-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 186 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

พืชสมุนไพร1




หน้า: 2/3



 

ความหมายของพืชสมุนไพร
 

คำว่า สมุนไพร ตาม พระราชบัญญัติยา หมายถึง "ยาที่ได้จากพืช สัตว์ หรือแร่ ซึ่งยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือเปลี่ยนสภาพ" เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ซึ่งยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใด ๆ แต่ในทางการค้าสมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปต่าง ๆ เข่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่ง อย่างไรก็ตามในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป เมื่อกล่าวถึงสมุนไพร มักจะนึกถึงเฉพาะต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นยาเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสัตว์ หรือแร่ มีการนำมาใช้น้อย และใช้ในโรคบางชนิดเท่านั้น

พืชสมุนไพร หมายถึงพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ปรุงหรือประกอบเป็นยารักษา โรคต่าง ๆ ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพร่างกายได้


ความสำคัญของพืชสมุนไพร

1. ความสำคัญในด้านสาธารณสุข

พืชสมุนไพร เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้เป็นประโยชน์ เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เช่นในเอเชียก็มีหลักฐานแสดงว่ามนุษย์รู้จักใช้พืชสมุนไพรมากว่า 6,000 ปี แต่หลังจากที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการสังเคราะห์ และผลิตยาจากสารเคมี ในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้ง่าย สะดวกสบายในการใช้มากกว่าสมุนไพร ทำให้ความนิยมใช้ยาสมุนไพรลดลงมาเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ความรู้วิทยาการด้านสมุนไพรขาดการพัฒนา ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ในปัจจุบันทั่วโลกได้ยอมรับแล้วว่าผลที่ได้จากการสกัดสมุนไพร ให้คุณประโยชน์ดีกว่ายา ที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับในประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันอุดมสมบูรณ์ มีพืชต่าง ๆ ที่ใช้เป็นสมุนไพรได้อย่างมากมายนับหมื่นชนิด ยังขาดก็แต่เพียงการค้นคว้าวิจัยในทางที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น ความตื่นตัวที่จะพัฒนาความรู้ด้านพืชสมุนไพร จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มีการเริ่มต้นนโยบายสาธารณสุขขั้นมูลฐานอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2522 โดยเพิ่มโครงการสาธารณสุขขั้นมูลฐานเข้าในแผนพัฒนาการสาธารณสุข ตามแผนพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ต่อเนื่องจนถึงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) โดยมี กลวิธีการพัฒนาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยในงานสาธารณสุขมูลฐาน คือ


(1) สนับสนุนและพัฒนาวิชาการและเทคโนโลยีพื้นบ้านอันได้แก่ การแพทย์แผนไทย เภสัช กรรมแผนไทย การนวดไทย สมุนไพร และเทคโนโลยีพื้นบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา สุขภาพของชุมชน


(2) สนับสนุนและส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง โดยใช้ สมุนไพร การแพทย์พื้นบ้าน การนวดไทย ในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ให้เป็นไปอย่างถูกต้องเป็นระบบสามารถปรับประสานการดูแลสุขภาพแผนปัจจุบันได้ อาจกล่าวได้ว่าสมุนไพรสำหรับสาธารณสุขมูลฐานคือสมุนไพรที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาโรค/อาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น



2. ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ

ในปัจจุบันพืชสมุนไพรจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ต่างประเทศกำลังหาทางลงทุนและคัดเลือกสมุนไพรไทยไปสกัดหาตัวยาเพื่อรักษาโรคบางโรคและมีหลายประเทศที่นำสมุนไพรไทยไปปลูกและทำการค้าขายแข่งกับประเทศไทย สมุนไพรหลายชนิดที่เราส่งออกเป็นรูปของวัตถุดิบคือ กระวาน ขมิ้นชัน เร่ว เปล้าน้อยและมะขามเปียกเป็นต้น ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้ตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการอีกมาก และในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสนใจในการศึกษาเพิ่มขึ้นและมีโครงการวิจัยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาระบบการผลิต การตลาดและการสร้างงานในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) เพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาคุณภาพและแหล่งปลูกสมุนไพรเพื่อส่งออก โดยกำหนดชนิดของสมุนไพรที่มีศักยภาพ 13 ชนิด คือ มะขามแขก กานพลู เทียนเกล็ดหอย ดองดึง เร่ว กระวาน ชะเอมเทศ ขมิ้น จันทร์เทศ ใบพลู พริกไทย ดีปลี และน้ำผึ้ง



ประโยชน์ของพืชสมุนไพร

  1. สามารถรักษาโรคบางชนิดได้ โดยไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งบางชนิดอาจมีราคาแพง และต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งอาจหาซื้อได้ยากในท้องถิ่นนั้น
  2. ให้ผลการรักษาได้ดีใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน และให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้มากกว่าแผนปัจจุบัน
  3. สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นเพราะส่วนใหญ่ได้จากพืชซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งในเมืองและ ชนบท
  4. มีราคาถูก สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องสั่งซื้อจากต่าง ประเทศเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า
  5. ใช้เป็นยาบำรุงรักษาให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
  6. ใช้เป็นอาหารและปลูกเป็นพืชผักสวนครัวได้ เช่น กะเพรา โหระพา ขิง ข่า ตำลึง
  7. ใช้ในการถนอมอาหารเช่น ลูกจันทร์ ดอกจันทร์และกานพลู
  8. ใช้ปรุงแต่ง กลิ่น สี รส ของอาหาร เช่น ลูกจันทร์ ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารพวก ขนมปัง เนย ไส้กรอก แฮม เบคอน
  9. สามารถปลูกเป็นไม้ประดับอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้สวยงาม เช่น คูน ชุมเห็ดเทศ
  10. ใช้ปรุงเป็นเครื่องสำอางเพื่อเสริมความงาม เช่น ว่านหางจระเข้ ปรนะคำดีควาย
  11. ใช้เป็นยาฆ่าแมลงในสวนผัก, ผลไม้ เช่น สะเดา ตะไคร้ หอม ยาสูบ
  12. เป็นพืชที่สามารถส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศ เช่น กระวาน ขมิ้นชัน เร่ว
  13. เป็นการอนุรักษ์มรดกไทยให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น รู้จักช่วยตนเองในการ นำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ
  14. ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น
  15. ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรม และคุณค่าของความเป็นไทย
 


ลักษณะของพืชสมุนไพร



"พืชสมุนไพร" โดยทั่วไปนั้น แบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญด้วยกัน คือ

1.ราก
2.ลำต้น
3.ใบ
4.ดอก
5.ผล


"พืชสมุนไพร" เหล่านี้มีลักษณะลำต้น ยอด ใบ ดอก ที่แตกต่างกันไป
ตามสายพันธุ์ แต่ส่วนต่างๆ ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน เช่นรากก็ทำหน้าที่ดูดอาหาร
มาเลี้ยงลำต้นกิ่งก้านต่างๆและใบกับส่วนต่างๆนั่นเองใบก็ทำหน้าที่ปรุงอาหาร
ดูดออกซิเจน คายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดอก ผล เมล็ด ก็ทำหน้าที่สืบพันธุ์
กันต่อไป เพื่อทำให้พืชพันธุ์นี้แพร่กระจายออกไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนต่างๆของพืชที่ใช้เป็นพืชสมุนไพร »

1.ราก


รากของพืชมีมากมายหลายชนิดเอามาเป็นยาสมุนไพรได้อย่างดี เช่น กระชาย
ขมิ้นชัน ขิง ข่า เร่ว ขมิ้นอ้อย เป็นต้น
รูปร่างและลักษณะของราก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1.1 รากแก้ว ต้นพืชมากมายหลายชนิดมีรากแก้วอยู่ นับว่าเป็นรากที่สำคัญมากงอก
ออกจาลำต้นส่วนปลาย รูปร่างยาวใหญ่เป็นรูปกรวยด้านข้างของรากแก้วจะ
แตกแยกออกเป็นรากเล็กรากน้อยและรากฝอยออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อทำการ
ดูดซึมอาหารในดินไปบำรุงเลี้ยงส่วนต่างๆของต้นพืชที่มีรากแก้วได้แก่ ต้นขี้เหล็ก
ต้นคูน เป็นต้น

1.2 รากฝอย รากฝอยเป็นส่วนที่งอกมาจากลำต้นของพืชที่ส่วนปลายงอกออกมาเป็น
รากฝอยจำนวนมากลักษณะรากจะกลมยาวมีขนาดเท่าๆกันต้นพืชที่มีใบเลี้ยงเดี่ยวจะ
มีรากฝอย เช่น หญ้าคา ตะไคร้ เป็นต้น

2.ลำต้น


นับว่าเป็นโครงสร้างที่สำคัญของต้นพืชทั้งหงายที่มีอยู่สามารถค้ำยันเอาไว้ได้ไม่ให้
โค่นล้มลง โดยปกติแล้วลำต้นจะอยู่บนดินแต่บางส่วนจะอยู่ใต้ดินพอสมควร รูปร่าง
ของลำต้นนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ตา ข้อ ปล้อง บริเวณเหล่านี้
จะมีกิ่งก้าน ใบ ดอกเกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้พืชมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปชนิด
ของลำต้นพืช แบ่งตามลักษณะภายนอกของลำต้นได้เป็น


1.ประเภทไม้ยืนต้น
2.ประเภทไม้พุ่ม
3.ประเภทหญ้า
4.ประเภทไม้เลื้อย

3.ใบ


ใบ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของต้นพืชทั่วไป มีหน้าที่ทำการสังเคราะห์แสง ผลิตอาหาร
และเป็นส่วนที่แลกเปลี่ยนน้ำและอากาศให้ต้นพืช ใบเกิดจากการงอกของกิ่งและตา
ใบไม้โดยทั่วไปจะมีสีเขียว (สีเขียวเกิดจากสารที่มีชื่อว่า"คอลโรฟิลล์"อยู่ในใบของพืช)
ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดีมาก รูปร่างและลักษณะของใบนั้น
ใบที่สมบูรณ์มีส่วนประกอบรวม 3 ส่วนด้วยกันคือ


