-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 456 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สิ่งแวดล้อม




หน้า: 1/2



 
 การผลิต การปลูก การแปรรูป และการตลาดของพริก
และผลิตภัณฑ์พริกในประเทศไทย


 
รศ.ดร.กมล   เลิศรัตน์
คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
kamol@kku.ac.th  


ข้าว พริก และเกลือ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารไทย        “พริก” ถูกจัดให้เป็นพืชวัฒนธรรมอีกชนิดของคนไทยที่มีการใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการบริโภค  ในรูปของเครื่องเทศสำหรับปรุงแต่ง รสชาติ กลิ่นและ  สี  ใช้เป็นพืชสมุนไพร และใช้ในพิธีกรรมต่างๆ       นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการสกัดสารเผ็ดที่เรียกว่า แคปไซซิน (capsaicin)  ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่น  กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร  กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต  บำรุงหัวใจ  บรรเทาอาการปวดเมื่อย  ฉีดพ่นรักษาอาการโรคไซนัส รวมทั้งใช้เพื่อควบคุมน้ำหนัก  นอกจากนี้ยังได้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่นใช้แทนแก๊สน้ำตาเพื่อปราบจลาจลและใช้เคลือบสายไฟและสายไฟเบอร์ออปติกส์ต่างๆ เพื่อป้องกันการกัดแทะของสัตว์       เนื่องจากพริกเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารและยา  มีสี  รสชาติที่ไม่อาจใช้ผลผลิตจากพืชอื่น ๆ ทดแทนได้  จึงทำให้พริกเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง   ในด้านการผลิตนั้นมีการเพาะปลูกมานานควบคู่กับชาติไทย เริ่มจากปลูกพริกในลักษณะสวนครัวหลังบ้านและต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพริกเพื่อการค้า เพื่อผลิตพริกสดและพริกแห้ง สำหรับใช้ในการบริโภคและส่งโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกลูกผสมเพื่อการส่งออกด้วย
 

 
 สถานการณ์การผลิตพริก

  จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติพบว่าทั่วโลกมีแนวโน้มการผลิตพริกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี  เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่การผลิตกระจายทั่วทั้งประเทศ จากข้อมูลพื้นที่ปลูก (เฉลี่ย 5 ปีเพาะปลูก 2541/42-2545/46) ของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า    ปัจจุบันมีการปลูกพริก 5 ชนิดคือ พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ พริกขี้หนูสวน  พริกชี้ฟ้า พริกหยวกและพริกยักษ์ เป็นพื้นที่รวม 597,157 ไร่/ปี ได้ผลผลิตสดรวม 311,831 ตัน/ปี  พริกที่ปลูกมากที่สุดคือพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ พันธุ์ที่ปลูกได้แก่ พันธุ์จินดา หัวเรือ   ห้วยสีทนและยอดสน แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ เลย ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี  ลำดับที่ 2 คือพริกชี้ฟ้า  แหล่งผลิตสำคัญคือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ลำพูน อุตรดิตถ์ ราชบุรี และนครราชสีมา  และลำดับที่ 3 คือพริกขี้หนูสวน ที่มีแหล่งผลิตสำคัญคือ เชียงใหม่ นครปฐม กาญจนบุรีและศรีสะเกษ โดยปลูกเป็นพื้นที่ 364,367 ไร่  119,421 ไร่ และ 104,692 ไร่ ตามลำดับ  คิดเป็นร้อยละ 61,  20 และ 18 ของพื้นที่ปลูกพริกทั้งหมดตามลำดับ  

ลักษณะการผลิตพริกตามสภาพการเพาะปลูกของไทยแบ่งออกได้เป็น  2 แบบ คือพริกไร่และพริกสวน โดยการปลูกพริกไร่ นั้นปลูกเป็นพื้นที่มากกว่า  ในฤดูฝน อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก บนที่ดอนหรือที่เชิงเขา ที่มีดินดี  มีการดูแลรักษาเอาใจใส่น้อย แต่ก็ได้ผลผลิตต่ำกว่าและมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ อยู่ที่ประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกพริกไร่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งพริกสดและแห้ง แตกต่างจากสภาพสวน  ซึ่งปลูกหลังนา ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ  ใช้พื้นที่ผลิตน้อยกว่า  มีขั้นตอนการดูแลจัดการตั้งแต่การเพาะกล้าจนกระทั่งเก็บเกี่ยวดีกว่า   ส่งผลให้ได้ผลผลิตสูงโดยเฉลี่ยแล้วให้ผลผลิตมากกว่า 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ และมีคุณภาพตรงตามตลาดต้องการ  นอกจากนี้แล้วยังมีการผลิตในสภาพโรงเรือน  ซึ่งเน้นพริกหวานที่มีมูลค่าสูงเป็นหลัก  ต้องการการดูแลจัดการที่มากขึ้น  สำหรับพันธุ์ที่ใช้ปลูกนั้นส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บเมล็ดไว้ใช้เอง มีเกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมมาปลูก  

จากข้อมูลของโครงการพัฒนาพริกเพื่ออุตสาหกรรมมูลค่าสูง ปี 2549 ที่ได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร. สุชีลา เตชะวงค์เสถียร และอ.วีระ ภาคอุทัย เป็นหัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผศ.ดร. วสุ อมฤตสุทธิ์ แล ะผศ.ดร. บุญส่ง  เอกพงษ์ เป็นหัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี ผศ.ดร.ฉันทนา วิชรัตน์ และรศ.ดร. ประเสริฐ จรรยาสุภาพ เป็นหัวหน้าโครงการ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง โดยมี ผศ.ดร. จานุลักษณ์ ขนบดี เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งจากการศึกษาของคณะวิจัยพบข้อมูลโดยสังเขป ดังนี้
 

 
 เกษตรกรผู้ผลิต
เกษตรกรผู้ผลิตพริกส่วนใหญ่แล้วมีอายุมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35-50 ปี โดยมีประสบการณ์การผลิตพริกเพื่อการค้ามานาน บางรายมีประสบการณ์การปลูกพริกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี   การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษา แรงงานที่ใช้ในการผลิตพริกเป็นแรงงานในครัวเรือน มีการจ้างแรงงานบ้างสำหรับงานที่ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน เช่น การเก็บเกี่ยวผล เป็นต้น
 

 
 วิธีการปลูก

 การปลูกพริกของเกษตรกรมี 2 แบบ คือ การปลูกพริกไร่ และการปลูกแบบพริกสวน โดยการปลูกพริกไร่นั้นเป็นการปลูกโดยอาศัยน้ำฝน มีการดูแลรักษาเอาใจใส่น้อย ใช้ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่จำกัด ทำให้ไม่อาจควบคุมปริมาณการผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้สม่ำเสมอได้ ส่วนการปลูกพริกสวนนั้น เป็นการปลูกอยู่ในเขตชลประทานหรือพื้นที่อยู่ติดแหล่งน้ำ มีการให้น้ำได้อย่างเหมาะสม เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี สารควบคุมศัตรูพืชในปริมาณค่อนข้างสูง มีการดูแลรักษาดีกว่า ทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพได้ค่อนข้างดี  แต่เนื่องจากรูปแบบการผลิตพริกส่วนใหญ่เป็นแบบการปลูกในแบบพริกไร่ เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์พริกไว้ใช้เอง และอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยจะเริ่มเพาะกล้าช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน และจะย้ายปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฏาคม ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้นๆ ในการผลิตพริกนั้น ในอดีตส่วนใหญ่แล้วผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายในรูปผลสดหรือผลแห้งเกือบทั้งหมด แต่ในปัจจุบันมีการผลิตพริกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของพริกหวาน ที่ให้ผลตอบแทนสูงจากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์
 

 
 ผลผลิต
ผลผลิตพริกที่ได้ส่วนใหญ่ มีผลผลิตเฉลี่ยของทุกพื้นที่การศึกษาอยู่ที่ 1,314 กิโลกรัมต่อไร่ โดยในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกพันธุ์ลูกผสม และปลูกแบบพริกสวนที่มีระบบชลประทานดี (อุบลราชธานีและ         ศรีสะเกษ) จะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าการปลูกในสภาพไร่ (เพชรบูรณ์ เลย นครราชสีมา ชัยภูมิ) ถึง 3-4 เท่า
 

 
 ต้นทุนและรายได้

 ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อไร่ต่อ ปี ซึ่งการผลิตพริกสำหรับจำหน่ายผลสดหรือผลแห้งจะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการผลิตพริกเพื่อส่งโรงงาน โดยพบว่าในจังหวัดตากและสุโขทัย ต้นทุนการผลิตพริกเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อไร่ ในส่วนของรายได้ พบว่าเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายพริกเฉลี่ย 20,000-40,000 บาทต่อปี
 

