-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 567 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ถั่วเหลือง





ถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญของโลกเนื่องจาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งการบริโภคเมล็ดและน้ำมัน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และใช้กากเป็นอาหารสัตว์ ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น สีทาบ้าน ปลาทูน่ากระป๋อง พลาสติก และกาว เป็นเหตุให้ความต้องการใช้ ถั่วเหลือง ขยายตัวมาโดยตลอด การผลิตในประเทศยัง ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์เป็นพืชบำรุงดิน

ปัญหาของพืช ข้อจำกัด และโอกาส
ศักยภาพของพันธุ์ทำให้ผลผลิตต่ำ
เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพต่ำ เสื่อมคุณภาพเร็ว
เกษตรกรขาดความรู้ในการใช้เครื่องนวดให้เหมาะสมเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์
การกระจายเมล็ดพันธุ์ดียังไม่ทั่วถึ
มีศัตรูพืชรบกวนมาก เช่น โรค แมลง และวัชพืช ทำให้ผลผลิตลดลง 30-80 เปอร์เซ็นต์
ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การเลือกใช้พันธุ์ และการใช้ปุ๋ยตามชนิดของดิน แต่ละแหล่งปลูกยังไม่เหมาะสม
โอกาสที่เกษตรกรจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่เฉพาะเจาะจงในแต่ละแหล่งปลูก
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง แต่ยังมีความต้องการมาก


1. พันธุ์ สจ.4
สจ.4 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ Acadian กับ Tainung 4 ในปี พ.ศ. 2513 ณ สถานีทดลองพืชไร่แม่โจ้ (ปัจจุบัน คือ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่) โดยการคัดเลือกแบบสืบประวัติ (Pedigree selection) จนถึงชั่วที่ 7 จึงนำเข้าเปรียบเทียบในท้องถิ่นต่าง ๆ ปรากฏว่ามีการปรับตัวได้ดี และให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รับรองพันธุ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตเฉลี่ย 300 กก./ไร่
2. มีความทนทานต่อโรคราสนิมและแอนแทรคโนส
ลักษณะประจำพันธุ์
1. ตาหรือขั้วของเมล็ดค่อนข้างเล็ก มีสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดสีเหลือง
2. ลาต้นไม่ทอดยอด มีดอกสีม่วง
3. เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
4. ปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 95 วัน
พื้นที่แนะนำ
เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวได้กว้าง จึงใช้เป็นพันธุ์แนะนำที่สามารถปลูกได้ทั่วไปทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ลงไปถึงภาคกลาง
ข้อควรระวัง
หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใบจุดนูน เนื่องจากพันธุ์นี้ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบจุดนูน ซึ่งมักระบาดมากในการปลูกช่วงกลางฤดูฝน (กรกฎาคม)

2. พันธุ์ สจ.5
พันธุ์ สจ.5 เป็นพันธุ์ที่ได้รับจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ Tainung 4 กับพันธุ์ สจ.2 ในปี 2513 ณ สถานีทดลองพืชไร่แม่โจ้ (ปัจจุบัน คือ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่) ทำการคัดเลือกแบบสืบประวัติ (Pedigree selection) และประเมินผลผลิตในหลายท้องที่ มีการเจริญเติบโต ปรับตัวได้ดี ผลผลิตสูงสม่ำเสมอจึงได้รับการเสนอรับรองพันธุ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2523
ลักษณะเด่น
1. ผลผลิตสูง 320 กก./ไร่
2. ทนทานต่อโรคใบด่าง โรคราสนิม และโรคแอนแทรคโนส
3. ทนต่อสภาพดินที่มีความชื้นสูง หรือดินแฉะในช่วงการปลูกได้มากกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60
4. เมล็ดมีความงอกความแข็งแรงดี ลำต้นแข็งแรง
ลักษณะประจำพันธุ์
1. ตาหรือขั้วเมล็ดมีลักษณะเช่นเดียวกับพันธุ์ สจ.4 คือ มีสีน้ำตาลอ่อน
2. ลำต้นไม่ทอดยอด มีดอกสีม่วง ฝักแก่มีสีน้ำตาลเข้ม
3. อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100 วัน
พื้นที่แนะนำ
เป็นพันธุ์ที่ใช้แนะนำปลูกได้ทั่วไป เช่นเดียวกับพันธุ์ สจ.4 เนื่องจากเป็นการคัดพันธุ์แบบปรับตัวได้กว้าง จึงใช้ปลูกได้ทั่วไปในแหล่งปลูกถั่วเหลืองของประเทศไทย
ข้อควรระวัง
เช่นเดียวกับพันธุ์ สจ.4 คือ หลีกเลี่ยงการใช้พันธุ์นี้ปลูกในเขตที่มีการระบาดของโรคใบจุดนูน

