-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 501 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

แตงกวา





แตงกวา

แตงกวามีจำนวนโครโมโซม 2n = 14 เป็นพืชผสมข้ามตามธรรมชาติโดยอาศัยลมและแมลง แต่พบอัตราการผสมตัวเอง 1-47 เปอร์เซ็นต์ โดยธรรมชาติมีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกดอกแต่อยู่ภายในต้นเดียวกัน เป็นพืชฤดูเดียว เถาเลื้อยหรือขึ้นค้าง

ระบบรากเป็นระบบรากแก้ว (tap root system) รากแขนงเป็นจำนวนมาก รากสามารถแผ่ทางด้านกว้างและหยั่งลงได้ลึกถึง 1 เมตร

ลำต้นเป็นเถาเลื้อย เป็นเหลี่ยม มีขนขึ้นปกคลุมทั่วไป มีข้อยาว 10-20 ซม. มือเกาะเกิดออก มาตามข้อ โดยส่วนปลายของมือเกาะไม่มีการแตกแขนงเป็นหลายเส้น ใบมีก้านใบยาว 5-15 ซม. ใบหยาบมีขนใบมีมุมใบ 3-5 มุม ปลายใบแหลม ใบใหญ่แบบ palmate มีเส้นใบ 5-7 เส้น

ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวเกิดจากบริเวณมุม ใบหรือข้อมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ รังไข่มีลักษณะกลมยาว 2-5 ซม. มีปุ่มนูนของหนามและขนชัดเจน ส่วนของยอดเกสรตัวเมียมี 2-5 แฉก ส่วนดอกเพศผู้อาจเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศเมีย ละอองเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีก้านชูเกสรสั้น ๆ ดอกเพศเมียและ

ดอกเพศผู้บานในตอนเช้าและพร้อมรับการผสมเกสรดอกจะหุบ ตอนบ่ายภายในวันเดียวกัน
การเกิดดอกตัวเมียนั้นขึ้นอยู่กับช่วง แสงและอุณหภูมิกล่าว คือ จะเกิดดอกตัวเมียมากกว่าดอกตัวผู้ ในสภาพช่วงแสงสั้นและมีอุณหภูมิกลางคืนต่ำ ซึ่งตรงกับฤดูหนาวของเมืองไทย

ผลของแตงกวามีลักษณะกลมยาวทรงกระบอก ความยาวผลระหว่าง 5-40 ซม. มีไส้ภายในผล และในปัจจุบันพันธุ์การค้าในต่างประเทศมีการปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถติดผลได้ โดยไม่ได้รับการผสมเกสร (parthenocarpic type) โดยภายในผลไม่มีไส้ เนื้อกรอบ และน้ำหนักต่อผลสูงนิยมทั้งบริโภคผลสดแปรรูป สีผลมีสีขาว เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้มดำ สีหนามสีขาว แดง น้ำตาล และดำ 



แตงกวาสามารถจำแนกได้ตามประโยชน์การใช้สอยดังนี้

1. พันธุ์สำหรับรับประทานสด
เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อบางและไส้ใหญ่ สีเปลือกเป็นสีเขียวอ่อน ผลมีน้ำมากเป็นพันธุ์ที่มีทั้งผลเล็กและผลใหญ่ เมื่อผลยังอ่อนอยู่จะมีหนามเต็มไปหมด แต่เมื่อโตเต็มที่หนามจะหลุดออกเอง พันธุ์รับประทานสดนี้ไม่เหมาะกับการนำไปดอง แตงกวารับประทานสดแบ่งตามขนาดของผลนั้น แบ่งได้เป็น

1.1 แตงผลยาว (long cucumber) ที่รู้จักกันในชื่อของ แตงร้าน  ซึ่งมีความยาวผลอย่างน้อย 15 ซม. และมีความกว้างผลมากกว่า 2.5 ซม. ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหนาไส้แคบ กรณีที่เป็นพันธุ์ของไทยนั้น จะมีสีผลสีเขียวแก่ตรงส่วนใกล้ขั้วผลประมาณ 1/3 - ผ ของผลที่เหลือมีจุดประสีเขียวอ่อนหรือขาว และเส้นสีขาวเป็นแถบเล็ก ๆ ตลอดความยาวไปถึงปลายผล ส่วนพันธุ์ของต่างประเทศนั้น จะมีสีเขียวเข้มสม่ำเสมอทั้งผล

