-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 519 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เทคโนฯ เกษตร





กำลังปรับปรุงครับ


การปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารพืชในการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์

วันพฤหัสบดีที่ 04 สิงหาคม 2011 เวลา 00:00 น. ผู้ดูแลระบบ ผู้ชม: 1226




การปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารพืชในการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์

โดย เคหการเกษตร ข้อมูล ผศ.ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี

   

ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) 
ของสารละลายธาตุอาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการปลูกเลี้ยงพืชในแบบไฮโดรโพนิกส์  พืชจำเป็นต้องดูดซึมธาตุอาหารต่างๆ เข้าไปในต้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการเจริญเติบโตทั้งในการปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์และการปลูกในดิน ไม่ว่าสารละลายธาตุอาหารจะดีมากเพียงใดพืชอาจเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรและอาจมีปัญหาได้ถ้า pH สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป พืชจะดูดซึมธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองได้เป็นปกติก็ต่อเมื่อ pH ของสารละลายธาตุอาหารอยู่ในช่วงที่เหมาะสม



ค่า pH มีความสำคัญ

    ค่าที่บ่งชี้ความเป็นกรดเป็นด่างของสารละลายคือค่า pH ที่มีค่าอยู่ในช่วงตั้งแต่ 0 (เป็นกรดสูงอย่างยิ่ง)  ถึง 14 (เป็นด่างหรือเป็นเบสสูงอย่างยิ่ง)  โดยที่ถือเอาว่า pH 7 เป็นกลางเพราะมีความเป็นกรด (H+) และความเป็นด่าง (OH-) เท่ากัน ที่ระดับ pH ที่แตกต่างกันหนึ่งหน่วยเช่น pH 5 กับ pH 6 ความเป็นกรดมีค่าต่างกัน 10 เท่า  และสารละลายที่มี pH 5 มีความเป็นกรด 100 เท่าของสารละลายที่มี pH 7 พืชส่วนใหญ่ชอบสารละลายที่เป็นกรดเล็กน้อย ในปัจจุบันขอแนะนำให้ปรับ pH  ของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ในช่วง 6.0 ถึง 6.5 เนื่องจาก pH ของสารละลายธาตุอาหารที่ปลูกเลี้ยงมักจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นจึงควรถือเอา pH 6.0 เป็นเป้าหมายในการปรับ ในช่วงที่เริ่มมีการปลูกพืชโดยไม่ใช่ดินในประเทศไทย มักจะถือเอาว่าค่า pH ที่เหมาะสมอยู่ที่ 5.5  และรักษาระดับ pH ของสารละลายธาตุอาหารอยู่ในช่วง 5.2 ถึง 5.8 การปรับสารละลายธาตุอาหารให้มี pH ประมาณ 5.5 อยู่เสมอทำให้พืชผักเจริญเติบโตถ้าไม่มีโรครากเน่ารบกวน แต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่าสูง  การปรับ pHของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ในช่วง 6.0 ถึง 6.5 เมื่อใส่สปอร์ของเชื้อไตรโคเดอร์มาลงไปด้วยจะให้ผลดีทั้งทางด้านการปลอดโรครากเน่าและด้านการเจริญเติบโตของพืชผักที่ไม่แพ้การปรับ pH ให้มีเป้าหมายอยู่ที่ pH 5.5 เมื่อใช้ไตรโคเดอร์มาจะไม่มีการตกตะกอนของแคลเซียมฟอสเฟตในช่วง pH ดังกล่าว 
    
ถ้าท่านอ่านเอกสารจากต่างประเทศอาจพบว่าระดับ pH ที่แนะนำให้ปรับต่ำกว่าที่แนะนำไว้ในเอกสารนี้ เช่นบางเอกสารแนะนำให้ปรับให้อยู่ในช่วง 5.2 ถึง 5.8 โดยที่มีจุดเหมาะสมอยู่ที่ 5.5 ดังที่เราเคยใช้กันมาก่อนในประเทศไทยในช่วงที่เริ่มมีไฮโดรโพนิกส์ซึ่งเราใช้ข้อมูลของต่างประเทศที่มีอากาศเย็นกว่าเราเป็นหลัก  เอกสารต่างประเทศบางฉบับแนะนำให้ใช้ pH 5.5 - 6.1 โดยที่มีจุดเหมาะสมที่สุดอยู่ที่ pH 5.8 ค่า pH 5.8 นี้อาจใช้ได้ดีในประเทศไทยสำหรับกรณีที่ใช้เครื่องปรับ pH อัตโนมัติเพราะจะไม่มีการพลาดต่ำไปบ้างเหมือนการปรับด้วยมือ การปรับ pH ด้วยมือในประเทศไทยโดยที่มีเป้าหมายอยู่ที่ 6.0 น่าจะเหมาะสมกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีอากาศร้อนเพราะถ้าพลาดต่ำไปบ้างก็ยังไม่ต่ำมากนัก ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมากๆ อาจใช้เป้าหมายของการปรับที่เท่ากับ 6.5 ตามคำแนะนำของคุณอรรถพร  สุบุญสันต์ (
www.Phutalay.com )  เราควรปรับ pH  ของสารละลายธาตุอาหารในฤดูต่างๆ


ค่า pH ที่เหมาะสมกับฤดูกาล

   ช่วงฤดูหนาว 
ควรปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ที่ระดับ 5.5-6.0 ค่า EC 1.5-1.6 เพราะในฤดูหนาวมีโรครบกวนน้อยจึงปลูกผักที่ pH  ระดับต่ำที่เหมาะกับการเจริญเติบโตได้ 
  
ช่วงฤดูฝน
 
ควรปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ที่ระดับ 5.5 ค่า EC 1.6-1.7 เพราะในฤดูฝนสารละลายอุ่นขึ้นแต่ยังจะไม่ร้อนมากเหมือนในฤดูร้อน
  
ช่วงฤดูร้อน 
ควรปรับ pHของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ที่ระดับ 6.5-6.8 ค่า EC 1.2-1.4 เพราะในฤดูนี้สารละลายอุ่นขึ้นมาก  ในสภาพที่มี pH ค่อนข้างสูงเช่นนี้ การใช้ไตรโคเดอร์มาและเหล็กคีเลทชนิดที่ทน pH สูงได้ดังที่จะกล่าวต่อไปภายหลังเป็นสิ่งที่จำเป็น  ขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่องการปรับ pH  ของสารละลายธาตุอาหารในฤดูต่างๆ ของคุณอรรถพร สุบุญสันต์ และบทความทางด้านการใช้ไตรโคเดอร์มาในไฮโดรโพนิกส์ของ รศ.ดร.จิระเดช  แจ่มสว่าง และของ คุณอรรถพร  สุบุญสันต์ ( www.Phutalay.com )
pH ที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไปเป็นปัญหาที่พบบ่อย ยกเว้นในกรณีที่ใช้เครื่องปรับ pHอัตโนมัติและเครื่องวัดนั้นได้รับการปรับเทียบมาตรฐานอยู่เสมอ

