-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ข่าวเกษตร...ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างโลกทัศน์ 6938-24-1800
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ข่าวเกษตร...ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างโลกทัศน์ 6938-24-1800
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10  ถัดไป
 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 17/04/2010 9:03 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

กะเทาะแก่นความคิด "พิสิทธิ์ หล้าสุดตา" กับอาณาจักรฟาร์มปลาเผาะ 300 ล้าน

"เหมือนจังหวะให้มาเจอจุดพลิกผันอีกครั้ง ตอนนั้นผมทำงานกินเงินเดือน 60,000-70,000 บาท แต่บริษัทประสบปัญหา ในขณะมีบริษัทของคนจีน เขาต้องการเปิดตลาดค้าขายกุ้งแช่แข็งในสหรัฐอเมริกา จึงติดต่อขอให้ผมเป็นตัวแทนซื้อกุ้งส่งไปให้เขา ภายในปีเดียวผมสามารถทำรายได้กว่า 10 ล้านบาท เมื่อเห็นช่องทางความเติบโต จึงตัดสินใจเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง"

โปรย.......

"ผมบอกตัวเองเสมอว่า ก่อนทำอะไรต้องศึกษา อย่าทำตามแฟชั่น ต้องออกมาจากใจ รักและซื่อสัตย์ ทั้งกับลูกค้า พนักงาน หรือแม้แต่ส่วนรวม ตรงไปตรงมา สำคัญคือ อ่อนน้อมมีสัมมาคารวะ และการที่ผมก้าวมายืนจุดนี้ได้ ซึ่งผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมี เพียงแต่ที่ผ่านมาบอกกับตัวเอง เวลาทำงานต้องทำด้วยใจ อย่าเรียกร้องเงิน ซึ่งทุกอย่างที่ทำไว้ในอดีต กลับมาตอบแทนผมแล้วในวันนี้"

คุณพิสิทธิ์ หล้าสุดตา ชายหนุ่มร่างเล็กวัย 42 ปี ต้องดิ้นรน เดินอยู่บนหนทางสายอาชีพ โดยเริ่มต้น ขณะศึกษาชั้น ม.1 เด็กชายตัวเล็กๆ คนนี้ ขอขึ้นเวทีชกมวย นำความเจ็บแลกความหิว และเพียงจบมัธยมต้น สองขาพาสู่เมืองใหญ่ กรุงเทพฯ คือจุดหมายเพื่อสร้างงาน

ปั่นรถสามล้อเร่ขายลูกชิ้นทอด อาชีพลูกจ้างค่าแรงวันละไม่กี่สิบบาท ทนทำได้ไม่นาน จำใจอำลาวงการ แล้วหันมาเป็นลูกเรือประมง ใช้ชีวิตโต้คลื่นลม ห่มแสงแดด มากว่าจะได้เหยียบยืนบนผืนดิน แต่เพราะความมุ่งมั่น ขยัน อดทน บวกตั้งปณิธานไว้เป็นกำลังสร้างจุดหมาย

ในที่สุดตำแหน่ง "ไต้ก๋ง" ก็เป็นของเขา ด้วยตัวเลขอายุเพียง 19 ปี

ทุกสิ่งได้มา ไม่มีคำว่า "ฟลุค" แต่บังเกิดเพราะลงมือปฏิบัติจริง ให้โอกาสตัวเอง ไม่ดูถูกผู้อื่น และไม่ดูถูกงาน ส่งผลให้เขามีโอกาสเป็นเจ้าของอาณาจักรฟาร์มปลาเผาะ (Pangasius bocourti) ที่ยิ่งใหญ่ โดยตลาดหลักส่งขายไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้านับตัวเลขยอดขาย ปีหนึ่งสามารถทำรายได้กว่าพันล้านบาท

เส้นทางชีวิตของชายผู้นี้ ดำเนินมาอย่างไร ทำไมมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ เส้นทางเศรษฐี พร้อมแล้วกับการถ่ายทอดเรื่องราว ผ่านคำบอกเล่าของ คุณพิสิทธิ์ หล้าสุดตา

ชกมวยแลกความหิว.......เด็กชายขายลูกชิ้นทอด

คุณพิสิทธิ์เกิดและเติบโตอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม ความจน เพียงเท่านี้มากพอจะทำให้เขายอมเจ็บตัว ขอขึ้นเวทีชกมวยตั้งแต่ครั้งใช้คำนำหน้าว่า "เด็กชาย" วัย 10 ขวบเศษ เพื่อให้ได้เงินมาซื้อหาข้าวกิน แต่ในเมื่อชีวิตมีเลือดเนื้อเป็นส่วนผสม เด็กชายพิสิทธิ์ จึงมิอาจทานทนความเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดต้องหยุดอาชีพนักชก

"พ่อแม่ ทุกคนในครอบครัว ไม่อยากให้ผมชกมวย แต่เพราะอยากได้เงินมาช่วยเหลือครอบครัว ส่วนหนึ่งนำมาเป็นค่าเล่าเรียนหนังสือ ซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ประมาณชั้น ม.1 แต่ชกมวยได้ไม่นานต้องเลิก เหตุผลเดียวครับ มันเจ็บ ผมเป็นคนตัวเล็กด้วย แรงไม่ค่อยมี ชกกับมวยค่ายโดนเข้าไปทีสองทีไม่ไหวแล้ว จึงกลับมาเรียนหนังสืออย่างเดียวจนจบ ม.3"

คุณพิสิทธิ์เป็นคนสมองดี เรียนรู้เร็ว เขาไม่เคยได้ผลการเรียนต่ำกว่าเกรด 3 แม้วิชาเดียว แต่แทนที่จะเรียนต่อระดับสูงดังผู้เป็นพ่อคาดหวัง กลับเลือกหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น โดยให้เหตุผล

"ถ้าผมตัดสินใจเรียนต่อ เท่ากับว่าน้องๆ อาจไม่ได้เรียนหนังสือ มันถึงคราวแล้วต้องเสียสละ เหตุผลของผมเป็นอย่างนี้ แต่ทำให้พ่อเสียใจมาก จับไม้เรียวขึ้นฟาดแบบไม่ยั้ง ทั้งๆ ตั้งแต่เล็กไม่เคยโดนพ่อตีแม้แต่ครั้งเดียว"

คุณพิสิทธิ์ตัดสินใจเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อหางานทำ...

ปั่นสามล้อเร่ขายลูกชิ้นทอด ตามเส้นทางซึ่งนายจ้างกำหนด อาชีพนี้มีรายได้เพียงวันละไม่กี่สิบบาท ส่วนสถานที่พักอาศัย บ้านเช่าราคาถูกติดคลองน้ำครำ ฉะนั้น คุณพิสิทธิ์จึงเสมือนเด็กใจบุญ บริจาคเลือดให้ยุงกัดกินจนตัวลายทุกวัน

อาชีพค้าขาย เป็นอาชีพแรก การดำเนินชีวิตในกรุงเทพฯ ก็เป็นครั้งแรก ที่มิอาจรู้เลยว่า ทุกอย่างต้องรอบคอบ รวดเร็ว ระแวดระวัง ถึงจะมีชีวิตอยู่รอด "เวลาลูกค้าซื้อลูกชิ้น เขาจะส่งให้ผมลงทอดในกระทะซึ่งตั้งไว้ด้านหน้า มัวแต่ทอด ไม่ได้ดูว่าเด็กๆ กำลังขโมยลูกชิ้นคนละไม่สองไม้ พอกลับมาถึงร้าน เถ้าแก่เช็คเงินเช็คของไม่ตรงกัน โดนต่อว่าอีก"

กระทั่งวันหนึ่ง คุณพิสิทธิ์ปั่นสามล้อเร่ขายลูกชิ้นไปตามทาง "จะมีช่วงต้องขึ้นสะพานสูงมาก ซึ่งผมตัวเล็กนิดเดียว ลำพังรถก็หนักอยู่แล้ว ไหนจะพ่วงอุปกรณ์การขาย ลูกชิ้นอีกเป็นสิบเป็นร้อยไม้ เข็นเท่าไรๆ ไม่ขึ้น ชาวบ้านเดินผ่านไปมาตรงริมถนน เห็นเข้าเกิดความสงสาร จึงมาช่วยเข็นท้ายรถส่งถึงบนเนินสะพาน แต่พอถึงคราวปั่นลง มันเร็วมาก เพราะทางลาดชัน ตัวผมไถลออกไปทาง รถไปทาง ลูกชิ้นเกลื่อนกลาดเต็มพื้นถนน"

"ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างปั่นรถกลับบ้าน ยังเกิดเหตุการณ์ เกือบนำพาชีวิตจบลงบนท้องถนน อันเนื่องมาจากทุกๆ วัน กว่าจะกลับถึงบ้านค่อนข้างดึก ร่างการอ่อนเพลีย เวลานอนน้อย จึงเกิดอาการที่เรียกว่า หลับใน มาสะดุ้งตื่นเพราะได้ยินเสียงแตรดังมาก คนขับรถเมล์บีบไล่ พร้อมชะโงกหน้าออกมาว่า อยากตายหรือไง ถ้าขับรถอย่างนี้ กลับไปเลี้ยงควายเลยไป ตอนนั้นผมไม่โต้ตอบอะไร เพราะตกใจมาก อีกอย่างคิดว่าดีแล้ว ถ้าเขาไม่บีบแตรไล่ ผมอาจตายก็ได้"

กลับบ้านโดนต่อว่า........มาเป็นลูกเรือประมง

สองเหตุการณ์ซึ่งหนุ่มร่างเล็กวัย 10 กว่าขวบประสบ สรุปได้ว่า อาชีพนี้ ไม่ใช่หนทางของเขา"ขายลูกชิ้นประมาณ 2-3 เดือน เมื่อพิจารณาแล้วว่าทำไม่ได้ จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน แต่แล้วก็โดนชาวบ้านต่อว่า ไปไม่รอด บอกให้เรียนหนังสือไม่เรียน พอทำงานทำไม่ได้ สารพัดจะพูด ในขณะพ่อเดินมาบอกว่า ครูที่เคยสอนหนังสือ เขาจะมารับไปอยู่ด้วย โดยยินดีส่งเสียให้เรียนหนังสือ ซึ่งพ่อกับแม่เห็นด้วย แต่ผมยังอยากทำงานอยู่"

คืนก่อนวันนัดหมายที่คุณครูจะมารับศิษย์ไปศึกษาต่อ คุณพิสิทธิ์ตัดสินใจเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า หนีตามลูกเรือประมง มุ่งหน้าหางานทำอีกครั้ง...

ก้าวลงเรือประมงอวนลากปากน้ำมหาชัย ความหวังกับเงินก้อนใหญ่รออยู่เบื้องหน้า แต่เพียงพ้นฝั่งได้ไม่ไกล คลื่นลมเล่นงาน ก่อเกิดอาการมวนท้อง คลื่นไส้ หลับตาลงครั้งใดเห็นแต่ฝักมะขามลอยเด่น

เวลาผันผ่านนับวันนับเดือน ร่างเล็กแกร็นผอมบางจนผิดหูผิดตา กระทั่งขึ้นฝั่ง บากหน้ากลับบ้านเกิดอีกครั้ง และแล้วประโยคเดิมจากชาวบ้าน หวนกลับกระทบหู

"คราวนี้ ถ้าไม่ได้ดี ไม่ขอกลับบ้านอีกเลย" นี่คือการตั้งปณิธานอันแน่วแน่ของคุณพิสิทธิ์

สองขาก้าวลงเรือลำเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้พกพามากับความมุ่งมั่นตั้งใจ ถึงคราวอาเจียน เวียนหัว นำปณิธานตั้งไว้สอนใจตัวเอง นานวันเข้าเริ่มเคยชินกับคลื่นลม สู้ทนเป็นคนงานลูกเรือประมงเรื่อยมา "มีคนงานคนหนึ่งถามว่า มาออกเรือทำไม ผมตอบกลับไป อยากได้ตังค์ เขาบอกถ้าอยากได้ตังค์มาออกเรือทำไม รู้หรือเปล่าชีวิตบนเรือมันลำบากแค่ไหน ถ้าอยากได้เงิน งานบนฝั่งมีให้ทำเยอะแยะ แต่ถ้าคิดจะออกเรือ ต้องกำหนดเป้าหมาย ต้องรู้ว่าเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่เพราะอยากได้เงิน นี่คือสิ่งที่เขาสอนผม"

หลังสู้ชีวิตอยู่บนเรือนานนับเดือน ส่วนค่าแรงถ้าจะรอเป็นกอบเป็นกำต้องครบปีถึงมีเงินปันผลให้ "ออกเรือครั้งหนึ่ง 30 วัน หรือ 45 วัน พอกลับขึ้นฝั่ง ผมจะได้เงิน 130 บาท เพื่อซื้อข้าวของจำเป็นนำไปใช้ในเรือ แต่พอครบปีจะมีเงินหลักหมื่นจ่ายให้ แต่ระหว่างนั้นผมขอเบิกเพื่อส่งไปให้ครอบครัวบ้าง"

หน้าที่ของคุณพิสิทธิ์ คือคัดแยกปลาติดมากับอวน ตากแดดตากฝนจนแทบไม่มีเวลาแหงนมองท้องฟ้า กลิ่นคาวคละคลุ้งตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า ยอมทนทำไปก่อน พร้อมกับคาดหวัง ตำแหน่งนายท้าย

"ช่วงเวลาคนอื่นนอน ผมจะขันอาสาขอช่วยนายท้ายเรือ ถือหางเสือ เรียนรู้วิธีทำงานจากเขา ฝึกอยู่เช่นนี้สม่ำเสมอ กระทั่งถือหางเสือเก่ง ส่วนเวลากลับเข้าฝั่ง ผมเป็นเด็ก ก็ไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหน รับจ้างพี่ๆ ซักเสื้อผ้า ขัดเรือ พอขากลับก็มีขนมติดมือมาฝาก จึงแทบไม่ต้องใช้เงินตัวเอง"

อำลาตำแหน่ง ไต้ก๋ง..........รับค่าแรงวันละเก้าสิบ

2 ปีล่วงผ่าน นายท้าย คือรางวัลตอบแทนคนขยัน คุณพิสิทธิ์รับตำแหน่งนี้ต่อเนื่องราว 2-3 ปี จึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่จังหวัดปัตตานี เพราะยินเสียงเล่าลือว่า การออกเรือแถบนั้นได้รางวัลเป็นค่าเหนื่อยสูง และที่สำคัญคือประสบการณ์ทำงาน

คุณพิสิทธิ์ ว่า เส้นทางชีวิตผกผันอีกครั้ง ความสามารถนำพาให้ตำแหน่งนายท้ายตกไป พร้อมกับก้าวสู่ "ไต้ก๋ง" แทนที่ ด้วยวัยเพียง 19 ไม่เกิน 20 ปี

ใช้ชีวิตตำแหน่งไต้ก๋งราว 2-3 ปี แต่เส้นทางนี้ ถึงทีต้องอำลา ด้วยปัญหาภัยธรรมชาติ พายุไต้ฝุ่นเกย์ หอบความเสียหาย ผืนน้ำเคยคลาคล่ำด้วยฝูงปลานานาชนิด บัดนี้แร้นแค้นอัตคัด

หันหลังให้ทะเล เดินสู่ฝั่ง จวบจนสมัครเข้ารับตำแหน่งลูกจ้างในบริษัทประกอบตัวถังรถยนต์แห่งหนึ่ง ย่าน ก.ม.12 รับค่าแรงวันละ 90 บาท "นี่คือจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ แม้รายได้คือค่าแรงขั้นต่ำ แต่ผมไม่สนใจ งานสุจริตทำได้ทั้งนั้น"

ทำอยู่นานหลายเดือน จนกระทั่งอ่านเจอประกาศ บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับห้องเย็นของญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการในประเทศไทย เปิดรับสมัครคนงาน

"ตอนนั้นเถ้าแก่ที่เคยให้เรือออกทะเล ตามกลับไปเป็นไต้ก๋งอีกครั้ง ยอมรับว่าอยู่เรือเงินเยอะ แต่ผมตัดสินใจนำวุฒิ ม.3 ก้าวไปสมัครงาน และเพราะอยากทำงานกับเขามาก ตอนถูกเรียกสัมภาษณ์ ผมขอค่าแรงแค่วันละ 70 บาท ขอให้รับผมเข้าทำงาน ซึ่งเขาตกลง แต่ยืนยันให้ค่าแรงตามกฎหมายกำหนดคือวันละ 90 บาท"

เช้าวันแรกเดินเข้าสถานที่ทำงานใหม่ คุณพิสิทธิ์ พบว่า พนักงานต่างกล่าวประโยคหนึ่งกับเจ้าของบริษัท ด้วยภาษาไม่คุ้นหู จึงสะกิดถามพนักงานข้างๆ ว่า คำพูดนั้นคืออะไร เป็นคำกล่าวสวัสดีตอนเช้าด้วยภาษาญี่ปุ่น พนักงานคนนั้นตอบกลับมา

"พนักงานคนดังกล่าวเขาถามผม ไม่มีใครบอกหรือว่าต้องทำอย่างนี้ทุกเช้า จากนั้นผมเริ่มศึกษาภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง โดยช่วงหลังเลิกงานกลับไปห้องเช่าย่านสำโรงใต้ รีบอาบน้ำเข้านอน แล้วตั้งนาฬิกาปลุกเที่ยงคืน เพื่อตื่นมาอ่านหนังสือ เปิดวิทยุเทปเครื่องเก่าๆ ฟังแนบหู พร้อมกับพูดภาษาญี่ปุ่นตาม และที่ต้องเป็นเวลาเที่ยงคืน เพราะตลาดสำโรงเงียบ แต่ปัญหาคือ ผมต้องอ่านและพูดตามเบามาก ไม่เช่นนั้น ห้องข้างๆ เขาจะเอาเท้ากระทุ้งข้างฝา"

ความมุ่งมั่นจริงจัง ส่งผลให้เจ้านายญี่ปุ่นเห็นความตั้งใจ จึงขันอาสาช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นให้ จวบจนคุณพิสิทธิ์ ใช้สำเนียงได้ถูกต้อง สามารถสื่อสาร ชนิดว่ารับหน้าที่เป็นล่ามได้

ไต่ระดับเพราะขยัน........หันสู่ธุรกิจปลาเผาะ

จากความขยัน ส่งผลให้คุณพิสิทธิ์ก้าวสู่ตำแหน่งผู้ควบคุมดูแลงาน ภายใน 2-3 ปี มีเงินเดือนสูงถึง 6,000-7,000 บาท ซึ่งถ้าเทียบวุฒิการศึกษาระดับ ม.3 ถือว่าสูงพอควร

เส้นทางชีวิตส่งผลให้คุณพิสิทธิ์ ย้ายตัวเองเข้าไปทำงานอีกหลายแห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับส่งออกกุ้งแช่แข็ง ประสบการณ์ถือเป็นกำไรอันล้ำค่ามากกว่าเงินทองที่ได้รับ โดยตำแหน่งล่าสุดไต่เต้าจนถึงผู้จัดการฝ่ายผลิต

"ตอนนั้นกลับมามหาชัย เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด ให้บริษัทส่งออกสินค้าประเภทกุ้ง ซึ่งลูกค้าหลักอยู่ในต่างประเทศ กระทั่งวันหนึ่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ ผมต้องมาทำหน้าที่แทน คือเจรจาสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติผ่านทางเมล โดยใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งผมโต้ตอบไม่ได้เลย ในที่สุดลูกค้าหงุดหงิด บอกว่าไปหาคนรู้เรื่องมาคุยกับเขา"

เพียงเท่านี้ คุณพิสิทธิ์กระตือรือร้น เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จองคอร์สเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง แต่ผลการเรียนกับสถาบันสอนภาษา ในมุมมองของคุณพิสิทธิ์ ว่าไม่ดีเท่าเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงกลับมาซื้อหนังสือ เทปสนทนา เปิดฟัง และพูดตาม จนสามารถเจรจากับลูกค้าชาวต่างชาติคล่อง

"ตอนนั้นผมมีโอกาสไปต่างประเทศกับเจ้านายบ่อย มีโอกาสใช้ภาษา ซึ่งผมว่าอย่าไปอาย เพราะขนาดฝรั่งพูดภาษาไทยผิดๆ ถูกๆ เรายังตั้งอกตั้งใจ ชื่นชมในสิ่งที่เขาพยายาม ฝรั่งก็คงเหมือนคนไทยนั่นแหละ เขาต้องรู้จักให้อภัยและยอมรับฟังเราเหมือนกัน"

หลายปีล่วงผ่าน บริษัทซึ่งเคยอาศัยแรงกายแรงใจแลกค่าตอบแทน ไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อได้ เพราะประสบปัญหาด้านการเงิน บัญชี และสต๊อคสินค้า

"เหมือนจังหวะให้มาเจอจุดพลิกผันอีกครั้ง ตอนนั้นผมทำงานกินเงินเดือน 60,000-70,000 บาทแล้ว แต่บริษัทประสบปัญหา ในขณะมีบริษัทของคนจีน เขาต้องการเปิดตลาดค้าขายกุ้งแช่แข็งในสหรัฐอเมริกา จึงติดต่อขอให้ผมเป็นตัวแทนซื้อกุ้งส่งไปให้เขา ภายในปีเดียวผมสามารถทำรายได้กว่า 10 ล้านบาท เมื่อเห็นช่องทางความเติบโต จึงตัดสินใจเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง"

และนี่จึงเป็นที่มาให้คุณพิสิทธิ์ ก้าวสู่เส้นทางธุรกิจปลาเผาะ...