3. พันธุ์เชียงใหม่ 60
ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ได้จากการคัดเลือกจากคู่ผสมระหว่างพันธุ์ Williams x สจ.4 เมื่อปี 2518 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ จำนวน 22 คู่ผสม คัดเลือกรุ่นลูกโดยวิธีสืบประวัติเพื่อหาสายพันธุ์ที่ให้ ผลผลิตสูงทนทานต่อโรคที่สำคัญ กรมวิชาการเกษตรพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองวันที่ 30 กันยายน 2530
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 280-350 กิโลกรัมต่อไร่
2. มีความทนทานต่อโรคราสนิม โรคใบจุดนูน และโรคราน้ำค้างดีกว่าพันธุ์ สจ.4 และสจ.5
3. สามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้กว้าง เหมาะสำหรับใช้เป็นพันธุ์ปลูกทุกสภาพท้องถิ่น
ลักษณะประจำพันธุ์
1. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โคนต้นอ่อนสีเขียวอ่อน ดอกสีขาว ขนสีน้ำตาล เปลือกหุ้มเมล็ดแห้งสีเหลือง ตาเมล็ดแก่สีน้ำตาล เมล็ดแก่รูปร่างค่อนข้างกลม ใบสีเขียวเข้ม ลักษณะลำต้นไม่ทอดยอด แตกกิ่งน้อย ขึ้นอยู่กับระยะปลูกและจำนวนต้นต่อไร่
2. ลักษณะทางการเกษตร ผลผลิตเฉลี่ย 260-360 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนฝักต่อต้น 50 ฝัก จำนวนเมล็ดต่อฝัก 2 เมล็ด น้ำหนัก 100 เมล็ด 15 กรัม ความสูง 40-64 เซนติเมตร จำนวนข้อ 12 ข้อ จำนวนกิ่งน้อย อายุออกดอก 35 วัน อายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน
พื้นที่แนะนำ
ปลูกได้ทุกแหล่งปลูกถั่วเหลือง
ข้อควรระวัง
1. อ่อนแอต่อสภาพดินที่มีความชื้นสูงหรือมีน้ำขัง การปลูกในฤดูแล้งในเขตชลประทาน ไม่ควรให้น้ำขังหรือในฤดูฝนควรระบายน้ำออกจากแปลงก่อนปลูก
2. เมล็ดพันธุ์เสื่อมความงอกเร็วถ้าเก็บในสภาพอุณหภูมิห้อง

