ผักสลัดน้ำ หรือวอเตอร์เครส (water cress) กับผักเป็ดไทยนั้น ลักษณะต้นกับใบคล้ายกันอยู่ ถ้าดูตามการจำแนก ความแตกต่างด้านพฤกษศาสตร์ (Botanical classification) แล้ว


ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ตระกูล
สลัดน้ำ, วอเตอร์เครส (water cress) Nasturtium officinale Brassicaceae
ผักเป็ดไทย (mukunuwenna) Alternanthera sessilis Amaranthaceae


จากตารางจะเห็นว่า วอเตอร์เครส กับ ผักเป็ดไทยนั้น คนละเรื่องกันเลย

ดูตามรูป ก็ต่างกันอยู่ แต่ผมไม่แน่ใจว่าปัจจุบัน วอเตอร์เครส ที่ปลูกกันอยู่ ไม่ว่าจะปลูกแบบที่มีน้ำขัง หรือปลูกในแปลง หรือปลูกในถุงขาย อาจจะมีการนำเข้าสายพันธุ์ใหม่ หรือกลายพันธุ์เอง หรือถูกพัฒนาพันธุ์  ทำให้หน้าตาแตกต่างไปจากเดิม หรือไปคล้ายกับผักเป็ดไทยมากขึ้นหรือเปล่า


สลัดน้ำ, วอเตอร์เครส (water cress)
ผักเป็ดไทย (mukunuwenna)
สลัดน้ำ
ผักเป็ดไทย


ข้อมูลทางวิชาการของ สลัดน้ำ หรือวอเตอร์เครส (water cress) ก็ว่ากันตามอาจารย์ผมนะครับ (รศ.นิพนธ์ ไชยมงคล)


สลัดน้ำ
ใช้ใบประกอบอาหาร เช่น สลัดผัก ต้มจืด ผัดน้ำมันหอย เป็นต้น ประกอบด้วยวิตามัน เอ ไรโบฟลาวิน ธาตุเหล็ก แคลเซี่ยม และโปรตีน ใช้ลดความดันโลหิต รายงานวิจัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่าน้ำมันที่สะกัดจากพืชตระกูลกะหล่ำ (mustard oils) ประกอบด้วยสาร isothiocyanates สูง ต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถป้องกันโรคมะเร็งที่เกิดจากควันบุหรี่ในสัตว์ทดลอง และสาร phenylethyl isothiocyanates (PEITE) ในสลัดน้ำมีแนวโน้มให้ผลดีที่สุด

World cancer Research Fund and American Institute for Cancer Research (1997) รายงานว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณร้อยละ 40 สามารถลดลงได้โดยรับประทานอาหารที่เหมาะสม


มะเร็งเกิดจากการรับประทานอาหารหรือการสูดดมสารตั้งต้นของโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุอาการผิดปกติในเซลล์ สารประกอบน้ำมันในพืชตระกูลกะหล่ำ ประกอบด้วย phenylethyl isothiocyanates (PEITC) สามารถลดอัตราการเป็นมะเร็งในหนูทดลองได้

รากสามารถเจริญจากข้อ เจริญในน้ำหรือในที่ ๆ มีความชื้นสูง สายพันธุ์ดั้งเดิมพบในลำธารน้ำสะอาด ระดับน้ำตื้น ไหลผ่านตลอดเวลา

สลัดน้ำมีสองสายพันธุ์คือ

  1. พันธุ์สีเขียว เป็นสายพันธุ์ที่ต้องการสภาพอากาศอบอุ่น ไม่ทนต่ออุณหภูมิต่ำติดดอกและเมล็ดง่าย
  2. พันธุ์สีน้ำตาล เป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่ออุณหภูมิต่ำ ติดดอกและเมล็ดยาก ขยายพันธุ์โดยการปักชำต้น

สลัดน้ำเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง รากจะเจริญได้ดีในพื้นที่ ๆ มีระดับน้ำตื้น (5-10 เซนติเมตร) มีน้ำสะอาดไหลผ่านช้า ๆ ตลอดเวลา การปลูกในที่ ๆ ไม่มีการหมุนเวียนของน้ำ จะทำให้น้ำเน่าเสีย และสลัดน้ำจะตาย ในกรณีที่ไม่สามารถหาแหล่งปลูกในที่มีน้ำไหลผ่านได้ อาจจะปลูกตามขอบบ่อ โดยสูงกว่าระดับน้ำ 15 เซนติเมตร และบังร่มเงา หรืออาจจะปลูกในพื้นที่ ๆ ร่มรำไร และให้น้ำแบบพ่นฝอยวันละสองครั้ง


