-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 474 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สมรภูมิเลือด




หน้า: 2/2



การปฏิบัติของทหารบกผลัดที่ ๒

การเตรียมรุกใหญ่เพื่อเข้าตี และยึดที่มั่นขั้นต่อไป

            ในปลายเดือนกันยายน ๒๔๙๔ แม่ทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ได้กำหนดแผนยุทธการ เพื่อเข้าตีทำลายข้าศึก และยึดแนวภูมิประเทศสำคัญ หน้าแนวไวโอมิง ออกไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แล้วจัดที่มั่นหลักใหม่ให้ชื่อว่า แนวเจมส์ทาวน์ ซึ่งเมื่อยึดได้แล้วจะอำนวยประโยชน์ทั้งในทางยุทธวิธีและการเจรจาหยุดยิง
            ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้าตี และยึดแนวภูมิประเทศสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบ  ๓ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ เริ่มเข้าตีโดยใช้กำลัง ๒ กรม เป็นกองรบเดียวกันอีก ๑ กรมเป็นกองหนุน กองพันทหารไทยขึ้นสมทบอยู่ในกองหนุน เตรียมเคลื่อนที่เข้าตีต่อไปทางทิศเหนือ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้ารวมพลในเขตตำบลยัลดอง  ต่อมาเมื่อ ๘ ตุลาคม กรมทหารม้าที่ ๘ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นกองหนุน ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้าประจำแนว แทนกรมทหารม้าที่ ๗ สหรัฐฯ ในแนวหน้า กองพันทหารไทยยึดพื้นที่อยู่บนสันเขาสูง ตามสันเขายอด ๓๓๔ ถึงยอด ๔๑๘  ต่อมา เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองพันทหารไทยปรับแนวรับผิดชอบกว้างด้านหน้าในการตั้งรับ ๓,๕๐๐ เมตร หน่วยลาดตระเวณของกองพันทหารไทย ได้ปะทะกับข้าศึก จำนวนหนึ่งบนแนวสันเขาที่เรียกว่า เขาทีโบน (T - Bone)  ๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ขึ้นสมทบ กรมทหารม้าที่ ๗ สหรัฐฯ ๒๐ ตุลาคม กองพันทหารไทยปรับแนวใหม่โดยเข้ายึดที่มั่นตามสันเขาตั้งแต่ ยอด ๔๑๘ ไปทางขวา และได้รับคำสั่งให้กลับไปขึ้นกับกรมทหารม้าที่ ๘ สหรัฐฯ ตามเดิม
            ปลายเดือนตุลาคม ๒๔๙๔ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้วางแผน และเตรียมการเข้าตีจากแนวที่ยึดอยู่ เพื่อเข้ายึดเขาทีโบน โดยใช้กำลังกองพันทหารไทยเพียงกองพันเดียว สมทบกำลังด้วยรถถังและเครื่องยิงหนัก พร้อมด้วยการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล และเครื่องบินโจมตี แต่ในที่สุดทางกองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ ได้ยกเลิกแผนนี้ เพราะกำลังยิงสนับสนุนมีไม่เพียงพอ


การปฏิบัติการของหมวดคอยเหตุ

            กองพันทหารไทยได้ใช้กำลัง ๑ หมวดปืนเล็กไปทำหน้าที่หมวดคอยเหตุ อยู่หน้าแนวตลอดเวลาโดยไปตั้งอยู่ที่เนิน ๒๐๐ ห่างออกไปจากแนวต้านทานหลักของฝ่ายเราประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร และห่างจากแนวที่มั่นข้าศึกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ที่เนิน ๒๐๐ นี้ ดัดแปลงพื้นที่สำหรับตั้งรับวงรอบ มีการวางเครื่องกีดขวางลวดหนาม ประกอบการวางทุ่นระเบิด และพลุสดุด หลายชั้น วางสายโทรศัพท์ติดต่อกับที่บังคับการกองพัน และยังคงใช้วิทยุเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักตลอดเวลา ฝ่ายข้าศึกได้ส่งกำลังเข้ารบกวนหลายครั้งในเวลากลางคืน
            เมื่อ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ข้าศึกได้เริ่มระดมยิงอย่างรุนแรงตั้งแต่ เวลา ๑๙.๐๐ น.เศษ ด้วยเครื่องยิงหนัก และปืนใหญ่มายังที่มั่นของหมวดคอยเหตุ ข้าศึกประมาณ ๒ กองร้อย พร้อมด้วยรถถังประมาณ ๑๐ คัน ได้เคลื่อนที่เข้ามาตรงหน้า และพื้นที่ราบสองข้างของเนิน ๒๐๐ และระดมยิงที่มั่นใหญ่ของกองพันทหารไทยหนาแน่น การติดต่อทางสาย และวิทยุถูกตัดขาด จนใกล้รุ่งสว่างจึงทราบจากผู้ที่เล็ดลอดกลับมาได้ว่าหมวดคอยเหตุบนเนิน ๒๐๐ ละลายแล้วทั้งหมวด เนื่องจากข้าศึกเข้าล้อมและบุกเข้าประชิดถึงตัว มีการสู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน ข้าศึกมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า การยิงฉากป้องกันจากที่มั่นใหญ่ช้าเกินไปไม่ทันการ ทหารประมาณครึ่งหมวดเสียชีวิต ส่วนที่เหลือได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ฝ่ายข้าศึกก็สูญเสียเป็นจำนวนมากเช่นกัน นับเป็นการสูญเสียในการรบครั้งแรกของกองพันทหารไทย  ต่อมาอีก ๗ วัน กองพันทหารสหรัฐฯ ก็ถูกโจมตีในทำนองเดียวกัน ทำให้กองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ สั่งเปลี่ยนที่ตั้งหมวดคอยเหตุใหม่ ให้ใกล้เข้ามาอยู่ในระยะไม่เกิน ๑.๕ กิโลเมตร จากแนวต้านทานหลัก


การกลับไปเป็นกองหนุน

            กองพันทหารไทยเริ่มเคลื่อนที่ออกจากที่รวมพลหมู่บ้านชอนกอง เมื่อ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๔ ด้วยขบวนยานยนต์เดินทางเลียบชายฝั่งทิศเหนือของลำน้ำฮัน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สู่เมืองกุมหว่าเข้าที่รวมพลในที่ตั้งใหม่ที่หมู่บ้านวาสุ ในพื้นที่กองหนุนของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ และเมื่อ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๔ หน่วยกำลังทดแทนของไทยจำนวน ๒๐๐ คน ก็ได้เดินทางจากตำบลทองเนเมืองบูซานมาเข้าที่ตั้งของกองพันทหารไทย

การขึ้นประจำแนวต้านทานหลักเจมส์ทาวน์

            ๒๕ มกราคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่ง ให้เตรียมการขึ้นไปสับเปลี่ยนกับกองพันทหารฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหน่วยในบังคับบัญชาของกรมทหารราบที่ ๒๓ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ในแนวต้านทานหลักเจมส์ทาวน์ ทางเหนือเมืองกุมหว่า การสับเปลี่ยนกระทำในเวลากลางคืนเริ่มตอนค่ำของ ๒๙ มกราคม ๒๔๙๕ ใช้เวลา ๒ คืนจึงแล้วเสร็จ ระหว่างนี้หิมะตกหนักมาก ข้าศึกส่วนใหญ่ปฏิบัติการอยู่บนเทือกเขานสูงจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบ กองพันทหารไทยตั้งรับอยู่ในพื้นที่ราบ ต้องขุดคูติดต่อไปยังแนวคอยเหตุของแต่ละกองร้อย
            กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ได้มีคำสั่งสให้ทุกหน่วยในแนวหน้า ปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาตามแผนที่เรียกว่า Operation Calm - up ระหว่าง ๑๐ - ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ โดยให้กำลังทหารทุกหน่วยอยู่ในความสงบ ไม่ให้ปฏิบัติการหรือเคลื่อนไหวทางยุทธวิธีใด ๆ งดการส่งหน่วยออกลาดตระเวณ และไม่ยิงปืนใหญ่ รวมทั้งไม่มีการสนับสนุนทางอากาศตลอดระยะ ๒๐,๐๐๐ หลาจากหน้าแนว เพื่อลวงให้ข้าศึกเข้าใจว่าฝ่ายเราได้ถอนตัวออกไปหมดแล้ว มีการเตรียมเสบียงสำเร็จรูปให้เพียงพอใช้ถึง ๗ วัน กระสุน ๕ อัตรายิง และห้ามยิงเด็ดขาดตลอดแนวจนกว่าข้าศึกจะบุกเข้าตีฝ่ายเราก่อน ห้ามการติดต่อทางวิทยุ ให้ติดต่อทางโทรศัพท์เท่านั้น ปฏิบัติการเช่นนี้อยู่ ๖ วัน จึงกลับสู่การปฏิบัติตามปกติ
            กองพันทหารไทยได้กลับไปเป็นกองหนุนของกรม โดยลงไปพักที่บ้านชอนกอง ตั้งแต่ ๒๐ กุมภาพันธ์ - ๑ มีนาคม ๒๔๙๕ จากนั้นได้กลับขึ้นไปประจำแนวเจมส์ทาวน์บริเวณเมืองกุมหว่า
            กองพันทหารไทยกลับไปเป็นกองหนุน ตั้งแต่ ๑๓ - ๒๖ เมษายน ๒๔๙๕ ในที่ตั้งเดิม








การปฏิบัติของทหารบกผลัดที่ ๓


การปฏิบัติหน้าที่เป็นกองหนุนของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ

            การสงครามดำเนินมาถึงปีที่ ๓ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ แม้ว่าจะมีการเจรจาความตกลงสงบศึก ตั้งแต่ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๔ แล้วก็ตาม ทั้งสองฝ่ายยังคงยึดภูมิประเทศ เผชิญหน้ากันอยู่ในแนวมิสซูรี (Missouri Line)
            กองพลที่ ๒ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้เข้าประจำแนว กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปผลัดเปลี่ยนกรมทหารราบที่ ๒๗๙ สหรัฐฯ บนแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาทีโบนกับเขาอัลลิเกอร์จอส์ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่ง จากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ให้เคลื่อนย้ายติดตามไป กำหนดการเคลื่อนย้ายใน ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๙๕
            ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ กำลังพลของผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๒ และส่วนที่ ๓ ได้เดินทางไปผลัดเปลี่ยนกับผลัดที่ ๒
            กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งเตรียมจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ให้ผลัดเปลี่ยนกองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ประมาณต้นเดือน สิงหาคม ๒๔๙๕


การปฏิบัติการรบ ณ ที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ด้านเขาทีโบน

            กองพันทหารไทยได้เข้าประจำแนวเจมส์ทาวน์ เมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๔๙๕ ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน เป็นช่วงฤดูร้อนของเกาหลี อากาศอบอุ่นฝนตกชุก ลักษณะภูมิประเทศหน้าแนวที่ตั้งรับของกองพันทหารไทยเป็นที่ราบลุ่มและโล่ง มีเขาทีโบนที่ฝ่ายข้าศึกยึดอยู่เป็นตำบลสำคัญ กำลังฝ่ายข้าศึกที่เผชิญหน้ากับกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ และกองพันทหารไทยมีอยู่ ๒ กรมทหารราบ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้กำชับให้กองพันในแนวหน้า ทำการลาดตระเวณทุกวัน และให้มีการปฏิบัติการเชิงรุก โดยส่งหน่วยลาดตระเวณรบเข้าตีโฉบฉวยต่อที่มั่นตั้งรับของข้าศึก ทั้งนี้ให้กองพันทหารไทยเริ่มปฏิบัติก่อนต่อที่หมายเขาทีโบน เมื่อ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๕ ในขั้นต้นได้ทำการตรวจภูมิประเทศด้วยเครื่องบินเบา แอล - ๑๙ บริเวณหัวเขาทีโบน ขั้นต่อมามีการซ้อมปฏิบัติการเวลากลางคืน แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแผนให้กองพันที่ ๑ สหรัฐฯ เข้าปฏิบัติการแทน


