-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-แมลงวันผลไม้....
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ปทุมมา ดอกไม้สร้างรายได้....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ปทุมมา ดอกไม้สร้างรายได้....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 01/02/2011 10:03 pm    ชื่อกระทู้: ปทุมมา ดอกไม้สร้างรายได้.... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ปทุมมา ดอกไม้สร้างรายได้ ที่ไม่ควรมองข้าม

ถ้าหากเราจะพูดถึง การส่งพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทยออกไปจำหน่าย ณ ต่างประเทศ ในปีหนึ่งๆ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศนับเป็นมูลค่ามหาศาล และคงจะปฏิเสธอีกไม่ได้ว่า การเกษตรเป็นหัวใจของรายได้หลักที่นำเงินตราเข้าสู่ประเทศ และสามารถต่อสู้กับนานาประเทศได้เมื่อเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาววิกฤต ด้วยพื้นฐานของประเทศไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตกรที่มีพื้นที่ทำมาหากินเป็นทุนเดิม ทำให้เกษตรกรจากอดีตจนถึงปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ตลอดจนขยายผลสร้างเป็นอาชีพนำรายได้เข้าสู่ประเทศตามไปด้วย


ด้วยเหตุผล จากการที่เกษตรกรได้มีการลองผิดลองถูก ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือมีหน่วยงานของราชการเข้าไปมีส่วนช่วยแนะนำให้การทำงานด้านการเกษตรประสบผลสำเร็จที่สุดแล้ว ความหวังของผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเกษตรกร ยังคงต้องการเห็นเกษตรกรมีความสุขกับการที่เกษตรกรได้ทำงานอย่างมีความสุข และทำให้ผู้อื่นมีความสุขตามไปด้วยการเกษตรนับได้ว่าเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร มีเทคโนโลยีที่นำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรมากมาย ทำให้เกษตรกรมีแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ต้องลองผิดลองถูก เนื่องจากกรม
วิชาการเกษตร โดยนักวิชาการได้มีการค้นคว้า วิจัยทดลองอย่างละเอียดจนแน่ใจได้ว่าสามารถนำไปเผยแพร่ให้เกษตรกร ได้นำไปปฏิบัติในพื้นที่จริงได้


จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้เขียนมีเรื่องราวดีๆ จะนำมาฝากผู้อ่าน จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน“เทคโนโลยีก้าวไกลวิชาการก้าวหน้า ปทุมมาทิวลิปไทยสร้างรายได้สู่ชุมชน” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ จ.แพร่ เป็นอีกงานหนึ่งที่กรมวิชาการเกษตรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้สนใจที่ผ่านมาถ้าหากจะถามว่าประเทศไทยส่งออกดอกไม้ชนิดใดไปจำหน่าย ณ ต่างประเทศที่สร้างรายได้เป็นอันดับ 1 ทุกท่านคงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ดอกไม้ชนิดนั้นคือ “กล้วยไม้” จากการที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานใน
ครั้งนั้นทำให้ทราบว่า “ปทุมมา” เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยส่งออก และสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่แพ้กล้วยไม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศไทยและในตลาดโลก ส่งผลให้แนวโน้มทางการเกษตรของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกษตรกรของไทยเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่ที่มีราคาถูกมาเป็นพืชสวนที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับที่กลายเป็นสินค้าที่สามารถสร้างศักยภาพได้ในตัว ในขณะเดียวกันประเทศไทยเองการบริโภคไม้ดอกไม้ประดับมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน


ความเป็นมาของปทุมมา จากเอกสารการผลิตปทุมมาเพื่อการส่งออก ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ ระบุว่า พระยาวินิจวนันดร พบดอกไม้พื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีชื่อพื้นเมืองว่า “กระเจียวบัว” จึงนำไปถวายพระวินัยโกศลแห่งวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ กระเจียวบัวจึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “ปทุมมา” ปทุมมา (Curcuma app.) มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีน เช่น พม่า และไทย

สำหรับประเทศไทยพบปทุมมาในเกือบทุกภาค ซึ่งความจริงแล้วกระเจียว และปทุมมาเป็นพืชพื้นเมืองที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันมานาน โดยเฉพาะชาวชนบทที่นิยมนำดอกมาเป็นเครื่องเคียงรับประทานกับน้ำพริก เดิมใช้เป็นพืชสมุนไพร พบมากในป่าที่มีความชื้นสูงทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ




เนื่องจาก มีความหลากหลายในรูปร่างและสีสันของดอก จึงกลายเป็นพืชที่นิยมใช้เป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอกและไม้ประดับในแปลงทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่ศักยภาพในการส่งออกหัวพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเกษตรกรไทยได้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปทุมมาให้มีความสวยงาม โดดเด่นตรงกับความต้องการของตลาด จนกลายเป็นดอกไม้ส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศมากเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ โดยมีพื้นที่ปลูกปทุมมาเพื่อผลิตหัวพันธุ์เพื่อการส่งออกประมาณ 400 ไร่ ซึ่งสามารถผลิตหัวพันธุ์เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านหัวต่อปี โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน หัวพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้า ได้แก่ พันธุ์เชียงใหม่พิงค์ ซึ่งมีทั้งสีชมพูอ่อนและสีชมพูเข้ม ช่วงเวลาการผลิตหัวพันธุ์เกษตรกรจะเริ่มเตรียมพื้นที่เดือนมีนาคม ปลูกเดือนเมษายน-พฤษภาคม เริ่มขุดหัวพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ เริ่มส่งออกหัวพันธุ์ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ซึ่งต่างประเทศจะนำหัวพันธุ์ปทุมมา ปลูกเพื่อผลิตเป็นไม้กระถางให้ออกดอกเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับวันแม่ในต่างประเทศ


ปัจจุบันประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกปทุมมาปีละประมาณ 30–40 ล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการหัวปทุมมาไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทต่อปีตลาดนำเข้าหลักได้แก่ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี โปรตุเกส อิสราเอล เบลเยี่ยม อิตาลี จีน และไต้หวัน ถือเป็นตลาดที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อสูง มีความต้องการหัวพันธุ์ปทุมมารวมปีละ 2 – 3 ล้านหัว ประเทศไทยจึงส่งออกต่างประเทศ 75 เปอร์เซ็นต์ และเก็บไว้ทำพันธุ์ในปีต่อไป 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายการส่งออกปทุมมาไปทั่วทวีปยุโรปและแอฟริกา สำหรับผลผลิตปทุมมาส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตหัวพันธุ์ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งมีข้อดีสำหรับการส่งหัวพันธุ์ไปต่างประเทศ ในแง่การจัดการหัวพันธุ์ง่ายกว่าการจัดการดอก เก็บรักษาได้นานไม่เน่าเสียเหมือนดอกสดสามารถขนส่งไปทางเรือได้ในปริมาณมาก สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกปทุมมา จะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดของโรคหัวเน่า ไม่เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นโรคระบาดในพืชตระกูลขิง มะเขือ มันฝรั่งและยาสูบ พื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง การคมนาคมสะดวก สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ดินมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 6.5–7.0 อุณหภูมิที่เหมาะสม 20–30 องศาเซลเซียส ในช่วงกลางคืนเป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด ปทุมมาต้องการน้ำในช่วงการเจริญเติบโตและให้ดอก


ความต้องการของตลาด
ในการส่งออกปทุมมาสามารถส่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ รูปของหัวพันธุ์ และไม้ตัดดอกส่วนใหญ่ปทุมมาจะส่งออกในลักษณะของหัวพันธุ์มาตรฐาน หัวพันธุ์ปทุมมาที่ส่งออก ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 นิ้ว มีตุ้มอาหารตั้งแต่ 4 ตุ้มขึ้นไป ตุ้มต้องไม่หัก ไม่เป็นโรค และต้องทำความสะอาดไม่มีดินติดไป สำหรับไม้ดอกกลุ่มปทุมมามีข้อได้เปรียบตรงที่ก้านช่อดอกยาว ช่อดอกชูเหนือทรงพุ่ม น้ำหนักน้อย ขนส่งง่าย อายุการใช้งานค่อนข้างทน จึงได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ และมีการส่งออกมากที่สุดในสกุลขมิ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น ชอบโทนสีชมพูหวานๆ จะเป็นผู้สั่งซื้อรายใหญ่ พันธุ์การค้าในขณะนี้มีเพียงพันธุ์เดียวคือพันธุ์เชียงใหม่ ซึ่งมีใบประดับสีชมพู ถ้าไม่มีแต้มสีน้ำตาลที่ปลายกลีบ ตลาดจะมีความต้องการสูง ลักษณะพันธุ์ที่ต้องการเพื่อใช้เป็นไม้ตัดดอก คือ ต้องมีก้านดอกแข็งแรง แต่ไม่อ้วนจนเกินไป จำนวนกรีบรองดอกมีมากพอสมควร คือ 10-14 กลีบ และมีสีกลีบประดับบริสุทธิ์ ลักษณะพันธุ์ที่ต้องการเพื่อทำเป็นไม้กระถาง คือ ลักษณะก้านดอกค่อนข้างสั้น เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย และไม่ล้มง่าย ใบสวย สามารถให้ดอกพร้อมกันในกระถางอย่างน้อย 3 ดอก อายุการให้ดอกนาน


