-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 368 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เกษตรต่างแดน19




หน้า: 3/6




ศักดา ศรีนิเวศน์ s_sinives@yahoo.com

11. Festival Trai Cay Vietnam
ประเพณีผลไม้เวียดนาม ครั้งที่ 1


เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเกียรติจากรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยสถาบันวิจัยพืชสวนเมืองร้อนภาคใต้ (Southern Horticulture Research Institute: SOFRI) กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development) จังหวัดเตียนยาง ให้ไปบรรยาย ในการสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นในงานประเพณีผลไม้เวียดนาม ครั้งที่ 1 (Festival Trai Cay Vietnam) ในหัวข้อ เรื่อง "โอกาสและความท้าทายของเกษตรกรเวียดนามในการพัฒนาไม้ผลเปรียบเทียบกับประเทศไทย" ซึ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์หรือมุมมองของผู้เขียน

เนื่องมาจากเป็นผู้มีประสบการณ์ในการเยี่ยมชมสวนผลไม้และดูงานการเกษตรด้านอื่นๆ ของเวียดนามเป็นอันมาก โดย ดร. เหวียน มินห์ โจว (Dr. Nguyen Minh Chau) ได้ส่งหนังสือเชิญมายังผู้เขียนโดยตรง แต่ได้แจ้งกลับไปว่า เนื่องจากผู้เขียนเป็นข้าราชการ การเชิญต้องเชิญผ่านท่านอธิบดีเท่านั้น เพราะเป็นระเบียบของทางราชการไทยเช่นเดียวกับเวียดนาม อีกประการหนึ่งเพื่อเป็นเกียรติประวัติกับหน่วยงานและชื่อเสียงของตนเองและวงศ์ตระกูลอีกด้วย แต่ก็ยังมีเพื่อนร่วมงานบางคนที่หวังดีทักท้วงว่า ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ผล ไม่ควรไปบรรยาย ควรให้ผู้ที่มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ผลท่านอื่นไปแทน ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับคำยืนยันจาก ดร.โจว ว่าเขาไม่ได้ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ผล เพราะได้เชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านไม้ผลจากหลายประเทศมาบรรยายแล้ว เขาต้องการมุมมองของคนที่มีประสบการณ์ด้านการดูงานเกษตรในเวียดนามเท่านั้น และในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การดูงานและบรรยายที่เวียดนามหลายครั้งต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยไปดูงานมากกว่า 20 จังหวัด และหัวข้อที่ไปบรรยายในครั้งนี้จัดเป็นไฮไลต์ของการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย เพราะถูกขอร้องจากผู้จัดให้บรรยายเป็นลำดับรองสุดท้ายของงาน ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะดึงผู้ฟังไว้ให้มากที่สุด เนื่องจากผู้เข้าร่วมสัมมนาชาวเวียดนามก็มีพฤติกรรมเหมือนผู้เข้าร่วมสัมมนาชาวไทยคือ เช้าเต็ม บ่ายหายกว่าครึ่ง หรือหากท่านประธานเปิดงานกลับ พวกลิ่วล้อระดับรองๆ ลงมาก็จะหายตัวไปพร้อมกับท่านประธานด้วยเช่นกัน เพราะมีธุระมากเหมือนกัน และคำยืนยันว่าหัวข้อที่บรรยายเป็นไฮไลต์ของการสัมมนาครั้งนี้ก็คือ เป็นวิทยากรคนเดียวที่มีผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ความสนใจและตั้งคำถามมากมายจนผู้จัดต้องขอให้หยุด เพราะกินเวลาของวิทยากรท่านสุดท้ายจากไต้หวันเกือบครึ่ง ซึ่งงานประเพณีผลไม้ครั้งนี้ได้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 19-24 เมษายน 2553 ที่ห้องประชุมของศูนย์ประชุมสภาประชาชนเมืองหมีโถ่ จังหวัดเตียนยาง

งานประเพณีผลไม้ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเพาะปลูกไม้ผลเพื่อผลิตผลไม้ชนิดต่างๆ ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเพื่อการส่งออก การพัฒนาด้านการตลาดผลไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ไม้ผล และนักธุรกิจที่มีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ผลของประเทศ เนื่องจากเป็นงานประเพณีผลไม้ ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของประเทศ รัฐบาลเวียดนามจึงให้ความสำคัญกับงานนี้เป็นอันมาก ดังนั้น ฯพณฯ ท่านประธานาธิบดีเวียดนาม ท่านเหวียน มินห์ เจี๊ยต (The president, Nguyen Minh Triet) จึงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่และอลังการมาก ท่านได้กล่าวในพิธีเปิดงานตอนหนึ่งว่า "การจัดงานประเพณีผลไม้ในครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้แก่ชาวเวียดนามและประเทศเวียดนามของเรา ทั้งเป็นการส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผลไม้ของเวียดนาม เพื่อแสดงความสามารถให้นานาชาติได้ประจักษ์ว่า เวียดนามมีความพร้อมแล้วที่เป็นผู้ส่งออกผลไม้คุณภาพดีสู่ตลาดโลก"

