-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 576 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะกอกน้ำ






                    มะกอกน้ำ 


          ลักษณะทางธรรมชาติ               
       * เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดปานกลางอายุหลายสิบปีและไม่ผลัดใบ ปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกภาคและทุกฤดูกาล เจริญเติบโตดีในดินทรายหรือดินลูกรังร่วน มีอินทรีย์วัตถุมากๆ สังเกตมะกอกน้ำตามริมตลิ่งแม่น้ำลำคลองที่ได้รับน้ำตลอดเวลาต้นสูงใหญ่แต่เฝือใบไม่ออกดอกติดผล ส่วนต้นขึ้นตามที่ดอนขนาดต้นไม่ใหญ่หรือโตช้ากว่าแต่ออกดอกติดผลทุกปี และมะกอกน้ำที่ได้รับการบำรุงดีจะออกดอกติดผลปีละ 2 รุ่นเสมอ
 
               
       * ต้นอายุมากๆหรือยืนต้นได้ดีแล้วถูกน้ำท่วมขังค้างนานนับเดือนหรือหลายเดือนไม่ตาย ถ้าน้ำไม่ท่วมจนมิดยอด  ระหว่างถูกน้ำท่วมต้นจะแทงรากใหม่จากพื้นดินแหวกน้ำขึ้นมารับอากาศบนผิวน้ำ  จากนั้นต้นก็จะแตกใบอ่อนได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
                
       * เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุต้น 1-1 ปีครึ่งหลังปลูก
     
           
       * ดอกจากจากซอกใบปลายกิ่ง  เป็นดอกสมบูรณ์เพศผสมตัวเองและต่างดอกต่างต้นได้

       * อายุผลตั้งแต่ดอกบานหรือผสมติดถึงเก็บเกี่ยว 4 เดือน  
               

       * ช่วงออกดอกติดผลต้องน้ำสม่ำเสมอ  แต่ช่วงพักต้นต้องการน้ำน้อย  หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดต้นแล้วปล่อยให้พักต้น (ไม่ต้องให้น้ำ) ไปสักระยะหนึ่งก่อน  เมื่อเข้าสู่หน้าฝนจึงระดมให้น้ำแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อไปจะออกดอกติดผลดกและดีมาก
                
       * เทคนิคบำรุงต้นแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.(ซากสัตว์ฝังโคนต้น) ต่อเนื่องหลายๆปีจะช่วยให้ต้นมีความสมบูรณ์สูง  จะส่งผลให้ออกดอกติดผลดกดีถึงขนาดออกตลอดปีแบบไม่มีรุ่นได้
 
               
        * ที่รากมีจุลินทรีย์กลุ่มฟังก์จัยซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดเห็ดตับเต่าและเห็ดอื่นๆอีกหลายชนิด จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อมะกอกน้ำ จึงควรบำรุงจุลินทรีย์โดยให้สารอาหาร ได้แก่ กากน้ำตาล รำละเอียด ปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก และรักษาระดับความชื้นให้เหมาะสมอยู่เสมอ

     
   * แปลงปลูกที่ระดับน้ำใต้ดินตื้นหรือช่วงบำรุงผลได้รับน้ำมากและขาดธาตุรอง/ธาตุเสริมจะทำให้เนื้อไม่แน่น                         

          สายพันธุ์
               
       - พันธุ์เกษตร.  พันธุ์แก้มแหม่ม.  พันธุ์ก้นแป้น.  
               
       - พันธุ์ผลก้นแป้นผลใหญ่เมล็ดเล็กดีกว่าพันธุ์ผลก้นแหลม
                

         การขยายพันธุ์
               
         ตอน (ดีที่สุด).  ปักชำ.  ทาบกิ่ง.  เสียบยอด.
                 

         ระยะปลูก
               
       - ระยะปกติ       4 X 6  ม. หรือ  6 X 6 ม.
               
       - ระยะชิดพิเศษ  2 X 4  ม. หรือ  4 X 4 ม.
                  

         เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ  
               
       - ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
  
     - ให้ยิบซั่มธรรมชาติ  ปีละ 2 ครั้ง               
       - ให้กระดูกป่น  ปีละ 1 ครั้ง  
               
       - คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม  ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
                
     
 - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
                
         หมายเหตุ :
               
       - การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่  ปลาสด  เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน  
               
       - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน  ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่  การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้  
                
    
   - ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง                 

         เตรียมต้น
                
         ตัดแต่งกิ่ง :
               
       - ธรรมชาติของมะกอกน้ำจะทิ้งกิ่งเองจึงไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่ง แต่ถ้าต้นได้รับการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่มหรือเพื่ออื่นใดก็ตาม   มะกอกน้ำต้นนั้นจะเว้นการออกดอกติดผลไปอย่างน้อย 1 ปีเสมอหรือต้องรอให้ยอดแตกใหม่มีอายุข้ามปี            
        
       - หากต้องการตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ให้ตัดกิ่งกระโดง  กิ่งในทรงพุ่ม  กิ่งคดงอ  กิ่งชี้ลง  กิ่งไขว้  กิ่งหางหนู  กิ่งเป็นโรค  ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
               
       - ตัดทิ้งเพื่อไม่ให้แตกใหม่ป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน
       - ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ  นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย               
       - นิสัยการออกดอกของมะกอกน้ำไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว  แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น 
                
         ตัดแต่งราก :
               
       - ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
       -  ต้นอายุหลายปี  ระบบรากเก่าและแก่มาก  ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม 



                     
ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อมะกอกน้ำ      

         1. เรียกใบอ่อน
               
            ทางใบ :               
          - ให้น้ำ 100 ล. + 25-5-5 (200 กรัม) หรือ 46-0-0 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง+ จิ๊บเบอเรลลิน 10  กรัม + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1 รอบต่อการเรียกใบอ่อน 1 ชุดฉีดพ่นพอเปียกใบ
          - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                
            ทางราก  :               
          - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
          - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน               
            หมายเหตุ :               
          - ลงมือปฏิบัติทันทีหลังตัดแต่งกิ่งและตัดแต่งรากเสร็จ               
          - หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 5-7 วัน ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม เพราะถ้าต้นแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นจะส่งผลเสียหลายอย่างตั้งแต่การเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่  การสะสมอาหารเพื่อการออก  การปรับ ซี/เอ็น เรโช.  การเปิดตาดอก  ซึ่งจะออกดอกไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น เมื่อดอกออกไม่พร้อมกันก็กลายเป็นผลได้ไม่พร้อมกันทำให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนอย่างมาก....แนวทางแก้ไข คือ ต้องบำรุงเรียกใบอ่อนให้ออกมาเป็นชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้นให้ได้ 
          - มะกอกน้ำต้องการใบอ่อน 2 ชุด  ถ้าต้นสมบูรณ์ดี มีการเตรียมดินและปรับปรุงบำรุงดินสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายๆปีแล้ว  หลังจากใบอ่อนชุดแรกเพสลาดแล้วให้เรียกใบอ่อนชุด 2 ต่อได้เลย  ใบชุด  2 นี้อาจจะออกไม่พร้อมกันทั้งต้นเหมือนชุดแรกแต่ก็จะออกห่างกันไม่เกิน7-10 วัน และหลังจากใบอ่อนชุด 2 เพสลาดก็ให้เข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามปกติ        

        2. เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่               
           ทางใบ  :               
         - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-21-74 (200 กรัม) หรือ 0-39-39 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ฉีดพ่นพอเปียกใบ
         - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
           ทางราก :               
         - ให้น้ำตามปกติ  ทุก 2-3 วัน               
           หมายเหตุ :               
         - ลงมือปฏิบัติเมื่อใบเริ่มแผ่กางรับแสงแดดได้
         - วัตถุประสงค์เพื่อเร่งใบชุดใหม่ให้สามารถสังเคราะห์อาหารได้  และเร่งระยะเวลาเรียกใบอ่อนชุดต่อไปได้เร็วขึ้น  กับทั้งเพื่อให้ใบอ่อนรอดพ้นจากทำลายของแมลงปากกัดปากดูด
         - ต้นที่สะสมความสมบูรณ์เต็มที่มานานหลายปีติดต่อกัน หลังจากใบอ่อนเริ่มแผ่กางแล้วให้ข้ามขั้นตอนการบำรุงไปสู่ขั้นตอนเปิดตาดอกได้เลย เพราะฟอสฟอรัส. กับโปแตสเซียม. ที่ช่วยเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่นั้นช่วยเปิดตาดอกได้ด้วย       

