-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 246 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สำปะหลัง




หน้า: 2/2




ปรับปรุงบำรุงดินสำปะหลัง
 

ลงทุนด้วยเงิน :  (เนื้อที่ 1 ไร่)
1.... แกลบดิบ (แกลบเปล่าๆ) 1 ตัน ราคา 1,600 บาท  อยู่ในเนื้อดินได้นาน 10 ปี เท่า
กับปีละ 160 บาท  (สำปะหลังอายุ 8 เดือน เท่ากับเดือนละ 20 บาท) หรือ 20 ปี เท่ากับ
ปีละ 80 บาท (สำปะหลังอายุ 8 เดือน เท่ากับเดือนละ 10บาท)


2.... ใส่ยิบซั่ม 1 กส. (25 กก.) เป็นเงิน 100 บาท


3.... ใส่ขี้ไก่อัดเม็ด 1 กส. (25 กก.)  เป็นเงิน 290 บาท


ลงทุนด้วยเวลา :
ปลูกพืชไร่  เช่น  ถั่วเขียว  ใช้เมล็ดพันธุ์ 2 กก./ไร่ (40 บาท) ระยะเวลา 45 วันออกดอก
ให้ไถกลบ  ได้เศษซากต้นถั่วเขียว 2-3 ตัน.... ปลูกถั่วเขียวไถกลบ 2 รุ่น ระยะเวลา 3 เดือน
ได้เศษซากต้นถั่ว 6-7ตัน ..... หรือจะปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วเขียว/เหลือง/แดง/ดำ/งา/ข้าวโพด
เลี้ยงสัตว์/ทานตะวัน  เอาผลผลิตก่อนแล้วไถกลบเศษซากลงดิน 1-2 รุ่น  นอกจากได้อินทรีย์
วัตถุบำรุงดินแล้วยังมีรายได้เป็นเงินอีกด้วย 

ลุงทุนด้วย  "เวลา + เงิน" :
ปรับปรุงบำรุงด้วย  "แกลบดิบ + ขี้ไก่อัดเม็ด + ยิ้บซั่ม + กระดูกป่น"  ด้วยการซื้อจากท้อง
ตลาด  ไถกลบบลงดินแล้วปลูกพืชไร่  (เอาผลผลิต เรียกทุนคืน แล้วเอาเศษซากบำรุงดิน หรือ เอา
เศษซากบำรุงดินโดยไม่เอาผลผลิต)  ก็จะได้ทั้งตัวปรับปรุงบำรุงดิน (ซื้อ) และตัวปรับปรุงบำรุงดิน
จากเศษซากพืช


กินทีละคำ - ทำทีละอย่าง - ย่างทีละก้าว :  (วิวัฒน์ ศัลยกำธร)

เนื้อที่ 20 ไร่ (สมมุตินามตามท้องเรื่อง) ทำทีละแปลง  แบ่งทำทำทีละโซน .... ปีแรกเริ่มทำ
2 ไร่ ..... ปีรุ่งขึ้นทำแปลงที่ยังไม่ได้ทำ  5 ไร่ ..... ปีที่ 3 ทำแปลงที่ยังไม่ได้ทำอีก 5
ไร่....ปีที่ 4 ทำแปลงส่วนที่เหลือ ระยะเวลาเพียง 4 ปี ก็ได้ครบ 20 ไร่  ทั้งนี้อินทรีย์วัตถุและ
สารปรับปรุงบำรุงดินที่ใส่ลงไปนั้น  ไม่จำเป็นต้องในแบบ  "ปีต่อปี"  หรื่อ  "ปีละ 1 ครั้ง" 
หรือใส่  "ทุกปี"  ก็หาไม่  จากประสบการณ์ตรงพบว่า ใส่ 1 ครั้งอยู่ได้หลายปีหรือหลายรุ่นการ
ผลิต แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องไม่ทำลายกระบวนการอินทรีย์ธรรมชาติ...... หรือ ปีแรกทำ 5 ไร่
แล้วบำรุงตามขั้นอย่างถูกต้องแท้จริงตรงตามความต้องการของสำปะหลัง  ได้เงินมาแล้วทุ่มทุนทำ
แปลงที่เหลือีกอีก 15 ไร่  แบบ 2 มัวนจบ..... หรือทำแบบ  "ซื้อด้วยเวลา"  ยอมเสีย
เวลาสำปะหลังเพียง 3 เดือน  ปลูกพืชตระกูลถั่ว (ไม่เอาผลผลิต) แล้วไถกลบ  หรือยอมเสีย
เวลาสำปะหลัง 1 ปี ปลูกพืชไร่ (เอาผลผลิต) แล้วไถกลบ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง


หมายเหต :
1.... ใส่แกลบดิบลงไปในดิน  แกลบดิบอยู่ในเนื้อดินได้นาน 10-20 ปี (แกลบดิบเป็นอินทรีย์
วัตถุที่สายตัวได้ช้าที่สุด / จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


2.... เศษซากพืชตระกูถั่ว  หรื่อเศษซากพืชอื่นๆ ให้สารอาหารมหาศาล


3.... เศษซากอินทรีย์วัตถุ และสารปรับปรุงบำรุงดิน นอกจากช่วยให้ดินโปร่ง ร่วน ซุย  น้ำและ
อากาศผ่านสะดวก ให้สารอาหาร  ให้จุลินทรีย์แล้วยังช่วยกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินได้เป็นระยะเวลานานๆ อีก
ด้วย


4.... ตัวเลขอัตราใช้อินทรีย์วัตถุและสารปรับปรุงบำรุงดิน (ซื้อ) ดังกล่าว  เป็นตัวสำหรับปีการ
ผลิตปีแรก  ในปีการผลิตต่อๆ มาสามารถลดลงได้ตามความเหมาะสม  ซึ่งหมายถึง  ต้นทุนที่ลดลง
นั่นเอง.....ในทางกลับกัน ไม่ซื้อแต่ทำเอง/จัดหานเอง ต้นทุนก็จะต่ำลงอีก

5.... เทคนิคการใช้  "น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง สูตรสำปะหลัง"  นอกจากช่วยให้ประสิทธิ
ภาพของอินทรีย์วัตถุและสารปรับปรุงบำรุงดิน  ทำให้ดินดีขึ้นแล้ว ยังได้อานิสงไปถึงผลผลิตอีกด้วย
ก็เหลือทางเลือกใหม่ นั่นคือ  "ทำเอง หรือ ซื้อ"  เท่านั้น

6.... สำปะหลังชนะเลิศงานประกวด  "สำปะหลังโลก"  ที่เมืองทองธานี สำปะหลัง 1 กอ.
ได้ 100(+)กก.  อันเป็นผลมาจาก  "อินทรัย์วัตถุ : ดิน = 1:3"  สันแปลงสูง 70 ซม.
และระบบ "น้ำหยด"

7.... ระหว่าง  สำปะหลังแบบเดิมๆ 1 ไร่ ได้ผลผลิต 3 ตัน  นั่นคือ 100 ไร่ ได้ผลผลิต
300 ตัน กับสำปะหลังประณีต 1 ไร่ ได้ผลผลิต 30 ตัน  นั่นคือ 10 ไร่ ได้ผลผลิต 300 ตัน



วิเคราะห์ : 
เนื้อที่ 100 ตัน ลงทุนพื้นที่เท่าไร ?  กับเนื้อที่ 10 ไร่ ลงทุนพื้นที่เท่าไร ?  ถ้าเนื้อที่ 100
ไร่  ทำสำปะหลังประณี่ต ควรได้ผลผลิตเท่าไร ?



