-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 652 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะนาว




หน้า: 5/7


           ปลูกมะนาวในกระถางให้ออกหน้าแล้ง
           บังคับง่ายได้ผลแน่นอน



        หลักการและเหตุผล :                
        การบังคับมะนาวให้ได้ผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวได้ตรงกับช่วงหน้าแล้ง (เม.ย.) นั้น จำเป็นต้องงดน้ำเพื่อปรับอัตราส่วน ซี/เอ็น เรโช. ในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งค่อนข้างทำยากเพราะเป็นช่วงฤดูฝน นอกจากน้ำฝนแล้วยังมีปัญหาน้ำใต้ดินโคนต้นอีกที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงส่งผลให้มะนาวแตกใบอ่อนตลอดเวลา
               
        การปลูกมะนาวในกระถางช่วยให้มาตรการงดน้ำสามารถทำได้แน่นอน  เพราะนอกจากป้องกันน้ำจากฝนตกแล้วยังป้องกันน้ำจากใต้ดินโคนต้นได้อีกด้วย 
    
   
    เตรียมกระถาง  :                       
      - เลือกกระถางซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 ม.  สูง 50 ซม. ปิดก้นตลอด  เจาะรูด้านข้าง
ขอบและก้นกระถางเพื่อระบายน้ำป้องกันน้ำขังค้างในกระถาง 4-5 รู
      - ตั้งกระถางกลางแจ้ง  แสงแดดส่องได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดวัน 
               

         เตรียมดิน  :
               
      - เลือกดินหน้าดินตากแดดจัด 10-20 แดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคและร่วนซุยแตกตัวดี
     
 - ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/วัวนม + มูลไก่ไข่/ไก่เนื้อ/นกกระทา) เปลือกถั่วลิสงตากแห้ง.  ฟางแห้งหรือซังข้าวโพดตากแห้ง.   ยิบซั่มธรรมชาติ.  กระดูกป่น.  ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วพรมด้วย   “น้ำ + ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + ไคโตซาน + ฮอร์โมนบำรุงราก”  คลุกเคล้าให้เข้ากันดีอีกครั้งจนได้ความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์  เสร็จแล้วทำกองอัดแน่น คลุมด้วยพลาสติก  กลับกองทุก 5-7 วันหรือเมื่อมีควันเกิดขึ้นเพื่อระบายอากาศและความร้อน หมักทิ้งไว้ 2-3 เดือนหรืออุณหภูมิลดลงหรือเย็นปกติ ได้ "ปุ๋ยอินทรีย์หมักชีวภาพ"  พร้อมใช้งาน
        - ใช้ดินหน้าดินตากแดดแล้วผสมกับ ปุ๋ยอินทรีย์หมักชีวภาพ คลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วบรรจุลงกระถางให้เต็มจนพูนโคกสูงจากปากกระถาง 50 ซม. อัดแน่น คลุมทับผิวหน้าดินด้วยฟางหมักเปื่อยยุ่ยแล้วคลุมทับด้วยฟางแห้งธรรมดาๆอีกชั้นหนาๆ
     
                
        เตรียมต้น :
               
        - เลือกและปลูกกล้ามะนาวตามปกติลงบนยอดสูงสุดของพูนโคกในกระถาง
        - บำรุงเลี้ยงต้นกล้า เมื่อต้นกล้าโตขึ้นให้จัดระเบียบกิ่งประธานที่แตกออกมาให้ได้รับแสงแดดทั่วถึงและไม่บังแสงแดดต่อกิ่งอื่น                 

          

        ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงมะนาวในกระถางให้ออกผลในหน้าแล้ง

 
     - ช่วงขั้นตอน "ตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนฟื้นฟูสภาพต้น-สะสมอาหารเพื่อการออกดอก" ปฏิบัติเหมือนการบำรุงมะนาวปลูกบนพื้นดินปกติทุกประการ
      - ช่วงขั้นตอน "งดน้ำเพื่อปรับ ซี/เอ็น เรโช" ให้ใช้พลาสติกคลุมหน้าดินปาก
กระถางเพื่อป้องกันฝนตกใส่ เมื่อเห็นว่าต้นมะนาวเริ่มเครียดหรือเริ่มใบสลดจึงนำพลาสติกออกแล้วระดมให้น้ำพร้อมกับเปิดตาดอกได้เลย
               
      - ช่วงขั้นตอน "เปิดตาดอก" หลังจากนำพลาสติกคลุมดินออกแล้วเริ่มเปิดตาดอก  โดย...
        ทางใบ :               
        สูตร 1
........น้ำ 100 ล.+ 13-0-46(500 กรัม) หรือ ไธโอยูเรีย (500 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
  
      สูตร 2........น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 250 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สาหร่ายทะเล100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
   
     ใช้ทั้งสองสูตรสลับกัน 1-2 รอบ แต่ละสูตรห่างกันรอบละ 5-7 วัน  ด้วยการฉีดพ่นพอเปียกใบ                
        ทางราก :
               
      - ให้ 8-24-24 (200-250)/ต้น (กระถาง)  ให้ทันทีที่เปิดพลาสติกคลุมแปลง
      - ให้น้ำปกติ  ทุก 1-2 วัน                 
        หมายเหตุ : 
               
      - หลังจากเปิดตาดอกแล้วมะนาวก็จะมีดอกออกมา จากนั้นบำรุงตามขั้นตอน “บำรุงดอก. บำรุงผลเล็ก. บำรุงผลกลาง. บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว. บำรุงผลให้แก่เร็วกว่าปกติหรือบำรุงยืดอายุผลให้แก่ช้า.”  ปฏิบัติเหมือนการบำรุงมะนาวที่ปลูกบนพื้นดินปกติทุกประการ
      - รากทั้งหมดอยู่ในกระถางซึ่งเป็นพื้นที่ๆค่อนข้างจำกัดในการอาหารและปริมาณสารอาหารก็มีอย่างจำกัดด้วย รากทั้งหมดต่างก็ดูดซับสารอาหารในพื้นที่จำกัดนั้นจนทำให้สารอาหารหมดไปอย่างรวดเร็ว กรณีนี้แก้ไขโดยให้สารอาหารทั้งทางรากและทางใบมากๆอย่างเพียงพอด้วยวิธี “ให้น้อย-บ่อยครั้ง-ตรงเวลา” ทั้งนี้ความสมบูรณ์ของต้นจะชี้บอกได้อย่างดีว่าสารอาหารพอเพียงหรือไม่
            
        ตัดแต่งรากมะนาวในกระถาง 
               
        เนื่องจากรากมะนาวต้องเจริญเติบโตในกระถางซึ่งมีพื้นที่จำกัด เมื่ออายุต้นมากขึ้นหรือ 4-5 ปีขึ้นไปปลายรากจะวนอยู่ที่ขอบกระถาง ส่งผลให้ต้นโทรมหรืออาจตายได้ กรณีนี้สามารถแก้ไขได้ตามขั้นตอน ดังนี้
                
