-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - การผลิตลองกองคุณภาพ
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

การผลิตลองกองคุณภาพ

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
hearse
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 08/01/2010
ตอบ: 110

ตอบตอบ: 13/09/2010 8:32 pm    ชื่อกระทู้: การผลิตลองกองคุณภาพ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การผลิตลองกองคุณภาพ
กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลองกองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lansium domesticum Corr.(กรมวิชาการเกษตร, 2550) เป็นพืชในวงศ์ Meliaceae อันดับ Geranial พืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับลองกองได้แก่ ลางสาด ดูกู และกระท้อน เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบหมู่เกาะมลายู ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และทางตอนใต้ของประเทศไทย (มงคล และคณะ, 2523) สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลองกองจะเป็นสภาพร่มเงา ภูมิอากาศแบบมรสุมมีฝนตกชุก อากาศร้อน ปริมาณน้ำฝน 2,000-3,000 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิ อยู่ระหว่าง 20-35 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลองกองควรเป็นดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง และมีการระบายน้ำดี (เปรมปรี, 2541) ลองกองเป็นไม้ผลที่มีการเจริญเติบโตช้า และมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญดังนี้

ราก ต้นลองกองที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการไม่อาศัยเพศ เช่น การขยายพันธุ์โดยวิธีทาบกิ่ง เสียบยอดหรือวิธีการอื่นจะไม่มีรากแก้ว ต้นที่ขยายพันธุ์แบบเพาะเมล็ดเท่านั้นที่มีรากแก้ว และยังมีรากแขนงและรากฝอยแผ่กระจายอยู่บริเวณผิวหน้าดิน ห่างจากลำต้นประมาณ 3-5 เมตร รากฝอยจะกระจายอยู่บริเวณผิวดินที่มีความลึกประมาณ20 เซนติเมตร (อภิชัย, 2541)

ลำต้นต้นลองกองจะมีลักษณะค่อนข้างกลมและตั้งตรงความสูงขึ้นอยู่กับการขยายพันธุ์และพื้นที่ปลูก ต้นที่ปลูกด้วยเมล็ดจะสูงชะลูด ส่วนต้นที่มีการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศลำต้นจะเตี้ยทรงพุ่มกว้าง แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ร่มเงาลำต้นจะสูงชะลูดเช่นเดียวกันเพราะแย่งกันรับแสง แต่โดยทั่วไปลำต้นจะสูงประมาณ 15-30 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร เนื้อไม้แข็งปานกลาง เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบบางมีสีขาวปนน้ำตาล เนื้อไม้และเปลือกจะมีกลิ่นหอมจึงมีศัตรูสำคัญคอยทำลายคือ หนอนกัดกินผิวเปลือกลองกอง และหนอนเจาะลำต้น ลำต้นที่มีอายุมากจะตกสะเก็ด และยังสามารถออกดอกบริเวณลำต้นได้

ต้นที่ปลูกด้วยเมล็ดจะเริ่มให้ผลผลิตได้เมื่ออายุประมาณ 7-8 ปี ส่วนลองกองที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4-5 ปี

ต้นที่ปลูกด้วยเมล็ดจะมีลักษณะสูงชะลูดกิ่งแขนงมีขนาดใหญ่ กิ่งภายในทรงพุ่มจะเป็นกิ่งมุมแคบ ส่วนต้นลองกองที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบยอดหรือทาบกิ่ง ลักษณะจะเตี้ยกว่าทรงพุ่มกว้างคล้ายทรงกลม กิ่งแขนงขนาดใหญ่ภายในทรงพุ่มมีมุมกว้าง และกิ่งแขนงภายในทรงพุ่มค่อนข้างแน่น ถ้าปลูกระยะชิดหรือร่มเงามากจะทำให้ต้นลองกองสูงชะลูดมาก (อภิชัย, 2541)

ใบ เป็นใบประกอบ (Compound Leaf) ใบย่อยเรียงสลับมีประมาณ 6-8 ใบ หรือมากกว่านั้น กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบหนาสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นใบย่อยลึกทำให้เห็นรอยหยักเป็นคลื่น เส้นใบเป็นแบบร่างแห รูปร่างของใบมีทั้งยาวรี (Elliptical) หรือป้อมรูปไข่ (Obovate) ปลายใบแหลม สั้นเรียบ หรือเป็นครีบเล็กน้อย ไม่มีขนอ่อนใต้ใบ ก้านใบแข็งแรง ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบจะใหญ่กว่าใบลางสาด และไม่มีรสขมเหมือนลางสาด (หนึ่งฤทัย, 2541)

