-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต...
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - จอกหูหนูยักษ์...มหันตภัยเงียบ
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

จอกหูหนูยักษ์...มหันตภัยเงียบ

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 14/01/2011 7:02 pm    ชื่อกระทู้: จอกหูหนูยักษ์...มหันตภัยเงียบ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

จอกหูหนูยักษ์...มหันตภัยเงียบ


สิ่งของบางอย่างดูลักษณะภายนอก เราอาจจะเห็นว่าเป็นของสวยงาม น่าจับต้องแต่แท้ที่จริงแล้วมันอาจซ่อนไว้ด้วยอันตรายอย่างที่เราคาดไม่ถึง การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์หรือจะด้วยสาเหตุสใด ๆ ก็ตามบางครั้งอาจนำมาซึ่งผลเสียกับตัวเองและสังคมโดยที่เราไม่รู้มาก่อนว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปนั้นได้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง กรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานด่วนว่า ขณะนี้มีพืชชนิดหนึ่งที่กำลังสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศน์ ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมามากมาย พืชไม่พึงประสงค์ชนิดนั้นเรียกว่า “จอกหูหนูยักษ์”

ผลิใบฯ ฉบับนี้จะนำความรู้เกี่ยวกับ จอกหูหนูยักษ์ที่กำลังเป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน และเป็นการแจ้งเตือนให้กับผู้ที่กำลังคิดว่าจอกหูหนูยักษ์ เป็นพืชที่สวยงาม เลี้ยงไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ แท้ที่จริงแล้วมันคือมหันตภัยเงียบที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมไทยอยู่

ในขณะนี้ ถ้าหากเรายังไมช่วยกันกำจัด “จอกหูหนูยักษ์” อาจจะทำให้ใครหลาย ๆ คนตะลึงกับพิษสงของมัน เรามาช่วยกันป้องกัน กำจัด และบอกต่อให้ทราบทั่วกันว่า จอกหูหนูยักษ์มีผลกระทบอย่างไรกับสิ่งแวดล้อมจอกหูหนูยักษ์ ขณะนี้กำลังระบาดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ในอำเภอคลองหอยโข่งและอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ส่วนในภาคกลาง พบระบาดรุนแรงในเขื่อนแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเขื่อนนี้ทำหน้าที่ระบายน้ำให้พื้นที่การเกษตร 7 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงครามและเพชรบุรี นอกจากนี้ยังระบายน้ำสู่แม่น้ำแม่กลอง ทำให้พบจอกหูหนูยักษ์ระบาดตลอดลำน้ำแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จนถึงอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม จอกหูหนูยักษ์เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลกมานานแล้ว เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายในทุกทวีปทั่วโลก

ประเทศไทยได้มีการไหวตัว ประกาศให้จอกหูหนูยักษ์เป็นสิ่งต้องห้าม มิให้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 14 ซึ่งประกาศตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2521 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ใช้ชื่อว่า "เฟิร์นน้ำซาลวิเนีย" เนื่องจากเป็นพืชที่มิได้มีอยู่ในประเทศไทยและหากให้เข้ามาอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ พระราชบัญญัติกักพืชนี้ ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยและเพิ่มบทลงโทษมากขึ้น ผู้ครอบครองจะต้องเป็นผู้ทำลาย และหากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำลาย สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของได้และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขัดขืน ขัดขวางการกระทำ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ฐานความผิดในปัจจุบันพบจำหน่ายหรือปลูกเป็นไม้ประดับ โดยไม่ทราบว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจอกหูหนูยักษ์เป็นเฟิร์นน้ำมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Salvinia molesta D.S. Mitchell อยู่ในวงศ์ Salviniaceae มีชื่อสามัญที่เรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น African payal, giant salvinia, kariba weed, salvinia, water fern, salvinia