 
 การแปรรูป
ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพริกมีหลากหลายชนิด ได้แก่  พริกป่น  น้ำพริก น้ำจิ้มพริก ซอสพริก อาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องบางชนิด อาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มีพริกเป็นเครื่องปรุง ส่วนใหญ่แล้วพริกที่นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์นั้นจะเป็นพริกแห้ง ยกเว้นในซอสพริก และน้ำพริกบางชนิดที่ใช้พริกสดในการแปรรูป ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมปี 2548  พบว่าปัจจุบันมีโรงงานแปรรูปพริกรวม 197 โรงงาน แยกเป็นโรงงานที่ใช้พริกเป็นส่วนประกอบหลัก (พริกป่น พริกแกง น้ำพริก พริกดองและซอสพริก) จำนวน 117 โรงงาน ส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง 44 โรงงาน ภาคตะวันตก 29 โรงงาน และภาคตะวันออก 27 โรงงาน โรงงานใช้พริกเป็นเครื่องปรุงรส (น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้ เครื่องปรุงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แหนม พริกเผาหน้าขนม เป็นต้น) 70 โรงงานและโรงงานที่ใช้พริกเป็นส่วนประกอบอาหารสำเร็จรูปและพร้อมรับประทานจำนวน 10 โรงงาน นอกจากนี้จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรปี 2548 พบว่ามีกลุ่มเกษตรกรผลิตพริกและผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้นออกจำหน่ายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นจำนวน 99 กลุ่ม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพริกกับคนไทยและอุตสาหกรรมแปรรูปพริกยังเป็นอุตสาหกรรมอาหาร

และจากสถิติการส่งออกและการนำเข้าของกรมศุลกากรปี 2549 พบว่า การส่งออกพริกมีทั้งรูปผลสด ซอสพริก พริกแห้ง เครื่องแกงสำเร็จรูป และพริกบดหรือป่น เป็นปริมาณรวม 34,653 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,139 ล้านบาท ชนิดที่ส่งออกเป็นมูลค่ามาก 3 ลำดับแรกเป็นผลิตภัณฑ์พริกที่ได้จากการแปรรูป คือ พริกแกง (1,082 ล้านบาท) ซอสพริก (866 ล้านบาท) และพริกสดหรือแช่เย็น (86 ล้านบาท) สำหรับการส่งออกพริกแห้งมีมูลค่า 66 ล้านบาทแต่มีการนำเข้าเป็นมูลค่าสูงถึง 693 ล้านบาท โดยนำเข้ามากที่สุด 3 ลำดับแรก จากประเทศอินโดนีเซีย (564 ล้านบาท) พม่า (81 ล้านบาท)และจีน (26 ล้านบาท)    ปริมาณการส่งออกและนำเข้าพริกแห้งแสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้พริกแห้งมีมากขึ้น แต่ปริมาณ คุณภาพและราคาของพริกที่ผลิตได้ไม่สอดคล้องหรือสม่ำเสมอกับความต้องการใช้ของผู้แปรรูป จึงทำให้ต้องมีการนำเข้าพริกแห้ง เพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ
 

 
 การตลาดพริก

 เกษตรกรใช้ช่องทางการตลาดของพริก 2 ช่องทางคือ 1) การนำพริกไปขายเอง โดยนำไปขายตามตลาดขายปลีกภายในจังหวัด หรือนำไปขายที่ตลาดขายส่ง/ปลีกภายในจังหวัด ตลาดขายส่ง/ปลีกระดับภูมิภาค และมีการนำพริกไปขายเองที่ตลาดกรุงเทพฯ และ 2) การขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรจะขายให้กับพ่อค้าท้องที่ และพ่อค้าท้องถิ่นที่เข้ามารับซื้อ โดยผู้ที่เข้ามาเกี่ยวของในวิถีตลาดพริกมี 2 ระดับ คือ 1) ผู้รวบรวม มีหน้าที่รวบรวมผลผลิตพริกจากเกษตรกร เพื่อขายส่งต่อให้กับพ่อค้าส่ง และ 2) พ่อค้าส่ง รวบรวมผลผลิตพริกจากผู้รวบรวมและเกษตรกรเพื่อขายส่งต่อให้กับพ่อค้าส่งในตลาดกลาง ซึ่งพ่อค้าส่งจะนำพริกไปขายต่อตามตลาดขายส่ง/ปลีกภายในจังหวัด ตลาดขายส่ง/ปลีกระดับภูมิภาค และตลาดกรุงเทพฯ สำหรับพ่อค้าในตลาดขายส่ง/ปลีกภายในจังหวัด จะนำพริกไปขายตามตลาดขายส่ง/ปลีกระดับภูมิภาค และตลาดกรุงเทพฯ ส่วนพ่อค้าในตลาดขายส่ง/ปลีกระดับภูมิภาค จะนำพริกไปขายที่ตลาดกรุงเทพฯ และพ่อค้าที่ตลาดกรุงเทพฯ จะนำพริกไปขายต่อให้กับพ่อค้าตามจังหวัดใกล้เคียง และบางส่วนก็ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ
 

 
ตลาดพริกที่สำคัญในประเทศ แบ่งออกเป็นภูมิภาค โดยตลาดพริกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ตลาดพริกในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น  ภาคเหนือ คือ ตลาดพริกในจังหวัดเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุโขทัย และพิจิตร ส่วนตลาดพริกที่สำคัญในภาคใต้ คือ ตลาดพริกที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต       ตลาดพริกสดและพริกแห้งที่ใหญ่ที่สุดคือ ตลาดสี่มุมเมืองรังสิต ตลาดไท และปากคลองตลาด โดยเป็นแหล่งใหญ่ที่รวบรวมพริกจากทุกภาคของประเทศและกระจายต่อไปทั่วทุกจังหวัด ตลอดจนส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย  

ผลผลิตพริกสด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะออกสู่ตลาด 2 ช่วง ระหว่างเดือนมีนาคม – สิงหาคม และเดือนตุลาคม – ธันวาคม ส่วนในภาคเหนือผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม สำหรับพริกแห้งผลผลิตจะกระจายออกสู่ตลาดตลอดทั้งปีเพราะสามารถเก็บรักษาได้ ราคาพริกแห้งจะมีเสถียรภาพมากกว่าราคาพริกสดค่อนข้างมาก  

จากการศึกษาพบว่าปัญหาสำคัญของการผลิตพริก คือเรื่องของโรคและแมลง เมื่อเกิดการระบาดของโรคหรือแมลงขึ้นก็จะทำให้เกิดความเสียหายในการผลิตเป็นอย่างมาก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคและแมลงคือ ระบบการปลูกยังไม่ได้มาตรฐาน เป็นการปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการผลิตได้ อีกทั้งเกษตรกรผู้ผลิตยังมีอายุมาก อาศัยประสบการณ์การผลิตพริกที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม จึงทำให้ระบบการปลูกไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงควรให้ความรู้ในเรื่องระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน โดยอาจจัดทำในลักษณะของการรวมกลุ่มผลิต  และมีผู้เชี่ยวชาญมาตรฐานสินค้าให้คำแนะนำและรับรองมาตรฐาน    ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเมล็ดไว้ใช้เอง แต่ขาดความรู้เรื่องการคัดพันธุ์ จึงทำให้พันธุ์เสื่อมคุณภาพลงไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทเอกชนผลิตเมล็ดพันธุ์พริกเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรแล้วก็ตามแต่เมล็ดพันธุ์พริกที่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรจำนวนมาก  คือ  พริกพันธุ์ยอดสนยังไม่มีการผลิต จึงควรต้องพัฒนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวเพื่อสนองความต้องการของเกษตรกร
 

 

 ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการผลิตพริก คือ เรื่องราคาและมาตรฐานของสินค้า เนื่องจากราคาพริกสดมีความแปรปรวนสูง  ดังนั้นควรมีการวางแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่ให้ผลผลิตพริกมีการกระจายมากขึ้น โดยเฉพาะพริกฤดูแล้ง ซึ่งสามารถควบคุมช่วงเวลาของการปลูกพริกได้ และควรมีการกำหนดมาตรฐานพริกแห้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตพริกแห้งคุณภาพดี  และมีมาตรฐานที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลควรตระหนักถึงผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี ( FTA )  เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าพริกจากต่างประเทศทำให้ผู้บริโภคได้รับผลดี คือ  ซื้อสินค้าราคาถูกแต่คุณภาพหรือมาตรฐานสินค้าไม่มีการยืนยันหรือตรวจสอบ แต่เกษตรกรผู้ปลูกพริกได้รับผลกระทบเพราะขายพริกราคาตกต่ำและคงที่  อีกทั้งยังทำให้การจ้างงานลดลง เพราะกระบวนการผลิตพริกต้องมีการจ้างงานในหลายกิจกรรม เช่น การเก็บพริก การเด็ดขั้วพริก การคัดพริก การบรรจุถุง เป็นต้น ดังเช่น ในปี 2549 มีการนำเข้าพริกจากต่างประเทศ 32,973 ตัน จะทำให้สูญเสียรายได้จากการเก็บพริกของแรงงานในชนบทถึง 480 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้ที่จะสูญเสียไปจากแรงงานในการคัดคุณภาพ การเด็ดขั้วพริก การบรรจุถุง ฯลฯ
 

 

  เอกสารอ้างอิง

จานุลักษณ์ ขนบดี, พรนิภา เลิศศิลป์มงคล และปัทมา ศิริธัญญา.  2549.  รายงานฉบับ
สมบูรณ์ โครงการ “การศึกษาสถานภาพการผลิต และความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อ
ผลผลิต คุณภาพ และปริมาณสาร capsaicin ในพริกพันธุ์การค้าในเขตจังหวัดนครสวรรค์  
สุโขทัย  และตาก”.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.

