-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ทำไมคนไทยจึง "อ่อนแอทางปัญญา"
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ทำไมคนไทยจึง "อ่อนแอทางปัญญา"
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ทำไมคนไทยจึง "อ่อนแอทางปัญญา"

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 6:22 pm    ชื่อกระทู้: ทำไมคนไทยจึง "อ่อนแอทางปัญญา" ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ทำไมคนไทยจึง "อ่อนแอทางปัญญา"

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสีพูดเสมอว่า "สังคมไทยอ่อนแอทางปัญญา มีความรู้น้อย ใช้ระบบอำนาจเป็นใหญ่เนื่องจากขาดความรู้ เช่น ระบบราชการ คือตัวแทนขององค์กรเชิงอำนาจ มีแต่เน้นกฎหมาย ระเบียบ การสั่งการและการควบคุม ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาที่ซับซ้อนและยากต่อการแก้ไขมากขึ้น"

ได้พยายามตอบคำถามที่ว่า ทำไมคนไทยจึงอ่อนแอทางปัญญา คิดว่าน่าจะมีสักสามสี่ข้อ คือ

๑. ถูกครอบงำจากความคิดแบบแยกส่วน ซึ่งเป็นความคิดของตะวันตก มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์และวิชาการต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ การจัดการสังคมก็แยกส่วน การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาทุกระดับก็แยกส่วน จนวันนี้มีคำฮิตที่สุด คือ "บูรณาการ" "องค์รวม" เพราะทุกคนโหยหาการเชื่อมโยง การประสานงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ของใครของมัน

๒. ไม่มีความสามารถในการ "ถอดรหัสภูมิปัญญา" เพราะภูมิปัญญาเป็นอะไรที่ล้ำลึก ใช้เครื่องมือแบบตะวันตกไปตีค่าภูมิปัญญาถึงได้เหลือนิดเดียว ทำให้คนสมัยนี้ดูถูกภูมิปัญญาตนเอง ดูถูกพ่อแม่ปู่บ่าตายายเพราะท่านเรียนจบแค่ ป.4

ถ้าไม่มีเครื่องมือถอดรหัสภูมิปัญญา เราก็เข้าไม่ถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของภูมิปัญญา กว่าจะเห็นคุณค่าของการแพทย์แผนไทยแผนโบราณหมอยาเก่งๆ ก็ตายเกือบหมดแล้ว ยาสมุนไพรก็ถูกเขาเอาไปจดสิทธิบัตรเกือบหมดแล้ว

๓. ไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ การเรียนคือการท่องจำความรู้ จึงไม่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์ คนไทยจึงรับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ค่อยได้ คิดว่าเป็นการด่า เด็กคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่ก็ว่าเถียง เด็กดีต้องเป็นคนว่านอนสอนง่าย

๔. ไม่สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ข้อมูลข่าวสารมาจากสารทิศและรวดเร็วเท่าแสง และมากมายจนไม่รู้อะไรเป็นอะไร หลายคนจึงตกขบวนโลกาภิวัตน์ด้วยความสมัครใจ ไม่สนใจข่าวสารบ้านเมือง สนใจละครน้ำเน่า เกมปัญญาอ่อนมากกว่า




วิสัยทัศน์ คือ อะไร

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

วิสัยทัศน์เป็นภาพฝันที่วาดไว้เพื่อไปให้ถึง วิสัยทัศน์ที่ดีมีพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน

วิสัยทัศน์ที่ดีให้พลังทางสังคมสูง เพราะเป็นพลังแห่งจินตนาการ และถ้า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" อย่างไอน์สไตน์ว่าไว้ วิสัยทัศน์ย่อมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ดี เส้นแบ่งระหว่างจินตนาการที่มีฐานบนความเป็นจริงกับฝันเฟื่องเรื่องโคมลอยอาจเหมือนอัจฉริยะกับบ้าก็เป็นได้ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะคนที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผีบ้าในอดีตหลายคนวันนี้กลายเป็นผีบุญไปก็มาก คิดถึงผู้นำด้านเกษตรผสมผสาน ด้านอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมสักสองสามคนดูก็ได้

คิดถึงบรรดานักปราชญ์ในอดีต หรือบรรดา "ประกาศก" (prophet) ก็เป็นเช่นนี้ ท่านเหล่านี้ล้วนแต่นำเสนอภาพฝัน อุดมคติอันสูงส่ง พร้อมกับแนวทางปฏิบัติเพื่อทำให้เป็นจริง ท่านเห็น "นิมิต" (vision) อันเดียวกับที่วันนี้เราเรียกกันว่าวิสัยทัศน์นั่นเอง

(มีคำอธิบายเพิ่มเติมและยาวๆ ในหนังสือ "ร้อยคำที่ควรรู้")

www.phongphit.com/index.php?option=com...id...


