-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 509 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะนาว




หน้า: 7/7



ปลูกมะนาว "พิจิตร 1" ในท่อซีเมนต์

ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี บรรดาแม่บ้านจะประสบกับความเดือดร้อนราคาผลมะนาวขาดตลาด และมีราคาแพง แต่ปัจจุบัน "สมนึก สะอาดใส" ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 อ.เมือง จ.สงขลา มีเทคนิคง่ายๆ ในการปลูกมะนาวพันธุ์ "พิจิตร 1" ในบ่อซีเมนต์ สามารถบังคับให้ออกผลผลิตได้ในช่วงที่ผลมะนาวขาดแคลนและมีราคาแพงได้แล้ว    

สมนึก บอกว่า ทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ประชาชนจะประสบความเดือดร้อนเกี่ยวกับมะนาวราคาแพงและหายาก คุณภาพไม่ดี เพราะช่วงหน้าแล้งมะนาวจะออกผลผลิตน้อยมาก เขาจึงหาวิธีในการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ เพื่อบังคับให้ออกผลผลิตนอกฤดูกาล โดยใช้ท่อซีเมนต์ขนาดกว้าง 80 ซม. สูง 50 ซม. ด้านล่างสุดใช้ฝาปิดท่อรอง เพื่อไม่ให้รากมะนาวทะลุได้ แต่ไม่โบกปูน เพราะต้องให้น้ำไหลซึมออกได้ โดยเลือกมะนาวพันธุ์ "พิจิตร 1" มีคุณสมบัติพิเศษคือ ผลผลิตโต ให้น้ำมะนาวมาก ออกผลผลิตเร็ว ผลดก และทนสภาพดินฟ้าอากาศ รวมถึงต่อโรคด้วย การปลูกนั้น สมนึกบอกว่า ใช้หน้าดินร่วนซุยปนทราย 3 ส่วนผสมกับปุ๋ยคอก 1 ส่วน เทลงในท่อซีเมนต์ที่เตรียมไว้ให้ดินพูนปากท่อเล็กน้อย เผื่อไว้เวลารดน้ำสภาพดินจะยุบเสมอปากท่อพอดี จากนั้นขุดหลุมพอประมาณ นำต้นกล้ามะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ที่มาจากการตอนกิ่งลงปลูก รดน้ำวันละ 1 ครั้ง หากใช้ระบบสปิงเกลอร์เปิดน้ำ 5-10 นาที หากปลูกแบบชาวบ้านให้รดน้ำให้พอดินชื้น หลังจากปลูกแล้วต้องให้ปุ๋ยทุก 1 เดือนโดยใส่ปุ๋ยคอกราว 1 กะลามะพร้าวผสมปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ กระทั่งมะนาวมีอายุราว 8-12 เดือน จะเริ่มให้ผลผลิตปีแรกที่ทดลองในศูนย์ฯ ได้ต้นละ 420 ผลต่อปี หรือประมาณ 25-30 กก. และจะให้ผลผลิตดกตอนอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยทั่วไปมะนาวจะออกผลผลิตตลอดปี แต่จะให้ผลผลิตมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน   สำหรับการบังคับให้มะนาวที่ปลูกในท่อซีเมนต์ออกผลผลิตนอกฤดูกาล คือช่วงที่มะนาวขาดแคลนและมีราคาแพงราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนั้น สมนึก บอกว่าไม่มีเคล็ดลับอะไรมากมาย เพียงแต่ช่วงที่มะนาวเริ่มออกดอกมากราวเดือนมีนาคม-เมษายนนั้น ให้งดการรดน้ำประมาณ 10-15 วัน จนใบมะนาวจะเริ่มเฉา จากนั้นจึงรดน้ำ พอต้นมะนาวเริ่มฟื้น จัดการตัดแต่งกิ่ง รดน้ำปกติ ให้ปุ๋ยสูตรเดิม แต่ให้เพิ่มปุ๋ยทางใบบ้าง เป็นปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอ 15-15-15 เช่นกัน กระทั่งราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน มะนาวจะเริ่มออกดอก และสามารถเก็บผลิตผลหลังจากออกดอกแล้วราว 5 เดือนคือราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตมะนาวในท้องตลาดมีน้อย และราคาแพงถึงผลละ 5-8 บาท "ที่เราต้องปลูกในท่อสะดวกต่อการบังคับให้ออกนอกฤดูกาล  แต่ถ้าเราปลูกลงดินรากจะชอนไชไปถึงแหล่งน้ำ เมื่อต้นมะนาวได้น้ำใต้ดินก็ลำบากต่อการบังคับไม่ให้ดอกตามปกติ เราจึงใช้วิธีการปลูกในท่อซีเมนต์ หากปลูกกินเองปลูก 2-3 ต้นก็พอแล้วครับคือปล่อยให้ออกผลตามปกติ 1-2 ต้น บังคับให้ออกผลตอนที่มะนาวแพง 1 ต้น ผมเชื่อว่าการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์สามารถเก็บผลิตได้กว่า 10 ปีครับ" สมนึกกล่าว 
 
 นับเป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถจะแก้ปัญหามะนาวราคาแพงในอนาคตได้


"ดลมนัส  กาเจ" 

http://www.komchadluek.net/detail/20090623/17941/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A31%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%87.html

www.komchadluek.net ›
เกษตรเกษตรคนเก่ง -  





ตะลึง !  มะนาวยักษ์ชุมพร ผลเท่าส้มโอ


เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 18 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีเกษตรกรในตัวเมืองชุมพรปลูกมะนาวที่ได้ผลใหญ่เท่าส้มโอ จึงเดินทางไปตรวจสอบที่บ้านเลขที่ 101/1 บ้านเขาน้อย หมู่ที่ 7 ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร พบ นายไพศาล ชุมแสง อายุ 44 ปี เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรและปลูกพักสวนครัวตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้นำพันธุ์มาปลูกเอาไว้ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพิ่งออกผลเมื่อไม่นานมานี้      

นายไพศาล กล่าวว่า มะนาวยักษ์ต้นนี้ออกผลครั้งแรก 11 ลูก แต่ได้ปลิดทิ้งเหลือไว้เพียง 5 ลูก เพราะเกรงว่ากิ่งหัก หรือลำต้นจะทรุดหลังจากมีผลรอบแรก เพราะลำต้นยังเล็กมาก และเมื่อหลังจากที่ผลสุกเต็มที่แล้ว ผลจะเท่าผลส้มโอ น้ำหนักทั้งลูกเกือบ 2 กิโลกรัม  ลักษณะเนื้อในเหมือนมะนาว แต่ไม่มีเมล็ด ปริมาณน้ำต่อหนึ่งผล ได้ประมาณ 350 ถึง 400 ซีซี. ตนได้นำมาปรุงอาหารประเภทน้ำพริกกะปิ แกงส้ม ทำน้ำจิ้ม ใส่ยำประเภทต่างๆ โดยมีรสชาติเปรี้ยวเหมือนน้ำมะนาวอย่างไม่ผิดเพี้ยน พร้อมกับได้นำไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปประกอบอาหารได้ลิ้มชิมรส ของมะนาวยักษ์ชนิดนี้เป็นประจำ หลังจากที่ผลมะนาวสุก สร้างความแปลกประหลาดให้กับผู้พบเห็น   
 