    
เนื่องจากผู้ปลูกเลี้ยงส่วนใหญ่ปรับ pH ด้วยมือ ปัญหานี้จึงยังมีความสำคัญอย่างมาก ระดับ pH มีผลกระทบต่อการดูดซึมธาตุอาหารของรากและการใช้ประโยชน์ของธาตุอาหารในพืช เช่น pH ที่สูงกว่า 7.5 ทำให้เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน และโมลิบดีนัมเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยลง pH ที่ต่ำกว่า 5.5 ที่อุณหภูมิค่อนข้างสูงเช่นสูงกว่า 26?C จะส่งเสริมการเกิดโรครากเน่า pH ต่ำทำให้เกิดการขาดแคลเซียม แต่ถ้า pH สูงเกินไปแคลเซียมและฟอสเฟตก็ตกตะกอนและไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช โดยทั่วไปเพื่อการปลูกเลี้ยงดำเนินไป pH ของสารละลายจะเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องปรับ pH ให้กลับตัวสู่ช่วงที่เหมาะสมอยู่เสมอ



ค่า pH มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

    ทำไม pH ของสารละลายจึงเปลี่ยนแปลง ในการดูดซึมธาตุอาหารที่อยู่ในรูปอนุมูลลบ (ธาตุหรือหมู่ธาตุอาหารที่ถือประจุลบ เช่นไนเตรทหรือฟอสเฟตเป็นต้น) พืชจะปล่อยด่าง (OH-) ออกมาแลกเปลี่ยน ส่วนการดูดซึมธาตุอาหารที่อยู่ในรูปอนุมูลบวก (ธาตุหรือหมู่ธาตุอาหารที่ถือประจุบวก เช่นโพแทสเซียม แอมโมเนียม  แมกนีเซียม  เป็นต้น) พืชจะปล่อยกรด (H+) ออกมาแลกเปลี่ยน ดังนั้นผลต่างระหว่างการดูดซึมอนุมูลบวกกับอนุมูลลบจะทำให้มีผลต่างระหว่างกรดกับด่าง (เบส) ซึ่งจะทำให้มีกรดหรือด่างเพิ่มขึ้นจนทำให้ pH เปลี่ยนแปลง ถ้าดูดซึมอนุมูลลบมากกว่าอนุมูลบวก pH จะเพิ่มขึ้นเพราะพืชปล่อยด่างมากกว่ากรดดังที่เราพบบ่อย ในทางกลับกันถ้าพืชดูดซึมอนุมูลบวกมากกว่าอนุมูลลบ pH จะลดลงเพราะพืชปล่อยกรดมากกว่าด่างดังที่เราพบในกรณีที่มีแอมโมเนียมอยู่ในสารละลายธาตุอาหาร  เนื่องจากพืชต้องการธาตุไนโตรเจนมากเพื่อการเจริญเติบโต และเราอาจให้ธาตุไนโตรเจนแก่พืชได้ทั้งในรูปที่เป็นหมู่ธาตุที่ถือประจุลบ (ไนเตรท,NO3-) และในรูปที่เป็นหมู่ธาตุที่ถือประจุบวก (แอมโมเนียม ,NH4+)  อัตราส่วนของสองรูปของไนโตรเจนนี้จึงมีผลอย่างมากต่อทิศทางของการเปลี่ยนแปลงและความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของ pH ในบางกรณีการเปลี่ยนแปลง pH อาจรวดเร็วเกินคาดเราจึงควรเฝ้าตรวจ pH อย่างใกล้ชิด ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลง pH มากในทิศทางที่ pH ต่ำลงอาจทำให้รากเสียได้ เช่นในกรณีของการปลูกเลี้ยงผักสลัดด้วยสารละลายธาตุอาหารที่มีแอมโมเนียมและปล่อยให้ pH ต่ำกว่า 6.0 ในกรณีเช่นนี้ควรรักษาระดับ pH ไว้ที่ 6.5 เพื่อลดผลเสียของแอมโมเนียม และเพื่อรักษาระดับ pH ของสารละลายที่อยู่ชิดกับผิวรากแต่ละเส้นที่สานกันอยู่ไม่ให้ต่ำมาก สารละลายในบริเวณที่ชิดกับผิวรากจะถูกชะออกไปช้าเมื่อรากปล่อยกรด สารละลายส่วน root zone นี้จะมี pH ต่ำกว่าสารละลายที่ไหลเวียนอยู่ในระบบและถึงขั้นที่ทำให้รากเสียด้วยกรดที่รากปล่อยออกมาเองได้  ถ้าปล่อยให้สารละลายในระบบมี pH ค่อนข้างต่ำถึงแม้จะไม่ต่ำมาก การมีแอมโมเนียมอยู่ในสารละลายธาตุอาหารอาจเกิดขึ้นได้จากการจงใจใช้โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟตในสูตรสารละลายธาตุอาหารเช่นสูตรผักจีน  หรืออาจเกิดขึ้นได้จากการใช้แคลเซียมไนเตรทชนิดที่มีลักษณะแห้งและเป็นเม็ดกลมๆ ซึ่งมีไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียมอยู่หนึ่งเปอร์เซ็นต์เศษ

     
ในกรณีเช่นนี้เมื่อเปลี่ยนสารละลายธาตุอาหารใหม่ๆ ควรตั้งเป้าหมายในการปรับ pH ไว้ที่ 6.5 เมื่อใช้กับผักสลัด สำหรับการปลูกผักจีนและผักร็อกเกตควรมีแอมโมเนียมอยู่ในสารละลายธาตุอาหารเพื่อให้ผักเจริญเติบโตดี ในการปลูกผักร็อกเกตของผู้เขียนมีการเติมโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟตลงไปในถังสารละลายเป็นช่วงๆ ในปริมาณที่จะทำให้พืชปล่อยกรดออกมาปรับ pH ของสารละลายโดยไม่ต้องเติมกรดเลย ผักร็อกเกตที่ได้งามดีสีเขียวเข้มและกลิ่นรสเข้มข้น

