-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ทุเรียนไทย
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ทุเรียนไทย
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ทุเรียนไทย

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
ott_club
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009
ตอบ: 718

ตอบตอบ: 28/07/2010 3:05 pm    ชื่อกระทู้: ทุเรียนไทย ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ครบเครื่อง...เรื่องทุเรียนไทย
อภิวัฒน์ คำสิงห์

เมื่อไม่นานมานี้ ณ ตึกสหกรณ์การเกษตร ชั้น 4 กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างให้ความสนใจเรื่องของ "ทุเรียน" อย่างคึกคัก เป็นผลงานการจัดสัมมนาของสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร โดยมี คุณสุรพล จารุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้า เป็นพ่องานใหญ่ ซึ่งงานนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "ครบเครื่อง...เรื่องทุเรียนไทย"

ในงานนอกจากจะได้พบกับทุเรียนหลากหลายพันธุ์ที่นำมาแสดงอย่างละลานตา เห็นความแตกต่างแต่ละสายพันธุ์ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้รับทราบข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทุเรียน จากนักวิชาการและวิทยากรพิเศษผู้มีประสบการณ์มากมาย

โอกาสนี้ขอนำมาเผยแพร่รายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่พลาดโอกาสได้ร่วมรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และภาพบรรยากาศภายในงานไปพร้อมๆ กัน

เริ่มต้นจากการเปิดการสัมมนา คุณสุรพล จารุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้า กล่าวรายงานต่อ คุณอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ประธานในพิธี พร้อมกับกล่าวต้อนรับและขอบคุณวิทยากร ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้

คุณสุรพล กล่าวว่า ทุเรียนเป็นพืชที่ไม่ใช่พืชท้องถิ่นของประเทศไทย แต่มาจากต่างประเทศ มีการนำเข้ามาปลูกสมัยโบราณ จนกระทั่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 600,000 ไร่ ผลผลิตแต่ละปีมากกว่า 637,000 ตัน มูลค่าจำนวนมหาศาลเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายในการส่งออก และทุเรียนยังมีคุณสมบัติพิเศษ ไม่ว่าจะคนไทยหรือว่าชาวต่างชาติ เมื่อรับประทานทุเรียนแล้วจะมีพลังวิเศษเพิ่มขึ้น

คุณสุรพลยังกล่าวต่ออีกว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากทุกฝ่าย เริ่มตั้งแต่ทีมนักวิชาการ ผู้จัดการสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมส่งเสริมการเกษตร สื่อมวลชนหลายแขนง ทั้งทีวี นิตยสารต่างๆ

จากนั้น คุณอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ประธานในพิธี ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดการสัมมนา ว่ามีความยินดีในความร่วมมือของทุกฝ่ายและขอบคุณผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดงานในครั้งนี้

"ปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีทางแก้ไขของชาวสวนทุเรียนนั้น คือปัญหาทุเรียนอ่อนและปัญหาทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว อยากให้การจัดงานในครั้งนี้หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทย" คุณอรรถกล่าว

ในปี พ.ศ. 2552 พื้นที่ให้ผลผลิตจากทุเรียนลดลงเหลือ 620,000 ไร่ ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ตัน เหตุที่สวนทางกันแบบนี้ ก็เพราะว่าเกษตรกรบางรายมีการหันเหทิศทาง ทำการโค่นต้นทุเรียนทิ้ง เนื่องมาจากต้นโทรม ยืนต้นตาย (เนื่องจากปลูกมานาน) เกิดโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งโรคนี้รักษาได้ยากมาก ถ้าหากเกษตรกรยังจะต้องบำรุงต้นต่อไปจะทำให้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เกษตรกรต้องเสียไป เกษตรกรจึงหันเหทิศทางโดยการโค่นต้นทุเรียนทิ้ง หันมาปลูกยางพาราแทนการปลูกทุเรียน และปลูกพืชตัวอื่นแซม

ในปี พ.ศ. 2553 แนวโน้มผลผลิตของทุเรียนที่สามารถบอกได้ในภาคตะวันออกที่มีการคาดการณ์มาแล้วนั้น มีประมาณ 300,000 ตันเศษ นอกจากนั้น ยังมีทุเรียนจากทางภาคใต้ที่จะเข้ามาช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งภาคใต้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวของทุเรียนจะต่อจากภาคตะวันออก ส่วนในเรื่องคุณภาพของทุเรียนทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกนั้น ด้วยสายพันธุ์จะไม่ต่างกัน เกษตรกรมีศักยภาพในการผลิตเท่ากัน จึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้



ทุเรียนมาจากไหน

คุณมนู โป้สมบูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตำราหรือหนังสือบางเล่มบอกว่าทุเรียนมาจากประเทศพม่า บางเล่มบอกว่ามาจากประเทศมาเลเซีย แต่ที่จริงแล้วคุณมนูบอกว่าทุเรียนนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรสามารถปลูกได้ เพราะประเทศที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรมีภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม ลักษณะใกล้เคียงกัน มีลักษณะอากาศร้อนชื้น และถ้าในย่านนี้ ประเทศที่สามารถปลูกได้คือ ประเทศพม่า ศรีลังกา อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย (จะได้เฉพาะตอนบน) และฟิลิปปินส์ตอนใต้