ดอก ดอกของลองกองเป็นดอกช่อ (Inflorescense) มีการจัดเรียงตัวของดอกภายในช่อแบบ Spike คือ มีดอกแต่ละดอกเรียงติดกับก้าน ซึ่งเป็นแกนกลางสลับกันไปมา ก้านดอกอวบเหนียว แต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน ไม่มีก้านเกสรหรือมีขนาดสั้น กลีบรอง (Calyx) มี 5 กลีบ แต่ละกลีบจะยาวประมาณ 0.15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.15-2 เซนติเมตร มีลักษณะอวบคล้ายรูปถ้วย สีเหลืองอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ปกคลุมด้วยขนอ่อน เมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลติดอยู่กับผลไม่ร่วงหล่นไป กลีบดอก (Corolla) แต่ละกลีบกว้าง 0.2-0.5 เซนติเมตร ยาว 0.4-0.6 เซนติเมตร อยู่ลึกเข้าไป มีลักษณะเหยียดตรง อวบสีขาวหรือเหลืองจางรูปไข่มีขนอ่อนปกคลุมเช่นเดียวกันกับกลีบรอง ถัดเข้าไปเป็นเกสรตัวผู้ ถาดรองเกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอดกลมสั้น มีอับละอองเกสร 10 อัน ชั้นในสุดเป็นเกสรตัวเมีย มีลักษณะคล้ายกระบอง มีสีขาวนวล ฐานสีน้ำตาล รังไข่ (Ovary) ที่อยู่ด้านล่าง มีลักษณะกลม และมีขนอ่อนปกคลุม รังไข่เป็นแบบ Superior มี 4-5 ภู ยอดเกสรตัวเมีย(Stigma) มีลักษณะสั้น แข็ง เป็นร่องหรือเป็นเหลี่ยม ประมาณ 4-5 เหลี่ยม (หนึ่งฤทัย, 2541)

ดอกลองกองจะเริ่มบานในสัปดาห์ที่ 8 โดยเริ่มบานจากโคนก้านช่อดอก เรื่อยไปจนถึงปลายดอก ดั้งนั้นการสุกของผล ก็จะเริ่มสุกจากโคนก้านช่อดอกเช่นกัน ดอกจะบานอยู่ประมาณ 3-5 วัน ดอกสุดท้ายจะบานหลังจากดอกแรกบานแล้ว 4-5 สัปดาห์ (อภิชัย, 2545)

ผล ลักษณะผลค่อนข้างกลมหรือรีมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ขั้วผลสั้นอาจมีขั้วผลเป็นจุกได้ ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียวบนผิวเปลือกจะมีตุ่มนูนเล็กๆ เป็นต่อมน้ำหวาน ตอนเช้าจะมีน้ำหวานเกาะติดอยู่เป็นเม็ดๆ เมื่อผลสุกผิวเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยจะเริ่มสุกจากโคนช่อไปหาปลายช่อ เปลือกลองกองแท้จะไม่มียาง แกะเปลือกล่องออกจากเนื้อได้ง่าย ผลแบ่งออกเป็นกลีบๆ ได้ 4-5 กลีบ ลองกองสุกเต็มที่เนื้อจะใสเป็นแก้ว ทั้งฉ่ำน้ำและแห้ง เนื้อลองกองสุกจะมีค่าความหวาน 17-19 องศาบริกซ์ โดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 10-40 ผลต่อช่อ (อภิชัย, 2541)

เมล็ด ในลองกองผลหนึ่งจะมีเมล็ดน้อยมากมีเพียง 1-2 เมล็ดหรือบางผลมีเฉพาะเมล็ดลีบเท่านั้น เมล็ดที่สมบูรณ์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีรูปร่างกลมรี ด้านหนึ่งโค้งนูน อีกด้านหนึ่งแบนราบ มีสีเขียวอมเหลือง รสชาติไม่ขม เมล็ดของลองกองสามารถเจริญได้โดยไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์ เพราะเกสรตัวผู้เป็นหมัน ซึ่งทำให้เปอร์เซ็นต์การกลายพันธุ์น้อยมาก และสามารถพัฒนาเป็นเมล็ดที่มีหลายคัพภะ ที่เรียกว่า Polyembryonic seed ดังนั้นในการเพาะเมล็ดหนึ่งเมล็ด สามารถให้ต้นกล้าได้ 1-3 ต้น (อภิชัย, 2541)


