-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 202 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ข่าวแวดวงเกษตร33




หน้า: 1/11




ไฮโดรโพนิกส์ จากรายการวิทยาศาสตร์เพื่อประชาชน พิมพ์ ส่งเมล์
เขียนโดย ดา   
Imageวันนี้มีบทความ เรื่อง “ไฮโดรโพนิกส์ : การปลูกพืชไร้ดิน”  จากรายการวิทยาศาสตร์เพื่อประชาชน ของ สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินรายการโดยคุณภาคภูมิ  พระประเสริฐ มาให้อ่านกันค่ะ   สำหรับเพื่อนๆที่ไม่ได้ฟัง เป็นเรื่องที่ออกอากาศมานานแล้วพอควรค่ะ แต่ทว่าเนื้อหาทันสมัยมากค่ะ   และเพื่อนๆที่สนใจบทความทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ  สามารถติดตามอ่านได้เพิ่มเติมที่ http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/forum.asp?FORUM_ID=7 ค่ะ




ไฮโดรโพนิกส์ : การปลูกพืชไร้ดิน

 สวัสดีครับท่านผู้ฟัง หากท่านเคยเดินชมพืชผักผลไม้ตามซุปเปอร์มาเกตต่าง ๆ ท่านคงเคยเห็นผักแปลก ๆ ที่ตามตลาดปกติไม่มี เช่น เรดโอค กรีนโอค บัตเตอร์เฮด เป็นต้น ผักนี้บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี สะอาด น่ารับประทาน ผักสดเหล่านี้มักปลูกโดยวิธีไฮโดรโพนิกส์ หรือการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน ซึ่งมักปลูกกันในระบบที่เป็นรางยาว ๆ และให้สารละลายธาตุอาหารบริเวณต้นราง แล้วให้ไหลผ่านรากพืชไปจนท้ายราง


           ในการปลูกพืชโดยวิธีปกติ คือ การปลูกพืชในดิน พืชที่ปลูกได้รับธาตุอาหารต่าง ๆ จากดิน โดยที่ธาตุอาหารในดินละลายอยู่ในน้ำภายในดิน รากพืชดูดน้ำในดินนี้ไปใช้พร้อมกับได้รับธาตุอาหารเหล่านี้ไปด้วย ธาตุอาหารและน้ำจะถูกลำเลียงเข้าสู่ท่อลำเลียงน้ำเพื่อส่งไปยังส่วนต่าง ๆ เพื่อใช้ในกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้งกระบวนการสร้างอาหารของพืชด้วย อาหารที่ได้พืชก็จะนำไปใช้ในกระบวนการเจริญเติบโตต่อไป ดังนั้นถ้าพืชได้รับน้ำและธาตุอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์พืชก็จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ นอกจากพืชจะได้รับธาตุอาหารจากดินแล้ว พืชยังใช้ดินเป็นที่ให้รากยึดเกาะเพื่อที่สามารถพยุงลำต้นให้ชูรับแสงสว่างได้ด้วย หากเรานำพืชมาปลูกในระบบการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน ก็จำเป็นต้องให้ธาตุอาหารที่พืชต้องการ เพื่อทดแทนธาตุอาหารที่พืชได้รับจากดิน และการไม่ใช้ดินทำให้พืชไม่สามารถยึดเกาะเพื่อชูลำต้นอยู่ได้ จึงต้องมีการหาวัสดุอื่นเพื่อให้พืชยึดเกาะแทน


        วัสดุที่นิยมใช้สำหรับให้พืชยึดเกาะ ได้แก่ กรวด ทราย โฟม เม็ดพลาสติก ขุยมะพร้าว เวอร์มิคูไลท์ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็ก ๆ มีรูพรุนมากสามารถอุ้มน้ำและอากาศได้ดี มีน้ำหนักเบา หรืออาจใช้เพอร์ไลท์ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่มีความเป็นกรดมากกว่า จึงเหมาะสำหรับพืชที่ชอบเจริญในที่มีความเป็นกรดเบสต่ำ หรือวัสดุอื่น ๆ ตามแต่จะประยุกต์ใช้ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ส่วนธาตุอาหารก็ได้จากการนำสารเคมีหรือปุ๋ยมาผสมกัน ให้มีธาตุอาหารที่พืชต้องการอยู่อย่างครบถ้วน ซึ่งธาตุอาหารที่พืชต้องการมีอยู่ด้วยกัน 17 ธาตุ หากขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง พืชจะไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นปกติได้ ธาตุเหล่านั้นได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ซึ่ง 3 ธาตุนี้ปกติพืชได้รับจากอากาศและน้ำอยู่แล้ว ดังนั้นในสารละลายธาตุอาหารจึงไม่จำเป็นต้องหาสารเคมีที่มีธาตุทั้งสามนี้มาใส่ ธาตุที่จำเป็นชนิดอื่น ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียมและกำมะถัน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการเป็นปริมาณมาก ส่วนทองแดง โมลิบดินัม คลอรีน เหล็ก แมงกานีส สังกะสีและโบรอน เป็นธาตุที่พืชต้องการเป็นปริมาณน้อย แต่ถึงกระนั้นก็เป็นธาตุที่พืชขาดไม่ได้


        ในการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน การที่พืชดูดสารละลายธาตุอาหารไปใช้ได้ รากพืชต้องแช่หรือสัมผัสกับสารละลาย ซึ่งถ้ารากแช่อยู่ในสารละลายเป็นเวลานาน จะทำให้รากขาดออกซิเจน มีผลทำให้รากเน่า ทั้งนี้ต้องมีการแก้ปัญหาเพื่อให้รากได้รับทั้งธาตุอาหารและออกซิเจน วิธีการแก้ปัญหามีหลายวิธี เช่น ใช้ปั๊มอากาศแบบที่ใช้กับตู้ปลาปั๊มอากาศลงไปในสารละลายธาตุอาหาร หรืออาจใช้วิธีการฉีดพ่นสารละลายธาตุอาหารออกมาเป็นฝอย เพื่อให้ออกซิเจนสามารถละลายได้มากขึ้น ซึ่งการฉีดพ่นนี้อาจฉีดพ่นโดยตรงไปที่รากหรือฉีดพ่นไปบริเวณส่วนต้นของรางปลูก แล้วให้สารละลายไหลไปสัมผัสกับรากภายหลังก็ได้ หรืออาจใช้วิธีการปล่อยสารละลายธาตุอาหารไปที่ส่วนต้นของรางโดยที่ไม่ต้องฉีดพ่นเป็นฝอยก็ได้ แต่เวลาปล่อยสารละลายให้ไหลไปตามรางให้ปล่อยสารละลายเพียงบาง ๆ เพื่อให้ส่วนหนึ่งของรากสัมผัสกับสารละลายธาตุอาหารและอีกส่วนหนึ่งสัมผัสกับอากาศได้ อย่างไรก็ตามถ้าพืชที่ปลูกเป็นพืชที่เจริญได้ดีในน้ำอยู่แล้ว เช่น ผักบุ้ง ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องออกซิเจนก็ได้


        การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินนี้มีข้อดีอยู่หลายประการด้วยกัน คือ เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ที่จำกัด เนื่องจากการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินนี้สามารถปลูกพืชได้ชิดกันมากกว่าปลูกพืชลงดิน เพราะมีการให้ธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ดังนั้นพืชจะไม่มีการแย่งอาหารกันเกิดขึ้น จึงทำให้สามารถปลูกได้หนาแน่นมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชลงดิน สามารถทำได้ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร เช่น ดินเป็นกรด หรือด่างมากเกินไปหรือดินเค็มจนปลูกพืชไม่ได้ พืชที่ปลูกในระบบการปลูกแบบไร้ดินนี้โตเร็วกว่าพืชที่ปลูกในดิน ดังนั้นในปีหนึ่ง ๆ จึงสามารถปลูกพืชได้มากครั้งกว่า เนื่องจากพืชได้รับธาตุอาหารอย่างสมบูรณ์ก็จะมีลำต้นและใบที่สวยงามจึงขายได้ราคาดีกว่าและการที่พืชโตได้อย่างรวดเร็วจนกระทั่งโรคและแมลงโตไม่ทันจึงทำให้ปัญหาเรื่องโรคและแมลงมีน้อย ทำให้มีการใช้ยาฆ่าแมลงน้อยหรือไม่ต้องใช้ ผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค การปลูกพืชโดยวิธีนี้ประหยัดน้ำและปุ๋ยมากกว่าการปลูกพืชในดิน เพราะพืชสามารถใช้น้ำและธาตุอาหารที่ไหลไปตามรางได้อย่างเต็มที่และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่เมื่อเรารดน้ำและใส่ปุ๋ยลงดิน น้ำและปุ๋ยส่วนหนึ่งเท่านั้นที่พืชนำไปใช้ได้ บางส่วนซึมลงดินไปเกินที่ระบบรากจะดูดมาใช้ได้ จึงทำให้สิ้นเปลืองน้ำและปุ๋ย รวมทั้งปุ๋ยที่ซึมลงดินไปเมื่อฝนตกก็จะชะลงสู่แม่น้ำทำให้เกิดน้ำเน่าเสียได้


        ท่านผู้ฟังครับ ไม่มีสิ่งใดบนโลกนี้ดีเพียบพร้อมไปเสียหมด เช่นเดียวกัน การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินนี้ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน คือ ถ้ามองในด้านการลงทุน วิธีการปลูกพืชแบบนี้ต้องมีการลงทุนสูง ทั้งในเรื่องของระบบโรงเรือน ระบบราง และวัสดุปลูก แต่การลงทุนก็เป็นเพียงการลงทุนในช่วงแรกๆ เท่านั้น เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และเมื่อมีการลงทุนที่สูง ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกพืชในระบบนี้จึงเลือกพืชที่มีราคาแพง ดังตัวอย่างที่ผมได้ยกไปตอนต้นแล้ว และต้องมีการหาตลาดรองรับด้วย นอกจากนี้ผู้ปลูกควรมีความรู้เรื่องระบบและเทคนิคการปลูกพืชด้วยวิธีนี้ดีพอควร จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาที่เป็นข้อเสียเหล่านี้ได้ การปลูกพืชแบบนี้ก็นับว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะตลาดมีความต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนมีความกังวลเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืชที่อาจค้างอยู่ในพืชผักและเป็นยุคที่ผู้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นครับ





