-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 412 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะขวิด




หน้า: 3/4








มะคาเดเมีย

เมื่อเอ่ยชื่อ "มะคาเดเมีย" หลายคนรู้จัก แต่อีกหลายคนไม่ทราบว่า คืออะไร มะคาเดเมีย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในออสเตรเลีย แต่ไปเจริญเติบโตและขยายพันธุ์อย่างเป็นล่ำเป็นสันที่ฮาวาย เข้ามาสู่เมืองไทยเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว จนถึงบัดนี้ มะคาเดเมียก็ยัง''ไม่ใช่พืชที่แพร่หลายเหมือนพืชที่มาจากประเทศอื่น

ประวัติมะคาเดเมีย
สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ โดย คุณเสงี่ยม แจ่มจำรูญ และคณะ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมะคาเดเมียไว้เมื่อปี 2541 ค่อนข้างละเอียด จึงจะขอนำสาระสำคัญบางตอนมาเสนอท่านผู้อ่าน ขอเริ่มจากประวัติของมะคาเดเมียกันก่อน เพื่อจะได้รู้จักพืชชนิดนี้ดียิ่งขึ้น ว่ากันว่า นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อยาว ๆ และอ่านยากว่า Friedrich Wilhelm Ludwig Leichhardt ค้นพบมะคาเดเมียครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1843 ที่ประเทศออสเตรเลีย บริเวณอ่าวมอร์ตัน ใกล้ ๆ กับเมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ หลังจากตค้นพบแล้วก็ไม่ได้อะไรนอกจากเก็บตัวอย่างพืชไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) ของสวนพฤกษศาสตร์ เมืองเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1857 Boron Sir Ferdinand Jacob Heinrich von Mueller ชาวเยอรมันอีกเช่นกัน ร่วมกับ นาย Walter Hill ชาวสก็อต ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ของเมืองบริสเบน ได้สำรวจพบมะคาเดเมียบริเวณแม่น้ำไพน์ อ่าวมอร์ตัน รัฐควีนส์แลนด์ เป็นมะคาเดเมียแบบผลเล็ก Sir Mueller จึงได้ขอจดทะเบียมะคาเดเมียที่พบนี้เป็นพืชสกุลใหม่ชื่อว่า "Macadamia" เพื่อเป็นเกียรติแก่เพื่อนสนิทที่เคารพรักใคร่ คือ ดร.John Macadam ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาเคมีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น Sir muellerr และนาย Walter Hill จึงถือว่ากันว่าเป็นผู้ค้นพบมะคาเดเมียที่แท้จริง เพราะพบแล้วไปขอจดทะเบียนระบุชื่อเป็นหลักฐาน

แม้จะมีการค้นพบมะคาเดเมียในออสเตรเลีย แต่ก็มิได้มีใครสนใจจะขยายพันธุ์หรือปลูกในเชิงการค้า จนกระทั่งปี ค.ศ. 1881 นาย William Herbert Purvis ชาวสก็อตที่ไปทำงานที่โรงงานน้ำตาลที่เกาะฮาวาย ได้นำมะคาเดเมียชนิดผลผิวเรียบจากออสเตรเลียไปทดลองปลูกที่ฮาวาย ว่ากันอีกว่า มะคาเดเมียชุดแรกที่นำไปจากออสเตรเลีย ไปปลูกที่ฮาวายนั้นขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ อายุเห็นที่จะปาเข้าไปเกือบ 120 ปีแล้ว แหล่งข่าวกล่าวว่ายังให้ผลผลิตดี

ยังมีอยู่ที่นำมะคาเดเมีย ชุดที่ 2 จากออสเตรเลีย มาปลูกที่ฮาวายอีก เมื่อปี ค.ศ. 1892 คือ นาย Edward Walter และ นาย Robert Alfred Jordan สองพี่น้องซึ่งนิยมพืชแปลก ๆ

มีผู้ยืนยันว่า มะคาเดเมียที่เข้ามาสู่ฮาวายทั้ง 2 ชุดนี้ ได้มีการนำมาขยายพันธุ์ปลูกกันจนทั่วทั้งหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 เกาะ แต่ที่มีการปลูกมากและมีความสำคัญทางการเกษตรและเศรษฐกิจ มีอยู่ 4 เกาะ คือ Kauai Oahu Maui และ Hawaii