ชนิดและพันธุ์
พืชตระกูลกระเจียว ที่มีการส่งหัวพันธุ์ไปต่างประเทศมากที่สุด คือ ปทุมมา รองลงมาคือ บัวลาย กระเจียวส้ม และกระเจียวดอกขาว ตลาดต่างประเทศที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รวบรวมพันธุกรรมของกระเจียวเพื่อการศึกษาลักษณะต่าง ๆและศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ใหม่ในตลาดโลก ซึ่งไม้สกุลนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มปทุมมา ที่มีรางงานได้แก่ ปทุมมา บัวลายปราจีน บัวลายลาว บัวลายกาญจน์ บัวขาว บัวขาวดอกใหญ่ เทพรำลึก ทับทิมสยาม ปทุมรัตน์ ช่อมรกต

2. กลุ่มกระเจียว ได้แก่ บัวชั้น กระเจียวส้ม พลอยไพลิน พลอยทักษิณ พลอยชมพู และกระเจียวพื้นเมืองตามภาคต่างๆ ของประเทศ




การขยายพันธุ์
1. การเพาะเมล็ด
เนื่องจากว่าพืชสกุลนี้มีการพักตัวโดยธรรมชาติ จึงควรนำเมล็ดไปเก็บไว้ก่อน แล้วนำมาเพาะในฤดูปลูกถัดไป (ราวกลางเดือนเมษายน เป็นต้นไป) กระเจียวหลายชนิดติดเมล็ดได้ง่ายตามธรรมชาติ จึงสามารถนำเมล็ดมาเพาะได้แต่จะพบความแปรปรวนของต้นกระเจียวในการขยายพันธุ์แบบนี้ เพราะเมล็ดที่ได้อาจเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ตามธรรมชาติ

2. การแยกหัวปลูก
เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติ ช่วงฤดูปลูกที่เหมาะสม คือ ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากสามารถให้ดอกได้เร็ว

3. การผ่าเหง้าปลูก เป็นวิธีการเพิ่มชิ้นส่วนของหัวพันธุ์ให้มากขึ้น โดยผ่าแบ่งตามยาวเป็น 2 ชิ้น เท่าๆ กัน แนวการผ่าจะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างตาที่อยู่สองข้างของเหง้า ชิ้นเหง้าที่ได้ควรมีตาข้างที่สมบูรณ์ไม่น้อยกว่า 1 ตา และมีรากสะสมอาหารติดมาด้วยอย่างน้อย 1 ราก วิธีนี้จะเป็นการประหยัดค่าหัวพันธุ์เริ่มต้น แต่เกษตรกรไม่นิยมเนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคเข้าทำลายบริเวณบาดแผล

4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เป็นการเลี้ยงจากส่วนของช่อดอกอ่อนที่ได้จากต้นที่ไม่เป็นโรค และยังมีกาบใบห่อหุ้มอยู่จะดีที่สุด มีข้อดีคือ ปราศจากเชื้อ หรือมีการปนเปื้อนน้อย เปรียบเทียบกับการใช้ชิ้นส่วนจากหัว จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราสูงมาก ต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะใช้เวลาประมาณ 1 ½ - 2 ปี ที่จะให้ดอกและหัวพันธุ์ที่ได้คุณภาพ


