-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 556 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เกษตรต่างแดน7




หน้า: 2/3



นาโนซิลเวอร์ ในนาข้าว
เมื่อดูจากหัวข้อเรื่องแล้ว หลายๆท่าน (โดยเฉพาะชาวนา) อาจจะสงสัยว่า นาโนซิลเวอร์ นี่มันคืออะไรกัน ? แล้วมันมาข้องแวะยุ่งเกี่ยวอะไรกับการทำนา-ปลูกข้าวด้วย ?


ก่อนอื่นก็คงจะต้องอธิบายให้เข้าใจกันได้รู้กันพอสังเขปว่า นาโน คืออะไร และวัสดุนาโนคืออะไร เพื่อที่จะได้อ่านบทความนี้ได้เข้าใจเป็นเรื่องเป็นราวกันไป

อันคำว่า “นาโน” นั้น เป็นคำย่อที่ตัดตอนมาจากคำว่า นาโนเมตร ซึ่งเป็นหน่วยของความยาวในระบบเมตริก เหมือนกับ

คำว่า เมตร หรือ กิโลเมตร นั่นเอง แต่ ขนาดของความยาว นาโนเมตร นั้นมีขนาดที่เล็กเอามากๆจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องใช้กล้องไมโครสโคปส่องกราดแล้วใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างภาพนั่นแหละจึงจะเห็นหน้าค่าตาว่าเป็นอย่างไร

ขนาดของ 1 นาโนเมตร เท่ากับ หนึ่ง ใน พันล้าน ของเมตรนั่นเลยทีเดียว เพื่อให้มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมจึงเปรียบเทียบขนาดของมันให้เห็นชัดเจนดังนี้  นำเอาเส้นผมมา 1 เส้น แล้วแบ่งมันออกให้ได้จำนวน 100,000 เส้น เส้นผมที่แบ่งแล้วหนึ่งเส้นนั้นก็มีขนาดใกล้เคียงเท่ากับ 1 นาโน พอๆกับขนาดของอะตอมเลยทีเดียว

ส่วน วัสดุนาโน นั้นหมายถึงวัตถุสิ่งของอะไรก็ตามแต่ ที่มีขนาดเล็กๆในระดับตั้งแต่ 0.1 ถึง 100 นาโนเมตรนั้น เราเรียกมันว่า วัสดุนาโน


ครานี้เราต้องมาทำความเข้าใจกันอีกเล็กน้อยว่า วัตถุสิ่งของที่มีขนาดเล็กมากๆที่เรียกว่า ขนาดนาโน นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไรกับวัตถุสิ่งเดียวกันที่ไม่ได้มีขนาดนาโน นั่นแหละคือแก่นของเรื่องที่จะกล่าวถึง จะยกตัวอย่างให้เห็นสักตัวอย่างก็คือ ทองในภาวะปกตินั้นเราจะเห็นเป็นสีเหลืองทอง แต่ถ้าทำให้มันแตกแยกออกจากกันให้มีขนาดเล็กในระดับนาโนแล้ว เราจะไม่เห็นมันเป็นสีเหลืองอีกต่อไป แต่จะเห็นเป็นสีดำ ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อและขัดกับความรู้สึกเราใช่ไหม ? แต่มันเป็นไปแล้วจริงๆ


สรุปเอาสั้นๆก็คือ วัสดุสิ่งของต่างๆ เมื่อทำให้มันมีขนาดเล็กลงในระดับนาโนแล้ว มันจะมีคุณสมบัติทางกายภาพ หรือทางเคมี เปลี่ยนแปลงผิดแผกแตกต่างออกไปจากเดิม ส่วนจะผิดไปอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาวิจัยกันต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษากัน

ทีนี้เรามาดูเรื่องที่จั่วหัวข้อเอาไว้ว่า การนำเอาวัสดุนาโน ที่มีชื่อเรียกว่า ซิลเวอร์ออกไซด์ มาใช้กับการปลูกข้าวนั้นคืออย่างไร ? 