1.ตัวใบ
2.ก้านใบ
3.หูใบ


ชนิดของใบ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.ชนิดใบเลี้ยงเดี่ยว หมายถึงก้านใบอันหนึ่ง มีเพียงใบเดียว เช่น กานพลู ขลู่ ยอ กระวาน
2.ชนิดใบประกอบ หมายถึงตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไปที่เกิดขึ้นก้านใบอันเดียว มี มะขามแขก
แคบ้าน ขี้เหล็ก มะขาม เป็นต้น

4. ดอก


ส่วนจองดอกเป็นส่วนที่สำคัญของพืชเพื่อเป็นการแพร่พันธุ์ของพืช เป็นลักษณะเด่นพิเศษ
ของต้นไม้แต่ละชนิด ส่วนประกอบของดอกมีความแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ไม้
และลักษณะที่แตกต่างกันนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการจำแนกประเภทของต้นไม้
รูปร่างลักษณะของดอก ดอกจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ส่วนคือ


1.ก้านดอก
2.กลีบรอง
3.กลีบดอก
4.เกสรตัวผู้
5.เกสรตัวเมีย

5. ผล


ผล คือส่วนหนึ่งของพืชที่เกิดจากการผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน
หรือคนละดอกก็ได้ มีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทและสายพันธุ์
รูปร่างลักษณะของผลมีหลายอย่าง ตามชนิดของต้นไม้ที่แตกต่างกัน แบ่งตามลักษณะ
ของการเกิดได้รวม 3 แบบ


1.ผลเดี่ยว หมายถึง ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดียวกัน
2.ผลกลุ่ม หมายถึง ผลที่เกิดจากปลายช่อของรังไข่ในดอกเดียวกัน เช่น น้อยหน่า

3.ผลรวม หมายถึง ผลที่เกิดมาจากดอกหลายดอก เช่น สับปะรด


มีการแบ่งผลออกเป็น 3 ลักษณะคือ


1.ผลเนื้อ
2.ผลแห้งชนิดแตก

3.ผลแห้งชนิดไม่แตก

บทบาทของพืชสมุนไพร »


"พืชสมุนไพร" นั้นมีสรรพคุณทางยาดีมาก คนโบราณใช้ทำการรักษาโรคกันมานานแล้ว
ควรอนุรักษ์เอาไว้ให้ดี ในวงการแพทย์ก็มองเห็นความสำคัญของพืชที่มีประโยชน์
ในทางยานี้มากเช่นเดียวกัน มีการนำเอา "พืชสมุนไพร" ไปสะกัดเอาสารสำคัญที่มี
อยู่ในส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรทำประโยชน์กันมากในชนบทที่ห่างไกลก็ใช้
"พืชสมุนไพร" นี้เองช่วยในการบำบัดรักษาโรค และอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งก็นับว่าได้ผลดีมาก เช่น


ใช้ชุมเห็ดเทศเป็นยาถ่าย ยาระบาย
ใช้บัวบกเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน
ใช้มะนาวเป็นยาแก้เลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด
ใช้มะระเป็นยาขมเจริญอาหาร
ใช้กะเพราเป็นยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอด
ใช้ไพลเป็นยารักษาโรคหืด

ใช้ตำลึงรักษาโรคเบาหวาน


สิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถของแพทย์แผนโบราณที่ยึดเอา "พืชสมุนไพร"
เป็นหลักในการักษาโรคที่เกิดขึ้นกับคนเรามานับร้อยนับพันปีมาแล้ว






การขยายพันธุ์พืชสมุนไพร

         
การขยายพันธุ์  คือ การสืบพันธุ์ของต้นไม้โดยธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการเพาะเมล็ด การแตกหน่อ แตกตา ใช้ไหล หรือเง่าของพืช การขยายพันธุ์พืชทำให้เพิ่มจำนวนของพืชมากขึ้น การขยายพันธุ์พืชสมุนไพร แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

  1. การขยายพันธุ์พืชโดยอาศัยเพศ  คือการนำเมล็ดที่เกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ไปเพาะเป็นต้นกล้าให้เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไป ซึ่งลักษณะต้นใหม่ที่เกิดขึ้นอาจจะมีลักษณะที่ดีกว่าเดิมหรือเลวกว่าเดิมก็ได้
         วิธีการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีนี้ มีข้อดีคือ พืชมีรากแก้ว เป็นวิธีที่เหมาะแก่การขยายพันธุ์พืชจำนวนมาก มีวิธีการและขั้นตอนไม่มากนัก แต่มีข้อเสียที่กลายพันธุ์ได้ ต้นใหญ่ และกวาจะออกผลต้องใช้เวลานาน พืชสมุนไพรหลายชนิดเพาะพันธุ์โดยวิธีนี้  เช่น คูน ยอ และฟ้าทะลายโจร วิธีการที่สะดวกและนิยมกันมาก คือการเพาะใส่กระถางหรือถุงพลาสติก วัสดุที่ใช้คือ ขี้เถ้าแกลบดำ ทรายหยาบ หรือดินปนทราย แต่ที่เหมาะที่สุดคือขี้เถ้าแกลบดำ เพราะขี้เถ้าแกลบดำไม่จับตัวแข็ง ร่วนซุย โปร่ง ระบายน้ำได้ดี แดดส่องสะดวก ถุงพลาสติกที่ใช้ต้องเจาะรูให้น้ำไหลได้ วิธีทำโดยใส่ถ่านแกลบลงในถุงพลาสติก เสร็จแล้วล้างถ่านแกลบด้วยน้ำเพื่อให้หมดด่างเสียก่อน ถ้าหากไม่ใช้ถ่านแกลบดำ จะใช้ดินร่วนปนทราย โดยใช้ดินร่วน 2 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน ปุ๋ยคอกแห้งป่นละเอียด 1 ส่วน เอามาผสมให้เข้ากันดี หยอดเมล็ดให้ลึกพอประมาณ 2-3 เมล็ด (ถ้าเมล็ดใหญ่ใช้ 1 เมล็ด) ดูอย่าให้แดดจัด รดน้ำพอประมาณวันละครั้ง อย่าให้น้ำขัง เมล็ดจะเน่า เมื่อเมล็ดงอกแล้วให้ถูกแดดบ้าง เมื่อต้นเจริญเติบโตพอควรก็แยกไปปลูกในที่ที่ต้องการได้

  2. การขยายพืชโดยไม่อาศัยเพศ  คือการขยายพันธุ์พืชด้วยส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช เช่น กิ่ง หน่อ หัว ใบ เหง้า ไหล เป็นต้น โดยนำไปชำ ตอน แบ่งแยก ติดตา เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) ให้เกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมาได้
         ข้อดีของการขยายพันธุ์โดยไม่ต้องอาศัยเพศ  คือไม่กลายพันธุ์ สะดวกต่อการดูแลรักษา ได้ผลเร็ว และสามารถขยายพันธุ์พืชที่ยังไม่มีเมล็ดหรือไม่สามารถมีเมล็ดได้ แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีรากแก้ว บางวิธีขยายพันธุ์ได้คราวละไม่มาก ต้องใช้เทคนิคและความรู้ช่วยบ้าง เช่น การตอน การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น
    วิธีการขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศมีหลายวิธี ในที่นี้จะแนะนำเฉพาะวิธีที่ใช้บ่อย และนำไปเลือกใช้กับการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร ที่จะแนะนำต่อไปได้ ส่วนวิธีการอื่น หากสนใจ สามารถศึกษาได้จากตำราวิชาการด้านการเกษตร
    2.1  การแยกหน่อ หรือ กอ  พืชสมุนไพรบางชนิด เช่น กระชาย กล้วย ตะไคร้ ขิงข่า เตย ว่านหางจระเข้ ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อหรือกอ ทำได้โดยก่อนแยกหน่อ จะต้องเลือกหน่อที่แข็งแรง มีใบ 2-3 ใบ ใช้น้ำรดให้ทั่วเพื่อให้ดินนุ่ม ขุดแยกออกมาอย่างระมัดระวัง อย่าให้หน่อช้ำ เมื่อตัดออกมาแล้ว เอาดินกลบโคนต้นแม่ให้เรียบร้อย นำหน่อที่แยกตัดรากที่ช้ำ หรือใบที่มากเกินไปออกบ้าง แล้วนำไปปลูกลงในกระถางหรือดินที่เตรียมไว้  กดดินให้แน่น เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เก็บไว้ในที่ร่ม ถ้าปลูกลงแปลงก็บังร่มเงาให้จนกว่าต้นจะแข็งแรง ดูแลอย่าให้น้ำขัง
    2.2  การปักชำ  พืชสมุนไพร เช่น หญ้าหนวดแมว ขลู่ ดีปลี ปักชำได้ง่าย โดยใช้ลำต้นหรือกิ่ง โดยเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป ใช้มีดหรือกรรไกรที่คม ตัดเฉียงโดยให้กิ่งชำมีตาติดอยู่สัก 3-4 ตา ตัดแล้วริดใบออก ให้เหลือใบแต่น้อย ใช้ปูนแดงทาที่รอยตัดกันเชื้อรา นำไปปักลงบนกระบะที่บรรจุถ่านแกลบดำ หรือดินร่วนปนทราย ผสมแบบเดียวกับการเพาะเมล็ด การปัก ให้ปักตรงๆ ลงไปในดิน ไม้ใหญ่ปักห่างกันหน่อย ไม้เล็กปักถี่หน่อย กลบดินให้แน่น ไม่ให้โยกคลอน การรดน้ำให้สม่ำเสมอ และอย่าให้แฉะ และอย่ารดน้ำแรง จะทำให้กิ่งโยกคลอน เมื่อรากแตกและมีใบเจริญขึ้น ก็ย้ายไปปลูกในที่ที่เตรียม








 

   
 