พันธุ์ลองกอง
ลองกองเป็นผลไม้ในสกุลเดียวกันกับดูกูและลางสาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน แต่ลองกองในแต่ละสายพันธุ์จะมีใบที่มีลักษณะที่แต่ต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งลองกองออกเป็น 3 สายพันธุ์ คือ

1. ลองกองแห้ง เป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีที่สุด และเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้าในปัจจุบัน การสังเกตความแตกต่างของลองกองแห้ง ให้สังเกตจากลักษณะของผลเท่านั้น เนื่องจากลักษณะของใบและทรงต้นจะใกล้เคียงกับลองกองน้ำมาก ลองกองแห้งลักษณะใบใหญ่เป็นมัน ใบรูปไข่ ร่องใบลึกเป็นคลื่นเห็นชัด สีเขียวเข้ม ใบด้านบนเขียงกว่าใบด้านล่าง ใบเรียงสลับกัน แต่ละก้านใบมีใบย่อย 6-8 ใบ ฐานใบบางใบแต่ละด้านไม่เสมอกัน ใบมีรสจืด เปลือกผลค่อนข้างหนา ผิวหยาบเล็กน้อย เมื่อสุกมีสีเหลืองคล้ำ เปลือกผลจะแข็งกว่าลองกองน้ำ ไม่มียางขาว เนื้อผลมี 5 กลีบ บางผลมีกลีบใหญ่ 1 กลีบ กลีบใหญ่มักมีเมล็ด เมื่อสุกเต็มที่เนื้อผลจะใสเหมือนแก้ว เนื้อมีรสหวานเนื้อลองกองสุกจะมีค่าความหวาน 17-19 องศาบริกซ์ ลองกองแห้งที่ปลูกแพร่หลายอยู่ในปัจจุบันเป็นลองกองที่ได้มาจากบ้านซีโป หมู่ที่ 3 ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส (อภิชัย, 2541)

2. ลองกองน้ำ ลักษณะของใบและทรงต้นจะใกล้เคียงกับลองกองแห้ง จนไม่สามารถอาศัยลักษณะของใบและลำต้นมาใช้แยกออกจากกันได้ข้อแตกต่างที่พอจะแยกออกจากลองกองแห้งได้คือ สีผิวของผลเมื่อสุกจะเหลืองกว่าลองกองแห้ง ผลจะนุ่มกว่า ผลโตค่อนข้างกลม เป็นช่อยาวใหญ่ เปลือกค่อนข้างบางและเหนียว เนื้อผลมี 5 กลีบ เนื้อสีขาวขุ่นมีน้ำมาก รสชาติไม่ค่อยหวาน เนื้อลองกองสุกจะมีค่าความหวาน 16-19 องศาบริกซ์ มีเมล็ดน้อย เมล็ดมีลักษณะกลมรี (อภิชัย, 2541)

3. ลองกองแกแลแม บางแห่งเรียกว่า ลอกกองแปร์แม หรือดูกูแปร์แม แต่จะจัดไว้ในกลุ่มของลองกองมากกว่าเพราะมีคุณภาพต่างจากดูกู ใบมีลักษณะคล้ายลอกกองแห้งและลองกองน้ำแต่จะลื่นกว่า ใบมีคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลมเหมือนหางเต่า ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ช่อผลที่สมบูรณ์จะยาวกว่าลองกองแห้ง เมื่อสุกผิวจะมีสีเหลืองนวล ผิวละเอียด เปลือกบางไม่มียาง ผลอ่อนนุ่ม กลีบผลมี 5 กลีบ เนื้อนิ่มมีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นฉุนไม่หอมเหมือนลองกองแห้ง เนื้อลองกองสุกจะมีค่าความหวาน 16-19 องศาบริกซ์ (อภิชัย, 2541)