ฉันทนา วิชรัตน์, ปรารถนา ยศสุข และศักดิ์ชัย เสถียร์พีระกุล.  2549.  รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ “การศึกษาสถานภาพการผลิต และความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผลผลิต คุณภาพ และปริมาณสาร capsaicin ในพริกพันธุ์การค้าในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย”.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.

บุญส่ง เอกพงษ์ และคณะ.  2549.  รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ “การศึกษาสถานภาพการตลาด การแปรรูป  และตลาดของผลิตภัณฑ์พริกในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และ ศรีสะเกษ”.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.

ประเสริฐ จรรยาสุภาพ และ คณะ.  2549.  รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ “การศึกษาสถานภาพการตลาด การแปรรูป และตลาดผลิตภัณฑ์พริกในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพิษณุโลก”. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.

วสุ อมฤตสุทธิ์, พรพิมล สุริยภัทร และรักเกียรติ แสนประเสริฐ.  2549.  รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ “การศึกษาสถานภาพการผลิต และความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผลผลิต คุณภาพ และปริมาณสาร capsaicin ในพริกพันธุ์การค้ากรณีศึกษา: จังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ”.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.

วีระ ภาคอุทัย และคณะ.  2549.  รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ “การศึกษาสถานภาพการตลาด การแปรรูป และตลาดผลิตภัณฑ์พริกในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ กรุงเทพฯ และปริมณฑล”.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.

สุชีลา เตชะวงค์เสถียร และนิวัฒน์ มาศวรรณา.  2549.  รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ “การศึกษาสถานภาพการผลิต และความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผลผลิต คุณภาพ และปริมาณสาร capsaicin ในพริกพันธุ์การค้าในเขตจังหวัดชัยภูมิ เลย นครราชสีมา และเพชรบูรณ์”.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.

สถานที่ติดต่อเพื่อรับแผ่นบันทึกข้อมูลประกอบการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยฝ่ายเกษตรของ สกว. เรื่อง การศึกษาการผลิตผักคุณภาพในโรงเรือน การผลิตผักคุณภาพเพื่อการค้า สถานภาพโรงเรือนสำหรับผลิตพืชในสภาพควบคุมสิ่งแวดล้อม   และการผลิตและการตลาดเพื่อพัฒนาพริกสำหรับอุตสาหกรรม วันที่  28 ตุลาคม 2549 ณ โรงแรมเอเซียแอร์พอร์ท ดอนเมือง กรุงเทพฯ:  

สำนักประสานงานชุดโครงการพืชผักเพื่อสุขภาพ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โทรศัพท์/โทรสาร 0 4320 2696 E-mail: sakunkans@hotmail.com,
sakunkans@gmail.com



 



พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th

1. สีหนาท พริกยักษ์ส่งโรงงานซอส
คนสุโขทัยปลูกแล้วมีรายได้ดี


ถึงแม้ คำว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" จะมีมานานแล้ว แต่ยังใช้ได้ดีอยู่กับจังหวัดสุโขทัย

ช่วงฤดูน้ำหลาก หากมีโอกาสได้นั่งรถที่ตัวถังทำด้วยไม้ จากต่างอำเภอเข้ามายังตัวเมืองสุโขทัย หรือที่เรียกว่า "ธานี" ชาวบ้านจะถือโอกาสนำปลามาจำหน่าย มีปลามากมายจริงๆ สิ่งที่ยืนยันได้ดีอีกอย่างหนึ่ง ที่อำเภอกงไกรลาศ เป็นแหล่งผลิตปลาร้าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งในเมืองไทยมีไม่กี่แห่ง ที่เป็นของจริง นอกนั้นเหลือแต่ตำนาน ปลาที่ทำต้องนำเข้ามาจากเขมรกันทั้งนั้น เหตุที่ปลาของจังหวัดสุโขทัยมีมาก อาจจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมเหมาะสม ช่วงฤดูฝน น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง เหมาะแก่การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ อาหารในธรรมชาติก็มีมาก

ปูนา ที่จังหวัดสุโขทัย ก็ตัวใหญ่มาก เคยมีเพื่อนฝูงเป็นประมงอำเภอ ต้องการส่งเสริมชาวบ้านให้เลี้ยงปูนา ยังแนะนำเขาให้ไปหาพันธุ์ปูที่จังหวัดนี้

เส้นทางสายสุโขทัย-พิษณุโลก ระยะทางราว 60 กิโลเมตร สองข้างทางมีทุ่งนาพอสมควร หากมีโอกาสเข้าไปตามหมู่บ้านและตำบล ของอำเภอกงไกรลาศ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งข้าวเต็มไปหมด

ด้วยเหตุนี้เอง สุโขทัยจึงยังคงความอุดมสมบูรณ์ บางฤดูกาล ในนาแทนที่จะมีข้าว กลับมีพริก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกมาก

สีหนาท พริกยักษ์ส่งโรงงาน
นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยนำเสนอเรื่องพริกและแตงโมที่สุโขทัยมานานพอสมควรแล้ว

ในครั้งนั้น ผู้ดำเนินงานคือ คุณยศวัฒน์ ศิริอธิพันธ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุโขทัยการเกษตรภัณฑ์ อยู่เลขที่ 60-2 หมู่ที่ 12 ถนนสุโขทัย-บางระกำ ตำบลยางซ้าย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 64000 ทราบข่าวคุณยศวัฒน์หรือคุณต๊อก เป็นช่วงๆ เมื่อไม่นานมานี้ จึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกันจริงจังเสียทีหนึ่ง

แนวทางการทำงานของคุณต๊อกนั้น เขาจะส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตพืชผัก ผลไม้ จากนั้นติดต่อส่งขายให้ในราคาประกัน ที่ผ่านมาแตงโมยังทำอยู่ แต่ไม่เน้นมาก เนื่องจากการตลาดมีความมั่นคงสู้พืชที่ส่งโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้

พืชที่ส่งโรงงาน คือพริก สำหรับส่งไปผลิตซอส
"พริก ทำมา 7 ปีแล้ว เริ่มต้นจากไม่เท่าไหร่ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมีราว 800 ไร่ ผลผลิตปีละ 5 ล้านกิโลกรัม เกษตรกร 200 ราย เป้าหมายอีก 2-3 ปีข้างหน้า พื้นที่ปลูกที่ตั้งไว้ 1,500 ไร่ ผลผลิตราว 10 ล้านกิโลกรัม พื้นที่ปลูกนอกจากสุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และตากแล้ว ตอนนี้เล็งไปที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา" คุณต๊อก บอก

พริกที่ปลูกเพื่อส่งโรงงาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุณต๊อก บอกว่า มีการปรับเปลี่ยนและหาสิ่งดีๆ ให้กับเกษตรกรอยู่เสมอ

อย่างล่าสุดเป็นสายพันธุ์ "สีหนาท" เป็นพริกที่พัฒนาพันธุ์มาจากอินเดีย คุณสมบัติทนแล้งได้ดี จึงเหมาะสำหรับเป็นพริกเพื่ออนาคต ที่ทนต่อสภาวะโลกร้อน

พริกสีหนาท มีขนาด 25 ผล ต่อกิโลกรัม ใน 1 ต้น เก็บผลผลิตได้ราว 4 กิโลกรัม พื้นที่ปลูก 1 ไร่ ปลูกได้ 3,200 ต้น คุณต๊อกบอกว่า อาจจะถี่ไปหน่อย เดิมระยะปลูก 55 เซนติเมตร คูณ 1.20 เมตร หากให้ดีควรเป็น 70 เซนติเมตร คูณ 1.20 เมตร

พริกสีหนาทมีความเผ็ดน้อย จึงเหมาะกับการส่งโรงงานเพื่อทำซอสส่งออก โรงงานที่รับซื้อตอนนี้อยู่ที่ชลบุรี และกรุงเทพฯ