ความเข้าใจเกี่ยวกับ ไฮโดรโพนิกส์ พิมพ์ ส่งเมล์
เขียนโดย Fah   
redCoralความรู้ ความเข้าใจง่ายๆ ที่เกี่ยวกับ พืชที่ปลูกในระบบ " ไฮโดรโพนิกส์ " ที่ท่าน ดร.กระบวน  วัฒนปรีชานนท์  ซึ่งถือได้ว่า เป็นไม้ยืนต้นของวงการ ไฮโดรโพนิกส์  ได้กรุณาอธิบายไว้อย่างกระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย  ทั้งในเรื่อง ความหมาย  ความเป็นมา  ตลอดจน ปัจจัยต่างๆที่มีผลกับการเติบโตของพืช โดยเปรียบเทียบกับการปลูกในดินเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจค่ะ

ไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน

ในภาษาไทยมีการเขียน การสะกดคำเป็นที่รู้จักกันเป็นหลายแบบ เช่น ไฮโดรโพนิกส์, ไฮโดรพอนิกส์,
ไฮโดรโพนิค, การปลูกพืชไม่ใช้ดิน, การปลูกพืชโดยปราศจากดิน, การปลูกพืชไร้ดิน, การปลูกพืชในน้ำยา, การปลูกพืชไม่ง้อดิน, การปลูกพืชในสารละลาย, การปลูกพืชในน้ำยาเคมี, การปลูกพืชในน้ำ, การปลูกผักลอยฟ้า, การปลูกผักอวกาศ เป็นต้น ซึ่ง แปลมาจากภาษาอังกฤษที่ใช้กันทั่วไปอยู่สองคำคือ Hydroponics และ Soilless Culture สำหรับผู้เขียนแล้วได้เลือกใช้คำว่า "ไฮโดรโปนิกส์" ตลอดมาและจะยังคงใช้ตลอดไป

ไฮโดรโปนิกส์

เป็นวิธีการปลูกพืชอย่างหนึ่งซึ่งในการปลูกไม่ต้องใช้ดิน ? เอ้า !แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจะใช้อะไรปลูกล่ะ เป็นคำถามที่ชวนติดตามยิ่งนัก การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินนี้สามารถแบ่งได้เป็นสองวิธีหลักคือ
การปลูกพืชในน้ำที่มีแร่ธาตุที่พืชต้องการละลายอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และการปลูกพืชบนวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ดิน ซึ่งวัสดุอื่นนี้อาจจะเป็นสารอนินทรีย์ เช่น กรวด ทราย หิน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์เป็นผู้ทำขึ้นมาตามความต้องการ เช่น เพอร์ไลท์ เวอร์มิคิวไล์ ร็อกวูล โฟม เป็นต้น หรือวัสดุที่เป็นสารอินทรีย์ซึ่งมักจะเป็นวัสดุเหลือใช้ที่ต้องการกำจัดทิ้งแต่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น แกลบสด ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว เปลือกไม้ ขี้เลื่อย ส่วนของพืชเช่น พีช มอส

Imageวิธีการปลูกพืชแบบนี้ทำได้อย่างไร ?

ทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับว่าเราจะปลูกพืชชนิดใดปลูกทำไมหรือปลูกเพื่ออะไร จากนั้นจึงเลือกวิธีปลูกและจัดเตรียมอุปกรณ์ ในทางทฤษฎีแล้ว วิธีนี้สามารถใช้ปลูกพืชได้ทุกชนิดเนื่องจากวิธีปลูกพืชแบบนี้เป็นการปลูกพืชโดยเลียนแบบการปลูกพืชบนดินตามธรรมชาติ เพียงแต่วิธีนี้ผู้ปลูกจะต้องจัดหาแร่ธาตุที่พืชต้องการใช้ในการเจริญเติบโตให้แก่พืชซึ่งปกติแล้วพืชจะได้แร่ธาตุเหล่านี้มาจากดินที่ใช้ปลูกหรือบางครั้งก็ได้มาจากปุ๋ยที่ผู้ปลูกเติม หรือใส่ลงไปในดินเมื่อต้องการปลูกพืชหลายๆ ครั้งในพื้นที่เดิม ซึ่งถ้าปลูกพืชซ้ำที่บ่อยๆแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินก็จะค่อยๆ หมดไปเนื่องจากพืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโต โดยเฉพาะแร่ธาตุที่พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในการปลูกพืชไม่ใช้ดินจึงต้องจัดหาปัจจัยต่างๆ ที่ดินทำหน้าที่ให้แก่พืชโดยตรงคือ เป็นแหล่งแร่ธาตุ นอกจากนั้นดินที่ดีที่เหมาะสมจะนำมาใช้ปลูกพืชได้ยังต้องมีช่องว่างอากาศ มีปริมาณน้ำในดินที่เหมาะสมด้วยจึงจะใช้ปลูกได้ดี โดยทั่วไปในดินหนึ่งร้อยส่วนควรมีส่วนประกอบต่างๆ คิดเป็นร้อยละได้ดังนี้

