-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - “พลาสติกจากเกล็ดปลา” คว้า 5 รางวัล งานวิทย์โลก
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

“พลาสติกจากเกล็ดปลา” คว้า 5 รางวัล งานวิทย์โลก

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 12/06/2011 7:50 pm    ชื่อกระทู้: “พลาสติกจากเกล็ดปลา” คว้า 5 รางวัล งานวิทย์โลก ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

นร.สุราษฎร์พิทยาพา “พลาสติกจากเกล็ดปลา” คว้า 5 รางวัลโครงงานวิทย์โลก

โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤษภาคม 2554 - 22:45 น.





น.ส.อารดา สังขนิตย์ (ซ้าย) นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ (กลาง) และ น.ส.ธัญพิชา พงศ์ชัยไพบูลย์ (ขวา) เจ้าของโครงงาน “พลาสติกจากเกล็ดปลา” จาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา ที่คว้าถึง 5 รางวัลในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก



ในการสร้างสรรค์ “โครงงานวิทยาศาสตร์” มีหลายผลงานที่เด็กไทยได้สร้างชื่อเสียงให้ประจักษ์ในระดับนานาชาติมาแล้วหลายชิ้น ล่าสุดกับ “โครงงานพลาสติกจากเกล็ดปลา” จาก "สุราษฎร์พิทยา" ที่สามารถพิชิตใจกรรมการ จนคว้า 5 รางวัลจาก 2 เวทีใหญ่ระดับโลกได้สำเร็จ อีกทั้งยังเป็นชาติที่ 2 ในเอเชียและชาติแรกในเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับรางวัลนักวิทย์รุ่นเยาว์ พร้อมกับโครงงานจาก "กันทรารมณ์" และ "จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย" ที่ก็พกรางวัลกลับบ้านมาให้ได้ภูมิใจกัน

“พลาสติกจากเกล็ดปลา” (Bio-based Packaging Plastics from Fish Scale) โครงงานวิทยาศาสตร์ของกลุ่มนักเรียนชั้น ม.ปลาย จาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับรางวัลใหญ่ถึง 5 รางวัล จากการประกวดใน 2 เวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือน พ.ค.54 ที่ผ่านมา

เวทีแรกคือ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ไอสวีป 2011 (I-SWEEEP 2011) ผลงานดังกล่าวได้รับ 2 รางวัลคือ เหรียญทอง และรางวัลพิเศษด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อีกเวทีที่ "พลาสติกจากเกล็ดปลา" คว้ามาได้ถึง 3 รางวัลคือ การประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรืออินเทลไอเซฟ 2011 (Intel ISEFF : Intel International Science and Engineering Fair 2011) โดยได้รับ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์”, รางวัลที่ 1 ประเภทแกรนด์ อวอร์ดส์ สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม และยังได้รางวัล "เบสต์ ออฟ แคตากอรี อวอร์ดส์" ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม

เจ้าของผลงาน นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ, น.ส.ธัญพิชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และ น.ส.อารดา สังขนิตย์ 3 นักเรียนจากสุราษฎร์พิทยา เปิดเผยหลังจากเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.54 ว่า รางวัลที่พวกเขาได้รับนับว่ายิ่งใหญ่มาก เนื่องจากคณะกรรมการผู้ตัดสินจะเลือกเพียง 2 โครงงาน จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 443 โครงงาน 17 สาขา รวม 65 ประเทศ ที่มีความคิดสร้างสรรค์สุดยอดเท่านั้น

ด้วยแนวคิดนำสิ่งเหลือทิ้งที่มีอยู่ในท้องถิ่น อย่างเกล็ดปลา มาทำให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว จนทำให้ทีมจาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา สามารถพิชิตใจกรรมการในครั้งนี้มาได้ และถือเป็นชาติที่ 2 ของเอเชีย และเป็นประเทศแรกในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับรางวัลยิ่งใหญ่จากเวทีอินเทลไอเซฟได้สำเร็จ

ทีมจาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา เล่าถึงที่มาของการทำโครงงานว่า ในแต่ละวัน มีการใช้พลาสติกประเภทโฟมอยู่จำนวนมาก ทั้งขั้นตอนการผลิตและการทำลายล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความคิดที่อยากจะนำของเหลือทิ้งมาผลิตทดแทนโฟม

