-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 416 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เผือก




หน้า: 2/2



ปลูกเผือกในนาข้าว หลีกเลี่ยงปัญหาราคาข้าวตกต่ำ 

แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประกันราคา การแทรกแซงราคา และการประกันภัยแล้ง เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นเกษตรกรเองก็ต้องหมั่นหาลู่ทางแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพและมีรายได้คุ้มค่ากับการลงทุน เช่น นายสมนึก ขวัญเมือง เกษตรกรคนเก่ง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ที่หลีกเลี่ยงปัญหาราคาข้าวตกต่ำมาปลูกเผือกซึ่งได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า
         
สมนึกเล่าว่า ตนปลูกเผือกในนาข้าวมาเกือบ 20 ปี เนื่องจากเผือกเป็นพืชหัวที่ดูแลง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงศัตรูพืชมารบกวน มีความต้องการน้ำและความชื้นสูง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุ้มน้ำได้มากเช่นเดียวกับข้าว ทำให้สามารถเพาะปลูกในผืนนาที่มีอยู่ได้ อีกทั้งได้ผลตอบแทนมากกว่าเมื่อเทียบกับการทำนา และที่สำคัญตลาดมีความต้องการมาก ผลิตได้เท่าไรก็ขายได้หมด
         
สมนึกบอกถึงวิธีการปลูกและดูแลเผือกว่า ก่อนปลูกจะไถดินตากไว้ 15-30 วัน แล้วไถย่อยดิน ยกร่องปลูกเป็นแถวๆ ห่างกันแถวละประมาณ 80 เซนติเมตร จากนั้นนำต้นกล้าทั้งที่เพาะพันธุ์เองและซื้อจากแหล่งเพาะพันธุ์มาปลูกในร่องที่เตรียมไว้ โดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 30 เซนติเมตร สำหรับต้นพันธุ์ที่เพาะเองนั้นจะนำหัวเผือกที่ได้จากการปลูกครั้งก่อนมาชำในถุงเพาะชำ รดน้ำวันละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็สามารถนำต้นกล้ามาปลูกในแปลงปลูกได้
         
หลังจากปลูกได้ 3 เดือน เผือกจะเริ่มออกหัว ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อบำรุงลำต้นและเร่งการออกหัว และขุดดินรอบๆ ต้นมาสุมไว้ที่โคนต้นซึ่งต้นเผือกจะออกหัวได้จำนวนมาก และอีก 2 เดือนต่อจากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 13-3-21 เพื่อบำรุงหัวเผือกให้มีขนาดใหญ่ ได้น้ำหนัก ทิ้งไว้ 1 เดือน หรือสังเกตเห็นว่าใบเผือกเล็กลง ใบที่อยู่ด่านล่างมีสีเหลือง เหลือใบยอด 2-3 ใบ จึงสามารถขุดหัวมาขายได้ ซึ่งแต่ละต้นจะได้หัวเฉลี่ย 2 กิโลกรัม ทั้งนี้ก่อนขุดเผือก 15 วัน จะไม่เอาน้ำเข้าแปลงหรือรดน้ำแปลงเพราะเผือกจะดูดซึมน้ำไว้มากทำให้เก็บไว้ไม่ได้นาน
         
สำหรับต้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ย ต้นกล้า และอุปกรณ์อื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 20,000 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากปัจจุบันราคาปุ๋ยยาฆ่าแมลง และอุปกรณ์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันสมนึกปลูกเผือกบนพื้นที่ 60 ไร่ ต้องใช้เงินทุนร่วม 120,000 บาท ซึ่งเงินทุนส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ.สระบุรี
         
ส่วนผลผลิตที่ได้จะมีพ่อค้ามารับซื้อกิโลกรัมละ 13-17 บาท แล้วแต่ราคาซื้อขายในตลาดในช่วงนั้นและคุณภาพของหัวเผือกที่ผลิตได้ ส่วนปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญคือโรคตากบ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา ลักษณะที่เห็นได้ชัดคือบริเวณใบจะมีจุดเล็กๆ สีดำแดง และจะค่อยๆ ขยายลุกลามไปทั่วใบ ทำให้ใบเหี่ยวไม่สามารถปรุงอาหารได้ และแห้งตายในที่สุด วิธีการสกัดการแพร่ระบาดของโรคจะใช้ยา "โบคุ่ม" ฉีดพ่นใบที่เกิดโรค ยับยั้งการลุกลามของเชื้อโรค และตัดใบที่เกิดโรคไปเผาทำลายเพื่อ ฆ่าเชื้อรา
         
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการปลูกเผือกจะต้องใช้ต้นเงินลงทุนสูงกว่าการทำนาแต่ผลตอบแทนก็ได้มากกว่า ที่นาของสมนึก จึงมักจะมีต้นเผือกโบกใบไปตามแรงลมมากกว่าที่จะเห็นรวงทองของต้นข้าว สนใจศึกษาวิธีการปลูกเผือกในผืนนาติดต่อได้ที่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 3 ต.ตลาดน้อย อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี โทรศัพท์ 08-0444-3421


         
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์




การปลูกเผือก
เผือกเป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่สำคัญอีกพืชหนึ่ง คนไทยนิยมบริโภคเผือกเพราะมีกลิ่นหอมและรสชาดดี เป็นพืชหัวที่เป็นพืชอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง หัวเผือกจะมีส่วนประกอบเป็นพวกแป้งและแร่ธาตุต่าง ๆ ส่วนใบประกอบไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ ซึ่งใบเผือกสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย และมีเผือกบางประเภทที่ใช้ใบสำหรับบริโภคซึ่งหัวจะมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะต่อการบริโภค ปัจจุบันเผือกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย

ประเทศไทยมีการปลูกเผือกอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศ มีพื้นที่ปลูกเผือกทั้งประเทศปีละ ประมาณ 25,000-30,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 45,000-65,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2-2.5 ตันต่อไร่ ส่วนจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา สุรินทร์ สระบุรี อยุธยา สิงห์บุรี ปราจีนบุรี นครนายก นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สุพรรณบุรี ชุมพร และสุราษฎร์ธานี


สภาพดินฟ้าอากาศทึ่เหมาะสม

เผือกเป็นพืชหัวที่มีต้นคล้ายบอน มีความต้องการน้ำ หรือความชื้นในการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง เผือกจึงชอบดินอุดมสมบูรณ์ และสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มาก สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยในแหล่งที่มีระบบน้ำชลประทานดีจะสามารถปลูกเผือกได้ตลอดปี ส่วนในแหล่งที่มีน้ำจำกัดควรปลูกเผือกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เผือกปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและดอน สภาพไร่ ที่ราบสูงไหล่เขา และปลูกได้ในดินหลายชนิด ยกเว้นดินลูกรัง ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเผือกมากที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุสูง หน้าดินลึก ระบายน้ำดี โดยปกติจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักจำนวนมากก่อนปลูกโดยหว่าน และไถกลบก่อนปลูก 2-3 เดือน และเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจน (N) และโปแตสเซียม (K) ระหว่างพืชเจริญเติบโตจะให้ผลดี ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ระหว่าง 5.5-6.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตประมาณ 21-27 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปจะปลูกเผือกในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ลักษณะทั่วไป


ลำต้น
 เผือกเป็นพืชหัวที่มีลำต้นใต้ดินสะสมอาหารเรียกว่า หัวซึ่งเกิดจากการขยายของลำต้นใต้ดิน พร้อมกับความยาวของปล้องลดลง เมื่อหัวมีขนาดใหญ่จะมีรากช่วยดึงหัวให้ลึกลงในดิน ที่ปลายรากเหล่านี้จะพองโตขึ้นเป็นหัวย่อยที่มีขนาดเล็ก หรือเรียกว่า ลูกเผือก ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยยึดลำต้น ช่วยดูดน้ำและแร่ธาตุ และสามารถใช้เป็นส่วนที่ขยายพันธุ์ได้ต่อไป

ใบ

ใบเผือกมีรูปร่างคล้ายหูช้าง หรือคล้ายหัวใจ ขนาดใบกว้างประมาณ 25-30 เซนติเมตร ยาว 35-45 เซนติเมตร ก้านใบยาว 45-150 เซนติเมตร เผือกต้นหนึ่งจะมีก้านใบประมาณ 12-18 ก้าน สีของก้านใบ ลักษณะใบและขอบใบจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ เช่น ก้านใบจะมีสีเขียวอ่อน เขียวเข้ม ม่วง หรือมีจุดสีม่วง ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ปลายใบอาจแหลมหรือมน ตัวใบอาจจะหนาและเป็นมัน หรือบางและด้าน เป็นต้น

ดอก

จะมีลักษณะเป็นดอกช่อ มีดอนย่อยเกาะติดกับก้านดอกเดียวกัน ดอกย่อยจะเริ่มบานจากดอกที่อยู่ล่างสุดขึ้นไปทางปลายช่อ ไม่มีก้านดอกย่อย ดอกจะเกาะติดกับก้านดอกเดี่ยว ซึ่งลักษณะยาวและมีจานหุ้มช่อดอกไว้ ช่อดอกมีขนาดยาว 10-15 เซนติเมตร จำนวนช่อดอกประมาณ 5-15 ช่อต่อต้น ช่อดอกมีก้านยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกเผือกมีสีขาวครีม และสีเหลืองอ่อน แตกต่างกันไปตามพันธฺ์ บางพันธุ์ออกดอกง่าย แต่บางพันธุ์ออกดอกยาก เผือกที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่ออกดอก
 
ผล
ผลของเผือกมีขนาดเล็ก เป็นผลเล็ก ๆ เกาะกลุ่มอยู่ในก้านดอกเดียวกัน ผลมีสีเขียวเปลือกบาง เนื้อผลอวบน้ำ เมื่อแก่มีสีน้ำตาลดำภายในผลจะมีเมล็ดเล็ก ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก

การจำแนกพันธุ์เผือก
ประเทศไทยมีเผือกมากมายหลายพันธุ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรได้รวบรวมพันธุ์เผือกจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศประมาณ 50 พันธุ์ สามารถจำแนกพันธุ์เผือกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. จำแนกเผือกตามกลิ่นของหัว มี 2 ประเภท คือ
1.1 เผือกหอม
 เผือกชนิดนี้เวลาต้มหรือประกอบอาหารจะมีกลิ่นหอม ได้แก่ เผือกหอมเชียงใหม่ พันธุ์ พจ.016 พจ.08 และ พจ.019 เป็นต้น

1.2 เผือกชนิดไม่หอม

เผือกชนิดนี้เวลาต้ม หรือประกอบอาหารจะไม่มีกลิ่นหอม อย่างไรก็ตามเผือกชนิดนี้บางพันธุ์ถึงแม้จะไม่มีกลิ่นหอม แต่ก็มีข้อดีตรงที่มีลักษณะเนื้อเหนียวแน่น น่ารับประทานเช่นกัน ได้แก่ เผือกพันธุ์ พจ.06 พจ.025 และ พจ.012 เป็นต้น