ต่อมาได้มีหน่วยงานของรัฐได้ส่งเสริมให้มีการปลูกมะคาเดเมียในลักษณะของการปลูกป่าพร้อมทั้งกระตุ้นให้ภาคเอกชนสนใจปลูกพืชชนิดนี้มากขึ้นโดยการบอกว่าจะยกเว้นภาษีที่ดินให้ และมีผู้ที่นำเมล็ดมะคาเดเมียมาหว่าน ตามทางเดินบนเทือกเขา แต่มะคาเดเมียที่ปลูกด้วยเมล็ดเหล่านี้ สามารถคัดเลือกเป็นต้นพันธุ์ดีได้เพียง 1 ใน 10,000 ต้นเท่านั้น จึงเป็นอุทธาหรณ์ว่า การปลูกมะคาเดเมียไม่ควรปลูกด้วยเมล็ดเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามมีผู้ยืนยันอีกว่า ประวัติดั้งเดิของมะคาเดเมียจริง ๆ นั้น พบว่ามีทั้งหมด 10 ชนิด อยู่ในออสเตรเลีย 6 ชนิดอยู่ที่เกาะเซเลเบส แถวสุมาตรา อินดโนีเซีย 1 ชนิด อีก 3 ชนิด อยู่ในหมู่เกาะคาลเลโดเนียใหม่เป็นหมู่เกาะใกล้กับปาปัวนิวกินี แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น ที่นำมารับประทานเนื้อและเป็น 2 ชนิดที่อยู่ในออสเตรเลีย

มะคาเดเมียในประเทศไทย
ช่วงที่ฮาวายทำการคัดพันธุ์ มะคาเดเมียอยู่นั้น องค์การยูซ่อม (USOM) ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยส่งเมล็ดพันธุ์มะคาเดเมียมาให้กรมกสิกรรมจำนวนหนึ่ง นำมาปลูกไว้ที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย จากนั้นได้ส่งไปปลูกที่สถานีกสิกรรมพลิ้ว (ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ในปัจจุบัน) จำนวน 4 ต้น สถานีกสิกรรมแม่โจ้ (ปัจจุบันคือศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่) จำนวน 3 ต้น สถานีกสิกรรมฝาง (ปัจจุบันคือสถานีทดลองพืชสวนฝาง) จำนวน 10 ต้น และสถานีกสิกรรมดอยมูเซอ (ปัจจุบันคือสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ) จำนวน 8 ต้น แต่เนื่องจากเป็นต้นที่ปลูกด้วยเมล็ด จึงเป็นมะคาเด
เมียที่เติบโตขึ้นมาอย่างไม่สมบูรณ์นัก ให้ผลผลิตบ้าง ไม่ให้ผลผลิตบ้าง ประกอบกับขาดการเกลียวแลเอาใจใส่จึงตายไปบ้างเหลืออยู่เพียงไม่กี่ต้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เจ้าของไร่ชาระมิงค์ อำเภอเชียงดาว จังหวีดเชียงใหม่ ได้ติดต่อของพันธุ์มะคาเดเมียจากมหาวิทยาลัยฮาวาย และ ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ ปลัดกระทรวงเกษตรในขณะนั้น ได้เจรจาของพันธุ์มะคาเดเมีย จากนายบารอนโกโด้ (ไม่ทราบว่าเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่การงานอะไร) ซึ่งนายบารอน ได้เจรจาขอพันธุ์มะคาเดเมีย จากมหาวิทยาลัยฮาวายให้กระทรวงเกษตรของไทย การเจรจาของทั้ง 2 ท่าน ปรากฎว่า ประสบผลสำเร็จ ได้กิ่งพันธุ์มะคาเดเมียมา 3 พันธุ์ เป็นพันธุ์หมายเลข 246 333 และ 508 โดยมีนายฟูกะนากะ เป็น
ผู้นำกิ่งพันธุ์มะคาเดเมียมาให้ ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมกสิกรรมเดินทางไปกับผู้เชี่ยวชาญมะคาเดเมีย คือ นายฟูกะนากะ เพื่อไปศึกษาการขยายพันธุ์แบบเสียบยอด เสียบข้าง กับต้นตอมะคาเดเมียที่เตรียมไว้แล้วในที่ต่าง ๆ คือ ที่ไร่ชาระมิงค์ ที่ฟาร์มแม่มาลัย (อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่) รวม 254 กิ่ง ที่สถานีกสิกรรมฝาง 9 กิ่ง สถานีกสิกรรมดอยมูเซอ 13 กิ่ง