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 07/08/2010 7:20 am, แก้ไขทั้งหมด 4 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 02/08/2010 6:35 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ที่มา http://www.asamedia.org/2010/06/4984/

นพ.ประเวศชี้ ต้อง “ปฏิวัติจิตสำนึก” เพื่อแก้พื้นฐานของสังคมไทย



ชี้เหตุปัญหาสังคม คนไม่ใช้สมอง”ส่วนหน้า”ทำให้ต่างจากสัตว์ ไม่แค่กินขี้ปี้นอน ระบบศึกษาครอบจิตคว่ำ จิตต่ำเห็นแก่ตัว แนะนศ.คลุกคนจนสัมผัสจริง

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต วันนี้(24 มิ.ย.) มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมจัดประชุมวิชาการ “สานจิตรเสวนา ครั้งที่ 2 : มีปัญญารักษาทุก(ข์)โรค”

ศาสตราจารย์ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวบรรยายหัวข้อ “สร้างองค์กรพัฒนาจิตทุกหย่อมหญ้า” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะจิตคว่ำ คือ การเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่คนอื่น ไม่เห็นแก่สิ่งอื่น ไม่เห็นแก่ส่วนร่วม ทำให้เกิดวิกฤตมากมาย อีกทั้งการศึกษาไทยตลอด 100 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้พัฒนาคน แต่เป็นการครอบคน เป็นระบบการศึกษามิติเดียว ครูทำหน้าที่คอยป้อนข้อมูล ส่วนนักเรียนก็มีหน้าที่ฟังครูอย่างเดียว การศึกษาของไทยจึงทำให้เกิดแต่ความโง่เขลา ไม่ได้ช่วยพัฒนา”จิตหงาย”ของคนให้เกิดขึ้นมาได้ ทั้งที่สภาวะจิตของคนเรานั้นมีทั้งสองด้าน คือ จิตหงาย การเห็นแก่ทั้งหมด เห็นแก่ส่วนร่วม แต่กลับไปพัฒนาเฉพาะจิตคว่ำ

น.พ.ประเวศ กล่าวอีกว่าการศึกษาสอนแค่ระดับความรู้เท่านั้น ไม่ได้สอนการสร้างจิตสำนึกใหม่แก่เด็กนักเรียน นักศึกษา การศึกษาจึงไม่สามารถเป็นพลังจะพาคนฝ่าออกจากวิกฤตได้ ทั้งที่คนส่วนใหญ่มักอยู่ในระบบการศึกษา ดังนั้น ระบบการศึกษาต้องเป็นกลไกในการปฎิวัติจิตสำนึก มหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่เป็นกำแพงกั้นเด็กออกจากความเป็นจริง แต่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้ และจิตสำนึกใหม่ๆ เช่น การพานักศึกษาไปใช้ชีวิตร่วมอยู่กับคนจน เพื่อทำให้เข้าใจโลกความเป็นจริง เห็นมุมมองความเป็นอยู่ของคนจริงๆ ไม่ใช่เพียงไปออกค่ายอาสา ทำหน้าที่ช่วยเหลือชุมชน แต่นักศึกษายังคงได้อาศัยอยู่ด้วยกันเห็นวิถีชีวิตแบบเดียวกัน เหมือนมาเปลี่ยนที่นอน เพราะไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับคนในชุมชน เป็นต้น

“ทุกคนพูดถึงแต่การปฎิรูป แต่ไม่เคยมีใครปฎิรูปจิตสำนึกของคน ต่อให้ปฎิรูปการศึกษา เศรษฐกิจ หากคนยังเห็นแก่ตัว ปฎิรูปอะไรก็ไม่สามารถช่วยสังคมให้พ้นวิกฤตต่างๆ ได้ และควรหันมาใช้สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองส่วนเดียวที่ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์ นั่นคือสมองส่วนของความรู้สึกนึกคิดสิ่งไหนดี สิ่งไหนชั่ว ความมีคุณธรรมจริยธรรม แต่กลับไปใช้สมองส่วนเดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน สมองส่วนหลังที่มีแต่การกิน ขี้ ปี้ นอน และกัดกัน ซึ่งเมื่อใช้สมองส่วนหลังมากๆ จึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งของคนในสังคม ขณะเดียวกันสมองส่วนหน้า เรื่องศีลธรรม จริยธรรมก็หายไป ดังนั้น ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องปฎิรูปจิตสำนึกของคน”

น.พ.ประเวศ กล่าวต่อไปว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันระเบิดพลังจิตสำนึก เพราะตอนนี้ความรุนแรงของวิกฤต และความเร่งด่วนในการหาทางออก ล้วนขึ้นอยู่กับศักยภาพ การปลูกฝังให้คนมีจิตสำนึกใหม่ ซึ่งองค์กรที่มีความสามารถน่าจะเข้ามาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารเรื่อง จิตสำนึกใหม่ เพื่อรับฟังและกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาจิต ให้เกิดเครือข่ายของการรับรู้แลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดชุมชนจิตสำนึกใหม่ การท่องเที่ยวจิตสำนึกใหม่ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลทุกคนควรมีคลินิกเจริญสติ และระบบการศึกษาทุกชนิด ทุกประเภทควรมีการเปิดหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาจิตเด็ก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25 มิถุนายน 2553, 10.25 น.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 6:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การเรียนรู้ที่คนอยากเรียน

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

หลายปีที่ผ่านมามีการจัดการฝึกอบรมให้ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ คนจัดส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการบ้าง สถาบันการศึกษาบ้าง องค์กรพัฒนาเอกชนบ้าง หลังๆ นี้มีการจัดโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลบ้าง อบต. บ้าง อบจ. บ้าง