"โดยทั่วไป พริกเผ็ดราว 30,000-40,000 สโควิลล์ แต่สีหนาทเผ็ดราว 10,000 สโควิลล์ โรงงานผลิตน้ำจิ้มส่งออกขายให้ฝรั่ง ข้อดีของสีหนาทคือเมื่อสุกสีแดงสด เนื้อมาก น้ำในเมล็ดน้อย" คุณต๊อก บอก
นอกจากส่งโรงงาน พริกสีหนาท ยังใช้ปรุงอาหารได้ อย่างทำน้ำพริกหนุ่ม รวมทั้งอาหารอื่นๆ

เกษตรกรต่างก็รอคอยการปลูก
ฤดูกาลที่คุณต๊อกส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพริกจะอยู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ไปเก็บเกี่ยวผลผลิตราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ เกษตรกรสามารถเก็บขายได้ราว 3 เดือน จากนั้นปริมาณก็ลดลง ประจวบเหมาะกับฝนลง ทำให้ต้นพริกมีปัญหา เพราะปลูกกันในนา หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว

คุณต๊อก บอกว่า ช่วงฤดูกาลอื่นก็สามารถปลูกได้ แต่ต้องเป็นที่ดอน ดินระบายน้ำดี ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่มีฝน เพราะหากฝนตก มีผลกระทบต่อผลผลิตแน่

พริกที่เก็บส่งโรงงาน สีต้องแดงสด ที่ผ่านมาเคยมีเกษตรกรที่ไม่เข้าใจ เมื่อเขาเข้าร่วมโครงการ เห็นตลาดข้างนอกดี เก็บพริกเขียวขาย หลังๆ ต้องชี้แจง ให้ขายเข้าโรงงาน เพราะต้องสร้างความเชื่อมั่น

โดยทั่วไปแล้ว พริกที่ปลูกจะได้ผลผลิต 8-10 ตัน ต่อไร่ ราคาที่คุณต๊อกซื้อจากเกษตรกรส่งโรงงาน เป็นราคาประกัน กิโลกรัมละ 11.50 บาท เขาบอกว่า เคยประกวดผู้ปลูกพริก พบว่าเกษตรกรรายหนึ่งปลูกพริก 5 ไร่ 3 งาน ได้เงิน 5 แสนบาท โดยทั่วไปแล้วต้นทุนการผลิตอยู่ที่ไร่ละ 2.5 หมื่นบาท ต่อไร่

เกษตรกรแต่ละรายจะผลิตพริกราว 3-5 ไร่ ส่วนใหญ่ทำกันหลังนา

ดูตัวเลขแล้ว เป็นงานเกษตรที่สร้างรายได้ดี ใช้เวลาไม่นานนัก แต่คุณต๊อกบอกว่า ต้องผลิตให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

เรื่องปริมาณสำคัญ หากทางผู้ผลิต มีผลผลิตที่แน่นอน ทางโรงงานสามารถที่จะไปทำสัญญากับต่างประเทศได้ ในทางกลับกันหากปริมาณไม่พอ ความเชื่อถือก็จะไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะย้อนมายังเกษตรกร คือไม่มีรายได้

เรื่องของคุณภาพ ทุกวันนี้เกษตรกรที่คุณต๊อกดูแลอยู่ได้การรับรอง GAP จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร เรื่องของ GAP สำคัญ เพราะทางโรงงานจะนำส่วนนี้ไปขอ GMP อีกทีหนึ่ง

"เรามีแปลงทดลองที่เสิงสาง โคราช 30 ไร่ ผลผลิตดีมาก ปีหน้าหากรวมพื้นที่ได้ 300-500 ไร่ จะไปตั้งศูนย์ที่นั่น ศูนย์จะมีนักวิชาการคอยดูแล รวมทั้งซื้อผลผลิต ปัจจุบันเฉพาะพริกส่งโรงงาน ทำเงินให้สุโขทัยปีหนึ่งราว 50-60 ล้านบาท หากทำกันเต็มที่น่าจะได้ 100 ล้านบาท เรื่องของโรคแมลงมีแน่ แต่เรามีนักวิชาการเกษตรคอยดูแลอยู่ หากมีอาการก็รีบป้องกันกำจัด โรคแอนแทรกโนสมีบ้างแต่ไม่มาก 1-2 เปอร์เซ็นต์ สามารถเอาอยู่"

คุณต๊อก บอก และกล่าวอีกว่า
"โรงงานเขาต้องการพริกอีกมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำส่งได้ง่ายนัก เพราะเกี่ยวกับคนด้วย ต้องคอยสร้างคน เรื่องของคนสำคัญมาก เป็นรองเทคโนโลยี เรื่องพันธุ์เรื่องเทคโนโลยีหาได้ไม่ยาก คนที่อยากเข้าร่วมโครงการต้องอยู่รอบๆ สุโขทัย หรือหากเป็นที่อื่น พื้นที่ปลูกต้อง 300-500 ไร่ ผู้สนใจโทร.มาคุยได้ ตั้งแต่ที่ผมเคยลงเทคโนโลยีชาวบ้าน ผมตกใจ คนจากอเมริกาโทร.มาคุยกับผม บอกว่ากลับมาเมืองไทยจะมาทำเกษตร คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้เข้าใจเรื่องการเกษตร รู้จักพัฒนา มีการสื่อสารที่ดี หลักการทำงานของผม หนึ่ง...เกษตรกรต้องมีความสุข สอง...ผู้บริโภคต้องปลอดภัย เมื่อทำได้สองอย่างแล้ว ผลที่ตามมาประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้า มีรายได้ เกษตรกรที่ร่วมงานกับผมตั้งแต่แรก มีรถปิคอัพกันเกือบทุกครัวเรือนแล้ว พวกเขารอกันเมื่อไหร่จะถึงเดือนพฤศจิกายน จะได้ปลูกพริกเสียที"

คุณต๊อก ย้ำว่า เรื่องเทคโนโลยีการผลิตนั้น ทุกวันนี้เป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก แต่เรื่องความเข้าใจของคนเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์ เมื่อทางผู้ส่งเสริมวางแนวอย่างไร เมื่อปฏิบัติตามนั้นงานก็จะไปได้ดี

ผู้สนใจเรื่องราวของพริก ถามได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (055) 621-852 หรือ (089) 961-3423



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน




การปลูกพริกยักษ์
  

โดย   ดร.สถิตย์   วิมล            

พริกยักษ์จัดว่าเป็นพืชผักที่มนุษย์เรานำเอาผลมารับประทานสดกันเป็นส่วนใหญ่  ลักษณะของผลพริกยักษ์ที่เรานำมาบริโภคนั้น  จะต้องมีลักษณะอวบน้ำ  ไม่แข็ง  ไม่เหี่ยว  รสชาติของพริกยักษ์จะต้องไม่เผ็ดนัก  และที่สำคัญจะต้องไม่มีพิษต่อร่างกาย               

พริกยักษ์จัดได้ว่าเป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน  และเกลือแร่ต่าง ๆ  ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย  มีแป้งและน้ำตาลจำนวนมาก  ช่วยในการย่อยอาหารและการขับถ่ายของร่างกาย  นอกจากนั้นยังมีโปรตีนที่ช่วยสร้างการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย  นอกจากนั้นแล้วพริกยักษ์จัดว่าเป็นพืชผักที่เป็นอาหารที่มีความสำคัญของคนไทย
                 

ลักษณะและพันธุ์               
พริกยักษ์จัดอยู่ในพวกพืชล้มลุก  เป็นพริกที่มีอายุสั้นการติดผลจะเกิดผลเดี่ยว  ผลจะมีขนาดใหญ่  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์  ความเผ็ดส่วนใหญ่จะเผ็ดเล็กน้อย  หรือไม่เผ็ดเลยพบว่าส่วนใหญ่ในขณะที่ผลยังอ่อนอยู่  สีของผลมักจะมีสีเขียวซีด  เมื่อผลแก่จัด  ผลจะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน  บางทีจะมีสีเหลืองน้ำตาลม่วง  เหลืองอมส้มหรือสีขาวนวล 

พันธุ์
               
1.  แคลิฟอร์เนีย  วันเดอร์  300  มีผลใหญ่ขนาด  10 x 10  ซม.  ไหล่มี  4  ลอน  ผิวมีสีเขียวเข้ม  ถึงสีแดงสม่ำเสมอ  เนื้อหนา  ขนาดทรงต้น  61-71  ซม.               

2.  เบล  บอย  ไฮบริด  มีผลใหญ่  ขนาด  9 x 11.5  ซม.  มีสีเขียวเข้มถึงแดง  เนื้อหนา  มีไหล่  3-4  ลอน  ทรงพุ่มขนาด  50–61  ซม.  ใบใหญ่สีเขียวเข้ม               

3.  บลูสตาร์  ไฮบริด  มีผลขนาดใหญ่  มี  3–4  ลอน  ผลมีสีเขียวเข้ม  น้ำหนักประมาณ  180  กรัมต่อผล  เนื้อหนาปานกลาง  ต้นตั้งตรง  สูง  ใบใหญ่               

4.  วันเดอร์  เบล  ไฮบริด  ผลมี  3–4  ลอน  ขนาดผล  2.5–8.8  ซม.  เนื้อหนา  สีเขียวเข้มถึงแดง  ต้นสูงประมาณ  60–78  ซม.               

