-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ข้าวหอมมะลิ....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ข้าวหอมมะลิ....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 28/06/2011 10:07 pm    ชื่อกระทู้: ข้าวหอมมะลิ.... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลำดับเรื่อง...

1. พณ.ดันหอมมะลิอินทรีย์บุกตลาดโลก
2. พัฒนาพันธุ์ข้าว "หอมมะลิ" หวังยกระดับราคาขายเทียบชั้น "บาสมาติ"
3. ข้าวกล้องหอมมะลิแดง ดังที่ท่าขุนราม
4. ข้าวกล้องหอมมะลิงอก ทางเลือกใหม่ของข้าวไทย
5. "ไวน์ข้าวกล้องหอมมะลิ (Jasmine Brown Rice Wine)”

6. น้ำและไอศครีมข้าวกล้องงอก ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแม่ดอกแดง
7. ข้าวกาบาไรซ์
8. ข้าวหอมมะลินาปรัง








--------------------------------------------------------------------------------------------------


1. พณ.ดันหอมมะลิอินทรีย์บุกตลาดโลก


นางปราณี ศิริพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯมีแผนจะผลักดันข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทยออกไปเจาะตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะเร่งทำการประชาสัมพันธ์บุกตรงไปยังประเทศที่มีความต้องการสูง โดยจะร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ทำการโปรโมตเพื่อให้ผู้บริโภครู้จัก เป็นการกระตุ้นให้มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยจะทำร่วมกับการโปรโมตข้าวหอมมะลิไทย แต่จะโชว์จุดขายในฐานะข้าวชนิดใหม่ที่สอดคล้องและตรงตามความต้องการของกระแสโลก

ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์เชื่อว่าทำตลาดได้ไม่ยาก เพราะเป็นข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษในเรื่องของความหอมและความอ่อนนุ่มไม่ต่างจากข้าวหอมมะลิ แต่มีความได้เปรียบในจุดขาย ไม่มีสารเคมีเจือปน ทำให้สามารถจำหน่ายในราคาได้สูงกว่าปกติประมาณ 1-2 เท่า ขณะที่ความต้องการสินค้าเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพและอนามัยมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ข้าวหอมมะลิอินทรีย์จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แม้จะมีราคาแพงกว่าข้าวหอมมะลิปกติก็ตาม

นางปรานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการโปรโมตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไปแล้ว ด้วยการร่วมมือกับสมาคมผู้ค้าข้าวฮ่องกง และตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารระดับชั้นนำในฮ่องกง เพื่อประชาสัมพันธ์คุณภาพและมาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทย รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดข้าวหอมมะลิไทยในฮ่องกง โดยได้ใช้โอกาสนี้เปิดตัวข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ให้ผู้บริโภคในฮ่องกงได้รู้จัก และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งจะมีการดำเนินการในลักษณะกับตลาดเป้าหมายอื่นๆต่อไป

สำหรับตลาดที่มีความต้องการข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เช่น สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐฯ สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น โดยตลาดเหล่านี้เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการสินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามกรมฯยังมีแผนประชาสัมพันธ์ข้าวคุณลักษณะพิเศษอื่นๆเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะข้าวที่จดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวเจ๊กเชย และข้าวที่มีคุณค่าโภชนาการสูง เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวสินเหล็ก เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ในการส่งออกข้าวไทย

ที่มา โพสต์ทูเดย์

http://www.thairiceexporters.or.th/Local%20news/News_2011/news_060111-2.html


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 30/06/2011 7:28 pm, แก้ไขทั้งหมด 11 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 28/06/2011 10:33 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

2. พัฒนาพันธุ์ข้าว "หอมมะลิ" หวังยกระดับราคาขายเทียบชั้น "บาสมาติ"


"ข้าวบาสมาติ" ข้าวหอมสายพันธุ์อินเดีย เมื่อหุงแล้วมีเมล็ดข้าวเรียวยาวกว่าข้าวหอมมะลิของไทย (ภาพประกอบจาก www.halicious.co.uk)


"ข้าวแจ๊สแมน" ตราแจ๊สเมน ข้าวหอมสหรัฐฯ ที่อาจเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวหอมไทยในตลาดโลก (ภาพจากแฟ้ม)

ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มก. เร่งพัฒนาข้าวใหม่ ให้ดัชนีน้ำตาลต่ำ หวังยกระดับราคาขายเทียบชั้นข้าวบัสมาติ หลังปล่อยให้ชาติอื่น ทำข้าวเลียนแบบหอมมะลิมาหลายปี พร้อมปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ รับมือข้าวแจ๊สแมนจากสหรัฐฯ แย่งพื้นที่ในตลาดโลก กลางปีเตรียมทดลองปลูกข้าวหอมมะกันเปรียบเทียบข้าวหอมไทย หวังให้ได้กลิ่นกันจะจะว่าข้าวใครหอมกว่าใครแน่

รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้มีคุณสมบัติดีและสามารถขายได้ในราคาสูงเทียบเท่าข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวหอมของอินเดีย

"ข้าวหอมมะลิของไทยขายได้ราคาประมาณ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม หากเป็นข้าวไม่ขัดสีอย่างมากสุดก็ขายได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 90 บาท แต่ข้าวบาสมาติมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท หากเราสามารถพัฒนาข้าวหอมมะลิให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นและสามารถขายได้ราคาเท่ากับข้าวบาสมาติได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกได้ หลังจากที่เราปล่อยให้ชาติอื่นๆ พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเลียนแบบข้าวหอมมะลิของไทยมาหลายปี" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว

ขณะนี้ รศ.ดร.อภิชาติ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 41 ล้านบาท ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิให้เมล็ดมีความยืดตัวสูงขึ้นเมื่อหุงต้ม และมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อให้เหมาะแก่ผู้บริโภคที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการบริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ และสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงเช่นเดียวกับข้าวบาสมาติของอินเดีย โดยคาดว่าจะได้ข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า

"เราไม่ได้ต้องการพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ขายได้ราคาดีเหมือนบาสมาติขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งของข้าวหอมมะลิเดิมของเรา แต่ต้องการทำให้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไป เพื่อเป็นการเสริมตลาดข้าวหอมมะลิที่มีอยู่เดิม" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ภายในงานสัมมนาพิเศษเรื่องข้าว "งานวิจัยข้าวไทย : วิกฤตและโอกาส" ที่มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นอกจากนั้น ภายใต้ทุนวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวก. รศ.ดร.อภิชาติ ยังมีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้าวขาวดอกมะลิที่มีคุณสมบัติดีหลายประการรวมอยู่ด้วยกัน ทั้งความสามารถทนต่อโรค แมลง สภาพแวดล้อม และให้ผลผลิตสูง เพื่อเตรียมรับมือกับข้าวแจ๊สแมน (Jazzman rice) ที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นให้มีความหอมเทียบเท่าข้าวหอมมะลิของไทย และเตรียมที่จะปลูกเชิงพาณิชย์ในอีกไม่กี่ปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยได้