การขยายพันธุ์ลองกองสามารถทำได้หลายวิธีทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ปัจจุบันกิ่งพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมาจากการขยายพันธุ์แบบเสียบยอดและเพาะเมล็ด (มงคล และคณะ, 2540) เช่นเดียวกันกับไม้ผลชนิดอื่นๆทั่วไป แต่วิธีที่นิยมคือ การเพาะเมล็ด การเสียบยอด การทาบกิ่ง และการติดตา เกษตรกรนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ดเนื่องจากไม่มีการกลายพันธุ์ แต่ขณะเดียวกันการปลูกลองกองจากต้นกล้าเพาะเมล็ดใช้เวลานาน 7-9 ปี จึงออกดอก โดยการขยายพันธุ์มี 2 วิธีหลักคือ

1. การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ
- การเพาะเมล็ด เกษตรกรนิยมใช้โดยทั่วไป เนื่องจากไม่มีการกลายพันธุ์ผลของเมล็ดของลองกองสามารถพัฒนาได้โดยไม่ต้องมีการผสมเกสรหรือการปฏิสนธิ (parthenocarpic fruit) (หนึ่งฤทัย, 2541)

หลักการคัดเลือกเมล็ดลองกองเพื่อทำพันธุ์ ควรเลือกต้นแม่พันธุ์ดีที่ มีลักษณะทรงพุ่มแข็งแรง ออกดอกสม่ำเสมอ ให้ผลดก ผลมีรสชาติดี

การปลูกลองกองโดยใช้ต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด อาจมีผลต่อการออกดอกติดผล เนื่องจากการเพาะด้วยเมล็ด รากแก้วของลองกองจะหยั่งลึกลงดินมากกว่าต้นที่ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ดังนั้นในการทิ้งช่วงแล้ง เพื่อให้ต้นลองกองสะสมอาหารภายในต้นเพื่อออกดอก (หนึ่งฤทัย, 2541)

2. การขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ
- การทาบกิ่ง เป็นที่นิยมของเกษตรกรทางภาคใต้ โดยนิยมวิธีการทาบกิ่งแบบปาด ดัดแปลงหรือฝานบวบแปลง (modified spliced approach grafting) โดยใช้เมล็ดดูกูหรือลางสาดมาเพาะเป็นต้นตอ (หนึ่งฤทัย, 2541)
- การเสียบกิ่ง มี 2 แบบคือ การเสียบยอด (cleft grafting) และการเสียบข้าง (side grafting) วิธีการเสียบยอดเป็นวิธีที่นิยมมากในปัจจุบันโดยเฉพาะด้านธุรกิจ การขยายพันธุ์เพื่อผลิตต้นพันธุ์ขาย ข้อควรระวังในการเสียบยอดคือ ไม่ควรทำในช่วงฝนตกชุกและก่อนการปฏิบัติต้องรดน้ำก่อน เพื่อให้ยางในต้นน้อยลง ลดการเน่าของต้นตอและกิ่งพันธุ์ได้ แต่การเสียบยอดจะประสบความสำเร็จขึ้นกับความชำนาญของผู้ทำการขยายพันธุ์ (หนึ่งฤทัย, 2541)
- การติดตา ที่นิยมคือการติดตาแบบเพลด (plate budding) ต้นตอที่นำมาใช้ต้องสมบูรณ์และเปลือกล่อนได้ง่าย แผ่นตาเป็นตาที่สมบูรณ์ และให้มีใบติดที่แผ่นตาด้วย (สุมาลี, 2542)
- การชำกิ่งลองกอง จากการชักนำการเกิดรากของกิ่งลองกองอายุ 1 ปี ระยะหลังจากแตกใบใหม่ และใบเริ่มแก่ ขนาดกิ่งยาว 25-30ซม. ตัดใบออกให้เหลือใบย่อย 4-6 ใบย่อย ผ่าโคนกิ่งประมาณ 2 ซม. เพื่อเพิ่มพื้นที่การงอกราก จุ่มโคนกิ่งในฮอร์โมน NAA ร่วมกับ IBA นาน 15 นาที อัตราส่วน 1:1 ที่มีความเข้มข้น 2 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตรโดยปริมาตร (มงคล และคณะ, 2540) นอกจากนี้ สัมฤทธิ์ (2533) กล่าวว่า การใช้กิ่งพันธุ์จากกิ่งตอนในมะขามหวานสามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนรสชาติของมะขามอันเนื่องมาจากการใช้ต้นตอมะขามเปรี้ยวได้