ผู้บังคับกองพันทหารไทย กับคณะได้รับเชิญไปร่วมพิจารณาปัญหาการเจรจาสงบศึกที่ปันมุมจอม

            เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๕ ผู้บังคับกองพันทหารไทย (พันตรี เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์) และคณะได้เดินทางไปยังหมู่บ้านมุนซานตามคำเชิญของ พลตรี แฮริสัน หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาความตกลงสงบศึก ฝ่ายสหประชาชาติ ที่ต้องการให้บรรดาผู้บังคับหน่วยทหารพันธมิตร ในสนามที่ร่วมรบในประเทศเกาหลีได้ทราบเรื่องราวที่ฝ่ายสหประชาชาติกับ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ กำลังเจรจากันอยู่ และขอทราบความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งอาจจะช่วยคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ให้ลุล่วงไปได้อย่างสมศักดิ์ศรีของฝ่ายกองบัญชาการสหประชาชาติด้วย
การเจรจาความตกลงสงบศึก มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังนี้
            ๑.  คณะผู้แทนเจรจาความตกลงสงบศึก ฝ่ายสหประชาชาติขึ้นอยู่กับกองบัญชาการสหประชาชาติ กรุงโตเกียว มีสำนักงานอยู่ที่หมู่บ้านมุนซาน รวมทั้งเป็นที่พักของคณะผู้แทน และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ด้วย
            ๒.  เรื่องที่กำลังเจรจาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเชลยศึก ซึ่งยังไม่เป็นที่ตกลงกัน เนื่องจากฝ่ายสหประชาชาติเสนอว่า การแลกเปลี่ยนเชลยศึกต้องให้เป็นความสมัครใจของเชลยศึกเอง แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เสนอว่า การแลกเปลี่ยนเชลยศึกต้องให้เชลยศึกกลับประเทศของตนทุกคน


การจับเชลยศึก และพิธีประดับเหรียญบรอนซสตาร์

            เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๕ กองร้อยที่ ๒ ได้ตรวจการณ์เห็นข้าศึก จำนวนหนึ่งเคลื่อนที่เข้ามา จึงได้ออกปฏิบัติการและจับข้าศึกส่วนนี้ได้ ๑ คน นับว่ากองพันทหารไทยเป็นหน่วยแรกของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ที่จับเชลยศึกได้ตามนโยบายของหน่วยเหนือ  ต่อมาใน วันที่ ๑๑ กัยยายน ๒๔๙๕ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้จัดพิธีประดับเหรียญบรอนซ์สตาร์ ให้แก่ สิบตรี ศรีบุตร  หน่องาม กับพลทหาร บุญธรรม  บุญเรือง ซึ่งเป็นผู้จับเชลยศึกได้ ณ บริเวณที่บังคับการกองพันหลังแนวที่มั่น โดยมีผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ เป็นประธานในพิธี ต่อหน้าทหารเกียรติยศผสม ไทย - สหรัฐฯ

การปฏิบัติหน้าที่ในกองหนุนของกองพลที่ค่ายเคซี (Camp Cacy)

            เมื่อ ๒๑ กันยายน ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับการผลัดเปลี่ยนจากกองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๒๓ สหรัฐฯ ที่ค่ายเคซี อยู่เหนือเมือง อุยจองบู ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ค่ายเคซีเป็นที่พักสนามสำหรับหน่วยทหารที่เคลื่อนย้ายตามแผนของหน่วยเหนือ หมุนเวียนเข้าไปพักเป็นประจำ
            ในปลายเดือนกันยายน ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ให้เคลื่อนย้ายไปเข้าที่รวมพลหลังแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาโอลด์บอลดี เพื่อเพิ่มเติมกำลังแนวรบด้านนี้ แต่ต่อมาได้ถูกระงับภารกิจหลังจากที่เดินทางไปถึง ได้ ๑ คืน


การปฏิบัติระหว่างเป็นกองหนุนของกองพลที่เมืองยอนชอน

            ในต้นเดือนตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายกำลังจากค่ายเคซี ติดตามกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ไปตั้งอยู่ที่บริเวณพื้นที่ข้างหลังแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาโอลด์บอลดี ไม่มีการปฏิบัติการทางยุทธวิธี คงมีแต่การลาดตระเวณตรวจภูมิประเทศเป็นครั้งคราว ต่อมาได้กลับไปเป็นกองหนุนของกองพล กองพันทหารไทยจึงไปตั้งอยู่ที่เมืองยองชอน ส่วนกรมหทารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ตั้งต่อลงไปทางใต้ที่ตำบลทองดูซอน บริเวณค่ายเคซี
            วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งเตรียมให้เข้าประจำแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาพอร์คชอป ได้มีการไปตรวจภูมิประเทศก่อนขึ้นประจำแนว และในวันรุ่งขึ้น กองร้อยกำลังทดแทนของกองพัน ผลัดที่ ๓ ได้เดินทางมาถึง และกองร้อยกำลังทดแทนกองพันผลัดที่ ๒ เดินทางกลับปูซาน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป

การปฏิบัติการรบบนที่มั่นตั้งรับ แนวเจมส์ทาวน์ด้านเขาพอร์คชอป

            วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้ผลัดเปลี่ยนกับกองพันทหารสหรัฐฯ บนแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาพอร์คชอป มีเขตปฏิบัติการสำคัญคือ เขาพอร์คชอป (เขา ๒๕๕) กับเขาสนุ๊ค  (เขา ๑๘๗) ที่บังคับการกองพันอยู่ที่หมู่บ้านอันเยิง ส่วนกองร้อยกำลังทดแทน และคลังเก็บของอยู่ที่เมืองยอนชอน
            กองพันทหารไทยได้รับมอบภารกิจ ให้ยึดรักษาเขาพอร์คชอปไว้ให้ได้ โดยได้รับการยิงสนับสนุนด้วยอาวุธหนักจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับสนับสนุนรถถัง ๑ หมวด เครื่องยิงหนัก ๔.๒ นิ้ว ๑ หมวด และปืนต่อสู้อากาศยาน ๑ หมวด พื้นที่ปฏิบัติการที่กองพันทหารไทยได้รับมอบ มีความกว้างด้านหน้า ประมาณ ๓ กิโลเมตร จึงได้วางกำลัง ๓ กองร้อยในแนวหน้า จัดกองร้อยรักษาด่านรบที่หน้าแนว ๒ แห่งคือ ที่เขาพอร์คชอป มีกำลัง ๑ หมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง และหมู่ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่ ๑ หมู่ ส่วนที่เขาสนู๊คมีกำลัง ๒ หมู่ปืนเล็ก

            พื้นที่ที่กองพันทหารไทยได้รับมอบอยู่บริเวณหน้าเขาทีโบน ภูมิประเทศสำคัญหน้าแนวคือ เขาพอร์คชอปกับเขาสนู๊ค เบื้องหน้าเขาพอร์คชอปเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ที่ฝ่ายข้าศึกยึดอยู่ ๒ ลูกคือ เขาฮาร์คโกล และเขาโพลเค เขาพอร์คชอปตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองชอร์วอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งของเกาหลี ลักษณะเป็นสันเขาโดดเดี่ยว ล้อมรอบด้วยหุบเขาสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๕๕ เมตร เป็นชัยภูมิที่ทั้งสองฝ่ายต้องการยึดเอาไว้เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธี เพราะเป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะเจาะเข้าถึงเมืองชอร์วอนทางทิศตะวันออก เมืองยอนชอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่บริเวณเขาพอร์คชอปนี้ได้มีการแย่งยึดเปลี่ยนมือกันไปมา หลายครั้งของทั้งสองฝ่าย และครั้งสุดท้ายได้ตกเป็นของฝ่ายกองกำลังสหประชาชาติ
            หลังจากขึ้นประจำที่มั่น เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยก็รีบดำเนินการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม จากที่บังคับการกองพันไปยังที่มั่นบนเขาพอร์คชอป แต่ทำได้ไม่สดวก เพราะถูกข้าศึกยิงรบกวนตลอดเวลา จึงต้องใช้รถสายพานลำเลียงพล จากหน่วยเหนือมาใช้ พร้อมทั้งขอเครื่องทำควันขนาดใหญ่ มาใช้ปล่อยควันกำบังการตรวจการณ์ เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางนี้เวลากลางวัน ดำเนินการปรับปรุงคูสนามเพลาะ และเครื่องกีดขวางประเภทลวดหนาม โดยเพิ่มแนวลวดหนามจากเดิม ๒ แนวเป็น ๔ แนว วางแผนการใช้ทุ่นระเบิด และหีบระเบิดนาปาล์มที่มีอานุภาพรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังได้จัดกำลังกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นโดยใช้กำลังจากกองร้อยกองบังคับการ และกำลังพลอืน ๆ ที่มิได้ติดพันการรบในขณะนั้น พร้อมกันนั้น ทางหน่วยเหนือก็ได้ออกคำแนะนำทางยุทธการ ให้หน่วยระดับกองพันจัดตั้ง ศูนย์ประสานการยิงช่วยขึ้น นับว่าเป็นการกระทำครั้งแรกในระดับกองพัน กองพันทหารไทยได้เตรียมการขอรับการสนับสนุนฉากการยิงคุ้มครอง เป็นวงแหวนรอบที่มั่นรักษาด่านรบเขาพอร์คชอป โดยขอให้ปืนใหญ่กองพลของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่ ๔ กองพัน วางฉากการยิงที่เรียกว่าวงแหวนเหล็กเอาไว้ เพื่อใช้ในกรณีที่ถูกข้าศึกเข้าตี ด้านการสื่อสารก็มีการวางข่ายการติดต่อสื่อสารให้แน่นแฟ้น ใช้การสื่อสารทางสายเป็นหลัก ได้จัดวางข่ายการสื่อสารไปยังจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังเขาพอร์คชอปถึง ๗ ทางสาย โดยฝังสายลงใต้ดิน พาดไปบนพื้นดิน และขึงสายเหนือพื้นดิน
            นอกจากนี้ยังจัดกำลังออกลาดตระเวณหาข่าวประจำวัน ๆ ละ ๓ สาย มีการจัดหมวดรบพิเศษ (Ranger Platoon) ขึ้นเป็นครั้งแรก จากผู้อาสาสมัครซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่คัดเลือกไว้ ๔๐ คน เพื่อใช้ในการลาดตระเวณรบลึกเข้าไปในแนวข้าศึก เพื่อจับเชลยตามคำแนะนำของหน่วยเหนือ

การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๑

            ในคืนวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ หมวด เคลื่อนที่เข้าจู่โจมที่ฟังการณ์สาย ๘ ทางมุมด้านทิศตะวันออกของเขาพอร์คชอป ศูนย์ประสานการยิงคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป ทิ้งศพผู้เสียชีวิตไว้เท่าที่ตรวจพบ ๑๐ ศพ ต่อมาเมื่อบ่ายวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ข้าศึกได้ยิงเตรียมมายังที่มั่นเขาพอร์คชอปด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิด ฝ่ายเราได้รับความเสียหายมาก ตอนค่ำข้าศึกส่งกำลัง ๑ กองพัน เคลื่อนที่เข้าตี ๒ ทิศทาง ไปยังที่ฟังการณ์สาย ๔ และที่ฟังการณ์สาย ๘ ได้มีการต่อสู้กันในระยะประชิด จนต้องถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ข้าศึกก็ได้เคลื่อนที่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนถึงบริเวณที่มั่นเขาพอร์คชอป จึงได้มีการยิงฉากวงแหวนทำลายข้าศึกที่เข้ามาถึงขอบที่มั่น จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป การรบครั้งนี้ฝ่ายเราเสียชีวิต ๘ คน บาดเจ็บ ๑๗ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๕๐ คน พบร่องรอยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักกว่า ๖๐๐ นัด ในบริเวณที่มั่นของฝ่ายเรา ในวันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางมาเยี่ยมกองพันทหารไทย ได้แสดงความประทับใจอย่างมากที่ทหารไทยมีจิตใจห้าวหาญ แกร่งกล้า เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง และได้หนังสือชมเชยกองพันทหารไทยด้วย
            ต่อมากองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้ส่งทหารช่างพร้อมที่กำบังสำเร็จรูป (Prefabrication Sef) มาให้ ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงที่มั่นให้กลับสู่สภาพเดิม จากการเสียหายที่ข้าศึกเข้าตีในครั้งนี้

การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๒

            เมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งหน่วยลาดตระเวณ ประมาณ ๑ หมวด เข้าโจมตีที่มั่นเขาพอร์คชอป โดยเข้าโจมที่ฟังการณ์หมายเลข สาย ๔ และสาย ๘ ได้ ข้าศึกได้ระดมยิงด้วยอาวุธประจำหน่วย และอาวุธประจำกายอย่างรุนแรง เพื่อพิสูจน์ทราบที่ตั้งฝ่ายเรา ทหารไทยในที่มั่นได้ยิงพลุส่องสว่างพร้อมกับขอการยิงสนับสนุนจาก หน่วยเครื่องยิงหนักของกองพัน ข้าศึกจึงถอนตัวกลับไป
            ต่อมา ระหว่าง ๐๑.๐๐ - ๐๒.๐๐ น.ฝ่ายข้าศึกทำการเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกเป็น ๓ ระลอก ระลอกแรก ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศตะวันตก ด้านที่ฟังการณ์ ๘ ระดมยิงด้วยอาวุธประจำกาย และประจำหน่วย พร้อมทั้งปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที จึงหยุดการโจมตี แต่ยังคงระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อไป ระลอกที่สอง เริ่มประมาณ ๐๑.๔๐ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศเหนือด้านที่ฟังการณ์ ๔ สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก และอาวุธนานาชนิด ฝ่ายเราต้านทานอย่างเหนียวแน่น จนข้าศึกต้องยุติการโจมตีเมื่อเวลา ๐๒.๑๕ น.และถอนตัวกลับไป ระลอกที่สาม เวลา ๐๒.๓๕ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๒ หมวด เข้าตีทางด้านทิศตะวันตกด้านที่ฟังการณ์ ๘ อีกครั้งหนึ่ง ได้อาศัยความมืดคืบคลานเข้ามาใกล้ที่มั่นฝ่ายเรา จนถึงระยะใช้ระเบิดขว้างของทั้งสองฝ่าย ทหารไทยที่ประจำอยู่ ณ ที่ฟังการณ์ทั้งสามสาย ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ฝ่ายข้าศึกจำนวนมาก ได้ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนมาถึงหน้าที่มั่นใหญ่ในพื้นที่การยิงฉาก ผู้บังคับที่มั่นจึงขอการยิงฉากวงแหวนเหล็ก ทำให้การเข้าตีของข้าศึกหยุดชะงัก และล่าถอยกลับไป ในการเข้าตีของข้าศึกครั้งนี้ ข้าศึกได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ เพื่อหวังผลในการจู่โจม โดยไม่ใช้การยิงเตรียมเหมือนการเข้าโจมตีทั่วไป แต่ได้อาศัยความมืดเป็นเครื่องกำบัง หวังที่จะลอบเข้ามาใกล้ที่มั่น เพื่อหวังผลในการจู่โจม
            เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจการณ์ และเพื่อจำกัดเสรีในการเคลื่อนที่ของข้าศึก ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องแสงจากเครื่องยิงลูกระเบิด และจากปืนใหญ่แบบประสานส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ผลอย่างมากในการยับยั้งข้าศึก และยังเป็นการบำรุงขวัญฝ่ายเราได้เป็นอย่างดี
            การสูญเสียจากการที่ข้าศึกเข้าตีครั้งนี้ ฝ่ายเราเสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บ ๕ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๑๐ คน เท่าที่พบศพ และคาดว่าจะเสียชีวิตทั้งสิ้น ๕๐ คน บาดเจ็บประมาณ ๑๐๐ คน ฝ่ายเรายึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึกได้ จำนวนหนึ่ง

การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๓

            จากการเฝ้าตรวจการณ์ทางอากาศของหน่วยเหนือมีสิ่งบอกเหตุแสดงว่า ฝ่ายข้าศึกจะต้องเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกครั้งอย่างแน่นอน ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าตีของข้าศึกสองครั้งที่ผ่านมา ได้มาปรับปรุงการตั้งรับของหน่วยให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่กำบังปิด ให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถต้านทานอาวุธหนักของข้าศึกได้ดีขึ้นกว่าเดิม และได้ปรับฉากการยิงวงแหวนเหล็กเสียใหม่ ให้สามารถทำลายข้าศึกที่เข้ามาหน้าที่มั่นระยะใกล้อย่างมีประสิทธผล
            ในการเข้าตีครั้งนี้ฝ่ายข้าศึกได้ยิงรบกวนด้วยอาวุธหนักชนิดต่าง ๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืนเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ในคืนที่สามคือ คืนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ตอนค่ำ ข้าศึกได้ระดมยิงอย่างหนักด้วยเครื่องยิงหนักและปืนใหญ่ไปยังเขา อาร์เซนัล (Arsenal) และเขาเอียร์ (Eerie) ตรงปลายด้านใต้ของเขาทีโบน ซึ่งกองพันที่ ๑ สหรัฐฯ ยึดอยู่ แสดงที่ท่าว่าจะเข้าตีทางด้านนั้น แต่ไม่เข้าตี จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ได้ส่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าตีทางด้านเขาโอลด์บอลดี ซึ่งกองพันทหารราบที่ ๓ ของสหรัฐฯยึดอยู่ และต่อมาได้ใช้กำลัง ๑ กองพัน พร้อมด้วยกองร้อยลาดตระเวณของกรม เคลื่อนที่เข้าสู่เขาพอร์คชอป ในการเข้าตีครั้งนี้ ข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีถึง ๓ ระลอก ตลอดคืนคือ
            ระลอกแรก  เข้าตีเวลา ๒๓.๒๕ น. ใช้กำลัง ๒ กองร้อยเข้าตีทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านที่ทำการสาย ๘ อย่างจู่โจม โดยไม่มีการยิงเตรียมด้วยปืนใหญ่ เมื่อกำลังจากที่ฟังการณ์ทั้งสามสายถอนตัวกลับที่มั่นแล้ว ได้มีการยิงอาวุธหนักทุกชนิดของฝ่ายเราเพื่อป้องกันที่มั่น พร้อมทั้งยิงพลุส่องสว่างทั้งจากกองร้อยอาวุธหนักของไทย และการทิ้งพลุส่องสว่างจากเครื่องบินฝ่ายเรา เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางรุกต่าง ๆ ของข้าศึก จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ข้าศึกส่วนหน้าได้แทรกซึมถึงคูสนามเพลาะ ในเขตที่มั่นเขาพอร์คชอป เนื่องจากเครื่องกีดขวางที่กองพันทหารไทยทำไว้ถึง ๘ ชั้น ทำให้ข้าศึกไปติดอยู่แนวลวดหนาม และถูกยิงตาย ณ ที่นั้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีบางส่วนเข้าเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้ จึงมีการต่อสู้กับทหารไทยถึงขั้นตะลุมบอนเป็นจุด ๆ ข้าศึกใช้ลูกระเบิดขว้างตามช่องที่กำบังปิด เช่นปล่องเตายิง ช่องยิง ช่องระบายอากาศ และประตูที่กำบังปิด รวมทั้งคูติดต่อที่ทหารไทยยึดอยู่ การต่อสู้ขั้นตะลุมบอนเป็นไปประมาณ ๒๐ นาที กองพันได้ส่งหมวดรบพิเศษเข้าไปเสริมกำลัง โดยเคลื่อนที่ฝ่าฉากการยิงของเครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่เข้าไป จนเข้าไปถึงที่มั่นบนเขาพอร์คชอปได้เมื่อ เวลา ๐๐.๑๕ น. ขณะที่การสู้รบในระยะประชิดยังดำเนินต่อไป หลังจากการยิงกระสุนแตกอากาศของปืนใหญ่ฝ่ายเราเหนือที่มั่นสงบลงแล้ว หมวดรบพิเศษก็นำกำลังเข้าผลักดันข้าศึก ร่วมกับฝ่ายเราที่บนที่มั่นจนสามารถผลักดันให้ข้าศึก ถอยกลับไปด้วยความสูญเสียอย่างหนัก
            ระลอกที่สอง  เมื่อเวลา ๐๐.๒๐ น. ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน เข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกระลอก โดยเข้ามาถึงสามทิศทาง คือทางทิศเหนือตรงที่ฟังการณ์สาย ๔ ทางทิศตะวันออกตรงที่ฟังการณ์สาย ๒ และทางทิศตะวันตก ตรงที่ทำการสาย ๘ ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องสว่างจากกองร้อยอาวุธหนัก เพื่อช่วยในการตรวจการณ์อยู่ตลอดเวลา ฝ่ายเราได้ใช้เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่ระดมยิงช่วยอย่างรุนแรง จนเวลา ๐๑.๐๕ น.ข้าศึกจึงถอยกลับไป
            ระลอกที่สาม  เมื่อเวลา ๐๓.๒๒ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอป ๒ ทิศทาง ด้วยกำลัง ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง โดยเข้าตีทางทิศตะวันออก ด้านที่ฟังการณ์สาย ๒ กับอีก ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลังทางทิศตะวันตก ด้านที่ทำการสาย ๘ หน่วยเหนือได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดสะกัดเส้นทางส่งกำลังหนุนของข้าศึก และทิ้งพลุส่องสว่างหน้าแนว ตามคำขอของกองพันทหารไทย เมื่อข้าศึกส่วนใหญ่เคลื่อนที่เข้ามาในพื้นที่การยิงฉากที่เตรียมไว้ ก็เริ่มยิงฉากวงแหวนทันที กองร้อยอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้ถูกระดมยิงจากข้าศึก หรือถูกยิงเพียงประปราย ต่างก็ระดมยิงช่วยหน่วยบนที่มั่นเขาพอร์คชอปอย่างเต็มที่ แต่ข้าศึกส่วนหนึ่ง สามารถเคลื่อนที่ถึงหน้าแนวที่มั่นเขาพอร์คชอปได้ เครื่องกีดขวางของฝ่ายเราถูกทำลายด้วยปืนใหญ่ และบังกาลอร์ตอร์ปิโด ที่ใช้ยิงเจาะช่องเข้าไป เกิดการต่อสู้กันในระยะประชิด ฝ่ายเรามีการปรับปรุงการตั้งรับให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยกำหนดให้ปืนกลตั้งยิงในที่กำบังปิดทั้งหมด ส่วนพลปืนเล็กให้ต่อสู้อยู่ในคูยิงนอกที่กำบัง ทำให้ข้าศึกถูกยิงตายเป็นอันมาก ส่วนที่เล็ดลอดเข้ามาได้ก็ตกเป็นเป้ากระสุนของฝ่ายเราอย่างเต็มที่ เมื่อจวนใกล้สว่างข้าศึกจึงเริ่มหยุดการเข้าตี และถอนตัว คงเหลือกำลังประมาณ ๑ หมวด ยึดภูมิประเทศคุมเชิงอยู่ที่ลาดเขาพอร์คชอปทางด้านเหนือ และถอนตัวกลับไปเมื่อ ๐๗.๐๐ น. ฝ่ายเราได้ส่งหมู่ลาดตระเวณติดตามข้าศึก และสามารถจับเชลยศึกได้ ๔ คน
            ผลการเข้าตีครั้งนี้ ข้าศึกระดมยิงปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อที่มั่นเขาพอร์คชอปเป็นจำนวนประมาณ ๒,๗๐๐ นัด ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๑๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน บาดเจ็บเล็กน้อย ๕๔ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตนับศพได้ ๒๐๔ ศพ วันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยี่ยม เมื่อเห็นสภาพการสู้รบแล้วก็ได้กล่าวกับผู้บังคับกองพันทหารไทยว่า "ข้าพเจ้าไม่มีอะไรสงสัยในจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหารไทยอีกแล้ว"
            เนื่องจากกองพันทหารไทยได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก จากการถูกข้าศึกเข้าตีถึง ๓ ครั้ง ในห้วยระยะเวลาเพียง ๑๐ วัน แต่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาการผลัดเปลี่ยน จึงได้พิจารณาให้กองร้อยที่ ๑ ถอนตัวกลับไปพักผ่อน และให้กองพันที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายขยายพื้นที่ความรับผิดชอบเข้ามาแทน