1.2 แตงผลสั้น (short cucumber) ที่รู้จักกันในชื่อของแตงกวา ซึ่งมีความยาวผล 8-12 ซม. และมีความกว้างผลมากกว่า 2.5 ซม. ส่วนใหญ่จะมีเนื้อน้อยไส้กว้าง

2. พันธุ์อุตสาหกรรม
เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อหนา ไส้เล็ก บางพันธุ์ก็ไม่มีไส้เลย เปลือกสีเขียวเข้ม เมื่อนำไปดองจะคงรูปร่างได้ดี ไม่ค่อยเหี่ยวย่น แตงกวาพันธุ์นี้มักจะเป็นลูกผสม ผลมักมีรูปร่างผอมยาว ซึ่งแบ่งตามขนาดได้ดังนี้ 2.1 แตงผลยาว (long cucumber) เป็นแตงชนิดที่ใช้ทำแตงดองของญี่ปุ่นและจีนซึ่งจะต้องมีความยาวผล 20-30 ซม. และมีความกว้างผล 2-3 ซม. มีเนื้อหนาไส้แคบผิวสีเขียวเข้มตลอดความยาวของผล มักใช้ดองโดยมีการใช้น้ำปรุงรสด้วยส่วนผสมของซีอิ้ว 2.2 แตงผลสั้น (short cucumber) เป็นแตงชนิดที่ใช้ทำแตงดองของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งมีความยาว 8-12 ซม. และมีความกว้างผล 1.0-5.1 ซม. โดยทั่วไปจะมีอัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง (L/D ratio) มีค่าอยู่ระหว่าง 2.8-3.1 มีเนื้อหนาและแน่น ไส้แคบ ผิวสีเขียวเข้มตลอดความยาวของผล มักใช้ดองทั้งผล ผ่าตามความยาวและหั่นเป็นชิ้น ๆ ตามความกว้างของผลมักดองโดยมีการใช้น้ำปรุงรสด้วยส่วนผสมของซีอิ้ว

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส สามารถเจริญเติบโตได้ผลดีระหว่างอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางวัน 22-28 องศาเซลเซียส แตงกวาจะชะงักการเจริญเติบโต สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการผสมเกสรนั้นอยู่ระหว่าง 17-25 องศาเซลเซียส

แตงกวาเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากแต่ขาดน้ำไม่ได้ โครงสร้างของดินที่ปลูกแตงกวาควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ควรมีความเป็นกรด ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ในสภาพดินที่เป็นดินทรายจัด หรือเหนียวจัด จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดินก่อนการปลูก โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วและสภาพความเป็นกรดด่างนั้น ควรจะวิเคราะห์หาค่าความต้องการปูนก่อนที่จะใช้ปูนขาวเพื่อให้มีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

การเตรียมดิน
ก่อนการปลูกแตงกวา ไถพรวนดินตากไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อทำลายวัชพืช และศัตรูพืชบางชนิดที่อยู่ในดิน จากนั้นจึงไถพรวนเก็บเอาเศษวัชพืชออก แล้วเตรียมแปลงขนาดกว้าง 1-1.2 เมตร โดยมีความยาวตามลักษณะของพื้นที่ แล้วจึงใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไป ปรับโครงสร้างของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแตงกวา การเตรียมหลุมปลูกนั้นควรกำหนดระยะระหว่างต้น ประมาณ 60-80 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 1 เมตร สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นนั้นอาจใช้สูตร 15-15-15 ในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ในบางแหล่งอาจใช้ พลาสติกคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดิน ป้องกันความงอกของวัชพืช และพลาสติกบางชนิดสามารถที่จะไล่แมลงไม่ให้เข้ามาทำลายแตงกวาได้

การเตรียมพันธุ์
ขั้นตอนการเตรียมพันธุ์ นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการปลูกแตงกวา ซึ่งพอแบ่งได้ดังนี้
1. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์แตงกวา ควรคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ ซื้อจากร้านค้าให้เลือกซื้อจากร้านที่เชื่อถือ มีการบรรจุหีบห่อ เมล็ดที่สามารถป้องกันความชื้น หรืออากาศ จากภายนอกเข้าไปได้ ลักษณะเมล็ดแตงกวาควรมีการคลุกสารเคมี เพื่อป้องกันศัตรูพืชที่อาจติดมากับเมล็ด และก่อนใช้เมล็ดทุกครั้งควรทำการทดสอบความงอกก่อน