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อภิชาติ ยังมีโครงการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบคุณสมบัติของข้าวขาวดอกมะลิของไทยกับข้าวหอมแจ๊สแมน ในพื้นที่ปลูกในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับมหาวิทยาลัยรัฐหลุยส์เซียนา (Louisiana State University) ซึ่งเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวแจ๊สแมน ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเริ่มศึกษาได้ราวกลางปีนี้ และใช้เวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งปีจึงจะรู้ผล

"เราต้องการพิสูจน์ว่า หากนำข้าวแจ๊สแมนมาปลูกในประเทศไทย จะให้กลิ่นหอมเทียบเท่าข้าวขาวดอกมะลิของไทย และให้ผลผลิตสูงกว่าตามที่ได้มีการอ้างไว้หรือไม่ เพราะแม้แต่ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ยังให้ค่าความหอมไม่เท่ากันเลย และโดยปกติข้าวที่มีสารหอมมากมักให้ผลผลิตต่ำ" รศ.ดร.อภิชาติ เผย ซึ่งผลจากการวิจัยเปรียบเทียบข้าวทั้งสองสายพันธุ์ จะเป็นข้อมูลให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ ซึ่งข้าวแจ๊สแมนเป็นข้าวไม่ไวแสง มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และเวียดนามก็สนใจที่จะนำมาปลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยแน่ เพราะเวียดนามเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของไทย.



http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000035685
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 29/06/2011 7:45 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

3. ข้าวกล้องหอมมะลิแดง ดังที่ท่าขุนราม


กลุ่มผู้ผลิตข้าวกล้องหอมมะลิแดง ที่หมู่ 6 บ้านใหม่ท่าขุนราม ตำบลท่าขุนราม อำเภอเมืองกำแพงเพชร เยี่ยมกลุ่มผลิตข้าวกล้องหอมมะลิแดงที่ท่าขุนราม

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนกลุ่มผู้ผลิตข้าวกล้องหอมมะลิแดง ที่ หมู่ 6 บ้านใหม่ท่าขุนราม ตำบลท่าขุนราม อำเภอเมืองกำแพงเพชร พร้อมด้วยทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร และทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพดีเด่นระดับอำเภอของอำเภอเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีที่ทำการกลุ่ม อยู่ที่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 6 ตำบล ท่าขุนราม อำเภอเมืองกำแพงเพชร โดยมี นางอำไพร สุยะระ เป็นประธานกลุ่ม




นางอำไพร สุยะระ ประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวกล้องหอมมะลิแดง ได้เล่าให้ฟังว่า ความเป็นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้มีการผลิตข้าวกล้องรับประทานกันในครอบครัว ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันวิเคราะห์ว่า หากเรารวมกลุ่มกันเพื่อผลิตข้าวกล้อง ไว้บริโภคกันในครัวเรือน ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่หากผลผลิตเหลือจากการรับประทานก็จะส่งจำหน่ายทั้งในชุมชนและตลาดท้องถิ่นอีกด้วย เพื่อเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัว





การผลิตข้าวกล้อง เมื่อปี พศ.2544 ทางกลุ่มเราได้ทดลองทำข้าวกล้อง โดยใช้พันธุ์ข้าวขาวหอมมะลิ 105 ปรากฏว่า มีลูกค้าที่บริโภคแล้วติดใจโดยได้รับซื้อประจำ มาถึงทุกวันนี้ แต่ต่อมาทางกลุ่ม ได้รับแนวคิด หรือได้รับองค์ความรู้ ว่ามีพันธุ์ข้าวหอมมะลิแดง สามารถผลิตเป็นข้าวกล้องได้ ทางสมาชิกกลุ่มจึงได้ทำการขยายและผลิตข้าวหอมมะลิแดง ทั้งบริโภคและเพื่อการจำหน่าย แต่ทางกลุ่มเรา ก็ได้ทำเป็นแปลงรวมของกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 30 ไร่ ต่อหนึ่งฤดูการผลิต ผลผลิตข้าวเปลือกจะได้ประมาณ 15 เกียน





สำหรับการจำหน่ายข้าวกล้อง ที่เป็นข้าวหอมมะลิ 105 จำหน่าย กิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิแดง จำหน่าย กิโลกรัมละ 30 บาท ทุกวันนี้จำหน่ายทั้งภายในชุมชนและนอกชุมชน

นับว่าเป็นความสำเร็จของกลุ่มอาชีพทางการเกษตรกลุ่มหนึ่ง ที่เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงการแปรรูปผลผลิต การบรรจุภัณฑ์ และไปถึงการตลาด โดยคณะกรรมการบริหารกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิแดง เป็นผู้บริหารจัดการกลุ่ม ซึ่งมีห้วงระยะเวลาการผลิตมาถึงปัจจุบัน 7 ปีแล้ว และทางสมาชิกยังได้จัดทำแผนพัฒนาการผลิตของกลุ่มในปีต่อไปอีกด้วย




ท้ายสุดนี้ทางทีมงานของเราต้องขอชื่นชมต่อที่ปรึกษากลุ่มการผลิตข้าวกล้องหอมมะลิแดง ก็คือ คุณวรรณา แก้ววงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร6ว. ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลท่าขุนราม ได้ลงไปทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขุนราม ได้ให้การสนับด้านงบประมาณแก่กลุ่มเพื่อการพัฒนาต่อยอดต่อไปครับ...



http://www.gotoknow.org/blog/peekwong17/175199


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 29/06/2011 7:51 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 29/06/2011 7:50 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

4. ข้าวกล้องหอมมะลิงอก ทางเลือกใหม่ของข้าวไทย


ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีวิธีการปลูกและสายพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ในกระบวนการสีข้าวนั้น ถ้ามีการแยกเฉพาะเปลือกข้าวออก จะได้ข้าวกล้องซึ่งยังมีส่วนของจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว และเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายสูง ขณะที่ข้าวที่เราบริโภคกันส่วนมากเป็นข้าวที่ถูกขัดสีหลายครั้ง จนเหลือแต่เนื้อข้าวสีขาวที่แทบจะไม่มีคุณค่าและประโยชน์ทางโภชนาการ เนื่องจากมีส่วนประกอบของแป้งเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคทั่วไปมีความคุ้นเคยและติดใจในความนุ่มและสีขาวน่ารับประทาน จนมองข้ามคุณค่ามหาศาลของข้าวกล้องไป





นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของการบริโภคข้าวกล้องคือ หุงยากและมีเนื้อสัมผัสที่แข็งกว่าข้าวขาว ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ โดยใช้ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน แต่เป็นความรู้ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมและศึกษาอย่างจริงจังในทางวิทยาศาสตร์ การแก้ปัญหาดังกล่าวคือ การนำข้าวกล้องไปแช่ในน้ำให้เกิดการงอก ก่อนนำไปหุงรับประทานหรือนำไปทำให้แห้ง

การงอกเป็นกระบวนการหนึ่งที่เริ่มมีการใช้กับเมล็ดธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารก่อนนำมาหุงหรือปรุงเพื่อรับประทาน โดยปกติกระบวนการงอกจะทำได้โดยการแช่เมล็ดธัญพืชที่แยกเอาเปลือกนอกงอกในน้ำ เพื่อให้เมล็ดมีส่วนที่งอกออกมาจนมองเห็นได้ การทำให้ข้าวเกิดการงอกก็เช่นกัน นอกจากเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับเมล็ดข้าวแล้ว ยังช่วยทำให้การหุงต้มเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน อาจารย์ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ผลของการงอกต่อสมบัติและการเปลี่ยนแปลงทางคุณค่าอาหารบางประการของข้าวกล้องหอมมะลิไทย" ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวกล้องหอมมะลิของไทยโดยนำกระบวนการงอกมาประยุกต์ใช้ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการงอกของข้าวกล้องหอมมะลิและข้าวกล้องมันปู โดยศึกษา 2 ปัจจัย คือ เวลาที่ใช้ในการแช่ข้าว และเวลาที่ใช้ในการเพาะที่อุณหภูมิห้อง ก่อนนำมาอบแห้งแล้วเก็บไว้ในถุงพลาสติกแบบซิปล็อคปิดสนิท

เพื่อศึกษาเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดข้าวและศึกษาสมบัติทางเคมีกายภาพของข้าว รวมทั้งศึกษาคุณภาพการหุงต้มและคุณภาพการรับประทานของข้าวกล้องหอมมะลิ การวิเคราะห์วิตามินในข้าว ศึกษาแบคทีเรีย ยีสต์ และราของข้าว และศึกษาลักษณะทางด้านประสาทสัมผัสของข้าวกล้องก่อนและหลังผ่านกระบวนการงอก




ผลการศึกษาพบว่า การแช่หรือการเพาะที่นานขึ้นเป็นการเพิ่มการงอกที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีการขยายขนาดด้านกว้างและมีความแข็งลดลงเมื่อเพิ่มเวลาการเพาะ นอกจากนี้ยังปริมาณวิตามินอีเพิ่มมากขึ้น และมีปริมาณเอนไซม์แอลฟา-อะไมเลสมากขึ้น ทำให้เกิดการย่อยแป้งเป็นน้ำตาล ข้าวจึงมีความหวานมากขึ้น อีกทั้งการหุงสุกยังทำได้ง่ายขึ้น ข้าวงอกที่ผ่านการหุงสุกมีความนุ่ม มีกลิ่นข้าว การพองตัวของเมล็ดข้าวมากขึ้น และไม่มีจุลินทรีย์หลงเหลืออยู่

ประโยชน์ที่มีในข้าวกล้อง ซึ่งจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากข้าวกล้องมีส่วนของรำข้าวที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น กากใย โปรตีน วิตามิน รวมทั้งสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารฟีนอลิคและวิตามินอี (โทโคฟีรอล) เป็นต้น จึงเป็นที่น่าสนใจที่จะส่งเสริมการบริโภคข้าวกล้อง โดยนำข้าวกล้องดังกล่าวมาผ่านการงอกเพื่อเพิ่มจุดเด่นด้านคุณค่าทางอาหารและลักษณะเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่มน่ารับประทานเมื่อเทียบกับข้าวกล้องธรรมดา โดยจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการบริโภคข้าวกล้อง ที่นอกจากจะมีจุดเด่นด้านกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพ


หากเกษตรกรรายใดสนใจข้าวกล้องงอก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ 055-261000-4 ต่อ 2703, 2733

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : นิธิปรียา จันทวงษ์ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ฝ่ายวิชาการ สกว. โทร. 0-2278-8249


http://basic.trf.or.th/news/326/
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 29/06/2011 8:36 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไวน์สายเลือดไทย 5. "ไวน์ข้าวกล้องหอมมะลิ (Jasmine Brown Rice Wine)”


นับจากมีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2541 ในขณะเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเกี่ยวข้าวในแปลงนาส่วนพระองค์ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ที่ หมู่ 10 บ.บางกระดาน ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า ".... ข้าวที่ออกเป็นสีลักษณะนี้ เป็นข้าวที่มีประโยชน์ อย่างข้าวกล้อง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกัน เพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวย แต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่ก็คนจน" ทำให้หลายคนหันมาสนใจข้าวกล้องอย่างจริงจัง


ข้าวกล้องคืออะไร ?
ข้าวกล้อง (Cargo rice, Loozain rice, Brown rice, Husked rice) คือ ข้าวที่ผ่านการกระเทาะเอาเปลือกออกเท่านั้น จึงหมายถึง ข้าวที่ผ่านการขัดสีเพียงครั้งเดียวยังคงมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำ) ติดอยู่ สีของข้าวกล้องมีสีน้ำตาล น้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลปนแดง


คุณค่าทางอาหารและยา
ข้าวกล้องเป็นอาหารธรรมชาติที่ถือได้ว่าเป็นอาหารอายุวัฒนะ เนื่องจากมีวิตามิน เกลือแร่และสารอื่นๆ ที่ร่างกายต้องการมากกว่า 20 ชนิด ส่วนจมูกข้าวและเยื่อหุ้มข้าวกล้องเป็นส่วนที่มีคุณค่าทางอาหาร นอกจากมีคาร์โบไฮเดรทให้พลังงานแก่ร่างกายแล้ว ในข้าวกล้อง 100 กรัม มีโปรตีน 7.2 กรัม ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ไขมันชนิดที่ไม่อิ่มตัว 3.4 กรัม ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ใยอาหาร 3.4 กรัม ช่วยเพิ่มกากอาหารทำให้ขับถ่ายสะดวก ป้องกันอาการท้องผูก และการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ วิตามินบี1 (Thiamin) ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา ช่วยการทำงานของระบบประสาทให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วิตามินบี2 (Riboflavin) ป้องกันโรคปากนกกระจอก ช่วยเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ไนอาซิน (Niacin) ช่วยในการทำงานของระบบผิวหนัง และระบบประสาท โดยเฉพาะแคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างและบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ซึ่งพบในข้าวกล้องสูงกว่าข้าวขัดสีประมาณ 2 เท่า ธาตุเหล็กช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง วิตามินอี ซิลิเนียม และแมกนีเซียม ช่วยเสริมสร้างการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ วิตามินอียังมีส่วนช่วยชะลอความแก่ และซิลิเนี่ยมช่วยป้องกันโรคมะเร็งอีกด้วย นอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยเกลือแร่ ได้แก่ โซเดียม โปแตสเซียม สังกะสี ทองแดง ดังนั้น ข้าวกล้องจึงมีคุณค่าทางโภชนาการ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าข้าวขัดสีจนขาว และข้าวกล้องยังสามารถนำมาทำอาหารคาวหวาน และอาหารว่างแทนข้าวขาวได้หลายชนิด รวมทั้งยังทำไวน์ได้อีกด้วย