ต่อมาอีกประมาณ 1 เดือน นายฟูกะนากะ ได้ส่งกิ่งพันธุ์มาให้กระทรวงเกษตรอีก และกระทรวงเกษตรได้มอบให้กรมกสิกรรมไปเสียบกิ่งในที่ต่าง ๆ อีก คือ ที่สถานีกลิกรรมฝาง เป็นกิ่งพันธุ์หมายเลข 660 333 และ 695 ไร่ชาระมิงค์ ของนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี กิ่งพันธุ์หมายเลข 246 333 และ 508 สำหรับพันธุ์ที่ใช้ปลูกเป็นต้นตอ ได้แก่ พันธุ์หมายเลข 695 ส่วนพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าใหม่ ๆ ได้แก่ พันธุ์หมายเลขที่ขึ้นต้นด้วยเลข 7 เป็นส่วนใหญ่

การปลูกมะคาเดเมียในคราวนั้น ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร พอท่านทั้ง 2 คือ นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี และ ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ สิ้นชีวิต ก็ไม่มีใครสานต่อปณิธานของทั้ง 2 ท่าน ไม่มีใครสนใจมะคาเดเมียปล่อยให้ตายไปบ้าง ไม่สนใจจะบันทึกข้อมูลใด ๆ จนไม่ทราบว่าต้นไหนพันธุ์อะไร

จนกระทั่ง พ.ศ. 2515 นายไพโรจน์ ผลประสิทธิ์ กองค้นคว้าและทดลอง กรมกสิกรรมได้ติดต่อขอพันธุ์มะคาเดเมียที่เสียบกิ่งเรียบร้อยแล้ว จากมหาวิทยาลัยฮาวายมาได้อีก 4 พันธุ์ นำมาทดลองปลูกที่สถานีกสิกรรมฝางเป็นพันธุ์หมายเลข 246 333 508 และ 660 ทั้งพันธุ์เริ่มเก็บผลผลิตได้ในปี พ.ศ. 2520 แต่ก็ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่มากนัก ไม่ใคร่ได้มีการบำรุงรักษาสักเท่าไร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 มีบริษัทเอกชน ชื่อ บริษัท JFB จำกัด โดยนายอวยชัย วีรวรรณได้ติดต่อกับประเทศออสเตรเลีย สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์มะคาเดเมียเข้ามาประมาณ 200 กิโลกรัมให้กรมวิชาการเกษตร 150 กิโลกรัม และให้นายประภัตร สิทธิสังข์ เจ้าของสวนมะม่วงรายใหญ่ที่เชียงให ม่50 กิโลกรัม กรมวิชาการเกษตรสั่งซื้อต้นพันธุ์ที่ทาบกิ่งแล้วขนาดเล็ดเข้ามา จำนวน 500 ต้น โดยสั่งเข้ามาแบบ "ล้างราก" คือ ล้างดินออกหมด
เหลือแต่รากอย่างเดียว มีเปอร์เซ็นต์ตาย 10 - 15% แล้วแต่พันธุ์ ต้นที่ราดตายแบ่งไปปลูกที่ สวนวังน้ำค้างของ นายพันธุ์เลิศ บูรณะศิลปิน จำนวน 40 ต้น ส่วนที่เหลือทั้งหมดนำไปปลูกที่สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่

กรมวิชาการเกษตร ได้ขอผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะคาเดเมีย จากรัฐนิวเซาท์เวล ออสเตรเลีย มาช่วยในการให้คำแนะนำ ศึกษาค้นคว้า ซึ่งออสเตรเลียได้ส่ง นายทิม โทรคูลิส เข้ามาสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกมะคาเดเมีย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2527 และได้สั่งพันธุ์มะคาเดเมียเข้ามาปลูกอีก 8 พันธุ์ รวม 1,200 ต้น โดยใช้งบประมาณของ กปร. ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงศักยภาพของมะคาเดเมีย ที่สามารถจะพัฒนาเป็นพืช เศรษฐกิจของไทยในอนาคต

มะคาเดเมียที่สั่งเข้ามาครั้งหลังสุดนี้นำไปปลูกที่ศูนย์อำนวยการเกษตรที่สูงแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราและศูนย์วิจัยพืชสวน สถานีทดลองพืชสวน สถานีทดลองเกษตรที่สูง สถานีทดลองยางรวมทั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามพระราชดำริในภูมิภาคต่าง ๆ รวม 15 แห่ง ทั่วประเทศ นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้สั่งซื้อพันธุ์มะคาเดเมียมาจากออสเตรเลียอีก 2 พันธุ์ คือ โอซี่ และ เอชฮาวาย รวมเป็นพันธุ์มะคาเดเมียที่เป็นพันธุ์ปลูกเพื่อการค้า และอุตสาหกรรมที่มีอยู่ขณะนี้ 10 พันธุ์