     
การสังเคราะห์แสงในเวลากลางวันอาจทำให้เกิดไฮโดรเจนไอออน (กรด) ขึ้นมาบ้างและอาจทำลายบางส่วนของด่างที่เกิดจากการดูดซึมไนเตรทและจากการดูดซึมอนุมูลลบอื่นๆ ไปบ้าง อย่างไรก็ตามทิศทางของการเปลี่ยนแปลง pH ในเวลากลางวันโดยทั่วไปก็ยังมีทิศทางไปในทางที่เป็นด่างเพิ่มขึ้น (pH สูงขึ้น) อยู่ดี และจะมี pH เพิ่มขึ้นเร็วมากในระยะที่ผักเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งมีการดูดซึมไนเตรทมาก ในเวลากลางคืนจะไม่ได้ไฮโดรเจนไอออนจาการสังเคราะห์แสง แต่กลับมีปัจจัยที่มาเพิ่มด่างที่เกิดจากการดูดซึมไนเตรตและอนุมูลลบอื่นๆ นั่นคือการหายใจของพืชและจุลินทรีย์และการสลายกรดอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นโดยจุลินทรีย์  ดังนั้นการเพิ่ม pH ของสารละลายธาตุอาหารในเวลากลางคืนอาจมากว่าที่คาด เราควรตรวจวัด pH และปรับ pH ตั้งแต่เช้า ในสภาพที่มีแสงน้อย เช่น ในช่วงที่มีเมฆมากพืชมักจะดูดซึมโพแทสเซียมจากสารละลายธาตุอาหารมากขึ้นในขณะที่ดูดซึมไนเตรตน้อยกว่าในสภาพที่มีแดด ดังนั้นพืชจะปล่อยกรดออกมามากขึ้นแต่ปล่อยด่างออกมาน้อยลง สารละลายธาตุอาหารจะมีการเพิ่ม pH ช้าลงและในบางกรณีอาจถึงขั้นที่มี pH ลดลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีแอมโมเนียในสารละลาย  การดูดโพแทสเซียมเพิ่มมากขึ้นในสภาพที่มีแสงน้อยเช่นนี้อาจอธิบายปรากฏการณ์ที่เราพบว่าหลังฝนตกสารละลายปลูกเลี้ยงมักเป็นกรด  นอกจากพืชจะปล่อยกรดออกมามากขึ้นแล้ว  น้ำฝนยังเป็นน้ำที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลง pH เพราะไม่มีเกลือแร่ที่สามารถต้านการเปลี่ยนแปลง pH อีกด้วย จากที่กล่าวมาแล้วนี้คงจะเห็นได้ว่าการเติมกรดเพื่อปรับ pH จึงไม่ควรทำ “อย่างที่เคย” ทุกวันไปเพื่อป้องกันการเติมเกิน  การเติมต้องดูจากการวัด pH และถ้าจะหยดกรดเจือจางมากเพื่อรักษา pH ให้คงที่ หลังจากการปรับ pH แล้ว (ดังที่ได้กล่าวถึงภายหลัง) ควรพิจารณาถึงดินฟ้าอากาศ  อัตราการเจริญเติบโตและขนาดของผักด้วย


ค่า pH มีอิทธิพลต่อการละลายของธาตุอาหาร

     โดยทั่วไป pH ของสารละลายธาตุอาหารจะมี pH สูงขึ้นตามลำดับ เมื่อมีจำนวนต้นของผักต่อสารละลายธาตุอาหารหนึ่งลิตรมาก pH อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องปรับ pH วันละหลายครั้ง ถ้าไม่ทำเช่นนั้น pH จะเพิ่มขึ้นสูงมากจนทำให้ธาตุอาหารบางอย่างตกตะกอน รากพืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารจากสารละลายธาตุอาหารเมื่อธาตุอาหารอยู่ในรูปสารละลายที่แท้จริงเท่านั้น  เมื่อธาตุอาหารไปอยู่ในรูปตะกอนไม่ว่าจะละเอียดเพียงใดหรือในรูปสารแขวนลอยละเอียดพิเศษ ธาตุอาหารเหล่านั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช พืชจะแสดงอาการทางใบให้เราเห็นเมื่อพืชขาดธาตุอาหารไปสักระยะหนึ่งซึ่งเป็นระยะที่สายไปเล็กน้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือในกรณีของธาตุเหล็กที่เป็นธาตุที่จำเป็นซึ่งการละลายอยู่ในรูปสารละลายได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเพิ่ม pH แม้ว่าจะใช้เหล็กในรูปเหล็กคีเลท การเพิ่ม pHของสารละลายธาตุอาหารก็ยังมีผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เหล็ก EDTA ที่ pH ประมาณ 6.4 เหล็ก EDTA จะสลายตัวและเหล็กหลุดออกมาเกิดเป็นสารประกอบของเหล็กที่เป็นตะกอน เหล็ก DTPA จะทนได้จนถึง pH ประมาณ 7.4 ส่วนเหล็ก EDDHA (เหล็กแดง) จะทนได้ถึง pH ที่เกิน 10 ซึ่งเราไปไม่ถึงระดับนั้น เหล็ก EDDHA มีแนวโน้มที่จะเป็นสารแขวนลอยอยู่บ้างและส่วนนั้นไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้จนกว่าจะละลายเป็นสารละลายที่แท้จริง


     ตัวอย่างที่สำคัญของผลเสียที่เกิดจาก pH สูงอีกอย่างหนึ่งคือการใช้ประโยชน์ได้ของแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ pH สูงกว่า 6.0 การละลายได้ของแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปของฟอสเฟตจะลดลงและมีตะกอนของแคลเซียมฟอสเฟตเกิดขึ้นในขณะที่ธาตุอื่นยังอยู่ในรูปสารลายเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าธาตุอาหารรองบางชนิดอาจตกตะกอนร่วมไปกับตะกอนของแคลเซียมฟอสเฟตด้วย การเจริญเติบโตของผักที่ pH สูงกว่า 6 มักด้อยกว่าที่ pH 5.5-5.8 แต่เมื่อใส่ไตรโคเดอร์มาในสารละลายธาตุอาหารเราสามารถปลูกเลี้ยงผักได้ดีมากที่ pH ในช่วง pH 6.0-6.5 ที่แนะนำไว้โดยที่ไม่มีตะกอนในรางปลูกและผักใช้ประโยชน์จากธาตุอาหารได้ดีดังที่กล่าวมาแล้ว



การวัดค่า pH มีความสำคัญมาก

     จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่าเราจำเป็นต้องมีความสามารถในการวัด pH มีความเข้าใจในการเลือกชนิดของกรดที่จะใช้ในการลด pH และรู้วิธีการใช้กรดนั้นอย่างถูกต้องเพื่อให้ได้ผลดีอย่างมีความปลอดภัยต่อพืชผักที่เราปลูกและต่อตัวผู้ปลูกเลี้ยงด้วย ในกรณีที่การเปลี่ยนแปลง pH เป็นไปในทิศทางที่ต่ำลง (เป็นกรด) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในบางกรณีถึงแม้ว่าจะไม่บ่อยนักก็ตาม เราควรมีความเข้าใจในการเลือกชนิดของสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างชนิดที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่ม pH ของสารละลายธาตุอาหาร  และรู้วิธีการใช้สารที่เป็นด่างนั้นอย่างถูกต้องที่ไม่ทำให้ธาตุอาหารตกตะกอน  การเติมด่างลงไปในสารละลายธาตุอาหารมักจะทำให้ธาตุอาหารตกตะกอนเป็นทางยาวตาวแนวที่เติมสารละลายของสารที่เป็นด่าง