หลังจากนั้นพวกเขาจึงได้เริ่มจากการสังเกตเจลาติน หรือวุ้นจากขนมเยลลี ที่มีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายพลาสติก แล้วค้นคว้าหางานวิจัยประกอบ พบว่าเจลาตินสามารถทำได้จากวัตถุดิบหลายชนิด ทีมจึงเลือกที่จะทำจากเกล็ดปลา เนื่องจากหาง่ายและเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากครัวเรือน

“แต่เราได้เลือกเกล็ดปลากะพงมาใช้ เนื่องจากได้มวล และความแข็งแรงสูง เมื่อนำมาผลิตเป็นเจลาตินและใช้ภาชนะเป็นแบบ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใส่อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถย่อยสลายได้ภายใน 28 วัน ต้นทุนการผลิตก็ถูกกว่าโฟมอีกด้วย” น.ส.อารดาอธิบาย

นอกจากนี้ นายพรวสุ สมาชิกทีมยังบอกอีกว่า การศึกษาและการทดลองโครงงานชิ้นนี้ ใช้เวลานานร่วมปี กว่าจะสำเร็จออกมาได้ หลังจากนี้จะพัฒนาและทดลองให้พลาสติกจากเกล็ดปลาสามารถนำไปใช้ในเตาไมโครเวฟได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 คน ยังเผยเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ด้วยว่า พวกเขาได้ทำอย่างเต็มที่ หมั่นหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่ง น.ส.ธัญพิชา บอกว่าการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่อยู่ในห้องเรียนเท่านั้น ต้องมีการทดลอง ศึกษา จนสามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปแข่งขันจนสามารถคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ

ที่สำคัญ ทีมที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของมูลนิธิอินเทลนั้น ชื่อของพวกเขาจะได้รับเกียรติไปตั้งเป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อย โดยน้องๆ ทั้ง 3 คน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก และถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไปหันมาศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์กันมากขึ้นด้วย

ในวันเดียวกันนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เดินทางมาแสดงความยินดีกับคณะเยาวชนไทยที่คว้ารางวัลใหญ่กลับประเทศ โดยกล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของเด็กไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้นำผลงานไปเข้าแข่งขันในเวทีระดับโลกจนคว้าชัยมาได้สำเร็จ ถือเป็นการเรียนรู้ประสบการใหม่ และคาดหวังว่าทุกคนจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ดีในอนาคตได้ต่อไป

ทั้งนี้ การจัดส่งนักเรียนไทยไปแข่งขันในมหกรรมการประกวดดังกล่าว เป็นความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทริกและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.กับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แลบริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

นอกจากนี้ในเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ในปีนี้ ยังมีทีมนักเรียนไทยได้รับรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์อีกเชนกัน โดยนายนรินธเดช เจริญสมบัติ, นายธนทรัพย์ ก้อนมณี และ น.ส.วรดา จันทร์มุข จาก ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี ได้รับรางวัลที่ 4 ประเภท แกรนด์ อวอร์ด สาขาวิศวกรรมวัสดุและวิศวกรรมชีวเวช จากโครงงานการนำผลของฟิลม์มิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักมาใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวด้วย

อีกทั้ง ร.ร.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ สามารถคว้าเหรียญเงินจากเวทีนี้ได้เช่นกัน จากโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การออกแบบระบบควบคุมการปลูกพืชในโรงเรือนด้วยอาร์ดิโน (Arduino) พัฒนา โดย นายกิตติ์ ธเนศธนะรุ่งโรจน์ทวี, นายฉัตรชัย จันทะศิลา และนายอภิสิทธิ์ รังสิมาวงศ์

อย่างไรก็ดี ตัวแทนทีมจาก จาก ร.ร.กันทรารมณ์ ได้เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การแข่งขันครั้งนี้นอกจากได้รางวัลแล้วยังทำให้พวกเขาทั้ง 12 คน จาก 5 ทีม ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยได้ประสบการณ์หลายด้าน ทั้งการเรียนรู้จากเพื่อนต่างชาติ การฝึกใช้ภาษา ตลอดจนได้เรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีม ทั้งยังได้ฝึกคิดฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เป็น ถือว่าคุ้มมากสำหรับสิ่งที่ได้กลับมา


ชมคลิปทีมสุราษฎร์พิทยากล่าวหลังรับรางวัล และนำเสนอผลงาน

http://www.manager.co.th/science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000059525


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 12/06/2011 8:03 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 12/06/2011 7:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ฟังความคาดหวังผู้ใหญ่สูงวัย ในวงการวิทยาศาสตร์ไทย


“วันผู้สูงอายุ” ที่จะเวียนมา พร้อมกับเทศกาลสงกรานต์ เป็นอีกวาระที่เราจะได้ระลึกถึงผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วผู้อาวุโสในวงการวิทยาศาสตร์ไทยมีความคาดหวังอะไร และอยากจะฝากอะไรถึงสังคมและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่บ้าง?