      1.ล้างต้นแล้วบำรุงต้นเรียกใบอ่อนเพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์หรือสะสมอาหารไว้ในต้นก่อน
      2.เมื่อยอดอ่อนเริ่มแตกออกมาให้เห็นจึงลงมือตัดแต่งกิ่งแบบทำสาวหรือทำเป็นโจรแขนด้วน  ให้เหลือความยาวของกิ่งประธานประมาณครึ่งหนึ่งของรัศมีกระถาง
      3.ใช้พลั่วหรือเสียมคมจัดแทงลงดินตรงๆ ห่างจากขอบกระถางมาทางโคนต้น 1 ใน 4 ขั้นตอนนี้จะเป็นการตัดปลายรากออก                  
      4.ตักดินบริเวณขอบกระถางออกแล้วเปลี่ยนดินชุดใหม่ลงไปแทน หรือถ้าเห็นว่าสภาพดินยังดีอยู่ก็ไม่ต้องตักออกก็ได้
               
      5.หลังจากตัดรากแล้วให้ฮอร์โมนบำรุงราก พร้อมกับเร่งบำรุง เรียกใบอ่อน-ฟื้น
ฟูสภาพต้น เหมือนการบำรุงหลังตัดแต่งกิ่งมะนาวที่ปลูกบนพื้นดินปกติ ถ้าต้นมีความสม
บูรณ์ดีตั้งแต่แรกก็จะแตกใบอ่อนพร้อมกับรากชุดใหม่ภายใน 20-30 วัน และพร้อมรับการบำรุงเพื่อให้ดอก/ผลต่อไป
               
      6.วิธีตักหน้าดินปากกระถางบางส่วนออกแล้วใช้วิธีล่อรากขึ้นมาก่อนแล้วจึงตัดปลายรากที่ขอบกระถางจะสามารถลดการชะงักการเจริญเติบโตของต้นได้เป็นอย่างดี
      7.ช่วงปีแรกหลังจากตัดแต่งรากและตัดแต่งกิ่งยังไม่ควรเอาผล  แต่ให้บำรุงต้นจนสมบูรณ์ดีเหมือนเดิมก่อนจึงบำรุงเพื่อเอาผลจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเร็วและอายุยืนนานขึ้น
        หมายเหตุ :
        มะนาวกระถางอายุต้น 3-4 ปี ขนาดทรงพุ่มเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ม.สูง 2-2.5 ม.สภาพต้นสมบูรณ์พร้อมสามารถให้ผลผลิตได้ต้นละประมาณ 150-200 ผล
ในขณะที่มะนาวพื้นราบยกร่องแห้งลูกฟูกอายุต้น ขนาดและความสมบูรณ์พร้อมเท่าๆกันสามารถให้ผลผลิตได้ต้นละ 3,000-4,000 ผล
                                 


          
บังคับมะนาวให้ออกหน้าแล้งด้วยพาโคลบิวทาโซล
 
                
       1.เดือน ก.ค.  :
               
         เก็บผลและดอกออกให้หมดทั้งต้น (ล้างต้น)  แล้วเรียกใบอ่อนชุดที่  1

       2.เดือน ส.ค. :               
         ตัดแต่งกิ่งทำทรงพุ่มให้โปร่ง แล้วบำรุงต้นสูตรสะสมอาหารเพื่อการ
ออกดอก

       3.เดือน ก.ย. :               
         ต้นมะนาวอยู่ในระยะใบเพสลาด รดน้ำให้ดินชุ่มทั่วพื้นที่ทรงพุ่ม ทิ้งไว้ 
1 วัน วันรุ่งขึ้นรดน้ำอีกครั้งแล้วราดสารพาโคลบิวทาโซลอัตรา 10 ซีซี./ต้น โดยราดให้กระจายทั่วบริเวณทรงพุ่ม
                
       4.เดือน ต.ค. :              
          มะนาวจะเริ่มออกดอก  จากนั้นบำรุงมะนาวตามขั้นตอนปกติ
                
          หมายเหตุ :
               
        - ระหว่างเดือน ส.ค. - ก.ค. ถ้ามะนาวมีดอกออกมาให้ฉีดพ่นด้วย ฮอร์โมนเอ็นเอเอ.อัตรา 15-30 ซีซี./น้ำ 20 ล. ทั่วทรงพุ่มจะให้ดอกร่วงโดยไม่เป็นอันตรายต่อใบ
        - ความสำเร็จทั้งปวงของการปฏิบัติทุกขั้นตอนจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้นมะนาวได้รับการบำรุงจนต้นมีความสมบูรณ์พร้อมอย่างแท้จริง
                                   


          
กดใบอ่อนสู้ฝน - ทำมะนาวหน้าแล้ง                
          หลักการและเหตุผล
               
          มะนาวจะออกดอกเดือน ต.ค. ได้นั้น ต้องผ่านการบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกมาอย่างเพียงพอ  โดยช่วง ส.ค. ต่อ ก.ย. ต้องงดน้ำ (ปรับ ซี/เอ็น เรโช.) และประมาณปลาย ก.ย. จึงลงมือเปิดตาดอก จากนั้นในเดือน ต.ค.มะนาวก็จะมีดอกออกมาให้เห็น.....ทุกขั้นตอนการปฏิบัติต่อมะนาวดังกล่าวมานี้ ปัญหาอยู่ที่ช่วงเดือน ส.ค.ต่อ ก.ย. เป็นหน้าฝน  แม้ว่าจะได้บำรุงต้นสะสมอาหารเพื่อการออกดอกอย่างสม่ำเสมอดีสักเพียงใด  ถ้าต้นมะนาวได้น้ำฝนก็จะแตกใบอ่อนทันที
         แนวทางปฏิบัติบำรุงแบบ  กดใบอ่อนสู้ฝน  ต่อมะนาวช่วงเดือน ส.ค.ต่อ ก.ย. เพื่อจะให้มะนาวออกดอกในช่วงเดือน ต.ค. ยังพอทำได้ด้วยสูตร กดใบอ่อนสู้ฝน ดังนี้.....