พริกจัดเป็นพืชที่ผสมตัวเอง  แต่ก็มีโอกาสผสมข้ามประมาณ  16%  เกสรตัวผู้จะแตกให้ละอองเกสรเมื่อดอกบานได้ชั่วครู่หนึ่ง  ดอกจะบานอยู่ได้นานประมาณ  2–3  วัน  มีเปอร์
เซ็นต์การติดผลประมาณ  40-50% 

สภาพดินฟ้าอากาศ
               
พริกยักษ์ชอบอากาศที่เย็น  พริกสามารถที่จะปลูกได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลขึ้นไปสูงกว่า  6000  ฟุต  เมล็ดจะงอกได้ดีที่อุณหภูมิ  20–30  องศาเซลเซียส  อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดคือ  25  องศาเซลเซียส  เป็นอุณหภูมิที่พริกติดผลได้ดีที่สุด               

ดินที่เหมาะสมในการปลูกพริกยักษ์  ดินร่วนปนทราย  ดินควรจะมีความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ  6.5  มีความอุดมสมบูรณ์ดีมีการระบายน้ำดี 

ฤดูปลูก
               
พริกยักษ์ปลูกได้ดีในต้นฤดูหนาวคือตั้งแต่เดือนตุลาคม - ต้นเดือนมกราคม  จะได้ผลผลิตสูง  ถ้าปลูกนอกฤดูมีอากาศร้อนพริกยักษ์จะไม่ติดผล  ส่วนมากถ้าปลูกฤดูควรจะปลูกตามดอยซึ่งมีอากาศเย็น 

การเลือกพื้นที่และการเตรียมดิน
               
พื้นที่ที่จะปลูกพริก  ควรจะเป็นพืชที่โล่งแจ้งได้รับแสงแดดตลอดวัน  ควรจะเลือกพื้นที่ที่มีน้ำที่ใช้ให้เพียงพอกับฤดูปลูก  พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง  เพราะถ้าเป็นพื้นที่ต่ำน้ำจะท่วมขัง ทำให้พริกเน่าตายได้ 

การเตรียมดิน
               
1.  ถ้าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่  ก็ใช้จอบขุดดินตากแดดไว้  โดยขุดให้ลึกประมาณ  6-8  นิ้ว  ตากดินไว้ประมาณ  2  อาทิตย์  แล้วจึงทำการย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก ๆ ตากดินทิ้งไว้อีกประมาณ2  อาทิตย์  จึงจะผสมปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกในอัตราส่วน  5  ปิ๊บต่อพื้นที่  4  ตารางเมตร  ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวไปด้วย  ทิ้งไว้อีกประมาณ  2  อาทิตย์  จึงทำการปลูกพริก   

2.  พื้นที่ขนาดใหญ่  ตจะต้องใช้รถแทรกเตอร์ไดดะ  ไถแปร  และไถพรวน  ย่อยดินให้ละเอียด  เก็บวัชพืชออกให้หมด  ก่อนปลูก  ควรจะหว่านยากำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันพวกใส้เดือนฝอย  หมัดและพวกเพลี้ยไฟ  ไรต่าง ๆ  โดยใช้ฟูราดาน  2%  หรือคูราแทร์  3%  ในอัตรา  5  กก.ต่อไร่  ให้ทั่วแปลง  และใช้จอบคลุกเคล้าให้เข้ากับดินลึก  2-4  นิ้ว 


วิธีการปลูกพริกยักษ์
               
การปลูกพริกยักษ์  มีอยู่  4  วิธี               

1.  โดยวิธีการใช้เมล็ดพริกหยอดโดยตรงในหลุม  หลุมละ  3-5  เมล็ด  นิยมปลูกในแปลงปลูกขนาดใหญ่และไม่มีแรงงานเพียงพอในการย้ายต้นกล้า  จุดอ่อนของการปลูกโดยวิธีนี้คือ  ต้นพริกที่งอกมาใหม่อาจจะถูกมดหรือแมลงอื่น ๆ  กัดกินใบ  หรือยอดอ่อน  เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงสิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์มาก  และเสียค่าใช้จ่ายสูง  ดูแลรักษาไม่ทั่วถึง               

2.  เพาะเมล็ดพริกให้งอก  แล้วนำไปปลูกในหลุมกลบด้วยดินบาง ๆ  วิธีเพาะคือ  นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำ  และเอาผ้าชุบน้ำมาด ๆ  ห่อทิ้งไว้  2  วัน  หรือนำเมล็ดไปอบในอุณหภูมิ  30-40  องศาเซลเซียส  เมล็ดจะงอกออกมาประมาณ  0.5  ซม.  จึงค่อยนำไปปลูก        

3.  เพาะเมล็ดในแปลงเพาะก่อน  แปลงเพาะกล้าควรจะใส่ปุ๋ย  15-15-15  ประมาณ  100  กรัมต่อ  1  ตารางเมตร  คลุกเคล้าปุ๋ยให้เข้ากับดินก่อนหว่านเมล็ดควรจะหว่านยาดูดซึมชนิดเม็ดลงไปในแปลงก่อนปลูก  เพื่อป้องกันแปลงปากดูด  ซึ่งเป็นสาเหตุนำเชื้อโรคใบหดและโรคไวรัส               

4.  เพาะกล้าก่อนแล้วย้ายลงในถุงพลาสติก  โดยเพาะกล้าให้มีใบจริง  2  ใบ  แล้วย้ายลงถุง  ๆ ละ  1  ต้น  จนกระทั่งต้นกล้ามีใบจริงประมาณ  5-6  ใบ  จึงย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป  ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด  คือ  สามารถประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้มาก  ไม่เสียเวลาในการปลูกซ่อมและต้นกล้าไม่ชะงักการเจริญเติบโต 

การย้ายกล้าปลูก
               
ทำการย้ายปลูก  เมื่อต้นกล้าสูงประมาณ  6  นิ้ว  ควรจะทำการย้ายกล้าปลูกในขณะที่มีอากาศเย็นหรือตอนบ่ายจะทำให้พริกรอดตายได้มาก               

การใส่ปุ๋ยก่อนปลูกควรจะใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้ทั่วทั้งแปลงในอัตรา  3-4  ตันต่อไร่  ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์  15-15-15  อัตรา  50  กก.ต่อไร่  หรือขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน  แล้วทำการพรวนให้เข้ากับดิน  การเตรียมแปลงปลูกพริกยักษ์ทำได้หลายแบบ  แล้วแต่สภาพของพื้นที่การเตรียมแปลงปลูกสามารถทำได้ดังต่อไปนี้                

1.  ปลูกแบบไม่ยกแปลง  เหมาะสำหรับพื้นที่ ๆ  มีการระบายน้ำดี  ปรับระดับให้สม่ำเสมอ  การปลูกแบบนี้อาจปลูกเป้ฯแถวเดียวใช้ระยะห่างระหว่างแถว  60 x 70  ซม.  ระหว่างต้น  50  ซม.  หรือปลูกแถวคู่  ใช้ระยะห่างระหว่างต้น  1  เมตร  ระหว่างแถว  50  ซม.
               
2.  การปลูกแบบยกแปลง  เหมาะสำหรับพื้นที่ ๆ  มีระดับน้ำใต้ดินสูงหรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี  โดยขึ้นแปลงกว้าง  1.50  เมตร  ร่องน้ำกว้าง  50  ซม.  ลึก  50  ซม.  ปลูก  2  แถวบนแปลง  โดยใช้ระยะห่างระหว่างแถว  0.75-1.00  เมตร  ระหว่างต้น  50  ซม.  หรือปลูกเป็นแถวคู่  1  เมตร  ระหว่างแถว  50  ซม.  ระหว่างต้น  50  ซม. 

