๆ เข้าด้วยกัน

นักวิจัยจากไวโอมิง (University of Wyoming) สหรัฐฯ ระบุในวารสารพีเอ็นเอเอส (PNAS) ว่า พวกเขามีเป้าหมายที่จะผลิตใยไหมจากตัวหนอนที่มีความเหนียวระดับกับใยแมงมุม ทั้งนี้ เมื่อเทียบกันน้ำหนักต่อน้ำหนักแล้ว ใยแมงมุมมีความแข็งแรงยิ่งกว่าเหล็กกล้า

ฮีโรจากหนังสือการ์ตูน “สไปเดอร์แมน” (Spiderman) สามารถผลิตใยแมงมุมที่สามารถจับผู้ร้ายแล้วยังใช้ยึดโยงเพื่อเหวี่ยงตัวเองไปตามตึกระฟ้าของเมืองใหญ่ได้ ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทีมวิจัยจากไวโอมิงได้พยายามผลิตเส้นใยดังกล่าวมานานหลายทศวรรษแล้ว

หากแต่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำฟาร์มเลี้ยงแมงมุมเพื่อการผลิตเส้นใยในเชิงพาณิชย์ เพราะเจ้าแปดขาไม่สามารถผลิตเส้นใยได้เพียงพอ อีกทั้งมีแนวโน้มว่าเมื่อเลี้ยงรวมกันเยอะๆ แมงมุมเหล่านั้นจะกินกันเองด้วย ดังนั้น การผลิตเส้นไหมจากตัวหนอนจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะเพาะเลี้ยงและผลิตเส้นไหมปริมารมาก แต่เส้นใยเหล่านั้นก็ช่างเปราะบาง

นักวิจัยพยายามอยู่หลายปีเพื่อจะรวมข้อดีของสัตว์ให้เส้นใยทั้งสอง นั่นคือการผลิตเส้นไหมที่แข็งแรงในปริมาณมากพอสำหรับอุตสาหกรรม ด้วยการตัดต่อยีนจากแมงมุมให้แก่หนอนไหม แต่จนถึงขณะนี้หนอนไหมที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมแล้วก็ยังผลิตเส้นใยแมงมุมได้ไม่มากพอ

ดูเหมือนว่าหนอนไหมที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมโดยทีมของ ศ.ดอน จาร์วิส (Prof.Don Jarvis) จากมหาวิทยาลัยไวโอมิง นั้นจะผลิตเส้นใยที่เป็นลูกผสมระหว่างใยไหมและใยแมงมุมออกมาในปริมาณมาก ซึ่งนักวิจัยระบุว่าเส้นใยดังกล่าวมีความแข็งแรงเทียบเท่าเส้นใยแมงมุม

สำหรับความเห็นต่องานวิจัยดังกล่าวนั้น ทาง ดร.คริสโตเฟอร์ ฮอลแลนด์ (Dr.Christopher Holland) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ในอังกฤษ ระบุว่า การพัฒนาดังกล่าวนั้นแสดงถึงอีกขั้นในการผลิตเส้นไหมที่แข็งแรงขึ้นในเชิงพาณิชย์ได้

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่รายงานวิชาการนี้ได้แสดงให้เห็นคือพวกเขาใช้ชิ้นส่วนของใยแมงมุมและผลิตออกมาเป็นเส้นใยของหนอนไหมเองได้ พวกเขายังแสดงให้เห็นด้วยว่าเส้นใยผสมซึ่งมีใยแมงมุมนิดหน่อยกับใยไหมเป็นส่วนใหญ่นี้มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดีขึ้น” ดร.ฮอลแลนด์ให้ความเห็น

สำหรับการประยุกต์ใช้งานหลักๆ นั้นสามารถใช้งานทางด้านการแพทย์เพื่อผลิตไหมละลายที่มีความแข็งแรง วัสดุปลูกถ่ายและเอ็นยึดที่มีความแข็งแรงขึ้น แต่เส้นไหมแมงมุมนี้ก็ยังผลิตเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างพลาสติกที่มีความทนทาน ซึ่งปกติต้องใช้พลังงานปริมาณมากในการผลิตได้

อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงว่าหากผลิตเส้นไหมตัดต่อพันธุกรรมนี้ในระดับอุตสาหกรรมแล้ว อาจมีการหลุดลอดสู่สิ่งแวดล้อมได้ แต่ตามความเห็นของ ศ.กาย พัพพี (Prof.Guy Poppy) จากมหาวิทยาลัยเซาท์แธมป์ตัน (Southampton University) ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าหนอนไหมเหล่านั้นจะไม่คุกคามสิ่งแวดล้อม และเขายังเชื่ออีกว่าประโยชน์จากใยไหมที่แข็งแรงขึ้นนี้จะมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงใดๆ

“มันยากที่เข้าใจได้ว่าหนอนไหมที่ผลิตเส้นใยแมงมุมนี้จะเอาเปรียบธรรมชาติได้อย่างไร” ศ.พัพพีให้ความเห็น



http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000001068
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 8:53 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,714. คนวงในโอดแบน “จีเอ็มโอ” ลงภาคสนาม ทำเสียโอกาสนับสิบปี



คนวงในโอดถูกแบน “จีเอ็มโอ” ลงภาคสนามทำเสียโอกาสนับสิบปี ชี้ทั่วโลกไม่ได้แบนอย่างเอ็นจีโอกล่าวหาและมีงานวิจัยอยู่ทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่บังคลาเทศ ฟากยุโรปยังทำวิจัยภาคสนามมากกว่าไทย ระบุเป็นหนทางแก้วิกฤตอาหารโลก พร้อมโจมตีเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มาตรฐานทำสิ่งแวดล้อมเสียหายมากกว่าใช้เคมี

รศ.ดร.วิชัย โฆสิตรัตน จากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการใช้มะละกอ จีเอ็ม เพื่อแก้ปัญหาโรคใบด่างจุดวงแหวนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเศร้าที่ผ่านไปหลายปีเพราะยังอยู่กับที่ และทำให้เสียหลายโอกาสมานานนับสิบปีจากการห้ามไม่ให้ทดลองพืชจีเอ็มหรือพืชดัดแปลงพันธุกรรมในภาคสนาม ทั้งนี้ อยากให้มีการตั้งคำถามต่อเรื่อง จีเอ็มโอ ซึ่งการตั้งคำถามจะทำให้เจอคำตอบ

“คำถามว่าปลอดภัยไหม คำถามแบบนี้เราอยากให้ถาม หรือโดยธรรมชาติมะละกอจะมีไซยาไนด์ แล้วเมื่อปรับปรุงพันธุ์โดยวิธี จีเอ็มโอ แล้วจะทำให้ไซยาไนด์เพิ่มขึ้นหรือไม่ คำถามแบบนี้เราอยากให้ถาม เมื่อตั้งคำถามแล้วก็จะเจอคำตอบ คิดดูว่าค่าเสียค่าเสียโอกาสเป็นเท่าไรจากการไม่ได้ทดลองภาคสนาม ตอนนี้พืช จีเอ็ม ข้ามไปสู่รุ่นที่ 3 ที่ทำเป็นอาหาร เป็นยาแล้ว แต่ จีเอ็มโอ ในไทยมีแต่น้อยลง คนที่เขาเรียนมาทางด้านนี้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้” รศ.ดร.วิชัยกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จีเอ็มโอ เป็นการหลอกลวงระดับโลก ซึ่งซับซ้อนยิ่งกว่าเรื่อง จีที 200 ที่เพียงแค่แกะเครื่องก็หาคำตอบได้ทันที แต่ จีเอ็มโอ เป็นเรื่องของทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด ซึ่งเขาไปศึกษาเรื่อง จีเอ็มโอ ที่อังกฤษ ก็ไม่พบว่าที่นั่นต่อต้าน จีเอ็มโอ มากอย่างที่กลุ่ม เอ็นจีโอ อ้าง อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ก้าวหน้าไปมาก และผ่านมา 35 ปียังไม่มีหลักฐานว่าอันตายหรือใช้ไม่ได้ ส่วนหลักฐานที่ทางกลุ่มเอ็นจีโอนำมาเปิดเผยนั้นเป็นหลักฐานที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

“ผมจบด้าน เอ็มจีโอ จากอังกฤษ ที่นั่นก็ไม่ได้ขนาดนั้น ยังเห็นวางขายกันทั่วไป ที่อังกฤษเก่งเรื่อง จีเอ็มโอ มากๆ และผมก็ไปเรียนที่นั่น” ผศ.ดร.เจษฎากล่าว และบอกว่าทั่วโลกไม่ได้มองว่า จีเอ็มโอ เป็นอันตราย อีกทั้งพืชที่เพาะปลูกกันนั้นไม่ใช่พืชในท้องถิ่นของเรา ยกเว้น ข้าว ซึ่งพืชเหล่านี้เมื่อปล่อยทิ้งโดยไม่ดูแลจะตายหรือไม่พอใจก็ทำลายทิ้งได้โดยที่พืช จีเอ็ม เหล่านั้นไม่แทรกซึมไปในธรรมชาติ

ผศ.ดร.เจษฎากล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วเกษตรอินทรีย์เองก็มีปัญหา เพราะไม่สามารถรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นได้ อีกทั้งยังไม่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียมากกว่าการใช้สารเคมี เพราะยาฆ่าแมลงเชิงเกษตรอินทรีย์นั้นต้องใช้ในปริมาณมากกว่าสารเคมี และบอกด้วยว่าจริงๆ แล้วกลุ่ม เอ็นจีโอ ต้องการต้านทุนนิยมทั้งที่ จีเอ็มโอ พัฒนาขึ้นจากสถาบันวิจัยของรัฐ และมะละกอ จีเอ็ม ของไทยก็ถูกทำลายไปโดยคนกลุ่มนี้และสื่อมวลชนที่มีความรู้ อย่างไรก็ดีพืช จีเอ็ม จะมีราคาสูงขึ้นแน่นอนเพราะใช้เงินในการทำวิจัย แต่สุดท้ายเกษตรกรจะยังได้กำไรอยู่ดี

ด้าน ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ จากหน่วยบริหารจัดการความรู้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า จริงๆ แล้ว จีเอ็มโอเกิดขึ้นเองในธรรมชาติมาเป็นล้านๆ ปีแล้ว โดยยกกรณีการเกิดปุ่มปมในพืชที่เกิดจากแบคทีเรียสร้างขึ้นเพื่อให้พืชผลิตอาหารเลี้ยงแบคทีเรียและทำให้พืชนั้นเจริญเติบโตได้ไม่ดี แต่เราใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อตัดต่อเอาสิ่งดีๆ เข้าไป ซึ่งเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีการค้นพบโครงการ ดีเอ็นเอ และในเวลาต่อมาได้พบเอ็นไซม์ที่สามารถตัด ดีเอ็นเอ และพบตัวต่อ ดีเอ็นเอ ในเวลาต่อ จนเกิดการรวมศาสตร์เข้าเป็นเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม

“ยุโรปต่อต้าน จีเอ็มโอ แต่เตรียมตัวด้านงานวิจัยมหาศาล อย่างเบลเยี่ยมมีการทดสอบภาคสนาม 133 ครั้ง เยอรมนี 178 ครั้ง สเปน 436 ครั้ง หรืออังกฤษที่ว่าต่อต้าน จีเอ็มโอ นักหนาก็มีการทดลองภาคสนาม 235 ครั้ง ยุโรปเขาเตรียมตัวแล้ว เมื่อเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับเมื่อไรเขาก็พร้อมจะปล่อยออกมา” ดร.บุญญานาถกล่าว

ขณะที่ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า จีเอ็มโอ เป็นเรื่องของการแข่งขันไม่ใช่เรื่องของการไม่ยอมรับ และเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ไม่ควรปฏิเสธ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้แต่ต้องพิสูจน์ก่อนที่จะนำมาใช้ ทั้งนี้ไม่เห็นว่า จีเอ็มโอ เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือเราเห็นว่าเทคโนโลยีนี้ใช้ได้แต่เราไม่เปิดโอกาสให้มีการทดลอง ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้ทดลองก่อน

“ปลายทางคืออะไร จะใช้หรือไม่ใช้ ต้องพิสูจน์ก่อน ตอนนี้เหมือนเราปิดประตูตัวเอง เราควรส่งเสริมให้มันเกิดขึ้น แต่ตอนนี้เราถกเถียงอะไรที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ปลายทางคือการนำไปใช้ซึ่งต้องพิสูจน์ก่อน แล้วการแข่งขันจะตามมา” นายพรศิลป์ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ต่อ จีเอ็มโอ

ทั้งนี้ ความเห็นทั้งหมดเกิดขึ้นภายในวงเสวนา “จับกระแสพืชจีเอ็ม ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่น่าจับตา” ณ อาคาร สวทช. (โยธี) พระราม 6 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.53 ณ อาคาร สวทช. (โยธี) พระราม 6 และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมฟังการเสวนาด้วยนั้น



http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000137058
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 8:59 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,715. สหรัฐฯ รับรอง "แซลมอน ตัดต่อพันธุกรรม" กินได้ปลอดภัย



เอฟดีเอ รับรองความปลอดภัยปลาแซลมอนพันธุ์ใหม่ที่เอกชนในสหรัฐฯ พัฒนาขึ้น โตเร็วกว่าแซลมอลธรรมชาติสองเท่า แต่คุณค่าทางอาหารไม่แตกต่าง เตรียมจัดประชุมสาธารณะหาข้อสรุปก่อนผลิตสู่ตลาด ด้านองค์กรไม่แสวงหากำไรคัดค้าน พร้อมเรียกร้องให้ศึกษาระดับคลินิก ทดสอบผลข้างเคียงต่อสุขภาพคนบริโภค

ปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอ (GMO) ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้มีชื่อทางการค้าว่า "แอดเวนเทจ แซลมอน" (AquAdvantage salmon) ที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมโดยอะควา เบาที เทคโนโลจีส์ อิงค์ (Aqua Bounty Technologies Inc.) มีคุณสมบัติโตเร็วเป็น 2 เท่าของปลาแซลมอนแอตแลนติกโดยทั่วไป

ความสำเร็จในการพัฒนาปลาแซลมอนดังกล่าว นับว่าสำคัญอย่างยิ่งต่ออะควาเบาทีที่เป็นเพียงบริษัทเล็กๆ แต่สามารถตอกเสาเข็มของอนาคตไว้บนเทคโนโลยีได้ และหลังจากที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ให้ข้อคิดเห็นต่อเรื่องนี้ในทางบวกเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา อะควาเบาทีก็สามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดแซลมอนได้เป็น 26%

หลังจากให้การรับรองความปลอดภัยไปแล้ว รอยเตอร์รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration : FDA) เตรียมจะจัดการประชุมสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องแซลมอนดัดแปรพันธุกรรมเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. นี้ ซึ่งการประชุมนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาปลาเทราท์และปลานิลดัดแปรพันธุกรรมในอนาคตด้วย

เจ้าหน้าที่ของเอฟดีเอกล่าวว่าปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรมนั้นปลอดภัยสำหรับการนำมาบริโภคเป็นอาหารเทียบเท่ากับปลาแซลมอนที่จับได้จากมหาสมุทรแอตแลนติก โดยไม่มีความแตกต่างทางชีวภาพที่สำคัญในด้านวิตามิน แร่ธาตุ หรือกรดไขมันแต่อย่างใด

ผู้เชี่ยวชาญจาก เอฟดีเอ ยังระบุด้วยว่า ปลาแซลมอนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีชีวภาพนี้นั้นเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่จะส่งผลกระทบใดๆที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยข้อกังวลของนักวิเคราะห์ที่ว่า ปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรมพวกนี้จะหลุดออกมาจากสถานที่เพาะเลี้ยงและไปแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ เพราะมีมาตรการควบคุมไว้อย่างซับซ้อน อีกทั้งปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรมเหล่านี้ก็เป็นหมัน และทางบริษัทผู้ผลิตเองก็มีแผนที่จะจำหน่ายเฉพาะไข่ปลาตัวเมียเท่านั้น