ในงานนี้นอกจากจะมีการประกวดผลไม้คุณภาพดีที่เป็นของเวียดนามแท้ๆ แล้ว ยังมีการออกร้านที่แสดงนิทรรศการผลงานทางวิชาการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไม้ผลจากหน่วยงานราชการ สถาบันวิจัย สถานศึกษา สมาคม สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นจำนวนถึง 700 บู๊ธ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งโต๊ะเจรจาธุรกิจซื้อขายผลไม้ระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ชาวสวนผลไม้กับนักธุรกิจผู้ส่งออก และนักธุรกิจจากประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลเวียดนามได้เชิญเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย พิธีเปิดงานเป็นไปด้วยความยิ่งใหญ่ มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศและต่างประเทศทั่วโลกผ่านดาวเทียมของเวียดนาม มีเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจเข้าชมงานอย่างล้นหลาม ไม่ต่างจากงานประเพณีข้าวเวียดนามที่เคยไปดูมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 และในงานนี้ยังมีกิจกรรมเสริมต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสีสันของงานให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น การแข่งขันและการสาธิตประกอบอาหารที่ใช้ผลไม้เป็นวัตถุดิบในการปรุง การแข่งขันและการสาธิตการแกะสลักผลไม้ การจัดกระเช้าผลไม้ของขวัญ การแข่งขันการวาดภาพที่เกี่ยวข้องกับสวนผลไม้และผลไม้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวสวนผลไม้ในเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง การประกวดภาพถ่ายสวนไม้ผลและผลไม้ การประกวดร้องเพลง การแสดงดนตรีของวงดนตรีชื่อดัง การโชว์ตัวของดารา และนักร้องชื่อดังของประเทศ เพื่อให้สมชื่อของงานว่า "งานประเพณีผลไม้" ผู้จัดจึงได้ขนผลไม้ชนิดต่างๆ จากจังหวัดที่ปลูกผลไม้ 20 จังหวัด มาแสดงและให้ผู้เข้าร่วมชมงานตลอด 6 วัน ได้รับประทานผลไม้กันให้ฉ่ำปอดถึง 2,000 ตัน (สองล้านกิโลกรัม) ซึ่งเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและแก้ไขปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำอีกด้วย ประเทศไทยก็น่าจะลองทำแบบนี้ดู ดีกว่าเอาเงินไปยัดให้เกษตรกรเปล่าๆ แบบที่ไม่รู้ค่าและไร้ทิศทาง

นอกจากนี้ ท่านประธานาธิบดียังกล่าวอีกว่า "ประเทศเวียดนามอยู่ในเขตร้อนที่มีภูมิอากาศที่เหมาะสมในการปลูกไม้ผลหลากหลายนานาชนิดไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้สหายพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้และนักธุรกิจของเรา ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจในคุณภาพและรสชาติของผลไม้เราเป็นอย่างมาก...ความสำเร็จและความน่าภาคภูมิใจครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากความสามารถ ความอุตสาหะ ความขยัน และความมุ่งมั่นของสหายพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง...อย่างไรก็ดี เราเองก็ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาอีกมาก ที่ทำให้ผลไม้ของเรามีคุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งในด้านพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี เทคโนโลยีในการเพาะปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลผลิต และความสามารถในการแข่งทางการตลาดที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ด้วยนโยบายของรัฐที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก...เราคาดหวังว่า พื้นที่การเพาะปลูกไม้ผลของเราในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 910,000 เฮกตาร์ (5,687,500 ไร่) มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งจำนวนนี้สามารถที่จะส่งออกได้ถึง 430,000 ตัน และจะนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 295 ล้านเหรียญสหรัฐ"

ก่อนที่จะทราบว่าสถานการณ์การเพาะปลูกและการผลิตผลไม้ของเวียดนามในแต่ละชนิด ปัจจุบันพัฒนาก้าวหน้าไปเพียงใด? และอยู่ห่างประเทศไทยสักกี่ปี? มาทำความรู้จักกับจังหวัดเตียนยาง ผู้ที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประเพณีผลไม้เวียดนามในครั้งนี้กันก่อน