2. การจำแนกเผือกตามสีของเนื้อ
มี 2 ประเภท คือ
2.1  เผือกเนื้อสีขาวหรือสีครีม
เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าดูเนื้อในจะพบว่า มีสีขาว หรือสีขาวครีม ได้แก่ เผือกพันธุ์ พจ.06 พจ.07 พจ.025 พจ.014 (เผือกบราซิล) พันธุ์ศรีปาลาวี (อินเดีย) และพันธุ์ศรีรัศมี (อินเดีย) เป็นต้น
2.2  เผือกเนื้อสีขาวปนม่วง
เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าหัวดูเนื้อ จะพบว่ามีสีขาวลายม่วงปะปนอยู่ ซึ่งจะมีสีม่วงมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ได้แก่ เผือกหอมเชียงใหม่ พันธุ์ พจ.016 พจ.08 พจ.05 และ พจ.020 เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ยังมีการจำแนกเผือกตามจำนวนหัวขนาดใหญ่ต่อต้น คือ เป็นหัวใหญ่หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งหัวต่อต้น จำแนกตามการแตกกอ เช่น แตกกอน้อย (3-10 ต้น) ปานกลาง (10-20 ต้น) และมาก (มากกว่า 20 ต้นขึ้นไป)


เผือกหอมเชียงใหม่

เผือกพันธุ์พิจิตร 1 (พจ.016)


เปรียบเทียบพันธุ์เผือกที่มีการปลูกในประเทศไทย

 

พันธุ์

ใบ

การแตกกอ

สีเนื้อ

กลิ่น

ผลผลิต

%

%

หมายเหตุ

   

จำนวนหัว

    (ตัน/ไร่)

แป้ง

น้ำตาล

 
1. เผือกหอมเชียงใหม่ รูปหัวใจ มาก

ขาวปนม่วง

หอม

4

14.0

2.2

-

  ก้านใบสีเขียว หัวใหญ่ 1 หัว            
  ปลายก้านใบสีม่วง หัวเล็ก 20 - 30 หัว            
  จุดกลางใบสีม่วง หัวเล็กอยู่ใกล้ต้นแม่            
                 
2. พจ. 016 (พิจิตร 1) รูปหัวใจ ปานกลาง

ขาวปนม่วง

หอม

4 - 6

23.0

2.6

เหมาะสำหรับ
  ก้านใบสีเขียว หัวใหญ่ 1 หัว           อุตสาหกรรม
  ปลายก้านใบสีม่วง หัวเล็ก 15 - 18 หัว           แปรรูป
  จุดกลางใบสีม่วง หัวเล็กอยู่ห่างต้นแม่            
                 
3. พจ. 06 รูปหัวใจ ปานกลาง

ขาว

ไม่หอม

4 - 7

10.8

2.4

ทนโรคและแมลง
  ก้านใบสีเขียวเข้มตลอด หัวใหญ่ 3 - 4 หัว

เนื้อเหนียว

        ค่อนข้างทนแล้ง
  ทั้งก้าน  

แน่น

         
  ไม่มีจุดสีม่วงอยู่กลางใบ หัวเล็ก 10 -15 หัว            
    หัวเล็กอยู่ห่างต้นแม่            
                 
4. พจ. 025 รูปหัวใจ มาก

ขาว

ไม่หอม

4 - 7

10.0

2.3

ทนโรคและแมลง
  ก้านใบสีเขียวเข้มทั้งก้าน หัวใหญ่ 3 - 4 หัว

เนื้อเหนียว

        ค่อนข้างทนแล้ง
  ไม่มีจุดกลางใบ หัวเล็ก 15 - 18 หัว

แน่น

         
                 
5. พจ. 08 รูปหัวใจ มาก

ขาวปนม่วง

หอม

4

16.0

1.4

-

  ก้านใบสีเขียว หัวใหญ่ 1 หัว            
  ปลายก้านใบสีม่วง หัวเล็ก 30 - 40 หัว            
  จุดกลางใบสีม่วง              
                 
6. พจ. 05 รูปหัวใจ มาก

ขาวปนม่วง

หอม

4 - 4.5

19.0

2.2

เหมาะสำหรับ
  ก้านใบสีเขียว หัวใหญ่ 1 หัว           อุตสาหกรรม
  ปลายก้านใบสีม่วง หัวกลาง/เล็ก           แปรรูป
  จุดกลางใบม่วง ต้นสูง 20 - 25 หัว            
                 

หมายเหตุ - รวบรวมพันธุ์โดยศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร



การขยายพันธุ์เผือก

เผือกเป็นพืชหัวที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ดังนี้
1. การเพาะเมล็ด
เป็นวิธีที่ง่ายแต่ใช้เวลานานกว่าจะย้ายปลูกลงแปลงได้ ในประเทศไทยเผือกแต่ละพันธุ์มีการออกดอกและติดเมล็ดน้อย เกษตรกรไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีนี้

2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

เป็นวิธีการขยายพันธุ์เผือกที่ปลอดจากเชื้อที่ติดมากับต้นพันธุ์ได้เป็นปริมาณครั้งละมาก ๆ แต่ต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรยังไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีนี้

3. การขยายพันธุ์โดยใช้หน่อ

เป็นส่วนที่แตกออกมาเป็นต้นเผือกขนาดเล็กอยู่รอบๆ ต้นใหญ่ เมื่อแยกออกจากต้นใหญ่ หรือต้นแม่แล้วสามารถนำไปลงแปลงได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเพาะชำ

4. การขยายพันธุ์โดยใช้หัวพันธุ์

หรือที่เกษตรกรเรียกว่า ลูกซอ หรือลูกเผือก ซึ่งเป็นหัวขนาดเล็กที่อยู่รอบ ๆ หัวเผือกขนาดใหญ่ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมทั่วไปทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ในการปลูกแต่ละครั้ง ควรเลือกเผือกที่มีขนาดปานกลางไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป หัวพันธุ์ที่มีขนาดสม่ำเสมอ จะทำให้เผือกที่ปลูกแต่ละต้นลงหัวในเวลาใกล้เคียงกัน เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน และที่สำคัญจะทำให้ไม่มีหัวขนาดเล็กและใหญ่แตกต่างกันมาก


ฤดูปลูก

ประเทศไทยสามารถปลูกเผือกได้ทั่วทุกภาคและทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ซึ่งถ้าเป็นแหล่งที่มีน้ำชลประทานดีอยู่แล้ว เกษตรกรจะปลูกเผือกเมื่อไรก็ได้ แต่โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกเผือกในช่วงต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และฤดูแล้งช่วงหลังการทำนาเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