        3. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก               
           ทางใบ  :               
        -  ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ทุก 5-7 วัน  ติดต่อกัน 2-3 รอบแล้วให้น้ำ 100 ล. + เอ็นเอเอ. 25 ซีซี. + ฮอร์โมนไข่  25 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. สลับ 1 รอบ โดยการฉีดพ่นพอเปียกใบ  ติดต่อกัน 1-2  เดือน จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์เต็มที่
        - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
          ทางราก :               
        - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
        - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                            
          หมายเหตุ :               
        - เริ่มปฏิบัติเมื่อใบเพสลาด               
        - แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2-2 เดือนครึ่ง โดยให้กลูโคสหรือนมสัตว์สดรอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุงและให้รอบ 2 ห่างจากรอบแรก 20-30 วัน                
        - วัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นได้สะสมสารอาหารทั้งกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล (ซี.) และกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้นไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  จนกระทั่งเกิดอาการอั้นตาดอก ไม่มีการแตกใบอ่อนออกมาอีก  ถ้าต้นแตกใบอ่อนออกมาใหม่ก็จะต้องย้อนกลับไปบำรุงที่ขั้นตอนเร่งใบอ่อนให้เป็นใบแก่อีกครั้งซึ่งทำให้เสียเวลา               
        - เพื่อให้ต้นได้มีการสะสมอาหารเพื่อการออดอกมากยิ่งขึ้น  แนะนำให้ใส่มูลค้างคาว 100-200 กรัม/ต้นทรงพุ่ม 5 ม. ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นหรือฉีดอัดลงดินทุก 1 ตร.ม. บริเวณชายพุ่มจะเป็นการดียิ่งขึ้น.......ใช้มูลค้างคาวด้วยความระมัดระวังเพราะในมูลค้างคาวมีสารอาหารในการสร้างเมล็ด อาจมีผลกระทบช่วงบำรุงผลกลาง (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ) ได้
        - ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงขั้นต่อไป คือ ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่ ถ้าใบอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ต่อไปได้เลย  แต่ถ้าใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากก็ให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้ใบอ่อนชุดหลังสะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับใบอ่อนชุดแรกจากนั้นจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช.  ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง       

         4. ปรับ ซี/เอ็น เรโช               
            ทางใบ :               
          - ในรอบ 7 วันให้น้ำ 100 ล.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 2-3 รอบ  ห่างกัยรอบละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ระวังอย่าให้ลงพื้น
          - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
            ทางราก :               
            งดน้ำ  แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าดินโคนต้น               
            หมายเหตุ :               
          - ลงมือปฏิบัติเมื่อสังเกตเห็นความสมบูรณ์ของต้นชัดเจน               
          - ต้นที่มีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สดเพิ่มอีกแต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ  แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์ทางใบอีกซ้ำอีก 1 รอบ  โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 30-45 วัน                 
          - วัตถุประสงค์เพื่อ  “เพิ่ม”  ปริมาณสารอาหารกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล (ซี.)และ  “ลด”  ปริมาณสารอาหารกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้น (เอ็น.)            
          - การปรับ ซี/เอ็น เรโช.ในมะกอกน้ำอาจไม่จำเป็น  แต่หากทำได้จะช่วยให้ต้นแทงตาดอกดีออกพร้อมกันเป็นรุ่นเดียวกันทั่วทั้งต้น       

