-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 200 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ลองกอง




หน้า: 4/6




มนตรี แสนสุข

"ลองกอง" ระยอง วิศิษฐ์ ลี้ปัทมากุล
แนะเทคนิคเก็บผลก่อน ขายก่อน กำไรก่อน


"ลองกอง" ผลไม้ยอดฮิตตามฤดูกาล แต่ก่อนมีเฉพาะเขตภาคใต้ ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วประเทศ ปลูกได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ว่าไปตามเรื่อง แต่สำหรับที่จังหวัดระยองแล้วมีการพัฒนาคุณภาพลองกองอยู่ตลอดเวลา จนสามารถผลิตลองกองคุณภาพดีออกจำหน่าย แข่งกับทางภาคใต้ได้แล้ว เพียงแต่ว่ายังมีผลผลิตไม่มากพอที่จะทำตลาดให้กว้างขวางทั่วถึงได้อย่างลองกองทางภาคใต้

คุณวิศิษฐ์ ลี้ปัทมากุล เกษตรกรคนหนุ่มไฟแรงหัวใจพัฒนา เป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามพัฒนาลองกองให้มีคุณภาพดีอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งทุกวันนี้สามารถทำลองกองให้ติดผลเก็บขายได้ก่อนสวนอื่นๆ โดยใช้เทคนิคง่ายๆ อาศัยการสังเกตเป็นหลักแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับลองกองซึ่งก็ได้ผลดี

คุณวิศิษฐ์ เป็นเกษตรกรชาวสวนย่านหมู่ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ทำสวนผลไม้ผสมผสานตามแบบฉบับสวนผลไม้ในย่านจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ในเนื้อที่ 24 ไร่ ปลูกลองกอง 300 ต้น ทุเรียน 200 ต้น มังคุดแซมพื้นที่ว่างในสวนราว 100 ต้น สำหรับลองกองนั้น คุณวิศิษฐ์ บอกว่า

"ที่สวนผม ลองกองจะสุกเก็บขายได้ก่อนสงกรานต์ ซึ่งสวนอื่นๆ ละแวกบ้านจะเก็บขายหลังสงกรานต์ เป็นการผลิตลองกองให้เก็บผลขายก่อน"

คุณวิศิษฐ์ กล่าวและว่า ปกติลองกองจะติดดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนต้นหนาว แต่ของตนลองกองติดดอกปลายฝนก่อนหนาวเล็กน้อย เทคนิคการทำให้ลองกองติดผลก่อนหนาวมาเยือนตามฤดูกาลก็ไม่ยุ่งยากอะไร

กล่าวคือ ในช่วงเดือนมิถุนายนฝนกำลังชุกให้ตัดแต่งกิ่งต้นลองกองทั้งสวน เอากิ่งไม่ดีออกให้หมด ทำให้ภายในทรงพุ่มโล่งโปร่ง แสงแดดส่องถึงโคนต้นได้ จากนั้นก็ใส่ปุ๋ย ถ้าต้นลองกองอายุ 10 ปี ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ 3 ถุง ให้น้ำสม่ำเสมอ ทิ้งระยะให้ต้นสะสมธาตุอาหารเต็มที่ก่อน 1 เดือน หลังจากนั้นจึงใช้สาหร่ายทะเลอัตราส่วน 30 ซีซี ผสมกับปุ๋ยยูเรียครึ่งกิโล ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใบเป็นการกระตุ้นให้ต้นแตกใบอ่อน ทิ้งช่วงไปอีก 10 วัน ฉีดสาหร่ายทะเลผสมยูเรียอีกครั้ง ต้นก็จะแตกใบอ่อนออกมา คราวนี้รอให้ใบอ่อนแก่เต็มที่ แล้วก็ทำใบอ่อนอีกครั้ง จนกระทั่งเข้าเดือนตุลาคม ใส่ปุ๋ยขี้ไก่อีกหนให้ต้นสมบูรณ์ใบเขียวเข้มเป็นมัน