4. พันธุ์สุโขทัย 2
ถั่วเหลืองพันธุ์สุโขทัย 2 ได้จากการคัดเลือกจากคู่ผสมระหว่างสายพันธุ์ 7016 และพันธุ์สุโขทัย 1 ได้พิจารณาให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตสูงประมาณ 290-310 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 ร้อยละ 7
2. มีความต้านทานต่อโรคที่สำคัญ 3 ชนิด คือ โรคราน้ำค้าง โรคใบจุดนูน และโรคไวรัสใบด่าง
3. มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์ (ความงอกและความแข็งแรง) ดีกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 และมีปริมาณเมล็ดเขียวน้อยประมาณร้อยละ 0.2-2.2
4. มีปริมาณโปรตีน ในเมล็ดเฉลี่ยร้อยละ 39
ลักษณะประจำพันธุ์
โคนต้นอ่อนสีม่วง ดอกสีม่วง ขนที่ฝักสีน้ำตาลเข็ม ฝักแก่สีน้ำตาลดำ เปลือกหุ้มเมล็ดแห้งสีเหลือง ขั้วเมล็ดแก่สีดำ รูปร่างเมล็ดแก่ค่อนข้างกลม ใบในระยะออกดอกเต็มที่มีสีเขียวเข้ม ขนาดของใบย่อยเล็ก รูปร่างของใบแคบ ลักษณะลำต้นแบบกึ่งทอดยอด ลักษณะการเจริญเติบโตแบบ Indeterminate น้ำหนัก 100 เมล็ด 14.9 กรัม และมีดัชนีเก็บเกี่ยวร้อยละ 52
พื้นที่แนะนำ
เหมาะสำหรับปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ปลูกได้ทั้งในฤดูแล้ง ต้นและปลายฤดูฝน สำหรับในเขตภาคเหนือตอนบน ไม่ควรปลูกในช่วงกลางและปลายฤดูฝน
ข้อควรระวัง

ถั่วเหลืองพันธุ์สุโขทัย 2 ไม่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่ดินมีความเป็นกรดจัด (pH < 5.5) และดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ นอกจากนี้ไม่ควรปลูกในเขตภาคเหนือตอนบน ในช่วงกลางถึงปลายฤดูฝน เพราะอ่อนแอต่อโรคราสนิม

5. ถั่วเหลืองผิวดำพันธุ์สุโขทัย 3
ถั่วเหลืองผิวดำพันธุ์สุโขทัย 3 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง F3 (Fort Lamy x Chiang Mai 60) x Chiang Mai 60 เมื่อปี 2528 ที่สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย คัดเลือกรุ่นลูกโดยวิธีสืบประวัติ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีการปรับตัวได้ดีในแต่ละแหล่งปลูก และให้ผลผลิตสูง โดยคัดเลือกจากลักษณะการติดฝักดกสมบูรณ์มีน้ำหนักต่อ 100 เมล็ด สูงมีคุณภาพเมล็ดดีเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์เชียงใหม่ 60 ทำการประเมินผลผลิตในศูนย์วิจัย สถานีทดลองพืชไร่ และเปรียบเทียบในไร่เกษตรกรในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปี 2533-2538 เป็นเวลา 6 ปี รวมทั้งหมด 54 แปลงทดลอง ได้พิจารณาเป็นพันธุ์รับรองเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตเฉลี่ย 298 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 ร้อยละ 9
2. เมล็ดพันธุ์มีความงอกดีและเก็บรักษาไว้ได้นาน
3. ต้านทานต่อแมลงศัตรูถั่วเหลือง เช่น ไส้เดือนฝอย ด้วงถั่วเหลือง
4. ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสในระยะเมล็ด
5. ต้านทานปานกลางต่อโรคราน้ำค้าง
ลักษณะประจำพันธุ์
1. ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ โคนต้นอ่อนสีเขียวอ่อน ดอกสีขาว ขนสีน้ำตาล ฝักแก่สีน้ำตาล เปลือกหุ้มเมล็ดแห้งสีดำ สีตาเมล็ดแก่สีดำ เมล็ดแก่รูปร่างค่อนข้างกลม ใบสีเขียวเข้ม ลักษณะลำต้นไม่ทอดยอด
2. ลักษณะทางการเกษตร ผลผลิตเฉลี่ย 298 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนฝักต่อต้น 41 ฝัก จำนวนเมล็ดต่อฝัก 2 เมล็ด น้ำหนัก 100 เมล็ด 13 กรัม ความสูง 70 เซนติเมตร จำนวนข้อต่อต้น 15 ข้อ จำนวนกิ่งต่อต้น 1.5 กิ่ง อายุออกดอก 30-38 วัน อายุเก็บเกี่ยว 87-98 วัน
3. คุณสมบัติทางเคมี
- ไขมัน 21 เปอร์เซ็นต์
- โปรตีน 38 เปอร์เซ็นต์
พื้นที่แนะนำ
- ปลูกได้ทุกแหล่งปลูกถั่วเหลือง
ข้อควรระวัง
- ควรมีการประสานงานระหว่างผู้ปลูกกับตลาดก่อน เนื่องจากเป็นถั่วเหลืองผิวดำตลาดอาจไม่รับซื้อ
- เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นน้ำนมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้) มีสีคล้ายสีช็อคโกแลต