        5. เปิดตาดอก               
           ทางใบ :               
         - ในรอบ 7 วันให้น้ำ 100 ล.+ ไธโอยูเรีย (100 กรัม) หรือ 0-52-34 (500 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง  + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1 รอบกับให้   น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี. + เอ็นเอเอ. 25 ซีซี. + สาหร่ายทะเล  50 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. อีก 1 รอบ  ฉีดพ่นพอเปียกใบ               
         - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
           ทางราก :                 
         - ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น                
         - ให้น้ำพอหน้าดินชื้นหรือพอให้ต้นได้รู้สึกตัว                
           หมายเหตุ :               
         - ลงมือปฏิบัติเมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกทั่วทั้งต้นหรือทุกจุดที่สามารถออกดอกได้
         - อาจจะพิจารณาใส่ 8-24-24  (100-200 กรัม)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.อีก 1 รอบก็ได้ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นพอหน้าดินชื้นเพื่อเสริมของเก่าที่ใส่เมื่อช่วงสะสมอาหารและช่วงที่ปรับ ซี/เอ็น เรโช.                 
         - มะกอกน้ำเป็นไม้ผลมีนิสัยออกดอกง่าย  หากบำรุงต้นให้สมบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอติดต่อกันนานหลายๆปีก็สามารถออกดอกติดผลเองได้               
         - อาจจะพิจารณาใส่ 8-24-24  (100 กรัม)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.อีกครั้งก็ได้ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นพอหน้าดินชื้นเพื่อเสริมของเก่าที่ใส่เมื่อช่วงสะสมอาหารและช่วงที่ปรับ ซี/เอ็น เรโช.                 
         - หลังจากเปิดตาดอกแล้ว ถ้าดอกออกมาไม่มากพอ ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้น ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ             

       6. บำรุงดอก               
           ทางใบ :                
         - ให้น้ำ 100 ล. + 15-45-15 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม  100 ซีซี. + เอ็นเอเอ. 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ   ห่างกันรอบละ 5-7 วัน               
         - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรช่วงค่ำ ทุก 2-3 วัน                   
           ทางราก :                 
         - ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น                 
         - ให้น้ำพอหน้าดินชื้น               
           หมายเหตุ :                    
         - ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็น (ก้านดอกยาว 1-2 ซม.) หรือระยะดอกตูม  บำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม แต่ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล               
         - ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.  1 รอบ  จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี               
         - ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน               
         - ช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบโดยเฉาะช่วงกลางวัน (08.00-12.00 น.) เพราะอาจทำให้เกสรเปียกจนผสมไม่ติดได้  หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้ฉีดพ่นช่วงหลังค่ำ               
         - ระยะดอกบานถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด แก้ไขโดยกะระยะเวลาบำรุงให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น  แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดิน ทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก......มาตรการบำรุงต้นและดอกให้สมบูรณ์อย่างแท้จริงอยู่เสมอสามารถช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก                
         - ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก  ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้               
         - บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น  “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน”  โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก  ให้แบบเดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้      

      7. บำรุงผลเล็ก               
          ทางใบ :               
        - ให้น้ำ 100 ล.+15-45-15 (200 กรัม) +  ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ทุก 7-10 วัน  ฉีดพ่นทางใบพอเปียกใบ               
        - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
          ทางราก :               
        - ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
        - นำอินทรีย์วัตถุกลับเข้าคลุมโคนต้นพร้อมกับเสริมยิบซั่มธรรมชาติและกระดูกป่น อัตรา 1 ใน 10 ส่วนของครั้งที่ใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน               
       - ให้น้ำแบบค่อยๆเพิ่มปริมาณทีละน้อยๆ 3-4 รอบเพื่อให้ต้นรู้ตัวหลังจากนั้นจึงให้มากตามปกติ                
         หมายเหตุ :               
       - เริ่มบำรุงเมื่อผลเท่าเมล็ดถั่วเขียวหรือหลังกลีบดอกร่วง
       - เทคนิคการให้ปุ๋ยทางใบด้วยสูตร 15-45-15 ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับบำรุงดอกนั้น วัตถุประสงค์เพื่อให้ P. สร้างเมล็ดก่อนในช่วงแรก  ซึ่งเมล็ดนี้จะเป็นผู้สร้างเนื้อต่อไปเมื่อผลโตขึ้น                
       - ให้แคลเซียม โบรอน.  1 รอบ  จะช่วยบำรุงให้ขั้วเหนียว  เป็นผลเล็กที่สมบูรณ์พร้อมเป็นผลใหญ่คุณภาพดีต่อไป      

