-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 444 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ลำไย




หน้า: 6/6




การปลูกลำไย                

ลำไย  เป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อย เจริญเติบโตได้ดีในเมืองร้อน ปัจจุบันนี้ลำไยเป็นผลไม้ที่นิยมบริโภคกันมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นพืชที่น่าสนใจยิ่งของชาวสวน เพราะเป็นผลไม้ที่มีราคาดีและมีคู่แข่งน้อยมากในตลาดต่างประเทศ  นอกจากนี้ลำไยยังเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย 

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม               
1. ดินและสภาพพื้นที่ 
ลำไยต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงถึงปานกลางดินมีการระบายน้ำดี  เช่น  ดินร่วน  ดินร่วนปนทราย  หรือดินร่วนปนเหนียว  พื้นที่ดินควรมีความสูงพอสมควร               

2. น้ำและความชื้น 
ในเขตที่ไม่มีการชลประทานต้องการปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมประมาณ 1,200 - 1,400
 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ถ้าลดลงต่ำมากาจะทำให้ดอกผลแห้งร่วงไป
อุณหภูมิต่ำประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส  เมื่อติดผลแล้วอุณหภูมิจะสูงขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสูงเกิน  40องศาเซลเซียส จะทำให้ผลแห้งและแตก 

พื้นที่ปลูกลำไยในประเทศไทย               
การปลูกลำไยส่วนใหญ่ปลูกในภาคเหนือ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 80% ของลำไยปลูกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง นอกจากนี้ก็มีปลูกกันบ้างในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่คุณภาพของลำไยต่ำกว่าในภาคเหนือ 

พันธุ์ลำไย               
ลำไยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ               

1. ลำไยเครือ เป็นลำไยที่มีผลเล็ก เมล็ดโต มีกลิ่นคาวคล้ายกลิ่นกำมะถัน มีปลูกทั่วไป นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ               

2. ลำไยต้น เป็นลำไยที่รู้จักกันทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ               
- ลำไยพื้นเมือง (ลำไยกระดูกหรือลำไยผลเล็ก) มีผลเล็กเมล็ดโต เนื้อบาง ให้ผลดก เปลือกลำต้นขรุขระมาก ต้นตรงปัจจุบันนิยมใช้ทำต้นตอ               
- ลำไยกระโหลก เป็นลำไยที่นิยมบริโภคกันมาก ปัจจุบันมีพันธ์ใหม่ๆ มาก พันธุ์ที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่พันธ์  อีดอ  แห้ว  สีชมพู  และเบี้ยวเขียว 

พันธุ์ลำไยกระโหลก               
1. พันธุ์แดงกลม(อีแดง)
ให้ผลดกที่สุด ความสม่ำเสมอในการออกผลดี แต่มีราคาต่ำ เพราะผลเล็ก เมล็ดโต เนื้อบาง แฉะ แตกง่าย เก็บไม่ได้นาน และไม่ต้านทานต่อสภาพน้ำขัง
                
2. พันธุ์อีดอ 
เป็นพันธุ์เบา แก่ก่อนพันธุ์อื่น ขายได้ราคาดี เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลสม่ำเสมอ ไม่เว้นปี ผลผลิตดีพอควร คุณภาพปานกลาง เนื้อไม่ค่อยกรอบ มีกลิ่นคาวเล็กน้อย
               
3. พันธุ์แห้ว 
เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพการบริโภคดีมาก เนื้อแห้ง สีขาวขุ่นและกรอบที่สุด เปลือกหนา ทนทานต่อการขนส่งและเก็บไว้ได้นาน แต่มีข้อเสียคือ ออกผลไม่สม่ำเสมอมักเว้นปี มีช่วงการเก็บผลสั้น ก้านแข็งทำให้บรรจุภาชนะยาก ผลเบี้ยวเล็กน้อย จึงปลอมขายเป็นพันธุ์เบี้ยวเขียว ซึ่งราคาดีกว่า แต่ก็เป็นพันธุ์เดียวที่โรงงานต้องการมากเพราะกรอบทน 

4. พันธุ์สีชมพู  
มีคุณภาพการบริโภคดีมาก รสหวานจัดที่สุด เนื้อสีชมพู หนา กรอบ มีกลิ่นหอม ช่อยาว ปีที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมดีจะให้ผลผลิตสูงมาก มีข้อเสียคือ ค้นไม่ค่อยแข็งแรง  ต้องการดินอุดมสมบูรณ์และการดูแลรักษาดี มีน้ำสม่ำเสมอและความชื้นในอากาศสูงพันธุ์นี้เป็นที่นิยมมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

5. พันธุ์เบี้ยว (อีเบี้ยว)
เป็นพันธุ์ที่รู้จักกันแพร่หลาน แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
-  เบี้ยวเขียวก้านแข็ง มีเมล็ดและผลโต เนื้อกรอบ เปลือกหนา คล้ายกับพันธุ์แห้ว ผลไม่ดก  ออกผลไม่สม่ำเสมอ ก้านช่อสั้น จึงไม่ค่อยนิยมนัก 
-  เบี้ยวเขียวก้านอ่อน มีคุณภาพในการบริโภคดี กรอบมาก รสหวานจัด ผลโตสม่ำเสมอกัน  เปลือกหนา เก็บไว้ได้นาน ช่อยาวให้ผลดกมาก ออกผลล่ากว่าพันธุ์อื่นทำให้มีราคาดี ก้านช่อยาว  บรรจุภาชนะได้สะดวกพันธุ์เบี้ยวเขียวมักถูกปลอมขายโดยใช้พันธุ์แห้วทั้งกิ่งตอนและผล แต่อาจสังเกตความแตกต่างได้บ้างจาก

ก. ช่อผล พันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน มีช่อผลยาว และมีความโน้ม แต่พันธุ์แห้วมีช่อผลสั้น แข็งทิ่อ และผลไม่สม่ำเสมอ

ข. ผล พันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อนจะมีผลเบี้ยวเห็นได้ชัดเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว แต่พันธุ์แห้วมีเปลือกสีน้ำตาลคล้ำปนดำ

ค. ใบ  พันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน มีใบบางสีเขียวคล้ำเป็นมันและพลิ้วเล็กน้อย  แต่พันธุ์แห้ว  แผ่นใบค่อนข้างเรียบ ยาวทื่อ หนา 

6. พันธุ์กระโหลกใบดำ(ใบดำ อีดำ) 
เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดกออกผลลดำ ช่วงเวลาการเก็บยืดไปได้นาน ช่อผลยาว ขนาดผลสม่ำเสมอบรรจุภาชนะได้สะดวก ทนต่อความแห้งแล้งและน้ำขังแฉะ มีข้อเสีย คือ เนื้อค่อนข้างเหนียว ผลไม่โต ผิวไม่สวย 

7. พันธุ์ปู่มาตีนโค้ง
มีผลสวยมาก ขนาดใหญ่ที่สุด สีเขียวสวยให้ผลดก แต่คุณภาพเลวมาก รสไมดี และมีกลิ่นคาวจัด(กลิ่นกำมะถัน) 


แหล่งพันธุ์ลำไย               
ปัจจุบันไม่มีการปลูกลำไยเพื่อขยายพันธุ์โดยเฉพาะ  ดังนั้นจึงต้องติดต่อชื้อกับชาวสวนลำไยทั่วไปโดยอาจติดต่อกับชาวสวนโดยตรง  หรือเพื่อความแน่นอนอาจติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหรือเกษตรอำเภอในแหล่งปลูกลำไยนั้น  การสั่งกิ่งตอนนั้นในช่วงติดผล  ผู้ซื้อควรไปสังเกตดูว่าต้นไหนดก  มีคุณภาพดี  แล้วกำหนดกิ่งตอนเป็นต้นๆ ไป  ควรสั่งซื้อก่อนฤดูการทำกิ่งตอน  และมาดูแลการตัดกิ่งตอนด้วยตนเองก่อน  ควรจะซื้อให้มากกว่า  ปริมาณที่ต้องการใช้ประมาณ  50  เปอร์เซ็นต์ 