ผลรับ :
1.... ได้ปัจจัยพื้นฐานเพื่อการเพาะปลูกสำปะหลังที่ดีเยี่ยม  ช่วยประหยัด  "ต้นทุนปัจจัย" 
ในการบำรุงขั้นต่อไป เช่น  น้ำ  ปุ๋ย  โรค

2.... ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้ง  "ปริมาณ" (20-30 ตัน +)และ "คุณภาพ" (เปอร์เซ็นต์แป้ง
30 +) ได้ต้นพันธุ์ดีเพื่อจำหน่าย

3.... ได้อนาคตเกษตรยั่งยืน  ยิ่งทำนานยิ่งดี  สามารถปรับเปลี่ยนจากสำปะหลังไปสู่พืชไร่อื่น
ตามต้องการได้ทุกพืช  และทุกฤดูกาล


ไม่มีกิจกรรมใดในโลกที่  "ไม่ลงทุน"  ประเด็นอยู่ที่ทุนที่ลงไปเป็น  "ต้นทุนที่สูญเปล่า"  หรือ
ต้นทุนที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทน ระยะสั้น  ระยะปานกลาง  และระยะยาว  ..... เทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรเป็นแบบชั่วครั้งชั่วคราว (แก้ปัญหาเฉพาะหน้า) กับ  ยั่งยืน ถาวร มั่นคง ไปนานแสนนาน.....
ดิน คือ ที่กินที่อยู่ของพืช....ดินดี ได้ผลผลิตแล้วกว่าครึ่ง....ดินดีส่งผลทันทีให้ต้นพืชสมบูรณ์ แข็งแรง ช่วยให้ "ผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนลด อนาคตดี" คำว่า "ยั่งยืน"  แปลว่า ดียาว ดีนาน ดีตลอด  ยิ่งนานยิ่งดี ....ในความเป็นจริงของ  "เกษตรยั่งยืน"  ที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป  คนส่งเสริม  "ยั่งยืน"  รวยเอา รวยเอา  รวยแล้วรวยอีก เอาอะไรมาส่งเสริมเป็นรวยทั้งนั้น  ในขณะที่คนรับการส่งเสริม "ล้มทั้งยืน"  ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้  จับอะไรเป็นขาดทุน  ขาดทุนแล้วขาดทุนอีก.....ว่าไหม ?   เพราะอะไร ?  ลุงทุน เครดิต/ซื้อสด  ซื้อปุ๋ย  ซื้อสารเคมี  ปีละเป็นหมื่นเป็นแสน  ไม่เคยนำพา  ใครถามก็ว่ามันต้อง  "ลงทุน"  แล้วที่ลงทุนด้วยเงินที่จ่ายไปนั้น  ไม่เคยคิดว่าจะได้  "ทุนคืน"  หรือไม่ เกษตรคนบางคนมาแปลก (ปกติวิสัยคนไทย) ปีใดขายผลผลิตได้เงินมาก  เพราะราคาตลาดดี คุยโวทั่วหมู่บ้าน  ครั้นมีคนถามว่า  "ลงทุน"  ไปเท่าไหร่ ?  เท่านั้นแหละโกรธตาเขียว !.... กับบางราย  ปีนี้ได้ผลผลิตดี  คุยโวว่าเก่ง มีฝีมือ ปีต่อมาได้ผลผลิตไม่ดี  กลับบอกว่า "ดวงไม่ดี" แล้วดวงกับฝีมือมันเกี่ยวกันตรงไหน ?


                                                 
                   

 
กรณีศึกษา : เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
Mealy Bug in Cassava

วลัยพร ศะศิประภา กฤษณา ทวีศักดิ์วิชิตชัย นารีลักษณ์ วรรณสาย พรพรรณ สุทธิแย้ม
กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปัจจุบันมีรายงานการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังในหลายพื้นที่ ต้นปี 2551 พบการระบาดของ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาดรุนแรง อย่างไม่เคยพบมาก่อน ที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร อ. เสิงสาง จ.นครราชสีมา ซึ่งหากวิเคราะห์หาสาเหตุการระบาดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งยาวนาน มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมทำให้เพลี้ยแป้งมีการขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งไม่มีการเตือนการระบาดให้เกษตรกรทราบก่อนหน้า ในปี 2552 ยังมีการระบาดอยู่


กรมส่งเสริมการเกษตรออกข่าวเตือนการระบาดในเดือนพฤษภาคม ทุกระยะการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง เพลี้ยแป้งที่เข้าทำลาย มี 2 ประเภท คือ ชนิดวางไข่ จะวางไข่ในถุงไข่มีใยคล้ายสำลีหุ้ม 1 ถุง มีตั้งแต่ 35 -500 ฟอง ระยะไข่ 6-7 วัน และชนิดออกลูกเป็นตัว ตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งจะลอกคราบ 3 – 4 ครั้ง มีการเคลื่อนที่ได้ อายุประมาณ 35 วัน ตัวเต็มวัย ด้านข้างและด้านหลังมีแป้งปกคลุม ประมาณ 10 วัน จะวางไข่ หรือออกลูก รวมวงจรชีวิตประมาณ 60 วัน ภูมิอากาศก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศย่อมส่งผลกระทบต่อตัวแปรของภูมิอากาศที่สำคัญคือ ปริมาณฝน อุณหภูมิ และปริมาณแสงแดด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณและความถี่ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ปัจจัยทางภูมิอากาศ จึงดำเนินการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในช่วง 39 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยทางภูมิอากาศใดที่เปลี่ยนแปลงบ้าง มีผลกระทบต่อการระบาดของแมลงศัตรูพืช เช่น กรณีการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง


ลักษณะของเพลี้ยแป้งสีชมพูและการเข้าทำลาย

ปริมาณฝน :
ลักษณะการตกของฝนในพื้นที่จังหวัดระยอง มีการตกของฝนแบบ 2 ช่วง (bimodal) สามารถแบ่งฤดูฝนได้ชัดเจน 2 ช่วงคือ ต้นฝนซึ่งมีปริมาณฝนมากในช่วงเดือนพฤษภาคม และปลายฝน มีฝนมากช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม มีฝนทิ้งช่วงในเดือนสิงหาคม ช่วงปี พ.ศ.2543 - 2551 ฝนมาเร็วกว่าปกติ คือเริ่มตกเดือนมีนาคม แต่ช่วงเดือนสิงหาคมมีปริมาณฝนน้อยมาก แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ทำให้เกิดการทิ้งช่วงของฝนในช่วงปีพ.ศ. 2543-2551


ความแตกต่างปริมาณฝนรายปีในช่วงปี 2549-2551 เทียบกับปีมาตรฐาน 30 ปี

อุณหภูมิ :
อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดในช่วงแต่ละ 10 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2513 – 2551 เพิ่มสูงกว่าปีมาตรฐาน โดยในเดือนเมษายนมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นช่วงของฤดูร้อน ในขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว และจากอุณหภูมิเฉลี่ยในทุกช่วง 10 ปี พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ


สรุป :
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางภูมิอากาศต่อการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง พบว่าการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนในรอบปีไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การกระจายของฝนแตกต่างกันในช่วงปลายปี 2549 ต้นปีพ.ศ. 2550 ฝนแล้งกว่าปีมาตรฐานเป็นเวลานานติดต่อกัน ซึ่งทำให้การเข้าทำลายพืชรุนแรงขึ้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศโดยรวม กระตุ้นการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของเพลี้ยแป้งทำให้วงจรชีวิตสั้นลง ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วขึ้นควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังช่วงที่มีปริมาณฝนลดลงและแล้งติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดที่รุนแรง  ไข่ของเพลี้ยแป้ง  ไข่ของแมลงช้างปีกใส


ที่มา  :  BIOTEC




'เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง' ต้องจัดการเร่งด่วน

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง” มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งทำให้เหมาะต่อการขยายพันธุ์ของศัตรูพืชชนิดนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหลายพื้นที่ต้องต่อสู้อย่างหนักกับเพลี้ยแป้งที่สามารถแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการติดไปกับท่อนพันธุ์ที่ขนย้ายจากแหล่งที่มีการระบาดไปยังแหล่งปลูกอื่น อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปลูกมันสำปะหลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงทำ “โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง” เพื่อเร่งควบคุมพื้นที่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดก่อนที่จะแพร่ขยายเป็นวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยได้ในอนาคต
   
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้แพร่ระบาดรุนแรง   ในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สระแก้ว จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก และ จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมพื้นที่ระบาดประมาณ 600,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าการระบาดจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งนี้และยังคาดว่าจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท
   