6. พันธุ์เชียงใหม่ 2
ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 2 เป็นพันธุ์ที่มีอายุสั้นสามารถปลูกได้ 3 ฤดูต่อปี ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์เชียงใหม่ 60 x IAC 13 เมื่อปี 2530 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ คัดเลือกรุ่นลูกชั่วที่ 1 ถึงชั่วที่ 7 ในฤดูแล้งต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ระหว่างปี 2531-2533 เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ปรับตัวตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้กว้าง มีความต้านทานต่อโรคที่สำคัญในแต่ละฤดูปลูก นำสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ทำการประเมินผลผลิต ในศูนย์วิจัย สถานีทดลองในไร่เกษตรกร และทดสอบในไร่เกษตรกร ในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2534-2539 เป็นเวลา 6 ปี จำนวนทั้งหมด 173 แปลงทดลอง พิจารณาเป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2541
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 234 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ร้อยละ 7
2. เป็นพันธุ์อายุสั้นมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 77 วัน เท่ากับพันธุ์นครสรรค์ 1
3. เมล็ดพันธุ์มีความงอกดี
4. ปลูกได้ 3 ฤดูต่อปี คือ ฤดูแล้ง ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน และสามารถใช้ปลูกในระบบปลูกพืชได้
ลักษณะประจำพันธุ์
1. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โคนต้นอ่อนสีม่วง ดอกสีม่วง ขนสีน้ำตาลอ่อน ฝักแก่สีน้ำตาล เปลือกหุ้มเมล็ดแห้งสีเหลือง ตาเมล็ดแก่สีน้ำตาล เมล็ดแก่รูปร่างค่อนข้างกลม ใบสีเขียว ลักษณะลำต้นไม่ทอดยอก
2. ลักษณะทางการเกษตร ผลผลิตเฉลี่ย 234 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนฝักต่อต้น 30 ฝัก จำนวนเมล็ดต่อฝัก 2 เมล็ด น้ำหนัก 100 เมล็ด 15 กรัม ความสูง 49 เซนติเมตร จำนวนข้อต่อต้น 12 ข้อ จำนวนกิ่งต่อต้น 2.3 กิ่ง อายุออกดอก 26 วัน อายุเก็บเกี่ยว 77 วัน
3. คุณสมบัติทางเคมี ไขมัน 19 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 38 เปอร์เซ็นต์
พื้นที่แนะนำ
ปลูกได้ทุกแหล่งปลูกถั่วเหลือง พันธุ์เชียงใหม่ 2 สามารถปรับตัวตอบสนองต่อทุกสภาพแวดล้อมทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแหล่งปลูกถั่วเหลืองที่สำคัญ
ข้อควรระวัง
ในการปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 2 ควรปลูกระยะระหว่างแถว 30-40 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จำนวนต้น 3-4 ต้นต่อหลุม
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

พื้นที่ดอน หรือที่ลุ่มไม่มีน้ำท่วมขัง ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร
ดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทราย ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า1.5 เปอร์เซ็นต์ ค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.5 - 7.0
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 15-35 องศาเซลเซียส
ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000 - 1,500 มิลลิเมตรต่อปี
ฤดูปลูก(ช่วงปลูกที่เหมาะสม)