ดูว่าต้นสมบูรณ์ดีแล้วจึงงดการให้น้ำประมาณ 1 เดือน ให้ใบโศกราว 2 ใน 3 ของต้น ถึงช่วงนี้จะเข้าเดือนพฤศจิกายนแล้ว ให้ใส่ปุ๋ย 8-24-24 แล้วขึ้นน้ำติดๆ กัน 3-4 วัน หลังจากขึ้นน้ำประมาณ 7 วัน ต้นจะติดตาดอกออกมาให้เห็น ไม่มีผิดพลาด หากใบช่วงนี้เกิดฝนตกลงมาทำให้ต้นไม่ติดตาดอก ก็ต้องไปเริ่มต้นกักน้ำให้ใบโศกใหม่อีกรอบหนึ่ง แล้วใส่ปุ๋ยขึ้นน้ำตามสูตรเดิม พอดอกทำท่าจะออก ฝนตกลงมาอีกก็ควรเลิกกัน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าไปฝืนบังคับจะทำให้ต้นลองกองโทรมเร็วเกินไป

"จริงๆ แล้วกักน้ำครั้งเดียวก็ได้ผลติดตาดอกแล้วครับ"

คุณวิศิษฐ์ กล่าวและว่า พอเห็นดอกให้ฉีดจิบเบอเรลลินยืดดอก ทำให้ขั้วเหนียว 2 ครั้ง ทิ้งช่วงห่าง 5 วันฉีดครั้ง การให้น้ำต้องให้สม่ำเสมอ 3 วันครั้ง กำลังดี พอช่อดอกยืดยาวประมาณ 1 คืบ ให้ตัดแต่งช่อดอก ดูความเหมาะสม อย่าให้ช่อดอกติดชิดกันมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟ ไรแดง ป้องกันหนอนลงทำลาย

ทิ้งระยะราว 40 วัน ดอกจะบาน หยุดการให้ยา ปล่อยให้ดอกผสมเกสรจนกระทั่งติดผลเป็นเม็ดถั่วเขียวเล็กๆ ซอยช่อผลอีกครั้ง ถ้าต้นลองกองอายุ 10 ปี ควรไว้ช่อประมาณไม่เกิน 100 ช่อ ต่อต้น หากต้นลองกองอายุน้อยกว่า 10 ปี ก็คำนวณช่อดอกให้ลดหลั่นกันลงมา

ระยะติดผลเล็กๆ เปลี่ยนสูตรปุ๋ยหันมาใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17 ต้นละครึ่งกิโล 15 วันใส่ครั้ง ไปจนกระทั่งลองกองผลใหญ่เข้าสีเหลืองจึงหยุดการให้ปุ๋ย หรือหากเกษตรกรต้องการลดต้นทุนค่าปุ๋ยซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงจะใส่ปุ๋ยขี้ไก่แทนก็ได้

ช่วงติดผลต้องฉีดยาป้องกันเพลี้ยหอย หนอน และเชื้อรา 15 วันฉีดครั้ง หากไม่มีการระบาดก็ไม่ต้องฉีดยาก็ได้ แต่สมควรฉีดยาป้องกันคุมไว้ก่อน โดยเฉพาะยาป้องกันเชื้อราช่วงที่ผลกำลังเจริญเติบโตก่อนเข้าสี หากห่างยา เชื้อราลงทำลายจะทำให้ผิวเปลือกลองกองเป็นจุดด่างดำดูไม่สวยตอนเก็บผลผลิตขาย ยาป้องกันเชื้อรานั้นต้องฉีดแยกจากยากำจัดศัตรูอื่นๆ ฉีด 10 วัน ต่อครั้ง ต่อเนื่องกัน ไปหยุดฉีดก่อนเก็บผลประมาณ 1 เดือน

ลองกองจากติดดอกถึงเก็บผลผลิตใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโตประมาณ 120 วัน ก่อนเก็บผล 1 เดือน ควรให้น้ำมากกว่าปกติประมาณ 2 วันครั้ง หรือวันเว้นวัน ถ้าช่วงนี้ฝนตกลงมาจะทำให้ผลลองกองไม่แตก

"การทำลองกองให้ได้ดี อยู่ที่การปฏิบัติของเจ้าของสวนว่าจะมีความละเอียดอ่อนมากน้อยแค่ไหน หากปฏิบัติดีผลผลิตก็จะได้ดีมีคุณภาพตรงกับความต้องการ"

คุณวิศิษฐ์ บอกว่า เทคนิคเหล่านี้บางแห่งเขาก็รู้ๆ กันแล้ว แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ของเกษตรกรในการเรียนรู้ด้วยว่าช่วงไหนตาดอกกำลังฟักตัว และช่วงไหนควรกักน้ำหรือขึ้นน้ำ ทั้งนี้อยู่ที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย หากช่วงที่กำลังจะทำตาดอก ฝนตกมากก็ทำไม่ได้ หรือลมหนาวมาช้าก็ต้องดูสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงขณะนั้นว่าเป็นอย่างไรด้วย ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของเกษตรกรว่าจะเป็นคนช่างสังเกตมากน้อยเพียงไร