ซิลเวอร์นาโน นั้น เป็นคำย่อที่ตัดทอนมาจากคำว่า นาโนซิลเวอร์ออกไซด์ เมื่อมีขนาดเป็นนาโนแล้ว จะมีคุณสมบัติเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสง ที่สามารถกำจัดกลิ่นและทำลายจุลินทรีย์เล็กๆอย่างเชื้อโรคได้  จึงได้มีนักวิชาการทางเกษตรชาวเกาหลีนำมาแช่เมล็ดข้าวก่อนปลูก และฉีดพ่นต้นข้าวในช่วงที่กำลังเจริญเติบโตในแปลงนา ปรากฏว่าต้นข้าวมีอัตราการงอกและการเจริญเติบโตดีกว่าปกติมาก ข้าวมีความต้านทานต่อโรคและแมลงโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดเชื้อราแต่อย่างใด


แปลงข้าวที่ทดสอบใช้นาโนซิลเวอร์ในการเพาะปลูก  ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มากกว่าเดิม คุณภาพข้าวเหนือกว่า รสชาติดีกว่าปกติมาก




NEEM พืชทรงคุณค่า
ต้นสะเดา เป็นพืชใบเขียวขจีชนิดหนึ่งที่ขึ้นกระจายแพร่หลายทั่วไปในเขตร้อนและเอเชีย มีมากมายหลายสายพันธุ์ เป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากหลายๆประเทศ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารโลกทำการศึกษาวิจัยนำมาใช้งานด้านอารักขาพืชเศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหารมนุษย์ ได้รับการผลักดันให้ปลูกกันในหลายๆประเทศในแถบเอเชียใต้ และเอเชียอาคเนย์ ได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์ที่เหมาะสมปลูกกันเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในอินเดียและประเทศจีน และได้มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นกว่า 50 ประเทศแล้ว
 
 ต้นสะเดาอินเดียเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน มีคุณค่าทางการใช้ประโยชน์สูง การนำมาใช้งานด้านต่างๆร่วม 20 ชนิดนั้น การนำมาใช้งานด้านกำจัดแมลงนั้นยังคงให้ประโยชน์กว้างขวางและสูงสุด นักวิทยาศาสตร์ยกให้ต้นสะเดาอินเดียเป็นพืชที่สมบูรณ์แบบที่สุดในการนำมาใช้เป็นสารชีวภาพกำจัดแมลงปลอดสารพิษ มันมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการตามมาตรฐานของยาป้องกันกำจัดแมลง ที่กำหนดไว้ว่าสามารถใช้ป้องกันกำจัดแมลงได้กว้าขวางหลายชนิด มีผลรบกวนต่อ ....น้อย มีพิษต่อสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังต่ำ สลายตัวในสภาพแวดล้อมได้รวดเร็ว วัตถุดิบมีทั่วไปและอุดมสมบูรณ์


ต้นสะเดาอินเดียมีความสูง 10 ~ 25 เมตร แตกกิ่งเร็ว ข้อสั้น (มีบ้างบางสายพันธุ์ที่มีข้อยาวแต่น้อยมาก) ทรงพุ่มใหญ่ กิ่งใบดก รากหนาแน่น งอกง่าย โตเร็ว ในสภาพที่เหมาะสมชั่วเวลาหนึ่งปีมีความสูงร่วม 6 เมตร ออกดอกให้ผลในปีที่ 3  ให้ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 7 ~ 8 ผลผลิตประมาณ 30 ~ 35 กิโลกรัมต่อต้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 100 ปี สะเดาอินเดียขึ้นได้ดีที่มีระดับน้ำฝนเฉลี่ย 350- 1,200 ซม.แม้แต่ในที่มีปริมาณน้ำฝนถึง 2,400 ซม. ก็ยังเติบโตได้ดี ชอบอากาศอบอุ่น ทนแล้งได้ดี ขึ้นได้ในดินเกือบทุกสภาพ
 
ในทุกส่วนของต้นสะเดาอินเดียมีสาร Azadirachtin (สารออกฤทธิ์ต่อแมลง) แต่จะมีปริมาณมากสูงสุดในเมล็ด โดยทั่วไปอยู่ที่ 0.3 ถึง 0.4 % สูงสุดไม่เกิน 0.66 %

สารออกฤทธิ์ Azadirachtin ไม่เพียงแต่กำจัดแมลงได้เท่านั้น แต่ยังสามารถยับยั้งทำลายเชื้อราเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย ได้มีการนำเอาสารชนิดนี้เสริมเติมลงใน สบู่ ครีมสระผม เครื่องสำอางและยาสีฟันด้วยเช่นกัน

กากเมล็ดที่เหลือจากการหีบอัดเพื่อสกัดเอาสาร Azadirachtin แล้วนั้น นำไปใช้เป็นปุ๋ยได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากยังมีสารประกอบธาตุอาหารหลายชนิด และยังป้องกันรากให้ปลอดภัยจากแมลงในดินได้อีกด้วย




เทคนิคการปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูงเท่าตัว
เทคนิคการปลูกข้าวโพดวิธีใหม่นี้เป็นการปลูกที่มีความถี่หนาแน่นเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า วิธีการนั้นก็คือ ให้วางแถวแนวปลูกหันไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ให้ระยะระหว่างแถวและระหว่างต้นห่างจากกัน 50 เซนติเมตรเท่าๆกัน และหยอดเมล็ดหลุมละ 3 ถึง 4 เมล็ด ให้เมล็ดกระจายออกจากกันเล็กน้อย อย่าหยอดวางกันเป็นกระจุก เมื่อต้นงอกมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตรแล้ว ให้ถอนเหลืออย่างน้อยหลุมละ 3 ต้น แต่ถ้าต้นสมบูรณ์ใกล้เคียงกันทั้งหมด 4 ต้นก็ให้เก็บไว้ทั้งหมดก็ได้


หลังจากนั้นก็ให้จัดการดูแลเหมือนดังที่เคยปฏิบัติ แต่ต้องจัดให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะจำนวนต้นต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสามเท่าตัวเลยทีเดียว การปลูกด้วยเทคนิคใหม่นี้ทำให้ต้นข้าวโพดติดฟักที่สองสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเกือบทุกต้น ช่วงความสูงของลำต้นลดลง แต่ความยาวของใบบนนั้นจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการแก่งแย่งแสงแดดกันเอง จึงทำให้ใบยืดยาวขึ้น ลักษณะที่เป็นไปเช่นนี้เป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นข้าวโพด เนื่องจากลำต้นสั้นเตี้ยลง และการปลูกหลุมละหลายต้นทำให้ระบบรากนั้นเกี่ยวสอดรัดพันกันหนาแน่น ทำให้ยึดเกาะติดกับผืนดินได้แข็งแรงขึ้นอีกมาก การล้มหักของต้นก็ลดน้อยลง
 
 ส่วนการวางแนวปลูกให้หันไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตกนั้นก็ทำให้ต้นข้าวโพดได้รับแสงแดดสม่ำเสมอเท่าๆกัน และการปลูกที่มีระยะห่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นก็เป็นการทำให้การผสมเกสรเป็นไปอย่างทั่วถึง ฝักข้าวโพดจึงติดเมล็ดแน่นสมบูรณ์เต็มฝัก นับเป็นการพัฒนาวิธีการปลูกที่อาศัยการสังเกตอย่างละเอียดและเข้าถึงหลักการรอย่างลึกซึ้ง จึงทำให้ประสบผลสำเร็จที่น่าพึงพอใจเป็นที่สุด



รัฐบาลจีนเตรียมอนุมัติให้ปลูกข้าว GMO
จากการวิจัยศึกษาและทดสอบข้าวดัดแปลงพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการ และในขอบเขตบังคับเป็นเวลาร่วม 15 ปี ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐตามกฎว่าด้วยความปลอดภัยทางด้านสุขภาพของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวดแล้ว ทางรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาอนุมัติให้เอกชนปลูกข้าวตัดต่อพันธุกรรมในอุตสาหกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2007 นี้เป็นต้นไป ท่ามกลางการคัดค้านขององค์กร สันติภาพเขียว (Green peace) ชนิดหัวชนฝา ถ้าเป็นไปตามข่าวที่แถลงไว้จริง ประเทศจีนก็จะเป็นประเทศแรกที่บริโภคธัญพืชอาหารหลักที่ดัดแปลงพันธุกรรมอย่างกว้างขวาง ถือได้ว่าประเทศจีนทั้งประเทศจะกลายเป็นห้องทดสอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก เท่ากับเป็นการวางเดิมพันที่น่าระทึกใจต่อความปลอดภัยในอาหารการกินครั้งประวัติศาสตร์โลกเลยทีเดียว
 
ด้วยความเชื่อมั่นต่อผลการวิจัยที่จะเกิดขึ้นต่อการบริโภคข้าวดัดแปลงพันธุกรรมทั้งด้านสุขภาพในระยะยาวและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติเป็นเวลากว่า 15 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนอนุมัติให้มีการปลูกข้าวดัดแปลงพันธุกรกรมได้ทั่วประเทศ และแปลงที่เริ่มลงมือปลูกเป็นแปลงแรกก็คือ แปลงนาที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงเรือนเพาะชำของมหาวิทยาลัย เจ้อเจียง (浙江大学) ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของอาจารย์ จาง จื้อทาว (张志涛) ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา
 