พร้อม ๆ กับการสั่งซื้อต้นพันธุ์ทั้ง 8 พันธุ์มาจากออสเตรเลีย กรมวิชาการเกษตร ได้สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์เข้ามาพร้อมกันด้วย 200 กิโลกรัม นำมาเพาะเมล็ด มีเมล็ดที่งอกได้ต้นพันธุ์เพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อต้นพันธุ์อายุ 12-18 เดือน ก็ได้สั่งกิ่งพันธุ์เข้ามาเสียบขยายพันธุ์ปัจจุบันมีแปลงต้นพันธุ์มะคาเดเมียขนาดใหญ่ 100 - 200 ไร่ อยู่ที่สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี จังหวัดเชียงราย สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ จังหวัดเลย รวมพื้นที่ทั้ง 3 แห่งประมาณ 500 ไร่ สามารถขยายพันธุ์ได้ปีละ 35,000 - 50,000 ต้น


มะคาเดเมีย….พืชเคี้ยวมัน
มะคาเดเมีย จัดเป็นพืชเคี้ยวมัน หรือ nut มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Macadamia integrifolia Maiden and Betche อยู่ในวงศ์ Proteaceae เป็นพืชยืนต้น ลำต้นสูงตั้งตรง ทรงพุ่มลักษณะคล้ายปิรามิด ใบมีลักษณะเหมือนหอกหัวกลับ ใบแก่สีเขียวเข้ม ขอบใบมีหนามเล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อยาว ติดผลเป็นช่อ ผลมีเปลือกแข็งหนา มีเปลือกแข็งอีกชั้นหนึ่งหุ้มเนื้อใน เรียกว่า กะลา ในกะลามีเมล็ดเป็นเนื้อแน่นสีขาว รับประทานได้ ในเอกสารของสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ ระบุว่า ชื่อ Macademia ถ้าจะอ่านออกเสียงให้ถูกต้อง ต้องเน้นหนักที่พยางค์แรก คือ ต้องอ่านว่า
"แมค-คา-เด-เมีย" อย่างไรก็ดี มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงขอให้เขียนเป็นภาษาไทยว่า "มะคาเดเมีย" เพราะคนไทยชอบเรียวผลไม้นำหน้าด้วยคำว่า "มะ" และผู้ที่คลุกคลีอยู่กับมะคาเดเมีย ก็มักจะเรียกชื่อสั้นๆ ว่า "มะคา" เป็นอันรู้กันว่า ถ้าเรียก "มะคา" หมายถึง "มะคาเดเมีย" ในเชิงวิชาการจริงๆ การปลูกมะคาเดเมียต้องคำนึงถึงปัจจัย และสิ่งแวดล้อม ต่างๆ มากมาย ทั้งอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน การให้น้ำ ความชื้น ไม้บังลม
 
ดิน
บริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก วิธีการปลูก การเตรียมหลุมปลูก การวางผังปลูกเพื่อให้มีการผสมข้ามการบังคับทรงต้น การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยวโรค และแมลงศัตรูที่ต้องป้องกันกำจัด ในที่นี้จะขอนำข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกมะคาเดเมีย ของ คุณจำรอง ดาวเรือง ผู้อำนวยการสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง ซึ่งนับเป็น "เซียนมะคา" คนหนึ่งมาเสนอ โดยสรุปพอเป็นแนวทางในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจปลูกได้


การปลูกมะคาเดเมีย
ระยะปลูกระหว่างต้น - แถว 8x10 เมตร และปลูกพืชแซมในระหว่างแถวช่อง 10-12 ปีแรก ได้แก่ กาแฟ , สตรอเบอรี่, ผัก เป็นต้น ขนาดหลุม75 x 75 x 75 เซนติเมตร หรือ 1 x 1 x 1 เมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ของดินรองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟตหลุมละ 1-2 กิโลกรัม และใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์ เช่น เศษซากพืชแห้ง แกลบหรือปุ๋ยหมัก คลุกเคล้ากับดิน

การใส่ปุ๋ย
ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 , 12-12-17-2 และยูเรียโดยปีที่ 1,2,3 และ 4 ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ต้นละ 400 , 800, 1,200 และ 1,800 กรัม และผสมยูเรีย 45, 90, 135 และ 180 กรัม ตามลำดับ ส่วนปีที่ 5 เป็นต้นไป ใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 อัตรา ต้นละ 2.5 กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นปีละ 500 - 600 กรัมและผสมยูเรียเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ และโปแตสเซียม 15% ของปุ๋ยสูตร ทุกปี ปุ๋ยแห่งใส่ปีละ 4 ครั้ง คือ ช่วง 3 เดือน ก่อนออกดอก (ต.ค.-พ.ย.) ระยะติดผลขนาดเล็ก ระยะต้นฝน และปลายฝน