อะควาเบาทีระบุว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นองค์กรด้านการประมงของนานาชาติ และลดแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำประมงมากเกินไป

ทว่าผู้ที่ให้การสนับสนุนผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางอาหารกังวลว่าการตัดและต่อยีนของปลาใหม่อาจก่อให้เกิดผลตรงกันข้าม โดยอาจนำไปสู่อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลาตัดต่อพันธุกรรมมากขึ้น และทำให้ปลาพวกนี้มีโอกาสหลุดออกไปสู่ธรรมชาติได้สูงขึ้น ผลข้างเคียงจากการบริโภคปลาจีเอ็มนั้นก็ยังไม่มีใครล่วงรู้ ส่วนที่บอกว่าปลอดภัยนั้นก็มาจากข้อมูลเพียงน้อยนิด

"ที่จริงแล้วเอฟดีเอทึกทักเอาว่าปลานี้ปลอดภัยที่จะบริโภค" ข้อคิดเห็นจาก เจย์ดี แฮนสัน (Jaydee Hanson) นักวิเคราะห์นโยบาย ศูนย์ความปลอดภัยทางอาหาร (Center for Food Safety) ซึ่งเขายังบอกอีกว่า การทดสอบของบริษัทที่ผลิตปลาแซลมอนนี้ขึ้นมานั้นเป็นเพียง ส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่เล็กที่สุดของงานวิจัยด้านการประมงที่เขาเคยเห็นมาแล้ว เช่น วิเคราะห์โอกาสทำให้เกิดอาการแพ้จากตัวอย่างปลาเพียงแค่ 6 ตัว

แฮนสันบอกว่าทางบริษัทควรจะศึกษาในปลาจำนวนมากกว่านี้ และควรทำการทดลองระดับคลินิกด้วยเพื่อทดสอบการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยแฮนสันจะไปร่วมพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ค้านกับการเห็นชอบจากเอฟดีเอในการประชุมสาธารณะที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้

ด้านโรนัลด์ สโตติช ผู้บริหารของอะควาเบาที ให้ความเห็นว่าแซลมอนเป็นปลาที่มีหลักฐานการพิสูจน์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของปลา ซึ่งแซลมอนดัดแปรพันธุกรรมมีหน้าตาเหมือนแซลมอนโดยทั่วไปและมีรสชาติที่เยี่ยมยอดมากๆ

ทั้งนี้ การประชุมสาธารณะที่จะมีขึ้น 3 วันนั้น เอฟดีเอ จะสรรหาคณะกรรมการที่ปรึกษาจากภายนอกเพื่อมาทำหน้าที่พิจารณาโดยรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจาก เอฟดีเอ บริษัท และสาธารณชนในช่วง 2 วันแรกของการประชุม แล้วคณะกรรมการจึงให้ข้อวินิจฉัยออกมา ส่วนในวันสุดท้ายเอฟดีเอจะประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่าควรจะมีการติดฉลากปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรมให้แตกต่างจากปลาแซลมอนทั่วไปเพื่อแจ้งให้ผู้บริโภครู้หรือไม่ก่อนที่จะมีการผลิตออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล



http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000124731
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 9:05 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,716. จับมือ “เจียไต๋” ถอด จีโนม แตงกวาผลิตเมล็ดพันธุ์ต้านโรคราน้ำค้าง



สวทช.จับมือ “เจียไต๋” ทำโครงการถอดจีโนมแตงกวาสายพันธุ์ไทย เพื่อค้นหาตำแหน่งยีนต้านทาน “ราน้ำค้าง” ศัตรูสำคัญทำลายผลผลิต เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ต้านทานโรค โดยลงทุน 3 ล้านบาท เพื่อให้นักวิจัย ม.เกษตรพัฒนาแผนที่จีโนมและหาตำแหน่ง “ยีนมาร์กเกอร์” ระบุ ต้นพันธุ์ที่ควรนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายต่อไปภายใน 3 ปี และบริษัทเมล็ดพันธุ์รับสิทธิ 1 ปีก่อนเปิดสู่สาธารณะ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด ทำโครงการร่วมวิจัยสร้างแผนที่จีโนม และค้นหาตำแหน่งยีนต้านทานโรคราน้ำค้างในแตงกวา โดยทีมนักวิจัยจากภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รับผิดชอบในการทำวิจัยดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ตามเป้าหมายของคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ สวทช.ที่ต้องการเพิ่มบทบาทในการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ของไทยเอง พร้อมกับมีเครื่องหมายการค้าของประเทศไทย

วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. กล่าวว่า โรคราน้ำค้างนั้น เป็นศัตรูสำคัญในการผลิตแตงกวา ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเด่นของบริษัทเจียไต๋ โดยราน้ำค้างจะสร้างความเสียหายแก่แตงกวา 100% ด้วยการสร้างเส้นใยปกคลุมใบจนต้นแตงกวาเหี่ยวแห้ง ไม่สามารถสังเคราะห์แสงและตายในที่สุด จึงเกิดเป็นความร่วมมือนี้ขึ้น โดยใช้งบวิจัยประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งทาง สวทช.สนับสนุนทุนวิจัย 2.1 ล้านบาทในจำนวนนี้รวมค่าใช้จ่ายในการศึกษาของนิสิตปริญญาเอกในโครงการวิจัย และเจียไต๋สนับสนุนทุนวิจัย 8 แสนบาท ส่วน มก.สนับสนุนทีมวิจัยและเครื่องมือวิจัย

ทางด้าน ดร.ชัชวาล จันทราสุริยารัตน์ หนึ่งในทีมวิจัยทำแผนที่จีโนมและค้นหาตำแหน่งยีนต้านทานโรคราน้ำค้างกล่าวว่า ระยะเวลาในการทำวิจัยทั้งหมด 3 ปี โดย 1.5 ปีแรก จะเป็นการสร้างประชากรของแตงกวาพันธุ์ไทย โดยคัดเลือกแตงกวาทั้งจากพ่อแม่พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรค และพ่อแม่พันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคอย่างสิ้นเชิง จากนั้นใช้เครื่องหมายโมเลกุลสร้างแผนที่จีโนม เพื่อค้นหายีนและตำแหน่งยีนที่ต้านทานราน้ำค้าง

“ประโยชน์ของงานวิจัยนี้ คือ ได้เครื่องหมายโมเลกุลที่เร่งก่ารพัฒนาพันธุ์แตงกวาต้านทานราน้ำค้างได้เร็วขึ้น และต่อยอดสู่การทำแผนที่จีโนมแตงกวาไทย เพื่อศึกษาลักษณะดีอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในอนาคต” ดร.ชัชวาล กล่าว

ส่วน นายมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า เจียไต๋พยายามพัฒนาและมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมและการพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและขจัดอุปสรรคการปลูกให้แก่เกษตรกรและตอบโจทย์ผู้บริโภคมาตลอด และบริษัทได้เห็นถึงปัญหาของโรคราน้ำค้างในแตงกวา ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ปลูกแตงกวามากที่สุด จึงได้ร่วมมือกับ สวทช.และ มก.ทำโครงการวิจัยนี้ขึ้น และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เขตร้อนของเอเชีย

ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า ผลจากการวิจัยรี้จะเป็นสิทธิบัตรของ 3 หน่วยงาน ดดยในช่วง 1 ปีแรกที่งานวิจัยแล้วเสร็จทางเจียไต๋จะได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์แตงกวาปลอดโรคก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป และ ผอ.สวทช.ยังคาดหวังว่าอนาคตอยากให้เจียไต๋นำเทคโนโลยีเดียวกันนี้ไปใช้กับพืชเด่นอื่นๆ ของบริษัทต่อไป คือ เมลอน แตงโม พรก มะเขือเทศ และ ฟักทอง

“ไทยได้ชื่อเสียงว่าเป็นเจ้าพ่อการผลิตแตงกวา เมื่อเอกชนมีรายได้ ประเทศชาติก็จะได้ภาษี” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากโครงการนี้



http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000054429
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 9:09 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,717. มก.รับทุนวิจัย “สบู่ดำ” ลดสารพิษ-เพิ่มผลผลิต-ทนน้ำท่วม 20 ล้าน



ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ รับทุนจาก ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ขวา) ประธานมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

“สบู่ดำ” ยังคงเป็นพืชพลังงานที่น่าจะมีอนาคตต่อไปได้ไกล และหากจัดการข้อเสียทั้งเรื่องผลผลิตต่ำ ไม่ทนน้ำท่วม มีสารพิษได้แล้ว จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลที่สำคัญและไม่แย่งตลาดอาหาร ล่าสุดนักวิจัย มก.รับทุนวิจัย 20 ล้านจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อพัฒนาพืชชนิดนี้ให้เป็นอีกแหล่งพลังงานที่พึ่งพิงได้

ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ อาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนในโครงการ NSTDA Chair Professor จำนวน 20 ล้านบาทเพื่อวิจัยและพัฒนาสบูดำสายพันธ์ใหม่สำหรับเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกและอาหารสัตว์ในระยะเวลา 5 ปี โดยเขาเผยว่าสนใจทำงานวิจัยนี้เพราะเคยมีพระราชดำรัสเมื่อปี 2550 เกี่ยวกับการผลิตไบโอดีเซลด้วยสบู่ดำ ว่าพืชพลังงานนี้ให้ผลผลิตมากกว่าปาล์มน้ำมันและยังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใน 1 ปี

นักวิจัย มก.กล่าวว่า ข้อดีของสบู่ดำคือ 1.ไม่ใช่พืชอาหาร ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างแล้วการนำน้ำมันปาล์มมาใช้ผลิตพลังงานนั้นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน 2.มีกรดไขมันที่เหมาะสมในการทำไบโอดีเซลมากกว่าน้ำมันปาล์ม และยังเป็นน้ำมันที่ใช้ในรถให้บริการสาธารณะ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการผลิตน้ำมันสำหรับรถส่วนบุคคล แต่ข้อเสียของสบู่ดำคือ ให้ผลผลิตต่ำเพียง 300 กิโลกรัมต่อไร่ มีสารพิษสูงทำให้ไม่สามารถนำกากไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ มีผลสุกและแก่ในระยะเวลาไม่เท่ากัน ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมๆ กัน และยังไม่ทนน้ำท่วม เมื่อเจอเพียงน้ำขังแฉะๆ ก็ตาย

“เราต้องแก้ไขด้วยการผสมข้ามพันธุ์เพื่อลดข้อเสีย ซึ่งมีทั้งการผสมข้ามชนิด เช่น ผสมกับสบู่แดง เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ทนฝน และผสมข้ามสกุล เช่น ผสมกับละหุ่ง เพื่อให้ออกดอกเป็นช่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยว เป็นต้น” ศ.ดร.พีระศักดิ์กล่าว พร้อมทั้งคาดว่าจะได้สบู่ดำที่มีสารพิษต่ำ ซึ่งจะทำให้นำกากที่เหลือจากการหีบน้ำมันไปใช้เลี้ยงสัตว์ได้ โดยเชื่อว่าสัตว์จำพวกปลาจะกิน และหากทำสำเร็จจะช่วยลดการนำเข้ากากถั่วเหลืองที่ไทยนำเข้าถึงปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งทดแทนเพียง 5% ก็ลดค่าใช้จ่ายได้ 500 ล้านบาทแล้ว

ทั้งนี้ ศ.ดร.พีระศักดิ์ มีความเชี่ยวชาญในการปรับปรุงพันธุ์ถั่ว ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงความเหมือนและความแตกต่างเมื่อเทียบกับการพัฒนาสบู่ดำ ในด้านความเหมือนนั้นมีบางเทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกันได้ เช่น เทคโนโลยีเครื่องหมายทางพันธุกรรม (molecular marker) การคัดเลือกพันธุ์ เป็นต้น ส่วนความต่างคือสบู่ดำเป็นไม้ยืนต้น แต่ถั่วเป็นพืชล้มลุก ซึ่งตอนนี้ทีมวิจัยยืนอยู่บนทางสองแพร่งว่าจะตัดสินใจพัฒนาสบู่ดำให้เป็นไม้ยืนต้นต่อไปหรือให้พืชล้มลุก

“หากพัฒนาให้เป็นไม้ยืนต้นจะมีข้อดีที่สามารถเก็บผลผลิตได้เรื่อยๆ และเหมาะแก่การปลูกตามหัวไร่ปลายนา แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเมื่อปล่อยให้โตเรื่อยแล้วผลผลิตจะลดลงหรือไม่ และถ้าพัฒนาเป็นพืชล้มลุกก็จำเป็นอุตสาหกรรมได้ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกสบู่ดำคือบริเวณที่เป็นดินลูกรังที่เพาะปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้แล้ว หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนาก็ได้” ศ.ดร.พีระศักดิ์ให้ความเห็น และบอกว่ายังตอบไม่ได้ว่าความรู้จากการพัฒนาพืชตระกูลถั่วจะนำมาใช้พัฒนาสบู่ดำได้แค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ใน 3 ปีจากนี้จะพัฒนาสบู่ดำที่ทนท่วมและมีสารพิษน้อยลงได้ ส่วนจะพัฒนาเป็นพืชล้มลุกหรือไม้ยืนต้นนั้นต้องทดลองปลูกเปรียบเทียบกันดู

สำหรับโครงการทุน NSTDA Chair Professor เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้าง “ศาสตราจารย์ผู้นำกลุ่ม” (Chair Professor) ที่ทำหน้าที่ภาควิชาการ พัฒนาและเชื่อมโยงกับภาคการผลิตและบริการ โดยสนับสนุนและปลักดันนักวิจัยที่มีความสามารถให้ทำวิจัยและผลิตผลงานที่สามารถเชื่อมโยงสู่การใช้งานจริงได้ โดยมีการมอบทุนครั้งแรกเมื่อปี 2552 แก่ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการออกแบบและผลิตวัสดุนาโนที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม





http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000160159
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 30/07/2012 9:14 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,718. จดสิทธิบัตร "ทรัพยากรชีวภาพ" ตอบแทนต้นทางภูมิปัญญาดั้งเดิม


สผ. ระดมความเห็นนักวิชาการ กำหนดทิศทางไทยในเวทีโลก เจรจาต่อรองระเบียบการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ นักวิชาการเผยที่ผ่านมา ประเทศเจ้าของทรัพยากรมักไม่ได้รับผลตอบแทนจากชาติเจ้าของเทคโนโลยี อนาคตการจดสิทธิบัตร อาจต้องระบุที่มาของพืช-สัตว์ที่ใช้ศึกษา และตอบแทนชุมชนเจ้าของภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วย

แม้ไม่ฮอตเท่าโลกร้อน แต่เวทีการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความความหลากหลายทางชีวภาพที่จะมีขึ้น ก็เป็นเวทีสำคัญของนานาประเทศอีกเวทีหนึ่ง ที่จะต้องมาถกกันถึงเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม: ทิศทางในเวทีโลกและการดำเนินงานของประเทศไทย" เพื่อระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับบทบาทและแนวทางของไทยในการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่สอดคล้องกับนานาชาติ

ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ นักวิชาการ กรมปศุสัตว์ กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่ไม่เป็นธรรมอยู่มาก แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพก็ตาม แต่ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากร มักไม่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ประเทศอุตสาหกรรมนำเอาทรัพยากรเหล่านั้น ไปพัฒนาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ประเทศเจ้าของทรัพยากรขาดแรงจูงใจที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านั้นไว้อย่างยั่งยืน

ในอนุสัญญาฯ ได้ระบุไว้ในมาตรา 15 ว่าให้แต่ละประเทศมีอำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่อาณาเขตของตน และสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยในการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ที่ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

ดังนั้น ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 6 ในปี 2545 จึงได้มีมติเห็นชอบแนวทางบอนน์ ว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม เพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามความสมัครใจ

ต่อมาในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 7 ในปี 2547 ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ขึ้น เพื่อจัดทำระบอบระหว่างประเทศว่าด้วยการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งมีการประชุมเจรจามาอย่างต่อเนื่อง 7 ครั้ง และจะมีการประชุมอีก 2 ครั้ง

จากนั้นจะนำร่างระบอบดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 10 ณ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น พิจารณาเห็นชอบระบบระหว่างประเทศฯ ให้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ โดยจะมีการเจรจากันว่าจะกำหนดให้การปฏิบัติตามระบอบระหว่างประเทศฯ เป็นไปตามความสมัครใจหรือมีกฎหมายบังคับ หรือเป็นลักษณะผสมผสานทั้งสองรูปแบบตามความเหมาะสม

ดร.วนิดา กล่าวว่าสาระสำคัญในระบอบระหว่างประเทศจะพูดถึงแนวทางต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรชีวภาพและผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งการเข้าถึงทรัพยากรและการแบ่งปันผลประโยชน์ เช่น การจดสิทธิบัตร ต่อไปอาจต้องแจ้งแหล่งที่มาของทรัพยากรชีวภาพที่ใช้ในการวิจัยด้วย เป็นต้น เพื่อให้เกิดผลตอบแทนย้อนกลับมาสู่ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร และส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากร รวมถึงเกิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาดั้งเดิมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพเหล่านั้น

ดร.วนิดา ยังบอกว่า การประชุมเจรจาเรื่องระบอบระหว่างประเทศครั้งต่อๆ ไปที่จะมีขึ้นนั้น ก็อาจมีปัญหาคล้ายๆ กับเวทีเจรจาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ผ่านๆมา เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่าน่าจะตกลงกันได้ในที่สุด โดยกลุ่มประเทศจี 77 (G77) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเป็นแหล่งของทรัพยากรชีวภาพ จะมีอิทธิพลต่อการประชุมพอๆ กับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ

ส่วนประเทศไทยนั้น มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการและเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพค่อนข้างมาก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เป็นต้น รวมทั้งร่างระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเข้าถึงและได้รับประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกรอบว่าประเทศไทยควรจะดำเนินการเพื่อมีส่วนร่วมในประชาคมโลกอย่างไร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ด้าน ดร.ธนิต ซังถาวร นักวิชาการด้านกฎหมายชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นแหล่งของทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และมักประสบกับปัญหาต่างชาติเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโจรสลัดทางชีวภาพ ซึ่งหลายประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีท่าทีว่าอยากให้มีกฎหมายบังคับใช้ในการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ ขณะที่บางประเทศ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ยังไม่มีท่าทีชัดเจน

ขณะเดียวกันในกลุ่มประเทศอาเซียนเองก็มีกรอบข้อตกลงในการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ (ASEAN Framwork Agreement) ซึ่งมี 8 ประเทศที่ลงนามยอมรับข้อตกลงแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ตัดสินใจลงนาม เพราะยังมีบางมาตราที่เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ฉะนั้นควรศึกษาให้ดีก่อนที่จะลงนามยอมรับข้อตกลงนั้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ธนิต ยังบอกอีกว่า ตอนนี้อาเซียนยังไม่มีจุดยืนที่แน่ชัด แต่หากอาเซียนผนึกกำลังกัน จะมีความเข้มแข็งมากพอที่จะต่อรองในเวทีนานาชาติได้ และถึงแม้ระเบียบหรือกฎหมายนานาชาติที่ออกมาจะดีแค่ไหน แต่ผลที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ ด้วย.




http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000126262
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 02/08/2012 4:13 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,719. พันธุ์ข้าวหอม 10 ชนิด




ชื่อข้าว มะลิแดง
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า ,นาปี
ลักษณะพันธุ์ ต้นสูงประมาณ 125 ซม. ใบสีเขียว แตกกอดี รวงยาว คอรวงยาว ติดเมล็ดดี เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีแดง คุณภาพการขัดสีดี คุณภาพการหุงต้ม นุ่ม มีกลิ่นหอม ต้านทานโรคและแมลง เหมาะสมกับการผลิตแบบอินทรีย์ เก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน





ชื่อข้าว มะลิดำ
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปี
ลักษณะพันธุ์ ต้นสูง 125 ซม. แผ่นใบใหญ่ ใบยาวสีเขียวคลุมวัชพืชได้ดี เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีดำรูปร่างเรียว ยาว การหุงต้ม นุ่ม เหนียว กลิ่นหอมอ่อน สรรพคุณทางยา มีธาตุเหล็กสูง ข้าวกล้องสีดำ ใช้ประโยชน์จากสีดำทำสีผสมอาหารได้ เก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน




ชื่อข้าว นางมลหอม
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปี
ลักษณะพันธุ์ ทรงกอตั้ง ต้นสูงประมาณ 130 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียว แผ่นใบสีเขียว ใบมีขนบ้าง ปล้องสีเหลือง ลำต้นค่อนข้างแข็ง คอรวงยาว ระแง้ถี่ การติดเมล็ดดี รวงยาวประมาณ 28 เซนติเมตร เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว เรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการหุงต้ม ข้าวสุก ร่วน มีกลิ่นหอม เก็บเกี่ยวกลางเดือนธันวาคม





ชื่อข้าว ปทุมเทพ
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปรัง,นาปี
ลักษณะพันธุ์ เป็นข้าวเจ้าหอม ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง อายุการเก็บเกี่ยว 110-125 วัน ทรงกอตั้ง แตกกอดีมาก ใบสีเขียว มีขน ใบธงยาว รวงอยู่ใต้ใบ เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง มีหางสั้นบางเมล็ด ผลผลิต 800-900 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพเมล็ดคล้ายข้าวขาวมะลิ 105 คุณภาพการหุงต้มข้าวสุก นุ่ม ค่อนข้างเหนียว มีกลิ่นหอม อ่อน ต้านทานโรคไหม้ และ โรคขอบใบแห้ง





ชื่อข้าว ขาวตาเคลือบ
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปี
ลักษณะพันธุ์ ทรงกอตั้ง แตกกอดี ความสูงประมาณ 130 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว แผ่นใบมีขน ลำต้นแข็งปานกลาง ข้อต่อใบสีเขียว ปล้องสีเขียว รวงยาวประมาณ 26 เซนติเมตร การติดเมล็ดปานกลาง คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว เมล็ดเรียว เป็นท้องไข่น้อย คุณภาพข้าวสุก นุ่ม ร่วน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เก็บเกี่ยวต้นเดือนธันวาคม





ชื่อข้าว พวงเงิน
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปี
ลักษณะพันธุ์ ทรงกอตั้ง ลำต้นสีเขียวใบใหญ่ และยาวสีเขียว แผ่นใบมีขน ต้นสูง 155 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ปล้องสีเหลืองอ่อน รวงยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ระแง้ถี่ การติดเมล็ดดี คอรวงยาว เมล็ดร่วงง่าย ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดยาว ข้าวกล้องสีขาว คุณภาพการหุงต้มนุ่ม มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน





ชื่อข้าว เหนียวดำ ใบดำ
ชนิดข้าว ข้าวเหนียว นาปี
ลักษณะพันธุ์ ทรงกอตั้ง ลำต้นสีม่วง แผ่นใบสีม่วง สีปล้องเส้นม่วง ต้นสูง 130 เซนติเมตร ต้นแข็งปานกลาง รวงยาวประมาณ 26 เซนติเมตร การติดเมล็ดปานปลาง คอรวงยาว เมล็ดข้าวเปลือกสีม่วง-ดำ ข้าวกล้องสีม่วงดำ เมล็ดค่อนข้างป้อม คุณภาพการหุงต้มข้าวสุก นุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอม เก็บเกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายน





ชื่อข้าว โสมาลี
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปี
ลักษณะพันธุ์ การแตกกอดี ทรงกอแผ่ ต้นสูงประมาณ 135 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว แผ่นใบมีขนเล็กน้อย ปล้องสีเหลืองอ่อน รวงยาวประมาณ 28 เซนติเมตร ระแง้ถี่ การติดเมล็ดแน่น คอรวงยาว ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดเรียวยาว ข้าวกล้องสีขาว ใส มีเลื่อมมัน จมูกเล็ก การเก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน ลำต้นอ่อน ล้มง่าย เมล็ดร่วงง่าย คุณภาพหุงต้ม ข้าวสุกเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอม





ชื่อข้าว ประดู่แดง
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปี
ลักษณะพันธุ์ ทรงกอแผ่ ต้นสูงประมาณ 130 เซนติเมตร ใบสีเขียว แผ่นใบมีขนบ้าง แตกกอดี ลำต้นแข็งปานกลาง ปล้องสีเหลืองอ่อน ออกรวงประมาณต้นพฤศจิกายน รวงยาวประมาณ 28 เซนติเมตร คอรวงยาว ระแง้ถี่ การติดเมล็ดปานกลาง ข้าวเปลือกสีน้ำตาลแดง ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างเมล็ดข้าวกล้องเรียว คุณภาพการหุงต้มข้าวสุกนุ่ม และมีกลิ่นหอมเล็กน้อย






ชื่อข้าว เหลืองเลาขวัญ
ชนิดข้าว ข้าวเจ้า นาปี
ลักษณะพันธุ์ ต้นสูง 135 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบใหญ่ยาว คลุมวัชพืชได้ดี แผ่นใบสีเขียว ใบมีขนเล็กน้อย รวงยาวประมาณ 28 เซนติเมตร คอรวงยาว ระแง้ถี่ การติดเมล็ดปานกลาง ข้าวเปลือกสีน้ำตาล ข้าวกล้องสีขาว เรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการหุงต้ม ข้าวสุก ร่วน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ทนแล้งได้ดี เก็บเกี่ยวกลางเดือนธันวาคม



http://www.khaokwan.org/seeds.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 03/08/2012 5:06 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,720. ขั้นตอนคัดกรองอาหารญี่ปุ่น ก่อนถึงมือผู้บริโภคไทย


ชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รางวัลจากรัฐมนตรีประจำสำนักคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติญี่ปุ่น เผยแดนซามูไรจัดทำมาตรการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอย่างเข้มงวด หากพบอาหารที่ปนเปื้อนจะห้ามจำหน่ายและทำลายทิ้งทันที พร้อมแนะไทยมีช่องทางส่งสินค้า อย่างกุ้ง-ไก่ ไปขายญี่ปุ่น นายวีระสิทธิ์ สรรพมงคลไชย อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนับเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลจากรัฐมนตรีประจำสำนักคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติญี่ปุ่น เผยว่าระหว่างการเดินทางไปรับรางวัลนี้เมื่อปลายเดือนพ.ค. กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นได้พาไปเยี่ยมชมหน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอาหารปลอดภัย เช่น ดูการวิเคราะห์สารกัมมันตรังสี รวมถึงดูมาตรการในการควบคุมอาหาร

นายวีระสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อได้เห็นระบบการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารที่เข้มงวดอย่างมากของญี่ปุ่น บวกกับมาตรการของสำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยที่ตรวจสอบการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นอย่างเข้มงวดแล้ว ก็ทำให้เชื่อมั่นว่าอาหารญี่ปุ่นที่ผ่านการตรวจสอบและนำเข้ามาขายในไทยนั้น ปลอดภัย

ทั้งนี้ การตรวจสอบหาสารกัมมันตรังสีในอาหารของญี่ปุ่นมีขึ้น หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิและวิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เมื่อเดือนมี.ค.

นายวีระสิทธิ์กล่าวว่าหลักการในการรับมือยามเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องใด คือการหามาตรการมาคุ้มครองและดูแลผู้บริโภค เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่ทานเข้าไปนั้นมีปลอดภัย ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการตรวจสอบที่ชัดเจน อย่างญี่ปุ่นนั้นมีการกำหนดพื้นที่ควบคุม ทั้งยังมีการผ่อนผันให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของพื้นที่ควบคุมเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่เกษตร โดยหากผลการตรวจวิเคราะห์ 3 ครั้งต่อเนื่องกัน พบค่าปนเปื้อนต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ได้รับการอนุญาตให้ขายได้

นอกจากนั้น คนญี่ปุ่นยังปฏิบัติตามกฎอย่างเข้มงวด เช่น หากตรวจแล้วพบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเกินมาตรฐาน ก็ทำลายอาหารนั้นทิ้งทันที ไม่นำกลับมาจำหน่ายในตลาดอย่างเด็ดขาด

ในส่วนของไทย ก็มีการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดเช่นกัน ปัจจุบันอาหารญี่ปุ่นที่มีการนำเข้านั้น หากไม่ได้อยู่ใน 12 จังหวัดใกล้พื้นที่อุบัติภัยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รั่วไหล ก็ต้องมีหลักฐานจากหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นมาว่ามาจากจังหวัดไหน

ขณะที่หากมาจาก 12 จังหวัดดังกล่าวก็ต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์ ทั้งจากหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงยังต้องมีผลตรวจปริมาณสารกัมมันตรังสีจากห้องปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐด้วย

นายวีระสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่อาหารบางประเภทในญี่ปุ่นอาจมีไม่เพียงพอ เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตินิวเคลียร์นั้น ไทยก็มีช่องทางในการส่งสินค้าไปขายในญี่ปุ่นเช่นกัน เช่น อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ที่ไทยมีศักยภาพมาก หรือไก่

ทั้งนี้ นายวีระสิทธิ์ทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในญี่ปุ่น รวมถึงเรื่องกฎหมาย หรือทำหน้าที่คล้ายสะพานเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย กับผู้บริโภคในญี่ปุ่น มาเป็นเวลากว่า 10 ปี

นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่านายวีระสิทธิ์ ได้รับการยอมรับในเรื่องความปลอดภัยของอาหารไทยและญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายปี และถือเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลด้านนี้จากรัฐมนตรีประจำสำนักคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติญี่ปุ่น

ที่มา: suthichaiyoon.com



http://www.agro.ku.ac.th/thai/depart_substance_detail.php?id=11&cid=1&dep_id=1
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 04/08/2012 6:25 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,721. ปลูกข้าวระบบใหม่ ชาวนาไทยยั่งยืน


โครงการจัดระบบการปลูกข้าว เป็นนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชาวนา โดยเฉพาะที่มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวครั้งที่ผ่านมา จนสามารถทำให้มีการทำนาถึงปีละ 3 ครั้ง หรือ 5 ครั้งภายใน 2 ปี ซึ่งการปลูกข้าวต่อเนื่องนี้เอง เป็นสาเหตุหลักที่สร้างปัญหาที่ตามมาอีกหลายด้าน

นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า การปลูกข้าวของชาวนาในยุคนี้ที่ต้องการผลผลิตจำนวนมาก จึงมีการเร่งปลูกข้าวทันทีหลังการเก็บเกี่ยว ดังนั้น ชาวนาส่วนใหญ่จะใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้นที่ทางราชการไม่ได้รับรองพันธุ์ ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพต่ำมาใช้ปลูกเพื่อให้สามารถปลูกได้ 3 ครั้งต่อปี และมีการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่มากเกินไป ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีในการควบคุมโรค แมลง ศัตรูข้าวต่างๆ และใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชและข้าววัชพืชในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น

โดยพบว่า ปัจจุบันชาวนามีการใช้

- ปุ๋ยเคมีถึงร้อยละ 88
- ใช้สารควบคุมวัชพืชร้อยละ 80
- ใช้สารควบคุมแมลงร้อยละ 63
- ใช้สารกำจัดหอยเชอรี่และปูร้อยละ 46

- ที่สำคัญยังพบว่าชาวนามีสารพิษตกค้างในร่างกายมากกว่าร้อยละ 80

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าการกระทำดังกล่าวนอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของชาวนาเอง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าวในภาพรวมของประเทศด้วย และยังส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งในแปลงนาและสิ่งแวดล้อม