      8. บำรุงผลกลาง               
          ทางใบ :               
          ให้น้ำ 100 ล. + 21-7-14  (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม(100 ซีซี.) + ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สาร
สกัดสมุนไพร 250 ซีซี.   ทุก 7-10 วัน  ฉีดพ่นพอเปียกใบ
          ทางราก :               
        - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง +  21-7-14 (250-500 กรัม)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน                 
        - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                
          หมายเหตุ               
        - เริ่มบำรุงเมื่อเปลือกหุ้มเมล็ดเริ่มแข็ง (เข้าไคล)                 
        - วัตถุประสงค์เพื่อขยายขนาดผลและลดขนาดเมล็ด (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ)
        - ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้ ฮอร์โมนน้ำดำ.  แคลเซียม โบรอน. 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดระยะผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก      

      9. บำรุงผลแก่               
          ทางใบ :               
        - ให้น้ำ 100 ล. +  0-0-50 (200 กรัม)  หรือ  0-21-74  (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง 400 กรัม + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  หรือ  น้ำ 100 ล. + มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี. + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว  ฉีดพ่นพอเปียกใบ               
        - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
          ทางราก :               
        - ให้ 13-13-21  หรือ  8-24-24 (250-500 กรัม)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
        - ให้น้ำเพื่อละลายปุ๋ยแล้วงดน้ำเด็ดขาด                
          หมายเหตุ :               
        - เริ่มให้ก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน 1-2 รอบห่างกันรอบละ 5-7 วัน    
        - การให้ 13-13-21 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลรุ่นเดียวกันทั้งต้น  หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วต้นมักโทรมต้องเร่งบำรุงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของต้น (เรียกใบอ่อน) กลับคืนมาโดยเร็วแล้วเข้าสู่วงรอบการบำรุงใหม่                 
        - การให้ 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นในต้นเดียวกันหรือประเภททะวายทยอยออก แบบไม่มีรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่จัดไปแล้วต้นไม่โทรม  ใน 8-24-24 เป็นปุ๋ยประเภทสะสมอาหารเพื่อการออกดอก ซึ่งจะส่งผลให้กิ่งที่ยังไม่ออกดอกติดผลเกิดอาการอั้นแล้วออกดอกติดผลเป็นผลรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกได้         






ปลูก “มะกอกน้ำ” ในนาข้าว รายได้ดีกว่าหลายเท่าตัว

ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่าง "ไพฑูรย์ เหล็กเพชร" วัย 50 ปี หญิงแกร่งสู้ชีวิต ที่ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำนา หันมาปลูก "มะกอกน้ำ" จนสามารถนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายผลผลิต ไปกว้านซื้อที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 6 ไร่ เพื่อขยับขยายใช้สำหรับปลูกมะกอกน้ำเพิ่มเติม หลังทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


บริเวณพื้นที่กว่า 2 ไร่ รอบๆ บ้านเลขที่ 128/1 หมู่ 2 ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งพำนักของเธอ เต็มไปด้วยต้นมะกอกน้ำที่เริ่มออกดอกพร้อมจะติดผลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้ช่วงนี้เธอต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ


ไพฑูรย์ เล่าว่า เดิมมีอาชีพทำนาบนเนื้อที่เพียง 2 ไร่เศษ ขณะเดียวกันแต่ละปีก็จะทำนาได้เพียง 2 ครั้ง แม้ผลผลิตที่ได้จะเพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ แต่ก็จะไม่มีเงินเหลือเก็บ แม้ได้พยายามอดออมและใช้จ่ายแต่สิ่งที่จำเป็นแล้วก็ตาม


“หลังสมัครเป็นสมาชิก ธ.ก.ส. สาขาเดิมบางนางบวช ในปี 2539 แล้ว เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ได้แนะนำให้เปลี่ยนจากการทำนามาปลูกมะกอกน้ำ เนื่องจากพื้นที่มีความเหมาะสม เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นด้วย จึงขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส.จำนวน 10,000 บาท เพื่อนำมาลงทุนปรับพื้นที่นา ยกเป็นร่องสวนขนาด 2x120 เมตร ขุดร่องกว้าง 1.5 เมตร ลึก 2 เมตร และนำกิ่งมะกอกน้ำมาปลูก"