"งานทำให้ผมมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาทุกปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำหลายแห่ง จะมีเนื้อปลาเผาะจำหน่าย สนนราคาค่อนข้างแพง และสังเกตเห็นว่าประเทศส่งปลาชนิดนี้ไปขาย คือ เวียดนาม เป็นเหตุให้สงสัยว่า ทำไมไม่มีชื่อประเทศไทยส่งออกปลาชนิดนี้บ้าง"

เจ็บตัวนับสิบล้าน .......แต่ไม่พาลท้อถอย

ไม่รอช้า หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ คุณพิสิทธิ์ เริ่มต้นศึกษาความเป็นมาของปลาเผาะ (Pangasius bocourti) ซึ่งหากมองผิวเผินลักษณะคล้ายปลาสวาย แต่ส่วนเนื้อในสีขาวสะอาดตา รสอร่อยจนได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศทางแถบยุโรป

หลังสืบค้นผู้เพาะเลี้ยงในประเทศไทย หาผู้ทำจริงจังยากยิ่ง โดยฟังจากหลายปากต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "เลี้ยงยาก อย่าไปยุ่งเลย เพราะถึงอย่างไรไม่สามารถสู้เวียดนามได้" แต่แทนที่คุณพิสิทธิ์จะท้อ กลับมุ่งหน้าศึกษา ทดลอง อย่างเป็นจริงเป็นจัง

"ในเมื่อคนไทยกินข้าวเหมือนคนเวียดนาม แล้วทำไมจะเลี้ยงปลาชนิดนี้ไม่ได้ อีกทั้งเรื่องศักยภาพ กรมประมง แข็งแรงกว่า แต่ผมจะไม่สู้ด้านปริมาณ ขอแข่งส่วนของคุณภาพ ซึ่งหลังศึกษาได้สักพักหนึ่ง จึงติดต่อซื้อพันธุ์ลูกปลาจากเวียดนาม แล้วส่งให้เกษตรกรเลี้ยง โดยผมดูแลเรื่องอาหารและรับซื้อปลาเมื่อถึงคราวจับได้"

ความเสียหายนับสิบล้านบาท เกิดขึ้นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื้อปลาซึ่งวาดหวังว่าจะเป็นสีขาวตามความต้องการของตลาดส่งออก กลับกลายเป็นสีชมพู เกรดปลาจึงตก สนนราคาต่ำ

คุณพิสิทธิ์กลับมานั่งคิดทบทวนหาทางออก ถ้าขืนนำพันธุ์ปลาจากประเทศเวียดนามมาเลี้ยง ซึ่งอายุรับประกันเพียง 7 วัน และไม่อาจประกันสีของปลาได้ ปัญหานี้ย่อมตกหนักกับผู้เลี้ยง

"ตอนนั้นผมบอกกับเจ้าของพันธุ์ปลาว่า คุณรับเงินไปแล้ว แต่ผลออกหัวหรือก้อยไม่รู้ ซึ่งเขาไม่รับผิดชอบ ทีนี้จะให้ผมเลี้ยงไปจุดธูปบอกเจ้าที่เจ้าทางไปพร้อมๆ กันว่า ขอให้เนื้อปลาเป็นสีขาวๆ เจ้าที่ก็ไม่รับธูป เหล้าไห ไก่ตัว ยังไม่รับเลย สรุปคือเลี้ยงกี่ครั้งๆ สุดท้ายกลายเป็นสีชมพู กระทั่งมาพบว่า ต้องหาทางบรีดดิ้ง (ผสมพันธุ์) เอง"

จากศึกษา ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้ผลดังคาดหมาย คุณพิสิทธิ์นำปลาเผาะจากลุ่มน้ำโขง ผสมพันธุ์กับปลาสวายป่า พร้อมกันนั้นตัดสินใจขุดบ่อในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ขนาดบ่อละ 6-8 ไร่ จำนวน 8 บ่อ เพื่อทดลองเลี้ยงด้วยตัวเอง

คุณพิสิทธิ์ ว่า ต้องศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของปลาชนิดนี้ แล้วจึงลงมือสร้างที่อยู่อาศัย อย่างเป็นระบบ โดยขุดเจาะดินลึกลงไป 1 เมตร จากนั้นสร้างคันดินสูงจากพื้น 4 เมตร เท่ากับว่าจะได้บ่อที่มีความลึก 5 เมตร จัดวางระบบท่อ คสล. คุณภาพดี ขนาด 80 เซนติเมตร บริเวณก้นบ่อลักษณะใยแมงมุม เพื่อไว้สำหรับระบายน้ำออก แล้วจึงปล่อยน้ำลงบ่อความสูง 4 เมตร ซึ่งเป็นปริมาณเหมาะกับการเลี้ยงปลาเผาะ

"ก่อนอื่นต้องเรียนรู้ธรรมชาติของปลาชนิดนี้ว่ามีวิถีชีวิตแบบไหน ปลาเผาะชอบอาศัยในน้ำลึก ปริมาณออกซิเจนสูง ส่วนลูกปลาปล่อยลงเลี้ยงกำหนดไม่ให้หนาแน่นเกินไป หรือประมาณ 1-3 แสนตัว ต่อบ่อ ซึ่งพอ 7-8 เดือนผ่านไป ถึงกำหนดจับปลาขาย ปรากฏว่าบ่อขนาด 7 ไร่ สามารถจับปลามาชั่งน้ำหนักได้ราว 200 ตัน โดยตลาดต่างประเทศนิยมปลาเผาะน้ำหนักตัวประมาณ 1 -1.3 กิโลกรัม และที่สำคัญคือ เนื้อปลาเป็นสีขาวตรงตามความต้องการ"

เปิดอาณาจักรบ่อปลา........กับยอดขายกว่าพันล้าน

ผ่านระยะเวลาทดลอง จนได้ผลสำเร็จตามคาดหมาย ในขณะความต้องการของตลาดมีช่องว่างให้ก้าวเข้าไปสร้างรายได้มหาศาล ถึงคราวนี้คุณพิสิทธิ์จึงตัดสินใจ กำเงินก้อน 140 ล้านบาท บวกวงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย 212 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างอาณาจักรฟาร์มปลาเผาะขนาดบ่อละ 6 ไร่ และ 12 ไร่ จำนวน 17 บ่อ บนพื้นที่ 250 ไร่ ในจังหวัดกาฬสินธุ์

คุณพิสิทธิ์ กล่าวถึงเหตุเลือกซื้อที่ดินในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อจัดสร้างบ่อปลา เนื่องจากทำเลดี ใกล้แหล่งน้ำ คือ เขื่อนลำปาว ซึ่งอยู่ห่างไปเพียง 13 กิโลเมตร "แหล่งน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญในการเลี้ยงปลาเผาะ"

และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมประเทศเวียดนาม จึงมีอาณาเขตการเลี้ยงปลาเผาะกว้างใหญ่สุดสายตาจะมองเห็นได้ เพราะมีลำน้ำโขงไหลผ่านนั่นเอง

"การทำธุรกิจนี้เงินทุนส่วนใหญ่หมดไปกับค่าขุดบ่อทำโครงสร้าง เพราะเน้นคุณภาพดี เพื่อใช้ได้นาน อีกทั้งยังได้ทุนส่วนหนึ่งนำมาจัดจ้างนักวิจัย จ้างที่ปรึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์มาช่วยด้านเทคนิคต่างๆ และตอนนี้กำลังรอคำแนะนำจากที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น เรื่องการปลูกผักบุ้งในบ่อปลาอย่างไรไม่ให้น้ำเขียว ฟังแล้วเหมือนเรื่องเล็ก แต่ทุกอย่างต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ อย่าคิดว่าเราเก่งทุกเรื่อง"

ปัจจุบัน ปลาเผาะจาก บริษัท ไทย ปังก้า ฟาร์ม ถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศหลักสหรัฐอเมริกา และเตรียมพร้อมเปิดตลาดในประเทศทางแถบยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา โดยราคาขายเนื้อปลาสด 8.5 เหรียญ ต่อกิโลกรัม ถือว่าสูงกว่าประเทศเวียดนาม หรือถ้าจะให้สรุปยอดขายต่อปีราว 1,400 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัท ไทย ปังก้า ฟาร์ม ถือเป็นแหล่งผลิตใหญ่ในประเทศไทย ที่สามารถเพาะเลี้ยงส่งขายนำเงินเข้าประเทศนับพันล้านบาท แต่ทั้งนี้ คุณพิสิทธิ์ ว่า หากโอกาสและเงินในกระเป๋าเอื้ออำนวย พร้อมขยับขยายอาณาเขตเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าแม้มีพื้นที่เลี้ยง 1,000 ไร่ ก็ไม่อาจรองรับความต้องการของตลาดได้หมด

ไม่เพียงเท่านั้น คุณพิสิทธิ์ยังเตรียมความพร้อมพัฒนาการเพาะเลี้ยงสู่ระบบออร์แกนิก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายสูงถึง 3 เท่าตัว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการนำเข้าอาหารปลาออร์แกนิกจากกรมประมง

"ผมบอกตัวเองเสมอว่า ก่อนทำอะไรต้องศึกษา อย่าทำตามแฟชั่น ต้องออกมาจากใจ รักและซื่อสัตย์ ทั้งกับลูกค้า พนักงาน หรือแม้แต่ส่วนรวม ตรงไปตรงมา สำคัญคือ อ่อนน้อมมีสัมมาคารวะ และการที่ผมก้าวมายืนจุดนี้ได้ ซึ่งผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมี เพียงแต่ที่ผ่านมาบอกกับตัวเอง เวลาทำงานต้องทำด้วยใจ อย่าเรียกร้องเงิน ซึ่งทุกอย่างที่ทำไว้ในอดีต กลับมาตอบแทนผมแล้วในวันนี้"

นั่งฟังคุณพิสิทธิ์เล่าเรื่องราวจังหวะการก้าวเดิน จากเด็กชายตัวเล็กๆ เร่ขายลูกชิ้นทอดไปตามทาง เพื่อแลกค่าแรงวันละไม่กี่สิบบาท จนถึงวันนี้ คุณพิสิทธิ์ กลายเป็นเจ้าของอาณาจักรฟาร์มปลาเผาะขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าตัวเลขส่งออกกว่าพันล้านบาท

เพียงคำถามเดียวสงสัย อะไรคือแรงผลัก ให้ต้องอดทนมาจนมีวันนี้...?

ดวงตาสดใสส่องประกายความเศร้า น้ำใสๆ เอ่อคลอสองเบ้าตา หนักล้นจนทำนบกั้นไว้ไม่อยู่ น้ำตาลูกผู้ชายร่วงสู่ร่องแก้ม พร้อมเสียงตอบสั่นเครือ

เพราะความจน...

นี่คือชีวิตจริงของผู้ชายคนนี้ พิสิทธิ์ หล้าสุดตา ชีวิตที่เคยถูกชี้หน้าด่าว่า ไอ้ลาว แต่เขากลับไม่แม้แต่จะโต้เถียง เพราะนี่คือความจริงที่มิอาจกำหนดการเกิดได้ แต่เขาเลือกจะสร้างชีวิต สร้างอาชีพ ให้กับตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องงอนง้อขอร้องโชคชะตา

สำหรับผู้สนใจชมอาณาจักรฟาร์มปลาเผาะ หรือสั่งซื้อไปจำหน่าย ซึ่งขณะนี้ บริษัท ไทย ปังก้า ฟาร์ม จำกัด เตรียมความพร้อมเปิดตลาดในประเทศ ติดต่อได้ เลขที่ 14 หมู่ 21 บ้านโคกก่อง ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โทรศัพท์ (043) 814-144-7, (086) 459-9747 หรือคลิก www.thaipanga.com

ที่มา : เส้นทางทำกิน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 9:50 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

‘เครื่องดื่มสมุนไพร’ ...... ‘ผงสำเร็จรูป ยังขายได้

แนวคิดเรื่องการแปรรูปอาหารหรือถนอมอาหารนั้นมีหลายแบบหลายประเภท ซึ่งในยามหน้าร้อนแบบนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีหนึ่งแนวคิดมานำเสนอ เป็นเรื่องของการทำ “เครื่องดื่มสมุนไพรแบบผงสำเร็จรูป” ซึ่งก็เป็นอีกแนวคิดที่นำมาซึ่งการสร้างหรือต่อยอดอาชีพ ที่น่าพิจารณา...

ศักดิ์ชัย โชติชัชวาล ประธานกลุ่มอาชีพเครื่องสมุนไพร “โพธิ์ทอง” ย่าน จ.สมุทรปราการ เล่าว่า ทางกลุ่มผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรมาตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจากคุณพ่อเป็นซินแสซึ่งมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวเรื่องยาจีน ซึ่งก่อนหน้านั้นตนไม่ได้ทำเครื่องดื่มสมุนไพรมาก่อน แต่ทำธุรกิจขายไอศกรีม และเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก การค้าขายเงียบเหงามาก จึงจำเป็นต้องหาอาชีพอื่นมาเสริม

“ด้วยความที่คุณพ่อมีตำราจีนอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาหม้อแทบทั้งสิ้น อาทิ เกสรทั้ง 9, ฟ้าทลายโจร ซึ่งก็ได้ทดลองทำจากยาหม้อมาเป็นเครื่องดื่มผงแบบชงสำเร็จรูป ก็ขายได้ในระยะแรก ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเปลี่ยนรูปแบบสินค้าใหม่ ทำเครื่องดื่มสมุนไพรแบบทั่ว ๆ ไป อาทิ เก๊กฮวย ขิง มะตูม ดอกคำฝอย หล่อฮั้งก้วย เห็ดหลินจือ ซึ่งกว่าจะลงตัวในปัจจุบันนั้น ก็ลองผิดลองถูกมามาก กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ใช้เวลาระยะหนึ่งเช่นกัน”

หลักการทำเครื่องดื่มชงสมุนไพรนั้น ศักดิ์ชัยเล่าว่า ไม่ยากเลย ซึ่งตนก็ทดลองทำทุกแบบทุกสไตล์แล้ว แต่การทำให้ได้คุณภาพและได้ราคาที่สามารถแข่งขันในท้องตลาดนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณภาพเครื่องจักรสำคัญมาก หากใครที่มีความสามารถที่จะลงทุนได้ ก็ต้องลงทุน แต่ถ้าจะทำขายแบบพื้นฐาน ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป

ศักดิ์ชัยอธิบาย ว่า การทำเครื่องดื่มชงสมุนไพรสำเร็จรูปแบบผงนั้นถ้าไม่มีหรือไม่ใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นเครื่องจักรราคาสูง อุปกรณ์หลัก ๆ ได้แก่ หม้อต้มน้ำ, กระทะ, เตาแก๊ส ส่วนวิธีทำนั้น หากเป็น ขิงผง ต้องใช้ขิงปริมาณ 1.5 กก. ปั่นเอาน้ำ ไม่เอากาก จากนั้นผสมกับน้ำตาล สำหรับสัดส่วนปริมาณนั้น ก็ตามแต่สูตร

หากเป็นสูตรแบบชาวบ้าน ใช้น้ำขิง 1 กก. ต่อน้ำตาลทราย 2 กก. เคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งตกผลึกเป็นผง ซึ่งขิงผงที่ออกมานั้นได้เท่ากับจำนวนน้ำตาล เพราะน้ำตาลเป็นสารที่ตกผลึก ส่วนน้ำขิงนั้นจะถูกเคี่ยวผสมให้เข้ากับน้ำตาลจนงวดไป จากนั้นก็จะเข้ากระบวนการตากแดดให้แห้ง และเข้าตู้อบ แล้วใส่บรรจุภัณฑ์

เช่นเดียวกับ มะตูมผง, เก๊กฮวยผง, หล่อฮั้งก้วยผง ที่จะต้องต้มน้ำสมุนไพรแต่ละอย่างให้เรียบร้อยเสียก่อน ก่อนที่จะนำไปเคี่ยวกับน้ำตาลในกระทะให้แห้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ต้องการจะผ่านขั้นตอนการเคี่ยวให้ตกผลึก รวมไปถึงขั้นตอนการตากแดด และเข้าตู้อบให้แห้ง จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ ซึ่งต้องใช้ความร้อนสูง ดูดน้ำสมุนไพร แล้วพ่นลงในถัง ซึ่งเมื่อเจอไอร้อนน้ำสมุนไพรจะร่วงเป็นผง ซึ่งพร้อมบรรจุได้เลย อุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาสูง ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ และกำลังในการลงทุนอุปกรณ์ว่ามีมากน้อยเพียงใด

ส่วนปริมาณในบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรแบบผง คือ 15 กรัมต่อซอง บรรจุกล่อง กล่องละ15 ซอง ขายกล่องละ 65-100 บาท (ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ) ส่วนกำไรต่อกล่องหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ประมาณ 7-10 บาทขึ้นไป

นอกจากเครื่องดื่มสมุนไพรผง กลุ่มนี้ยังทำ หมี่กรอบ 3 รส บรรจุใส่ถุงพลาสติกคล้ายขนมอบกรอบ ซึ่งศักดิ์ชัยอธิบายว่า ก็คือหมี่กรอบทั่ว ๆ ไป แต่ทำให้ทานง่าย สะดวกขึ้น โดยทางกลุ่มได้ออกแบบเครื่องหั่นหมี่ให้เป็นชิ้น ๆ เป็นแท่ง ๆ มีขนาดยาวพอคำ รวมไปถึงการปรับปรุงรสชาติ เช่น การใช้น้ำมะนาวแทนน้ำมะขามเปียก ใส่ไข่ไก่เพิ่มเติม ซึ่งการลงทุนในอุปกรณ์นี้ ประมาณ 100,000 บาท หรืออาจจะใช้ใช้วิธีหั่นมือก็ได้

“จุดเริ่มต้นตรงนี้เกิดมาจากการไปออกบูธขายในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีแต่วัยรุ่นแทบทั้งสิ้น ส่วนเครื่องดื่มสมุนไพรผงนั้นไม่มีคนสนใจ ดังนั้นจึงเกิดแรงบันดาลใจว่าจะทำขนมซึ่งเป็นของว่างแบบไทย ๆ แต่ถูกใจวัยรุ่น ซึ่งหมี่กรอบนั้นมีสูตรอยู่แล้ว จึงนำมาปรับปรุงให้เป็นขนม ให้ทานง่าย”

สูตรหมี่กรอบนั้น หมี่กรอบ 3 รส ปริมาณ 100 กรัม ประกอบไปด้วย เส้นหมี่ 30% ไข่ไก่ 15% หอมหัวใหญ่ 13% น้ำมันปาล์ม 9% น้ำตาลทราย 9% ซอสพริก 8% น้ำมะนาว7% ขายในราคากล่องละ 35 บาท 3 กล่อง 100 บาท ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะได้กำไรประมาณ 15-20 บาท

สนใจ “เครื่องดื่มสมุนไพรแบบผงสำเร็จรูป” และหมี่กรอบ 3 รสรูปแบบใหม่ ของกลุ่มอาชีพเครื่องสมุนไพร ติดต่อศักดิ์ชัย โชติชัชวาล ประธานกลุ่ม ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1816-9904 และ 0-2749-2249.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน


ที่มา : เดลินิวส์
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 9:57 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ห้ามไม่ฟัง แห่ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 กรมชลฯ
งัดไม้แข็ง ริบเครื่องสูบน้ำ ปล่อยน้ำนอนคลอง


ตัวเลขปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 พุ่งไม่หยุด หลังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลชาวนายอมรับความเสี่ยง หันกลับมาปลูกข้าวนาปรังกันอีก ด้านกรมชลประทานเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่เตรียมยึดเครื่องสูบน้ำที่ให้ชาวนาภาคกลางยืมใช้กลับมาทั้งหมด เพื่อสกัดการขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 พร้อมลดการจัดสรรน้ำจาก 3 เขื่อนใหญ่ลงเรื่อย ๆ ให้เหลือเพียงน้ำนอนคลองวันละ 20 ล้าน ลบ.ม.

นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษา เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ปลูกข้าวนาปรังรอบแรกกำลังอยู่ระหว่างทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้มีความต้องการใช้น้ำน้อยลง จึงปรับลดตัวเลขการจัดสรรน้ำจากเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ และแควน้ำเหลือเพียงวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. และจะทยอยปรับตัวเลขการจัดสรรน้ำลดลงเรื่อย ๆ เหลือเพียงวันละ 20 ล้าน ลบ.ม.ในเดือนพฤษภาคม ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนในสัดส่วนที่น้อยลง จะทำให้เกษตรกรตัดสินใจปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ลดลงไปด้วย

แต่ปรากฏว่า ช่วงที่ผ่านมามีความกดอากาศสูงจากทะเลจีนใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้เกิดพายุฝนฤดูร้อนตกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นทำให้ชาวนาเขตลุ่มเจ้าพระยาบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ได้แก่พิจิตร, พิษณุโลก, นครสวรรค์, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ กลับมาตัดสินใจเสี่ยงที่จะทำนาปรังรอบ 2 โดยอาศัยน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวเลขพื้นที่ปลูกนาปรังในเขตชลประทานขณะนี้กว่า 325,568 ไร่ ส่วนนอกเขตชลประทานก็ปลูกนาปรังรอบ 2 ไปแล้วหลายแสนไร่เช่นเดียวกัน

นายวีระกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมชลประทานจ่ายน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานในลักษณะน้ำนอนคลอง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก แต่พบว่าเกษตรกรจำนวนมากได้นำเครื่องสูบน้ำที่ กรมชลประทานให้ยืมใช้สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบแรก มาใช้สูบน้ำสำหรับปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกรมชลประทานที่ต้องการให้หยุดการทำนาปรังรอบ 2 มา โดยตลอด ดังนั้นในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ กรมชลประทานจะเรียกเก็บเครื่องสูบน้ำจำนวน 178 เครื่องจากเกษตรกรในภาคกลางทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรนำไปใช้ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ได้อีกต่อไป

ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552-มีนาคม 2553 พบว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายไปแล้วประมาณ 223,546 ไร่ ส่วนใหญ่เป็น ข้าวนาปรัง ที่อยู่นอกเขตชลประทานรวม 11,205 ไร่, พืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง-ข้าวโพดรุ่น 2-ถั่วลิสง-อ้อยโรงงาน-มันสำปะหลัง และข้าวโพดหวานรวม 8,736 ไร่, พืชสวน 2,605 ไร่ ส่วนปศุสัตว์มีพื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด คือจังหวัดลำปาง, สุโขทัย และตรัง สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ คือโค-กระบือ จำนวน 3,783 ตัว

สศก.ได้ประเมินผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (GDP) โดยใช้ตัวเลขความเสียหายคูณด้วยผลผลิตเฉลี่ยของแต่ละสินค้าและคูณด้วยราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ พบว่าพื้นที่การเกษตรที่ประสบความเสียหาย จำนวน 22,546 ไร่ ทำให้มูลค่าของการผลิตทางการเกษตรลดลงประมาณ 198 ล้านบาท และ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจการเกษตรลดลงประมาณ 0.02%

นายอภิชาตกล่าวว่า พื้นที่การเกษตรที่ประสบความเสียหาย แยกเป็นพื้นที่นาปรัง 11,205 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 70,881,665 บาท ส่วนพืชไร่ที่เสียหายมากที่สุดคือข้าวโพด 8,736 ไร่ มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 34,098,906 บาท พืชสวนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือมะม่วง 2,605 ไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 27,717,200 บาท ปศุสัตว์ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือกลุ่มโคและกระบือ 3,783 ตัว มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 65,374,023 บาท

เนื่องจากการทำนาปรังมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุด กระทรวงเกษตรฯจึงพยายามรณรงค์ขอความร่วมมือชาวนางดการทำนาปรังรอบที่ 2 อย่าง ต่อเนื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรยอมเสี่ยงปลูกข้าวนาปรังถึง 15.7 ล้านไร่ หรือมากกว่าแผนที่กำหนดไว้คือ 9.5-12.5 ล้านไร่

ล่าสุด กระทรวงเกษตรฯกำลังเร่งจัดระบบการทำนาปรังใหม่ โดยใช้มาตรการกึ่งบังคับด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำและไม่ให้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ของภาครัฐมาใช้ควบคุมปริมาณพื้นที่การปลูกนาปรังในอนาคต โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรงดการทำนาปรังในช่วงที่ขาดแคลนน้ำและหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน หรือพักดินเอาไว้ระยะหนึ่ง เพื่อตัดวงจรของการแพร่ระบาดของโรคพืชอีกด้วย


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 18/04/2010 10:00 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 9:59 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

กรมน้ำเร่งทำแผนระยะยาว สร้างเครือข่ายโยงใยน้ำทั่ว ปท.

กรมทรัพยากรน้ำระบุปี 2553 แล้งหนักกว่าปี 2548 ระดมหน่วยงานแก้ปัญหา เร่งด่วน ทั้งจัดสรรรถบรรทุกน้ำ/แจก น้ำดื่ม/เจาะบ่อบาดาล/ทำฝนหลวง รวมแผนระยะกลาง ฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่วประเทศเพื่อหาน้ำต้นทุน พร้อมวางแผนระยะยาว 15 โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำทั่วประเทศ งบประมาณกว่า 5,300 ล้านบาท แต่ถูก ครม.ตีกลับมาทบทวนรายละเอียดในพื้นที่ดำเนินการซับซ้อนอีกครั้งหนึ่ง

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์น้ำของประเทศไทยปัจจุบัน (ณ 5 เมษายน 2553) ปรากฏฝนตกเฉลี่ยทั่วประเทศ 8.8 มิลลิเมตร อยู่ในเกณฑ์เล็กน้อย สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อย เฉลี่ย 57% ของความจุเก็บกัก สภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศพื้นที่ ประสบภัยแล้งทั้งสิ้น จำนวน 60 จังหวัด 464 อำเภอ 3,007 ตำบล 24,263 หมู่บ้าน ประชาชนที่ประสบภัยกว่า 7.4 ล้านคน กว่า 2.01 ล้านครัวเรือน

ขณะนี้คณะอนุกรรมการได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ แจกน้ำดื่ม 200,000 ลิตร จัดรถบรรทุกน้ำ 19 คัน เครื่องสูบน้ำ 141 ชุด จัดรถประปาสนาม 12 คัน, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล แจกจุดจ่ายน้ำถาวร 100 แห่ง จำนวน 74 ล้านลิตร ล้างบ่อบาดาล 33 บ่อ แจกน้ำดื่ม 144,890 ขวด จัดหาแหล่งน้ำบาดาลให้กับโรงเรียนและหมู่บ้านภัยแล้ง ทั่วประเทศ 1,049 บ่อ, กรมชลประทาน สูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้ง 40 จังหวัด รถบรรทุกน้ำ 17 คัน แผนจัดสรรน้ำ ทั้งประเทศ 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตร, การประปาส่วนภูมิภาค สนับสนุนน้ำดื่ม 136.4 ล้านลิตร และสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการ 36 วัน จำนวน 621 เที่ยว ใน 41 จังหวัด เป็นต้น

"ภาวะภัยแล้งในปี 2548 ที่คิดว่ารุนแรงแล้ว แต่เมื่อเทียบกับปี 2553 ถือว่ารุนแรงมากกว่าในปี 2548 ประกาศจังหวัดที่ประสบภัยแล้งหนักมีจำนวน 42 จังหวัด แต่ปี 2553 ขณะนี้ตัวเลขไปอยู่ที่ 60 จังหวัดแล้ว ซึ่งหน่วยงานราชการก็พยายามแก้ปัญหาบรรเทาภัยแล้งในปีนี้ให้ลดลง ทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน ที่มีอยู่" นายเกษมสันต์กล่าว

สำหรับกรมทรัพยากรน้ำ นอกจากแผนการดำเนินการเร่งด่วนข้างต้นแล้ว ยังได้มีการจัดทำแผนระยะกลางและระยะยาวไว้ด้วย กล่าวคือ แผนระยะกลาง อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการเข้มแข็งปี 2553 มีทั้งสิ้น 5 โครงการ งบประมาณ 8,090 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูปรับปรุงแหล่งน้ำ 1,757 โครงการ งบประมาณ 4,796 ล้านบาท 2) ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างแหล่งน้ำถ่ายโอนภารกิจการจัดการให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 598 โครงการ งบประมาณ 2,552 ล้านบาท

3) อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ ลุ่มน้ำ 4 โครงการ ได้แก่บึงกิ่ว จังหวัดร้อยเอ็ด, หนองค้าน จังหวัดตราด, หนองแขมหลวง จังหวัดลำปาง และ ทุ่งกระเต็น จังหวัดบุรีรัมย์ งบประมาณ 158 ล้านบาท 4) การติดตั้งระบบเตือนภัย ล่วงหน้า (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยดินถล่ม จำนวน 134 โครงการ งบประมาณ 70 ล้านบาท และ 5) อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 26 โครงการ งบประมาณ 238 ล้านบาท และ 6) การพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภคใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 125 โครงการ งบประมาณ 275 ล้านบาท

ส่วนแผนดำเนินการระยะยาว ได้แก่โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการปี 2553-2555 เชื่อมโยงเครือข่ายน้ำทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทานที่จะต้องจัดหาน้ำและพัฒนาระบบกระจายน้ำอีก 90.70 ล้านไร่ จำนวน 15 โครงการ งบประมาณ 5,389 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1) โครงการระบบเครือข่าย 19 พื้นที่ 940 ล้านบาท 2) โครงการระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำที่ก่อสร้างไว้แล้ว 72 ล้านบาท 3) โครงการระบบเครือข่ายห้วยหลวง-ลำปาว-ชี ระยะที่ 1 630 ล้านบาท

4) โครงการระบบเครือข่ายปากชม- ลำพะเนียง-ชี 965 ล้านบาท 5) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำระยะที่ 1 480 ล้านบาท 6) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำระยะที่ 2 596 ล้านบาท 7) โครงการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างด้านแหล่งน้ำ 96 ล้านบาท Cool โครงการระบบเครือข่ายยวมตอนล่าง-ภูมิพล 374 ล้านบาท

9) โครงการระบบเครือข่ายน้ำสตึงนัม-ประแสร์ 432 ล้านบาท 10) โครงการระบบเครือข่ายลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ตะวันตก 84 ล้านบาท 11) โครงการระบบเครือข่ายเมย-ภูมิพล 381 ล้านบาท 12) โครงการระบบเครือข่ายน้ำภูมิพล-กำแพงเพชร 112 ล้านบาท

13) โครงการระบบเครือข่ายน้ำนครสวรรค์-อุทัยธานี 55 ล้านบาท 14) โครงการระบบเครือข่ายน้ำแม่สาย-กก-ยม 99 ล้านบาท และ 15) โครงการระบบเครือข่ายน้ำกก-ปิง 76 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 แล้ว แต่ ครม.เห็นว่า การดำเนินการในบางพื้นที่ยังมีความซับซ้อนกันอยู่ ดังนั้น จึงให้กลับมาทบทวนปรับปรุงรายละเอียด เพื่อนำเสนอ ครม.อีกครั้ง

"บทบาทหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำ หลัก ๆ ก็คือการจัดหาแหล่งน้ำให้ เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนทั้งภายในและต่างประเทศ, การบริหารจัดการความต้องการน้ำ กำหนดเขตเศรษฐกิจ เลือกปลูกพืชตามต้องการของตลาดเพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการบริหารโครงการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของแหล่งน้ำขนาดเล็กที่แยกออกจากแหล่งน้ำของกรมชลประทาน โดยกรมทรัพยากรน้ำจะดูแลแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทาน ให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตรเป็นสำคัญ"


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 10:05 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ดวงกมล

สเปรย์หอมปรับอากาศ ยูคาลิปตัส ทำใช้เองได้ น่าลองทำขาย

"กรณีคิดจะทำขาย เท่าที่เคยแนะนำลูกศิษย์ มี 2 รูปแบบ คือ ขายปลีก และขายส่ง หากเป็นขายปลีก ควรจะพิถีพิถันเรื่องบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการทำฉลากบอก วันเดือนปีที่ผลิต สถานที่ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ให้ชัดเจน ส่วนราคาขายกำหนดให้สอดคล้องกับค่าวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าสถานที่จำหน่าย โดยทั่วไปตามท้องตลาด มักบวกกำไรเพิ่มอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์"

วิธีขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และบรรดากลิ่นเหม็นอับ ที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วที่สุดคือ ซื้อสเปรย์ปรับอากาศที่วางขายตามท้องตลาดมาฉีด เพราะนอกจากช่วยปรับอากาศให้บริสุทธิ์ สดชื่น บางสูตร มีน้ำมันยูคาลิปตัส ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจนในอากาศ จะเกิดเป็นก๊าซโอโซน ส่งผลให้ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อีกทั้งการสูดดมกลิ่นของยูคาลิปตัส จะช่วยบรรเทาอาการหวัด ฉะนั้น ทั้งชายและหญิง ต่างยินดียอมจ่ายเงินซื้อ

คอลัมน์ ก้าวแรกเศรษฐี ฉบับนี้มีข้อมูล ขั้นตอนลงมือทำ และแนะนำแหล่งจำหน่ายวัสดุ-อุปกรณ์ ของ "ผลิตภัณฑ์สเปรย์หอมปรับอากาศ ยูคาลิปตัสเอสเซนเชียล" มาฝาก โดยผู้ที่มาให้รายละเอียดคือ อาจารย์ลดารัตน์ พงศ์พินิจกุล หรือ อาจารย์น้อย ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาชีพ ภายใต้กลุ่มงานส่งเสริมอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กองส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร หากใครสนใจลองทำไว้ใช้เอง หรือทำขายก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยสร้างรายได้

ก่อนอื่นต้องบอกว่าสูตร "สเปรย์หอมปรับอากาศ ยูคาลิปตัสเอสเซนเชียล" ที่นำมาเผยแพร่ มั่นใจได้ว่าไม่เป็นอันตราย เพราะส่วนผสมทุกอย่างมีคุณภาพ ซ้ำผ่านการสอนลูกศิษย์มาแล้วหลายรุ่น

เริ่มต้น อาจารย์น้อย บอกส่วนผสมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า ประกอบไปด้วย "เมนทอล" หรือเกล็ดสะระแหน่ ลักษณะเป็นผลึก หรือเกล็ดสีขาว "การบูร" เป็นผงสีขาวใส เงาๆ "พิมเสน" ลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ สีขาวขุ่น "เอทิลแอลกอฮอล์" เป็นน้ำใส มีกลิ่นฉุน และ "ยูคาลิปตัสเอสเซนเชียล" หรือน้ำมันหอมระเหย โดยทั่วไปตามท้องตลาด จะมีจำหน่าย 2 รูปแบบ คือ แบบสังเคราะห์ และแบบธรรมชาติ ให้เลือกซื้อที่ทำจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย

สำหรับปริมาณส่วนผสมที่ใช้ในสูตร อาจารย์น้อย ระบุว่า เมนทอลจะใส่ 100 กรัม การบูรใส่ 60 กรัม พิมเสน 40 กรัม เอทิลแอลกอฮอล์ 600 กรัม ยูคาลิปตัสเอสเซนเชียล 4 ออนซ์ ส่วนผสมทั้งหมดหาซื้อได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์ อายุการใช้งานของแต่ละส่วนผสมนาน 3 ปี แต่หากผลิตเป็นสเปรย์หอมปรับอากาศ จะเก็บใช้งานได้เพียง 1 ปี

อัตราส่วนผสมที่ระบุไป เมื่อผ่านกรรมวิธีการทำแล้ว จะได้สเปรย์หอมปรับอากาศ ประมาณ 900 กรัม แบ่งบรรจุขวดแก้ว ขนาด 85 กรัม ได้ 11 ขวด ส่วนราคาขึ้นอยู่กับปริมาณที่ซื้อแต่ละครั้ง เช่น เมนทอล ราคากิโลกรัมละ 700 บาท การบูร เฉลี่ยกิโลกรัมละ 200 บาท พิมเสน กิโลกรัมละ 500 บาท เอทิลแอลกอฮอล์ กิโลกรัมละ 100 บาท และยูคาลิปตัสเอสเซนเชียล ออนซ์ละ 37 บาท ซึ่งคำนวณคร่าวๆ เฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ ไม่รวมค่าการตลาด เช่น ฉลากยี่ห้อ งบโฆษณา สถานที่วางขาย 1 ขวด ขนาด 85 กรัม จะประมาณ 75 บาท

สำหรับภาชนะบรรจุ แนะนำเป็นขวดแก้ว เพราะนอกจากจะช่วยเก็บรักษาประสิทธิภาพทางยา เช่น กลิ่น สี สรรพคุณ ได้อย่างครบถ้วน ยังเป็นการเพิ่มมูลค่า แต่ข้อเสียคือ น้ำหนักมากพกพาไม่สะดวก แต่กรณีคิดจะทำขาย เท่าที่เคยแนะนำลูกศิษย์ มี 2 รูปแบบ คือ ขายปลีก และขายส่ง หากเป็นขายปลีก ควรจะพิถีพิถันเรื่องบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการทำฉลากบอก วันเดือนปีที่ผลิต สถานที่ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ให้ชัดเจน ส่วนราคาขายกำหนดให้สอดคล้องกับค่าวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าสถานที่จำหน่าย โดยทั่วไปตามท้องตลาด มักบวกกำไรเพิ่มอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์

ถามถึงข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามีสิ่งใดบ้าง ได้ความว่า ส่วนผสม "เอทิลแอลกอฮอล์" ก่อนใช้ควรเขย่าขวด และเปิดฝา ทิ้งไว้นาน 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ เพื่อให้สเปรย์ปรับอากาศไม่มีกลิ่นฉุน

ทว่าเนื่องจากตามท้องตลาด มีผลิตภัณฑ์สเปรย์หอมปรับอากาศ วางจำหน่ายกันมาก เท่ากับว่าการแข่งขันสูง ฐานะผู้ขายหน้าใหม่ จะใช้กลยุทธ์ใดเรียกลูกค้า อาจารย์น้อย แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันรูปแบบการขายมีมากมาย ทั้งขายส่ง ขายปลีก ขายตรง ฝากขาย ซึ่งมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป อยากให้ผู้ประกอบการเลือกใช้วิธีที่ถนัด ทว่าเบื้องต้นไม่แนะนำให้ขายราคาถูกมาก หรือสูงมากเกินไป เพราะจะดูไม่น่าเชื่อถือ ซ้ำบางคนมีค่านิยมซื้อสินค้ามียี่ห้อ ฉะนั้น ถ้าอยากได้ลูกค้า ให้พิถีพิถัน เลือกบรรจุภัณฑ์สวยงาม ราคาที่สมเหตุสมผล และคุณภาพดี เชื่อว่าลักษณะนิสัยของคนไทยมักจะบอกต่อๆ กันเอง

ข้อมูลที่ระบุมาข้างต้น คงพอใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้บ้าง แต่ก่อนไป อาจารย์น้อย ทิ้งท้ายไว้ ด้วยสูตร และขั้นตอนการทำ หากใครสงสัย หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่ออาจารย์น้อย ได้ที่ โทรศัพท์ (089) 018-1960, (089) 091-9039

ส่วนผสม
1. เมนทอล 100 กรัม
2. การบูร 60 กรัม
3. พิมเสน 40 กรัม
4. เอทิลแอลกอฮอล์ 600 กรัม
5. ยูคาลิปตัสเอสเซนเชียล 4 ออนซ์

วิธีทำ
1. นำพิมเสนกับแอลกอฮอล์ผสมกันแล้วคนให้พิมเสนละลาย
2. เมื่อพิมเสนละลายดีแล้วนำการบูรลงผสม แล้วคนให้การบูรละลาย เสร็จนำเมนทอลลงผสมแล้วคนให้เมนทอลละลาย
3. นำยูคาลิปตัสเอสเซนเชียลลงผสมแล้วคนให้เข้ากัน เสร็จบรรจุภาชนะ

* ภาชนะที่บรรจุ ควรจะเป็นแก้วมีหัวฉีดสเปรย์

คุณสมบัติหรือสรรพคุณของยูคาลิปตัสเอสเซนเชียล
1. ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเริ่มรู้สึกจะเป็นหวัด
2. ช่วยลดอาการปวดศีรษะ ไมเกรน ภูมิแพ้ หอบ หืด
3. สามารถช่วยขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ให้หมดไปและให้ความสดชื่นเข้ามาแทนที่

วิธีใช้
ใช้ได้ทั้งในอาคารบ้านเรือนและในรถยนต์ ฉีดให้ทั่วๆ บริเวณที่ต้องการ ให้อากาศบริสุทธิ์จะทำให้หอมสดชื่น


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 5:42 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เวทีสาธารณะนโยบายน้ำ ...... แผนรับมืออีก 20 ปี เกิดสงครามแย่งน้ำ

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในระยะ 20 ปีข้างหน้าอาจมีเงื่อนไข ที่ทำให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำได้แก่ ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีในปัจจุบันสามารถ ตอบสนองความต้องการใช้น้ำได้ประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้และจำนวนประชากร และการเปลี่ยนสภาพสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยน ประเด็นต่อมาเรื่องวิกฤติพืชอาหารและพืชพลังงาน ส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรน้ำในการเพาะปลูก

ประกอบกับข้อมูลของกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คาดการณ์ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนโดยรวมในทศวรรษหน้าจะเพิ่มขึ้น ฤดูกาลจะเปลี่ยนไป แต่จะมีสภาวะความรุนแรงในรูปแบบภาวะน้ำขาด และภาวะน้ำเกินที่รุนแรงมากขึ้น คาดว่าเมื่อวันนั้นมาถึงความขัดแย้งจะมีมากขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงและการกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยยุทธวิธี คือคนในพื้นที่เป็นผู้นำข้อมูลจากพื้นที่มาใช้ในการตัดสินใจจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน รวมไปถึงการใช้ข้อมูลชุดเดียวกันนี้เพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบายด้วย เป็นแนวคิด “จากพื้นที่สู่นโยบาย” ที่ต้องการเห็นการผสมผสานตั้งแต่ระดับจังหวัด ลุ่มน้ำ และประเทศ แบบเชื่อมโยงกัน

ในโอกาสสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยา กรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลกที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำเป็นองค์หลักจัดประชุมวิชาการขึ้น สกว.จึงร่วมจัดประชุมเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ ครั้งที่ 1 ขึ้น นำเสนอกรณีตัวอย่างของการจัดการน้ำจากพื้นที่สู่ระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย

อบต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นตำบลตัวอย่างของ สกว. ที่มีการจัดการน้ำโดยชุมชนเอง สฤษดิ์ เรียมทอง รองนายก อบต.ตะพง กล่าวว่า ในพื้นที่ของ อบต.ตะพง ประสบปัญหาเรื่องน้ำครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี โดยทาง อบต. ได้ส่งเสริมให้เกิดการนำระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำจัดทำบัญชีน้ำในพื้นที่ตำบล จัดทำแผนที่แสดงตำแหน่งประปาหมู่บ้านและแหล่งน้ำในพื้นที่ แผนที่ท่อประปาหมู่บ้านในเขตตำบล

ขณะที่ปัญหาของพื้นที่ใน ต.บางระกำ จ.นครปฐม ประสบปัญหาว่าท่อประปาและหอถังน้ำของชุมชนเสื่อมคุณภาพเนื่องจากมีการก่อสร้างตั้งแต่ยังเป็นสภาตำบล ระหว่างการส่งจ่ายน้ำ สูญเสียน้ำระหว่างทาง ประกอบกับชุมชนขยายตัวมากขึ้นอยู่ห่างกัน มีน้ำไม่เพียงพอ สำหรับวิธีการแก้ปัญหาของ อบต.บางระกำ สมเกียรติ สุนทรอำไพ สมาชิก อบต.บางระกำ กล่าวว่า ได้แก้ไขปัญหาด้วยการจัดสร้างหอถังน้ำเพิ่ม เพื่อจ่ายให้เพียงพอกับชุมชนที่อยู่ห่างไกล และสร้างจิตสำนึกด้านการใช้น้ำ ด้วยการจัดระบบการใช้น้ำแบบอัตรา ก้าวหน้า ยกตัวอย่างเช่น ใช้น้ำตั้งแต่ 1-50 หน่วย คิดหน่วย ละ 4 บาท หลังจาก 50 หน่วยจนถึง 100 หน่วย เพิ่มเป็น 5 บาท และ 6 บาท หลังจากเกินจำนวน 100 หน่วย ทั้งนี้ต้องการให้เกิดการประหยัดการใช้น้ำ

นอกจากปัญหาขาดแคลนน้ำจืดและประสบปัญหาน้ำท่วม บางพื้นที่ยังมีความสลับซับซ้อนเรื่องของน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจในการแก้ปัญหาทั้งภาครัฐและประชาชน ปัญญา โตกทอง สมาชิก อบต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า นับตั้งแต่มีโครงการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ใน จ.กาญจนบุรี ส่งผลกระทบเรื่องของน้ำเค็มชุก อันเป็นข้อมูลที่ทางราชการได้รับ แต่ตามภูมิปัญญาของชาวบ้านมองว่า ปรากฏการณ์นี้คือ น้ำจืดหาย ชาวบ้านไม่สามารถตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิมได้ต้องอพยพออกมา เกิดการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกันระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ จากการดำเนินการพัฒนาที่ผ่านมารัฐเป็นผู้วางแผน นับตั้งแต่ประตูระบายน้ำที่เป็นมาตรฐานของกรมชลประทาน ก่อให้เกิดการจัดสรรน้ำไม่สอดคล้องกับระบบการผลิต การขุดลอกคูคลองไม่ตอบสนองการไหลเวียนของน้ำ

“ชาวบ้านมีความรู้เรื่องของระบบน้ำแต่ไม่มีการเก็บข้อมูล ไม่มีงานวิจัยท้องถิ่น แต่ราชการไม่ตกผลึกทางข้อมูล ข้าราชการโยกย้ายเปลี่ยนไปมา ปัญหายิ่งเพิ่มขึ้นเหมือนลิงแก้แห” สมาชิก อบต.แพรกหนาม แดง กล่าวและว่า การแก้ปัญหาของชุมชน เริ่มจากการยกระดับงานวิจัยชาวบ้าน นำความรู้การจัดการน้ำระดับท้องถิ่นมาหารือกัน และจัดทำระบบสารสนเทศด้านน้ำ ภายใต้คำจำกัดความที่ว่า “มังกรต่างถิ่นฤาจะสู้งูดินจาก บ้านเรา”

เวทีสาธารณะนโยบายน้ำเป็นตัวอย่างที่พอจะสะท้อนเห็นว่าการจัดการน้ำ เพื่อจะรับมือภาวะวิกฤติน้ำในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นต้องเริ่มต้นจากล่างสู่บน ซึ่งในขั้นตอนต่อไปเพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรมจะเริ่มผลักดันเข้าสู่แผนของจังหวัด

ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีฝนตกเกินเฉลี่ย แต่ไม่มีระบบการจัดเก็บน้ำ หรือระบบสารสนเทศน้ำ ทำให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ การจัดเวทีสาธารณะเรื่องน้ำเพื่อให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ได้จัดทำระบบสารสนเทศน้ำ ซึ่งได้เลือกชุมชนตัวอย่างที่มีการจัดการน้ำด้วยตัวเอง ครอบคลุมทั่วประเทศ อาทิ ภาคใต้ จ.พัทลุง ภาค อีสาน จ.ยโสธร ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญ เพื่อที่จะให้เป็นเครือข่ายกระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียง พร้อมกันนี้ได้จัดการน้ำสู่ระบบจังหวัด ซึ่งจะดำเนินการได้ภายใน 3 ปี

เรื่อง “น้ำ” เป็นประเด็นระดับชาติที่ต้องมาหารือ จัดทำข้อมูลอย่างจริงจัง ไม่แน่ว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้อีก 20 ปี คนไทยต้องเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำอาจเดินทางมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ ต้องไม่ลืมว่ายังมีปัจจัยเร่งสำคัญของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปทั่วโลกขณะนี้.

ที่มา : เดลินิวส์
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 6:25 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ความเป็นมาและความสำคัญของ Q

สืบเนื่องจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 3-2546 วันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือ เครื่องหมาย "Q" เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเครื่องหมายนี้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความปลอดภัยพร้อมทั้งยังสื่อไปถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยมีการลงนามวันที่ 26 กันยายน 2546 ร่วมกัน 8 หน่วยงาน ได้แก่

กรมวิชาการเกษตร
กรมประมง
กรมปศุสัตว์
กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมพัฒนาที่ดิน
องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และ
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

เพื่อเป็นข้อผูกพันให้มีการนำเครื่องหมายรับรอง "Q" ไปใช้ในแนวทางเดียวกัน และมีการดำเนินการตามวิธีการและแนวทางที่กำหนดไว้ใน MOU โดยหน่วยรับรองให้การรับรอง ตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค (From Farm To Table) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของเครื่องหมายรับรอง "Q" ที่แสดงถึงความมีคุณภาพและปลอดภัย

ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมกำกับดูแลการนำเครื่องหมายรับรอง "Q" ไปใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีระบบการจัดรหัสประกอบการแสดงเครื่องหมาย เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้กรณีที่มีการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองหรือกรณีตรวจพบสินค้ามีปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน


หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายรับรอง "Q" (สีเขียว) บนสินค้าเกษตรและอาหาร

1. การผลิตในระดับฟาร์มต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(Good Agricultural Practices; GAP) สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรนั้น และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง


2 การผลิตในระดับโรงงาน รวมทั้งโรงคัดบรรจุผักผลไม้ โรงฆ่าสัตว์ (ถ้ามี) ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติในการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices; GMP) หรือมาตรฐานการวิเคราะห์ อันตรายและจุดควบคุมวิกฤต (Hazard Analysis and Critical Control Points; HACCP) และได?รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวข้อง


3. ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมาย ต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามี ปัญหา โดยใช้หลักการของการติดตามผลิตภัณฑ์ (product tracing / traceability)


4. สินค้าจะต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จําเป็น และตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกําหนด


5. มาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจตาม 1 - 4 ใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติที่ประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีสินค้าเกษตรใดที่ยังไม่มีมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ให้ใช้มาตรฐานสากลหรือมาตรฐานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการมาตรฐาน สินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ



หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายรับรอง "Q Premium" (สีทอง) บนสินค้าเกษตรและอาหาร

1. สินค้าและกระบวนการผลิตทั้งหมด ต?องได้ตามเกณฑ?ของการใช้เครื่องหมายรับรอง "Q"

2. สินค้านั้นผ่านการคัดแยกระดับชั้นคุณภาพ (Grading) และหรือผ่านกระบวนการผลิต บรรจุ ดูแล ขนส่งเป็นพิเศษ ทําให้สินค้ามีคุณภาพอยู่ในระดับพิเศษ โดยการอ้างอิงมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช. 9005-2548) เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายรับรอง "Q" และ "Q Premium" กับสินค้าเกษตรและอาหาร

3. ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมาย ต้องมีระบบการจัดการสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่วางจําหน่ายยังคงคุณภาพตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ดังข้างต้น รวมถึงการระบุวันที่ผลิต บรรจุ หรือวันที่ควรบริโภคก่อน (Best before) บนสินค้า

4. หน่วยรับรองจะกําหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การอนุญาตใช้เครื่องหมายรับรอง "Q Premium" โดยยึดหลักการประเมินความสามารถของผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรอง"Q Premium" ในการผลิต การคัดแยกชั้นคุณภาพ การบรรจุ หรือการควบคุมดูแล ที่ทําให้มั่นใจในความสามารถของผู้ประกอบการ ทั้งนี้รวมถึงการตรวจติดตาม การนําเครื่องหมายไปใช้ของผู้ประกอบการให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อถือโดยผู้บริโภค
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 7:38 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไทยเร่งดัน ผลไม้ 5 ชนิด ขายสหรัฐ


ไทย-สหรัฐเจรจายื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรระหว่างกัน ก.เกษตรฯ สบช่องขอเปิดตลาดผลไม้เพิ่มอีก 5 ชนิด ขณะที่ลุงแซมอ้อนไทยไฟเขียวนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง-ทับทิม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมประชุมหารือกับสำนักงานตรวจสอบสินค้าพืชและปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (APHIS/USDA) ซึ่งเห็นชอบร่วมกันในกรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอารักขาพืชและกักกันพืชเพื่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรระหว่าง 2 ประเทศ

โดยได้ปรับปรุงแก้ไขแผนปฏิบัติงานตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีที่สหรัฐอนุญาตให้นำเข้า 5 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด ลำไย สับปะรด และลิ้นจี่ ซึ่งแผนดังกล่าว จะทำให้ลดเวลาและขั้นตอนการตรวจสอบผลไม้ก่อนนำไปฉายรังสีให้น้อยลงเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลไม้ก่อนจะส่งออกไปยังสหรัฐ

นอกจากนั้น ไทยยังเจรจาขอให้สหรัฐพิจารณาอนุญาตนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มขึ้นอีก 5 ชนิด ได้แก่ ส้มโอ แก้วมังกร มันสำปะหลัง ฝรั่ง และฟักทอง พร้อมกับผลักดันให้มีการเปิดตลาดมะพร้าวอ่อนเข้าสู่มลรัฐฮาวายด้วย

โอกาสเดียวกันนี้ ไทย-สหรัฐยังมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการให้มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงต่อการแจ้งเตือนกรณีสินค้ามีปัญหาที่ประเทศปลายทาง เพื่อให้การแจ้งเตือนและการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียทางการค้า

“สหรัฐเจรจาขอส่งออกหัวพันธุ์มันฝรั่งมาไทยเพิ่มอีก 7 รัฐ จากเดิมที่ไทยนำเข้าจาก 4 รัฐ พร้อมขอให้ไทยนำเข้าทับทิมจากรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย ซึ่งกรมจะต้องตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และจัดทำเงื่อนไขการนำเข้าก่อนจะอนุญาต” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ที่มา : คม ชัด ลึก
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 7:50 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เส้นทางส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปตลาดสหรัฐ
อีกหนึ่งความหวังของเกษตรกรชาวผลไม้ไทย


ในที่สุดการส่งออกผลไม้สดฉายรังสีของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จเมื่อกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ได้รับรองโรงงานฉายรังสีผลไม้ของไทยเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมาและไทยก็ได้ส่งออกผลไม้ฉายรังสีลอตแรกไปยังสหรัฐ เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550

สรพล เถระพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นว่าตลาดสหรัฐเป็น ตลาดที่มีอนาคตสดใส เนื่องจากปัจจุบันร้านอาหารไทยในสหรัฐมีจำนวนกว่า 5,000 ร้าน เฉพาะในแอลเอมีถึง 300ร้าน ยังไม่รวมร้านค้าปลีกไทยและร้านของคนเอเชียอีกจำนวนมาก จึงได้จัดทำโครงการนำร่องส่งออกผลไม้ 6ชนิดได้แก่ มังคุด มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และ สับปะรด ด้วยวิธีฉายรังสีไปยังสหรัฐ เพื่อให้คงรสชาติที่หอมหวาน คงคุณค่าและคุณภาพให้นานขึ้นตามความต้องการของตลาด

สำหรับขั้นตอนในการส่งออกผลไม้ไปยังสหรัฐมี 7 ขั้นตอนด้วยกันคือ

1. ผู้ส่งออกจะต้องมีโรงงานคัดบรรจุ ผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากกรมวิชาการเกษตร โดยจะต้องเป็นโรงงานของผู้ส่งออกหรือเป็นโรงงานที่ผู้ส่งออกจ้างคัดบรรจุก็ได้ แต่จะต้องปรับปรุงโรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขป้องกันแมลง คือเป็นโรงงานระบบปิด ประตูจะต้องเป็นประตูสองชั้น และมีตาข่ายกันแมลงทุกช่องทางที่เปิดให้อากาศถ่ายเท

2. ผู้ส่งออกจะต้องมีสวนผลไม้ที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร โดยมีการทำความตกลงหรือจะเป็นสัญญาก็ตามเพื่อให้มีผลไม้ที่มีคุณภาพเพื่อการฉายรังสีส่งออก

3. หลังจากนั้นผู้ส่งออกจะต้องนำเอก สารสำเนา GMP ของโรงงานคัดบรรจุ และสำเนา GAP ของสวนไปจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลไม้ไปสหรัฐอเมริกาที่ศูนย์บริการทางวิชาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ กรมวิชาการเกษตร เพื่อรับการตรวจสอบก่อนส่งข้อมูลให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกา เป็นหลักฐานโดยจะต้องส่งให้สหรัฐอเมริกาล่วงหน้า 30 วันก่อนการเปิดฤดูการส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจึงจะมีสิทธิส่งออกต่อไป โดยผลผลิตต้องมาจากสวนที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น

4. เมื่อขั้นตอนการจดทะเบียนเรียบร้อย ต่อไปก็เป็นการคัดเลือกผลไม้ให้ได้ขนาดและมาตรฐานที่กำหนดในการฉายรังสี ทำความสะอาดเพื่อกำจัดแมลงแล้วบรรจุในกล่องที่มีอากาศถ่ายเทได้ แต่จะต้องมีตาข่ายกันแมลงกั้นในช่องระบายอากาศด้วย ซึ่งบนกล่องจะต้องแสดงรหัสโรงงานคัดบรรจุ และรหัสสวน คือรหัส GMP และ GAP นั่นเอง เมื่อบรรจุเรียบร้อยก็พร้อมที่จะขนส่งเข้าฉายรังสีต่อไป

5. ก่อนที่จะเข้าฉายรังสี โรงงานคัดบรรจุจะต้องติดต่อศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร เพื่อทำสัญญาการฉายรังสีตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้โรงงานฉายรังสีสามารถจัดลำดับการฉายรังสีและกำหนดปริมาณผลผลิตที่จะเข้าฉายรังสีให้แก่ผู้ประกอบการทุกรายที่ยื่นคำขอเสียก่อน แต่เนื่องจากผลไม้ฉายรังสีเป็นสินค้าที่ต้องมีฉลากตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ดังนั้น ก่อนที่จะนำผลไม้เข้าฉายรังสีได้ โรงงานคัดบรรจุในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจะต้องติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหากเป็นโรงงานคัดบรรจุในต่างจังหวัดก็จะต้องติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการอาหารฉายรังสี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และนำเลขสารบบอาหารที่ได้จากการขึ้นทะเบียนซึ่งก็คือรหัสอีกตัวหนึ่งแสดงบนฉลากบนกล่องผลไม้นั้นด้วย

6. เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็นำผลไม้เข้าฉายรังสีตามวันเวลาที่ได้ทำสัญญากับโรงงานฉายรังสี ซึ่งขั้นตอนในโรงงานฉายรังสีนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจสอบผลไม้และควบคุมกระบวนการฉายรังสีให้ถูกต้องตามวิธีการฉายรังสีผลไม้เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช ก่อนที่ศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรจะออกใบรับรองการฉายรังสีให้ ประกอบการส่งออกต่อไป

7. เมื่อฉายรังสีเสร็จเรียบร้อย ผู้ส่งออกก็จะต้องขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อประกอบใบกำกับสินค้าซึ่งสามารถออกให้ได้โดยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรที่เป็นผู้ตรวจสอบ ณ โรงงานฉายรังสี หรือจะไปขอรับการตรวจสอบที่ด่านทั้งที่ท่าอากาศยานหรือท่าเรือก็ได้ เมื่อเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย ผลไม้ก็จะถูกขนส่งไปถึงผู้นำเข้าที่สหรัฐอเมริกาได้โดยสะดวก

ส่วนผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการผลไม้ฉายรังสีเพื่อการส่งออก สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โทร. 0-2629-8970, 0-2629-8977ศูนย์บริการทางวิชาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-0151 ต่อ 305, 0-2579-6134 ศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร โทร. 0-2577-1944-5 ทั้งนี้สำหรับผู้นำเข้าในสหรัฐอเมริกา และผู้ที่พักอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โทร. (202) 338-1543, (202) 338-1545.

ที่มา : www.dalinews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 7:53 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

นวัตกรรมการบริหารจัดการการผลิต ‘ส้มโออินทรีย์’

ปัจจุบันปริมาณผลผลิตของสินค้าเกษตร จากพืชตระกูลส้มของประเทศไทย ได้แก่ ส้มเปลือกล่อนและส้มโอ ตอบสนองต่อการตลาดและการบริโภคภายในประเทศจนเกินความ ต้องการ จนส่งผลให้เกิดภาวะราคาต่ำ ซึ่งเป็นภาระของเกษตรกรผู้ผลิตที่ต้องทนแบกรับอย่างต่อเนื่องโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ส้มโอจากประเทศไทยได้รับความสนใจจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปมาอย่างเนิ่นนาน แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านสุขอนามัยพืชโดยเฉพาะโรคแคงเกอร์ จึงมีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดจริงจังมาโดยตลอด ทำให้ปริมาณการส่งออกส้มโอจากประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยมีเพียง 5,889.67 ตันต่อปี เท่านั้น

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ศักยภาพของส้มโอไทยที่มีอยู่ ไม่อาจสร้างโอกาสทางการตลาดเพิ่มรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจสินค้าเกษตรชนิดนี้ได้เลย เนื่องจากขาดมาตรการการผลิตสินค้าเชิงคุณภาพ การนำระบบเกษตรอินทรีย์เข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นการสร้างความแตกต่างของส้มโอจากประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ในอนาคตส้มโอมีศักยภาพในการทดแทนการบริโภค

คุณสมบัติที่ดีของส้มโออีกประการ ที่ ไม่มีในผลไม้อื่น คือ อายุการเก็บรักษา แม้เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวแต่ยังมีปัญหาทางการตลาด สามารถ ทิ้งไว้บนต้นได้อีก 1 เดือน และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ยังสามารถนำมาเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียสได้อีก 2 เดือน ซึ่งเพียงพอต่อการส่ง มอบและวางจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยัง มีเปลือกหนา อ่อนนุ่มทนต่อแรงกระทบกระแทกได้เป็นอย่างดี

ระบบการผลิตส้มโอของประเทศไทยยังคงใช้เทคโนโลยีที่มี ปุ๋ยเคมี และสารเคมี ป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลงเป็นองค์ประกอบหลักเช่นเดียวกับระบบการผลิตในประเทศอื่น ๆ แต่ยังพบข้อจำกัดทางด้านการตลาดเมื่อเปรียบเทียบกับส้มโอของประเทศอิสราเอล ซึ่งได้รับการยอมรับจากตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นอย่างดี จนผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อาจพอสรุปได้ว่า ตลาดมีความเชื่อถือต่อระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน อันมีที่มาจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้โดยเกษตรกรผู้มีความรู้ความสามารถ

การดำเนินการพัฒนา โครงการนวัตกรรมการผลิตส้มโออินทรีย์ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อผนวกรวมวิทยาการนวัตกรรมเพื่อการผลิตส้มโอ และนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กรชุมชน โดยเลือกวิธีการผลิตโดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ผ่านการรับรองระบบการผลิตภายใต้มาตรฐานของ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) เพื่อสร้างศักยภาพในการส่งออกส้มโออินทรีย์จากประเทศไทยสู่สหภาพยุโรป

อาจกล่าวได้ว่า โครงการนี้เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ส้มโออินทรีย์ที่ได้รับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล โดยอาศัยเทคโนโลยีการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายแร่ธาตุจากเหมืองหินให้เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการ การตัดแต่งกิ่งเพื่อเพิ่มผลผลิตตามการตลาด การห่อผลด้วยถุงกระดาษเพื่อป้องกันโรคและแมลง ตลอดจนการจัดการน้ำและดินอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังจัดว่าเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกษตรกรในการนำร่องผลิตส้มโอ อินทรีย์ และการยอมรับในหลักการ “โภชนบำบัด” เพื่อนำมาปรับปรุงการผลิตส้มโอ นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเชิงคุณภาพเพื่อการส่งออกสู่สหภาพยุโรป

เมื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของการผลิตส้มโออินทรีย์แล้ว พบว่า เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับส้มโอที่มีรายงานว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศไทย โดยอาศัยการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานเพื่อการส่งออก สามารถพัฒนาให้เกิดตราสินค้าใหม่เพื่อแข่งขันกับผลไม้จากต่างประเทศได้ อีกทั้งยังสามารถลดปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ ทำการเกษตรโดยขาดความรู้ทางเทคโนโลยี โดยการนำความรู้ความเข้าใจในหลักการทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ-สังคม และบริหารธุรกิจ มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนภาคการเกษตร เสริมสร้างศักยภาพด้านกายภาพภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ-สังคม ที่มีอยู่เดิมพร้อมทั้งเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด ให้เกิดศักยภาพสูงสุดต่อขบวนการผลิต

จากตัวอย่างความสำเร็จดังกล่าว อาจ สรุปได้ว่า หัวใจหลักของการทำเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันคือ การบริหารจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่อุปาทานที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตขั้นต้น ซึ่งต้องทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ด้วยใจที่หนักแน่น เทคโนโลยีและความรู้ด้านวิชาการเป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนานวัตกรรมนี้เท่านั้น นอกจากนี้การดำเนินโครงการ ในลักษณะบูรณาการยังช่วยผลักดันให้โครงการมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จสูงขึ้น.


ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:00 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไผ่ซางหม่น...ไผ่สารพัดประโยชน์เป็นที่ต้องการของตลาด

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

“ไผ่ซางหม่น” ใครเคยได้ยินชื่อนี้บ้าง...บางคนอาจจะเคย บางคนอาจจะไม่เคย ก็แล้ว “ไผ่ซางนวล” ล่ะ ใครเคยได้ยินชื่อนี้บ้าง... บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้มากกว่า ไผ่ซางหม่นก็เหมือนกับไผ่ซางนวลแหละ แต่ไผ่ซางหม่นมีขนาดลำใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด ไผ่ซางหม่นจัดเป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เส้นรอบวงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 10-15 ซม. สีของลำสีเขียว มีคราบของแป้งสีขาวหรือวงขาวต่าง ๆ หรือสีขาวหม่น ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ไผ่ซางหม่น” ตามลักษณะที่เกิดขึ้นของมันนั่นเอง

ไปเห็นไผ่ซางหม่นเพราะข้าพเจ้าได้ไปดูงานกับกรมป่าไม้ ไปดูงานที่ศูนย์วิจัยผลิตผลป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านปางเฟือง หมู่ที่ 2 ตำบลปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี คุณสุเทพ เฉียบแหลม เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ

ลุงสมจิต มณีรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 510 หมู่ที่ 10 ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นำไผ่ซางหม่นมาทำ เฟอร์นิเจอร์ ลุงบอกว่ามีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ปลูกไม้สัก ยางพาราและไผ่ประมาณ 2,000 กอ รวมแล้วประมาณ 10 ไร่เพื่อใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งทำมาแล้วกว่า 3 ปี

ปัจจุบันมีการปลูกไผ่ซางหม่นในแถบภาคเหนือบริเวณจังหวัดแพร่ ลำพูน ลำปาง และเชียงใหม่ ตอนนี้เกษตรกรกำลังสนใจที่จะขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น เนื่องด้วยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ทั้งหน่อเพื่อการบริโภคและลำไผ่เพื่อป้อนโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์

ไผ่ซางหม่นจะเจริญเติบโต ได้ดีเมื่อผ่านปีที่ 4 ไปเพราะมีไผ่ลำใหญ่เป็นลำแม่ให้หน่อที่มีขนาดใหญ่ แต่หากมีการให้ปุ๋ยให้น้ำที่เหมาะสมก็อาจได้ผลผลิตอย่างมากตั้งแต่ปีที่สามเป็นต้นไป หากต้องการนำลำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ด้านก่อสร้างหรือทำเครื่องเรือนที่มีราคาแพงควรเลือกลำไม้ไผ่ที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไปเพราะลำไผ่ที่แก่มักไม่ถูกรบกวนจากมอดและแมลง ฉะนั้นหากมีวัตถุประสงค์ในการปลูกไผ่เพื่อผลิตทั้งหน่อไม้ และนำไม้ไปทำเฟอร์นิเจอร์ ควรปล่อยหน่อไม้ให้เป็นลำต่อไปโดยตัดกิ่งแขนงเล็ก ๆ บริเวณโคนต้นทิ้งไปเท่านั้น

เมื่ออายุ 2 ปีจะมีหน่อไม้แตกขึ้นมาอีก อาจจะคัดเลือกหน่อไม้ที่มีลักษณะไม่ดีออกไปจำหน่ายบ้าง โดยเลือกหน่อไม้ที่แทรกมาจากดินและมีขนาดใหญ่สมบูรณ์เก็บไว้ให้เป็นต้นใหม่ประมาณ 5-6 หน่อ ฉะนั้นเมื่อขึ้นปีที่ 3 จะมีลำประมาณ 8-10 ลำ

เมื่อครบอายุ 3 ปีจะมีหน่อจำนวนมาก สามารถตัดหน่อออกไปจำหน่ายได้ พอปีที่ 4 เป็นต้นไปก็สามารถตัดลำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ก็นำมาทำเฟอร์นิเจอร์

ลุงบอกว่า ตอนแรกที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้มาแนะนำให้ปลูกพร้อมกับให้คำแนะนำในด้าน ต่าง ๆ เช่น การตอนกิ่ง การชำปล้อง จนได้กล้าพันธุ์มากพอจึงนำไปปลูก นอกจากทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว หน่อของมันคือหน่อไม้ยังจำหน่ายได้ด้วย บางงวดขาย หน่อได้ราคาดีกว่าทำเฟอร์นิเจอร์ซะอีก ลุงบอกว่า หน่อไผ่ซางหม่นอร่อยมาก ๆ..รสชาติดีไม่ มีอะไรเหมือน เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม...

ไผ่ซางหม่นเหมาะมากที่ จะนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ เพราะลำมันเปล้าตรง ความยาวของปล้องประมาณ 30-50 ซม. เป็นไผ่ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไม่ค่อยมีกิ่งแขนง ไม่มีหนาม มีพุ่มใบอยู่ที่ปลายยอด

การนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ลุงเขาก็มีกระบวนการนะ มิใช่อยู่ ๆ เอามาทำ งั้นมอดก็แทะเพลินสิ ขอบอกคร่าว ๆ ถึงขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ การคัดเลือกไม้ไผ่ การอาบน้ำยา การผึ่ง การอบ การขูดผิว เจาะรู การประกอบ และการทำสี

เฟอร์นิเจอร์ที่ลุงทำก็มีเตียง เก้าอี้ โซฟา โต๊ะ...ใครสนใจติดต่อที่ลุงได้ขายทั้งพันธุ์ หน่อ ลำ และที่นำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์....มีความสุขไหม (คือเห็นคนอื่นเขามีความสุขเราก็มีความสุขด้วยไง) หากจะบอกว่าลุงเขามีรายได้กว่าแสนบาทต่อเดือน!.



ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:02 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

วิถีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ วิถีชีวิตเมืองสุรินทร์


Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

คัดคุณภาพจากชุมชน สู่มาตรฐานระดับโลก

กระทรวงพาณิชย์ คัดเลือก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สุดของประเทศ ให้เป็นจังหวัดนำร่องในการขยายตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และกำหนดกลยุทธ์การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยขึ้น 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การพัฒนาผู้ประกอบการ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ การสร้างมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า

จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2542 ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สุรินทร์แตกต่างจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั่วไป ทั้งในแง่ของเกษตรกรมีความรู้ ความชำนาญในการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์มาอย่างยาวนาน มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรอินทรีย์มากมายที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาการผลิตสืบต่อกันมา จนสามารถผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์คุณภาพดีได้

นายเกียรติ ประมูลศรี เกษตรกรตำบลเฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เกษตรกรตัวอย่างที่ทำการเกษตรอินทรีย์แล้วช่วยลดต้นทุนการผลิต เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำเกษตรอินทรีย์นั้นก็ทำนาข้าวแบบใช้สารเคมีเหมือนเกษตรกรทั่วไป ต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมี ยิ่งใช้ดินก็ยิ่งแข็ง ระบบนิเวศก็เริ่มแย่ลง ๆ สุขภาพของคนในครอบครัวก็ไม่ค่อยดี ผลผลิตที่ได้ราคาก็ไม่แน่นอนเพราะเสี่ยงกับภัยธรรมชาติสูง ต้นทุนผลิตที่สูงขึ้นแต่รายได้ไม่เพิ่ม

เมื่อรัฐบาลและจังหวัดสุรินทร์มีนโยบายให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งผลจากการทำการเกษตรอินทรีย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง จากเดิมไร่ละประมาณ 600-700 บาท เหลือเพียง 300-350 บาท ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 630 กก./ไร่ ต้นข้าวเจริญเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติแข็งแรง มีศัตรูธรรมชาติรบกวนน้อย ข้าวรวงใหญ่ เมล็ดลีบน้อย เมล็ดข้าวมีลักษณะแกร่ง ใส หอม นุ่ม รสชาติดี ระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมก็ดีขึ้น อีกทั้งยังมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชหมุนเวียนหลังฤดูทำนาอีกด้วย

ปัจจุบันองค์กรเอกชน สถาบันเกษตรกรหลายองค์กรได้เข้ามาส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ทำให้เกิดความตื่นตัวและมีพลังในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน มีโรงสีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล สามารถส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไปจำหน่ายต่างประเทศทั้งส่งออกเอง และส่งออกผ่านผู้ค้าข้าว

นางส้มป่อย จันทร์แสง กรรมการผู้จัดการสหกรณ์อินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์ จำกัด กล่าวว่า กองทุนข้าวสุรินทร์ ถือกำเนิดขึ้นจากความพยายามสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองของเกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ โดยยึดหลักการเบื้องต้นว่า เมื่อมีการผลิตก็ต้องมีการทำตลาด โดยสหกรณ์ฯ รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกในราคาประกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท

สำหรับตลาดทางเลือกจังหวัดสุรินทร์มี 2 ระดับ คือ ตลาดต่างประเทศ และ ตลาดท้องถิ่น ในช่วงแรกของการทำตลาดท้องถิ่นจะใช้ช่องทางการจำหน่าย โดยอิงกับโรงพยาบาล หน่วยงานราชการ ร้านค้าเล็ก ๆ จนสามารถพัฒนามาเป็นตลาดนัดสีเขียว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง เน้นการขายพืช ผัก ผลไม้ตามฤดูกาลที่เกษตรกรปลูกเองในแปลงนา สิ่งสำคัญ คือ ต้องเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่านั้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการตลาดออกตรวจสอบคุณภาพสินค้าของสมาชิกทุก 3 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

ต่อมาเมื่อมีแนวคิดที่จะขยายเข้าสู่ระบบการค้าตลาดต่างประเทศและภูมิภาคของไทย จึงทำให้ต้องมีการสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และการรับรองมาตรฐานการค้าที่มีความเป็นสากล เช่น Claro, SCT หรือ IFOAM, EU, USDA เป็นต้น พิจารณาทั้งการตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิต การรับรองมาตรฐานโรงสี โรงบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด และต้องมีการบันทึกข้อมูลให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังทุกขั้นตอนตั้งแต่แปลงนาจนถึงกระบวนการแปรรูป

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์ เป็นข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ที่สะอาด ปลอดภัยอย่างแท้จริง ในปี 2550 สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์ ได้ทำการส่งออกข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ไปสู่ตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย แล้วประมาณ 100 ตันข้าวสาร นอกจากนี้ ทางจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จึงได้ผลักดันการพัฒนาสินค้าให้ปรับรูปแบบทันสมัย แปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายประเภทอีกด้วย.

ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:12 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ชาวบ้านบางติบ ค้นพบวิธีเพาะ ‘ว่านหางช้าง’

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

กล้วยไม้หายาก ต้นละ 500 บาท

“ว่านหางช้าง” หรือ “กล้วยไม้เพชรหึง” เป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นของจังหวัดพังงา และระนอง ลำต้นมีความยาวประมาณ 2 เมตร มีใบเรียวยาวขนาดเล็ก ดอกเป็นพวงประมาณ 120-170 ดอก มีสีเหลืองลายจุดม่วงเม็ดมะปราง สนนราคาในท้องตลาดอยู่ที่ต้นละ 500 บาท หากกอใหญ่และดอกสวยซื้อขายกันราคาไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท

ที่ผ่านมาในแวดวงนักเล่นกล้วยไม้เองพยายามเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี ในการเจริญเติบโตจนกระทั่งเป็นกอที่มีขนาด 12-19 หน่อ จึงไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ชาวบ้านจึงใช้วิธีการเก็บจากป่าออกมาขาย ซึ่งธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นบนยอดไม้สูงในป่าคล้าย ๆ กาฝาก จึงทำให้มีการเก็บแบบผิดวิธีคือการโค่นไม้ใหญ่ลงมา บางครั้งต้องโค่นไม้ใหญ่ขนาดหลายคนโอบเพื่อเอาว่านหางช้างเพียงกอเดียว

ปัญหาเหล่านี้ สมพงษ์ ประสานการ ชาวบ้านบางติบ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มองว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป อาจมีผลกระทบต่อธรรมชาติชนิดอื่นโดยเฉพาะการเก็บแบบผิดวิธีอาจทำให้ป่าหมดลง และจะเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติของป่าชายเลน

สมพงษ์ จึงได้ร่วมกับชาวบ้านใกล้เคียงและกลุ่มผู้ชื่นชอบว่านหางช้าง และมีใจอนุรักษ์ พยายามลดการนำกล้วยไม้ออกจากป่า ด้วยการหาวิธีการเพาะขยายที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่สร้างภาระต้นทุนและขีดความสามารถของชาวบ้าน ภายใต้ โครงการวิจัย ศึกษาการเพาะกล้วยไม้ว่านหางช้างด้วย เทคโนโลยีชาวบ้าน เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนบ้านบางติบ อ.คุระบุรี จ.พังงา โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค ซึ่งมี สมพงษ์ ประสานการ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

“ผลของการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงว่านหางช้างกับกลุ่มคนที่ปลูกเหมือน ๆ กัน เห็นว่าแต่ละคนก็มีความรู้ด้านการปลูกที่แตกต่างกัน เลยคิดว่าน่าจะลองรวบรวมเอาภูมิปัญญาหรือเทคโนโลยีแบบของชาวบ้านมาทำการศึกษาดูว่า วิธีการปลูกแบบไหนจะได้ผลมากที่สุด เพราะแต่ละบ้านก็มีเทคนิควิธีที่แตกต่างกัน”

โครงการนี้จึงกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ที่การศึกษาองค์ความรู้การเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ว่านหางช้างด้วยเทคโนโลยีชาวบ้าน ศึกษาชนิดวัสดุเพาะและการใส่ปุ๋ย (ชนิด และปริมาณ) ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต โดยเริ่มจากทีมวิจัยชาวบ้านได้ตระเวนเก็บตัวอย่าง และข้อมูลการปลูกกล้วยไม้ของชาวบ้านในแถบนั้น และก็กลับมาทำเป็น “กระถางทดลอง” ที่บ้านหัวหน้าโครงการวิจัย

“เราทดลองปลูกทั้งหมด 80 กระถาง ใช้ถังซีเมนต์ประมาณ 40 กระถาง ที่เหลือเป็นกระถางหรือเข่งพลาสติก สำหรับวัสดุที่ใช้ปลูกก็แตกต่างกันออกไป ใส่ปุ๋ยบ้าง ใส่กาบมะพร้าว ถ่าน เศษไม้ ใบหญ้า ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ใส่ผสม ๆ กันเพื่อให้ได้สูตรและปริมาณที่ทำให้ กล้วยไม้เจริญเติบโตดี”

และจากการทดลองของทีมวิจัยชาวบ้านเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี พบว่า วัสดุที่ใช้ปลูกว่านหางช้างที่ ได้ผลดีที่สุดคือ ไม้ กาบมะพร้าว และถ่าน และก็ยังพบอีกว่า ปลูกในถังซีเมนต์จะเติบโตดีกว่าปลูกในกระถางที่เป็นพลาสติก ซึ่งในระยะ 2-3 เดือนแรกจะมีเส้นรอบวง 6 เซนติเมตร และจะเจริญเติบโตไปจนถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร จากนั้นก็จะสูงขึ้นเดือนละประมาณ 10 เซนติเมตร และนอกจากนั้นยังสามารถแตกหน่อได้ไม่น้อยกว่า 12-20 หน่อ/กอ ซึ่งผลของกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้สามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ว่านหางช้างเป็นสินค้าเศรษฐกิจชุมชนบ้านบางติบ และสามารถนำไปขยายผลทางสังคมเกิดการจัดการหยุดหาเก็บจากป่า

เมื่อโครงการสิ้นสุดลง และได้กล้วยไม้ในปริมาณที่มากพอก็จะตัดแบ่งให้คนในชุมชนเอาไปปลูกขยายพันธุ์เพื่อขายเป็นรายได้เสริม...เป็นการลดการนำ กล้วยไม้ออกมาจากป่า และเมื่อมีการเพาะขยายได้มากขึ้น ก็จะนำกล้วยไม้ชนิดนี้ “คืนสู่ป่า” ซึ่งนั่นเป็นความหวังสูงสุดของคนบ้านบางติบ.

ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:13 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ศรีสำโรง 1’ ถั่วเหลืองพันธุ์ใหม่ ต้านทานโรคราน้ำค้าง ให้ผลผลิตสูง

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

ถั่วเหลือง เป็นสินค้าสำคัญชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยมีความต้องการมาก ขณะที่มีพื้นที่ปลูกน้อยกระจายอยู่ในแถบภาคเหนือตอนล่าง ทำให้แต่ละปีต้องมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศค่อนข้างสูง ในปี 2549 ไทยมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมากถึง 1,395,241 ตัน คิดเป็นมูลค่า 14,226.01 ล้านบาท กากถั่วเหลือง 2,174,201 ตัน มูลค่า 19,411.09 ล้านบาท และปี 2550 มีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองแล้ว จำนวน 1,045,732 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12,091.56 ล้านบาท และกากถั่วเหลือง จำนวน 1,664,765 ตัน มูลค่าประมาณ 16,087.94 ล้านบาท

สำหรับถั่วเหลืองที่เกษตรกรนิยมปลูกในปัจจุบันมี 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์นครสวรรค์ 1 พันธุ์เชียงใหม่ 60 และ พันธุ์สุโขทัย 2 ถึงแม้ทั้ง 3 พันธุ์จะให้ผลผลิตสูง แต่ไม่มีความต้านทาน โรคราน้ำค้าง ทำให้ถั่วเหลืองเสียหายเมื่อโรคดังกล่าวเกิดการระบาดขึ้น ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย หรือ สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง เดิม จึงได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองขึ้นมาใหม่ คือ “พันธุ์ศรีสำโรง 1” ซึ่งให้ผลผลิตสูง มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทั้งยังสามารถต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดี น่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ปลูกถั่วเหลืองที่กำลังหาทางออกเรื่องโรคราน้ำค้าง

นายอลงกรณ์ กรณ์ทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วเหลืองพันธุ์ศรีสำโรง 1 เป็นลูกที่คัดจากคู่ผสมระหว่างถั่วเหลืองนครสวรรค์ 1/Pudua8008B และนครสวรรค์ 1/DM8032-1-9 เมื่อปี 2535 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครปฐม ต่อมาศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย ได้นำมาสร้างลูกผสมกลับกับพันธุ์นครสวรรค์ 1 จำนวน 1 ครั้ง แล้วคัดเลือกลูกตั้งแต่ช่วงที่ 2-6 ในระหว่างปี 2536-2537 ปีละ 3 ฤดูปลูก คือ ฤดูแล้ง ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้านทานต่อโรค และให้ผลผลิตสูง

จากนั้นได้ดำเนินการประเมินผลผลิตเปรียบเทียบในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะเวลา 6 ปี (2538-2543) โดยปลูกเปรียบเทียบในแปลงทดลองของศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัย การผลิตสุโขทัย 14 แปลง ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ 4 แปลง ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น 2 แปลง ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ 1 แปลง และศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเลย 1 แปลง

ขณะเดียวกันยังมีการปลูกเปรียบเทียบในไร่ของเกษตรกรด้วย จำนวน 13 แปลงทดลอง ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย 5 แปลง กำแพงเพชร 3 แปลง อุตรดิตถ์ 2 แปลง ตาก 2 แปลง และเชียงใหม่ 1 แปลง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 กรมวิชาการเกษตรได้ประกาศ รับรองพันธุ์ถั่วเหลืองศรีสำโรง 1 เป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร

ถั่วเหลืองพันธุ์นี้ มีลำต้นเจริญเติบโตดี ไม่ ทอดยอด ความสูงของต้นประมาณ 49 เซนติเมตร อายุออกดอก 27 วัน ให้จำนวนฝักไม่น้อยกว่า 24 ฝัก/ต้น จำนวนเมล็ด/ฝัก 1.96 เมล็ด และน้ำหนัก 100 เมล็ด อยู่ที่ 14.5 กรัม นอกจากนั้นยังมีลักษณะเด่น คือ อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 77 วัน ใกล้เคียงกับพันธุ์นครสวรรค์ 1 ซึ่งมีอายุเก็บเกี่ยวที่ 75 วัน พันธุ์ศรีสำโรง 1 สามารถต้านทานต่อโรคราน้ำค้างในเขตภาคเหนือตอนล่างได้ดีกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 รวมทั้งพันธุ์เชียงใหม่ 60 และพันธุ์ศรีสำโรง 1 ยังให้ผลผลิตสูง เฉลี่ย 291 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งมากกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ถึง 13% อีกทั้งยังให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนประมาณ 35.84% และเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 14.51%

กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้ปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ศรีสำโร 1 ในเขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และตาก เป็นต้น เกษตรกรในเขตชลประทานอาจเลือกปลูกถั่วเหลืองศรีสำโรง 1 หลังฤดูทำนาก็ได้ เพื่อช่วยสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัว เนื่องจากเป็นพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หลังจากเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อาจใช้ถั่วเหลืองศรีสำโรง 1 เป็นพืชทางเลือกในการฟื้นฟูอาชีพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสร้างรายได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ขณะนี้กรมฯได้เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลืองศรีสำโรง 1 ไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรแล้ว

หากเกษตรกรสนใจถั่วเหลืองพันธุ์ศรีสำโรง 1 สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-5568-1384 โทรสาร 0-5568-1385 ทุกวันในเวลาราชการ....

ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:14 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ผลิต ‘น้ำมันไปโอดีเซล’ จากน้ำมันพืชใช้แล้ว ลดมลพิษ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

ในเมื่อเขาขยันเชิญเราก็ขยันไป... ไปดูสิ่งที่ เขาทำ ก็สิ่งดี ๆ ทั้งนั้น น่าจะนำมาเผยแพร่ไป สู่บุคคลอื่น ๆ หรือหน่วยงานอื่น ๆ หนนี้ทาง ซีพีเอฟ ได้พาเราไปดู โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ของโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมหาชัย ที่ตั้งอยู่ถนนพระราม 2 ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

คือเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าราคาน้ำมัน-มันแพงขึ้นเรื่อย ๆ อันนี้สำคัญนะ เพราะมันส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่น ๆ เป็นลูกโซ่ตามมา ไม่ขอจาระไน ณ ที่นี้ จนกระทั่งปี 2547 เริ่มมีกระแสข่าวการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถเครื่องยนต์ดีเซล เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลโดยน้ำมันไบโอดีเซลสามารถผลิตได้ทั้งจากน้ำมันพืชต่าง ๆ และน้ำมันจากไขมันสัตว์

ทางผู้บริหารของซีพีเอฟ เห็นว่า บริษัทมีน้ำมันพืชที่ผ่าน การใช้งานแล้ว จากโรงงานแปรรูปอาหารจำนวนมาก จึงได้มีการศึกษาและทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วของบริษัทเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซล ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำมันพืชที่ผ่านมาใช้ประโยชน์แล้วและยังช่วยตัดวงจรการนำน้ำมันเก่าไปสู่ผู้บริโภคด้วย

ชูศักดิ์ เลิศอมรกิตติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ให้การว่า เนื่องจากในเครือซีพีเอฟมีน้ำมันพืชใช้แล้วจำนวนมาก จากเดิมที่มีการขายให้กับภายนอกทั่วไป แต่ระยะหลังมีข่าวว่าการใช้น้ำมันทอดแล้วไปทอดอีก อาจมีสารก่อมะเร็งได้ ประกอบกับน้ำมันเชื้อเพลิงมีระดับราคาที่สูงขึ้น จึงมีนโยบายนำเอาน้ำมันพืชใช้แล้วมาศึกษา และทดลองผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ขยายการผลิตมาเรื่อยปัจจุบันมีการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็น น้ำมันไบโอดีเซลจำนวน 72,000 ลิตรต่อเดือน

คุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้ เป็นน้ำมัน B100 สามารถทดแทนน้ำมันดีเซลได้ 100% จากที่เราได้ใช้มาเป็นเวลา 2 ปีกว่า และได้ทำการตรวจสอบเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนเป็นระยะพบ ว่าไม่มีความเสียหายอะไร จึงมั่นใจว่าสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ การลงทุนที่นี่มีมูลค่าประมาณ 8 แสนบาท และผลิตได้วันละ 2,400ลิตร ต้นทุนผลิตได้วิ่งอยู่ที่ 19-20บาท แต่ขึ้นกับต้นทุนน้ำมันพืชที่เราซื้อมาด้วย เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลที่ซื้อมาก็ประมาณลิตรละ25บาท ก็ประหยัดได้ลิตรละประมาณ 5บาท รวมเป็นประหยัดได้วันละประมาณ 10,000 กว่าบาท หรือประมาณเดือนละ 3 แสนกว่าบาท

การใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ได้จากน้ำมันพืชของซีพีเอฟ สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้ 100% และยังลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ กับก๊าซไฮโดรคาร์บอน ขณะเดียวกันยังลดจำนวนเขม่าดำได้ 40-60% โดยมีเปอร์เซ็นต์ไอเสียเพียง 15.8% ต่างจากน้ำมันดีเซลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาจาก ฟอสซิล จะมีเปอร์เซ็นต์ไอเสียถึง 26.3% นอกเหนือจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมา จริง ๆ แล้ว การใช้น้ำมันไบโอดีเซลจะมีส่วนของกรดกำมะถัน แต่เราสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มีค่าเพียง 0.0005 ขณะที่ปริมาณกำมะถันมาตรฐานของน้ำมันดีเซลจะมีค่าที่ 0.035 ถ้าองค์กรใดที่สนใจขอเข้าชม เพื่อศึกษาก็ยินดี

เครื่องผลิตไบโอดีเซลของโรงงานขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการจดสิทธิบัตร ในส่วนของโรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 และเริ่มเดินเครื่องผลิตเพื่อทดลองเติมให้กับรถเครื่องยนต์ดีเซลของโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำของบริษัทฯ จำนวน 10 คัน ผลจากการใช้น้ำมันไบโอดีเซล พบว่ามีอัตราการสิ้นเปลืองและประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล

สำหรับน้ำมันไบโอดีเซล สามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ ไม่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ และยังลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและก๊าซพิษอันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ 100% ลดก๊าซคาร์บอนมอ นอกไซด์ และก๊าซไฮโดรคาร์บอนได้ 10-50% ลดจำนวนเขม่าดำได้ 40-60% โดยมีเปอร์เซ็นต์ไอเสีย เพียง 15.8% เมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ไอเสียที่เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซลที่มีถึง 26.3%

ขณะเดียวกัน น้ำมันไบโอดีเซล ยังสามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไปได้ทันที โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีความหนืดใส ช่วยหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ดีกว่าน้ำมันดีเซล ทั้งยังมีความปลอดภัยในการขนส่ง และการสัมผัสมากกว่าน้ำมันดีเซล เพราะมีจุดติดไฟสูงถึง200องศาเซลเซียส ขณะที่น้ำมันดีเซลสามารถจุดติดไฟที่ 70องศาเซลเซียสเท่านั้น

นอกจากนี้ ไบโอดีเซล เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งศูนย์ยานยนต์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US-EPA)ว่า ในไอเสียมีค่ามลพิษต่ำ มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ โดยผ่านการทดสอบทั้ง CleanAirActและEnergyPolicy Act รวมทั้งยังช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้ถึง 90 %
น่าสนใจไหม?.

ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:16 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เส้นทาง ‘มะม่วงไทย’ ไปได้สวยที่ตลาดญี่ปุ่น

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

หลังจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) ได้ส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผลไม้ในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศไปแล้วจำนวน 64 กลุ่ม สมาชิก 708 ราย อยู่ในภาคเหนือ 16 กลุ่ม สมาชิก 186 ราย ภาคกลาง 23 กลุ่ม สมาชิก 232 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 กลุ่ม สมาชิก 169 ราย และภาคใต้ 12 กลุ่ม สมาชิก 121 ราย และมีการปล่อยสินเชื่อเงินกองทุนปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรกู้ยืมไปลงทุนแล้วกว่า 27.57 ล้านบาท ปัจจุบัน ส.ป.ก.ได้เร่งขยายผลการส่งเสริมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตเข้ากับการตลาด เพื่อให้มีตลาดรองรับแน่นอน ทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำด้วย

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.ป.ก. ได้เร่งดำเนิน โครงการพลิกฟื้นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผลไม้เพื่อการส่งออกในเขตปฏิรูปที่ดิน เบื้องต้นได้ร่วมกับภาคเอกชน 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สยาม เอ็กซ์ปอร์ตมาร์ท จำกัด บริษัท ทิมฟู้ด จำกัด บริษัท เดชาอินเตอร์เทรด จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด อี.เอ็ม.การเกษตร นำร่องส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย และกำแพงเพชร ให้ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ ชมพู่ทับทิมจันทร์ กล้วยไข่ และแคนตาลูป ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื้อที่รวมกว่า 5,682 ไร่ สมาชิกประมาณ 164 ราย

โครงการฯ ดังกล่าว เน้นให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยทางด้านอาหาร และได้มาตรฐานตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) หรือต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้า “คิว มาร์ค” (Q Mark) ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมะม่วงน้ำดอกไม้ของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินค้าชนิดแรกที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 5,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตมะม่วงสดคุณภาพดี ไม่น้อยกว่า 550 ตัน/ปี โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ ญี่ปุ่น

บริษัท สยาม เอ็กซ์ปอร์ตมาร์ทฯ ได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตล่วงหน้าทั้งปี สำหรับมะม่วงเกรด A ราคากิโลกรัมละ 45-60 บาท ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในแต่ละช่วง ขณะเดียวกันบริษัท ทิมฟู้ดฯ ยังได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตมะม่วงเกรด B-C ของเกษตรกรด้วย ราคาเกรด B ประมาณ 35-47 บาท/กิโลกรัม และเกรด C ประมาณ 20-35 บาท/กิโลกรัม และบริษัท เดชาอินเตอร์เทรดฯ ยังได้ลงนามทำสัญญารับซื้อผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อส่งออกด้วย

นายขวัญชัย ธนะแก้ว ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อพืชไร่ บริษัท ทิมฟู้ด จำกัด บอกว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มความต้องการนำเข้ามะม่วงจากไทยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในรูปผลสดและผลิตภัณฑ์มะม่วงแช่แข็งโดยเฉพาะมะม่วงมหาชนก ญี่ปุ่นต้องการนำเข้าค่อนข้างมาก ซึ่งปีที่ผ่านมา บริษัท ทิมฟู้ดฯ ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะม่วงแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นประมาณ 1,500 ตัน ในจำนวนนี้เป็นมะม่วงมหาชนกกว่า 800 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีการส่งออกสินค้าผักและผลไม้แปรรูปอื่นด้วย อาทิ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝักอ่อน เงาะ มังคุด และสับปะรด รวมกว่า 5,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก คือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นตลาดใหม่ในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาตลาดให้มีความต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้จัดทำระบบ คอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) กับเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิต โดยส่งเสริมให้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะสามารถผลิตสินค้าป้อนให้บริษัทฯ ได้เพียงพอกับความต้องการ ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรอยู่ในการดูแลซึ่งได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตประกันราคาขั้นต่ำไว้ไม่น้อยกว่า 50 กลุ่ม กระจายอยู่ในพื้นที่ 30 จังหวัด และขณะนี้บริษัทฯ ได้ขยายผลการส่งเสริมไปสู่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยร่วมกับ ส.ป.ก. สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มดีและอนาคต สดใส

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะรับซื้อมะม่วงเกรด B จากเกษตรกร ประมาณ 8-10 ตัน/วัน เพื่อนำมาตัดแต่งและผลิตเป็นมะม่วงแช่แข็งส่งออก ซึ่งผู้นำเข้าจะกระจายสินค้าไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต ชั้นนำโดยเฉพาะในกรุงโตเกียว ตลาดให้การตอบรับดีมาก มะม่วงมหาชนกถือเป็นสินค้าใหม่ที่น่าจับตา เพราะตลาดเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคในญี่ปุ่นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพตามเงื่อนไขของผู้นำเข้า เพื่อครองตลาดเอาไว้.

ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:24 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

อบแห้งเนื้อมังคุดด้วยเครื่องอบแห้งลมร้อน
พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดใหม่


Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

ในช่วงฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี เกษตรกรจะประสบกับปัญหาผลไม้ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวมีปริมาณมากจนเกิดภาวะล้นตลาด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ลำไย และมังคุด เป็นต้น ถึงแม้จะมีการจำหน่ายในรูปของผลผลิตสดทั้งภายในและนอกประเทศก็ตาม ก็ยังไม่สามารถระบายผลผลิตออกสู่ตลาดได้หมด โดยเฉพาะในฤดูผลผลิตปี 2550 ราคามังคุดตกต่ำจนเกษตรกรไม่สามารถจะจ้างแรงงานเก็บผลผลิตออกมาจำหน่ายได้ ราคาจำหน่ายในสวนอยู่ระหว่าง 1-5 บาท/กก. ดังนั้นเกษตรกรจำต้องปล่อยให้ร่วงหล่นอยู่โคนต้นอย่างน่าเสียดาย

นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตลอดเวลากรมฯ ได้พยายามหาทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตตกต่ำด้วยการแปรรูปผลผลิต โดยเฉพาะการอบแห้งด้วยลมร้อนซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการที่มีศักยภาพสูงในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อบแห้งสามารถเก็บไว้จำหน่ายได้ทุกฤดูกาล เป็นการช่วยพยุงราคาผลผลิต และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของการแปรรูปผลผลิตเกี่ยวกับการอบแห้งด้วยลมร้อน กรมฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยมาหลายเรื่องแล้ว เช่น การแปรรูปเนื้อลำไยอบแห้ง ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอันมาก และเป็นผลิต ภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรกระจายผลผลิตไม่เฉพาะในช่วงฤดูลำไยให้ผลผลิตเท่านั้น

สำหรับมังคุด เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาของผลไม้ มีความต้องการบริโภคสูงทั้งในและนอกประเทศเช่นเดียวกับทุเรียนและลำไย แต่ในปี 2550 ผลผลิตมังคุดออกมาล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำอย่างมาก เกษตรกรต้องประสบภาวะขาดทุนได้รับ ความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ถ้าหากสามารถแปรรูปมังคุดได้ในรูปแบบหลากหลายมากกว่าปัจจุบัน เช่น ไวน์มังคุด มังคุดกวน ซึ่งมีผู้บริโภคไม่มากนัก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แปรรูปมังคุดเป็นมังคุดอบแห้งด้วยวิธี Freeze- Dry แต่มังคุด Freeze-Dry มีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง เพราะ ใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูง ไม่สามารถเผยแพร่สู่กลุ่มเกษตรกรได้อย่างแพร่หลายและตลาดค่อนข้างแคบ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมจึงได้ดำเนินการศึกษาเทคโนโลยีการอบแห้งมังคุดด้วยลมร้อน เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดใหม่ โดยใช้อุปกรณ์การอบแห้งด้วยลมร้อนที่เกษตรกรใช้กันอยู่ทั่วไป

นายพุทธินันทร์ จารุวัฒน์ วิศวกรการเกษตร 6 กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กับคณะ ได้ทำการศึกษาเทคนิคการอบแห้งเนื้อมังคุด แบบใช้อุณหภูมิในการอบ 2 ช่วง คือช่วงแรกใช้อุณหภูมิสูง เนื่องจากเนื้อมังคุดมีความชื้นสูง และใช้อุณหภูมิต่ำลงในช่วงที่สอง ทำให้สามารถอบแห้งเนื้อมังคุดโดยใช้เวลาที่สั้นลงเมื่อเทียบกับการอบแห้งแบบใช้อุณหภูมิเดียว ซึ่งมังคุดอบแห้งที่ได้จะมีคุณภาพดี ช่วยลดต้นทุนการผลิตและสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตต่อวันได้

นายพุทธินันทร์ กล่าวว่า “การอบจะ ใช้หลักการอบแบบอบเนื้อลำไยทั่วไป ตู้อบจะต้องเป็นตู้อบแบบเครื่องอบแห้งด้วยลมร้อน ที่มีถาดวางเป็นชั้น ๆ สำหรับใส่เนื้อลำไย เราแกะผลมังคุดเอาเนื้อออก ซึ่งเป็นเนื้อพร้อมเมล็ด ใส่เข้าไปในถาดแต่ละชั้นแล้วเอาเข้าตู้อบ ในการอบนี้ได้ศึกษาขั้นตอนการอบพบว่า การอบจะใช้เวลาการอบแห้งทั้งหมด 10 ชั่วโมง และแบ่งเวลาในการอบเป็น 2 ช่วง ซึ่งมีขั้นตอนการอบ ดังนี้

ผลมังคุดสด 10 กก. แกะเปลือกออกเหลือเนื้อมังคุดพร้อมเมล็ดหนัก4กก. ความชื้นประมาณ 75% ทำการอบแห้งเนื้อพร้อมเมล็ด ใช้เวลาในการอบแห้งทั้งหมด 10 ชั่วโมง แบ่งเป็นช่วงแรกใช้อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมง และช่วงที่สองใช้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส 8 ชั่วโมงภายหลังการอบแห้ง เนื้อและเมล็ดมังคุดจะแห้งเป็นเนื้อเดียวกัน ได้เนื้อมังคุดอบแห้งประมาณ 1 กก. ความชื้นสุดท้ายประมาณ 13% เป็นความชื้นที่กำลังพอเหมาะ ผลิตภัณฑ์มังคุดอบแห้งที่ได้มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวจากเนื้อมังคุดและยังมีความมันจากเมล็ดมังคุดอีกด้วย เนื้อมังคุดอบแห้งมีต้นทุนการแปรรูปประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม ไม่รวมค่าผลมังคุดสด 10 กก.

ผู้ที่สนใจขอทราบรายละเอียดได้ที่กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2529-0663-4, 08-9172-6270 ได้ทุกวันในเวลาราชการ.