ประโยชน์ของลองกอง
ลองกองเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มากมายเช่นเดียวกับผลไม้ชนิดอื่น ผลสดใช้รับประทาน ผลลองกองที่สุกเต็มที่นั้นมีรสชาติหวาน มีคุณค่าทางอาหาร ลองกองนอกจากให้รสชาติอร่อยแล้ว น้ำจากผลมีการนำไปหยอดตาเพื่อรักษาตาอักเสบ เปลือกของผลและเมล็ดมีส่วนประกอบของสารที่มีความสำคัญทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ผิวของเปลือกที่มีรสขมและมีสารพวก tannin เป็นจำนวนมาก เปลือกของผลนำไปตากแห้งแล้วเผ่าให้เกิดควันใช้สูดดมรักษาผู้ป่วยเป็นวัณโรคให้บรรเทาได้ และกลิ่นควันจากเปลือกแห้งสามารถไล่ยุงได้ เปลือกของลำต้นและใบใช้เป็นยาต้มสำหรับรักษาโรคบิด ส่วนกิ่งใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ (อภิชัย, 2541)

การผลิตลองกองเพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดนั้น ต้องมีการจัดการสวนอย่างเป็นระบบตามขั้นตอน ดังนี้

การตัดแต่งกิ่ง
เป็นการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของต้น ทำให้ต้นลองกองมีใบสมบูรณ์ และมีปริมาณมากพอที่จะสังเคราะห์แสงเพื่อสะสมอาหารสำหรับขบวนการออกดอก ควรรีบปฏิบัติทันที่หลังการเก็บเกี่ยว โดยเลือกตัดกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งเป็นโรค และตัดขั้วผลที่ติดอยู่ที่กิ่งทิ้งไป หากพบมีกิ่งแขนงหรือกิ่งกระโดงที่แตกออกมาใหม่หลังการตัดแต่งกิ่งครั้งแรก และอยู่ในตำแน่งที่ไม่เหมาะสม ต้องตัดแต่งอีกครั้งหนึ่ง ลองกองที่ปลูกในสภาพแจ้งไม่มีร่มเงาควรตัดแต่งกิ่งไม่มากนัก ในขณะที่ลองกองที่ปลูกอยู่ภายใต้ร่มเงาควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่งให้ใบได้รับแสงอย่างทั่วถึง
การให้ปุ๋ย

ก่อนที่เกษตรกรจะเลือกชนิดของปุ๋ย และใส่ปุ๋ย ควรนำดินไปวิเคราะห์ธาตุอาหารเพื่อดูปริมาณธาตุอาหารในสวน

การให้ปุ๋ยกับลองกองที่ให้ผลผลิตแล้ว
• หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้ตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก อัตรา 25 กิโลกรัมต่อต้น และ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงต้น
• ก่อนออกดอก 1-2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อเร่งการออกดอก
• ระยะช่อดอกยืดหรือติดผลอ่อนใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 12-12-17+2 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงช่อดอก และผลอ่อน
• ก่อนเก็บเกี่ยว 1-1 & frac 12; เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 0-0-60 อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผล

ช่วงเวลาที่นิยมใส่ปุ๋ยคือ ต้นและปลายฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความชื้นพอเหมาะที่จะสลายให้ปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และลดการสูญเสียปุ๋ยเนื่องจากถูกชะล้าง แต่สำหรับสวนที่มีระบบน้ำก็สามารถให้ในช่วงแล้งได้ด้วย