คุณมนู กล่าวว่า จังหวัดที่เป็นไฮไลต์ในการปลูกทุเรียนในประเทศไทยนั้น จะเป็นจังหวัดอะไรไปไม่ได้นอกจากจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากจังหวัดนนทบุรีเป็นเมืองปากแม่น้ำ ในขณะเดียวกัน ใต้ปากแม่น้ำนั้นเป็นทะเลเก่า ซึ่งจะมีโพแทสเซียมเยอะ ทำให้ดินดี เหมาะสมที่จะปลูกทุเรียนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังทำให้รสชาติของทุเรียนดีกว่าที่อื่นๆ อีกด้วย



วิธีการจัดจำแนกกลุ่มพันธุ์ทุเรียน

คุณมนู กล่าวว่า การจัดจำแนกกลุ่มพันธุ์ทุเรียนนั้นเป็นการจำแนกภายใต้ระดับ species พบว่า ลักษณะสามารถใช้เป็นเครื่องจำแนกทุเรียนไทย ได้แก่ รูปร่างใบ ปลายใบ ฐานใบ ทรงผล และหนามผล ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างคงที่ ไม่แปรปรวนไปตามสภาพแวดล้อม การจัดจำแนกกลุ่มพันธุ์ทุเรียนพอจะจำแนกออกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มกบ มีลักษณะรูปร่างใบเป็นแบบ oval-oblong ลักษณะปลายใบเป็นแบบ acuminate-curve ลักษณะฐานใบเป็นแบบ rounded-obtuse ลักษณะทรงผลของกลุ่มกบนี้จะกระจายอยู่ใน 3 ลักษณะ คือ กลม กลมรี กลมแป้น มีรูปร่างของหนามผลมีลักษณะโค้งงอ

2. กลุ่มลวง มีลักษณะรูปร่างใบเป็นรูปไข่ขอบขนาน ลักษณะปลายใบแหลมเรียว ลักษณะฐานใบแหลมและมน ลักษณะทรงผลกระจายอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ ทรงกระบอก และรูปรี ลักษณะหนามผลเว้า

3. กลุ่มก้านยาว มีลักษณะรูปร่างใบแบบป้อมปลายใบ ลักษณะปลายใบเรียวแหลม ลักษณะฐานใบเรียว ลักษณะทรงผลเป็นรูปไข่กลับและรูปกลม รูปร่างหนามผลนูน

4. กลุ่มกำปั่น มีลักษณะรูปร่างใบยาวเรียว ลักษณะปลายใบเรียวแหลม ลักษณะฐานใบแหลม ลักษณะทรงผลทรงขอบขนาน รูปร่างหนามผลแหลมตรง

5. กลุ่มทองย้อย มีลักษณะรูปร่างใบแบบป้อมปลายใบ ลักษณะปลายใบเรียวแหลม ลักษณะฐานใบมน ลักษณะทรงผลเป็นรูปไข่ รูปร่างหนามผลนูนปลายแหลม

6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด ทุเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีลักษณะไม่แน่ชัด บางลักษณะอาจเหมือนกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 5 กลุ่มแรก ขณะเดียวกัน ก็มีลักษณะที่ผันแปรออกไป เช่น รูปร่างใบ จะมีลักษณะป้อมกลางใบ หรือรูปไข่ขอบขนาน ลักษณะของปลายใบเป็นแหลมเรียว ลักษณะฐานใบแหลมหรือมน ลักษณะทรงผลกระจายกันอยู่ใน 3 ลักษณะ คือ กลมแป้น กลมรี และทรงกระบอก หนามผลมีลักษณะเว้าปลายแหลม หรือนูนปลายแหลม



เคล็ดไม่ลับ การคัดเลือกทุเรียนแก่

"ดู ดีด ดม ดูด"

ดู...ขั้ว ก้านขั้วต้องแข็ง สากมือ (ถ้าเป็นทุเรียนอ่อน ก้านจะนิ่ม) ปลิงบวม พูใหญ่ เด่น เห็นเส้นกลางพูชัด หนามใหญ่ ปลายหนามแห้ง ฐานหนามกว้าง

ดีด...ใช้นิ้วมือดีดที่โคนหนามฟังเสียงหลวมๆ ดังก๊อกๆ การดีดหนามที่พูจะช่วยตรวจสอบคุณภาพทุเรียนอ่อนหรือแก่ แล้วยังสามารถช่วยตรวจสอบทุเรียนทุกพูหลวมเท่ากันจะมีโอกาสเป็นทุเรียนที่สุกสม่ำเสมอ เวลาสุกจะมีเนื้อนิ่มสม่ำเสมอ เนื้อไม่แข็งกรุบ การดีดช่วยให้ได้ทุเรียนที่มีความสุกแก่ในช่วงเวลาที่ต้องการรับประทาน หลวมมาก 1-2 วัน ถึงตึงมาก 3-4 วัน จะสุก

ดม...ดมด้วยจมูก ทุเรียนแก่จัดใกล้สุกจะมีกลิ่นสาบอ่อนๆ ทุเรียนสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม กลิ่นจะเริ่มมีน้อย ได้กลิ่นบ้าง ไม่ได้กลิ่นบ้างและมากขึ้นเป็นลำดับ

ดูด...กรณีต้องการเลือกซื้อทุเรียนแก่ (ดิบ) นอกจากใช้ทั้ง 3 ด แล้ว อาจใช้ ด ที่ 4 คือ ดูดขั้ว โดยการใช้มีดบางปาดแผลก้านใหม่ให้มีสีน้ำเลี้ยงจากก้านขั้วออกมา แล้วใช้ลิ้นแตะหรือใครจะดูดก็ตามใจ หากมีรสชาติหวานอ่อนแสดงว่าทุเรียนนั้นแก่จัดและรสชาติดีแน่นอน หากฝาด หมายถึงทุเรียนนั้นอ่อน ต้องบ่มหลายวัน แถมคุณภาพเนื้อไม่น่ารับประทาน เละ น้ำมาก หวานอ่อนๆ ไม่มีกลิ่น แถมยังหวงไส้ แกะยากอีกด้วย