การที่พืชสมุนไพรจะเจริญเติบโตแข็งแรงได้ดีนั้น หาได้ขึ้นอยู่กับการให้น้ำและให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอเท่านั้นไม่แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชสมุนไพรอยู่อีกหลายประการ ที่ผู้ปลูกเลี้ยงควรจะรู้และทำความเข้าใจเอาไว้



สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกพืชสมุนไพร มีอยู่ด้วยกันหลายประการดังนี้

  1. ดิน
  2. แสงสว่าง
  3. น้ำ และความชื้น
  4. อุณหภูมิ
  5. ธาตุอาหาร
  6. อากาศ

ดิน

ดิน คือสิ่งที่พืชใช้ยึดเกาะเพื่อการทรงตัวและใช้รากชอนไชหาอาหาร จึงถือได้ว่าดินนั้นคือแหล่งอาหารของพืช เพราะว่าในดินนั้นประกอบด้วยธาตุอาหารต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับวัตถุต้นกำเนิดดินดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชจะต้องเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง คือจะต้องมีธาตุอาหารที่พืชต้องการอยู่อย่างครบถ้วนหรือเกือบจะครบ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ เราจะหาดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจากธรรมชาติได้ยากมาก จึงต้องอาศัยการปรุงแต่งจากภายนอกโดยการเพิ่มธาตุอาหารหรืออินทรีย์วัตถุต่างๆลงไป เพื่อปรับสภาพโครงสร้างของดิน ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชและการเจริญเติบโตของพืชดินที่เราพบเห็นกันโดยทั่วไปมีอยู่ 3 ประเภท คือ ดินร่วน ดินทรายและดินเหนียว ในบรรดาดินทั้ง 3 ประเภทนี้ ดินร่วนถือได้ว่าเป็นดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชมากที่สุดเพราะสามารถเก็บความชื้น ระบายน้ำและระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ดินทรายเป็นดินที่มีเม็ดดินใหญ่ อุ้มน้ำได้น้อย ไม่พอกับความต้องการของพืช ส่วนดินเหนียวนั้นเป็นดินที่มีขนาดของเม็ดดินเล็กมากจนละเอียดก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อได้รับความชื้นเข้าไปจะจับตัวกันแน่นอุ้มน้ำได้ดี แต่ไม่สามารถจะถ่ายเทได้สะดวก

ถึงอย่างไรก็ตามทั้งดินทรายและดินเหนียวต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่จะนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะต้องพิจารณาถึงชนิด ความต้องการและประเภทของพืชเป็นหลักด้วย



ดินที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช ควรจะมีส่วนประกอบโดยปริมาตรดังนี้



1. แร่ธาตุ
45
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
2. อินทรีย์วัตถุ
5
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
3. น้ำ
25
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
4. อากาศ
25
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร


รวม 100 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร แร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุซึ่งเป็นส่วนที่เป็นของแข็งรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาตรของดินทั้งหมด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นน้ำ และอากาศซึ่งจะบรรจุอยู่ในช่องว่าง ระหว่างเม็ดดิน น้ำและอากาศในดินมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะบรรจุอยู่ในช่องว่างระหว่าง เม็ดดินอันเดียวกัน เมื่อมีน้ำมาก น้ำจะไล่ที่อากาศ ทำให้อากาศน้อยและเมื่อมีน้ำน้อยอากาศก็จะเข้ามา แทนที่น้ำที่หายไป


แสงสว่าง

แสงเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสง และเป็นพลังงานที่พืชใช้ปรุงอาหาร แสงสว่างที่ส่องมายังใบของพืชจะต้องมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของพืชแต่ละชนิด เนื่องจากพืชแต่ละชนิดต้องการปริมาณแสงที่แตกต่างกัน จำต้องดูแลให้เหมาะสม มิฉะนั้นพืชจะปรุงอาหารไม่เต็มที่หรือมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเช่น ต้นแคระแกร็น ไม่ออกดอกหรือผล เป็นต้น

นอกจากที่กล่าวแล้ว แสงยังเป็นภาวะที่จำเป็นในการงอกของเมล็ดพืช เมื่อพืชออกต้นอ่อนแล้ว พืชจะต้องการแสงเพิ่มขึ้น เพราะแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานที่จะทำให้พืชเจริญเติบโต

ประโยชน์ของแสงสว่างที่มีต่อพืชมีดังนี้

  1. เป็นพลังงานที่พืชใช้ในการปรุงอาหาร แสงสว่างที่ส่องลงมาจะต้องมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของพืชแต่ละชนิดเพราะพืชต่าง ๆใช้แสงสว่างไม่เท่ากันแสงน้อยเกินไปพืชจะปรุงอาหาร ไม่ได้ ดังนั้นในการดูแลรักษาต้นไม้ จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งให้แสงสว่างส่องลงให้ทั่วถึงทั้งต้น เพื่อให้ใบทุกใบทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เต็มที
  2. เกี่ยวกับการงอกของเมล็ดพืช เพราะแสงแดดมีแสงอินฟราเรด เป็นแสงที่ช่วยให้พืชงอกงามเร็ว นอกจากจะเกี่ยวกับการงอกงามของเมล็ดแล้ว แสงสว่างยังช่วยให้ลำต้นเจริญรวดเร็วด้วย จะเห็นได้จากต้นไม้มักจะเอนเข้าหาแสงสว่างอยู่เมอ ด้านที่ถูกแสงสว่างมากมักจะเจริญรวดเร็วกว่าด้านที่ไม่ถูกแสงสว่าง
  3. เกี่ยวกับสรีระภายใน พืชบางชนิดจะออกดอกในเมื่อได้รับแสงสว่างเพียงพอ แสงมากเกินไปหรือน้อยเกินไปพืชก็จะไม่ออกดอก ผู้ปลูกจะต้องทราบว่าพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ต้องการแสงสว่างมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าแสงแดดมากเกินไปใบก็จะไหม้ ใบก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ปรุงอาหารได้ เมื่อปรุงอาหารไม่ได้พืชสมุนไพรที่ปลูกก็จะชะงักการเจริญเติบโต และในทางตรงกันข้าม ถ้านำพืช สมุนไพรที่ชอบอยู่กลางแจ้งไปปลูกในร่มที่ไม่ได้รับแสง พืชก็จะไม่เจริญเติบโตเพราะไม่มีแสงแดดสำหรับช่วยเป็นพลังงานในการสังเคราะห์แสง

น้ำและความชื้น

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบของร่างกายด้วยกันทั้งนั้น พืชก็เช่นกัน เพราะพืชมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำในขบวนการสังเคราะห์แสงและหล่อเลี้ยงเซลล์และยังเป็นตัวละลายแร่ธาตุต่าง ๆ ก่อนที่จะลำเลียงเข้าสู่ต้นพืชอีกด้วย พืชทุกชนิดจะต้องการน้ำในปริมาณที่ต่างกัน และความต้องการน้ำของพืชย่อมขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของพืช ถิ่นกำเนิดของพืชบางครั้งก็สามารถที่จะบอกได้ถึงความต้องการน้ำของพืชนั้น ๆ เช่นพืชที่เกิดอยู่ในแถบที่มีความแห้งแล้งย่อมจะต้องการปริมาณน้ำน้อยกว่าพืชที่เคยอยู่ในที่ ๆ ชุ่มชื้นมาก่อน พืชบางชนิดต้องการความชื้นสูง เช่น กระวาน กานพลู เป็นต้น สำหรับความชื้นในอากาศนั้นถือว่าเป็นปัจจัยทางอ้อม ที่มีผลต่อปริมาณความต้องการ น้ำของพืชคือถ้าความชื้นในอากาศมีมาก พืชก็จะคายน้ำน้อยลง ทำให้พืชสามารถคงความสดชื่นอยู่ได้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความชื้นในอากาศลดลง พืชก็จะคายน้ำมากขึ้นและนั่นก็แน่นอนว่าพืชจะต้องการน้ำ เพื่อมาชดเชยปริมาณน้ำที่สูญเสียไปมากขึ้นเช่นกัน


อุณหภูมิ

อุณหภูมิ คือความร้อนเย็นของอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญ เติบโตของพืช จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิหรือความร้อนในอากาศยิ่งสูงขึ้นมากเท่าไร พืชก็จะคายน้ำมากขึ้น เท่านั้น รวมไปถึงการระเหยของน้ำที่อยู่รอบ ๆ บริเวณต้นพืชด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าอุณหภูมิต่ำการคายน้ำของพืชก็จะน้อยลงไปด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชคืออุณหภูมิที่อยู่ในช่วง 15 - 40o C ดังนั้น การที่จะนำพืชสมุนไพรมาปลูกนั้น ผู้ปลูกเลี้ยงจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่พืชเหล่านั้นต้องการด้วย


ความสำคัญของอุณหภูมิ

อุณหภูมิมีความสำคัญต่อพืชสมุนไพรดังนี้

  1. การเจริญเติบโต
  2. การเกิดตาดอก
  3. การสังเคราะห์แสง
  4. การหายใจ
  5. การคายน้ำ
  6. การขยายพันธุ์

ดังนั้น อุณหภูมิมีบทบาทต่อกระบวนการต่าง ๆ ทางด้านสรีระวิทยา และกระบวนการทางชีวเคมีของพืชสมุนไพรทุกชนิด


ธาตุอาหารพืช

ธาตุอาหารพืช หมายถึง แร่ธาตุที่พืชจำเป็นต้องใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตและให้ผลผลิตถ้าพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอก็จะชะงักการเจริญเติบโต หรือแคระแกร็น

ธาตุอาหารพืชที่พืชต้องการ มีทั้งหมด 16 ธาตุ ได้แก่
 

ชื่อธาตุสัญญลักษณ์ชื่อธาตุสัญญลักษณ์
1. คาร์บอน C 9. กำมะถัน S
2. ไฮโดรเจน H 10. แมงกานีส Mn
3. ออกซิเจน O 11. โบรอน B
4. ไนโตรเจน N 12. ทองแดง Cu
5. ฟอสฟอรัส P 13. สังกะสี Zn
6. พอแทสเซียม K 14. เหล็ก Fe
7. แคลเซี่ยม Ca 15. โมลิบดินัม Mo
8. แมกนีเซียม Mg 16. คลอรีน Cl


