-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 673 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เทคโนฯ เกษตร




หน้า: 1/2


กำลังปรับปรุงครับ



คลินิกปุ๋ยสั่งตัด :


เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวและข้าวโพดได้ด้วยตนเอง 
          
ปุ๋ยสั่งตัด คือ อะไร ?

การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” คือ การใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดิน และ ค่าวิเคราะห์ดินปัจจุบัน  ซึ่งพัฒนาโดยนำข้อมูลดิน พืช การจัดการดิน รวมทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณในคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมการปลูกพืชที่สลับซับซ้อน  แต่ทำให้ง่ายสำหรับเกษตรกรนำไปใช้  คำแนะนำปุ๋ยแบบ “สั่งตัด” จะมีความแตกต่างกันในดินแต่ละชนิด  เช่น คำแนะนำปุ๋ยข้าวในชุดดินอยุธยา และ ชุดดินมโนรมย์ไม่เท่ากันแม้ปริมาณ เอ็น พี เค ที่วิเคราะห์ได้ในดินเท่ากัน  กรณีของข้าวโพด คำแนะนำปุ๋ย “สั่งตัด” ของชุดดินปากช่อง จ. นครราชสีมา แตกต่างจากคำแนะนำปุ๋ยของชุดดินปากช่อง จ. ลพบุรี เป็นต้น


การใช้ปุ๋ยสั่งตัด ช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าว และ ข้าวโพดได้อย่างไร และ เท่าใด?
จากผลการทดลองโครงการบูรณาการเพื่อลดต้นทุนการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลางที่ใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” โดย ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยงานอีกหลายแห่ง พบว่า ชาวนาใส่ปุ๋ย เอ็น และ พี ในปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของต้นข้าว  และ ละเลยการใส่ปุ๋ย เค เมื่อเกษตรกรทดลองใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7  ขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลดลง 241 บาท  (เมื่อคิดราคาปุ๋ยเดือนมกราคม 2550)  ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง 178 บาท  ค่าเมล็ดพันธุ์ลดลง 91 บาท  รวมต้นทุนการปลูกข้าวลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก  ถ้าชาวนาภาคกลางในพื้นที่ 10 ล้านไร่ (ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง) ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” จะทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี  ส่วนชาวไร่ข้าวโพดจะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 35 และ ผลตอบแทนสูงขึ้นอีกร้อยละ 41 เมื่อใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด”


เหตุใดเกษตรกรจึงทำปุ๋ยสั่งตัดได้ด้วยตนเอง ?
เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถตรวจสอบเอ็น พี เค ในดินโดยใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินอย่างง่ายด้วยตัวเอง ซึ่งรู้ผลได้ภายใน 30 นาที  และ เกษตรกรสามารถทราบชื่อชุดดินโดยตรวจสอบได้จากแผนที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน  จากนั้นเกษตรกรสามารถหาคำแนะนำปุ๋ย “สั่งตัด” ได้โดยการใช้หนังสือหรือโปรแกรมคำแนะนำ 


หลักการสำคัญของปุ๋ยสั่งตัด
เกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” เพื่อช่วยให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ควรมีความรู้ความเข้าใจใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลชุดดิน  การเก็บตัวอย่างดินและการตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน  และ การใช้คำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดโดยใช้คู่มือหรือโปรแกรมสำเร็จรูป  ซึ่งทุกขั้นตอนเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง


การตรวจสอบข้อมูลชุดดิน
เกษตรกรสามารถใช้คู่มือการตรวจสอบชุดดิน หรือ เปิดแผนที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อหาชื่อชุดดินของตนเองได้


การเก็บตัวอย่างดินและการตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน
เกษตรกรควรศึกษาวิธีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อให้ได้ตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของที่ดินของตนเอง  และ ควรวิเคราะห์ดินโดยใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินได้ด้วยตนเอง


การใช้คำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดโดยใช้คู่มือหรือโปรแกรมสำเร็จรูป
เกษตรกรสามารถใช้คู่มือหรือโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อหาคำแนะนำปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ได้


การใช้ปุ๋ยสั่งตัดในไร่นาของเกษตรกร
ผู้ใช้ปุ๋ยสั่งตัดภาคประชาชน
ชาวนา  เช่น  คุณพิชิต เกียรติสมพร  คุณสมศักดิ์ นุ่มน่วม  คุณสมมาตร สิงห์ทอง  คุณศรีนวล ศรีสวัสดิ์  คุณประทิน หมื่นจง คุณมาณพ ขันทอง  คุณสมใจ ศรีชัยนาท  คุณธัญพร ศรีประเสริฐ  คุณประจวบ เพชรทับทิม  คุณโสภณ ทองดอนพุ่ม  คุณประสิทธิ์ วงษ์สนอง  คุณสมปอง ฉ่ำเฉลียว  คุณสำรวย วงษ์สนอง  คุณสุนทร ชมแพ  คุณบันเทิง อภัยสุข  คุณสุรินทร์ โพโต  คุณสนิท คำแหง  คุณอำไพ น้ำจันทร์  คุณนิมนต์ เกิดบัณฑิต  คุณเสวก ทับทิม  คุณนิสา สังวาลย์เพชร  คุณปลี รอดเรื่อง  คุณสุภาพ โนรีวงศ์  เป็นต้น

ชาวไร่ข้าวโพด  เช่น  คุณสมบัติ นิรากรณ์  คุณสละ นิรากรณ์  คุณชำเลือง ลัดดาผล  คุณสัมพันธ์ เย็นวารี  คุณกฤชพัฒน์ ศรีทรงเมือง  เป็นต้น


หน่วยงานที่ใช้ปุ๋ยสั่งตัด
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม  กรมส่งเสริมการเกษตร  วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 


หลักสูตรอบรมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด 1 วัน
เกษตรกรสามารถเรียนรู้วิธีการใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ได้หลังจากผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ  ที่มีการเรียนรู้ทั้งภาคบรรยาย และ ภาคปฏิบัติการตามหัวข้อดังต่อไปนี้