นายไพศาล กล่าวว่า ตนได้นำพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่ง มาจากอาจารย์ เมธา ชุมแสงซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนวัดคูขุด ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง ซึ่งเป็นญาติกัน โดยที่อาจารย์เมธา ไม่ยอมบอกถึงที่มาของพันธุ์มะนาวชนิดนี้ และเคยมีผู้มาติดต่อให้นำไปแสดงในงานพืชสวนโลกเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเช่นกัน  แต่มาวันนี้ พร้อมที่จะขยายพันธุ์เพื่อที่จะอนุรักษ์และเผยแพร่พันธุ์มะนาวแปลกชนิดนี้ ให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจได้นำไปปลูกไว้รับประทานหรือปลูกไว้เพื่อสร้างความสวยงามและแปลกใหม่ต่อไป
 

ที่มา ข่าวสด
news.hunsa.com/detail.php?id=19807
-
http://news.hunsa.com/detail.php?id=19807





เทคนิคการปลูกมะนาวต้นคู่

คุณประวิทย์ แซ่โง้ว เกษตรกรที่จังหวัดราชบุรี ได้ปลูกมะนาว พันธุ์แป้นพวง แบบต้นคู่ ในพื้นที่สวนแบบยกร่อง ซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี วิธีการปลูก คุณประวิทย์ จะขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร  นำกิ่งพันธุ์มะนาว ลงปลูกในหลุม ๆ ละ 2 ต้น ซึ่งแตกต่างจากวิธีปลูกทั่วไป ที่ปลูกหลุมละต้น ให้โคนต้นของกิ่งพันธุ์อยู่เสมอดิน แล้วจับลำต้นไขว้กัน จากนั้นกลบดินให้แน่นและใช้ไม้ค้ำยัน เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก นำฟางข้าวมาคลุมพรางแสงแดด เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินไว้ ส่วนการดูแลนั้น ในสัปดาห์แรก จะให้น้ำวันละครั้ง จากนั้นจะให้วันเว้นวัน เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หลังจากต้นมะนาวตั้งตัวได้จะให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง วิธีการใส่ปุ๋ยเคมี จะใส่ครั้งแรกหลังจากปลูกไปได้ 1 สัปดาห์  โดยให้สูตร 46-0-0 1 ช้อนแกงต่อหลุม จากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ จะใส่ปุ๋ยสูตร  25-7-7 หลุมละ 1 ช้อนแกง เมื่อต้นมะนาวอายุ 3 เดือนขึ้นไป จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลุมละ 1 กำมือ เดือนละครั้ง ไปจนกระทั่งมะนาวอายุได้ 5 เดือน นอกจากนี้ จะใส่ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์บำรุงต้นด้วย ไร่ละ 1 ตัน ปีละ 2 ครั้ง เมื่อต้น มะนาวเริ่มติดผล ก็จะปรับไปใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 หลุมละ 3 กำมือต่อครั้ง การปลูก มะนาวแบบต้นคู่ จะให้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกแบบต้นเดี่ยวถึง 5 เดือน ติดผลทั้งปี ผล ผลิตที่ได้ยังมีปริมาณสูงกว่าถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยต้นไม่โทรม การปลูกมะนาวด้วยวิธีนี้ เกษตรกรต้องดูแลต้นมะนาวที่อยู่ใน หลุมเดียวกันไม่ให้แย่งอาหารกันเอง ที่สำคัญค่าปุ๋ยเคมีไม่แตกต่างจากการดูแลแบบ ต้นเดี่ยวเลย เพียงแต่ต้องเพิ่มต้นทุนค่ากิ่งพันธุ์ขึ้นอีกเท่าตัว แต่ก็นับว่าคุ้มค่ากับผลผลิต ที่ได้รับ ข้อมูลเพิ่มเติม,คุณประวิทย์ แซ่โง้ว,โทร.086-573-4188 อีเมล,chaianan@ch7.com

http://thailand.siamjobit.com/News-detail-347202.html







ดวงกมล โลหศรีสกุล


เกษตรกรราชบุรี เผย
เทคนิคการปลูกมะนาวต้นคู่ ให้ผลผลิตเร็ว
เก็บขายได้ทั้งปี


"มะนาว" ไม้ผลตระกูลส้ม มีรสเปรี้ยวและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ปรุงแต่งรสชาติอาหาร ใช้ทำขนม เครื่องดื่ม เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ความงาม นำไปแปรรูป ตลอดจนเป็นวัตถุดิบสินค้าในภาคอุตสาหกรรมจำพวกผลิตภัณฑ์ประเภทซักล้าง จากคุณสมบัติที่รอบด้าน ส่งผลให้มะนาวขายได้ตลอดทั้งปี จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า อัตราการขยายตัวของการปลูกมะนาวเชิงการค้าเฉพาะในเขตภาคตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และราชบุรี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี อีกทั้งในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ส่งออกมะนาว เนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศค่อนข้างสูง


ข้อมูลที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่าตลาดมีความต้องการไม้ผลชนิดนี้มาก ดังนั้น จะดีแค่ไหน ถ้ามะนาวที่ปลูกสามารถย่นระยะเวลาเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ถ้าอยากรู้ "เทคโนโลยีชาวบ้าน" มีเคล็ดลับดีๆ ของ คุณประวิทย์ แซ่โง้ว เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ 20 ไร่ ในตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ผู้คิดค้นเทคนิคการปลูกมะนาวต้นคู่ โตเร็ว ให้ผลผลิตที่ไวกว่าเดิม


ฉีกกฎปลูกมะนาว จากต้นเดี่ยว เป็นต้นคู่
ก่อนเผยเทคนิคการปลูก คุณประวิทย์ เล่าประวัติส่วนตัวคร่าวๆ ว่า อยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 3 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ก่อนหน้านี้เคยปลูกมะพร้าว ต่อมาเปลี่ยนเป็นหน่อไม้ฝรั่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีโรคและแมลงรบกวน อีกทั้งเสี่ยงกับราคาขายที่ไม่เป็นธรรม หนที่สุดหันมาปลูกมะนาว เพราะเห็นว่าได้ราคาดี ประกอบกับต้นมะนาวสามารถปลูกแซมกับพืชชนิดอื่นได้ อาทิ ฝรั่ง เผือก มะพร้าว


ด้วยความที่คุณประวิทย์เป็นคนชอบคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เมื่อครั้งที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง เขาเคยนำพลาสติคทำเป็นรูปกรวยแล้วสวมปลายยอดหน่อไม้ฝรั่ง เพื่อบังคับไม่ให้หน่อไม้ฝรั่งบาน ช่วยให้ขายได้ราคาดี จากจุดนั้นได้พัฒนาและต่อยอด จนกระทั่งเป็นมะนาวต้นคู่


"เดิมที่สวนปลูกแต่มะนาวต้นเดี่ยวเป็นแบบยกร่อง ต่อมาทดลองปลูกเป็นแบบต้นคู่ หรือ 2 ต้น ลักษณะลำต้นไขว้กันในหลุมเดียวกัน แทนที่มะนาวจะโตช้า กลับโตเร็วเหมือนแข่งกันโต ฉะนั้น จึงนำเทคนิคดังกล่าวมาขยายผลอย่างจริงจัง" คุณประวิทย์บอก