การวัด pH อาจทำได้โดยใช้เครื่องวัด pH สารละลายของอินดิเคเตอร์ชนิดที่เหมาะสมซึ่งสีจะเปลี่ยนแปลงไปตาม pH ที่เปลี่ยนแปลงไป  สารละลายนี้ในวงการเรียกกันว่าดรอปเทสท์หรือสารละลายเทียบสี หรือกระดาษเทียบสีที่เป็นกระดาษชุบสารละลายของอินดิเคเตอร์แล้วทำให้แห้งที่ผลิตจำหน่ายเป็นม้วนหรือเป็นชิ้นที่มีแถบสีที่ pH ต่างๆของอินดิเคเตอร์ชนิดนั้นๆให้มาด้วย

     ภาพโดย คุณอรรถพร สุบุญสันต์
    

      
วิธีการวัด pH ที่ใช้เทคโนโลยีสูงสุดคือการใช้เครื่องวัด pH (pH มิเตอร์) แบบดิจิตัล

เครื่องมือวัด pH มีอยู่มากมายหลายขนาดหลายราคา ตั้งแต่ชนิดที่ใช้ในห้องปฏิบัติการวิจัยไปจนถึงนาดเล็กแบบพกพาที่ใช้กันในวงการไฮโดรโพนิกส์ pHมิเตอร์แบบพกพาหรือที่เรียกว่าแบบมือถือนี้นำไปใช้ที่แปลงปลูกได้สะดวกและใช้ง่าย เพียงแต่จุ่มอิเล็กโทรด (กระเปาะแก้วที่อยู่ส่วนปลาย) ลงไปในสารละลายลงไปในสารละลายธาตุอาหารแล้วอ่านค่า pH ที่แสดงอยู่ที่จอ LCD ได้เลย pH มิเตอร์ให้การตรวจวัดที่เที่ยงตรงถ้าได้รับการปรับเทียบมาตรฐานด้วยสารละลายมาตรฐานที่มีจำหน่ายเป็นการค้าให้ถูกต้องอยู่เสมอ เช่นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งหรือบ่อยกว่านั้น อย่างไรก็ตามในการใช้ pH มิเตอร์ ผู้ใช้ควรมีความเข้าใจทางด้านการดูแลรักษาที่เหมาะสม  มิฉะนั้นเครื่องอาจไม่ทำงานหรือวัดได้ค่าที่ผิดพลาด อิเล็กโทรดที่เป็นกระเปาะแก้วที่บางมากนั้นควรได้รับการรักษาให้อยู่ในสภาพที่สะอาดและเปียกโดยใช้น้ำกลั่นตลอดเวลา pHมิเตอร์ แบบพกพามักจะใช้ไม่ทนจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับอิเลกโทรด pH มิเตอร์โดยทั่วไปไวต่ออุณหภูมิของสารละลายอยู่บ้างแต่มักไม่มีปัญหาเพราะเครื่องในปัจจุบันมีการชดเชยการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโดยอัตโนมัติอยู่ด้วย  
   
สำหรับเครื่องที่ไม่มีการชดเชยก็ใช้ได้ถ้าเราวัดสารละลายสารที่มีอุณหภูมิไม่ต่างกันมากนัก  เนื่องจาก pHมิเตอร์ อาจให้ผลการวัดที่คลาดเคลื่อนได้และบางครั้งอาจคลาดเคลื่อนไปมากถ้าไม่ได้รับการเปรียบเทียบมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ  ค่าที่ผิดพลาดนี้เคยทำให้เกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวงมาแล้ว ถ้าเลือกที่จะใช้การวัด pH โดยวิธีนี้ ผู้ใช้จำเป็นต้องปรับเทียบมาตรฐานโดยใช้สารละลายมาตรฐานอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าทำให้มีภาระและสิ้นเปลืองค่าสารละลายมาตรฐานก็ต้องทำ ถ้ามีกิจการขนาดใหญ่พอสมควรน่าจะมี pH มิเตอร์สำรองไว้ด้วย  ในกรณีของกิจการขนาดเล็กอาจใช้สารละลายเทียบสีเป็นตัวทดสอบเมื่อสงสัยว่า pHมิเตอร์เราคลาดเคลื่อนไปมาก ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะใช้สารละลายเทียบสีเป็นตัวเทียบมาตรฐานให้ pH มิเตอร์ เราทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะสารละลายเทียบสีให้ค่าที่มีความละเอียดไม่พอ ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วผู้เขียนจึงชอบใช้สารละลายเทียบสีมากกว่า pH มิเตอร์ เพราะความละเอียดในระดับสารละลายเทียบสีเพียงพอสำหรับงานไฮโดรโพนิกส์และไม่ต้องห่วงทางด้านการคลาดเคลื่อนของอุปกรณ์อีกด้วย
   
การใช้กระดาษเทียบสีหรือกระดาษวัด pH ที่ทำจากกระดาษอาบสารที่เปลี่ยนสีตาม pH (pH อินดิเคเตอร์) หนึ่งชนิดหรือหลายชนิดรวมกันเป็นทางหนึ่งในการวัด pH ของสรละลายธาตุอาหาร การวัด pH ทำได้โดยการจุ่มการดาษนั้นลงไปในสารละลายธาตุอาหารที่ต้องการวัดแล้วนำมาเทียบกับแถบสีที่ pH ต่างๆที่ผู้ผลิตให้มาด้วย โดยทั่วไปอ่านค่า pH จากกระดาษเทียบสีได้ยากกว่าการอ่านค่าจากสารละลายเทียบสี เพราะในกรณีเทียบสีเราดูความแตกต่างของสีได้ยากและมือต้องสะอาดมากหรืออาจต้องใช้ปากคีบที่สะอาดจับกระดาษเทียบสี  สารละลายที่ติดมากับกระดาษเทียบสีมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่เปื้อนนิ้วมือจึงทำให้ค่าผิดพลาดได้ง่าย

