-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 190 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เกษตรต่างแดน7




หน้า: 3/3


ผลไม้เมืองร้อนในมุมมองของคนจีน
ผลไม้ต่างๆในบ้านเรา หรือประเทศในเขตร้อนร้อนเกือบทั้งหมดที่เราคุ้นเคยเห็นกันจนชินตาเป็นของธรรมดากันนั้น แต่กับชาวจีนเกือบค่อนประเทศนั้นกลับมองเห็นเป็นผลไม้ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดไปเสียสิ้น ทั้งนี้ประเทศจีนมีผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรค่อนไปทางขั้วโลกเหนือที่มีอากาศเย็นเกือบทั้งปี พืชผลไม้เมืองร้อนงอกเงยขึ้นอยู่ไม่ได้ และประเทศจีนก็ได้ปิดประตูบ้านเพื่อฟื้นฟูพัฒนาประเทศให้หายจากความบอบช้ำทั้งจากภายนอกและภายในมาเป็นเวลานาน จึงไม่ใคร่มีโอกาสได้เห็นผลไม้เมืองร้อนกันมากนัก เมื่อจีนทำการเปิดประเทศ มีการนำเข้าผลไม้จากเมืองร้อนเข้าไปจำหน่าย จึงทำให้ประชาชนชาวจีนเพิ่งได้พบเห็นผลไม้เหล่านี้เป็นครั้งแรก จึงมองผลไม้เหล่านี้เป็นผลไม้ที่แปลกประหลาดไปเกือบทั้งหมด มาดูมุมมองของชาวจีนที่มีต่อผลไม้เหล่านี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
 
สัปปะรด ชาวจีนเรียกสัปปะรดว่า ปอหลอ (菠萝) คนจีนเป็นจำนวนมากที่กินสัปรดแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้น อาการแพ้นั้นมีตั้งแต่ริมฝีปากบวม คันตามลิ้นและปาก ท้องเสีย บางครั้งถึงกับปวดท้องก็มี บางคนอาเจียนหลังจากกินเข้าไปแล้ว 15 นาที หรืนานกว่านั้นก็ประมาณ 1 ชั่วโมง ผิวหนังเป็นผื่นแดง บางครั้งก็มีอาการคันเกิดขึ้นด้วย สาเหตุของอาการแพ้ต่างๆเหล่านี้เกิดจาก เอ็นไซม์ ที่มีอยู่ในผลสัปปะรด ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชาวจีนไม่เคยได้รับสัมผัสกับสารชนิดนี้มาก่อน เมื่อกินสัปปะรดครั้งแรกๆมักจะเกิดอาการแพ้ดังที่ได้กล่าวได้ ทั้งนี้นักวิชาการและนักโภชนาการได้แนะนำให้นำเอาสัปปะรดที่ปอกเปลือกแล้วแช่ลงในน้ำเกลือสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วค่อยนำมากิน จะบรรเทาอาการแพ้ลงได้ และต่อไปอาการแพ้ก็จะไม่เกิดอีก การแช่น้ำเกลือนี้ยังทำให้สัปปะรดมีรสชาติดีขึ้นอีกด้วย อนึ่งแหล่งปลูกพืชเมืองร้อนของจีนนั้นส่วนใหญ่จะปลูกกันในมณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) และมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งมีสถาพของภูมิอากาศเขตเมืองร้อน
 
กล้วยจักรพรรดิ์ (皇帝蕉) อย่าได้แปลกใจไป ถ้ากล้วยไข่ของไทยเราจะได้รับเรียกขานชื่อว่า ฮว๋างตี้เจียว หรือ ฮว๋างตี้เซียงเจียว ที่มีความหมายว่า กล้วยจักรพรรดิ์ หรือ กล้วยหอมจักรพรรดิ์ นั่นเอง พิเคราะห์ดูจากชื่อที่ชาวจีนตั้งให้แล้วย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า กล้วยชนิดนี้ต้องเป็นกล้วยที่มีรสชาติเป็นเลิศอย่างแน่นอน นอกจากชื่อกล้วยจักพรรดิ์แล้ว ยังมีชื่อเรียกแตกต่างออกไปดังนี้ กล้วยข้าว (米香蕉) กล้วยหอมทอง (金香蕉) ก้งเจียว (จากเวียดนาม เป็นชื่อเรียกที่เวียดนามถวายเป็นเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิ์จีนที่เรารู้จักกันว่า เครื่องก้องจิ้มนั่นเอง) Pisanmas (จากอินโดนีเซีย) ส่วนพม่าเรียกว่า กล้วยหวาน


ชาวจีนรู้จักกล้วยไข่ในฐานะของกล้วยมีระดับที่มีคุณค่าทางอาหารสูง จากการวิเคราะห์ทางโภชนาการพบว่า ใน 100 กรัมของเนื้อที่บริโภคได้นั้นประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรท 20 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม และสารไวตามินอีกหลายชนิด เปลือกนอกของมันเป็นสีเหลืองสดใส รสอร่อยถูกปาก มีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกิน ราคาค่อนข้างสูง ถือเป็นผลไม้ที่มีระดับราคาแพงชนิดหนึ่งในเมืองจีนเลยทีเดียว เนื่องจากชาวจีนนิยมชมชอบกลิ่นของมันมากกว่ากล้วยหอมเสียอีก
 
มะม่วงหิมพานต์ ชาวจีนเรียกว่า เยากวั่ว (腰果) หมายถึงผลไม้ที่มองคล้ายบั้นเอวของคนเรานั่นเอง เยากวั่ว นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนที่เป็นผล (เนื้อ) นั้นคนจีนเรียกว่า เยากวั่วหลี (สาลี่เยากวั่ว) หมายถึงผลที่เป็นเนื้อสามารถคั้นเอาน้ำมาทำเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้ได้ ส่วนล่างที่เป็นเมล็ดดูคล้ายกับไตคนเรานั้น มีเปลือกแข็งหุ้มเนื้อในอยู่ เมื่อแกะเปลือกออกนำเอาเนื้อในไปผ่านขบวนการแปรรูปแล้ว ก็จะได้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบแห้งที่บรรจุกระป๋องขายตามห้างที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Cashew Nut มีไวตามินบีค่อนข้างสูง และสารอาหารอื่นๆอีกจำนวนมาก
 
น้อยหน่า ชาวจีนเรียกน้อยหน่าว่า ฟานลี่จือ (番荔枝) มีความหมายว่าลิ้นจี่ต่างถิ่น หรือ ฝูเถากวั่ว (佛头果) ซึ่งแลดูเหมือนกับเกล้าผมบนศีรษะของรูปปั้นพระพุทธองค์ตามแบบฉบับของชาวจีน น้อยหน่ามีแหล่งกำเหนิดในทวีปอเมริกา ฝรั่งเรียกว่า Custard apple มีรสหวานเย็น กลิ่นหอมพิเศษเฉพาะตัว ชาวจีนใช้ใบและรากมาเข้าเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค



ไข่มุกดำที่มีรสชาติแสนโอชา
เห็น หัวข้อเรื่องก็ชวนให้มึนงงเป็นแน่แท้ ไข่มุกดำมีด้วยหรือ ? ที่เห็นกินๆกันอยู่ก็เป็นไข่มุกขาวที่กินเพื่อบำรุงผิวให้ขาวเนียนผุดผ่อง แต่นี่เป็นไข่มุกดำกินเข้าไปแล้วผิวจะไม่ดำเมี่ยงไปหรอกหรือ