คุณประโยชน์ของทุเรียน

ทางโภชนาการ เป็นผลไม้ที่อุดมด้วยพลัง มีกำมะถันสูง รับประทานทุเรียนจะทำให้ร่างกายอบอุ่น ประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินหลากหลายชนิด

ทางยา เปลือกทุเรียนมีรสฝาด สามารถสมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย แผลพุพอง ฝีซาง คางทูม รักษาระดับธาตุอาหารในร่างกาย เนื้อทุเรียนรับประทานตอนเช้าช่วยท้องว่าง ตามด้วยน้ำอุ่นจะช่วยขับพยาธิ

นอกจากนี้ เปลือกทุเรียนยังสามารถใช้ไล่แมลง เปลือกแห้งสุมไฟไล่ยุง แมลงอื่นๆ และเปลือกสามารถทำเป็นถ่านผลไม้ดูดกลิ่นอับชื้น

คุณมนูอธิบายว่า ทุเรียนมีความร้อนสูง รับประทานมากอาจไม่สบายตัว ไม่ควรรับประทานทุเรียนกับแอลกอฮอล์จะทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าหากรับประทานทุเรียนมากทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น



การปอกทุเรียนแบบแกะ/ฉีก การยกพูหรือร่องพู

ข้อพิจารณาในการแกะ/ฉีก ทุเรียนจะต้องแก่จัด สุกกำลังดี มีกลิ่นหอมคงที่ มองเห็นเส้นกลางพูชัดเจน ยกเว้นก้านยาว (หรือทุเรียนหนามถี่) สุกในปลิงหรือปลิงเพิ่งหลุด พูหลวม



การเปรียบเทียบทุเรียนอ่อนและแก่

ลักษณะของทุเรียนอ่อนช่วงเวลาสุกหลังเก็บเกี่ยว ทุเรียนอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้น ปลิงจะแฟบ หลุด เหนียว เน่า ก้านขั้วจะอ่อนนิ่ม หนามมีขนาดเล็ก ป้าน หนามแคบ ปลายหนามสด พูเล็ก แคบ มองไม่เห็นเส้นแบ่งกลางพู เวลาเคาะไม่มีเสียงแน่นทึบ ดังกึกๆ เปลือกหนาสีสด เนื้อสีซีดอ่อนและรสชาติจืด มีกลิ่นอ่อน เมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อนหรือชมพู เมล็ดไม่เหี่ยว การปอกแบบฉีกตามเส้นกลางพูทำได้ยาก หวงไส้

สำหรับลักษณะของทุเรียนแก่ ช่วงเวลาสุกหลังเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ทุเรียนสวนจะใช้เวลา 3 วัน ทุเรียนดอนใช้เวลา 5 วัน ปลิงบวมโต ยังไม่หลุดจากปลิงหรือหลุดพอดี ก้านขั้วแข็ง สากมือ หนามใหญ่ ส่วนหนามกว้าง ปลายหนามแห้งเป็นสีน้ำตาล พูใหญ่ กว้าง เห็นเส้นแบ่งกลางพูชัดเจน มีช่องว่างในพูมาก หลวม เคาะดูดังก๊อกๆ เปลือกบาง สีเปลือกเขียวหม่นน้ำตาลแห้ง เนื้อแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นหอมและฉุนเมื่อสุกมาก เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลไหม้ เมล็ดลีบเหี่ยว การปอกแบบฉีกตามเส้นกลางพูแกะง่ายเพียงใช้มีดหนาแทงตามแนวเส้นกลางจากบริเวณก้นผล แล้วบิดใบมีด พูจะแตกออก



วิธีการบริโภคและการเก็บรักษา

วิธีการเก็บรักษาทุเรียนเพื่อการบริโภคได้นานๆ มีวิธีเก็บอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ

1. แบบไม่แกะเปลือกออก

เป็นวิธีการปอกทุเรียนแบบใช้มีดเจาะยกพูมาทีละ 1-2 พู ตามที่ต้องการจะรับประทาน และส่วนที่เหลือถ้าทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องแล้วทุเรียนจะสุกงอมเป็นปลาร้า วิธีการเก็บให้ใส่ถุงทั้งเปลือก แช่ตู้เย็นเพื่อยับยั้งการสุก หากต้องการรับประทานให้นำออกมาผึ่งและผ่าพูต่อไป

2. แบบแกะเปลือกออก

เป็นวิธีการแกะเปลือกออกด้วยวิธีการปอกแบบฉีก ร่อนพู หรือยกร่องพู และหลังรับประทานไม่หมดให้บรรจุเนื้อทุเรียนในภาชนะเข้าช่องแช่แข็ง เมื่ออยากรับประทานอีกให้นำมารับประทานได้เลย หรือทิ้งไว้ระยะหนึ่งให้เนื้อนิ่มอ่อนตัวก่อนก็ได้

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถสอบถามไปได้ที่ คุณชาตรี โสวรรณตระกูล เจ้าของสวนละอองฟ้า สวนอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนไทย เลขที่ 1/1 หมู่ที่ 8 ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทร. (038) 216-035