ลักษณะพืช
เป็นพืชประเภทลอยน้ำ ไม่ยึดเกาะกับดิน ไม่มีรากที่แท้จริง ลำต้นทอดยาวอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อย แต่ละข้อมีใบ 1 คู่ อยู่เหนือผิวน้ำ สีเขียว รูปไข่ ยาวเล็กน้อย และใบที่สามเปลี่ยนรูปเป็นเส้นเล็กๆ สีน้ำตาล จำนวนมาก อยู่ใต้น้ำ ทำให้เข้าใจว่าเป็นราก ใบส่วนนี้อาจยาวมาก แกว่งไปมาในน้ำ เป็นการช่วยให้พยุงให้พืชลอยน้ำอยู่ได้อย่างมั่นคง และเป็นที่สร้างสปอร์โรคาร์ป ใบด้านบนปกคลุมด้วยขนแข็ง สีขาว แต่ละเส้นแยกออกเป็นแขนงย่อย 4 เส้นที่ปลายเชื่อมกันเหมือนซี่กรงขนาดเล็ก ขนเหล่านี้อาจเสียหายหรือเห็นไม่ชัดเจนเมื่อใบแก่ แต่ใบอ่อนที่ไม่ม้วนจะเห็นชัดเจน ขนที่มีโครงสร้างพิเศษนี้ป้องกันมิให้ใบเปียกน้ำ ทำให้ไม่จมน้ำขณะที่ยังสดอยู่ การเจริญเติบโตของจอกหูหนูยักษ์ส่วนที่เห็นได้ชัดเจน คือใบ ซึ่งมีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ใบอ่อนที่เกิดในช่วงที่ยังไม่มีการเบียดเสียดกันจะมีลักษณะกลม แบน ลอยอยู่ปิ่มน้ำ เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นหรือกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ขอบใบจะม้วนขึ้น เป็นการตอบสนองต่อการแข่งขันกันเอง ดังนั้นเมื่อโตเต็มที่ใบก็จะอยู่ในตำแหน่งแนวตั้ง อัดกันแน่นเป็นเสมือนเสื่อผืนใหญ่

จอกหูหนูยักษ์มีการขยายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ คือ การแตกยอดใกล้จากซอกใบของต้นเดิม และสามารถแตกออกไปได้เรื่อยๆ ลำต้นหักง่าย ส่วนที่หลุดออกไปก็สมารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำนิ่ง หรือกระแสน้ำไม่แรงนัก ในสภาพที่เหมาะสมจอกหูหนูยักษ์ สามารถเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า ใน 2-4 วัน และเพิ่มมากเป็น 2 เท่าใน 7-10 วัน จากหนึ่งต้น สามารถเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ 64,750 ไร่ ในเวลา 3 เดือน น้ำหนักสดถึง 64 ตันต่อไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับผักตบชวา (GISD, 2006) จอกหูหนูยักษ์มีลักษณะคล้ายกับจอกหูหนู (Salvinia cucullata Roxb. Ex Bory) ซึ่งเป็นพืชอายุฤดูเดียวที่พบเห็นทั่วไปในหนองน้ำ ลักษณะใบเมื่อแก่แตกต่างกัน ขนบนใบเป็นเส้นเดี่ยวและ
สปอโรคาร์ปเป็นพวงสั้นกระจุกแน่น (ภาพที่ 5)