การขยายพันธุ์  ทำได้หลายวิธี               
1. การตอน 
ลำไยที่ปลูกปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมดปลูกโดยใช้กิ่งตอน  การตอนกิ่งจะทำในฤดูฝน  โดยแช่กาบมะพร้าวทิ้งไว้ล่วงหน้า  3-4  เดือน  ทำการตอนเช่นเดียวกับต้นไม้อื่น ๆ  ประมาณเดือนกรกฎาคมก็จะออกราก  เมื่อรากเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลแล้วจึงตัดกิ่งตอนแล้วนำกิ่งตอนมาชำในเป๊าะ  (ก๋วย)  หรือถุงพลาสติกระยะหนึ่ง    แล้วจึงขายแก่ผู้ปลูก  ข้อเสียของกิ่งตอนคือมักมีรากด้านเดียวและไม่มีรากแก้ว               

การปลูกด้วยกิ่งตอนควรทำการเสริมรากด้วย  เพื่อช่วยให้ลำไยแข็งแรง  ล้มยาก  หาอาหารได้มาก  ซึ่งมีวิธีการคือ  เพาะต้นตอลำไยจากเมล็ด  เมื่อจะปลูกก็นำกิ่งตอนลงหลุมปลูกชิดกันกับต้นไม้ที่ได้จากการเพาะเมล็ด  โดยให้ติดกันกับกิ่งตอนทำเครื่องหมายไว้  แล้วใช้มีดคม ๆ  เฉือนเปลือกกิ่งตอนที่จุดนั้นให้เปิดออก  2-3  นิ้ว  หรือกรีดเป็น  2  แนว  แล้วตัดออกก็ได้  ส่วนต้นตอนั้นเฉือนลึกเข้าไปในเนื้อไม้ประมาณ  1/3  ของความหนาของกิ่ง  ความยาวเท่ากับแผลที่กิ่งตอน  นำแผลทั้งสองประกบกับแล้วใช้เชือกแบน ๆ  พันรัดให้แน่น  ถ้ากิ่งตอนมีขนาดใหญ่ให้ใช้หัวตะปูเล็ก  ๆ  ตอกยึดไว้ด้วยประมาณ  2  ½  -  3  เดือน  แผลก็จะเชื่อมติดกันสนิทตัดยอดต้นตอออกได้               

การเสริมรากอาจทำได้อีกวิธีโดยการโน้มยอดต้นตอไปสัมผัสกับกิ่งตอนทำเครื่องหมายไว้  แล้วตัดยอดต้นตอออกทำเป็นรูปลิ่ม  สอดเข้าไปในแผลที่ทำไว้ที่กิ่งตอน  โดยการกรีดเปลือกเป็น  2  แนว  แล้วตัดออก  จากนั้นใช้เชือกแบน ๆ  รัดให้แน่น  การเสริมรากควรทำในขณะที่ต้นลำไยอายุไม่เกิน  3  ปี  จึงจะได้ผลเต็มที่               

2.   การทาบกิ่ง  
เป็นวิธีที่ง่ายแต่ได้ผลดี  วิธีการคือ  ทำการเฉือนกิ่งต้นตอและต้นพันธุ์ให้ยาวเท่า ๆ  กัน  แล้วนำแผลประกบกันเอาเชือกรัดให้แน่นจนแน่ใจว่าติดกันแล้ว  จึงตัดยอดต้นตอ  และโคนกิ่งพันธุ์ออก  หลักสำคัญคือ  ต้นตอที่ปลูกด้วยเมล็ดต้องอายุ  8-18  เดือนจึงใช้ได้  และกิ่งพันธุ์ที่ใช้ควรเป็นกิ่งอ้วนและอ่อนคือ  ใบเปลี่ยนจากใบอ่อนเป็นใบแก่แล้ว  ลำกิ่งเป็นสีน้ำตาลอมเขียว  เปลือกเรียบไม่ขรุขระถ้ามีวัสดุควบคุมความชื้นได้จะทำได้  ในช่วงฤดูร้อน                


3.   การต่อกิ่ง   (การเสียบกิ่ง)  
วิธีการ  คือ  ทำการเพาะเมล็ดลำไยในภาชนะที่ใหญ่และสมควร  เพื่อใช้เป็นต้นตอ  เมื่อต้นมีขนาดโตประมาณ  1  เซนติเมตร  หรือขนาดแท่งดินสอดำ  ก็ตัดยอดต้นตอออกแบบแฉลบแบ่งรอยแฉลบออกเป็น  3  ส่วน  ที่จุดแบ่ง  1  ส่วนจากด้านสูงใช้มีดผ่าลึกลงไป  1  ½  นิ้ว  แล้วตัดส่วนนี้ให้ขาดไปเป็นรอยหยัก  การตัดส่วน  1  ใน  3  ก็ตัดเฉียง ๆ  เช่นกัน  กิ่งพันธุ์ที่ใช้ให้ใช้กิ่งที่มีความแก่อ่อนพอเหมาะ  ตัดให้กิ่งพันธุ์ยาวประมาณ  4-6  นิ้ว  ริดใบออกให้หมด เฉือนโคนกิ่งให้เป็นรูปลิ่มเป็นรอยหยักเท่ากับของต้นตอ  เอารอยแผลประกบกันแล้วใช้เชือกรัดให้แน่น  จากโคนขึ้นบนแล้วใช้ผ้าพลาสติกบาง ๆ  ความกว้าง  1  เซนติเมตร  พันท่อนพันธุ์ที่โผล่จากต้นตอเหลือส่วนยอดใช้ถุงพลาสติกสวมทับมัดปากให้แน่น  รดน้ำโคนต้นตอ  เมื่อยอดกิ่งพันธุ์เจริญขึ้นจนเกือบถึงก้นถุงออกปล่อยให้ยอดเจริญต่อไป               

ระหว่างทำการเสียบกิ่งให้เอาฟักไว้ในเรือนเพาะชำหรือที่ร่ม  หมั่นรดน้ำจนกว่ายอดจะมีใบแก่หมด  ใช้เวลาประมาณ  60  วัน  ก็นำไปปลูกได้  ต้นเสียบกิ่งนี้จะโตเร็วกว่ากิ่งตอนมาก  ปกติมักทำในฤดูหนาวจะนำไปปลูกเมื่อไรก็ได้               

การเสียบยอดนี้อาจทำโดยปลูกต้นตอลงในสวนเลยก็ได้  เมื่อต้นสูงประมาณ  80-100 เซนติ
เมตร ก็ทำการเสียบยอดได้ ฤดูปลูกลำไยแบ่งออกเป็น  2  ช่วง  คือ
               
1. ต้นฤดูฝน ลำไยสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่เพื่อประหยัดน้ำจึงนิยมปลูกในช่วงนี้ ซึ่งมีข้อเสีย  คือช่วงนี้อากาศร้อน ความชื้นสูงทำให้มีแมลงรบกวนมากและปัจจุบันนิยมปลูกโดยใช้กิ่งตอนซึ่งจะตอนในระยะต้นฤดูฝน ดังนั้นกิ่งตอนที่ปลูกจึงไม่ค่อยสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นกิ่งตอนข้ามปี
               
2. ปลายฤดูฝน   (ระยะปลายกันยายน-ต้นตุลาคม)   ช่วงนี้ความชื้นในดินอากาศมีพอเหมาะ  ลำไยจะผลิใบได้ดีมาก  แต่จะต้องให้น้ำบ้างในระยะหลัง  ช่วงนี้นับว่าเหมาะสมกว่าต้นฤดูฝน  เพราะไม่มีโรคและแมลงระบาดและกิ่งตอนที่ใช้ก็เป็นกิ่งตอนที่ใหม่ซึ่งจะสมบูรณ์ดี  