ประเภทของธาตุอาหารพืช

ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จัดแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ธาตุอาหารหลัก

ธาตุอาหารหลัก เป็นธาตุอาหารที่พืชใช้ในการสร้างความเจริญเติบโต และให้ผลผลิตพืชต้องการในปริมาณมากขาดไม่ได้ ปกติมีอยู่แล้วในดิน ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน (N) ธาตุฟอสฟอรัส (P) และธาตุพอแทสเซียม (K) แต่เนื่องจากพื้นที่เกษตรทั่ว ๆ ไป มักจะเกิดการชะล้างธาตุไนโตรเจน (N) และ ธาตุพอแทสเซียม (K) ออกไปหมด จึงทำให้ธาตุอาหารหลักมีไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ของพืช จำเป็นต้องเติมธาตุอาหาร N-P-K ลงไปในดินในรูปของปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ธาตุอาหารหลักทั้ง 3 ธาตุ มีหน้าที่และความสำคัญต่อพืชดังนี้


ความสำคัญของธาตุอาหารหลักที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช

ชื่อธาตุอาหารหน้าที่และความสำคัญต่อพืชอาการของพืชที่ขาดธาตุอาหาร
ไนโตรเจน
(N)
  1. เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความเจริญเติบโตของใบและลำต้น
  2. ทำให้ใบมีสีเขียวเข้ม
  3. ทำให้พืชตั้งตัวเร็วในระยะเริ่มปลูก
  4. เพิ่มปริมาณโปรตีนแก่พืช
  5. ช่วยให้พืชสมุนไพรที่ใช้ใบและ ลำต้นมีคุณภาพดีขึ้น
  1. ใบซีด ใบเหลืองผิดปกติ โดยใบล่างจะเหลืองก่อน
  2. ใบแห้งหลุดร่วง
  3. ลำต้นผอมสูง กิ่งก้านลีบเล็ก
  4. พืชโตช้ามาก ให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพเลว
ฟอสฟอรัส
(P)
  1. ช่วยในการออกดอก และสร้างเมล็ด พืช
  2. ช่วยให้รากฝอยรากแขนงเจริญเติบ โตเร็วในระยะเริ่มปลูก
  3. ช่วยเร่งให้พืชแก่เร็ว ลำต้นแข็งแรง
  1. ดอกและผลแคระแกร็น พืชบางชนิดอาจมีลำต้น หรือเถาบิด ต้นแคระแกร็น
  2. พืชพวกธัญพืชจะล้มง่าย
  3. ขอบใบของพืชบางชนิดเป็นสีม่วงเช่นข้าวโพด
  4. ต้นเตี้ย ออกดอกช้า
พอแทสเซียม
(K)
  1. ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ของราก หัว
  2. ช่วยให้ผลไม้มีรสชาติดีขึ้น
  3. ทำให้พืชมีความต้านทานโรค ทนแล้งได้ดี
  4. สร้างคาร์โบไฮเดรตแก่พืช เพิ่มปริมาณแป้งในพืชกินหัว
  1. ขอบใบเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ปลายใบไหม้เหี่ยวแห้ง
  2. พืชที่ให้หัว จะมีแป้งน้อย มีน้ำมาก เนื้อฟ่าม
  3. พืชให้ฝัก จะมีเมล็ดไม่เต็มฝัก
  4. เมล็ดพืชจะลีบ มีน้ำหนักเบาผิดปกติ


2. ธาตุอาหารรอง

ธาตุอาหารรอง เป็นธาตุที่พืชมีความจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก รองลงไปจากธาตุอาหาร หลัก เป็นส่วนประกอบของเซลล์พืชของคลอโรฟิลล์ (ส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช) และโปรตีนในพืช ปกติในการใส่ปุ๋ยพวกธาตุอาหารหลักมักมีธาตุอาหารรองติดมาด้วย ส่วนในดินก็พบว่ามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของพืช ได้แก่ ธาตุแมกนีเซียม (Mg) แคลเซียม (Ca) และกำมะถัน (S)


3. ธาตุอาหารเสริม มี 7 ธาตุ

ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุที่พืชจำเป็นต้องใช้ในขบวนการสร้างความเจริญเติบโต พืชต้อง การในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ แต่จะขาดเสียมิได้ เปรียบได้กับวิตามินและเกลือแร่ที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ ธาตุอาหารเสริม มี 7 ธาตุ คือ เหล็ก ( Fe) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) แมงกานีส (Mn) คลอรีน (Cl) และโมลิบดินัม (Mo) ซึ่งพบว่าดินที่มีอินทรียวัตถุโดยทั่ว ๆ ไป หรือดินป่าเบิกใหม่มักจะมีธาตุอาหารเสริมอยู่อย่างเพียงพอต่อความต้องการของพืช


ส่วนธาตุอาหารอีก 3 ธาตุ ได้แก่ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน(H) ออกซิเจน(O) พืชได้รับอย่างเพียงพออยู่แล้วจากน้ำ และอากาศ โดยธาตุคาร์บอน (C) ส่วนใหญ่พืชดูดไปใช้ทางใบในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ดินชนิดต่าง ๆ ย่อมมีส่วนประกอบและปริมาณของแร่ธาตุต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เหมือนกัน บางแห่งก็มีธาตุต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์ แต่บางแห่งก็มีน้อยและขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง และ พืชจะขาดธาตุใดธาตุหนึ่งนั้น หรือทั้ง 16 ธาตุนี้ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อในดินมีปริมาณธาตุต่าง ๆ ไม่พอเพียงต่อความเจริญเติบโตของพืช ก็จะต้องหาทางเพิ่มเติมอาหารของมันทางใดทางหนึ่ง ทางใดที่จะเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินหรือแก่พืชนี้เรียกว่า การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน

ธาตุอาหารหรือปุ๋ยที่เราเติมลงไปในดินให้กับพืชนั้น มีอยู่ 2 ชนิดคือ

  1. ปุ๋ยอินทรีย์ คือปุ๋ยที่เกิดจากซากพืชและซากสัตว์ ได้แก่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเทศบาล เป็น ต้น
  2. ปุ๋ยอนินทรีย์ คือปุ๋ยที่เกิดจากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้แก่ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัล เฟต หรือร็อคฟอสเฟต ปุ๋ยพวกนี้มีทั้งเป็นปุ๋ยเดี่ยวและปุ๋ยรวมส่วนมากจะเรียกกันเป็นสูตร เช่น 46-0-0 หรือ 15-15-15 เป็นต้น

ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกนั้น นิยมใช้กับดินที่จะปลูกหรือรองก้นหลุมเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และร่วนซุย อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ดีอีกด้วย แต่การให้ผลตอบสนองจะช้ากว่าปุ๋ยเคมีซึ่งปุ๋ยเคมีนั้นจะให้ผลตอบสนองรวดเร็วทันใจ แต่ผลเสียก็คือว่าดินจะจับตัวกันแน่นและโครงสร้างของดินก็จะเสียไปด้วยถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่พืชสมุนไพร ในการใช้ปุ๋ยนั้นควรจะพิจารณาและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของต้นไม้และดินด้วย


อากาศ

อากาศ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในอากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน ที่จำเป็นในการสร้างอาหารและการหายใจของพืชโดยพืชจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปทางใบ เพื่อใช้ในขบวนการต่าง ๆ การหายใจของพืชไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ใบเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นที่รากอีกด้วย เราจะพบอยู่บ่อย ๆ ว่าพืชที่รากแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ นั้นจะเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด สาเหตุเพราะน้ำเข้าไปแทรกอยู่ในดินจนหมด ทำให้ไม่มีช่องว่างที่อากาศจะไหลเวียนเข้ามาได้ ดังนั้นในการปลูกพืชสมุนไพร ผู้ปลูกจะต้องมีการเตรียมดินให้ดี คือดินจะต้องมีความร่วนซุยพอ เพื่อให้อากาศในดินถ่ายเท ได้สะดวก.

 



ความรู้เกี่ยวกับลักษณะพืชสมุนไพร


วิธีสังเกตลักษณะของพืชสมุนไพร



 ราก 
รากคือ ส่วนหนึ่งที่งอกต่อจากต้นลงไปในดิน ไม่แบ่งข้อและไม่แบ่งปล้อง  ไม่มีใบ ตา และดอก หน้าที่ของราก คือ สะสมและดูดซึมอาหารมาบำรุงเลี้ยงต้นพืช นอกจากนี้ยังยึดและค้ำจุนต้นพืช 
อีกด้วย รากของต้นพืชหลายชนิดก็ใช้เป็นยา
สมุนไพรได้ เช่น กระชาย เป็นต้น

รูปร่างและลักษณะของราก แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ
1. ระบบรากแก้ว  
ต้นพืชหลายชนิดเป็นแบบรากแก้ว คือมีรากสำคัญงอกออกจากลำต้นส่วนปลายรูปร่างยาว ใหญ่ เป็นรูปกรวยด้านข้างของราแก้ว 
จะแตกแขนงออกได้ 2-3 ครั้ง ไปเรื่อย ๆ รากเล็กส่วนปลายจะมีรากฝอยเล็ก ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการดูดซึมอาหาร
ให้กับต้นพืช มักจะพบว่าพืชใบเลี้ยงคู่จะมีรากแบบรากแก้ว ตัวอย่างพืชที่มีลักษณะนี้คือ ขี้เหล็ก คูน มะกา มะหาด เป็นต้น
2. ระบบรากฝอย  
เป็นรากที่งอกออกจากลำต้นส่วนปลายพร้อมกันหลายๆ ราก ลักษณะ เป็นรากกลมยาวขนาดเท่าๆ กันพบว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีรากแบบ
รากฝอย ตัวอย่างพืชที่มีรากแบบนี้คือ ตะไคร้  หญ้าคา เป็นต้น  บางทีรากจะเปลี่ยนลักษณะไป เนื่องจากได้รับอิทธิพล