หลักคิดของเกษตรกรมืออาชีพ
เกษตรกรควรมีหลักคิดที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง  โดยเป็นผู้รอบรู้ในด้านการจัดการดิน ปุ๋ย โรค และ แมลงศัตรูพืช  และ มีความสามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ไร่นาของตนเอง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยสามารถเพิ่มผลผลิต และ ลดต้นทุนการผลิตได้


รู้จริงเรื่องดินและปุ๋ย
ปัจจุบันเกษตรกรส่วนมากพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน  แต่ถ้าเกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีน้อยเกินไป  ผลผลิตที่ได้จะลดลงไปด้วย  เกษตรกรจึงควรรู้จักทรัพยากรดินที่เป็นรากฐานของชีวิตตนเอง  และ ควรมีความเข้าใจในการเลือกใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมทั้งชนิด และ ปริมาณ  เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการผลิต และ ป้องกันปัญหาดินเสื่อมโทรม
ทำไมต้องใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด”


ดินที่ใช้เพาะปลูกพืชมีมากมายหลายร้อยชุดดิน  แต่ละชุดดินมีศักยภาพในการให้ผลผลิตพืชแตกต่างกัน  การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” คือ การนำข้อมูลชุดดิน  ซึ่งหมายถึง การนำสมบัติทางเคมี และ กายภาพอื่นๆ มาร่วมคำนวณคำแนะนำปุ๋ย และ  นำข้อมูล เอ็น พี เค ในดินมาประกอบการตัดสินใจใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น


การตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินอย่างรวดเร็ว
เกษตรกรสามารถเก็บตัวอย่างดินได้อย่างถูกต้อง และ สามารถใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินได้ด้วยตนเอง  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทราบปริมาณ เอ็น พี เค ในดินได้ภายเวลา 30 นาที


การอ่านคำแนะนำปุ๋ย
เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้เหมาะสมกับความต้องการของพืชโดยใช้ปุ๋ยตามตารางคำแนะนำการใส่ปุ๋ยตามระดับธาตุอาหารพืชในชุดดินต่างๆ ที่นักวิจัยได้ทำไว้ให้แล้วในรูปของหนังสือคู่มือ และ โปรแกรม SimRice และ Simcorn



ช่องทางเข้าถึงปุ๋ยสั่งตัด
หนังสือธรรมชาติของดินและปุ๋ย : คู่มือสำหรับเกษตรกรยุคใหม่
วิดีทัศน์ การบรรยายหลักคิด หลักวิชา และ หลักปฏิบัติเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด”

ซีดีโปรแกรมคำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดสำหรับข้าว (SimRice) และ ข้าวโพด (Simcorn)
www.ssnm.agr.ku.ac.th

ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 02-942-8104-5 โทรสาร 02-942-8106

หน่วยงานวิจัยปุ๋ยสั่งตัด  หน่วยงานบริการ และ หน่วยงานสนับสนุน
ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กรมวิชาการเกษตร  กรมพัฒนาที่ดิน 
กรมส่งเสริมการเกษตร  กรมการข้าว  มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

               
คณะผู้วิจัย :
ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และ รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม
หน่วยงาน :
ภาควิชาปฐพีวิทยา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  02-942-8104-5


http://www.rdi.ku.ac.th/kasetresearch52/10-clinic/tasnee_au/clinic_00.html




“ปุ๋ยสั่งตัด” ฉีกกฎหว่านปุ๋ยทิ้ง

ใช้ปุ๋ยตรงพืช ตรงดิน ลดต้นทุน

กิฎากรส์
ki_dakon@thaimail.com

เมื่อร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ... ผืนดินก็เช่นเดียวกัน มันจำเป็นต้องมีธาตุอาหารคอยหล่อเลี้ยงเพื่อบำรุงโครงสร้างให้อยู่ในสภาพดี และเพื่อทดแทนธาตุอาหารที่ถูกพืชดูดดึงไปใช้ ธาตุอาหาร N - P - K (ไนโตรเจน – ฟอสฟอรัส - โพแทสเซียม) ที่ผ่านการผลิตทางเคมี ซึ่งเกษตรกรรู้จักกันดีในนามของ “ปุ๋ยเคมี” นั้น ก็คือ อาหารที่จำเป็นสำหรับพืช แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาว่าเกษตรกรมักใช้ปุ๋ยเคมีตามความคุ้นเคย โดยมองข้ามไปว่าแท้จริงแล้ว ดินและพืชที่ปลูกต้องการธาตุอาหารใด ปริมาณเท่าไหร่ หรือปุ๋ยสูตรที่จำหน่ายตามท้องตลาดนั้นเหมาะสมกับพืชและดินแล้วหรือไม่

เกษตรกรหลายรายยึดติดกับความคิดที่ว่า ใส่ปุ๋ยมาก ได้ผลผลิตมาก แต่สุดท้ายก็ได้พบความจริงว่าสิ่งที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ผลผลิตแต่เป็นต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงขึ้นแบบเท่าทวีคูณ หากการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากกว่าความต้องการของดินและพืช นั่นหมายความว่า เกษตรกรกำลังฉีกเงิน ฉีกสตางค์ แล้วหว่านทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ นั่นเอง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใส่ปุ๋ยชนิดใด ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ???… หลายคนตั้งคำถาม

คำตอบจาก ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครูผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านปุ๋ยแก่เกษตรกรมาตลอดเกือบ 10 ปี ก็คือ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือการใช้ปุ๋ยเฉพาะที่เฉพาะทางตามค่าวิเคราะห์ดิน เจาะจงความเหมาะสมเฉพาะแปลงของเกษตรกรแต่ละราย

