-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 554 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะละกอ




หน้า: 3/4



การปลูกมะละกอ
วิธีการปลูก
          1. ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
          2. ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร
          3. ผสมดิน ปุ๋ยคอกจำนวน 5 กิโลกรัม และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตจำนวน 5 กิโลกรัม เข้าด้วยกันให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
          4. ยกถุงกล้าวางในหลุม  โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
          5. ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงมาถึงปากถุง ทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา)
          6. ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก
          7. กลบดินที่เหลือลงในหลุม
          8. กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
          9. หาวัสดุคลุมบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
         10. รดน้ำให้ชุ่ม
         11. ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด

    
วิธีการปลูกด้วยการหยอดเมล็ด
          1. คัดเลือกเมล็ดพันธุ์มะละกอที่สมบูรณ์
          2. นำเมล็ดมาคลุกยาฆ่าแมลง และป้องกันโรครา
          3. ขุดหลุมสำหรับหยอดเมล็ดกว้างและลึก 25 - 30 เซนติเมตร
          4. หยอดเมล็ดแล้วกลบและรดน้ำ

    
ระยะปลูก
          ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 3 x 4 เมตร หรือ 3 x 3 เมตร (แบบที่ดอน) หรือ 2.5 x 3 เมตร (แบบสวนยกร่อง)
    
จำนวนต้นต่อไร่
          130 ต้น หรือ 170 ต้น หรือ 200 ต้น ตามลำดับ


การดูแลรักษา
   การให้ปุ๋ย
          มะละกอในระยะต้นอ่อนจนถึงก่อนออกดอก ควรใส่ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้าน และใบ โดยใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง สูตร 24-12-12 หรือ 16-20-0 อัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น ใส่ครั้งแรกหลังปลูกประมาณ 14 วัน และหลังจากนั้นใส่ทุก ๆ 20 วัน เมื่อมะละกอเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น รวมแล้วมะละกออายุ 1 ปี ใช้ปุ๋ยเคมีรวมกันประมาณ 1.5 - 2 กิโลกรัมต่อต้น นอกจากการใช้ปุ๋ยเคมีแล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด เป็นครั้งคราวด้วย

    
การให้น้ำ
          มะละกอที่ปลูกใหม่ ๆ จะต้องให้น้ำกับต้นกล้มะละกอจนตั้งตัวได้ดีโดยให้น้ำ 2 - 3 วัน/ครั้ง ในช่วงที่มะละกอออกดอกติดผลจะต้องการน้ำมาก ถ้าขาดน้ำจะทำให้ดอกและผลร่วงหรือผลไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องให้น้ำมะละกออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะมะละกอที่ปลูกในที่ดอน

    
การปฏิบัติอื่น ๆ เช่น การตัดแต่งกิ่ง
          มะละกอส่วนมากแล้วไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขาคงเจริญเฉพาะที่ตายอดอย่างเดียว นอกจากกรณีที่ส่วนยอดถูกทำลายหรือต้นล้ม ก็สามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้ และสามารถออกดอกติดผลได้ เช่นกัน ดังนั้น มะละกอจึงไม่จำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งเหมือนไม้ผลชนิดอื่น ๆ 
    
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

      1. เพลี้ยไฟ ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น โมโนโครโตฟอส หรือ ไดเมธโธเอท
      2. แมลงวันทอง อาจใช้มาลาไธออนพ่นทำลาย ตัวเต็มวัย หรือล่อตัวผู้ด้วยเมธิลยูจีนอลผสมกับมาลาไธออน 1:1 หรือห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์
      3. โรคราแป้ง ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น ด้วยเบโนมิล หรือ ไดโนแคพ
      4. โรคโคนเน่า ควรจัดการให้มีการระบายน้ำดี หรือฉีดพ่นด้วยเมธาแลคซีล
      5. โรคแอนแทรคโนส ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นด้วยแมนโคแซป แคปแทน หรือเบโนมิล


ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร



การปลูกมะละกอ....ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์

          - ต้นมะละกอมี 3 เพศคือ ต้นตัวเมียผลจะกลมป้อม, ต้นกะเทยผลจะยาว และต้นตัวผู้มีแต่ดอกเป็นสายยาวไม่มีผล การเลือกพันธุ์ให้คัดเอาแต่เมล็ดจากต้นกะเทยที่ให้ผลผลิตดี ลักษณะดี คัดเอาผลที่เริ่มสุก แก้มแดง แล้วบ่มให้สุกโดยการห่อกระดาษหนังสือพิมพ์จึงผ่าเอาเมล็ดมาล้างเมือกหุ้มเมล็ดออก ตากแห้งเก็บไว้ใช้ทำพันธุ์ ข้อมูลจากเกษตรกรชาวสวนบอกว่าเมล็ดจากช่วงกลางผลจะเป็นกะเทยมากที่สุด