การปลูกและการเตรียมพื้นที่การเตรียมพื้นที่ปลูกแบ่งเป็น  2  ลักษณะคือ               
1.   การเตรียมรั้ว 
ใช้เสาไม้  เนื้อแกร่ง  ปักลงทุก ๆ  2.5  เมตร  และใช้ไม้รวกเป็นคร่าวหรืออาจปลูกต้นไม้โตเร็ว  เช่น  กระถิน  มะขามเทศ  ตามขอบรั้วเป็นระยะ ๆ  และใช้ไม้รวกหรือลาดหนามทำเป็นคร่าวจะได้เสาที่มั่นคง  ไม่ผุและกันลมด้วย               


2.   การเตรียมพื้นที่ 
ถ้าพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำควรขุดร่องให้กว้างและลึกและเอาดินในร่องมาถมแปลงให้สูง  ปกติจะขุดร่องกว้าง  1-3  เมตร  ลึก  0.5-1.5  เมตร  ขึ้นกับความต้องการดิน  ความกว้าวของแปลงจากร่องหนึ่งไปอีกร่องหนึ่งประมาณ  5-8  เมตร  ในที่ดินที่เป็นป่าเปิดใหม่  ให้เอาตอออก  ปรับพื้นที่และไถพรวนดิน  แล้วปลูกหญ้าให้เต็มพื้นที่เพื่อป้องกันวัชพืช  เช่น  หญ้าคา  แห้วหมู่  ขึ้นและเป็นการสร้างอินทรียวัตถุในสวนด้วย               

การเตรียมพื้นที่นี้อาจทำล่วงหน้าก่อนปลูก  1  ปี  ขณะเดียวกันควรจำได้ทำการชำกิ่งตอนลำไยในปี๊บ  ซึ่งจะมีค่าเท่ากับว่าได้ปลูกลำไยไปแล้ว  1  ปี  วิธีการทำคือ  ใช้ดินผสมอย่างดี  เช่น  ดินขุยไผ่  ดินจอมปลวกหรือผิวดินที่มีการทับถมของใบไม้ขุดให้ลึก  2-3  นิ้ว  ตากให้แห้งแล้วย่อยให้ละเอียด  ผสมกับขี้เถ้าแกลบและปุ๋ยคอก  ในอัตรา  2:1:1   ใส่ลงในปี๊บที่เจาะรูก้นแล้วเอากิ่งตอนปักลงไปที่ขอบด้านใดด้านหนึ่งของปี๊บแล้วยึดกับหลักให้แน่น  และทำเครื่องหมายด้านที่มีรากมากไว้  เพื่อสะดวกในการปฏิบัติดูแล 

ระยะปลูก               
การเลือกระยะปลูกขึ้นอยู่กับพันธุ์  สภาพของดิน  น้ำ  และปริมาณต้นที่ต้องการ  ซึ่งจะปลูกได้หลายระยะ  เช่น  12 x 12   เมตร,   12 x 16   เมตร  ปลูกเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่ากันด้านละ 12 เมตร หรือปลูกระยะ 6 x 6  เมตร แล้วตัดลำไยออกต้นเว้นต้นเมื่อพุ่มชนกันแล้ว
               
การเตรียมหลุม 
เมื่อได้ระยะปลูกแล้ว  ก่อนถึงฤดูปลูกก็เตรียมหลุมปลูกได้ถ้าดินร่วนโปร่งให้ขุดหลุมลึก  1  ฟุต  กว้าง  1  ฟุต  แต่ถ้าดินแน่นก็ขุดหลุมลึกให้ใหญ่ขึ้น  อาจใช้สว่านเจาะดินให้ลึก  70-80  เซนติเมตร  กว้าง  30  เซนติเมตร  ก็ได้  ควรแยกดินบนและล่างออกจากกัน  นำดินบนมาผสมกับหญ้าแห้งหรือปุ๋ยคอก  อัตรา  1 : 1  และใส่กระดูกในหรือหิน  ฟอสเฟตอีก  1  กิโลกรัมต่อหลุม   ที่ก้านหลุมใส่ขึ้นแกลบหรือทรายหยาบให้สูง  1  คืบ  แล้วใช้ท่อไม้ไผ่หรือท่อพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  1  นิ้ว  1  อัน   ปักลงไปที่ทรายก้นหลุมให้ปลายมาโผล่ที่ปากหลุมแล้วจึงเอาดินผสมลงกลบใส่ในหลุม  ดินชั้นล่างนำมาทำคันโอบรอบปากหลุม  ถ้าพื้นที่เอียงให้ทำคันโอบด้านต่ำเพียงด้านเดียว  แต่ถ้าเป็นที่ราบให้ทำคันโอบรอบหลุมเพื่อช่วยกักเก็บน้ำฝน  แล้วใช้ไม้หลักที่ทายากันปลวกและแมลงแล้วตอกลงไปให้ถึงก้นหลุมและมีความยาวโผล่พ้นหลุม  1  เมตร  เมื่อปล่อยไว้ดินจะยุบตัวให้เอาดินผสมเพิ่มลงให้เต็มหลุม 

การปลูก               
เมื่อจะนำต้นลำไยในปี๊บลงหลุมต้องเอาปี๊บออกก่อน  น้ำปี๊บต้นพันธุ์วางที่ปากหลุม  ใช้มีดและค้อนตอกตามขอบล่างเลาะตามตะเข็บลงล่าง  แล้วนำปี๊บลงกะดูว่าเมื่อวางแล้วโคนต้นลำไยจะอยู่ที่ปากหลุมพอดี แล้วจัดขอบล่างของปี๊บให้ขาดออกจากกันพับก้นปี๊บขึ้นไปทางด้านหลังวางให้ต้นพันธุ์ชิดกับหลักมากที่สุดแล้วผูกให้แน่น กลบดินและคลุมโคนต้นแล้วใช้ฝักบัวรดน้ำที่ปากหลุมให้ชุ่มถึงดินล่าง
 
การกลบดิน               
ถ้าเป็นที่ดอน  โคนต้นอาจจมลึกลงไปจากปากหลุมได้บ้าง  ค่อย ๆ  กลบดินทีละน้อย  เมื่อรากฟูขึ้นจึงค่อยกลบดินอีกทีหนึ่ง  ในที่ราบควรปลุกให้ลอยไว้เล็กน้อย  และกลบดินให้เสมอกับระดับต้นเมื่ออยู่ในปี๊บหรือกลบเสมอขอบกาบมะพร้าวด้านบน 

การคลุมโคน               
คลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้ง   ฟางแห้ง  ตลอดเวลาให้หนาประมาณ  2-2  ½   นิ้ว   รัศมีรอบโคนต้น   1   เมตร 

การให้น้ำ               
หลังจากปลูกแล้วให้น้ำทางท่อไม้ไผ่หรือท่อพลาสติกที่ปักไว้ที่หลุมโดยมใช้กรวยสวมที่ปากท่อ  ระวังอย่าให้ดินตอนบนเปียก  ควรให้น้ำเป็นระยะ ๆ  ครั้งละมาก ๆ  ถ้าให้น้ำครั้งละ  1  ปี๊บ  ดินจะเก็บความชื้นได้ถึง  25-30  องศาต่อวัน  ควรทำการให้น้ำในตอนเช้า 

การควบคุมกำจัดวัชพืช               
การควบคุมอาจทำได้โดยใช้วัสดุคลุมบริเวณโคนต้น  ส่วนวัชพืชที่อยู่นอกทรงพุ่มควรตัดไม่ให้รก  อาจทำได้โดยการพ่นยาปราบศัตรูพืชหรือตัดเป็นระยะ ๆ  แล้วนำเศษหญ้ามาคลุมโคน 

การปลูกพืชคลุมดินในสวน               
ไม่มีความจำเป็นต้องปลูกพืชอื่น  ถ้ามีการปลูกหญ้า และควบคุมอย่างดีแล้ว  หญ้าที่ควรใช้ปลูก  เช่น  หญ้าส้ม 

การพรวนดิน               
ถ้ามีการคลุมโคนเป็นประจำ  และรดน้ำ  โดยไม่ผ่านหน้าดินแล้วก็ไม่ต้องพรวนดิน  เว้นแต่บางต้นที่มีผิวหน้าดินแน่นมาก  ก็อาจพรวนบ้างเป็นครั้งคราว 