2. การเตรียมดินเพาะกล้า อัตราส่วน  ดิน : ปุ๋ยคอก 3:1 และ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อต้นกล้า 1 ไร่ คลุกให้เข้ากัน แล้วบรรจุลงในถุงพลาสติกขนาด 6x10 เซนติเมตร เพื่อเตรียมสำหรับหยอดเมล็ดแตงกวาต่อไป

3. ทำการบ่มเมล็ด โดยนำเมล็ดบรรจุถุงพลาสติกที่เจาะรูพรุน แช่ในสารละลายเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เช่น แคปเทน ออโธไซด์ ผสมอัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แช่เมล็ดนาน 30 นาที เพื่อทำลายเชื้อราที่ผิวเมล็ด จากนั้นนำมาแช่น้ำ 4 ชั่วโมง แล้วจึงบ่มในผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น บ่มในสภาพอุณหภูมิห้องนาน 24 ชั่วโมง หลังจากรากงอกยาว 0.5 เซนติเมตร จึงนำไปเพาะต่อไป

4. การหยอดเมล็ดลงถุง นำเมล็ดที่ได้บ่มไว้หยอดลงแต่ละถุง จำนวนถุงละ 1 เมล็ด แล้วใช้ดินผสมหยอดกลบบางประมาณ 1 เซนติเมตร

การดูแลรักษากล้า
หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ให้น้ำทันที โดยวิธีการฉีดพ่นให้เป็นฝอยละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปริมาณน้ำที่ให้นั้นไม่ควรให้ปริมาณที่มากเกินไป ในช่วงฤดูร้อน ควรจะให้วันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้ตรวจดูความชื้นก่อนการให้น้ำทุกครั้ง ถุงเพาะกล้านี้ควรเก็บไว้ในที่แดดไม่จัดหรือมีการใช้วัสดุกันแสงไม่ให้มากระทบต้นกล้ามากเกินเกินไปเมื่อแตงกวา เริ่มงอกให้หมั่นตรวจดูความผิดปกติของต้นกล้าเป็นระยะ ๆ หากมีการระบาดของแมลงหรือโรคพืช ต้องรีบกำจัดโดยเร็ว และเมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 3-4 ใบ จะอยู่ในระยะพร้อมที่จะย้ายปลูก


การปลูก
วิธีการปลูกแตงกวานั้น พบว่ามีการปลูกทั้งวิธีการหยอดเมล็ดโดยตรงและเพาะกล้าก่อนแล้วย้ายปลูก การหยอดเมล็ดโดยตรงนั้นอาจจะมีความสะดวกในการปลูก แต่มีข้อเสียคือสิ้นเปลืองเมล็ด หากใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมซึ่งมีราคาแพงแล้ว จะเกิดความสูญเสียเปล่าและเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต รวมทั้งวิธีการหยอดเมล็ดนี้จำเป็นที่จะต้องดูแลระยะเริ่มงอกในพื้นที่กว้าง ดังนั้นการใช้วิธีการเพาะกล้าก่อน จึงมีข้อดีหลายประการ อาทิเช่น ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ดูแลรักษาง่าย ต้นกล้ามีความสม่ำเสมอ ประหยัดค่าแรงงานในระยะกล้า เป็นต้น สำหรับการย้ายกล้าปลูกนั้น ให้ดำเนินการตามกระบวนการเพาะกล้าตามที่กล่าวแล้ว และเตรียมหลุมปลูกตามระยะที่กำหนด จากนั้นนำต้นกล้าย้ายปลูกลงในหลุม ตามระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวตามที่ได้กำหนดไว้ โดยการฉีกถุงพลาสติกที่ใช้เพาะกล้าออกแล้วย้ายลงในหลุมปลูก ช่วงเวลาที่จะย้ายกล้านั้นควรย้ายช่วงประมาณเวลา 17.00 น. จะทำให้ปฏิบัติงานในไร่นาได้สะดวกและต้นกล้าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