จากสิ่งแวดล้อมภายนอก รากที่เปลี่ยนลักษณะไปนี้มีหลายชนิด เช่น รากสะสมอาหาร รากค้ำจุน รากเกี่ยวพัน  รากอากาศ เป็นต้น  

รากชนิดนี้บางครั้งก็อยู่บนดินจะต้องใช้การสังเกต แต่อย่างไรก็ตาม มันยังคงลักษณะทั่วไปของรากให้เราสังเกตเห็นได้

ลำต้น
เป็นโครงค้ำที่สำคัญของพืช ปกติอยู่เหนือผิวดิน หรืออาจบางทีมีบางส่วนอยู่ใต้ดิน มี ข้อ ปล้อง  ใบ  หน่อ และดอก หน้าที่ของลำต้น ลำเลียงอาหาร ค้ำจุนและสะสมอาหาร
ให้ต้นพืช ลำต้นของต้นไม้หลายชนิดเป็น ยาสมุนไพร เช่น ขี้เหล็ก แคบ้าน บอระเพ็ด 
ตะไคร้ มะขาม เป็นต้น รูปร่างและลักษณะของลำต้น แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ตา ข้อ และปล้อง บริเวณเหล่านี้จะมีกิ่งก้าน ใบ ดอก  เกิดขึ้นซึ่งทำให้ต้นพืชแต่ละชนิด
มีลักษณะแตกต่างกันออกไป หากต้องการสังเกตส่วนที่เหนือดินของพืชสมุนไพร สิ่งแรกที่ต้องสังเกต คือ ลำต้นของต้นพืชนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ลักษณะตา 
ข้อ และปล้องเป็นอย่างไร แตกต่างจากลำต้นของต้นพืชอย่างไร

ชนิดของลำต้น แบ่งตามลักษณะภายนอกของลำต้นได้ ดังนี้
1.ประเภทไม้ยืนต้น เป็นไม้ที่ขึ้นตรงและสูงใหญ่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ลำต้นชัดเจนแบ่งกิ่งก้านแผ่ออกไป เช่น อบเชย มะกา ยอ คูน เป็นต้น
2.ประเภทไม้พุ่ม มีลำต้นไม่ชัดเจน สามารถแบ่งกิ่งได้ตั้งแต่ส่วนโคนของลำต้น เป็นต้นไป  เช่น ทองพันชั่ง มะนาว ชุมเห็ดเทศ  ขลู่ เป็นต้น
3.ประเภทหญ้า  มีลำต้นลักษณะเดียวกับพวกหญ้า  ใบมีลักษณะอ่อนเหนียว เช่น แห้วหมู หญ้าคา  เป็นต้น
4.ประเภทไม้เลื้อย  ก้านยาวและไม่สามารถตั้งตรงได้ มีลักษณะเลี้อยพันคดเคี้ยวไปโดยใช้ส่วนของพืชเกาะ เช่น หนวด หนาม เป็นต้น 
 เนื้อไม้ของลำต้นบางชนิดแข็ง และบางชนิดก็อ่อนเช่นเดียวกับหญ้า เช่น ฟักทอง บอระเพ็ด มะแว้งเครือ  เล็บมือนาง เป็นต้น

ใบ
ใบเป็นส่วนประกอบที่สำคัญกับต้นพืชมีหน้าที่ สังเคราะห์แสง ผลิตอาหาร และเป็นส่วนแลก
เปลี่ยนน้ำและอากาศของต้นพืช ใบเกิดจากด้านนอกของกิ่งหรือตากิ่ง ลักษณะที่พบ
โดยทั่วไปเป็นแผ่นที่มีสีเขียว (สีเขียวเกิดจากสารชื่อคลอโรฟิลล์ อยู่ในใบของพืช) 
ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น มะกา  ฟ้าทะลายโจร กะเพรา  
ชุมเห็ดเทศ  ฝรั่ง มะขามแขก เป็นต้น  รูปร่างและลักษณะของใบใบที่สมบูรณ์
มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวใบ ก้านใบและหูใบ ใบที่มีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน เรียกว่าใบสมบูรณ์  และใบที่มีส่วนประกอบไม่ครบ อาจมีเพียงหนึ่งหรือสองส่วน
 เรียกว่า  ใบไม่สมบูรณ์ ตัวใบมีลักษณะเป็นแผ่น ตัวใบยึดอยู่กับก้านใบ ด้านล่าง
ของก้านใบติดกับตากิ่ง หูใบติดอยู่กับด้านข้างทั้งสองข้างก้านใบส่วนปลาย 
หูใบนี้มีบทบาทป้องกันรักษาใบขณะยังอ่อนอยู่ หูใบมักมีขนาดเล็ก และเป็นสีเขียว หากพิจารณาถึงลักษณะของตัวใบจะประกอบด้วย รูปร่างของใบ ปลายใบ 
ฐานใบหรือโคนใบ ริมใบหรืออาจเรียกว่า หยักใบ และอาจสังเกตภายในของตัวใบ
ได้อีกถึงเส้นใบและเนื้อของใบในที่นี้จะไม่จำแนกว่า ปลายใบหรือโคนใบมีกี่แบบ 
เพราะจะยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป จึงขอเสนอแนะเพียงว่า หากต้องการสังเกตลักษณะของใบ  ให้พิจารณาตั้งแต่รูปร่างของใบ 
ปลายใบ โคนใบ ริมใบ เส้นใบ และเนื้อของใบ อย่างละเอียดและอาจเปรียบเทียบกับลักษณะ
ของตัวใบที่คล้ายคลึงกัน จะทำให้จำแนกใบได้ชัดเจน
ชนิดของใบแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ 
1.แบบใบเดี่ยว คือ ก้านใบอันหนึ่งมีเพียงใบเดียว เช่น กระวาน กานพูล ขลู่ ยอ เป็นต้น
2.แบบใบประกอบ คือ ใบตั้งแต่ 2 ใบ ขึ้นไปที่เกิดขึ้นบนก้านอันใบเดียวมี มะขามแขก แคบ้าน ขี้เหล็ก เป็นต้น
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างของใบ คือ ลักษณะการเรียงตัวของใบที่มีหลายแบบ เช่น เกิดสับหว่างกัน  เกิดเป็นคู่ เกิดเป็นกลุ่ม  เกิดเป็นวงกลม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเส้นใบ โดยทั่วไป เส้นใบมี 2 แบบ คือ แบบขนานและแบบร่างแห รวมทั้งยังมีความแตกต่างของเนื้อใบ เนื้อใบมีหลายอย่างเช่น แบบหนัง แบบหญ้า แบบกระดาษ  แบบอมน้ำ  หากสังเกตตัวใบควรสังเกตความหนาบางและความอบน้ำของใบด้วย จะช่วยให้เรารู้จักต้นไม้นั้นดียิ่งขึ้น

ดอก
ดอกเป็นส่วนที่สำคัญในการแพร่พันธุ์ของพืช เป็นลักษณะเด่นพิเศษของต้นไม้แต่ละชนิด
 ส่วนประกอบของดอกมีความแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ไม้ และลักษณะที่แตกต่างกันนี้ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการจำแนกประเภทของต้นไม้ ดอกของต้นไม้หลายชนิดเป็นยาได้ เช่น กานพลู  ชุมเห็ดเทศ  พิกุล ลำโพง ดอกคำฝอย
 เป็นต้น 


รูปร่างและลักษณะของดอก 
ดอกมีส่วนประกอบสำคัญ 5 ส่วน คือ ก้านดอก กลีบรองกลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย 
ดอกที่มีส่วนประกอบครบ 5 ส่วนเรียกว่า ดอกสมบูรณ์ การสังเกตลักษณะของดอกควรสังเกตทีละส่วนอย่างละเอียด เช่น กลีบดอก
สังเกตจำนวนของกลีบดอก การเรียงตัวของกลีบดอก รูปร่างของกลีบดอก สี กลิ่น เป็นต้นลักษณะที่ดอกออกจากตาดอกนั้นมีทั้งแบบดอกเดี่ยว 
คือ ก้านดอกอันหนึ่งมีดอกเพียงดอกเดี่ยวและแบบดอกช่อ คือ ก้านดอกอันหนึ่งมีมากกว่า 2 ดอกขึ้นไป การเรียงตัวของช่อดอกนี้มีมากมาย
หลายอย่างขึ้นอยู่กับชนิดของพืช จึงควรสังเกตลักษณะพิเศษของดอกแต่ละชนิดให้ดี

 
 ผล
ผล คือ ส่วนของพืชที่เกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน หรือคนละดอกก็ได้ มีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืช มีผลของต้นไม้บางอย่างเป็นยาได้ เช่น มะเกลือ ดัปลี  มะแว้งต้น  กระวาน เป็นต้น
รูปร่างและลักษณะผล  มีมากมายหลายอย่างตามชนิดของต้นไม้ที่แตกต่างกัน แบ่งลักษณะการเกิดของผล แบ่งได้เป็น
1. ผลเดี่ยว  คือ ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดี่ยว
2. ผลกลุ่ม คือ ผลที่เกิดจากดอกเดี่ยวที่มีหลายรังไข่หลอมรวมกัน เช่น น้อยเหน่า เป็นต้น 
3. ผลรวม  คือ ผลที่เกิดจากดอกหลายดอก เช่น สับปะรด เป็นต้น
และยังมีการแบ่งผลออกเป็น 3 แบบ คือ ผลเนื้อ  ผลแห้งชนิดแตก และผลแห้งชนิดไม่แตกอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม การสังเกตลักษณะของ
ผลทำได้ไม่ยาก ต้องสังเกตลักษณะผลทั้งลักษณะภายนอก และภายในจึงจะสามารถจำแนกผลไม้นั้นว่า แตกต่างกับต้นไม้อย่างอื่นอย่างไร 
นอกจากผลของต้นไม้เป็นยาได้  ยังมีเมล็ดภายในผลที่อาจเป็นยาได้อีกเช่น สะแก  ฟักทอง  เป็นต้น  ฉะนั้นในการสังเกตลักษณะของผล ควรสังเกตลักษณะรูปร่างของเมล็ดไปพร้อมกันด้วย