"ที่สวนผมเก็บลองกองราววันที่ 5-10 เมษายน ก่อนสงกรานต์ทุกปี เก็บก่อนสวนอื่นๆ ประมาณครึ่งเดือน เก็บก่อนได้เปรียบ ขายได้ราคาดีกว่า เพราะเป็นลองกองต้นฤดู"

สำหรับตลาดนั้น คุณวิศิษฐ์ บอกว่า เก็บส่งร้านพี่สาว ตั้งอยู่ที่ริมถนนสายบ้านบึง-แกลง ส่วนหนึ่งก็นำไปส่งขายตลาดเขาดิน ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ใหญ่ ราคาลองกองต้นฤดูกาลปีนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 55 บาท

"ก็พอได้ค่าปุ๋ยอยู่หรอก"

คุณวิศิษฐ์ กล่าวและว่า หลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้วก็ต้องพักต้นประมาณ 1 เดือน แล้วจึงตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ยขี้ไก่ให้เต็มที่ ช่วงนี้จะเข้ารอบการทำลองกองรุ่นต่อไปแล้ว

การทำลองกองให้ผลใหญ่ช่อใหญ่สวยนี้ คุณวิศิษฐ์ บอกว่า อยู่ที่การตัดแต่งและการไว้ช่อ ต้องดูปริมาณช่อกับต้นให้สมดุลกัน การแต่งควรแต่งช่วงเป็นดอกและติดผล มองดูเห็นช่อผลเยอะเกินไปก็ซอยออก อย่าให้ช่อชิดติดกัน จะทำให้ได้ผลผลิตช่อไม่ใหญ่ ผลเล็ก อยากได้ลองกองสวยๆ ช่อใหญ่ ผลใหญ่ อย่าเสียดายช่อเล็ก ต้องซอยให้ช่อห่างแล้วจะได้ช่อใหญ่สมใจนึกบางลำภู

ระหว่างลองกอง ทุเรียน มังคุดในสวนนั้น ถามว่าอย่างไหนทำยากกว่ากัน คุณวิศิษฐ์ ตอบแบบไม่ลังเลใจเลยว่า ทุเรียนทำยากกว่ามาก ทุเรียนมีอะไรๆ ที่อ่อนแอกว่า ศัตรูก็มากกว่า

ส่วนราคาขายนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และกลไกตลาด ปีไหนผลไม้ดี ติดผลผลิตมาก ปีนั้นราคาขายก็ตกต่ำ เพราะตลาดมีของมาก ปีไหนผลผลิตน้อย ราคาขายส่งก็ดี

สำหรับสวนคุณวิศิษฐ์มีการจัดการที่ดี ผลไม้ในสวนล้วนแต่มีคุณภาพทั้งสิ้น สนใจพูดคุยกัน โทร.ไปได้ที่ (081) 130-9846 เจ้าตัวบอกยินดีต้อนรับทุกท่าน


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน





เทคนิคเพิ่มผลผลิต 'ลองกอง' คุณภาพ

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา กรมวิชาการเกษตร วิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้มีคุณภาพในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” ซึ่งผลงานวิจัยนี้ กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาคัดเลือกเป็นผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 ประเภทงานพัฒนางานวิจัย
   
นางสาวสุพร คังฆมณี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา หัวหน้าทีมนักวิจัยเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้มีคุณภาพในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า ปกติการปลูกลองกองในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จะปลูกเป็นพืชแซมและเป็นไม้ผลหลังบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ตระหนักถึงข้อดีของการผลิตลองกองคุณภาพ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกร โดยยก ระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น
   