การปลูกแบบยกแปลง
               
จะทำการย้ายกล้าปลูกเมื่ออายุ  25-30  วัน  พริกมีใบจริง  5-6  ใบ  ก่อนทำการถอนแยก  ควรจะทำการรดน้ำ  ให้ชุ่มเสียก่อน  แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ  1  ชั่วโมง  เพื่อทำให้ดินอ่อนตัว  เมื่อถอนต้นกล้ารากพริกยักษ์จะไม่ขาดก่อนปลูกให้รดน้ำในแปลงปลูกก่อน  และปลูกเสร็จให้รดน้ำอีกครั้ง 

การปฏิบัติบำรุงรักษา
               
พริกยักษ์จัดเป็นพืชที่ทนแล้งดีกว่าทนน้ำ  แต่ถ้าขาดน้ำพริกจะเจริญเติบโตไม่ดี  หรือต้นแคระแกรนทำให้ดอกร่วง  ฉะนั้นตลอดระยะการปลูกควรจะให้พริกได้รับความชุมชื้นที่พอเหมาะสม่ำเสมอ  การให้น้ำควรจะพิจารณาตามสภาพอากาศ ถ้าอากาศแห้งและร้อนจัดควรรดน้ำวันละ 2  ครั้ง  เช้า-เย็น  ในระยะที่พริกเริ่มออกดอก  พริกต้องการน้ำมากผิดปกติ  พบว่า  การให้น้ำที่ไม่เพียงพอ  และอากาศแห้งแล้ง  จะทำให้ดอกอ่อน  ดอกบานและผลอ่อน  ที่พึ่งติดร่วงได้  ในสภาพอากาศอ่อนข้างเย็นประมาณ  10-15  องศาเซลเซียส  จะทำให้พริกเจริญเติบโตไม่ค่อยดี  มีการติดดอกต่ำ  และดอกร่วงในที่สุด  การให้น้ำควรจะลดลงหรืองดในช่วงที่เริ่มทำการเก็บผลพริกทั้งนี้เพราะถ้าให้น้ำแก่พริกมากไป  จะทำให้พริกมีสีไม่สวย  ควรจะรดน้ำวันเว้นวัน  ก็เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต 

1.  การให้น้ำ
  หลังจากปลูกพริกเสร็จ               
-  ช่วง  3  วันแรก  ให้น้ำวันละ  2  ครั้ง  เช้า – เย็น               
-  ช่วง  4  วันต่อมา  ให้น้ำวันละครั้ง               
-  ช่วงสัปดาห์ที่  2  ถึงสัปดาห์ที่  4  ให้น้ำสัปดาห์ละ  3  ครั้ง               
-  ช่วงสัปดาห์ที่  5  ถึงสัปดาห์ที่  7  ให้น้ำสัปดาห์ละ  2  ครั้ง
-  ช่วงสัปดาห์ที่  7  ไปแล้วให้น้ำสัปดาห์ละ  1  ครั้ง 

ทั้งนี้  การให้น้ำแก่พริกควรให้ตามสภาพพื้นที่  และดูความชุ่มชื้นของดินประกอบด้วย 

2.  การใส่ปุ๋ย
 
พริกเป็นพืชผักที่ปลูกเพื่อบริโภคส่วนผล  และมีอายุในการเก็บเกี่ยวในแปลงค่อนข้างยาวนาน  ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้ควรมีสัดส่วนของไนโตรเจน 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน  โปรแตสเซี่ยม 1-1.5  ส่วน  เช่น ปุ๋ยสูตร  15-15-15  หรือ  14-14-21  อัตรา  50-100  กก./ไร่  ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้  และควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน  เช่น  ยูเรีย  อัตรา  ประมาณ  10-20  กก./ไร่  เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของต้นในระยะแรก  และการให้ปุ๋ยน้ำฉีดพ่นให้ทางใบทุกครั้งในอัตรา  3-4  ช้อนแกงต่อน้ำ  1 ปี๊บ  ภายหลังการเก็บเกี่ยวโดยผสมฉีดไปพร้อมกับยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช 

3.  การพรวนดิน
 
ควรทำการพรวนดินบ่อย ๆ  ในระยะแรก  เมื่อต้นพริกยังเล็กอยู่  เพื่อช่วยให้ดินมีการถ่ายเทอากาศและระบายน้ำดี  โดยเฉพาะดินที่มีผิวหน้าดินจับตัวเป็นแผ่นแข็งน้ำซึมผ่านได้ยาก  และยังเป็นการกำจัดศัตรูพืช  เมื่อต้นพริกโตขึ้นจนทรงพุ่มโตคลุมผิวดินหมดไม่มีความจำเป็นต้องพรวนดินอีก 

4.  การเก็บเกี่ยว
 
ผลพริกเมื่อแก่จัดจะอยู่ในช่วย  2  เดือนครึ่งถึง  3  เดือน  หลังจากย้ายกล้าปลูกในระยะแรกผลผลิตจะได้น้อยและจะค่อย ๆ  เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  เก็บเกี่ยวอาทิตย์ละ  1  ครั้ง  ผลผลิตจะเริ่มลดลง  เมื่อพริกเริ่มแก่  เมื่อพริกอายุได้  6-7  เดือน  หลังจากย้ายกล้าปลูกต้นจะเริ่มโทรม  และหยุดให้ผลผลิต  แต่ถ้ามีการดูแลรักษาดีก็สามารถที่จะเก็บผลผลิตต่อไปได้อีก  

5.  การเก็บรักษาพริกยักษ์หลังการเก็บเกี่ยว
               
1.  คุณภาพของพริกยักษ์  ควรมีคุณภาพดีได้มาตรฐาน  ไม่อ่อนแอ  หรือแก่จัดเกินไป    
2.  การเก็บเกี่ยว  และการทะนุถนอมพริกยักษ์ที่เก็บเกี่ยวอย่างดี  ปราศจากรอยขีดข่วน  และความบอบช้ำ  จะทำให้ได้ราคาดี  เก็บไว้ได้นาน               
3.  การลดอุณหภูมิก่อนการเก็บรักษาพริกยักษ์ที่เก็บมาใหม่จะมีความร้อนสะสมอยู่  เนื่องจากบรรยากาศ  และความร้อนที่พริกยักษ์คายออกมา  ดังนั้นควรจะลดความร้อนหรืออุณหภูมิภายในพริกยักษ์หลังการเก็บเกี่ยวให้เร็วที่สุด  เพื่อลดการหายใจ,  การทำลายของเอ็นไซม์,  ปฎิกิริยาทางชีวเคมีและการเจริญของจุลินทรีย์ใช้  ช้าลง  เพื่อให้พริกยักษ์เก็บได้นานขึ้น 


โรคที่สำคัญของพริกยักษ์
               
1.  โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย                               
อาการ  ต้นพริกจะแสดงอาการเหี่ยวทั้งต้น  ในวันที่มีอากาศร้อนจัด  และอาจจะฟื้นคืนดีอีกในตอนกลางคืน  ต้นพริกจะมีอาการอย่างนี้  2-3  วัน  และจะเหี่ยวตายโดยไม่ฟื้นอีก         

การป้องกัน                               
1.  ป้องกันไม่ให้ต้นพริกมีบาดแผลบริเวณโคนต้น                               
2.  ถ้าต้นพริกที่แสดงอาการเหี่ยวให้ถอนทิ้ง  นำไปเผาไฟ                               
3.  หลีกเลี่ยงการให้นำแบบปล่อยเข้าตามร่อง                               
4.  ใช้ยาปฎิชีวนะ  แอกกริไมซิน  ราดโคนต้นเพื่อป้องกันโรค                


2.  โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา
                               
อาการ   ต้นพริกจะแสดงอาการจากตอนล่าง ๆ  หรือบนใบแก่ที่อยู่ตอนล่างก่อน  คือใบจะมีสีเหลือง  และจะเหี่ยวลู่ลงดิน  ใบจะลุดร่วงไป  ต้นพริกจะแสดงอาการนี้ในระยะที่กำลังติดคอก  ออกผล  ฉะนั้นดอกและผลอ่อนอาจจะร่วงหล่นไป  พร้อมกับใบ  ทำให้พุ่มพริกโปร่งบางและต่อมาอีก  1-2  สัปดาห์  ต้นพริกจะยืนต้นตายทั้ง ๆ  ที่ส่วนยอด  จะยังมีสีเขียวอยู่         

การป้องกันกำจัด                               
1.  ปรับปรุงดินก่อนปลูกโดยใส่ปูนขาว  อัตรา  100-200  กก./ไร่                       
2.  ปลูกพืชหมุนเวียนอื่น ๆ  ที่ไม่เป็นโรคนี้                               
3.  ถ้าพบมีเพียง  1-2  ต้น  ก็ให้ถอนทำลายเสียโดยการเผาไฟ  และใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราราดลงไปในดิน  เช่น  เทอราคลอ,  เทอราโซล   


3.  โรคกุ้งแห้ง
               
อาการ   จะสังเกตเห็นได้ชัดบนผลพริกที่แก่จัด  หรือผลพริกสุก  ผลพริกอ่อนจะไม่ค่อยเกิดโรคนี้  ระยะที่ผลผลิตโรคนี้ได้ง่าย  คือระยะที่ผลพริกเจริญเติบโตเต็มที่  อาการเริ่มแรกจะปรากฏเป็นจุดวงกลมช้ำสีน้ำตาล  เนื้อเยื่อบุ๋มลึกลงไปจากระดับเดิมเล็กน้อย  จุดช้ำสีน้ำตาลจะค่อย ๆ  ขยายกว้างออกไปเป็นแผลวงกลม  หรือวงรีรูปไข่  ซึ่งมองเห็นลักษณะเชื้อราที่เจริญขยายออกไปเป็นวงกลมสีดำช้อนกันเป็นชั้น ๆ               