หรือที่กลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. (02) 579-3816





ศัพท์ทุเรียนน่ารู้ เกี่ยวกับทุเรียน


หางแย้...เป็นลูกทุเรียน ลูกเล็กที่ผ่านการผสมแล้ว 1 วัน กลีบดอกร่วง ทำให้ลูกเล็กมีปลายเกสรตัวเมียยาว มองเห็นเป็นหางแย้

หางทุเรียน...เป็นทุเรียนรุ่นเล็กที่มีอยู่บนต้น กระจายทั่วต้น ไม่สามารถจัดเกรดได้

เต่าเผา...ทุเรียนที่มีเนื้อตาย (แห้งสีน้ำตาล) บางส่วน เนื้อไม่หุ้มเมล็ด เนื่องจากขาดน้ำ

เนื้อแกนกระเบื้อง...ทุเรียนที่มีเนื้อแข็งเป็นแกน เมื่อสุกยังแข็ง รับประทานไม่ได้ หรืออาจมีปะปนกับเนื้อนิ่ม เวลาเคี้ยวมีอาการกรุบกรับ

ปลิง...รอยต่อระหว่างก้านขั้วที่ติดกับกิ่ง และก้านขั้วที่ติดกับผล เวลาสุกส่วนนี้จะแยกตัวหลุดจากกัน เรียกว่าปลิงหลุด

สุกในปลิง...ทุเรียนที่เก็บแก่จัด โดยใช้วิธีการฟังเสียง พูหลวมมากแล้วจึงตัดลงมา (โดยเฉพาะทุเรียนนนท์) ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 วัน หรือไม่เกิน 3 วัน ปลิงยังไม่หลุด จึงจำเป็นที่ทุเรียนสวนต้องใช้ใบตองหุ้มปลิงไว้ให้สุกขณะปลิงยังอยู่ หากสุกแล้วปลิงหลุด แสดงว่าทุเรียนเก็บมาหลายวัน หรือทุเรียนร่วง ราคาจะตกทันที

เมล็ดตายหรือเมล็ดลีบ...เมล็ดไม่มีการพัฒนา จึงมีแต่เนื้อที่พัฒนามาจากขั้วของเมล็ด จะพบมากในทุเรียนพันธุ์อีลีบ พันธุ์หลงลับแล พบปานกลางในพันธุ์ชะนี หมอนทอง เป็นต้น

เมล็ดเต็มหรือเมล็ดโต...เมล็ดมีการพัฒนา โดยสมบูรณ์หลังจากการผสมเกสรแล้ว

เนื้อไม่หุ้มเมล็ด...ทุเรียนที่มีการสร้างเนื้อน้อย เนื่องจากเป็นช่วงขาดน้ำ หรือเนื้อน้อยเนื่องจากเป็นลักษณะประจำพันธุ์อยู่แล้ว ทำให้เห็นเมล็ดโตมาก มักพบในพันธุ์กระดุมในระยะขาดน้ำ

ไส้ซึม...ทุเรียนที่มีน้ำซึมเข้าไปในผล โดยน้ำจะออกจากไส้กลางซึ่งเป็นจุดรวมของท่อน้ำและท่ออาหาร ถ้ามีน้ำมากจะเห็นเป็นเหงื่อที่ผนังพูด้านใน ส่วนที่ไม่พึงประสงค์ เนื้อเละ กลิ่นฉุน ไม่น่ารับประทาน

กลิ่นสาบ...กลิ่นเริ่มแรกของทุเรียนใกล้สุก และจะเริ่มมีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น

สุกห่าม...ทุเรียนสุกในระยะแรก กลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อแข็งหรืออ่อนนุ่ม ไม่เลอะมือ

สุกพอดี...ระยะที่มีกลิ่นฉุน เนื้อนุ่มพอดี สำหรับคนที่ชอบรับประทานทุเรียนนิ่ม

สุกงอม/ทุเรียนปลาร้า...เป็นทุเรียนที่สุกงอมมาก เนื้อเละ มีกลิ่นฉุน เนื้อมีสีเหลืองคล้ำ รสชาติหอม





ลักษณะของทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ


1. กบแม่เฒ่า (กบเล็บเหยี่ยว)

ประวัติ กบแม่เฒ่า เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดของทุเรียนพันธุ์การะเกดแม่เฒ่า เกิดที่หน้าวัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

ลักษณะต้น ลำต้นสูง ปลูกง่าย โตเร็ว กิ่งลู่ลง ไม่ทิ้งกิ่งตาย ต้นแก่อายุมากให้ผลใหญ่ขึ้น ใบเขียวเข้ม

ลักษณะผล หัวท้ายแหลมปานกลาง

สีผล เขียว, น้ำตาลเขียวในร่ม

หนาม เล็กแหลม ปลายงอเล็กน้อย

ขั้วก้าน ยาวปานกลาง ค่อนข้างเล็ก ไม่สาก ไม่โปน

เนื้อ สีเหลือง กลิ่นหอม งอมกลิ่นแรง ไม่ฉุน

หมายเหตุ เมื่อแก่จัดรับประทานได้ดี รสหวานจัด



2. ตากบ


ประวัติ เกิดจากการเพาะเมล็ดกบแม่เฒ่า

ลักษณะ เรือนต้นสูง ปลูกง่าย โตเร็ว ผลดก ยิ่งแก่ยิ่งผลใหญ่

รูปทรง แสดงพูชัดเจน ด้านบนแหลมป้าน

สีผล เขียว, น้ำตาล ร่องหนามเขียว

หนาม ฐานหนาม เรียวหนามปานกลาง ปลายหนามตรง

เนื้อ เนื้อเหลืองจัด, เหลืองชมพูในบางปี กลิ่นหอมปานกลาง

หมายเหตุ ฝนชุกมากจะซึมน้ำ ต้องตัดก่อนแก่จัด หวานจัด



3. เหมราช (เขียวสะอาด, กบตาเหม)