การให้น้ำ
ควรให้น้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ระยะติดผลและผลกำลังพัฒนาไม่ควรขาดน้ำ

การตัดแต่งกิ่ง
มะคาเดเมียมีการตัดแต่งน้อยมาก เพราะจะออกดอกภายในทรงพุ่มเป็นส่วนใหญ่ และออกจากกิ่งแขนงเล็กๆ อายุประมาณ 2 ปี การตัดแต่งจะทำระยะแรก ที่เริ่มปลูกคือ 6-12 เดือนแรก ต้องบังคับให้มีกิ่งหรือต้นประธานเพียง 1 กิ่ง เมื่อกิ่งประธานสูงเกิน 80-100 เซนติเมตร และยังไม่แตกกิ่งข้างต้องเด็ดยอดกิ่งประธานออก เพื่อให้กิ่งข้างแตกอย่างน้อย 2-3 กิ่ง และเลือกกิ่งตั้งตรงเพื่อใช้เป็นกิ่งประธาน ต่อไป หลังติดผลจะตัดเฉพาะกิ่งที่เป็นโรคและแน่นเกินไป

การขยายพันธุ์
ทาบกิ่ง ติดตา เสียบยอด โดยใช้ต้นตอจากการเพาะเมล็ด

การเก็บเกี่ยว
บนที่สูงออกดอกช่วง พ.ย. - ธ.ค. และ ก.ค. - ส.ค. อายุตั้งแต่ดอกบานถึงแก่ประมาณ 6 - 9 เดือน ขึ้นกับบริเวณปลูกยิ่งสูงยิ่งเก็บช้า มะคาเดเมียเมื่อแก่จะร่วงลงพื้น หลังเก็บผลต้องรับกะเทาะเปลือกเขียวข้างนอกออก เพราะถ้าผลกองรวมซ้อนกันมากๆ จะเกิดความร้อนทำให้เนื้อในคุณภาพไม่ดี การเก็บเมล็ดหลังกะเทาะเปลือกนอกออก ควรผึ่งในที่มีผมผ่านสะดวก หรือวางบนตะแกรงเป็นชั้นๆ เพื่อลดความชื้นขณะรอส่งขายหรือก่อนเข้าตู้อบเพื่อกะเทาะเปลือกแข็ง


ผลผลิต
หลังปลูก 4-5 ปี เริ่มให้ผลผลิตปีแรก 1-3 กิโลกรัม ต่อต้น และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี 10 ปีขึ้นไป ให้ผลผลิต 20-30 กิโลกรัม ต่อต้น อายุ 20 ปีขึ้นไป 40 - 60 กิโลกรัมต่อต้น อายุให้ผลผลิตยาวนานไม่น้อยกว่า 50 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

การขายผลผลิต
อาจขายเป็นเมล็ดทั้งกะลา ความชื้นประมาณ 10-15 % หรือ กะเทาะกะลาออกและขายเนื้อในดิบ ความชื้นประมาณ 3-5 %

โรคและแมลงศัตรูพืช
โรคและแมลงศัตรูอื่นๆ มีน้อยมาก

โรคที่สำคัญ
โรคโคนเน่าหรือเปลือกผุ ใช้สารพวก แคปเทนพ่นที่ต้นและราด

แมลงที่พบ
- แมลงค่อมทอง กัดกิน ยอดอ่อน ใช้ยาเซฟวินฉีดพ่นช่วงระบาด
- หนอนแทะเปลือกลำต้นและเจาะกิ่ง หรือลำต้น มักเข้าทำลายต้นที่มีอายุ 1-3 ปี
- เพลี้ยอ่อน