การปลูกและการดูแลรักษา
สภาพแวดล้อมทั่วไป
ปทุมมาชอบเจริญเติบโตในที่มีแสงแดดจัด ประมาณ 70–100% ที่แสงแดด 70% ปทุมมาจะมีก้านดอกยาว สีดอกสวยเนียนถ้าได้รับแสงน้อยไปจะทำใหก้านดอกอ่อน คอตก ถ้าได้แสง 100% จะทำให้ก้านแข้งและสีสวย สีจัด ดินที่เหมาะสมเป็นดินทรายที่มีอินทรีย์วัตถุสูง มีการระบายน้ำดี จะทำให้การเจริญเติบโตของหัวพันธุ์สมบูรณ์ ในแปลงปลูกควรใช้วัสดุคลุมหน้าดิน เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ปทุมมาสามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย


การเตรียมแปลง
ควรไถตากดินนาน 10–14 วัน และโรยปูนขาวก่อนปลูก เพื่อช่วยลดปัญหาจากการเกิดโรค ขนาดแปลง 1.5 เมตร ระยะปลูก 30 X 30 เซนติเมตร จะปลูกได้ 4 แถว เพื่อสะดวกและง่ายต่อการดูแลรักษา การปลูก ควรรองพื้นด้วยปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 และโรยปุ๋ยรอบโคนต้นทุกเดือน ในอัตรา 0.5–1 ช้อนกาแฟต่อต้น (ช้อนปาดไม่ใช่ช้อนพูน) ลักษณะการวางเหง้าปลูกแบบวางเหง้านอน จะได้ช่อดอกมากกว่า ทั้งนี้เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อผลิตช่อดอกและผลิตเหง้าในเวลาเดียวกัน


การให้น้ำ
ควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ยกเว้นฝนตก ต้องดูแลเรื่องความชื้นในดินให้เพียงพอและสม่ำเสมอ การให้น้ำที่ดีไม่ทำให้ดอกเสียหาย คือ การให้นำแบบสปริงเกลอร์และคลุมด้วยฝางเพื่อช่วยรักษาความชื้น หลักจากที่ปทุมมาเติบโตเต็มที่ ออกดอก จนกระทั่งดอกโรย ใบโทรมและเหลืองจนถึงช่วงที่ใกล้ลงหัวแล้ว ช่วงนี้เริ่มงดน้ำ เพื่อให้ต้นยุบตัวและทำให้เก็บผลผลิตได้เร็วจึ้น





โรค แมลงศัตรูและการป้องกันกำจัด
โรคที่สำคัญ คือ โรคหัวเน่า ใบจุด และใบใหม้ ซึ่งจะระบาดช่วงฝนตกชุก แต่ไม่พบแมลงศัตรูสำคัญ โรคเน่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดของพืชสกุลนี้ โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียน Pseudomonas solanacearum ซึ่งเป็นเชื้อโรคเหง้าเน่าของเชื้อนี้เติบโตได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นด่างโรคนี้เป็นปัญหาสำคัญในการป้องกันกำจัด เนื่องจากเชื้อนี้สามารถพัฒนาพันธุ์ให้ต้านทานสารเคมีได้เร็ว มีพืชอาศัยหลายชนิดและยังสามารถพักตัวอยู่ในดินได้นานนับปี


ลักษณะอาการของโรค ระยะเริ่มแรกใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ จะเหี่ยวตกลู่ลง ต่อมาจะม้วนเป็นหลอดและเหลือง ลามจากล่างขึ้นไปยังส่วนบน จนเหลืองแห้งตายทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่มีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำจะเน่าเปื่อยหักหลุดออกจากหัวได้ง่ายเมื่อผ่าต้นดูจะเห็นข้างในเป็นสีคล้ำหรือน้ำตาลเข้มและมีเมือกเป็นของเหลวสีขาวข้น ซึมออกมาตรงรอยแผล หัวอ่อนที่เป็นโรคจะมีรอยช้ำฉ่ำน้ำ เมื่ออาการรุนแรงขึ้นหัวจะเปื่อยยุ่ยและสีคล้ำขึ้น เมื่อผ่าหัวจะพบรอยคล้ำเป็นสีม่วงน้ำเงินจาง ๆ จนถึงสีน้ำตาลและมีเมือกสีขาวซึมออกมาตรงรอยแผล พืชอาศัยของเชื้อ Pseudomonas solanacearum เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคเหี่ยวกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดในเขตร้อน เขตกึ่งร้อน และเขตอบอุ่น ได้แก่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ มะเขือ พริก ถั่วลิสง พริกไทย กล้วย ขา ขิง ต้นสัก มะกอก หม่อน มันสำปะหลัง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังสามารถเกาะกินพักตัวกับพืชนอกฤดูปลูก วัชพืชมากกว่า 64 ตระกูล และไม้ดอกอีกหลายชนิด ดังนั้น จึงควรระมัดระวังพืชเหล่านี้เป็นพิเศษในการปลูกปทุมมา