     
ในปัจจุบันการใช้สารละลายอินดิเคเตอร์หรือที่เรียกกันว่าสารละลายเทียบสีหรือดรอปเทสต์เป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมากที่สุดสำหรับผู้ปลูกเลี้ยงระดับต่างๆที่ไม่ได้ใช้เครื่องปรับ pH อัตโนมัติ การวัดด้วยวิธีนี้ทำได้โดยการเติมสารละลายเทียบสีหนึ่งหยด (ถ้าสารละลายเทียบสีเจือจางอาจต้องใช้มากกว่าหนึ่งหยด) ลงไปยังสารละลายธาตุอาหารประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะในภาชนะขาวขุ่น เช่น ถ้วยโยเกิร์ตหรือถ้วยกระเบื้องสีขาวขนาดเล็กหรือช้อนกระเบื้องสีขาว แล้วดูสีเทียบกับแถบสีที่แสดงสีของอินดิเคเตอร์นั้นที่ pH ต่างๆ ถ้าใช้สารละลายเทียบสีที่เป็นอินดิ-เคเตอร์ชนิดเดิมอยู่เสมอ หลังจากใช้ไปได้ไม่นานก็จะจำสีได้โดยไม่ต้องเทียบ  วีธีนี้ทำได้ง่ายกว่า เที่ยงตรงและไว้ใจได้มากกว่ากระดาษวัดpH  เมื่อปี พ.ศ.2541 ผู้เขียนนำอินดิเคเตอร์ที่เป็น bromcresol purple ในระยะแรกยังมีผู้สงสัยว่าจะให้ผลที่ละเอียดพอหรือไม่แต่ไม่นานหลังจากนั้นสารละลายเทียบสีก็เป็นตัววัดpHที่นิยมใช้กันทั่วไป หลังจากนั้นเราค้นพบว่าไฮโดรโพนิกส์ในประเทศไทยควรใช้ pH สูงกว่าที่ใช้กันในต่างประเทศ เพราะสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูงกว่าและผู้เขียนเริ่มสั่งเหล็ก EDDHA เข้ามาทดลอง เหล็กชนิดนี้ทำให้สารละลายธาตุอาหารมีสีแดง  


ผู้เขียนจึงเสนอให้ใช้ bro mothymol  blue ซึ่งเหมาะสำหรับปรับ pH ที่สูงขึ้นกว่าเดิมและวัด pH ของสารละลายธาตุอาหารที่มีสีแดงได้ดี อินดิเคเตอร์ ชนิดหลังนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยมานดิเคเตอร์ที่ให้สีต่างๆที่ pH ต่างๆที่นำมาใช้อาจเป็นสารเดี่ยวดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หรืออาจเป็นสารผสมของอินดิเคเตอร์สองชนิดหรือมากกว่า  เมื่อสารให้สีที่ใช้แตกต่างกันแถบสีมาตรฐานที่ใช้เทียบก็จะต้องแตกต่างกันไปจะใช้สลับกันไม่ได้ อินดิเคเตอร์ที่เปลี่ยนสีในช่วงที่ต้องการวัดในกิจการไฮโดรโพนิกส์มีอีกหลายชนิดซึ่งอาจหาดูได้จากหนังสือทางเคมีต่างๆเช่น Merck Index เป็นต้น ผู้เขียนมักจะแนะนำให้ใช้ pH อินดิเคเตอร์ที่เป็นสารเดี่ยวเพราะเตรียมให้เป็นสารละลายที่เหมือนกันทุกครั้งได้ง่าย  นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ใช้สารละลายเทียบสีที่มีความเข้มข้นของ pH อินดิเคเตอร์มากพอที่จะใช้เพียงหยดเดียวในการวัดแต่ละครั้งเพื่อความสะดวก ถ้าสารละลายของ pH อินดิเคเตอร์ของท่านเจือจางกว่านั้นอาจใช้สองหยดแต่ก็จะได้สีเหมือนกันและวัดได้ผลเท่ากันสำหรับอินดิเคเตอร์ชนิดนั้นๆ ผู้ปลูกเลี้ยงทั่วไปควรเลือกสารละลายเทียบสีชนิดใดชนิดหนึ่งจนแน่ใจว่าวัดได้อย่างแม่นยำ แต่ถ้าท่านชอบทดลองและมั่นใจว่าไม่สับสนอาจมีไว้มากกว่าหนึ่งชนิดก็ได้เพื่อการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษที่สารละลายเทียบสีชนิดที่ใช้เป็นหลักไปไม่ถึง pH นั้นๆ