ผู้นำชุมชนหลายคนมีอาชีพเป็นนักสัมมนา นักฝึกอบรม งานไหนงานนั้น วันนี้ใส่เสื้อสีหนึ่ง พรุ่งนี้อีกสีหนึ่ง ตามหน่วยงานที่จัดการสัมมนาหรือฝึกอบรม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้นำชุมชนจำนวนมาก รวมทั้งชาวบ้านทั่วไปคุ้นเคยกับการไปงานเหล่านี้โดยมี "เบี้ยเลี้ยง" ประเภท "ไปประชุมได้ตังค์ นั่งฟังได้เงิน" งานไหนไม่มีก็มักไม่อยากไป

คิดแบบนี้ก็ไม่เสียหายและไม่ผิด เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินเดือน บางคนยังหาเช้ากินค่ำ บางคนรับจ้าง วันไหนไม่ได้ทำงานก็ไม่มีรายได้ ถ้าจะให้ไปร่วมประชุมสัมมนาแบบไม่มีเบี้ยเลี้ยงก็น่าจะเป็นหลังเลิกงาน ตอนค่ำๆ ถ้าเป็นทางภาคใต้ที่ปลูกยางก็ต้องเป็นบ่ายๆ

แต่ก็มีชาวบ้านที่ไปงานสัมมนาหรือฝึกอบรมเพราะเหตุผลอื่น เช่น ถูกบังคับ เกรงใจคนจัด หรือต้องพึ่งพาอาศัยผู้จัด หรือว่าไปเพราะเห็นว่า "คุ้ม" กับเวลาทำมาหากินและรายได้ที่เสียไป

ประการหลังนี้สำคัญและเริ่มจะเห็นว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนนี้หน่วยงานต่างๆ มักจะคิดเอง สั่งให้ชาวบ้านมาอบรม เรียนทำกล้วยฉาบก็ฉาบทั้งตำบล เรียนอะไรก็ตามที่ตนเองคิดว่าชาวบ้านต้องการ วันนี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป มีการจัดการเรียนรู้ตามที่ชาวบ้านเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ

จากประสบการณ์พบว่า ถ้าหากมาร่วมงานอบรมแล้วได้สิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ ไม่มีเบี้ยเลี้ยงก็จะมา บางแห่งจ่ายค่ารถเอง เอาข้าวมากินเอง และออกเงินค่าเรียนด้วยยังมากันเพียบ เพราะเรียนแล้ว

๑) รู้จริง เพราะเรียนด้วยปฏิบัติไปด้วย
๒) สนุก เป็นธรรมชาติ ไม่แปลกแยกจากชีวิตจริง
๓) ได้เพื่อน ได้เครือข่าย
๔) ได้กิน ได้ใช้ (ทำเป็น)
๕) ได้ขาย ได้เงิน (จัดการเป็น)

อย่างการอบรมเรื่องการแพทย์แผนไทย เรื่องสมุนไพร เรื่องนวด เรียนสามวันห้าวันชาวบ้านไม่เคยขาด เพราะเรียนแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง คนเก่งๆ ก็เอาไปประกอบอาชีพได้


www.phongphit.com/index.php?option=com...id... -


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 7:58 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 6:57 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ข้อมูลคืออำนาจ

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

ข้อมูลคืออำนาจ อาจจะจริงสำหรับตลาดหุ้น คนเล่นหุ้น แต่เป็นการพูดที่ไม่สมบูรณ์ในกรณีของชุมชน เพราะข้อมูลอย่างเดียวอาจไม่มีคุณค่าและความหมายอะไรเลยถ้าหากเชื่อมโยงไม่เป็น ไม่กลายเป็นความรู้

คนสองคนอ่านหนังสือเหมือนกัน ฟังวิทยุเหมือนกัน ดูทีวีเหมือนกัน คนหนึ่งฉลาดขึ้น คนหนึ่งโง่ลง คนแรกฉลาดขึ้นเพราะข้อมูลของเขาไปโยงกับข้อมูลอื่นๆ ไปเสริมความรู้ที่มีอยู่ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ คนที่สองโง่ลง เพราะมีแต่ข้อมูล ไม่รู้ว่า "อย่างไร" "ทำไม" อ่านอะไร ฟังอะไร เห็นอะไรเชื่อหมด

ชาวบ้านที่บุรีรัมย์ทำ "ประชาพิจัย" พบว่า ป่าชุมชน 800 ไร่ในตำลหนึ่งของพุทไธสงมีเห็ดที่ชาวบ้านไปเก็บมากินมาขายปีหนึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท นี่เห็ดอย่างเดียว ไม่ได้รวมไข่มดแดง แมงแคง จักจั่น อีลอก ดอกกะเจียว ผักเม็ก ผักติ้ว ผักหวาน สมุนไพร ไม้ใหญ่น้อย ซึ่งถ้ารวมหมดคงมีมูลค่ากว่าสิบล้าน