สำหรับ มาตรการเร่งด่วนกำจัดเพลี้ยแป้ง มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พบการระบาดรุนแรง โดยจัดตั้ง คณะทำงานและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง 40 หน่วย เพื่อจัดการรณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งกำจัดเพลี้ยแป้งในทุกพื้นที่พร้อมเพรียงกัน โดยมันสำปะหลังอายุ 1-8 เดือน รณรงค์ให้เกษตรกรตัดยอดมันสำปะหลังและฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเพลี้ยแป้งหลังตัดยอด ได้แก่ สารไทอะมีโทแซม 25% WP อัตราการใช้ 8 กรัม/น้ำ 80 ลิตร/ไร่ หรือ สารไวท์ออยล์ 67% อัตราการใช้ 200 ซีซี/น้ำ 80 ลิตร/ไร่ ส่วนมันสำปะหลังช่วงระยะเก็บเกี่ยว คือ อายุ 8 เดือนขึ้นไป รณรงค์ให้เกษตรกรจัดการเศษซากยอด ใบ กิ่ง และต้นมันสำปะหลังหรือตัดยอดในกรณีที่ยังไม่เก็บเกี่ยว และฉีดพ่นสารเคมีบนท่อนพันธุ์ที่ยังเก็บรักษาไว้ในแปลงด้วย ซึ่งมีเป้าหมายพ่นสารเคมีในแปลงที่ระบาดรุนแรง พื้นที่ประมาณ 400,000 ไร่
   
นอกจากนั้น ยังมีแผนเร่งรณรงค์ส่งเสริม  ให้เกษตรกร เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาดและปราศจากเพลี้ยแป้ง หรือก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารไทอะมีโทแซม 25% WP อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 5-10 นาที ซึ่งจะสามารถป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้ประมาณ 1 เดือน พื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่   
   
ส่วนมาตรการระยะยาว (เฝ้าระวัง) การระบาดของเพลี้ยแป้ง โครงการฯเน้น ให้มีการสำรวจติดตามสถานการณ์อย่าง สม่ำเสมอและใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ 45 จังหวัด ที่ปลูกมันสำปะหลัง รวม 7.7 ล้านไร่  ขณะเดียวกันยังจะเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการจัดการเพลี้ยแป้งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารศัตรูพืช 327 คน และเกษตรกร 17,160 คน พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและขยาย ศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้ง ได้แก่ แมลงช้างปีกใส 4.4 ล้านตัว และ แตนเบียน (Anagyrus lopezi) จำนวน 2.7 ล้านตัว ปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาด
   
อีกทั้งยัง จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จำนวน 572 ศูนย์ เพื่อจัดทำแปลงสำรวจสถานการณ์เพลี้ยแป้งในพื้นที่ ศูนย์ละ 1 แปลง ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานของเกษตรกรข้างเคียงศูนย์ฯ และยังส่งเสริมให้ศูนย์ฯ ผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติให้เพียงพอที่จะควบคุมเพลี้ยแป้งในพื้นที่ระบาด ที่สำคัญได้เน้นให้เกษตรกรตรวจสอบท่อนพันธุ์ที่มีการเคลื่อนย้าย โดยชุมชน รวมทั้งก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีตามคำแนะนำและยึดหลักวิชาการ ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 มาตรการจะสามารถช่วยควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในแหล่งปลูกมันสำปะหลัง 45 จังหวัด พื้นที่ 7.7 ล้านไร่ และยังช่วยลดความเสียหายของผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกร คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท
   
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษกำจัดเพลี้ยแป้ง หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์บริหารศัตรูพืช (ใกล้บ้าน)


ที่มา  :  เดลินิวส์




การศึกษาดูงานมันสำปะหลังในประเทศเวียดนาม
น.ส.กฤติกา อกนิษฐาภิชาติ
ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชไร่นา
สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
 
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ไปศึกษาดูงานมันสำปะหลังเมื่อวันที่ 10-12 มกราคม 2549 ณ จังหวัด Tay Ninh ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ประเทศ ในปี 2548 เวียดนามมีพื้นที่ปลูก 2.56 ล้านไร่ ผลผลิต 6.65 ล้านตัน และมีผลผลิตต่อไร่ 2,500 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก ปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.96 19.39 และ 7.91 ตามลำดับ สำหรับปี 2549 คาดว่าเกษตรกรจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เป็น 2.92 ล้านไร่ หรือพื้นที่ร้อยละ 10 เนื่องจากปีที่ผ่านมามันเส้นมีราคาดี และโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ขยายตัวรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น


เวียดนามแปรรูปหัวมันสดเป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในรูปมันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง โดยในรูปมันเส้นเกษตรกรเป็นผู้แปรรูปเองทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ส่วนใหญ่แปรรูปโดยภาคเอกชน โดยเวียดนามแปรรูปเป็นมันเส้นปอกเปลือก มันเส้นปอกเปลือกบางส่วน และมันเส้นไม่ปอกเปลือก ซึ่งในจังหวัด Tay Ninh เกษตรกรนิยมแปรรูปเป็นมันเส้นปอกเปลือกเพราะขายได้ราคาสูงกว่า ซึ่งอัตรา แปรสภาพจากหัวมันสดเป็นมันเส้นโดยเฉลี่ย 2.5–3 : 1 เนื่องจากเกิดการสูญเสียจากการปอกเปลือก


ส่วนการแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลัง เวียดนามมีโรงงานแป้งมันสำปะหลัง 53 โรง อยู่ทางตอนใต้ 29 โรง มีกำลังการผลิตวันละ 2,580 ตัน ตอนกลาง 16 โรง กำลังการผลิตวันละ 1,090 ตัน และตอนเหนือ 8 โรง มีกำลังการผลิตวันละ 610 ตัน อัตราการแปรสภาพจากหัวมันสดเป็นแป้งมันสำปะหลัง โดยเฉลี่ย 4 : 1 ในจังหวัด Tay Ninh โรงงานแป้งมันสำปะหลังมีส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนของชาวเวียดนามเอง บางโรงเป็นการลงทุนของชาวเวียดนามและต่างชาติ เช่น ไทย เป็นต้น โดยเทคโนโลยีการผลิต / แปรรูปส่วนใหญ่จะนำเข้าจากไทย นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรบางรายที่มีการแปรรูปเป็น Wet Powder แต่มีปริมาณน้อย


ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนำมาใช้ภายในประเทศประมาณร้อยละ 45-50 ของผลผลิต โดยมันเส้นใช้เป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์ สำหรับแป้งมันจะใช้บริโภคในครัวเรือนและในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เหลือประมาณร้อยละ 50-55 ของผลผลิตจะส่งออก ซึ่งในปี 2547 มีปริมาณการส่งออก 749,666 ตัน และมีมูลค่าการส่งออก 66.88 ล้านดอลลาร์ ตลาดหลักที่สำคัญคือ ประเทศจีน ส่วนการส่งออกแป้งมันสำปะหลังจากการสอบถามโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่จังหวัด Tay Ninh ทราบว่าการส่งออกแป้ง มันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเวียดนามขยายการผลิตมันสำปะหลังและมีการสร้างโรงงานแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น โดยตลาดหลักที่สำคัญคือจีน


ปัญหาที่เกษตรกรประสบก็คือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เนื่องจากมันสำปะหลังไม่ใช่พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม จึงทำให้รัฐบาลขาดงบประมาณในการวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลัง ไม่มีการถ่ายทอด / ฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรเพื่อให้มีความรู้ในการเพาะปลูกมันสำปะหลังที่ถูกต้อง และใช้เทคโนโลยีที่ ทันสมัย นอกจากนี้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากพ่อค้าคนกลางที่รวบรวมผลผลิตยังมีน้อย


ด้านนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับมันสำปะหลังในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามตั้งแต่ฉบับที่ 1 – 9 ( ปัจจุบัน ) รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นในการพัฒนามันสำปะหลังเนื่องจากเป็นพืชที่มีมูลค่าค่อนข้างต่ำ แต่มันเส้นที่ส่งออกในช่วงปีที่แล้วต่อเนื่องมาปีนี้มีราคาอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงงานแป้งมันสำปะหลังขยายการผลิตเพราะราคาจูงใจ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้หันมาสนใจในพืชชนิดนี้ โดยกระทรวงเกษตรจะส่งเสริมในเรื่องพันธุ์และพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยแก่เกษตรกร สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนให้มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพในการป้อนโรงงาน แป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะใช้มันสำปะหลังเพื่อเป็นพืชทดแทนพลังงานในอนาคตด้วย 
 