เกษตรดีที่เหมาะสมของพืชสมุนไพร
                       
ในอดีตที่ผ่านมาก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ (พ.ศ 2540) ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปไม่ใคร่สนใจและให้ความสำคัญในการนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์กันมากนัก ส่วนใหญ่พืชสมุนไพรจะถูกนำมาใช้โดยหมอพื้นบ้านกลุ่มคนบางกลุ่มหรือใช้ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน  นอกจากนี้ค่านิยมของคนในอดีตจะให้ความเชื่อถือกับยาแผนปัจจุบันซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า จนลืมนึกถึงคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรไทยซึ่งมีมากมายนานับประการ  แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนไป เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจประชาชนต้องหันมาดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และหันมานิยมใช้ของที่ผลิตได้เองในประเทศ รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการเอาใจใส่ต่อสุขภาพร่างกายมากขึ้น  และได้มีการนำเอาสมุนไพรไทยมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารเสริมสุขภาพ  เป็นอาหารในครัวเรือนและใช้เป็นยารักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย  ตลอดจนได้มีการนำวัตถุดิบสมุนไพรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำหน่ายกันทั่วไป  ทำให้ในบางครั้งจะพบว่าวัตถุดิบสมุนไพรที่นำมาใช้นั้นมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน  การนำไปใช้ประโยชน์จึงไม่ได้ผลตรงตามสรรพคุณของพืชนั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตวัตถุดิบยังไม่มีความรู้และความเข้าใจถึงขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีมีสารออกฤทธิ์ตรงตามมาตรฐาน  ซึ่ง

หน่วยงานของรัฐมิได้นิ่งนอนใจได้พยายามร่วมมือในการจัดทำขั้นตอนการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice - GAP) ในพืชหลายชนิดสำหรับพืชสมุนไพรในขณะนี้ยังไม่มีคู่มือ GAP เนื่องจากเป็นกลุ่มพืชที่มีความหลากหลายชนิดมากกว่ากลุ่มพืชชนิดอื่น ดังนั้น การจัดทำคู่มือ GAP ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิดจึงต้องคำนึงถึงว่าพืชสมุนไพรชนิดนั้น ๆ มีศักยภาพในการผลิตจัดเป็นพืชเศรษฐกิจ  มีข้อมูลการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสมเพียงพอ  ตลอดจนเป็นพืชที่มีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ  สำหรับกรมวิชาการเกษตรได้มีการดำเนินการจัดทำคู่มือ GAP ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไปแล้วหลายชนิด เช่น ข้าว พืชไร่ พืชไม้ผล และพืชสวนอุตสาหกรรม  สำหรับพืชสมุนไพรขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือ GAP ในพืชพริกไทย ขมิ้น บุกและตะไคร้หอม

  เกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice – GAP) คือ แนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน นอกจากนี้
ขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุดเกิดความยั่งยืนทางการเกษตร และไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมดังนั้นการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) สำหรับพืชสมุนไพรในซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคู่มือ GAP สำหรับพืชสมุนไพรเป็นรายพืช  ผู้ผลิตอาจพิจารณาใช้หลักเกณฑ์สำหรับพืชทั่วไป ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำไว้แล้วเป็นคู่มือในการผลิต โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมที่ควรคำนึงถึง ดังนี้ 

ดร. กนกวรรณ  วัฒนโยธิน  นักวิชาการเกษตร  สถาบันวิจัยพืชสวน  กรมวิชาการเกษตร

1.  แหล่งปลูก
แหล่งปลูก หมายถึง สถานที่ตั้งของสวน ที่จะทำการปลูกพืชสมุนไพร การเลือกแหล่งปลูกที่เหมาะสมควรคำนึงถึง           

สภาพพื้นที่
1. เป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดเนื่องจากสมุนไพรไทยมีความหลากหลายมากชนิด ดังนั้น การเลือกพื้นที่ปลูก จำเป็นต้องคำนึงถึงแหล่งปลูกที่เหมาะสม  สมุนไพรบางชนิดขึ้นได้ในทุกสภาพพื้นที่ เช่น ฟ้าทะลายโจร แต่บางชนิดต้องการสภาพพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง  เช่น กระวานต้องปลูกในสภาพพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 300 เมตร ขึ้นไป เนื่องจากต้องการความเย็น และความชื้นสูงสำหรับการออกดอกติดผลหากปลูกในพื้นที่ระดับต่ำกว่านี้จะไม่ติดผลหรือติดผลน้อย เช่นเดียวกับอบเชยควรปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 300 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ควรสูงเกิน 500 เมตร จะได้อบเชยที่มีคุณภาพดี หากต่ำกว่านี้จะได้อบเชยที่มีคุณภาพไม่ดีมีสารสำคัญน้อย สมุนไพรบางชนิดต้องปลูกในพื้นที่ราบ เช่น พริกไทย ควรปลูกในแหล่งที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 300 เมตร เพราะถ้าปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่านี้จะเจริญเติบโตช้า ออกดอกติดผลน้อย

2. พืชสมุนไพรโดยทั่วไปควรปลูกในที่มีความลาดเอียงต่ำ อยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาด ถ้าปลูกพืชในสภาพพื้นสมุนไพรที่ที่มีความลาดเอียงมาก จะทำให้หน้าดินถูกชะล้างไปได้ง่ายทำให้รากลอยมีผลต่อการเจริญเติบโตและสร้างสารสำคัญ โดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่ต้องนำส่วนของรากมาใช้เป็นยาควรปลูกในพื้นที่ที่สม่ำเสมอและต้องมีการระบายน้ำดี

3. ห่างไกลจากแหล่งมลพิษ ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและการผลิตสารสำคัญของพืชสมุนไพร ตลอดจนคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพรซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของสารพิษได้

4. ไม่เป็นแหล่งที่น้ำท่วมขัง ที่จะทำความเสียหายในพืชได้  ยกเว้นพืชสมุนไพรบางชนิดที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือที่มีน้ำท่วมขัง เช่น บัวบก ว่านน้ำ
5. การคมนาคมสะดวก ขนส่งผลผลิตถึงโรงงานหรือผู้บริโภคได้รวดเร็ว           

ลักษณะดิน
           
1. ควรเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มีอินทรีย์วัตถุสูง มีหน้าดินลึกใกล้เคียงกับระบบรากของพืชแต่ละชนิดโดยทั่วไปจะพบว่าพืชสมุนไพรหลายชนิดสามารถขึ้นและเจริญเติบโตได้ง่ายตามธรรมชาติ ในเกือบทุกสภาพพื้นที่โดยเฉพาะในสภาพป่า นอกจากนี้บางชนิดยังพบว่าขึ้นเป็นวัชพืชในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นอีกด้วย เช่น หญ้าคา หรือฟ้าทะลายโจร แต่สำหรับในกรณีที่หากจะนำพืชสมุนไพร
เหล่านี้มาปลูกเป็นการค้าจำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะดินที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานคุ้มค่าต่อการลงทุน           

2. ชนิดดินเหมาะสมกับพืชสมุนไพรแต่ละชนิด โดยทั่วไปพบว่าดินร่วนซุย เหมาะสมกับพืชสมุนไพรเกือบทุกชนิด ยกเว้น บางชนิดชอบขึ้นในสภาพดินเหนียว เช่น สะเก หรือบางชนิดชอบดินเลนชายน้ำ เช่น ว่านน้ำ และสมุนไพรบางชนิดชอบขึ้นในสภาพดินร่วนปนทราย เช่น ว่านหางจระเข้
           

3. มีการระบายน้ำที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ยกเว้น พืชสมุนไพรบางชนิดชอบขึ้นในดินที่มีสภาพชื้นแฉะ เช่น บัวบก บางชนิดชอบขึ้นตามขอบริมฝั่งแม่น้ำหรือริมคลอง เช่น ว่านน้ำ บางชนิดชอบขึ้นตามป่าชายเลน เช่น เหงือกปลาหมอ
           

สภาพภูมิอากาศ
           
สภาพภูมิอากาศได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน แสงแดดซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต  ผลผลิตและคุณภาพของพืชสมุนไพรค่อนข้างมาก ดังนั้น การจะเลือกปลูกพืชสมุนไพรชนิดใดควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ให้มาก
    

อุณหภูมิ
           
อุณหภูมิมีผลต่อการเจริญเติบโตและออกดอก ติดผล หรือให้หัวของพืชสมุนไพรหลายชนิด พืชสมุนไพรบางชนิดต้องการสภาพอากาศเย็นในบางช่วง เช่น กระเทียม ต้องการอุณหภูมิต่ำ สำหรับการสร้างหัวหรือคำฝอยชอบขึ้นในสภาพอากาศเย็นทางภาคเหนือ บางชนิดทนทานต่อสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง เช่น มะขามเปรี้ยว แต่โดยทั่วไปจะพบว่าพืชสมุนไพรหลายชนิดขึ้นได้ในทุกสภาพอากาศ
           

ความชื้น
           
พืชสมุนไพรหลายชนิดต้องปลูกในสภาพอากาศที่ค่อนข้างชื้นและเย็น ชอบขึ้น ในสภาพป่าธรรมชาติ เช่น กระวาน เร่ว สำรอง ทำให้เป็นปัญหาในการนำมาปลูกเป็นการค้า จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้คล้ายคลึงกับสภาพป่า เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง มีคุณภาพดีแต่มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตจะสูงตามไปด้วย ซึ่งอาจใช้วิธีปลูกแซมพืชอื่นบางชนิดชอบขึ้นในสภาพที่มีความชุ่มชื้นสูง เช่น ส้มแขก พบว่าแหล่งปลูกจะอยู่ทางภาคใต้ตอนล่างที่มีความชื้นสูง  บางชนิดชอบสภาพอากาศร้อนชื้นเช่น พริกไทย กานพลู
     