การให้น้ำ
• ให้น้ำโดยใช้สายยางรด ระบบน้ำหยด หรือระบบมินิสปริงเกอร์ ตามความเหมาะสมจนกระทั่งดินชุ่มน้ำ
• ในช่วงปีแรกที่ปลูกควรให้น้ำสม่ำเสมอ และเมื่ออายุ 2-3 ปี ควรให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
• ระยะก่อนการออกดอก 1-2 เดือน ควรงดการให้น้ำอย่างน้อย 30-45 วัน เพื่อกระตุ้นการออกดอก
• ระยะช่อดอก และติดผล ควรให้น้ำสม่ำเสมอ มิฉะนั้นช่อดอกจะไม่ยืดเท่าที่ควร และผลอาจร่วง และแตกได้ คุณภาพผลไม่ดี
• ก่อนเก็บเกี่ยว งดให้น้ำเพื่อช่วยเพิ่มความหวาน
การเตรียมต้นเพื่อชักนำให้ต้นลองกองออกดอก
• ก่อนการออกดอกประมาณ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีที่มีตัวกลางสูง เพื่อสะสมอาหารและการออกดอก สูตรปุ๋ยที่ใช้ เช่น 8-24-24
• กำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้สะอาด เพื่อให้ดินบริเวณโคนต้นแห้งและงดการให้น้ำเพื่อบังคับการออกดอกอย่างน้อย 30-45 วัน
• หลังงดน้ำ ให้สังเกตใบลองกองจะแสดงอาการใบห่อ และเริ่มเหี่ยวในช่วงเวลาเช้า ก็เป็นการบ่งถึงแสดงให้เห็นถึงการขาดน้ำ
การกระตุ้นส่งเสริมให้ต้นลองกองแทงช่อและยืดช่อดอก
• หลังสังเกตใบเหี่ยวในเวลาเช้าในเวลากลางวันและกลางคืน ต่อมาก็รีบให้น้ำปริมาณมากทันที โดยให้ปริมาณ 850-1,000 ลิตรต่อต้น เพียง 1 ครั้ง แล้วดูอาการภายใน 7 วัน จะพบว่ามีการเริ่มแทงช่อดอกตามกิ่ง และต้น จากนั้นจึงให้น้ำประมาณ 85-110 ลิตรต่อต้นต่อวัน หากไม่พบการพัฒนาช่อดอกภายใน 10 วัน ต้องหยุดการให้น้ำ และให้เข้าสู่ภาวะแล้งอีกครั้ง เมื่อแสดงการขาดน้ำก็ดำเนินการให้น้ำอีกครั้งตามที่กล่าวมา
• เมื่อตาดอกขยายตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อช่วยให้ดอกเจริญเติบโตและสมบูรณ์ ให้น้ำสม่ำเสมอ และฉีดพ่นฮอร์โมนจิบเบอเรอลิน (GA 3) อัตรา 100 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นช่อดอก เพื่อช่วยยืดความยาวของช่อดอก
การตัดแต่งช่อดอก
• ตัดแต่งช่อดอกครั้งที่ 1 เมื่อช่อดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ช่วงนี้ช่อดอกยังอ่อนอยู่ ตัดแต่งได้ง่าย ตัดแต่งให้เหลือ 1-2 ช่อต่อกลุ่มตาดอก
• ตัดแต่งช่อดอกครั้งที่ 2 ตัดแต่งให้เหลือเฉพาะช่อดอกที่สมบูรณ์ที่สุด 1 ช่อต่อกลุ่มตาดอก
• ตำแหน่งของช่อที่จะต้องตัดแต่งเป็นอันดับแรก คือ บริเวณลำต้น โคนต้น กิ่งใหญ่ ๆ เพราะบริเวณนี้จะมีช่อดอกที่สมบูรณ์อยู่มาก
• ช่อดอกที่ควรพิจารณาตัดทิ้ง ได้แก่
- ช่อดอกที่ออกเป็นกระจุก ตัดช่อดอกที่เล็ก สั้น ไม่อวบใหญ่ออก ไว้ดอกที่สมบูรณ์เพียง 1-2 ช่อดอกต่อกระจุก
- ช่อดอกที่ออกไม่เป็นกระจุกออกดอกเพียง 1-2 ช่อ ควรสังเกตการเรียงของช่อดอกก่อนว่ามีความสม่ำเสมอมากน้อยเพียงใด ถ้ามีความสม่ำเสมอ สมบูรณ์ก็ไม่ต้องตัดทิ้ง แต่ถ้าช่อดอกเรียงกันห่าง ๆ และก้านช่อดอกเล็ก ไม่อวบก็ควรตัดทิ้ง
- ช่อดอกที่แทงตาดอกอยู่บริเวณ ง่ามกิ่ง ตั้งตรงอยู่บนกิ่ง และช่อดอกที่อยู่ปลายกิ่ง
• ระยะการไว้ช่อดอก ควรทิ้งระยะ 20-30 เซนติเมตรต่อการไว้ช่อดอก 1 ช่อ
• อัตราการไว้ช่อดอกต่อกิ่ง (กรณีต้นสมบูรณ์)
- กิ่งเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ควรไว้ช่อดอก 3-5 ช่อ
- กิ่งเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 & frac 12 ; นิ้ว ควรไว้ช่อดอก 10-15 ช่อ
• ควรสังเกตการเจริญของช่อดอกเสมอ ถ้าพบช่อดอกคดงอ แคระแกรน ดอกในช่อร่วงมาก ก็ควรตัดทิ้ง
• หลังตัดแต่งช่อดอก ควรให้น้ำสม่ำเสมอ ในปริมาณน้อย ๆ ก่อน จะทำให้ช่อดอกลองกองมีการเจริญเติบโตยืดยาวขึ้น
การตัดแต่งช่อผล
• ครั้งที่ 1 เมื่อช่อผลมีอายุ 2-3 สัปดาห์ หลังดอกบาน ให้ตัดผลที่มีการหลุดร่วงของผล ช่อผลที่พัฒนาช้า และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ให้เหลือไว้เกินที่ต้องการจริง 10 -20 เปอร์เซ็นต์ และตัดส่วนปลายช่อในผลที่ไม่พัฒนาหรือพัฒนาช้าเพื่อให้การสุก และคุณภาพผลสม่ำเสมอ (ในช่อเดียวกันช่อดอกจะบานต่างกัน 4 - 5 สัปดาห์)
• ครั้งที่ 2 เมื่อช่อผลมีอายุ 7-8 สัปดาห์หลังดอกบาน โดยเลือกตัดช่อผลที่หลุดร่วงมาก ช่อผลที่เล็ก และเจริญเติบโตช้า ซึ่งการตัดครั้งนี้อาจไม่จำเป็นถ้าเห็นว่าช่อผลในการติดครั้งที่ 1 มีการพัฒนาผลดีอยู่แล้ว
• หากพบว่ามีผลแตกให้เขี่ยผลที่แตกออกเพื่อป้องกันเชื้อราเข้ามาทำลายหรืออาจปลิดให้มีช่องว่างในการพัฒนาให้ผลมีขนาดสม่ำเสมอ
• ตัดแต่ง(เด็ด)ผล เด็ดผลบริเวณโคนช่อที่ช่อเบียดแน่นกับกิ่งมากเกินไป ผลในช่อ แคระแกร็น เจริญเติบโตไม่ทันกับผลอื่น และเด็ดปลายช่อ 1-2 ผล ในระยะเวลา 2-3 เดือน ก่อนผลสุก