ข้อมูลทำให้ชาวบ้านตกตลึง คิดเชื่อมโยงต่อไปว่า ถ้าวันหนึ่งป่าหมดจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาคงไม่มีเห็ดกิน ไม่มีผัก ไม่มีสมุนไพร ไม่มีไม้ใช้สอย ทุกอย่างต้องซื้อหมด และคนจนที่เก็บเห็ดไปขายก็ไม่มีรายได้อีกต่อไป

ชาวบ้านตัดสินใจตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าผืนนั้นทันที ไม่ได้รอให้นายอำเภอ กำนัน อบต. หรือใครมาสั่ง พวกเขาคิดได้แล้วลงมือตั้งกันเองเลย กลัวว่าถ้าช้าป่าจะหมด เพราะป่าผืนนั้นเคยมีพื้นที่ถึง 4,000 กว่าไร่ หลายปีเข้าก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ คนนั้นเอา คนนี้เอา ถ้าไม่มีการดูแลรักษาวันหนึ่งคงไม่เหลืออย่างแน่นอน

การทำประชาพิจัย คือ การเรียนรู้ การทำข้อมูลชุมชน ข้อมูลทรัพยากร ข้อมูลชีวิต ทำให้รู้จักตัวเอง รู้จักทุนท้องถิ่น ทำให้เกิดสำนึกใหม่ สำนึกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน

แต่สำนึกเป็นเรื่องของแต่ละคน อยู่ข้างใน การเปลี่ยนแปลงจึงต้องมาจากข้างใน ไม่มีใครไปบังคับได้ แต่ช่วยกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีได้


www.phongphit.com/index.php?option=com...id...


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 7:59 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 7:00 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

สามเหลี่ยมหลักคิด

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

ผู้คนปัจจุบันมักมองอะไรดีๆ ในชีวิตไม่เห็น ทั้งๆ ที่เป็นอะไรที่ใหญ่โตและชัดเจน เพียงเพราะมีเส้นผมมาบังก็มองไม่เห็นภูเขาเสียแล้ว

ที่จริง ที่มองไม่เห็นอาจเป็นเพราะชีวิตมีหลายมิติ ยังไม่พูดถึงมิติที่สี่ สัมผัสที่หก ซึ่งอาจจะซับซ้อนเกินไป แต่พูดถึงภาพสามมิติที่คนส่วนใหญ่อาจจะเคยเห็น ถ้าเอากระดาษ โปสการ์ดหรืออะไรก็ได้ที่มีภาพสามมิติวางบนโต๊ะก็ไม่มีใครมองเห็นภาพสามมิติได้ เห็นแต่กระดาษที่มีภาพเดียว ภาพเส้น ลายเหมือนกันหมด ต่อเมื่อยกกระดาษ โปสการ์ดนั้นมาชิดที่ปลายจมูก สายตาจ้องรวมที่จุดหนึ่งแล้วค่อยๆ ขยับกระดาษห่างออกมาก็จะเริ่มมองเห็นภาพสวยงามมากมายในกระดาษนั้น อาจเป็นภาพทุ่งนา ป่า เขา สัตว์ ทิวทัศน์ บ้านเรือน ฯลฯ

ความจริงของชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเรามองเห็นแต่ "ภาพเดียว" ทุกวันๆ เราก็เริ่มเบื่อหน่ายกับความจำเจ ซ้ำซาก

ลองหาวิธีคิดในมิติใหม่ๆ ดูบ้าง คิดนอกกรอบ อาจจะพบอะไรดีๆ มากมาย

ลองเล่นเกมง่ายๆ กับกลุ่มคนที่เข้าร่วมสัมมนาเรื่องการคิดมิติใหม่ โดยแบ่งกลุ่มคนเป็นกลุ่มเล็กๆ ห้าคนสิบคน สุดแล้วแต่ขนาดของที่ประชุม แล้วแจกไม้จิ้มฟันให้กลุ่มละ 6 อัน สั่งว่า ให้เอาไม้จิ้มฟันต่อเป็นสามเหลี่ยมให้ได้ 4 สามเหลี่ยมด้านเท่า ห้ามหักไม้จิ้มฟัน

เป็นอะไรที่ยาก ยากเพราะคนคิดในมิติเดียว ปกติจะไม่มีกลุ่มไหนทำได้ นอกจากจะมีผู้ที่เคยเล่นเกมนี้มาก่อน อาจมีข้อยกเว้นในกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ไม่ติดกรอบ มักจะคิดออก

เฉลยให้ที่นี่ก็ได้สำหรับท่านที่ไม่รู้ คือ วิธีเดียวที่จะทำให้ได้สามเหลี่ยมด้านเท่า 4 อัน ให้เอาไม้จิ้มฟัน 3 อันทำสามเหลี่ยมราบกับพื้น แล้วเอาอีก 3 อันตั้งสูงเป็นรูปปิรามิดบนสามเหลี่ยมแรก ก็จะสามเหลี่ยมด้านเท่า 4 อัน

นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และนักต่างๆ คือคนที่มองเรื่องธรรมดาที่คนธรรมดามองไม่เห็น แต่ถ้าหากใครๆ หยุดนิ่งๆ ก็อาจจะเห็นอะไรที่ไม่ธรรมดาจากเรื่องธรรมดาได้เช่นกัน

ชีวิตความเป็นจริงมีหลายมิติ อย่าเพิ่งถอดใจง่ายๆ


www.phongphit.com/index.php?option=com...id...