ฤดูฝน

ปลูกมากในสภาพพื้นที่ดอน อาศัยน้ำฝน มีบางท้องที่ปลูกในสภาพพื้นที่ลุ่ม หรือที่นา

ฤดูแล้ง

ปลูกหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ภายในเดือนธันวาคม จะปลูกผักก่อนการปลูกเผือก

ในเขตชลประทาน
สามารถปลูกเผือกได้ตลอดทั้งปี



สภาพพื้นที่การปลูกเผือก

เผือกสามารถปลูกได้หลายลักษณะตามสภาพพื้นที่ ดังนี้

1. การปลูกเผือกในสภาพไร่ เป็นการปลูกเผือกในสภาพที่ดอนทั่ว ๆ ไป เช่น ตามไหล่เขา พื้นที่ไร่ต่าง ๆ การปลูกเผือกที่ดอนควรปลูกในฤดูฝน เริ่มปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ถ้ามีแหล่งน้ำสามารถให้น้ำเผือกได้ก็สามารถปลูกได้ตลอดปี

1.1 การเตรียมดิน ก่อนการปลูกเผือก 1-2 เดือน ใช้แทรกเตอร์ไถดะด้วยผาน 3 หรือ 4 ตากไว้ระยะหนึ่งแล้วไถแปรเพื่อย่อยดิน ถ้าบริเวณดินปลูกดังกล่าวเป็นดินที่มีกรดสูง หรือเป็นดินเปรี้ยวควรหว่านปูนขาวรวมทั้งปุ๋ยคอก หรืออินทรีย์วัตถุ ก่อนดำเนินการไถเตรียมดิน หลังจากไถแปรเรียบร้อยแล้ว ให้เตรียมหลุมกว้าง 30 - 40 เซนติเมตร ลึก 20 - 30 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ถ้ามีปุ๋ยคอกให้ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูก

1.2 การเตรียมพันธุ์ การเตรียมพันธุ์เผือกบนที่ดอน ใช้หัวพันธุ์เผือกที่มีขนาดใกล้เคียงกัน โดยเฉลี่ยหัวพันธุ์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ไม่จำเป็นต้องเพาะเผือกให้แตกหน่อก่อนการปลูก ทำการปลูกโดยฝังลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ได้เลย พื้นที่ 1 ไร่ จะให้หัวพันธุ์เผือก 100-200 กิโลกรัม การปลูกเผือกบนที่ดอนบางแห่งอาจมีปลวกชุกชุม หรือมีแมลงใต้ดินมากควรใช้สารเคมีคาร์โบฟูแรน (ฟูราดาน) รองก้นหลุมก่อนปลูก

1.3 การปลูก การปลูกโดยใช้รถแทรกเตอร์ยกร่อง ใช้ระยะระหว่างร่องประมาณ 1 เมตร ปลูกโดยวางหัวเผือกลงในร่องระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร นำดินบางส่วนจากสันร่อยกลบหัวพันธุ์ จากนั้นคอยพูนโคน เมื่อเผือกเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากหัวเผือกก็คือลำต้นใต้ดินที่ขยายออกเพื่อสะสมอาหาร จึงเจริญขึ้นบนมากกว่าลงหัวลึกลงไป จึงต้องคอยพูนโคนอยู่เสมอ จนในที่สุดสันร่องเดิมเมื่อเริ่มปลูกกลายเป็นร่องทางเดิน

1.4 การให้น้ำ เผือกเป็นพืชหัวที่ขึ้นได้ดีในดินที่มีความชุ่มชื้น ฉะนั้นการปลูกเผือกในที่ดอน นอกจากจะอาศัยน้ำฝนแล้วจะต้องมีแหล่งน้ำให้ความชุ่มชื้นเผือกอยู่เสมอ ซึ่งถ้าปลูกเผือกไม่มากควรรดน้ำด้วยสายยาง แต่ถ้าปลูกมากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป ควรให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ แบบเคลื่อนย้ายได้ชั่วโมงละ 3-5 ไร่

1.5 การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 1-3 กำมือต่อต้น และปุ๋ยสูตร 18-6-6 อัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ ต่อจากนั้นใส่ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 เดือน ใช้สูตร 18-6-6 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 3-4 เดือน ใช้สูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ จะทำให้เผือกมีน้ำหนักหัวดี ในการใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรจะพรวนดินและรดน้ำใช้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ รากเผือกจะได้ดูดซับปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้สะดวก

1.6 การกำจัดวัชพืช และการพูนโคน ในระยะ 1-3 เดือนแรก ต้นเผือกยังเล็กควรมีการถากหญ้าหรือใช้สารกำจัดวัชพืช พร้อมทั้งพรวนดินโคนต้นเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อต้นเผือกโตใบคลุมแปลงมากแล้วไม่จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชอีกจนกว่าจะเก็บเกี่ยว

1.7 การคลุมแปลง ในแหล่งปลูกเผือกที่มีเศษเหลือของพืช เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่วและหญ้าคา เป็นต้น ควรนำมาคลุมแปลงปลูกเผือก เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันวัชพืช และการแตกหน่อของเผือกบางส่วนได้อีกด้วย สำหรับประเทศญี่ปุ่น จะใช้พลาสติกสีดำเป็นวัสดุคลุมแปลงเผือก การใช้วัสดุคลุมแปลงปลูกเผือกจะทำให้เผือกมีผลผลิตสูงขึ้น 18-20 %