การจัดระบบปลูกข้าว จึงเป็นหนทางออกและหนทางรอดของชาวนาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวนาเข้าสู่ระบบปลูกข้าว มาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการให้ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง โดยมีรูปแบบการปลูกข้าวแตกต่างกันไป คือ จะมีทั้งแบบปลูกพืชหลังนาหรือพืชปุ๋ยสดคั่นระหว่างการปลูกข้าวรอบที่ 1 กับรอบที่ 2 หรือจะเป็นการเว้นปลูกเฉยๆ ไม่ปลูกพืชอื่นสลับ ซึ่งพื้นที่นี้จะสามารถนำมาบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการเป็นพื้นที่รับน้ำหากเกิดกรณีอุทกภัยอย่างเช่นปีที่ผ่านมา โดยรูปแบบของระบบปลูกข้าวนั้นจะมีการทำเวทีชุมชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวนาในพื้นที่ที่ร่วมโครงการว่าต้องการเข้าระบบการปลูกข้าวรูปแบบใด

ตั้งแต่เริ่มโครงการจัดระบบปลูกข้าวจนถึงขณะนี้ นับว่ามีความคืบหน้าไปอย่างมาก สังเกตได้จากผลการจัดเวทีชุมชนมีชาวนาที่ต้องการปลูกพืชหลังนาคิดเป็นพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ และในพื้นที่อีก 7 แสนไร่มีความร่วมใจกันที่จะปลูกข้าวพร้อมกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ปัญหาทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม โรคแมลง ศัตรูข้าวโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินจะได้ทำการปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“ระบบปลูกข้าวใหม่นี้เป็นความหวังของประเทศไทย เพราะถ้าไม่นำระบบนี้มาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ในอนาคตชาวนาก็คงจะต้องประสบกับวิกฤติต่างๆ วนเวียนมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวนาเท่านั้น ยังส่งผลต่อคนในชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” อธิบดีกรมการข้าว กล่าวทิ้งท้าย



http://www.naewna.com/local/16771
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 04/08/2012 7:07 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,722. แปลงข้าวนาโน ที่กำแพงเพชร

ฝีมือลาดกระบัง เพิ่มผลผลิตต่อไร่กว่า 20%



กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะไทยเรา สามมื้อต้องมีข้าวเป็นจานหลัก หากดูจากสถิติจะ
พบว่าประชากรโลก บริโภคข้าวเฉลี่ย 118 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ส่วนคนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ยสูงถึง 335 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

...แต่ทว่ากว่าจะเป็น "ข้าว" ที่เราบริโภคกัน คนปลูกข้าวต่างต้องเผชิญปัญหาสารพัด ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูกที่เริ่มลดน้อยลง
คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การดูแลที่นับวันจะยากขึ้นเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศแปรเปลี่ยน แม้แต่การใช้ปุ๋ยและสารเคมีบำรุงต้น
หรือกำจัดศัตรูพืช ก็ล้วนมีผลต่อคุณภาพข้าวเช่นกัน

เหตุนี้ทีมวิจัยจากวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงร่วมกันคิดค้น
เทคโนโลยีที่สามารถลดปัญหาการเพาะปลูกข้าวโดยการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกว่า "อนุภาคนาโนซิงออกไซด์" (ZnO)
ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยการเจริญเติบโตของพืช ต้านทานต่อโรคได้ดี และสำคัญที่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตหลังการเก็บ
เกี่ยวได้สูงกว่า 3-5 เท่าตัว

...หมู่บ้านข้าวนาโนเทคโนโลยีนาบ่อคำ พระจอมเกล้าลาดกระบัง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่นี่คือต้น
แบบแปลงข้าวนาโน ที่นำนาโนซิงค์ออกไซด์ (ZnO) มาใช้ในการปลูกข้าวแบบหว่านตม





รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี สจล. กล่าวถึงที่มาของหมู่บ้านข้าวนาโนฯ ว่า แต่เดิมชุมชนในตำบลนาบ่อคำ
มีการเพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับปริมาณการปลูกและผลผลิตที่ควรจะได้นั้น ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก
ซึ่งเกณฑ์ที่ควรจะได้ผลผลิตนั้น อยู่ที่ประมาณ 650-774 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ในความเป็นจริง ได้ผลผลิตเพียง 400 กิโลกรัม
ต่อไร่

"เราพบว่าปัญหาเกิดจากการเพาะปลูกที่ขาดประสิทธิภาพ อย่างการเพาะกล้า การเติบโตไม่สม่ำเสมอ การใช้ปุ๋ยเคมีที่มีต้นทุนสูง
ซึ่งหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย ก็กำลังเกิดปัญหาในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การนำอนุภาคนาโนซิงออกไซด์ (ZnO) เข้า
มาช่วย ก็จะสามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้"

...ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) คือ ผงอนุภาคละเอียดสีขาว เป็นสารที่ใช้ยับยั้งแบคทีเรีย ไม่มีความเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากมีฤทธิ์
ในการฆ่าแบคทีเรียแล้ว ยังช่วยป้องกันและยับยั้งการแบ่งเซลล์ของแบคทีเรีย ด้วยเหตุนี้ซิงค์ออกไซด์จึงเป็นหนึ่งในสารที่สำคัญ
ในการเป็นยาต้านแบคทีเรีย และยังสามารถป้องกันรังสี UV-A และ UV-B ระงับกลิ่นไม่พึงประสงค์



รศ.ดร.จิติ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ทีมวิจัยได้ค้นพบประสิทธิภาพของ ZnO ที่มีต่อพืช จึงเริ่มนำ ZnO มาใช้ในการเพาะปลูกข้าว
โดยทดลองที่หมู่บ้านข้าวนาโนเทคโนโลยีนาบ่อคำ

ซึ่งมีกระบวนการคร่าวๆ เริ่มจากการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องการนำไปหว่าน แช่ด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์ผสมน้ำเป็นเวลา 1 วัน แล้ว
จึงนำไปหว่านลงในแปลง แล้ววัดการเจริญเติบโตทุกๆ 7 วัน ซึ่งพบว่า มีอัตราการงอกของต้นกล้า คิดเป็นร้อยละ 93 เมื่อครบ
6 สัปดาห์ ต้นข้าวมีความสูง 85.17 เซนติเมตร ซึ่งโตได้ดีกว่าข้าวที่ไม่ได้แช่เกือบ 10 เซนติเมตร และเมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต
แปลงข้าวนาโนจะให้ผลผลิตสูงถึง 660 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งแต่เดิมให้ผลผลิตเพียง 548 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตที่ได้จึงเป็นที่น่าพอ
ใจ เพราะเพิ่มมากขึ้นถึง 20%

"นับแต่การเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เราได้เห็นถึงประสิทธิภาพของอนุภาคนาโนซิงอ
อกไซด์ที่มีต่อการปลูกข้าว ซึ่งทำให้ปัจจุบันมี
ชาวนาสนใจนำองค์ความรู้ของการนำนาโนซิงค์ออกไซด์มาใช้ในการปลูกข้าวแบบหว่านตม ไปทดลองในแปลงนาของตัวเองมาก
กว่า 100 พื้นที่แล้ว" นักวิจัยนาโน กล่าว


ขณะที่ อาจารย์อรววรณ บุญรอด หัวหน้าโครงการวิจัยการเพาะปลูกข้าว โรงเรียนนาบ่อคำวิทยาคม หนึ่งในพื้นที่ทดลอง การันตีว่า
จากการทดลองปลูกข้าวที่ผ่านการแช่น้ำ ZnO ทำให้เกษตรกรในชุมชน รวมถึงนักเรียนของโรงเรียนได้มีความรู้เพิ่มเติมว่า อนุภาค
ของนาโนซิงออกไซด์ มีผลในการกำจัดเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่ทำให้เกิดการตายของต้นข้าว และตัว
อนุภาคของนาโนซิงออกไซด์นี้ ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวที่ได้รับนาโนซิงค์ออกไซด์อย่างต่อเนื่องมีการ
เจริญเติบโตที่ดี เนื่องจากมีคุณสมบัติของความ
เป็นปุ๋ย

อย่างไรก็ตาม การดูแลต้นข้าวด้วย ZnO อยู่ที่ไร่ละ 100 บาท ขณะที่การปลูกแบบเดิมที่ใช้ปุ๋ย และยาเคมีจะอยู่ที่ไร่ละ 800 บาท
ถือเป็นการช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกรไทย

...การค้นพบอนุภาคนาโนซิงออกไซด์ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวได้ นับเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะข้าว
เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไทย และกำลังประสบปัญหาจากคู่แข่งในตลาดส่งออก อย่างอินเดีย และเวียดนาม ที่ต่างมีผลผลิตคุณ
ภาพเยี่ยม และมีอำนาจต่อรองราคาการค้าได้มากขึ้น

จากนี้ไปก็ต้องวัดใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถนำ "นาโนซิงออกไซด์" ไปสู่ "นาข้าว" ทุกแปลงในประเทศได้หรือไม่?





ทีมวิจัยได้ค้นพบประสิทธิภาพของ ZnO ที่มีต่อพืช จึงเริ่มนำ ZnO มาใช้ในการเพาะปลูกข้าวโดยทดลองที่หมู่บ้านข้าวนาโน
เทคโนโลยีนาบ่อคำ

ซึ่งมีกระบวนการคร่าวๆ เริ่มจากการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องการนำไปหว่าน แช่ด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์ผสมน้ำเป็นเวลา 1 วัน แล้ว
จึงนำไปหว่านลงในแปลง แล้ววัดการเจริญเติบโตทุกๆ 7 วัน ซึ่งพบว่า มีอัตราการงอกของต้นกล้า คิดเป็นร้อยละ 93 เมื่อครบ
6 สัปดาห์ ต้นข้าวมีความสูง 85.17 เซนติเมตร ซึ่งโตได้ดีกว่าข้าวที่ไม่ได้แช่เกือบ 10 เซนติเมตร และเมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต
แปลงข้าวนาโนจะให้ผลผลิตสูงถึง 660 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งแต่เดิมให้ผลผลิตเพียง 548 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตที่ได้จึงเป็นที่น่าพอ
ใจ เพราะเพิ่มมากขึ้นถึง 20%

"นับแต่การเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เราได้เห็นถึงประสิทธิภาพของอนุภาคนาโนซิงออกไซด์ที่มีต่อการปลูกข้าว ซึ่งทำให้ปัจจุบันมี
ชาวนาสนใจนำองค์ความรู้ของการนำนาโนซิงค์ออกไซด์มาใช้ในการปลูกข้าวแบบหว่านตม ไปทดลองในแปลงนาของตัวเองมาก
กว่า 100 พื้นที่แล้ว" นักวิจัยนาโน กล่าว




รอด หัวหน้าโครงการวิจัยการเพาะปลูกข้าว โรงเรียนนาบ่อคำวิทยาคม หนึ่งในพื้นที่ทดลอง การันตีว่า จากการทดลองปลูกข้าวที่
ผ่านการแช่น้ำ ZnO ทำให้เกษตรกรในชุมชน รวมถึงนักเรียนของโรงเรียนได้มีความรู้เพิ่มเติมว่า อนุภาคของนาโนซิงออกไซด์
มีผลในการกำจัดเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่ทำให้เกิดการตายของต้นข้าว และตัวอนุภาคของนาโนซิง
ออกไซด์นี้ ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวที่ได้รับนาโนซิงค์ออกไซด์อย่างต่อเนื่องมีการเจริญเติบโตที่ดี
เนื่องจากมีคุณสมบัติของความเป็นปุ๋ย

อย่างไรก็ตาม การดูแลต้นข้าวด้วย ZnO อยู่ที่ไร่ละ 100 บาท ขณะที่การปลูกแบบเดิมที่ใช้ปุ๋ย และยาเคมีจะอยู่ที่ไร่ละ 800 บาท
ถือเป็นการช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกรได้อีกด้วย

...การค้นพบอนุภาคนาโนซิงออกไซด์ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวได้ นับเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะข้าว
เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไทย และกำลังประสบปัญหาจากคู่แข่งในตลาดส่งออก อย่างอินเดีย และเวียดนาม ที่ต่างมีผลผลิตคุณ
ภาพเยี่ยท และมีอำนาจต่อรองราคาการค้าได้มากขึ้น

จากนี้ไปก็ต้องวัดใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถนำ "นาโนซิงออกไซด์" ไปสู่ "นาข้าว" ทุกแปลงในประเทศได้หรือไม่ ?


* กาญจน์วดี โชควิทยานุกูล


http://www.google.co.th


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 07/01/2023 6:59 pm, แก้ไขทั้งหมด 3 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 04/08/2012 7:29 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,723. ไบโอ เอทานอล จากต้นมันสำปะหลัง



จะบอกอะไรให้..ว่าต้นมันสำปะหลังนี่มีประโยชน์มหาศาล สามารถผลิตเป็นไบโอเอทานอล ใช้ได้ดีไม่ใช่เล่น

รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยา ลัยขอนแก่น กับนักศึกษาระดับปริญญาโท กลุ่ม
หนึ่งเขาร่วมกันคิดค้นขึ้น ภายใต้งานวิจัย "การผลิตไบโอเอทานอล (ลิกโนเซลลูโลสิกเอทานอล) จากลำต้นมันสำปะหลัง" เพื่อเป็น
พลังงานทดแทน




...จากต้นมันสำปะหลัง นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากให้แห้งสนิทเพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้น แล้วบดให้เป็นผงละเอียดขนาด 500 ไมครอน
และนำไปกำจัดลิกนินออกไป จะได้สารสีขาวขึ้นที่เรียกว่า "โฮโลเซลลูโลส" จากนั้นนำไปหมักโดยใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์กำจัด เพื่อ

ให้ได้ "เซลลูโลส" แล้วเข้าสู่กระบวนการย่อย ซึ่งจะใช้กรดซัลฟิวริกเจือจางผสมในสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วนำไปนึ่งในหม้อนึ่งอบไอน้ำ
ที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ประมาณ 90 นาที

แล้วเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญ การกรองเพื่อแยกเอาน้ำตาลและกากที่หลงเหลือออกจากกัน จะได้สารละลายใส ไม่มีสีหรือสีน้ำตาลอ่อน
ก็ได้ เพื่อนำไปหมัก ซึ่งเป็นกระบวนการของการผลิตเอทานอลต่อไป โดยใส่เชื้อยีสต์ Saccharomyces cerevisiae TISTR
5048 ที่เจริญบนอาหารเหลว ในอัตราส่วนของเชื้อยีสต์ต่อปริมาตรสารละลาย เป็น 1 ต่อ 10ลงไปในสารละลายน้ำตาลที่เติมอาหาร
สังเคราะห์ที่ฆ่าเชื้อแล้ว จากนั้นนำไปหมักที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส บนเครื่องเขย่าที่ความเร็ว 100 รอบต่อนาที เป็นเวลา 48 ชั่วโมง





หลังจากบ่มเชื้อครบ 48 ชั่วโมงแล้วนำน้ำหมักที่ได้ไปกลั่นเพื่อให้ได้เอทานอล โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการกลั่น คือช่วง 70- 80
องศาเซลเซียส ขั้นตอนนี้จะได้เอทานอลที่บริสุทธิ์ในระดับหนึ่ง จากนั้นนำไปตรวจวัดหาปริมาณด้วยเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ ที่ประ
มวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พบว่า ปริมาณของเอทานอลที่ได้จะอยู่ที่ 8-12 เปอร์เซ็นต์ ของวัตถุดิบตั้งต้น


นั้นคือกระบวนการคร่าวๆ ของผลิตไบโอเอทานอล ซึ่ง รศ.ดร.เฉลิม ระบุแม้ว่าปริมาณของเอทานอลที่ได้จะอยู่ที่ 8-12 เปอร์
เซ็นต์ แต่เชื่อว่างานวิจัยนี้มีความคุ้มค่าในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถขยายผลงานจากห้องปฏิบัติการ นำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้