เหตุใดจึงนิยมใช้กรดไนตริกสำหรับปรับค่า pH

    โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลง pH ของสารละลายาตุอาหารที่ใช้ปลูกเลี้ยงจะไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น (เป็นด่างเพิ่มขึ้น) ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว  สารหลักที่ใช้ในการปรับ pHของสารละลายธาตุอาหารจึงเป็นกรด    เนื่องจากการเป็นด่างเพิ่มขึ้นของสารละลายธาตุอาหารเป็นผลมาจากดูดซึมไนเตรตเข้าไปในพืชและพืชปล่อยด่างออกมาแลกเปลี่ยน  กรดซึ่งเหมาะสมที่สุดจึงเป็นกรดที่ให้ทั้งความเป็นกรด (H+) เพื่อลด pH ให้พอเหมาะและอนุมูลไนเตรต (NO3-)เพื่อชดเชยไนเตรตที่พร่องไปจากสารละลายธาตุอาหารและทำให้ส่วนประกอบของสารละลายธาตุอาหารที่คล้ายคลึงกับเดิมมากที่สุด  เราใช้กรดไนตริคในรูปที่เจือจางมากจึงไม่ต้องกลัวอันตรายจากการถูกกรดกัด  ถ้าทำตามวิธีการที่จะได้กล่าวถึงต่อไปภายหลัง ตามความคิดเห็นของผู้เขียนแล้วกรดชนิดอื่นๆที่ได้รับการกล่าวไว้ในเอกสารต่างๆถึงแม้ว่าจะให้ความเป็นกรดในการปรับ pH ได้ แต่ก็มีความไม่เหมาะสมในแง่ต่างๆดังนี้  กรดกำมะถันจะให้ความเป็นกรด (H+) และอนุมูลซัลเฟต (SO42-) ซึ่งเป็นอนุมูลที่พืชต้องการอยู่บ้างแต่มีมากเกินพออยู่แล้วเป็นอย่างมากจากแมกนีเซียมซัลเฟตและเราไม่ต้องการให้อนุมูลนี้เพิ่มขึ้นอีก กรดเกลือจะให้ความเป็นกรด (H+) และอนุมูลคลอไรด์ (Cl-) ซึ่งเป็นอนุมูลที่มีอยู่อย่างพอเพียงอยู่แล้วจากส่วนที่มีอยู่ในน้ำและอาจติดมาจากแม่ปุ๋ยต่างๆและเราไม่ต้องการให้อนุมูลนี้เพิ่มขึ้นอีก กรดฟอสฟอริคจะให้ความเป็นกรด (H+) และอนุมูลฟอสเฟต (ไดไฮโดรเจนฟอสเฟต, H2PO4-) ซึ่งเป็นอนุมูลที่มีประโยชน์ต่อพืชแต่พืชดูดซึมฟอสเฟตไปเพียงเล็กน้อย  ถ้าเราเติมกรดในรูปกรดฟอสฟอริคความเข้มข้นของฟอสเฟตจะสูงขึ้นมากในขณะที่ไนเตรตต่ำลงเพราะพืชดูดซึมไปมากแต่ไม่ได้รับการชดเชย  อัตราส่วนระหว่าง N:P ในสารละลายธาตุอาหารจะเปลี่ยนไปมากจนไม่เป็นไปตามความต้องการของพืชผัก กรดฟอสฟอริคนี้ได้รับการกล่าวถึงเพราะเป็นกรดอนินทรีย์ที่แตกตัวเป็นกรดน้อย ผู้แนะนำมุ่งไปทางความปลอดภัยแม้ใช้อย่างไม่ถูกต้อง การที่แตกตัวเป็นกรดน้อยทำให้ต้องใช้มากอัตราส่วนระหว่าง N:P จึงผิดไปจากเดิมอย่างมาก กรดอินทรีย์บางชนิดก็ได้รับการกล่าวถึงด้วยความกลัวกรดอนินทรีย์ กรดอินทรีย์ เช่นกรดน้ำส้ม (กรดอาซีติก) และกรดมะนาว(กรดซิตริค) กรดเหล่านี้แตกตัวเป็นกรดน้อยทำให้ต้องใช้มากและกรดเหล่านี้ให้อนุมูลอาซีเตทและอนุมูลซิเตรตที่จุลินทรีย์ใช้ได้ด้วย โอกาสที่จะมีแบคทีเรียเจริญในสารละลายย่างมากและใช้ออกซิเจนในน้ำไปมากจึงมีอยู่สูง  เราจึงไม่ควรใช้กรดเหล่านี้ โดยสรุป คือเราควรใช้กรดไนตริคและใช้อย่างถูกต้องและทำให้ได้ผลดี มีความถูกต้องทางเทคนิคและมีความปลอดภัยพร้อมกันไป



ตัวอย่างการปรับค่า pH ของสารละลายธาตุอาหาร

    ต่อไปนี้เป็นวิธีการใช้กรดไนตริคที่ผู้เขียนใช้อยู่ที่จะนำมากล่าวไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ท่านอาจดำเนินการที่แตกต่างจากนี้ได้เมื่อทำความเข้าใจแล้ว กรดไนตริคเข้มข้น/กรดอุตสาหกรรมมีความเข้มข้นประมาณ 68% ถ้าเป็นกรดไนตริคเข้มข้นที่ใช้ในห้องปฏิบัติการความเข้มข้นจะสูงกว่านี้เล็กน้อย ไม่ว่ากรดเข้มข้นที่ได้มาจะมีความเข้มข้นเท่าใดเราใช้วิธีเดียวกันได้เพราะทุกอย่างเป็นไปโดยประมาณ ส่วนที่ปรับอย่างเที่ยงตรงเป็นขั้นสุดท้ายเป็นค่า pH ของสายละลายธาตุอาหาร ขั้นแรกเราควรทำให้กรดที่ได้รับเป็นกรดเจือจางขั้นที่หนึ่งที่เจือจางลง 0 เท่าและเก็บไว้ในรูปนี้ ตัวอย่างเช่นเราซื้อกรดไนตริคเข้มข้นมา 2 ลิตร และขวดที่เรามีอยู่มีขนาดประมาณ 3 ลิตร และเราจะบรรจุกรดเจือจางขวดละ 2.5 ลิตร เราจะนำขวดเปล่าที่สะอาด 8 ขวดมาบรรจุน้ำขวดละประมาณ 2.25 ลิตร และเรียงไว้กลางแจ้งนอกบ้านที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงหรือเด็ก  รินกรด 0.25 ลิตร ลงในภาชนะแก้วที่มีขีดวัดปริมาตร เช่น ถ้วยตวงแก้วไพเร็กซ์ที่มีหูจับและปากสำหรับช่วยในการเท หรือขวดกาแฟที่เราทำขีดไว้ตรงที่มีปริมาตรที่ต้องการเมื่อได้ปริมาตรที่ต้องการแล้วเทกรดผ่านกรวยลงไปในขวดที่บรรจุน้ำทีละขวด ปิดฝาเขย่าให้เข้ากัน ในกรณีของกรดเข้มข้นมากเราจะเติมกรดลงไปในน้ำ แต่หลังจากทำให้เจือจาง 1:10 แล้วเช่นนี้เราจะเทกรดลงไปในน้ำหรือเทน้ำลงไปในกรดก็ได้ เราจะเก็บขวดกรดไนตริคที่ทำให้เจือจางแล้ว 10 เท่าที่ปิดฉลากบอกว่าบรรจุกรดเจือจาง 10 เท่าไว้ ในที่ร่ม ในที่ที่เด็กเข้าไม่ถึง  เมื่อจะใช้ปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารในกรณีของ NFT ควรนำกรดเจือจาง 10 เท่านั้นมาทำให้เจือจางเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 เท่าเช่นในขวดนมขนาด 850 มิลลิลิตร เจาะรูเล็กๆที่ฝาสำหรับผู้ที่ปลูกเลี้ยงเป็นชุดเล็กๆ ต่อจากนั้นบีบขวดฉีดกรดเป็นเส้นเล็กๆ ลงไปยังสารละลายธาตุอาหารที่กำลังไหลกลับลงถังเป็นเวลาประมาณ  2-3 วินาที  รอให้น้ำเวียนผสมทั่วทั้งระบบแล้วจึงวัด ถ้า pH ยังสูงอยู่ก็ทำเช่นเดิมอีก  ถ้ารู้แน่ชัดว่าต้องใช้กรดมากกว่านี้เพื่อบีบกรดลงไป 3-4 วินาที แล้วรอประมาณ 5 วินาที จึงบีบลงไปอีก 3-4 วินาที เป็นช่วงๆ ไปแล้วจึงวัดค่า pH ถ้ายังลงไม่ถึง pH เป้าหมายก็เติมเพิ่มอีก ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นโดยที่นึกถึงระบบ 6 เมตร 8 ราง ท่านอาจปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ได้ให้เหมาะกับขนาดของระบบและความชอบของท่านโดยที่ท่านต้องมั่นใจว่ากรดจะผสมกับสารละลายเป็นอย่างดีพอควรก่อนที่จะถูกดูดขึ้นไปบนรางที่มีผักอยู่  เห็นได้ชัดว่าถ้าคำนึงกับเรื่องนี้ควรวางปั๊มให้ห่างจากจุดที่น้ำไหลกลับลงมาซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วเพื่อให้น้ำที่ไหลกลับมีโอกาสผสมกับน้ำส่วนใหญ่ในถังก่อนที่จะถูกปั๊มรวมกันขึ้นไปบนรางอีก ท่านอาจทำที่เติมกรดไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งที่ปลายสุดของรางนอกหรืออาจเว้นหลุมปลูกไว้หนึ่งหลุมเพื่อเป็นที่เติมกรดก็ได้  โดยวิธีนี้กรดที่เติมลงไปจะถูกเจือจางด้วยน้ำไหลของทั้งระบบและผสมกันอย่างดีก่อนลงสู่ถังสารละลาย บางครั้งผู้เขียนจะวางขวดกรดที่มีที่ปรับการหยดของกรดที่ทำจากขวดนำยาล้างจานชามกับที่ปรับลมของตู้ปลาไว้บนปลายรางให้กรดที่เจือจางมากเป็นพิเศษที่ประกอบด้วยกรดที่ทำให้เจือจาง 100 เท่าในปริมาณที่ต้องการใช้ใน 1 วัน  ผสมกับน้ำประมาณ 3 ลิตร หยดลงไปอย่างช้า ๆ เพื่อรักษา pH ให้ค่อนข้างคงที่ตลอดทั้งวัน  การทำเช่นนี้เป็นการเลียนแบบเครื่องปรับ pH อัตโนมัติแต่ควรเติมกรดค่อนข้างน้อยกว่าที่ควรเพื่อกันพลาดแล้วมาปรับเพิ่มในเวลาเช้าเย็น  การหยดกรดเจือจางมากเช่นนี้หยดที่ถังสารละลายก็ได้และตรงจุดใดก็ได้ที่ท่านสามารถตั้งขวดได้  อุปกรณ์ควบคุม pH ตลอดวันอย่างง่ายเช่นนี้ทำให้ผักเจริญเติบโตดีมาก