การปลูกเพื่อบริโภคในครอบครัว และปลูกเป็นไม้ประดับ อาจจะปลูกในกระถางหรือถาดปลูก โดยการผสมวัสดุปลูกลงไปในภาชนะ สูง 5-7 เซนติเมตร ใช้ถาดรองภาชนะและใส่น้ำให้สม่ำเสมอ วางไว้ใกล้หน้าต่างหรือที่ ๆ ได้รับแสงรำไร


การเตรียมแปลงปลูก

สลัดน้ำมีถิ่นกำหนดในเขตหนาว เจริญได้ดีในอุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส แหล่งปลูกจึงเป็นพื้นที่ ๆ มีอุณหภูมิต่ำ และความเข้มของแสงต่ำในฤดูร้อน
ในที่ ๆ ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ ควรใช้พลาสติกรองก้นบ่อ ผสมดินร่วน ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกเก่า ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ใส่ลงไปในบ่อให้สูง 25-30 เซนติเมตร เกลี่ยหน้าดินให้เรียบและทุบให้แน่น เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน ทำขอบบ่อสูง 20-30 เซนติเมตร วางก้อนหินในบ่อเพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว  การปลูกเพื่อการค้าสามารถทำแปลงปลูกคล้ายกับการทำนา โดยเตรียมดินเช่นเดียวกับการปลูกในบ่อ


การเพาะปลูก

การขยายพันธุ์อาจเพาะเมล็ดหรือการปักชำ การขยายพันธุ์โดยเมล็ด รดน้ำแปลงปลูกให้มีความชุ่มชื้นพอสมควร เมล็ดมีขนาดเล็กมากควรผสมกับทรายละเอียดในปริมาตรที่เท่ากัน หว่านบาง ๆ ทั่วแปลงปลูก ไม่ต้องกลบเมล็ดและระวังอย่าให้มีน้ำขัง รักษาหน้าแปลงให้มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา เมื่อเมล็ดเริ่มงอก ต้นกล้าเริ่มเจริญจึงค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำ


การปลูกโดยใช้ต้นปักชำ ควรเด็ดใบที่อยู่ส่วนโคนออก เหลือเฉพาะใบส่วนยอดแช่ ส่วนโคนในน้ำสะอาด จะงอกรากภายในเวลา 2 วัน ใช้ระยะปลูก 5×5 เซนติเมตร 
ในฤดูร้อนพันธุ์สีเขียว จะมีดอกเจริญขึ้นมาและติดเมล็ด ซึ่งจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต


การดูแลรักษา

สลัดน้ำเป็นพืชตระกูลกะหล่ำ จะมีปัญหาการเข้าทำลายของหนอนใย และหมัดกระโดด ควรใช้มุ้งตาข่ายคลุมแปลงปลูก เนื่องจากเป็นพืชที่นิยมบริโภคในรูปผักสดไม่ควรฉีดสารเคมี


เมื่อต้นเจริญสูง 10-15 เซนติเมตร ให้เด็ดยอด เพื่อให้แตกกิ่งข้าง การเพิ่มจำนวนกิ่งต่อต้นจะทำให้ผลผลิตสูง การปลูกในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา ควรคลุมบ่อด้วยพลาสติกใส เพื่อเติมอุณหภูมิ หลังเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง ควรใส่ปุ๋ยคอก เพื่อเพิ่มไนโตรเจน ทุกสองถึงสามเดือนระบายน้ำทิ้ง ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี เพื่อให้ต้นเจริญรวดเร็วและสมบูรณ์


การเก็บเกี่ยว

การปลูกในพื้นที่ ๆ มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา ให้ปุ๋ยอย่างพอเพียงสม่ำเสมอ ไม่เก็บเกี่ยวบ่อยครั้งจนเกินไป สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายปี ในกรณีที่ต้นโทรม ผลผลิตต่ำ ควรปลูกใหม่ โดยการปักชำ


ขอบคุณคอมเม้นต์นี้นะครับ
http://www.vegetweb.com/contact-vegetweb/#comment-390