ไพฑูรย์ เล่าต่อว่า หลังนำกิ่งมะกอกน้ำพันธุ์แก้มแหม่ม ที่ซื้อมาในราคากิ่งละ 20 บาท จำนวน 107 กิ่ง ลงปลูกในพื้นที่นา ปรากฏว่า สามารถสร้างรายได้ดีกว่าการทำนาหลายเท่าตัว แถมยังสามารถเก็บผลผลิตได้เกือบตลอดทั้งปีและมีตลาดรองรับไม่อั้น โดยขณะนี้เงินรายได้ที่เก็บสะสมจากการขายมะกอกน้ำ ได้นำไปซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก 6 ไร่ เพื่อขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติม


"วิธีการปลูกที่เหมาะสม ระหว่างต้นจะต้องมีระยะห่างกันประมาณ 2 เมตร แบบสลับฟันปลา รดน้ำ 7 วันครั้ง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-0-0 ระยะ 15 วันต่อครั้ง ใช้เวลาประมาณ 12 เดือน มะกอกน้ำจะเริ่มออกดอกติดผล ช่วงนี้ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งฉีดยาปราบศัตรูพืชเป็นระยะ 30-45 วันต่อครั้ง และฉีดฮอร์โมนผสมยาฆ่าเชื้อราทุก 7 วัน จนกระทั่งผลมะกอกน้ำแก่ มีขนาด 80-90 ลูกต่อ 1 กก. จึงเริ่มทยอยเก็บส่งขาย"


เจ้าของสวนมะกอกน้ำ บอกอีกว่า การเก็บผลผลิตทุกวันนี้จะจ้างคนงานเก็บ กก.ละ 1 บาท ซึ่งหลังจากเก็บผลผลิตแล้วก็จะทำการตัดแต่งกิ่ง โดยเฉพาะความสูงของต้น เพราะหากปล่อยให้สูงจนเกินไปจะเป็นปัญหาในด้านการบำรุงรักษาและการเก็บผลแก่ เพราะกิ่งมะกอกจะเปราะและหักง่าย ดังนั้นจะต้องตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่ม เพื่อป้องกันกิ่งหักเวลาติดผล


ส่วนในเรื่องการตลาดนั้น ไพฑูรย์ ย้ำว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ในราคา กก.ละ 8-12 บาท โดยการเก็บผลผลิตแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 ตัน และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 หมื่นบาท


จึงนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับชาวนาเมืองสุพรรณบุรี ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพใหม่ ดังเช่น "ไพฑูรย์ เหล็กเพชร" ที่ประสบความสำเร็จ


ที่มา :  http://www.komchadluek.com/news/2004-06-25/farm1--4864.html


http://www.news.cedis.or.th/detail.php?id=349&lang=en&group_id=1




มะกอกน้ำ

ชื่อพื้นเมือง สารภีน้ำ (กลาง) สมอพิพ่าย (ระยอง)

ชื่อวิทยาศาสตร Elaeocarpus hygrophilus Kurz

ชื่อวงศ์ มะมุ่น ELAEOCARPACEAE

ชื่อสกุลไม้  มะมุ่น Elaeocarpus L.

นิเวศวิทยา และการกระจายพันธุ์

     
     ในประเทศไทย
พบว่า ชอบขึ้นอยู่ใกล้น้ำ ทั่วไปทุกแห่งหน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางของประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าที่ราบต่ำมาก่อน ผลแก่ลอยไปตามน้ำได้ไกล การกระจายพันธุ์จึงเป็นไปได้ดี

     
      ในต่างประเทศ
พบที่ อินเดีย พม่า ลาว เขมร


สถานภาพ
  ประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ยกเว้นกรณีที่ขึ้นอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์




ลักษณะทั่วไป

     ต้นไม้ เป็นไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8-10 ม. เรือนยอด เป็นพุ่มกลม โปร่ง แตกกิ่งต่ำ สัดส่วนของเรือนยอด 70% ของลำต้น จึงมักพบว่ามีหลายลำต้นในต้นเดียวกัน (หลายนาง) ลำต้นมีเปลือกนอก สีเทา มีลายขาวของเราติดอยู่ทั่วไป เปลือกใน สีแดงอ่อน ๆ