ข้อคิดเห็น
ระยะสั้น ไทยยังสามารถครองตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งมันเส้นและแป้ง มันสำปะหลัง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของเวียดนาม หากราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ส่งออก เป็นไปตามกลไกของตลาด เนื่องจากไทยสามารถขยายการผลิตหัวมันสำปะหลังและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ในปริมาณเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของจีน โดยเฉพาะมันเส้นที่ตลาดจีนมีความต้องการมาก รวมทั้งสามารถส่งมอบได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เวียดนามจะได้เปรียบกว่าในเรื่องข้อตกลงการค้าชายแดนระหว่างจีน – พม่า – ลาว – เวียดนาม เป็นผลให้เวียดนามส่งออกมันสำปะหลังไปจีน จะเสียภาษีนำเข้าและ ภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับที่นำเข้าจากไทย แม้ว่าข้อตกลงการค้าเสรี ไทย - จีน ทำให้ไทยเสียภาษีการนำเข้ามันเส้นลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0 ก็ตาม แต่ไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 13 เมื่อรวมแล้วไทยเสียภาษีรวมร้อยละ 13 ขณะที่เวียดนามจะเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 2.5 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6.5 เวียดนามจึงเสียภาษีรวม (ภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม) ร้อยละ 9 นอกจากนี้ค่าขนส่งของเวียดนาม ถูกกว่าไทย รวมทั้งมีมันเส้นสะอาด แต่โดยภาพรวมไทยยังคงได้เปรียบมากกว่า
 
ระยะยาว หากรัฐบาลเวียดนามได้ตระหนักถึงความสำคัญของมันสำปะหลังโดยการส่งเสริมอย่างจริงจังโดยการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้แก่เกษตรกร อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังต่อหน่วยลดลงและมีการขยายพื้นที่ปลูกอาจเป็นคู่แข่งของไทยในอนาคตได้ 
   
 ดังนั้นเพื่อให้ไทยยังคงเป็นตลาดที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญของโลกควรจะดำเนินการดังนี้


เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง ทำให้สามารถแข่งขันกับพืชทดแทนชนิดอื่น รวมทั้งสามารถแข่งกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่น ๆ


ส่งเสริมให้มีการทำมันเส้นสะอาดมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มมูลค่าเพิ่มของมันสำปะหลัง
ประชาสัมพันธ์ให้ประเทศผู้ซื้อทราบคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ 


 
Email-Address
Krittika@oae.go.th
ประวัติการศึกษา ปริญญาโทมหาบัญฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 

 



กรมวิชาการเกษตร
แนะปลูกมันสำปะหลังอย่างไรให้ผลผลิตสูงสุด
การผลิตเอธานอลจากหัวมันสำปะหลัง ทำให้เกิดความวิตกกังวลทั้งจากภาครัฐและเอกชนว่าจะไม่สามารถหาผลผลิตหัวมันสดมารองรับโรงงานผลิตเอทานอลได้ และจากการให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยว่า เมื่อปี 2550 รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการสร้างโรงงานผลิตเอทานอลไปแล้วกว่า 49 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 11 ล้านลิตร ต่อวัน ต้องใช้หัวมันสด 15 ล้านตันต่อปี ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการมันเส้นไปผลิตเอทานอลเป็นพิเศษอีกด้วยดังนั้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ความต้องการผลผลิตมันสดเพื่อให้พอรองรับภาคอุตสาหกรรมเอทานอลและอาหารสัตว์ตลอดจนแป้งมันจะต้องสูงกว่า 35 ล้านตันต่อปีอย่างแน่นอน เพื่อให้มันสำปะหลังเพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมทีเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและตลาดโลก กรมวิชาการเกษตรจึงแนะนำวิธีการปลูกมันสำปะหลังอย่างไรให้ผลผลิตสูงสุด

การปรับปรุงบำรุงดิน ให้เหมาะสมต่อการผลิตมันสำปะหลัง หลักสำคัญก็คือการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินเป็นการสร้างให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดีและการเพิ่มธาตุอาหารหลักให้กับดิน ได้แก่ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์หรือปุ๋ยพืชสดจากปอเทืองและถั่วพร้าปลูกแล้วไถกลบ และจากการใช้พื้นที่ปลูกพืชอย่างต่อเนื่องทำให้ดินแน่นทึบ ก่อนการปลูกควรไถดะเพื่อระเบิดหน้าดินให้มีความร่วนซุยเพื่อให้น้ำซึมลงใต้ดินในฤดูฝนและนำน้ำใต้ดินมาใช้เมื่อฤดูแล้ง

การเลือกฤดูปลูกเพราะผลผลิตขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน โดยในช่วงหลังเดือนที่ 3 หลังจากการปลูก มันสำปะหลังต้องการน้ำน้อยเพื่อการเจริญเติบโต ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้วพบว่า กุมภาพันธ์กุมภาพันธ์ – มีนาคม) รองลงมาคือต้นฤดูฝน(เมษายน-พฤษภาคม) และปลายฤดูฝน (ตุลาคม - พฤศจิกายน)

การเลือกพันธุ์มันสำปะหลังดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ดินร่วนเหนียวถือได้ว่าเป็นดินดี ดินชนิดนี้สามารถนำไปปั้นเป็นลูกกระสุนได้ และดินร่วนทรายถือได้ว่าเป็นดินปานกลางถึงเลว ดินชนิดนี้ไม่สามารถนำไปปั้นเป็นลูกกระสุนได้เนื่องจากดินแตกง่ายไม่เกาะติดกัน โดยดินร่วนเหนียวควรปลูกพันธุ์ระยอง 5 และระยอง72 ส่วนดินร่วนทรายควรปลูกพันธุ์เกษตรศาสตร์50 ระยอง90 ห้วยบง60 และระยอง9 เนื่องจากทั้ง 4 พันธุ์ เมื่อนำไปปลูกในดินร่วนเหนียวจะเจริญเติบโตในส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินมากกว่าลงหัว หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าขึ้นต้นหรือบ้าต้นบ้าใบเกินไป ส่วนพันธุ์ระยอง 7 นั้นเหมาะทั้งดินร่วนเหนียวและดินร่วนทรายที่มีความชื้นของดินดีตลอดช่วงของการเจริญเติบโต แต่ไม่เหมาะสมกับสภาพดินที่แห้งแล้ง

การเตรียมดินคือต้องไถให้ลึกเพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำฝนและความชื้นของดินได้มากขึ้นและมันสำปะหลังจะลงหัวได้ง่าย คือการไถดะ ด้วยผาล 3 เท่านั้น ควรไถเมื่อดินมีความชื้นพอเหมาะ ต่อมาไถด้วยผาล 7 เพื่อเพิ่มความร่วนซุยให้กับดิน และตามด้วยการยกร่องพร้อมปลูก ในกรณีที่ดินต้องการเพิ่มอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงดินและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินแนะนำให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไร่ละ 100 -200 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยหมัก วัสดุอินทรีย์อื่นๆ

การปลูกที่ถูกต้อง หลักสำคัญก็คือ ต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรมีอายุ 10-12 เดือน จะให้ความงอกดีที่สุด โดยเลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรง มีตาถี่ ขนาดโตพอสมควร ต้องตัดท่อนปลูกด้วยมีดที่คมเพื่อมิให้ท่อนปลูกช้ำ ยาวไม่ต่ำกว่า 20 เซนติดเมตร ปลูกปักตรงให้ลึก 2 ใน 3 ของความยาวท่อนปลูก ในดินร่วนเหนียว ควรใช้ระยะแถวกว้าง 1.20 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50 – 1.00 เมตร และในดินร่วนทราย ควรใช้ระยะแถวแคบ 0.80 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50-0.80 เมตร