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 7:59 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 7:04 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ใจมาปัญญาเกิด

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

การทำงานกับชุมชนเป็นเรื่องยาก ยากเพราะชาวบ้านคุ้นเคยกับ "โครงการ" และ "เงิน" พูดจาภาษาอื่นไม่ค่อยเป็น ซึ่งโทษชาวบ้านก็คงไม่ถูก เพราะสังคม (รัฐ-รัฐบาล) ทำให้พวกเขาคิดเช่นนี้มานานหลายสิบปี อยู่ดีๆ จะเรียกร้องให้ชาวบ้าน "พึ่งตนเอง" คงยาก

ยิ่งวันนี้มีโครงการประชานิยมทั้งหลายที่ประดังเข้าหมู่บ้านก็ยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก ชาวบ้านบอกว่า อยู่เฉยๆ ยังไงๆ ก็ได้โครงการ ได้งบประมาณ พวกโครงการวิจัย โครงการที่เรียกร้องการเสียสละเพื่อส่วนรวมชิดซ้ายไปได้เลย

สี่สิบกว่าปีของแผนพัฒนาอย่างเร่งรัดให้ผู้คนรวยเร็วทำให้ใครต่อใครฝันว่า "พรุ่งนี้รวย" ตลอดมา พูดจากภาษาเงิน ภาษาผลประโยชน์ ไม่มีภาษาอื่น

แล้วใครเป็นเทวดาจากไหนจะเข้าไปหมู่บ้าน พูดกับชาวบ้านครั้งสองครั้งแล้วพวกเขาจะเห็นด้วยกับ "การพึ่งตนเอง" พวกเขาต้องการโครงการ ต้องการงบประมาณ ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่ "ความคิด" ไม่ใช่ "ปัญญา" ซึ่งไม่รู้แปลว่าอะไร รู้แต่ว่าต้องการอะไรที่ "กินได้" มากกว่า

แต่อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะ "บัวสี่เหล่า" นั้นแม้ประเภทใต้น้ำจะมาก พ้นน้ำจะน้อย แต่ที่ปริ่มๆ และอยากพ้นน้ำนั้นมีไม่น้อย ขอให้ได้สักคนสองคนก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะได้คนหนึ่งอีกสิบคนต้องค่อยๆ ตามมา ร้อยคนพันคนก็จะค่อยๆ เกิด

มองที่ตาชาวบ้าน ถ้าเห็นประกายแล้วใช่เลย ใจมาปัญญาเกิดอย่างแน่นอน

การทำงานกับชาวบ้านต้องการความอดทนต่อสภาพของการครอบงำ ต้องการเครื่องมือและวิธีการพิเศษเพื่อช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากการครอบงำดังกล่าว เหมือนเขม่าที่จับก้นหม้อหุงข้าว ต้ม แกง ด้วยฟืน นานวันก็จับหนาเขรอะ เอามือถูคงไม่ออก ต้องใช้เครื่องทุ่นแรงพิเศษ

ทำงานกับชาวบ้านต้องการความศรัทธาในพลังของชุมชน เชื่อว่าพวกเขามีศักยภาพ (ความสามารถที่ยังไม่พัฒนา หรือยังไม่พัฒนาเต็มที่) ให้โอกาสพวกเขาได้คิด ได้ปรับตัว ได้เรียนรู้ เหมือนเมล็ดพืชที่ต้องการดินดี แดดดี น้ำดี ปุ๋ยดี จะได้โตเป็นไม้ใหญ่

www.phongphit.com/index.php?option=com...id...


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 7:59 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 7:09 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลุงมารู้แล้ว

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

ลุงมาเป็นคนบ้านน้ำหิน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นคนเก่งรอบด้าน เป็นช่างตัดผมประจำหมู่บ้าน นอกนั้นยังเป็นช่างไม้ ทำเครื่องดนตรี เล่นดนตรีก็เป็น ทำเครื่องจักสานหัตถรรมก็เก่ง

วันหนึ่งลุงมาได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มฮอมใจ๋ของบ้านน้ำหินให้ไปเรียนวิชาการทำเครื่องสีข้าวมือหมุนพร้อมกับเพื่อนสมาชิกอีกสองคน คือนายเหลี่ยม ซึ่งเป็นสะล่าใหญ่ (ช่างใหญ่) เป็นคนสร้างบ้านสร้างเรือน ทำตู้เตียงใหญ่ๆ เก่ง พร้อมกับนานแสน ซึ่งเป็นช่างน้อย มีความใจเย็นเป็นเลิศ

รถยนตร์นำช่างใหญ่ช่างน้อยสามคนนี้ไปฝึกอบรมที่ลานหมาไน นครสวรรค์ เมื่อไปถึงลุงมาก็รีบลงไปก่อนเพื่อน อยากรู้ว่า เครื่องสีข้าวมือหมุนนี้มันซับซ้อนอะไรกันนักหรือถึงต้องมาเรียนถึงสองอาทิตย์ พอเห็นเครื่องสีลุงมาก็หากระดาษดินสอมาลอกรูปแบบพร้อมรายละเอียด เสร็จแล้วก็บอกว่า แค่นี้ไม่ต้องอยู่ให้เมื่อย กลับบ้านไปทำเองก็ได้