การปลูกพืชแซม               
ถ้าจะปลุกควรปลูกพืชล้มลุกหรือพืชกิ่งถาวรและเป็นพืชเตี้ย 

การใส่ปุ๋ย               
ในระยะแรก  ถ้าใส่ปุ๋ยอินทรีย์มากเพียงพอแล้วก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี   ถ้าจะใส่ปุ๋ยเคมีควรใส่ปุ๋ย  N-P-K   ในอัตราส่วน   1:1:1   หรือ   สูตร    15:15:15,   13:13:13   หรือ   10:10:10   โดยใช้ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้รองพื้น  ปุ๋ยอินทรีย์ควรใส่ทุกปี   อัตรา  5  ปี๊บต่อต้นต่อปีก็เพียงพอและอาจใส่ปุ๋ยเคมีเกรด   1:1:1  ร่วมด้วย   อัตรา   100   กรัม  ถึง   1   กิโลกรัม/ต้น/ปี   ในระยะที่ยังไม่ให้ผลนั้นจะให้ปุ๋ยเมื่อไรก็ได้อาจให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำทางท่อก็ได้ 

การสร้างทรงต้น               
ลำไยที่ปลูกด้วยกิ่งตอนจำเป็นต้องสร้างทรงต้นตั้งแต่นำกิ่งตอนไปชำ   โดยตัดให้เหลือกิ่งที่ตรงที่สุด   สมบูรณ์ที่สุด   และยาวที่สุดเพียงกิ่งเดียว  การสร้างทรงต้นถือหลักว่า  ทรงต้นจะต้องโปร่งมีกิ่งแยกจากต้นไม่มาก   กิ่งทำมุมกว้างกับลำต้นโดยกระจายอยู่รอบลำต้น  และต้องไม่มียอดเมื่อต้นสูง   1.20   เมตร   ให้เด็ดยอดลำไยออก  จะเกิดกิ่งแตกออกมาโดยรอบ  เลือกกิ่งที่อวบ  สมบูรณ์ไว้  3-4  กิ่ง  แต่ละกิ่งห่างกัน  4-6  นิ้ว  และคอยเด็ดส่วนที่แตกเป็นกระจุกออกเรื่อย ๆ  เพื่อให้กิ่งถ่างออก  และใช้ไม้เล็ก ๆ  ผูกยึดกิ่งหนึ่งและผูกรั้งไว้  เมื่อกิ่งที่เลือกไว้ยาวออกก็ตัดให้เหลือ  6 นิ้ว  ทั้ง  3-4  กิ่งนี้ก็จะแตกแขนงออกให้เลือกไว้กิ่งละ  2  แขนงเมื่อกิ่งแขนงนี้ยาวออกไปก็ตัดให้ยาวเพียง  6  นิ้ว  ซึ่งจะแตกแขนงอีกแล้วคัดเลือกไว้แขนงละ  2  กิ่งย่อย  เมื่อกิ่งย่อยนี้ยาวออกไปก็คัดเลือกไว้กิ่งละ  2  แขนง  จะได้เป็น  24  หรือ  32  กิ่งย่อย  จากนั้นก็ปล่อยให้แตกตามธรรมชาติ  เมื่อเห็นว่ากิ่งหลัก  3-4  กิ่งนั้นถ่างออกคงที่แล้ว  ก็ตัดยอดที่เป็นกระจุกนั้นให้ชิดกับโคนกิ่งหลักที่อยู่บนสุด  จะได้  1  ลำต้น  มีกิ่งหลัก  3  หรือ  4  กิ่ง  กิ่งย่อย  24  หรือ  32  กิ่ง  ทรงต้นที่สมบูรณ์แบบจะมีทรงพุ่มต่ำ  โปร่งแสงส่องลอดได้  ลมโกรก  ทำให้ออกผลสม่ำเสมอ  งานนี้จะเริ่มทำตั้งแต่ปีที่  1  อาจเสร็จในปีที่  3-4  ลำไยที่สร้างทรงพุ่มจะมีขนาดเล็กตั้งแต่แข็งแรงกว่าที่ไม่ได้สร้าง จากนั้นสร้างทรงพุ่มให้เป็นทรงกลมค่อนข้างแบน  สม่ำเสมอทุกด้าน  โดยบังคับให้ทุกด้านเจริญพร้อม ๆ  กัน  ถ้าด้านไหนเจริญเร็วไปให้ตัดยอด  เพื่อให้ชะงักการเจริญชั่วคราวจนกว่ากิ่งอื่นจะเจริญทัน   
 


การปฏิบัติดูแลต้นลำไยที่ให้ผลแล้ว 
การให้น้ำ
               
เมื่อหมดฤดูฝนถึงระยะเริ่มออกดอกควรงดการให้น้ำเด็ดขาด  ในช่วงเดือนธันวาคม  ให้กวาดใบที่ร่วงรอบโคนต้นออกเพื่อให้หน้าดินแห้ง  หลังจากดอกบานจึงให้น้ำและใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมโคนต้นส่วนในระยะที่ติดผลแล้วควรให้น้ำอาทิตย์ละครั้ง 

การใส่ปุ๋ย  แบ่งใส่  2  ระยะคือ               
1. เมื่อเริ่มออกดอก ให้ปุ๋ยคอก 4-10 ปี๊บต่อต้น โดยหว่านรอบ ๆ ต้น               
2. ติดผลแล้ว   ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร  13-13-21  ใส่ทุก  15  วัน  อัตรา  300  กรัมต่อต้น  ใส่ให้จนถึง  1  เดือนก่อนเก็บผลถ้ามีใบซีดและใบน้อยให้เพิ่มปุ๋ยยูเรียด้วยครั้งละ 2  กำมือ  จากนั้นใส่อีกครั้งเมื่อเก็บผลแล้วอัตรา  2  กก./ต้น  ควรใส่ปุ๋ยก่อนให้น้ำ  1  วัน  ก่อนใส่ปุ๋ยให้เก็บใบรวมกันไว้  เมื่อหว่านปุ๋ยแล้วจึงเกลี่ยใบกลบ 

การตัดแต่งกิ่ง               
ช่วยให้ทรงพุ่มโปร่ง  ดูแลได้สะดวก  ป้องกันการโค่นล้มและช่วยให้ผลดก  ให้ผลสม่ำเสมอทุกปี  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ                
1.   การตัดแต่งกิ่งประจำปี  ต้องทำทุกปีหลังเก็บผลแล้วมีหลักคือ  ให้ตัดกิ่งที่ฉีดหักก่อน  ถ้ากิ่งใดคาดว่าไม่ออกดอกผลอีกแล้วก็ให้ตัดชิดโคนกิ่งเลย  ส่วนกิ่งที่ต้องการให้แตกยอดใหม่  เมื่อออกผลให้ตัดเหลือไว้ให้ยาว  กิ่งต่อไปที่ติดคือ  กิ่งที่ไม่แข็งแรงและกิ่งกระโดง  โดยตัดให้ชิดโคนกิ่ง  แล้วทาแผลด้วยสีน้ำมัน  หรือปูนขาวหรือยากันรา               

2.   การตัดแต่งกิ่งย่อยหรือตัดแต่งกิ่งตามความจำเป็น  เมื่อเข้าสวนชาวสวนควรนำกรรไกรติดตัวไปด้วยทุกครั้ง  เพื่อตัดกิ่งที่เป็นโรคหรือมีแมลงออก  มีหลักดังนี้               
-   ถ้าต้นสมบูรณ์ให้ตัดได้เต็มที่  แต่ถ้าต้นโทรมมากให้ตัดออกเพียงเล็กน้อย      
-   ตัดแต่งด้วยความระมัดระวังอย่าให้กิ่งช้ำหรือกระทบกระเทือนกิ่งใหญ่  ควรใช้มีดตัดก่อนแล้วใช้เลื่อยตามอีกครั้ง 

เครื่องมือที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่ง
1. กรรไกรขนาดเล็กและใหญ่
2. เลื่อยแต่งกิ่งมีลักษณะคล้ายคันธนูใช้สำหรับเลื่อยไม้สดโดยเฉพาะ
3. สิ่ว  ใช้ทำให้แผลเรียบ 