          ทางใบ :               
        - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56 (3 กก.) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100-200 กรัม + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.   ฉีดพ่นพอปียกใบ ทุก 5-7 วัน (ฝนไม่ตก)  หรือฉีดพ่นทันที (ก่อนฝนตก 1 ชม. หรือ หลังฝนหยุดใบแห้ง 30 นาที) โดยไม่จำกัดเวลา
 
       - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 
          ทางราก :
               
        - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24  หรือ  9-26-26  สูตรใดสูตรหนึ่ง (1-2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
               
        - เปิดน้าดินโคนต้นให้แสงแดดส่องทั่วถึง
               
        - ทำร่องระบายน้ำป้องกันน้ำ (ฝน) ขังค้างโคนต้น
          
        - งดน้ำเด็ดขาด
               
          หมายเหตุ :
               
        - วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้มะนาวซึ่งผ่านการบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกมาอย่างสมบูรณ์แบบแล้วแตกใบอ่อน
               
        - การฉีดพ่นทางใบ  “ก่อนฝนตก”  ได้ผลดีกว่าฉีดพ่น  “หลังฝนหยุด”   ดังนั้นจึงต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศเกี่ยวกับฝนอย่างใกล้ชิด
        - จัดเตรียมสูตรสารอาหาร (ตามที่ระบุ) พร้อมกับเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้พร้อมล่วงหน้าสามารถใช้งานได้ทันทีทันใด เพราะการปฏิบัติทุกขั้นตอนและทุกครั้งต่อทุกต้นมะนาวจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาตามกำหนดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ                
        - การปฏิบัติแบบล่วงหน้าก่อนถึงฤดูมรสุม 2-3 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมของต้นจะเสริมให้การปฏิบัติ  “ก่อนฝนตก”  และ  “หลังฝนหยุด”  ได้ผลแน่นอนยิ่งขึ้น
  
      - วันใดเห็นฟ้าปิด (ครึ้มฟ้าครึ้มฝน) ให้ฉีดพ่นทางใบทันทีก่อนฝนตก (อาจจะไม่ตกก็ได้)1 ชม. ในขณะครึ้มฟ้าครึ้มฝนนั้น ในอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์สูงมาก  ซึ่งความชื้นนี้น้ำปริมาณที่มากพอจนทำให้ต้นมะนาวแตกใบอ่อนได้.....ถ้าไม่ได้ฉีดพ่นก่อนฝนตก ให้ฉีดพ่นหลังฝนตกก็ได้ โดยฉีดพ่นทันทีหลังฝนหยุดใบแห้ง
       - ตลอดช่วง ส.ค. ต่อ ก.ย. ถ้ามีฝนตกอย่างต่อเนื่องให้ฉีดพ่นทันที “ก่อนหรือหลัง” ฝนตก หรือถ้าอากาศปิดติดต่อกันหลายๆวัน (ฝนยังไม่ตก) ก็ให้ฉีดพ่นให้ถี่ขึ้น  ทั้งนี้การบำรุงเพื่อ  “กดใบอ่อนสู้ฝน”  นี้ไม่จำกัดจำนวนครั้งฉีดพ่น  หรือสามารถฉีดพ่นแบบวันต่อวันหรือวันเว้นวันได้  แม้แต่ช่วงกลางวัน (วันนี้) ฉีดพ่นให้ทางใบแล้ว ตกกลางคืนมีฝนตกก็ให้ฉีดพ่นทันทีในวันรุ่งขึ้นมีแสงแดด  หรือฉีดพ่นทางใบไปแล้วตอนเช้า  ครั้นถึงเที่ยงหรือบ่ายมีฝนตกก็ให้ฉีดพ่นซ้ำอีกหลังฝนหยุดใบแห้งในวันเดียวกันนั้น
       - หลังจากฉีดพ่นสารอาหารกลุ่ม  “กดใบอ่อนสู้ฝน”  ติดต่อกัน 3-4 รอบไปแล้ว  ต้นมะนาวจะเกิดอาการใบแก่โคนกิ่งร่วง  ใบอ่อนปลายยอดเป็นใบแก่  เนื้อใบหนาเขียวเข้มเป็นมัน  กิ่งแขนงชูชี้ขึ้น  มองจากภายนอกระยะไกลเห็นความสมบูรณ์ทรงพุ่มชัดเจน               
         - ถึงช่วงปลายเดือน ก.ย. ต่อต้นเดือน ต.ค. ถ้าไม่มีฝนลงมาอีก  มะนาวก็จะออกดอกโดยไม่ต้องลงมือเปิดตาดอกอีก.......หลังจากมะนาวออกดอกแล้วก็ให้บำรุงตามขั้นตอนปกติต่อไป
               
         - เทคนิคบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดูด้วยวิธีการ “รัดกิ่ง” ร่วมกับ “สารพาโคลบิวทาโซล” โดยใช้พาโคลบิวทาโซล อัตรา 0.5 กรัม/พื้นที่ทรงพุ่ม 1 ตร.ม. จะทำให้มะนาวออกดอกในฤดูลดลง  แต่จะออกดอกนอกฤดูเพิ่มขึ้น
    
         - มะนาวที่ต้นสมบูรณ์มากจนบ้าใบให้ราดด้วยพาโคลบิวทาโซล ชนิด 10%
อัตรา 15 กรัม/พื้นที่ทรงพุ่ม 1 ตร.ม. จะช่วยหยุดการแตกใบอ่อน ใบเดิมจะแก่จัดแล้วเกิดอาการอั้นตาดอก เมื่อลงมือเปิดตาดอกก็จะออกดอกได้ง่าย
      






ปลูกมะนาวนอกฤดู พันธุ์ตาฮิติในวงบ่อซีเมนต์

ที่แปลงสาธิตการปลูกมะนาวนอกฤดูพันธุ์ตาฮิติ ของมูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งร่วมกับ นิคมสหกรณ์สวรรคโลก จ.สุโขทัย และสหกรณ์หมู่บ้านสายใจไทยศรีนคร จำกัด ตลอดมามีผู้คนให้ความสนใจเดินทางเข้าไปศึกษาเรียนรู้เพื่อนำมาเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะในช่วงที่มะนาวมีราคาดี
                                            
มะนาวพันธุ์ตาฮิติ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ต้านทานต่อโรคทุกชนิดที่เกิดกับมะนาวหรือพืชตระกูลส้ม ให้ผลผลิตทั้งปี โดยไม่ต้องบังคับ โดยจะให้ผลผลิตมากที่สุดในช่วงฤดูฝน  ส่วนการดูแลรักษา เพียงแค่ใส่ปุ๋ยคอกมูลสัตว์ ปีละ 2 ครั้ง และถ้ามีแมลงศัตรูพืชรบกวน ก็จะใช้น้ำหมักที่สกัดจากสมุนไพร ฉีดพ่นโดยไม่ต้องใช้สารเคมีแม้แต่น้อย ไม่ชอบความแห้งแล้ง เมื่อเริ่มออกดอก อีก 5-6 เดือนนับจากนั้น ก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้อายุ 5 ปีขึ้นไปต้นใหญ่ จะให้ผลผลิตมากถึง 500 ลูกต่อต้น น้ำหนักประมาณ 12 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม
   
ส่วนการปลูกเพื่อให้มีผลผลิตนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ ระยะปลูกระหว่างต้น 1.20 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.50 เมตร ปลูกแบบแถวคู่แล้วเว้นทางเดิน 2 เมตร พื้นที่ปลูกปรับให้เรียบวางวงบ่อซีเมนต์เป็นเลขคู่เพื่อง่ายต่อการวางระบบน้ำและคำนวณแรงดันน้ำ ขนาดของวงบ่อซีเมนต์ใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม.
 