            ในการรบดังกล่าวกองพันทหารไทย และทหารไทย จึงได้รับ อิสริยาภรณ์ เหรียญตรา และเกียรติบัตรชมเชยในการประกอบวีรกรรมครั้งนี้ รวมทั้งสมญานาม Little Tiger (พยัคฆ์น้อย) จากพลเอก แวนฟลิค แม่ทัพที่ ๘ สหรัฐฯ สมญานามดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมรภูมิเกาหลี
            ต่อมาเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือชมเชยการปฏิบัติการรบของกองพันทหารไทยที่เขาพอร์คชอป และต่อมากองพันที่ ๘ สหรัฐฯ ได้มอบเกียรติบัตรของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อเชิดชูวีรกรรมอันดีเด่น และเป็นเกียรติประวัติแก่กำลังพล ในกองพันทหารไทยผลัดที่ ๓ จำนวน ๒๙ คน เป็นลิเยียนออฟเมอริต ดีกรีเลยอนแนร์ ๑ คน คือ พันโท เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เหรียญซิลเวอร์สตาร์ ๙ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ประดับอักษรวี ๑๕ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ๔ คน

การปฏิบัติหน้าที่เป็นกองหนุน

            กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ลงไปเป็นกองหนุน เมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ โดยไปตั้งอยู่ที่ตำบลมักโกลเมืองชอร์วอน ซึ่งอยู่บริเวณหลังแนวเจมส์ทาวน์

การปฏิบัติการรบ ณ ที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเอกซ์เรย์ - (X-1)

            กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ขึ้นประจำที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ด้านเอกซ์เรย์ - 1 เมื่อ ๓ ธันวาคม ๒๔๙๕ ในพื้นที่ตรงกลางของกรม ต่อมาเมื่อ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๕ ได้มีพิธีรับ - ส่งหน้าที่ ผู้บังคับกองพันทหารไทย ระหว่างพันโทเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ ผู้บังคับกองพันผลัดที่ ๓ กับ พันตรี บุญ  รังคะรัตน์ ผู้บังคับกองพันผลัดที่ ๔

พิธีฌาปนกิจศพทหารผลัดที่ ๓

            ได้มีพิธีฌาปนกิจศพทหารไทย จำนวน ๒๘ ศพ ตามประเพณีทางพุทธศาสนา ณ วัดชานเมืองปูซาน เมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๙๕ แล้วนำอัฐิไปประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลที่วัดนิธิฮงวันจี ที่กรุงโตเกียว โดยเชิญเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว พลเอก คลาร์ก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองบัญชาการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการทหารประเทศต่าง ๆ ร่วมพิธีครั้งนี้ด้วย จากนั้นจึงนำอัฐิกลับประเทศไทย







การปฏิบัติการของทหารบกผลัดที่ ๔
 

การเตรียมการจัดกำลังและการเดินทาง

            กองพันทหารไทยผลัดที่ ๔ เริ่มจัดตั้งเมื่อ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๕ ทำการฝึกเบื้องต้น ๔ เดือน
            การเดินทางแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนแรก ออกเดินทางเมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ส่วนหลังออกเดินทางเมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๖
            การเดินทางโดยทางเรือแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ส่วนที่ ๑ ออกเดินทางเมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๙๕ โดยเรือสินค้าฮอร์ย ส่วนที่ ๒ ออกเดินทางเมื่อ ๒๘ ธันวาคม  ๒๔๙๕ โดยเรือทหารสหรัฐฯ ชื่อ USS General Charles Muir ส่วนที่ ๓ ออกเดินทางเมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๔๙๖ โดยเรือฮอร์ย ส่วนที่ ๔ ออกเดินทางเมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ โดยเรือของกองกำลังสหประชาชาติ

การเริ่มการรบในแนวเจมส์ทาวน์ด้านเมืองแนชอน

            เที่ยงคืนของวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๕ ทหารข้าศึกประมาณ ๑ กองร้อย  พยายามเจาะแนวคอยเหตุทางปีกซ้ายของกองพันทหารไทยเข้าไป แต่ฝ่ายเราต้านทานไว้ได้โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ข้าศึกจึงถอยกลับไป และเสียชีวิต ๓๐ คน
            คืนวันที่ ๒๐ ธันวาคม ทหารข้าศึก ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง ได้พยายามเข้าตีปีกซ้ายของกองพันทหารไทยอีกครั้งหนึ่ง ข้าศึกส่วนหนึ่งได้ผ่านเข้ามาถึงหมวดคอยเหตุ กองร้อยที่ ๑ มีการต่อสู้กันในระยะประชิดประมาณ ๑ ชั่วโมง ฝ่ายเราจึงสามารถแย่งยึดที่ตั้งแนวคอยเหตุกลับคืนมาได้ ฝ่ายข้าศึกสูญเสียอย่างหนัก ทหารไทยเสียชีวิต ๘ คน
            ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารเอธิโอเปีย ซึ่งขึ้นไปสมทบ กรมทหารราบที่ ๓๒ สหรัฐฯ ได้สับเปลี่ยนกับกองพันทหารไทย เนื่องจากมีการเปลี่ยนสับเปลี่ยนระดับ กองพลของสหรัฐฯ กองพันทหารไทยได้ลงไปเป็นกองหนุนโดยไปตั้งอยู่ที่หมู่บ้านฟิชอกโก ทางทิศใต้ของตำบลโปชอน ห่างออกไปประมาณ ๑๓ กิโลเมตร


การปฏิบัติการบริเวณเขาเดอะฮุค และเขายิบรอลตาร์

            ปลายเดือนมกราคม ๒๔๙๖ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปผลัดเปลี่ยนกองพลที่ ๑ จักรภพอังกฤษ วางกำลังบนภูเขาเดอะฮุค และลิดเติลยิบรอลตาร์ ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอินจินในแนวเจมส์ทาวน์
            ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยได้ขึ้นผลัดเปลี่ยนกองพันที่ ๑ ทางด้านซ้ายของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ มีเขตรับผิดชอบทางปีกซ้าย เริ่มจากเขาทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านนาปู เขา ๑๕๖ หมู่บ้านพุดซัง จนสุดปีกขวาที่เขา ๑๖๖ และได้ตั้งมั่นอยู่ในแนวนี้จนถึง ๘ เมษายน ๒๔๙๖ ลักษณะการรบเป็นการลาดตระเวณ และดักซุ่มยิงเพื่อจับเชลย จึงได้ให้กองร้อยในแนวหน้าส่งหน่วยลาดตระเวณขนาดย่อม ออกไปสกัดซุ่มยิงข้าศึกทั้งกลางวันกลางคืน มีการปะทะกับหน่วยลาดตระเวณข้าศึกหลายครั้ง
            ๑ มีนาคม ๒๔๙๖ ฝ่ายข้าศึกซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหวมานาน ได้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุก โดยเริ่มระดมยิงปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักไปยังกองร้อยที่ ๑ และที่ ๒ ของไทยอย่างรุนแรง จากนั้นกำลังข้าศึกประมาณ ๒ กองร้อย ได้เข้าโจมตีมีบางส่วนเข้ายึดหมู่คอยเหตุที่ ๓ ของกองร้อยที่ ๒ จึงเกิดการต่อสู้ถึงขั้นตะลุมบอน ฝ่ายเราส่งกำลังเข้าตีโต้ตอบยึดคืนกลับมาได้ ข้าศึกหยุดการโจมตี และถอนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  พร้อมกับการสูญเสียอย่างหนัก ฝ่ายเราเสียชีวิต ๗ คน บาดเจ็บ ๒๓ คน
            ๑๑ มีนาคม ๒๔๙๖ เวลา ๒๓.๐๐ น. หมวดรบพิเศษของกองพันทหารไทย ได้เคลื่อนที่เข้าสู่ที่หมายอย่างเงียบ ๆ โดยมีหมู่ลาดตระเวณจากกองร้อยที่ ๑ และกองร้อยที่ ๒ เคลื่อนที่ตามออกไปวางกำลังคุ้มครองการถอนตัว ฝ่ายเราเข้าตีที่ตั้งหมู่คอยเหตุของข้าศึก และถอนตัวกลับมาได้ไม่มีการสูญเสีย
            ในคืนวันที่ ๑๗ มีนาคม  ข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน ได้เข้าตีหน่วยทหารสหรัฐฯ กองพันทหารไทยได้ใช้อาวุธหนักยิงช่วยอย่างเต็มที่ ฝ่ายข้าศึกเสียกำลังมากกว่า ๔๐๐ คน ฝ่ายเราบาดเจ็บ ๑๐๐ คนเศษ นับเป็นการรบครั้งที่หนักที่สุดของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ในแนวรบนี้
            ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๖ ข้าศึกส่งหน่วยลาดตระเวณเข้าไปหยั่งกำลังฝ่ายเราตลอดแนวของกรม ข้าศึกประมาณ ๔ หมวด ได้เคลื่อนที่เข้าไปข้างหน้ากองร้อยที่ ๑ ของไทย ปะทะกับยามพังการณ์ และหมู่คอยเหตุของเรา ฝ่ายเราถอนตัวได้ทัน และใช้อาวุธหนักทุกชนิดยิงสกัดกั้นข้าศึกอย่างรุนแรง จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป
        กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายลงไปเป็นกองหนุน เมื่อ ๘ เมษายน ๒๔๙๖ โดยไปตั้งอยู่ที่ตำบลพับยอง ห่างจากเมืองอุยจองบูไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
            กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้ย้ายไปขึ้นกับกองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ เมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยจึงได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายไปเข้าที่ตั้งในแนวแคนซัส ซึ่งเป็นแนวหนุนของกองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ที่ตั้งกองพันอยู่ที่บ้านเชิงเขาหลังแคนซัส ต่อมาเมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๔๙๖ ก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายจากแนวแคนซัสไปที่หมู่บ้านคิโอ ทางทิศใต้ของเมืองชอร์วอน ๑๑ กิโลเมตร ในที่รวมพลของกองพลที่ ๒ สหรัฐฯ
            ๒๑ มิถุนายน ผู้บังคับกองพันทหารไทยผลัดที่ ๔ ได้ส่งมอบการบังคับบัญชาให้ผู้บังคับกองพันทหารไทยผลัดที่ ๕
            จากการปฏิบัติการของกองพันทหารไทยผลัดที่ ๔ ในบริเวณเมืองเคซอง มุรซาน อุยจองบู และชอร์วอน