ในสภาพนา เป็นการปลูกในฤดูแล้ง (กลางธันวาคม -กลางมกราคม) หลังเก็บเกี่ยวข้าวให้ตัดตอซังทิ้งไว้ในนา
ในสภาพไร่ เป็นการปลูกในฤดูฝน
ต้นฝน (พฤษภาคม-กลางมิถุนายน)
กลางฝน (กรกฏาคม)
ปลายฝน (สิงหาคม)
การเตรียมดิน

ในสภาพนา โดยไม่ต้องไถหรือพรวนดิน และขุดร่องระบายน้ำรอบกระทงนาและผ่านกลางแปลงกว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร
ในสภาพไร่ ให้ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 15-20 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วยผานเจ็ด 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง ปรับดินให้สม่ำเสมอ

ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ให้หว่านปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1,000-1,500 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบ
ถ้าดินมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบ

วิธีการปลูก
ใช้เมล็ดพันธุ์ อัตรา 12-15 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกกับไรโซเบียม 200 กรัม โดยใช้ น้ำตาลทราย 75 กรัม ละลายน้ำ 300 มิลลิลิตร เป็นสารยึดเกาะ แล้วปลูกทันที
ในสภาพนา
ใช้ไม้ปลายแหลมทำหลุมกว้าง 2-3 เซนติเมตร ลึก 3-4 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ 4-5 เมล็ดต่อหลุม
ในสภาพไร่
ระยะปลูก 50x20 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 4-5 เมล็ดต่อหลุม ได้ประมาณ 64,000 ต้นต่อไร่
ถ้าใช้เครื่องปลูก เครื่องจะปลูกแบบโรยเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร จำนวน 20-25 ต้น ต่อแถวยาว 1 เมตร ได้ประมาณ 64,000-80,000 ต้นต่อไร่

การดูแลรักษา
การให้ปุ๋ย
ในสภาพนา
ในช่วงการปลูกข้าว ถ้าให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 หรือ 16-20-0 แล้ว ควร ให้ปุ๋ยสูตร 0-46-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูกถั่วเหลือง
ในช่วงการปลูกข้าว ถ้าไม่ได้ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 หรือ 16-20-0 ควรให้ปุ๋ยสูตร 0-46-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูกถั่วเหลือง
ในสภาพไร่ ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรหว่านปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมเตรียมดิน หรือปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถว เมื่อถั่วเหลืองอายุไม่เกิน 20 วันหลังปลูก

การให้น้ำ
1. ไม่ควรให้ถั่วเหลืองขาดน้ำในช่วงออกดอกจนถึงติดฝัก เพราะจะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก (25-35%)
2. ให้น้ำทุกครั้งเมื่อค่าการระเหยสะสมครบ 60 มิลลิเมตร (ใช้ระยะเวลา 11-15 วัน แล้วแต่สภาพภูมิอากาศ) ตลอดฤดูปลูกให้น้ำประมาณ 5-6 ครั้ง
3. ปริมาณน้ำที่ให้แต่ละครั้ง เท่ากับ 70% ของค่าการระเหย หรือให้น้ำ 42 มิลลิเมตร เมื่อค่าการระเหยสะสมครบ 60 มิลลิเมตร รวมเป็นปริมาณน้ำที่ให้ทั้งหมด 210 มิลลิเมตร หรือ 336 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ (ไม่รวมปริมาณน้ำที่ให้ทันทีหลังปลูกประมาณ 40 มิลลิเมตร)
4. ในการปลูกถั่วเหลืองไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อายุสั้น ปานกลาง หรือยาว ไม่ควรลดจำนวนครั้ง และปริมาณให้น้ำ การขาดน้ำที่ระยะ V47 (ข้อที่ 4 ของต้นถั่วเหลืองที่ใบขยายตัวเต็มที่), R1 (ดอกเริ่มบาน) หรือ R3 (เริ่มออกฝัก) จะทำให้ผลผลิตลดลง (12-44%) และขนาดเมล็ดลดลง
5. ในกรณีที่มีน้ำจำกัด สามารถลดจำนวนครั้งและปริมาณการให้น้ำลงได้บ้าง โดยให้น้ำครั้งสุดท้ายเมื่อถั่วเหลืองเติบโตที่ระยะ R6 (ฝักบนข้อที่ 1-4 จากส่วนยอด มีเมล็ดเต็มฝัก) โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้น้ำจนถึงถั่วเหลืองเริ่มมีฝักแรกแก่ 50% (ประมาณระยะ R7-R8) อย่างไรก็ตามไม่ควรหยุดให้น้ำก่อนถึงระยะ R6 เพราะจะทำให้ผลผลิต และขนาดเมล็ดลดลง
6. ในกรณีที่มีน้ำไม่เพียงพอ ควรใช้วัสดุคลุมดิน (ฟางข้าวอัตรา 2 ตัน/ไร่) เพราะจะทำให้ผลผลิตลดลงน้อยกว่าไม่ใช้วัสดุคลุมดิน 10-18%

การเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เก็บเกี่ยวตามช่วงอายุของพันธุ์ที่ปลูก หรือเมื่อ 95 เปอร์เซ็นต์ของฝักแก่เปลี่ยนสีตามพันธุ์

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
นวดด้วยเครื่องนวดที่มีความเร็วรอบประมาณ 350-500 รอบต่อนาที ขณะที่ความชื้นในเมล็ดประมาณ 15-17 เปอร์เซ็นต์
นำเมล็ดที่นวดแล้วไปผึ่งแดด 1-3 แดด เพื่อลดความชื้นในเมล็ด เหลือประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์
บรรจุเมล็ดถั่วเหลืองในกระสอบป่าน ที่ไม่ชำรุด สะอาด ปากกระสอบ ตัดแต่งให้เรียบร้อย และเย็บปากกระสอบด้วยเชือกฟาง
ศัตรูถั่วเหลืองและการป้องกันกำจัด
โรคที่สำคัญ
โรคราสนิม เกิดจากเชื้อรา มีลักษณะเป็นแผลจุดสีน้ำตาลขนาดเล็ก ด้านใต้ใบถ้าระบาดรุนแรงทำให้ใบไหม้และร่วงก่อนกำหนด ป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงช่วงปลูก ทำลายซากพืชที่เป็นโรค ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมื่อโรคเริ่มระบาด
โรคใบจุดนูน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะเป็นแผลจุดสีเขียวแกมเหลืองที่ใต้ใบ ถ้าอาการรุนแรง ใบจะเหลืองและร่วงก่อนกำหนด ระบาดรุนแรงในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว เข้าทำลายได้ง่าย ป้องกันโดยไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เป็นโรค ทำลายซากพืชที่เป็นโรค ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมื่อโรคเริ่มระบาด
โรคราน้ำค้าง เกิดจากเชื้อรามีลักษณะเป็นแผลจุดสีเหลืองแกมเขียวด้านบนของใบ ต่อมาขยายใหญ่แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดแผลไม่แน่นอน พบเส้นใยสีเทาของเชื้อราบริเวณแผลด้านใต้ใบ ป้องกันโดยไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เป็นโรค ใช้พันธุ์ต้านทาน คลุกเมล็ดก่อนปลูก