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักวิทยาศาสตร์อาวุโส แนะว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ต้องมีระบบคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และหมั่นแสวงหาองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา เปิดตัวเปิดใจให้มาก โดยเฉพาะด้านสื่อสารมวลชน ที่ต้องให้ข้อมูลในเรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ตรงนี้ให้กับประชาชนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ ทั้งยังช่วยปลูกฝังความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ให้คนในสังคมได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกมาก ที่ยังไม่กล้าเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ออกไปสู่ภาคสังคม เพราะกลัวว่านักสื่อสารมวลชน จะสื่อความหมาย หรือสื่อข่าวที่ผิดพลาดออกไป

ทางด้าน ดร.พงศ์เทพ อันตะริกานนท์ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งนักวิทยาศาสตร์อาวุโส ได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ต้องเป็นคนที่รู้จักคิด ช่างสังเกต อยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องมีความพยายามอย่างไม่สิ้นสุด ต้องเรียนรู้ ทำงาน คิดทำสิ่งใหม่อยู่เสมอ ทั้งยังต้องเป็นผู้นำทางความคิดในทุกเรื่อง เพื่อนำมาเผยแพร่ให้คนในสังคมได้รับทราบ และนำไปพัฒนาประเทศต่อไป

นายปฐม แหยมเกตุ อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้ฝากถึงเด็กและเยาวชน ที่จะก้าวไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตด้วยว่า การจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้นจะต้องมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์เสียก่อน อย่าคิดว่าเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากเรียนแล้วไม่มีงานทำ มันไม่ใช่ หากทุกคนมีทัศนคติที่ดีแล้วเรื่องวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทุกคนแน่นอน

"นักวิทยาศาสตร์ที่ดี ต้องสนใจชีวิตประจำวันเมื่อเกิดปัญหาต้องวิเคราะห์ได้ว่าอะไรเกิดขึ้น จากนั้นจึงหาทางแก้ปัญหา ไม่ใช่มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของโชคชะตาราศี" นายปฐมกล่าว

อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เสริมว่า นักวิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่ทุกวงการ ทุกส่วนของสังคม สามารถเชื่อมโยงผูกพันกันได้ อาทิ คนที่อยู่ต่างจังหวัด หากจะปลูกต้นไม้ให้งอกงามดี ก็ต้องศึกษาว่าต้นไม้ชนิดนี้เหมาะกับปุ๋ยแบบไหน ก็ต้องนำระบบคิดทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย หรือในเรื่องของสุขภาพ ทำอย่างไรไม่ให้ฟันผุ ก็ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น วิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่กว้างขวางและทุกคนเข้าถึงได้


แล้ววิทยาศาสตร์ไทยควรจะไปทิศทางไหน ?
ดร.พงศ์เทพ ให้คำตอบว่าปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจริงๆ นั้นมีเพียง 2,000-3,000 คนเท่านั้น (หมายถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัย) ซึ่งยังมีน้อยมากสำหรับประเทศไทย เพราะประเทศเราต้องการนักวิทยาศาสตร์ในการบริหารประเทศทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือภาคสังคม เนื่องจากว่านักวิทยาศาสตร์นั้นมีความคิดที่เป็นระบบ มีการวางแผนอย่างดี และหากเกิดปัญหา ก็นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะนักวิทยาศาสตร์จะรู้ว่าปัญหานั้นมาจากส่วนไหน จึงเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุอย่างในปัจจุบัน

“ผมมองว่าปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือ ปัญหาจราจร คนส่วนใหญ่มักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะไม่ได้ใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างจริงจัง ปัญหาเหล่านี้จึงยังไม่หมดไปจากสังคม” ดร.พงศ์เทพกล่าว

ดร.พงศ์เทพ ยังเปิดมุมมองด้วยว่า รัฐบาลควรควรออกกฎหมายอย่างจริงจังในเรื่องของการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นวิชาชีพ อาทิ หมอ เภสัชกร หรือครู เพราะเมื่อมีกฎหมายออกมาเป็นวิชาชีพแล้วก็จะทำให้มีตำแหน่งที่จะรองรับนักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เยาวชนสนใจที่จะมาศึกษาทางด้านนี้มากยิ่งขึ้น