     
ใบ ใบเดี่ยว เรียงแบบบันไอเวียนห่าง ๆ
รูปไข่กลับ หรือขอบขนานแกมไข่กลับ กว้าง 2 - 3 ซม. ยาว 5.5-8.5 ซม. ปลายใบมน โคนใบสอบแคบ ขอบใบหยักมนตื้น ๆ และห่าง ๆ ใบเกลี้ยงก้านใบสีแดง ยาว 1-2 ซม. เส้นแขนงใบจำนวน 7-9 คู่ ออกเรียงสลับไม่เป็นระเบียบ ปลายเส้นแขนงโค้งไปจรดเส้นถัดไป เส้นย่อยเป็นร่างแหชัดเจน ใบอ่อน สีเขียวอ่อน ใบแก่ สีเขียวเข้มและก่อนร่วงเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง


     ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ
ยาว 4-5 ซม. มีขนสีขาวเป็นเงา กลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ มีขนาดยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ขอบกลีบจักเป็นฝอย ลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความยาว ไม่มีขน เกสรผู้จำนวนมาก มีขนสั้น ๆ รังไข่มีขนหยิกเป็นมัน ภายในมี 2 - 5 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 หน่วย หรือมากกว่า


     ผล ผลสด รูปรี
ยาวประมาณ 2-3 ซม. สีเขียวอ่อน เนื้อนุ่ม เนื้อรับประทานได้ รสเปรี้ยว ๆ ฝาด ๆ เมล็ดแข็งมีเมล็ดเดียว รูปรี ปลายแหลมทั้งสองด้าน ผิวเมล็ดขรุขระ ผลอ่อน สีเขียวนวล ๆ ผลแก่ สีเขียวอมเหลือง


     ระยะเวลาในการออกดอกและเป็นผล
ระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม และเป็นผลระหว่างเดือน ตุลาคม-ธันวาคม


     การขยายพันธุ์
นิยมใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ผลยืนต้นทางเศรษฐกิจที่มีผลิผลิตสูงสม่ำเสมอ และ ราคาดีมาก ปลูกได้ง่าย เติบโตเร็ว




การใช้ประโยชน์

     ด้านเป็นพืชอาหาร มีส่วนที่เป็นอาหารคือ

          ผล ผลแก่มีรสฝาดอมเปรี้ยว นิยมนำไปทุบพอยุบตัวแล้วต้มดองเป็นผลมะกอกดอง ใสน้ำตาลพอหวานปะแล่ม ๆ อมเปรี้ยว รสฝาดจะหายไป เป็นผลไม้ดองที่สุภาพสตรีนิยมกันมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ มะกอกน้ำจึงมีการปลูกและจำหน่ายผลกันมาก มีตลาดแน่นอน ราคาสูง ไม่เน่าเสีย


     ปริมาณคุณค่าสารอาหาร กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข ได้รายงานไว้ในปี พ.ศ. 2530 ว่าคุณค่าสารอาหารของผลมะกอกน้ำในส่วนที่กินได้ 100 กรัม ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประกอบด้วย


          พลังงาน 86 แคลอรี น้ำ 75.8 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 22.3 กรัม เยื่อใยในอาหาร 0.5 กรัม โปรตีน 1.0 กรัม แคลเซียม 14 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม เหล็ก 0.9 มิลลิกรัม วิตามินเอ 375 หน่วยสากล (I.U.) วิตามินบี1 0.09 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.05 มิลลิกรัม วิตามินซี 49 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.4 มิลลิกรัม


     ด้านสมุนไพร ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรและมีสรรพคุณคือ

     เปลือกต้น รสเฝื่อน เปลือกแห้งชงน้ำดื่มกินเป็นยาฟอกเลือดหลังการคลอดบุตร

     ผล รสฝาดเปรี้ยวหวาน ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ โดยนำส่วนที่เป็นเนื้อ (mesocarp) ไปดองหรือเชื่อม