การป้องกันโรคหัวเน่าของปทุมมา
ควรใช้หัวพันธุ์ที่ปลอดโรค มีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี และปลูกในที่ที่ไม่ค่อยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน ก่อนปลูกหัวพันธุ์ปทุมมา ควรจุ่มหัวพันธุ์ด้วยสารเคมี เช่น Kanker-X หรือ Streptomycin สำหรับแปลงที่พบโรคระบาดนี้ ควรไถดินขึ้นมาตากแดด 1 เดือน อย่างน้อย 2 ครั้ง และควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดที่ไม่เป็นพืชอาศัยของเชื้อนี้ เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อในดิน หมั่นตรวจและสังเกตต้นปทุมมาในแปลง เมื่อพบต้นที่เป็นโรคควรขุดต้นและดินรอบๆ รัศมี 30 เซนติเมตร นำไปฝังทำลาย แล้วโรยปูนขาวให้ทั่วหลุม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย การให้น้ำในแปลงที่พบว่าเป็นโรคอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำโดยวิธีเปิดร่องเพราะอาจทำให้เชื้อแพร่ระบาดไปตามน้ำได้อย่างรวดเร็ว ควรนำเครื่องมือ เครื่องใช้ เช่น มีด จุดแอลกอฮอล์ 70% หรือ Clorox 10% ทุกครั้งที่ใช้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อระบาดต่อไป ถ้าพบโรคนี้ระบาดในแปลงควรเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เร็วกว่าปกติ ถ้าปล่อยไว้นานผลผลิตจะเสียหายมากขึ้น

ในเขตที่พบว่ามีการระบาดของโรคนี้ ควรจำกัดบริเวณไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายหัวพันธุ์ออกจากบริเวณนั้น และไม่ควรปลูกพืชพวก พริก มะเขือต่างๆ มะเขือเทศ ขิง งา มันเทศ และถั่วลิสง ในแปลงดังกล่าว ในแปลงที่พบไส้เดือนฝอยรากปมระบาด ควรกำจัดไส้เดือนฝอยก่อนโดยใช้ Nematicide ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตควรเก็บหัวพันธุ์ หรือเศษต้นพืชให้หมดจากแปลงปลูก ไม่ควรทิ้งไว้ในแปลงจะเป็นแหล่งอาศัยของเชื้อได้ ควรเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ช้ำหรือเกิดบาดแผล เพราะทำให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่าย และควรแยกส่วนหัวที่เป็นโรคทำลายทิ้งจะได้ช่วยลดการระบาดของโรค การเก็บรักษาหัวพันธุ์ต้องเก็บอย่างถูกวิธี สถานที่ต้องไม่อับชื้น อากาศถ่ายเทสะดวก หรือเก็บในห้องเย็นที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ภาชนะที่ใช้ใส่หัวพันธุ์ ควรทำความสะอาดก่อนด้วยแอลกอฮอล์ 70% แล้วเช็ดให้สะอาด


การเก็บเกี่ยวและการบรรจุหีบห่อ
การตัดดอกควรตัดดอกในระยะที่ดอกจริงบานแล้วทั้งหมด 3–5 ดอก โดยให้ใบติดมาด้วย 1–2 ใบ ในกรณีปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่ จะใช้เวลา 35–120 วัน หลังจากปลูก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพหัวพันธุ์ ควรเก็บเกี่ยวในตอนเช้า และแช่โคนก้านช่อดอกในน้ำสะอาดทันที

การเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์
เมื่อใบและลำต้นเตรียมแห้งและยุบตัวลง เหลือแต่เหง้าและตุ้มรากฝังตัวอยู่ในดิน ในช่วงนี้ต้องเริ่มงดน้ำ เพื่อให้หัวพันธุ์มีการสะสมอาหารที่หัวเต็มที่ และป้องกันไม่ให้เหง้าและรากสะสมอาหารเน่า แต่ก่อนขุดควรรดน้ำจะช่วยให้ดินอ่อนตัวลงเพื่อความสะดวกในการขุด และแยกหัวพันธุ์ที่ขุดได้ออกจากดินหลังจากขุดแล้วต้องนำไปล้างทำความสะอาด แล้วนำมาจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อราและแมลง ผึ่งบนตะแรกงในที่ร่ม ระบายอากาศดีเพื่อให้ผิวนอกของเหง้าแห้งสนิท