แต่คนที่พามาและหน่วยงานที่จัดอบรมไม่ยอม พยายามอธิบายให้ลุงมาและเพื่อนว่า อาจจะเห็นว่าง่าย แต่ทำจริงไม่ง่ายหรอก ต้องฝึกหัดทำหลายวัน ต้องใช้เวลาเพราะมีรายละเอียดมาก และนอกนั้นจะได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่างไปพร้อมกัน

รถกลับไปโดยไม่รอลุงมาและเพื่อน ซึ่งแม้อยากจะหนีกลับบ้านเองก็ทำไม่ได้ เพราะศูนย์ฝึกอบรมนั้นอยู่กลางป่าที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มีรถโดยสารวิ่งผ่าน ทั้งสามคนจำใจอยู่ที่นั่น 15 วัน

จบการฝึกอบรม รถมารับสามสหายกลับเมืองน่าน ลุงมาและเพื่อนแย่งกันเล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้ 15 วัน โดยเฉพาะเครื่องสีมือหมุนจนรถไปถึงบ้านน้ำหินก็ยังเล่าไม่จบ เพราะมีรายละเอียดมากเหลือเกิน ทั้งสามคนช่างต่างก็บอกว่า ถ้าไม่อยู่ก็คงทำไม่เป็นแน่ๆ เพราะมีความละเอียดอ่อน มีความซับซ้อน เป็นภูมิปัญญาที่พัฒนากันมานานแล้ว จะต้องเอาไม้อะไร อายุเท่าไร ขนาดไหน ที่ไหน เอาดินแบบไหนมาทำ ทำอย่างไรจึงจะออกมาลงตัว ไม่ขบไม่ขัด ไม่เสียหาย ข้าวสีออกมาดี

วันนี้ใครไปดูงานบ้านน้ำหินจะพบลุงมาที่เล่นซึงให้ฟังอย่างไพเราะ พร้อมกับแนะนำว่า "ผมชื่อลุงมารู้แล้ว" ลุงมาอยากบอกใครต่อใครว่า คนฉลาดคือ "คนที่รู้ว่าตนเองไม่รู้"

www.phongphit.com/index.php?option=com...id... -


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 8:00 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 7:13 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

แปลงสินทรัพย์เป็นหนี้

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

"สินทรัพย์เป็นทุนอยู่แล้ว แปลงให้เป็นหนี้ไปทำไม" เป็นคำถามของนายเลี่ยม บุตรจันทา ผู้นำชาวบ้านนาอีสาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ศิษย์ก้นกุฏิของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม คนที่นายเลี่ยมเรียกว่า "พระฤษี" เพราะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาว่าด้วยการอยู่อย่างพอเพียงให้

สินทรัพย์ที่ผู้นำชุมชนเข้าใจและเข้าถึงความหมายทั้งกว้างและลึกนั้นเป็น "ทุน" ในตัวมันเองอยู่แล้ว สิ่งที่คนต้องการในอันดับแรกไม่ใช่เงินที่เอาสินทรัพย์นั้นไป "แลก" (กู้) มา แต่การเรียนรู้ให้เข้าใจถึงคุณค่าสำหรับชีวิต แล้วทำให้เกิดมูลค่าเพื่อการอยู่อย่างพอเพียง

ผู้ใหญ่วิบูลย์เคยมีที่ดินกว่าสองร้อยไร่ เอาไปแปลงให้เป็นทุน กลายเป็นหนี้สินมากมายจนหมดทางแก้ไข ต้องขายที่สองร้อยไร่ใช้หนี้ เหลือเพียง 9 ไร่ แต่เท่านี้กลับอยู่ได้ดีกว่า พอเพียง มีความสุข ไม่ได้ไปกู้สถาบันการเงินไหน เพียงแต่ทำให้ 9 ไร่กลายเป็น "ป่า" ทำวนเกษตร ผู้ใหญ่ได้พิสูจน์ว่า ถ้ากินอยู่อย่างพอเพียง 9 ไร่ก็เหลือกิน แต่ถ้ากู้หนี้ยืมสินมาลงทุน 200 ไร่ก็ไม่พอ

ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ แห่งหนองกลางดง สามร้อยอด ประจวบคีรัขันธ์บอกในทำนองเดียวกัน "รัฐบาลบอกว่า คนไทยจนเพราะเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ไม่มีโอกาสกู้เงินจึงจน ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น บ้านหนองกลางดงเป็นหนี้ 13.6 ล้าน ตำบลศิลาลอย 9 หมู่ เป็นหนี้สินหมู่ละไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ถ้ากู้แล้วรวย บ้านหนองกลางดงก็รวยแล้ว"

นายเจมส์ วอลเฟอร์โซห์นอดีตประธานธนาคารโลกบอกว่า "เงินแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้" เขาบอกว่า โลกไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดความรู้ ขาดปัญญาในการใช้เงิน

แปลงสินทรัพย์เป็นทุนในกรอบคิดของทุนนิยมคือการเน้นการหมุนเวียนของเงิน ทำให้จีดีพีโตขึ้น เพราะมีการเอาเงินจากธนาคารมาลงทุน เอามาปลูกยาง ปลูกปาล์ม เอามาทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงอย่างที่ผู้ใหญ่วิบูลย์และนายเลี่ยมศิษย์เอกเข้าใจและทำอยู่

การพัฒนาแบบเงินนำหน้า ปัญญาตามหลัง มีแต่ความโลภ อวิชชาที่ทำให้ตาบอด ใจบอด ก่อให้เกิดความอยุติธรรมตั้งแต่รากหญ้าไปถึงสากล


www.phongphit.com/index.php?option=com...id...