1.8 การเก็บเกี่ยว เมื่อเผือกมีอายุได้ 5-6 เดือน สังเกตเห็นใบเผือกจะเล็กลง ใบเผือกใบล่างๆ จะมีสีเหลือง เหลือใบยอด 2-3 ใบ จึงสามารถขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตเผือกในที่ดอนที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เริ่มแรกจะใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสพายหลังตัดต้นเผือกเหลือแต่ตอสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1 คืบ แล้วใช้แทรกเตอร์ที่ออกแบบในการเก็บเกี่ยวเผือกโดยเฉพาะ สามารถเก็บเกี่ยวเผือกได้รวดเร็ววันละหลายไร่ และประหยัดแรงงานในการเก็บเกี่ยวกว่าการใช้แรงงานคนขุดมาก คาดว่าในวันข้างหน้าการเก็บเกี่ยวเผือกในที่ดอนของไทยจะพัฒนาเป็นการใช้แทรกเตอร์เก็บเกี่ยวต่อไป

2. การปลูกเผือกริมร่องสวน เป็นการปลูกเผือกบนร่องผัก หรือริมคันนา หรือริมร่องสวน การปลูกเผือกแบบนี้ส่วนมากจะเป็นแหล่งที่เกษตรกรนิยมปลูกผักบนร่องสวนอยู่แล้ว เช่น นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และ สุพรรณบุรี เป็นต้น

2.1 การเตรียมดิน ใช้พลั่วแทงดินสาดโกยขึ้นทำฐานรอง มีลักษณะคล้ายคันนาไปตามร่องสวน หรือร่องปลูกผัก เตรียมหลุมปลูกโดยมีระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร

2.2 การเตรียมพันธุ์ นำหัวพันธุ์เผือกที่มีขนาดเท่าๆ กันไปเพาะชำในแปลงเพาะชำ โดยมีขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุเพาะชำ วิธีการเตรียมแปลงเพาะชำให้ไถพรวนดิน 1 ครั้ง เพื่อปรับดินให้เรียบสม่ำเสมอปูขี้เถ้าแกลบหนาประมาณ 1-2 นิ้ว จากนั้นนำลูกเผือกมาวางเรียงบนขี้เถ้าแกลบให้เต็มแปลง แล้วใช้ขี้เถ้าแกลบทับบางๆ รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอทุกวัน จนกล้าเผือกมีอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยจะมีใบแตกออกมา 2-3 ใบ สูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายปลูกได้ พื้นที่ปลูกเผือก 1 ไร่ จะใช้พันธุ์เผือกประมาณ 100-200 กิโลกรัม

 

นำลูกเผือกวางเรียงบนขี้เถ้าแกลบ
โรยขี้เถ้าแกลบบางๆ หากมีฟางใช้คลุมทับอีกชั้น

แปลงกล้าเผือกพร้อมย้ายปลูกได้

2.3 การปลูก นำลูกเผือกที่งอกแล้ว 2-3 ใบ มาปลูกในหลุมห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น


การปลูกเผือกริมร่องสวน ระยะต้น 50 เซนติเมตร
การปลูกเผือกบนหลังร่องผัก ระยะปลูก 100 x 50 เซนติเมตร
 

การปลูกเผือกริมคันนาของเกษตรกรชาวนาจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี คล้ายการปลูกเผือกข้างร่องพืชผักหรือริมร่องสวนและมีการดูแลรักษาคล้ายกัน

 

ส่วนการปลูกเผือกบนหลังร่องสวนผักนั้น จะปลูกคล้ายๆ กับการปลูกเผือกบนที่ดอนโดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร (1 เมตร) การรดน้ำจะเหมือนการรดน้ำผักแบบยกร่องทั่วไป ส่วนการดูแลรักษาอื่นๆ ก็เหมือนการปลูกเผือกในที่ดอน

2.4 การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง เช่นเดียวกับการปลูกเผือกที่ดอน โดยใช้สูตรปุ๋ยและอัตราเดียวกัน สำหรับวิธีการใส่นั้นใส่โดยการเจาะหลุมระหว่างต้น หยอดปุ๋ยลงไป แล้วกลบด้วยดินโคลน

2.5 การกำจัดวัชพืช กลบโคนต้นและการตัดแต่งหน่อ หลังจากปลูกเผือกได้ 1 เดือน ควรมีการกำจัดวัชพืชและกลบโคนด้วยดินโคลนทุกเดือน และถ้าพบว่าเผือกมีการแตกหน่อมากเกินไปควรใช้เสียมแซะหน่อข้างออกให้หมด เผือกจะมีการลงหัวได้ขนาดใหญ่ขึ้น

2.6 การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากปลูกเผือกได้ 5-6 เดือน ใบเผือกจะเล็กลง ใบหนาขึ้น ใบช่วงล่างจะเป็นสีเหลือง และเริ่มเหี่ยวเหลือใบยอด 2-3 ใบ ให้ขุดโดยใช้เหล็กปลายแหลมขนาด 5 หุน ยาว 1 เมตร 25 เซนติเมตร มีห่วงกลมทำเป็นมือถือ แทงเหล็กแหลมลงไปที่โคนเผือกอย่าให้ชิดโคนเผือกมากนักเพราะก้านเหล็กจะถูกหัวเผือกเสียหายได้ เมื่อแทงเหล็กแหลมลงไปแล้ว ก็โน้มก้านเหล็กเอียงทำมุมกับพื้นดิน 45 องศา หมุนเหล็กคว้านรอบโคนต้นเผือกเป็นครึ่งวงกลมทั้ง 2 ด้านของต้น แล้วดึงเอาหัวเผือกขึ้นมา ผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เหล็กแหลมจะสามารถคว้านหัวเผือกขึ้นมาได้รวดเร็วมาก

3. การปลูกเผือกในนา เป็นการปลูกในพื้นที่นาเช่นปลูกหลังฤดูการทำนา เป็นพื้นที่ที่มีระบบน้ำชลประทานดี เช่น จังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ เป็นต้น