แร่ธาตุหรือสารอนินทรีย์ 45%
ช่องว่างอากาศในดิน 25%
ปริมาณน้ำ 25%
สารอินทรีย์ 5%

นอกจากนี้ดินยังมีส่วนค้ำจุนไม่ให้พืชหักหรือโค่นล้มได้ง่าย ดังนั้นในการปลูกพืชจึงต้องจัดหาอุปกรณ์เพื่อค้ำจุนต้นพืชอีกด้วย การที่จะเลือกปลูกพืชชนิดใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะปลูกไว้เพื่อใช้บริโภคเองในครัวเรือนเป็นพืชผักสวนครัวหรือปลูกเป็นการค้าในเชิงธุรกิจก็ย่อมทำได้ 

วิธีการปลูกพืชแบบนี้ไปใช้ประโยชน์กับใครได้บ้าง ?
อาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่มดังนี้
1. นำวิธีการปลูกพืชนี้ไปใช้ปลูกพืชเพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืช เช่น ศึกษาดูภาวะขาดแร่ธาตุในต้นพืชว่าจะมีลักษณะอาการผิดปกติไปอย่างไรถ้าพืชไม่ได้รับแร่ธาตุบางชนิด เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อต้องการศึกษาเกี่ยวกับส่วนของรากพืชก็จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าการปลูกในดิน การปลูกพืชในยานอวกาศก็สามารถทำได้ ผู้ใช้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ซึ่งจะใช้วิธีนี้ปลูกพืชเพื่อการทดลองต่างๆ ตามความสนใจ
2. นำวิธีการปลูกพืชนี้ไปใช้ปลูกพืชเพื่อเป็นงานอดิเรก เช่น ปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพรไว้ใช้ในครัวเรือน ผู้ปลูกกลุ่มนี้ก็จะมีความหลากหลายตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุที่มีความสนใจในการปลูกต้นไม้แต่ไม่มีพื้นดินที่เหมาะสมในการปลูกพืช คนกลุ่มนี้มักจะมีใจรักต้นไม้อยากอยู่ใกล้ต้นไม้ บางครั้งใช้ปลูกเป็นไม้ประดับไว้ดูเล่นในบ้าน เช่น ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องน้ำ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
3. นำวิธีการปลูกพืชนี้ไปใช้ปลูกพืชเพื่อเป็นการค้า มีการลงทุนทำธรกิจปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากมีความสม่ำเสมอ มีคุณภาพดี สามารถวางแผนควบคุมปริมาณการผลิต กำหนดหรือต่อรองราคาได้มากขึ้น คนกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้สนใจปลูกพืชเป็นอาชีพ ซึ่งอาจจะปลูกพืชเพื่อขายผลผลิตอย่างเดียว
หรือเป็นผู้จัดหาวัสดุหรือจัดทำและจำทำและจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกพืชด้วยก็ได้ เป็นธุรกิจที่ครบวงจร หรือจัดทำเป็นจัดทำเป็นร้านขายอาหารหรือภัตตาคาร โดยปลูกพืชแบบนี้ไว้ให้ลูกค้าได้เข้ามาชมมาศึกษาและสามารถเก็บพืชผักที่ปลูกด้วยวิธีนี้มาทำเป็นอาหารทดลองชิมให้รู้รสชาดได้อีกด้วย


Imageจะเริ่มต้นอย่างไรดี ถ้าอยากจะปลูกพืชแบบนี้ ?
ก่อนอื่นก็ต้องหาความรู้ก่อนโดยการหาหนังสือหรือตำรามาอ่านยิ่งปัจจุบันมีเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถหาความรู้ได้จากอินเตอร์สามารถหาความรู้ได้จากอินเตอร์เนตได้อย่างกว้างขวางไปทั่วโลกไม่ว่าใครเขาจะทำอะไรกันที่ไหน อย่างไร ก็จะค้นหาได้ ในุยุคข่าวสารหรือโลกไร้ พรมแดนอย่างที่ทราบกัน ดังนั้นสำหรับผู้ใฝ่หาความรู้แล้วหาได้ไม่ยากเลยไม่เหมือนสมัยก่อน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่เมื่อเรารู้แล้ว เราลงมือปฎิบัติด้วยตนเองหรือยัง "แท้จริงความรู้ใดๆที่เราคิดว่าเรารู้แล้วนั้นจะไม่เกิดประโยชน์หรือทำให้เราเป็นผู้รู้จริงในศาสตร์นั้นๆได้เลย ถ้าหากเรายังไม่ได้ปฎิบัติหรือทดลองทำด้วยตัวเราเอง" การได้ทดลองเองก็ย่อมทำให้เกิดความชำนาญมากขึ้นตามลำดับและจะยิ่งค้นพบความจริงมากขึ้นว่าจากที่เราได้อ่าน ได้ฟังมานั้นมันถูกต้อง ดีจริงอย่างนั้นหรือเปล่า เมื่อมีความรู้บ้างแล้วก็จัดหาอุปกรณ์ซึ่งอาจจะจัดทำขึ้นเองหรือซื้อหามาก็ได้แล้วแต่สะดวกต่อจากนั้นก็เลือกระบบการปลูกให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่จะปลูกอย่างเช่น ผักสวนครัว พืชสมุนไพร มักจะใช้ปลูกบนวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น วัสดุปลูกควรอุ้มน้ำได้ดี ในขณะเดียวกันก็ต้องให้น้ำที่รดลงไปไหลออกจากวัสดุปลูกได้ดีทำให้มีช่องว่างอากาศเพิ่มขึ้น วัสดุที่ใช้ต้องไม่มีสารพิษเจือปน ควรมีสภาพเป็นกลาง ไม่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป ระบบการปลูกที่นิยมใช้ปลูกพืชเป็นการค้าในปัจจุบันโดยเฉพาะพืชพวกสลัดที่ใช้รับประทานสดรวมทั้งมะเขือเทศและแตงกวาก็คือ เอ็นเอฟที (NFT) ย่อมาจาก Nutrient Film Technique ซึ่งเป็นระบบที่คิดค้นดัดแปลงขึ้นมาในราว ค.ศ.1970 โดยชาวอังกฤษชื่อ Dr. Allen Cooper และได้มีการใช้ระบบนี้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และก็ได้เข้ามาแพร่หลายในเมืองไทยด้วยเช่นกัน

การปลูกพืชบนดินและการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์แตกต่างกันอย่างไร?
แสดงแหล่งที่มาของแร่ธาตุเมื่อปลูกพืชบนดินและปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ ถ้าดูจากแผนภูมิจะพบว่า พืชไม่ว่าจะปลูกบนดินหรือไม่ต่างก็ได้รับแร่ธาตุซึ่งต้องอยู่ในรูปของสารละลายเท่านั้น เพียงแต่จะเป็นสารละลายที่ได้จากแร่ธาตุที่อยู่ในดินละลายน้ำหรือแร่ธาตุที่ละลายในน้ำโดยผู้ปลูกเตรียมขึ้นมาเองจากสารประกอบอนินทรีย์ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุที่ให้แก่พืชเมื่อปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ ส่วนปัจจัยอื่น เช่น แสง น้ำ อากาศ รวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงและก๊าซออกซิเจนที่ใช้ในกระบวนการหายใจ  พืชจะต้องได้รับเช่นเดียวกันไม่ว่าจะปลูกด้วยวิธีใด ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชก็เหมือนกันแต่ถ้าปลูกในน้ำที่มีแร่ธาตุละลายอยู่ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชที่อาศัยอยู่ในดินก็จะหมดไป ส่วนโรคและแมลงที่อาศัยอยู่ในอากาศก็ยังคงจะสามารถเข้าทำลายหรือทำความเสียหายให้แก่พืชที่ปลูกได้ นอกจากว่าเราจะต้องลงทุนกางมุ้ง หรือใช้ตาข่ายไนล่อนคลุมต้นพืชเอาไว้ก็จะลดการทำลายของโรคและแมลงลงไปได้บ้าง แต่ก็ต้องระวังเรื่องอุณหภูมิและปริมาณความชื้นภายในมุ้ง
ซึ่งอาจจะสูงเกินไปทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา โดยเฉพาะในฤดูฝนความชื้นมากเกินไปทำให้เกิดเชื้อราได้การปลูกพืชด้วยวิธีนี้ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของน้ำที่นำมาใช้ปลูกด้วย ควรเป็นน้ำที่สะอาดไม่มีสารพิษเจือปน

butterhead
การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อไรใครทราบบ้าง?
ด้วยความคิดที่ว่าประเทศไทยยังมีที่ดินอุดมสมบูรณ์อยู่เยอะกับความรู้ที่เคยได้รับรู้มาว่าการปลูกพืชแบบนี้มีต้นทุนสูง จึงไม่ค่อยมีการปลูกพืชแบบนี้เป็นการค้าให้เห็นกันในช่วงก่อนปี พ.ศ.2530 จนกระทั่งมีฟาร์มนาดีตะ อยู่ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาครได้ปลูกพืชด้วยวิธีนี้ขึ้นมาจึงได้ฮือฮากันอยู่พักหนึ่ง และในเวลาเดียวกันนั้น โครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อผลการวิจัยต่าง ๆ ในโครงการได้รับการเผยแพร่ออกไปในปีต่อ ๆ มา จึงมีผู้สนใจมากขึ้นเป็นลำดับและในราวปี พ.ศ.2540 นี่เองนับเป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์กันอย่างมากมายอีกครั้งหนึ่ง มีสาเหตุเนื่องมาจากการรายงานข่าวออกอากาศโดยผ่านสื่อโทรทัศน์ในรายการต่าง ๆ ทั้งผลงานของภาคราชการและเอกชน กอร์ปกับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มตกต่ำไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย นักธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งผู้ตกงานหรือว่างงาน จึงเริ่มหาอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริมเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีความมั่นใจในเทคนิคและวิธีการปลูกพืชแบบนี้มากขึ้น ในระยะนี้จึงมีผู้ประกอบการต่างหันมาศึกษาวิธีการปลูกพืชและลงทุนทำธุรกิจการปลูกพืชกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดูจากรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รวบรวมมาข้างท้ายนี้ ปัจจุบันเราสามารถหาซื้อพืชที่ปลูกด้วยวิธีนี้วางขายในซุปเปอร์มาเก็ต ตามร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม และก็มีผู้เริ่มคิดที่จะผลิตเพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศกันบ้างแล้ว หรืออย่างน้อยก็ช่วยกันลดการนำเข้าพืชผักจากต่างประเทศบ้างก็ยังดี ต่อไปคนไทยก็จะได้บริโภคพืชผักเหล่านี้ในราคาถูกลงเมื่อมีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น ในด้านวิชาการ นักวิจัย ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักเรียนที่สนใจทางด้านนี้ก็กำลังคิดค้นและศึกษาวิจัยกันต่อไปตามความถนัดของแต่ละคน