การกำจัดวัชพืช  หลักที่สำคัญก็คือ มันสำปะหลังใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากปลูกเพื่อสร้างพุ่มใบให้คลุมพื้นที่ระหว่างร่องทั้งหมด ดังนั้นภายในช่วง 3 เดือนแรกถือว่าเป็นช่วงวิกฤตของมันสำปะหลัง ต้องดูแลให้มันสำปะหลังปลอดวัชพืช ถ้าปล่อยให้วัชพืชแข่งขันกับมันสำปะหลัง มันสำปะหลังจะแคระแกร็น มีผลให้ผลผลิตลดลงมาก การกำจัดวัชพืชสามารถ

- เลือกทำแบบผสมผสาน  โดยใช้จอบถาง รถไถเดินตามแถวระหว่างร่อง ใช้สารเคมีประเภทคลุมก่อนวัชพืชงอกหรือสารเคมีกำจัดหลังวัชพืชงอก สารเคมีประเภทคลุมใช้ได้ผลเฉพาะการปลูกต้นฤดูฝนเท่านั้น ห้ามใช้ไกลโฟเซตในขณะที่มันสำปะหลังต้นเล็กอยู่ เพราะมีผลทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

การใส่ปุ๋ยเคมี  ควรเลือกใช้ปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 2:1:2  ปุ๋ยเคมีที่แนะนำคือ 15-7-18 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ปุ๋ย 2 ข้างลำต้นรัศมีพุ่มใบแล้วกลบ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวเมื่ออายุ 1 เดือนหลังปลูกและต้องใส่ปุ๋ยเคมีในขณะที่ดินมีความชื้นและต้องกลบปุ๋ยด้วย ถ้าไม่กลบปุ๋ยอาจสูญเสียปุ๋ยมากเกิน 50%สำหรับการเก็บเกี่ยวควรเลือกเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงที่เหมาะสมตั้งแต่อายุ 10-18 เดือน ควรงดเว้นการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงฝนแรก คือตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากมันสำปะหลังแตกใบอ่อนจะให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

การให้น้ำมันสำปะหลัง  ควรให้น้ำในช่วงฤดูแล้งเพื่อจะช่วยให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือทำให้ใบร่วงน้อยที่สุด มีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ละเดือนอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น การปลูกมันสำปะหลังเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ต้องปลูกในช่วงฤดูฝน คือตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน และให้น้ำช่วงสองเดือนแรกของการเจริญเติบโตตามความจำเป็น และให้น้ำเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว



**************************************************************************************************************************************



ดร.โอภาษ บุญเส็ง ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร Opasboonseng @ yahoo.com

ปลูกมันสำปะหลัง แบบมีการให้น้ำ ช่วยเพิ่มผลผลิตและป้องกันเพลี้ยแป้ง


สถานการณ์เพลี้ยแป้งที่ได้คุกคามในมันสำปะหลังและแพร่ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2551 จนมาถึงปัจจุบันนี้ และได้กลายเป็นมหันตภัยต่อมันสำปะหลังอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต ผู้เขียนเคยได้ฟังคำปรารภจากท่านจเร จุฑารัตนกุล อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยว่า

"การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถหามาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมาเร่งแก้ไขวิกฤตการณ์นี้อย่างได้ผลสำเร็จ เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ส่งผลให้หัวมันสำปะหลังที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลง ผู้ใช้จากต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะยังคงสามารถเป็นฐานวัตถุดิบที่ยั่งยืนได้เช่นเดิมหรือไม่ อาจหันไปใช้วัตถุดิบจากพืชชนิดอื่นทดแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้"

ดังนั้น การหามาตรการป้องกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนของนักวิจัยทุกสาขาของมันสำปะหลัง ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติจากแมลงศัตรูพืชชนิดนี้ให้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรไทยอยู่อย่างมีอนาคตและดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตการปลูกมันสำปะหลังที่ผ่านมาราวครึ่งศตวรรษได้



ผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังในอนาคต
จากการระดมสมองเรื่องมาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง จัดโดยมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 โดย คุณบุญชัย ศรีชัยยงพานิช ประธานคณะสำรวจภาวการณ์ผลิตและการค้ามันสำปะหลังของสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้รายงานไว้ว่าในฤดูการผลิต ปี 2552-2553 ผลผลิตรวมลดลงเหลือ 22 ล้านตัน จากประมาณการไว้ 28 ล้านตัน สาเหตุผลผลิตลดลงมาจากความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง และ คุณบุญมี วัฒนเรืองรอง เลขานุการสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยได้ให้ความเห็นว่า ถ้าในฤดูกาลการผลิต ปี 2553-2554 หากไม่มีมาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอย่างได้ผลชัดเจน จะมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าผลผลิตรวมจะลดลงเหลือ 10 ล้านตัน อาจเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบมีความเป็นไปได้สูง โดยที่ผู้ใช้อาจจะเปลี่ยนไปซื้อวัตถุดิบจากแหล่งอื่นแทน หรืออาจเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบตัวอื่นแทนมันสำปะหลังในระยะยาว เพราะเกิดความไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นฐานผลิตวัตถุดิบมันสำปะหลังที่มั่นคงได้เหมือนเดิม



ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลัง
คุณเสรี เด่นวรลักษณ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า จากการระบาดของเพลี้ยแป้งจะทำให้ผลผลิตลดลง ในด้านอุตสาหกรรมมันเส้นซึ่งมีลานตากมันสำปะหลังอยู่ 1,000 แห่ง ใช้ผลผลิตประมาณ 5 ล้านตัน ต่อปี หันไปตากข้าวโพดแทนมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมแป้งใช้ผลผลิตประมาณ 3.5 ล้านตัน ต่อปี กำลังการผลิตลดลงไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการต่อ อาจต้องปิดตัวไป อุตสาหกรรมแป้งดัดรูปมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 9 แสนตัน ต่อปี แต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 5 แสนตัน ต่อปี อาจต้องปิดตัวลง ส่วนอุตสาหกรรมเอทานอลอาจปรับเปลี่ยนมาใช้โมลาสจากอ้อยแทน ตามข้อเท็จจริงโรงงานเอทานอลอยู่ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังห่างไกลจากโรงงานน้ำตาล สำหรับในด้านต่างประเทศ ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้นำเข้ามันเส้นรายใหญ่จากไทย อาจเปลี่ยนนโยบายหันไปนำเข้าข้าวโพดแทน หากมันสำปะหลังมีไม่เพียงพอ ถ้าทิศทางการใช้วัตถุดิบจากข้าวโพดแทนมันสำปะหลังแล้ว คงเป็นไปได้ยากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเหมือนเดิมอีก



ชนิดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง
เพลี้ยแป้ง ที่พบว่าระบาดทั่วไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย มีด้วยกัน 4 ชนิด คือ เพลี้ยแป้งตัวลาย (striped mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ferrisia virgata *****erell เพลี้ยแป้งสีเขียว (madeira mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Phenacoccus madeiresis Green เพลี้ยแป้งสีชมพู (pink mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Phenacoccus manihoti Matile-Ferrero และเพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ (Jack-Beardsley mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudococcus jackbeardsleyi Gimpel & Miller เพลี้ยแป้งทั้ง 4 ชนิด พบว่า เพลี้ยแป้งสีชมพูมีการระบาดอย่างรุนแรงที่สุด มีผลเสียหายทางเศรษฐกิจในทุกภาคของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้อย่างได้ผลดี ทำให้เกษตรกรเริ่มวิตกกังวลต่อการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้ในมันสำปะหลัง โดยเกษตรกรบางรายได้หันกลับไปปลูกพืชไร่ชนิดอื่นแทน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม



มาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง ในมันสำปะหลัง
แนวทางในการจัดการเพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง ซึ่งไม่ง่ายเหมือนกับการจัดการเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยทั่วไป เนื่องจากเพลี้ยแป้งมีข้อจำกัดที่ลำตัวปกคลุมด้วยไขแป้ง ไข่อยู่ภายในถุงไข่ ส่วนลำต้นของมันสำปะหลังที่ถูกทำลายด้วยเพลี้ยแป้ง จะมีข้อถี่มากและมีการแตกใบเป็นพุ่มหนาเป็นกระจุก เป็นเกราะกำบังอย่างดีให้กับเพลี้ยแป้ง ทำให้การพ่นสารเคมีค่อนข้างยากที่จะถึงตัวและไข่ของเพลี้ยแป้ง