อ๋อ ไม่หรอกหรอกครับ มิได้เป็นไปดังที่คาดคิดเดาเอาเองนะครับ เพียงแต่จั่วหัวเรื่องให้พิศวงตื่นเต้นกันเล็กน้อย ส่วนที่ว่า ไข่ดำก็มาด้วย ก็ไม่ได้หมายถึงไข่สีดำนะครับ แต่จะเป็นอะไรก็ติดตามอ่านเพื่อความบันเทิงใจพร้อมกับรับเอาเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยทางการเกษตรก็แล้วกัน


ไข่มุกดำ ที่ว่านี้ก็คือชื่อของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมสายพันธุ์หนึ่งในประเทศจีน (F1 Hybrid) ที่ทำการผสมปรับปรุงพันธุ์จนได้เมล็ดที่มีสีดำสนิท แล้วให้ชื่อว่า เฮยเจินจู (黑珍珠) ซึ่งแปลความได้ว่า ไข่มุกดำ นั่นเอง จากหน้าซองเมล็ดพันธุ์เขียนบรรยายคุณลักษณ์เอาไว้ว่า หวานหอม เหนียวนุ่ม ใช้เวลาปลูก 115 วันก็เก็บเกี่ยวฝักสดมาบริโภคได้ ความยาวฝัก 22-24 ซม. เนื้อเหนียวนุ่ม เมล็ดสีดำวาว ชอบแสง ชอบน้ำ และก็ชอบปุ๋ย (หมายถึงต้องการปุ๋ยมากหน่อย) มีความต้านทานโรคสูง เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ใช้บริโภคฝักสด มีกลิ่นหอม รสหวาน เนื้อเหนียว นุ่ม  อุดมไปด้วยโภชนะสาร
 
ได้ไปเมืองจีนก็หลายรอบ แต่ก็ยังไม่เคยได้ลองลิ้มชิมรสสักที เพราะไปไม่ตรงฤดูกาล ได้แต่สอบถามชาวจีนหลายๆท่านในประเทศจีนแล้ว ต่างกล่าวยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า กินอร่อยจริง อันนี้ก็ต้องเชื่อเขาเจ้าของประเทศไปก่อน เอาไว้มีโอกาสจะต้องลองลิ้มชิมรสให้ได้  (คงไม่ชิมไปบ่นไปหรอกนะครับ เพราะไม่ใช่คนขี้บ่น) แล้วจะมารายงานให้ทราบ

ส่วนที่บอกว่า ไข่ดำก็มาด้วย นั้น ก็ไม่ได้หมายถึง ไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่นุ้ยที่เป็นสีดำหรอกนะครับ เพราะไม่ได้มีการตั้งชื่อใดๆให้กับมันเลย ก็เลยตั้งชื่อให้ฟังโก้หรูไปเท่านั้นเอง เพราะเจ้าไข่ดำที่ว่านี้ก็คือ ฟักแฟง ที่มีผิวสีเปลือกดำเกือบสนิทเช่นกัน บนหน้าซองเขียนบอกไว้ว่า กว่างตงเฮยผีตงกวา (กว่างตงหมายถึงกวางตุ้ง เฮย แปลว่าสีดำ ผี ไม่ได้หมายถึงภูตผีปีศาจนะครับ แต่หมายถึง เปลือก ตงกวา ก็หมายถึงฟักหรือแฟงนั่นเอง) ก็เป็นอันเข้าใจกันนะครับ  
 
ผลงานเมล็ดพันธุ์ฟักแฟงที่ว่านี้ เกิดจากการผสมปรับปรุงพันธุ์โดย สถาบันการเกษตรแห่งมหานครกว่างตง (กวางตุ้ง) ผลมีลักษณะคล้ายลูกระเบิดตอปิโด เนื้อหนา ไส้เล็ก เนื้อสีขาวแน่น เปลือกแข็ง คุณภาพดี ปลูกง่าย ต้านทานโรค ผลผลิตสูง ออกผลต่อเนื่อง ผลอ่อนจะออกสีเขียวปนดำ ความยาวผลประมาณ 60 ซม. น้ำหนักผลเฉลี่ย 15 กก. ผลที่ใหญ่มากๆมีน้ำหนัก 40 กก.ขึ้นไป เมื่อผลแก่ผิวสีเปลือกจะเป็นสีดำอมเขียวเข้ม ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 12,000 กก. ในพื้นที่ปลูกอุดมสมบูรณ์ น้ำถึง ผลผลิตอาจสูงถึง 24,000 กก.ต่อไร่เลยทีเดียว ผลแก่ของมันนั้นเก็บได้นานวัน ขนส่งง่าย อีกทั้งเมล็ดและเปลือกของมันยังสามารถนำไปใช้เข้ายาจีนแผนโบราณได้อีกด้วย นับว่าเป็นพืชที่น่าสนใจตั้ง 2 ชนิด เพราะว่าเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในบ้านเราอยู่แล้ว เอ้า ใครท่านใดสนใจบอก (จะได้สั่งมาจำหน่ายให้นะครับ ไม่ได้มีแจกหรอกครับผม และจะนำเอาดอกไม้สีน้ำเงินมาให้ดูกันในโอกาสต่อไป)



เบิ่งมองการเกษตรประเทศจีน
คำกล่าวอารัมภบทข้างต้นนี้ มิได้ห่างไกลจากความเป็นจริง ไม่ต้องถ่อร่างไปไกล แค่ทอดสายตาเบิ่งมองไปในตลาดพืชผลเกษตรตลาดบ้านเราก็จะเห็น ผลิตผลการเกษตรจากจีนมากมายหลายชนิด ยาตราเข้ามาถล่มตลาดพืชผลเมืองไทยเกลื่อนกราดชนิดที่เรียกว่า ม้วนเสื่อแทบไม่ทัน มีสารพัดนานาชนิดทั่วประเทศ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ อีกทั้งราคาก็แสนถูก ทำเอาเกษตรกรไทยอ่วมไปตามๆกัน อะไรเป็นสาเหตุทำให้ประเทศจีนสามารถส่งออกผลิตผลทางการเกษตรนานาชนิดออกสู่ตลาดโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นผักสด ผลไม้ อีกทั้งสินค้าแปรรูปอีกมากมายเหลือคณานับ ทั้งๆที่ประเทศจีนมีพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรเพาะปลูกได้แค่ 9 % ของพื้นที่ของประเทศ อีกทั้งยังมีสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงถึง 4 ฤดูกาล ไฉนจึงไม่เพียงแค่ผลิตอาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงดูประชากรกว่า 1,300 ล้านคนได้ แต่ยังสมารถส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาจับตามองเป็นอย่างยิ่ง และขอบอกกล่าวว่าอย่าได้ประมาทมังกรยักษ์ตนนี้เป็นอันขาด มังกรตนนี้หาใช่มังกรขี้โรคที่หลับใหลในช่วงรัชสมัยราชวงศ์ ชิง ชาว แมนจู ไม่  แต่เป็นมังกรที่วิญญาณชาว ฮั่น ได้กลับเข้าสิงสู่ร่างเดิมแล้ว เป็นวิญาณของร่างแท้ที่พร้อมจะก้าวทะยานไปข้างหน้าอย่างน่าเกรงขาม มาดูกันว่าก้าวย่างทางการเกษตรของมังกรจีนนี้ดำเนินไปอย่างไร