ที่มา : เอกสาร โดย  ดร.กระบวน วัฒนปรีชานนท์




บีลีฟ ผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษเมืองกรุง
กมลเทพ เอกมโนชัย...ภูมิใจเสนอ


ไปจากพระราม 9 ข้ามถนนศรีนครินทร์นิดเดียว จะมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าคู่ขนาน ใช้ถนนคู่ขนาน ประมาณ 5 กิโลเมตร ซ้ายมือมีหมู่บ้าน "เนอวานา" เลยหมู่บ้านไม่กี่มากน้อย มีทางโค้งบังคับให้เลี้ยวซ้าย จะผ่านหมู่บ้านมัณฑนา

เมื่อผ่านหมู่บ้านมัณฑนา ราว 1 กิโลเมตร ข้างทางซ้ายมือจะเป็นซอยเลขคู่ คือ 16, 18

เลยซอย 18 จะพบซอยไม่มีชื่อ ตรงหัวมุมมีรั้วก่อกำแพง มีซาแรน เจ้าของทำขึ้นเพื่อทำร่มเงาให้กับพืชพรรณที่ปลูก เมื่อเลี้ยวเข้าไป จึงเห็นผักไร้ดินหรือผักไฮโดรโปนิกส์

เจ้าของคือ คุณกมลเทพ หรือ บอย เอกมโนชัย อาณาบริเวณทั้งหมดมีราว 1 ไร่ นอกจากผลิตผักแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นที่อยู่อาศัย ที่สร้างขึ้นใหม่ เจ้าของบอกว่า แถบนั้นคือแขวงและเขตสะพานสูง กรุงเทพฯ อยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิไม่เกิน 10 กิโลเมตร

จบปริญญาโท แต่สนใจปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์
คุณบอย เล่าว่า ตนเองเรียนจบปริญญาตรีทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จากนั้นทำงานอยู่ราว 1 ปี ต่อมาจึงไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ทางด้านบริหารธุรกิจ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"จบจากจุฬาฯ ทำงานอยู่ปีกว่า ไม่มีความสุขกับการทำงานบริษัท อาศัยว่าทางบ้านมีเงินทุนสนับสนุน ลองนั่งคิดว่าตนเองมีศักยภาพอะไรบ้าง ส่วนตัวอยากทำธุรกิจของกินของใช้ อยากทำในสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ สุดท้าย ก็เกี่ยวกับอาหาร เป็นผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ เราทำเองรับประทานได้ ให้ครอบครัวรับประทานได้ ให้ลูกค้าเรามีสุขภาพที่ดีด้วย เป้าหมายสูงสุดอยู่ที่...สินค้าคุณภาพดี ปลอดภัย สะอาด"

คุณบอยเล่า และบอกต่ออีกว่า
"สมัยที่เรียนอยู่ วิชาที่เรียนใกล้เคียงมากคือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในห้องทดลอง เราเห็นว่าพืชขึ้นได้ทุกสภาวะ ถ้าเข้าใจหลักการ อาหารที่เขาต้องการคืออะไร อย่างอื่นที่ช่วยมี อุณหภูมิ แสงแดด เราควบคุมได้ ปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ หากมีแสงแดด สามารถบริหารพื้นที่ให้มีผลผลิตต่อเนื่องได้ ก่อนที่จะมาทำ ใช้เวลาตัดสินใจ 6 เดือน บริษัทที่ทำเกี่ยวกับการส่งออก ช่วงนั้นไม่แน่นอน มีเพื่อนที่เรียนระดับปริญญาตรีด้วยกัน บอกว่า มีการเปิดสอนการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินหรือไฮโดรโปนิกส์ จึงไปเรียนราว 1 อาทิตย์ เรียนไม่ยาก ช่วงที่เรียนปริญญาตรี ไม่เกี่ยวกับเกษตรเลย ปลูกต้นไม้ไม่เป็น ตอนนี้มาให้ปลูกไม้กระถางอาจจะตายก็ได้ เริ่มปลูกผักเดือนมกราคม 2553 พื้นที่ตรงนี้ 1 ไร่ ส่วนหนึ่งสร้างที่พัก ใช้ปลูกผักราว 100 ตารางวา คือ 1 ใน 4 ไร่ ต่อไปจะขยายให้ได้ครึ่งไร่...ที่ตรงนี้เช่าจากญาติ"

ศึกษาการตลาด ควบคู่ไปกับการผลิต
คุณบอย บอกว่า ตนเองศึกษาพื้นที่ ดูว่าได้ผลผลิตเท่าไหร่ จากนั้นคำนวณย้อนไป ถ้าตั้งราคาขายจะได้เท่าไร เมื่อเห็นตัวเลขที่น่าพอใจ จึงลงมือทำ