ประธานาธิบดีชิงมังรีแห่งเกาหลีใต้ ได้มอบแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วย
พร้อมทั้งคำประกาศเกียรติคุณหน่วย เมื่อ ๘ เมษายน ๒๔๘๗ ดังนี้



ซิงมันรี
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
๘ เมษายน ๒๔๙๗


คำประกาศเกียรติคุณหน่วย

ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีขอประกาศเกียรติคุณด้วยความปิติอย่างซาบซึ้ง แด่


กองพันทหารไทย

ในการที่ได้ประกอบภารกิจดีเด่นเป็นพิเศษ แก่สาธารณรัฐเกาหลี

ในรอบระยะเวลาตั้งแต่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ถึง ๘ เมษายน ๒๔๙๖

            กองพันทหารไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจเป็นผลดีเยี่ยม ในการสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ผู้รุกรานประเทศเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุทธบริเวณพื้นที่เมืองเคซอง มุนซาน ชุนชอน อุยจองบู และชอร์วอน เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๙๖ ข้าศึกได้ทำการเข้าโจมตีกองร้อยที่ ๑ โดยมีปืนใหญ่ยิงช่วยอย่างหนัก แต่กองร้อยที่ ๑ ได้ทำการผลักดันข้าศึกด้วยความกล้าหาญ จนฝ่ายข้าศึกต้องสูญเสียกำลังไปเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการรบนี้ ทหารทุกคนในกองร้อยที่ ๑ ได้แสดงให้เห็นความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว อย่างเด่นชัด
            การปฏิบัติของบรรดาทหารไทยในกองพันทหารไทยอันดีเด่นนี้ ได้เป็นผลเสริมส่งเกียรติคุณให้แก่กองพันทหารไทย ราชการแห่งกองทัพบกไทย และกำลังทหารสหประชาชาติที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศเกาหลี ด้วยเกียรติประวัติซึ่งกองพันทหารไทยได้ปฏิบัติการไปนี้จะได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเกาหลี
            คำประกาศเกียรติคุณหน่วยนี้แสดงว่า ทหารไทยทุกคนซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจในสาธารณรัฐเกาหลีในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมมีสิทธิที่จะประดับแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณนี้ได้

                   ซิงมันรี






การปฏิบัติการของทหารบกผลัดที่ ๕


การจัดตั้งและการเดินทาง

            การจัดตั้งคงดำเนินการเช่นเดียวกันกับผลัดที่ ๒ - ๔ เป็นส่วนใหญ่ ด้จัดตั้งและเปิดกองบังคับการกองพันตั้งแต่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๙๖
            การเดินทางไปผลัดเปลี่ยน ได้จัดกำลังออกเดินทางเป็นส่วน ๆ รวม ๕ ส่วนด้วยกันดังนี้
            ส่วนที่ ๑  มีกำลังพล ๒๙๖ คน เดินทางโดยเรือหลวงหนองสาหร่ายและเรือหลวงปราบ เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๖ ไปถ่ายลงเรือสินค้าฮอร์ยุที่ทางการไทยจ้างไว้ที่เกาะสีชัง
            ส่วนที่ ๒  เดินทางโดยเครื่องบินของหน่วยบริการขนส่งทางอากาศทางทหารสหรัฐฯ เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๖
            ส่วนที่ ๓  มีกำลังพล ๔๐๒ คน เดินทางโดนเรือสินค้าฟูจิกาวา ซึ่งทางการไทยว่าจ้าง ออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพ ฯ เมื่อ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๖
            ส่วนที่ ๔  มีกำลังพล ๓๘๐ คน ออกเดินทางเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๖ โดยเรือสินค้าฮอร์ยุที่เกาะสีชัง
            ส่วนที่ ๕  มีกำลังพล ๒๐๘ คน ออกเดินทางเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๖ โดยเรือสินค้าฮอร์ยุที่เกาะสีชัง


การปฏิบัติการรบที่บูเมอแรง

            ในต้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับทราบจากหน่วยเหนือว่า กองพลที่ ๒ สหรัฐฯ จะขึ้นไปสับเปลี่ยนกองพลทหารราบที่ ๓ สหรัฐฯ ในแนวเจมส์ทาวน์ และกรมจะตั้งขึ้นไปสับเปลี่ยนกับกรมทหารราบที่ ๒๕ สหรัฐฯ ทางด้านขวาแนวรบ
            พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นเทือกเขาต่อเนื่องกันเป็นรูปครึ่งวงกลม หันส่วนโค้งไปทางด้านข้าศึก จึงได้ชื่อว่าบูเมอแรง ผู้บังคับกองพันทหารไทยพิจารณาภูมิประเทศ และเงื่อนไขจากหน่วยเหนือแล้ว จึงตกลงใจอาสาขึ้นประจำแนวต้านทานหลัก โดยเลือกเข้าประจำที่มั่นด้านซ้ายของกรม
            ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๙๖ เริ่มทำการตรวจภูมิประเทศร่วมกับหน่วยเหนือ และหน่วยข้างเคียง และนำกำลังเข้าที่ตั้งในตอนค่ำของวันรุ่งขึ้น และทำได้สำเร็จเรียบร้อยก่อนสว่าง การวางกำลังได้วางกำลัง ๓ กองร้อยในแนวต้านทานหลัก กองร้อยอาวุธหนักอยู่หลังกองร้อยที่ ๒ หน่วยกำลังยิงสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการปฏิบัติของกองพันทหารไทยคือ ๑ หมวดรถถัง และ๑ หมวดเครื่องยิงหนัก (ค.๔.๒ นิ้ว) หน่วยปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานยิงกระสุนวิถีราบต่อที่หมายทางพื้นดิน
            หลังจากสับเปลี่ยนกำลังในแนวที่มั่นแล้ว ก็ได้จัดหมู่คอบเหตุจากกองร้อยต่าง ๆ ในแนวออกไปประจำ ทำหน้าที่แนวต้านทานหลักรวม ๘ แห่ง และได้ส่งออกไปประจำที่ในตอนค่ำ นอกจากนั้นก็ได้จัดหมู่ลาดตระเวณออกไปตาม


ช่องทางปลอดภัย
(Saftl Lane)

            ระหว่าง ๑๕ - ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ได้มีการปะทะกันประปรายจากการปฎิบัติการของทั้งสองฝ่าย และมีสิ่งบอกเหตุว่าฝ่ายข้าศึกจะเข้าตีทางด้านกองร้อยที่ ๒ และกองร้อยที่ ๓ ตกกลางคืนวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ข้าศึกได้ยิงเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด ๘๒ มิลลิเมตร ไปยังที่ตั้งกองร้อยที่ ๓ อย่างหนัก พอใกล้รุ่งข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน เคลื่อที่ตั้งมุ่งเข้าตีกองพันที่ ๒ สหรัฐฯ  และระดมยิงด้วยอาวุธทุกชนิดไปยังกองร้อยที่ ๓ ของไทย ซึ่งอยู่ทางปีกขวาติดกับกองพันที่ ๒ สหรัฐฯ กองร้อยที่ ๓ ได้ยิงตัดหลังข้าศึกด้วยอาวุธทุกชนิด จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับ การปฎิบัติการครั้งนี้ ได้รับคำขอบคุณและคำชมเชยจากหน่วยเหนือ
            วันที่ ๑๗ กรกฎาคม เวลา ๒๑.๓๕ น. ข้าศึกประมาณ ๒ กองพันเคลื่อนที่เข้ามา ๒ ทาง ได้มีการปฏิบัติการทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องไปจนถึง ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๖ เวลา ๒๑.๔๕ น. ทหารไทยทุกหน่วยหยุดยิงตามคำสั่ง ก่อนเวลาที่กำหนดตามความตกลงสงบศึก

การปฏิบัติการภายหลังการหยุดยิง

            เช้าวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๖ หน่วยเหนือได้สั่งให้ทุกกองพัน ถอนกำลังลงไปยึดที่มั่นในแนว ซึ่งเดิมเป็นแนวหนุนของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ
            ระหว่าง ๓๑ กรกฎาคม - ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยได้รับมอบหน้าที่ให้ยึดรักษา พื้นที่ด้านซ้ายของแนวที่มั่นหลักภายหลังการสงบศึก
            วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๙๖ แม่ทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ ได้มีหนังสือชมเชยประสิทธิภาพอันดีเด่น ในการรบและการให้ความร่วมมือแก่กองบัญชาการสหประชาชาติ ของกองพันทหารไทย
            วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๙๖ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือขอบคุณ และชมเชยผลการปฏิบัติของกองพันทหารไทย


การปฏิบัติหน้าที่ในกองหนุนของกองพล

            ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๖ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นกองหนุนของกองพล ในพื้นที่หุบเขาบริเวณหมู่บ้าน สะกุมหัก อยู่ห่างจากเขตปลอดทหาร ประมาณ ๗ กิโลเมตร
            วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๙๖ กำลังส่วนที่ ๓ ของกองพันทหารไทยผลัดที่ ๕ ได้เดินทางมาถึงและผลัดเปลี่ยนกับกำลังพลของผลัดที่ ๔
            วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๖ กระทรวงกิจการสังคมเกาหลีใต้ได้มีหนังสือชมเชย และขอบคุณกองพันทหารไทย ที่ได้บริจาคอาหารให้แก่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของเกาหลีในกรุงโซล
            วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๙๖ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้ขึ้นประจำแนวที่มั่นตั้งรับอีกครั้งหนึ่ง กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายไปที่บ้านชุม ทำหน้าที่เป็นกองหนุนของกรม
            วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๙๖ กำลังพลส่วนที่ ๔ ของผลัดที่ ๕ ได้เดินทางมาถึงและผลัดเปลี่ยนกำลังกับผลัดที่ ๔