ความเป็นมาในประเทศไทย
ในปี 2544 มีการนำจอกหูหนูยักษ์มาจำหน่ายเป็นสมุนไพรในตลาดพันธุ์ไม้ที่สวนจตุจักร เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรได้เข้าชี้แจง และกำจัดออกไปปี 2550 กรมวิชาการเกษตร โดยกลุ่มวิจัยวัชพืช ได้รับทุนจากกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ทำการเฝ้าระวังและสำรวจจอกหูหนูยักษ์ในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งพบร้านที่จำหน่ายจอกหูหนูยักษ์ 12 แห่ง และประชาชนปลูกเป็นไม้ประดับ 10 แห่ง ขณะเดียวกันมีการศึกษาการเจริญเติบโตของจอกหูหนูยักษ์ในสภาพเรือนทดลองที่เป็นบ่อซีเมนต์ พบว่ามีการเจริญเติบโตเร็วมาก โดยเพิ่มจาก 1 ต้นที่มี 9 ใบเมื่อเริ่มทดลอง เป็น 15 แขนง 82 ใบ ในสัปดาห์ที่ 2 และการควบคุมด้วยสารกำจัดวัชพืชพาราควอท อัตรา 100-200 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ผสมสารจับใบ ได้ผลในการควบคุมได้ผลดีที่สุด (จันทร์เพ็ญและคณะ, 2551) ในปีงบประมาณ 2552 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้รับอนุญาตให้จัดทำโครงการเฝ้าศัตรูพืช ซึ่งจอกหูหนูยักษ์เป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่ได้รับอนุมัติให้ทำการเฝ้าระวัง โดยได้รับงบประมาณ 74,000 บาท และ 45,900 บาท ในปีงบประมาณ 2553 ทำการสำรวจแบบสืบพบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูพืชกักกันชนิดที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาระบาดในประเทศไทย และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับศัตรูพืชกักกันที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยให้มีการแพร่ระบาด
วัชพืชเป็นศัตรูพืชที่มิได้ทำลายผลผลิตของพืชโดยตรง และไม่ทำให้ผลผลิตเสียหายรุนแรง และรวดเร็วเหมือนศัตรูพืชชนิดอื่น แต่จะเป็นตัวที่ถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุของภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ เนื่องจากการเผาวัชพืช หรือน้ำท่วมเนื่องจากวัชพืชอุดตันทางไหลของน้ำ และยังเป็นสาเหตุให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราสู่ต่างประเทศหลายพันล้านบาทในแต่ละปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2552 มีมูลค่าสูงถึง 9,338 ล้านบาท จากมูลค่าการนำเข้าของวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งสิ้น 16,815 ล้านบาท (สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร, 2553) หรือเทียบเท่า 55 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าสารกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นๆ รวมกัน




ความเสียหาย บทเรียนที่ได้จากต่างประเทศคือ
ทำให้นิเวศน์แหล่งน้ำเปลี่ยนไปได้ โดยสาเหตุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจอกหูหนูยักษ์ คือ การเจริญเติบโต ขยายพื้นที่ปกคลุมออกไปอย่างรวดเร็ว แทนที่พืชเดิม

จอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น ทำให้แสงแดดส่องผ่านไปยังพื้นน้ำเบื้องล่างไม่ได้พืชน้ำที่อยู่ด้านล่างขาดแสงสำหรับขบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นลดการเติมออกซิเจนลงในแหล่งน้ำ ในขณะที่การย่อยสลายของซากพืชที่ตายและจมลงสู่เบื้องล่าง ซึ่งต้องใช้ออกซิเจนที่ละลายน้ำอย่างมาก ทำให้ปลาและสัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิตอื่นขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงมากจนทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นตายได้ การทับถมของซากพืชจอกหูหนูยักษ์ ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ขณะเดียวกันจอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น ทำให้เป็นที่ยึดเกาะของเมล็ดวัชพืช ที่ปลิวมาจากที่อื่น สามารถงอกและเจริญเติบโตอยู่บนผืนจอกนี้ได้ หรือพืชอื่นอาจเลื้อยจากฝั่ง ลงไปยังแหล่งน้ำที่มีจอกหูหนูยักษ์ขึ้นอยู่ได้

ในที่สุดแหล่งน้ำนั้นก็จะตื้นเขิน พืชไม้น้ำเดิมหายไป สัตว์น้ำไม่มีที่อาศัย พืชชนิดอื่นที่มิใช่พืชเข้ามาแทนที่ ในที่สุดแหล่งน้ำนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป และพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ก็จะหายไปด้วย กีดขวางการใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำ จอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น และอัดตัวกันแน่น เป็นแผ่นเต็มผิวน้ำ นอกจากทำให้กระแสน้ำไหลได้ช้าแล้ว ยังเป็นการกีดขวางการคมนาคมทางน้ำด้วย จอกหูหนูยักษ์อุดทางไหลของน้ำ ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตร และการผลิตกระแสไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ได้ ที่อยู่อาศัยที่ดีของยุงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ เช่น โรคเท้าช้างในศรีลังกามาเลเรียในปาปัวนิวกินี

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดระบาดของจอกหูหนูยักษ์ในแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้ต้องทำการกำจัด สิ้นเปลืองทั้งแรงงาน และงบประมาณ ซึ่งมักไม่มีการรวบรวมในระดับประเทศ ในมลรัฐหลุยส์เชียน่า สหรัฐอเมริกา เพียงแห่งเดียว ประมาณการค่าใช้จ่ายในการควบคุมมากกว่า 249 ล้านเหรียญ (ประมาณ 9,950 ล้านบาท) โดยเป็นค่าสารเคมีควบคุมวัชพืช (diquat) ประมาณ 100 เหรียญต่อเอเคอร์ หรือประมาณ 1600 บาทต่อไร่ ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่นๆ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐนี้มากกว่า 440 ล้านเหรียญ (ประมาณ 17,600 ล้านบาท)