“ ปุ๋ยเคมีทั่วไป เปรียบเทียบได้กับเสื้อผ้าที่ขายในท้องตลาด ที่เรียกกันว่าเสื้อโหล ซึ่งอาจจะไม่พอดีกับเรา ต่างกับเสื้อสั่งตัดที่เป็นขนาดของเราโดยเฉพาะ ปัจจุบันเกษตรกรยังใช้ปุ๋ยแบบเสื้อโหล นั่นหมายความว่า คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเฉพาะข้าวหรือข้าวโพดจะใช้ทั้งสูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยเหมือนกันหมดทุกดินในประเทศไทย แต่ดินในประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด แล้วจะให้เหมือนกันทั้งหมดได้อย่างไร” ดังนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วย ดร.ทัศนีย์ รวมทีมวิจัยนำแบบจำลองการปลูกพืชมาพัฒนา

คำแนะนำปุ๋ยโดยนำปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย ดิน พืช และภูมิอากาศ มาร่วมคำนวณหาข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อให้ได้คำแนะนำปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพจากโปรแกรม จากนั้นนำมาทดสอบในแปลงทดสอบและแปลงสาธิต

ผลจากการวิจัยดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน ธ.ก.ส. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ได้นำคำแนะนำ”ปุ๋ยสั่งตัด”ไปขยายผลกับข้าวนา ชลประทาน 8 จังหวัดภาคกลางในปี 2550 ปรากฏว่าได้ผลดีมาก พบว่าถ้าใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแล้วค่าปุ๋ยเคมีต่อไร่ต่อฤดูปลูกลดลงร้อยละ 47 ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในปี 2551 สำนักงานปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กำลังนำไปขยายผลกับนาข้าว 1 ล้านไร่ในภาคกลางและอีสานอีก 20,000 ไร่

“ปุ๋ยส่งตัด” เป็นคำแนะนำปุ๋ยที่แตกต่างกันในดินแต่ละชนิด ในกรณีที่เป็นดินชนิดเดียวกัน แต่อยู่ต่างพื้นที่ วิเคราะห์ดินแล้ว มีเอ็นพีเคเท่ากัน แต่น้ำฝนไม่เท่า อากาศไม่เท่า แสงแดดไม่เท่า ก็จะมีคำแนะนำที่ต่างกัน ดังนั้นคำแนะนำ”ปุ๋ยสั่งตัด”จึงเป็นคำแนะนำปุ๋ยที่ละเอียดอ่อนมากและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เหมือนกับเราใส่เสื้อผ้าที่พอดี แต่เกษตรกรยังต้องมีการปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองเพิ่มเติมจะได้เป็นข้อมูล เฉพาะดินของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนใครแม้กระทั่งแปลงใกล้เคียง เพราะลักษณะดินและการจัดการดินมีส่วนทำให้ธาตุอาหารในดินแตกต่างกัน”

แต่เมื่อเอ่ยถึง “การวิเคราะห์ดิน” แล้ว สิ่งที่ต้องผุดอยู่ในความคิดของเกษตรกรทันทีก็คือ “เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก!!”

“การตรวจดินเป็นเรื่องที่เกษตรกรทำได้ ไม่ยุ่งยากเลย เพราะขั้นตอนที่สลับซับซ้อนเราทำให้มันง่ายแล้ว เพียงแค่เกษตรกรต้องเก็บดินในวิธีการที่ถูกต้อง เปลี่ยนพฤติกรรมจากปกติที่ซื้อปุ๋ยมาโยน ๆ มาลองเก็บดินให้ถูกวิธี และมาดูว่าเป็นดินชุดใด และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือว่ามีธาตุอาหารอะไรอยู่ในดินบ้าง จากนั้นก็นำค่าที่ได้มาเทียบเคียงกับตารางคำแนะนำการใช้ ”ปุ๋ยสั่งตัด” แต่ต้องเป็นปัจจุบันที่สุด ไม่ใช่นำผลวิเคราะห์ดิน

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เก็บใส่ลิ้นชัก เมื่อถึงเวลาแล้วเก็บขึ้นมาใช้ เพราะดินมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็เหมือนกับคนเรามีอ้วนมีผอม เสื้อผ้าชุดเดิมก็อาจใส่ไม่ได้แล้ว มีเกษตรกรบางรายใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 มานานมากซึ่งหมายความว่าไม่มีธาตุอาหารตัวท้าย แต่ปรากฎว่าเมื่อนำดินไปวิเคราะห์ปุ๊ป ดินในแปลงดังกล่าวขาดตัว K

ดังนั้นแม้จะใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ไปมากแค่ไหนดินก็ไม่เคยได้รับธาตุอาหารที่ขาด การใช้ปุ๋ยต้องมีความสมดุลตามปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน จึงต้องมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ซึ่งขั้นตอนการวิเคราะห์ดินง่ายมาก แต่เกษตรกรที่ยังไม่เคยลงมือมักจะมองว่าเป็นเรื่องยาก”

วิธีการตรวจสอบชุดดินสามารถปฏิบัติตามคู่มือตรวจสอบชุดดินที่ทีมงานได้พัฒนาขึ้น หรือสามารถสอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ส่วนการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ก็สามารถวิเคราะห์เองได้ภายใน

การลงทุนจุดนี้ หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มใช้ชุดตรวจสอบร่วมกัน หรือทางผู้นำชุมชน อบต. อบจ. หรือศูนย์ชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนก็นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง เมื่อได้ค่าวิเคราะห์ดินเสร็จแล้ว เกษตรกรก็สามารถนำมาเทียบเคียงกับคู่มือแนะนำการใช้ปุ๋ย หรือในท้ายเล่มหนังสือธรรมชาติของดินและปุ๋ย หรือคำนวณเองง่าย ๆ ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถดาว์นโหลด
มาใช้ได้จากเว็ปไซต์ 
www.ssnm.agr.ku.ac.th และเร็ว ๆ นี้ เกษตรกรยังสามารถรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยผ่านมือถือได้ง่าย ๆ โดยระบบ SMS ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศูนย์อิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