ก่อนอื่น ให้มาทำความเข้าใจกับตัวตนของชาวจีนกันก่อน ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมมายาวนานหลายพันปี มีความเจริญรุ่งเรืองในหลายๆด้านที่สืบทอดต่อๆกันเรื่อยมา จนกระทั่งมาสดุดเอาช่วงยุคหลังของรัชสมัยราชวงศ์ชิง ที่ชาวแมนจูเข้ามาปกครองประเทศจีน จวบจนกระทั่งพลิกผันมาเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมที่เรียกขานกันว่า คอมมิวนิสต์ ได้ปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูพัฒนาประเทศกันอย่างรีบเร่งเต็มสะปีดร่วมสี่ห้าสิบปี จึงเริ่มเปิดประเทศคบค้าสมาคมกับโลกภายนอกอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความรู้ภูมิปัญญาเก่าแก่ดั้งเดิม ผสานเข้ากับวิทยาการใหม่ๆที่นักวิชาการชาวจีนนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันในทางด้านการเกษตร ทำให้การเพาะปลูกประสบกับความก้าวหน้าที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการทางด้านชีววิทยา (Biology) ทางจุลชีพ โคลนนิ่ง หรือการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) วิทยาการทางเครื่องจักรกล วิทยาการด้านนาโนเทคโนโลยี และอีกหลายๆด้านที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการผลิต เก็บรักษาตลอดจนการแปรรูปนานาชนิดหลายรูปแบบ
 
แล้วทำไมไทยเราจึงไม่ระแคะระคายล่วงรู้ความเป็นไปทางการเกษตรของจีนกันบ้าง คำตอบก็คือการสื่อสารทางด้านภาษาเราไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไทยเราตัดตอนการศึกษาเล่าเรียนหนังสือภาษาจีนมาร่วม 1 ชั่วอายุคนมาแล้ว ชนรุ่นใหม่จึงไม่ประสีประสากับภาษาจีน บุคลากรที่สามารถเจรจาพาทีมีกันน้อยแทบนับตัวได้ ดูโทรทัศน์จีนไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องรู้ราว เท่ากับเป็นโรคตาขุ่นตาใสมองอะไรไม่ชัดเจนกันเลย


http://space.tv.cctv.com/podcast/zfj
 


ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศกสิกรรม ประชาชนทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเปรียบเทียบการส่งเสริมสนับสนุนดูแลเกษตรกรจากภาครัฐของเรากับจีนแล้วช่างห่างไกลกันเหลือแสน ไม่ต้องกล่าวหยิบยกกันให้เมื่อยปากเมื่อยมือ ให้ดูรายการทางการเกษตรที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ก็ไม่อยากเปรียบเทียบกันอีกต่อไป จีนมีโทรทัศน์ช่องเฉพาะที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระทางการเกษตรเป็นหลัก รายการที่ออกอากาศยาวนานนับเป็นชั่วโมง ส่วนของไทยเรานั้นออกอากาศแค่ 15-20นาทีก็หาได้ยากเต็มที


การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการเรียนรู้วิชาการใหม่ๆ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ไม่เพียงแต่แพร่หลายกระจายทางโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังได้จัดตั้งเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก โดยเฉพาะเว็บไซท์จากสถานีโทรทัศน์ CCTV 7 ทั้งที่ถ่ายทอดสดและย้อนหลังบนช่องทางอินเตอร์เน็ตอีกด้วย มีทั้งที่เป็นบทความ วิดีโอ และตอบปัญหาไขข้อข้องใจอุปสรรค์ต่างๆให้แก่เกษตรกรนับพันเว็บ เรามาเริ่มต้นกันที่หน้าเว็บไซท์ 
 
เว็บไซท์หน้านี้เป็นหน้าจากรายการทีวีที่มีชื่อว่า จื้อฟู่จิง (致富经) แปลเป็นไทยว่า หนทางสู่ความมั่งคั่ง ของสถานีโทรทัศน์ CCTV 7 (ดูได้จากหน้า จากหัวข้อเรื่อง สารคดีเกษตรเรื่องดีดีมีมากมายที่น่าสนใจ) โดยจะนำสารคดีเรื่องราวต่างๆของเกษตรที่ประสบกับความสำเร็จในสาขาต่างๆหลากหลายแง่มุมในรูปแบบเรื่องจริงมาถ่ายทอดให้ชมกัน รวมทั้งได้สอดแทรกเคล็ดลับความรู้ในการประกอบการอย่างละเอียดอีกด้วย

จากข้อจำกัดทางด้านภาษา คิดว่าผู้ที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมหน้าเว็บไซท์ของเราคงติดขัดในเรื่องของภาษาหนังสือ ทางเว็บไซท์เราจึงนำเสนอให้ดูเรื่องราวที่เป็นรูปภาพและวีดีโอเป็นหลัก คิดว่าทุกท่านคงสามารถคาดเดาสาระเรื่องราวได้ในระดับหนึ่ง และหากมีเวลาและโอกาส ทางผู้จัดทำจะคำบรรยายอย่างคร่าวๆในแต่ละเรื่องที่คัดสรรแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั่วไป


ต่อไปนี้จะเป็นการแนะนำวิธีการเข้าสู่การถ่ายทอดวีดีโอรายการสารคดีต่างๆเกี่ยวกับโอกาสสร้างความมั่งคั่งจากกิจการทางการเกษตรหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนแต่ต้องอาศัยความอดทนและรู้จักฉกฉวยโอกาสมาใช้ให้เหมาะแก่กิจการทางการเกษตรแต่ละสาขาอาชีพ  ให้สังเกตกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่ 2 กรอบที่บรรจุเรื่องราวที่เป็นรูปภาพในกรอบเล็ก 6 ช่อง (ใกล้กรอบเอนิเมชั่นที่เป็นรูปลูกหมูป่า) แต่ละช่องจะเป็นวีดีโอที่ได้นำออกอากาศนับตั้งแต่รายการล่าสุด จนกระทั่งย้อนหลังไปอีกหลายสิบรายการ เรื่องในกรอบซ้ายมือจะเป็นเรื่องราวของผู้ประกอบการเกษตรหน้าใหม่ ชื่อ รายการว่า 闯天下 (ฉ่วงเทียนเซี่ย / เผชิญโลกกว้าง) ส่วนกรอบทางขวามือ ชื่อรายการว่า 经济视野 (จิงจี้ซื่อแหย่ / เศรษฐกิจที่เห็นเป็นไป) นับเป็นการดูรายการโทรทัศน์ทางหน้าอินเตอร์เน็ต แทนที่จะต้องจ่ายเงินติดตั้งจานดาวเทียมจึงจะดูได้ ผู้ที่เข้าใจภาษาจีนก็จะได้ประโยชน์จากการชมเป็นอย่างดี ได้ทวีปัญญาความรู้ทางการเกษตรอีกหนทางหนึ่ง หากต้องการดูรายการเก่าๆก็ให้คลิกเปิดดูได้จากกรอบสี่เหลี่ยมที่ระบุหมายเลขหน้า 1 2 3 4 5 6...... ไปเรื่อยๆ ครานี้ก็ได้ดูกันจุใจทีเดียว รายการที่จัดทำนี้ออกอากาศจนจบเรื่องแต่ละรายการไม่ต่ำกว่า ครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง (รายการเกษตรของไทยออกอากาศประมาณ 5 -10 นาที) เป็นการดำเนินการถ่ายทำโดยหน่วยงานสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐที่ไม่หวังกำไรเป็นที่ตั้งเหมือนของเรา
 
  นอกจากจะมีวีโอดีให้ได้รับชมแล้ว ยังมีรายละเอียดสคริปต์ให้สาวราวเรื่องที่เป็นข้อเขียนให้ค้นดูได้อย่างละเอียดอีกด้วยดังตัวอย่างที่หยิบยกมาให้ดูดังนี้  ถ้าจะดูวีดีโอ ให้คลิกที่กรอบแรกในกรอบใหญ่ที่มีตัวหนังสือ闯天下 ก็จะขึ้นหน้าวีดีโอให้ชม แต่ถ้าต้องการดูสคริปต์ที่เป็นข้อเขียนก็ให้คลิกที่กรอบเล็กด้านล่างที่มีรูปเหมือนๆกัน หรือไม่ก็เป็นกรอบที่มีหนังสือ闯天下 ล่างถัดลงไปอีก ซึ่งกรอบนี้จะเป็นคำบรรยายบอกกล่าวเป็นตัวหนังสือทั้งหมด นี่คือตัวอย่างที่เป็นสคริปต์ข้อเขียนเรื่อง




การผลิตพันธุ์ข้าวลูกผสมทำได้อย่างไร ?

แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมเผยจ๋าซวงชี (培杂双七 หรือ培杂 เผยจ๋า 77) แถวที่เห็นรวงข้าวห้อยระย้านั่นก็คือสายพันธุ์ที่มีแต่ดอกตัวเมีย (ดอกตัวผู้ไม่พัฒนา จึงไม่มีเกสรตัวผู้) ที่ได้รับการผสมเกสรข้ามต้นจากต้นพันธุ์ที่ปลูกเป็นแถวสลับกันไป
 
คงเป็นเรื่องยุ่งยากน่าปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นแน่แท้ในการผสมพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมเป็นจำนวนมากๆในเชิงพาณิชย์  เพราะการป้องกันการผสมพันธุ์ระหว่างเกสรตัวผู้และตัวเมียภายในต้นเดียวกัน หรือจากเกสรตัวผู้ต้นอื่นๆที่ไม่พึงประสงค์จำนวนมากๆนั้นคงทำไม่ได้เป็นแน่ในทางปฏิบัติ  แต่เป็นเพราะความมานะบากบั่นอย่างแรงกล้าของนักผสมพันธุ์ข้าวที่มีนามว่า  เหยี่ยน หลงผิง  ที่ได้รับสมญานามเป็นบิดาของวงการข้าวลูกผสมของจีนและโลก  ได้ทุ่มเทชีวิตการทำงานทั้งหมดให้กับการวิจัยค้นคว้าหาหนทางผลิตข้าวลูกผสมให้สำเร็จจงได้  เพราะท่านเล็งเห็นว่าหนทางเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มากยิ่งๆขึ้นนั้น  มีแค่หนทางเดียวเท่านั้น นั่นก็คือพันธุ์ข้าวลูกผสมที่เหมือนกับพันธุ์ลูกผสมของพืชชนิดอื่นๆที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นที่ยอมรับกันแล้วนั่นเอง  แต่หนทางการผลิตพันธุ์ข้าวลูกผสมจำนวนมากมายในทางปฏิบัตินั้นมันเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย  ทว่าโชคย่อมเข้าข้างกับผู้มีอุตสาหะวิริยะ  จากการค้นพบสายพันธุ์ข้าวป่ากอหนึ่งที่เกสรตัวผู้ไม่พัฒนาในมณฑลห่ายหนานเต่า (เกาะไหหลำ)  นั่นก็คือจุดกำเนิดเริ่มต้นของข้าวลูกผสมหลากหลายสายพันธุ์ในปัจจุบัน
 
แปลงข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม เผยจ๋า77 ที่มณฑล กว่างตง
 
ข้าวเป็นพืชที่ผสมตัวเองจากเกสรตัวผู้และตัวเมียภายในต้นเดียวกัน  หรือผสมข้ามต้นจากเกสรตัวผู้ต้นอื่นๆก็ได้  การป้องกันการผสมเกสรจากเกสรตัวผู้ภายในต้นเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทั้งดอกตัวผู้และเกสรนั้นมีขนาดเล็กและมีปริมาณมหาศาล  แต่เมื่อมีข้าวสายพันธุ์ที่เกสรตัวผู้ไม่พัฒนา  จึงทำให้กำแพงปัญหาดังกล่าวถูกทะลายไป  ภาพถ่ายที่นำมาให้ชมกันนี้  เป็นแปลงข้าวผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ลูกผสมในมณฑล ห่ายหนานเต่า  และมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) จะเห็นได้ว่ามีข้าวที่ตกรวงเป็นแนวเป็นแถวอย่างมีระเบียบ  นั่นก็คือสายพันธุ์ข้าวที่เกสรตัวผู้ไม่พัฒนา (มีแต่ดอกตัวเมียเท่านั้น ไม่มีดอกตัวผู้)  จึ่งไม่มีโอกาสผสมตัวเอง  คงได้รับการผสมเกสรข้ามต้นจากสายพันธุ์ที่มีลักษณะที่ดีตามความต้องการจากต้นข้าวที่ปลูกสลับกันเป็นแถวๆแต่เพียงแหล่งเดียว  เป็นหลักประกันได้ว่าไม่เกิดความแปรปรวนในสายพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ทำการผลิตอย่างแน่นอน



แตงโมอวกาศมาที่รอคอย ถึงเวลาปลูกให้ลิ้มชิมรสแล้ว
งานปรับปรุงพันธุ์พืชใช่ว่าจะต้องดำเนินการโดยนักวิชาการเท่านั้น  เกษตรกรชาวบ้านธรรมดาก็สามารถกระทำได้ หากมีความคิดริเริ่ม มีความมุ่งมั่นและที่สำคัญก็คือ ความกล้าหาญ
 
แตงโมอวกาศ กับแตงโมพันธุ์ดั้งเดิม มีน้ำหนักและขนาดใหญ่กว่าปกติถึง 3 เท่าตัว

เมล็ดพันธุ์แตงโมที่ทำการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์แล้ว
 