การให้น้ำ
หลังจากย้ายกล้าปลูกแล้ว ต้องให้น้ำทันที ระบบการให้น้ำนั้นอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ แต่ระบบที่เหมาะสมกับแตงกวา คือการให้น้ำตามร่อง เพราะว่าจะไม่ทำให้ลำต้น และใบไม่ชื้น ลดการลุกลามของโรคพืชทางใบ ช่วงเวลาการให้น้ำในระยะแรกควรให้ 2-3 วันต่อครั้งและเมื่อต้นแตงกวา เริ่มเจริญเติบโตแล้วจึงปรับช่วงเวลาการให้น้ำให้นานขึ้น ข้อควรคำนึงสำหรับการให้น้ำนั้น คือ ต้องกระจายในพื้นที่สม่ำเสมอตลอดแปลง และตรวจดูความชื้นในดินไม่ให้สูงเกินไปจนกลายเป็นแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่าได้

การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยในแตงกวานั้น อาจแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้ 1. ระยะเตรียมดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตันต่อไร่ และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตราประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ 2. หลังย้ายปลูกประมาณ 7 วัน ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจน เช่น ยูเรีย หรือ แอมโมเนียซัลเฟต ในอัตราประมาณ 20 กิโลกรัมต่อไร่ 3. ระยะแตงกวาออกดอก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 25 วัน หลังจากย้ายกล้า ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตรา ประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ 


อายุการเก็บเกี่ยวของแตงกวานับจากวันปลูกประมาณ 30-40 วัน แล้วแต่พันธุ์แตงกวาสำหรับบริโภคสด ควรเลือกเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่เนื้อแน่นกรอบ และสังเกตได้จากมีนวลสีขาวเกาะและยังมีหนามอยู่บ้าง ถ้าผลแก่นวลจะจางหาย สีผลเริ่มเป็นสีเหลือง และไม่มีหนาม การเก็บแตงกวาควรทยอยเก็บวันเว้นวัน ไม่ปล่อยให้แก่คาต้น เพราะจะทำให้ผลผลิตทั้งหมดลดลง โดยปกติจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 1 เดือน

 

ในแตงกวานั้นมีศัตรูที่ทำลายแตงกวาแบ่งได้ คือ แมลงศัตรูแตง แตงกวานั้นเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่มี แมลงศัตรูเข้าทำลายมาก และที่พบบ่อยและทำความเสียหายกับแตงกวามาก ได้แก่

1. เพลี้ยไฟ (Thrips : Haplothrips floricola)

ลักษณะ เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลแก่ พบตามยอดใบอ่อน ดอก และผลอ่อน
การทำลาย ดูดน้ำเลี้ยงที่ใบ ดอกอ่อน และยอดอ่อน ทำให้ใบม้วนหงิกงอ รูปร่างผิดปกติเป็นกระจุก มีสีสลับเขียวเป็นทาง ระบาดมากในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งฝนทิ้งช่วง นับเป็นแมลงที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการปลูกแตงกวา

การป้องกันกำจัด ให้น้ำเพิ่มความชื้นในแปลงปลูก โดยให้น้ำเป็นฝอยตอนเช้าและตอนเย็น จะช่วยลดปัญหาของเพลี้ยไฟได้ ใช้สารฆ่าแมลง คือ สารคาร์โบฟูราน ได้แก่ ฟูราดาน 3 จี หรือ คูราแทร์ 3 จี 1 ช้อนชาต่อหลุม ใส่พร้อมกับการหยอดเมล็ด จะป้องกันได้ประมาณ 2 สัปดาห์ กรณีที่เริ่มมีการระบาดให้ใช้สารฆ่าแมลง ได้แก่ พอสซ์เมซูโรล แลนเนท ไดคาร์โซล ออลคอล อะโซดริน โตกุไทออน หรือทามารอน เป็นต้น

2. เพลี้ยอ่อน (Alphids: Aphids gossypii)

ลักษณะ เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวคล้ายผลฝรั่ง มีท่อเล็ก ๆ ยื่นยาวออกไปทางส่วนท้ายของลำตัว 2 ท่อน เป็นแมลงปากดูด ตัวอ่อนสีเขียว ตัวแก่สีดำและมีปีก
การทำลาย ดูดน้ำเลี้ยงที่ใบและยอดอ่อน ทำให้ใบม้วน ต้นแคระแกร็น และยังเป็นพาหนะนำไวรัสด้วย มักระบาดมากในช่วงอากาศร้อนและแห้งซึ่งเป็นตอนที่พืชขาดน้ำ โดยมีมดเป็นตัวนำหรือการบินย้ายที่ของตัวแก่
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงเช่นเดียวกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ

3. ไรแดง (Red spider mites: Tetranychus spp.)