มาถึงบรรทัดนี้มีคำถามตั้งขึ้นต่อว่า แล้วจะนำปุ๋ยตามคำแนะนำมาจากที่ใด ???
คำตอบก็คือ การใช้แม่ปุ๋ย N P K เป็นหลัก นำมาผสมตามสัดส่วนตามคำแนะนำนั่นเอง “อาจจะไม่ง่ายเหมือนการซื้อปุ๋ยสูตร แต่การใช้แม่ปุ๋ย จะช่วยลดปัญหาปุ๋ยปลอมระบาดได้ส่วนหนึ่ง เพราะปัญหาทุกวันนี้คือเกษตรกรกรใส่ปุ๋ยเท่ากับใส่ดิน แต่ปัจจุบันพบปัญหาอีกว่าแม่ปุ๋ยก็หาได้ยาก จังหวะเหมาะที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนรายหนึ่งที่สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มสั่งซื้อแม่ปุ๋ยนำเข้าผ่านบริษัทเพื่อให้ได้แม่ปุ๋ยในราคาที่ถูกกว่าได้ ที่ต่างประเทศไม่ได้ขาดแคลนเลย ส่วนปุ๋ยสูตรที่นิยมใช้นั้นหน้าตาก็เหมือนกันไปหมด เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือปลอมจนกว่าจะมาวิเคราะห์ทางเคมี ปรากฏว่ามีคนไปเจอสูตร 15-15-15 ผลคือ มีแค่ 11-1-1 นี่เป็นต้นเหตุของเรื่องที่เกษตรกรแปลกใจว่าทำไมใส่ปุ๋ยไปแล้วมันเขียวแค่แป๊ปเดียว นั่นก็เพราะธาตุอาหารมีแค่นิดเดียวเท่านั้น” ดร.ทัศนีย์กล่าวเสริม

จากผลการใช้งานจริงของเกษตรกรตัวอย่างเคยใช้ปุ๋ยรวม 72 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อวิเคราะห์ดินแล้วเหลือ 25 กิโลกรัม ขณะที่ผลผลิตไม่ต่างกันมาก บางรายลดการใช้ปุ๋ยเหลือ 1 ใน 3 เฉลี่ยแล้วพบว่าเกษตรกรสามารถลดการใช้ปุ๋ย 38-49% นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสิ่งแวดล้อมด้วย

“ที่ผ่านมาเกษตรกรเข้าใจว่าใส่ปุ๋ยมากจะทำให้ผลผลิตมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ชอบคือแมลง เพราะไนโตรเจนทำให้พืชอวบ เต่งตึง แมลงก็มากิน เกษตรกรจึงต้องฉีดยาฆ่าแมลง บางคนเห็นแมลงอะไรก็ฉีดแล้ว แต่จริงๆ แล้ว มันมีทั้งแมลงตำรวจแล้วก็แมลงผู้ร้าย เกษตรกรก็ฉีดหมดกันไว้ก่อน ในที่สุดผลร้ายก็ตามมา เขาก็เลยโทษกันว่าสารเคมีมาจากปุ๋ยเคมีที่เป็นอันตราย อันที่จริงแล้วมาจากยาฆ่าแมลงเหล่านี้นี่เอง”

แต่การใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด”นี้ มีเงื่อนไขสิ่งหนึ่งคือ เกษตรกรต้องไม่เผาฟาง ศ.ดร.ทัศนีย์บอกว่า หากเผาฝางทิ้งก็เท่ากับการเผาเงินทิ้งเช่นกัน เพราะฟางข้าวเหล่านั้นก็คือปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีที่ไม่ต้องซื้อหา ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้โปร่งขึ้น ลดปัญหาดินแน่นทึบได้ดีและเพิ่มธาตุโพแทสเซียม

“ตอนนี้ปุ๋ยแพง เกษตรกรจะมาโยนเล่นไม่ได้ แต่ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นไม่ว่าปุ๋ยจะแพงอย่างไรถ้าเราจัดการได้ดีและมีประสิทธิภาพอย่างไรก็คุ้ม ส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ราคาตันละ 7000-12,000 บาท (ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหารเท่ากับ 175-300 บาท ) เกษตรกรอาจจะมองเห็นว่ามันถูกเมื่อเทียบราคาต่อตันกับปุ๋ยยูเรียซึ่งมีราคาสูงถึง ตันละ 28,000 บาท (ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหารเท่ากับ 61 บาท) เนื่องจาก ปุ๋ยอินทรียมีธาตุอาหารต่ำก่วา่ปุ๋ยเคมีมาก จึงมีราคาต่อหน่วยธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยเคมี หากนำมาใช้ตามความต้องการของพืชเท่ากับว่าเกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งหมายถึงรายจ่าย ที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างการใช้ปุ๋ยยูเรียกับปุ๋ยอินทรีย์ พบว่าต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า คิดเป็นสัดส่วน 17 ต่อ 400

ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีไม่ได้ แต่ต้องใช้ด้วยกัน เพราะหน้าที่ปุ๋ยอินทรีย์ก็คือปรับปรุงสภาพกายภาพ แต่บังเอิญว่าในปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีธาตุอาหารอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ปุ๋ยเคมีนั้นมีหน้าที่ให้ธาตุอาหารโดยตรง จึงเป็นคำตอบที่ว่าเราไม่สามารถเอาของที่ไม่เหมือนกันมาเทียบมาแทนกันได้ แต่สามารถใช้ร่วมกันได้”

ศ.ดร.ทัศนีย์ ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจกับกระแสการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่ายที่เริ่มผิดเพี้ยนไป เพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกต้องคือเป็นการนำเอาวัตถุทางธรรมชาติ เช่นเศษพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ต่างๆที่มีอยู่มาไถกลบลงไปในดิน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการแปรรูปให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และพยายามปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชหลักที่ปลูกอยู่ แต่สิ่งที่หนักใจยิ่งกว่าก็คือ ยังมีเกษตรกรค่อนประเทศที่มองข้ามความสำคัญของดินที่เหยียบย่ำ ใช้ประโยชน์จากมันอย่างละเลย