นอกจากนี้ การจัดการเพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งด้วยสารเคมี เป็นวิธีที่อันตรายและก่อให้เกิดการทำลายล้างต่อแมลงศัตรูตามธรรมชาติ อย่างแมลงตัวห้ำและตัวเบียน สุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การใช้สารเคมีควรจะเป็นวิธีสุดท้ายในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง สำหรับแนวทางและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมีด้วยกัน 5 แนวทาง โดยเริ่มต้นตั้งแต่การจัดการด้านวิธีเขตกรรม การจัดการด้านที่อยู่อาศัย การควบคุมโดยชีววิธี การควบคุมโดยสารสกัดชีวภาพและวิธีกล และการควบคุมโดยสารเคมี มีรายละเอียด ดังนี้

1. การจัดการด้านเขตกรรม เป็นแนวทางวิธีปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับตัวพืช เพื่อให้พืชสามารถพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูได้ดีขึ้น ได้แก่ การเลือกพื้นที่ปลูก การเลือกฤดูปลูก การเตรียมดิน การเตรียมท่อนพันธุ์ เทคนิคการปลูก การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว

2. การจัดการที่อยู่อาศัย เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงตัวห้ำและตัวเบียนที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นตามธรรมชาติ ได้แก่ การให้น้ำ การปลูกพืชหมุนเวียน และการสร้างแนวพืชป้องกัน

3. การควบคุมด้วยชีววิธี เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตในการควบคุมแมลงศัตรูพืชให้อยู่ภายใต้ระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่กำหนด ได้แก่ การใช้แมลงช้างปีกใส แตนเบียน และด้วงเต่า

4. การควบคุมด้วยสารสกัดชีวภาพและวิธีกล เป็นการนำสารธรรมชาติจากพืชโดยได้มาด้วยการนำพืชมาสกัดเพื่อหาสารออกฤทธิ์ที่มีศักยภาพในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช นอกจากนี้ การใช้วิธีควบคุมเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์และระบาดในไร่มันสำปะหลังด้วยวิธีกลอย่างมีประสิทธิภาพ

5. การควบคุมด้วยสารเคมี เป็นวิธีสุดท้ายในการแนะนำให้ใช้เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์ เพลี้ยแป้งที่อาศัยตามซากมันสำปะหลังและวัชพืชที่ไถกลบลงดิน และเพลี้ยแป้งที่มาจากไร่มันสำปะหลังที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากการใช้สารเคมีจะทำให้ระบบนิเวศเกษตรสูญเสียความสมดุลไป โดยทำลายทั้งเพลี้ยแป้งและศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ยแป้งด้วย ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมี ควรใช้เมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรง โดยที่แมลงศัตรูธรรมชาติไม่อาจควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ ควรพ่นสารเคมีเฉพาะบริเวณที่ระบาดอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันมิให้เพลี้ยแป้งแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นอีก หรือใช้สารเคมีเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์



แนวทางการปลูกมันสำปะหลัง....แบบมีการให้น้ำเพื่อป้องกันเพลี้ยแป้ง
การระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรงในมันสำปะหลัง อาจนำไปสู่การลดลงของผลผลิตอย่างมหาศาลตามที่กล่าวข้างต้น จนทำให้ผู้ใช้วัตถุดิบในต่างประเทศปรับเปลี่ยนไปใช้ข้าวโพดแทนมันสำปะหลังก็ได้ ดังนั้น แนวทางระยะสั้นในการหามาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังที่น่าสนใจ ก็คือ การปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังแบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว มาเป็นการปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ ซึ่งสามารถใช้ได้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะการนำน้ำใต้ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปลูกมันสำปะหลัง จากรายงานผลการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 10 ตัน ต่อไร่ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินมาใช้ปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ เพื่อชดเชยผลผลิตที่ขาดหายไปจากการระบาดของเพลี้ยแป้ง และเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง โดยการให้น้ำเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะสมกับแมลงศัตรูพืชอย่างเพลี้ยแป้ง โดยพบว่าแมลงตัวห้ำและตัวเบียนมีปริมาณลดลงในช่วงแล้ง



การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำใต้ดิน
เป็นที่ทราบกันว่า แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีอยู่ด้วยกัน 3 แหล่ง คือ 1. น้ำที่ได้จากผิวดิน ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และทะเล 2. น้ำที่ได้จากใต้ดิน ได้แก่ น้ำที่ได้จากผิวดินซึมผ่านลงไปสะสมอยู่ในช่องว่างของดิน ทราย กรวด และโพรงของหินที่อยู่ใต้ดิน โดยน้ำใต้ดินจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและสภาพภูมิประเทศในบริเวณนั้น และ 3. น้ำที่ได้จากบรรยากาศ ได้แก่ น้ำที่ได้จากฝนตกเท่านั้น ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะในส่วนของแหล่งน้ำใต้ดิน สำหรับแหล่งน้ำใต้ดินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบ 2 ประเภท คือ 1. ขุดเป็นบ่อน้ำซับ เป็นน้ำใต้ดินที่อยู่ลึก ไม่ควรเกิน 5 เมตร จากผิวดิน สามารถขุดเป็นสระขนาดเล็ก เพื่อนำน้ำมาใช้ได้ โดยน้ำในบ่อจะซึมออกมาตลอดเวลา 2. ขุดเป็นบ่อน้ำบาดาล เป็นน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกมากกว่า 20 เมตร จากผิวดิน สามารถเจาะเป็นบ่อโพรงแล้วนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยน้ำในบ่อจะซึมออกมาตลอดเวลา



วิธีการให้น้ำกับมันสำปะหลัง
วิธีการให้น้ำพืชมี 4 วิธี ด้วยกัน คือ
1. การให้น้ำทางผิวดิน เป็นการให้น้ำแบบปล่อยให้ท่วมเป็นผืน กับการให้น้ำแบบท่วมร่อง
2. การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ เป็นการให้น้ำด้วยการพ่นน้ำออกจากหัวสปริงเกลอร์ขึ้นไปบนอากาศ แล้วให้เม็ดน้ำตกลงมาบนแปลงปลูกพืช โดยมีรูปทรงการแผ่กระจายของเม็ดน้ำที่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกับฝนตก
3. การให้น้ำแบบหยด เป็นการให้น้ำแก่พืชที่จุดใดจุดหนึ่งบนผิวดินในเขตบริเวณรากพืช โดยผ่านท่อน้ำหยด และ
4. การให้น้ำทางใต้ดิน เป็นการให้น้ำแก่พืชโดยการยกระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาให้สูงพอที่น้ำจะไหลซึมขึ้นมาสู่ระดับเขตรากพืช ได้แก่ การให้น้ำในคูและการให้น้ำไหลเข้าท่อที่ฝังไว้ใต้ดิน

สำหรับการให้น้ำกับมันสำปะหลัง ผู้เขียนมีความเห็นว่า การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์และแบบน้ำหยด น่าจะเป็นวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมกับมันสำปะหลัง โดยการให้น้ำทั้ง 2 วิธีการ สามารถเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับตัวพืช เพื่อให้พืชสามารถพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะสมกับแมลงศัตรูพืชอย่าง เพลี้ยแป้ง ข้อดีของการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์อีกประการหนึ่งคือ สามารถชะล้างและทำลายตัวเพลี้ยแป้งพร้อมถุงไข่ออกจากต้นมันสำปะหลังได้ด้วย การให้น้ำทั้ง 2 วิธี ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้



การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์
การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ น้ำที่พ่นขึ้นไปบนอากาศ แล้วให้เม็ดน้ำตกลงมา สามารถชะล้างและทำลายตัวเพลี้ยแป้งพร้อมถุงไข่ออกจากต้นมันสำปะหลังได้ การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์มีหลายแบบ ได้แก่ แบบหลายตัว แบบหัวเดียว แบบคานยื่น และแบบขนาดเล็ก การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ต้องมีส่วนประกอบดังนี้