3.1 การเตรียมดิน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ให้ใช้รถแทรกเตอร์ไถดะด้วยผาน 3 หรือ 4 ตากดินไว้ระยะหนึ่งประมาณ 15-30 วัน แล้วไถย่อยดิน (ดินเปรี้ยว) ในอัตรา 200-400 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นอยู่กับดินเปรี้ยวมากหรือน้อย โดยหว่านปูนขาวก่อนการไถพรวนต่อจากนั้นใช้รถแทรกเตอร์ยกร่องห่างกัน 1-1.20 เมตร เหมือนการยกร่องปลูกอ้อย

การปลูกเผือกหลังนานั้นบางแห่ง เช่น สระบุรี และสุพรรณบุรี จะเตรียมดินแบบทำนามีการทำเทือก แล้วปล่อยน้ำออกเหลือดินโคลน นำลูกเผือกที่เพาะชำมีการแตกยอด 1-2 ใบ แล้วมาปลุกแบบดำนาก็มีผลให้เผือกตั้งตัวเจริญเติบโตดีเช่นกัน

3.2 การเตรียมพันธุ์ การปลูกเผือกในนาจะใช้ลูกเผือกที่เพาะชำจนแตกใบแล้วประมาณ 2-3 ใบ หรือสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ย้ายลงปลูกเช่นเดียวกับการปลูกเผือกริมร่องสวน และมีวิธีเตรียมกล้าเผือกเช่นเดียวกัน

3.3 การปลูก การปลูกเผือกในนาจะปลูก 2 แบบ ถ้าปลูกแบบยกร่องจะปลูก 2 แถว แต่ถ้าปลูกแบบนาดำจะปลูกแถวเดียว

3.3.1 การปลูกแบบแถวเดี่ยว วิธีการปลูกแบบนี้จะคล้ายวิธีการทำนาโดยหลังจากเตรียมแปลงทำเทือกเสร็วแล้ว เกษตรกรจะนำลูกเผือกที่แตกใบ 1-2 ใบ ไปปลูกลงแปลงแบบดำนา ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร วิธีนี้จะให้น้ำแบบท่วมแปลงเหมือนการทำนา เมื่อเผือกตั้งตัวได้ ทำการพูนโคน (ชาวไร่เผือกภาคกลางเรียกว่า "การแทงโปะ" คือเป็นการแทงตักดินขึ้นมากองไว้ตามแถวเผือก)







3.3.2 การปลูกแบบแถวคู่ เป็นการปลูกเผือกหลังนาแบบยกร่องแต่ละร่องห่างกันประมาณ 120-150 เซนติเมตร นำลูกเผือกที่เตรียมเพาะชำแล้วมีใบ 1-2 ใบมาปลูกข้างร่อง 2 ข้างแบบแถวคู่โดยใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 40 เซนติเมตร



3.4 การให้น้ำ การปลูกเผือกหลังนาส่วนใหญ่จะตรงกับฤดูร้อน จำเป็นต้องให้น้ำเผือกให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เผือกจึงเจริญเติบโตและลงหัวได้ดี ถ้าเป็นการปลูกเผือกแบบเดียวกับการทำนาก็ควรปล่อยน้ำท่วมแปลงเป็นระยะ อย่าให้แปลงปลูกเผือกขาดน้ำ โดยให้น้ำสูงกว่าผิวดิน 10-15 เซนติเมตร

ส่วนการปลูกเผือกแบบยกร่องและปลูกแบบแถวคู่นั้นจะให้น้ำแบบสูบน้ำ หรือปล่อยน้ำเข้าตามร่องให้ดินปลูกข้างต้นเผือกมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

การใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช การกลบโคนต้น การตัดแต่งหน่อ และการเก็บเกี่ยวเผือกที่ปลูกในนา ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกเผือกริมร่องสวนตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

การเก็บรักษา

เผือก เป็นพืชหัวที่เก็บรักษาได้นานพอสมควร หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรนำเผือกไปไว้ในที่ร่มเงามีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับลมเป็นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น เช่น ใต้ร่มไม้ หรือใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ต่อจากนั้นทำการแยกดินที่ติดกับหัวและแยกรากแขนง คัดแยกหัวแต่ละขนาด เช่น ใหญ่พิเศษ ใหญ่ กลาง และเล็ก แล้วบรรจุใส่ภาชนะที่เหมาะสม เช่น ถุงพลาสติกขนาดใหญ่แบบเจาะรูได้ หรืออาจเป็นเข่ง หรือรังพลาสติก



ข้อควรปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาหัวเผือกไว้ได้นาน และไม่เน่าเสียง่าย ดังนี้

1. ก่อนขุดเผือกประมาณ 15-30 วัน ไม่ควรเอาน้ำเข้าแปลง หรือรดน้ำแปลงเผือกเพราะเผือกจะดูดซึมน้ำไว้มาก เก็บไว้ไม่ได้นาน

2. ขุดเผือกเฉพาะเมื่อเผือกมีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ไม่ควรเก็บเกี่ยวเผือกเมื่อมีอายุน้อยเกินไปจะเน่าเสียได้ง่าย

3. ในการขุดเผือกแต่ละครั้ง ควรขุดเผือกด้วยความระมัดระวังอย่าให้หัวเผือกมีบาดแผลบอบช้ำ เผือกจะเน่าเสียง่าย เมื่อพบว่าเผือกมีบาดแผล ควรแยกไว้ต่างหากไม่ปะปนกัน

4. กรณีที่จะขนส่งเผือกไปไกลๆ หรือจะเก็บเผือกไว้นานหลายเดือน ไม่ควรล้างดินออก ผึ่งให้แห้งสนิทอย่าให้เปียกชื้นก่อนที่จะนำเข้าไปเก็บในโรงเก็บหรือขนส่งไกลๆ ต่อไป

5. การขนส่งเผือกควรมีภาชนะใส่เผือกที่เหมาะสม ซึ่งต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นจะใส่กล่องกระดาษสามารถใส่เผือกซ้อนกันได้ โดยเผือกไม่ทับถมกันเป็นปริมาณมาก จึงมีผลหรือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเก็บรักษาเผือกได้ไม่นาน