สำหรับพื้นที่ จำนวน 20 ไร่ ของคุณประวิทย์ เจ้าตัวกล่าวว่า ใช้ปลูกมะนาวต้นคู่ทั้งหมด โดยพันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์แป้นพวง เพราะเปลือกบางให้น้ำปริมาณมาก ขายได้ราคาดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ในส่วนของกิ่งพันธุ์ ซื้อมาจากตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก ราคากิ่งละ 25-30 บาท กิ่งพันธุ์ที่ใช้มีอายุ 45 วัน 1 ไร่ จะใช้กิ่งพันธุ์ประมาณ 1,000 กิ่ง


รายละเอียดพื้นที่ปลูก เจ้าของสวนบอกว่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นสวนแบบยกร่อง จึงใช้ระยะปลูกมะนาว 4 x 4 เมตร ขนาดหลุมกว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ปลูกในดินได้ทุกชนิด อาทิ ดินเหนียว ดินทราย ดินปนทราย แม้กระทั่งดินลูกรัง บริเวณก้นหลุมรองด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ส่วนวิธีปลูก นำกิ่งพันธุ์จำนวน 2 กิ่ง ลงปลูกในหลุมเดียวกัน ลักษณะลำต้นไขว้กัน หรือวางติดกัน จากนั้นกลบดินบริเวณโคนต้นให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งล้มหรือกิ่งฉีกหัก นำไม้มาปักพร้อมกับผูกเชือก ตลอดจนถ้าบริเวณโคนต้นแดดแรง ให้ใช้หญ้าแห้ง ฟางข้าว มาพรางแสงแดด ทั้งนี้ เพื่อรักษาความชื้น


เผยทุกเคล็ดลับ เข้าใจง่าย
ส่วนของการใส่ปุ๋ยและการให้อาหาร ในสัปดาห์แรก คุณประวิทย์ จะให้น้ำวันละครั้ง จากนั้นจะให้วันเว้นวัน เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หลังจากต้นมะนาวตั้งตัวได้ จะให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง ส่วนวิธีการใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะใส่ครั้งแรกหลังจากปลูกไปได้ 1 สัปดาห์ สูตร 46-0-0 ปริมาณ 1 ช้อนแกง ต่อหลุม ถัดจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ จะใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 หลุมละ 1 ช้อนแกง


เมื่อต้นมะนาวอายุ 3 เดือน เจ้าของสวนจะใส่ปุ๋ย สูตร 15 -15-15 หลุมละ 1 กำมือ ใส่เดือนละครั้ง ไปจนกระทั่งมะนาวอายุได้ 5 เดือน นอกจากนี้ บำรุงต้นด้วยปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ ไร่ละ 1 ตัน ปีละ 2 ครั้ง หลังจากมะนาวเริ่มติดผล ปรับไปใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 หลุมละ 3 กำมือ ต่อครั้ง ซึ่งมะนาวต้นคู่จะให้ผลผลิตเร็ว และมีปริมาณสูงกว่าต้นเดี่ยวถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยต้นไม่โทรม แถมปุ๋ยที่ใช้ก็มีปริมาณเท่ากับต้นเดี่ยว มีเพียงต้นทุนค่ากิ่งพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตาม นับว่าคุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้รับ


ทราบถึงกระบวนการปลูก ถามเจ้าของสวนถึงศัตรูพืชดังกล่าว ได้ข้อมูลว่า ศัตรูมะนาวที่สำคัญ ได้แก่ หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ล้วนทำให้ผลผลิตลดลงถึงขั้นกิ่งและต้นแห้งตายไปในที่สุดเลยก็ว่าได้


"หนอนชอนใบ สังเกตได้จากใบจะหงิกงอ ขอบใบม้วนเข้าหาเส้นกลางใบ ใบไม่เจริญเติบโต ต้นมะนาวจะแคระแกร็นไม่ติดผล ส่วนเพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ผลการทำลายจะรุนแรงในระยะผลอ่อน หรือตั้งแต่เริ่มติดผล มะนาวที่ถูกทำลายจะปรากฏรอยสีเทา เป็นวงบริเวณขั้วผลและก้นผล สุดท้าย โรคแคงเกอร์ สามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วน ทั้ง ใบ กิ่งก้าน และผล ลักษณะอาการ ใบและผลจะเป็นแผล ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น นูนคล้ายฟองน้ำ มีสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองเข้ม ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ด มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ ส่วนอาการที่กิ่งและก้านจะมีแผลฟูนูนสีน้ำตาล ค่อยๆ ขยายไปรอบๆ กิ่ง เมื่อต้นมะนาวเป็นโรคนี้มาก ต้นจะโทรม ใบร่วง แคระแกร็น ผลผลิตลดลง กิ่งและต้นจะแห้งตายไปในที่สุด"


สำหรับวิธีการป้องกันและจำกัดศัตรูพืช เกษตรกรรายนี้ระบุว่า วิธีแรกหมั่นคอยสำรวจแปลง หากพบกิ่งหรือผลที่ติดโรค ให้ตัดออกแล้วเผาทำลาย แต่กรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้ ให้ใช้สารเคมีกำจัด

รับรองคุ้มทุน มะนาวไทยขายได้ทั้งปี
ด้านของปริมาณผลผลิต มะนาวต้นคู่จะเริ่มให้ผลผลิตภายใน 14-15 เดือน ต่างจากมะนาวทั่วไปที่ให้ผลผลิต 19 เดือน หลังให้ผลผลิต 3-4 ปี สังเกตต้นมะนาวจะมีต้นใดต้นหนึ่งเริ่มโทรม ให้ปลูกต้นเสริมมาแทนที่ จนกว่าต้นเสริมจะแข็งแรงดีให้ตัดต้นที่โทรมออก จะได้ต้นมะนาวที่อยู่ในระยะให้ผลผลิตเต็มที่ตลอดเวลา


"มะนาว จะออกช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน พื้นที่ปลูก 20 ไร่ มี 40 กว่าร่อง เก็บผลผลิตช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้ร่องละ 2,500 กิโลกรัม หรือประมาณไร่ละ 5 ตัน ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งเก็บมะนาวได้เฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อเดือน โดยผลผลิตที่เก็บได้ เป็นขนาดจัมโบ้ 40 เปอร์เซ็นต์ ขนาดกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ และขนาดเล็ก 20 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยแล้วมะนาวต้นคู่ 1 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 1,500 ลูก ต่อปี หากเป็นมะนาวต้นเดี่ยวจะให้ผลผลิตต้นละ 1,300 ลูก ต่อปี"


เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ด้านช่องทางจัดจำหน่าย คุณประวิทย์ บอกว่า จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ ส่วนใหญ่นำไปจำหน่ายต่อที่ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง สำหรับราคามะนาวแต่ละเกรดต่างกัน 70 สตางค์ ซึ่งเบอร์ใหญ่สุดจะขายได้ลูกละ 2.70 บาท


แม้ว่าการปลูกมะนาวแบบต้นคู่จะโตเร็ว แต่ในด้านเงินลงทุนถือว่าค่อนข้างสูง เพราะต้องซื้อกิ่งพันธุ์เพิ่ม เบ็ดเสร็จแล้ว 1 ไร่ ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนกระทั่งเก็บผลผลิต ประมาณ 60,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม


คุณประวิทย์ บอกว่า คุ้มค่า เพราะภายหลังมะนาวออกผลเพียงครึ่งปีก็สามารถคืนทุนได้แล้ว แถมหลังช่วงเก็บเกี่ยว หรือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีพืชชนิดหนึ่ง เรียกว่า "หญ้าชิวคัก" ขึ้นเองตามธรรมชาติ นำไปใช้ทำขนม เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ช่วยให้แป้งนิ่ม มีรสชาติดี ขายได้กิโลกรัมละ 300-400 บาท พื้นที่ 20 ไร่ มีหญ้าชนิดนี้ขึ้นราว 100 กิโลกรัม สร้างรายได้ครั้งละประมาณ 30,000 บาท


จะเห็นได้ว่า กรรมวิธีการปลูก การบำรุงดูแลรักษา "มะนาวต้นคู่" ไม่ได้มีความยุ่งยาก หรือแตกต่างไปจาก "มะนาวต้นเดี่ยว" ฉะนั้น เทคนิคง่ายๆ จากเกษตรกรรายนี้ นับว่าน่าลองนำไปใช้ทีเดียว


ผู้ปลูกรายใดที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ คุณประวิทย์ แซ่โง้ว ได้ ณ บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 3 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เบอร์โทรศัพท์ (086) 573-4188, (032) 246-335


http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05028011153&srcday=&search=no
 




การใช้สารพาโคลบิวทราโซลในการผลิตมะนาวนอกฤดู 


การเตรียมต้นมะนาว

ในเดือนกรกฎาคม ควรทำการเก็บผลมะนาวที่ติดในฤดูปกติให้หมด และบำรุงต้นมะนาวให้สมบูรณ์สำหรับสวนมะนาวที่จะทำผลผลิตขายในฤดูแล้งในปีถัดไปจะต้อง เริ่มตัดแต่งกิ่ง ตัดลูกที่อยู่บนต้นออกให้หมด ตั้งแต่ปลายเดือน พฤษภาคม หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยทางดินสูตร 25-7-7 อาจจะผสมปุ๋ยอินทรีย์เป็นมูลไก่ อัดเม็ดอย่างละครึ่งต่อครึ่งหลังหว่านปุ๋ยต้องให้น้ำให้ชุ่มพร้อมกับอีกพ่นปุ๋ยทางใบจะช่วยให้มะนาวแตกยอดอ่อนได้ (ธวัฒชัย,2542) และในสภาพดินเหนียวควรใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 (มนัส,2543)หรือ 9-27-27 ประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ต้น ซึ่งปุ๋ยนั้นอาจผสมกระดูกป่นลงไปด้วยก็ได้ (ธันวา,2544) แต่ถ้าเป็นดินทรายใช้ปุ๋ยสูตร 9-24-24 ประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ตัน โดยการหว่านรอบทรงพุ่ม เพื่อเร่งการออกดอกให้ดีขึ้น (มนัส,2543)


การใช้สารพาโคลบิวทราโซล และ NAA

ต้นเดือนกันยายน รดสารพาโคลบิวทราโซลที่โคนในระยะใบเพสลาด อายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ในอัตราเนื้อสาร 1 กรัม ผสมน้ำ 1-2 ลิตรต่อเส้นผ่าศูนย์กลางพุ่ม 1 เมตร สารจะไปยับยั้งการเจริญทางกิ่งใบ และการกระตุ้นการสร้างตาดอกในช่วงเดือน ตุลาคม จะมีมะนาวทวายออกมาต้องปลิดผลเหล่านี้ทิ้งไป โดยการใช้สาร NAA จำนวน 30 ซีซี. ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นดอกจะร่องโดยไม่มีอันตรายต่อใบ (วิเศษ,2542) มะนาวจะแตกยอดออกดอกระยับไปหมด เนื่องจากต้นสมบูรณ์เต็มที่นั้นเอง เมื่อดอกเริ่มบานต้องใช้แคลเซียมโบรอน ผสมสาหร่ายสกัดเพื่อช่วยผสมเกสรพอเริ่มติดผลต้องใช้สาร NAA กระตุ้นให้ขั้วเหนียวให้โตเร็วและลดการสลัดลูกทิ้ง


การดูแลรักษาดอกและผล

ปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน มะนาวที่ให้ดอกแล้วจะมองเห็นตุ่มดอกเล็กๆระยะนี้หากมีเพลี้ยและไรแดงเข้าทำลายให้ฉีดยาพวกไพรีทรอย ซึ่งยากลุ่มนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อแมลงที่มาช่วยผสมเกสรหากเห็นว่าดินเริ่มแห้งอาจจะยืดหลัก 3 วันครั้งให้น้ำ แต่ของพื้นที่เป็นดินเหนียวและมีน้ำใต้ดินไม่ลึกมากอาจจะรอ 5 วันจึงให้น้ำครึ่งหนึ่ง (ศุภกิจ,2543) หรือในช่วงหน้าแล้งในทุกวันต้นละประมาณครึ่งชั่วโมง (เสนห์, 2543) ส่วนการดูแลรักษาดอกให้ติดดีนั้นสำหรับต้นมะนาวที่มีอาหารสะสมอย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือมะนาว ก็จะออกดอกติดผลดี แต่มะนาวที่มีอาหารสะสมไม่เพียงพอดอกจะร่วงหล่น และติดผลน้อยเกินไป การช่วยเหลือทำได้โดยใช้สาร NAA 1 มิลลิลิตร หรือ 1 ซีซี. ผสมน้ำสะอาด 20 ลิตร ฉีดพ่นตั้งแต่เริ่มเป็นดอกตูมจะทำให้ขั้วเหนียวหลังจากผลมะนาวมีการขยายผลมากจึงควรใส่ปุ๋ยสูตร 16-11-14 หรือ 20-11-11ในอัตรา 300 กรัมต่อต้นโดยหว่านรอบๆชายพุ่มหรือบางครั้งให้ปุ๋ยทางใบเกล็ดสูตร 30-20-10 หรือ 20-20-20 ฉีดทุกๆ 7–10 วัน (ศุกกิจ,2540)



ขั้นตอนการบังคับให้มะนาวติดผลและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

- เดือน พฤษาคม –มิถุนายน จะต้องทำการตัดแต่งและใส่ปุ๋ยเพื่อให้แตกยอด

- เดือน กรกฎาคม เก็บเกี่ยวผลที่ออกในฤดูปกติให้หมด

- เดือน สิงหาคม ตัดแต่งและใส่ปุ๋ยอีกครั้งเพื่อเตรียมเร่งดอกและต้องการกระตุ้นใบให้เพสลาด

ในช่วงเดือนกันยายนและมีการปลัดดอกและหวายทิ้งไว้เรื่อยจนกรทั่งปลายๆ เดือนตุลาคมจึงหยุด


- ต้นเดือนกันยายน ราดสารพาโคลบิวทราโซล

- เดือนตุลาคม หยุดแตกยอด

- ปลายเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน จะออกดอกที่ต้องการ (1 ½ -2 ½ เดือน หลังราดสาร)

- เดือน ธันวาคม-ภุมภาพันธุ์ ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น

- เดือน มีนาคม-เมษายน ผลเริ่มแก่พร้อมจะเก็บเกี่ยวซึ่งจะขายได้ราคาแพง (วิเศษ,2542)