“ตอนนี้ดินประเทศไทยเสื่อมโทรมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อีสาน เมื่อไปวิเคราะห์ดินแล้วอยู่ในระดับต่ำเกือบทั้งหมดไม่มีธาตุอาหารใด ๆ เหมือนทราย ภาคกลางเองก็เยอะ ทางเหนือก็เสื่อม ขณะที่เกษตรกรก็ไม่รู้ประชากรก็เกิดทุกวัน แต่เราไม่สามารถไปบุกป่าสร้างพื้นที่ใหม่ได้อีกแล้ว เราต้องใช้พื้นที่เดิม แต่ถ้าเราไม่ดูแล เรื่องดินเสื่อมโทรม ผลผลิตก็จะค่อย ๆ ลดลงจนถึงจุดที่แย่ถึงที่สุด แล้ววันนั้นกว่าเราจะสามารถฟื้นฟูได้ต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบปี เกษตรกรไม่เพียงใช้ปุ๋ยเป็นอย่างเดียว แต่ต้องใส่ใจกับดินหมั่นตรวจดิน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันให้ความรู้กับเกษตรกร”

ความพยายามในการถ่ายทอดความรู้เรื่องดินและการใช้ปุ๋ยของ ดร.ทัศนีย์ และทีมงาน เนิ่นนานมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่การนำไปใช้จริงของเกษตรกรมีเพียง 10% เท่านั้น หลายคนบอกกับดร.ทัศนีย์ว่าเหมือนการหยดน้ำทีละหยดในมหาสมุทร แต่เธอบอกว่าไม่เป็นไร สักวันคงจะได้สักกระป๋องหนึ่ง การมีพันธมิตรมีผู้สนับสนุนร่วมเผยแพร่หรือต่อยอดงานวิจัยที่มากขึ้นทำให้ภาพความหวังให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้เริ่มชัดเจนขึ้น


“อาจารย์ไม่ได้คาดหวังว่าเกษตรกรทุกคนทั่วประเทศจะต้องวิเคราะห์ดินเก่งหรือให้คำแนะนำ”ปุ๋ยสั่งตัด” เก่ง แต่สิ่งที่เราหวังก็คือแกนนำชุมชนที่สามารถเรียนรู้วิธีการนี้ไปใช้หรือเผยแพร่ในชุมชน สอนกันเองในชุมชน เกษตรกรเก่ง ๆ บ้านเรามีเยอะเลย เพียงแต่ว่าเราจะขยายผลอย่างไรให้เกษตรกรมีความรู้ จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ ทุกวันนี้ให้อาจารย์ไปสอนไปบรรยายที่ไหน รวมกลุ่มกันมาอาจารย์ก็ไปหมด สักวันก็คงได้รับผลสำเร็จ ...ก็คงจะทำไปจนกว่าอาจารย์จะตาย” คำทิ้งท้ายจากศ.ดร.ทัศนีย์



ศึกษาคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมได้ที่
www.ssnm.agr.ku.ac.th หรือสอบถามข้อมูล “ชุด
ตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดิน” ได้ที่ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์





“ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยลดต้นทุนการผลิต


ในยุคเศรษฐกิจทุนนิยม เกษตรกรต้องแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ จึงควรเร่งพัฒนาตนเองให้เป็น “มืออาชีพ” เร็วที่สุด คือ ทำการเกษตรอย่างมีเป้าหมายชัดเจน มีหลักคิดที่ถูกต้อง รวมทั้งใช้ข้อมูลและความรู้ประกอบการตัดสินใจในทุกๆ ขั้นตอน

เป้าหมายแรกของเกษตรกรมืออาชีพควรอยู่ที่การลดต้นทุน เพราะเริ่มได้ทันทีด้วยตนเอง โดยวิเคราะห์โครงสร้างของต้นทุนการผลิต แล้วกำหนดเป้าหมายต้นทุนการผลิตครั้งต่อไปว่าจะอยู่ที่เท่าไร? จะลดค่าใช้จ่ายส่วนไหน? และด้วยวิธีการอย่างไร?

ระวัง! อย่าคิดแบบแยกส่วน หรือคิดแบบเหตุเดียวผลเดียว เพราะหนึ่งผลมาจากหลายเหตุ ต้องคิดเป็นระบบให้เชื่อมโยงเป็นองค์รวม เพราะการเกษตรเป็นวิทยาศาสตร์

พืชทุกชนิดจะเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูงก็ต่อเมื่อเกษตรกรสามารถจัดการให้เกิด “ความลงตัวพอดี” ระหว่างพันธุ์พืชกับปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดิน ปุ๋ย น้ำ วัชพืช โรค แมลง ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2550 กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมมือกับกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธ.ก.ส. และมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ได้จัดทำโครงการบูรณาการลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง 8 จังหวัด

จากเวทีเสวนาของชาวนาผู้นำ สรุปได้ว่า ถ้าต้องการลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 20 โดยผลผลิตข้าวไม่ลดลง ต้องดูแลจัดการเป็นพิเศษใน 4 “จุดคอขวด” ดังนี้

1. เมล็ดพันธุ์ข้าว ปัญหาใช้อัตราเมล็ดพันธุ์มากเกินไป ควรใช้เพียง 20-25 กก.ต่อไร่

2. การปรับปรุงบำรุงดิน ปัญหาดินเสื่อมโทรม และการเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ควรไถกลบหรือหมักฟางในนา โดยเร่งการผุพังสลายตัวด้วยปุ๋ยอินทรีย์/น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้มาก ทั้งยังช่วยลดการระบาดของหนอนกอ ส่วนดินที่เสื่อมโทรมมาก ควรปรับปรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสด อาทิ ปอเทือง ถั่วมะแฮะ ฯลฯ

3. การใช้ปุ๋ยเคมี ปัญหาใช้ปุ๋ยเคมีผิดสูตรและผิดปริมาณ ควรใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” รวมทั้งการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หรือปุ๋ยแต่งหน้า (ปริมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยไนโตรเจนทั้งหมด) ต้องให้ถูกเวลาด้วย แนะนำให้ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ในวันที่ 60 นับถอยหลังจากวันเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นระยะกำเนิดช่อดอกของข้าว เช่น พันธุ์ข้าวอายุ 110 วัน (สุพรรณ 1 ชัยนาท 1 และพิษณุโลก 2) ใส่ปุ๋ย 50 วันหลังหว่าน พันธุ์ข้าวอายุ 115 วัน (สุพรรณ 3) ใส่ปุ๋ย 55 วันหลังหว่าน และพันธุ์ข้าวอายุ 120 วัน (ปทุมธานี 1) ใส่ปุ๋ย 60 วันหลังหว่าน เป็นต้น