6. ไม่ควรนำเผือกที่เก็บเกี่ยวได้ มาสุมกองกันเป็นปริมาณมากหรือขึ้นไปเหยียบย่ำเผือก ควรนำเผือกที่จะเก็บรักษาไว้นานๆ มาเก็บไว้เป็นชั้นๆ

7. ห้องที่เก็บรักษาหัวเผือกนั้น จะต้องมีการระบายอากาศได้สะดวก อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส

หากมีความจำเป็นต้องเก็บรักษาควรตัดใบและรากทั้งหมดออกไม่ควรล้างน้ำ การเก็บรักษาหัวเผือก โดยการจุ่มลงไปในสารป้องกันเชื้อรา แคปแทน หรือเบนเลท ความเข้มข้น 500 ส่วนในล้านส่วน
(ppm.) แล้วเก็บรักษาไว้ในบ่อดิน จะทำให้หัวเผือกเน่าเสียลดลง ได้ผลดีกว่าการเก็บรักษาในขี้เลื่อยแห้ง ขี้เลื่อยชื้น และถุงพลาสติก หัวย่อยหรือลูกเผือกที่เก็บรักษาไว้ในบ่อดินใต้สภาพร่มและป้องกันน้ำฝนได้จะเก็บรักษาไว้ได้นาน 6-10 เดือน อายุการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับขนาดหัว คือ เผือกที่มีขนาดหัวเล็กจะเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าเผือกที่มีขนาดหัวใหญ่

นอกจากจะเก็บรักษาเผือกในรูปหัวเผือกสดแล้ว ยังสามารถเก็บรักษาเผือกในรูปเผือกแห้ง โดยทำการปอกเปลือกแล้วผ่าเผือกเป็นแผ่นบางๆ ตากเผือกให้แห้งสนิท เมื่อจะนำมาบริโภค ก็สามารถนำไปนึ่ง ทอด หรือบดเป็นแป้งเผือกได้



โรคเผือกที่สำคัญ

1. โรคใบไหม้ (โรคใบจุดตาเสือ)
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phythopthera colocasiae Rac. อาการบนใบเกิดจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำขนาดหัวเข็มหมุดถึงขนาดเหรียญบาท ปรากฎเห็นชัดบนผิวใบ แผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงๆ ต่อกัน ลักษณะพิเศษ คือ บริเวณขอบแผลมีหยดสีเหลืองข้น ซึ่งต่อมาแห้งเป็นเม็ดๆ เกาะอยู่เป็นวงๆ เมื่อบีบจะแตกเป็นผงละเอียด สีสนิม ในระยะที่รุนแรงแผลขยายติดต่อกัน และทำให้ใบม้วนพับเข้าและแห้งเหี่ยว หรืออาจเน่าเละถ้าอากาศชื้นมีฝนพรำ
 
อาการบนก้านใบ จะเกิดแผลฉ่ำน้ำยาวรี สีน้ำตาลอ่อน แผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงๆ เช่นกัน ต่อมาจะเน่า แห้ง เป็นสีน้ำตาล มีหยดสีเหลืองข้นด้วย ทำให้ก้านต้านทานน้ำหนักใบไม่ได้จึงหักพับ มีผลทำให้ใบแห้ง พบมากในระยะโรครุนแรง และมีลมพัด อาการเป็นระยะนี้ทำให้ผลผลิตลดลง และเชื้อนี้อาจเข้าทำลายหัวเผือกด้วยทำให้หัวเผือกเน่าเสียหายได้
 
ความสัมพันธ์ของความชื้นและอุณหภูมิจะมีผลต่อการเกิดโรคเชื้อรา ทำให้โรคมีการระบาดรุนแรงหากช่วงที่ได้รับเชื้อ มีฝนตกพรำตอนใกล้รุ่ง และตอนเช้าติดต่อกัน มีฝนพรำทั้งวัน และมีลมอ่อนๆ เนื่องจากสภาพดังกล่าวเหมาะสมต่อการสร้างสปอร์เชื้อรา ซึ่งเชื้อสร้างสปอร์บนใบเผือกได้ดีหากมีความชื้นสูง (90-100%) และอุณหภูมิต่ำ (20-25%)


โรคใบไห้ม

โรคนี้เป็นโรคที่รุนแรงที่สุดของเผือกที่พบในประเทศไทยและในต่างประเทศ โรคนี้เริ่มระบาดเมื่อมีฝนตกและอากาศชุ่มชื้น ถ้ามีฝนตกหนักและติดต่อกันหลายๆ วัน โรคจะระบาดอย่างรวดเร็ว ในแปลงที่เป็นรุนแรง เผือกจะมีใบเหลืองประมาณต้นละ 3-4 ใบ เท่านั้น เผือกที่เป็นโรคนี้ถ้ายังไม่เริ่มลงหัว หรือลงหัวไม่โตนักจะเสียหายหมด หัวที่ลงจะไม่ขยายเพิ่มขนาดขึ้น ในช่วงที่หมอกลงจัดเผือกจะเป็นโรคนี้ได้ง่ายเช่นเดียวกัน
การป้องกันกำจัด
1. หากพบว่าในเผือกเริ่มเป็นโรคใบจุดตาเสือ ให้ตัดใบเผือกที่เป็นโรคไปเผาทำลายให้หมด ไม่ควรปล่อยทิ้งหลงเหลืออยู่ในแปลง เชื้อราจะปลิวไปยังต้นเผือกต้นอื่นๆ ได้
2. ใช้พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคใบจุดตาเสือ ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดมากๆ ควรเปลี่ยนใช้พันธุ์เผือกที่ทนทานต่อโรคใบจุดตาเสือมาปลูกแทน เช่น พันธุ์ พจ.06 เป็นต้น
3. แยกแปลงปลูกเผือกให้ห่างกันเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค
4. ไม่ควรเดินผ่านแถวเผือกในขณะที่แปลงเผือกชื้นแฉะ เพราะทำให้เพิ่มการระบาดของเชื้อ
5. ใช้สารเคมี ได้แก่ ริโดมิล อัตรา 2-3 กรัมต่อต้น หยอดลงไปที่โคนต้นจะสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 1 เดือน หรือใช้สารคูปราวิท 50% อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งต้น 5-7 วันต่อครั้ง และเนื่องจากเผือกมีใบลื่นมาก การฉีดสารเคมีทุกครั้งจึงควรใช้สารจับใบผสมลงไปด้วย เพื่อให้สารเคมีจับใบเผือกได้นาน