"เมื่อเรานำเอทานอลที่ได้ไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ จะทำให้น้ำมันมีราคาถูกลง เพระเป็นพลังงานทดแทนอีกทาง
เลือกหนึ่ง และยังช่วยเหลือเกษตรกรให้ใช้ประโยชน์จากลำต้นมันสำปะหลังอย่างคุ้มค่า"



@ รู้ไว้บ้างก็ดี!
แก๊สโซฮอล์ มีองค์ประกอบต่างจากน้ำมันเบนซิน คือ น้ำมันเบนซิน จะมีสารเมธิล เทอร์เทียรี บิวทิล อีเธอร์ (Methyl tert- Butyl
Ether หรือสาร MTBE) เป็นสารเพิ่มออกเทนให้น้ำมัน ทำให้ป้องกันการน๊อคของเครื่องยนต์ มีราคาแพง แม้จะใช้แทนสารตะกั่วใน
น้ำมันเบนซินได้ แต่หากสูดดมเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน ระคายเคืองจมูกและคอ มีผลต่อระบบประสาท และยังพบว่า
เป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

ส่วนแก๊สโซฮอล์ นั้นจะใช้เอทานอลผสมลงในน้ำมันเบนซิน แทนสาร MTBE ซึ่งออกซิเจนที่เป็นส่วนประกอบในเอทานอล จะช่วย
ให้การเผาไหม้ภายในห้องเครื่องยนต์สมบูรณ์ขึ้น ลดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือแก๊สพิษชนิดอื่นๆ ที่จะปล่อยออกมาจากท่อ
ไอเสีย ช่วยลดมลพิษในอากาศที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน



http://www.google.co.th


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 07/01/2023 7:00 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 05/08/2012 6:50 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,724. การให้น้ำอ้อย







การให้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย
น้ำ เป็นปัจจัยการผลิตหลักที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อย หากอ้อยได้รับน้ำอย่างเพียงพอตลอดช่วงการเจริญเติบโต ผลผลิต
อ้อยจะได้ไม่ต่ำกว่า 15 ตันต่อไร่ อ้อยต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างน้ำตาล อ้อยที่ขาดน้ำจะเจริญเติบโตช้า
ผลผลิตต่ำ และให้ความหวานต่ำ


พื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในเขตชลประทาน อ้อยต้องการน้ำเพื่อการ
เจริญเติบโตตลอดปี ประมาณ 1,500 มิลลิเมตร การเพิ่มผลผลิตอ้อยให้สูงขึ้นจึงจำเป็นต้องให้น้ำชลประทานหรือน้ำบาดาลช่วย
การให้น้ำแก่อ้อยจะทำให้ความสามารถในการไว้ตอดีขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อีกทางหนึ่ง



ความต้องการน้ำและการตอบสนองต่อการให้น้ำของอ้อย
การ ผลิตอ้อยให้ได้ผลผลิตสูงนั้น อ้อยจะต้องได้รับน้ำ (น้ำฝน/ชลประทาน) อย่างเพียงพอ ตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโต
ความต้องการน้ำของอ้อยจะขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ และช่วงระยะการเจริญเติบโต ได้แบ่งระยะความต้องการน้ำของอ้อยไว้ 4
ระยะ คือ

1. ระยะตั้งตัว (0-30 วัน)
เป็นระยะที่อ้อยเริ่มงอกจนมีใบจริง และเป็นตัวอ่อน ระยะนี้อ้อยต้องการน้ำในปริมาณไม่มาก เพราะรากอ้อยยังสั้นและกา
รคายน้ำยังมีน้อย ดินจะต้องมีความชื้นพอเหมาะกับการงอก ถ้าความชื้นในดินมากเกินไปตาอ้อยจะเน่า ถ้าความชื้นในดินน้อย
เกินไป ตาอ้อยจะไม่งอก หรือถ้างอกแล้วก็อาจจะเหี่ยวเฉาและตายไป ในสภาพดินที่เมื่อแห้งแล้วผิวหน้าฉาบเป็นแผ่นแข็ง ก็อาจ
ทำให้หน่ออ้อยไม่สามารถแทงโผล่ขึ้นมาได้ ดังนั้น ในระยะนี้การให้น้ำอ้อยควรให้ในปริมาณน้อยและบ่อยครั้ง เพื่อทำให้สภาพ
ความชื้นดินเหมาะสม

2. ระยะเจริญเติบโตทางลำต้น (31-170 วัน)
ระยะนี้รากอ้อยเริ่มแพร่กระจายออกไปทั้งในแนวดิ่งและแนวระดับ เป็นระยะที่อ้อยกำลังแตกกอและสร้างปล้องเป็นช่วงที่อ้อยต้อง
การน้ำมาก ถ้าอ้อยได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอในระยะนี้ จะทำให้อ้อยมีจำนวนลำต่อกอมาก ปล้องยาว ทำให้อ้อยมีลำยาว และ
ผลผลิตสูง การให้น้ำจึงต้องให้บ่อยครั้ง

3. ระยะสร้างน้ำตาลหรือช่วงสร้างผลผลิต (171-295 วัน)
ช่วงนี้พื้นที่ใบอ้อยที่ใช้ประโยชน์ได้จะน้อยลง อ้อยจะคายน้ำน้อยลง และตอบสนองต่อแสงแดดน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อย
ให้เฉพาะช่วงที่อ้อยเริ่มแสดงอาการขาดน้ำ

4. ระยะสุกแก่ (296-330 วัน)
เป็น ช่วงที่อ้อยต้องการน้ำน้อย และในช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 6-8 สัปดาห์ ควรหยุดให้น้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำในลำต้นอ้อยและบังคับ
ให้น้ำตาลทั้งหมดในลำอ้อยเปลี่ยนเป็น น้ำตาลซูโครส




ข้อพิจารณาในการให้น้ำแก่อ้อย
การพิจารณาว่าเมื่อใดควรจะถึงเวลาให้น้ำแก่อ้อย และจะให้น้ำครั้งละปริมาณเท่าใด มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ

@ ระยะการเจริญเติบโต ความต้องการน้ำของอ้อย ปริมาณน้ำที่ให้แก่อ้อยจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโต
อัตราความต้องการใช้น้ำ ความลึกที่รากหยั่งลงไปถึง อ้อยจะเจริญเติบโตได้ดีก็ต่อเมื่อความชื้นในดินเหมาะสม ถ้ามีความชื้นในดิน
สูงหรือต่ำมากเกินไป อ้อยจะเจริญเติบโตผิดปกติ เมื่อดินมีน้ำมากจะทำให้ขาดออกซิเจน โดยทั่วไปถ้าในดินมีอากาศอยู่ต่ำกว่า
5 เปอร์เซ็นต์ รากอ้อยจะชะงักการดูดธาตุอาหาร น้ำและออกซิเจน เป็นเหตุให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ถ้าขาดน้ำใบจะห่อในเวลา
กลางวัน

@ คุณสมบัติทางกายภาพของดิน เช่น ความสามารถของดินในการซับน้ำ ดินต่างชนิดกันย่อมมีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ไม่เหมือน
กันสำหรับดินที่สามารถ ซับน้ำไว้ได้มากไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยครั้งเหมือนดินที่มีเนื้อหยาบและซับ น้ำได้น้อย ดินเหนียวจะมี
ความชื้นอยู่มากกว่าดินทราย ดังนั้น หลักการให้น้ำแก่อ้อยที่ถูกต้อง คือ ให้น้ำตามที่อ้อยต้องการ ส่วนปริมาณน้ำที่จะให้แต่ละครั้ง
มากน้อยเท่าไร และใช้เวลานานเท่าใด ย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางกายภาพของดินซึ่งไม่เหมือนกัน

@ สภาพลมฟ้าอากาศ อุณหภูมิ ของอากาศ การพิจารณาการให้น้ำแก่อ้อยจะต้องพิจารณาถึง อุณหภูมิและสภาพลมฟ้าอากาศ
ด้วย ในช่วงที่มีอุณหภูมิสูงอ้อยจะคายน้ำมาก ความต้องการน้ำจะมากตามไปด้วย จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยขึ้น ในช่วงที่มีฝนตกควร
งดให้น้ำ และหาทางระบายน้ำแทน เพื่อให้ดินมีความชื้นและอากาศในดินเหมาะสม ในช่วงฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำช่วยจะทำให้การ
เจริญเติบโตของอ้อยดีขึ้น


ระบบการให้น้ำอ้อย
การ เลือกระบบการให้น้ำอ้อยที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของดิน ความลาดเอียงของพื้นที่ ต้นทุน และความ
พร้อมในการนำน้ำมาใช้ รวมทั้งความพร้อมในด้านแรงงาน และอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ในการให้น้ำ ระบบการให้น้ำอ้อย
ในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ทั้งในและต่างประเทศมีดังนี้

1. การให้น้ำแบบร่อง (Furrow irrigation)
เป็นระบบการให้น้ำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่าง ประเทศ เพราะเป็นระบบที่ใช้ต้นทุนต่ำ สะดวกและง่ายในการปฏิบัติ แต่
ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่แปลงปลูกอ้อยจะต้องค่อนข้างราบเรียบ โดยมีความลาดชัน ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพของการให้น้ำ
แบบร่องจะผันแปรอยู่ระหว่าง 30-90 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ การให้น้ำได้โดยการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม

โดยปกติการให้น้ำระบบนี้จะมีร่องน้ำที่หัวแปลงหรืออาจใช้ ท่อหรือสายยางที่มีช่องเปิดให้น้ำไหลเข้าร่องอ้อยแต่ละร่อง เมื่อน้ำ
ไหลไปจนสุดร่องแล้ว อาจยังคงปล่อยน้ำต่อไปอีกเพื่อให้น้ำซึมลงในดินมากขึ้นน้ำที่ท้ายแปลงอาจ ระบายออกหรือเก็บรวบรวม
ไว้ในบ่อพักเพื่อนำกลับมาใช้อีก ในแปลงอ้อยที่มีความลาดชันน้อยมาก (ใกล้ 0 เปอร์เซ็นต์) สามารถจัดการให้น้ำโดยไม่มี
น้ำเหลือทิ้งท้ายแปลงได้ โดยปรับสภาพพื้นที่ให้มีความลาดชันน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์และทำคันกั้นน้ำตลอดท้ายแปลง น้ำที่
ให้ไปสุดท้ายแปลงจะถูกดักไว้โดยคันกั้นน้ำ ทำให้น้ำมีเวลาซึมลงในดินมากขึ้น วิธีนี้จะเหมาะกับดินที่มีการซึมน้ำช้า และน้ำที่จะ
ให้มีจำกัด

แม้ ว่าการให้น้ำระบบร่องจะใช้ได้กับพื้นที่มีความลาดเอียงไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับพื้นที่ที่มีความลาดเอียง
ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับความยาวร่องที่ใช้มีตั้งแต่ 25 เมตร ถึง 1,000 เมตร รูปร่าง ของร่องและอัตราการไหลของน้ำ ขึ้น
กับชนิดของดินและความลาดชันของพื้นที่ สำหรับดินที่มีความสามารถ ในการซึมน้ำได้ดี ควรใช้ร่องปลูกรูปตัว ‘V' และมีสันร่อง
กลาง เพื่อให้น้ำไหลได้เร็วและลดการสูญเสียน้ำ จากการซึมลึกในแนวดิ่ง ในทางกลับกันสำหรับดินที่มีการซึมน้ำเลว ควร
ใช้ร่องที่มีก้นร่องกว้างและสันร่องแคบ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสของดินกับน้ำ ทำให้น้ำซึมลงดินได้ทั่วถึง


2. การให้น้ำแบบพ่นฝอย (Sprinkler irrigation)
การให้น้ำแบบนี้ใช้ได้กับทุกสภาพพื้นที่และทุกชนิดดิน ประสิทธิภาพในการใช้น้ำอาจเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ ได้ ถ้ามีการจัดการที่
ถูกต้องและเหมาะสม การให้น้ำแบบนี้มีหลายรูปแบบ เช่น

- สปริงเกอร์หัวใหญ่ ต้องใช้ปั๊มน้ำแรงดันสูงและมีทางวิ่งถาวรในแปลงอ้อย

รุ่นประหยัดให้ดูตามลิงค์นี้
http://www.sprinklethai.com



รุ่นคุณภาพให้ดูตามลิงค์นี้
http://www.sprinklethai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539161088

- สปริงเกอร์แบบหัวเล็กเคลื่อนย้ายได้ ใช้สำหรับอ้อยปลูกหรืออ้อยตออายุน้อย และปริมาณน้ำที่ให้มีจำกัด มีข้อเสีย คือ ต้องใช้
แรงงานมากในการเคลื่อนย้าย และไม่สามารถใช้กับอ้อยสูงได้

- สปริงเกอร์แบบหัวเล็กบนแขนระนาบ (Lateral move irrigators) ข้อดีคือสามารถให้น้ำในพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิ
ภาพและใช้แรงงานน้อย แต่มีข้อเสียคือใช้ต้นทุนสูงสำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือ

- สปริงเกอร์แบบหัวเล็กขนแขนที่เคลื่อนเป็นวงกลมรอบจุดศูนย์กลาง (Centre-pivot irrigators)


3. การให้น้ำแบบน้ำหยด (Drip irrigation)
เป็นวิธีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพในการให้น้ำสูงสุด โดยสามารถให้น้ำเฉพาะรอบ ๆ รากพืช และสามารถให้ปุ๋ยและสารเคมีป้องกัน
กำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกับน้ำได้เลย ปัจจุบันมีใช้กันอยู่ 2 แบบ คือ

- ระบบน้ำหยดบนผิวดิน (Surface system) ระบบนี้จะวางสายให้น้ำบนผิวดินในแนวกึ่งกลางร่อง หรือข้าร่อง อาจวางทุกร่อง
หรือร่องเว้นร่อง

ให้ดูตามลิงค์นี้
http://www.sprinklethai.com



- ระบบน้ำหยดใต้ผิวดิน (Subsurface system) ระบบนี้จะต้องวางสายให้น้ำก่อนปลูก โดยปกติจะฝังลึกประมาณ 25-30
ซม. และสายให้น้ำจะอยู่ใต้ท่อนพันธุ์อ้อยประมาณ 10 ซม




http://www.sprinklethai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539163966&Ntype=1


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 07/01/2023 7:05 pm, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 05/08/2012 11:33 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,725. พด. เปิดผลวิจัยการไถกลบตอซัง ลดภาวะโลกร้อน


การไถกลบตอซังข้าวแทนการเผาตอซังนั้น นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ต้องการรณรงค์ให้เกษตรกร
ผู้ปลูกข้าวได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผาตอซัง ซึ่งเป็นการทำลายอินทรียวัตถุในดิน อีกทั้งยังเป็นการปลดปล่อยก๊าซคาร์
บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนที่เป็น สาเหตุของภาวะโลกร้อน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาไถกลบตอซังซึ่งเป็นวิธีการ
คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
มีผลต่อการทำการเกษตรอย่างมาก ประกอบกับการทำนาของชาวนาในยุคนี้ที่ต้องการให้ได้ผลผลิตมากที่สุด จึงมีการปลูกข้าว
อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการพักแปลงนา และชาวนานิยมใช้วิธีการเผาตอซังเพื่อความรวดเร็วในการเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูก
ข้าวในรอบต่อไป แต่ความจริงแล้ว วิธีการที่เหมาะสมมากที่สุด คือ การไถกลบตอซัง เนื่องจากเป็นการนำเศษซากพืชหมุนเวียน
กลับลงสู่ดิน ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูก และยังช่วยลดต้น
ทุนค่าปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย


กรมพัฒนาที่ดิน จึงมีนโยบายรณรงค์ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการไถกลบตอซังแทนการเผาตอซัง เพราะเป็นการ
ช่วยรักษาสภาพผืนดินให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศไทย
มีจำกัด อีกทั้งชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไม่รักษาผืนดินเดิมให้ดี ในอนาคตอาจไม่มีพื้นที่
ทำกิน ซึ่งสภาพแข่งขันของโลกการค้าเสรีในปัจจุบัน ล้วนทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน ประเด็น
การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของภาวะโลกร้อนอาจถูกหยิบยกมาเป็นข้อกีดกันทางการค้าได้ ซึ่งการทำนาก็เป็นภาคการ
ผลิตหนึ่งที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ดังนั้น เพื่อเป็นการหาข้อพิสูจน์ในเรื่องของการปลดปล่อยก๊าซในนาข้าว กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน
ซึ่งมีนางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข เป็นผู้อำนวยการ และได้มอบหมายนักวิจัย คือ ดร.นิสา มีแสง ทำงานวิจัยเรื่อง “พลวัตรของคาร์บอน
ในดินจากการไถกลบตอซังข้าวในภาคกลางของประเทศไทย”


ดร.นิสา กล่าวว่า งานวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาผลของการจัดการดินด้วยวิธีการไถกลบตอซังเปรียบเทียบกับวิธีการเผาตอซัง และวิธี
การนำตอซังออกไปนอกแปลงนาต่อปริมาณการปลดปล่อยก๊าซ 2 ชนิด คือ ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็น
ส่วนหนึ่งของก๊าซที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมทั้งศึกษาปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บลงดินในรูปของอินทรีย
คาร์บอน และผลที่เกิดต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพของดินในพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อจะได้วิธีการจัดการดินที่เหมาะสมสำหรับ
การปลูกข้าวและช่วยลดผลกระทบต่อปัญหาภาวะโลกร้อนได้บ้าง


การวิจัยดำเนินการในพื้นที่แปลงนาของเกษตรกรบ้านห้วยโรง ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เก็บข้อมูลทั้งในฤดูข้าวนาปี
และนาปรัง ผลการวิจัยพบว่า วิธีการไถกลบตอซังมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสูงสุด 131.82 มิลลิกรัม/ตารางเมตร/ชั่วโมง ด้วย
แปลงนามีสภาพน้ำขัง ทำให้อินทรียวัตถุจากตอซังข้าวถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์เกิดเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งไม่แตกต่างจากวิธีการ
นำตอซังออกไปนอกแปลง ในขณะที่วิธีการเผาตอซังมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณที่น้อยกว่า คือ 111.32 มิลลิกรัม/
ตารางเมตร/ชั่วโมง


นอกจากนี้ ยังพบว่าฤดูการปลูกข้าวนาปรังจะมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนรวมตลอดฤดูเฉลี่ย 144.51 มิลลิกรัม/ตารางเมตร/ชั่วโมง
และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 14,832.80 มิลลิกรัม/ตารางเมตร/ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าฤดูข้าวนาปี ที่มีการปลด
ปล่อยก๊าซมีเทนเฉลี่ย 104.76 มิลลิกรัม/ตารางเมตร/ชั่วโมง และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 8,454.62 มิลลิ
กรัม/ตารางเมตร/ชั่วโมง เนื่องจากฤดูนาปรังมีค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิที่สูงกว่า และมีช่วงเวลาการขังน้ำในแปลงนาที่นานกว่าฤดูนาปี


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการไถกลบตอซังจะมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่าการเผาตอซัง แต่
ก็มีปริมาณคาร์บอนที่ถูกกักเก็บลงสู่ดินเฉลี่ยสูงสุด 603 กิโลกรัม/ไร่ และมีการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิสู่ชั้นบรรยากาศเฉลี่ย
ทั้ง 2 ฤดูปลูกข้าวต่ำสุด 1,312.2 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่การเผาตอซัง ปริมาณคาร์บอนจากส่วนของต้นข้าวถูกเผาปล่อยสู่
บรรยากาศเมื่อต้นฤดูปลูก แม้จะมีปริมาณคาร์บอนจากส่วนของรากคงอยู่ในดินแต่มีปริมาณน้อย ดังนั้น การเผาตอซังจึงมีการปลด
ปล่อยคาร์บอนสุทธิจากก๊าซทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวสู่บรรยากาศที่สูงเป็นปริมาณถึง 2,072 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งผลการวิจัยนี้สรุปได้
ว่า การไถกลบตอซังเป็นวิธีการจัดการดินที่เหมาะสม สามารถช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และยังช่วยเพิ่มความอุดมสม
บูรณ์ของดินได้อีกด้วย




http://www.naewna.com/local/16362
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 05/08/2012 11:44 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,726. พด. เปิด 6 ผลงานวิจัยดีเด่น



นางตุลญา จงสกุล ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่กรมพัฒนาที่ดินได้จัดให้มีการประชุมวิชาการ ประจำปี
2555 เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้นำเสนอผลงานวิชาการในสาขาต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี
และผลสำเร็จงานวิชาการมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรดิน ตลอดจนถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิ
ภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่นปี 2555 เพื่อมอบประกาศเกียรติคุณให้กับเจ้าของผลงาน เป็นขวัญและกำลัง
ใจให้มุ่งมั่นพัฒนางานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประเทศชาติต่อไป


โดยผลงานวิจัยดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกในงานประชุมวิชาการปีนี้ แบ่งเป็นภาคบรรยาย 18 รางวัล 6 สาขา ซึ่งจะมีรางวัลดีเด่น
สาขาละ 1 รางวัล ประกอบด้วย

- สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ เรื่องการปลูกหญ้าแฝกรอบกองขยะเพื่อกรองสารพิษ
- สาขาปรับปรุงบำรุงดิน เรื่องการศึกษาอัตราการใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมีร่วมกับวัสดุปรับปรุงดินเพื่อปลูกผักกาดหางหงส์ แบบมีส่วน
ร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน โครงการหลวงหนองหอย
- สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เรื่องศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บรักษาปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ยังคงประสิทธิภาพ (วันหมดอายุ)
- สาขาสำรวจ วิเคราะห์ วางแผนการใช้ที่ดิน เรื่องสัณฐานวิทยาและสมบัติทางกายภาพของชั้นดานเปราะในดินที่มีวัสดุกำเนิด
ที่แตกต่างกัน
- สาขาเศรษฐสังคมและประเมินผล เรื่องการประเมินต้นทุนและผลตอบแทน จำแนกตามเขตพื้นที่ความเหมาะสมของที่ดิน
สำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจมะพร้าว
- สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เรื่องพลวัตรของคาร์บอนในดินจากการไถกลบตอซังข้าวในภาคกลางของประเทศไทย

- ที่เหลือเป็นรางวัลชมเชยอีกสาขาละ 2 รางวัล





http://www.naewna.com/local/15282
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 05/08/2012 3:40 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,727. ศูนย์นาโนฯ เพื่อการเกษตร



จากความสำเร็จในงานวิจัยและการพัฒนานำวัสดุนาโนไปประยุกต์ใช้ในงานด้านเกษตรกรรม ของวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งมีผลลัพธ์คือการเพิ่มผลผลิตสร้าง
มูลค่าและรายได้ให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก ผ่านรูปแบบโครงการหมู่บ้านนาโนเทคโนโลยี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ได้แก่
หมู่บ้านข้าวนาโนเทคโนโลยีนาบ่อคำ และหมู่บ้านนาโนเทคโนโลยีมันสำปะหลังนาบ่อคำ จังหวัดกำแพงเพชร หมู่บ้านผักหวาน
นาโนและหมู่บ้านผ้าครามนาโน จังหวัดสกลนคร หมู่บ้านยางพารานาโน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมู่บ้านผ้าไหมภูไทนาโน จังหวัด
มุกดาหาร และหมู่บ้านเครื่องกรองน้ำลือคำหาญ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านนั้น ได้นำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีไป
ใช้จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สจล.จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดเอาไว้ พร้อมกับจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยี
เพื่อการเกษตร ด่านช้าง แห่งแรกของประเทศ ไทย” ตั้งอยู่ที่ ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี


รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สจล. กล่าวว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเปรียบเหมือนหน่วยงาน
หลักด้านการศึกษาเพื่อประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในงานด้านการเกษตร เพราะเกษตรกรรมคือรากเหง้าของคนไทย ดังนั้นเรา
ต้องมุ่งเน้นการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด โดยผลสำเร็จที่ผ่านมาใน 7 หมู่บ้านนาโนเทคโนโลยี ไม่ว่าจะ
ฃเป็นความสามารถในการยืดอายุแผ่นยางพาราเพื่อเก็บไว้ขายช่วงที่ยางได้ราคาดี หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหมภูไทด้วย
เส้นไหมที่มีความเข้มของสี คงทนต่อแสงและการซักล้าง เป็นต้น เหล่านี้จะถูกนำมาเผยแพร่ต่อเป็นองค์ความรู้ให้กับผูู้สนใจและเป็น
แบบอย่างให้กับเกษตรกรที่ต้องการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของตัวเองต่อไป โดยการทำงานของศูนย์ฯ


จะเริ่มจากการให้ความรู้แก่เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับที่ตั้งของศูนย์ฯ“ในเบื้องต้นเราจะอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร 32
รายที่ทำเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะเพิน จะบอกเล่าให้ฟังถึงอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ซึ่งเป็นนาโน
เทคโนโลยีที่เรานำมาใช้ด้านการเกษตรได้อย่างปลอดภัย พร้อมกันนั้นจะสอนวิธีการใช้ ตลอดจนให้คำแนะนำการนำไปประยุกต์
ใช้กับพืชพันธุ์ของเกษตรกรแต่ละคน ส่วนใหญ่เกษตรกรละแวกนี้มักจะนิยมปลูกพืชส่งออก เช่น มันสำปะหลัง, พริก, เผือกหอม,
อ้อย และข้าวโพด จากนั้นทางศูนย์ฯ ก็จะมอบอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ให้เกษตรกรไปทดลองใช้ และเราจะส่งทีมนักวิจัย
เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมวัสดุนาโน ลงพื้นที่คอยเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป”
รศ.ดร.จิติ กล่าว


ดร.วิรัตน์ เจริญบุญ หัวหน้าศูนย์นาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ด่านช้าง กล่าวว่าตนจะทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมและสร้างความ
เข้าใจง่าย ๆ ให้แก่เกษตรกรได้รู้จักกับนาโนซิงค์ออกไซด์และชี้แนะให้เห็นประโยชน์ของมัน โดยหลักการของอนุภาคนี้จะ
สามารถยับยั้งการเกิดเชื้อราและฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นตัวรบกวนการเจริญเติบโตของพันธุ์พืชนานาชนิด นอกจากนี้หากนำนาโน
ซิงค์ออกไซด์มาใช้ในช่วงเพาะพันธุ์ก็จะช่วยทำให้อัตราการงอกเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อได้ต้นกล้าพันธุ์จำนวนมากขึ้น การเติบโต
เป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น ก็ย่อมนำมาสู่ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นในที่สุด


“แม้ว่าเจ้าอนุภาคนาโนที่เลือกมาแนะนำตัวนี้จะมั่นใจได้แล้วว่าปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทางศูนย์ฯ ยังต้องการต่อ
ยอดผลงานการใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี โดยอยู่ระหว่างการคิดค้นวิธีการสังเคราะห์วัสดุนาโนจากธรรมชาติเพื่อใช้ประ
โยชน์ในด้านเกษตรกรรม เช่น การสังเคราะห์วัสดุนาโนจากกระเทียม ข่า และใบสะเดา ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่เกษตรกรใช้กัน
แพร่หลาย ในการไล่แมลงและยับยั้งเชื้อรา หากสามารถสังเคราะห์ออกมาให้เป็นอนุภาคนาโนได้ย่อมทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น
หลายเท่าด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลงได้” ดร.วิรัตน์ กล่าว


สำหรับเป้าหมายการพัฒนาศูนย์วิจัยนาโนเพื่อการเกษตร ด่านช้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคำของบประมาณจากสถาบัน จำนวน
20 ล้านบาท เพื่อที่อนาคตจะได้มีเครื่องสังเคราะห์วัสดุนาโนจากธรรมชาติ โรงเรือนพลังงานธรรมชาติ และหอดูดาวพระจอม
เกล้าลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ ร.4 ทั้งหมดคือเป้าหมายเพื่อเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยและให้ศูนย์ฯ
ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติอย่างสมบูรณ์.



http://www.dailynews.co.th/education/137269
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 05/08/2012 3:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,728. 'รร.นาบ่อคำวิทยาคม' ผลงานนักเรียน 'ข้าวนาโนฯ' คว้ารางวัลพระราชทาน




“ข้าว” เป็นคำที่มีความหมายที่สุดสำหรับคนไทยและสังคม เพราะข้าวถือเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพ เป็นอาหาร เป็นสินค้า เป็น
จุดกำเนิดของหลาย ๆ สิ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะสำหรับชาวนาแล้ว ข้าวเปรียบเสมือนชีวิต เนื่องจากข้าวทำให้เกิดอาชีพ เป็น
แหล่งรายได้ จึงถือเป็นผลผลิตที่บันดาลทุกอย่างให้แก่ชาวนา แต่ทว่าการที่กว่าจะมีข้าว ชาวนาต้องพบเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ มาก
มาย ทั้งเรื่องฝนฟ้าไม่เป็นใจ แมลงศัตรูพืชรบกวน หรือผลผลิตต่อไร่น้อย จนกระทั่งขาดทุน นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาราคาต้นทุน
การผลิตสูง ทั้ง ปุ๋ยเคมี และยาบำรุงขยับราคาขึ้น ชาวนาไทยลำบาก ต้องทนกับภาวะได้ไม่คุ้มเสีย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้นักเรียน กลุ่มหนึ่งของโรงเรียนนาบ่อคำวิทยาคม ต.นาบ่อคำ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ภายใต้การดูแลของ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 41 (กำแพงเพชร-พิจิตร) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนชนบทลูกหลานชาวนา ที่คลุกคลีกับ
ปัญหาและความทุกข์ของครอบครัว อาทิ นายอนุชา เนียมสีใส นายวรรลภ สายแดง นายฤทธิชัย ทิตะพัน นางสาวอังขณา ตาพรม
นางสาวอัจฉราพร เมทา นายเฉลิมพันธุ์ เสชัง นางสาวรุ่งรัตน์ ธิงาเครือ นางสาวรุ่งนภา เต็มดวง ได้หอบหิ้วเอาปัญหาไปปรึกษา
อาจารย์อรวรรณ บุญรอด อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนนาบ่อคำวิทยาคม

ด้าน อาจารย์อรวรรณ เปิดเผยว่า หลังนักเรียนได้เข้ามาปรึกษา ตนจึงนำเรื่องไปหารือกับ อาจารย์กฤษณะ สาลีเจริญ ที่มีความ
คุ้นเคยกับชุมชนและมีความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี และได้นำนักเรียนมาลงสำรวจพื้นที่แปลงนา เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และนำมา
วิเคราะห์วางแผนการดำเนินงานปลูกข้าวบนพื้นที่จริง ทั้งนี้ อาจารย์กฤษณะ สาลีเจริญ ได้เสนอแนวคิดว่าน่าจะทดลองใช้นาโน
ซิงค์ออกไซด์ในการปลูกข้าว เนื่องจากมีคุณสมบัติความเป็นปุ๋ย และเป็นตัวเร่งในปฏิกิริยาต่าง ๆ ของพืช โดยซิงค์หรือสังกะสีนี้
เป็นธาตุที่มีความจำเป็นกับพืชและขาดไม่ได้ จึงน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวและลดต้นทุนการผลิตลงได้