เบื้องต้นได้ศึกษาวิจัย เทคโนโลยีการผลิตลองกอง ในแปลงเกษตรกร จ.สงขลา พัทลุง และสตูล โดยดึงเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการวิจัยด้วย ทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่ อาทิ ปริมาณและคุณภาพผลผลิตเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช ปัญหา ผลร่วง ผลแตก และปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จากนั้นได้นำเทคโนโลยีการผลิตลองกองที่ได้จากงานวิจัยเข้าไปแนะนำ  ให้เกษตรกรประยุกต์ใช้ทั้งยังได้จัดฝึก  อบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ แล้วให้ลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง พร้อมเปรียบเทียบผลกับวิธีผลิตแบบเดิม พบว่าการจัดการสวนลองกองตามวิธีแนะนำ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 45.1% และยังได้ลองกองคุณภาพเกรด A มากที่สุดถึง 51.6% ซึ่งช่วยให้ขายได้ราคาสูงขึ้น ขณะที่วิธีเดิมของเกษตรกรได้ผลผลิตลองกองเกรด C 34.8%
   
อีกทั้งยังพบว่า การผลิตลองกองตามวิธีแนะนำให้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีของเกษตรกร ถึง 7,916 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นคิดเป็น 72.5% ซึ่ง เทคโนโลยีที่เกษตรกรให้การยอมรับและนำไปปฏิบัติ คือ การ ตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การใช้ไส้เดือนฝอย การตัดแต่งช่อดอกต่อช่อผลต่อปลิดผล และการคัดเกรดผลผลิต เป็นต้น
   
ขณะเดียวกันยังได้มีการวิจัย เทคโน โลยีการจัดการโรคลองกอง ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร โดยเปรียบเทียบกับวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิม พบว่า การใช้วิธีผสมผสานระหว่างการใช้สารเคมี benomyl 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือจุลินทรีย์ Bacillus subtilis 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ร่วมกับการตัดแต่งกิ่งและการจัดการสวนที่ดี มีแนวโน้ม  ลดความรุนแรงของระดับการเกิดโรคราดำได้ 
   
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ศึกษา วิจัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวลองกองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งได้ผลสรุปว่า การยืดอายุการเก็บรักษาลองกองโดยการรมด้วยสาร 1-MCP ที่ระดับความเข้มข้น 500 ppb และหุ้ม ด้วยโฟมเน็ตร่วมกับสารดูดซับเอทิลีน (ด่างทับทิม) แล้วเก็บรักษาในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลองกองได้นานถึง 14 วัน
   
ปัจจุบัน สวพ.8 สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วกว่า 3,800 ราย ทั้งยังได้สร้างแปลงต้นแบบเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน 10 แปลง 51 ไร่ พร้อมขยายผลเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองไปสู่เกษตรกรเพิ่มเติมอีกกว่า 440 ราย พื้นที่ 880 ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้น ซึ่งวิธีแนะนำทั้ง 3 วิธี สามารถสร้างรายได้ให้ชาวสวนลองกองที่เข้าร่วมโครงการฯเพิ่มสูงขึ้นถึง 9,198-11,974 บาทต่อไร่
   
หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้มีคุณภาพ” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา โทร. 0-7444-5905-6.





ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ
บังคับลองกองออกนอกฤดู
 
 
เมืองไทยมีความได้เปรียบในด้านภูมิประเทศและสภาพอากาศทำให้เราสามารถเพาะปลูกผลไม้ได้มากมายหลายชนิด แต่ความได้เปรียบนั้นก็สร้างปัญหาได้เหมือนกันเพราะเมื่อผลผลิตออกมามาก สิ่งที่ตามมาคือสินค้าล้นตลาดฉุดให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เกษตรกรกลับมามีความได้เปรียบอีกครั้งก็คือ การผลิตสินค้านอกฤดูกาล ซึ่งไม่เพียงไม่ต้องไปแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ขายในฤดูกาลได้อีกด้วย
         
"ลอง กอง" เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยมีการปลูกมากในภาคใต้ของไทย ผลผลิตมักจะออกมากระจุกตัวในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นปัญหาทำให้ราคาตกต่ำเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าภาครัฐจะช่วยเหลือในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำก็ตาม แต่เกษตรกรผู้ปลูกลองกองส่วนใหญ่ก็ยังต้องหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เช่น การผลิตลองกองนอกฤดูกาล

หมอดินอาสาประจำจังหวัดสงขลา เป็นเกษตรกรผู้ปลูกลองกองรายหนึ่งที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพทางดินของกรมพัฒนาที่ดิน ลองผิดลองถูก จนสามารถบังคับต้นลองกองให้ออกผลผลิตนอกฤดูกาลทำรายได้เพิ่มอย่างงดงาม
         