การป้องกัน
               
1.  ควรคลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วย  แคปแทน  เพื่อทำลายเชื้อราที่ติดมาเก็บเมล็ด      
2.  ใช้ยาไดเทนเอ็ม  45  ฉีดพ่นทุก  ๆ  3-5  วันต่อครั้ง               
3.  อย่านำเมล็ดจาดผลที่เป็นโรคนี้มาทำเมล็ดพันธุ์ 


แมลงศัตรูที่สำคัญของพริกยักษ์
1.  เพลี้ยไฟพริก  
ลำตัวยาวเล็ก รูปร่างยาว ขนาด 1 มม.  สีฟางข้าวปนเหลือง  มีสีอกด้านข้างดำ  ตัวแก่มีปีก  สีเข้มกว่าตัวอ่อนจะระบาดมากโดยเฉพาะที่ช่วงอากาศแห้ง และร้อน      

การป้องกันกำจัด
เนื่องจากเพลี้ยไฟจะมีตัวเล็ก  การสังเกตเราควรจะใช้วิธีเด็ดยอดพริกแล้วนำมาเคาะกับผ้าหรือกระดาษดำถ้าพบว่ามีเกิน  10  ตัวต่อยอด  ต้องรีบทำการกำจัดโดยใช้สารเคมี  ศัตรูธรรมชาติคือน้ำฝน       

การใช้สารเคมีป้องกันและกำจัด
1. เมซูโรล
2. ไวย์เดท
3. พอสซ์
4. สเปโต

อัตราตามฉลากข้างขวดยาที่บริษัทกำหนดมาให้  และการใช้สารเคมีเหล่านี้ควรจะดูพิษตกค้างให้ดีก่อนที่จะทำการเก็บผลผลิตพริกยักษ์ไปจำหน่าย                               


2.  เพลี้ยอ่อน
                    
ลักษณะ  ตัวอ่อนจะมีสีต่าง ๆ กัน  ส่วนใหญ่จะมีสีเขียวเข้มจนเกือบดำ                    

ชีพจักร
   ในบ้านเรา  เพลี้ยอ่อนจะไม่ออกไข่  แต่ออกลูกเป็นตัวเลย  ตามใบอ่อนและยอดอ่อนของพืช  ตามช่อดอก  ตัวอ่อนประมาณ  20-140  ตัว/ครั้ง  จะออกทุก ๆ  2-9  วัน

การทำลาย
   ดูดน้ำเลี้ยงของพืช  และเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส                    

การป้องกันกำจัด
1. ใช้สารเคมี  ไดอะซินอน  25%
2. เซฟวิน  85% อัตราตามบริษัทกำหนดให้               



3. ไรขาวพริก
    
การทำลาย  
ดูดกินน้ำเลี้ยง  ทำให้ยอด,  และใบพริกหงิกงอลักษณะใบหงิกเป็นฝอย  ใบอ่อนหยาบย่น  หรือเป็นคลื่นอาการจะเริ่มที่ยอดก่อน  ใบหนา  ก้านใบยาว  เพราะหักง่าย  ใบจะ  ค่อย ๆ  ร่วง  ยอดจะตายในที่สุด    

ข้อสังเกต
  
ไรขาวทำให้ยอดใบหงิกงอม้วนลงด้านล่างส่วนเพลี้ยไฟใบจะงอขึ้นด้านบน  จะพบในฤดูฝน

การป้องกัน
   ใช้สารเคมีพวก                               
1.  กำมะถันผงไบเออร์  80%                               
2.  ซัลฟูไซด์  80%                               
3.  ทวิลซัลแมกซ์  80%  


ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร   สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่   จ.เชียงใหม่       โทร.  0 53873938-9 





2. พริกกะเหรี่ยง

พริกกะเหรี่ยง มีการปลูกกันมากตามแนวชายแดนไทย-พม่าของ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีการคมนาคมลำบากมากในช่วงของฤดูฝน ตรงกับ การปลูกพริกของชาวกะเหรี่ยง และเมื่อผลผลิตพริกสามารถเก็บเกี่ยว ได้ก็ไม่สามารถนำออกมาจำหน่ายได้ ต้องแปรรูปเป็นพริกแห้ง


ลักษณะเด่นพริกกะเหรี่ยง
1. มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนทานต่อสภาวะอากาศและโรคแมลง
2. ลำต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถให้ผลผลิตติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
3. เป็นที่นิยมทำเป็นพริกตากแห้งได้ดี คุณภาพผลสด 3 กิโลกรัม ตากแห้งได้ 1-1.3 กิโลกรัม
4. มีความเผ็ดและหอมซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของพริกกะเหรี่ยง
5. โรงงานทำซอสพริกนิยมนำไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพื่อเพิ่มความเผ็ดและความหอม


การเตรียมเมล็ดและต้นกล้าก่อนปลูก
1. เลือกต้นที่มีลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง สามารถปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อม ในท้องถิ่นได้ดี ให้ผลผลิตดก ขนาดใหญ่เต็มที่และเก็บผลในรุ่นที่ 2-3
2. ผลพริกที่เลือกเก็บนั้น ควรเป็นผลที่เริ่มสุกหรือสุกสีแดงสดปราศจากโรคแมลงทำลาย นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน หรือนำมาห่อ ในผ้าขาวบางซับ ๆ เก็บไว้ประมาณ 2-3 วัน จนมีตุ่มรากสีขาวเล็ก ๆ แล้วนำไปเพาะ


การเตรียมแปลงเพาะกล้า
การเลือกพื้นที่สำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ต้องทำการเตรียมดินให้ละเอียดพร้อมผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 แล้วคลุกเคล้า ให้เข้ากัน แล้วนำเมล็ดพริกโรยเป็นแถวห่างกันประมาณ 3 นิ้ว กลบหน้าดิน ประมาณ 1 ซม. หลังเพาะนาน 7-10 วัน เริ่มงอกหมั่น รดน้ำ ให้ชุ่มอยู่เสมออย่าปล่อยให้แปลงแห้งจนกระทั่งต้นกล้าเจริญเติบโตมีใบประมาณ 3-4 คู่ หรือต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน สามารถนำไปปลูกในแปลงปลูก


การปลูกและการดูแลรักษา
1. การปลูกพริกกะเหรี่ยงโดยนำเมล็ดพริกที่เก็บเมล็ดจากต้นแล้วนำมาตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนำไปตำในครก หรือกระบอก ไม้ไผ่ ให้เมล็ดแตกออก นำเมล็ดมาหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละประมาณ 5-10 เมล็ด ระยะปลูก 80X80 เซนติเมตร และหากปลูก แซมข้าวไร่ ระยะปลูกจะห่างตามความต้องการและสภาพพื้นที่เป็นหลัก

2. การปลูกด้วยต้นกล้า ควรมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา 800-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวนต้นกล้า ประมาณ 2,500-3,000 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 80X80 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชแซม กับข้าวไร่ หรือพืชชนิดอื่นๆ

3. การปลูกพริกกะเหรี่ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าของพริกสด สามารถทำได้โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่สามารถให้น้ำได้ และเป็นพื้นที่ดอนน้ำ ไม่ท่วมขัง เกษตรกรเริ่มเพาะกล้าพริกตั้งแต่เดือน กันยายน-ตุลาคม หลังปลูกแล้ว 90 วันก็จะเริ่มเก็บผลผลิต ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูแล้ง พริกสดจะเริ่มราคาแพงเนื่องจากชาวกระเหรี่ยงที่ปลูกพริกในป่า ไม่สามารถให้น้ำพริกได้ และผลผลิตก็จะหมดเร็ว ทำให้พริกสด ขาดแคลน เกษตรกรที่ปลูกพริกกะเหรี่ยงฝืนฤดู สามารถขายพริกสดได้ถึงราคา 50-80 บาท/กิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป


การให้น้ำและปุ๋ย
การให้น้ำอาศัยน้ำฝนธรรมชาติ และช่วงที่เหมาะสมในการปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การกำจัดวัชพืชไม่ใช้สารเคมี และไม่นิยมใส่ปุ๋ยเคมีเนื่องจากจะทำให้พริกกะเหรี่ยงที่มีความหอมที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวลดลง


ศัตรูพืชที่สำคัญและวิธีการป้องกันกำจัด
1. โรค โรครากเน่าโคนเน่า และโรคกุ้งแห้ง ป้องกันโดยคัดเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า รองก้นหลุมก่อนปลูก

2. แมลง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ทำให้พริกใบหงิกงอ ลักษณะใบม้วนผิดปกติ ระบาดในช่วงแห้งแล้ง ป้องกันกำจัด โดยใช้น้ำหมัก สมุนไพร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน หรือเชื้อราบิวเบอร์รี่