แมลงศัตรูที่สำคัญ
หนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว วางไข่ในเนื้อเยื่อใต้ใบอ่อน หนอนเจาะไชชอนเข้าไปกัดกินที่ไส้กลาง ของลำต้นและใต้ผิวเปลือกบริเวณโคนต้น แล้วเข้าดักแด้ ทำให้ต้นถั่วเหลืองแคระแกร็น ผลผลิตลดลง ถ้าระบาดมากจะทำให้ต้นถั่วเหลืองตาย ระบาดรุนแรงในระยะกล้า ป้องกันโดยคลุก เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก หลีกเลี่ยงช่วงปลูก
หนอนเจาะฝักถั่ว วางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆที่กลีบดอก ฝักอ่อนหนอนจะ เจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในฝัก จะเจาะฝักออกมาเพื่อเข้าดักแด้ตาม เศษซากพืช ระบาดรุนแรงในระยะติดฝัก เมื่ออากาศแห้งแล้งและอุณหภูมิสูง
แมลงหวี่ขาวยาสูบ วางไข่เป็นฟองเดี่ยวสีเหลืองอ่อน ตัวอ่อนมีลักษณะ คล้ายรูปไข่สีเหลืองปนเขียว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบถั่ว ทำให้ต้นแคระแกร็น ฝักผิดปกติ เป็นพาหะนำโรคใบยอดย่น
มวนเขียวข้าว วางไข่เป็นกลุ่มหลายแถว ตัวอ่อนวัยแรกจะรวมกันเป็นกลุ่ม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและฝักอ่อน ทำให้ฝักลีบ
มวนเขียวถั่ว วางไข่เรียงเป็น 2 แถว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและฝักอ่อน ทำให้ฝักลีบ
มวนถั่วเหลือง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและฝัก ทำให้ฝักลีบ
สัตว์ศัตรูที่สำคัญ
หนู เป็นสัตว์ฟันแทะศัตรูสำคัญของถั่วเหลือง ทำลายโดยขุดเมล็ด กินก่อนงอก กัดต้นอ่อนและเจาะกินเฉพาะเมล็ดอ่อนภายในฝัก ป้องกันกำจัดโดย

กำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูก และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนูใช้กับดัก หรือกรงดัก
เมื่อสำรวจร่องรอย รูหนู ประชากรหนูและความเสียหายอย่างรุนแรงของ ถั่วเหลืองให้ใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ ใช้กับดักหรือกรงดัก ร่วมกับการใช้เหยื่อพิษตามคำแนะนำ
ศัตรูธรรมชาติ
ศัตรูธรรมชาติมีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ในการป้องกันกำจัดศัตรูถั่วเหลืองควรใช้วิธีการที่ปลอดภัย เพื่ออนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ ที่พบทั่วไป ได้แก่

แมลงห้ำ มี 1 ชนิด คือ ด้วงเต่า หนอนและตัวเต็มวัยกัดกินไข่และตัวอ่อน ของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
แมลงเบียน มี 2 ชนิด คือ แตนเบียนไข่มวน วางไข่ในไข่ของมวนเขียวข้าว มวนเขียวถั่ว และมวนถั่วเหลือง ทำให้ไข่ของมวน มีสีดำและไม่ฟักเป็นตัว แตนเบียนแมลงหวี่ขาว วางไข่ในตัวอ่อนและดักแด้ของแมลงหวี่ขาวยาสูบ เมื่อไข่ฟักเป็นหนอน จะดูดกินและเจริญเติบโตอยู่ ภายใน ทำให้ซากดักแด้แข็งติดอยู่ใต้ใบถั่วเหลือง
นกฮูก นกแสก เหยี่ยว พังพอนและงู เป็นศัตรูธรรมชาติจับกินหนูสัตว์ศัตรูของถั่วเหลือง
การป้องกันกำจัดวัชพืช
ไถดิน 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง
กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานหรือเครื่องจักรกล เมื่ออายุ 15-20 วัน หรือก่อน ถั่วเหลืองออกดอก
คลุมดินด้วยเศษซากวัชพืชหรือฟางข้าวทันทีหลังปลูก
ในกรณีที่การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ควรพ่นสารกำจัดวัชพืช ตามคำแนะนำ


ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2009-07-16 (744 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©