สรุปวิธีการเพิ่มคุณภาพของผลลองกอง
• ตัดแต่งช่อดอกให้เหลือ 1 ช่อต่อตำแหน่ง
• ใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน (GA 3) ช่วยในการยืดช่อดอก จะทำให้ช่อผลมีความยาวมากขึ้น
• เมื่อดอกด้านส่วนโคนต้นบานหมดแล้ว ให้ใช้กรรไกรตัดเอาส่วนปลายช่อดอกที่มีขนาดเล็กหรือยังไม่บานทิ้ง เพื่อให้ผลภายในช่อมีอายุใกล้เคียงกัน
• พ่นฮอร์โมน GA 3 ครั้งแรกพ่นในช่อที่เริ่มติดผลเพื่อลดการหลุดร่วง ถัดไปอีก 3-4 สัปดาห์ พ่นอีกครั้งเพื่อให้มีการขยายผล
• พ่นสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ เมื่อช่อผลอายุ 2 สัปดาห์ หลังติดผล และพ่นซ้ำทุก 2 สัปดาห์ จนเริ่มเปลี่ยนสี (สัปดาห์ 10-11)
• รักษาช่อผลให้สะอาด ปราศจากเพลี้ยแป้ง มด และราดำโดยใช้หัวพ่นน้ำเหวี่ยงด้านบนในทรงพุ่ม จะช่วยล้างหยดน้ำหวานที่ทำให้ราดำเจริญได้
• การใส่ปุ๋ยที่มีโปแตสเซี่ยมสูงในช่วง 1-1 & frac 12 ; เดือน ก่อนการเก็บเกี่ยว จะช่วยให้มีรสชาติดีขึ้น (สูตร 13-13-21 หรือ 0-0-60)
• ห่อช่อผลในสัปดาห์ที่ 5-8 หลังการติดผล เพื่อป้องกันแมลง เชื้อรา และการขูดขีดเกิดรอยแผลบนผิวเปลือก
• เก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม ก่อนจะเก็บเกี่ยวควรชิมผลที่ปลายช่อ ถ้าหากมีรสชาติหวานสามารถเก็บได้ หรือบีบปลายผลจะรู้สึกนิ่มมือ หรือนับอายุได้ 13-15 สัปดาห์ หลังจากดอกบาน


ที่มา http://www.thethaifruit.com/journal.php?page=2
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©