การค้ำต้น               
เมื่อลำไยอายุได้  4-5  ปี  ควรทำการค้ำยันต้นเพื่อป้องกันการโค่นต้น  มีวิธีการคือ  ใช้เสา  4  เสา  ปีก  4  มุม  และมีคานรับไปที่กิ่งใหญ่เมื่อต้นโตก็ใช้ไผ่สีสุกหรือไม่ซางถ่างเป็นง่ามที่ตอนปลายหรือทำเป็นรูเอาสลักสอดไว้  ไปค้ำยันไว้ที่ง่ามของกิ่งลำไย  โดยโคนไม้ยันไว้ที่พื้น  แต่วิธีน้ำไม่ค่อยมั่นคง  และเปลืองไม้ค้ำมาก  อาจทำให้มั่นคงได้โดยใช้ไม้รวกสอดเข้าไปในพุ่มโดยเลือกแนวให้สัมผัสกิ่งมาก ๆ  ประมาณ  4-5 กิ่ง  ปลายไม้ห่างจากริมนอกประมาณ  1  เมตร  โคนไม้ทำมุม  60-70  องศา  กับพื้นดินหลีกความยาว  1  ½   เมตร   ตอกลงดินประมาณ  70   เซนติเมตร  ใช้ตะปูและลวดยึดหลักกับไม้รวกไว้  และใช้ยางในรถยนต์ตัดเป็นแถบกว้าง  ½  นิ้ว  ยาว  50  ซม.   รัดไม้รวกกิ่งที่สัมผัสนั้นให้แน่น  ที่โคนไม้ก็ใช้ไม้รวกคุมยึดระหว่างหลักต่อหลัก 


แมลงศัตรูลำไย               
ก.  แมลงศัตรูลำไยที่พบทั่ว ๆ ไป               
1. ไรแดง 
ระบาดในฤดูแล้ง   แต่เมื่อฝนตกก็จะหายไปเองจะมีผลต่อต้นลำไยที่ยังเล็กเท่านั้น    

2. ไรลำไย   เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ  สีเหลืองอ่อน  เกาะกินอยู่ใต้ใบ  ทำให้ผิวใบด่างที่หลังใบจะรวมตัวกันเป็นจุด ๆ  ถ้ามรเล็กน้อยจะไม่เป็นอันตราย  แต่ถ้าระบาดมากให้ใช้ยาดูดซึม  เช่น  ไดเมทโธเอท,  ไซดริน.  อโรเกอร์,  เพอเฟคไธออน  ฉีดพ่น               


3. เพลี้ย  มักเกิดคู่กับมด   อาจมีความสำคัญในอนาคตมี  2  ชนิด  คือ
-  เพลี้ยหอย                               
-  พลี้ยแป้ง  มีสีขาวปกคลุม  คล้ายแป้ง  และมีเส้นใยยื่นออกจากตัว  ตัวอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด  ทำให้ยอดหด  หยิก  ไม่ออกดอกผล  กำจัดโดยใช้ยาประเภทดูดซึม               

4. หนอนเจาะกิ่ง ระบาดเป็นประจำทำให้สวนทรุดโทรมแต่เป็นไปอย่างช้าๆ มี 2 ชนิด  คือ
-  หนอนแมลงปีกแข็ง                               
-  หนอนของผีเสื้อ  ทำให้ใบเหลือง  ร่วงและกิ่งแห้งตายอย่างรวดเร็ว               


5. หนอนชอนกิ่ง  มีขนาดเล็กกว่าหนอนเจาะกิ่ง  จะวางไข่ตามเปลือก  ลำต้น  กิ่ง  ชอนเข้าไปอยู่ระหว่างเปลือกกับเนื้อไม้  ถ้ามีมากต้นจะโทรมลงอย่างเร็ว  การทำลายหนอนทั้ง  2  ชนิดนี้  ทำโดยสังเกตขุยที่เกิดขึ้นจาการถ่ายมูลของหนอน  ถ้าพบก็ให้ทำความสะอาดบริเวณโคนต้นรัศมี  2  เมตร  เพื่อดูว่ามีขี้หนอนหรือไม้  ถ้ามีตรวจดูตราต้น  กิ่ง  ว่ามีขุยติดอยู่ที่ส่วนใดบ้าง  ใช้ไม้แหลมเขี่ยหารูให้เจอแล้วใช้ยาฆ่าแมลงผสมน้ำ  อัตราส่วน  1:1   ใส่เข็มฉีดยาอัดเข้าไปในรูแล้วใช้ดินเหนียวอุดปิดรู  สำหรับหนอนชอนเปลือกนั้น  ถ้ามีมากให้ถากเปลือกออกแล้วใช้ยาประเภทดูดซึม  เช่นดีดริน  คลอเดน  ผสมกับน้ำ  ในอัตราเข็มข้นกว่าที่กำหนดเล็กน้อย  ฉีดพ่นตามต้นและกิ่งเป็นระยะ ๆ  ทุก  2  เดือน               

6. แมลงปีกแข็ง  ที่ระบาดในขณะที่ต้นยังเล็กมี  2  ชนิด  คือ                 
-  แมลงนูน  มีลำตัวสีน้ำตาล  (คล้ายด้วงกุหลาบ)  จะกัดทำลายใบเป็นต้น ๆ  ไป  ต้องรับกำจัดโดยการพ่นยา  เช่น  เซฟวิน  85  ดีดริน  คลอเดน  ที่บริเวณโคนต้นและที่ใบอ่อน  (ห้ามจับแมลงมากิน)               
- แมลงค่อมทอง  (แมงกอม)  ตัวสีเขียวอมเหลือง  จะเกาะกัดกินใบอยู่เป็นกลุ่ม ๆ  ถ้าไปกระทบต้นจะทิ้งตัวลงพื้น  การกำจัด  เช่นเดียวกับแมงนูน  แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ   จับทำลาย
               

7. หนอนคืบกินใบอ่อน  จะระบาดเป็นช่วง ๆ  ปีหนึ่งอาจระบาด  2-3  ครั้ง  ถ้าระบาดมากภายใน  7  วัน  ใบจะโกร๋นหมด  กำจัดโดยกวาดพื้นสวนให้สะอาดใช้ตะขอเขย่ากิ่งให้หนอนทิ้งตัวลงมาแล้วรวบรวมทำลายเสีย  ไม่ควรฉีดพ่นยาที่ต้น 


ข. แมลงศัตรูลำไยในระยะออกดอก               
1. หนอนกินดอกลำไย  เป็นหนอนผีเสื้อ  เข้าทำลายในระยะดอกยังไม่บาน
2. หนอนเจาะก้านดอก  ตัวเล็กมาก  ขนาดเท่าเส้นด้ายทำให้ลำไยไม่ติดผล  การป้องกันกำจัด  ควรฉีดพ่นยาเมื่อเริ่มมีช่อดอก               

ค. แมลงศัตรูลำไยในระยะดอกบาน               
แมลงแกงหรือมวนลำไยตัวขนาด  1  เซนติเมตร  รูปร่างคล้ายแมงดาจะผสมพันธุ์ในเดือนธันยาคม  และวางไข่ทั่วไป  ตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงดอก  ทำให้ดอกแห้งตาย  ถ้าระบาดหนักจะไม่ติดผลเลย  การป้องกันกำจัด  ควรทำในเดือนธันยาคมถึงกุมภาพันธุ  อาจทำลายตัวแมลงหรือทำลายไข่ที่อยู่ตามเปลือกต้น  ไม้ค้ำโคนต้น 