ที่มา : www.dailynews.co.th


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 18/04/2010 9:42 pm, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:25 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เพชรปากช่อง’ และ ‘เนื้อทอง’ น้อยหน่าลูกใหญ่ เนื้อมาก เมล็ดน้อย

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

ปี 2536 สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มโครงการวิจัยเรื่อง การปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลสกุลน้อยหน่า (Annona breeding) เพื่อที่จะสร้างสายพันธุ์น้อยหน่าลูกผสม “อะติมัวย่า” ขึ้นมาใหม่ให้มีคุณภาพดีกว่าพันธุ์เดิม คือ ให้ได้ผลขนาด 250-400 กรัม เนื้อมากเมล็ดน้อย ผลไม่แตกเมื่อแก่จัด ความหวานไม่น้อยกว่า 15 บริกซ์ และมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวยาวนาน ซึ่งปัจจุบันสามารถคัดเลือกพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะดีกว่าพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่ ตรงตามความต้องการ จำนวน 15 สายพันธุ์ และพันธุ์ดีที่สุดที่เหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทยซึ่งได้ทำการเผยแพร่ให้กับเกษตรกรไปทดลองปลูกแล้วคือพันธุ์ “เพชรปากช่อง”

รศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร และนายเรืองศักดิ์ กมขุนทด จากสถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า “น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง” เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ (Cherimoya x หนังครั่ง) x หนังเขียว # 102 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะของใบขนาดกลาง รูปหอก กว้าง 7.4 ซม. ยาว 14.9 ซม. สีเขียวเข้มเส้นใบเด่นเห็นชัด ทรงพุ่มโปร่งปานกลาง ดอกใหญ่สั้น กว้าง 0.9 ซม. ยาว 2.8 ซม. ผลใหญ่รูปหัวใจ เฉลี่ยกว้าง 9.0 ซม. ยาว 9.7 ซม. น้ำหนักผลเฉลี่ย 373.9 กรัม/ผล ผิวผลเรียบ มีร่องตาตื้นคล้ายน้อยหน่าหนัง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดสีเขียวอ่อนถึงขาวนวล เปลือกบางลอกเปลือกได้ ผลไม่แตกเมื่อแก่จัดหรือสุก เนื้อเหนียวแน่นคล้ายหน้าหน่าหนังสีเขียว ปริมาณเนื้อ73% เมล็ดสีน้ำตาลอ่อนเฉลี่ย36เมล็ด/ผล รสชาติหวานหอม ความหวาน20บริกซ์ อายุหลังเก็บเกี่ยวยาวนาน เฉลี่ย 4-9วัน และเมื่อต้นมีอายุ2ปีหลังปลูกและตัดแต่งกิ่งแล้ว สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ตลอดทั้งปี การติดผลดกกระจายทั่วต้น ขนาดผลสม่ำเสมอ ผลผลิตโดยเฉลี่ย 2.2 กก./ต้น/ปี อายุ3ปี เฉลี่ย 4.4กก./ต้น/ปี และอายุ4ปี เฉลี่ย37.9 กก./ต้น/ปี”

“นอกจากพันธุ์เพชรปากช่องแล้ว ยังมีอีกหนึ่งพันธุ์ คือ “พันธุ์เนื้อทอง” เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ (Cherimoya x หนังเขียว) x หนังเขียว # 31 เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะของใบขนาดใหญ่ รูปหอก กว้าง 9.8 ซม. ยาว 18.3 ซม. ใบสีเขียวออกเหลืองเส้นใบเด่นเห็นชัดทรงพุ่มโปร่ง ดอกใหญ่สั้น กว้าง 0.8 ซม. ยาว 2.9 ซม. ผลใหญ่รูปหัวใจเฉลี่ย กว้าง 8.8 ซม. ยาว 9.9 ซม. น้ำหนักผลเฉลี่ย 489 กรัม/ผล ผิวผลเรียบไม่มีร่องตา ผลอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จัดสีขาวนวลถึงเหลืองอ่อน เปลือกหนา มีส่วนของเม็ดทรายอยู่ระหว่างเปลือกด้านในกับเนื้อ เนื้อสามารถแยกออกเป็นพูได้ไม่ติดกัน ปริมาณเนื้อ 64% ผลไม่แตกเมื่อแก่จัดหรือสุก เมล็ดสีดำเฉลี่ย42เมล็ด/ผล รสชาติหวานหอม ความหวาน 20 บริกซ์ อายุหลังเก็บเกี่ยวยาวนาน เฉลี่ย 4.5วัน เมื่อต้นมีอายุ2ปี หลังปลูกและตัดแต่งกิ่งแล้ว สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ตลอดทั้งปี การติดผลกระจายทั่วต้น ขนาดผลสม่ำเสมอผลผลิตโดยเฉลี่ย 1.8กก./ต้น/ปี อายุ3ปี เฉลี่ย2.14 กก./ต้น/ปี และอายุ4ปี เฉลี่ย18.62กก./ต้น/ปี”

รศ.ฉลองชัย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “น้อยหน่าสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ดินเหนียวจัด จนถึงดินทรายหรือดินลูกรัง แต่ชอบที่สุดคือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี หรือมีค่า pH 5.5-7.5 ส่วนอากาศที่เหมาะสมคืออากาศร้อน-แห้ง แต่จะไม่ค่อยชอบอากาศหนาวจัดหรือฝนตกชุกมากเกินไป เนื่องจากน้อยหน่าต้องการความแห้งแล้งพอสมควรเพื่อการสะสมอาหารและทิ้งใบ เมื่อทิ้งใบแล้วจะแตกกิ่งใหม่พร้อมกับมีดอกออกมาด้วย โดยธรรมชาติใบจะร่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม-มกราคม แล้วแตกกิ่งใหม่พร้อมดอกในเดือนกุมภาพันธ์ เก็บผลได้ในราวปลายเดือนมิถุนายน-กันยายน ของทุกปี เกษตรกรมีความพึงพอใจกับผลผลิตเป็นอย่างมากเพราะสามารถขายได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ 50-70บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และนอกจากจะจำหน่ายผลผลิตได้แล้วยังสามารถขยายพันธุ์เพาะต้นกล้าออกขายได้อีก”

“สำหรับการดูแลรักษาและให้น้ำ ต้องกะระยะปลูกให้ห่างกันโดยประมาณ ใส่ปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วประมาณครึ่งบุ้งกี๋ เอาหน้าดินลงคลุกกับปุ๋ยในหลุม แล้วปลูกต้นกล้าลงไปให้ต้นตั้งตรงกลบดินคืนให้แน่น ใช้เศษหญ้าแห้ง ฟางแห้ง หรือแกลบคลุมหน้าดินรอบ ๆ โคนต้น ควรปลูกในช่วงฤดูฝนเพื่อให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น และช่วงหลังปลูกถึง1ปี ในหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ควรให้น้ำช่วย พอมีอายุเกิน1ปี ต้นจะสามารถช่วยตัวเองได้และเริ่มติดผลในปีที่ 2 วิธีการให้น้ำอาจใช้วิธีการให้แบบร่องใช้สายยางปล่อยรดบริเวณโคนต้นให้แบบฝนเทียมหรือแบบน้ำหยดก็ได้”

รศ.ฉลองชัยได้แนะนำว่า “การดูแลให้ได้ผลผลิตน้อยหน่าที่สมบูรณ์ ต้องทำการตัดแต่งกิ่ง เมื่อติดผล ให้ตัดแต่งผลที่รูปร่างบิดเบี้ยวออกให้เหลือแต่ผลรูปทรงที่ดีไว้ นอกจากนี้ต้องป้องกันโรคและแมลง เช่น หนอนผีเสื้อ แมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทอง และเพลี้ยต่าง ๆ โดยใช้ถุงใยสังเคราะห์หรือถุงผ้าซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายของเคมีเกษตรทั่วไปห่อหุ้มผลน้อยหน่าเมื่อมีขนาดเท่าลูกมะนาว หรืออาจใช้แรงงานคน เครื่องจักรกล หรือสารเคมีฉีดพ่นเพื่อการดูแลรักษาก็ได้”

เกษตรกรและผู้บริโภคที่ต้องการปลูกน้อยหน่าลูกผสมพันธุ์ใหม่ของ มก. ทั้ง “เพชรปากช่อง” และ “เนื้อทอง” ที่มีความพิเศษตรงที่ให้ผลใหญ่ เนื้อมาก แต่เมล็ดน้อย สามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ โทร. (044) 311-796 หรือที่ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มก.โทร.0-2579-0308.

ที่มา : www.daily.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:26 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ปลูกข่าหยวกดูแลรักษาน้อย ผลผลิต 6,000 กิโลกรัมต่อไร่

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

อาชีพ การปลูกข่า มีกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยพื้นที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา, อ่างทอง, เพชรบูรณ์, ราชบุรี, อุบลราชธานีและนครสวรรค์ เป็นต้น คุณอำพัน เทพรักษ์ อยู่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ 3 ต.บ้านแก่ง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีอาชีพทำนามานานและเคยเป็นหนึ่ง ในชาวนาที่เคยเป็นหนี้จากการทำนานับแสนบาท โดยพื้นที่เกษตรกรรมมีโอกาสเสี่ยงต่อน้ำท่วมทุกปี จึงได้คิดหาอาชีพเสริมด้วยการเริ่มต้นปลูกข่าในพื้นที่ 1 งาน ผลปรากฏว่ารายได้จากการปลูกข่าเพียง 1 งาน ทำรายได้ดีกว่าการทำนาและมีการดูแลรักษาน้อยกว่า จากอาชีพเสริมมาสู่อาชีพหลัก ปัจจุบันคุณอำพันได้ขยายพื้นที่ปลูกข่าในพื้นที่ 5 ไร่ และในพื้นที่ 1 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,000-6,000 กิโลกรัม

คุณอำพัน บอกถึงเหตุผลที่ปลูกข่าหยวกทั้งหมด เพราะเป็นข่าที่มีลักษณะของเหง้าใหญ่, สีแดงออกชมพู, มีกลิ่นฉุน ตลาดต้องการข่าชนิดนี้มากที่สุด สภาพดินที่เหมาะต่อการปลูกข่ามากที่สุดควรเป็นดินร่วนปนทรายและจะต้องไม่มีน้ำท่วมขัง การเตรียมดินมีการไถดะ, ไถแปรและพรวนชักร่องเหมือนกับการปลูกอ้อย ระยะปลูกที่นิยมคือ 80x80 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 2,500 หลุม ต้นพันธุ์ที่จะใช้ปลูกจะใช้เหง้าอ่อนหรือเหง้าแก่ก็ได้ โดยมีข้อเด่นและข้อด้อยต่างกันคือ เมื่อใช้เหง้าอ่อนจะเจริญเติบโตเร็วในช่วงแรกแต่จะต้องซื้อพันธุ์ด้วยต้นทุนสูง ในกรณีที่ใช้เหง้าแก่จะเจริญ เติบโตช้ากว่าหน่ออ่อน แต่ลงทุนค่าพันธุ์ถูกกว่าหน่ออ่อนเท่าตัว (ถ้าใช้หน่ออ่อนทำพันธุ์จะนิยมเหมาซื้อ โดยพื้นที่ปลูก 1 งาน ใช้ค่าหน่อพันธุ์เป็นเงิน 6,000 บาท) คุณอำพันยังได้บอกว่าข่าที่ปลูกไปแล้วจะเริ่มขุดขายเมื่อมีอายุตั้งแต่ 8 เดือน และจะทยอยขุดขายไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 2 ปี ช่วงที่เหมาะต่อการขุดข่าขายและมีน้ำหนักดีได้กำไรมากที่สุดควรขุดในช่วงอายุ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง ใน 1 กอ จะได้ข่าที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 8-10 กิโลกรัม และมีสัดส่วนของข่าอ่อนประมาณ 70% และข่าแก่ประมาณ 30% ถ้าเกษตรกรขุดข่าเมื่ออายุตั้งแต่ปีครึ่งขึ้นไปจะมีสัดส่วนของข่าแก่มากกว่าข่าอ่อนตามลำดับ ในการขุดข่าขายดินจะต้องมีความชื้นจึงจะง่ายต่อการขุด ในการขุดแต่ละครั้งจะมีออร์เดอร์สั่งมา จะขุดวันต่อวันเพื่อความสดและจะขุดในช่วงเช้า

คุณอำพันยังได้บอกถึงเคล็ดลับในการรักษาสภาพของเหง้าข่าให้คงความสดและ สีสวยอยู่ได้นานจนถึงปลายทาง ด้วยการตัดแต่งรากและเหง้าให้เสร็จเรียบร้อย นำเหง้าข่าจุ่มลงในน้ำสะอาดที่กวนด้วยสารส้ม (น้ำสารส้มจะช่วยรักษา เหง้าข่าให้ดูสดและสีสวย) หลังจากนั้นบรรจุข่าลงถุงพลาสติกใสน้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อถุง พ่อค้าจะมารับสินค้าในช่วงเวลาบ่ายเพื่อนำไปส่งยังตลาด ต่อไป โดยเฉลี่ยราคารับซื้อข่าอ่อนจะเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาทและจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 15 บาทในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ และสงกรานต์ สำหรับข่าแก่จะขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3-5 บาท.

ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:27 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

นักวิจัยแม่โจ้ยืนยันผลวิจัย ‘ฉี่คน’ ใช้แทนปุ๋ยเคมีหรือรดแทนน้ำได้ผลผลิตดี

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

จากการศึกษาของคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำโดย รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้เชี่ยวชาญการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับโครงการหลวงมาอย่างต่อเนื่อง และคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโครงการ “การ ใช้สิ่งขับถ่ายของมนุษย์ในด้านการเกษตรอย่างปลอดภัย” ได้เปิดเผยผลงานวิจัยล่าสุดที่ให้ข้อมูลยืนยันอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับ “ฉี่คน” ดังนี้

รศ.ดร.อานัฐ ตันโช กล่าวว่า ปัสสาวะมนุษย์ หรือ “ฉี่คน” ได้มีการนำมาใช้ปลูกพืชมานานแล้ว ทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศที่ยังไม่ค่อยพัฒนา ซึ่งในบางประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นพบว่ามีการใช้กันถึงระดับเป็นอุตสาหกรรมเลยทีเดียว แต่อาจไม่มีการกล่าวอ้างกันอย่างเป็นทางการเนื่องจากทัศนคติของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ โดยส่วนใหญ่จะใช้กับการปลูกข้าวโพดไร่ และพืชผักที่รับประทานใบ ซึ่งพบว่าการใช้ฉี่คนมาปลูกพืชนั้นสามารถทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดีและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนไม่มีเชื้อก่อโรคเหมือนกับในกรณีของอุจจาระมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบว่า ปริมาณธาตุอาหารในฉี่คนนั้นเพียงพอในการปลูกพืชโดยแทบที่จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ในฉี่คนนั้นประกอบด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช เช่น ไนโตรเจน โพแทสเซียมและฟอสฟอรัส รวมทั้งธาตุอาหารรองและจุลธาตุอื่น ๆ อย่างครบถ้วน ตามที่เพิ่งมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่าฝรั่งเองก็พบว่า “ฉี่คน” มีประโยชน์จริงคือ ทำให้พืชผักโต แมลงศัตรูรบกวนน้อย

นายดนตรี รุ่งเรือง ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาอัตราความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อการใช้น้ำปัสสาวะในการปลูกข้าวโพดหวาน โดยกำหนดอัตราส่วนความเข้มข้นเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อผสมกับน้ำโดยกำหนดดังนี้ 0, 5, 10, 15, 20, 25, 30, 35, 40, 45 และ 50 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ (ดังในภาพ)

สาเหตุที่ไม่ใช้อัตราความเข้มข้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเพราะว่าถ้าใช้เกินอัตรานี้แล้วจะพบอาการความเป็นพิษต่อต้นกล้า มีผลทำให้เกิดการชะงักการเจริญเติบโตหรืออาจตายได้

ผลวิจัยปรากฏว่า “ฉี่คน” สามารถทำให้ต้นข้าวโพดเจริญเติบโตมากกว่าส่วนที่ไม่ใช้ฉี่คน และพบว่าต้นข้าวโพดนั้นมีการเจริญเติบโตตอบสนองเป็นขั้นบันได โดยในแต่ละแปลงทดลองนั้นมีการเจริญเติบโตตามระดับความเข้มข้นที่ได้รับ ซึ่งจากรูปจะเห็นว่ามีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และพบว่าการใช้ “ฉี่คน” ในอัตราความ เข้มข้นที่ 40 เปอร์เซ็นต์นั้นจะส่งผลให้ต้นข้าวโพดมีการเจริญเติบโตดีที่สุด โดยพบว่า มีความสูงของต้น ความกว้างของทรงพุ่ม จำนวนใบ และขนาดของฝักมากที่สุด

ที่สำคัญยังพบว่า ระหว่างการทดลองนั้นไม่พบแมลงเข้ารบกวนเลย และหลังจากการทดลองได้มีการนำ “ตัวอย่างดิน” และ “ต้นข้าวโพด” ไปทำการตรวจเชื้อก่อโรค ผลปรากฏไม่พบเชื้อก่อโรคแต่อย่างใด

จากผลการทดลองดังกล่าว ทำให้คณะวิจัยสามารถสรุปในขั้นต้นได้ว่า การใช้ “ฉี่คน” ในการปลูกพืชนั้นสามารถนำมาใช้ได้ แต่ควรมีการปรับระดับความเข้มข้นให้เหมาะสมก่อนการนำมาใช้ดีกว่าการนำมาใช้โดยตรง ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิด และช่วงอายุของพืชอีกด้วย

โดยในปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการนำ “ฉี่คน” มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากขาดข้อมูลการวิจัยทดสอบอย่างเป็นทางการ และที่ผ่านมาก็ถือว่ายังไม่มีเหตุผลที่จำเป็นในการใช้ “ฉี่คน” ในการปลูกพืช แต่ในปัจจุบันวิกฤติการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลดังที่ทราบกัน ทำให้คณะวิจัยได้ทำการทดลองเพื่อให้เกิดผลการยืนยันที่ชัดเจนขึ้นในครั้งนี้

นายดนตรีกล่าวว่า “หากในอนาคตประเทศเราต้องประสบกับภาวะการขาดแคลนน้ำทางด้านการเกษตรอย่างรุนแรง และปุ๋ยเคมีมีราคาที่สูงมากจนไม่สามารถซื้อได้ “ฉี่คน” อาจจะเป็นทางออกทางหนึ่งของการเกษตรไทยในอนาคตก็เป็นได้”

หากเกษตรกรหรือหน่วยงานองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผลการทดลองดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายดนตรี รุ่งเรือง คณะวิจัยโครงการ “การใช้สิ่งขับถ่ายของมนุษย์ในด้านการเกษตรอย่างปลอดภัย” ภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 08-5059-5004.

ที่มา : www.dalinews.co.th


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 18/04/2010 9:34 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:29 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เส้นทางส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปตลาดสหรัฐ
อีกหนึ่งความหวังของเกษตรกรชาวผลไม้ไทย


Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

ในที่สุดการส่งออกผลไม้สดฉายรังสีของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จเมื่อกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ได้รับรองโรงงานฉายรังสีผลไม้ของไทยเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมาและไทยก็ได้ส่งออกผลไม้ฉายรังสีลอตแรกไปยังสหรัฐ เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550

สรพล เถระพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นว่าตลาดสหรัฐเป็น ตลาดที่มีอนาคตสดใส เนื่องจากปัจจุบันร้านอาหารไทยในสหรัฐมีจำนวนกว่า 5,000 ร้าน เฉพาะในแอลเอมีถึง 300ร้าน ยังไม่รวมร้านค้าปลีกไทยและร้านของคนเอเชียอีกจำนวนมาก จึงได้จัดทำโครงการนำร่องส่งออกผลไม้ 6ชนิดได้แก่ มังคุด มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และ สับปะรด ด้วยวิธีฉายรังสีไปยังสหรัฐ เพื่อให้คงรสชาติที่หอมหวาน คงคุณค่าและคุณภาพให้นานขึ้นตามความต้องการของตลาด

สำหรับขั้นตอนในการส่งออกผลไม้ไปยังสหรัฐมี 7 ขั้นตอนด้วยกันคือ

1. ผู้ส่งออกจะต้องมีโรงงานคัดบรรจุ ผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากกรมวิชาการเกษตร โดยจะต้องเป็นโรงงานของผู้ส่งออกหรือเป็นโรงงานที่ผู้ส่งออกจ้างคัดบรรจุก็ได้ แต่จะต้องปรับปรุงโรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขป้องกันแมลง คือเป็นโรงงานระบบปิด ประตูจะต้องเป็นประตูสองชั้น และมีตาข่ายกันแมลงทุกช่องทางที่เปิดให้อากาศถ่ายเท

2. ผู้ส่งออกจะต้องมีสวนผลไม้ที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร โดยมีการทำความตกลงหรือจะเป็นสัญญาก็ตามเพื่อให้มีผลไม้ที่มีคุณภาพเพื่อการฉายรังสีส่งออก

3. หลังจากนั้นผู้ส่งออกจะต้องนำเอก สารสำเนา GMP ของโรงงานคัดบรรจุ และสำเนา GAP ของสวนไปจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลไม้ไปสหรัฐอเมริกาที่ศูนย์บริการทางวิชาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ กรมวิชาการเกษตร เพื่อรับการตรวจสอบก่อนส่งข้อมูลให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกา เป็นหลักฐานโดยจะต้องส่งให้สหรัฐอเมริกาล่วงหน้า 30 วันก่อนการเปิดฤดูการส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจึงจะมีสิทธิส่งออกต่อไป โดยผลผลิตต้องมาจากสวนที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น

4. เมื่อขั้นตอนการจดทะเบียนเรียบร้อย ต่อไปก็เป็นการคัดเลือกผลไม้ให้ได้ขนาดและมาตรฐานที่กำหนดในการฉายรังสี ทำความสะอาดเพื่อกำจัดแมลงแล้วบรรจุในกล่องที่มีอากาศถ่ายเทได้ แต่จะต้องมีตาข่ายกันแมลงกั้นในช่องระบายอากาศด้วย ซึ่งบนกล่องจะต้องแสดงรหัสโรงงานคัดบรรจุ และรหัสสวน คือรหัส GMP และ GAP นั่นเอง เมื่อบรรจุเรียบร้อยก็พร้อมที่จะขนส่งเข้าฉายรังสีต่อไป

5. ก่อนที่จะเข้าฉายรังสี โรงงานคัดบรรจุจะต้องติดต่อศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร เพื่อทำสัญญาการฉายรังสีตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้โรงงานฉายรังสีสามารถจัดลำดับการฉายรังสีและกำหนดปริมาณผลผลิตที่จะเข้าฉายรังสีให้แก่ผู้ประกอบการทุกรายที่ยื่นคำขอเสียก่อน แต่เนื่องจากผลไม้ฉายรังสีเป็นสินค้าที่ต้องมีฉลากตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ดังนั้น ก่อนที่จะนำผลไม้เข้าฉายรังสีได้ โรงงานคัดบรรจุในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจะต้องติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหากเป็นโรงงานคัดบรรจุในต่างจังหวัดก็จะต้องติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการอาหารฉายรังสี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และนำเลขสารบบอาหารที่ได้จากการขึ้นทะเบียนซึ่งก็คือรหัสอีกตัวหนึ่งแสดงบนฉลากบนกล่องผลไม้นั้นด้วย

6. เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็นำผลไม้เข้าฉายรังสีตามวันเวลาที่ได้ทำสัญญากับโรงงานฉายรังสี ซึ่งขั้นตอนในโรงงานฉายรังสีนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจสอบผลไม้และควบคุมกระบวนการฉายรังสีให้ถูกต้องตามวิธีการฉายรังสีผลไม้เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช ก่อนที่ศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรจะออกใบรับรองการฉายรังสีให้ ประกอบการส่งออกต่อไป

7. เมื่อฉายรังสีเสร็จเรียบร้อย ผู้ส่งออกก็จะต้องขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อประกอบใบกำกับสินค้าซึ่งสามารถออกให้ได้โดยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรที่เป็นผู้ตรวจสอบ ณ โรงงานฉายรังสี หรือจะไปขอรับการตรวจสอบที่ด่านทั้งที่ท่าอากาศยานหรือท่าเรือก็ได้ เมื่อเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย ผลไม้ก็จะถูกขนส่งไปถึงผู้นำเข้าที่สหรัฐอเมริกาได้โดยสะดวก

ส่วนผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการผลไม้ฉายรังสีเพื่อการส่งออก สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โทร. 0-2629-8970, 0-2629-8977ศูนย์บริการทางวิชาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-0151 ต่อ 305, 0-2579-6134 ศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร โทร. 0-2577-1944-5 ทั้งนี้สำหรับผู้นำเข้าในสหรัฐอเมริกา และผู้ที่พักอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โทร. (202) 338-1543, (202) 338-1545.