สำหรับในสวนมะนาวนั้นผลการทดลองทั้งหมดในการใช้สารเปรียบเทียบกันหลายอัตรา สรุปได้

ว่ามะนาวไข่นั้นสามารถตอบสนองได้ดี ละไม่มีผลที่จะทำให้เกิดการหยิกงอหรือทำให้ยอดนั้นสิ้นลง แต่ก็สามารถทำให้ออกดอกได้ตั้งแต่ราดสาร 1 ½ -2 ½ เดือนดังกล่าว โดยต้นที่มีการราดสารอัตราสารออกฤทธิ์ 3 กรัมต่อต้น ที่มีขนาดทรงพุ่ม 2.80 เมตร สามารถออกดอกได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ถึง 31-31.33% ในขณะที่ต้นเปรียบเทียบไม่ราดสารสามารถออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพียง 1.31% และต้นที่ราดสารที่ออกดอกนั้นปรากฏว่ามีดอกสมบูรณ์และติดผลดี

ภาพที่1 ราคาผลมะนาวชนาดกลาง(ขายปลีก) ที่จังหวัดสุพรณบุรี พ.ศ. 2536 (เปรมปรี,2537)

การทดลองเกี่ยวกับการใช้สารพาโคลบิวทราโซล 3 ถึง 9 กรัมของเนื้อสารกับมะนาวอายุทรงพุ่มประมาณ 3 เมตรร่วมกับการควั่นกิ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ระหว่าง 1.25 ถึง 2.5 ซ.ม. ผลการทดลองดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เปอร์เซนต์การออกดอกของต้นมะนาวภายหลังการใช้สารพาโคลบิวทราโซล ราดที่โคนต้นร่วมกับวิธีการควั่นกิ่ง


และเฉลี่ยการใช้สารพาโคลบิวทราโซล ร่วมกับการปลิดผลก่อนการใช้สารจะทำให้มะนาวออกดอกได้ดีกว่าการไม่ติดผลดังตารางที่ 2 และ 3

ตารางที่ 2 การใช้สารพาโคลบิวทราโซล เดือนสิงหาคมโดยปลิดผลในต้นทิ้งให้หมดก่อนใช้สาร


การใช้สาร

ปริมาณช่อดอกใน 1 ตารางเมตร

จำนวนผลต่อต้น

ไม่ให้สาร

พาโคลบิวทราโซล 1.5 กรัม/เมตร

พาโคลบิวทราโซล 2.0 กรัม/เมตร

พาโคลบิวทราโซล 2.5 กรัม/เมตร

15.3

68.7

81.1

99.9

101.5

212.5

293.7

273.5


ตารางที่ 3 การใช้สารพาโคลบิวทราโซล เดือนสิงหาคมโดยไม่ปลิดผลในต้นทิ้งก่อนการใช้สารจำนวนผลในต้นประมาณ 75–150 ผลต่อต้นในขณะใช้สาร


การให้สาร

ปริมาณช่อดอกใน 1 ตารางเมตร

ไม่ให้สาร

พาโคลบิวทราโซล 1.5 กรัม/เมตร

พาโคลบิวทราโซล 2.0 กรัม/เมตร

พาโคลบิวทราโซล 2.5 กรัม/เมตร

10.7

42.4

54.9

64.8

ดังนั้นการใช้สารพาโคลบิวทราโซลในการกระตุ้นการออกดอกของมะนาวนอกฤดูจะต้องเตรียมต้นมะนาวให้อย่ในสภาพที่พร้อมและการใช้สารสามารถใช้ร่วมกับการควั่นกิ่งซึ่งจะให้ผลดีขึ้น อีกทั้งสารที่ให้จะต้องใช้ในความเข้มข้นที่เหมาะสมด้วย (พีระเดช ,2542)



สรุป

เนื่องจากมะนาวเป็นไม้ผลที่ตลาดต้องการสูงตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เดือน มีนาคมถึงเมษายน มะนาวจะมีราคาแพงที่สุด ซึ่งตกอยู่ผลละ 2–5 บาท ดังนั้นเกษตรกรรู้จักวิธีการบังคับมะนาวให้ออกมาติดผลมนอกฤดูด้วยวิธีการต่างๆ เช่น วิธีการกักน้ำการปล่อยน้ำให้น้ำท่วมโคน การควั่นหรือใช้ลวดรัดที่โคน ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการทรมานต้นมะนาว ทำให้มะนาวโทรมหรือตายได้ แต่ในปัจจุบันได้พบวิธีบังคับให้มะนาวออกดอกนอกฤดูโดยการใช้สารพาโดลบิวทราโซล ซึ่งไม่เป็นการทรมานต้นมะนาวเกินไปและได้ผลดี



เอกสารอ้างอิง

ธันวา ไวยอท. 2544. มะนาวนอกฤดูเมืองไม้ผล. 13 (154):75-76.

ธวัฒชัย มาลาม. 2545. สวนมะนาวเงินล้าน. 18 (213):6 – 9

เปรมปรี ณ สงขลา. 2537. ทำสวนส้มอย่างมืออาชีพ. เจริญรัฐการพิมพ์, กรุงเทพฯ.135 น.

พีรเดช ทองอำไพ .2542.เทคนิคผลิตมะนาวนอกฤดู .เคหเกษตร .23 9): 66–72.

มนัส หุมุหุล. 2543. การผลิตมะนาวนอกฤดู. เคหทเกษตร. 24 (11):51–54.

วิเศษ อัครวิทยากุล. 2540. การปลูกมะนาวเกษตร. กรุงเทพฯ. 109 น.

ศุภกิจ แก้วถนอม.2540.การปลูกมะนามะนาว.อักษรสยามการพิมพ์,กรุงเทพฯ.94 น.

เสนห์ แสงดำ. 2543. สวนมะนาว. เกษตรพัฒนา. 19 (220):31–34.

สุรชัย นาตะสินธ์.2545.ผลิตมะนาวนอกฤดู.เมืองเกษตร.12(135):17–24

http://msw747314.212cafe.com/archive/2006-08-07/22545-22-2546-citrus-aurantifilia-swingle-rutaceae-25-25-citrus-aurantifilia-swingle-rutaceae-3-6-6-





วิธีการบังคับให้มะนาวออกดอกนอกฤดูกาล


มะนาวเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากใช้ในการปรงุแต่งรสชาติของอาหารแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเป็นส่วนผสมของตัวยาสมุนไพรหลายชนิดและใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้ด้วย การปลูกมะนาวในสมัยก่อนนั้นมักจะปลูกกันแบบสวนหลังบ้านเพื่อไว้ใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือน และถ้าผลผลิตเหลือจากการบริโภคจึงนำมาซื้อขายกัน ในปัจจุบันนี้ความต้องการใช้มะนาวมีมากขึ้นตามลำดับพร้อมๆ กับการเพิ่มปริมาณของพลเมืองและการขยายตัวทางอุตสาหกรรมที่ใช้มะนาวเป็นองค์ประกอบในการผลิต มะนาวจึงเป็นพืชที่มีความสำคัญและเข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น สามารถทำรายได้ให้กับผู้ปลูกได้ดีพอสมควร ดังนั้นเกษตรกรทั่วไปจึงได้ให้ความสนใจและปลูกกันเป็นการค้ากันอย่างกว้างขวางในหลายท้องที่ของประเทศ พันธุ์มะนาวที่เกษตรกรใช้ปลูกนั้นส่วนมากจะเป็นมะนาวพื้นเมือง ซึ่งแม้จะออกดอกติดผลได้ตลอดปีแต่จะให้ผลดกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อถึงฤดูแล้งการให้ผลก็จะลดน้อยลง เป็นผลให้ราคามะนาวที่ซื้อขายกันในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้น คือ ตกผลละ 1.50-3 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่แพงมากเมื่อเทียบกับมะนาวในฤดูปกติ ซึ่งตกผลละ 10-30 สตางค์เท่านั้น และเนื่องจากราคามะนาวในหน้าแล้งแพงมากนี้เองจึงทำให้เกษตรกรสนใจที่จะทำให้มะนาวออกผลในช่วงนี้กันมาก