 ข้าวตัดต่อถ่ายโอนพันธุกรรมนี้ (Transgenic rice) มีชื่อเรียกว่า เค่อหมิงต้าว (克螟稻) เกิดจากการรังสรรค์ของศาสตราจารย์ แย๊ะ กงหยิง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกีฏวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง  เป็นข้าวที่มียีน Cry1Ab จากเชื้อแบคทีเรีย thuringiensis (Bt bacteria) ที่ทำให้เกิดโปรตีนเป็นพิษต่อแมลงผีเสื้อกลางคืน (Moth) ชนิดหนึ่ง Nymphulinae ที่ทำความเสียหายให้กับข้าวที่ปลูกสูงถึง 75 % นอกจากข้าวดัดแปลง Bt นี้แล้ว ยังมีข้าว ยิวหมิง 86 (优明 86) ที่เกิดจากการรังสรรค์ของศาสตราจารย์  จูเจิง (朱祯教授) เป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพให้ผลผลิตสูงได้รับการตัดต่อใส่ยีน CpTI   (trypsin inhibitor gene) จากถั่ว Cowpea ที่ไปขัดขวางการย่อยในกระเพาะแมลง นอกจากข้าวที่ตัดต่อพันธุกรรมที่ให้มีความต้านทานต่อแมลงแล้ว ยังมีข้าวที่ตัดต่อพันธุกรรมอื่นที่มีความต้านทานต่อโรค ทนทานต่อยากำจัดวัชพืช ทนต่อความแห้งแล้ง ทนต่อดินเค็ม และ............อีกหลายชนิดที่กำลังเข้าคิวรอการอนุมัติจากรัฐบาลกลางอยู่อย่างกระตือรือร้น
 
เหตุผลที่หยิบยกมาอ้างในระดับพื้นฐานก็คือ ยีนเหล่านี้ต่างก็มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มนุษย์เราต่างก็ได้มีการสัมผัสมาแล้วอย่างยาวนาน อย่างเช่น เชื้อแบคทีเรีย thuringiensis (Bt) เราก็ได้นำมาใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงต่างๆมาเป็นเวลานานแล้ว ทว่าครานี้เป็นเพียงแค่นำมันสอดใส่ลงในยีนพืชเป็นการถาวร อันเป็นการลดขั้นตอนการงานและค่าใช้จ่ายลง ส่วนยีน CpTI นั้นก็เป็นยีนที่มีอยู่ในถั่วที่เราใช้บริโภคกันนมนานแล้ว และหาได้ก่อเกิดผลร้ายเสียหายแก่สุขภาพร่างกายของคนเราแต่อย่างใดไม่ และการที่ยีนเหล่านี้จะแพร่เข้าสู่ต้นพืชอื่นๆนั้นก็ไม่ใช่เป็นการเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย และถ้าประเทศจีนทั่วทั้งประเทศได้บริโภคข้าวดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้แล้ว คาดว่าบรรดาประเทศในแถบเอเชียที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักคงดำเนินการตามรอยประเทศจีนอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งจะเป็นที่ค้างคาใจต่อบรรดาประเทศแถบยุโรปที่ต่อต้านพืช GMO มาตลอดไม่เคยว่างเว้น แต่ความรู้สึกนี้ไม่เป็นที่ยี่หระต่อประเทศจีนที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนเลย การผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรให้เพียงพอเป็นนโยบายหลักเร่งด่วนที่สำคัญยิ่งของประเทศ เมื่อใดที่ประชาชนอิ่มท้อง อยู่ดีกินดี นั่นย่อมหมายถึงความมั่นคงของประเทศและพรรคคอมมิวนิสต์โดยแท้จริง
 
ถึงแม้จีนจะประสบความสำเร็จในการผสมข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงมากกว่าพันธุ์เปิดปกติทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้มีความต้านทานต่อโรคแมลงที่ก่อเกิดทำความเสียหายต่อต้นข้าวได้เลย ทางออกที่เห็นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการสร้างข้าวสายพันธุ์ที่ถ่ายโอนหน่วยพันธุกรรมที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิต การลดการใช้สารเคมีเกษตรมีพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งการก่อมลภาวะที่มีต่อแวดล้อมธรรมชาติ ลดผลกระทบที่มีต่อนกและปูปลาที่อาศัยอยู่ในท้องนา ลดการทำลายล้างแมลงที่มิได้เป็นภัยต่อต้นข้าวอันเป็นจะเกิดผลกระทบถึงวงจรห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติอีกด้วย นับเป็นการท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง



แตงหวาน (แคนตาลูป)
เหอท่าว เป็นเมืองเกษตรกรรมที่อยู่ในมณฑล ซินเจียง (ซินเกียง) ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นแหล่งปลูกแตงหวานแคนตาลูป ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล สามารถผลิตแตงหวาน มี่กวา ที่มีรสชาติหอมหวานและมีคุณภาพดีที่สุดในประเทศจีน ได้มีการจัดส่งผลผลิตไปจำหน่ายตามหัวเมืองใหญ่ๆค่อนประเทศ รวมทั้งมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย


ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกษตรกรได้ประสบเรื่อยมาก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการขนส่งเป็นเวลาหลายวัน ทำให้แตงที่ส่งไปจำหน่ายยังพื้นที่ห่างไกลนั้นเน่าเสียหายเป็นจำนวนไม่น้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทีมงานของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่นำโดย ศาสตราจารย์ ฟาง เทียนฉี และศาสตราจารย์ ฮาซือ อากูลา ได้ทำการ ตัดต่อถ่ายโอนยีน ACC ที่ต้านการสร้างฮอร์โมน และยีน ACC ที่ต้านการออกซิเดชั่นของฮอร์โมนใส่ลงในแตงชนิดนี้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1994 ทำให้ได้สายพันธุ์แตงหวาน มี่กวา ที่คงความสดได้ทนนานโดยไม่เน่าเสียหายได้นานถึง 2 เดือน ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทดสอบปลูกในแปลงปลูกบังคับจำกัดขอบเขตเพื่อประเมินผลกระทบด้านต่างๆต่อไปแล้ว



มากินใบมันเทศกันเถอะนะ
ใบมันเทศแดง ที่เรากินแต่หัวของมัน แต่ใบของมันนั้นกลับโยนทิ้งหรือไม่ก็นำไปให้สัตว์เลี้ยงกิน โดยหารู้ไม่ว่า ใบของมันนั้นก็ทรงคุณค่ามีประโยชน์ต่อร่างกายคนเราเป็นอย่างดี จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ พบว่าใบหัวมันแดงจำนวน 100 กรัมนั้นประกอบไปด้วยโปรตีน 2.28 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม น้ำตาล 4.1 กรัม และแร่ธาตุชนิดต่างๆดังนี้ โปตัสเซี่ยม 16 มิลิกรัม เหล็ก 2.3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 34 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 6.42 มิลลิกรัม ไวตามิน C 0.32 มิลลิกรัม จะเห็นได้ว่าส่วนประกอบทางโภชนาหารของใบมันมีมากกว่าในพืชผักที่เรากินกันอยู่อย่างชัดเจน แม้แต่สารเบต้าแคโรทีน ก็ยังสูงกว่าที่มีอยู่ในแครอทด้วยซ้ำไป ดังนั้นทางศูนย์วิจัยพืชผักแห่งเอเชียจึงได้จัดลำดับของ ใบมันเทศแดง ให้อยู่ในกลุ่มของพืชผักที่อุดมสมบูรณ์ทางอาหาร และยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งพืชผัก”
 
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ใบมันมีสรรพคุณในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หยุดยั้งเลือดจากบาดแผล ลดน้ำตาล ขับระบายพิษ รักษาโรคมองไม่เห็นในที่มืด บำรุงสายตา กินบ่อยครั้งจะช่วยระบายท้อง ป้องกันท้องผูก บำรุงผิว ชะลอสังขารไม่ให้แก่เกินวัย ในช่วงระยะไม่กี่ปีมานี้ ได้เกิดกระแสนิยมในการ บริโภค ใบมันแดง ขึ้นตามเมืองต่างๆของอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นและฮ่องกงขึ้น ได้มีการนำเอาใบมันแดงมาปรุงเป็นอาหารรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งปรากฏบนเมนูอาหารภัตตราคารหรูๆก็มีเช่นกัน