ขณะที่ นายอนุชา แกนนำกลุ่มนักเรียน กล่าวว่า การทดลองครั้งนี้เป็นขั้นตอนแรก ในการหาอัตราที่เหมาะสมของนาโนซิงค์ออก
ไซด์ ที่มีต่อการงอกของเมล็ดข้าว โดยพบว่าการใช้นาโนซิงค์ออกไซด์ 15 กรัม ผสมกับน้ำ10 ลิตร สามารถทำให้ข้าวเปลือก
งอกได้เร็วและเป็นวิธีที่ดี ทำให้รากมีความยาว และหน่อของต้นข้าวยาวกว่าการแช่ด้วยน้ำเปล่าตามวิธีของชาวบ้าน ซึ่งเป็นความ
สำเร็จขั้นหนึ่งของงานนี้ ต่อจากนั้นขั้นตอนที่สอง ทุกคนจะช่วยกันปลูกข้าวในแปลงนาจริง เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของต้นข้าว

สำหรับ นายฤทธิชัย ผู้คุ้นเคยกับการทำนามาตั้งแต่เด็กนำทีมและน้องอีก 6คน คือ นายวรรลภ น.ส.อังขณา น.ส.อัจฉราพร นาย
เฉลิมพันธุ์ น.ส.รุ่งรัตน์ น.ส.รุ่งนภา ช่วยกันลงมือปลูกข้าว โดยนายฤทธิชัย กล่าวว่า ตามแผนงานที่วางไว้ คือ เราจะใช้วิธีการปลูก
แบบหว่านตมและจะต้องตรวจแปลงนาทุก 7 วัน โดยมีการแบ่งหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันในกลุ่ม ตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว
เพื่อดูการเจริญเติบโตและผลผลิตที่ได้

โดยการทดลองครั้งนี้ เริ่มจากการใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ (ZnO) 15 กรัม ละลายในน้ำ 10 ลิตร แช่ข้าวเปลือกพันธุ์ปทุม
ธานี 1 เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำขึ้นจากน้ำใส่ในกระสอบป่านเก็บไว้ 3 วัน ระหว่างนี้รดน้ำทุกวันให้ชุ่มวันละ 1 ครั้ง
แล้วจึงนำไปหว่านลงในแปลงนาทดลอง รอต้นกล้าขึ้น จึงเปิดน้ำเข้านา หลังจากนั้นทำการฉีดพ่นสารละลาย นาโนซิงค์ออกไซด์
ทุก ๆ 15 วัน

ส่วนแปลงควบคุมใช้วิธีการปลูกแบบปกติแบบชาวนา คือ แช่เมล็ดข้าวด้วยน้ำเปล่าไม่ผสมนาโนซิงค์ออกไซด์และไม่มีการฉีดพ่น
นาโนซิงค์ออกไซด์ จากนั้นรอกำหนดเวลาจนครบวันเก็บเกี่ยว 122 วันแล้ว นำผลผลิตที่ได้ของทั้ง 2 แปลงมาเปรียบเทียบกัน
ปรากฏว่านาข้าวในแปลงทดลองมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่านาข้าวที่ปลูกแบบปกติ และผลผลิตต่อไร่ที่ได้ยังได้มากกว่าการ
ปลูกแบบปกติ โดยแปลงทดลองได้ผลผลิต 660 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนแปลงควบคุมที่ปลูกแบบชาวนาปกติ ได้เพียง 548 กิโลกรัม
มีส่วนต่างถึง 112 กิโลกรัม ทั้งนี้ การปลูกข้าวแบบใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์มีต้นทุนการดูแลเพียงไร่ละ 100 บาท ส่วนการ
ปลูกแบบทั่วไปมีต้นทุนการดูแลไร่ละประมาณ 800–1,000 บาท เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าผลที่ได้รับ

นายพิทยา คงศัตรา ผอ.รร.นาบ่อคำวิทยาคม กล่าวว่า ทางโรงเรียนส่งเสริมการทำทดลองพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้นักเรียน
คิดเป็นทำเป็น เพิ่มศักยภาพ กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาพิเศษและติดตามการดำเนินงานมาโดยตลอด
ซึ่งจากผลการดำเนินงานดังกล่าว ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมประกวดนวัตกรรมจากอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์และไททาเนียม
ไดออกไซด์ ที่วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหัวข้อนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อ
สาธารณชน

นับเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่มีผลงานการทดลองที่เชิดหน้าชูตาและสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัด


โดยจะเห็นว่าจากจุดเล็ก ๆ ของเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เป็นลูกหลานชาวนา แต่มีจิตสำนึกที่ดีอยากจะช่วยครอบครัวและชุมชน
ประสบอยู่กับปัญหาที่เกี่ยวกับการทำนาแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งการทดลองนี้ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด และ
ช่วยสร้างผลผลิตเป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวนา เพื่อมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีต่อไปในอนาคต.

เสกสรรค์ ปฐมพรทวีวัฒน์





http://www.moe.go.th


แหล่งที่มา : http://www.dailynews.co.th


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 07/01/2023 7:06 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 08/08/2012 5:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,729. แนวทางการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์


เขียนโดย ต้นกล้า


นิยามเกษตรอินทรีย์ :
“เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสุขภาพดิน ระบบนิเวศ และผู้คน โดยพึ่งพาอาศัยกระบวนการ
ทางนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และวงจรธรรมชาติ ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ปัจจัยการผลิตที่มีผล
กระทบทางลบ ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์เป็นระบบที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุ
รักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นธรรม ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”



นิยามของเทคโนโลยีชีวภาพ :
“ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้สิ่งมีชีวิต และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ เช่น สารออกฤทธิ์
ทางชีวภาพ เอนไซม์ หรือโปรตีนชนิดต่างๆ เป็นต้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษยชาติทั้งในด้านอาหาร การเกษตร การแพทย์
และสิ่งแวดล้อม”


หลายคนอาจเข้าใจว่า เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่จะอยู่ในรูปแบบของสหวิทยาการเชิงประยุกต์ทั้งในด้านชีววิทยาของเซลล์ และโมเลกุล
พันธุวิศวกรรมศาสตร์ และชีวสารสนเทศ หรือแม้กระทั่งเหมารวมว่า เทคโนโลยีชีวภาพ คือ การตัดต่อพันธุกรรม แต่แนวโน้มการพัฒนา
เทคโนโลยีชีวภาพในอนาคตจะมุ่งไปสู่แนวทาง ‘White Biotechnology’ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จุลินทรีย์หรือเอนไซม์ในการผลิต
เชิงอุตสาหกรรม โดยไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสี่ยงในการทำลายสิ่งแวดล้อม



แนวทางการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ :
กลยุทธ์สำคัญของการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้กับระบบเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ขัดกับหลักการสากลของเกษตรอินทรีย์
สามารถจำแนกได้เป็น

- การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
- การผลิตปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยชีวภาพ สำหรับพืช และสารเสริมชีวนะโปรไบโอติกสำหรับสัตว์
- การผลิตสารชีวภาพในการปราบศัตรูพืชทดแทนการใช้เคมีภัณฑ์
- การพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจการบริการหลังเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุผลผลิตทางการเกษตร



ตัวอย่างโครงการนวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ :

0 การพัฒนาโครงการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพของ สนช. มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ
ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านการผลิต ปัจจัยการผลิต การแปรรูป และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ตัวอย่างโครง
การที่เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่


0 การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ครบวงจรสู่เชิงพาณิชย์โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสง

0 โครงการคัดเลือกสายพันธุ์สำหรับการผลิตเนื้อโคอินทรีย์

0 โปรไบโอติกสำหรับปลาและกุ้งกุลาดำ

0 เอนไซม์ช่วยย่อยสำหรับสัตว์

0 ปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ

0 ปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์กลุ่มดูดซับและละลายฟอสเฟต

0 สารสกัดจากสะเดาคุณภาพสูงสำหรับใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช

0 กระบวนการเคลือบไข่ไก่อินทรีย์ด้วยฟิล์มจากแป้งข้าวเจ้า



สำหรับการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมในธุรกิจเกษตรอินทรีย์นั้น ที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้สร้างเครือข่ายวิสาหกิจ
และนักวิชาการ และผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจัง และผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจ
นวัตกรรมรวมทั้งหมด 25 โครงการ รวมเป็นวงเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 22,238,272 บาท คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 198,240,135 บาท
ซึ่งการสนับสนุนจะผ่านการร่วมรังสรรค์จาก สนช. และผ่านกลไกการสนับสนุนด้านการเงินจากสำนักงานในรูปแบบ....
- การสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญ
- การทำแปลงทดสอบในระดับนำร่อง
- การสนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
- การสนับสนุนในโครงการนวัตกรรมดี
.......ไม่มีดอกเบี้ย



http://www.oain.net/index.php/2011-10-19-14-17-51/142-แนวทางการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 08/08/2012 8:08 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 08/08/2012 5:59 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,730. เล็งขยายตลาดข้าวอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิไทยที่ญี่ปุ่นโตฉลุย

เขียนโดย ผู้เขียน



นางปราณี ศิริพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าทางกรมการค้าต่างประเทศ และผู้ผลิต/ผู้ส่งออก
สินค้าเกษตรอินทรีย์ มีแผนจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม FOODEX 2012 ระหว่าง
วันที่ 6-9 มีนาคม 2555 ณ เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น


ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นงานเก่าแก่ที่สุดงานหนึ่งของญี่ปุ่น มีผู้ประกอบการธุรกิจ
อาหารเข้าร่วมงานจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 2,300 ราย และมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 74,000 คน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่กรมฯ
จะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ และคุณลักษณะพิเศษของข้าวหอมมะลิอินทรีย์และข้าวอินทรีย์ของไทยให้เป็นที่ รู้จัก
ผ่านการพบปะเจรจากับผู้ประกอบการในแวดวงข้าว โดยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภายในงาน พร้อมนี้ได้จัดคณะผู้
แทนการค้าเดินทางไปเจรจารักษาและขยายตลาดข้าวหอมมะลิ อินทรีย์และข้าวอินทรีย์ของไทยในงาน เพื่อเป็นการกระชับความ
สัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้นำเข้าข้าวที่ เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย


ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและคำนึงถึงความสำคัญ เรื่องการรักษาสุขภาพอนามัยในระดับสูง และให้ความ
สำคัญเรื่องของอาหารปลอดภัย (food safety) โดย เฉพาะข้าวอินทรีย์ที่นอกจากจะมีประโยชน์และปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์
แล้วยัง ช่วยปรับสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ทำให้ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเติบโตอย่าง
ต่อเนื่องโดยมีการคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวจะสูงขึ้นประมาณ ร้อยละ 10-15 ต่อ ปีขณะเดียวกันการผลิตข้าวอินทรีย์ของไทย
เริ่มพัฒนาและมีมาตรฐานเป็นไปตามข้อ กำหนดของแต่ละประเทศ หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ประกอบกับมีคุณลักษณะ
พิเศษมีความโดดเด่นในเรื่องความหอม ความอ่อนนุ่มและที่สำคัญ เป็นข้าวที่ผลิตโดยไม่มีสารเคมีเจือปน ซึ่งตรงกับความต้องการ
ของผู้บริโภคในยุโรป เอเชียสหรัฐอเมริกาและแคนนาดา จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับไทยที่จะประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ของไทย
ให้ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ซึ่งข้าวหอมมะลิอินทรีย์และข้าวไทยน่าจะเป็นสินค้าส่งออกตัวใหม่ที่ต่อยอด จากข้าว
หอมมะลิไทยที่มีลู่ทางแจ่มใส และเป็น Niche Market ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง



ที่มา : นิศารัตน์ วิเชียรศรี สำนักข่าวอินโฟเควสท์ วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2555



http://www.oain.net/index.php/2011-10-19-14-17-51/94-ข่าวย้อนหลัง/104-เล็งขยายตลาดข้าวอินทรีย์-ข้าวหอมมะลิไทยที่ญี่ปุ่นโตฉลุย
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 10/08/2012 2:34 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,731. ปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูง

โดย ... ดลมนัส กาเจ



เมื่อวันพุธที่แล้ว พูดว่าเรากำลังเสียแชมป์การส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก และที่ผ่านมา ที่ไทยครองแชมป์ส่งข้าวออกไปยังตลาด
โลกมายาวนาน ก็เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดนั่นเอง ไม่ใช่เพราะไทยเรามีศักยภาพในการปลูกข้าวที่ให้ผลผลิต
สูง หากแต่ผลผลิตของเราอยู่อันดับท้ายๆ เฉลี่ยพื้นที่นา 1 ไร่ เราผลิตข้าวได้เพียง 461 กก. แต่จีนได้ไร่ 1,054 กก. เวียดนาม
ได้ละ 875 กก. และอินโดนีเซียได้ไร่ละ 774 กก. อันนี้ไม่ร่วมกับสหรัฐอเมริกาที่ปลูกข้าวส่งออกด้วย



แม้ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ จะยืนยันและมั่นใจว่า ไทยยังเป็นแชมป์ส่งออกไปตลาดโลก
เพราะครึ่งปีหลังจะส่งออกถึง 5 ล้านตัน เฉลี่ยทั้งปีจะไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะส่งออกได้ถึง 9.5 ล้านตัน ก็ตาม
แต่นั่นเป็นเพียงคาดการณ์ แต่ที่ฝ่ายยืนยัน ณ วินาทีนี้ไทยส่งออกข้าวน่าจะตกอยู่อันดับ 3 รองจากเวียดนาม และอินเดีย เพราะภาค
การผลิตของเราต่ำนั่นเอง


เห็นแล้วน่าห่วงครับ ! ทั้งที่ความจริงบ้านเรานั้นอุดมสมบูรณ์ทั้งคุณภาพของดินและน้ำ ซึ่งในโอกาสนี้ผมมีข้อมูลที่ได้มากสำนักงาน
เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู แนะวิธีในการปลูกข้าว หรือทำนาให้มีผลผลิตสูงครับ เพียงของให้ชาวนาปฏิบัติคือ

1. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดี ที่มาหรือแหล่งเมล็ดพันธุ์ที่รับมานั้นต้องเชื่อถือได้ และได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร มีการใช้
เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม คือประมาณ 20-25 กก./ไร่ เพื่อต้นข้าวเจริญเติบโตได้ในระยะที่เหมาะสมและไม่แน่นจนเกินไป อัน
เป็นสาเหตุให้เป็นที่อยู่อาศัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ถือว่าศัตรูของต้นข้าวตัวร้ายทีเดียวครับ

2. ต้องปรับปรุงหรือบำรุงดิน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า พื้นที่นานั้นเกิดปัญหาดินเสื่อมโทรมที่มาจากการเผาตอซังและฟางข้าวหลังการ
เก็บเกี่ยว ฉะนั้นควรหันมาไถกลบหรือหมักฟางในนา ด้วยการเร่งการย่อยสลายด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดการ
ใช้ปุ๋ยเคมีได้มาก ทั้งยังช่วยลดการระบาดของหนอนกอ การบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด อาทิ ปอเทือง พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น


3. การใช้ปุ๋ยเคมีให้เหมาะสม หรือที่เรียกว่า การใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" นั่นเอง ใส่ปุ๋ยตามที่ดินต้องการ เพราะที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งของเกษตรกร
คือ ใช้ปุ๋ยเคมีผิดสูตร ในแต่ละปีเกษตรกรใช้ไนโตรเจนเกินจำเป็น มีมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังใช้ปุ๋ยผิดเวลา และผิด
อัตรา ฉะนั้นต้องตรวจดูก่อนว่าดินเราขาดอะไร ก็ใส่ปุ๋ยตัวนั้น



4. การใช้สารเคมีฆ่าแมลงให้เหมาะสม เพราะการใช้สารฆ่าแมลงตามเหมาะสม ต้องไม่เกินความจำเป็น ก่อนใช้ควรสำรวจแมลงศัตรู
ข้าวก่อนฉีดพ่นสารฆ่าแมลงทุกครั้ง และต้องรักษาแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงปอ มวนจิงโจ้น้ำ แมงมุม ด้วย เพราะแมลงเหล่านี้
จะช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ จำพวกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น


ถ้าเกษตรกรปฏิบัติได้ นอกจากจะให้ข้าวเพิ่มผลผลิตแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย ทั้งเรื่องค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง แต่ที่สำคัญ
อย่างหนึ่งเกษตรกรจะต้องเป็นคนทำนาเองด้วย