ใช้วัสดุปลูกหลัก 3 ชนิด ประกอบด้วย หน้าดิน 3 ส่วน ขี้วัวเก่า 1 ส่วน และเปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์ให้พูน เหยียบวัสดุปลูกขอบ ๆ วงบ่อ บริเวณตรงกลางไม่ต้องเหยียบ 
   
หลังจากที่ใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว ขุดเปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว ถอดถุงดำปลูกต้นมะนาวให้พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบ ๆ ต้น เพื่อไม่ให้โยกคลอน ปัก ไม้เป็นหลักกันลมโยกและแนะนำให้ใช้ตอกมัดต้นมะนาวไว้กับหลัก ตอกจะผุเปื่อยหลังจากปลูกไปนานประมาณ 2 เดือนต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้วปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ได้ตลอดทั้งปี
   
การบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งในรุ่นแรกให้ปลูกต้นมะนาวในช่วงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในปีเดียวกันบังคับต้นให้ออกดอกได้โดยใช้หลักการเหมือนกับที่ปลูกลงดิน ผลผลิตมะนาวฤดูแล้งจะไปแก่และเก็บผลผลิตขายได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีถัดไป เท่ากับว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น เกษตรกรสามารถเก็บมะนาวฤดูแล้งขายได้แล้ว
   
ตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ทุก ๆ 3 ปี โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งและปลิดผลทิ้งทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม ในช่วงปีที่ 1-2 จะตัดแต่งบ้างแต่ไม่มากนัก ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม บำรุงต้นและสะสมอาหารเพื่อจะกระตุ้นการออกดอกรุ่นแรกในเดือนสิงหาคมต่อไป.




ที่มา  http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=53248


                    

การทดสอบวิธีการผลิตมะนาวนอกฤดู
กับมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกด้วยต้นตอ


4. คณะผู้ดำเนินงาน
หัวหน้าโครงการวิจัย นายทวีศักดิ์ แสงอุดม สังกัด สถาบันวิจัยพืชสวน
หัวหน้าการทดลอง นายวสันติ์ ผ่องสมบูรณ์ สังกัด ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร
ผู้ร่วมงาน(การทดลอง) นายพินิจ เขียวพุ่มพวง สังกัด ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร
นายอนุรักษ์ สุขขารมย์ สังกัด ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร
นายสงคราม ธรรมจารีย์ สังกัด ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร



5. บทคัดย่อ (Abstract)

ปัญหาการขาดแคลนมะนาวในฤดูแล้ง และต้นมะนาวไม่แข็งแรงยั่งยืนในแหล่งปลูกเป็นการค้าต่างๆ ทำให้เกษตรกรเสียโอกาส และมีรายได้น้อยไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อการผลิตมะนาวที่มีคุณภาพได้ตลอดปี การนำเทคโนโลยีของการผลิตมะนาวนอกฤดูมาศึกษาทดสอบกับมะนาวพันธุ์การค้าเมื่อปลูกด้วยการใช้ต้นตอ จึงเป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงทำการศึกษาทดสอบประสิทธิภาพของเทคนิคการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินอัตรา 0.25 และ 0.50 กรัม เนื้อสารต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร เปรียบเทียบกับวิธีการไม่บังคับการออกดอก (control) กับต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่ปลูกด้วยต้นตอจำนวน 5 ชนิดได้แก่ มะนาวพวง มะขวิด rangpur lime ส้ม troyer และ ส้ม volkameriana เป็นต้น มีอายุ 3 – 4 ปี โดยมีมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่ปลูกด้วยกิ่งตอนอายุเท่ากันเป็นต้นเปรียบเทียบ เพื่อทราบความสามารถในการออกดอก และให้ผลผลิตได้ของมะนาวพันธุ์การค้าทั้งนอก และในฤดูกาลซึ่งทำการให้กรรมวิธีทดลองดังกล่าวกับต้นมะนาวทดลอง ในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 และ พ.ศ.2549 ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 ปี ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร

ปรากฏว่า ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพทั้งที่เจริญบนต้นตอชนิดต่างๆ และที่ปลูกด้วยกิ่งตอนมีการตอบสนองต่อเทคนิคดังกล่าวไปในทำนองเดียวกัน สามารถออกดอกได้สูงขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2548 และ พ.ศ.2549 (เฉลี่ย 89.0 – 99.8% และ 82.2 – 89.6% ตามลำดับ) และให้ผลผลิตนอกฤดูในระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเมษายน พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2550 ได้จำนวนเฉลี่ย 343.7 – 471.5 และ 336.8 – 622.5 ผลต่อต้นตามลำดับ

นอกจากนี้ การออกดอกและให้ผลผลิตได้นอกฤดูดังกล่าวยังมีผลดีทำให้ต้นมะนาวมีความสามารถออกดอกและให้ผลผลิตได้ในฤดูกาลที่ตามมาลดลงอย่างมาก จึงช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดในช่วงฤดูกาล การศึกษานี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปศึกษาทดสอบ และ พัฒนาปรับใช้ของเกษตรกรในการวางแผนลงทุนการผลิตมะนาวนอกฤดูเป็นการค้าในแหล่งปลูกต่างๆของประเทศ ส่งเสริมการกระจายการผลิตมะนาวเป็นการค้าได้ตลอดปีมากยิ่งขึ้น


6. คำนำ
มะนาวนอกจากเป็นไม้ผลคู่ครัวไทยแล้วยังเป็นพืชที่มีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อการส่งออกเมื่อพิจารณาถึงความต้องการของตลาดต่างประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีรายงานข้อมูลการนำเข้าของมะนาวจากประเทศไทยในปี 2001 เป็นมูลค่า 101,093 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปริมาณการนำเข้ามะนาวจากไต้หวัน และเวียดนาม มีมูลค่าเพียง 6,669 และ 387 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ (นิรนาม 2546) จึงเป็นแนวทางของการวางแผนการผลิตมะนาวเพื่อการส่งออกสู่ประเทศสาธารณรัฐจีน นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรฯกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้สรุปข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะนาวของประเทศญี่ปุ่นระหว่างปี 1995-2000 เฉลี่ยราว 2,105 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 941ล้านเยน ซึ่งถูกนำเข้าจากประเทศเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา จึงน่าจะเป็นตลาดใหม่ที่เป็นโอกาสของประเทศไทย