เกษตรกรหญิงเก่งผู้นี้มีนามว่า จ้าว เจิ้นหย่ง (赵 振永) อาศัยอยู่ที่ เมืองเทียนจิน (天津)  เขตุอู่ชิงชวี (武清区) ความคิดอันบรรเจิดเกิดขึ้นกับเธอเมื่อได้อ่านพบข่าวที่ทางการได้ส่งเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่างๆร่วมไปกับดาวเทียมที่โคจรนอกบรรยากาศของโลกเป็นเวลาหลายวัน เมื่อเสร็จภาระกิจของยานดาวเทียมแล้ว หลังจากกลับสู่พื้นโลก เมล็ดพันธุ์ที่ฝากส่งไปกับยานนั้นได้ถูกนำไปเพาะขยายพันธุ์ เพื่อทำการคัดแยกปรับปรุงพันธุ์ต่อไป ซึ่งขบวนการดังกล่าวนั้นเป็นการดำเนินการโดยองค์กรอันเป็นหน่วยงานของทางการทั้งสิ้น ซึ่งผลปรากฏว่าได้พันธุ์พืชสายพันธุ์พิเศษที่ให้ผลดีกว่าที่พันธุ์พืชที่ปรับปรุงโดยปกติบนพื้นโลกหลายสายพันธุ์ เมื่อจ้าว เจิ้นหย่ง ทราบข่าวว่าจะมีการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรนอกโลกอีกครั้งในปี 2006 เธอจึงได้ทำหนังสือยื่นคำร้องขอไปยัง สำนักงานวิจัยไฮเทคทางพานิชย์ของประเทศจีน (中国高科技产业化研究会) ขอฝากเมล็ดพันธุ์แตงโมของเธอร่วมไปกับดาวเทียมที่จะส่งออกไปโครจรนอกโลกด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเธอคิดว่าคงเป็นเรื่องไกลเกินที่จะเป็นจริงได้ แต่โชคเข้าข้างเธอ เมื่อทางการตอบรับคำร้องของเธอโดยยินยอมให้นำฝากได้แค่น้ำหนักไม่เกิน 6 กรัม ซึ่งนับว่าน้อยมาก แต่เธอก็ดีใจเป็นล้นพ้น จึงได้ส่งเมล็ดพันธุ์แตงโมที่คัดเลือกเอาไว้จำนวน 78 เมล็ดไปยังหน่วยงานวิจัย ฯ นั้นทันที  แล้วก็ตั้งตารอคอยวันที่ดาวเทียมจะหวนกลับมายังพื้นโลกอย่างใจจดจ่อรวมทั้งทนถูกคำกล่าวว่าดูแคลนของเพื่อนบ้านที่ค่อนขอดว่า เธอเป็นเกษตรกรชาวบ้านธรรมดา จะมีความรู้ความสามารถทำงานของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญโดยตรงได้หรือ  และแล้วปลายปี 2006 นั้นเอง เธอก็ได้รับเมล็ดพันธุ์แตงโมที่ได้ฝากติดออกไปโคจรรอบโลกเป็นเวลา 15 วัน ซึ่งนับเป็นระยะทางร่วม เก้าล้านกิโลเมตร รวมทั้งหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐบาลด้วย เธอไม่รอช้า รีบนำเมล็ดพันธุ์แตงโมที่ได้รับกลับคืนมานั้น ทำการเพาะเมล็ดปลูกทันที แต่ทว่าต้นกล้าที่เพาะเหลือรอดชีวิตมาได้นั้นเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง (38 ต้น) จ้าว เจิ้นหย่ง เฝ้าประคบประหงมดูแลเอาใจใส่ต้นแตงโมเหล่านี้ดุจดังลูกก็ไม่ปาน จนกระทั่งย่างเข้ากลางเดือนกรกฏาคม 2007 แตงโมที่ปลูกก็มีอายุ 28 วัน ซึ่งเกษตกรจีนถือว่าเมื่อปลูกแตงโมมาถึงขั้นนี้แล้วจักต้องได้เห็นผลแตงอย่างแน่นอนดังคำกล่าวที่ว่า  “กวา เจี้ยน กวา เอ้อ สือ ปา” (瓜见瓜,二十八 / ปลูกแตงได้เห็นแตง เมื่อเวลาอายุสองสิบแปด) เธอเฝ้าดูลูกแตงโมค่อยๆเติบใหญ่ ตั้งแต่ขนาดลูกไข่ไก่จนโตเท่าลูกบาสเก็ตบอล และใหญ่เท่าลูกฟัก ซึ่งเป็นเวลาที่แตงสุกแก่พอดี เธอทำการคัดเลือผลที่มีขนาดใหญ่ลักษณะดีได้ 38 ลูก สีผิวเปลือกมีทั้งสีเขียวล้วนและเป็นริ้วลายทางสีเขียวอ่อนแก่ ลูกกลมดิก น้ำหนักแต่ละลูก หนักไม่ต่ำกว่า 15 กิโลกรัม หนักเกือบ 3 เท่าของสายพันธุ์ดั้งเดิม เนื้อแน่น สีแดงสวย รสชาติหวานกรอบ อร่อยลิ้น ให้ผลผลิตสูง ถึง 16,800 กิโลกรัมต่อไร่เลยทีเดียว  มีความต้านทานโรคสูงอีกต่างหาก เขณะนี้ธอทำการขยายพันธุ์และรวบรวมเมล็ดพันธุ์ได้ร่วม 50 กิโลกรัม เตรียมผลักดันให้เกษตกรในเขตุอู่ชิงชวี ได้ปลูกกันอย่างทั่วถึงในพื้นที่ปลูกประมาณ 4 พันไร่ ต้นปีหน้าชาวเทียนจินก็จะได้มีโอกาสลิ้มรสชาติของแตงโมอวกาสกันแล้ว เก็บเกี่ยวแล้วอย่าลืมส่งมาให้ชาวไทยได้ลิ้มชิมรสกันบ้างนะจ๊ะ คุณจ้าว หย่งเจิ้น คนเก่ง



มู่กวา (木瓜)
มู่กวา (木瓜) ชื่อเรียกผลไม้ภาษาจีนนี้ ในบ้านเราจะหมายถึงผลไม้ที่เรียกว่า มะละกอ แต่ในประเทศจีนจะหมายถึง ผลไม้ 2 ชนิด ที่มีชื่อเรียกเหมือนๆกัน หนึ่งนั้นก็คือ ผลไม้ที่มีลักษณะคล้ายผลมะกอก แต่มีขนาดใหญ่กว่า ( ฝรั่งเรียก paw paw หรือ papaw) ส่วนอีกชนิดหนึ่งนั้นก็คือ มะละกอ (papaya) ประชาชนคนจีนส่วนใหญ่เมื่อเอ่ยถึง 木瓜 (มู่กวา) แล้วมักจะคิดถึงผล  paw paw เสียมากกว่า เนื่องจากผลมะละกอนั้นจะไม่มีให้เห็นโดยทั่วไป เนื่องด้วยเป็นพืชผลไม้เขตเมืองร้อน ปลูกในประเทศจีนไม่ได้ ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่มีอากาศหนาวเย็น (แต่ปัจจุบันนี้เริ่มทำการปลูกกันบ้างแล้ว ในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิที่มีต้นทุนต่ำ คุ้มค่าต่อการลงทุน) ที่ปลูกกันกลางแจ้งก็เห็นจะมีแถบมณฑลชายฝั่งตอนใต้ของจีนอย่าง หยีนหนาน (ยูนนาน) กว่างซี (กวางสี) และกว่างตง (กวางตุ้ง) รวมทั้งเกาะห่ายหนาน (เกาะไหหลำซึ่งปลูกพืชเมืองร้อนได้แทบทุกชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่คุณภาพสู้ของไทยไม่ได้ เพราะสายพันธุ์ไม่ดีเท่ากับของไทยเรา)


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คำว่า 木瓜 (มู่กวา) ก็ยังคงสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นอยู่ดี เพราะออกเสียงเหมือนกัน อีกทั้งยังเขียนเหมือนกันอีก ดังนั้น เพื่อความชัดเจน จึงมีชื่อเรียกจำเพาะลงไปเป็น เซียงมู่กวา (香木瓜 / มู่กวาหอม) ส่วนมะละกอนั้นเรียกว่า ฟานมู่กวา (番木瓜 / มู่กวาป่า / มะละกอ) ถ้าเรียกเจาะจงได้ดังนี้ก็จะสามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าเป็น  มะละกอ หรือ มู่กวา ได้แจ่มแจ้งแดงแจ๋ (ดูรูป)  แต่อย่างไรก็ไม่หายวายวุ่นอยู่ดี กับคำว่า มู่กวา เพราะบางท้องที่ กลับหมายถึง ผลฝรั่ง ไปโน่น (ปวดหมอง ปวดหมอง) แต่ในที่นี้จะบอกเล่าเค้าคดีของ เซียงมู่กวา กับเกร็ดเล็กๆน้อยๆของมะละกอเท่านั้น (ไม่เกี่ยวกับฝรั่ง)
 
ผลของ เซียงมู่กวา ยังมีชื่อเรียกว่า ว่านโซ่วกว่อ (万寿果  หมายถึงผลไม้ที่กินแล้วมีอายุยืน ซึ่งก็มีผลไม้อีกหลายชนิดที่ได้รับสมญานามดังนี้) แต่สำหรับเนื้อไม้ของมันแล้วกลับมีชื่อเรียกอีกต่างหากว่า เจี้ยงหลงมู่ (降龙木) เฟิงสุ่ยซู่ (风水树/ ต้นฮวงจุ้ย) หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่า ลิ่วต้าวจื่อ (六道子) เนื่องจากเนื้อไม้แน่น และแข็งแกร่ง ลื่นมือ เป็นมันวาว ลายไม้เด่นชัดสวยงาม ถือเป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง นิยมนำมาใช้ทำเป็นลูกปะคำที่ใช้ในการนั่งทำสมาธิ