อย่างไรก็ตาม การที่ทำให้มะนาวมีผลในช่วงหน้าแล้งนั้นย่อมมีปัญหาหลายประการด้วยกันโดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของแต่ละแหล่งปลูกและสภาพความสมบูรณ์ของต้น และเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าระยะการออกดอกตามฤดูกาลของมะนาวนั้นกินเวลาประมาณ 3 เดือน แต่เนื่องจากสภาพธรรมชาติของแต่ละแหล่งปลูกต่างกัน ประกอบกับสภาพการปฏิบัติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นช่วงเวลาการออกดอกของมะนาวจะกินเวลานานถึง 4-6 เดือน คือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม แต่การออกดอกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 3 เดือนแรก คือจากเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และผลมะนาวจะใช้เวลาตั้งแต่ออกดอกจนเก็บขายได้ประมาณ 5 1/2-6 เดือน ฉะนั้นมะนาวจากแหล่งปลูกต่างๆ จะออกสู่ตลาดพร้อมกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน และมีประปรายที่จะออกสู่ตลาดได้ถึงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ดังนั้น ถ้าต้องการให้มะนาวมีผลที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ต้องบังคับให้มะนาวออกดอกในเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้มะนาวออกดอกในช่วงนี้ ทั้งนี้เพราะมีปัญหาหลักๆ อยู่ 2 ประการคือ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงที่มะนาวอยู่ในระยะเก็บเกี่ยวผลหรือเพิ่งจะเก็บผลหมด ดังนั้นการสะสมธาตุอาหารในต้นเพื่อการออกดอกและติดผลยังมีไม่พอ และอีกประการหนึ่งก็คือในช่วงดังกล่าวจะมีฝนตกชุก การที่จะทำให้ใบมะนาวแก่เร็วขึ้นและร่วงหล่นไป เพื่อกระตุ้นให้มะนาวแตกกิ่งใหม่และออกดอกจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถทำให้ดินแห้งได้และโดยธรรมชาติแล้วมะนาวไม่ค่อยออกดอกในช่วงนี้

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับสภาพโดยทั่วๆ ไปของมะนาว ทั้งนี้เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการผลิตมะนาวในหน้าแล้ง ซึ่งพอที่จะชี้ให้เห็นถึงแนวทางของการปฏิบัติได้ดังนี้

1. การผลิตมะนาวเพื่อขายในช่วงหน้าแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ กับอีกช่วงหนึ่งคือการผลิตมะนาวเพื่อขายในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้สูงสำหรับแหล่งปลูกที่มีการระบายน้ำดี

2.
การผลิตมะนาวเพื่อขายในช่วงที่มีราคาแพง (เดือนมีนาคม-เมษายน) ซึ่งโอกาสที่จะบังคับให้มะนาวออกดอกติดผลครั้งละมากๆ นั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


วิธีการ

มะนาวเป็นพืชที่ไวต่อการขาดน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วงที่มะนาวมีใบแก่จัดถ้าปล่อยให้ขาดน้ำ ใบจะร่วงหล่นเร็วมากและจะแสดงอาการคล้ายจะตาย แต่ถ้าให้น้ำและปุ๋ยไปบ้าง มะนาวจะแตกใบใหม่และออกดอกตามมา และเมื่อใดที่ได้รับน้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอมะนาวจะแตกกิ่งใหม่ได้มาก ใบจะเขียวสดอยู่ได้นานและไม่ค่อยมีการออกดอกติดผล จากพฤติกรรมดังกล่าวจึงได้มีผู้คิดค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อบังคับให้มะนาวออกดอกได้คราวละมากๆ เช่น

1. ใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งหรือปลายกิ่งออกประมาณ 1-2 นิ้ว ทั้งต้นแล้วจึงมีการใส่ปุ๋ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกดอกขึ้น
2. ใช้วิธีการรมควันเพื่อให้ใบร่วงแล้วแตกใบใหม่พร้อมกับให้ดอกตามมาภายหลัง
3. ใช้ลวดเล็กๆ รัดโคนกิ่งใหญ่เพื่อให้มะนาวมีการสะสมอาหารเตรียมพร้อมที่จะออกดอก
4. งดการให้น้ำเพื่อทำให้ใบเหี่ยว แล้วกลับมารดน้ำและใส่ปุ๋ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก
5. ปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูกประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงระบายน้ำออก
6. ใช้น้ำอุ่นค่อนข้างร้อนฉีดให้ใบร่วง
7. ใช้ปุ๋ยยูเรีย 5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักละลายน้ำฉีดให้ใบไหม้และร่วง แล้วจึงใส่ปุ๋ยเร่งเพื่อให้มีการเกิดดอก

วิธีการตามที่ได้กล่าวมานี้ บางวิธีอาจทำให้มะนาวทรุดโทรมและตายได้หรือให้ผลผลิตแล้วตายไปเลย และบางวิธีก็ไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติรักษาต่อมะนาวที่ปลูกไว้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวิธีการที่ทำให้มะนาวออกดอกในหน้าแล้งโดยไม่ทำให้มะนาวทรุดโทรมจนเกินไป ดังต่อไปนี้

วิธีที่ 1 งดการให้น้ำชั่วระยะหนึ่งเพื่อปล่อยให้ใบเหี่ยว เมื่อใบเหี่ยวก็ให้น้ำเล็กน้อยสักหนึ่งวัน และเมื่อเห็นว่าต้นมะนาวมีการฟื้นตัวดีแล้วค่อยให้น้ำมากๆ ติดต่อกันประมาณ 5-7 วัน จนดินชื้น แล้วจึงใส่ปุ๋ยเร่งดอกที่มีตัวกลางสูงเช่น ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 9-27-27 ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น หรืออาจใส่กระดูกป่นลงไปด้วยก็ได้ นอกจากนี้อาจพิจารณาใส่ปุ๋ยขี้หมูประมาณ 60 กิโลกรัม กระดูกป่น 6 กิโลกรัม และโปแตสเซียมซัลเฟต 3 กิโลกรัม ผสมเข้าด้วยกันแล้วใส่รอบโคนต้น จะได้ผลดีเช่นเดียวกัน

วิธีที่ 2 งดการให้น้ำประมาณ 7-15 วัน แล้วจึงทำการตัดแต่งกิ่งออกประมาณ 1-2 นิ้วให้ทั่วทั้งต้น การตัดแต่งกิ่งนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้มะนาวแตกกิ่งใหม่และเป็นการลดปริมาณใบบนต้นด้วย จากนั้นจึงใส่ปุ๋ยเร่งดอกเช่นเดียวกับวิธีที่ 1 วิธีนี้จะใช้เพื่อเพิ่มปริมาณการออกดอกติดผลในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม กับต้นมะนาวที่ติดผลในช่วงนี้ไม่ดกนัก