ตัวอย่างผู้ที่ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ ประสบความสำเร็จมีอยู่ไม่น้อย บางส่วนทำร้านอาหารควบคู่กันไปด้วย โดยนำผลผลิตมาแปรรูปให้ลูกค้ารับประทาน ผู้ผลิตบางรายแรกเริ่มขายส่งผัก 70 เปอร์เซ็นต์ ขายปลีก 30 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 3 ปี เขาสามารถขายปลีกได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ข้อดีของการขายปลีก ไม่ต้องผ่านผู้ค้าคนกลาง ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายมาก
"ที่ตรงนี้เหมาะสม ลมผ่านตลอด แดดไม่ต้องการมาก เพราะเป็นผักเมืองหนาว ระบบน้ำ ใช้น้ำประปา ไม่มีปัญหา เพราะน้ำประปามีความคงที่ หากเป็นผู้ผลิตตามหัวเมือง ถ้าใช้น้ำบาดาล อาจจะต้องปรับกันไม่น้อย เงินลงทุน หากไม่รวมที่พัก เฉพาะโต๊ะปลูก ราคาโต๊ะละ 30,000 บาทเศษ ทุกวันนี้มีอยู่ 6 โต๊ะ เราจะวางแผนตัดผักให้มีจำหน่ายสัปดาห์ละ 2 โต๊ะ มีผักสลัด 6 สายพันธุ์ ด้วยกัน" คุณบอย อธิบาย

ผลิตผลของคุณบอย เมื่อออกสู่ตลาด ใช้แบรนด์เนมว่า "บีลีฟ" (Bee Leaf)

ผลิตอย่างไร
คุณบอย บอกว่า ปัจจุบัน ตนเองเน้นผลิตผักสลัด เพราะได้รับคำแนะนำว่า ผู้ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ยุคเริ่มต้น ผักสลัดปลูกง่ายที่สุด

ส่วนสายพันธุ์ผักสลัดประกอบด้วยคอส, กรีนโอ๊ค, บัตเตอร์เฮด, เรดบัตตาเวีย, เรดโอ๊ค และฟิลเลย์

ส่วนใหญ่แล้วเป็นผักสีเขียว มีเพียงเรดบัตตาเวียและเรดโอ๊ค ที่มีสีแดง

แนวทางการผลิตนั้น คุณบอยจะซื้ออุปกรณ์จากบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ทางด้านนี้มาประกอบ บางส่วนซื้อมาเพิ่มเติม อย่างปั๊มน้ำ

ขั้นตอนการผลิต เจ้าของซื้อเมล็ดพันธุ์ผักสลัดมาเพาะ ในราคาเมล็ดละ 50 สตางค์ เจ้าของเพาะในถ้วยเพาะ วัสดุประกอบด้วยเพอไลท์และเวอมิคูไลท์ วัสดุเหล่านี้โปร่ง แต่ดูดซับความชื้นได้ดี ใช้เวลา 3 วัน จึงย้ายได้ ซึ่งระยะเวลาการดูแลรักษา มี 3 ระยะ ด้วยกันคือ

หนึ่ง...ชั้นอนุบาล 1 ใช้เวลา 2 สัปดาห์
สอง...ชั้นอนุบาล 2 ใช้เวลา 1 สัปดาห์
สาม...โต๊ะปลูกปกติ ใช้เวลา 3 สัปดาห์

เหตุที่ต้องแบ่งระยะ เพราะเขามีการให้สูตรอาหารที่แตกต่างกัน รวมเวลาตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ใช้เวลา 42 วัน เนื่องจากเป็นการปลูกพืชไม่ใช้ดิน เขาจึงให้อาหารพืชทางน้ำ โดยที่เจ้าของไปซื้อปุ๋ยผงมาละลายน้ำเอง

อาหารของผัก ผู้ปลูกเรียกว่าสารละลาย โดยมีสารละลายที่ 1-3
สารละลายที่ 1 คือแคลเซียมไนเตรต จำนวน 1 กิโลกรัม ละลายน้ำ 10 ลิตร
สารละลายที่ 2 เหล็กเวสโก้ ดีพี จำนวน 20 กรัม ละลายน้ำ 10 ลิตร
สารละลายที่ 3 ประกอบด้วย โพแทสเซียมไนเตรต 600 กรัม แมกนีเซียมซัลเฟต 500 กรัม โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต 265 กรัม และเวสโก้ เทรซเสปรย์ เบอร์ 1 จำนวน 60 กรัม ละลายน้ำ 10 ลิตร

คุณบอย บอกว่า ให้นำ 3 สารละลายเทลงในถัง ทีละสารละลาย
เหตุที่ไม่ชั่งสารทั้งหมดแล้วเติมน้ำ 30 ลิตร ซึ่งจะง่ายกว่านั้น คุณบอย บอกว่า หากเทพร้อมกัน สารมีโอกาสตกตะกอนมาก

ทีนี้ มาดูการควบคุมความเข้มข้นของสารละลาย ว่าแตกต่างกันอย่างไร
ระดับอนุบาล 1 ความเข้มข้น อยู่ที่ 1.6 มีอีซีมิเตอร์เป็นตัววัด
ระดับอนุบาล 2 ความเข้มข้น อยู่ที่ 1.4

ส่วนผักที่ปลูกบนโต๊ะ สัปดาห์ที่ 4-6 ความเข้มข้น อยู่ในระดับ 1.2, 1.0, 0.8 ตามลำดับ
ขณะที่ไปพูดคุยกับคุณบอย จะเห็นผู้ดูแลผัก ใช้เครื่องวัดอีซี อย่างเคร่งครัด
โต๊ะที่ปลูกผัก ความสูงของโต๊ะไม่เท่ากัน หัวโต๊ะสูง 90 เซนติเมตร ท้ายโต๊ะ 60 เซนติเมตร ปรับให้ความลาดชัน 3-5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สารละลายหมุนเวียน