     สำหรับ NFT ระบบรวมที่ไม่ใช้เครื่องปรับ pH อัตโนมัติและระบบ RFT ควรนำภาชนะใส่กรดที่มีสายต่อที่ปรับการหยดได้มาติดตั้งให้หยดกรดเข้าสู่ถังสารละลายและปรับการหยดให้เหมาะสม ในกรณีของ RFT ที่มีน้ำอยู่ในถังสารละลายน้อยเทียบกับสารละลายทั้งระบบและเมื่ออัตราเวียนน้ำค่อนข้างต่ำ  เราควรปรับ pH แบบหยดต่อเนื่องอย่างช้าเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้สารละลายในถังเป็นกรดมากเกินไปก่อนถูกปั๊มเข้าสู่โต๊ะปลูก การหยดกรดควรหยดให้ชิดกับท่อน้ำกลับและห่างจากปั๊มเช่นเดียวกับระบบ NFT ขนาดเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้กรดที่เติมลงไปใหม่ถูกดูดขึ้นไปบนโต๊ะปลูก
การเตรียมสารละลายธาตุอาหารเริ่มแรกและการเตรียมสารละลายชุดใหม่ในการเปลี่ยนสารละลายธาตุอาหารเราก็ต้องปรับ pH เพราะน้ำที่นำมาใช้ในการเตรียมสารละลายธาตุอาหารเป็นน้ำประปาหรือน้ำบาดาลมักจะมี  ไบคาร์บอเน็ตที่มีฤทธิ์เป็นด่างอยู่  การปรับ pH เป็นการเติมกรดไนตริคเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว  ถ้าในระบบมีพืชผักอยู่ด้วยเช่น เมื่อเปลี่ยนสารละลายปลูกเลี้ยงเราต้องทำเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว นั่นคือปรับโดยการเติมกรดเจือจางมากอย่างช้าที่สุด  แต่ถ้าไม่มีพืชผักอยู่ในระบบอาจปรับอย่างรวดเร็วได้แล้วคอยจนสารละลายธาตุอาหารผสมกันทั่วและปรับได้ pH ตามที่ต้องการแล้วจึงนำพืชผักลงมาปลูก 

    

คำถามที่ผู้เขียนได้รับเสมอคือ ทำไมเมื่อปรับ pH?
ครั้งแรกแล้วไม่นาน pH จะเพิ่มขึ้นอีกไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพืชผักอยู่ในระบบ คำตอบก็คือ เมื่อมีไบคาร์บอเนตอยู่ในน้ำแล้วปรับ pH ให้เป็น 6 ไบคาร์บอเนตจะถูกทำลายไปเพียงบางส่วนและความเป็นกรดในขณะนั้นมาจากกรดคาร์บอนิคที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างไบคาร์บอเนตกับกรด เมื่อเวียนน้ำไปไม่นานคาร์บอนไดออกไซด์จะหลุดออกมาจากกรดคาร์บอนิคเหลือแต่น้ำ  pH จะเพิ่มขึ้นอีกจนเราต้องเพิ่มกรดไนตริคลงไปใหม่อีกเพื่อให้ทำปฏิกิริยากับไบคาร์บอเนตที่เหลือและทำเช่นนี้เรื่อยไปจนไบคาร์บอเนตหมดหรือเกือบหมด าต้องการปรับครั้งเดียวเราอาจปรับครั้งเดียวให้ pH ลดลงถึงประมาณ .2 ซึ่งไบคาร์บอเนทเกือบทั้งหมดจะทำปฏิกิริยากับกรดไนตริค  หลังจากเวียนน้ำหรือเป่าอากาศไม่นาน pH จะเพิ่มขึ้นมาที่ pH 6 และพร้อมสำหรับการปลูกโดยที่ pH จะไม่เพิ่มขึ้นเองแบบเก่าอีก การปรับ pH ลงต่ำเช่นนี้ถ้ามีพืชผักอยู่ด้วยต้องปรับอย่างช้าๆ และอย่างระมัดระวังไม่ให้สารละลายที่มี pH ต่ำกว่า 5 ถูกดูดขึ้นบนรางไปผ่านราก