วิธีที่ 3 พ่นใบด้วยปุ๋ยยูเรียความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ (ใช้ปุ๋ยยูเรีย 46 เปอร์เซ็นต์ 1 กิโลกรัมผสมกับน้ำสะอาด 20 ลิตร) การฉีดพ่นควรฉีดไปที่ทรงพุ่มของมะนาวให้โชกทั่วทั้งต้น ประมาณ 4-5 วัน ต่อมาใบมะนาวจะเริ่มร่วงโดยเฉพาะใบแก่ส่วนใบอ่อนจะไม่ร่วง ลักษณะของใบมะนาวที่ร่วงนั้นคล้ายกับถูกน้ำร้อนลวก หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 โรยใส่ต้นมะนาวต้นละ 12 กิโลกรัม ประมาณ 15-20 วัน หลังจากที่ได้ฉีดพ่นปุ๋ยยูเรียไปแล้วมะนาวจะเริ่มออกดอก ในช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-14-14 อัตราต้นละ 200-300 กรัม โดยทิ้งห่างกันประมาณ 1 เดือนสัก 3-4 ครั้ง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผลมะนาว ในช่วงที่มะนาวเริ่มออกดอกจนถึงติดผลนี้จะต้องระวังอย่าให้มะนาวขาดน้ำเพราะจะทำให้ผลร่วงหรือการเจริญเติบโตของผลไม่ดีเท่าที่ควร มะนาวที่บังคับให้ออกดอกในเดือนกันยายน-ตุลาคม ถ้ามีการปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวมาแล้วเมื่อเข้าหน้าแล้งราวเดือนเมษายน ผลมะนาวจะแก่จัดและสามารถเก็บผลไปจำหน่ายได้

วิธีที่ 4 เป็นวิธีที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง วิธีนี้ไม่ทำให้ต้นมะนาวโทรมเร็วเหมือนกับวิธีแรกๆ มีขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้
1. ประมาณเดือนกันยายน ใส่ปุ๋ยเกรด 1:3:3 เช่นปุ่ยสูตร 8-24-24 เพื่อเร่งให้ใบแก่เร็วขึ้น และเก็บสะสมอาหารไว้บำรุงดอกต่อไป
2. ต้นเดือนตุลาคม งดให้น้ำเพื่อให้ต้นมะนาวมีการเก็บสะสมอาหาร
3. ปลายเดือนตุลาคม ให้น้ำอย่างเต็มที่หลังจากงดให้น้ำมาเป็นเวลา 15-20 วัน
4. ต้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ได้ให้น้ำไปแล้วประมาณ 7 วัน มะนาวจะเริ่มออกดอก ช่วงนี้ควรมีการพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดแมลงในช่วงที่กำลังมีดอกอ่อน
5. ปลายเดือนพฤศจิกายน ดอกเริ่มบานและมีการติดผล ควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะนาวในช่วงที่กำลังติดผลเล็กๆ
6. ต้นเดือนธันวาคม ใส่ปุ๋ยเคมีเกรด 1:1:1 เช่นปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อบำรุงให้ผลมีความสมบูรณ์ในขณะที่ผลมะนาวมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพด
7. ประมาณเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจะสามารถเก็บผลมะนาวออกจำหน่ายได้ ซึ่งตรงกับช่วงที่มะนาวมีราคาแพงพอดี
8. หลังจากที่ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ประมาณเดือนพฤษภาคมควรทำการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์และพร้อมสำหรับการผลิตมะนาวหน้าแล้งในปีต่อไป

วิธีที่ 5 เป็นวิธีที่ชาวสวนแถบจังหวัดเพชรบุรีนิยมปฏิบัติกัน ซึ่งมีวิธีการดังนี้
1. ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนไม่ควรให้น้ำต้นมะนาว เพราะเป็นช่วงฤดูฝน และการทำให้ใบมะนาวร่วงในช่วงนี้จึงทำได้ยากเพราะยังมีฝนตกอยู่
2. ชาวสวนใช้วิธีทรมานเล็กน้อย โดยใช้กรรไกรตัดปลายกิ่งต้นมะนาวประมาณ 1-2 นิ้วออกทั่วทั้งต้น เสร็จแล้วจึงกระตุ้นด้วยปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 9-27-27 ในอัตราต้นละ 1 กิโลกรัม ปุ๋ยดังกล่าวมีธาตุฟอสฟอรัสสูงจึงสามารถเร่งการออกดอกของมะนาวได้
3. ถ้าหากฝนไม่ตกก็ให้ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายน้ำรดแทนทิ้งไว้ 14-21 วัน มะนาวจะเริ่มผลิใบและดอกออกมา หลังจากนั้นจึงใส่ปุ๋ยบำรุงต้นมะนาวโดยใช้สูตร 20-14-14 หรือ 20-11-11 ในอัตราต้นละ 200-300 กรัม รวม 3-4 ครั้ง โดยห่างกันครั้งละ 1 เดือนเพื่อเร่งให้ผลมะนาวโต
4. ในช่วงนี้ถ้าอากาศแห้งแล้ง ควรพรวนดินและใช้เศษหญ้าคลุมโคนมะนาวพร้อมกับรดน้ำ 10-14 วันต่อครั้ง จากนั้นดอกมะนาวจะค่อยๆ เจริญเติบโตกลายเป็นผล จนสามารถเก็บจำหน่ายผลได้ในช่วงฤดูแล้งซึ่งตรงกับช่วงที่มะนาวมีราคาแพงพอดี