การเข้ายึดที่มั่นในแนวที่มั่นหลักภายหลังการสงบศึก

            วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายไปสับเปลี่ยนกับกองพันที่ ๓ สหรัฐฯ
            วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ กำลังส่วนที่เหลือของผลัดที่ ๕ ได้เดินทางมาผลัดเปลี่ยน กำลังพลส่วนที่เหลือของผลัดที่ ๔ เสร็จเรียบร้อย กองพันทหารไทยจึงมีกำลังพลผลัดที่ ๕ นับจากนั้นมา
            วันที่ ๙ เมษายน ๒๔๙๗ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ได้มอบเกียรติบัตรของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ชมเชยกองพันทหารไทย โดยมีผู้บังคับบัญชาของหน่วยเหนือถึงระดับกองพลเข้าร่วมพิธีด้วย
            วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ประธานาธิบดีซิงมันรี แห่งเกาหลีใต้ได้มอบแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณ แก่หน่วยกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๕ ในผลการปฏิบัติการรบของกองพันในพื้นที่ด้านเมืองกุมหว่า บริเวณเขาบูเมอแรง ในห้วงระยะเวลา ตั้งแต่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๖ ถึง ๒ พฤษภาคม ๒๔๙๗

การถอนกำลังไปประจำที่อุนชอนและการผลัดเปลี่ยนกำลังพล

            กองทัพบกได้จัดตั้ง และทำการฝึกกำลังพล ผลัดที่ ๖ พร้อมที่จะจัดส่งไปผลัดเปลี่ยนคราวเดียวกันทั้งกองพัน ในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๗
            กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้จัดพิธีสวนสนามขึ้นในปลายพฤษภาคม ๒๔๙๗ เพื่อเทิดเกียรติ และส่งกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๕ โดยมีผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของหน่วยทหารสหรัฐฯ และผู้บังคับบัญชา หรือผู้แทนหน่วยทหารสหประชาชาติ ที่ส่งกำลังไปร่วมในเกาหลีมาร่วมพิธีด้วย
            ในต้นเดือน มิถุนายน ๒๔๙๗ กองพันทหารไทย ผลัดที่ ๕ ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังจากที่มั่นตั้งรับในแนวหน้าลงไปพักในค่ายทหารที่หมู่บ้านพูลกันด๊อก ตำบลอุนชอน หลังแนวรบ และอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร เพื่อทำการผลัดเปลี่ยนกำลังพล





การปฏิบัติการของทหารบก ผลัดที่ ๖

(๕ มิถุนายน ๒๔๙๗ - ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๙๘)


การจัดการประกอบกำลัง และการเดินทาง

            ปลายเดือนมีนาคม ๒๔๙๗ กรมผสมที่ ๒๑ ได้ดำเนินการเรียกกำลังพลกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๖ เข้าที่รวมพลในบริเวณกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์บางเขน โดยรับกำลังพลจากกองทัพที่ ๑ กองทัพที่ ๒  กองทัพที่ ๓ มณฑลทหารบกที่ ๕ และกองพลทหารม้า ตามที่กองทัพบกมอบหมาย เมื่อดำเนินกรรมวิธีด้านกำลังพลเสร็จ ก็ได้เคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อทำการฝึก
            การเดินทางแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนล่วงหน้า และส่วนใหญ่ ส่วนล่วงหน้ารวม ๒๗ คน ออกเดินทางด้วยเครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด เมื่อ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ไปลงที่สนามบิน ฮาเนดะ กรุงโตเกียว แล้วเดินทางไปเกาหลีใต้โดยเครื่องบินบริการขนส่งทางอากาศ ทางทหารสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ รวม ๑,๐๘๘ คน เดินทางโดยทางเรือ ใช้เรือ ฮอร์ยุ และเรือพูจิกาวา เมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ถึงเมืองปูซาน เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๗ แล้วเดินทางต่อโดยรถไฟ ต่อด้วยรถยนต์ไปยังที่ตั้งกองพันทหารไทยที่หมู่บ้านพุลกันด๊อก ตำบลอุนชอน เมืองโปชอน


การปฏิบัติการของกองพันทหารไทย
  (๕ มิถุนายน ๒๔๙๗ - ๑๙ มกราคม ๒๔๙๘)
            ๑๐ มิถุนายน ๒๔๙๗ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ขึ้นเป็นกองรบในแนวหนุน (แนวแคนซัส) กองพันทหารไทยเป็นกองรบทางปีกขวาของกรม ในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าว ได้มีกิจกรรมให้ปฏิบัติเป็นอันมาก เช่นการฝึกซ้อมการปฏิบัติตามแผนยุทธการ ฝึกซ้อมการเคลื่อนย้าย ฝึกซ้อมการหลบภัยทางอากาศ การอบรมวิชาเคมี ชีวะ รังสี การอบรมเรื่องการรบร่วม การอบรมการข่าวกรอง ฯลฯ
            เนื่องจากกองพลที่ ๒ สหรัฐฯ จะต้องถอนกำลังกลับสหรัฐฯ กองพันทหารไทยจึงได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นสมทบ กองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ ใน ๒๓ สิงหาคม ๒๔๙๗
            ๖ กันยายน ๒๔๙๗ ได้รับแจ้งจากหน่วยเหนือว่า กองพันทหารไทย จะต้องไปขึ้นสมทบกองพลนาวิกโยธินที่ ๑ สหรัฐฯ เพื่อประจำแนวคิมโปด้านเมืองฮินชอนต่อไป ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหน่วยในกองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ จะต้องถอนกลับสหรัฐฯ เช่นกัน กองพันทหารไทยจึงได้รับคำสั่งให้ไปสมทบกองทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ตั้งแต่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๗ และให้สนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุง จากกองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ ต่อมาเมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๙๗ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปสมทบกรมทหารราบที่ ๑๗ กองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ พร้อมกันนี้ก็ได้เตรียมการถอนกำลังกองพัน (หย่อน ๑ กองร้อยปืนเล็ก) กลับประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลไทย
            ๒๒ ธันวาคม ๒๔๙๗ กองพันทหารไทยกับ กองพันทหารเบลเยี่ยมได้ร่วมกันสวนสนามอำลา หน่วยทหารในกองบัญชาการสหประชาชาติ และเกาหลีใต้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้เป็นประธาน มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองบัญชาการสหประชาชาติเข้าร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก


การเตรียมถอนกำลังกลับประเทศไทย

            ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลังจากที่ได้มีการลงนาม ในความตกลงสงบศึกแล้ว สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีค่อนข้างสงบลงมาก ชาติพันธมิตรที่ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี หลายประเทศเริ่มถอนกำลังทหารกลับ รวมทั้งสหรัฐฯ เอง รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายถอนกำลังทหารไทยกลับเช่นกัน
            ทุกเหล่าทัพยกเว้น กองทัพอากาศเห็นควรให้ถอนกำลังกลับ จึงมีมติให้คงเหลือเฉพาะหน่วยบินลำเลียง กระทรวงกลาโหมได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเจรจากระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ขอถอนกำลังทหารกลับ แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งตอบให้เจรจากับกองบัญชาการ สหประชาชาติที่กรุงโตเกียวโดยตรง ผลการเจรจาทางกองบัญชาการสหประชาชาติไม่ให้ถอนกำลังทหารบกกลับทั้งหมด ให้คงเหลือไว้ ๑ หมวด แต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองบัญชาการสหประชาชาติ ได้ขอร้องให้คงเหลือกำลังไว้ ๑ กองร้อย
            ๖ มกราคม ๒๔๙๘ กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย กองพันทหารไทยผลัดที่ ๖ ได้เตรียมถอนกำลังกลับประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือน ธันวาคม ๒๔๙๗ และเมื่อ ๑๙ มกราคม ๒๔๙๘ กองพันทหารไทย (หย่อน ๑ กองร้อย) ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยทางเรือ จากท่าเรือปูซาน โดยเรือ เมอิโกะ ถึงประเทศไทย เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๘

กองร้อยอิสระ (๑๙ มกราคม - ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๘)

            กองร้อยอิสระของไทยยังคงอยู่ในที่ตั้งเดิมของกองพันทหารไทย และยังคงขึ้นสมทบ กรมทหารราบที่ ๑๗ กองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ สถานการณ์ทั่วไปยังคงสภาพเดิม กำลังของทั้งสองฝ่ายยังคงประจำอยู่ในแนวที่มั่น
            หลังจากที่กองร้อยอิสระปฏิบัติการอยู่ในสมรภูมิเกาหลีเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๙๘ ก็ได้ผลัดเปลี่ยนกับผลัดที่ ๘ แล้วเดินทางกลับโดยทางเรือของกองบัญชาการสหประชาชาติที่เมืองปูซาน



การปฏิบัติการของทหารบกผลัดที่ ๗ - ๒๓

(๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๘ - ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕)


การประกอบกำลัง

            การประกอบกำลังกองร้อยอิสระในระยะแรก ยังคงรับกำลังพลจากกองทัพที่ ๑ กองทัพที่ ๒ กองทัพที่ ๓ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกองทัพภาค มณฑลทหารบกที่ ๕ และกองพลทหารม้า คัดเลือกและจัดส่งให้ ต่อมาจึงได้มีการคัดเลือกกำลังพลจากศูนย์สงครามพิเศษ และหน่วยในส่วนกลางด้วย
            เมื่อได้กำลังพลก็ส่งเข้ารับการฝึกตามระยะเวลา และในพื้นที่ของหน่วยต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมดังนี้
            ผลัดที่ ๑๑  ฝึกในพื้นที่กรมผสมที่ ๒๑ ถนนอำนวยสงคราม เชิงสะพานเกษะโกมล กรุงเทพฯ ใช้เวลา ๑ เดือน
            ผลัดที่ ๑๓  ฝึกในพื้นที่ศูนย์ฝึกปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลาฝึก ๑๐ สัปดาห์
            ผลัดที่ ๑๕  ฝึกในพื้นที่กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ กรุงเทพฯ
            ผลัดที่ ๑๘  ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ กรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ใช้เวลาฝึก ๒๑ สัปดาห์
            ผลัดที่ ๑๙ ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ชลบุรี ใช้เวลาฝึก ๔ เดือน
            ผลัดที่ ๒๐  ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ชลบุรี ใช้เวลาฝึก ๒๑ สัปดาห์
            ผลัดที่ ๒๒ - ๒๓  ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ชลบุรี และฝึกร่วมกับหน่วยนาวิกโยธิน ในพื้นที่ อำเภอสัตหีบ ชลบุรี เป็นเวลา ๒๒ สัปดาห์ มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมในด้านการช่วยเหลือประชาชน เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย

ที่ตั้งและการบังคับบัญชา

            กองร้อยอิสระผลัดที่ ๗ - ๒๑ ตั้งอยู่ที่ตำบลอุนชอน เมืองโปชอน ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมตั้งแต่เป็นกองพันทหารไทยผลัดที่ ๖ โดยขึ้นสมทบกองทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ในความควบคุมทางยุทธการ และรับการส่งกำลังบำรุง จากกองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ
            เมื่อกองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๒ จึงย้ายจากที่ตั้งเดิมไปอยู่ที่ค่ายเมอเมด (CampMermaid) ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของกองร้อยทหารปืนใหญ่ ค้นหาเป้าหมายสหรัฐฯ ที่ตำบลโฮวัน เมืองอุยจองบู อยู่ทางตอนใต้ของที่ตั้ง ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร
            กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๒ และ ๒๓ ได้เปลี่ยนไปขึ้นการควบคุมทางยุทธการ และรับการส่งกำลังบำรุงจากกองทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ


การปฏิบัติการของกองร้อยอิสระผลัดที่ ๗ - ๒๓

            ส่วนใหญ่เป็นการเตรียมพร้อม การฝึกทางยุทธวิธี และการฝึกตามวงรอบ การช่วยเหลือประชาชนชาวเกาหลีในพื้นที่ใกล้เคียง และการจัดกิจกรรมพิเศษ อันได้แก่การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาติพันธมิตรต่าง ๆ จัดงานในวันสำคัญของชาติไทย และวันสำคัญทางพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์

การถอนกลับประเทศไทย

            ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สภากลาโหม มีมติเห็นควรที่จะถอนกำลังทหารไทยในเกาหลีกลับตามข้อเสนอของ พลตรี โชติ  คล่องวิชา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ซึ่งแจ้งว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตรียมที่จะถอนกำลังทหารที่ประจำในเกาหลีกลับ และบางส่วนได้ถอนกลับไปแล้ว กองร้อยอิสระของไทยได้รับการสนับสนุนลดน้อยลงมาก และทางสหรัฐฯ ได้แจ้งให้ทราบว่าไม่ขัดข้องถ้าทางไทยจะถอนกำลังทหารไทยออกจากเกาหลีใต้  จึงสมควรถอนกำลังทหารกลับ และยุบเลิกหน่วยบินลำเลียง
            ตามมติสภากลาโหมดังกล่าว ให้กองทัพบกจัดกำลังทหารไว้ประจำ ๑ หมู่เกียรติยศ จำนวน ๖ คน ขึ้นอยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ให้ยุบเลิกสำนักงานนายทหารติดต่อประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ ณ กรุงโตเกียว และกรุงโซล ซึ่งจะได้ประกาศถอน และยุบเลิกภายหลังเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๔
            กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๓ ซึ่งเป็นกำลังทหารบกผลัดสุดท้ายของไทย ได้เตรียมการถอนกำลังกลับประเทศไทยใน ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕ ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๑๕ กองบัญชาการสหประชาชาติได้จัดพิธีอำลา เป็นเกียรติยศแก่กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๓ ที่สนามไนท์ (Knight Field) ในกรุงโซล โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการสหประชาชาติ และผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้เป็นประธาน มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก เช่น นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ผู้แทนประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้แทนชาติพันธมิตรต่าง ๆ ที่ร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี กองบัญชาการสหประชาชาติได้จัดให้มีการยิงสลุต และพิธีสวนสนามเป็นเกียรติยศแก่กองร้อยอิสระของไทย
            ในวันเดินทางกลับของกองร้อยอิสระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกาหลีใต้ ผู้แทนรัฐบาลเกาหลีใต้ ผู้แทนกองบัญชาการสหประชาชาติ รวมทั้งชาวเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากได้ไปส่งที่สนามบินคิมโป กรุงโซลด้วยความอาลัย กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๓ ไดเดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๑๔๑ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ถึงประเทศไทยในวันเดียวกัน
            รวมระยะเวลาที่กองกำลังทหารไทยไปปฏิบัติการในเกาหลีใต้ตั้งแต่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ถึง ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕ รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา ๑๖ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน จำนวนทหารบกที่ไปร่วมปฏิบัติการ ๒๓ ผลัด รวม ๑๑,๗๗๖ คน

หมู่เกียรติยศ

            หมู่เกียรติยศ จำนวน ๖ คน ประกอบด้วย จ่าสิบเอก ๕ คน สำนักงานนายทหารติดต่อ ๗ ได้มอบหมู่เกียรติยศของไทยให้ขึ้นสมทบกองร้อยกองเกียรติยศ ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ (UNC Honor Guard Company) นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา ยังคงประจำอยู่ในเกาหลีใต้มาจนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่เชิญธงชาติไทยเข้าร่วมพิธีเกียรติยศต่าง ๆ ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งเป็นชาติหนึ่งที่ส่งกำลังเข้าร่วมรบในประเทศเกาหลี

กองร้อยกองเกียรติยศประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ

            กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยนี้ขึ้น เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ที่เมืองเตกู ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๖ ได้มีการปรับปรุงการจัดใหม่ โดยให้บรรดาชาติพันธมิตร ที่ส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลีทั้ง ๑๖ ชาติ อันได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา โคลัมเบีย เอธิโอเปีย ฝรั่งเศส กรีซ ลักแซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อัฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จัดทหารของตนเข้าสมทบในหมวดทหารกองเกียรติยศด้วย โดยจัดหมู่เชิญธงไปร่วมในหมวดทหารกองเกียรติยศมาโดยตลอด จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อชาติพันธมิตรส่วนใหญ่ถอนกำลังทหารของตนกลับ การจัดหน่วยกองเกียรติยศจึงเปลี่ยนแปลงไป  เหลืออยู่เพียง ๕ ประเทศสคือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรฯ เกาหลีใต้ ไทย และตุรกี ต่อมาตุรกีได้ถอนกำลังออกไป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ฟิลิปปินส์จึงจัดส่งทหาร ๑ หมู่ไปประจำหน้าที่แทน และในปี พ.ศ.๒๕๑๓ หน่วยกองเกียรติยศเป็นกองร้อยกองเกียรติยศ ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ ต่อมาสหราชอาณาจักรฯ ได้ถอนกำลัง ๑ หมวด ที่ประจำอยู่ในเกาหลีใต้กลับไปเกาะฮ่องกง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ จึงจัดกำลัง ๑ หมวดเข้าทดแทน


การปฏิบัติการของทหารเรือ
หลังจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารบกไปปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๙๓ แล้ว ต่อมาเมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๔๙๓ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ส่งกำลังทหารเรือ และทหารอากาศไปร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี

การเตรียมการ

            กองทัพเรือได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมให้เตรียมเรือรบสำหรับเดินทางไปยังเกาหลีใต้ และกองทัพเรือได้มีคำสั่งเมื่อ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๓ ให้กองเรือยุทธการ จัดเรือหลวงประแส เรือหลวงบางปะกง และเรือหลวงสีชัง สำหรับลำเลียงกำลังพล และคุ้มกันขบวนเรือที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้
            ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม กองทัพเรือได้มีคำสั่งตั้งกองบังคับการหมู่เรือไปราชการเกาหลี (บก.หมู่เรือ)
            ๑๖ ตุลาคม ๒๔๙๓ กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการปฏิบัติ โดยในส่วนของกองทัพเรือให้จัดเรือลำเลียง และคุ้มกันดังนี้
            ๑ ให้เรือสินค้าเอกชน ๑ ลำ เพื่อลำเลียงทหารส่วนแรกของกรมผสมที่ ๒๑
            ๒ ให้จัดเรือหลวงสีชัง ทำการลำเลียงส่วนหนึ่งของกรมผสมที่ ๒๑ เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ให้เป็นเรือลำเลียงประจำหน่วยทหารไทย ประจำเกาหลีหรือที่ญี่ปุ่นต่อไป
            ๓ ให้จัดเรือหลวงประแสกับ เรือหลวงบางปะกง ทำหน้าที่คุ้มกันขบวนเรือ เมื่อหมดหน้าที่ให้เข้าร่วมปฏิบัติการยุทธตามที่กองกำลังสหประชาชาติเห็นสมควรต่อไป และมีฐานทัพเรืออยู่ที่ซาเซโบ
            ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๓ กองทัพเรือได้มีคำสั่งให้เรือรบทั้งสามลำรวมขึ้นเป็นหมู่เรือเรียกว่า




หมู่เรือปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติ (มส.)


การเดินทางไปปฏิบัติการ

            ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓ เรือหลวงทั้งสามลำพร้อมด้วยเรือสินค้า เฮอร์ตาเมอร์สค์ ซึ่งทางราชการเช่ามาสำหรับลำเลียงทหารเดินทางไปเกาหลีใต้ ออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพ ฯ คลองเตย ไปยังฐานทัพเรือสัตหีบแวะรับเสบียง น้ำจืด น้ำมันเชื้อเพลิง และอาวุธกระสุน และได้ออกเดินทาง เมื่อ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๓ ผ่านแหลมญวน ถึงเกาะโอกินาวา เมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เข้าจอดในอ่าวบัคเนอร์ (Buckner Bay) และได้ออกเดินทางต่อ เมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ถึงท่าเรือปูซาน เมื่อวันที่ ๗ เดือนเดียวกัน อีก ๒ วันต่อมาก็เดินทางไปยังฐานทัพเรือซาเซโบ ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการมอบเรือของไทยทั้งสามลำ ให้อยู่ในบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจที่ ๙๕

การจัดกำลังทางเรือของสหประชาชาติในสงครามเกาหลี

            กำลังทางเรือ สหประชาชาติได้มอบให้กองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นผู้บังคับบัญชากองเรือสหประชาชาติ (United Nation Naval Forces ) โดยให้กองกำลังทางเรือภาคตะวันออกไกล รับผิดชอบงานด้านยุทธการ และยุทธบริการ กำลังทางเรือที่ปฏิบัติการรบในสงครามเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือที่ ๗ ( 7 th Fleet) ของกองกำลังทางเรือสหรัฐ ภาคตะวันออกไกล (Naval Forces Far East)
            กองเรือเฉพาะกิจที่ ๙๒  (Task Force 92 : TF92) มีภารกิจเป็นกองเรือปฏิบัติการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงของกองทัพเรือที่ ๗ สหรัฐฯ
            กองเรือเฉพาะกิจที่ ๙๕  (Task Force 95 : 7F95) มีภารกิจเป็นกองเรือปฏิบัติการปิดอ่าว และคุ้มกันของสหประชาชาติ กองเรือนี้ยังแบ่งออกเป็นหมวดเรือเฉพาะกิจ และหน่วยเรือเฉพาะกิจ
            มส.ขึ้นตรงกับหมวดเรือเฉพาะกิจที่ ๙๕๕ ซึ่งมีภารกิจคุ้มกันการลำเลียง (Frigate Escorts) มส.ได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการดังนี้
            ๑ ทำการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน เรือลำเลียงอมภัณฑ์ และเรือลำเลียงเสบียง และพัสดุในน่านน้ำรอบชายฝั่งเกาหลีเหนือ จากการโจมตีของเรือดำน้ำ และเครื่องบินของฝ่ายข้าศึก
            ๒ ปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือสหประชาชาติในการระดมยิงฝั่ง และที่หมายทางทหาร
            ๓ ปฏิบัติการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ได้แก่การตรวจการณ์ และรักษาด่าน เป็นต้น

การปฏิบัติการของ มส.