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 8:01 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 7:15 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ใครพัฒนาใคร

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

ประมาณปี 2525 ผู้นำองค์พรพัฒนาเอกชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งพบกันที่โคราช พวกเขาประเมินงานพัฒนาที่ทำในชุมชนหมู่บ้านพบว่า โครงการส่วนใหญ่ล้มเหลวไม่แพ้โครงการของรัฐ

ก่อนนั้นคนเหล่านี้คิดว่าตนเองแน่กว่าข้าราชการ เพราะเข้ากับชาวบ้านได้ดีกว่า ทำตัวกลมกลืน เป็นลูกเป็นหลานชาวบ้าน แต่ในความเป็นจริงก็ครอบงำชาวบ้านพอๆ กันหรือมากกว่าอีก เพราะทำได้แนบเนียนกว่า ยังคิดว่าตนเองเก่งกว่าชาวบ้าน รู้ดีกว่าชาวบ้าน รู้คำตอบว่าควรพัฒนาอย่างไรจึงจะหายจน

แต่นานเข้าชาวบ้านก็ไม่ได้หายจน หลายแห่งยิ่งจนหนักลงไปอีก โครงการเข้าที่ไหนชาวบ้านแตกแยก แย่งผลประโยชน์ นักพัฒนาเหล่านี้ประเมินตัวเองอย่างจริงใจแล้วพบว่า ที่โครงการต่างๆ ล้มเหลวเพราะคนทำงานไม่เข้าใจชาวบ้าน ไม่เข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่เข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน

แท้ที่จริงแล้ว เราไม่ได้ไปพัฒนาชาวบ้าน แต่ชาวบ้านพัฒนาเรา เพราะแม้โครงการล้มเหลวเราก็ได้บทเรียน ได้เงินเดือนทุกเดือน และขึ้นทุกปีอีกต่างหาก

นั่นคือที่มาของหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า "ใครพัฒนาใคร" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Who Developed Whom ? เป็นคำถาม 25 ข้อ ที่คนทำงานพัฒนาถามตัวเอง ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานกับชาวบ้าน

คำถามนั้นน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์พัฒนาที่สำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยก็ว่าได้ เปลี่ยนจาก "ผู้ให้-ผู้รับ" (donor-recipient) ไปสู่ "พันธมิตร (หุ้นส่วน ภาคี)" (partnership) กลุ่มคนทำงานพัฒนาเหล่านั้นไม่มีใครเรียกตัวเองว่า "นักพัฒนา" อีกเลยตั้งแต่บัดนั้น

น่าสังเกตว่า ปี 2525-2527 เป็นช่วงเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตของเกษตรกรสองคนที่โดดเด่นอย่างยิ่งในสังคมไทยวันนี้ : ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม กับ ลุงประยงค์ รณรงค์

สองท่านนี้ได้ค้นพบ "วิถีแห่งการพึ่งตนเอง" ด้วยการเรียนรู้สู่การจัดการชีวิตด้วยพลังทางปัญญา หนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืน


www.phongphit.com/index.php?option=com...id...


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 8:01 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 7:22 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

วงจรอุบาทว์ของหนี้สิน

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

หนี้สินอาจเป็นเครดิตสำหรับคนทำธุรกิจ หนี้สินอาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการแก้ไขปัญหาปัจจุบันโดยอาศัยเงินอนาคต ปัญหาหนี้สินวันนี้เป็นปัญหาของหนี้เน่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หนี้ที่ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้จึงจะหมด

เพราะที่เป็นอยู่เป็นการกู้หนี้มาใช้หนี้ จากกองนี้ไปใส่กองโน้น และอีกหลายกองจนกลับมากองแรก ที่เรียกกันว่า วงจรอุบาทว์ของหนี้สิน

วันนี้กองทุนทั้งหลายจากรัฐบาลกำลังทำให้หนี้สินชาวบ้านบานปลาย หมู่บ้านแต่ละแห่งเป็นหนี้กันวันนี้ไม่ใช่ 5 ล้าน 10 ล้านแล้ว กำลังไปถึง 20 ล้านและมากกว่าอย่างน่าตกใจ เงินกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้าน กำลังก่อหนี้ไม่ใช่ 1 ล้าน แต่อย่างน้อย 4-5 ล้าน และกำลังเป็นตัวเร่งหนี้สินครัวเรือนของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ทั้งชนบทและเมืองที่ได้เงินกองทุนดังกล่าว กู้กันง่ายๆ ใช้กันคล่องๆ