จอกหูหนูยักษ์กับผักตบชวา
เมื่อเรามองย้อนกับไปกล่าวถึงผักตบชวา ย่อมเป็นที่รู้จักกันดี เพราะได้นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2444 มีการระบาดอย่างกว้างขวางหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพระนคร และเกิดพระราชบัญญัติผักตบชวาเมื่อปี 2456 ปัจจุบันคนไทยเรียนรู้ที่จะนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ในแง่ต่าง ๆ เช่น เป็นอาหาร วัตถุดิบในการจักสาน การทำปุ๋ย แต่จอกหูหนูยักษ์ เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย ไม่มีข้อมูลการใช้ประโยชน์ มีการเจริญเติบโตได้ใกล้เคียงกับผักตบชวา จอกหูหนูยักษ์มีลำต้นที่เปราะบางสามารถหนักได้ง่าย ส่วนที่หักออกไปสามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้ ดังนั้นจากหนึ่งต้นจึงสามารถเพิ่มจำนวนต้นได้มากมาย แต่ผักตบชวาสร้างต้นใหม่จากไหล ซึ่งมีจำนวนน้อยและใช้เวลามากกว่า




จอกหูหนูยักษ์เจริญเติบโตเกาะกันจนเป็นผืนใหญ่ ซ้อนกันหลายชั้นทำให้แสงแ ละอากาศไม่สามารถส่งผ่านส่งสู่พื้นน้ำด้านล่าง เป็นอันตรายต่อสัตว์ และพืชพรรณที่อยู่ใต้น้ำ แต่ผักตบชวามีก้านใบที่ยาว แสงและอากาศสามารถส่งผ่านลงสู่พื้นผิวได้บ้าง จอกหูหนูจึงนับว่ามีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำนั้นรุนแรงกว่าผักตบชวา การควบคุม ผักตบชวามีขนาดใหญ่ สามารถเก็บออกจากแหล่งน้ำได้ง่าย ใบที่หักหลุดจากต้นเดิมไม่สามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้ แต่จอกหูหนูยักษ์มีลำต้นที่เปราะบาง หักง่าย เมื่อหลุดออกไปสามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้ การช้อนหรือเก็บออกจากแหล่งน้ำ หากไม่ระวังก็จะหลุดรอดไปได้ จึงกำจัดได้ยากกว่าผักตบชวา นอกจากนี้ในการสังเกตในธรรมชาติที่พบจอกหูหนูยักษ์ขึ้นปะปนกับผักตบชวาในบริเวณที่มีจอกหูหนูยักษ์ที่โตเต็มที่ขึ้นหนาแน่น ผักตบชวาจะมีอาการใบเหลือง คล้ายขาดอาหาร และใบห่อม้วน ไม่ได้รับแสงเต็มที่ บางแห่งมีใบเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นไปได้ว่าผักตบชวาไม่สามารถแข่งขันแก่งแย่งปัจจัยจำกัดคือธาตุอาหารในแหล่งน้ำกับจอกหูหนูยักษ์ได้

จอกหูหนูยักษ์ ไม่สามารถแข่งขันกับผักตบชวาในเรื่องความสูง หรือเพื่อรับแสงสว่าง แต่จอกหูหนูยักษ์สามารถเจริญเติบโตได้แม้ภายใต้ร่มเงา ดังนั้นถึงแม้จอกหูหนูยักษ์จะอยู่ใต้ร่มเงาของผักตบชวาก็สามารถมีชีวิตรอด และเพิ่มปริมาณอย่างช้าๆ จนสามารถเบียดเสียดออกมานอกผักตบชวาได้ ดังนั้นหากเปรียบเทียบในแง่ของ ความสามารถในการขยายพันธุ์ ผลกระทบ การควบคุม กำจัด และการแข่งขันเพื่อธาตุอาหารแล้ว จอกหูหนูยักษ์มีความน่ากลัวกว่าผักตบชวามาก และเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองพันธุ์พืชใต้น้ำหรือพรรณไม้ในแหล่งน้ำ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาให้ความสนใจกับไม้น้ำชนิดนี้