สำหรับคำตอบของ นายปฐม นั้นมองว่าประเทศไทยนั้นมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในทุกด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ หรือระบบการศึกษา แต่สิ่งที่ต้องเข้ามาเป็นตัวเสริมนั้นคือเรื่องของการสร้างความรู้สึกที่ดีกับวิทยาศาสตร์

“จากคำพูดที่บอกว่า “ประเทศชาติจะเจริญไม่ได้ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ผมมองว่าสิ่งที่จะทำให้สังคมตระหนักได้นั้นจะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ คือสร้างเจตนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งสังคมไทยยังมีน้อยมากขณะนี้” นายปฐมกล่าว

“ทุกคน ทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาคเอกชน รัฐบาล หรือภาคประชาชน จึงต้องปลูกจิตสำนึกให้เด็กคิดในเรื่องของวิทยาศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น ต้องสร้างสปิริตนักวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารมวลชนก็เช่นกันที่จะต้องเผยแพร่ข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องของการทำงานขององค์กรต่างๆ ว่าหน่วยงานไหนให้บริการด้านอะไรบ้าง เพราะประชาชนจะได้เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น” ที่ปรึกษาอนุกรรมมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อธิบาย

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ให้ความเห็นด้วยว่า ปัจจุบันนั้นนักวิทยาศาสตร์ไทยทางด้านการวิจัยยังสามารถผลิตผลงานที่เป็นสากลได้ แต่เฉพาะบางสาขา ที่เด่นคือ การแพทย์ ชีวเคมี ยอมรับว่า ทางด้านฟิสิกส์ ยังไม่เด่นมาก แต่ยังสามารถไปถึงสากลได้ในทางด้านทฤษฎี แต่การทดลองยังไปไม่ถึง

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกอีกว่า ปัจจุบันมีการแข่งขันทางด้านองค์ความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันเข้าเรียนทางมหาวิทยาลัย จะสังเกตได้ว่ามัธยมศึกษาตอนต้น เด็กจะให้ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาก พอมาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก็ยังสนุกสนานกับการเรียนวิทยาศาสตร์อยู่ พอเริ่มเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 5-6 เด็กก็จะเริ่มสนใจน้อยลงและห่างออกไป เอาเวลาไปคิดถึงอนาคตและในการสอบเข้าเรียนมากยิ่งขึ้น จึงไม่ได้ใส่ใจในการหาองค์ความรู้ หรือเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ตรงนี้ทำให้การเรียนรู้หรือองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ถูกทำลายลงไป

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการให้ความสำคัญกับเรื่องวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยนั้นไม่เพียงแต่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาดูแล หรือเข้ามารับผิดชอบ แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะตัวเอง ที่ต้องใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์จะทำให้คนไม่งมงาย รู้ที่มาที่ไปของปัญหา และทำให้เป็นคนที่มีเหตุเป็นผลด้วย

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ในระหว่างกิจกรรมวันพบนักวิทยาศาสตร์อาวุโส เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2554 ที่ทาง วท. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 54 ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีนักวิทยาศาสตร์อาวุโส อดีตผู้บริหารและข้าราชการของวท. มาร่วมงานที่ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก

http://www.manager.co.th/science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000043973
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11561

ตอบตอบ: 12/06/2011 8:00 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

คำทำนายจากอดีต ถึงโลกปัจจุบัน ของ “เอดิสัน”


“เอดิสัน” เป็นนักประดิษฐ์ที่ชาวโลกรู้จักกันดี ในฐานะผู้คิดค้นหลอดไฟได้เป็นคนแรกของโลก แล้วเขายังมีนวัตกรรมอันเป็นผลงานสร้างสรรค์อีกมากมาย และในช่วงเวลา 84 ปีที่เขายังมีลมหายใจ เอดิสันยังได้มองไกลถึงนวัตกรรมของเขา ว่าจะทำให้โลกอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ในวันเกิดครบรอบปีที่ 164 ของ "โทมัส เอดิสัน" (Thomas Edison) เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2011 ที่ผ่านมา “เนชันแนล จีโอกราฟิก” จึงได้นำเรากลับไปย้อนทบทวน “คำคาดการณ์” ของเอดิสัน เมื่อครั้งที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ลงนิตยสาร “คอสโมโปลิแทน” (Cosmopolitan : ที่สมัยนั้นยังเป็นนิตยสารทั่วไป) โดยเป็นการรวบรวม และอธิบายขยายความเพิ่มเติมจากหนังสือ “เอดิสัน : ชีวิตแห่งการคิดค้น” (Edison: A Life of Invention)