ประวัติ เกิดจากการเพาะเมล็ดทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า ผู้เพาะคือ นายเหม ในคลองบ้านขุนอินทร์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

ลักษณะ ลำต้นสูง ใบหนาเป็นพุ่ม ปลูกขึ้นง่าย ให้ผลเร็ว ทิ้งกิ่งตายหน้าแล้ง

รูปทรง ผลใหญ่ แสดงพูชัดเจนหัวพู ก้นแหลม ติดผลเป็นพวง

สีผล เขียว, เขียวอมเหลือง

หนาม ค่อนข้างเล็กยาวแหลมตรง

เนื้อ เนื้อสีเหลือง, เหลืองเข้มอมส้มชมพู ค่อนข้างมีเส้นใย

กลิ่น หอมหวานเย็น สุกงอมกลิ่นไม่ฉุน รสหวานมันปานกลาง

หมายเหตุ ฝนชุกเนื้อไม่นิ่ม ทิ้งกิ่งตายหน้าแล้ง



4. แดงสาวน้อย

ประวัติ เกิดที่เขตบางกอกน้อย ธนบุรี

ลักษณะ ลำต้นสูงปานกลาง กิ่งขยายออกด้านข้าง พุ่มใบกว้าง

รูปทรง ผลขนาดปานกลาง มักมีเพียง 2-3 พู ไม่แสดงพูชัดเจน ทรงผลยาวดี

สีผล เขียวเข้ม

หนาม ฐานหนามใหญ่กลางผลพูเอก ปลายหนามตรง

ขั้วก้าน เล็ก ขนาดยาวปานกลาง ไม่โปน ผิวไม่เรียบ

เนื้อ เหลือง, เหลืองเข้มอมส้ม มีเส้นใบ

กลิ่น หอม รสหวานปานกลาง มันจัด



5. กบลำเจียก

ลักษณะ ลำต้นสูงแผ่พุ่มปานกลาง ไม่ค่อยทิ้งกิ่ง

รูปทรง ผลใหญ่หนามยาว พูตรงเป็นระเบียบ 5 พู

สีผล เขียวอมน้ำตาล

เนื้อ สีขาวครีม ฝนไม่ชุกพอเหมาะ เนื้อเหนียวหวานมัน

กลิ่น หอมอ่อน สุกงอมไม่ฉุน

หมายเหตุ อ่อนไหวแปรปรวนตามดินฟ้าอากาศ ถ้าเหมาะสม เนื้ออร่อยดีมาก



6. สาวชม
ลักษณะ ลำต้นสูงชะลูด กิ่งเปราะ พุ่มใบปานกลาง

รูปทรง ผลปานกลาง หนามยาวแหลม ขั้วเล็กสีน้ำตาล สากไม่เรียบ

สีผล เขียวเข้ม

เนื้อ สีเหลือง, เหลืองอมชมพู ฝนปานกลางมีแดดจัดเนื้อแห้งดี

กลิ่น หอมอ่อนๆ



7. ละอองฟ้า


ประวัติ เกิดจากการเพาะเมล็ดทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ผู้เพาะคือ นายชม โสวรรณตระกูล (พ.ศ. 2508) ที่บ้านหุบสัก ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

ลักษณะ ลำต้นทรงพุ่มเป็นสามเหลี่ยม สวยงาม เรียงกิ่งขยายออกด้านข้างดี ไม่ทิ้งกิ่งในหน้าแล้ง

รูปทรง คล้ายหมอนทองแต่ผลเล็กกว่า หนามและสีผิวเขียวเหมือนพันธุ์ก้านยาว

เนื้อ เนื้อสีเหลืองมะนาว, หวานจัด มัน กลิ่นไม่ฉุน เนื้อไม่แฉะ เมื่อสุกงอมหล่น

หมายเหตุ อากาศแห้งแล้ง ฝนน้อย ให้ผลเล็กลง



8. นมสด

ประวัติ เกิดที่บ้านหุบลึก ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก สันนิษฐานว่าเกิดจากเมล็ดหมอนทอง

ลักษณะ ลำต้นแข็งแรง ให้ผลดก ทรงพุ่มใหญ่

รูปทรง ขนาดปานกลาง หนามแหลมย้อยเป็นตะเข็บหลังพูขั้วก้านยาวโปนเล็กน้อย หักง่าย

สีผล เขียวอมเหลือง, น้ำตาลอ่อน

สีเนื้อ ขาวครีม เนื้อนิ่มเหมือนครีม หวานหอม ไม่ฉุน

หมายเหตุ เมล็ดมีพลังการงอกเติบโตแข็งแรงดี



9. ทองแดง


ประวัติ ได้พันธุ์มาจากนนทบุรี คนนนทบุรีเรียก "หมอนเขียว" ชาวบางขุนนนท์ เรียก "ทองแดง"

ลักษณะ ลำต้นสูงแข็งแรง ทิ้งกิ่งในหน้าแล้ง ติดลูกเป็นพวง

รูปทรง ผลใหญ่ปานกลาง ทรงผลกลม หนามสั้น ขั้วสั้น

สีเนื้อ เหลืองลูกจัน กลิ่นอ่อนมาก เนื้อแห้งกระทั่งงอมหล่น

หมายเหตุ เหมาะสำหรับคนไม่ชอบทุเรียนเนื้อนิ่ม กลิ่นแรง



10. ลวง


ประวัติ เป็นพันธุ์เก่าแก่ เกิดในกรุงเทพฯ

ลักษณะ ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ผลเร็ว แก่เร็ว ทรงพุ่มสวย