ปริมาณน้ำฝน
           
น้ำเป็นจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช การปลูกพืชสมุนไพรบางชนิดต้องปลูกในที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ หรือมีแหล่งน้ำที่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง เช่น พริกไทย ตะไคร้ แต่มีพืชสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถทนทานและเจริญเติบโตได้ในช่วงฤดูแล้ง เช่น มะขามแขก มะขาม แพงพวย ขี้เหล็กคำฝอย และบางชนิดจะพักตัวในช่วงฤดูแล้ง เช่น บุก ขมิ้น
           

แสงแดด
           
แสงแดดเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์แสงและการสร้างสารสำคัญของพืชสมุนไพร  แต่ความต้องการแสงแดดของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ไม่เหมือนกัน บางชนิดชอบขึ้นในที่ร่มรำไร หรือปลูกแซมในพืชอื่น เช่น เร่ว กระวาน กวาวเครือ บางชนิดชอบขึ้นในที่โล่งแจ้งมีแดดจัด เช่น  ว่านหางจระเข้  อบเชย เป็นต้น
           

แหล่งน้ำ
                       
มีคุณสมบัติเหมาะสม  โดยทั่วไปควร มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH)เป็นกลาง ประมาณ 7 เป็นน้ำสะอาดไม่มีสารพิษปนเปื้อนหรือไหลผ่านแหล่งที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและโลหะหนัก  เช่นไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจปนเปื้อนไปกับผลผลิตทำให้คุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพรไม่ได้มาตรฐาน
  

2. ชนิด/พันธุ์พืช
     
เป็นชนิดพืชที่ถูกต้อง  การเลือกชนิดพืชสมุนไพรมาปลูกเป็นการค้าควรตรวจสอบชื่อและลักษณะของพืชนั้น ๆ ให้ถูกต้อง บางชนิดมีชื่อพ้องกัน อาจมีสรรพคุณต่างกัน เช่น เสลดพังพอน มี 2 ชนิด ได้แก่ เสลดพังพอนตัวเมีย (พญายอ) และเสลดพังพอนตัวผู้ หรือ หญ้าใต้ใบและลูกใต้ใบ เป็นคนละชนิดกัน หากเลือกผิดชนิด จะมีผลทำให้สรรพคุณของวัตถุดิบสมุนไพรไม่ถูกต้อง
  เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ โดยมีลักษณะของพันธุ์ ดังนี้           

- เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐานความต้องการของตลาด เช่น บุก ควรเป็นพันธุ์บุกเนื้อทราย จะมีคุณภาพดี หรือพริกไทยซึ่งปัจจุบันจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า ควรใช้พันธุ์ซาราวัดหรือพันธุ์ศรีลังกา เนื่องจากให้ผลผลิตสูง แต่โดยทั่วไปพบว่าข้อมูลการจำแนกพันธุ์พืชสมุนไพรมีค่อนข้างจำกัดทำให้เป็นปัญหาในการนำมาผลิตเป็นการค้าเช่นกัน ดังนั้นในเบื้องต้นหากไม่มีข้อมูลเรื่องพันธุ์พืช ควรเน้นเรื่องการเลือกชนิดพืชให้ถูกต้องก่อนจะนำมาปลูก
     

- เป็นพันธุ์ต้านทานหรือทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ในกรณีนี้ จะพบว่าการวิจัยในด้านปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อต้านทานโรคแมลงมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาการปลูกพืชสมุนไพรเป็นการค้า ในพื้นที่ใหญ่มีน้อยมาก ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบ ปัญหาเรื่องการระบาดของโรคแมลง ยกเว้นในพืชที่จัดเป็นพืชเศรษฐกิจแล้ว เช่น พริกไทย พริก ขิง และขมิ้นจะมีการระบาดของโรคแมลงมาก แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่มีพันธุ์ที่ต้านทานหรือทนทานต่อโรคแมลง
 

3. การปลูก
    
การเตรียมแปลงปลูก
           
ทำการไถพรวน เก็บซากพืชปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด เช่น ขมิ้น  ควรยกร่างขนาดกว้างประมาณ 50-60 ซม. สูงประมาณ 25 ซม. แต่สำหรับว่านหางจระเข้อาจยกร่างหรือไม่ยกร่องก็ได้แต่ต้องปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ
    

ระยะปลูก
            
ควรจัดให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดเพื่อให้มีการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด เช่น พริกไทย ใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ถ้าเป็นพันธุ์พุ่มใหญ่ระยะปลูกอาจเพิ่มเป็น 2.25x2.25 เมตรในขณะที่ขมิ้นใช้ระยะปลูก 30x30 ซม. หรือว่านหางจระเข้ใช้ระยะปลูก 30-50x80-100 ซม.
     การ

ตัดแต่ง
                 
ทำการตัดแต่งตามกำหนดเวลาอย่างถูกต้องและถูกวิธีของพืชแต่ละชนิด เช่น อบเชย ต้องตัดกิ่งแขนงบริเวณโคนต้นออกเพื่อให้ลำต้นตั้งตรงหรือพริกไทยต้องตัดเถาที่เกิน 3 เถา/ต้น ออกรวมทั้งตัดกิ่งที่ถูกทำลายด้วยโรคและแมลงทิ้ง
                                                               

การดูแลรักษา
    
1. การให้ปุ๋ย
           
ปุ๋ยเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโต การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ตลอดจนปรับปรุงบำรุงดิน โดยเฉพาะพืชสมุนไพรการใส่ปุ๋ยจะมีผลต่อปริมาณสารสำคัญและคุณภาพของสมุนไพรดังนั้นควรศึกษาข้อมูลการใส่ปุ๋ยของพืชแต่ละชนิดให้เหมาะสมเนื่องจากหากใส่ปุ๋ยที่เร่งการเจริญเติบโตเร็วเกินไปปริมาณการสร้างสารอาจน้อยลง จำเป็นต้องใส่ให้สัมพันธ์กันทั้งในด้านผลผลิตและคุณภาพ โดยทั่วไปปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชสมุนไพรควรเป็นปุ๋ยอินทรีย์ อย่างไรก็ตามหากมีการใส่ปุ๋ยชนิดอื่น ๆด้วยมีข้อควรคำนึง ดังนี้
         

1.1 การให้ปุ๋ยอินทรีย์
                 
1.  มีการจัดการการลดระดับของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคกับมนุษย์และสัตว์ เช่น ผ่านขบวนการหมักให้ย่อยสลายโดยสมบูรณ์
                 
2.  ปราศจากการปนเปื้อนของโลหะหนัก
         

1.2 การให้ปุ๋ยเคมี
                  
1. เมื่อใส่แล้วปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสมต่อพืชแต่ละชนิด
                 
2. เลือกชนิดของปุ๋ยและปริมาณให้ถูกต้อง ตามความต้องการของพืชแต่ละชนิด เช่น การให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป การเจริญเติบโตจะเร็ว แต่อาจมีผลทำให้ปริมาณสารสำคัญในพืชลดลง
                  
3. ให้ปุ๋ยในระยะที่พืชที่ต้องการในตำแหน่งที่พืชจะให้ประโยชน์ได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด
    

2. การให้น้ำ
           
1. เลือกใช้ระบบการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง คุ้มกับการลงทุน
           
2. วิธีการให้น้ำต้องเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด บางชนิดต้องการน้ำในปริมาณน้อยมาก เช่น กระชายดำ บางชนิดต้องมีการให้น้ำสม่ำเสมอ เช่น พริกไทย
           
3. ให้น้ำในปริมาณและกำหนดเวลาที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด    บางชนิดสามารถให้อาทิตย์ ละ 1 ครั้ง บางชนิดจำเป็นต้องให้ทุกวัน
    

3. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
           
การป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม การป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะต้องมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้
         

3.1 การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
 
จะใช้ต่อเมื่อไม่มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอื่นที่ได้ผลแล้ว และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น คือ เมื่อระดับประชากรของศัตรูพืชสูงถึงระดับเศรษฐกิจที่มีผลทำให้ผลผลิตเสียหายมาก  วิธีการเลือกสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวิธีปฏิบัติ ดังนี้
                 
1. ใช้สิ่งทดแทนสารเคมีที่ปลอดภัยกว่า เช่น สารสกัดจากสะเดา เชื้อจุลินทรีย์หรือไส้เดือนฝอย เป็นต้น แทนการใช้สารเคมีที่มีอันตรายสูง

2. เลือกใช้สารเคมีชนิดที่มีการขึ้นทะเบียนแล้ว มีฉลากระบุวิธีการใช้ และข้อระวังอย่างชัดเจน
                 

3. ปฏิบัติตามวิธีการใช้ (ทั้งก่อนพ่น ขณะพ่น และภายหลังการพ่น) และใช้เครื่องพ่นสารเคมีที่เหมาะสมกับชนิดพืช และสภาพของพืชที่จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
         

3.2  การป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีอื่นๆ 
 
ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยพยายามใช้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ใช้พันธุ์ต้านทาน ใช้วิธีทางชีวภาพ ใช้การเขตกรรม และใช้วิธีกล เป็นต้น
           

3.3 การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน 
ได้แก่ การผสมผสานการป้องกันศัตรูพืชวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับทางสังคมเช่น การใช่สารสกัดชีวภาพ สลับกับการใช้สารเคมี เป็นต้น

4.  วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
  
     
4.1 การเก็บเกี่ยว
           
1. เก็บเกี่ยวผลผลิตตามระยะเวลาที่เหมาะสม โดยวิธีที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด เนื่องจากการนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ ส่วนที่ต้องคำนึงถึงให้มากได้แก่ สารสำคัญในพืชซึ่งเป็นตัวกำหนดคุณภาพมาตรฐานของพืชสมุนไพร หากเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้อง จะทำให้ได้วัตถุดิบที่มีสารสำคัญน้อย มีคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐานหรือบางครั้งอาจมีสารพิษโดยมีหลักที่ควรคำนึงถึงดังนี้
                 