ง. แมลงศัตรูในระยะลำไยเริ่มหวาน               
1. แมลงวันทอง(แมลงวันผลไม้)  รูปร่างคล้ายต่อแตน  สีเหลือง  ปีกใส  เจาะวางไข่ในผลทำให้ผลเน่า  การป้องกันกำจัด  ทำได้โดยใช้ยาเคมี  เช่น  ดิพเทอเรท  แลนเนท  และเซฟวิน  เอฟ  3  ผสมกับน้ำตาลโมลาส  พ่นเคลือบตามใบและพุ่มต้นในระยะที่ลำไยเริ่มติดผล
-  ใช้กับดัก  (Trap)  เป็นเครื่องมือล่อให้แมลงเข้าไปโดยใส่สำลีจุ่มน้ำยาที่มีกลิ่นล่อแมลงเข้าไปผสมพันธุ์               
-  ใช้ดอกเดหลีใบกล้วย  โดยการปลูกต้นเดหลีใบกล้วยไว้มาก ๆ  เมื่อดอกบานก็นำมารวมกันแล้วพ่นยาฆ่าแมลงเคลือบเกสรดอกจะบานและส่งกลิ่นตั้งแต่เข้ามือถึง  10  โมงเช้า  แต่ละดอกจะล่อทำลายแมลงได้  10-50  ตัวและบานอยู่  5-7                 


2. ผีเสื้อมวนหวาน  ทำความเสียหายมากจะเจาะเข้าไปดูดกินน้ำหวานทำให้ผลเน่า  ตัวหนึ่ง ๆ  จะทำลายผลได้  20-50  ผล/วัน  การกำจัดต้องทำในช่วง  1-4  พุ่ม  ( 19.00-22.00  น. )  ซึ่งเป็นช่วงที่ระบาดมากโดยใช้วิธีกลควบกับการใช้สารเคมี  เช่น  ใช้กล้วย  สับปะรด  ขนุน  ใส่สารเคมีล่อให้แมลงมากินหรืออาจใช้สวิงโฉบจับ  ใช้ไฟนีออนล่อหรือรมควันโดนใช้กำมะถันผสมขี้เลื่อยจุดไฟไปแขวนไว้ตามกิ่ง 


การเก็บลำไย               
ลำไยนับแต่ออกดอกประมาณ  5  เดือน  ผลก็จะเริ่มแก่พอจะเก็บได้  ซึ่งสังเกตได้จากขนาดของผลโตเต็มที่  สีผิวของผล  (เปลือก)  จะมีสีคล้ำขึ้น  ผิวที่เปลือกจะเรียบขึ้น  ที่ผิวเปลือกด้านใบมีร่องคล้ายร่างแห  รสหวาน               

การเก็บลำไยแต่ละต้นควรทยอยเก็บเป็น  2  ครั้ง  ห่างกันครั้งละ  7-10    ในแต่ละปีควรจดบันทึกออกดอก  วันเก็บ  ปริมาณผลผลิตไว้ด้วย 


ข้อควรระวังในการเก็บลำไย
1. ไม่เก็บลำไยในวันที่ฝนตก
2. ไม่ควรปล่อยลำไยทิ้งไว้ให้สุกนานเกินไปจนเกิดการ  “ขึ้นหัว”  เพราะจะทำให้ได้ลำไยมีรสจืด
3. ไม่หักก้านช่อลำไยลึกเกินไป  จะทำให้ต้นโทรม
4. ควรเก็บลำไยในตอนเช้ามืดหรือตอนบ่าย
5. เมื่อเก็บลำไยแล้วต้องนำส่งตลาดทันที
6. การเก็บลำไยควรใช้กรรไกรตัดเพื่อให้แตกช่อใหม่ได้เร็ว 

วิธีการเก็บลำไย               
ใช้พะวงพาดในพุ่มหรือที่พุ่มแล้วปีนขึ้นไปหักหรือตัดกิ่งลำไยใส่เข่ง  เมื่อเต็มเข่งก็  จะโรยเชือกลงมาให้คนข้างล่างขนลำไยออกและหักช่อลำไยจากกิ่ง  แล้วคัดขนาดผลที่เล็กและลีบออก  แล้วนำมาบรรจุเข่งที่เอาใบลำไยวางรองก้นเข่งไว้แล้ววางช่อลำไยลงโดยวางเรียงเอาปลายช่อลงและวางซ้อนเรียงกันขึ้นมา  เมื่อจะเต็มเข่งจึงใช้ใบลำไยปิดหนห้า  เอาฝาปิดแล้วไม้  2  อัน  อัดไม้  เข่งที่ใช้มีขนาดกว้าง  35  เซนติเมตร  บรรจุได้ประมาณ  21-22  กิโลกรัม  ถ้าหากเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษอาจทำให้ขนได้สะดวกขึ้น  ผลผลิตของลำไยแต่ละต้นประมาณ  30-100  กิโลกรัมต่อต้นขึ้นอยู่กับพันธุ์  อายุ  ความสมบูรณ์ของต้นและดิน  ลำไยจะออกสู่ตลาดประมาณกลางกรกฎาคม-สิงหาคม                


การซื้อขายลำไย  แบ่งออกได้เป็น  2  ชนิด
1. การซื้อขายในสวน
2. ขายหลังจากผลออกสู่ตลาดแล้วชาวสวนมีการขายลำไย  2  วิธี  คือ
1. ชาวสวนเก็บขายเอง  ในสมัยก่อนไม่มีเลย  แต่ในปัจจุบันมีบ้างแต่ยังน้อย
2. ขายเหมาสวนลำไยให้แก่พ่อค้า  มี  2  รูปแบบคือ 
ก. เหมายาว  (ขายยาวหรือขายเหมาลำไยทั้งสวน)  เป็นระยะเวลาหลายปี  เช่น  3,4  หรือ  5  ปี  มีการทำสัญญาซื้อขายกันโดยกำหนดเวลาที่เหมาจำนวนลำไยที่จะได้รับในแต่ละปี  วิธีนี้ชาวสวนเสียเปรียบมาก  แต่บางครั้งชอบเพราได้เงินมาก่อนบ้าง
ข. การขายเหมาประจำปี  ขายเหมาแค่ปีเดียวแบ่งเป็น  3  ลักษณะ  คือ
1. ขายเหมาดอก  พ่อค้าจะมาดูดอกลำไย  แล้วตั้งราคาเอง  วิธีนี้มักถูกกดราคา
2. ขายเหมาผล  ตกลงสัญญากันเมื่อเห็นผลโตติดแน่นอนแล้ว
3. ขายเหมาเป็นเข่ง วิธีนี้ยุติธรรมกว่าวิธีอื่น แต่ชาวสวนต้องศึกษาราคาลำไยในตลาดอยู่เสมอ ชาวสวนควรบันทึกจำนวนผลผลิตลำไยไว้ทุกปี  เพื่อจะได้ใช้ประเมินราคาและผลผลิตในปีต่อไป.
     




ฝ่ายส่งเสริมการเกษตรสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้   จ. เชียงใหม่   50290
โทร.  0-53873938 , 0-53873939

http://www.it.mju.ac.th/dbresearch/organize/extention/book-fruit/fruit031.htm




เรื่อง
ชาวสวนลำไย ลองพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไย โดยการห่อช่อผล
โดย
ฝ่ายการงานอาชีพและเทคโนโลยี

ดร.ธีรนุช เจริญกิจ ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีที่น่าสนใจในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไยมาบอกเล่าให้ฟัง เพื่อว่าเกษตรกรที่กำลังรอผลผลิตลำไยซึ่งกำลังออกในฤดูนี้จะได้นำไปลองทำกันดูว่า สามารถทำได้ 2 วิธี

วิธีที่หนึ่งคือ การลดต้นทุนการผลิต ซึ่งอาจจะทำได้โดยลดการใช้สารเคมี หรือมีการจัดการสวนในส่วนอื่นๆ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลหรือค่าจ้างแรงงานลดลง ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะทำได้ยากและเห็นผลที่ช้าไม่ทันใจเกษตรกร