ลักษณะ ไม่ได้เป็นแมลงแต่เป็นสัตว์ที่มีขา 8 ขา มีขนาดเล็กมาก มองเห็นเป็นจุดสีแดง
การทำลาย ดูดน้ำเลี้ยงที่ใบและหยอดอ่อนทำให้ใบเป็นจุดด่างมีสีซีด โดยจะอยู่ใต้ใบเข้าทำลายร่วมกับเพลี้ยไฟ และเพลี้ยอ่อน มักระบาดมากในช่วงอากาศร้อนและแห้งซึ่งเป็นตอนที่พืชขาดน้ำ
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีกำจัดไร ได้แก่ เคลเทน ไตรไทออน หรือ โอไมท์ เป็นต้น

4. เต่าแตงแดง (Red cucurbit beetle: Aulacophora simills) และเต่าแตงดำ (Black cucurbit beetle: A. frontalis)

ลักษณะ เป็นแมลงปีกแข็ง ปีกมีสีส้มแดงและสีดำเข้ม ตัวมีขนาดเล็กยาวประมาณ 0.5-0.8 ซม. อาศัยอยู่ตามกอข้าวที่เกี่ยวแล้วในนา หรือตามกอหญ้า
การทำลาย กัดกินใบตั้งแต่ระยะใบเลี้ยงจนกระทั่งต้นโต ทำให้เป็นแผลและเป็นพาหะของโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียด้วย ตัวเมียวางไข่บริเวณโคนต้น ตัวหนอนกัดกินราก
การป้องกันกำจัด ควรทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลง รวมทั้งเศษซากแตงหลังการเก็บเกี่ยว ใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ เซฟวิน คาร์โบน๊อกซี-85 หรือ ไบดริน หรือใช้สารเคมีชนิดเม็ด เช่น ฟูราดาน 3 จี หรือคูราแทร์ 3 จี ใส่หลุมปลูกพร้อมกับการหยอดเมล็ด จะป้องกันเต่าแตงได้ประมาณ 2 สัปดาห์

5. หนอนกินใบแตง (Leaf eating caterpilla: Palpita indica) และหนอนไถเปลือกหรือหนอนเจาะผล (Fruit boring caterpillar: Helicoverpa armigera)

ลักษณะ หนอนกัดกินใบแตง มีรูปร่างเรียวยาวประมาณ 2 ซม. สีเขียวอ่อน ตรงกลางสันหลังมีเส้นแถบสีขาวตามยาว 2 เส้น หนอนตัวโตเต็มวัยเป็นผีเสื้อที่มีปีกโปร่งใสตรงกลาง ส่วนหนอนเจาะผลมีขนาดใหญ่กว่า ลำตัวยาวสีเขียวอ่อนถึงสีน้ำตาลดำ มีรอยต่อปล้องชัดเจน
การทำลาย กัดกินใบ ไถเปลือกเป็นแผลและเจาะผลเป็นสาเหตุให้โรคอื่น ๆ เข้าทำลายต่อได้ เช่น โรคผลเน่า
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี เช่น อโซดริน แลนเนท ทามารอน โตกุไทออน บุก หรือ อะโกรน่า เป็นต้น



แตงกวามีโรคที่เป็นศัตรูสำคัญ ได้แก่
1. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew) หรือที่เกษตรกรนิยมเรียกว่าโรคใบลาย เกิดจากเชื้อ Psudoperonospora
ลักษณะอาการ เริ่มเป็นจุดสีเหลืองบนใบ แผลนั้นจะขยายออกเป็นเหลี่ยมในระหว่างเส้นใบ ถ้าเป็นมาก ๆ แผลลามไปทั้งใบทำให้ใบแห้งตาย ในตอนเช้าที่มีหมอกน้ำค้างจัดช่วงหลังฝนตกติดต่อกันทำให้มีความชื้นสูง ในบริเวณปลูก จะพบว่าใต้ใบตรงตำแหน่งของแผลจะมีเส้นใยสีขาวเกาะเป็นกลุ่มและมีสปอร์เป็นผงสีดำ
การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดแตงด้วยสารเคมีเอพรอน หรือริโดมิลเอ็มแซดก่อนปลูกหรือจะนำเมล็ดมาแช่สารเคมีที่ละลายน้ำเจือจางเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก็ได้ เมื่อมีโรคระบาดในแปลงและในช่วงนั้นมีหมอกและน้ำค้างมาก ซึ่งควรฉีด Curzate M8, Antrachor สลับกันเพื่อป้องกันการดื้อสารเคมีของเชื้อ