ไวน์เพื่อสุขภาพ
ท่ามกลางกระแสการใส่ใจในสุขภาพของคนไทยในยุคนี้ "ไวน์" จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนรักสุขภาพแต่ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะนอกจากจะมีดีกรีที่ทำให้เมาได้แล้ว ยังมีรายงานทางการแพทย์ พบว่า การดื่มไวน์ไม่เกิน 1 แก้ว ก่อนอาหารหรือประมาณไม่เกิน 250 ml/วันนั้นมีคุณสมบัติช่วยเสริมสุขภาพได้ คือ ให้แคลลอรี่และวิตามิน ลดคลอเรสเตอรอลในเลือด ระงับความตื่นเต้นหรือกังวลใจ ขยายเส้นเลือด ช่วยให้เจริญอาหาร และขับปัสสาวะ


การพลิกฟื้นภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำไวน์
ในอดีตรัฐบาลได้บัญญัติให้การหมักเหล้าเองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย บังคับให้ประชาชนต้องซื้อเหล้าโรงราคาแพงมาดื่มทั้งที่เคยทำได้เองในครัวเรือน สาโท อุ กระแช่ เหล้าข้าวโพด และเหล้าอีกหลายร้อยชนิดในแต่ละท้องถิ่นกลายเป็น "เหล้าเถื่อน" ที่ชาวบ้านต้องลักลอบทำ ขณะที่น้ำเมาของชนชาติอื่นๆ เช่น สาเกญี่ปุ่น ไวน์ฝรั่งเศส เบียร์เยอรมัน ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงสามารถส่งออกขายทั่วโลก แม้กระทั่งสาโทลาวก็ยังกลายเป็นของขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวคอทองแดงต่างสนใจซื้อหามาลิ้มลองรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ในวันนี้รัฐบาลไทยได้แก้กฎหมายให้ "สุราแช่พื้นเมืองจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี" กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แม้จะมีเงื่อนไขในการขออนุญาตมากมายและยังไม่ครอบคลุมถึงสุรากลั่น-สุราดีกรีสูง แต่ก็ยังนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อการแปรรูปข้าว ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ รวมถึงการทำไวน์จากข้าวกล้องหอมมะลิซึ่งเป็นไวน์สายเลือดไทยแท้กันมากขึ้น ถึงแม้ว่าในวันนี้รสชาติของไวน์ข้าวกล้องหอมมะลิอาจจะยังไม่ดีเลิศเทียบเท่าไวน์จากต่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนามานับร้อยปี แต่ด้วยจุดเด่นที่มีสรรพคุณทางยา และมีราคาถูก จึงยังพอเป็นข้อดีที่จะทำให้ผู้ผลิตมีความหวังว่าจะได้รับโอกาสจากประชาชนชาวไทยด้วยกันเอง เป็นการลดการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยไม่ให้เงินตราไหลออกนอกประเทศแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น เป็นการพึ่งตนเองและอยู่แบบพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังเป็นการพลิกฟื้นภูมิปัญญาแบบไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และส่งเสริมให้ภูมิปัญญาด้านนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป


ไวน์ข้าวกล้องหอมมะลิ
ไวน์ข้าวกล้องหอมมะลิ จากข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
ข้าวหอมมะลิของไทยโดยเฉพาะข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกมายาวนาน โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่รัฐบาลชูนโยบายให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ขจรขจายไปไกล ดังนั้น การที่นำข้าวกล้องของข้าวพันธุ์ดังกล่าวมาแปรรูปเป็นไวน์เพื่อสุขภาพที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณค่าทางอาหารและยา โดยมีจุดเด่นคือ สามารถป้องกันและรักษาโรคเหน็บชาได้ดี อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ นั้น ก็น่าจะมีแนวทางในการเปิดตลาดได้ไม่ยาก ซึ่งปัจจุบันไวน์ข้าวกล้องที่ทำจากข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กำลังเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากคนรักสุขภาพทั่วไป ผลิตภัณฑ์เริ่มมีวางจำหน่ายตามท้องตลาดและสามารถหาซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ไวน์ข้าวกล้องยอดข้าว 3 (Thai Rice Wine Yodkhao 3) จากบริษัทเขาค้อทะเลภู (ดังในภาพ)


วิธีการทำไวน์ข้าวกล้องหอมมะลิ
ส่วนประกอบ
- ข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 1 กิโลกรัม
- น้ำตาลทราย 1.25 กิโลกรัม
- ลูกเกด (สับละเอียด) 200 กรัม
- น้ำสะอาด 4.5 ลิตร
- ซิตริกแอซิด (Citric acid) 4 ช้อนชา
- แพคติเนส (Pectic Enzyme) 1 ช้อนชา
-ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (Diammonium phosphate หรือ DAP) [1] อาหารยีสต์ 1 ช้อนชา
- แทนนิน (Tannin) ½ ช้อนชา
-โปตัสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ (Potassium metabisulfide หรือ KMS) สารละลาย 10% หรือชนิดเกร็ด 0.1 กรัม/ลิตร
- ยีสต์ EC1118