แล้วสารละลายหมุนเวียนได้อย่างไร
คุณบอย บอกว่า ใช้ปั๊มน้ำ เป็นชนิดเดียวกับที่เลี้ยงปลาสวยงาม ให้น้ำขึ้นจากถังสารละลายไปยังโต๊ะปลูก แล้วไหลตามท่อ จึงกลับมายังถัง หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ราว 2 สัปดาห์ จึงเปลี่ยนถ่ายสารละลายทีหนึ่ง

ผลผลิตเป็นอย่างไร
อย่างที่แนะนำไปแล้ว คุณบอย จะผลิตผักให้ออกสู่ตลาดในช่วงนี้ สัปดาห์ละ 2 โต๊ะ แต่ละโต๊ะมีผัก 472 ต้น
ในโต๊ะหนึ่ง มีผักปลูกครบทุกสายพันธุ์ โดยปลูกสายพันธุ์ละ 80 ต้น
ผักสลัดที่บีลีฟ สายพันธุ์คอสมีจำนวน 8 ต้น ต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์อื่น 10 ต้น ต่อกิโลกรัม นี่เป็นตัวเลขโดยทั่วไป หากเป็นช่วงหนาว น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอีกต้นละ 1-2 ขีด

เจ้าของอธิบายว่า งานปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำ
แต่หน้าแล้ง อากาศจะร้อนมาก จึงต้องพรางแสงให้ด้วยซาแรนสีเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ สายๆ เจ้าของจะให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ไม่ใช่รดน้ำให้กับผัก แต่เป็นการลดความร้อน หากปฏิบัติตามที่แนะนำมา อุณหภูมิจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งต้นผักเจริญเติบโตได้ดี หากเป็นช่วงหนาว อย่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ไม่จำเป็นต้องพ่นน้ำให้แต่อย่างใด

ศัตรูผักที่พบเห็นอยู่
เรื่องโรค เจ้าของบอกว่า ยังไม่พบ แต่ก็ป้องกัน โดยทำความสะอาดอย่างดี
แมลง ที่ผ่านมา อากาศร้อนแล้งมีเพลี้ยไฟบ้าง แต่เมื่อให้น้ำ เพลี้ยไฟไม่ชอบจึงหายไป
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีหนอนบ้าง ทางแก้ไขคือ ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว

"ที่นี่ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้น้ำส้มควันไม้ล้างออกอยู่แล้ว ล้างด้วยน้ำเปล่า ไม่มีสารตกค้าง จุดเด่น...ของที่นี่ น่าจะเป็นเรื่องทำเล เราอยู่ไม่ไกล ตอนนี้ส่งทุกวันศุกร์ แถวดินแดง สาทร สีลม พระราม 9 ใครอยู่ละแวกนี้พูดคุยได้ โอกาสต่อไปจะเพิ่มขึ้น ผมขับรถส่งเอง ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ คนพร้อมที่จะรับประทานผลผลิตปลอดสารพิษอยู่แล้ว ผู้บริโภคซื้อผักปลอดสารพิษตามซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่แล้ว แต่น้อยที่จะเข้าถึงฟาร์ม เพราะว่าส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ฟาร์มต่างจังหวัดเขาเน้นเข้าห้าง ของผมเน้นขายปลีก ส่งถึงบ้านให้ลูกค้า ได้ความสด ราคาซื้อขายก็ไม่สูง เพราะไม่ต้องผ่านผู้ค้าคนกลาง" คุณบอย บอก

คุณบอย บอกว่า ผักสลัดที่ตนเองปลูกอยู่ นอกจากรับประทานในรูปแบบสลัดแล้ว บางสายพันธุ์ อย่างคอส สามารถลวกน้ำร้อนพอสะดุ้ง จะได้รสชาติดีมาก รับประทานกับน้ำพริก

"คุณพ่อผมชอบผัก บนโต๊ะจึงใช้ผักไฮโดรโปนิกส์ การรับประทานผัก ทำให้รับประทานอาหารคล่องคอ เป็นผลดีต่อสุขภาพ โอกาสต่อไปคงเปิดขายที่หน้าฟาร์ม ยังไม่ได้ขึ้นป้าย คงใช้ชื่อ Be Leaf...ตามที่ผมได้ศึกษา ต้นทุนการผลิตผักแบบนี้ อยู่ที่ต้นละ 10 บาท สำหรับการคืนทุน ไม่รวมที่อยู่อาศัย ปีหนึ่งถึงสองปีก็คืนทุนได้แล้ว" คุณบอย บอก

สำหรับการซื้อขายผักสลัดของคุณบอย ใครไปจอดรถซื้อที่หน้าฟาร์ม จำหน่ายกิโลกรัมละ 120 บาท ส่งถึงที่กิโลกรัมละ 140 บาท

กรณีที่ผู้สนใจอยากผลิตผักเอง คุณบอย บอกว่า ไม่ต้องลงทุนมากนัก พื้นที่เล็กๆ แคบๆ ก็ทำได้
ถามไถ่กันได้ที่ โทร. (081) 923-1132, (081) 341-2795 Email:squareot@gmail.com


พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน




หน้าถัดไป (2/11) หน้าถัดไป


Content ©