            ในระยะแรก ต้องเผชิญอุปสรรคหลายประการ เพราะเรือหลวงประแสและเรือหลวงบางปะกงของไทย เป็นเรือประเภทคอร์เวต ที่ซื้อจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์เดินเรือล้วนเป็นแบบอังกฤษ และค่อนข้างล้าสมัย อังกฤษเลิกผลิตทั้งอาวุธ และตัวปืนประจำเรือแล้ว จึงต้องขอเปลี่ยนมาใช้อาวุธของ สหรัฐฯ
            - การปฏิบัติการครั้งแรก ตรวจและรักษาช่องทางเข้าฐานทัพเรือซาเซโบ  เริ่มตั้งแต่ ๔ ธันวาคม ๒๔๙๓ จนถึง ๓ มกราคม ๒๔๙๔ ทำการตรวจการณ์ และรักษาด่าน
            - การปฏิบัติการระดมยิงชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือครั้งแรก เริ่ม ๓ มกราคม ๒๔๙๔ โดยได้ระดมยิงชายฝั่งบริเวณเส้น ละติจูดที่ ๓๘ - ๓๙ องศาเหนือ ระหว่างแนวเมืองชังจอน กับเมืองยังยัง วันที่ ๕ และ ๖ มกราคม ๒๔๙๔ ได้ทำการระดมยิงสถานีรถไฟ เส้นทางคมนาคม และสิ่งปลูกสร้างทางทหาร บริเวณเมืองโชโด หลังจากนั้นเรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกงประสบกัยพายุหิมะหนักตลอดคืน เรดาร์ประจำเรือใช้การไม่ได้ เช้าวันรุ่งขึ้นเรือหลวงประแสได้แล่นไปเกยตื้น ในเขตข้าศึกบริเวณแหลม คิซามุน เหนือเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เรือลากจูงของสหรัฐฯ พยายามที่จะลากจูงเรือออกมาหลายวันแต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๙๔ จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้สละเรือ และอนุมัติให้ทำลายเรือได้ เรือพิฆาตสหรัฐฯ จึงได้ระดมยิงเรือหลวงประแส ประมาณ ๕๐ นัด จนกระทั่งกลายสภาพเป็นเศษเหล็ก

การปฏิบัติการของเรือหลวงบางปะกง

            - การระดมยิงฝั่งเมืองวอนชานครั้งที่ ๑ (๑๖ เมษายน - ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๙๔)  เรือหลวงบางปะกงร่วมกับเรือรบสหรัฐฯ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ไปยังอ่าววอนชาน เรือหลวงบางปะกงได้ทำการระดมยิง หน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่งของข้าศึกบนแหลมกัลมากัก ใช้เวลาปฏิบัติการ ๑๘ วัน (๑๓ พฤษภาคม ได้ทำการผลัดเปลี่ยนกำลังพล ทำเสร็จใน ๑ มิถุนายน ๒๔๙๔)
            - การระดมยิงฝั่งเมืองวอนชานครั้งที่ ๒ (๑๓ - ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๔)  เรือหลวงบางปะกง และเรือฟรีเกต สหรัฐฯ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ถึงอ่าววอนชาน ได้ระดมยิงที่หมาย หน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่งที่ตำบลฮัมจิ กับเส้นทางลำเลียงบริเวณชองดอง การปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับคำชมเชยเป็นอันมาก
            ในเดือนสิงหาคม ๒๔๙๔ กำลังพลประจำเรือ รุ่นที่ ๒ จำนวน ๕๕ คน ได้เข้าผลัดเปลี่ยนรุ่นที่ ๑ ส่วนที่เหลือ
            - การปฏิบัติการที่เมืองวอนชานครั้งที่ ๓ (๓ - ๑๐ กันยายน ๒๔๙๔)  เรือหลวงบางปะกงเดินทางถึงอ่าววอนชาน ได้รับมอบภารกิจเป็นเรือรักษาด่าน วันต่อมาได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามแผนการลาดตระเวณ ได้รับคำสั่งให้ยิงที่หมายโดยอิสระ ได้ระดมยิงที่หมายทางรถไฟ และสะพานรถไฟชายฝั่งเมืองชองจิน วันต่อมาทำหน้าที่รักษาด่าน และเข้ายิงที่หมายเส้นทางลำเลียงบริเวณเหนือแหลมโฮโด ปันโด ในอ่าววอนชาน เข้ายิงที่หมายหน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่งของข้าศึก บริเวณปลายแหลมโฮโดปันโดในอ่าววอนชาน แล้วออกลาดตระเวณไปยังชองจิน วันต่อมายิงที่หมายทางรถไฟ สถานีรถไฟ สะพานรถไฟ บริเวณชายฝั่งเมืองชองจิน วันต่อมาทำหน้าที่รักษาด่านเขตทิ้งระเบิด และยิงที่หมายบริเวณอ่าววอนชาน
            - การปฏิบัติการที่เมืองวอนชาน ครั้งที่ ๔ (๒๔ ตุลาคม ๒๔๙๔)  ได้ไปปฏิบัติการ ณ เมืองวอนชาน โดยทำการลาดตระเวณฝั่งตะวันออก ขึ้นไปทางเหนือแหลมไฮโดปันโด ป้องกันเรือเล็กข้าศึกลอบเข้าไปวางทุ่นระเบิด หรือทำการลำเลียงทหาร
            - การปฏิบัติการที่เมืองวอนชาน ครั้งที่ ๕ (๑๗ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔)  ทำหน้าที่รักษาด่านเวลากลางคืน และลาดตระเวณเวลากลางวัน

เรือหลวงบางปะกงเดินทางกลับประเทศไทย

            ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๔ เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส (ลำใหม่) เรียกว่า หมู่เรือฟรีเกต (มฟ.) ได้เดินทางมาถึงฐานทัพเรือซาเซโบ กองทัพเรือได้กำหนดให้เรือหลวงบางปะกงพ้นจากหน้าที่ ให้เข้าอู่ซ่อมใหญ่ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากที่ซ่อมเสร็จเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ และได้เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๔๙๕

การส่งเรือสีชังกลับประเทศไทย

            เนื่องจากเรือหลวงสีชังมีขนาดเล็ก จึงมิได้ใช้ให้ปฏิบัติการอย่างใด จึงพิจารณาให้เดินทางกลับ กระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๔ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับกองบัญชาการสหประชาชาติ เพื่อขออนุญาตอย่างเป็นทางการต่อไป เรือหลวงสีชังเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๙๔

การรับมอบเรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส

            รัฐบาลไทยให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเจรจาขอซื้อเรือฟรีเกต ๒ ลำ ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยินดีขายให้โดยมีเงื่อนไข ให้ใช้เรือดังกล่าวในการปฏิบัติการรบร่วมกับสหประชาชาติ ในสงครามเกาหลี และให้ทัพเรือสหรัฐฯ ภาคแปซิฟิค (U.S.Pacific Fleet) จัดเรือฟรีเกตประจำการ ๒ ลำ คือเรือ USS Glendale กับเรือ USS Gallup ขายให้ไทย ในราคา ๘๖๑,๙๔๖ เหรียญสหรัฐฯ เรือทั้งสองลำนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่า เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส ตามลำดับ
            ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๔ ได้มีพิธีส่ง และรับมอบเรือฟรีเกตทั้งสองลำที่ท่าหมายเลข ๑๒ ฐานทัพเรือโยโกสุกะ โดยมีผู้บัญชาการฐานทัพเรือสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น และเกาหลี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งมอบให้กับหัวหน้าคณะทูตไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับมอบในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย เรือฟรีเกตทั้งสองลำได้ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือไทยใน ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๔

การปฏิบัติการของเรือหลวงท่าจีน 

            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑ (๑๑ - ๒๔ มกราคม ๒๔๙๕)  ออกเดินทางไปปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงพัสดุ และเรือบรรทุกน้ำมัน จากนั้นไปลาดตระเวณหน้าอ่าววอนซาน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ (๑๓ - ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕)  ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงไปยังเมืองชองจิน ระดมยิงหน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่ง คุ้มกันขบวนเรือลำเลียงบริเวณแนวทิ้งระเบิด
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๓ (๑๘ มีนาคม - ๗ เมษายน ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ คุ้มกันเรือลำเลียงบริเวณเส้นขนานที่ ๓๘
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๔ (๒๖ เมษายน - ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังเมืองปูซาน คุ้มกันหน่วยเรือเฉพาะกิจไปบริเวณเกาะอูลลัง
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๕ (๒ - ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันขบวนเรือลำเลียงบริเวณน่านน้ำเมืองซูยอง คุ้มกันหน่วยเรือเฉพาะกิจ ไปบริเวณเกาะอูลลัง คุ้มกันกองเรือใหญ่เข้ารับน้ำมันเชื้อเพลิง จากเรือบรรทุกน้ำมัน
            - การผลัดเปลี่ยนกำลังพลและซ่อมใหญ่
            ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๕ กำลังพลรุ่นที่ ๒ ชุดที่ ๒ ลงประจำเรือ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๙๕  เรือหลวงท่าจีนเข้าอู่ซ่อม ซ่อมเสร็จ ๒๑ กันยายน ๒๔๙๕ ค่าซ่อม ๓๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ
            - การยุบเลิกกองบัญคับการหมู่เรือฟรีเกต
            กองทัพเรือได้มีคำสั่งเมื่อ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๙๕ ให้ยุบเลิกกองบังคับการหมู่เรือฟรีเกต (มฟ.) ให้กำลังพลส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไทย
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๖ (๗ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์ และคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางไปชองจิน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๗ (๑๕ - ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์เดินทางไปเมืองโปฮา และไปวอนชาน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๘ (๒๑ พฤศจิกายน - ๒ ธันวาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์
            - การปฏบัติการ ครั้งที่ ๙ (๑๑ - ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๐ (๒๔ ธันวาคม ๒๔๙๕ - ๑๔ มกราคม ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปบริเวณวอนชาน ซองจิน คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางกลับฐานทัพเรือ
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๑ (๒๗ มกราคม - ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์ และเรือบรรทุกน้ำมัน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๒ (๒๔ - ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปปฏิบัติการบริเวณเกาะอูลลัง
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๓ (๒๗ กุมภาพันธ์ - ๓ มีนาคม ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปบริเวณเมืองวอนชาน
            - การผลัดเปลี่ยนกำลังพล กำลังพลรุ่นที่ ๕ ชุดที่ ๑ จำนวน ๒๐๕ คน เดินทางมาถึง และผลัดเปลี่ยนเมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๔๙๖
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๔ - ๑๙ (๒๗ มีนาคม - ๙ ตุลาคม ๒๔๙๖)  ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์ เรือบรรทุกน้ำมันไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ ด้านฝั่งทะเลตะวันออกของเกาหลีเหนื
          
- การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในประเทศไทยครั้งแรก
                หลังจากได้รับอนุมัติจากกองบัญชาการสหประชาชาติแล้ว เรือหลวงท่าจีนซึ่งปฏิบัติการอยู่ในยุทธบริเวณเกือบ ๒ ปี ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน
            เมื่อได้ผลัดเปลี่ยนกำลังพลประจำเรือครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นที่ ๖ ชุดที่ ๑ แล้วใน ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ เรือหลวงท่าจีนพร้อมด้วยพลประจำเรือหลวงประแสจำนวนหนึ่ง ออกเดินทางไปยังฐานทัพเรือซาเซโบ
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒๐ - ๒๖ (๓๐ มีนาคม - ๑๐ เมษายน ๒๔๙๗)  ทำหน้าที่คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันให้กับกองเรือในพื้นที่ปฏิบัติการในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
            - การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในประเทศไทย ครั้งที่ ๒ ในเดือนเมษายน ๒๔๙๗ ครบกำหนดการผลัดเปลี่ยนทหารประจำเรือ รุ่นที่ ๖ ชุดที่ ๒ เรือหลวงท่าจีนจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ผลัดเปลี่ยนกำลังพลชุดที่ ๒ แล้วเดินทางกลับถึงฐานทัพเรือ เซซาโบ เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒๒ - ๒๖ (๖ มิถุนายน - ๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๗)  ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียง และบรรทุกน้ำมัน ในเขตน่านน้ำเกาหลีเหนือ และครั้งสุดท้ายคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังเมืองอินชอนทางฝั่งตะวันตกของเกาหลีใต้
            รวมเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้นของเรือหลวงท่าจีน ๒๒๙ วัน




www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/.../korea1.htm -
http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/military/korea/korea1.htm







หน้าก่อน หน้าก่อน (1/2)


สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-09-20 (4474 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©