รูปทรง ผลปานกลาง ขั้วยาวปานกลาง พูสวยงาม

สีผล เขียว, เขียวเหลือง, น้ำตาลอ่อน, หนามตรง

สีเนื้อ เหลือง, เหลืองเข้ม มีใยเส้น กลิ่นหอม

หมายเหตุ ออกก่อนตามฤดูกาลให้ผลดี ฝนชุกมากเนื้อแฉะ



11. สาวน้อยเรือนงาม


ประวัติ เกิดในกรุงเทพฯ ไปปลูกที่จันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี เรียก กบก้านสั้น

ลักษณะ ลำต้นเป็นพุ่ม กิ่งขยายด้านข้าง ใบหนาปานกลาง

รูปทรง ผลใหญ่ปานกลาง กลมแป้น แสดงพูชัดเจน

สีผล เขียวอมเหลือง ฐานหนามใหญ่ ขั้วใหญ่ ปลิงโปน สั้น

สีเนื้อ เหลืองอมส้ม กลิ่นหอมอ่อน รสหวานมัน

หมายเหตุ เป็นทุเรียนพันธุ์เบาให้ผลดก ติดผลสม่ำเสมอทุกปี



12. กำปั่นเนื้อขาว


ประวัติ เป็นทุเรียนพันธุ์เก่าแก่ คาดว่าเป็นแม่พันธุ์หมอนทอง

ลักษณะ เรือนต้นแข็งแรง รากมั่นคง กิ่งไม่หักโค่นง่าย ใบเขียว เข้มเป็นมัน ขอบหนา ปลายแหลม

รูปทรง รีป้อม

สีผล น้ำตาลอ่อน หนามใหญ่ แหลมตรง ขั้วก้านสั้น ปลิงใหญ่ ไม่เรียบลื่น

สีเนื้อ ขาว, ขาวครีม, เนื้อมีปริมาณมาก รสหวานมัน

หมายเหตุ เป็นทุเรียนเนื้อนิ่ม ติดผลดี ปลูกง่าย ยิ่งต้นแก่คุณภาพดี เมล็ดเล็กลีบ เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก ผลิดอกถึงผลแก่เก็บได้ประมาณ 6 เดือน ไส้เหนียว ผ่ายาก



13. อีหนัก

ประวัติ เคยได้รางวัลที่ 1 ในการประกวดทุเรียนของกรมกสิกรรม เมื่อปี 2497 เป็นทุเรียนเบญจพรรณ

ลักษณะ ต้นสูงใหญ่ ทรงพุ่มแผ่กว้าง แข็งแรง ไม่ทิ้งกิ่ง ติดผลดก ให้ผลใหญ่มาก

รูปทรง ผลใหญ่ ยาวรี ขนาด 5-10 กิโลกรัม หนามเล็ก แสดงพูทั้ง 5 พูไม่ชัดเจน ขั้วยาวเล็ก เหนียว ไม่หักง่าย ปลิงโปน

สีเนื้อ เหลืองลูกจัน เนื้อมีเส้นใย เนื้อมาก เม็ดประกบ รสหวานมัน กลิ่นไม่ฉุน

หมายเหตุ เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก ผลิดอกถึงผลแก่เก็บได้ราว 6 เดือน หรืออาจจะมากกว่านั้น ผลใหญ่ มีความต้านทานฝนได้ดี ฝนชุกไม่แปรปรวน เนื้อไม่แฉะ เป็นทุเรียนไส้เหนียว ผ่ายากมาก เปลือกไม่หนา



14. ฟักข้าว


ลักษณะ เป็นทุเรียนพันธุ์เล็ก ติดผลเป็นพวง ทรงพุ่มปานกลาง ไม่ทิ้งกิ่ง

รูปทรง หนามสั้นเล็ก ผลกลม ขั้วเล็กแข็ง เหนียว เปลือกบาง ไส้เล็ก

สีเนื้อ สีเหลือง กลิ่นไม่ฉุน

หมายเหตุ ได้น้ำสม่ำเสมอ อากาศเหมาะสม ให้เนื้อมาก รสอร่อย



15. กบสุวรรณ (เกิดจากการเพาะเมล็ด)


ลักษณะ ลำต้นแข็งแรง ทรงพุ่มหนาปานกลาง ให้ผลดก ได้น้ำบำรุงดีให้ผลใหญ่

รูปทรง หนามแหลมเล็ก สีผลเขียวเข้ม, เขียวอมน้ำตาล

เนื้อ สีเหลือง มีเส้นใย กลิ่นหอม ขั้วเล็ก แข็งแรง

หมายเหตุ น้ำแล้ง ฝนชุก แปรปรวนทั้งสีผิว รูปทรง รสชาติ



16. หลงลับแล


ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมืองโดย นายมนตรี วงศ์รักษ์พานิช ทำการคัดเลือกเมื่อปี 2520 ร่วมกับ นายเกรียงไกร คะนองเดชาชาติ เจ้าของชื่อ นางหลง อุปาละ