4. การใช้สารฆ่าแมลง ปัญหาใช้สารฆ่าแมลงเกินความจำเป็น ถ้าใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตราที่เหมาะสม และใช้ปุ๋ยเคมีถูกต้อง ปัญหานี้จะลดลงได้มาก โดยแนะนำให้สำรวจแมลงศัตรูข้าวก่อนฉีดพ่นสารฆ่าแมลงทุกครั้ง

สรุปผลจากโครงการฯ คือ ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารฆ่าแมลง 91, 241 และ 178 บาท ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ส่วน “ปุ๋ยสั่งตัด” ลดค่าปุ๋ยเคมีได้ร้อยละ 47 ซึ่งเป็นผลจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสลดลงร้อยละ 65 และ 43 ตามลำดับ แต่การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 48

ปี 2543 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี 2.6 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 ล้านตันในปี 2550 หรือใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 ในช่วงระยะเวลา 7 ปี และเกือบครึ่งหนึ่งของปุ๋ยเคมีทั้งหมดใช้ในการปลูกข้าว แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2551) แสดงให้เห็นว่า ต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจเป็นค่าปุ๋ยเคมีถึงร้อยละ 25 และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (ธ.ก.ส.) รายงานว่า ประมาณร้อยละ 50 ของยอดจำหน่ายปัจจัยการผลิตทั้งหมดของสหกรณ์ฯ เป็นค่าปุ๋ยเคมี

การใช้ปุ๋ยเคมีให้  “ถูกสูตร ถูกปริมาณ ถูกเวลา ถูกวิธี”   จึงควรเป็นประเด็นเร่งด่วนที่เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ชาวนาในเขตชลประทานภาคกลางปลูกข้าวปีละ 2-3 ครั้ง การปลูกข้าวแต่ละครั้งใช้ปุ๋ยเคมี 50-75 กก.ต่อไร่ เป็นการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็นถึงเท่าตัว โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ ล้มง่าย โรคแมลงระบาด และพบว่าในบางพื้นที่ แม้เป็นดินเหนียว ต้นข้าวมีอาการขาดโพแทสเซียม เมล็ดข้าวลีบ ผลผลิตไม่มีน้ำหนัก จึงต้องเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า “ไม่ต้องใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมให้แก่ข้าวที่ปลูกในดินเหนียว เพราะดินมีอยู่เพียงพอแล้ว”

สาเหตุที่ต้นข้าวแสดงอาการขาดโพแทสเซียม เพราะในปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวออกจากพื้นที่มากกว่าในอดีต 5-6 เท่าตัว จากที่เคยปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองปีละครั้ง และเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปเพียง 300-400 กก.ต่อไร่

การผลิตข้าวเปลือก 1 ตัน ข้าวต้องดูดใช้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ประมาณ 20, 5 และ 25 กก. ตามลำดับ และพบว่าดินเหนียวในบางพื้นที่ปลดปล่อยธาตุโพแทสเซียมออกมาให้ต้นข้าวใช้ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีมากกว่า 200 ชุดดิน (Soil series) เช่น ชุดดินบางกอก อยุธยา รังสิต ปากช่อง ฯลฯ และแต่ละชุดดินต่างก็มีมีศักยภาพ (พลัง) และข้อจำกัดในการปลูกพืชที่แตกต่างกัน

คำแนะนำการใช้ปุ๋ยส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบกว้างๆ หรือที่เรียกว่า “การใช้ปุ๋ยแบบเสื้อโหล” (เสื้อมีขนาดเดียว) ไม่มีการวิเคราะห์ดิน ต่อมาพัฒนาเป็น “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” (เสื้อมีหลายขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่) โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มาใช้กำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ยด้วย

ส่วน “ปุ๋ยสั่งตัด” (เสื้อมีขนาดพอดีตัว) เป็นเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยที่นำปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ พันธุ์พืช แสง อุณหภูมิ น้ำฝน ชุดดิน และข้อมูล เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มาใช้กำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย จึงมีความถูกต้องมากขึ้น แต่ยังคงแนะนำให้เกษตรกรปรับการใช้ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่งด้วยตนเอง โดยสังเกตการเจริญเติบโตของพืช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยให้มากยิ่งขึ้น

ข่าวดีสำหรับเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังขยายแนวทางลดต้นทุนการผลิตข้าวดังกล่าวในเขตชลประทานภาคกลาง 20 จังหวัด และในปี 2551 สปก. ได้นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปลดต้นทุนการผลิตข้าว ทั้งในภาคกลางและภาคอีสาน ส่วนวิทยาลัยเกษตรฯ 5 แห่ง ได้ทดลองจัดตั้งหน่วยบริการวิเคราะห์ดินและให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยแก่เกษตรกร เพื่อให้นักศึกษาได้บริการชุมชนและเรียนรู้จากการปฏิบัติ รวมทั้งเมื่อเดือนมกราคม 2552 ธ.ก.ส. ได้เริ่มโครงการวิเคราะห์ดินและตรวจสอบปุ๋ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในทุกจังหวัด

ระหว่างปี 2540-2549 ศ. ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ โดยการสนับสนุนของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ประดิษฐ์ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว เพื่อช่วยให้เกษตรกรวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง ทั้งยังแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงและความล่าช้าของการวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการ พร้อมกับได้พัฒนาโปรแกรม “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับข้าวและข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

การใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 ขั้นตอน
1. ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน สอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์
www.soil.doae.go.th

2. ตรวจสอบปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน ใช้ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ซึ่งเกษตรกรวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองภายใน 30 นาที (ค่าน้ำยา 50 บาทต่อตัวอย่าง) สอบถามได้ที่ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 02 942 8104 – 5

3. ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือโปรแกรมคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งดาวน์โหลดโปรแกรมได้จากเว็บไซต์www.ssnm.agr.ku.ac.th

หมายเหตุ ควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืช 3 ฤดูปลูกติดต่อกัน เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากนั้นแนะนำให้วิเคราะห์ดินทุก 2 ปี

ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ ดินจึงเปรียบเสมือนรากฐานชีวิตของเกษตรกร เพราะเป็น “ทุน” ที่สำคัญสำหรับทำการเกษตร แต่เกษตรกรขาดความตระหนักถึงคุณค่าของดิน อาจเป็นเพราะว่า เกษตรกรยังรู้จักดินน้อยที่สุดในบรรดาปัจจัยที่ใช้ในการผลิต ทั้งๆ ที่ดินเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับเกษตรกรมากที่สุด

ดังนั้น ควรเร่งยกระดับความรู้เรื่องดินและปุ๋ยของเกษตรกร ถ้าไม่รู้จักดิน ไม่รู้จักปุ๋ย จะปรับปรุงดิน หรือใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร? เพราะ “ดินดีใช้ปุ๋ยน้อย”



ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@pan-group.com

http://sites.google.com/site/banrainarao/column/ssnm_02









ชวนเกษตรกรฝึกทำปุ๋ยสั่งตัด

ปัจจุบันเกษตรกรส่วนมากนิยมหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันอย่างแพร่หลาย เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ถ้าเกษตรกรใส่ปุ๋ยอินทรีย์น้อยเกินไป ผลผลิตที่ได้ก็จะลดลง ดังนั้น เกษตรกรจึงควรรู้จักทรัพยากรดินที่เป็นรากฐานของชีวิตตนเอง และควรมีความเข้าใจในการเลือกใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ เพื่อผลตอบแทนจากการผลิต และป้องกันปัญหาดินเสื่อมโทรม

โดยเกษตรกรควรมีหลักคิดที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง และเป็นผู้รอบรู้ในด้านการจัดการดิน ปุ๋ย โรค และแมลงศัตรูพืช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้

การใช้ปุ๋ยสั่งตัด คือการใช้ปุ๋ยตามสภาพดิน โดยการวิเคราะห์สภาพดินปัจจุบันว่าอยู่ในสภาพใด มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างเท่าใด สภาพดินที่ดีจะต้องประกอบด้วยอินทรียวัตถุ 5% น้ำ 25% อากาศ 25% และแร่ธาตุอาหาร 45% โดยวิเคราะห์สภาพดินว่าต้องการธาตุอาหารใดบ้าง รวมทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีและปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพของดินและพืชที่ปลูก จึงทำให้มีการทำปุ๋ยสั่งตัดเพื่อให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพเหมาะแก่การเพาะปลูก

การเลือกว่าจะใช้ปุ๋ยสูตรอะไร ก็ต้องรู้ก่อนว่าในดินมีธาตุอะไรอยู่บ้าง และมีปริมาณมากน้อยเพียงใด และพืชที่เราปลูกอยู่นั้นมีความต้องการธาตุอาหารแต่ละอย่างมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญคือ ดินของตนเองมีคุณสมบัติอย่างไร ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การกำหนดว่าควรใส่ปุ๋ยอะไร ซึ่งความจริงแล้วถ้าจะพูดให้ชัดขึ้น แทนที่จะเป็นสูตรปุ๋ย ก็อาจต้องพูดถึงความต้องการไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแตสเซียม แต่ละตัวเป็นอย่างไร คือพูดแยกกันเป็นตัวเดี่ยวๆ ไม่ใช่สูตรผสมเสร็จอย่างที่เคยชินกัน แล้วจึงเลือกใส่ปุ๋ยตามนั้น

การที่จะรู้ว่าดินอย่างหนึ่งเมื่อปลูกข้าวแล้วควรให้ปุ๋ยอะไร เกษตรกรจะต้องไปศึกษามาก่อนแล้วรวบรวมข้อมูลไว้ หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ดินในพื้นที่ของตัวเองว่ามีธาตุอะไรมากน้อยแค่ไหน แล้วก็เอามาเทียบกับตารางแนะนำ ก็จะรู้ว่าควรใส่ปุ๋ยอะไรในปริมาณมากน้อยแค่ไหน แต่หากเปลี่ยนเป็นข้าวโพดหรือเปลี่ยนเป็นดินที่อื่น คำแนะนำดังกล่าวก็ย่อมแตกต่างกันออกไป และขั้นสุดท้ายคือ ผสมปุ๋ยไว้ใช้เองตามสูตรที่ต้องการ หรือตามสูตรที่ได้จากคำแนะนำ

ดังนั้น การผสมปุ๋ยใช้เองจึงเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีการวิเคราะห์ดิน และมีการศึกษามาก่อนอย่างละเอียด การพิจารณาความต้องการใช้ปุ๋ยในดินแต่ละแห่งสำหรับพืชแต่ละอย่าง ก็เหมือนการวัดขนาดตัวเพื่อตัดเสื้อผ้าให้พอดีแก่ผู้ใส่ จึงเรียกว่าเป็นการให้ปุ๋ยแบบ "สั่งตัด" ซึ่งจะได้ขนาดตรงตามความต้องการวัสดุและอุปกรณ์ ได้แก่ ถัง, กระบะผสม, จอบ, เสียม, มูลสัตว์, ฟอสเฟส, ธาตุอาหารรอง และโพแตสเซียม

ขั้นตอนการทำ ดังนี้
1.เรียนรู้การตรวจสอบ คัดแยกประเภทของดินและธาตุอาหารในดิน เช่น ความเป็นกรดหรือด่างของดิน ความเปรี้ยวและเค็มของดิน

2.เรียนรู้วิธีการผสมปุ๋ยอินทรีย์สั่งตัด โดยใช้แร่ธาตุและวัตถุดิบที่เหมาะสมกับสภาพดินและพืชที่ต้องการปลูก