ข้อควรระวังเพิ่มเติมในการปรับค่า pH

   การปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารเริ่มแรกเมื่อเริ่มปลูกชุดใหม่และสารละลายธาตุอาหารที่เตรียมขึ้นในการเปลี่ยนสารละลายของระบบ มีข้อควรระวังเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งถ้าสารละลายธาตุอาหารนั้นมีแอมโมเนียมอยู่ด้วย  สารละลายธาตุอาหารอาจมีแอมโมเนียมเป็นส่วนประกอบจากการใช้แอมโมเนียมฟอสเฟต (โมโนแอมโมเนียมไดไฮโดรเจนฟอสเฟต) ในสูตรสารละลายธาตุอาหารเช่น สูตรผักจีน รืออาจมีแอมโมเนียมเป็นส่วนประกอบจากการใช้สูตรสารละลายธาตุอาหารที่ไม่มีแอมโมเนียมแต่ใช้แคลเซียมไนเตรทที่มีแอมโมเนียมอยู่ด้วยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  สารละลายเช่นนี้เมื่อปลูกเลี้ยงไป pH จะลดลงในระยะแรกเนื่องจากพืชดูดซึมแอมโมเนียมได้ดีแล้วปล่อยกรดออกมาแลกเปลี่ยนมาก  เมื่อเวลาผ่านไปพืชผักจะค่อยๆ ปล่อยกรดน้อยลงเพราะความเข้มข้นของแอมโมเนียมลดลงตามลำดับและพืชผักจะปล่อยด่างออกมาเพิ่มขึ้นเพราะดูดซึมไนเตรทเพิ่มขึ้น  เมื่อเป็นเช่นนี้การเปลี่ยนแปลง pH ของสารละลายธาตุอาหารจะเป็นการมีpH ลดลงไปช่วงหนึ่ง  ความยาวของช่วงนี้จะขึ้นอยู่กับการลดลงของแอมโมเนียมซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นเริ่มแรกของแอมโมเนียมและขนาดและจำนวนของผักที่จะดูดซึมแอมโมเนียมออกไป  ในกรณีนี้หลังจากเตรียมสารละลายธาตุอาหารแล้ว อาจยังไม่เติมกรดเลยถ้าน้ำที่ใช้มีคาร์บอเนตไม่มากนักเช่นน้ำประปา  หรืออาจเติมกรดบ้างถ้าน้ำที่ใช้มีไบคาร์บอเนตมากเช่น น้ำบาดาลแต่ไม่ควรปรับให้ pH ต่ำกว่า 6.5 เพื่อป้องกันไม่ให้ pH ที่ผิวรากต่ำเกินไปในขณะที่รากปล่อยกรดออกมา  เราควรรอให้ pH คงที่แล้วเริ่มเพิ่มขึ้นจึงเติมกรดตามปกติตามปริมาณด่างที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ pH อยู่ในช่วงที่ต้องการ



วิธีการแก้ปัญหาเมื่อค่า pH ต่ำกว่าปกติ

     ในบางกรณีที่ไม่พบบ่อยนักดังที่กล่าวมาข้างต้น pH ของสารละลายธาตุอาหารอาจต่ำลงกว่า pH ที่กำหนดไว้มากจนต้องปรับ pH ให้สูงขึ้น เราจะต้องเติมด่าง สารที่เป็นด่างที่ใช้อาจเป็นสารประเภทไฮดรอกไซด์,คาร์บอเนต หรือไบคาร์บอเนตของธาตุที่ไม่เป็นพิษต่อพืช เช่นโพแทสเซียม และไม่ควรใช้ธาตุที่พืชไม่ชอบเช่น โซเดียม  ดังนั้นเราอาจใช้โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์, โพแทสเซียมคาร์บอเนต หรือโพแทสเซียมไบคาร์บอเนต ตามความคิดเห็นของผู้เขียนเราควรหลีกเลี่ยงการใช้โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์เพราะเป็นด่างแก่ที่ทำให้ธาตุอาหารตกตะกอนง่ายกว่าในกรณีที่ใช้โพแทสเซียมคาร์บอเนต หรือโพแทสเซียมไบคาร์บอเนตซึ่งเป็นด่างที่อ่อนลงตามลำดับ  เมื่อคาร์บอเนตหรือไบคาร์บอเนตทำปฏิกิริยากับกรดจะกลายเป็นกรดคาร์บอนิคและเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำตามลำดับ เราควรใช้สารสองชนิดหลังนี้ชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่จะหาได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสารละลายเจือจางอย่างมากของสารสองชนิดหลังนี้ที่เป็นด่างอย่างอ่อนก็ตาม  เมื่อหยดหรือรินอย่างช้าๆ ลงไปยังสารละลายธาตุอาหารจะมีสารประกอบของแคลเซียมตกตะกอนเป็นทาง  ตะกอนเหล่านี้มักจะไม่ละลายใหม่และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตกตะกอนเพิ่มเติม การปรับ pH ให้เพิ่มขึ้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรใช้สารละลายของด่างแต่แต่ควรเติมน้ำที่มีไบคาร์บอเนตเช่นน้ำบาดาลถ้ามีใช้ การเติมน้ำประปาก็ทำให้ pH เพิ่มขึ้นเพราะมีไบคาร์บอเนตอยู่บ้าง  ถ้าจำเป็นต้องใช้ด่างควรละลายในน้ำปริมาณมากหลายๆ ลิตรแล้วค่อยๆ เติมลงไปอย่างช้าๆ นั่นคือต้องทำให้เจือจางมากกว่าในกรณีของกรดอย่างมากและเติมลงไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกัน  ยกเว้นในกรณีที่เติมน้ำเพราะไบคาร์บอเนตเจือจางมากจนไม่เกิดบริเวณที่เป็นด่างมากพอที่จะทำให้เกิดการตกตะกอน  เราควรหลีกเลี่ยงการตกตะกอนให้มากที่สุดเพราะการตกตะกอนของธาตุอาหารมักเป็นผลให้การเจริญเติบโตของพืชผักลดลง
      
อนึ่ง การปรับ pH ถ้ามองอย่างผิวเผินแล้วไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด  แต่จากผู้ที่โทรศัพท์มาปรึกษาผู้เขียนได้พบว่าผักรากเสียจากการเติมกรดเร็วเกินไปเกิดขึ้นมากเกินคาด  ถึงแม้จะเริ่มมีรากเสียที่ส่วนหน้าของรางเท่านั้นก็อาจเป็นจุดเริ่มของโรครากเน่าได้  ผู้ปลูกเลี้ยงควรทำความเข้าใจหลักการและดำเนินการตามหลักการนั้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วก็ได้  ถ้าให้ผู้ช่วยปรับ pH ให้  ควรทำความเข้าใจหรือกำหนดวิธีการให้แน่นอนและควรบอกให้เขาทราบถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากปรับ pH อย่างไม่ระมัดระวัง




http://www.kehakaset.com/index.php?option=com_content&view=article&id=438:-ph--1&catid=38

http://www.kehakaset.com/index.php?option=com_content&view=article&id=438:-ph--1&catid=38










สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-08-25 (1482 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©