2. การเพาะกล้า

          - การเพาะกล้า ให้แช่เมล็ดแห้งในน้ำ 2 คืน แล้วนำไปเพาะในถุงเพาะกล้า หรือแปลงเพาะ

          - ดินปลูก ใช้ดินร่วนหรือดินเหนียว(ดินทาม หรือ ดินริมแม่น้ำ หรือดินจอมปลวก) 3 ส่วน ปุ๋ยคอกเก่าหรือขี้ไก่ 1 ส่วน และแกลบเผา 3 ส่วน ใช้ถุงขนาด 4 × 6 นิ้ว

          - เพาะเมล็ดที่แช่น้ำแล้ว ลงในถุงๆละ 3-4 เมล็ด 7 วันจะเริ่มงอก เมื่ออายุ 30 วันให้ถอนเหลือ 1 ต้น  อายุ 60 วันนำไปปลูกได้ดีที่สุด ควรเพาะกล้าที่ร่มพลางแสง 50-70% รดน้ำสม่ำเสมอ อย่าให้แฉะเกินไป

 3. การปลูก

          - ระยะปลูก 2.50 × 2.50 ม. 1 ไร่ใช้กล้าประมาณ 256 ต้น หรือ 3.0x3.0 ม. หรือ 2.0X4.0ม.

          - ขุดหลุมปลูก ไม่ต้องลึกมากเพาะมะละกอรากตื้น (ประมาณ 50 ซม.) รองก้นหลุม ด้วยปุ๋ยคอก  1 ปุ้งกี๋ ปุ๋ยสูตร 15-15-15  1 ช้อนแกง มะละกอจะชอบขี้ไก่ หรือปุ๋ยคอกเก่า

          - ให้ปุ๋ย 15-15-15 เดือนละครั้งๆละ ประมาณ 1-2 ช้อนแกง ร่วมกับปุ๋ยคอกตามสมควร หรือปุ๋ยหมักชีวภาพ 4-5 กำมือ เริ่มออกดอก เมื่อครบอายุ 3 เดือนใช้ ปุ๋ยตัวท้ายสูง เช่น 13-13-21 เดือนละครั้งเพื่อเพิ่มการติดผลและเพิ่มความหวาน การใส่ปุ๋ยเคมีอย่าใส่ใกล้ต้น ใส่เมื่อดินมีความชื้นหรือรดน้ำตาม

          - อายุ 6-8 เดือน เก็บผลผลิตได้ขึ้นกับการดูแลรักษา การให้น้ำที่สม่ำเสมอ อายุการเก็บผลผลิต ถึง 2 ปี จึงปลูกใหม่ ควรปลูกในพื้นที่ใหม่ ไม่ซ้ำที่เดิมเพื่อลดปัญหาโรคและแมลง

          - การให้น้ำควรให้น้ำแบบพ่นฝอย(สปริงเกลอร์) วันละ 1 ชม.

          - การคลุมดินด้วยฟางจะช่วยรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืชได้เป็นอย่างดี

          - การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอกจะให้ผลดีที่สุด ใส่ปุ๋ยแล้วต้อรดน้ำเสมอ


4. การเก็บเกี่ยว

          เก็บผลดิบควรแยกขนาด แล้วบรรจุถุงพลาสติกใสเบอร์ 18  หากผลสุกให้เก็บเมื่อแก้มผลเป็นสีส้มเล็กน้อยแล้วห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ระวังผิวต้องสวย คัดขนาดส่งจำหน่ายต่อไป


5. การผลิตมะละกออินทรีย์

          ให้ใช้ปุ๋ยคอกโดยเฉพาะขี้วัว ขี้ควาย ห้ามใช้ขี้ไก่ฟาร์มเพราะมียาปฏิชีวนะตกค้างมาก(ขี้ไก่บ้านใช้ได้) หรือใช้ปุ๋ยชีวภาพ(ไร่ละ 200-300 กก.) น้ำหมักชีวภาพ หรือ อีเอ็ม (ฉีดพ่นทุกๆ 10 วัน)โดยใช้ปุ๋ยคอกประมาณไร่ละ 1-2 ตัน การเร่งความหวานให้ใช้มูลค้างคาวต้นละ 1-2 กำมือเริ่มให้ในระยะออกดอก และให้เดือนละครั้ง การคลุมแปลงปลูกด้วยฟางจะมีความสำคัญมากในการปลูกแบบอินทรีย์