ไปดูกันกว่า คำทำนายของ “เอดิสัน” เมื่อ ปี 1911 มีอะไรเกิดขึ้นจริงแล้วบ้างในปี 2011


หนังสือจะทำจากโลหะ
เอดิสันได้จินตนาการว่า หนังสือในอนาคตจะไม่ใช้กระดาษ หากแต่เป็นโลหะนิเกิลแทน และหนังสือนิเกิลนี้จะมีราคาถูกกว่า แข็งแรงกว่า และยังเป็นวัสดุที่ยืดหยุ่นได้มากกว่ากระดาษ

แน่นอนว่าเอดิสันไม่มีทางรู้จัก “หมึกอิเล็กทรอนิกส์” (e-ink) ที่กลายเป็นตัวอักษรแห่งโลกดิจิทัล แต่เขาก็ได้มองไกลไปเกินกว่าหนังสือที่เขาถือไว้ในมือเสียอีก และนิเกิลก็ใช้ทำสแตนเลสสตีลเป็นมันวาว เหมือนอุปกรณ์อิเล็กทริกส์ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ที่เราแทบจะใช้แทนหนังสือกันไปแล้ว



เครื่องยนต์จะมาแทนคนงาน
ในปี 1911 เอดิสันบอกคอสโมโปลิแทนว่า เครื่องจักรกลทั้งหลาย จะสามารถสร้างและประกอบสิ่งของต่างๆ ทดแทนการใช้มือคนได้อย่างแน่นอน

“วันที่ช่างเย็บผ้าตามท้องถนน จะนั่งหน้าดำคร่ำเคร่งด้นตะเข็บ กำลังจะหมดลง” เขาทำนาย และเห็นว่า เครื่องจักรกลจะเข้าไปแทนที่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็เป็นอย่างภาพที่เราเห็นกันในโลกยุคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน



โทรศัพท์จะฉลาดขึ้น
แม้เอดิสันจะไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ แต่เขาก็พัฒนาโทรเลขแบบใช้เสียงขึ้น (phonograph) อันเป็นพื้นฐานให้นำไปสู่สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “โทรศัพท์” และเมื่อนั้นเอดิสันก็เชื่อว่า ในอนาคตจะมีการประยุกต์ใช้งานโทรศัพท์ได้อีกหลากหลายมากมาย

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีทางด้านโทรศัพท์ ที่พัฒนาได้ก้าวไกลจนถึงทุกวันนี้ และจะก้าวไกลไปกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ก็เพราะพื้นฐานที่มาจากโทรเลขแบบเสียงของเอดิสันนั่นเอง



โลกนี้จะมีแต่คอนกรีต
ผลจากการการสร้างเตาเผาแบบต่อเนื่อง ทำให้เอดิสันได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมซีเม็นต์ จนนำไปสู่การใช้คอนกรีตอย่างแพร่หลาย ตอนนั้น เอดิสันบอกว่าผู้คนเสียสติ ที่สร้างตึกด้วยก้อนอิฐประกอบเข้ากับแท่งเหล็ก ทำไมถึงไม่ใช้คอนกรีตเทให้เข้ากับโครงสร้างเหล็กหรือเหล็กเส้น

เขายังทำนายอีกว่า หลังจากปี 1941 สิ่งปลูกสร้างทั้งหลายจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์สวยหรู หรือตึกสูงระฟ้า คอนกรีตจะทำให้โครงสร้างเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

ในช่วงปี 1920 ตึกระฟ้าทั้งหลายก็ได้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กจริง อย่างที่เอดิสันว่าไว้ แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าสถาปนิกยุคใหม่นิยมออกแบบตึกสูง ที่มีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นกรอบเหล็กติดผนังกระจก มากกว่าคอนกรีตเสริมเหล็กไปเสียแล้ว



เฟอร์นิเจอร์ไม้จะหายไป
เอดิสันบอกคอสโมโปลิแทนว่า เฟอร์นิเจอร์เหล็กจะถูกนำมาประดับบ้าน วางแทนที่เฟอร์นิเจอร์ไม้ ขณะที่สภาพสังคมในตอนนั้น แทบนึกถึงภาพแท่งเหล็กที่ตั้งประดับบ้านไม่ออกเลยด้วยซ้ำ