การป้องกันกำจัด
ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการนำจอกหูหนูยักษ์มาเป็นไม้ประดับ และเมื่อมีมากเกินความต้องการก็ทิ้งสู่ภายนอก ทำให้จอกหูหนูยักษ์ระบาดลงแหล่งน้ำ หากปล่อยไว้จะเกิดวัชพืชที่ร้ายแรงกว่าผักตบชวา จึงควรทำการกำจัดอย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยลงสู่แหล่งน้ำอย่างเด็ดขาด หากพบในแหล่งน้ำต้องช้อนออกจากแหล่งน้ำ นำไปตากแห้ง และเผาทิ้ง ส่วนที่ติดตามตลิ่งไม่สามารถเก็บออกได้ ควรใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอท 100-200 กรัม สารออกฤทธิ์ต่อไร่ผสมสารจับใบ ฉีดพ่นให้ถูกจอกหูหนูยักษ์โดยตรงหลังจากกำจัดแล้วต้องเฝ้าระวังไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ โดยตรวจสอบว่ามีต้นใหม่ที่งอกจากส่วนที่หักออกไปหรือไม่ อย่างน้อยเดือนละครั้งจนกว่าจะไม่พบติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน

ผู้อ่านคงจะได้ทราบรายละเอียดของ “จอกหูหนูยักษ์” กันพอสมควรแล้วคงจะเห็นว่าเป็นพืชที่อันตรายเป็นอย่างมากเราต้องหาทางกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทยก่อนที่จะระบาดกลายเป็นวัชพืชร้ายแรงแทนที่ผักตบชวา

หากพบเห็นจอกหูหนูยักษ์ที่ใด ขอให้รีบแจ้งผู้ครอบครองให้ทำการกำจัด หรือแจ้งไปยังกลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อกลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โทร.02 940 7409 หรือ 02 940 7194 โทรสาร 02 940 7409 หรือ ws.doa@doa.in.th

(ขอบคุณ คุณศิริพร ซึงสนธิพร กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร : ข้อมูล)


http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n13/v_3-apr/korkui.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 14/01/2011 10:45 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ต่อยอด.....

ไม่ว่าจะเป็นดอกจอกหนูยักษ์, ดอกจอกหนูแคระ, ผักตบชวา, แหนขาว, แหนเขียว, แหนแดง กับอีกหลายๆพืชที่อยู่ในน้ำ เรียกว่า "พืชน้ำ" ซึ่งก็คือ "พืช"

จากพืชน้ำมาที่พืชบก ถ้าเป็นพืชก็คือพืช จะทั้งต้นหรือบางส่วนก็คือพืช

โดยมนุษย์นั้น พืชที่ต้องการ เรียกว่า "พืชเศรษฐกิจ" พืชที่ไม่ต้องการ เรียกว่า "วัชพืช" ทั้งสองอย่างถูกตัดสิน ชี้ขาด หรือแบ่งแยก โดยมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งๆที่พืชก็คือพืช เขาไม่รู้เรื่องด้วยเลย

ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจหรือวัชพืช นอกจากความเป็นพืชแล้ว อีกมุมมองหนึ่งคือ นอกจากความเป็นพืชแล้ว เขายังมีความเป็น "ปุ๋ย" อีกโสตหนึ่งด้วย ที่เรียกว่า "ปุ๋ยพืชสด" ไงล่ะ



1.
เมื่อหลายปีมาแล้ว สมช.รายการวิทยุ ย่านไทรน้อย นนทบุรี มองเห็นความเป็นปุ๋ยบำรุงพืชจากวัชพืชได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

เริ่มจากเอา "ขี้วัว + ขี้ไก่ + ขี้หมู" หว่านบนพื้นสันแปลง สวนยกร่องน้ำหล่อ ปลูกกล้วยน้ำว้า กับกล้วยหอม หว่านบางๆแล้วปูทับด้วย "ผักปอด" ชั้นแรกหนาประมาณ 1 ศอกแขน โรยทับด้วย "ขี้ววัว + ขี้ไก่ + ขี้หมู" เป็นชั้นที่สอง บางๆเหมือนเดิม ปูทับด้วยผักปอดเป็นชั้นที่สอง หนาประมาณ 1 ศอกแขนเท่าเดิม โรยทับด้วย "ขี้วัว + ขี้ไก่ + ขี้หมู" เป็นชั้นที่สาม บางๆเหมือนเดิม

สรุป : ปุ๋ยคอก 3 ชั้น ผักปอด 2 ชั้น หรือ ปุ๋ยคอก + ผักปอด + ปุ๋ยคอก + ผักปอด + ปุ๋ยคอก......