สัตว์ศัตรู
- หนูแทะเมล็ดทั้งกะลา กำจัดโดยใช้เหยื่อล่อ หรือใช้สังกะสีโอบรอบโคนต้น


ข้อควรคำนึงในการปลูกมะคาเดเมีย
1. พื้นที่ที่มีการระบายน้ำได้ดี มีหน้าดินลึก
2. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,220 - 1500 มิลลิเมตรต่อปี
3. มะคาเดเมียเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 10 - 35 องศาเซลเซียส
- ช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิระดับ 18 องศาเซลเซียส ลงมา นานประมาณ 1 เดือน เพื่อกระตุ้นในการออกดอก
- ช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิไม่ควรเกิน 35 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้กะลาแข็งตัวเร็ว เนื้อในเล็กและพืชชะงักการเจริญเติบโต
4. ต้องการความชื้นสัมพัทธ์ สูงช่วงออกดอกและเริ่มติดผล 75% ขึ้นไป
5. มีแสงแดดอย่างน้อยวันละ 10-12 ชั่วโมง เพื่อปรุงอาหารได้เต็มที่ทำให้เนื้อในมีคุณภาพดีขึ้น
6. ควรปลูกหลายพันธุ์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อช่วยการผสมเกสรข้ามพันธุ์ ทำให้ติดผลมาก
7. ควรมีไม้บังลมเพราะเป็นระบบรากตื้นอาจทำให้โคนล้มง่าย
8. ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ในช่วงฤดูแล้ง หากขาดน้ำจะทำให้ผลร่วงและมีขนาดเล็ก
9. เนื่องจากเป็นพืชอุตสาหกรรม จึงต้องปลูกรวมกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 1,000-1,500 ไร่ขึ้นไป เพื่อให้พอกับปริมาณที่ส่งโรงงานได้
10. ผลผลิตจะคุ้มทุนประมาณปีที่ 12-14 ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา และควรปลูกพืชแซมช่วง 10-12 ปีแรก
11. พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม 700 เมตร ขึ้นไป จากระดับน้ำทะเล ถ้าเป็นพื้นที่ต่ำกว่า 700 เมตร คือ 400-600 เมตร ควรอยู่ในเขตเส้นรุ้งที่ 19.8 องศาเหนือขึ้นไป ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน


พันธุ์มะคาเดเมีย
สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำพันธุ์มะคาเดเมีย ที่ได้จากการวิจัยเปรียบเทียบพันธุ์ที่เป็นการค้าของต่างประเทศ และคัดเลือกเป็นพันธุ์ดีสำหรับแนะนำเกษตรกร จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่

1. พันธุ์เชียงใหม่ 400 (HAES 660) ทรงต้นตั้งตรง คล้ายปิรามิด ความสูงต้น 15-20 เมตร พุ่มแน่น กว้าง 10-15 เมตร ขนาดผลเล็กถึงปานกลาง

กะลาบาง เมล็ดรูปร่างกลม ผิวกะลาเรียบ สีผิวเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน มีจุดลายประ น้ำหนักเมล็ดแห้งทั้งกะลา 5-8 กรัม จำนวนเมล็ดต่อ กก. 175-190 เมล็ดขนาดของเนื้อในใช้เป็นมาตรฐานในการคัดเลือกพันธุ์ เนื้อในรูปร่างกลม สีขาว น้ำหนัก เมล็ดเนื้อใน 1.5-2.7 กรัม เปอร์เซ็นต์เนื้อในหลังกะเทาะสูง34 - 42 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์ เกรด 1 35 - 41 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เนื้อในลอยน้ำ 93-100 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) 11 - 17 กก.อายุเบาออกดอกดก ใช้ปลูกร่วมกับพันธุ์อื่น เพื่อช่วยผสมเกสรให้กับพันธุ์อื่น เหมาะสมในระดับพื้นที่ 700 เมตร ขึ้นไป ถ้าพื้นที่ต่ำ 400-600 เมตรต้องอยู่ในเขตเส้นรุ้ง (ละติจูด) ที่ 19.8 องศาเหนือ ขึ้นไป ได้แก่ อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นต้น

2. พันธุ์เชียงใหม่ 700 (HAES 741) ทรงต้นกึ่งต้นตรง พุ่มแน่น คล้ายปิรามิด ความสูง 15-20 เมตร ทรงพุ่มกว้าง 10-15 เมตร ขนาดผลปานกลาง กะลาบาง เมล็ดรูปร่างกลม ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อนมีจุดลายประ น้ำหนักเมล็ดแห้งทั้งกะลา 6 - 8 กรัม จำนวนเมล็ดต่อกิโลกรัม 135 - 150 เมล็ด รูปร่างเนื้อในกลม น้ำหนักเนื้อในสูงและสม่ำเสมอดีกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 400 น้ำหนัก 2.0-2.9 กรัม สีขาวสวยเป็นที่ดึงดูดตา เปอร์เซ็นต์เนื้อในหลัง
กะเทาะ 32-39 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เกรด 1 31-37 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เกรดเนื้อในลอยน้ำ 90-10 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) 13-21 กก. เจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีในพื้นที่สูง 700 เมตรขึ้นไป