“เด็กๆ ในรุ่นถัดไป จะได้นั่งเก้าอี้สูง ทำจากเหล็กกล้า และรับประทานอาหารบนโต๊ะเหล็กเช่นกัน พวกเขาจะไม่รู้จักเฟอร์นิเจอร์ไม้ นั่นก็เพราะอัลลอยมีน้ำหนักเบาและถูกกว่าไม้ และยังนำไปทำลวดลายได้ง่ายกว่าไม้มะฮอกานีหรือไม้ชนิดอื่นๆ” เอดิสันกล่าวไว้

อีกทั้งในช่วงปี 1920 - 1930 เหล่าผู้ผลิต ก็เริ่มทดลองสร้างเฟอร์นิเจอร์เหล็กให้กับสถานที่ทำงานต่างๆ มากขึ้น แม้ว่าตามบ้านจะยังคงใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างแพร่หลายก็ตาม



ไฟฟ้าจะขับเคลื่อนรถไฟแทนไอน้ำ

รถจักรไอน้ำเพิ่งก่อกำเนิดก่อนเอดิสันเกิดเพียงครึ่งศตวรรษ แต่เอดิสันในวัยหนุ่มกลับบอกว่า ในไม่ช้ารถจักรไอน้ำจะหมดไป และเทคโนโลยีกังหันน้ำจะช่วยสร้างกระแสไฟฟ้าให้วิ่งบนรางรถไฟได้ และจะก้าวข้ามไปจากยุคไอน้ำ

แค่เพียงศตวรรษเดียว ที่เอดิสันทำนายไว้ เราก็ได้ประจักษ์ชัดว่ารถจักรไอน้ำได้สิ้นสุดลงแล้ว แถมยังมีรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าเข้ามาแทนที่



ยุคทองของการเล่นแร่แปรธาตุ
เหล่านักเล่นแร่แปรธาตุมีความพยายามที่จะสร้างทองคำเทียมมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม แม้แต่เอดิสันก็ให้ความสนใจ ซึ่งเขาพูดถึงสิ่งนี้ ก่อนจะมีอุตสาหกรรมผลิตทองในสหรัฐฯ เสียอีก

เอดิสันเกือบทายถูกว่า เราจะสามารถสร้างทองได้เอง เพราะมีนักวิทยาศาสตร์สามารถจัดเรียงอะตอม จนเป็นทองสังเคราะห์ได้สำเร็จในห้องปฏิบัติการ

ทว่า การสร้างทองเทียมได้ก็หาใช่เรื่องน่าตื่นเต้น เพราะโลกยุคปัจจุบันเราสามารถสร้างวัตถุเทียมขึ้นได้อีกมากมายหลายชนิด



เทคโนโลยีทำชีวิตไม่มีจน
“ความยากจนนั้น คือโลกที่ผู้คนใช้แต่มือ ทว่าตอนนี้มนุษย์เริ่มใช้สมองของพวกเขาแล้ว ดังนั้นความยากจนกำลังจะหมดลง” มุมมองของโทมัส เอดิสันต่อความยากจน โดยเขาเชื่อว่านับจากยุคของเขา ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมกันอย่างมากมาย จะส่งผลให้ความยากจนค่อยๆ หมดไป

เอดิสันมองประโยชน์ของเทคโนโลยีว่า จะช่วยสร้างความก้าวหน้าทางธุรกิจ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ทั้งความร่ำรวยและความดีงาม อันจะทำให้ความยากจนหดหายไป ซึ่งยังไม่ใช่โลกในปี 2011 เป็นแน่แท้

คำทำนายของเอดิสันมองจากพื้นฐานสังคมในยุคนั้น และวิเคราะห์แนวโน้มอนาคต ที่อาจจะไปถึงแล้ว หรือยังไปไม่ถึง

แต่ที่แน่ๆ มุมมองของเขาในฐานะนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลก ที่มีผลงานจดสิทธิบัตรนับพันชิ้น ในวัย 50 ต้นๆ เขาได้กลายเป็นเมธีนวัตกร นักคิดค้นสำคัญของชาติอเมริกัน (และโลก) ซึ่งในยุคของเขานั้นมีความศรัทธาต่อการใช้เทคโนโลยีสร้างความก้าวหน้า ผลงานของเขาหลายสิ่ง ที่ยังคงกลายเป็นรากฐานและมีอิทธิพลต่อนวัตกรรมในยุคปัจจุบัน.


http://www.manager.co.th/science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000023987
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©