2. โรคหัวเน่า
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii โรคนี้อาจเกิดได้ระหว่างการเก็บรักษาหัวเผือก หรือปล่อยทิ้งไว้ในแปลงปลูกนานเกินไป หรือมีน้ำท่วมขังแปลงปลูกเผือกในช่วงเผือกใกล้เก็บเกี่ยว
การป้องกันกำจัด
1. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้หัวเผือกที่ใกล้ช่วงเก็บเกี่ยวได้รับน้ำหรือความชื้นมากเกินไป ถ้ามีน้ำท่วมขังควรสูบน้ำออก
2. ในระหว่างการเก็บรักษาหัวเผือกในโรงเก็บน้ำควรระมัดระวังไม่ให้หัวเผือกชื้น และไม่ควรกองหัวเผือกสุมกันมากๆ ควรทำเป็นชั้นๆ จะได้ระบายถ่ายเทอากาศได้สะดวก


 

แมลงศัตรูเผือก

1. หนอนกระทู้ผัก

เป็นแมลงศัตรูเผือกที่ระบาดเฉพาะแหล่ง ไม่พบทั่วไป แมลงชนิดนี้มีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น บัวหลวง และพืชผักชนิดต่างๆ
 
ลักษณะและการทำลาย เริ่มแรกผีเสื้อจะวางไข่ไว้ตามใบเผือก แล้วฟักตัวออกเป็นตัวหนอนอยู่เป็นกลุ่มกัดกินใบเผือกด้านล่าง เหลือไว้แต่ผิวใบด้านบน เมื่อผิวใบแห้งจะมองเห็นเป็นสีขาว ถ้าหนอนกระทู้ผักระบาดมากจะกัดกินใบเผือกเสียหายทั่วทั้งแปลงได้ ทำให้เผือกลงหัวน้อย ผลผลิตต่ำ

การป้องกันกำจัด

ใช้สารเคมีฉีดพ่นช่วงที่หนอนชนิดนี้ระบาด สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ เพอเมทริน มีชื่อการค้า คือ แอมบุช 10% อีซี ใช้อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และแอมบุช 25% อีซี ใช้อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฟนวาลีเรท มีชื่อการค้า คือ ซูมิไซดิน 20% อีซี ใช้อัตรา 15-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ซูมิไซดิน 35% อีซี ใช้อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และซูมิไซดิน 10% อีซี ใช้อัตรา 30-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออาจใช้สารเคมีอโซดริน อัตรา 28-38 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแลนเนท อัตรา 12-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่ง พ่นในช่วงที่หนอนระบาด

 

หนอนกระทู้ผัก

 

2. เพลี้ยอ่อน

เป็นแมลงศัตรูเผือกที่ระบาดเฉพาะแหล่งไม่พบทั่วไป มีขนาดเล็ก ตัวอ่อนมีสีน้ำตาล โดยเพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบและยอดอ่อนของเผือก ทำให้เผือกแคระแกรน ไม่ค่อยเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด

ใช้สารเคมี ได้แก่ มาลาไธออน อัตรา 40-45 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารคาร์บาริล เช่น เซพวิน 80% อัตรา 47 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในช่วงเพลี้ยอ่อนระบาด

3. ไรแดง

เป็นแมลงศัตรูขนาดเล็กที่ระบาดเฉพาะแหล่ง ไม่พบทั่วไป ไรแดงมีรูปร่างคล้ายแมงมุม ตัวเล็กมาก ลำตัวสีแดง พบอยู่ตามใต้ใบเผือกและยอดอ่อน โดยไรแดงจะใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบเผือก ทำให้เกิดเป็นรอยจุดสีน้ำตาลหรือสีขาวอยู่ทั่วไป ถ้าระบาดมากใบเผือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวกลายเป็นสีเทา แล้วแห้งในที่สุด ไรแดงเผือกจะพบระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง หรือในช่วงเผือกขาดน้ำ

การป้องกันกำจัด

สารเคมี ได้แก่ สารไดโคฟอล เช่น เคลเทน ไดโคล หรือคิลไมท์ อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา 40-50 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณที่ไรแดงระบาดโดยเฉพาะใต้ใบเผือก

เอกสารอ้างอิง

 
นรินทร์ พูลเพิ่ม. ( ). การปลูกเผือก. เอกสารวิชาการ. ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร

สถาบันวิจัยพืชสวน. กรมวิชาการเกษตร (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม 23 หน้า)

มาลินี พิทักษ์. (2539). พืชหัวของไทย : มันเทศและเผือก. เอกสารวิชาการ

กองส่งเสริมพืชไร่นา. กรมส่งเสริมการเกษตร. 77 หน้า.

สมศรี บุญเรือง และมาลินี พิทักษ์. (2537). การปลูกเผือกหอม. เอกสารคำแนะนำที่ 15.

กรมส่งเสริมการเกษตร. 17 หน้า.



http://www.doae.go.th/library/html/detail/peak/peak12.htm

             *********************************
   







หน้าก่อน หน้าก่อน (1/2)


สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2009-07-16 (8274 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©