3. พันธุ์เชียงใหม่ 1000 (HAES 508) ทรงต้นกึ่งต้นตรง ทรงพุ่มค่อนข้างแน่น ทรงกลม แผ่กว้างกว่าทุกพันธุ์ ความสูงต้น 15-20 เมตร ทรงพุ่มกว้าง 12-15 เมตร ขนาดผลปานกลาง เมล็ดรูปร่างกลม ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน มีจุดประเล็กน้อยมีรอยแตกสีดำชัดเจน กะลาหนาเล็กน้อย ขนาดเมล็ดเล็กปานกลาง น้ำหนักแห้งทั้งกะลา 5 - 8 กรัม จำนวนเมล็ด ต่อกิโลกรัม 148-170 เมล็ด รูปร่างเนื้อในกลม น้ำหนัก 107-205 กรัม สีขาว เปอร์เซ็นต์เนื้อในหลังกะเทาะ 32-39 เปอร์เซ็นต์ เกรด 1 30-38 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เนื้อในลอยน้ำ 84-100 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) 21-33 กก.เนื้อในมีคุณภาพยอดเยี่ยม คือมีรูปร่างลักษณะและสีสวยเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง ในสภาพอากาศหนาวเย็นที่ระดับ ความสูง 1,000 เมตรขึ้นไป

พันธุ์เชียงใหม่ 1000 ทนแล้งไม่ทนร้อน ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า 700 เมตรลงมา ไม่ทนร้อน จะเกิดอาการแพ้ความร้อน คือใบเหลืองซีด ขอบใบไหม้ ช่วงออกดอก ติดผลและเก็บเกี่ยว แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์เชียงใหม่ 400 เป็นพันธุ์เบา มีอายุการเก็บเกี่ยวผลประมาณ 180-200 วัน หลังจากดอกบานในสภาพื้นที่สูง 800-1,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มะคาเดเมีย จะออกดอก 2 ช่วงใหญ่ๆ แต่ในสภาพพื้นที่ต่ำกว่า 800 เมตรลงมา จะออกดอก ติดผลครั้งเดียว ดังตาราง


พื้นที่ปลูกในระดับความสูงเหนือน้ำทะเล 800 - 1,300 
ช่วงออกดอก  พ.ย. - ก.พ. 
ช่วงเก็บเกี่ยว  มิ.ย. - ก.ย.
อายุตั้งแต่ดอกบาน - เก็บเกี่ยว (วัน) 180 - 240 - ก.ค. - ส.ค. เม.ย. - พ.ค. 


การแปรรูปมะคาเดเมีย
หลังจากเก็บเกี่ยวมะคาเดเมียแล้ว ในกรณีที่เป็นผลสุกนานแล้ว สีเปลือกจะมีสีน้ำตา ถ้าดำควรนำไปเข้าโรงงานกะเทาะเปลือกออก และนำไปอบแห้งภายใน 24 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดความร้อน และเนื้อในมีคุณภาพไม่ดี เครื่องกะเทาะเปลือกมะคาเดเมียอาจดัดแปลงจากเครื่องสีข้าวโพดได้ เมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้วต้องนำมาผึ่งลม หรือวางบนตะแกรง ไม่ซ้อนกันมากเกินไป โดยวางตะแกรงเป็นชั้นๆ และใช้พัดลมเป่า หรืออยู่ในที่ที่มีผมพัดผ่านสะดวก เมล็ดที่นำมาลดความชื้น จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นอยู่ ระหว่าง 15-27% นำมาผึ่งลม 2-3 วันแล้วนำเข้าตู้อบใช้อุณหภูมิจากต่ำและเพิ่มสูงขึ้นจาก 38 องศาเซลเซียส นาน 1-2 วัน 42 องศาเซลเซียส นาน 1-2 วัน 48 องศาเซลเซียส นาน 1-2 วันและ 52 องศาเซลเซียส นาน 1-2 วัน ยิ่งเพิ่มอุณหภูมิอย่างช้าๆ ได้เท่าไร ผลเนื้อในจะมีคุณภาพดีเท่านั้น คือ มีสีขาว - นวล มีความชื้นของเนื้อในเหลือเพียง 1-1.5% เท่านั้น