2. โรคใบด่าง (Mosaic)
เชื้อสาเหตุ Cucumber mosaic virus
ลักษณะอาการ ใบด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อนหรือด่างเขียวสลับเหลืองเนื้อใบตะปุ่มตะป่ำ มีลักษณะนูนเป็นระยะ ๆ ใบหงิกเสียรูปร่าง
การป้องกันกำจัด ในปัจจุบันยังไม่มีการใช้สารเคมีหรือวิธีการใด ๆ ที่จะลดความเสียหายเมื่อโรคนี้ระบาด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดขณะนี้คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น เลือกแหล่งปลูกที่ปลอดจากเชื้อไวรัส อาจทำได้โดยเลือกแหล่งปลูกที่ไม่เคยปลูกผักตระกูลแตงมาก่อนและทำความสะอาดแปลงปลูกพร้อมทั้งบริเวณใกล้เคียงให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของเชื้อและแมลงพาหะ

3. โรคผลเน่า (Fruit rot)
เชื้อสาเหตุ Pythium spp., Rhizoctonia solani, Botrytis cinerea
ลักษณะอาการ มักเกิดกับผลที่สัมผัสดิน และผลที่แมลงกัดหรือเจาะทำให้เกิดแผลก่อน จะพบมากในสภาพที่เย็นและชื้น กรณีที่เกิดจากเชื้อพิเที่ยมจะเป็นแผลฉ่ำน้ำเริ่มจากส่วนปลายผล ถ้ามีความชื้นสูงจะมีเส้นใยฟูสีขาวขึ้นคลุม กรณีที่เกิดจากเชื้อไรซ๊อกโทเนียจะเป็นแผลเน่าฉ่ำน้ำบริเวณผิวของผลที่สัมผัสดิน แผลจะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลแก่และมีรอยฉีกของแผลด้วย ส่วนกรณีที่เกิดจากเชื้อโบทริทิ่สนั้น บริเวณส่วนปลายของผลที่เน่า จะมีเชื้อราขึ้นคลุมอยู่
การป้องกันกำจัด ทำลายผลที่เป็นโรค อย่าให้ผลสัมผัสดิน ป้องกันไม่ให้ผลเกิดบาดแผล

4. โรคราแป้ง (Powdery mildew)

เชื้อสาเหตุ Oidium sp.
ลักษณะอาการ มักเกิดใบล่างก่อนในระยะที่ผลโตแล้ว บนใบจะพบราสีขาวคล้ายผงแป้งคลุมอยู่เป็นหย่อม ๆ กระจายทั่วไป เมื่อรุนแรงจะคลุมเต็มผิวใบทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วแห้งตาย การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี เช่น เบนเลท เดอโรซาล Diametan หรือ Sumilex ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาด
 
ข้อมูล :  กรมวิชาการเกษตร

*************************************************************
ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์ใจ กัญชนะ

แตงกวา พืชผักคู่ครัวคนไทย ปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี ที่เชียงใหม่

"แตงกวา" เป็นพืชผักที่คุ้นเคยกันดีสำหรับคนไทย ช่วยชูรสอาหารให้มีความอร่อย โดยเฉพาะอาหารรสจัดจ้านใช้เป็นเครื่องเคียงดับความเผ็ดร้อนของอาหารได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่ามื้อไหนๆ มี "แตงกวา" เป็นเครื่องเคียงด้วยแล้ว มื้อนั้นเป็นอาหารเลิศรสเลยทีเดียว ดังนั้น แตงกวา จึงเป็นพืชผักที่คู่ครัวคนไทยมาช้านาน กอปรกับปัจจุบัน แตงกวา ไม่ใช่เพียงเครื่องเคียงอาหารในครัวคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนประกอบอาหารของนานาชาติอีกด้วย แตงกวาจึงเป็นพืชที่มีความสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกยังต่างประเทศอีกด้วย