ผลผลิตมะนาวในแต่ละปี มีปริมาณมากน้อยไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทำให้การผลิตยังไม่สอดคล้องกับด้านการตลาด ทั้งนี้เนื่องจากยังมีข้อจำกัดจากปัจจัยอิทธิพลสภาพภูมิอากาศแวดล้อมในฤดูกาลต่างๆ เป็นเหตุให้มีปริมาณผลผลิตจำนวนมากตามช่วงฤดูกาลในแต่ละปี ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีหลังการเกี่ยวและการจัดการด้านการเก็บรักษาผลสดนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับเชิงการค้าได้ ตลอดจนการอุตสาหกรรมแปรรูปมะนาวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งด้านการบริโภคและอุปโภคยังมีการขยายตัวได้ช้า ในขณะที่ความต้องการใช้ประโยชน์ยังนิยมการบริโภคผลสดเป็นส่วนมาก ตลาดทั่วไปจึงเน้นการจำหน่ายผลสด


ผลจากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของการบังคับการออกดอกติดผลนอกฤดูกาลและการยับยั้งการให้ผลผลิตในฤดูกาลของมะนาว จนได้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมให้เกิดการกระจายฤดูกาลออกดอกและให้ผลผลิตของมะนาวได้ตลอดปีมากยิ่งขึ้น (รวี, 2540 ; ธำรง และคณะ, 2546 ; วสันติ์, 2546) ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรให้ความสนใจและเริ่มยอมรับนำไปปฏิบัติจัดการสวนเพื่อการบังคับการออกดอกและให้ผลผลิตนอกฤดูกาลอย่างได้ผลเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังมีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูมะนาวอย่างแพร่หลายเพื่อให้ได้ผลผลิตมะนาวนอกฤดูที่มีคุณภาพในปริมาณมากซึ่งมีราคาสูง

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการทราบประสิทธิภาพของวิธีการหรือเทคนิคใหม่ในการควบคุมให้เกิดการกระจายฤดูกาลของการออกดอกและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพของมะนาวได้เพิ่มขึ้นในระบบการปลูกด้วยต้นตอโดยสามารถให้ผลผลิตได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนอกฤดูกาลและลดลงในฤดูกาลปกติ สำหรับนำไปขยายผลในการทดสอบและพัฒนาการปรับใช้องค์ความรู้ดังกล่าวรวมทั้งแนะนำเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตมะนาวในช่วงฤดูกาลที่ตลาดมีความต้องการสูงแก่เกษตรกรผู้ผลิต เป็นแนวทางของการวางแผนการผลิตมะนาวที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเพื่อการผลิตมะนาวจนสำเร็จเป็นการค้าได้ยั่งยืนต่อไป


7. อุปกรณ์และวิธีการ
ศึกษาประสิทธิภาพของเทคนิคการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดิน ปริมาณ 0.5 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตรในสภาพดินเหนียว ในการบังคับการออกดอกและให้ผลผลิตในฤดูแล้ง กับมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกบนต้นตอพืชสกุลส้ม ชนิดต่างๆ ดังนี้คือ ส้มพันธุ์ troyer, ส้มพันธุ์ volkameriana lemon และ มะนาวพันธุ์พวง, มะนาวพันธุ์ rangpur lime อายุต้น 2.5-3 ปี และเปรียบเทียบกับมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอน (check) ซึ่งมีอายุเดียวกันกับต้นมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกด้วยต้นตอ โดยให้กรรมวิธีดังกล่าวแก่ต้นทดลองเดือนกันยายนของแต่ละปีเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน และในแต่ละปีทำการศึกษาความสามารถและช่วงเวลาในการออกดอก และผลผลิตต่อต้นทั้งรุ่นให้ผลผลิตนอกฤดูและในฤดู ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลและรายงานต่อไป


10. ผลและวิจารณ์ผลการทดลอง
จากการทดสอบประสิทธิภาพการใช้วิธีการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการราดทางดินด้วยสารแพคโคลบิวทราโซล ปริมาณ 0.25 และ 0.5 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร กับต้นมะนาวพันธุ์แป้นที่เจริญบนต้นตอต่างชนิดจำนวน 5 ชนิด และต้นมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอน ในการส่งเสริมการออกดอกและผลนอกฤดูโดยเปรียบเทียบกับวิธีการไม่บังคับการออกดอก (control) ปรากฏผลดังต่อไปนี้


(ก) การออกดอกนอกฤดู (off-season flowering)
ต้นมะนาวที่ได้รับวิธีการบังคับการออกดอกดังกล่าว สามารถออกดอกได้หนาแน่นมากใกล้เคียงกันระหว่างเดือน ตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2548 รวมเป็นเวลาประมาณ 40-90 วันหลังการได้รับวิธีการบังคับดังกล่าว เปรียบเทียบกับต้นมะนาวที่ไม่ได้รับการบังคับการออกดอก

ต้นมะนาวพันธุ์แป้นบนต้นตอมะขวิดออกดอกได้มากที่สุด (99.8 ±0.2% และ 96.8 ±2.0%เมื่อได้รับวิธีการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการราดทางดินด้วยสารแพคโคลบิวทราโซลปริมาณ 0.5 และ 0.25 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตรตามลำดับ)

ส่วนต้นมะนาวพันธุ์แป้นบนต้นตอชนิดอื่น 4 ชนิดและต้นมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอนที่ได้รับวิธีการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการราดทางดินด้วยสารแพคโคลบิวทราโซลปริมาณ 0.5 และ 0.25 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร ออกดอกได้หนาแน่นมากใกล้เคียงกัน (ระหว่าง 89.0 – 95.5%)


เมื่อเปรียบเทียบกับการออกดอกนอกฤดูได้ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างต้นมะนาวพันธุ์แป้นทั้งที่เจริญบนต้นตอต่างชนิดดังกล่าวและที่ปลูกด้วยกิ่งตอนที่ไม่ได้รับวิธีการบังคับการออกดอก พบว่า มะนาวแป้นบนต้นตอมะขวิด และบนต้นตอ rangpur lime ออกดอกได้มากที่สุดเฉลี่ย 32.6 ±4.4% และ29.2 ±3.9% ตามลำดับ ในขณะที่ต้นมะนาวพันธุ์แป้นบนต้นตอชนิดอื่นและต้นมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอน มีการออกดอกนอกฤดูได้น้อยที่สุด(เฉลี่ยระหว่าง 12.2 ±1.0% ถึง 14.6 ±3.2%)