การคัดขนาดหัวพันธุ์ส่งออก แบ่งเป็น 3 เกรด คือ หัว กลาง ท้าย หัว คือ หัวพันธุ์ที่คัดเลือกว่ามีลักษณะดีเด่นที่สุด มีตุ้มอาหารมากว่า 4 ตุ้ม อาหารขึ้นไป มีน้ำหนักมาก ซึ่งจะเก็บไว้เป็นหัวพันธุ์ต่อไป กลางคือหัวพันธุ์ที่มีตุ้มอาหาร 3–4 ตุ้มอาหารขึ้นไป สามารถส่งออกได้และท้าย คือ หัวที่มีตุ้มอาหารน้อยกว่า 3 ตุ้ม ไม่สามารถส่งออกได้ การบรรจุหีบห่อ เป็นแบบกล่องกระดาษ ขนาดความสูงประมาณกล่องลำไย ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองก้นกล่อง เจาะรูหัว – ท้าย และด้านข้างกล่อง เพื่อให้มีการระบายอากาศ




ข้อควรรู้
เนื่องจากปทุมมา เป็นพืชที่มีศักยภาพในการส่งออก สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายล้านบาท และมีแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกษตรกรสนใจหันมาปลูกันมากขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาในการส่งออกหัวพันธุ์ แต่เนื่องจากหัวพันธุ์มีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหัวเน่า ประเทศผู้นำเข้าอาจงดการนำเข้าหัวพันธุ์จากประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร จึงได้มีข้อควรรู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีข้อควรรู้แก่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก ควรนำไปปฏิบัติซึ่งอาจเป็นมาตรการสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอนาคต ดังนี้

การขึ้นทะเบียนผู้ปลูก ผู้ส่งออกปทุมมา โดยผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้จะไม่สามารถส่งออกได้ และการตรวจสอบหัวพันธุ์ที่จะส่งออก เพื่อให้ใบรับรองปลอดโรค รวมถึงการตรวจแปลงปลูกเป็นระยะๆ โดยนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อที่จะให้ใบรับรองปลอดโรคแก่ผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตที่แจ้งความจำนงไว้ นอกจากนั้น ผู้ผลิตหัวพันธุ์ปทุมมาเพื่อการส่งออก จะต้องมีการปฏิบัติดูแลรักษาตามหลักมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด เช่น ใช้หัวพันธุ์ปลอดโรค การปฏิบัติดูแลแปลงตามมาตรฐานที่กำหนดอื่นๆ ผู้เขียนหวังว่าเรื่องราวของปทุมมาที่นำมาฝากผู้อ่าน จะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกร หรือผู้ที่กำลังมองหาอาชีพด้านการเกษตร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่จะสามารถทำให้เกษตรกรมีทางเลือก จากข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอมาจะเห็นว่า ปทุมมาเป็นดอกไม้ที่กำลังได้รับความนิยมไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีความนิยมในต่างประเทศอีกด้วย


จากตัวเลขความต้องการของปทุมมาจะเห็นว่า ความต้องการมีมากกว่ากำลังการผลิตนั้นแสดงว่า ขณะนี้ปทุมมากำลังเป็นดอกไม้เศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มที่ดีในตลาดเกษตรกร หรือผู้ใดสนใจหากจะหันมาปลูกปทุมมาควรจะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจากนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร เริ่มตั้งแต่การปลูก ไปจนถึงการส่งออก เนื่องจากว่ามีขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย สุดท้ายปทุมมาจะเป็นดอกไม้ที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ที่ใครๆ ไม่ควรจะมองข้ามจริง ๆ ...


ผู้ที่สนใจในเรื่องของปทุมมาสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ จ. แพร่ โทรศัพท์ 0 - 5452-1387 หรือ 0 8-1764-5882 ได้ในวัน เวลา ราชการ

(ขอบคุณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ จ.แพร่ : ข้อมูล)


กรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0-2561-2825, 0-2940-6864
โทรสาร : 0-2579-4406


http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n13/v_9-oct/korkui.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©