1. เครื่องสูบน้ำ ทำหน้าที่สูบน้ำจากแหล่งน้ำแล้วดันออกไปตามท่อผ่านหัวพ่นออกสู่อากาศ โดยอาศัยกำลังจากมอเตอร์หรือเครื่องยนต์

2. ท่อประธาน ทำหน้าที่นำน้ำออกจากเครื่องสูบน้ำไปยังท่อแขนง อาจเป็นท่ออ่อนเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อแข็งเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อที่ติดตั้งถาวร

3. ท่อแขนง ทำหน้าที่นำน้ำออกจากท่อประธานไปยังหัวพ่น อาจเป็นท่ออ่อนเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อแข็งเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อที่ติดตั้งถาวร

4. หัวพ่น ทำหน้าที่พ่นน้ำออกเป็นฝอยคล้ายกับฝน หัวพ่นจะมี 2 รู โดยรูแรกพ่นน้ำออกไปไกล อีกรูหนึ่งพ่นน้ำในระยะใกล้

การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีแหล่งน้ำใต้ดินอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ขุดบ่อน้ำซับหรือเจาะน้ำบาดาล 1 บ่อ เพื่อใช้ปลูกมันสำปะหลัง ขนาด 10-15 ไร่ โดยติดตั้งระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์แบบใดก็ได้ ตามความสะดวกของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง



การให้น้ำแบบน้ำหยด
การให้น้ำแบบน้ำหยด เป็นการให้น้ำแก่พืชที่จุดใดจุดหนึ่งบนผิวดินในเขตบริเวณรากพืช โดยผ่านท่อน้ำหยด เป็นวิธีที่ไม่สามารถชะล้างและทำลายตัวเพลี้ยแป้งพร้อมถุงไข่ออกจากต้นมันสำปะหลังได้ แต่จะเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับตัวพืช เพื่อให้พืชสามารถพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การให้น้ำแบบน้ำหยดต้องมีส่วนประกอบ ดังนี้

1. เครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำส่งเข้าสู่ระบบน้ำหยด ต้องส่งน้ำให้มีแรงดัน อย่างน้อย 0.6 บาร์

2. ระบบส่งน้ำ ประกอบไปด้วย 1. ท่อประธาน เป็นท่อที่ต่อจากแหล่งน้ำ โดยวางไว้บนดินหรือฝังในดิน 2. ท่อรองประธาน เป็นท่อที่แตกจากท่อประธาน อาจใช้ท่อ พีวีซี หรือ พีอี ขนาด 30-50 มิลลิเมตร 3. ท่อน้ำหยด เป็นท่อที่แตกจากท่อรอง วางขนานกับแถวของพืช อาจใช้ท่อ พีวีซี หรือ พีอี ขนาด 12-20 มิลลิเมตร ยาวไม่เกิน 300 เมตร 4. หัวน้ำหยด เป็นหัวปล่อยน้ำอยู่ติดกับท่อน้ำหยด เป็นตัวควบคุมปริมาณการไหลของน้ำจากท่อน้ำหยดสู่ดิน ขนาดของรู 0.5-1.5 มิลลิเมตร

3. เครื่องกรอง จะทำหน้าที่กรองเอาเศษวัชพืช ใบไม้ ทราย ออกจากน้ำ ถ้าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ผ่านไป จะทำให้หัวน้ำหยดเกิดการอุดตัน เป็นสาเหตุให้ต้นพืชขาดน้ำแล้วชะงักการเจริญเติบโต

4. เครื่องควบคุมการจ่ายน้ำต้นทาง ทำหน้าที่ควบคุมการจ่ายน้ำทั้งระบบจากแหล่งน้ำไปสู่ระบบของการให้น้ำแบบหยด ประกอบด้วยประตูน้ำใหญ่ เครื่องวัดปริมาตรน้ำ เครื่องวัดแรงดันน้ำ เครื่องควบคุมแรงดัน ประตูป้องกันน้ำไหลกลับ และเครื่องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมี



การปลูกมันสำปะหลัง....แบบมีการให้น้ำ ต้องทำอย่างไร
เมื่อศึกษาโมเดลการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังในประเทศไทย พบว่า มันสำปะหลังจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง 6 เดือน คือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ดังนั้น การให้น้ำในช่วงฤดูแล้งก็เพื่อต้องการให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตและมีการสะสมอาหารในหัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การให้น้ำจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับมันสำปะหลัง ตลอดจนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียนของเพลี้ยแป้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติด้วย การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนรายละเอียด ดังนี้

1. การปรับปรุงดิน ควรทำ 3-5 ปี ต่อครั้ง 1. การไถระเบิดชั้นดินดานด้วยไถสิ่ว ลึกอย่างน้อย 60 เซนติเมตร โดยดินดานขัดขวางการแพร่กระจายของรากพืชและการแทรกซึมของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหรือไหลบ่ามากขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ขณะเดียวกันก็ทำให้พืชขาดแคลนน้ำในช่วงแล้ง 2. วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) เป็นที่ยอมรับว่า ดินที่มี pH สูงหรือต่ำเกินไป มีผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ควรปรับสภาพดินให้ pH อยู่ระหว่าง 6.5-7.5 ถ้าดินเป็นกรด ควรใส่ปูนจากหินปูนบด หรือหินฝุ่นจากโรงโม่หินปูน หรือปูนมาร์ล หรือโดโลไมท์ อัตรา 200 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยหว่านแล้วไถกลบก่อนปลูก ประมาณ 1 เดือน ข้อควรระวัง ห้ามใส่ปูนติดต่อกันหลายปี อาจมีผลให้ดินอยู่ในสภาพเกินปูนหรือเป็นด่าง แก้ไขยาก 3. ปลูกพืชบำรุงดิน ได้แก่ ถั่วพร้า โสนอินเดีย หรือปอเทือง ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดขณะออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน โดยให้น้ำหนักสด 3-4 ตัน ต่อไร่ คิดเป็นธาตุไนโตรเจน 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ 4. การป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยการปลูกพืชบางชนิดเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่ เช่น ปลูกแฝกเป็นแถวกำแพงเพื่อลดแรงไหลบ่าของน้ำและช่วยกักตะกอนดิน ป้องกันการสูญเสียดินและน้ำ 5. เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินด้วยการเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก วัสดุอินทรีย์ และการไถกลบซากมันสำปะหลังลงสู่ดิน

2. การเลือกฤดูปลูก เมื่อศึกษาโมเดลการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง พบว่า มันสำปะหลังจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง 6 เดือน คือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ดังนั้น การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ต้องปลูกในช่วงต้นฤดูร้อน คือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ซึ่งในช่วงนี้ความเข็มของแสงจะสูงและท้องฟ้าไม่มีเมฆบังแสง ทำให้พืชสามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย มีการให้น้ำในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโต ตั้งแต่อายุ 1-3 เดือน และให้น้ำเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตและสะสมอาหารในหัวอย่างต่อเนื่อง ตามที่กล่าวข้างต้น

3. การเลือกพันธุ์ ปัจจุบัน ยังไม่มีพันธุ์ที่ทนทานต่อเพลี้ยแป้ง แต่ควรเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมตามชนิดของดิน โดย 1. ดินทรายร่วน ใช้พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 2. ดินร่วนปนทราย ใช้พันธุ์ระยอง 7 ระยอง 9 ระยอง 90 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 3. ดินร่วนปนเหนียว ใช้พันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และห้วยบง 60 4. ดินเหนียวสีน้ำตาลหรือแดง ใช้พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72 และ 5. ดินเหนียวสีดำ ใช้พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72