(ข) การออกดอกในฤดู (on-season flowering)
จากการศึกษาผลกระทบของการบังคับการออกดอกนอกฤดูด้วยวิธีการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการราดทางดินด้วยสารแพคโคลบิวทราโซลปริมาณ 0.5 และ 0.25 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร ต่อการออกดอกในฤดูที่ตามมา (ม.ค.-เม.ย.2549) ของมะนาวพันธุ์แป้นที่เจริญบนต้นตอชนิดต่างๆ และต้นมะนาวพันธุ์แป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอน พบความแตกต่างของการออกดอกในฤดูช่วงเวลาดังกล่าวระหว่างต้นที่ได้รับกรรมวิธีต่างๆ กล่าวคือ ต้นมะนาวที่ได้รับกรรมวิธีบังคับให้ออกดอกก่อนฤดูมีการออกดอกในฤดูช่วงดังกล่าวได้ลดลง โดยลดลงมากในต้นมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอน (ออกดอกเฉลี่ย 7.6 ±1.2% และ 15.8 ±2.7% ในต้นที่ได้รับการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการราดทางดินด้วยสารแพคโคลบิวทราโซลปริมาณ 0.25 และ 0.5 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตรตามลำดับ ต้นมะนาวพันธุ์แป้นเจริญบนต้นตอ troyer ที่ได้รับกรรมวิธีการบังคับการออกดอกนอกฤดูดังกล่าวออกดอกเฉลี่ย 27.1 ±1.7% และ 28.1 ±4.1% ตามลำดับ และ ต้นมะนาวที่เจริญบนต้นตอชนิดอื่นๆที่ได้รับกรรมวิธีบังคับออกดอกดังกล่าวออกดอกในฤดูเฉลี่ยระหว่าง 28.6 และ 40.6%)


ส่วนต้นมะนาวที่ไม่ได้รับการบังคับการออกดอกดังกล่าว พบว่า ต้นมะนาวพันธุ์แป้นที่เจริญบนต้นตอมะนาวพวง และต้นตอส้ม troyer และมะนาวแป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอนออกดอกหนาแน่น เฉลี่ย 94.1 ±2.7%, 57.2 ±10.5% และ 85.7 ±2.9% ตามลำดับ ในขณะที่มะนาวพันธุ์แป้นบนต้นตอมะขวิด มะนาวพันธุ์แป้นบนต้นตอ volkameriana และมะนาวพันธุ์แป้นบนต้นตอ rangpur lime ออกดอกในฤดูได้น้อย เฉลี่ย 15.4 & plusmn;5.5%, 21.1 ±9.7% และ 29.6±3.9% ตามลำดับ การตอบสนองดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากปริมาณผลรุ่นนอกฤดูที่ติดอยู่บนต้นมีการเจริญและพัฒนามากในช่วงต้นของการออกดอกตามฤดูกาล มีผลยับยั้งการออกดอกได้ (วสันติ์, 2535)


(ค) การให้ผลผลิตนอกฤดูกาล  การให้ผลผลิตนอกฤดูในระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเมษายน พ.ศ.2549 พบว่าต้นมะนาวแป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอนและได้รับการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินปริมาณ 0.25 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร มีผลแก่เก็บเกี่ยวได้มากที่สุดเฉลี่ย 471.5 ±32.9 ผลต่อต้น ในขณะที่ต้นมะนาวแป้นทั้งที่เจริญบนต้นตอและที่ปลูกด้วยกิ่งตอนแต่ไม่ให้ได้รับการบังคับการออกดอกให้ผลผลิตนอกฤดูในช่วงเวลาเดียวกัน เฉลี่ย ระหว่าง 35.4 ±5.3 และ 124.0 ±13.3 ผลต่อต้น


(ง) การให้ผลผลิตในฤดูกาล การให้ผลผลิตในฤดูในระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงกันยายน พ.ศ.2549 พบว่าต้นมะนาวแป้นที่เจริญต้นตอมะขวิดและได้รับการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินปริมาณ 0.25 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร มีผลแก่เก็บเกี่ยวได้น้อยที่สุดเฉลี่ย 61.0 ±7.8 ผลต่อต้น ในขณะที่ต้นมะนาวแป้นทั้งที่เจริญบนต้นตอและที่ปลูกด้วยกิ่งตอนแต่ไม่ให้ได้รับการบังคับการออกดอกให้ผลผลิตนอกฤดูในช่วงเวลาเดียวกัน เฉลี่ย ระหว่าง 430.7 ±46.6 และ 613.2 ±37.0 ผลต่อต้น


1.) ลักษณะการออกดอก
การศึกษาในปีที่สองเป็นการศึกษาทดสอบประสิทธิภาพของเทคโนโลยีของการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินทั้งปริมาณสารฯ0.25 และ 0.5 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร กับต้นมะนาวทดลองเช่นเดียวกันกับและต่อเนื่องจากการศึกษาในปีที่หนึ่ง (2549) ปรากฏผลดังนื้


(ก) ตามธรรมชาติต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพทั้งต้นที่เจริญบนต้นตอต่างๆ และต้นที่ปลูกจากกิ่งตอนมีการออกดอกได้ชุกในฤดูกาลซึ่งพบว่าออกดอกหนาแน่นมากในช่วงเดือนมกราคม 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นมะนาวที่เจริญจากกิ่งตอนออกดอกได้ชุกที่สุด หลังจากนั้นต้นมะนาวทั้งสองประเภทดังกล่าวมีทยอยการออกดอกได้เล็กน้อยประปรายและต่อเนื่อง น่าจะเป็นผลเนื่องมาจากต้นมะนาวมีการติดและพัฒนาของผลตามฤดูกาลที่มาก ทำให้ต้นมะนาวมีความสามารถออกดอกได้ลดลง ซึ่งเป็นลักษณะการตอบสนองของพืชสกุลส้มโดยทั่วไป (วสันติ์ 2535) จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2550 มีการออกดอกได้ค่อนข้างหนาแน่นอีกระยะหนึ่ง ลักษณะการออกดอกได้มากขึ้นในช่วงดังกล่าว น่าจะเป็นผลมาจากผลมะนาวรุ่นต้นฤดูกาลแก่เต็มที่ และถูกเก็บเกี่ยวไปมาก และเป็นช่วงเวลาที่ต้นมะนาวมีสภาพความเครียดจากการขาดน้ำในช่วงอากาศแห้งแล้งและร้อนมากของเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2550 และเมื่อได้รับน้ำฝนที่ตกในช่วงต้นฤดูฝน จึงมีการผลิใบพร้อมดอกได้ดี ซึ่งเป็นลักษณะการตอบสนองของพืชสกุลส้ม (วสันติ์ 2535) ต่อจากระยะเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา ต้นมะนาวมีการเจริญทางลำต้น กิ่งใบส่วนใหญ่ จึงมีการออกดอกได้ลดลงและต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายฤดูฝน(ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน2550