ผลของ เซียงมู่กวา นั้น อุดมไปด้วยกรดอะมิโน และสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากมายหลายชนิด มีสาร flavonoids สาร oleanolic และสารกัมมันต์อีกหลายชนิด (active substances) ปัจจุบันประเทศจีนนำมาใช้บริโภคเป็นอาหาร ยารักษาโรคและอาหารเสริมสุขภาพ ตลาดการค้าซื้อ-ขายกว้างขวางทั่วประเทศ มีการปลูกกันเป็นพื้นที่กว้างใหญ่หลายๆอำเภอเลยทีเดียว


ต้น เซียงมู่กวา เป็นไม้ประจำถิ่นของเมือง  ป่ายเหอเซี่ยน (白河县 อยู่ในมณฑลส่านซี / 陕西省) ถือเป็นแหล่งกำเนิดของไม้ชนิดนี้ (木瓜之乡) ด้วยมีประวัติบันทึกไว้ว่า ถิ่นที่แห่งนี้ได้มีการปลูก เซียงมู่กวา กว่า สองพันปีมาแล้ว ปัจจุบันอำเภอ ป่ายเหอ ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเป็นเนื้อที่กว่า 45,000 ไร่ และให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัน ต่อปีเลยทีเดียว โดยมีการแปรรูปผลผลิต เซียงมู่กวา ในรูปแบบต่างๆหลายชนิดในลักษณะของโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ถึง 3 โรง ที่ทำการผลิต สุราขาว


เซียงมู่กวา เครื่องดื่มเซียงมู่กวา เซียงมู่กวาผง น้ำส้มหมัก ชาสุขภาพจากต้นอ่อนของเซียงมู่กวา ตลอดจนหัวเชื้อกลิ่นเซียงมู่กวาอีกด้วย ทั้งนี้ผลงานทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีป่าไม้ตะวันตกเฉียงใต้ กับศูนย์เทคโนโลยีแห่งเมืองป่ายเหอ ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากผลเล็กๆของ ไม้ผลที่มีชื่อว่า เซียงมู่กวา
 
วิธีการกินมะละกอแบบหนึ่งในประเทศจีน (น้ำแข็งไสใส่มะละกอ)

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงมะละกอในสายตาชาวจีนเพียงเล็กน้อย เพราะเรามักคุ้นกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นส้มตำมะละกอ หรือมะละกอสุก แต่ชาวจีนจะไม่นิยมกินมะละกอดิบ นิยมกินแต่มะละกอสุกเท่านั้น และเห็นมะละกอเป็นผลไม้ที่แปลกประหลาด จนมีพ่อค้าหัวใสสร้างกระแสขึ้นมาว่ามะละกอนั้นมีสารที่ทำให้ทรวงอกใหญ่ขึ้นได้ เป็นที่ฮือฮาขายดีอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งหน่วยงานสาธารณสุขได้ออกมาชี้แจงความจริง จึงได้หลุดกระแสหายจ๊อมไปเลย



ปลูกข้าวในทะเลทรายโกบี ?
ปรากฏการณ์หลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ก่อนหน้านี้เราไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นและเป็นไปได้ แต่ทว่ามันกลับเกิดขึ้นและเป็นไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนแต่เกิดจากความอุตสาหะมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าหามูลฐานโดยมิได้หยุดนิ่งของนักวิชาการ ทำให้เข้าใจกลไกการทำงานของสิ่งต่างๆ และนำมาประยุกต์ใช้งานก่อเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีพของคนเราอย่างกว้างขวาง ไม่วายเว้นแม้กระทั่งวงการเพาะปลูก


หลังการปฏิวัติเขียวเป็นต้นมา บรรดาเกษตรกร เหล่านักวิชาการต่างให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์สารเคมีที่ใช้ในการบำรุงพืชพรรณที่ปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นหนักต่อการใช้ ปุ๋ยเคมีเป็นหลักในการเพิ่มผลผลิต ทางการได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ผลิตภัณฑ์ทางเคมีเหล่านี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ให้ผลผลตอบสนองในระดับที่น่าพอใจ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไประยะหนึ่ง เราจึงได้ตระหนักถึงผลเสีย - ผลกระทบข้างเคียงของสารเคมีเหล่านี้ที่ตกค้างสะสมในแผ่นดิน ผืนฟ้า ท้องน้ำ และหวนย้อยกลับเข้าสู่ร่างกายเรา รวมทั้งชีวิตพืชและสัตว์ ก่อปัญหาทางด้านสุขภาพติดตามมา เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้าง สร้างความเสียหายที่สาหัสน่าปริวิตกเป็นอย่างยิ่ง ยากต่อการแก้ไขเยียวยาให้ดีขึ้นได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ 
 
เกษตรกร นักวิชาการท่านใดจะเชื่อว่า สารสมุนไพรธรรมชาติจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้เป็นเท่าๆตัว จากการให้แก่พืชเพียงแค่ 2 – 3 ครั้งเท่านั้นตลอดช่วงอายุการเพาะปลูก ทำให้เติบโตได้เร็วกว่าปกติ เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น 10 – 40 วัน เกิดความต้านทานต่อโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี ทนทานต่อสภาวะวิกฤตในพื้นที่แวดล้อมที่มันดำรงอยู่ อย่างเช่นอากาศหนาวเย็น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ดินเค็มเป็นต้น ก็ทำให้พืชที่ที่ปลูกได้รับสารสมุนไพร GPIT เหล่านี้สามารเจริญเติบโตเลี้ยงตัวอยู่รอดจนกระทั่งให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้อย่างน่าพอใจ อีกทั้งยังให้คุณภาพที่ดีเยี่ยมอีกด้วย
แม้จะค้นพบแนวทางใหม่อันเป็นวิถีทางธรรมชาติที่ให้ผลดีกว่าการใช้สารเคมีแล้วก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า สารสมุนไพรดังกล่าวมีประสิทธิภาพดังที่กล่าวอ้างไว้ ต่างเข้าใจว่าเป็นการโฆษณาคุยโม้โอ้อวดหลอกขายสินค้ากันเสียละมากกว่า จึงไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่ใส่ใจที่จะนำมาใช้กับพืชที่ปลูก ต่างบอกกล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้ที่สารสมุนไพรจะก่อเกิดผลดีเยี่ยมมากมายก่ายกองจากผลิตภัณฑ์เพียงตัวเดียว” ดังเช่นเรื่องที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ว่า...


เราจะปลูกข้าวทำนาในทะเลทรายโกบี  เป็นไปได้จริงหรือ ?

ในอนาคตข้างหน้าอีกไม่นานนัก เราคงจะได้เห็นการปลูกข้าว ทำนากันในทะเลทรายโกบี  ใครนะที่อาจหาญกล้าป่าวประกาศดังนี้ ?
 