จากนั้นให้น้ำ 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละอาทิตย์ แล้วไม่ได้ให้น้ำอีกเลยกระทั่งเก็บเกี่ยว
ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จากเดิมที่เคยสูงเลยหัวเข่าผู้ใหญ่ ลดลงเหลือราวครึ่งหน้าแข้ง กับอีก 1 เดือนต่อมา ยุบลงอีกเหลือสูงกว่าตาตุ่มนิดเดียว ทั้งปุ๋ยคอกทั้งผักปอดเปื่อยยุ่ยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วกลายเปลี่ยนป็นผงเหมือนดินในที่สุด

ในอดีต กล้วยสวนนี้เคยใส่ปุ๋ย 1-2 กส./ไร่/รุ่น เป็นประจำ ตั้งแต่ใส่ ผักปอด + ปุ๋ยคอก ตัวนี้แล้วไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีอีกเลยแม้แต่เม็ดเดียว หนำซ้ำคุณภาพผลผลิตยังดีกว่าใส่ปุ๋ยเคมีอีกด้วย


2.
คุณวชิระฯ ชมรมสีสันชีวิตไทย สาขานครนายก ปลูกมะยงชิดพันธุ์ทูนเกล้า เอาฟางข้าวพร้อมรากติดดินมาด้วย ใช้ทั้งต้น ปูบนพื้นบริเวณโคนต้นเขตทรงพุ่ม จัดระเบียบให้ดูสวยงาม หนาประมาณครึ่งหน้าแข้ง แล้วหว่านทับด้วย "ปุ๋ยคอก" บาง รดน้ำตามปกติ ชั่วระยะเวลาเพียง 1-2 เดือน ฟางข้าวทั้งต้นพร้อมรากย่อยสลายเปื่อยยุ่ยจนไม่เห็นซาก กลายเป็นเนื้อดินไปในที่สุด


3.
พ่อเลี้ยงสุรชัยฯ บ้านหนองสมณะ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ตัดแต่งกิ่งลำไยต้นขนาดสูงเท่าหลังคาบ้าน 2 ชั้น เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 12 ม. กิ่งพร้อมใบสดๆทั้งหมดสุมไว้ที่โคนต้นบริเวณทรงพุ่ม จัดระเบียบให้ดูสวยงาม ได้ความสูงเกือบถึงเอวผู้ใหญ่ หว่าบทับด้วยปุ๋ยคอกบางๆ รดน้ำตามปกติ.....ประมาณ 2-3 เดือน ใบลำไย + กิ่งเล็กกิ่งน้อย ย่อยสลายผุเปื่อยกลายเป็นเนื้อดิน เหลือแต่กิ่งขนาดใหญ่เท่านั้นที่ต้องเก็บออก


นี่แหละ "ปุ๋ยพืชสด" ที่พืชชอบ


ลุงคิม (ชอบของสด) ครับผม

ปล.
บนกอง "เศษพืช + ปุ๋ยคอก" แล้วรดด้วย "น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง" ส่วนผสมต่างๆ ในน้ำหมัก จะช่วยให้อะไรๆ ใน "ปุ๋ยพืชสด" ดีเหนือชั้นขึ้นไปอีก
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Soup
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 01/09/2010
ตอบ: 181
ที่อยู่: อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

ตอบตอบ: 15/01/2011 9:55 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ชอบ ชอบ ชอบ
ชอบทั้งสามเบอร์ครับ ^_^
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 16/01/2011 6:49 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลุงคิมว่า อีกหลายๆคนเคยมีประสบการณ์แบบนี้ ทั้งประสบการณ์ตรงที่เคยทำกับ
มือ และประสบการณ์ตรงที่เคยเห็นคนอื่นเขาทำ