คุณสมจิตต์ บุญมาวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเขตภาคเหนือ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด เล่าถึงลักษณะของแตงกวาว่า "แตงกวาเป็นพืชที่มีระบบรากแก้วและรากแขนงเป็นจำนวนมากแผ่กว้าง ลำต้นแบบเถาเลื้อยเป็นเหลี่ยม ผิวขรุขระ มีหนาม ใบใหญ่และหยาบ เป็นรูปฝ่ามือ ดอกมีทั้งดอกตัวผู้ ตัวเมีย แยกกันแต่อยู่บนต้นเดียวกัน แตงกวาสามารถเจริญเติบโต้ได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางวัน ระหว่าง 22-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางคืน อยู่ระหว่าง 17-18 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส แตงกวาจะชะงักการเจริญเติบโต อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการงอกของเมล็ดอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิและช่วงแสงมีอิทธิพลต่อการแสดงเพศของดอกแตงกวา ถ้าอุณหภูมิต่ำและวันสั้น เช่น ในช่วงฤดูหนาวจะมีอิทธิพลต่อการแสดงดอกเพศเมีย อุณหภูมิสูงและวันยาวมีอิทธิพลต่อการแสดงดอกเพศผู้ ดอกแตงกวาจะบานในช่วงเช้า อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการผสมเกสรอยู่ระหว่าง 17-25 องศาเซลเซียส แตงกวาชอบแสงแดดตลอดวัน เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ถ้าเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.5-6.8 แตงกวาจะให้ผลผลิตดีที่สุด"

คุณอินถา รัตนัง เกษตรกรผู้ปลูกแตงกวา อยู่บ้านเลขที่ 100/1 หมู่ที่ 2 ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า "ตนเองทำการเกษตรมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ปลูกพืชมากมายหลายชนิด จนเมื่อ ปี 2549 ได้หันมาปลูกแตงกวาพันธุ์เพรตตี้ สวอลโล 279 ลักษณะผิวด้าน ตามคำแนะนำของ คุณเจษฎากรณ์ ศรีคำ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม ของ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด และใน ปี 2550 ได้ปลูกแตงกวาพันธุ์อาริโช 2036 ลักษณะผิวมัน เพิ่มเติม รวมกันในพื้นที่ 3 งาน

สำหรับวิธีการเพาะปลูก เริ่มจากการเพาะเมล็ดและการหยอดเมล็ด วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ เมล็ดแตงกวา ถุงพลาสติคขนาดพอดีกับจำนวนเมล็ด น้ำสะอาด ผ้าขนหนูชนิดบาง ถาดเพาะเมล็ด วัสดุเพาะกล้า และยากันโรคโคนเน่า ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดนั้น จะนำถุงพลาสติคที่เตรียมไว้มาเจาะรู เพื่อให้น้ำซึมผ่านเข้าไปได้ ใส่เมล็ดแตงกวาลงไปปิดปากถุง แล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาด กดให้จมน้ำ ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง หลังจากนำขึ้นจากการแช่น้ำแล้วสลัดน้ำออกให้หมด นำผ้าขนหนูไปชุบน้ำบิดให้พอหมาด แล้วนำไปห่อถุงเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 3-4 ชั้น แล้วนำไปใส่ถุงพลาสติคมัดปากถุงอีกที เพื่อป้องกันความชื้นระเหยออก แล้วนำไปบ่มในอุณหภูมิช่วง 28-30 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 24-32 ชั่วโมง เมล็ดจะเริ่มงอก สำหรับในฤดูหนาวเมล็ดจะงอกช้า ต้องนำไปบ่มในกล่อง โดยใช้หลอดไฟ ขนาด 40 วัตต์ ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ช่วง 28-30 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 24-36 ชั่วโมง เมล็ดจะงอก

การเตรียมแปลงปลูก เริ่มจากการไถเปิดหน้าดินให้ลึก ไถพรวน 1 รอบ ตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน หว่านปุ๋ยคอก (มูลไก่) วัดแปลงระยะห่างประมาณ 1.5 เมตร ยกแปลงกว้าง 1.1 เมตร ร่องน้ำกว้าง 60 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร จากพื้นร่องน้ำ ปรับแปลงให้เรียบ คลุมด้วยพลาสติคคลุมแปลง สีบรอนซ์-ดำ ขนาดกว้าง 1.2 เมตร เพื่อป้องกันแมลงและเก็บความชื้น

การปลูก นิยมปลูกเป็นแถวคู่ โดยเจาะหลุมห่างจากขอบแปลงด้านละประมาณ 15.20 เซนติเมตร ให้มีระยะห่างระหว่างต้น 45-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 70-80 เซนติเมตร ซึ่งเริ่มปลูกในช่วงเย็น หรือขณะที่แสงแดดอ่อน และจะนำน้ำเข้าแช่ในร่องก่อนย้ายต้นกล้ามา เพื่อให้แปลงมีความชื้นพอปลูกแล้วกดดินให้แน่นพอควร แล้วจึงรดน้ำตามทันที