เมื่อลดความชื้นได้ต่ำขนาดนั้นแล้ว ทำการบรรจุถุงพลาสติก ปิดปากถุงด้วยระบบสูญญากาศ นำไปเก็บไว้ในห้องเย็น อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ ได้นาน เป็นปีโดยไม่เสื่อมคุณภาพ เมล็ดที่อบแห้งจนเหลือความชื้น 1.5% นำมาคัดเลือกเอาเมล็ดพันธุ์ที่มีตำหนิจุดด่างดำเล็กๆ น้อยๆ จากการทำลายของศัตรูพืชออก นำเอาเฉพาะเมล็ดที่มีคุณภาพดีมาอบ หรือ ทอดในน้ำมันมะพร้าว โดยใช้อุณหภูมิประมาณ 135 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาทอดประมาณ 12-15 นาที แต่ถ้าอบแห้งใช้เวลานาน 40-50 นาที ในอุณหภูมิที่เท่ากันจึงจะสุก ถ้าเป็นเนื้อในของมะคาเดเมีย ชนิด M. tetraphylla ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์น้ำตาลสูง ควรลดอุณหภูมิลงเหลือ 127 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 12 นาที การใช้น้ำมันมะพร้าวในการทอด เพื่อลดความเหม็นหืน หลังจากทอดด้วยน้ำมันมะพร้าวไประยะหนึ่ง น้ำมันมะคาเดเมียซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าน้ำมันมะพร้าว จะออกมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพในการทอดยอดเยี่ยมที่สุด และเก็บรักษาได้นานดีกว่าการใช้น้ำมันพืชธรรมดาทอด


คุณค่าทางอาหารของมะคาเดเมีย (ที่อบแห้งแล้ว) ประกอบไปด้วยธาตุอาหารต่างๆ ดังนี้ 


อนาคตของมะคาเดเมีย
ว่ากันว่า ถ้าประเทศไทยปลูกมะคาเดเมีย และได้ผลผลิตเพียง 70% ของฮาวาย ก็นับวาน่าพอใจแล้ว หากจะค้าขายแข่งกันประเทศไทยก็จะดูได้เปรียบ เพราะราคาที่ดิน และค่าแรงงานถูกกว่า หันมามองดูตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ คือ ญี่ปุ่น ประเทศไทย ก็อยู่ใกล้ ญี่ปุ่นมากกว่าฮาวาย หรือออสเตรเลีย มีการคาดการณ์กันในหมู่เซียน "มะคา" ว่าในอนาคต ไม่เกิน 15 - 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งผลิตภัณฑ์มะคาเดเมียออกสู่ตลาดโลกในอันดับต้นๆ ของโลกได้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์สมัครเล่นยังวิเคราะห์ต่อไปว่า สภาพของตลาดมะคาเดเมียใน
ส่วนแบ่งตลาดของพืชเคี้ยวมันมีสัดส่วนน้อยมาก เพียง 3% ของอัตราส่วนพืชเคี้ยวทั้งหมด ในขณะนี้ อัลมอนด์ มีสูงถึง 45-48% นอกจากนี้ยังมีประชากรของโลกอีกมากที่ยังไม่รู้จักบริโภคมะคาเดเมีย โดยเฉพาะในจีน แคนาดา และยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งที่ประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก หากมีการผลักดันและส่งเสริมการปลูกมะคาเดเมียกันอย่างจริงจัง โอกาสที่จะขยายปริมาณการผลิตยังมีอยู่อีกมาก และฝันต่อไปว่า มะคาเดเมียจะเป็นพืชอุตสาหกรรมตัวใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความหลากหลายในสินค้าเกษตรส่งออกของไทย ได้อีกชนิดหนึ่ง


ผู้เขียน เคยเห็นแปลงมะคาเดเมีย แปลงใหญ่ พื้นที่หลายร้อยไร่ หรืออาจจะเป็นพันไร่ ในไร่ของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เจ้าของชาโตเดอเลย ที่เรารู้จักกันดี ที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ยังนึกชมอยู่ในใจว่าเป็นผู้ที่ "กล้า" และ "ท้าทาย" ดี ท่านชอบลองและบุกเบิกในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ ก็หวังว่า มะคาเดเมียที่ภูเรือ จะจุดประกายในความมืดให้กับใครๆ อีกหลายคน หันมาสนใจกันบ้าง ถ้ามะคาเดเมีย (เนื้อในเกรด A) ราคากิโลกรัมละ 200 - 300 บาท อย่างในปัจจุบัน ก็น่าสนใจอยู่…..




ผู้รับผิดชอบ ::: ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์  E-Mail ::: agagi003@chiangmai.ac.th เวลารับข้อมูล ::: 1/17/2003 8:22:45




หน้าก่อน หน้าก่อน (2/4) - หน้าถัดไป (4/4) หน้าถัดไป


Content ©