วิธีที่ 6 ใช้สารพาโคลบิวทราโซล ซึ่งเป็นวิธีใหม่ล่าสุดเท่าที่มีการทดลองอยู่ในขณะนี้ และมีแนวโน้มว่ามะนาวตอบสนองต่อการใช้สารนี้ได้ดี ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติเพื่อให้มะนาวเก็บเกี่ยวได้ในช่วงหน้าแล้ง โดยใช้สารพาโคลบิวทราโซลนั้นสามารถกระทำได้ดังนี้
1. ในเดือนกรกฎาคม ภายหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลมะนาวหมดแล้ว ใช้บำรุงต้นมะนาวให้สมบูรณ์ โดยทั้งนี้เพื่อจะให้มะนาวแตกใบอ่อน 1 ชุดก่อนการออกดอก
2. ต้นเดือนสิงหาคม ทำการตัดแต่งกิ่งมะนาวให้โปร่ง เพื่อให้ดินแห้ง ต่อจากนั้นควรใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้น สภาพที่ดินเป็นดินเหนียวควรใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 แต่ถ้าเป็นดินทรายให้ใช้ปุ๋ยสูตร 9-24-24 ในอัตรา 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่ม โดยหว่านรอบชายพุ่มเพื่อช่วยเร่งการเกิดดอกได้ดีขึ้น
3. ต้นเดือนกันยายนให้รดสารพาโคลบิวทราโซลในอัตราเนื้อสาร 1 กรัม (เช่น คัลทาร์ 10 ซี.ซี.) ที่โคนต้นมะนาวในระยะใบเพสลาด แต่ก่อนทำการรดสารนั้นควรให้น้ำกับต้นมะนาว เพื่อให้ดินชุ่ม ซึ่งจะช่วยให้รากดูดซึมสารเข้าไปภายในต้นได้ดีขึ้น
4. ประมาณเดือนสิงหาคมต้นเดือนตุลาคม จะมีดอกมะนาวทะวายทยอยกันออกมาและจะต้องคอยปลิดดอกหรือผลเหล่านั้นทิ้ง เพื่อให้ต้นมะนาวมีอาหารสะสมมากพอสำหรับการเกิดดอกในปลายเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายนได้มาก การปลิดดอกทิ้งอาจทำได้โดยใช้สารเคมีบางชนิดเช่น เอ็น.เอ.เอ. (N.A.A.) อัตรา 15-30 ซี.ซี. ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดให้ดอกและผลร่วง โดยที่ไม่มีอันตรายต่อใบแต่อย่างใด
5. ปลายเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกกำลังบานและมีการผสมเกสรเพื่อเจริญไปเป็นผล ช่วงนี้ต้องคอยดูแลกันเป็นพิเศษ และเมื่อผลมะนาวมีอายุได้ 1-2 เดือน ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคมถึงมกราคม เป็นระยะที่อากาศแห้งแล้งพร้อมกับมะนาวมีการพักตัวและผลัดใบเก่าทิ้ง ผลมะนาวมีโอกาสร่วงได้มาก จึงต้องคอยระวังอย่าให้มะนาวขาดน้ำ และถ้าอากาศแห้งมากอาจพรมน้ำได้ด้วยก็ได้
6. หลังจากผลมะนาวมีอายุได้ 1-2 เดือนไปแล้ว จะเป็นช่วงที่ผลมะนาวมีการขยายขนาดของผลมาก จึงควรให้ปุ๋ยสูตร 15-5-20+2 (MgO) หรือสูตร 16-11-14+2 (MgO) ลงไปด้วย ถ้ามะนาวต้นไหนติดผลดกอาจเพิ่มปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือสูตร 30-20-10 โดยฉีดพ่นทางใบเพื่อช่วยเพิ่มขนาดของผล
7. ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน มะนาวก็จะเก็บผลได้ (สำหรับมะนาวที่มีอายุการเจริญเติบโตของผลนานกว่านี้ ควรเลื่อนเวลาการบังคับการออกดอกให้เร็วขึ้นไปอีก)
8. ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน หลังจากเก็บผลหมดแล้ว ควรทำการตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นโดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก ในอัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยเคมีเช่น สูตร 15-15-15 เป็นประจำทุกปี ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งกิ่งมะนาวเริ่มแตกใบอ่อนซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝนพอดี ซึ่งเป็นการเพียงพอที่จะให้มะนาวเก็บสะสมธาตุอาหารโดยเฉพาะพวกแป้งจนถึงระดับที่จะออกดอกได้ดีในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน แต่ถ้ากิ่งมะนาวแตกใบอ่อนออกไปจนถึงปลายฤดูฝน อาจทำให้มะนาวออกดอกได้ไม่มากเพราะมีระยะเวลาที่จะสะสมอาหารพวกแป้งได้น้อย และถ้าหากต้นมะนาวไม่แตกใบอ่อนออกมา เราอาจใช้วิธีตัดปลายกิ่งหรือตัดแต่งกิ่งให้โปร่งและให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงพร้อมทั้งให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและในปริมาณที่เพียงพอ หรืออาจพิจารณาใช้สารที่กระตุ้นการพักตัวเช่น ไทโอยูเรีย 0.5% ฉีดพ่นให้ทั่วต้นในระยะที่ใบแก่จัดซึ่งจะทำให้มะนาวแตกใบอ่อนออกมาได้ ซึ่งเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะบังคับให้มะนาวออกดอกและเก็บผลในหน้าแล้งต่อไปได้



http://202.129.0.133/plant/lemon/6x.asp







เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์มะนาวเชิงการค้า

จากงานวันเกษตรแห่งชาติ โดยคณะผู้วิจัย : สามารถ เศรษฐวิทยา, กาญจน์ จันทร์ลอย, นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์ และรวี เสรฐภักดี ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน ม.เกษตร ศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งยังไม่จบ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากคราวที่แล้ว
 
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำของมะนาวออกรากดี สภาพภายในกิ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีอยู่ในกิ่งตัดชำนั้นเอง ได้แก่สภาพดังต่อไปนี้
 
การเลือกกิ่ง ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

 1. เลือกกิ่งที่มีอาหารมาก เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่งสำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ อาหารจะสะสมอยู่ภายในกิ่ง ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน 1 ปี) อาหารยิ่งสะสมอยู่ภายในกิ่งมาก การเกิดรากและแตกยอดก็จะง่ายขึ้น
 
2. อายุของต้นพืชที่จะนำมาตัดชำควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด) เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมาก ๆ
 
3. เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง 
 
4. การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ คือ เป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนนั้นอาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญนั้นมีความแข็งพอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สำหรับการตัดชำไม้ผลหรือไม้ประดับบางชนิดที่ออกรากค่อนข้างยากการใช้กิ่งที่แข็ง กลม และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อยจะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อน
 
5. การทำแผลโคนกิ่ง แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย
 
6. การใช้ฮอร์โมนและสารบางอย่างช่วยการออกราก ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น ช่วยให้เกิดรากมาก ออกรากไวและรากเจริญได้เร็ว สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่าง ๆ มักจะมีสารฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิด คือไอบีเอหรือชื่อเต็มคือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และเอ็นเอเอ หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีน อะซีติก (naphthaleneacetic acid) สารฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่เสื่อมช้าคือไม่สูญเสียง่าย แต่ในการใช้มีข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การใช้ฮอร์โมนกับพืชใด ควรจะรู้ความเข้มข้นที่แน่นอนและให้พอเหมาะกับพืช



การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก

1. การจัดความชื้นในอากาศรอบ ๆ กิ่งตัดชำความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับการตัดชำ โดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สดและติดอยู่กับกิ่งตลอดไป แต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบ ๆ ใบสูงพอ น้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมาและใบก็จะไม่เหี่ยว เราควรฉีดหรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลาหรือเป็นระยะ ซึ่งวิธีการหลังนี้อาจใช้คนช่วยฉีดพ่น หรือโดยการใช้เครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติก็ได้
 
2. แสงสว่างกับการออกราก แสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่งพืชที่ต้องมีใบติด เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหาร รวมทั้งสร้างสารฮอร์โมนเพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไร ก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้น
 
3. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำการออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้นและอากาศที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้นและมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วย วัตถุที่จะช่วยให้การออก รากเกิดได้ดี จะต้องดูดความชื้นได้มาก และมีอากาศผ่านได้สะดวก สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไป ได้แก่ ทรายหยาบ ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน
 
เป็นงานวิจัยที่ใกล้ชิดกับเกษตรกร ที่เมื่อได้รับคำแนะนำเหล่านี้แล้วสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เป็นการถ่ายทอดความรู้จากนักวิชาการสู่เกษตรกร ก่อให้เกิดผลดีต่อคนในชุมชนที่ดำรงตนอยู่ได้ด้วยอาชีพทางการเกษตร.


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191161&NewsType=1&Template=1

http://www.phtnet.org/news52/view-news.asp?nID=116

 

 







หน้าก่อน หน้าก่อน (6/7)


สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2009-07-16 (67808 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©