ที่มา : www.dalinews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:30 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

แปลงผักลอยน้ำจากผักตบชวา แม่แบบใช้วัชพืชให้เป็นคุณ

Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์

วันก่อนมีโอกาสเดินทางไปกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าในงานของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าหลายโครงการมีความคืบหน้าและยังผลซึ่งการสามารถใช้พื้นที่เพื่อการทำกินของประชาชนได้อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีหลายโครงการที่สามารถนำมาเป็นแม่แบบในการพัฒนาให้กับพื้นที่ในภาคอื่น ๆ ของประเทศได้อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระ ราชทานพระราชดำริ ให้หาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่มากถึง 1.9 ล้านไร่ ทางกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การประสานงานของสำนักงาน กปร. ได้สนองพระราชดำริโดยก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิขึ้น เมื่อปี 2539 ที่บ้านบางปี้ ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีช่องระบายน้ำรวม 10 ช่อง ขนาดกว้างช่องละ 20 เมตร สูง 9 เมตร ติดตั้งบานประตูบานเดี่ยว 6 บาน บานคู่ 4 บาน เพื่อปิด- เปิด บังคับน้ำ สามารถระบายน้ำได้ 1,430 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที เริ่มใช้งาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีการใช้งาน มาระยะหนึ่งก็พบว่าปริมาณผักตบชวาในลำคลองชลประทานมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบในการกักเก็บน้ำเกิดอุปสรรค ในการทำประมง และการสัญจรทางน้ำ การชลประทาน จนเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในลำคลอง ซึ่งจากข้อมูลของกรมชลประทานปี 2550 พบว่า ในลำคลองสาขาที่มีการสำรวจ 19 สาย มีผักตบชวาจำนวน 76,540 ตัน

เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทางโครงการฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้การจัดผักตบชวาขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประสานงาน แหล่งการเรียนรู้ ฝึกอบรมชุมชน และการศึกษาวิจัย ในการจัดการเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวา โดยการผสมผสานเทคนิควิธีการจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และภูมิปัญญาของชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการจัดการ เช่น การใช้ผักตบชวาสำหรับทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำแปลงผักลอยน้ำ การทำแปลงทดสอบคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวา การทำหัตถกรรม การศึกษาวิจัยการคัดสายพันธุ์จุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายผักตบชวา และเป็นศูนย์รับซื้อและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาของชุมชนจากพื้นที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดย มีจำนวน 10 กลุ่ม กระจายตามลำคลองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีการดำเนินงานร่วมกับ อบต. ในการเอาผักตบชวาขึ้นเองจากลำคลองชลประทาน

นายสมศักดิ์ บรมธนรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง เปิดเผยว่าปุ๋ยจากผักตบชวาในตอนนี้ราคาดีขายได้กระสอบละ 50 บาท และแตกต่างจากปุ๋ยอินทรีย์ทั่ว ๆ ไป คือมีไนโตรเจนสูงกว่าปุ๋ยปกติ เนื่องจากผักตบชวามีธาตุอาหารในตัวเองอยู่แล้ว

และการนำผักตบชวามาทำปุ๋ยอินทรีย์ และปรับปรุงพื้นที่ในน้ำด้วยการใช้ ผักตบชวามาทำเป็นแปลงปลูกผักลอยน้ำ สามารถปลูกผักนานาชนิดได้เป็นอย่างดี ให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ ลดค่าใช้จ่ายทั้งปุ๋ยเคมีและน้ำ เนื่องจากรากของต้นพืชจะชอนไชลงไปหาน้ำได้สะดวก ขณะที่สามารถใช้ผักตบชวาที่ปรับปรุงเป็นแปลงกลางน้ำสำหรับการยึดเกาะ และเป็นแหล่งอาหารเพื่อการเจริญเติบโตแทนดินซึ่งคุณปิยะ วันเพ็ญ หัวหน้าศูนย์บริการ การมีส่วนร่วมชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่าการทำแปลงผักลอยน้ำนั้นไม่ต้องลงทุนมากนัก ไม่เปลืองแรงงาน ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เนื่องจากมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ และไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงศัตรูพืช

สำหรับขั้นตอนในการทำแปลงนั้นเริ่มต้นด้วยการนำไม้ไผ่มากั้นเป็นบล็อกแล้วรวบรวมผักตบชวามาอัดแน่นเข้าด้วยกันขนาดกว่าประมาณ 2 เมตร ยาว 8 เมตร หนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร ใช้เท้าเหยียบให้แน่น แล้วนำผักตบชวามาอัดเพิ่มแล้วเหยียบอีก ทำอย่างนี้ทุก ๆ ระยะ 20 เซนติเมตรจนได้ความหนาที่ 1 เมตร จากนั้นใช้มีดสับผักตบชวาที่อยู่ตอนบนให้ละเอียดเพื่อสะดวกต่อการปลูกผัก ในการทำแปลง 1 แปลงจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงใช้ผักตบชวาประมาณ 2,000 กิโลกรัม

ผักที่เหมาะสมต่อการปลูกกับแปลงผักตบชวาลอยน้ำจะมีหลายชนิดด้วยกัน อาทิ แตงกวา ผักกาด ผักคะน้า และผักบุ้งจีน ปลูกประมาณ 25-40 วันก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ แปลงหนึ่ง ๆ จะสามารถขายได้ประมาณ 800 ถึง 1,000 บาทที่ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ20บาท สำหรับแตงกวาใช้เวลาปลูกประมาณ30วัน ให้ผลผลิตประมาณ 50 กิโลกรัมต่อแปลง ขายได้ประมาณ 1,000 บาท ต่อแปลงที่ราคาขายกิโลกรัมละ20บาท ใน 1 แปลงจะสามารถปลูกหมุนเวียนได้ประมาณ 3-4รุ่น และเมื่อหมดสภาพแล้วก็นำขึ้นฝั่งมาทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้สำหรับใส่ในแปลงที่สร้างขึ้นมาใหม่ต่อไป

จากผลสำเร็จในการศึกษาเรื่องนี้ยังผลให้ประชาชนในพื้นที่ที่เคยมีปัญหาเรื่องผักตบชวาในคลองชลประทาน ก็หมดความกังวล ตรงกันข้ามต่างก็ได้ใช้ผักตบชวามาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และจัดทำแปลงเพื่อเพาะปลูกพืชผักยังผลมาซึ่งรายได้อย่างทั่วถ้วนทีเดียว

เกษตรกรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจในเรื่องนี้ต้องการนำผลการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ไปใช้ในพื้นที่ของตนที่ประสบกับปัญหาเรื่องผักตบชวา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่ สำนักงาน กปร. ทำเนียบรัฐบาล.


ที่มา : www.dailynews.co.th
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:32 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เปลี่ยนมลพิษจากการเผา ฟางข้าว เป็น พลังงานทดแทน

Contributed by อรวรรณ มัชฌิมาจิต

ภายหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว สิ่งที่เหลือทิ้งและไม่มีใครต้องการ คือ ฟางข้าว แม้ว่าการจัดการกับฟางข้าวเหลือทิ้งจะมีหลายวิธี เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ ใช้คลุมหน้าดินเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น หรือ ใช้ในการเพาะเห็ด หากแต่เกษตรกรในพื้นที่นาปรังส่วนใหญ่มักใช้วิธีการ เผาฟางข้าว เนื่องจากเป็นวิธีเตรียมพื้นที่สำหรับการทำนาครั้งต่อไปที่เร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้เกษตรกรจะทราบว่าการเผาฟางข้าวก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และภาวะโลกร้อน แต่เกษตรกรเองก็ไม่มีศักยภาพที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อกำจัดฟางข้าว ดังนั้นหากสามารถเพิ่มมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ของฟางข้าวได้ จึงน่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหยุดเผาฟางข้าว และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ น.ส. ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง นโยบายเกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาผลิตพลังงานในประเทศไทย เพื่อจัดการการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวให้เหมาะสม ลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาฟางข้าว และส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลให้มากขึ้น

น.ส.ไตรทิพย์ กล่าวว่า การปลูกข้าวแต่ละพื้นที่ล้วนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการปลูกข้าว พันธุ์ข้าว สัดส่วนของปริมาณฟางข้าว การใช้ประโยชน์ และการเผากำจัด บางพื้นที่ไม่มีการนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์แต่จะเผาทิ้งทั้งหมด ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า พื้นที่ที่มีการเผาฟางข้าวและปล่อยมลพิษทางอากาศมากที่สุดมีจำนวน 12 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง เช่น ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น อีกทั้ง ภาคกลางยังมีปริมาณฟางข้าวมากกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องจากนิยมการทำนาปรัง คือ ทำนาปีละ 2-3 ครั้ง ทำให้มีฟางข้าวอยู่เป็นจำนวนมากและน่าจะเพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการผลิตพลังงาน จึงเลือกภาคกลางเป็นพื้นที่แรกในการศึกษาการวางนโยบายการนำฟางข้าวมาใช้ผลิตพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน

“การวางนโยบายด้านการพัฒนาพลังงาน จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ จากความต้องการของหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกร ต้องการแรงจูงใจสำหรับการเก็บฟางข้าวมาใช้แทนการเผาทิ้ง อาทิ รายได้จากการขายฟางข้าวที่น่าสนใจ หรือประโยชน์จากการนำฟางข้าวไปใช้เอง ด้าน ภาคธุรกิจ ต้องการแรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์ การลงทุน ความคุ้มค่า ผลตอบแทน และระยะเวลาคืนทุน ส่วน ภาครัฐ มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น ต้องการให้มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ รักษาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ หลังจากเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการศึกษาเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้กับพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีหลายเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้ เช่น เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำ โดยใช้ฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในการต้มน้ำจนกลายเป็นไอ เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากฟางข้าว ซึ่งเริ่มใช้แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เทคโนโลยีการผลิตไบโอออย หรือน้ำมันชีวภาพ เทคโนโลยีการผลิตเมทานอลจากฟางข้าว และ เปลี่ยนฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับใช้กับเซลล์เชื้อเพลิง”

การพิจารณาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้จะไม่พิจารณาเพียงเทคโนโลยีเดียว แต่จะเลือกเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกันและสามารถนำทุกส่วนของฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่น หากเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตเอทานอล วัตถุดิบการผลิตจะเป็นส่วนของเส้นใยด้านใน ส่วนผนังภายนอกเส้นใยที่มีลักษณะแข็ง จะถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า สำหรับขายเข้าสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือเป็นไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานผลิตเอทานอล

“แม้ว่าฟางข้าวจะเป็นชีวมวลที่มีพลังงานไม่มากนัก และมีความยุ่งยากในการเก็บรวบรวมเมื่อเปรียบเทียบกับชีวมวลชนิดอื่น ๆ แต่ในอนาคตอันใกล้ที่ชีวมวลอื่น ๆ ได้ถูกจับจองไปหมดแล้ว ฟางข้าวจึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งหากงานวิจัยนี้เสร็จสมบูรณ์ จะเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกและนโยบายการพัฒนาพลังงานจากฟางข้าว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่ช่วยวางแผนกลยุทธ์ด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานด้านพลังงานทดแทนได้ และหากมีการนำนโยบายการจัดการฟางข้าวไปใช้จริงในอนาคต คาดว่าจะช่วยลดมลพิษ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และช่วยเพิ่มแหล่งพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งนับเป็นการแก้ปัญหาฟางข้าวเหลือทิ้งได้อย่างยั่งยืนในที่สุด” น.ส.ไตรทิพย์ กล่าว.

ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 1 / 10 / 50
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:33 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เกษตรกรเมืองชากังราวผลิตฝรั่งแป้นสีทองส่งโรงงานแช่บ๊วย

Contributed by อรนุช เดชพิชัย

คุณสมบัติที่ดีของฝรั่งพันธุ์แป้นสีทองนอกจากจะเป็นฝรั่งที่ให้ผลผลิตดกมากและใช้เพื่อการบริโภคสดแล้ว ยังเหมาะที่จะนำไปแปรรูปเป็น “ฝรั่งแช่บ๊วย”
ด้วยเป็นฝรั่งที่มีเนื้อมาก เมล็ดน้อยเมื่อนำมาแช่บ๊วยแล้วจะเข้าเนื้อได้ดีกว่าฝรั่งสายพันธุ์อื่น ๆ หลังจากแช่บ๊วยแล้วเนื้อฝรั่งยังคงสภาพความกรอบไม่เละ รสชาติอร่อย อย่างกรณีของ คุณน้ำหวาน แก่นแก้ว บ้านเลขที่ 54 หมู่ 19 ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ปลูกฝรั่งแป้นสีทองมานาน 8 ปีจากที่เคยขายให้พ่อค้าเพื่อนำไปขายเพื่อการบริโภคสดจะได้ราคาดีช่วงที่ตลาดขาดแคลนฝรั่งเท่านั้น ช่วงที่ฝรั่งออกสู่ตลาดมาก ๆ มักจะถูกกดราคา แต่การส่งขายยังโรงงานแช่บ๊วยจะได้ราคาคงที่ตลอด ราคาขายถูก-แพงขึ้นกับขนาดของผลฝรั่งเท่านั้น ปัจจุบันคุณน้ำหวานเป็นหัวหน้ากลุ่มฯมีสมาชิกปลูกฝรั่งแป้นสีทองในเนื้อที่รวมกันประมาณ 100 ไร่เศษ

สำหรับพื้นที่ปลูกฝรั่งแป้นสีทองของ คุณน้ำหวานจะปลูกในพื้นที่ 7 ไร่ ใช้ระยะปลูก 6x5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ประมาณ 50-60 ต้น หลังจากปลูกไปได้เพียง 8 เดือน ฝรั่งก็จะเริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรก คุณน้ำหวานบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการปลูกฝรั่งให้ประสบความสำเร็จคือจะต้องมีแหล่งน้ำสำรองพอเพียงตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ในเรื่องของการดูแลรักษาคุณน้ำหวานและสมาชิกในกลุ่มจะเน้นการผลิตฝรั่งแบบชีวภาพ ใช้สารเคมีบ้างแต่ใช้ในปริมาณที่น้อยถึงแม้จะพบร่องรอยการทำลายของแมลงบ้างทางโรงงานจะรับซื้อทั้งหมด โดยโรงงานแช่บ๊วยจะรับซื้อฝรั่งแป้นสีทองโดยแบ่งออกเป็น 2 เกรด คือ ผลขนาดใหญ่ มีน้ำหนักเฉลี่ย 2 ผลต่อกิโลกรัมจะ รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 6 บาท ผลขนาดเล็กน้ำหนักผลเฉลี่ย 3 ผลต่อกิโลกรัม ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน ผลที่มีตำหนิจากโรคและแมลงแต่แผลไม่ลึกจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 4 บาทเช่นกันไม่ว่าจะเป็นผลใหญ่หรือผลเล็ก หลังจากที่นำไปแช่บ๊วยแล้วเมื่อนำไปขายถึงผู้บริโภคราคาผลใหญ่จะสูงถึงผลละ 25 บาท

ในการปลูกฝรั่งแป้นสีทองในพื้นที่ 7 ไร่ของคุณน้ำหวานจะใช้แรงงานเพียง 2 คนเท่านั้นโดยเฉพาะในช่วงห่อผลจะให้ค่าจ้างในการห่อเป็น 2 แบบ คือ แบบแรกค่าแรงห่อแบบแพ็ก ๆ ละ 40 บาท (1 แพ็กมีถุงห่อ 400-450 ใบ) วันหนึ่งถ้าคนห่อผลมีความชำนาญจะห่อได้ถึง 4-5 แพ็ก จะได้ค่าจ้าง 160-200 บาทต่อวัน แบบที่สองคิดเป็นการห่อรายวันเป็นเงิน 150 บาท ซึ่งจะห่อผลได้ประมาณ 4 แพ็ก

ทุกวันนี้ที่บ้านของคุณน้ำหวานจะเป็นที่รวบรวมผลผลิตฝรั่งแป้นสีทอง และจะต้องทำการคัดเกรดก่อนที่จะส่งเข้าโรงงานและจะต้องส่งให้เสร็จภายใน 2 วัน หลังจากที่เก็บเกี่ยวฝรั่งมา การปลูกฝรั่งแป้นสีทองส่งเข้าโรงงานแช่บ๊วยมีข้อดีที่เกษตรกรขายได้ราคาคงที่ตลอดทั้งปี.

ที่มา: เดลินิวส์ 02/10/2550


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 18/04/2010 9:28 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 18/04/2010 8:35 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เกษตรฯเดินหน้าเสนอรัฐปลูกพืช จีเอ็มโอ
มั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม



ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาการทดลองปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ในระดับไร่นา ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งยืนยันที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐบาลชุดนี้ ได้พิจารณาและวิเคราะห์เปรียบเทียบผลดี-ผลเสียต่างๆ ส่วนการพิจารณาจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจากการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลทางวิชาการต่างๆ อย่างรอบคอบ กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นทางเลือกในการปรับปรุงพันธุ์พืชวิธีหนึ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร โดยเฉพาะในส่วนของมะละกอ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

เนื่องจากหากได้รับการอนุญาตให้ทำการทดลองปลูกในระดับไร่นาได้จริง กรมวิชาการเกษตรจะกำหนดให้มะละกอทุกต้นที่ปลูกต้องเป็นมะละกอเพศเมีย ซึ่งโดยธรรมชาติจะไม่มีเกสร และยังสามารถเติบโตได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการผสมพันธุ์ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการปลิวของละอองเกสร หรือลักลอบเก็บเมล็ดมะละกอไปปลูกนอกแปลงทดลองอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอในโรงเรือนปิดอาจสามารถต้านทานโรคจุดวงแหวนได้ แต่เมื่อไม่อนุญาตให้ทำการทดลองระดับไร่นาให้ครบกระบวนการวิจัย จะไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันได้ว่าเมื่อนำมาปลูกในระดับไร่น่า ซึ่งมีสภาพใกล้เคียงกับแปลงปลูกของเกษตรกร มะละกอดังกล่าวจะยังคงสามารถต้านทานโรคจุดวงแหวนหรือไม่โดยหลักวิชาการจำเป็นที่จะต้องทำการปลูกในแปลงทดลองที่มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามข้อมูลทางวิชาการ ดังนั้นทั้ง 3 กระทรวงจึงเห็นควรที่จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาต่อไป

“กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่า การเสนอเรื่องพืชจีเอ็มโอ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอ ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของโรคจุดวงแหวนมาหลายปี นอกจากนี้วิธีการปรับปรุงพันธุ์ตามธรรมชาติก็ทำให้เกิดพืชที่มีลักษณะเดียวกับพืชจีเอ็มโอ ได้แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่าเท่านั้น จึงไม่ควรกังวลในเรื่องของการปนเปื้อนหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญกระทรวงเกษตรฯย้ำอีกครั้งว่า การอนุญาตให้ทำการปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาจะทำเฉพาะในพืชที่มีปัญหารุนแรง และไม่สามารถนำวิธีการปรับปรุงด้วยวิธีธรรมชาติมาแก้ไขได้ ที่สำคัญจะไม่ดำเนินการในพืชเศรษฐกิจหรือพืชที่ใช้บริโภคอย่างแน่นอน” ศ.ดร. ธีระกล่าว

ที่มา: สยามรัฐ
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10  ถัดไป
หน้า 9 จากทั้งหมด 10

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©