-
MySite.com :: ทบทวนกระทู้ - งานวิจัย : น้ำทิ้งโรงอบยาง บำรุงต้นข้าว
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
ตอบตอบ: 13/04/2010 6:28 pm    ชื่อกระทู้: งานวิจัย : น้ำทิ้งโรงอบยาง บำรุงต้นข้าว

ปล่อยน้ำทิ้งโรงอบยางก่อนข้าวตั้งท้องลดต้นทุน เพิ่มรายได้

นักวิจัยปักษ์ใต้แก้ปัญหา 2 ต่อ ทั้งมลพิษและเกษตรกรขาดน้ำ แนะปล่อยน้ำเสียจากโรงงานยางก่อนข้าวตั้งท้องจะได้ผลผลิตดี ขณะที่ยางพาราก็ให้ใบดกได้ย้ำยางมาก ส่วนพืชกินได้ยังต้องวิเคราะห์ต่อว่ามีโลหะหนักที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

โดยปกติแล้วการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่งต้องรับผิดชอบ แต่โรงงานที่อบ/รมยางในภาคใต้หลายแห่งนั้นได้หยุดเดินเครื่องเติมอากาศของระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะเครื่องเสียอยู่บ่อยครั้งและยุ่งยากในการซ่อมบำรุง รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้เกิดมลพิษจากการปล่อยน้ำทิ้งที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันเกษตรกรในกลายพื้นที่ก็ต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูก

ด้วยปัญหาดังกล่าว รศ.ดร.สายัณห์ สดุดี จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ทำวิจัยเรื่อง “การประเมินผลกระทบจากการใช้น้ำเสียจากโรงอบ/ยางแผ่นเพื่อเกษตรกรรม” ด้วยการทดลองใช้น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราในแปลงเกษตร โดยได้ทดลองทั้งในแปลงผักที่ใช้รับประทาน และพืชสวนไร่นา เช่น กวางตุ้ง ข้าว และยางพารา เป็นต้น

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์น้ำเสียจากอุตสาหกรรมยางพาราพบว่ามีธาตุและโลหะหนักหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แมกกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) และมีไนโตรเจน (N)มากเป็นพิเศษซึ่งน่าจะนำมาใช้ทดแทนปุ๋ยยูเรียเพื่อลดต้นทุนในการผลิตให้กับเกษตรกรได้ และเกษตรกรบางกลุ่มก็ได้ปล่อยน้ำเสียดังกล่าวลงในนาขณะที่ข้าวกำลังออกรวง ทำให้ข้าวเมล็ดข้าวลีบ

ทางผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์หาสาเหตุและพบว่าที่น้ำเสียทำให้เมล็ดข้าวลีบนั้น เพราะว่าธาตุไนโตรเจนไปเร่งให้ต้นข้าวแตกกอจึงไม่มีสารอาหารเพียงพอไปบำรุงเมล็ดข้าว รศ.ดร.สายัณห์จึงแนะว่าควรจะปล่อยน้ำเสียลงนาในช่วงที่ข้าวยังไม่ออกรวง เพื่อเร่งให้ข้าวแตกกอและได้ผลผลิตข้าวที่ดีตามมา และยางพาราที่ได้รับน้ำเสียก็จะมีใบที่ดกหนาขึ้นและได้น้ำยางมากขึ้นด้วย ส่วนในการทดลองกับพืชอื่นๆ นั้น กำลังอยู่ระหว่างการติดตามโลหะหนักในพืชที่กินได้ โดยในเบื้องต้นพบว่าอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายนัก

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สายัณห์กล่าวว่าการทดลองดังกล่าวเพิ่งเริ่มได้เพียง 1 ปี จึงยังต้องวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าจะสามารถนำน้ำเสียจากอุตสาหกรรมยางพารามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ซึ่งตอนนี้ขอแนะนำให้ใช้กับพืชที่ไม่ใช้กินก่อนจะดีกว่า สำหรับนาข้าวก็สามารถใช้ได้แต่ควรใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม


ที่มา : ม.สงขลานครินทร์