วิธีการกินก็มีหลายรูปแบบ โดยการเด็ดเอายอดอ่อนของใบ มาล้างทำความสะอาด แล้วลวกด้วยน้ำเดือด ใช้กินกับน้ำพริกก็ได้ หรือไม่ก็เลือกเติมน้ำมันหอย ซีอิ๊ว น้ำส้ม น้ำมันพริก มัสตาร์ด น้ำขิง เครื่องปรุงที่ชอบแล้วคลุกเคล้ากันเป็น(ยำ)ผักจานเย็นก็ไม่เลว หรือไม่ก็นำไปผัดไฟแดง หรือเติมชิ้นเนื้อลงไปก็ไม่ว่ากัน หรือไม่ก็ใช้เติมใส่ลงในโจ๊กร้อนๆก็ชวนกินไม่น้อย ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้มีใบมันดองในกระป๋องวางจำหน่ายอยู่ในห้างสินค้าอยู่หลายแห่ง เราน่าจะลองเอามาทำเป็นผักดองเค็มดองเปรี้ยวเหมือนผักเสี้ยนดู คิดว่ารสชาติคงจะถูกปากถูกลิ้นเหมือนกัน บรรดาผู้ที่รักสุขภาพ เคร่งครัดในการเลือกอาการการกิน และนักชิม น่าจะลองลิ้มชิมรสของ ใบมันแดง ดูสักครั้ง คุณอาจจะชอบมันก็ได้


หมายเหตุ หัวมันเทศ ฝรั่งเรียกว่า Sweet potato



พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง กอใหญ่ และต้านทานการล้ม
ด้วยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์สามกลุ่มจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า กับนักวิชาการข้าวจากสถาบันวิจัยข้าวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำการศึกษาวิจัยยีนที่ให้ผลผลิตของข้าว และได้ค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการให้ผลผลิตของข้าว โดยพบว่ายีนที่ควบคุมการปลดปล่อยฮอร์โมนในการขยายตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ต้นข้าวในช่วงของการเจริญเติบโตนั้น ถ้าสามารถทำให้ลดการปลดปล่อยฮอร์โมนของยีนดังกล่าวนี้ได้ ก็จะทำให้ต้นข้าวมีการเจริญเติบโตและแตกกอมากขึ้น อันจะเป็นการนำไปสู่การติดรวงเพิ่มจำนวนเมล็ดข้าวมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่จากผลที่ว่านี้ จะเกิดผลเสียติดตามมานั่นก็คือ ต้นข้าวที่มีลักษณะเป็น “หัวโต ตีนเล็ก” ทำให้ต้นข้าวไม่แข็งแรงล้มพับหักงอง่าย
 
พันธุ์ข้าวที่ใช้ยีน Moc 1 เข้าช่วยในการแตก
 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาผลความขัดแย้งของการเพิ่มผลผลิต แต่ต้นไม่แข็งแรง หักล้มง่าย จึงได้นำผลงานวิจัยยีนต้นเตี้ย SD1 และยีนทรงต้น MOC1 (single tiller 1) เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ต้นเตี้ย กอใหญ่ขึ้น


ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มนักวิจัยพันธุ์ข้าวของมหาวิทยาลัยนาโกย่าก็ได้ค้นพบยีน Gn1a ที่มีผลต่อการติดดอกออกรวงของข้าวมาแล้ว และพบว่าว่าถ้ายีนดังกล่าวลดการทำงานลงก็จะทำให้การเจริญเติบโตของยีนผลผลิตเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งได้มีการผสมปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ถึง 23 % และตั้งชื่อสายพันธุ์ข้าวนี้ว่า Yue Guang Paddy rice

หลังจากประสบความสำเร็จในการผสม-ปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ร่วมมือทำการวิจัยนี้แล้ว ได้ทำการปลูกเปรียบเทียบผลผลิตข้าวที่ได้ระหว่างสายพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่กับสายพันธุ์ Yue Guang แล้ว ปรากฏว่าสายพันธุ์ใหม่นี้ให้ผลผลิตสูงกว่า 20 % เมื่อเทียบผลผลิตต้นต่อต้นโดยที่มีคุณภาพเหมือนเดิมทุกประการ



ฮุยซุ่ฮวา ที่อัศจรรย์ยิ่งกว่า เห็ดหลิงจือ
..... ฮุยซู่ฮวา Grifola frondosa (Fr.)S.F.Gray

เมื่อพิศดูตามความหมายตามตัวอักษรแล้ว ทำให้ทุกคนต่างเข้าใจว่า มันคือดอกไม้ชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ มันเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนดั่งดอกไม้ที่เป็นทั้งต้นและดอกที่มีสีเทา