(ข) จากการศึกษาทดสอบการใช้เทคโนโลยีของการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินทั้งสองอัตราการใช้สารฯในการบังคับการออกดอกของมะนาวเพื่อการผลิตมะนาวนอกฤดู พบว่าต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพทั้งที่เจริญบนต้นตอต่างๆและต้นมะนาวจากกิ่งตอนสามารถตอบสนองออกดอกได้ไม่แตกต่างกัน โดยออกดอกได้หนาแน่นและมีลักษณะเป็นช่อดอกแน่นเป็นกระจุกทั้งบริเวณส่วนข้อของกิ่งและปลายกิ่ง ซึ่งเกิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2549 เปรียบเทียบกับการออกดอกได้น้อยของต้นมะนาวที่ไม่ได้รับการบังคับการออกดอก (control) การตอบสนองการออกดอกนอกฤดูดังกล่าวเป็นผลจากต้นมะนาวได้รับการบังคับการออกดอกด้วยเทคนิคดังกล่าวที่ได้รับการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพ (Blaikie et.al., 1999., ธำรง และคณะ 2546) จนทำให้ต้นมะนาวออกดอกได้ชุกและหนาแน่น เป็นเวลา 40-45 วันหลังจากถูกบังคับด้วยเทคนิคดังกล่าว

(ทำการบังคับการออกดอกด้วยวิธีการผสมผสานดังกล่าวต้นเดือนกันยายน 2548 และ 2549 ของการศึกษารอบปีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ)


อิทธิพลของการควั่นกิ่งต้น (bark girdling) ในการส่งเสริมการชักนำการออกดอกของไม้ผลหลายชนิดได้ เนื่องจากภายหลังจากกิ่งต้นถูกควั่นทำให้ส่วนของเปลือก (bark) ถูกตัดขาด อาหารที่พืชสังเคราะห์ขึ้นไม่สามารถถูกส่งผ่านรอยควั่นไปเลี้ยงส่วนรากมีผลยับยั้งกิจกรรมการดูดรับธาตุอาหารและน้ำของรากจึงมีผลควบคุมให้พืชมีสภาพของการพักตัว สะสมอาหารส่งเสริมขบวนการสร้างและพัฒนาการของดอกตลอดจนการติดผล (Davenport and Nunez, 1997) และเมื่อประยุกต์เทคนิคดังกล่าวผสานกับเทคโนโลยีการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินโดยลดปริมาณสารฯลงครึ่งหนึ่งและหนึ่งในสี่ของปริมาณที่มีการแนะนำให้ใช้กันเป็นการค้าในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าเทคนิคดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการบังคับการออกดอกนอกฤดูของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอต่างๆ ได้แก่ มะนาวพวง มะขวิด ส้ม troyer , ส้ม volkameriana และ rangpur lime เป็นต้น ได้เช่นเดียวกันกับต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่ปลูกด้วยกิ่งตอน ทั้งในงานศึกษาทดลองนี้ และงานการศึกษาทดลองโดย ธำรง และคณะ (2546)


(2) การให้ผลผลิต
(ก) การให้ผลผลิตนอกฤดูกาล
การให้ผลผลิตนอกฤดูในระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเมษายน พ.ศ.2550 พบว่าต้นมะนาวแป้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอนและได้รับการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินปริมาณ 0.25 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร มีผลแก่เก็บเกี่ยวได้มากที่สุดเฉลี่ย 622.5 & plusmn ; 29.3 ผลต่อต้น ในขณะที่ต้นมะนาวแป้นทั้งที่เจริญบนต้นตอและที่ปลูกด้วยกิ่งตอนแต่ไม่ให้ได้รับการบังคับการออกดอกให้ผลผลิตนอกฤดูในช่วงเวลาเดียวกัน เฉลี่ย ระหว่าง 54.3 & plusmn ; 5.2 และ 115.5 & plusmn ; 5.5 ผลต่อต้น


(ข) การให้ผลผลิตในฤดูกาล
การให้ผลผลิตในฤดูในระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงกันยายน พ.ศ.2550 พบว่าต้นมะนาวแป้นที่เจริญบนต้นตอมะขวิดและได้รับการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินปริมาณ 0.25 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร มีผลแก่เก็บเกี่ยวได้น้อยที่สุดเฉลี่ย 64.0 & plusmn ; 5.1 ผลต่อต้น ในขณะที่ต้นมะนาวแป้นทั้งที่เจริญบนต้นตอและที่ปลูก
ด้วยกิ่งตอนแต่ไม่ให้ได้รับการบังคับการออกดอกให้ผลผลิตนอกฤดูในช่วงเวลาเดียวกัน เฉลี่ย ระหว่าง 381.0 ±25.8 และ 849.0 ±25.8 ผลต่อต้น


จากการศึกษาและพัฒนาเทคนิคของการบังคับการออกดอกก่อนฤดูของมะนาวในครั้งนี้ยังพบข้อดีของการลดการใช้สารเคมีฯดังกล่าวลงได้อย่างมาก (50% ของอัตราแนะนำการใช้สารแพคโคลบิวทราโซล) ซึ่งนอกจากทำให้ต้นทุน


จากการใช้สารเคมีดังกล่าวลดลงแล้ว ยังลดปัญหาปริมาณของสารเคมีดังกล่าวที่สะสมในดินและในพืชตลอดจนผลตกค้างของสารดังกล่าวต่อความสามารถในการเจริญเติบโตของมะนาวในฤดูกาลและปีต่อไป นอกจากนี้จากการตรวจและติดตามผลกระทบจากการควั่นกิ่งต้น พบว่ารอยแผลที่ถูกควั่นและรัดด้วยเชือกและลวดเนื้อเยื่อสามารถเจริญเชื่อมกันได้ดีภายในระยะเวลา 3 - 4 เดือน หลังจากการปลดเชือกและลวดหรือเมื่อมะนาวออกดอกแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังได้ศึกษาผลกระทบต่อต้นมะนาวที่ได้รับวิธีการต่างๆในการบังคับการออกดอกก่อนฤดูกาลในความสามารถออกดอกและติดผลได้ตามฤดูกาลของปีในระยะเวลาต่อมา ซึ่งพบว่าต้นมะนาวมีความสามารถในการออกดอกและให้ผลผลิตในฤดูกาลได้ลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ได้รับการบังคับการออกดอกนอกฤดูกาล


นอกจากนี้ยังศึกษาทดลองต่อเนื่องพบว่าเมื่อมีการใช้เทคนิคต่างๆในการบังคับการออกดอกนอกฤดูแก่ต้นทดลองเดิมซ้ำเป็นปีที่สองปรากฏว่าต้นทดลองยังสามารถแสดงการตอบสนองเพื่อการออกดอกและผลนอกฤดูได้ตามปกติเช่นเดียวกับต้นมะนาวที่ไดัรับการบังคับการออกดอกได้ในปีแรก ดังนั้นในการศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไปจึงน่าที่จะมีการศึกษาหาแนวทางควบคุมให้เกิดการกระจายฤดูกาลผลิตมะนาวได้ตลอดปี และการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรในการนำไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จเป็นการค้าได้เพิ่มมากขึ้น