4. การเตรียมดิน ควรหว่านปุ๋ยอินทรีย์ก่อนเตรียมดิน อัตรา 1-2 ตัน ต่อไร่ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน แล้วไถดะครั้งแรกให้ลึกในขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะด้วยผาล 3 หรือผาล 4 แล้วตากดินนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อทำลายหรือลดปริมาณไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งที่หลงเหลือในดิน จากนั้นก็ไถแปรเพื่อย่อยดินด้วยผาล 7 แล้วยกร่องพร้อมปลูกโดยยึดหลักการที่ว่าต้องทำให้ฐานร่องปลูกใหญ่เพียงพอ เพื่อรองรับขนาดของหัวที่โตขึ้นได้ ถ้าฐานร่องปลูกเล็กจะไปจำกัดการโตของหัว แต่ถ้าหัวโผล่พ้นดินจะมีผลทำให้หัวหยุดการเจริญเติบโตทันที โดยทั่วไป ระยะร่องปลูกควรห่างกันอย่างน้อย 1.20 เมตร ระยะต้นตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตั้งแต่ 0.80-1.20 เมตร

5. การเตรียมท่อนพันธุ์ เลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงปราศจากโรคและแมลง อายุ 10-14 เดือน ใช้ต้นสดหรือตัดต้นกองทิ้งไว้ไม่เกิน 10 วัน ก่อนปลูก ความยาวของท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ไม่ควรตัดท่อนพันธุ์ยาวกว่านี้ เพราะไม่ช่วยให้มันสำปะหลังโตและคลุมวัชพืชได้เร็วขึ้น การตัดท่อนพันธุ์ควรใช้เลื่อยที่คมตัดเป็นมัด หรือใช้มีดที่คมตัดทีละต้น โดยตัดแบบตรงหรือตัดแบบเฉียงก็ได้ หลังจากนั้น ควรแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีไทอะมีโทแซม (25%WG) หรือ อิมิดาโคลพริด (70% WG) อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน (10% WG) อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร นานประมาณ 5-10 นาที นำไปผึ่งลมในที่ร่มให้แห้งก่อนนำไปปลูก สามารถฆ่าเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์ได้ และยังป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งหลังปลูกได้อีกประมาณ 1 เดือน

6. เทคนิคการปลูก หลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้วไม่ควรรบกวนดิน หรือรบกวนให้น้อยครั้งที่สุด การรบกวนดินมีผลทำให้ดินแน่น ซึ่งจะไปจำกัดการแพร่กระจายของราก และการลงหัวของมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังไปรบกวนการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตในดินด้วย ดังนั้น การกระตุ้นให้มันสำปะหลังแตกทรงพุ่มใบเพื่อคลุมวัชพืชได้เร็ว ด้วยการรองพื้นก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพ พด. 12 ร่วมกับการพ่นสารเคมีคุมวัชพืชก่อนงอกและการให้น้ำในช่วงแรกของการเจริญเติบโต

7. การกำจัดวัชพืช หลังจากปลูกมันสำปะหลังเสร็จแล้ว พ่นสารเคมีคุมวัชพืชก่อนงอก โดยไม่ควรเกิน 3 วันหลังจากปลูก หรือพ่นสารเคมีคุมวัชพืชก่อนที่ตาของท่อนปลูกจะงอก สารเคมีประเภทคุมใช้ได้ผลเฉพาะการปลูกต้นฤดูฝนเท่านั้น เพราะต้องมีความชื้นของดินเป็นตัวนำพาสารเคมีไปสู่เมล็ดวัชพืช และไม่มีเศษวัชพืชขัดขวางการแพร่กระจายของสารเคมี หลังจากการพ่นสารเคมีประเภทคุมวัชพืชก่อนงอกแล้ว ถ้ามีวัชพืชขึ้นอีกต้องใช้สารเคมีประเภทฆ่าหลังวัชพืชงอก สารเคมีประเภทฆ่าโดยเฉพาะห้ามใช้ไกลโฟเสทในขณะที่มันสำปะหลังต้นเล็กอยู่ เพราะมีผลทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

8. การใส่ปุ๋ย ต้องใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับมันสำปะหลัง โดยปุ๋ยเคมีต้องใช้ในขณะที่ดินมีความชื้นและต้องกลบปุ๋ยด้วย การใส่ปุ๋ยเคมีควรเลือกใช้ อัตราส่วน 2:1:2 ปุ๋ยเคมีที่แนะนำ คือ 15-7-18 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใส่ตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยใส่ปุ๋ย 2 ข้างลำต้นรัศมีพุ่มใบแล้วกลบ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวเมื่ออายุ 1 เดือน หลังจากปลูก หรือแบ่งใส่ด้วยการรองก้นหลุมก่อนปลูก และใส่อีกครั้งเมื่ออายุ 1-2 เดือน หลังปลูก ส่วนปุ๋ยอินทรีย์แนะนำให้ใช้รองพื้นหรือรองก้นหลุมปลูก โดยในดินทรายร่วนและดินร่วนปนทราย ใช้อัตรา 2 ตัน ต่อไร่ ดินร่วนปนเหนียว ดินเหนียวสีน้ำตาลหรือแดง และดินเหนียวสีดำ ใช้อัตรา 1 ตัน ต่อไร่ สำหรับปุ๋ยชีวภาพแนะนำให้ใช้ พด.12 อัตรา การใช้ปุ๋ยชีวภาพขยายเชื้อ 300 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถทำปุ๋ยชีวภาพขยายเชื้อได้ โดยใช้ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม รำข้าว 3 กิโลกรัม ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 จำนวน 1 ซอง หนัก 100 กรัม คลุกเคล้ารวมกันโดยมีความชื้นพอเหมาะ ใช้เวลาในการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ 4 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้ โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์

9. การเก็บเกี่ยว ควรเลือกเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงที่เหมาะสม ตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุมากกว่า 12 เดือน หรือใกล้เคียงปีครึ่ง จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับเก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน โดยไม่เสียต้นทุนในการปลูกใหม่อีกครั้ง หัวมันสำปะหลังที่อายุเกิน 18 เดือน ไปแล้ว จะให้ปริมาณแป้งในหัวสดต่ำ คุณภาพของแป้งไม่ได้มาตรฐาน มีปริมาณเส้นใยสูง และหัวบางส่วนเริ่มเน่าแล้ว



บทสรุป

สถานการณ์เพลี้ยแป้งที่ได้แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นมหันตภัยต่อมันสำปะหลัง หากทุกภาคส่วนไม่สามารถหามาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างได้ผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าแนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังที่น่าสนใจก็คือ การปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังแบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวมาเป็นการปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ การปลูกมันสำปะหลังแบบนี้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 10 ตัน ต่อไร่ เป็นการชดเชยผลผลิตที่ขาดหายไปจากการระบาดของเพลี้ยแป้ง นอกจากนี้ การให้น้ำยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงศัตรูเพลี้ยแป้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า แมลงหางหนีบ และแมลงศัตรูเพลี้ยแป้งนำเข้า อย่างเช่น แตนเบียน Anagyrus lopezi จากประเทศเบนิน ในทวีปแอฟริกา ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนควรส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนำน้ำใต้ดินที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้เพื่อผลิตมันสำปะหลังในภาวะวิกฤตการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้ง




บรรณานุกรม

กรมพัฒนาที่ดิน. 2547. การใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในไร่นา. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. กรุงเทพมหานคร.

พงษ์ศักดิ์ ชลธนสวัสดิ์. 2548. ข้อควรรู้ในการให้น้ำพืช. ภาควิชาเกษตรกลวิธาน. คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม.

โอภาษ บุญเส็ง. 2552. ต้นแบบของการผลิตมันสำปะหลังในดินชุดหลัก. หนังสือพิมพ์กสิกร 82 (1) : 15-28

โอภาษ บุญเส็ง. 2553. เพลี้ยแป้ง...มหันตภัยต่อมันสำปะหลัง. เทคโนโลยีชาวบ้าน 22 (471) : 36-42

Harren, H.R. and Neuenschwander, P. 1991. Bio-logical control of cassava pests in Africa Annual

Review of Entomology 36 : 257-283.

Lohr, B. and Varela, A.M. 1 990. Exploration for natural enemies of the cassava mealybugs

Phenococcs manihoti (Homopera: Pseudococcidea) in South America for the biological control of

this introduced pest in Africa. Bulletin of Entomological Research 80 : 417-425.

Williams, D.J. and Granara de Willink, M.C. 1992. Mealybugs of Central and South America. CAB International, Wallingford.




ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน




 







หน้าก่อน หน้าก่อน (1/2)


สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2009-07-16 (7977 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©