จำง่ายๆ ครับ การทำนา ถ้าเมล็ดพันธุ์ดี ดินดี ดูแลดี แค่นี้ก็มีชัยเกินครึ่งแล้วครับ




http://www.komchadluek.net


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 07/01/2023 7:07 pm, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 10/08/2012 2:40 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,732. ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวจนได้ :

โดย ... ดลมนัส กาเจ


ระยะหลังๆ มีการพูดมากเหลือเกินว่า "ไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก" ซึ่งแรกๆ เชื่อครึ่งไม่เชื่ออีกครึ่ง ที่ไม่เชื่อ
เพราะเราไปปลูกฝังมายาวนานว่า เราคือผู้ส่งออกข้าวมากที่สุด เพราะบ้านเราเป็น "อู่ข้าว อู่น้ำ และ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"


เมื่อราวปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่า คุณยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าการส่งออกข้าวของ
ไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.55) ไทยส่งออกข้าวได้เกือบ 2.7 ล้านตัน มูลค่าราว 5.3 หมื่นล้านบาท ทำให้ไทยยังคง
เป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลก ส่วนอันดับ 2 คือสหรัฐอเมริกา ส่งออกข้าวได้เกือบ 2 ล้านตัน และเวียดนามหล่นมาเป็นอันดับ
3 ส่งออกข้าว 1.6 ล้านตัน


ที่เชื่อครึ่งหนึ่งนั้น ผมเคยพูดเสมอว่า เราอย่าดีใจกับการที่เราครองแชมป์ส่งข้าวออกไปยังตลาดโลก ที่เราส่งออกได้มากเพราะเรามี
พื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด ไม่ใช่เพราะไทยเรามีศักยภาพในการปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตสูง หากแต่เราผลิตข้าวอยู่อันดับท้ายๆ ครับ


ยิ่งตอนนี้อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังกาลาเทศ และเวียดนาม กำลังดำเนินโครงการ "ไบโอเฟอร์ติไฟด์" (Biofertified) เป็น
โครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวจีเอ็มโอใหม่ โดยนำข้อดีของข้าวแต่ละประเทศมาวิจัยและพัฒนากันครับ คือทั้งต้านทานโรค แมลงศรัตรูพืช
ให้ผลผลิตสูง รสชาติตามที่ตลาดต้องการ แถมยังเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้ครบถ้วนทั้งคาโบไฮเดรต วิตามินเอ วิตามินอี ธาตุเหล็ก
และแมงกานีสอีกด้วย แต่เรากลับค้านเทคโนโลยีไบโอเทคว่า ด้วยการตัดแต่งทางพันธุวิศวกรรม หรือพืชจีเอ็มโอ


ตรงนี้แหละครับ ที่ผมคิดเสมอว่า "วันหนึ่งไทยต้องเสียแชมป์" ในการส่งออกข้าวไปยังตลาดโลกแน่นอน


แล้วก็เป็นเรื่องจริง หลังจากที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า
ปัจจุบันพบปัญหาการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ลดลง เพราะภาวะการแข่งขันในการผลิตในโลกที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ในปีนี้มีความ
เป็นไปได้สูงว่าไทยจะสูญเสียความเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกไป


สอดคล้องกับบทความของ ดร.เอนก ศิลปพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานวิจัยและพัฒนา กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือ
เจริญโภคภัณฑ์ ที่เขียนลงในซีพี นิวส์ (CP-NEWS) ที่เปรียบเทียบขีดความสามารถในการผลิตข้าว พบว่าผลผลิตเฉลี่ยข้าว
ไทยอยู่ที่ไร่ละ 461 กก.ขณะที่จีนอยู่ที่ไร่ละ 1,054 กก. เวียดนามอยู่ที่ไร่ละ 875 กก. และอินโดเนีเซียไร่ละ 774 กก.


ในปีนี้ 2012 ไม่เฉพาะเวียดนามที่ตัวเลขการส่งออกข้าวพุ่งสูงถึง 7 ล้านตันต่อปี แม้แต่อินเดียก็ก้าวขึ้นมาเบียดเวียดนาม ทำสถิติ
ส่งออกข้าว 7 ล้านตันต่อปีเช่นกัน ขณะที่ไทยการส่งออกลดลงเหลือ 6.5 ล้านตันต่อปี โดยลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 39%


ค่อนข้างชัดเจนแล้วครับว่า "การที่ไทยครองแชมป์ส่งออกข้าวมาอันดับหนึ่งของโลก" มายาวนานนั้น กำลังจะกลายเป็นอันอดีต


ก็เป็นอีหรอบเดียวกับที่เราเสียแชมป์ข้าวหอมมะลิไทยดีที่สุดในโลกให้กับข้าวพม่านั่นแหละครับ!




http://www.komchadluek.net/detail/20120725/136001/ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวจนได้.html


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 10/08/2012 3:04 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 10/08/2012 2:49 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,733. ไทยปลูกข้าวอย่างมี “ประสิทธิภาพ” แค่ไหน ?

(ใบ้: น้อยกว่าเวียดนามครึ่งหนึ่ง)



หลายคนน่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่าข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่ “สำคัญ” ของไทย เพราะไทยคือหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก .... ฟัง
ดูแค่นี้อาจนึกเตลิดไปได้ไกล

แต่ข้อเท็จจริงคือ ไทย ไม่ใช่ประเทศที่ “ผลิตข้าว” ได้มากที่สุดในโลก ประเทศที่ “ผลิตข้าว” ได้มากที่สุดในโลกสามอันดับ คือ
จีน (196 ล้านตัน), อินเดีย (143 ล้านตัน) และ อินโดนิเซีย (59 ล้านตัน) และแม้ไทยและเวียดนามจะผลิตข้าวได้เพียง 31 และ
41 ล้านตันตามลำดับ แต่ก็เป็นสองผู้ส่งออกรายใหญ่ ซึ่ง Admin เข้าใจว่าเป็นเพราะสองประเทศนี้ผลิตข้าวได้เยอะกว่าการบริโภค
ภายในประเทศตัวเอง

พอพูดถึงเวียดนาม หลายครั้งที่เราจะสนใจว่าใคร “ขายข้าว” ได้ปริมาณมากกว่ากัน หรือใครขายได้แพงกว่า ใครตัดราคาใคร ใครส่ง
ออกมากเป็นอันดับหนึ่ง ฯลฯ แต่สิ่งที่เราหลังลืมไปจนไม่ได้รับความสนใจในกระแสสังคมสักเท่าไหร่คือคำถามที่ว่า


ทุกวันนี้ไทยผลิตข้าวอย่างมี “ประสิทธิภาพ” แค่ไหน ?
ประสิทธิภาพในที่นี้หมายถึง ด้วยการใช้พื้นที่เพาะปลูกเท่าๆกัน ใครสามารถผลิตข้าวออกมาได้มากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่ามันสะท้อน
ปัจจัยอีกมากมายในการผลิตของประเทศนั้นๆตั้งแต่เทคโนโลยีการปลูกข้าว พันธุ์ข้าว ปุ๋ย ความอุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศ การคม
นาคมขนส่ง แหล่งทุน การสนับสนุนจากภาครัฐ ฯลฯ

แผนภาพข้างบนแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตต่อพื้นที่ Rice Yield (ตัน/เฮกเตอร์ : t/H) ของไทยต่ำกว่าเวียดนาม และเพื่อนบ้านทั้ง
หมด จะเห็นว่าเราผลิตข้าวได้มีประสิทธิภาพพอๆ กับ พม่า และ กัมพูชา (1 เฮกเตอร์ = 6.25 ไร่)

เวียดนาม = 5.47 ตัน / เฮกเตอร์
อินโดนิเซีย = 4.75 ตัน / เฮกเตอร์
มาเลเซีย = 3.71 ตัน / เฮกเตอร์
ฟิลิปปินส์ = 3.69 ตัน / เฮกเตอร์
ลาว = 3.45 ตัน / เฮกเตอร์
กัมพูชา = 2.97 ตัน / เฮกเตอร์
ไทย = 2.88 ตัน / เฮกเตอร์
พม่า = 2.65 ตัน / เฮกเตอร์

หากดูในระดับโลก ประเทศที่ผลิตข้าวได้มีประสิทธิภาพสูงระดับต้นๆ ของโลกคือ อิยิปต์ (10.59) ออสเตรเลีย (9.44) สหรัฐ (7.53)
อาร์เจนตินา (6.8Cool จีน (6.56) ญี่ปุ่น (6.51)


ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรเราได้บ้าง ?
มันบอกเราว่า ไทยใช้พื้นที่ปลูกข้าว “สิ้นเปลือง” มากเมื่อเทียบกับคนอื่น สาเหตุที่เราปลูกข้าวได้พอๆ กับเวียดนาม เป็นเพราะเรามี
พื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าเขากว่า 2 เท่า เท่านั้นเอง (ไทย: 15.2 ล้านเฮกเตอร์, เวียดนาม: 6.35 ล้านเฮกเตอร์)

มันสะท้อนให้เห็นได้หรือไม่ว่ากระบวนการจัดการเกษตรบ้านเราล้าหลัง(เทคโนโลยี สายพันธุ์ การจัดการน้ำ การคมนาคมขนส่ง
นโยบายภาครัฐ ฯลฯ) ในเมื่อประเทศรอบข้างทำได้ดีกว่า และในระดับโลกเขาทำไปได้ถึง 6-10 ตันต่อเฮกเตอร์ ?

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ข้อมูลนี้บอก คือ ด้วยทรัพยากรที่ดินที่เรามี เรายังสามารถ “เติบโต” ได้อีกมาก ต่างจากประเทศที่ทำ
กสิกรรมได้มีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว ซึ่งยากที่จะตอบว่าจะมีทางพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยวิธีใดได้อีก แต่ในกรณีของไทยหากเพียงเราเพิ่ม
ผลผลิตต่อพื้นที่ได้เท่าเวียดนาม เราก็จะผลิตข้าวได้มากเกือบเป็น 2 เท่าของที่เราผลิตได้ในวันนี้

ซึ่งหากทำได้จริง การมุ่งเป็นผู้ควบคุมราคาข้าวของโลกก็คงไม่ยากเกินเอื้อมอีกต่อไป

เพียงแต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การพัฒนาระบบภายในของตัวเอง ... ให้เดินไปข้างหน้าสักนิดเสียก่อน



อ้างอิง: International Rice Research Institute http://beta.irri.org/index.php/Map-It.html โดยใช้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ในปี 2010 ซึ่งผลออกมาไม่ต่างจากข้อมูลของสหประชาชาติ (FAO) เท่าไหร่นัก






https://www.facebook.com/whereisthailand/posts/281380108555474


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 10/08/2012 3:05 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11563

ตอบตอบ: 10/08/2012 3:01 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,734. ไทยยังเป็นผู้นำส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก



กระทรวงเกษตรฯจับมือ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดศูนย์เตือนภัยเกษตรกร เชื่อมสัญญานดาวเทียมจีน เพื่อรู้ปริมาณน้ำล่วงหน้า ลดความ
เสียหายจากน้ำท่วม น้ำแล้งได้ เลขาสำนักงานเศรษฐกิจฯชี้ราคาข้าวสูงเท่าปี 51แน่ตันละ 2หมื่นบาท เผยไทยยังเป็นผู้นำส่งออกข้าว
โลกต่อไปเพราะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งแล้วหลายประเทศ

วันนี้ ( 9 ส.ค.) นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศษรฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวเปิดศูนย์
ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรและประเมินภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของปี 2555 และแนวโน้มปี2556 ว่าเราจะจับ
ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ในประเทศและนโยบายของรัฐบาลที่จะออกไปทั้งระยะสั้นระยะยาว ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มาช่วยระดมสมอง เผยแพรสถานการณ์การเกษตรทั่วโลกและเป็นศูนย์เตือนภัยให้กับเกษตรกร แจ้งให้เกษตรกรทราบอย่่างน้อย
เดือนละสองครั้ง ซึ่งในปีหน้าอัตราการเจริญเติบโตภาคเกษตรคาดว่่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจาก
จากวิกฤติยูโรโซน ชี้ให้เห็นว่าภาคการเกษตรของไทยมีึความเข้มแข็งมากแม้ว่่าพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่่านมาโดยในปีนี้พื้น
ที่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น 11ล้่านไร่ จากนโยบายรับจำนำเป็นผลจูงใจเกษตรกร



นายอภิชาต กล่าวว่าแนวโน้มสภาพอากาศทั่วโลกเริ่มรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะภัยแล้งที่ประเทศสหรัฐ และอินเดีย โดนภัยแล้งไปแล้วเกือบ
40 เปอร์เซนต์ของประเทศ รวมทั้งประเทศเวียดนามด้วยที่มีภัยแล้งแล้ว ซึ่งประเทศอินเดียอาจจะประกาศชะลอการส่งออกข้าว รวม
ทั้งสหรัฐ เองจะต้องซื้อข้าวเข้าสต็อกของเขาด้วย และประเทศจีนเองก็โดนทั้งท่วมและแล้ง ซึ่งประเทศไทยเกิดภัยแล้งในพื้นที่ทุ่ง
กุลาร้องไห้ภาคอีสานและในพื้นที่ภาคใต้ด้วย คาดการณ์ได้ว่าสินค้าเกษตรจะมีราคาเพิ่มขึ้นทุกตัว จะเป็นผลดีต่อประเทศไทยโดยเฉพาะ
ราคาข้าว อาจจะขึ้นสูงไปเท่่ากับปี 2551 ที่มีราคาเกือบตันละ 2 หมื่นบาท ในขณะนี้ทราบข่าวดีว่าเอฟเอโอ ได้ปรับอันดับให้ประเทศไทย
ยังเป็นผู้นำการส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกต่อไป ตั้งเป้าว่าไทยจะส่งออกได้ในปีนี้ 7 ล้านตัน อินเดีย เวียดนาม อยู่ที่ 6 ล้านตัน



นายวุฒิชัย กปิกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าภาระกิจของมหาวิทยาลัยที่สำคัญคือการวิจัย เรามีนิสิต
6.3 หมื่นคน การให้บริการทางวิชาการต่อสังคมเป็นภาพจริงและเป็นภาวะปัจจุบันสังคมโลกขณะนี้ต้องการมากที่สุดคือ องค์ความ
รู้สำคัญที่สุด จึงเอาชนะได้ การเกษตรคือทางรอดของประเทศไทย ปัจจุบันเรามีสถานีรับเครือข่ายดาวเทียมจากประเทศจีนที่ผ่าน
ประเทศไทยวันละสองรอบ ภาพถ่ายขณะนี้ทางจีนให้โดยไม่คิดมูลค่า รูปจากชุดใหม่เป็นสามมติ ในอนาคตน้ำท่วมวิเคราะห์น้ำในทุ่ง
น้ำท่า น้ำฝน ได้จะทำให้รับมือน้ำท่วม ภัยแล้ง ได้ล่วงหน้า ซึ่งไทยไม่จำเป็นต้องมีดาวเทียมเองเพราะดวงละตั้งสามหมื่นล้านบาท
ซึ่งขณะนี้มีดาวเทียมจำนวนมากแทบจะชนกันตายในชั้นบรรยากาศ เพราะแต่ละประเทศแข่งกันยิงขึ้นไป เราขอใช้ข้อมูลจากประเทศ
อื่นได้ ภาพถ่ายดาวเทียมจีนไปถึงประเทศอินโดนีเซีย ประโยชน์ไปถึงเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องให้เกษตรกรเลิกจน
ซ้ำซาก ดังนั้นองค์ความรู้ข้อมูลต้องให้เกษตรกร ต้องทำให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีเหมือนเกษตรกรในต่างประเทศ..




http://www.dailynews.co.th/politics/148678
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3 ... 63, 64, 65 ... 72, 73, 74  ถัดไป
หน้า 64 จากทั้งหมด 74

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©