โดย อาจารย์ไพรัตน์ เลื่อนไธสง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ โทร 043-811


คนไทยทำสำเร็จ ตัดแต่งมะละกอ
มะละกอจีเอ็มโอผลงานวิจัยครั้งแรกโดยคนไทย ใช้ระยะเวลานานถึง 8 ปี พบคุณสมบัติต้านทานโรคจุดวงแหวน ที่ระบาดทั่วอีสานทดลองได้ผลแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ กรมวิชาการเกษตรเตรียมผลักดันสู่การเผยแพร่ความรู้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ประสบปัญหาปลูกมะละกอไม่ได้ผลผลิตทันที หากรัฐบาลประกาศยกเลิกการควบคุมพืชจีเอ็มโอ งานนี้ฉายแวว?บักหุ่ง?ไม่สิ้นแผ่นดินอีสาน


มะละกอนับเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัญหาการระบาดของโรคจุดวงแหวนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกษตรกรในภาคอีสาน ปลูกมะละกอได้ผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค ขณะเดียวกันการระบาดของโรคจุดวงแหวน ได้ลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2528 ระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมะละกอเพื่อการค้าในภาคกลาง เช่น จังหวัดราชบุรี นครปฐม


ปี พ.ศ.2535 ระบาดรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการปลูกมะละกอ ส่งโรงงานผลไม้กระป๋อง เช่น ที่จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี และปี พ.ศ.2542 ระบาดรุนแรงในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ไทยขยับเป็นอันดับหนึ่งของบรรดาประเทศทั่วโลก ที่มีการปลูกมะละกอที่ประสบปัญหาดังกล่าว

กรมวิชาการเกษตร จึงได้หาแนวทางการแก้ปัญหา โดยดำเนินการวิจัยพัฒนาพันธุ์มะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (GMOs) เพื่อต้านทานโรคจุดวงแหวน

สาเหตุโรคจุดวงแหวน เกิดจากเชื้อไวรัส Papaya Ringspot Virus (PRVS) ทำให้มะละกอมีอาการใบเหลืองด่าง มีจุดวงแหวนที่ผล และหยุดการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตลดลง จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ และแพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนหลายชนิดเป็นพาหนะนำโรค แต่ไม่ติดไปกับเมล็ด พันธุ์มะละกอที่เป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แขกนวลและแขกดำ ล้วนเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคทั้งสิ้น


เมื่อปี พ.ศ.2538 กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา โดยทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้ส่งนักวิชาการเกษตร 2 ท่านคือ ดร.นงลักษณ์ ศรินทุ และดร.ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล ไปปฏิบัติงานที่ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เพื่อสร้างมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม โดยใช้มะละกอสายพันธุ์ไทยและเชื้อไวรัสของโรคสายพันธุ์ไทยจากขอนแก่น จนเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ.2540 ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.เดนนิส กอลซาเวส (Dr.Dennis Gonsalves) เจ้าของเทคโนโลยีมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งสามารถหาพันธุ์ต้านทานและปลูกในฮาวาย เพื่อผลทางการค้าได้สำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นประเทศแรก


จากนั้นคณะนักวิจัยได้มีการนำมาศึกษาและวิจัยต่อ ที่สถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น ทดสอบปลูกและคัดเลือกพันธุ์ที่ต้านทาน ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ โรงเรือน และแปลงทดลอง เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2545

นางวิไล ปราสาทศรี ผู้อำนวยการสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น เปิดเผยผลการวิจัยว่า นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งสามารถคัดได้พันธุ์แขกนวล ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิม ที่ตัดต่อพันธุกรรมสามารถต้านทานโรคจุดวงแหวนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 3 สายพันธุ์ และพันธุ์แขกดำซึ่งเป็นที่นิยม 2 สายพันธุ์ และไม่เพียงโรคจุดวงแหวนที่เกิดขึ้นในภาคอีสานเท่านั้น เมื่อนำไปทดสอบความต้านทานโรค ที่เกิดมะละกอทุกชนิดทั่วประเทศก็สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน นับได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา


นางวิไล กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรและผู้สนใจที่ทราบข่าว ต่างขอพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอไปทดลองปลูกแต่ไม่สามารถแจกจ่ายได้ เนื่องจากพืชจีเอ็มโอยังอยู่ในควบคุมของรัฐบาล ต้องดำเนินการทดลองวิจัยตามขั้นตอน ภายใต้กฎระเบียบและการควบคุมของคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพของไทย และได้มาตรฐานสากล ทั้งในด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและอาหาร ก่อนที่จะขอออกจากการควบคุม

ที่ผ่านมาทั้งห้องปฏิบัติการ และพื้นที่กว่า 11 ไร่ ที่เป็นแปลงทดลองภายในสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น มีควบคุมความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแปลงทดลองกั้นด้วยรั้วลวดหนามและปลูกต้นศรนารายณ์ และต้นกระบองเพชรเป็นกำแพงอีกชั้นเพื่อป้องกันคนและสัตว์เข้าไป


สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของยีน (gene) ใช้วิธีคลุมดอกมะละกอ ด้วยถุงกระดาษเคลือบแว็คซ์ ตัดดอกตัวผู้ที่ไม่ต้องการใช้ทิ้ง และปลูกต้นกล้วยเพื่อบังลมอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการทำลายต้น ใบ ที่เหี่ยวแห้งหรือผลที่สุกแล้ว รวมทั้งเมล็ดที่ไม่ต้องการจะกำจัดโดยวิธีการเผาและนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค ส่วนเมล็ดที่ต้องการจะเก็บเข้าตู้เย็นรักษาอย่างมิดชิด

นางวิไล บอกอีกว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบความปลอดภัยทางด้านชีวภาพและอาหารแล้วระยะหนึ่ง ผลจากการประเมิน

ในด้านชีวภาพไม่พบความผิดปกติของผึ้ง ที่มากินน้ำหวานจากเกสรดอกมะละกอ รวมทั้งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ดิน และความผิดปกติของพืชที่ปลูกทดแทนภายหลังแต่อย่างใด เหลือเพียงการทดสอบว่าจะมีโรคไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้น และทำให้พืชชนิดอื่นเป็นโรคหรือไม่เท่านั้น


ส่วนการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหาร พบว่า มะละกอจีเอ็มโอมีคุณค่าทางอาหารเช่นเดียวกับมะละกอปกติ เหลือเฉพาะการทดสอบความเป็นพิษว่าจะมีผลข้างเคียงตามมาเมื่อรับประทานเข้าไปหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในหกเดือน


จากนั้นหากรัฐบาลประกาศยกเลิกการควบคุมพืชจีเอ็มโอ ทางกรมวิชาการเกษตรจะยื่นขอจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยมะละกอจีเอ็มโอชิ้นนี้ ก่อนนำเผยแพร่สู่เกษตรกรที่เดือดร้อนต่อไป เพราะในอนาคตอาจมีการแข่งขันในเรื่องนี้สูง ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศต่างให้ความสนใจต่อมะละกอจีเอ็มโอมาก อย่างเช่นประเทศไต้หวันก็กำลังศึกษาวิจัยอยู่ หรือแม้แต่ในบังคลาเทศเองเริ่มจะทำการวิจัย ภายหลังพบว่าประชากรโดยเฉพาะเด็กเป็นโรคเกี่ยวกับสายตาจำนวนมาก และอีกไม่ช้านี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังจะเซ็นสัญญานำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากฮาวาย


ขณะที่ประเทศไทยและในภาคอีสาน เกษตรกรทั้งที่ปลูกมะละกอเป็นอาชีพและปลูกไว้รับประทานเอง ได้รับความเสียหายจากโรคจุดด่างวงแหวน หลายแห่งมะละกอเป็นโรคจนเกือบหมดไม่สามารถให้ผลได้ ทำให้มะละกอดิบมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 9 บาท รวมทั้งโรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง เพื่อการส่งออกก็ขาดแคลนวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงาน หากรัฐบาลพิจารณาเห็นชอบให้ผลงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง


แม้ว่าช่วง 2- 3 ปีนี้จะมีกระแสข่าวการคัดค้านพืชจีเอ็มโอ แต่นางวิไลย้ำชัดว่า การวิจัยครั้งนี้ไม่สามารถหยุดได้ เพราะได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 หากทิ้งไปจะเป็นสูญเสียงบประมาณ ไปกว่า 10 ล้านบาท
หรือแม้แต่กระแสข่าวที่ว่า หากรับประทานพืชจีเอ็มโอแล้วจะเป็นหมัน นางวิไลยืนยันว่า ในกลุ่มของนักวิจัยเองและผู้ที่ทดลองรับประทานมะละกอจีเอ็มโอ ระยะเวลาต่อเนื่องหลายปีแล้วนั้น ไม่ประสบปัญหาการมีบุตรแต่อย่างใด เชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิดมากกว่า ตราบใดที่มะละกอยังเป็นพืชที่หาง่าย ราคาถูก อุดมด้วยแหล่งวิตามินเอและซี ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น และหากส้มตำยังคงเป็นอาหารหลักของชาวอีสานและอาหารหลักประจำชาติแล้ว งานวิจัยโครงการนี้นับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อไป เหลือเพียงคำตอบจากรัฐบาลที่จะปล่อยให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงตำราวิชาการอยู่บนหิ้งเท่านั้นหรือไม่


สำหรับมะละกอ (Carica papaya L.) เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย นอกจากเกษตรกรที่ปลูกเป็นอาชีพแล้ว เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปยังนิยมปลูกไว้ตามบริเวณบ้าน เพื่อบริโภคภายในครอบครัว ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยมีปริมาณมาก ทั้งเพื่อบริโภคดิบ โดยเฉพาะการทำส้มตำ ซึ่งเป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งของเกษตรกรและคนทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถือเป็นอาหารหลักประจำชาติอย่างหนึ่ง


นอกจากนี้ยังบริโภคสุก เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพและมีคุณค่าอาหารสูง และส่งโรงงานแปรรูป เป็นผลไม้กระป๋อง เพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ พื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศระหว่างปี 2536-43 เฉลี่ยปีละ 124,260 ไร่ ผลผลิตรวมเฉลี่ยปีละ 346,749 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ มีการส่งออกไปต่างประเทศเป็นผลไม้สดน้อยมาก กล่าวคือในปี 2543 ส่งออกปริมาณ 182 ตัน มูลค่า 7-8 ล้านบาท และส่งออกผลไม้กระป๋อง 1,462 ตัน มูลค่า 49.2 ล้านบาท โดยตลาดหลักจะอยู่ในประเทศแถบยุโรปถึงร้อยละ 69 รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จึงทำให้มะละกอเป็นพืชหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการผลิต ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 เป็นต้นมา (กรมศุลกากร,2543)


ที่มา :  กรมวิชาการเกษตร


ตื่นตาแปลง "มะละกอฮอลแลนด์" สวนเงินล้าน "อนุพงษ์ จงใจลาน"
"อุ๊ย! ดกจังเลย" เสียงหนึ่งของทีมงานอุทานออกมาราวกับยังไม่ผ่านการกลั่นกรองจากส่วนใดของโสตประสาท พลันทีที่เห็นผลมะละกอเกาะกลุ่มหุ้มลำต้นตั้งแต่โคนต้นเกือบถึงปลายยอดราวกับฝูงปลิงที่เกาะขากระบือ ทำให้ทุกคนหันไปมองในจุดเดียวกัน


ทุกคนฉงนและตื่นตากับความดกของผลมะละกอที่ อนุพงษ์ จงใจลาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต.มะนาวหวาน อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ปลูกบนเนื้อที่ราว 25 ไร่ ใกล้บ้านพักเนื่องเพราะปัจจุบันยากต่อการที่จะพบเห็นสวนมะละกอที่รอดพ้นจากโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน และเพลี้ยแป้ง จนถึงขนาดมีลำต้นที่อุดมสมบูรณ์และออกผลผลิตที่ดกเช่นนี้


ที่สำคัญต้นมะละกอที่ทุกคนแลเห็นมีอายุกว่า 1 ปีแล้ว เป็นมะละกอรุ่นที่ 4 แต่ต้นมะละกอยังคงสภาพที่สมบูรณ์ และจากความสมบูรณ์ของต้นมะละกอนี้เอง ทำให้แต่ละรุ่น อนุพงษ์ โกยเงินเข้ากระเป๋ารุ่นละถึงหลักล้านบาททีเดียว