ส่วนวิธีที่สองคือ การเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ซึ่งสามารถทำได้ทันทีและเห็นผลชัดเจน
ในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตลำไยนั้น สามารถทำได้โดย "การปรับปรุงคุณภาพผลผลิตลำไย" เพราะประเด็นที่สำคัญก็คือ การซื้อขายลำไยสดเพื่อการส่งออกนั้นให้ความสำคัญกับ "คุณภาพของผลลำไย" ซึ่งจะประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน คือ "ขนาดของผลหรือเกรด" และอีกส่วนหนึ่งคือ "เรื่องของสีผิวลำไย" โดยสีผิวที่พ่อค้าต้องการคือ ลำไยสีเหลืองทองสวย มีความสม่ำเสมอ และมีความสว่างของสีผิวมากกว่าลำไยที่มีผิวกระดำกระด่างหรือมีเชื้อราเกิดขึ้นบนผิวผล ดังจะเห็นได้ว่าราคาของผลลำไยที่มีสีเหลืองทองสวยจะสูงกว่าลำไยที่มีผิวกระดำกระด่างถึงกิโลกรัมละ 7-8 บาท (ปี 2542) ทั้งๆ ที่ลำไยมีขนาดผลหรืออยู่ในเกรดเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนาสีผิวของลำไยจึงเป็นตัวแปรหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรสามารถขายลำไยได้ราคาและมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการห่อช่อผลลำไยนั้น จะยังไม่มีข้อมูลรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาสีผิวของลำไยว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบใดในเปลือกลำไยบ้าง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ลำไยที่ติดผลในทรงพุ่มจะมีสีผิวเป็นสีทองสวยงามกว่าลำไยที่ติดผลนอกทรงพุ่ม จากข้อสังเกตดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งข้อสมมติฐานขึ้นว่า ปริมาณแสงแดดที่ช่อผลได้รับน่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาสีผิวลำไย โดยความสัมพันธ์น่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบผกผัน คือการได้รับปริมาณแสงแดดที่น้อยลงกว่าปกติ (เหมือนที่อยู่ในทรงพุ่ม) จะทำให้ลำไยมีสีผิวเหลืองทองสวยงาม

คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานดังกล่าวเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จนได้ข้อสรุปในการพัฒนาสีผิวผลลำไยสดโดยการห่อช่อผลดังนี้

1. วัสดุที่เหมาะสม วัสดุทึบแสงหรือวัสดุที่ให้แสงส่องผ่านได้น้อยจะเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุดในการห่อช่อผลลำไย เช่น ถุงกระดาษสีน้ำตาล ถุงปูน หรือแม้แต่กระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น ถุงกระดาษสีน้ำตาลมีความสะดวกในการห่อ ทนทานต่อสายลมและแสงแดดได้ดี เพราะสามารถนำมาห่อได้เลยแต่มีค่าใช้จ่ายแพง (ตกใบละประมาณ 2 บาท) สำหรับถุงปูนแม้จะใช้ได้ผลดีแต่ค่อนข้างจะหาลำบากจึงไม่เป็นที่นิยมนัก วัสดุที่หาได้ง่ายที่สุดและถูกที่สุดคือ กระดาษหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ทนต่อสภาพแวดล้อม เพราะถ้ามีฝนตกมักจะเปื่อยและหลุดลุ่ยง่ายทำให้ต้องเสียเวลามาเปลี่ยนกระดาษห่อ ดังนั้น ถ้าต้องการห่อโดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ขอแนะนำให้ห่อด้วยความหนา 2 ชั้นขึ้นไป และถ้าจะให้ดีควรหาชนิดของกระดาษที่หนากว่าปกติหรือที่มีคุณภาพของกระดาษดี เพราะจะทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าชนิดบางทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาเปลี่ยนกระดาษห่ออีก

สำหรับวัสดุที่ยอมให้แสงผ่านได้มาก เช่น ถุงพลาสติค ถุงตาข่าย หรือแม้แต่ถุงที่ทำจากตาข่ายพรางแสง (Saran) ไม่สามารถช่วยพัฒนาสีผิวลำไยได้ โดยเฉพาะถุงพลาสติคจะนำมาใช้ห่อลำไยไม่ได้เลย เพราะจะทำให้ผลลำไยที่อยู่ในห่อร่วง ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากความร้อนที่สะสมอยู่ในถุงระหว่างที่ห่อ สำหรับถุงตาข่ายสีฟ้าก็ไม่สามารถพัฒนาสีผิวของลำไยได้เพราะมีปริมาณแสงที่ส่องผ่านมากเกินไปทำให้ไม่แตกต่างจากที่ไม่ห่อนัก ส่วนถุงที่ทำจากตาข่ายพรางแสง (50%) ถ้านำมาซ้อนกันหลายๆ ชั้น เช่น 3 ชั้นขึ้นไป ก็สามารถที่จะพัฒนาสีผิวลำไยได้ แต่คงไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ดังนั้น เกษตรกรที่จะห่อลำไยควรจะเลือกใช้วัสดุตามที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นและไม่แพงจนเกินไป เพื่อที่จะไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต

2. ระยะเวลาที่เหมาะสม ระยะที่เหมาะสมที่สุดในห่อผลลำไยเพื่อพัฒนาสีผิวลำไยจะต้องห่อลำไยให้ได้อย่างน้อย 5 สัปดาห์ ก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลดีควรห่อไว้ประมาณ 5-7 สัปดาห์ ในระยะดังกล่าว ลำไยจะมีขนาดน้ำหนักผลประมาณ 4-5 กรัม มีเส้นผ่าศูนย์กลางผลเฉลี่ยประมาณ 1-2 เซนติเมตร หรือมีขนาดเท่ากับหัวแม่มือย่อมๆ หรือถ้านับจากการติดผลก็จะอยู่ประมาณ 2 เดือนครึ่ง-3 เดือน หลังจากติดผล อย่างไรก็ดี การกะระยะเวลาเก็บเกี่ยวของลำไยค่อนข้างจะประมาณการได้ยาก เนื่องจากการพัฒนาการของผลลำไยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย เช่น เรื่องของปริมาณฝนและอุณหภูมิ ทำให้ผลลำไยเติบโตได้รวดเร็วแตกต่างกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อที่เกษตรกรควรจะตระหนักให้มากที่สุดสำหรับการห่อช่อผล คือระยะเวลาที่ผลลำไยถูกห่อไว้ภายในถุงก่อนการเก็บเกี่ยว ระยะเวลาดังกล่าวควรจะไม่น้อยกว่าที่ได้แนะนำไว้คือ ต้องห่อผลให้ได้อย่างน้อย 5-7 สัปดาห์ ก่อนการเก็บเกี่ยว เพื่อที่ลำไยจะสามารถพัฒนาสีผิวได้อย่างสมบูรณ์

3. วิธีการห่อที่เหมาะสม การห่อผลลำไยด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นวัสดุห่อที่ถูกที่สุดและหาได้ง่ายที่สุด ควรห่อด้วยหน้ากระดาษทั้งคู่ตามความกว้างของกระดาษหนังสือพิมพ์ ความหนาที่ใช้ไม่น้อยกว่า 2 ชั้น (2 คู่) และต้องห่อให้มิดช่อผล ถ้าเป็นช่อที่มีการชี้ขึ้นหรือชี้ออกด้านข้าง ควรรวบชายกระดาษที่เหลือปลายช่อเข้าด้วยกันและใช้เชือกรัดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ช่อภายในได้รับแสงแดด (ห่อปิดทั้งหมด) แต่ถ้าช่อชี้ลงด้านล่างและดูแล้วว่าช่อลำไยไม่มีโอกาสได้รับแสงแดดก็สามารถปล่อยชายไว้ได้ (ห่อแบบปลายเปิด) ซึ่งจะเสียเวลาน้อยกว่าในการห่อแบบปลายปิดเกือบเท่าตัว การห่อแบบปลายปิดจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับช่อลำไยที่ไม่ได้ชี้ลงด้านล่าง เพราะช่อในลักษณะดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับแสงแดดในบางช่วงของวันได้ทำให้การห่อช่อผลลำไยไม่สามารถช่วยพัฒนาสีผิวได้ตามวัตถุประสงค์ จึงควรหลีกเลี่ยงการห่อแบบปลายเปิดสำหรับช่อดังกล่าว

สิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุดก่อนการห่อช่อผลที่เกษตรกรไม่ควรละเลยในการจัดการคือ การฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัดเชื้อราและยากำจัดศัตรูพืช เนื่องจากการห่อช่อผลทำให้เกิดร่มเงาและเป็นที่กำบังอย่างดีสำหรับแมลงที่เข้าทำลายลำไย เช่น หนอนกัดกินผล เพลี้ยแป้ง หรือเพลี้ยหอย นอกจากนี้แล้ว การห่อช่อผลยังทำให้ช่อที่อยู่ภายในชื้นมากกว่าช่อที่ไม่ได้ห่อ ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวเหมาะสำหรับการเข้าทำลายของเชื้อราโดยเฉพาะเวลาที่มีฝนตกหรือกระดาษเปียกชื้น ซึ่งถ้าเปียกชื้นมากและเป็นระยะเวลาหลายวันควรที่จะเปลี่ยนกระดาษห่อ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง นอกจากนี้ยังพบว่า ถ้ากระดาษเปียกชื้นมากเกินไปและเป็นระยะเวลานาน ผลกระทบที่พบได้อีกอย่างคือความผิดปกติทางสรีรวิทยา ได้แก่ อาการเปลือกผลแตกซึ่งจะทำให้มีการเข้าทำลายของเชื้อรามากขึ้นด้วย

อิทธิพลของปัจจัยประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการห่อช่อผล
เพื่อให้ได้สีผิวสวยงามตรงตามที่ตลาดต้องการ ปัจจัยแรกที่ควรคำนึงถึงคือ "ฤดูกาลในการผลิตลำไย" แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนนัก แต่พบว่า การห่อผลลำไยนอกฤดูหรือที่ผลกำลังพัฒนาในช่วงที่มีฝนตกคือการห่อช่อผลในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ไม่สามารถช่วยพัฒนาสีผิวลำไยให้สวยเทียบเท่ากับการห่อช่อผลลำไยในฤดูหรือการห่อช่อผลในช่วงหน้าร้อน เช่นเดือน มีนาคม-เมษายนได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า การห่อช่อผลในช่วงฤดูฝนจะทำให้ช่อลำไยขึ้นราทำให้เกิดอาการผลร่วงมากกว่าการไม่ห่อ ซึ่งเกิดจากความชื้นภายในห่อที่สูงและไม่สามารถระบายอากาศได้ ทำให้ราขึ้นได้ง่าย จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการห่อช่อผลลำไยในช่วงฤดูฝน ถ้าจำเป็นต้องห่อเพื่อต้องการพัฒนาสีผิวจริงๆ ควรหมั่นตรวจแปลงและเปลี่ยนกระดาษที่ห่อทันทีที่มีฝนตกติดต่อกันหลายๆ วัน เพื่อเป็นการระบายอากาศให้กับช่อลำไยไม่ให้อับชื้นจนเกินไป ซึ่งคงเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือเลือกห่อช่อผลในช่วงหน้าร้อนที่ไม่มีฝน จะทำให้ได้สีผิวลำไยเป็นสีทองตรงตามความต้องการ

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการปฏิบัติคือ ตำแหน่งของช่อลำไยที่ควรห่อผล พบว่า ช่อลำไยที่ติดผลอยู่ภายในทรงพุ่มมักจะมีขนาดใหญ่และไม่จำเป็นต้องห่อก็ให้สีผิวได้สวยงามตามต้องการ แม้จะคุณภาพสีอาจจะไม่เท่ากับการที่ห่อผลก็ตาม แต่ก็สามารถช่วยประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การติดผลภายในทรงพุ่มเกิดขึ้นตามธรรมชาติได้น้อยมากเพราะจะเกิดขึ้นกับกิ่งกระโดงเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ลำไยมีกิ่งกระโดงภายในทรงพุ่มและบังคับให้กิ่งกระโดงออกดอก ดังที่ ผศ.พาวิน มะโนชัย ทำอยู่ จึงเป็นการจัดการที่ได้ผลสองต่อ เพราะนอกจากจะได้ลำไยที่ติดผลดกและผลใหญ่แล้ว ยังทำให้ลำไยมีสีผิวที่สวยงามได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่า ปริมาณการติดผลต่อช่อที่มากเกินไปจะทำให้ผลมีขนาดเล็ก เมื่อห่อช่อผลแล้วจะได้ผลไม่คุ้มทุน ดังนั้น ถ้าเกษตรกรต้องการให้ได้คุณภาพผลลำไยที่ดี ควรอย่างยิ่งที่จะตัดแต่งช่อผลหรือปลิดผลเพื่อให้ลำไยมีผลขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเมื่อลงทุนเรื่องการห่อช่อผลเพื่อให้ได้ลำไยสีเหลืองทองแล้วจะสามารถขายได้ราคาดีและคุ้มกับทุนที่ลงไป

สำหรับอุปสรรคหรือปัญหาที่พบในการห่อช่อผลลำไย นั้น ดร.ธีรนุช ได้กล่าวว่า "การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ให้แตกต่างจากสิ่งที่เราเคยทำมักจะมีปัญหาและอุปสรรคเสมอ การห่อช่อผลลำไยก็เหมือนกัน ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่เกษตรกรทุกคนมักจะคิดถึงคือค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัสดุในการห่อผลและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความยุ่งยากในการห่อช่อผลที่จะต้องมีการจัดการที่ถูกต้องและระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ปัญหาในการจัดการดังกล่าวเมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า มีทางออกที่น่าสนใจและผลที่ได้เกินจากที่คาดการณ์ไว้มากนัก"

ค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการห่อผล กระดาษหนังสือพิมพ์เป็นวัสดุที่ถูกที่สุด (กิโลละ 5-7 บาท) และหาได้ง่ายเมื่อเทียบกับวัสดุห่อช่อผลของผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ถุงรีเมย์ที่ใช้ห่อมะม่วง หรือถุงกระดาษสีน้ำตาลที่ใช้ห่อกระท้อน กระดาษหนังสือพิมพ์ได้รับการทดสอบแล้วพบว่า สามารถนำมาใช้ในการห่อช่อผลลำไยได้ โดยนิยมห่ออย่างน้อย 2 ชั้น (กระดาษหนังสือพิมพ์ 2 คู่) อุปกรณ์อีกอย่างที่ต้องใช้คือเชือกฟางหรือตอก ซึ่งหาได้ง่ายและราคาไม่แพงเช่นกัน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ในการห่อช่อผล ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรชาวสวนลำไยนัก

ค่าจ้างแรงงานในการห่อช่อผล
ปัญหาใหญ่สำหรับการห่อช่อผลคือ ค่าจ้างแรงงานในการห่อ การแก้ปัญหาเรื่องค่าจ้างแรงงานในการห่อ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาในทางตรงได้แต่สามารถแก้ปัญหาในทางอ้อมโดยการตัดแต่งต้นลำไยไม่ให้สูงจนเกินไป (ความสูงไม่ควรเกิน 4 เมตร) ควบคุมความสูงและทรงพุ่มให้ง่ายต่อการจัดการ การห่อช่อผลลำไยสำหรับลำไยต้นใหญ่ๆ จะไม่คุ้มทุนเนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่สูงเกินไป การห่อช่อผลลำไยจึงเหมาะสำหรับลำไยต้นเตี้ยหรือลำไยที่ยังมีอายุน้อยอยู่ ซึ่งมักจะติดผลไม่ดกนัก แต่ถ้าทุกช่อเป็นลำไยที่มีคุณภาพ รายได้ที่จะขายได้ก็จะไม่น้อยทีเดียว จากข้อจำกัดเรื่องค่าจ้างแรงงานดังกล่าวทำให้การห่อช่อผลค่อนข้างจะเป็นไปไม่ได้สำหรับสวนลำไยที่มีอายุมากแล้ว ดังนั้น การห่อช่อผลเพื่อพัฒนาสีผิวของลำไยจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับสวนที่ปลูกใหม่ โดยควรวางแผนเรื่องการตัดแต่งกิ่งให้ดีและเหมาะสม

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน







หน้าก่อน หน้าก่อน (5/6)


สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2009-07-16 (103054 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©