11.สรุปผลการทดลอง
จากการศึกษาทำการศึกษาทดสอบประสิทธิภาพของเทคนิคการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดินอัตรา 0.25 และ 0.50 กรัมเนื้อสารต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร เปรียบเทียบกับวิธีการไม่บังคับการออกดอก (control) กับต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่ปลูกด้วยต้นตอจำนวน 5 ชนิดได้แก่ มะนาวพวง มะขวิด rangpur lime ส้ม troyer และส้ม volkameriana เป็นต้น มีอายุ 3 – 4 ปี โดยมีมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่ปลูกด้วยกิ่งตอนอายุเท่ากันเป็นต้นเปรียบเทียบ โดยให้กรรมวิธีทดลองดังกล่าวกับต้นมะนาวทดลอง
ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2548 และ 2549 ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 ปี ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร ปรากฏผลการทดลองดังต่อไปนี้


1.) ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพทั้งที่เจริญบนต้นตอชนิดต่างๆ และที่ปลูกด้วยกิ่งตอนมีการตอบสนองต่อเทคนิคดังกล่าวไปในทำนองเดียวกัน สามารถออกดอกได้สูงขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2548 และ พ.ศ.2549 (เฉลี่ย 89.0 – 99.8% และ 82.2 – 89.6% ตามลำดับ) และให้ผลผลิตนอกฤดูในระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เมษายน พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2550 ได้จำนวนเฉลี่ย 343.7 – 471.5 และ 336.8 – 622.5 ผลต่อต้นตามลำดับ


2.) ต้นมะนาวที่ได้รับกรรมวิธีบังคับให้ออกดอกก่อนฤดูมีการออกดอกในฤดูที่ตามมาได้ลดลง ออกดอกเฉลี่ยระหว่าง 7.6 และ 40.6% ในปี 2549 และ เฉลี่ยระหว่าง 17.6 และ 32.6% ในปี 2550 ในต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพทั้งที่เจริญบนต้นตอชนิดต่างๆ และที่ปลูกด้วยกิ่งตอน และมีการให้ผลผลิตในฤดูที่ตามมาลดลงตามมาด้วย


3.) ลักษณะการตอบสนองของต้นมะนาวดังกล่าวส่งเสริมการกระจายผลผลิตในฤดูกาลต่างๆออกจำหน่ายตลาดได้มากยิ่งขึ้น


คำแนะนำ และข้อควรระวัง
การนำเทคโนโลยีของการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับการราดสารแพคโคลบิวทราโซลทางดินไปใช้ในการบังคับมะนาวนอกฤดูเป็นการค้าได้อย่างยั่งยืน ผู้ใช้ควรทำความเข้าใจและพิจารณาถึงสภาพความแข็งแรงสมบูรณ์ของต้นมะนาวที่พร้อมต่อการให้ผลผลิตได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมของต้นก่อนการให้ได้รับการบังคับการออกดอกโดยมีการปฏิบัติบำรุงดูแลสภาพต้นทางด้านเขตกรรมและอารักขาพืชที่เหมาะสม การปฏิบัติต่อต้นด้วยเทคนิคดังกล่าวอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นต้นมะนาวอาจทรุดโทรม ไม่ให้ผลผลิตและตายในที่สุด


12.การนำไปใช้ประโยชน์
เทคโนโลยีการควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือกร่วมกับการให้สารแพคโคลบิวทราโซลทางดิน ได้ถูกนำไปบรรจุไว้ในเอกสารทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีการผลิตมะนาวไทย. กรมวิชาการเกษตร (วสันติ์ และ ไพโรจน์. 2548) และถูกนำไปพัฒนา และประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการผลิตนอกฤดูกาลของไม้ผลอื่นๆได้แก่ ส้มโอ เงาะ ลำไย และลิ้นจี่ เป็นต้น (พาวิน และคณะ.2543 ; วัชระพล และ ธนะชัย.2550 ; วสันติ์ และคณะ, อยู่ในระหว่างการวิจัย และ ปัญจพร และคณะ,อยู่ในระหว่างการวิจัย)



13.เอกสารอ้างอิง
ธำรง ช่วยเจริญ, วสันติ์ ผ่องสมบูรณ์, อนุรักษ์ สุขขารมย์ และ ไชยวัฒน์ วัฒนไชย. 2546. การใช้สารแพคโคลบิวทราโซลและเทคนิคการควั่นและรัดกิ่งต้นเพื่อควบคุมการผลิตมะนาวนอกฤดู.

วารสารวิชาการเกษตร 21(2) : 136-151.


นิรนาม. 2546. มองตลาดผลไม้ ผ่านสายตาสภาธุรกิจไทย-จีน. เทคโนโลยีชาวบ้าน.15 (316) : 54-55.


พาวิน มโนชัย, วรินทร์ สุทนต์, วินัย วิริยะอลงกรณ์, เสกสันต์ อุสสหตานนท์ และนพดล จรัสสัมฤทธิ์. 2543. ผลของการควั่นกิ่งต่อการออกดอกของลำไยพันธุ์เพชรสาครทะวาย. วารสารเกษตร 16(2) :117-123.


รวี เสรฐภักดี 2540. เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดู.เอกสารประกอบการบรรยายแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวของพื้นที่อำเภอท่ายางและอำเภอใกล้เคียงอื่นๆจังหวัดเพชรบุรี วันที่ 20 ธันวาคม 2540 ณ วัดเขื่อนเพชรโค้งข่อย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี.


วัชระพล สิงหากัน และธนะชัย พันธุ์เกษมสุข. 2550.ผลของโพแทสเซียมคลอเรตร่วมกับพาโคลบิวทราโซลที่มีต่อการออกดอกของลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ์. วารสารเกษตร 23(1) :11-15.


วสันติ์ ผ่องสมบูรณ์. 2535. ปัจจัยควบคุมการออกดอกและติดผลของพืชตระกูลส้ม. วิทยาสารสถาบันวิจัยพืชสวน.14(10) : 61-64.


วสันติ์ ผ่องสมบูรณ์. 2546. ยุทธวิธีในการผลิตมะนาวฤดูแล้ง. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องสารควบคุมการเจริญเติบโตพืชและการผลิตผลไม้นอกฤดูกาล วันที่ 7-10 กรกฎาคม 2546 ณ ห้องประชุมโรงแรมเคยูโฮม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขน จตุจักร กรุงเทพฯ.จัดโดย สถาบันพัฒนาครูอาชีวศึกษา, กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.


วสันติ์ ผ่องสมบูรณ์. และ ไพโรจน์ สุวรรณจินดา. 2548. เทคโนโลยีการผลิตมะนาวไทย. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 96 หน้า.



ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร


6.




หน้าก่อน หน้าก่อน (4/7) - หน้าถัดไป (6/7) หน้าถัดไป


Content ©