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ลองกองเป็นผลไม้ยอดนิยมของไทย ที่มีรสชาติความหวานหอม แต่ในช่วงการออกสู่ตลาดตามฤดูกาลกลับมีราคาถูก เพราะผลผลิตออกมามีจำนวนมาก การที่เกษตรกรสามารถใช้ภูมิปัญญาทำการผลิตลองกอง บังคับออกผลผลิตนอกฤดูกาลได้ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ราคาผลผลิตลองกองเพิ่มขึ้น ขายทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
         
ด้าน นายเล็ก พรรณศรี หมอดินอาสาประจำจังหวัดสงขลา และเป็นเกษตรกรผู้ทำสวนลองกองนอกฤดู เล่าถึงขั้นตอนการผลิตลองกองนอกฤดูว่า ปกติลองกองจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน แต่การผลิตลองกองนอกฤดูกาลนั้นจะต้องห้ามไม่ให้ลองกองออกดอกในช่วง 2 เดือนนี้ จึงต้องมีการตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม ตัดหญ้ารอบทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นซึ่งหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และให้น้ำทุกวันด้วยระบบสปริงเกอร์ เพื่อให้น้ำกระจายทั่วทั้งต้น และให้น้ำหมักชีวภาพซุปเปอร์ พด.2 ทางระบบให้น้ำทุกๆ 10 วัน ถึงเดือนกรกฎาคม จึงหยุดการให้น้ำ และในเดือนสิงหาคม ลองกองจะผลัดใบ และเริ่มแทงยอด ให้ตัดหญ้ารอบทรงพุ่ม แล้วหว่านปุ๋ยเพื่อเร่งการออกดอก
         
หลังจากนั้นให้เอาเศษหญ้า และใบไม้มาคลุมบริเวณรอบ ๆ ทรงพุ่มที่หว่านปุ๋ยไว้ ให้น้ำทางระบบสปริงเกอร์ และให้น้ำหมักชีวภาพซุปเปอร์ พด.2 ทางระบบให้น้ำ ทุกๆ 3 วัน ในช่วงเดือนกันยายน ลองกองจะเริ่มออกดอก ให้ทำการแต่งช่อดอก โดยจุดไหนมีหลายช่อ ให้เหลือไว้เพียงช่อเดียว โดยเลือกช่อที่มีขนาดใหญ่และก้านช่อยาวที่สุดไว้ เพราะเป็นช่อที่สมบูรณ์
         
"หมอดินเล็ก" แนะนำเทคนิคต่ออีกว่า เมื่อดอกบานให้ตัดบริเวณปลายช่อทิ้ง เพราะหากเก็บไว้ผลบริเวณปลายจะสุกช้ากว่า อีกทั้งยังทำให้ผลมีขนาดเล็ก ลองกองจะติดผลประมาณเดือนตุลาคม ให้ทำการแต่งผล โดยการเอาผลที่อยู่บริเวณโคนช่อออก เพราะหากเก็บไว้เมื่อผลผลิตโตขึ้นจะดันระหว่างกิ่งหลัก และช่อผลทำให้ช่อผลหลุดได้

ที่สำคัญหากในช่อมีผลมากเกินไปให้เลือกเอาผลออกบ้าง เพื่อให้ช่อโปร่งขึ้น เมื่อผลลองกองโตเต็มที่จะมีขนาดเท่าๆกัน หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงผลให้สมบูรณ์ และในเดือนพฤศจิกายนให้ห่อผลผลิตเพื่อป้องกันการทำลายจากแมลงศัตรูพืช สามารถเก็บผลผลิตลองกองได้ในเดือนธันวาคม ถึง เดือนมกราคม ซึ่งในช่วงนี้ราคาจะดีกว่าขายตามฤดูกาล หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้พักต้น เพื่อเตรียมการทำลองกองนอกฤดูกาลต่อไป
         
นี่คือตัวอย่างการใช้ภูมิปัญญาของเกษตรกรชาวสวนลองกอง ผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อสร้างโอกาสและรายได้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ดีกว่าเดิม 

ที่สำคัญการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพยังประหยัดและปลอดภัยกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ดังนั้น

หากเกษตรกรท่านใดสนใจแนวทางในการปลูกลองกองนอกฤดูโดยใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 จังหวัดสงขลา หรือโทร .  0-7433-3213 หรือ 0-7433-3163



ที่มา  :  แนวหน้า





หน้าก่อน หน้าก่อน (3/6) - หน้าถัดไป (5/6) หน้าถัดไป


Content ©