ทั้งที่ตัวเองเคยทำ กับทั้งที่คนอื่นทำ ย่อมมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว

เรื่องราวทำนองนี้ น่าจะถ่ายทอดสู้กับฟัง เรียกว่า "แบ่งปันประสบการณ์" ไงล่ะ


ลุงคิมครับผม
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 23/01/2011 9:58 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)




การศึกษาเปรียบเทียบ วิธีการทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา

พรพรรณ พรรณภัทราพงษ์ และ วุฒิชัย ไชยศิริ
อาจารย์ที่ปรึกษา อ.อนันต์ วิสัยเกษม

ในการศึกษาเปรียบเทียบ วิธีการทำปุ๋ยหมัก จากผักตบชวา ได้ดำเนินการทดลองตั้งแต่ วันที่ 7 สิงหาคม 2536 ถึง 19 ตุลาคม 2536
ณ.บริเวณแปลงทดลอง เกษตรกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง วางแผนการ
ทดลอง แบบ Randomize Complete Block (RCB) การทดลองนี้ ทั้งหมด 12 Treatment โดยศึกษาเปรียบเทียบ วิธีการทำปุ๋ย
หมัก โดยใช้สารเร่งปุ๋ยหมัก ชนิดต่างๆกัน คือ พด. , KMITL และ F-60 ใช้ยากำจัดศตรูพืช คือ Spark และ Paraquat และเปรียบ
เทียบ กับการทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ผักตบชวาเพียงอย่างเดียว

หลังดำเนินการกองปุ๋ยหมักแล้ว ต้องมีการดูแล รักษากองปุ๋ย เช่น การรักษาความชื้น ในกองปุ๋ย ให้อยู่ในระดับ 50-60% , การกลับ
กองปุ๋ยทุกๆ 10 วัน เพื่อให้อากาศถ่าเท และลดความร้อนในกองปุ๋ย การบันทึกผล จะบัยทึกถึง ความสูงของกองปุ๋ย , อุณหภูมิในและ
นอกกองปุ๋ย และเก็บตัวอย่างจากกองปุ๋ยทุก 10 วัน เพื่อนำไปวิเคราะห์ หาค่าอัตราส่วน ระหว่างคาร์บอน และไนโตรเจน ในห้องปฎิบัติการ

จากการวิเคราะห์ทางสถิติ พบว่า ปุ๋ยหมักที่ใส่สารเร่ง มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ กับปุ๋ยที่ไม่ได้ใส่สารเร่ง ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

สำหรับปุ๋ยหมัก ที่ใส่สารเร่ง พด. มีค่า C/N ratio ต่ำที่สุด คือ 24.795 รองลงมา คือ F-60 มีค่า C/N ratio 24.825 เชื้อผสม
(mixed) มีค่า C/N ratio 25.515 และ KMITL 26.3025

ส่วนตำรับที่ใช้ PARAQUAT ไม่มีความแตกต่างกัน ทางสถิติ กับตำรับที่ใช้สารเร่ง โดย PARAQUAT มีค่า C/N ratio 27.4525 ,

ผักตบชวาหั่น + มูลสัตว์ + Urea มีค่า C/N ratio 30.1175 ,
PARAQUAT + เชื้อ KMITL มีค่า C/N ratio 31.105 ,
ผักตบชวา + มูลสัตว์ มีค่า C/N ratio 33.5475 ,
SPARK + เชื้อ KMITL มีค่า C/N ratio 33.6425 ,
ผักตบชวา + มูลสัตว์ + Urea มีค่า C/N ratio 35.285 ,
ผักตบชวาเพียงอย่างเดียว มีค่า C/N ratio 37.6025 และ
SPARK มีค่า C/N ratio 39.9025

และเมื่อเปรียบเทียบ กับตำรับที่ใช้ผักตบชวาเพียงอย่างเดียวกับตำรับอื่นๆ พบว่า มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ
ความเชื่อมั่น 95% และพบว่าการทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา โดยวิธีการใช้สารเร่ง ใช้เวลาในการเป็นปุ๋ยหมัก ที่สมบูรณ์ เมื่อปุ๋ยหมัก มีอายุ
30-40 วัน


http://www.kmitl.ac.th/soilkmitl/project/pro20.html


กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©