ก่อนที่จะมีการค้นพบ เห็ด ฮุยซู่ฮวา นี้ เราได้รู้จักกับเห็ด หลิงจือ (灵芝) มาก่อนหน้านี้แล้วว่า มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายคนเราเป็นอย่างยิ่ง ชาวจีนได้รู้จักเห็ดหลิงจือมาตั้งแต่โบราณแล้วว่า เป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์ในการบำรุงพลัง บำรุงสมองและสติปัญญา เสริมส่งการไหลเวียนของเลือดลม ทำให้ร่างกายแข็งแรง ประสาทคงมั่น อายุยืนยาว เป็นเสมือนหนึ่งยาอายุวัฒนะเลยทีเดียว ดังคำบรรยายจากตำหรับสมุนไพรอันโด่งดัง “เปิ่นฉ่าวกังมู่” (本草纲目) ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า “กินเป็นเวลานานวันไป ทำให้วัยไม่รู้โรย” และจากตำรายาสมุนไพรที่ลือชื่ออีกเล่มก็ได้กล่าวเอาไว้เช่นเดียวกันว่า “เป็นยาบำรุงสำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอที่ดีเลิศ กินบ่อยๆจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแลอายุยืนยาว”
 
ชาวจีนได้รู้จักนำเอาเห็ดหลิงจือมาปรุงเป็นตัวยานับประวัติมาได้สองพันปีกว่ามาแล้ว ในหนังสือ เลี่ยจื่อ (列子) ในยุคสมัยของ เจาต้าย นั้น ก็ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “เห็ดหนันจือบนตอไม้ผุนั้น เมื่อนำไปต้มให้เดือด จะมีกลิ่นหอมเย็น เมื่อได้ดื่มกิน จักทำให้ตาสว่างสดใส สมองปลอดโปร่ง ไตแข็งแรง เป็นยอดยาบำรุงที่ดียิ่งแล” เหตุที่เห็ดหลิงจือมีสรรพคุณเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจนั่น ก็เนื่องภายในมีส่วนประกอบของสาร Polysaccharide สารประกอบน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด กรดจำเพาะที่มีอยู่แต่ในเห็ดหลิงจือเท่านั้น รวมทั้งสาร Adenosine อีกด้วย แต่ปัจจุบันเห็ดที่มีสรรพคุณดีและเหนือกว่าเห็ดหลิงจือนั้นได้รับการยอมรับและเป็นที่ฮือฮากันไปทั่วโลกแล้วว่า มีสาร Active Polysaccharide มากกว่า มีคุณค่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่าเห็ดหลิงจือหลายเท่าตัวนัก เห็ดที่ว่านี้ก็คือ เห็ด ฮุยซู่ฮวา ที่กล่าวถึงนี่เอง   


เห็ดฮุยซุ่ฮวา เป็นเห็ดที่เป็นทั้งอาหารและยา เป็นเห็ดดอกเดี่ยวโดดๆ มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่นที่ บางแห่งเรียกเห็ดพระพันองค์ เห็ดดอกบัวก็มี ชาวญี่ปุ่นเรียกว่าเห็ดกระโปรงระบำ “อู่หลง” (舞茸) เพราะมีรูปร่างคล้ายกระโปรงย้วยหลายชั้นที่ใช้ใส่เต้นรำ
 
เห็ดฮุยซู่ฮวา เป็นที่รู้จักกันดีของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นมาช้านานแล้วว่า ใช้ประโยชน์เป็นได้ทั้งอาหารและยา เป็นเห็ดดอกใหญ่ที่ค่อนข้างหาได้ยากในธรรมชาติ ในสมัย มู่ฝู่ นั้น (幕府)  มีมูลค่าเท่ากับแท่งเงินที่มีน้ำหนักเท่ากันเลยทีเดียว ผู้ที่หาเห็ดชนิดนี้ได้ 10 กิโลกรัมนั้น สามารถใช้ชีวิตกินอยู่อย่างสบายตลอดชีวิตเลยทีเดียว ชาวงญี่ปุ่นจะดั้นด้นเข้าไปในหุบเขาหิมะที่ลึกเข้าไปในป่าเพื่อค้นหาเห็ดอัศจรรย์ที่หายากชนิดนี้มารักษาโรคภัยไข้ป่วยของคนในครอบครัวด้วยความอดทนยิ่ง จัดเป็นของขวัญกำนัลสูงค่าชนิดหนึ่งเลยเชียว