     ด้านการเป็นไม้ประดับ ความน่าสนใจของไม้ต้นนี้ คือเป็นไม้ที่ชอบขั้นในที่ชุ่มชื้น ใกล้น้ำหรือน้ำท่วมขังก็ไม่ตาย แม้จะใช้เวลานานหลายเดือน ปลูกง่ย โตเร็ว เรือนยอดเป็นพุ่มกลมกว้างและโปร่ง มีดอกดกขาวเต็มต้น ผลแก่ดอกเปรี้ยวเค็มเป็นที่นิยมมากในหมู่สตรี พัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ดี



http://tc.mengrai.ac.th/rungrat/pan/62.htm





เห็ดตับเต่า (เห็ดห้า, เห็ดผึ้ง, เห็ดลำไย หรือเห็ดโบลีท) เป็นเห็ดรากพืช (เอ็คโตมัยโคไรซ่า) พืชได้ประโยชน์จากเห็ดโดยเห็ดย่อยสารอินทรีย์ ให้แตกสลายกลายเป็นแร่ธาตุที่พืชสามารถดูดกินได้ เห็ดช่วยให้พืชดอนทนความแห้งแล้งดีขึ้น ส่วนเห็ดได้ประโยชน์จากพืชคือได้อาหารจากของเหลวที่ซึมออกมาจากรากพืช ในขณะที่อาหารส่วนใหญ่ได้จากเศษพืช สารอินทรีย์ที่ย่อยสลายตัว ปรกติการเกิดดอกเห็ดมีมากในฤดูฝนเพราะมีความชุ่มชื้นมากจากฝน แท้ที่จริงเห็ดตับเต่าเกิดได้ตลอดปีถ้าอาหารพอ ความชื้นพอ
 
     คุณ ลำไพ ชัยสิทธิโยธิน บ้านเลขที่ 33 หมู่ 12 ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี (โทร 081-8037655) สามารถผลิตเห็ดตับเต่าขายตลอดปี แต่ชอบที่จะทำเห็ดนอกฤดูมากกว่าเพราะราคาสูงกว่า ในหน้าฝนให้เห็ดออกตามวงจรที่ฝนตกชุก พืชอาศัยคือมะกอกน้ำที่ปลูกบนคันนาแบบนายกร่อง เทคนิคผลิตเห็ดตับเต่านอกฤดูนี้คุณลำไพ แจ้งว่าได้มาจากเตี่ยซึ่งทำสวนมะกอกน้ำอยู่ที่อำเภอไทยน้อย จังหวัดนนทบุรี ขั้นตอนการปฏิบัติเริ่มจากการโกยใบมะกอกน้ำที่เน่าสบายจมอยู่ในท้องร่อง สาดกระจายบนคันทั่วแปลง หว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก(มูลโค มูลไก่) กระจายบางๆ ด้านบนทับใบมะกอกน้ำ รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นเสมอ เมื่อรดน้ำต่อเนื่อง 10-15 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มแทงดอกขึ้นจากดิน การออกดอกเห็ดจะเร็วหรือช้าขึ้นกับความชื้นในดิน ถ้าดินแห้งเห็ดจะไม่ออกดอกเลย ดอกเห็ดตับเต่านอกฤดูมีคนมาซื้อถึงในสวน ดอกตูม กก.ละ 60-70 บาท ดอกบาน กก.ละ 50 บาท ไร่หนึ่งได้เห็ด 10-20 กก. ห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชโดยเด็ดขาดเพราะเห็ดจะไม่ออกดอกเลย และมีผลต่อเนื่องอยู่นาน ปัจจุบันผลมะกอกน้ำราคาค่อนข้างต่ำ จนการขายเห็ดมีรายได้มากกว่า อนึ่งการผลิตเห็ดตับเต่าปีหนึ่งทำได้หลายรุ่น จึงกลายเป็นรายได้หลักไปแล้ว ปลูกมะกอกน้ำเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าขาย ส่วนผลมะกอกน้ำนั้นถือว่าเป็นผลพลอยได้ พิทักษ์ แสงอาษา (081-8237454) รายงาน

ที่มา : ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
 
 

http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=7301.0 


 










สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2009-07-16 (16546 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©