ลักษณะภายนอก เป็นทุเรียนผลเล็ก ทรงกลมรีคล้ายหยดน้ำ หนามเล็ก มีพูเด่นชัด

เนื้อ

1. หนา มีเส้นใยเล็กน้อย

2. สีเหลืองอ่อน

3. รสชาติหวานมัน

เมล็ด ลีบเป็นส่วนใหญ่ เมล็ดเต็มน้อย

เปลือก บาง



17. กบตาขำ

ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมืองจากการเพาะเมล็ดกบแม่เฒ่า ตำบลบางร่าง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

ลักษณะภายนอก ทรงผลกลม หนามเว้าแหลมและงองุ้ม มีพูเด่นชัด ส่วนข้อผลบุ๋ม ก้นผลป้าน

เนื้อ

1. ละเอียด สีเหลืองเข้ม

2. รสชาติหวานมัน แหลม

เมล็ด เล็ก และมีเมล็ดลีบปนกับเมล็ดโต

เปลือก ส่วนใหญ่จะเปลือกบาง



18. พวงมณี

ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม พบแถบจังหวัดจันทบุรี ระยอง

ลักษณะภายนอก ผลทรงกลมรี หนามแหลมละเอียด สีเขียวเข้ม ข้อสั้น ผลขนาดเล็ก 1-1.5 กิโลกรัม

เนื้อ

1. เนื้อละเอียด

2. สีเหลืองเข้ม หรืออมส้ม

3. รสชาติหวานมัน แหลม

เมล็ด โตค่อนข้างมาก อาจจะพบเมล็ดลีบอยู่บ้าง แก่จัดจะมีน้ำตาลเข้ม

เปลือก ส่วนใหญ่จะมีเปลือกบาง เป็นทุเรียนพันธุ์เบา



19. ชะนี


ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมืองจากการเพาะเมล็ดพันธุ์อีลวง

ลักษณะทั่วไป เป็นทุเรียนพันธุ์เบา ออกดอกเร็ว ผลแก่เร็ว

ลักษณะภายนอก ทรงผลกลมรี หัวท้ายสอบเข้าเล็กน้อย ส่วนก้นผลตัด มักจะพบพูลีบ เป็นทุเรียนแป้น

เนื้อ

1. เนื้อละเอียด เหนียว เนียน

2. สีเนื้อเหลืองเข้ม

3. รสชาติหวานมัน สุกเกินอาจจะมีรสขม (ปลาร้า)

4. กลิ่นหอมฉุน

เมล็ด ส่วนใหญ่เมล็ดจะลีบ มีเมล็ดโต



20. หมอนทอง


ประวัติ เป็นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ดพันธุ์กำปั่น

ลักษณะทั่วไป เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก ออกดอกช้า และผลแก่ช้า หลังพันธุ์กระดุม ชะนี แก่ก่อนพันธุ์ก้านยาว

ลักษณะภายนอก ทรงกระบอก ปลายก้นผลแหลมเห็นชัด พูใหญ่เห็นชัดเจน เด่นนูน

เนื้อ

1. เนื้อค่อนข้างหยาบ มีเส้นใยเล็กน้อย

2. สีเนื้อเหลืองอ่อน

3. รสชาติหวานมัน แหลม

4. กลิ่นอ่อน

เมล็ด เมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่ มีเมล็ดโตอยู่บ้าง ยกเว้นทุเรียนที่ผสมด้วยมือ



21. ก้านยาว


ประวัติ เป็นพันธุ์ดั้งเดิมจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ทองสุก พันธุ์พื้นเมืองนนทบุรี

ลักษณะทั่วไป เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก ออกดอกช้า แก่ทีหลัง อายุเก็บเกี่ยว 110-115 วัน

ลักษณะภายนอก มี 2 แบบ ทั้งทรงกลม และกลมยาว (ทรงหวด) เปลือกสีเขียวเข้ม ขนาดผล 1-3 กิโลกรัม หนามแหลมคม พูไม่เด่นชัด

ลักษณะเด่น ก้านขั้วผลยาว

เนื้อ

1. เนื้อแห้ง ละเอียด นุ่มนวล

2. สีเนื้อเหลืองเข้ม

3. รสชาติหวานมัน

4. กลิ่นหอมอ่อน

เมล็ด ส่วนใหญ่เมล็ดโต พบเมล็ดลีบปะปนอยู่บ้าง



22. นวลทองจันทร์

ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมือง เพิ่งพบบ้างว่าเป็นลูกผสมระหว่างหมอนทองกับพวงมณี บางกระแสว่าเกิดจากต้นตอที่กลายเป็นพันธุ์ดี พบที่จันทบุรี

ลักษณะทั่วไป เป็นทุเรียนพันธุ์เบา ทรงผลกลมรี หนามเล็ก แหลม ตรง พูเห็นชัด

เนื้อ

1. เนื้อหนา ละเอียด

2. สีเนื้อเหลืองอ่อน

3. รสชาติหวานมัน

เมล็ด มีทั้งโตและลีบปะปนกัน

เปลือก ส่วนใหญ่เปลือกยาว ยกเว้นทุเรียนสาว



23. ชายมะไฟ


ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมือง เกิดจากการเพาะเมล็ดกำปั่นเนื้อขาว

ลักษณะทั่วไป ทรงผลกลมรี ส่วนก้นเรียวแหลม หนามค่อนข้างใหญ่ ปลายหนามแหลม

เนื้อ

1. เนื้อละเอียด

2. สีเนื้อเหลืองอ่อน

3. รสชาติหวานมัน

เมล็ด มีเมล็ดลีบค่อนข้างมากปะปนกับเมล็ดเต็ม



24. ชมพูศรี


ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมือง จากการเพาะเมล็ดอีลวง พบที่นนทบุรี