 เดิมทีไร่มะละกอแห่งนี้ อนุพงษ์ กับ ประภา จงใจลาน ซึ่งเป็นภรรยา ทำไร่อ้อย ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด ซึ่งประภาทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทแห่งนี้ มีเนื้อที่ปลูกอ้อยทั้งหมดกว่า 100 ไร่ ทำไร่อ้อยมาราว 20 ปีแล้ว กระทั่งประภาได้อ่านนิตยสารด้านการเกษตรฉบับหนึ่ง (รักษ์เกษตร) เมื่อ 3 ปีก่อน ที่ตีพิมพ์เรื่องมะละกอที่บ้านนาล้อม จ.สุพรรณบุรี จึงเกิดความสนใจขึ้นมา จึงเดินทางไปที่บ้านนาล้อมเพื่อศึกษาข้อมูลในการปลูกมะละกอ จากนั้นลองปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ แปลงแรกกว่า 10 ไร่ ในปี 2549 และผลผลิตที่ได้มาก็ส่งขายที่บ้านนาล้อมนั่นเอง
 
 "ตอนแรกว่าจะปลูก 20 ไร่ แต่พอไปซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอที่บ้านนาล้อมได้มา 5 หมื่นเมล็ด แต่กว่าจะได้ 5 หมื่นเมล็ด ต้องสั่งซื้อถึง 2-3 ครั้ง เพราะเมล็ดพันธุ์ไม่พอ จึงปลูกไว้เพียง 10 ไร่ ใช้เงินทุนทั้งหมด 6 แสนบาท ปลูกครั้งแรกต้องซ่อมใหม่อีก เพราะบางครั้งเมื่อปลูกไปแล้วเป็นมะละกอมีเพศที่ไม่ต้องการคือเพศผู้ ผลผลิตไม่สวย รูปทรงกลม ตลาดไม่ต้องการ ต้องคัดทิ้ง จะคงไว้ต้นกะเทยซึ่งจะมีเกสรตัวผู้ในดอกเดียวกัน เวลาออกผลจะยาวเรียว สวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อคัดแล้วรุ่นแรก ต้นมะละกอเติบโตจนสามารถเก็บผลผลิตได้เพียง 4,000 ต้นเท่านั้น" ประภากล่าว


อย่างไรก็ตาม ประภายอมรับว่า การปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ปีแรกถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะมะละกอที่ปลูกแปลงแรก 10 ไร่ ได้ผลผลิตถึง 150 ตัน เก็บได้ 1 ปีครึ่ง พอเริ่มมีเพลี้ยแป้งลงจะตัดต้นทิ้งทันที ปีถัดมาเก็บเมล็ดพันธุ์เองในสวน โดยคัดจากต้นที่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตดี พอปลูกขึ้นมาพบว่าเมล็ดงอกดีและมีเปอร์เซ็นต์เป็นต้นกระเทยเกือบ 100%


ด้าน อนุพงษ์ บอกว่า การปลูกมะละกอหลายคนแทบไม่เชื่อเลยว่ามะละกอรุ่นแรกที่ปลูกปี 2549 ส่งขายที่บ้านนาล้อมในราคาประกันเพื่อป้อนตลาดบน จึงมีการคัดเป็น 3 เกรด คือเกรดเอ เกรดบีบี และเกรดซี ราคาตั้งแต่ กก.ละ 8-15 บาท ที่เหลือเป็นมะละกอตกเกรด ไม่ได้เงินเลยเพราะต้องทิ้งไป ตอนหลังจึงเปลี่ยนมาส่งให้แม่ค้าตลาดไทแทน ราคาถูกกว่าแต่ก็ไม่ต้องคัดเกรด


"มะละกอแปลงแรก 10 ไร่ ที่ส่งให้บ้านนาล้อมก็ได้เงินหลักล้านเหมือนกัน พอแปลงที่ 2 ปลูก 12 ไร่ มะละกอติดผลดกมากๆ แต่พลาดตรงที่ให้น้ำมากเกินไปทำให้มะละกอไม่หวาน ตอนนั้นมะละกอหวานแค่ 8-9 บริกซ์ จากปกติต้องหวาน 12-13 บริกซ์ขึ้นไป จึงส่งให้บ้านนาล้อมส่วนหนึ่งได้เงินมา 7 แสนบาท ที่เหลือส่งเข้าโรงงานแปรรูปในราคา กก.ละ 4-5 บาท พอรุ่นต่อมาส่งให้แม่ค้าที่ตลาดไท มาถึงรุ่นที่ 3 ปลูกในพื้นที่ 20 ไร่ เก็บผลผลิตอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ตัน จะเก็บได้ครั้งละ 10 ตัน ประมาณ 8 ครั้ง จากนั้นก็จะเริ่มลดลงเหลือ 8 ตัน 7 ตัน 6 ตัน ลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 1 ตัน อย่างแปลงนี้เก็บมาได้ 270 ตัน แล้วส่งตลาดไททั้งหมดในราคาที่ไม่คัด กก.ละ 10 บาท ได้เงินมากว่า 2 ล้าน หากเทียบกับการปลูกอ้อยมา 20 ปีแล้วในพื้นที่ 100 ไร่ สู้ปลูกมาละกอ 20 ไร่ไม่ได้เลย" อนุพงษ์ กล่าว