เห็ดชนิดนี้มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นสน เนื้ออ่อนนุ่ม กรอบเหมือนดอกกล้วยไม้ รสชาติคล้ายเนื้อไก่ แม้ต้มนานก็ไม่เปื่อยยุ่ย เมื่ออบแห้งก็จะมีรสชาติผิดแปลกไปอีกอย่าง เห็ดฮุยซู่ฮวาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงนั้นเป็นที่ยืนยันรับรองจากหน่วยการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตของกระทรวงเกษตรแล้วว่า มีคุณค่าทางอาหารและรสชาติดีกว่าเห็ดหอมที่ถือกันว่าเป็นราชินีแห่งเห็ดนั่นเลย


เห็ดฮุยซู่ฮวา มีสรรพคุณบำรุงสุขภาพและรักษาโรคได้อย่างน่าทึ่ง จากการวิจัยศึกษาถึงคุณสมบัติของมันแล้ว มันมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคความดันสูงและโรคอ้วนเกินพิกัดได้อย่างน่าพอใจ ภายในเนื้อเห็ดนั้นประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก ทองแดง ละไวตามิน C ที่สามารถป้องกันโรค Anemia



พันธุ์ถั่วฝักยาวอวกาศ
เมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวก็เป็นเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งที่ได้นำไปใส่ไว้ในยานอวกาศที่ส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกนอกเหนือบรรยากาศโลกเรา แล้วนำกลับลงมาปลูกทดสอบเพื่อทำการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ หลังจากที่ได้ปลูกคัดเลือกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกระทั่งลักษณะทางพันธุกรรมนิ่งไม่แปรปรวนอีกต่อไปแล้ว จึงพัฒนาได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง มีเรียกชื่อว่า หังเจียง เบอร์ 2


พันธุ์ถั่วฝักยาวอวกาศ หังเจียง 2 นี้มีลักษณะประจำพันธุ์ดังนี้ ลำต้นเป็นเถาไม้เลื้อย เติบโตได้ดี ความสูง (ยาว) ของต้นประมาณ 3.2 เมตร แตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเป็นรูปหัวใจ สีเขียว มีขนเล็กน้อย ออกดอกติดฝักพร้อมกันทั้งต้นและกิ่งแขนง สีดอกออกเป็นสีม่วงแดง ฝักดก ความยาวฝักเฉลี่ย 90 เซ็นติเมตร ฝักที่ยาวสุดร่วม 120 เซ็นติเมตร สีฝักออกเขียวสด เก็บได้นาน เมล็ดมีรูปร่างเป็นรูปไต ผิวสีดำมันวาว ทนโรค ฝักกรอบอร่อย ไม่เหนียว เยื่อใยน้อย ผลผลิตประมาณ 7,500 กิโลกรัมต่อไร่ นับว่าผลผลิตสูงเอาการอยู่



เว็บไซท์ทางการของจีน
ในประเทศจีนแบ่งการปกครองออกเป็น มหานคร เขตปกครองพิเศษ มณฑล และเขตปกครองตนเอง(มีทั้งมณฑลและอำเภอ) ซึ่งแต่ละเขตการปกครองมีอำนาจบริหารตนเอง (แต่อำนาจการบริหารที่สำคัญยังต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง)

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ต และมีการใช้ข้อมูลทางด้านนี้อย่างกว้างขวาง แต่ละมณฑล แต่ละเมือง แต่ละอำเภอ แต่ละตำบลต่างก็มีเว็บไซท์ของตนเอง เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สิ่งละอันพันละน้อยที่ตนมีอยู่เกือบทุกด้าน ในที่นี้จะยกตัวอย่างเว็บไซท์ของอำเภอ เถียนหยัง ที่อยู่ในมณฑลกว่างซี มีเขตแดนติดกับมณฑลหยุนหนาน (ที่มีเมืองคุนหมิงเป็นเมืองหลวง) ทั้งนี้พื่อเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบดูว่า เว็บไซท์ ในระดับเดียวกันนี้ ระหว่างของจีนกับของไทยนั้นมีความแตกต่างกันมากน้อยเท่าไร ในที่นี้จะเน้นหนักไปทางหน้าเกษตรของอำเภอ ซึ่งจะมีรูปภาพกิจกรรมทางด้านการเกษตรมาให้ชม (เพราะมีผู้อ่านภาษาจีนได้คงมีจำนวนไม่มาก ดูจากภาพถ่ายก็คงให้มุมมองได้ในระดับหนึ่ง)





หน้าก่อน หน้าก่อน (1/3) - หน้าถัดไป (3/3) หน้าถัดไป


Content ©