การดูแลรักษา การให้น้ำจะให้น้ำไหลไปตามร่องระหว่างแถวปลูก แล้วตักรดที่โคนต้น ปกติจะให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้ง ถ้าแตงมีความสูง 1 ฟุต ขึ้นไป จะให้น้ำโดยการปล่อยขังไว้ในร่อง ประมาณ 12 ชั่วโมง การทำค้าง ปักค้าง เมื่อแตงกวามีอายุได้ประมาณ 7-10 วัน หลังปลูก

การมัดยอด ใช้เชือกฟางฉีกเป็นเส้นเล็กๆ ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มัดยอดหลวมๆ ติดกับไม้ค้าง โดยมัด 3 วัน ต่อครั้ง มัดไปจนกระทั่งสุดปลายแขน

การแต่งกิ่ง จะตัดแขนง ข้อที่ 1-3 ของลำต้นออก และข้อที่ 4 ขึ้นไป จะไม่ตัด จะทำให้ผลแตงกวาที่ได้สมบูรณ์ หัวไม่คอด

การให้ปุ๋ย ครั้งที่ 1 ใส่เมื่อเตรียมแปลงปลูก ครั้งที่ 2 ใส่เมื่ออายุประมาณ 5-7 วัน หลังปลูก หรือเมื่อแตงกวาตั้งตัวได้แล้ว โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 250 กรัม และใช้ปุ๋ยสูตร 0-46-0 อัตรา 300 กรัม ละลายในน้ำ 100 ลิตร ผสมยากันโรครากเน่าโคนเน่า นำไปรดโคนต้น ต้นละ 250 ซีซี โดยไม่ให้โดนใบ ครั้งที่ 3 ใส่เมื่ออายุประมาณ 12-15 วัน หลังปลูก โดยใช้ปุ๋ย 15-15-15 ผสมกับปุ๋ยยูเรีย อัตราส่วน 2:1 โดยเจาะหลุมต้นละ 1 หลุม ห่างจากโคนต้นลงมาทางร่องน้ำ ประมาณ 20 เซนติเมตร ให้หลุมลึกประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วนำปุ๋ยที่ผสมแล้วใส่ลงไป ต้นละครึ่งช้อนแกง หรือประมาณ 10 กรัม เมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จปล่อยน้ำเข้าร่องแล้วตักรด ใส่ปุ๋ยละลาย ครั้งที่ 4 ใส่เมื่ออายุได้ 20-23 วัน หลังปลูก โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หยอดลงในหลุมเดิมที่ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 ต้นละครึ่งช้อนแกง หรือประมาณ 10 กรัม เมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วปล่อยน้ำเข้าร่องน้ำแล้วตักรด ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 5 ใส่เมื่ออายุได้ 30-33 วัน หลังปลูก โดยใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ปล่อยน้ำเข้าร่องแล้วหว่านในร่องน้ำ ครั้งที่ 6 อายุประมาณ 40-43 วัน หลังปลูก ปุ๋ยและวิธีการใส่เหมือนครั้งที่ 5 นอกจากการใส่ปุ๋ยทางดินแล้ว จะให้อาหารเสริมทางใบด้วย โดยใส่ไปพร้อมกับการฉีดพ่นสารเคมี ปุ๋ยที่ใช้โดยทั่วไป ใช้ปุ๋ยเกล็ด เพราะสามารถละลายน้ำได้ง่าย สูตร 18-33-18 หรือ 21-21-21 ผสมกับธาตุอาหารพวกแคลเซียม โบรอน

สำหรับการเก็บเกี่ยวจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ประมาณ 1 เดือน หลังจากปลูก ซึ่งจะเก็บในช่วงเวลาประมาณ 06.00-12.00 น. โดยในพื้นที่ 3 งาน เก็บได้ประมาณวันละ 400-500 กิโลกรัม ต่อวัน ราคากิโลกรัมละประมาณ 12 บาท

ผู้สนใจเกี่ยวกับการปลูกแตงกวา หรือเมล็ด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด เลขที่ 43 ถนนราชพฤกษ์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทรศัพท์ (053) 217-180 โทรสาร (053) 217-181


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน

***************************************************************************************


ประสบการณ์ตรง :









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2009-07-16 (1023 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©