รัฐบาลทำตัวเป็นธนาคารเสียเอง ส่งเงินไปให้ชาวบ้านปล่อยกู้กันเอง รวมทั้งส่ง "งบประมาณหมู่บ้าน" ไปให้บริหารจัดการกันเอง ทำตัวเป็นคน "ขายตรง" ส่งถึงหมู่บ้านโดยไม่ผ่านคนกลาง จนอาจมองแบบที่นายเสนาะ เทียนทอง อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทยพูดเองว่า เป็น "เงินซื้อเสียง" หรือที่ฝ่ายค้านเรียกกว่า ซื้อเสียงอย่างถูกกฎหมาย คอร์รัปชั่นทางนโยบาย

อีกไม่ถึง 3-4 ปี หนี้สินที่เกิดจากเงินกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาทจะต้องก่อให้เกิดหนี้ในหมู่บ้านอย่างน้อยกว่า 10 ล้านบาท เพราะเงิน 1 ล้านบาทแรกนั้นเป็น "เงินดาวน์" เอาไปซื้อข้าวซื้อของมากินมาใช้ ส่วนหนึ่งเอาไปใช้หนี้ดอกเบี้ยสูง ส่วนหนึ่งอาจเอาไปลงทุนจริง

รัฐบาลชื่นชมคนจนว่าไม่โกง ดูจำนวนเงินคืนกองทุนหมู่บ้านแล้วแกล้งตื่นเต้น เพราะความจริง รัฐบาลรู้ดีว่า ชาวบ้านไปกู้หนี้จากที่อื่นมาใช้หนี้กองทุนที่ตนเองกู้ไป 10,000 บาทบ้าง 20,000 บาทบ้าง และส่วนใหญ่ก็กู้กันแบบ "ผูกขาด" คนเดิมกู้จำนวนเท่าเดิมทุกปี เพราะถ้ากู้ไม่ได้ วงจรอุบาทว์กจะขาดและเกิดปัญหาร้ายแรง อยู่หมู่บ้านไม่ได้

นอกจากเงินไม่แก้ปัญหาความยากจนแล้ว ดูเหมือนว่าทำให้ชาวบ้านยากจนลงไปอีก

www.phongphit.com/index.php?option=com...id... -


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/08/2010 8:02 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 02/08/2010 7:26 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ตัดเท้าให้เข้ากับเกือก

เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

การพัฒนาที่มาจากข้างบน (top-down) เป็นสูตรสำเร็จ พิมพ์เขียว ที่มีการสั่งการให้ปูพรมทั้งประเทศ อาจจะแก้เขินโดยการ "นำร่อง" สักนิดหนึ่งพอเป็นพิธี ไม่ว่าโครงการไหน ตั้งแต่ไหนแต่ไรจนถึงปัจจุบันก็ทำกันเช่นนี้ รวมทั้งกองทุนหมู่บ้านหนึ่งล้าน SML

การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการทำโครงการ โครงการแล้วโครงการเล่า จนกระทั่งชาวบ้านเข้าใจว่าการพัฒนาแปลว่าการทำโครงการ "คนนอก" เข้าไปหมู่บ้านเพื่อพัฒนาต้องมีโครงการ ไม่มีโครงการชาวบ้านไม่อยากคุยด้วย

มีคนแย้งงว่า มีการเรียนรู้ มีการฝึกอบรม ใช่ แต่เป็นการฝึกอบรมเพื่อทำโครงการที่วางไว้แล้ว หรือฝึกอบรมเพื่อให้ "มีส่วนร่วม" กับโครงการของรัฐ เช่น ฝึกอบรมให้ทำกล้วยฉาบทั้งตำบล

การมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึงการที่ชาวบ้านร่วมกับนโยบาย แนวทาง โครงการของรัฐ ซึ่งตั้งไว้ กำหนดไว้จาก "ข้างบน" จาก "ส่วนกลาง"

ข้าราชการใในพื้นที่สำรวจวิจัย ค้นหาปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน อันนั้นก็น่าจะดี แต่ที่สุดก็เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้โครงการที่เตรียมไว้แล้ว หรือเพื่อจะได้สร้างโครงการใหม่ที่อ้างว่ามาจากปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น แต่วิธีคิด กระบวนการ วิธีการล้วนเป็นอะไรที่ถูกกำหนดมาจากข้างบน แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นปัญหาจริง ความต้องการจริงของชาวบ้าน หรือเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านให้เพราะต้องการ "โครงการ"

กระบวนทัศน์ยังเดิมๆ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ยังตั้งอยู่บนฐานการมองโลก มองชีวิต มองผู้คนเหมือนเดิม คือ "โง่ จน เจ็บ" ต้องไปช่วยเหลือ ไปเอื้ออาทร ระบบอุปถัมภ์ที่ยังคงอยู่

การพัฒนาแบบตัดเท้าให้เข้ากับเกือก ทำกันมานานแล้ว ชาวบ้านบาดเจ็บ และคงเจ็บต่อไปอีกนาน เดินไม่ได้ไปอีกนาน นอกจากจะเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำใหม่ เปลี่ยนมา "ตัดเกือกให้เข้ากับตีน"

www.phongphit.com/index.php?option=com...id... -
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©