แปลงทดลองที่สอดใส่ยีนทนแล้งเข้าไปในต้นข้าว เปรียบเทียบ
กับต้นข้าวปกติที่ปลูกสลับกันเป็นแปลงเล็กๆนั้น แสดงให้เห็นถึง
ความโดเด่นของยีนทนแล้ง OsSKIPa ได้อย่างชัดเจน
(ล๊อคสีฟางแห้งที่เห็นนั้นคือต้นกล้าข้าวปกติที่แห้งตายไป)
 
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรกรรม ฮว๋าจงหนงแอย๊ะต้าเสวี๋ย (华中农业大学) ประสบความสำเร็จในการแยกแยะยีนคู่หนึ่งในต้นข้าวที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ยีนคู่นี้มีชื่อว่า OsSKIPa ผู้ทำการวิจัยได้แถลงว่า หากทำการปรับปรุงเพิ่มความเข้มข้นการแสดงออกของระดับยีนดังกล่าวแล้วจักสามารถเพิ่มขีดความสามารถทนทานต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี พื้นที่ขาดแคลนน้ำอย่างในทะเลทรายโกบีก็อาจทำการปลูกข้าวทำนาได้ในอนาคตข้างหน้า


ผลงานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในสารสารวิทยาศาสตร์ กวั๋วเจียเคอเสวี๋ยเยี่ยนเยี่ยนคาน《国家科学院院刊》(PNAS / International authoritative academic journal) อันเป็นวารสารวิชาการระดับประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนำเสนอโดย ศาสตราจารย์ โสรง ลิจง (熊立仲) ท่านเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมงานวิจัยข้าวเฉพาะกิจ โดยจะเน้นหนักงานวิจัย – แยกแยะยีนที่มีศักยภาพต้านทานความเครียดของต้นพืชเพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์ในการเพาะปลูก


ท่านศาสตราจารย์ โสรง ลิจง ชี้แจงว่า ยีน OsSKIPa ที่ผ่านการกรองคัดแยกด้วยเทคนิคยีนชิปแล้ว (Gene chip technology) ร่วมกับเทคนิคถ่ายโอนยีนจำนวนหลายๆครั้งจนได้ยีนดังกล่าว ผลจากการทดสอบปรากฏว่าในสภาวะที่แห้งแล้ง ต้นกล้าข้าวกลุ่มเปรียบเทียบที่มีอัตราการรอดร้อยละ 20 ถึง 50 นั้น หลังจากได้สอดใส่ยีนทดสอบ OsSKIPa เข้าไปแล้ว อัตราการอยู่รอดนั้นสูงเพิ่มขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ข้าวที่มียีนทนแล้งอยู่นั้น ผลผลิตเพิ่มขึ้นร่วม 20 %


งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ยีน OsSKIPa นั้นสามารถควบคุมการแสดงออกของลักษณะความทนทานต่อความแห้งแล้งของต้นข้าวได้เป็นอย่างดี ยังผลให้เซลล์ของต้นข้าวนั้นมีพลังชีวิตที่แกร่งขึ้น ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดในสภาวะที่ขาดน้ำได้เป็นอย่างดี ลดความสูญเสียจากผลกระทบที่เกิดจากความแห้งแล้งได้ ผลที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองที่เป็นกระบวนการต่อเนื่องนี้ไม่ใคร่ได้พบเห็นจากการวิจัยในข้าวมาก่อน ผลจากการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า โปรตีนในเอ็นไซม์ SKIP สามชนิดในต้นข้าว และคนนั้น (ใกล้เคียงกับยีน OsSKIPa) มีคอมไบด์โปรตีนที่แตกต่างกันออกไป ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวดังกล่าวนำไปสู่วิวัฒนาการทางพันธุกรรมให้เป็นยีนที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งอย่างฉับพลัน ถือเป็นสิ่งที่มีความหมายเป็นอย่างยิ่ง


ศาสตราจารย์ โสรง ลิจง กล่าว่า ความทนทานต่อความแห้งแล้งนั้นเกิดจากผลการทำงานแสดงออกร่วมกันของยีนทนแล้งจำนวนมาก ผลงานวิจัยชิ้นนี้ใช้กลวิธีย้อนกลับในการถ่ายทอดพันธุกรรมมาดำเนินการแยกแยะและศึกษาถึงยีนที่คงทนต่อความเครียดของต้นข้าว ผนวกกับความเข้าใจในกระบวนการความต้านทานของโมเลกุล ในขณะเดียวกัน การค้นพบยีนดังกล่าวทำให้การปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบไม่ได้



ข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ที่กว่างซี
ศูนย์วิจัยข้าวเอกชน ฮว๋างสื้อ (黄氏水稻研究所)  เมืองเสี้ยงเจา (象州) เขตปกครองตนเองมณฑล กว่างซี (广西自治区 / กวางสี) ได้ทำการวิจัยผสมพันธุ์ข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ ข้าวหอมลูกผสมสามสายพันธุ์นี้เป็นข้าวหอมแดง มีชื่อเรียกว่า ปินหลางหง (槟榔红 / หมากแดง) เป็นข้าวพันธุ์ลูกผสมที่นำเอาข้าวป่าที่ดอกเพศผู้ไม่พัฒนา แหย่ป้าย (野败型不育) มาทำการปรับปรุงพันธุ์ ดังนั้นเมล็ดข้าวพันธุ์ลูกผสมนี้จึงเป็นข้าวที่มียีนดอกเพศผู้ไม่พัฒนาตามไปด้วย นับเป็นพันธุ์ข้าวสีแดงที่มีกลิ่นหอมแรกสุดในประเทศจีน


ข้าวหอมแดงลูกผสมที่ว่านี้  ออกรวงแทงดอกดีมาก  คุณภาพเมล็ดข้าวดี  มีความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่ดีอีกด้วย  จากการนำเสนอในที่ประชุมข้าวโลกที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน  เป็นเป้าที่สนใจของนักวิชาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเป็นอย่างสูง  ได้รับการยกย่องชมเชยในด้านคุณภาพและกลิ่นของข้าวสายพันธุ์นี้โดยทั่วกัน


จากการวิเคราะห์คุณภาพข้าว และคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรของประเทศ  รวมทั้งหน่วยงานวิเคราะห์ฯ ของเขตปกครองตนเองกว่างซีเอง  รายงานว่าข้าวหอมแดงดังกล่าวมีคุณค่าทางโภชนาหารสูง  มีสารเสริมสุขภาพและตัวยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าข้าวทั่วๆไป อาทิ ไวตามิน E เฟลวาโนน เบตาแคโรทีน และ กรดลีโนลีนิค โดยเฉพาะกรดลิโนลีนิคนั้นมีสูงกว่าข้าวธรรมดาถึงเท่าตัวเลยทีเดียว ส่วนไฟเบอร์นั้นมีมากกว่า 50 %ขึ้นไป
 
ข้าวหอมแดงลูกผสมพันธุ์นี้สีออกจำหน่ายเป็น 3 ชนิดด้วยกัน  คือ
1.หงปินหลาง A (หมากแดง A) เป็นข้าวกล้อง (สีหยาบ) ถือเป็นข้าวสมุนไพรใช้บริโภคบำรุงสุขภาพ

2.หงปินหลาง B (หมากแดง B) เป็นกึ่งข้าวกล้อง เหมาะใช้หุงเป็นข้าวต้มบำรุงกำลังผู้ป่วยหลังพักฟื้นจากการรักษา คนสูงอายุ หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง

3.หงปินหลาง C (หมากแดง C) เป็นข้าวขัดขาวสำหรับบริโภคทั่วไป



จีนยันข้าว จีเอ็มโอ ปลอดภัย อีก 5 ปีขายได้
จีน ออกหนังสือรับรองความปลอดภัยข้าวจีเอ็มโอ ทำเป็นประเทศแรกในโลก ที่ให้ใบรับรองดังกล่าว ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวเชื่อว่า จีนยังไม่ส่งออกใขณะนี้...


ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รายงานโดยอ้างข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวัน Guangzhou Daily ฉบับวันที่ 23 มี.ค.53 ว่า กระทรวงเกษตรของจีน ได้อออกหนังสือรับรองความปลอดภัยให้กับข้าวตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) รวม 2 ชนิด โดยหนังสือรับรองดังกล่าวมีอายุ 5 ปี และกำหนดให้ใช้เฉพาะภายในมณฑลหูเป่ยเท่านั้น ส่งผลให้จีนเป็นประเทศแรกในโลก ที่ออกหนังสือรับรองความปลอดภัยข้าวจีเอ็มโอ แต่นักวิจัยคาดว่า อาจใช้เวลานานถึง 5 ปี จึงจะนำขึ้นโต๊ะอาหารได้ และหากจีนปลูกข้าวจีเอ็มโออย่างกว้างขวาง จะทำให้รูปแบบการค้าข้าวโลกเปลี่ยนแปลง โดยการค้าขายจะมีปัญหามากขึ้น และประเทศอื่นๆ จะปลูกข้าวจีเอ็มโอตามจีนด้วย


ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จีนค้นคว้าและวิจัยข้าวจีเอ็มโอมานานแล้ว และมีหลายสายพันธุ์ แต่เชื่อว่า จีนคงยังไม่ส่งออก คงจะขายในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบัน ทั่วโลกยังไม่ยอมรับอาหารจีเอ็มโอ แต่ในอีก 15-20 ปี ทั่วโลกอาจให้การยอมรับได้ ส่วนไทยในเวลานั้น หากไม่ผลิตข้าวจีเอ็มโอ ก็จะทำให้ข้าวไทยกลายเป็นสินค้าพรีเมียม เพราะเป็นข้าวปลอดจีเอ็มโอ



ที่มา  :  ไทยรัฐ



แกะแคชเมียร์
สัปดาห์นี้เขียนถึงเรื่องจีนอีกแล้ว ทั้งที่ไม่เจตนาเลยครับ

บังเอิญไปเห็นเรื่องนักวิทยาศาสตร์จีนของมหาวิทยาลัยมองโกเลีย ทำการโคลน หรือโคลนนิ่ง แกะแคชเมียร์ เพื่อให้มีขนดกเป็นพิเศษ จากปกติที่เคยให้ขนปีหนึ่ง 600 กรัม เพิ่มเป็นมากกว่า 1,000 กรัมหรือมากกว่า 1 กิโลกรัมขึ้นไป

ทำไมแกะแคชเมียร์มีขนมากขึ้นเป็นพิเศษ เขาบอกว่ามียีนหรือพันธุกรรมที่ทำให้มีขนดกกว่าปกติ จริงๆแล้วผมอยากคิดเอาเองว่า จะเป็นแกะที่มีการตัดต่อพันธุกรรมหรือเปล่า จากนั้นค่อยโคลนนิ่งขยายลูกหลาน เพราะพูดถึงยีนพิเศษ หรือไม่แน่ก็อาจเป็นแกะแคชเมียร์พันธุ์พิเศษให้ขนดกอยู่เดิมก่อนแล้ว จึงมีทำการโคลนเอาเพื่อไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากพ่อแม่พันธุ์

ขนแกะแคชเมียร์ใช้สำหรับทำสิ่งทอ และมีราคาแพงระดับเศรษฐีใช้ การผลิตแกะแคชเมียร์ได้มากๆ ซึ่งที่ทดลองอยู่มี 14 ตัวก็จะยิ่งทำให้คนเลี้ยงแกะแคชเมียร์รวยมากขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อย 1 เท่า

พร้อมกันนั้น มีข่าวว่าจีนกำลังโคลนวัวที่อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นวัวเนื้อ หรือวัวนม แต่ที่แน่ๆกรดโอเมก้า 3 มีประโยชน์ต่อหัวใจ และการพัฒนาสมอง ตลอดจนสายตา

ลองดูผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ระบุว่ามีกรดโอเมก้า 3 ในชั้นวางของซูเปอร์มาร์เก็ต พลิกดูราคาแล้วจะร้องจ๊ากกกก เพราะแพงแสนแพง

ผมอ่านทั้งเรื่องแกะแคชเมียร์ จนถึงวัวโอเมก้า 3 แล้วยิ่งมั่นใจว่า จีนพัฒนาได้จากเทคนิคดัดแปลงพันธุกรรมค่อนข้างแน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง

วันก่อนเขียนถึงข้าวจีเอ็มโอที่จีนเพิ่งประกาศรับรองความปลอดภัยให้ขายเมล็ดพันธุ์ และปลูกขายในเชิงพาณิชย์ วันนี้มารู้เรื่องแกะแคชเมียร์กับวัวโอเอก้า 3 ขืนอินกับมันมากๆ รับรองอยากไปสมัครเป็นพลเมืองหรือนักวิจัยจีนซะให้รู้แล้วรู้แร่ด

เพราะนักวิจัยไทยค่อนข้างอับโชคเมื่อเทียบกับจีน ซึ่งทั้งส่งเสริมด้วยปาก และการกระทำทุ่มเททรัพยากรทั้งหลาย ทั้งเงินทอง อุปกรณ์ เพื่อให้นักวิจัยได้มีโอกาสสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติอย่างจริงจัง

สำหรับคุณหญิงดร.กัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์เก่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งวิทย์ แต่จนถึงวันนี้ต้องบอกตามตรงแบบไม่อ้อมค้อมว่า ไม่ค่อยเห็นแนวทางส่งเสริม และพัฒนาชนิดหลังมือเป็นหน้ามือซักเท่าไหร่

บวกกับท่าทีแนวคิดในอดีตที่ออกจะต่อต้าน เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคนิคดัดแปลงพันธุกรรม ดังนั้นเมื่อมานั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมาพลิกความคิดตัวเอง มันก็กระไรๆอยู่เหมือนกัน

จึงเห็นคุณหญิงกัลยาไปส่งเสริมเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประมาณนั้น

อืมม...ถ้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมว่าร้าย นิวเคลียร์คงไม่ร้ายกระมังเนอะคุณหญิง



ชีวินตัย

ที่มา  :  แนวหน้า



 เกษตรจีนทะลุแสนล้าน จับมือ อิสราเอล-แคนาดา เพิ่มศูนย์นวัตกรรมฯ

เอเยนซี - สื่อจีนรายงานวันที่ 21 ธ.ค. ว่า ข้อมูลตัวเลขจากกระทรวงเกษตรจีน ด้านการค้าสินค้าเกษตรในปีนี้ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพฯ จับมืออิสราเอล - แตนาดา ตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ

ข้อมูลตัวเลขจากสำนักงานศุลการกรจีนเผยว่า มูลค่ารวมการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรจีน ตั้งแต่ ม.ค.- ต.ค. อยู่ที่ 95,350 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 38,450 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 เทียบเป็นรายปี และมีมูลค่าการนำเข้า 56,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 เทียบเป็นรายปี

จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้มีความคาดการณ์ว่า มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรจีน ในปีนี้จะสร้างสถิติใหม่เกิน 100,000 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวกล่าวว่า จีนได้สนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาการเกษตรให้รุดหน้า โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้สร้างความร่วมมือและก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมการเกษตรร่วมกับประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมเกษตรมากมายหลายร้อยโครงการ และล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ย.) ยังได้ทำความตกลงร่วม 3 ประเทศ จีน-อิสราเอล-แคนาดา เปิดศูนย์ความร่วมมือทางนวัตกรรมการเกษตรเพิ่มอีกแห่งอย่างเป็นทางการ โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มศักยภาพความร่วมมือด้านนวัตกรรมการเกษตรระหว่างกัน ด้วยการกระชับความร่วมมือ แลกเปลี่ยนบุคลากร โดยเฉพาะการส่งเสริมในด้านพันธุกรรม ผลิตภัณฑ์นม การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยง การสร้างระบบสนับสนุนการผลิตการเกษตร การเกษตรที่ใช้ระบบดิจิตอล ระบบเกษตรนิเวศน์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร ฯลฯ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 ธันวาคม 2553 09:44 น

เห็นว่าประเทศไทยจะมุ่งมั่นกับเกษตรมาก ๆ ทำไมเราไม่ร่วมมือกับเขาด้วยอ่ะ ดูแล้เวมีประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยเลยทีเดียว




จากคุณ



: gapure
เขียนเมื่อ : 21 ธ.ค. 53 12:19:57 A:110.49.103.163 X: TicketID:296324







หน้าก่อน หน้าก่อน (2/3)


สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-04-23 (7818 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©