กระนั้นยังยอมรับว่าการปลูกมะละกอรุ่นแรกต้นสูงพอสมควร อย่างเขาปลูกรุ่นแรกในพื้นที่ 10 ไร่ ใช้เงินทุนถึง 6 แสนบาท เพราะต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำด้วย ค่าปุ๋ย ค่ายาต่างๆ รวมถึงค่าแรงงานด้วย อีกอย่างในปีแรกเขาขาดประสบการณ์ด้วย จึงต้องลงทุนใหม่ทุกอย่างรวมถึงลงทุนแบบลองผิดลองถูกที่ถือว่าซื้อความรู้ด้วย แต่พอรุ่นสองก็ใช้อุปกรณ์เดิมได้โดยเฉพาะระบบน้ำต้นทุนจึงลดลงแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย นอกจากปุ๋ยซึ่งต้องใชปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ผสมผสานกัน อยู่ในอัตราที่เหมาะสม


"สวนผมค่อนข้างลงทุน เพราะต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพ อย่างแปลงที่ปลูกใหม่ 25 ไร่ ลงทุนไปกว่า 2 แสนบาทแล้ว เพราะมีระบบน้ำที่ต้องซื้อเพิ่มเติมจากที่เราขยายพื้นที่มากขึ้น ค่าแรงหนักหน่อย ต้องจ่ายวันละ 2,000-3,000 บาท เพราะผมและแฟนมีเวลาให้งานประจำต้องจ้างทุกอย่างตั้งแต่ขุดหลุมปลูก เอาปุ๋ยรองก้นหลุม แต่ก็คุ้ม" อนุพงษ์ กล่าวอย่างมั่นใจ


สำหรับการปลูกมะละกอที่จะให้ผลผลิตดีนั้น อนุพงษ์ บอกว่า เริ่มต้นจากเพาะกล้ามะละกอก่อน โดยคลุกเมล็ดกับยาป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า อาทิ ใช้เมทาแลกซิล พอมะละกอโตได้สักระยะหนึ่ง ย้ายลงหลุมปลูก 1 หลุ่มปลูก 4-5 ต้น ใช้ระยะห่างแต่ละหลุ่ม 3x3 เมตร ระยะแรกระบบน้ำจะใช้เจ็ทสเปรย์ ส่วนปุ๋ยเค ใช้สูตรเสมอ 16-16-16 ปลูกได้ประมาณ 3 เดือน มะละกอก็จะเริ่มออกดอก จึงคัดต้นที่เป็นต้นกะเทยไว้ ให้เหลือหลุ่มละ 1 ต้น การให้น้ำเปลี่ยนมาใช้ระบบสปริงเกอร์ทุกวัน ส่วนปุ๋ยให้แค่เดือนละครั้ง เป็นสูตร 8-24-24 พื้นที่ 20 ไร่ ให้ครั้งละ 1 ตัน หรือ 20 กระสอบ (กระสอบละ  50 กก.)   พอมะละกออายุได้ 8 เดือน เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ระหว่างให้ผลผลิตควรให้ปุ๋ยเกล็ดบ้างอาทิตย์ละครั้งในอัตราปุ๋ยเกล็ด 400 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร

 ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแวะชมการปลูกมะละกอของอนุพงษ์ และประภา จงใจลาน หากใครสนใจทั้งสองยินดีแนะนำในเรื่องการปลูกมะละกอให้ แวะที่หมู่ 3 ต.มะนาวหวาน อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี



ที่มา  :  คม ชัด ลึก




หน้าก่อน หน้าก่อน (2/4) - หน้าถัดไป (4/4) หน้าถัดไป


Content ©