-  เก็บให้ถูกส่วนได้แก่ส่วนของราก  ลำต้น  ใบ  ดอก ผล เมล็ด  เช่น  ฟ้าทะลายโจรใช้ส่วนใบ,ขมิ้นใช้เหง้า , อบเชยใช้เปลือกหรือใบ , กานพูลส่วนใช้ดอก,  มะแว้งใช้ผล , คำฝอยใช้ส่วนของกลีบดอก , มะขามแขกใช้ส่วนของใบและฝักเป็นต้น
                 
-  เก็บให้ถูกช่วงเวลา  เช่น  เช้า  สาย  บ่าย  ก่อนดอกบาน  หลังดอกบาน  ฤดูฝน  ฤดูหนาว  ฤดูร้อน  เช่น  ฟ้าทะลายโจรควรเก็บเกี่ยวในช่วงก่อนดอกบาน  กานพูลเก็บเกี่ยวดอกอ่อนยังไม่บาน  ส่วนสมุนไพรที่ใช้ส่วนของรากหรือเหง้าต้องเก็บเกี่ยวเมื่อพืชหยุดการเจริญเติบโต  (พักตัว)  โดยควรเก็บช่วงฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน  เช่น  ขมิ้นและ  บุก  หากเป็นพืชที่ใช้ส่วนของดอกควรเก็บในช่วงเวลาเช้าเป็นต้น
                 
-  เก็บให้ถูกช่วงอายุ  เช่น  ขมิ้น  อายุเก็บเกี่ยวที่ให้สารสำคัญสูงต้องไม่น้อยกว่า  8  เดือน  มะขามแขกเก็บเกี่ยวเมื่อฝักมีอายุ  20 – 23  วัน  มะแว้งเก็บผลแก่จัดสีเขียวยังไม่สุกนอกจากนี้ในพืชสมุนไพรบางชนิดหากเก็บผิดช่วงอาจมีสารพิษได้  เช่น  เห็ดหลินจือ  เก็บในช่วงอายุน้อยจะมีสารพิษ
           

2. ภาชนะที่ใส่และเก็บเกี่ยวต้องสะอาดปราศจากเศษดิน ผงฝุ่น เชื้อโรค แมลง ฯลฯ
           
3. แยกผลผลิตที่ได้มาตรฐาน สะอาดปราศจากโรค แมลง และวัชพืช ออกจากผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และมีส่วนปนเปื้อน หากมีเศษพืช ดิน ฯลฯ ต้องเก็บออกให้หมดและถ้าเป็นรากหรือหัวใต้ดินต้องล้างน้ำให้สะอาดก่อนนำไปผ่านขบวนการทำแห้ง
           
4. ทำการตาก / อบ ผึ่ง หรือบ่มผลผลิตสมุนไพร ในสถานที่หรือภาชนะที่สะอาด ไม่ควรวางตากโดยตรงบนพื้นดินหรือพื้นซีเมนต์หรือตากใต้ราวสายไฟฟ้าที่เป็นที่เกาะของนกซึ่งอาจถ่ายสิ่งปฏิกูลลงในผลผลิตได้ หากอบควรอบในอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ใบควรอบที่อุณหภูมิไม่เกิน 40 co หากเป็นส่วนของต้นเปลือกหรือรากใช้อุณหภูมิไม่เกิน 60 co บางชนิดต้องผึ่งในร่มก่อนการตากแดด เช่น อบเชย นอกจากนี้สมุนไพรบางชนิดมีน้ำมันหอมระเหยเช่นใบกะเพราอุณหภูมิที่ใช้ไม่ควรเกิน 30 co เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำมันหอมระเหย
           
5. ต้องทำการตาก ผึ่ง/อบ ผลผลิตสมุนไพรให้แห้งสนิท  โดยทั่วไปจะให้มีความชื้นเหลือประมาณ 12-13 % เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในช่วงขณะเก็บรอการจำหน่าย
     

4.2 การเก็บรักษาผลผลิตและการบรรจุ
              
1. คัดแยกเพื่อบรรจุ ในโรงคัดหรือโรงเรือนที่สะอาดถูกสุขอนามัย
              
2. ผู้ปฏิบัติงานมีสุขอนามัยที่ดีมีความรู้และปฏิบัติที่ถูกต้อง
              
3. ภาชนะบรรจุเหมาะสม ไม่บรรจุแน่นจนเกินไป
              
4. ถ้าจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ ควรเก็บในที่อุณหภูมิต่ำ หรือในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
 สะอาด ปลอดภัยจากการรบกวนของแมลงและสัตว์ต่าง ๆ เนื่องจากวัตถุดิบสมุนไพร ส่วนใหญ่ต้องผ่านขบวนการทำให้แห้งและรอการนำไปจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งหากช่วงการเก็บรักษาไม่ดีอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ หรือมีสิ่งปฏิกูลจากแมลงปนเปื้อน ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของสมุนไพร แทนที่จะใช้รักษาโรคอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดอันตรายได้     

4.3  การขนส่ง
              
1. การขนส่งควรทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ผลผลิตช้ำหรือเสียหาย เช่น ว่าน หางจระเข้ หรือฝักมะขามแขกหากเกิดการกระแทกอาจทำให้เสียหายได้
              
2. อุณหภูมิระหว่างการขนส่งไม่ร้อนเกินไป หรือมีการซ้อนทับจนทำให้คุณภาพผลผลิตเสียหายได้
      
3. ขนส่งให้ถึงผู้บริโภคหรือโรงงานโดยเร็วที่สุด

5.  สุขลักษณะและความสะอาด
           
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต           
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลงหรือทำลายเสีย
                       
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี
- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

6.  การบันทึกข้อมูล
         
ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของพืชสมุนไพร ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะพืชสมุนไพรซึ่งส่วนสำคัญที่สุดในวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์  ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มี
คุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่           
1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
                         
2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ  ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน
                         
3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น  จะเห็นได้ว่าการผลิตพืชสมุนไพรให้ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานความต้องการของตลาด จำเป็นต้องทำการศึกษาหาข้อมูลก่อนการดำเนินงานให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนตัดสินใจทำการปลูก และในขณะทำการปลูกพืชนั้น ๆ จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ คู่มือเกษตรที่ดีเหมาะสม (GAP)เฉพาะพืชชนิดนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐาน โดยขณะนี้กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการดำเนินงานการจัดเตรียมระบบการติดตาม ตรวจสอบและประเมินวิธีการผลิตที่ถูกต้องเพื่อการรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรในอนาคต เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ                 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรยังไม่มีคู่มือ GAP สำหรับพืชสมุนไพรเกษตรกรที่สนใจจะปลูกพืชในกลุ่มนี้ อาจค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งความรู้/เอกสาร หรือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนลงมือปฎิบัติเพื่อจะได้ผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ




เอกสารอ้างอิง
1.  กนกวรรณ  วัฒนโยธิน. 2530. การปลูกพริกไทย.วารสารเกษตรก้าวหน้า.ปีที่ 2 ฉบับที่ 3.หน้า 12-21.
2.  กนกวรรณ  วัฒนโยธิน. 2543. สถานการณ์การผลิตพืชสมุนไพรและการเกษตรดีที่เหมาะสมของพืชสมุนไพร.เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่อง”ศักยภาพการผลิตและการตลาดพืชสมุนไพร.”สำนักงานพาณิชย์,  จังหวัดพิษณุโลก.  9  หน้า.
3.  กนกวรรณ  วัฒนโยธิน. 2545. อบเชย.  เอกสารแผ่นพับ.สถาบันวิจัยพืชสวน.กรมวิชาการเกษตร.6 หน้า.
4.  กรมวิชาการเกษตร. 2541. การผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม Good Agricultural Practice (GAP). กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร. 50 หน้า.
5.  กรมส่งเสริมการส่งออก. 2542. การส่งออกสมุนไพรไทย. ศูนย์ข้อมูลสนเทศการค้าระหว่างประเทศ. กรมส่งเสริมการส่งออก. หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจรายสัปดาห์. 7-13 พฤศจิกายน 2542.
6.  กองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร. 2533. ว่านหางจระเข้. เอกสารแผ่นพับ.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข. 6. หน้า
7.  ชัชวาล โห้สงวน. 2540. การผลิตและการตลาดพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ. กองวิจัย.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร. 162 หน้า.
8.  ดรุณ เพ็ชรพลาย และคณะ. 2541. สมุนไพรพื้นบ้าน. สถาบันวิจัยสมุนไพร.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  199 หน้า.   
9.  ทวีผล  เดชาติวงค์ ณ อยุธยา และ คณะ. 2542. มาตรฐานสมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจร. สถาบันวิจัยสมุนไพร.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.66 หน้า.
10. นันทวัน บุญยะประภัศร. 2535. การผลิตสมุนไพรให้ได้คุณภาพ. เอกสารโรเนียวประกอบการฝึกอบรมเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพของสมุนไพรและเครื่องเทศ”. 4 หน้า.
11. พนิดา  กาญจนภี.2535.แนวทางการพัฒนาคุณภาพสมุนไพร.เอกสารประกอบการอภิปรายเรื่อง ลักษณะความต้องการสมุนไพรและเครื่องเทศ.โครงการวิจัยและพัฒนา.องค์การเภสัชกรรม.                   6 หน้า
12. วนิดา จันทรเทพเทวัญ. 2542. มาตรฐานของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์. เอกสารโรเนียวประกอบการสัมมนาเรื่อง “สมุนไพรกับการแพทย์แผนไทยในภาคตะวันออก”. 14 หน้า.
13. เสาวภา พรสิริพงษ์ และวิชิต เปานิล. 2541. การพัฒนาการผลิตสมุนไพรเพื่อเป็นยาในประเทศไทยสถานภาพ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข. มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. สถาบันการแพทย์แผนไทย. 137 หน้า.
14. หรรษา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา และ อรนุช เกษประเสิรฐ. 2532. พืชสมุนไพร-พืชหอม.เอกสารวิชาการกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช. กรมวิชาการเกษตร. 109 หน้า.




หน้าก่อน หน้าก่อน (1/3) - หน้าถัดไป (3/3) หน้าถัดไป


Content ©