3.นำดินและสารอาหารที่วิเคราะห์มาใส่กระบะคลุกเคล้าให้เข้ากัน

4.นำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผสมแล้วเข้าสู่กระบวนการปั่นและปั้นเม็ด เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน และ

5.นำปุ๋ยที่ปั้นเม็ดแล้วใส่บรรจุภัณฑ์


ส่วนข้อดีของปุ๋ยสั่งตัดคือ ประหยัด สามารถทำเองได้ เหมาะแก่สภาพดินและการเพาะปลูก

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมการทำปุ๋ยสั่งตัด หลักสูตรระยะเวลา 2 วัน ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนนทบุรี (ศพจ.นนทบุรี) สามารถสมัครและสอบถามได้ที่ โทร.0-2595-4046-8 และ 0-2595-4045.


http://www.thaipost.net/x-cite/310510/22780









’ปุ๋ยสั่งตัด‘’ ทีมเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี

คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประเภททีมประจำปีนี้จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

กับคณะวิจัยกลุ่มเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ หรือที่เรียกกันว่า ปุ๋ยสั่งตัด

ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ เพราะงานวิจัยนี้ได้ริเริ่มและดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี และ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะกับภาคการเกษตร อาชีพหลักที่สำคัญของประเทศไทย

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย บอกว่า กลุ่มเทคโนโลยี ปุ๋ยสั่งตัด ประกอบด้วยบุคลากรหลาก หลายองค์กรกว่า 30 คน จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน และจากต่างประเทศคือมหาวิทยาลัย เกียวโต และมหาวิทยาลัยฮาวาย

ที่มาของงานวิจัยเนื่องจากพื้นที่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูก ปุ๋ยจึงมีความสำคัญ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรขาดความเข้าใจในดิน ทรัพยากรที่มีค่าของตนเอง จึงเกิดการใช้ปุ๋ยอย่างไม่เหมาะสม

ศ.ดร.ทัศนีย์ บอกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้คำแนะนำปุ๋ย โดยเฉพาะไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) แบบกว้าง ๆ สำหรับการปลูกพืชในดินทุกชนิดและทุกจังหวัด ที่เรียกว่า การใช้ปุ๋ยเสื้อโหล ไม่มีการวิเคราะห์ดิน แม้ว่าต่อมาจะพัฒนาเป็น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พ ในดินขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย แต่ในทางปฏิบัติก็ยังห่างไกลความเป็นจริง

ปัจจุบันปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปี ในขณะที่ผลผลิตไม่ได้เพิ่มตามไป ด้วย แสดงให้เห็นถึงการใช้ปุ๋ยเคมียังไม่มีประสิทธิภาพ

ผลก็คือหากใช้ปุ๋ยผิดสูตรและปริมาณไม่เหมาะสมทำให้พืชไม่เจริญเติบโต ผลผลิตน้อย แต่ถ้าใส่ปุ๋ยเกินความต้องการของพืช นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าปุ๋ย ยังสร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

กลุ่มวิจัยจึงได้ริเริ่มและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำสำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อย ขึ้นเพื่อเป็นเทคโนโลยี ที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง

โดยนำแนวคิดมาจากการเกษตรแม่นยำ ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้มากว่า 10 ปี มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพไร่นาขนาดเล็กของเกษตรกรไทย

ในที่นี้เรียกว่า เทคโนโลยี ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเหมือนเสื้อมีขนาดพอดีตัว มีการนำข้อมูลพันธุ์พืช แสง อุณหภูมิ ปริมาณ น้ำฝน ชุดดิน และ เอ็น-พี-เค ในดินใน ขณะนั้น มาคำนวณ ในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้วยคอมพิวเตอร์ และพัฒนาเป็นโปรแกรมคำแนะนำปุ๋ยสั่งตัด

นอกจากนี้ยังพัฒนาชุดตรวจสอบค่าเอ็น-พี-เคในดินอย่างรวดเร็ว วิเคราะห์ได้ใน 30 นาที และคู่มือการสำรวจชุดดินในภาคสนามอย่างง่าย ไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมากและใช้เวลานาน

สำหรับความง่ายของช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ศ.ดร.ทัศนีย์ บอกว่ามีเพียง 3 ขั้นตอนคือ
1.ตรวจสอบดินของตนเองว่าเป็นชุดดินอะไร สอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดหรือ
www.soil.doae.go.th

2.ตรวจสอบปริมาณธาตุอาหาร เอ็น-พี-เค ในดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบอย่างรวดเร็ว ซึ่งแนะนำชุมชนหรือ อบต. เป็นผู้ลงทุน และ

3.ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำโดยดูจากคู่มือการใช้หรือโปรแกรมซึ่งดาวน์โหลดได้ที่
www.ssnm. agr.ku.ac.th


ส่วนผลการดำเนินงาน ปุ๋ยสั่งตัด ทำให้เกษตรกรลดค่าปุ๋ยในการผลิตข้าว 47% ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นได้ถึง 7% ได้ ส่วนข้าวโพด ถ้าใช้ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 30% สำหรับอ้อย ซึ่งคำแนะนำเพิ่งเสร็จเฉพาะภาคอีสาน ก็พบว่ามีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทีมงานบอกว่าการพัฒนาต่อไปนอกจากจะประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่น ๆ เช่นอ้อยภาคตะวันตก หรือยางพาราแล้ว ยังต้องเน้นที่การฝึกอบรม ยกระดับความรู้ให้กับเกษตรกรไทย เพื่อความหวังที่ว่า อนาคตเกษตรกรไทยจะต้องไม่ยากจน.



นาตยา คชินทร
nattayap@dailynews.co.th

http://news.sanook.com/839505-%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%8B%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B5.html

(02)942-8104-5 แฟกซ์ (02)942-8106 หรือติดต่อกับ ศ.ดร.ทัศนีย์ ทางอีเมลได้ที่ tasnee_attanan@yahoo.com


http://www.ssnm.agr.ku.ac.th/main/Know/article_domestic%20technology%20magazine.pdf




หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©