วิธีการทำ
1. ซาวข้าวใส่ในชามแก้ว ใส่น้ำพอท่วมข้าว (ประมาณ 1 ลิตร)
2. เติมลูกเกดลงในชามแล้วเติมน้ำให้พอท่วม ทิ้งไว้ค้างคืน (12 ชั่วโมง)
3. ใส่น้ำตาลกับน้ำที่เหลือ (ประมาณ 3.5 ลิตร) ลงในหม้อสแตนเลสใบใหญ่ ต้มให้เดือดแล้วยกลงคนจนน้ำตาลละลายหมด
4.เทส่วนผสมข้าวและลูกเกดลงในถังหมักพลาสติก หรือสแตนเลสปากกว้าง เติมซิตริกแอซิด อาหารยีสต์ แทนนิน และ แพคติเนส
5. เทน้ำผสมน้ำตาลลงในถังหมัก คนให้ส่วนผสมต่างๆ เข้ากัน แล้วปิดฝาหรือปิดด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ให้เย็น
6.เติม 10% KMS 5 ซีซี (ถ้าเป็น KMS ชนิดเกร็ดใช้ 0.5 กรัม) คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง
7. เติมยีสต์ แล้วปิดฝา หรือปิดด้วยผ้าขาวบาง
8. คนส่วนผสมวันละ 2 –3 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์
9. กรองด้วยผ้าขาวบาง แล้วทิ้งให้ตกตะกอนค้างคืน
10.แยกน้ำหมักจากตะกอนใส่ลงในขวดแก้ว หรือพลาสติกปากแคบขนาด 5 ลิตร แล้วปิดด้วยฝาจุก (air lock)[2] หมักต่ออีก 3 เดือน
11. แยกส่วนใส เติมน้ำสะอาดให้เกือบเต็มขวด ปิดฝาจุก หมักต่ออีก 3 เดือน
12.แยกส่วนใสอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ไวน์ควรจะใส เติม 10% KMS อีก 5 ซีซี (ถ้าเป็น KMS ชนิดเกร็ดใช้ 0.5 กรัม ) เขย่าให้เข้ากัน ทิ้งไว้อีก 10 วัน ก่อนบรรจุขวด (อาจดัดแปลงใช้ข้าวเหนียว หรือ ข้าวอื่นๆ ได้ และถ้าเพิ่มลูกเกดเป็น 500 กรัม จะเพิ่มกลิ่น (bouquet) [3] และเนื้อ (body)[4] ให้ไวน์ )



[1] ช่วงของการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ ยีสต์ไม่ต้องการอากาศ ดังนั้น ในการหมักจึงจำเป็นต้องมีจุกปิดถังหมักด้วยจุกชนิดพิเศษ ไม่ให้อากาศเข้า แต่สามารถปล่อยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการหมักออกได้ ซึ่งเรียกจุกชนิดนี้ว่า แอร์ล็อค (air lock)

[2] ไวน์ที่ดีควรมีสีที่เหมาะสมตามชนิดของไวน์ วิธีการให้ดูความสดใส สี ขาหรือน้ำตาไวน์ (tear) ปกติไวน์ควรจะใสเป็นประกาย (brilliant) ไวน์แดงควรมีสีแดงคล้ายทับทิมมันวาว ไม่มีตะกอนหรือความขุ่น ขาหรือน้ำตาไวน์อาจบอกถึงน้ำหนัก หรือเนื้อหนัง (body) ของไวน์ เนื่องจากขาหรือน้ำตาไวน์เกิดจากแอลกอฮอล์ กลีเซอรีน (glycerin) สารสกัดจากการหมักวัตถุดิบที่มีน้ำตาล ไวน์ที่มีรสหวานจึงมักมีขาหรือน้ำตาไวน์เสมอ

[3] กลิ่นที่ต้องการในไวน์แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ aroma เป็นกลิ่นของวัตถุดิบที่ใช้ผลิต เช่น กลิ่นองุ่น มะม่วง กล้วยหอม ลิ้นจี่ และกลิ่น bouquet คือกลิ่นที่หอมอย่างซับซ้อนเหมือนกลิ่นดอกไม้นานาพันธุ์ ซึ่งเกิดจากกลิ่นวัตถุดิบ กลิ่นจากการหมัก กลิ่นจากการบ่ม เป็นต้น

[4] เมื่อหมักได้ระยะหนึ่งกระบวนการหมักก็จะหยุดลง ทำให้ได้แอลกอฮอล์ต่ำกว่าที่ควร วิธีแก้ไขต้องเติมสารที่ให้ไนโตรเจน ที่นิยมใช้ คือ ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (DAP) เพราะการเจริญเติบโตของยีสต์ต้องการสารอาหารจำพวกโปรตีนมากเพื่อใช้สร้างเซลล์ใหม่ โดยโปรตีนจะได้จากการสังเคราะห์ภายในเซลล์ของยีสต์โดยใช้ธาตุไนโตรเจนเป็นหลัก



เอกสารประกอบการเรียบเรียง
1. การทำไวน์. http://members.thai.net/buriram01/download/Wine.doc
2. ข้าวกล้อง. http://www.healthnet.in.th/text/forum2/vet/008.htm
3. ข้าวกล้อง. http://www.school.net.th/library/create-web/10000/generality/10000-828.html
4. ข้าวกล้อง. http://www.thaitambon.com/tambon/tsmepdesc.asp?Prod=04520154429&ID=370504&SME=01122891846
5. ข้าวกล้อง. http://www.thaihealth.info/samunpai21.asp
6. ข้าวกล้อง. http://rx12.wsnhosting.com/herb/sativa1.html
7. ไวน์. http://www.agmassmedia.com/News/knowledge/articles61.htm
8. ไวน์. http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=4545899854898
9. ไวน์ข้าวกล้อง. http://www.clinictech.nu.ac.th/news.htm
10. ไวน์ข้าวกล้อง. http://www.d-i-wine.com/mcontents/marticle.php?headtitle=mcontents&id=23588&Ntype=2
11. ไวน์ข้าวกล้อง. http://www.khaokhonaturalfarm.com/product/product_food.htm 12. Brown rice picture. http://www.fotosearch.com/PHD500/aa051069/
13. Drink wine for healthy. http://www.newstarget.com/017642.html



http://www.sudipan.net/phpBB2/viewtopic.php?p=35939
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 29/06/2011 8:56 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

6. น้ำและไอศครีมข้าวกล้องงอก ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแม่ดอกแดง





ข้าวกล้องงอกประกอบด้วยใยอาหาร กรดไฟติก วิตามินซี วิตามินอีและกาบ้า ซึ่งจะมีมากกว่าข้าวกล้องปกติ 15 เท่า สารกาบ้านี้จะทำหน้าที่ให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาความสมดุลในสมอง ช่วยให้เกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนช่วยในการเจริญเติบโตทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อกระชับและสามารถป้องกันโรคต่างๆเช่นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก โรคความดันโลหิต โรคอัลไซเมอร์ ทำให้ผิวพรรณดี ป้องกันการสะสมไขมัน ช่วยลดน้ำหนักและบำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง

คุณสุพัตร ศรีมูล ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแม่ดอกแดง ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตน้ำและไอศกรีมข้าวกล้องงอกกล่าวว่าจากการเข้าร่วมการฝึกอบรมกิจกรรมเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งทางคุณณัฐกมลวัสส์ วิกัน นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ กลุ่มวิชาการและฝึกอบรม สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.เชียงใหม่และคุณชวนพิศ กรรณิการ์ เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรชำนาญงาน สำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวิทยากรเมื่อเร็วๆนี้ สามารถทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกและครอบครัววันละประมาณ 500 บาท จากการจำหน่ายน้ำและไอศกรีมข้าวกล้องงอก





การทำน้ำข้าวกล้องงอกพร้อมดื่ม

ส่วนผสมประกอบด้วยข้าวกล้องงอก( ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมนิลและข้าวกล้องมันปู ) จำนวน 2 กิโลกรัม , น้ำ 30 ลิตร , น้ำตาลทราย 4 กิโลกรัม , เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีการทำ นำข้าวกล้องงอกแช่น้ำ 6 ชั่วโมงแล้วนำไปปั่นให้ละเอียดโดยเครื่องปั่นพร้อมกับน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปต้มไฟปานกลางเติมน้ำตาล เกลือและใบเตยลงไปเพื่อเพิ่มความหอมและคนให้ทั่วเพื่อไม่ให้ตะกอนนอนก้น

การจำหน่าย เมื่อต้มส่วนผสมดังกล่าวจนสุกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำข้าวกล้องงอกพร้อมดื่มนำไปจำหน่ายได้เช่นเดียวกับน้ำเต้าหู้หรือจะบรรจุขวดเพื่อจำหน่าย





การทำไอศครีมข้าวกล้องงอก

ส่วนผสมประกอบด้วยข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมนิล ข้าวกล้องมันปูและข้าวกล้องเหนียวดำ รวมกัน 1 ถ้วยตวง , น้ำเปล่า 1 ลิตร , น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม , กะทิ 1 กิโลกรัมและเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีการทำ นำข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมนิล ข้าวกล้องมันปูและข้าวกล้องเหนียวดำ แช่น้ำ 6 ชั่วโมงเพื่อให้งอกจะได้จมูกข้าวที่มีสารกาบ้าได้คุณค่าทางโภชนาการและเกิดการฟูของเมล็ดข้าว เสร็จแล้วนำไปปั่นโดยเครื่องปั่นพร้อมกับเติมน้ำเปล่าและกะทิ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบางนำไปตั้งไฟอ่อนๆคนให้ทั่ว พร้อมเติมน้ำตาลทรายและเกลือ เมื่อได้ที่แล้วนำไปปั่นกับถังเครื่องปั่นไอศกรีมประมาณ 1 ชั่วโมงจะได้ไอศครีมข้าวกล้องงอกพร้อมจำหน่าย การเพิ่มข้าวเหนียวดำเพื่อเพิ่มสีไอศครีมให้สวยงามและมีกลิ่นหอม

นอกจากน้ำและไอศครีมข้าวกล้องงอกแล้ว ทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแม่ดอกแดงยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยฉาบเค็ม-หวาน มันทอดกรอบและถั่วสิสงเคลือบโอวัลติน หากท่านสนใจขั้นตอนการผลิตหรือจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินค้า ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่คุณสุพัตร ศรีมูล ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแม่ดอกแดง ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โทร.053-292098 ,087-1784512






http://www.ndoae.doae.go.th/news/news_0112.html


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 29/06/2011 9:09 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 29/06/2011 9:08 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

7. ข้าวกาบาไรซ์


นวัตกรรมใหม่ของการพัฒนาข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ ที่ผลิตจากข้าวกล้องหอมมะลิ 100 % ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติทำให้สารอาหารภายในเมล็ดเกิดการเปลี่ยนแปลง มีใยอาหาร วิตามิน แมกนีเซียม โปแตสเซียม สังกะสี และสารต้านอนุมูลอิสระ อาทิ ออริซานอล กรดเฟอรูลิก กรดไฟติกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกรดแกมมา แอมิโนบิวเทริก (Gamma Amino Butyric Acid : GABA) หรือสารกาบา ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยป้องกันการเกิดโรค อาทิ โรคมะเร็ง เบาหวาน ข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ ที่ผ่านกระบวนการแล้วจะมีปริมาณ สารกาบา เพิ่มสูงขึ้นกว่าข้าวกล้องปกติถึง 10-15 เท่า และมีเนื้อสัมผัสของข้าวนุ่ม มีกลิ่นหอมกว่า ข้าวกล้องปกติ รับประทานง่าย และมีคุณค่าทางอาหารสูง


ประโยชน์ของข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์
การบริโภคข้าวเป็นอาหารดูจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอีกต่อไป จากความเครียดในชีวิตประจำวันทำให้ร่างกายต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น สารกาบาในข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ เป็นสารสื่อประสาทช่วยลดความตึงเครียด ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับได้ดี ช่วยรักษาสมดุล ชะลอความเครียดของสมอง ทั้งยังกระตุ้นต่อมที่ทำหน้าที่ผลิต Growth Hormone (HGH) ที่ช่วยสร้างเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อกระชับ ป้องกันการเกิดริ้วรอยได้ ในทางการแพทย์มีการนำสารกาบาไปใช้เป็นยาและรักษาโรคทางระบบประสาทหลายโรค อาทิ โรควิตกกังวล นอนไม่หลับ ลมชัก ซึ่งหากได้รับสารกาบาอย่างต่อเนื่องและเพียงพอจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลง นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยให้การทำงานของร่างกายในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นไปได้ปกติ ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนัก และมีรายงานการวิจัยพบว่าสารกาบา สามารถป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์, พาร์กินสัน และลดการเกิดเซลล์มะเร็งได้

การบริโภคข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์
การบริโภคข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ ให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ควรบริโภคในปริมาณอย่างน้อยวันละ 150 กรัมต่อเนื่องอย่างน้อย 8 สัปดาห์ โดยสามารถหุงผสมกับข้าวขาวหรือข้าวกล้องได้ตามปกติ โดยไม่ต้องซาวน้ำทิ้ง


วิธีการหุง
ข้าวสวย : ข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ 1 ส่วน ต่อน้ำ 1.7 ส่วน

ข้าวต้ม : ข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน หลังข้าวสุก พักข้าว 10 นาที จะได้ข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ แบบนิ่มพิเศษ



ข้อมูลโภชนาการข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์


ข้อมูลโภชนาการ
หนึ่งหน่วยบริโภค 50 กรัม
จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ 9
คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
พลังงานทั้งหมด 190 กิโลแคลอรี
(พลังงานจากไขมัน 20 กิโลแคลอรี)


ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
ไขมันทั้งหมด 2 ก. 3%
ไขมันอิ่มตัว 0 ก. 0%
โคเลสเตอรอล 0 มก. 0%
โปรตีน 3 ก.
คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 39 ก. 13%
ใยอาหาร 3 ก. 12%
น้ำตาล น้อยกว่า 1
โซเดียม 0 มก. 0%


ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
วิตามินเอ 0%
วิตามีนบี 1 10%
วิตามินบี 2 0%
แคลเซียม 0%
เหล็ก น้อยกว่า 2%


*ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี


ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 ก.
ไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 ก.
โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 ก.
คาร์โบโฮเดรตทั้งหมด 300 ก.
ใยอาหาร 25 ก.
โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มก.


พลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อกรัม : ไขมัน = 9
โปรตีน = 4 ; คาร์โบไฮเดรต = 4


ข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์
รางวัลสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประจำปี 2550


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้จัดอันดับ 10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมอันดับ 1 เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาข้าวเพื่อการบริโภคในรูปแบบสารอาหาร ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในรูปแบบข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ เป็นการเพิ่มคุณค่าและประโยชน์ให้แก่ข้าวไทย โดยข้าวกล้องหอมมะลิเสริมสุขภาพกาบาไรซ์ เป็นผลงานการค้นคว้าวิจัยของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท อินโนฟู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด



http://www.ifrpd.ku.ac.th/2009/index.php?Itemid=100
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 30/06/2011 5:57 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

8. ข้าวหอมมะลินาปรัง....ทางรอดและทางเลือก ของชาวนาสุรินทร์

นายสุรพล ใจดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์



ในฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังปี ๒๕๕๒/๒๕๕๓ ข้อมูล ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ของจังหวัดสุรินทร์ พบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังถึง ๑๓๒,๗๐๔ ไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตถึง ๙๔,๙๘๔.๒๖ ตัน โดยพันธุ์ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์

๑. ปทุมธานี ๑ พื้นที่ปลูก ๙๕,๐๒๙.๗๕ ไร่
๒. ข้าวพันธุ์ที่ทางราชการรับรองอื่นๆ จำนวน ๗๙,๒๓๓.๒๕ ไร่

โดยพันธุ์ข้าวที่ทางราชการรับรองส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวชัยนาท ๑ และพันธุ์อื่นๆ โดยในพันธุ์อื่นๆ นั้น จะมีข้าว กข ๑๕ และขาวดอกมะลิ ๑๐๕ รวมอยู่ด้วย

จากการออกสำรวจสุ่มผลผลิตของข้าวหอมมะลิ (ประกอบด้วย กข ๑๕ และขาวดอกมะลิ ๑๐๕) ในฤดูนาปรัง ช่วงตั้งแต่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ถึง ๘ เมษายน ๒๕๕๓ ในเขตพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือและร่วมดำเนินงานจาก นายเพิ่ม สังข์ศักดา เกษตรอำเภอชุมพลบุรี และที่อำเภอรัตนบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือและร่วมปฏิบัติงานจาก นายเทอดพงษ์ แสนกล้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของตำบลเบิด ในทุกๆ แปลงที่ทำการเก็บผลผลิตซึ่งสรุปผลในเบื้องต้นดังนี้

๑. อำเภอชุมพลบุรี เนื่องจากเป็นการทำนาปรังพันธุ์ข้าวหอมมะลิเป็นปีแรก ชาวนายังไม่ค่อยชำนาญเท่าใด พบว่ารายของนางสำรวย เอกสุข ชาวนาบ้านตลุง ตำบลหนองเรือ ได้ผลผลิตที่ความชื้น ๑๔% สูงถึง ๓๒๔.๒๖ กิโลกรัมต่อไร่ (32 ถัง) โดยปลูกพันธุ์ข้าว กข ๑๕ คาดว่าในฤดูนาปรังหน้าทุกคนคงจะมีความชำนาญ และจัดการผลผลิตได้ดีขึ้น

๒. อำเภอรัตนบุรี ชาวนามีความชำนาญในการทำนาปรังข้าวหอมมะลิมาหลายปีแล้ว พบว่าชาวนาปลูกข้าวได้ผลผลิตสูงมาก ดังนี้

๒.๑ นางสุภัค ทำดี ชาวนาบ้านผือน้อย หมู่ ๗ ตำบลรัตนบุรี ปลูกข้าวขาวดอก
มะลิ ๑๐๕ ได้ผลผลิตที่ความชื้น ๑๔% สูงถึง ๖๖๙.๓๓ กิโลกรัมต่อไร่ (66 ถัง) โดยมีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ๔๗.๗๒ และพบว่าข้าวมีความหอมมาก (อยู่ในระดับ ๓ จากการตรวจสอบความหอมจากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี) (ระดับความหอมคือ ๐ = ไม่หอม, ๑ = หอมอ่อน, ๒ = หอม, ๓ = หอมมาก)

๒.๒ นายหาญ ประคองสุข ชาวนาบ้านผือน้อย หมู่ ๗ ต.รัตนบุรี ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ให้ผลผลิตที่ความชื้น ๑๔ % สูงถึง ๕๒๑.๑ กิโลกรัมต่อไร่ มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ๕๐.๘๓ และมีความหอมในระดับ ๓

๒.๓ นายจรัส ธรรมนาม ชาวนาบ้านผือน้อย หมู่ ๗ ต.รัตนบุรี ปลูกข้าว กข ๑๕
ให้ผลผลิตที่ความชื้น ๑๔ % สูงถึง ๕๘๙.๐๖ กิโลกรัมต่อไร่ (48 ถัง) มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ๔๕.๕๔ และมีความหอมระดับ ๒

๒.๔ นางสุรพี จันทร์อ่อน ชาวนาบ้านหมกเต่า หมู่ ๘ ต.เบิด ปลูกข้าว กข ๑๕ ให้ผลผลิตที่ความชื้น ๑๔ % สูงถึง ๔๙๒.๒๗ กิโลกรัมต่อไร่ (49 ถัง) มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ๕๑.๘๙

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการออกไปสุ่มตรวจวัดผลผลิตของทั้ง ๒ อำเภอ รวม ๑๔ ราย (อำเภอชุมพลบุรี จำนวน ๖ ราย อำเภอรัตนบุรี จำนวน ๘ ราย)


๓. การทดสอบการปลูกข้าวหอมมะลิ (กข ๑๕) ฤดูนาปรังภายในกรงกันนก ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ โดยมีการทดสอบ ดังนี้

๓.๑ เริ่มปลูกแบบหว่านน้ำตมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ และปลูกทุก ๑๕ วัน ครั้งสุดท้ายปลูกวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓

๓.๒ ใช้น้ำหมักอินทรีย์ในการให้ปุ๋ยทุก ๆ ๑๐ วัน

๓.๓ ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ปลูก ๑๕ กก./ไร่

๓.๔ ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าว พร้อมวัดองค์ประกอบผลผลิตเช่นเดียวกับแปลงเกษตรกร

๓.๕ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างปรากฏผลดังนี้

๓.๕.๑ ข้าวที่ปลูกเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ ให้ผลผลิตที่ความชื้น ๑๔ % ที่ ๓๗๗.๖๐ กิโลกรัม/ไร่ (37 ถัง) โดยมีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ๔๖.๓๕

๓.๕.๒ ข้าวที่ปลูกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ ให้ผลผลิตที่ความชื้น ๑๔ % ที่ ๓๔๗ กิโลกรัม/ไร่ (34 ถัง) โดยมีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ๕๑.๑๘

๓.๕.๓ พบว่าข้าวที่ปลูกหลังวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป คือ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ให้ผลผลิตเพียง ๑๗๗.๒๘ กิโลกรัมต่อไร่ (17 ถัง) เปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ๒๗.๘๙ และข้าวที่ปลูกวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ การออกดอกระหว่างข้าวขอบแปลงและข้าวกลางแปลงจะมีระยะเวลาห่างกันมาก และข้าวจะมีจำนวนเมล็ดในรวงลีบมาก

- ข้าวที่ปลูกในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓ ข้าวจะออกดอกที่ขอบแปลงก่อน ส่วนกลางแปลงไม่ออกดอก เช่นเดียวกับข้าวที่ปลูกวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๓ พบว่าข้าวที่ปลูกวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓ และวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓ ข้าวเจริญเติบโตเป็นปกติเช่นเดียวกับการปลูกในฤดูนาปี

๔. การตรวจสอบทางด้านกายภาพของข้าวหอมมะลินาปรังและนาปี จากรายงานผลสำรวจคุณภาพทางกายภาพของข้าวหอมมะลิจากแปลงเกษตรกรของกัญญา เชื้อพันธุ์ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ในปี ๒๕๕๒ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๐ จังหวัด รวมถึงจังหวัดสุรินทร์ เปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพดังนี้


ข้าวหอมมะลิของจังหวัดสุรินทร์ คุณภาพและชื่อเสียงจะกลับมายิ่งใหญ่อีกต่อไป ถ้าชาวนาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวหอมมะลิในฤดูนาปรัง โดยพยายามลดพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์อื่นลง (ปทุมธานี ๑ และชัยนาท ๑) เพราะพบว่า ข้าวหอมมะลิที่ชาวนาปลูกให้ผลผลิตสูงไม่ต่างจากข้าวพันธุ์อื่น เมื่อคิดผลตอบแทนต่อการปลูกใน ๑ ไร่แล้วจะให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า ทั้งนี้การที่จะปลูกข้าวหอมมะลินาปรังให้ประสบผลสำเร็จ คือ ทำได้และทำให้ดี ต้อง..

๑. น้ำดี มีพอเพียงตลอดฤดูปลูก

๒. พื้นที่ปลูกต่อรายไม่ควรมาก เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและจัดการโดยพื้นที่ปลูกต้องปรับให้ราบเรียบสม่ำเสมอ

๓. อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการปลูกจะต้องสูงกว่าในฤดูนาปี คือ อาจต้องใช้เมล็ดพันธุ์ ๒๕–๓๐ กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้เพราะนาปรังต้นข้าวจะเล็ก จะต้องเพิ่มจำนวนต้นต่อพื้นที่ปลูกให้มากที่สุด

๔. การใส่ปุ๋ย ควรใส่ให้น้อยแต่บ่อยครั้ง เนื่องจากฤดูปลูกในนาปรังข้าวอยู่ในนาระยะสั้น ไม่ควรใส่ปุ๋ยครั้งเดียว อย่างน้อยควรใส่ ๒-๓ ครั้ง

๕. ต้องปล่อยน้ำออกจากแปลงนาก่อนเก็บเกี่ยวข้าว ๑๐–๑๕ วัน คือ เมื่อข้าวเริ่มโน้มรวงเป็นแป้งแข็งแล้วให้ปล่อยน้ำออกจากนา เพื่อรักษาคุณภาพข้าวทั้งหลายทั้งปวง เป็นแนวทางในเบื้องต้นที่จะผลิตข้าวหอมมะลินาปรังของจังหวัดสุรินทร์ ให้ประสบผลสำเร็จได้ .... ร่วมด้วย ช่วยกันครับ



srn-rrc.ricethailand.go.th/srrc/textpdf/kdml%20na%20prung2.doc - -
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 30/06/2011 9:29 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

หนุน 3 จังหวัดภาคเหนือ เร่งหันปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เจาะตลาดบน


อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศจัดอบรมชาวนา 3 จังหวัดภาคเหนือ ส่งเสริมปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ยกระดับข้าวหอมมะลิไทย หวังเจาะตลาดระดับบน

นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวในงานสัมมนามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยภายใต้เครื่องหมายรับรองและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิภาค การรับรองการตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จัดโดยสำนักงานการค้าต่างประเทศ เขต 1 (เชียงใหม่) ที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่า ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยให้สูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันข้าวหอมมะลิมีการปลอมปนและส่งออกไปขายทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องส่งเสริมพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิเดิมใน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงราย พะเยา และเชียงใหม่ ให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการผลิต การรับรอง การตลาด เพื่อสร้างภาพลักษณ์และมูลค่าเพิ่มของข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยตั้งเป้าแต่ละจังหวัดต้องมีแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 1 แห่ง และในปี 2554 จะกำหนดมาตรฐานขึ้นใหม่เป็น 95% เพื่อเจาะตลาดลูกค้าระดับบน โดยเฉพาะฮ่องกงที่นำเข้าปีละกว่า 3 แสนตัน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการปลูกข้าวหอมมะลิธรรมดาและข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการปลูกที่สามารถทำได้เพียงปีละครั้งและให้ผลผลิตไม่มากนัก ภาคอีสานผลิตได้ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ เชียงใหม่ให้ผลผลิตไม่เกิน 600 กิโลกรัมต่อไร่ เท่านั้น และมีราคาสูงถึงตันละ 3 หมื่นบาท จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ส่วนภาพรวมข้าวหอมมะลิปีที่ผ่านมามีผลผลิต 2.5 ล้านตัน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท จากข้าวทั่วประเทศที่ผลิตได้ปีละ 8.5 ล้านตัน สำหรับปี 2553 คาดมีผลผลิตรวม 9 ล้านตัน ส่งออกไปแล้วกว่า 6 ล้านตัน


http://www.komchadluek.net/detail/20100902/71865/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%993%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%99.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©