จังหวัดเตียนยาง เป็นจังหวัดที่มีการเกษตรกรรมเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนามภาคใต้ ตั้งอยู่ในเขตดินดำน้ำชุ่ม และน้ำไหลทรายมูลของที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของนครโฮจิมินห์ 90 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,481 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของประชากร 692 คน ต่อตารางกิโลเมตร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกไม้ผล การทำนา และการประมง มีการปลูกไม้ผลต่างๆ มากกว่า 20 ชนิด มีแม่น้ำยาง (Tien Giang) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านกลางเมืองคล้ายๆ กับจังหวัดนนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม บางครั้งเวลาผู้เขียนไปดูสวนผลไม้ของเกษตรกรที่นี่ครั้งใด นึกว่าอยู่ที่สวนอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นบ้านเกิดทุกครั้งไป เนื่องจากมีภูมิประเทศและดินที่คล้ายคลึงกับ 3 จังหวัด ดังกล่าวของบ้านเรา จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่มีการเพาะปลูกไม้ผล ในปี 2533 มีพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลเพียง 153,125 ไร่ ภายหลังจากนั้นเพียง 10 ปี พื้นที่การเพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นเป็น 293,857 ไร่ ให้ผลผลิตผลไม้ชนิดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 442,470 ตัน และในปี 2552 พื้นที่เพาะปลูกได้ขึ้นสูงถึง 418,750 ไร่ ให้ผลผลิตผลไม้ชนิดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 1,000,000 ตัน โดยพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลที่สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ทุเรียน (มีพันธุ์หมอนทอง และชะนีด้วย) คิดเป็นร้อยละ 4 ลูกนม (Milk fruit หรือ Star Apple) คิดเป็นร้อยละ 13.8 มูลค่าของผลผลิตที่เพิ่มขึ้น คิดเป็น 54.000 ล้านด่อง เกษตรกรได้กำไรโดยเฉลี่ยไร่ละ 16 ล้านด่อง หรือประมาณ 27,586 บาท (580 ด่อง = 1 บาท) ผลผลิตส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ลูกนม ส้มโอ มะม่วง และแก้วมังกร โดยมีลูกค้าที่สำคัญ ได้แก่ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ตามลำดับ

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดเตียนยางได้ส่งเสริมให้มีการปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้น เป็นพื้นที่ 70,265 ไร่ แก้วมังกร 16,250 ไร่ ลูกนม 19,250 ไร่ มะม่วงฮอล็อค 10,000 ไร่ และทุเรียน 34,375 ไร่ ปัจจุบัน สถาบันวิจัยพืชสวนเมืองร้อนภาคใต้ และมหาวิทยาลัยในจังหวัดเตียนยาง ได้ร่วมการทำโครงการส่งเสริมการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) สำหรับไม้ผลที่สำคัญเพื่อการบริโภคสดและเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปสำหรับบริโภคในท้องถิ่นและเพื่อการส่งออก เช่น ลูกนม สับปะรด มะม่วงฮอล็อค แก้วมังกร ลำไย เงาะ (พันธุ์โรงเรียนและชวา) และโกโก้ ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรที่ดีและเหมาะสมอย่างเข้มข้น เมื่อ ปี 2551 มีสวนลูกนมที่ผ่านการรับรอง GLOBAL GAP จำนวน 61 ไร่ และสวนสับปะรดได้รับ VIET GAP จำนวน 187.5 ไร่ ปี 2552 สวนโกโก้ได้รับ VIET GAP จำนวน 32.5 ไร่ แม้ว่าจะเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ เนื่องจากสภาพสวนผลไม้ของเวียดนามมีลักษณะที่แตกต่างจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก

เมื่อก่อนการเดินทางไปจังหวัดเตียนยาง ซึ่งมีระยะทางห่างจากนครโฮจิมินห์เพียง 90 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามได้สร้างทางด่วนพิเศษมอเตอร์เวย์เสร็จ และเพิ่งจะเปิดให้ทดลองใช้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง ทำให้ระยะเวลาการเดินทางเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากรถยนต์ขนาดเล็กสามารถทำความเร็วได้มากกว่าเดิมจากที่ทางหลวงปกติสามารถทำความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง และเมื่อผ่านชุมชนจำกัดการใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 40 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เส้นทางมอเตอร์เวย์สายใหม่นี้มีขนาดกว้างด้านละสองช่องจราจร เกินกว่าครึ่งของระยะทางถูกสร้างยกระดับลอยฟ้า เนื่องจากตัดผ่านพื้นที่การทำนา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นทางน้ำบ่าในช่วงฤดูฝน และเป็นเพราะชาวนาเวียดนามมีพื้นที่การทำนาขนาดเล็กมาก เพียงรายละประมาณ 2-3 ไร่ เท่านั้น หากถนนตัดผ่านเขาจะมีที่ทำกินไม่พอ ประกอบกับชาวนาเวียดนามส่วนใหญ่ใช้รถไถเดินตามขนาดเล็กและควายในการทำนา ดังนั้น คงจะไม่สะดวกในการที่จะให้เขาเหล่านั้นขับรถไถนาเดินตามหรือจูงควายขึ้นสะพานลอยเพื่อข้ามถนนมอเตอร์เวย์ และถ้าทำเช่นนั้นได้จริงๆ เขาจะต้องสร้างสะพานข้ามมอเตอร์เวย์เป็นสิบเป็นร้อยสะพาน และคงต้องใช้งบประมาณก่อสร้างเป็นจำนวนมาก และคงดูแปลกพิกลอย่างไรก็ไม่รู้ นอกจากนั้น หากมีการก่อสร้างถนนเพื่อที่จะตัดผ่านถนนมอเตอร์เวย์สัก 10 ถนน เขาก็คงจะต้องสร้างสะพานต่างระดับข้ามถนนมอเตอร์เวย์เป็น 10 สะพาน ซึ่งจะต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อการก่อสร้างสะพานและเวนคืนที่ดิน และเป็นที่ทราบกันว่าราคาที่ดินที่เวียดนามแพงกว่าประเทศไทยมาก เพราะที่ดินเขามีน้อย และประชากรก็มีจำนวนมากกว่าประเทศไทย ดังนั้น เขาจึงคิดหาวิธีที่ประหยัดงบประมาณในอนาคต ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายวิถีการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติอย่างเช่นบ้านเรา ให้สมกับคำพูดที่เขาเองก็ยกย่องเกษตรกรว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศเช่นกัน ช่างน่าเห็นใจจริงสำหรับพี่น้องเกษตรกรไทย ท่านเป็นคนระดับรากหญ้า แต่ทำงานที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเศรษฐี ไม่เพียงแต่หาเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศเท่านั้น แต่ยังเลี้ยงชาวโลกอีกเป็นจำนวนมากด้วย ช่วยแก้ปัญหาของประเทศในภาวะที่พบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ เศรษฐีเขาล้มบนฟูก แต่เกษตรกรไทยล้มบนดิน น่าสังเวชใจจัง

จากข้อมูลทางสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (Vietnam General Statistics Office) ปี 2551 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 4,913,750 ไร่ (786,200 เฮกตาร์) โดยอยู่ในภาคเหนือของประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,980,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำแดง 505,000 ไร่ เขตตะวันออกเฉียงเหนือ 907,500 ไร่ เขตตะวันตกเฉียงเหนือ 221,875 ไร่ และเขตภาคเหนือตอนกลาง 345,625 ไร่ และอยู่ในภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 2,933,750 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 56.7 ของพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่เขตชายฝั่งตอนกลาง 190,625 ไร่ เขตที่ราบสูงตอนกลาง 168,125 ไร่ เขตตะวันออกเฉียงใต้ 760,000 ไร่ และเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง 1,815,000 ไร่ ชนิดของไม้ผลและปริมาณผลผลิตของเวียดนามค่อนข้างต่ำ และไม่แน่นอน เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตของโลกและผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ในปี 2552 ผลผลิตผลไม้ของเวียดนามเพียง 1.6 ล้านตัน (เฉลี่ย 1.6 ตัน/ไร่) ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี 2545 ถึงร้อยละ 40 (เฉลี่ย 1.12 ตัน/ไร่) เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตต่อไร่กับผลผลิตเฉลี่ยของโลกแล้ว เวียดนามมีผลเฉลี่ยของส้มและองุ่นเพียงร้อยละ 55-60 ของผลผลิตของประเทศไทยและอินเดีย และผลผลิตของสับปะรดต่อไร่เพียงร้อยละ 56 ของประเทศไทยและอินเดีย ร้อยละ 65 ของจีน ร้อยละ 35 ของฟิลิปปินส์ ส่วนกล้วยหอมให้ผลผลิตสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีน และอินเดีย ร้อยละ 60

ฉบับหน้าพบกับปัญหาและการแก้ปัญหาในการพัฒนาผลไม้ของเวียดนามเพื่อการส่งออก


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน




หน้าก่อน หน้าก่อน (2/6) - หน้าถัดไป (4/6) หน้าถัดไป


Content ©