ลักษณะทั่วไป เป็นทุเรียนรูปทรงหัวใจ ส่วนขั้วบุ๋มเล็กน้อย ก้นผลป้าน หนามสั้น โคนหนามใหญ่ ปลายหนามแหลม บางสวนงุ้มเข้า โดยเฉพาะก้นผลและขั้ว

เนื้อ

1. เนื้อหยาบ มีเส้นใย

2. สีเหลืองเข้ม

3. รสชาติหวาน

เมล็ด เมล็ดลีบปนกับเมล็ดเต็ม



25. หลินลับแล


ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมือง พบที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ลักษณะภายนอก เป็นทุเรียนผลเล็ก ทรงผลยาวคล้ายทรงกระบอก มีพูแบ่งเห็นเด่นชัด ขนาดพูใหญ่ ไม่สม่ำเสมอ

เนื้อ ละเอียด มีเส้นใยเล็กน้อย สีเหลือง รสชาติหวานมัน

เมล็ด ลีบและมีเมล็ดเต็มปน



26. ชายมังคุด

ประวัติ เป็นพันธุ์พื้นเมือง แหล่งที่พบอยู่ที่สวน นายทองสุข รอดพ้น จังหวัดจันทบุรี

ลักษณะภายนอก ทรงผลกลมรี ก้นผลป้าน หนามค่อนข้างใหญ่ ปลายหนามแหลมตรง พูใหญ่เด่นชัด

เนื้อ หยาบ มีเส้นใยเล็กน้อย สีเหลืองเข้ม กลิ่นอ่อนๆ รสชาติหวานมัน

เมล็ด ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดเต็ม

ที่มา http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05051150753&srcday=&search=no
_________________
อ๊อด ระยอง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว ส่งอีเมล์
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 28/07/2010 3:24 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

งานสัมมนาน่าสนใจเน๊าะ แต่ทำไมเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอย่างเรา ถึงไม่มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนา อย่างน้อย
ความรู้ทางวิชาการอาจนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์บ้างก็ได้

แล้วใครเป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมสัมมนา หรือว่าคัดเลือกเอาเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกยางพารา ปลูกมังคุด ปลูกลองกอง
ผู้ปลูกทุเรียนเป็นตัวเลือกสุดท้าย หรือว่าส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นตัวแทนเข้าร่วมสัมมนาเพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้เกษตรกร Shocked Shocked Shocked

จัดกันต่อไปเถอะ ใช้ (ผลาญ) งบประมาณกันเข้าไป สุดท้ายแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ซักอย่าง

"รบกวนช่วยกันเกาให้ถูกที่คันหน่อย"

คนแก่...ขี่บ่นอีกแล้ว

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะอ๊อด
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
ott_club
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009
ตอบ: 718

ตอบตอบ: 28/07/2010 3:49 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

งานสัมมนาแบบนี้ ต้องย้อนกลับไปดูว่ามีใครเป็นสปอนเซอร์หรือไม่ หากมี เขาให้แต่นักข่าวเท่านั้นแหละ ผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร

อย่างเมื่อครั้งที่โทรฯ ไปคุยกับ ดร.สุมิตรา เรื่องการใช้ "สังกะสี" ในมังคุดภาคตะวันออก ดร.บอกมันเป็นของเอกชนเป็นคนจัด เชิญแต่นักข่าว ผมก็เลยถามต่อ "แล้วในเร็วๆนี้ ดร. มีโปรแกรมออกไปพูดนอกพื้นที่บ้างไหมครับ ผมอยากตามไปฟัง" ดร.บอก "มีเยอะแยะแต่เป็นของเอกชนจัด เขาไม่ให้คุณเข้าฟังหรอก"

คนธรรมดาเข้าไปฟังแล้วคงไม่ดังเหมือนเอานักข่าวเข้าไปฟังมั้ง คิดดูซิ นักข่าวคนนึงออกไปเขียนข่าวแบบสร้างภาพประดิษฐ์ประดอย ให้คนฟังได้เป็นร้อยเป็นพันคน ได้เห็นภาพอันสวยหรู แต่หากเป็นคนธรรมดาๆเข้าฟัง แล้วพูดเรื่องจริง คนจัดมีแต่เสียกับเสีย
_________________
อ๊อด ระยอง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว ส่งอีเมล์
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 28/07/2010 7:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เอกชนจัด เชิญเฉพาะนักข่าว.....อ๋อ ประเทศไทยเป็นแบบนี้เอง

ท่านนักวิชาการ เงินเดือนที่ท่านได้รับทุกเดือนทุกเดือน ไม่ใช่ภาษีอากรจากพวกเราประชาชนตาดำๆหรอกเหรอ ?

ดีนะ...กินเงินเดือนของอีกคน แต่ไปทำงานสนองผลประโยชน์ให้อีกคน ทำไมไม่ลาออกจากการเป็นข้าราชการ
รับใช้แผ่นดิน ไปทำงานบริษัทเอกชนให้สิ้นเรื่องสิ้นราว...ว่ามั้ย?

เห็นแล้วว่า....ข้าราชการการเมือง ออกนโยบายเข้าข้างผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
................ข้าราชการประจำ ทำงานเช้าชามเย็นชาม ขาดอุดมการณ์ ละซึ่งพันธกิจ

เรายังจะเอาชีวิตไปฝากไว้กับพวกเขาเหล่านี้เหรอ....ช่วยตัวเองดีกว่ามั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©