การเก็บผลผลิต
หลังย้ายปลูกประมาณ 60 วัน พริกกะเหรี่ยงเริ่มทยอยผลผลิตและสามารถเก็บผลผลิตได้โดยเลือกเก็บเมล็ดที่มีสีแดงสดเพื่อใช้ ในการแปรรูป ผลผลิตพริกสดประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นพริกแห้งได้ประมาณ 80-100 กิโลกรัมๆ ละประมาณ 80-150 บาท รายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อไร่


การจำหน่ายพริกกะเหรี่ยง
1. จำหน่ายพริกสดราคาขายขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณของพริก
2. จำหน่ายเป็นพริกแห้ง ซึ่งจะได้ราคาที่สูง กว่าพริกชนิดอื่น
3. ตลาดแปรรูปในอุตสาหกรรมการแปรรูป พริกป่น พริกคั่ว พริกดอง ซอสพริก หรือน้ำจิ้ม น้ำพริก น้ำพริกแกง อาหารสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป พริกแช่แข็ง




3. "คีรีราษฎร์ 1"
พริกกะเหรี่ยงสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ


เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า "พริกกะเหรี่ยง" มีการปลูกกันมากตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีการคมนาคมลำบากมากในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ชาวกะเหรี่ยงเก็บเกี่ยวผลผลิตพริกพอดี ทำให้ไม่สามารถนำพริกกะเหรี่ยงสดออกมาจำหน่ายได้ จะต้องมีการแปรรูปเป็นพริกแห้งก่อน และอีกพื้นที่หนึ่งที่มีพื้นที่ปลูกมากจะอยู่ในเขตตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ปัจจุบันทางสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง โดยมี ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ได้รวบรวมพันธุ์และศึกษาลักษณะพันธุ์พริกพื้นเมืองของจังหวัดตาก ซึ่งรวมถึงพริกกะเหรี่ยงด้วย ได้จำนวน 192 สายพันธุ์ พบว่าในขณะนี้พบพันธุ์พริกที่พัฒนาพันธุ์ได้จำนวน 11 สายพันธุ์ ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสดมากกว่า 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่

ทำความรู้จักกับพริกกะเหรี่ยง
อาจจะกล่าวได้ว่า พริกกะเหรี่ยงเป็นวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงก็ว่าได้ ถึงกับมีคำกล่าวว่า "มีข้าว มีพริก มีฟืน ไม่ต้องมีเงิน" ก็อยู่ได้ หลายคนเคยรับประทานก๋วยเตี๋ยวน้ำพริกกะเหรี่ยง แต่ไม่ทราบว่าพริกกะเหรี่ยงคือพริกอะไร? พริกกะเหรี่ยงไม่ใช่พริกขี้หนูสวน ในธรรมชาติพริกขี้หนูจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ปลูกที่ร่มรำไร ในขณะที่พริกกะเหรี่ยงชอบแสงแดดจัด การปลูกพริกกะเหรี่ยงของคนกะเหรี่ยงจะปลูกแบบพืชไร่ โดยการเอาเมล็ดพริกผสมกับเมล็ดพืชอื่นๆ อาทิ เมล็ดฟัก แฟง แตงกวา ฯลฯ หว่านในไร่หลังจากที่หยอดเมล็ดข้าวไปแล้ว เมล็ดข้าวงอกก่อนและเป็นร่มเงาให้ต้นกล้าผักซึ่งรวมถึงต้นกล้าพริกด้วย ระหว่างที่รอต้นข้าวให้ผลผลิต ชาวกะเหรี่ยงจะได้รับประทานผักชนิดต่างๆ เป็นอาหาร เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ต้นพริกกะเหรี่ยงอยู่ในระหว่างออกดอกและติดผลพอดี ชาวกะเหรี่ยงทยอยเก็บเกี่ยวพริกกะเหรี่ยงได้ต่อเนื่อง 5-6 เดือน

ลักษณะเด่นของพริกกะเหรี่ยง
ชาวกะเหรี่ยงบอกถึงคุณลักษณะที่เด่นเฉพาะตัวของพริกกะเหรี่ยงดังนี้ "ต้องปลายแหลม ก้นโต สีส้มจัด (ไม่แดงคล้ำ) เผ็ดแต่ไม่แสบลิ้นและมีกลิ่นหอม" ทางศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี ได้บอกถึงการปลูกพริกกะเหรี่ยงว่ามีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีลำต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถเก็บผลผลิตติดต่อกันได้ระยะเวลานาน นิยมแปรรูปเป็นพริกแห้งโดยใช้พริกกะเหรี่ยงสด 3 กิโลกรัม เมื่อเป็นพริกแห้งได้น้ำหนักเฉลี่ย 1-1.3 กิโลกรัม ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตซอสพริกนิยมนำเอาพริกกะเหรี่ยงแห้งไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพื่อเพิ่มความเผ็ดและมีกลิ่นหอม

ผลผลิตพริกกะเหรี่ยงในธรรมชาติ ให้ผลผลิตเพียง 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่
ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการศึกษาสถานภาพการผลิตและความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผลผลิต คุณภาพและปริมาณสาร "แคปไซซิน" (capsaicin) ในพริกพันธุ์การค้าของประเทศไทย ว่าจากการเดินทางศึกษาดูงานแปลงพริกและสถานการณ์การผลิตและการตลาดพริกกะเหรี่ยงในเขตตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, องค์การบริหารส่วนตำบลคีรีราษฎร์, ผู้ประกอบการซื้อพริกกะเหรี่ยง และเกษตรกรผู้ปลูกในพื้นที่ พบว่า พริกกะเหรี่ยงที่ปลูกที่อำเภอพบพระ จัดเป็นพริกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งด้านรูปร่าง สีผิว ความเผ็ด และความหอม รวมทั้งเป็นพริกที่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการปลูก ให้ผลผลิตพริกที่เก็บเกี่ยวมามีความปลอดภัย ผลผลิตส่งขายยังตลาดใหญ่ๆ อาทิ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ปากคลองตลาด ฯลฯ ราคาขายผลผลิตพริกสดเฉลี่ย 7-25 บาท ต่อกิโลกรัม

ในด้านการผลิตและการจัดการของเกษตรกรในพื้นที่พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกพริกกะเหรี่ยงแซมหรือปลูกหมุนเวียนร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวโพด ผักกาดขาวและมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยสามารถปลูกพริกได้เพียงละ 1 ครั้ง เท่านั้น ศักยภาพในการผลิตพริกกะเหรี่ยงของเกษตรกรในเขตตำบลคีรีราษฎร์ สามารถผลิตพริกได้เฉลี่ยเพียง 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่เท่านั้น ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มีผลผลิตออกในแต่ละปีเฉลี่ยวันละ 200,000 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่า มีปัญหาหลายประการที่เป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เช่น ปัญหาจากการระบาดของโรคและแมลง โรคที่พบ ได้แก่ โรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อไฟทอปทอร่า สำหรับแมลงที่พบมากคือ หนอนเจาะผล นอกจากนั้น ยังพบปัญหาเรื่องสภาพดินปลูกมีค่าความเป็นกรดปานกลางถึงกรดจัด ปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการใช้ที่ดินซ้ำซากและขาดการบำรุงดิน ขาดแคลนน้ำและขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกพริกที่ถูกต้อง

พริกกะเหรี่ยงมีปริมาณสารแคปไซซินสูง
เหตุผลหนึ่งที่ ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ให้ความสนใจในการคัดเลือกพันธุ์พริกกะเหรี่ยงเพื่อแนะนำให้เกษตรกรได้นำไปขยายพื้นที่ปลูกและผลผลิตสูง เนื่องจากพบว่าในผลพริกกะเหรี่ยงมีปริมาณของสารแคปไซซินสูงกว่าพริกชนิดอื่นๆ ที่ปลูกในบ้านเรา ในงานวิจัยอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของ ดร.ชฎา พิศาลวงศ์ พบว่า "แคปไซซิน" คือสารสำคัญที่มีอยู่ในพริกทุกชนิดและเป็นตัวที่ทำให้พริกมีรสชาติเผ็ดร้อน แต่ปริมาณของสารแคปไซซินจะมีปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์พริก ในวงการแพทย์ต่างก็ยอมรับกันว่าสารแคปไซซินนี้จะช่วยกระตุ้นเซลล์ในกระเพาะอาหารให้มีการหลั่งกรดเกลือมากขึ้นและทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากกว่าปกติ เนื่องจากพริกจะไปกระตุ้นการบีบและการคลายตัวของกระเพาะอาหาร การบริโภคพริกจึงช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้นเพราะไปกระตุ้นต่อมน้ำลาย

การเตรียมเมล็ดและต้นกล้าก่อนปลูกแบบชาวบ้าน
ในคำแนะนำของศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี แนะนำชาวกะเหรี่ยงที่จะปลูกพริกกะเหรี่ยง เลือกต้นที่มีลำต้นสมบูรณ์ แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นได้ดี ให้ผลผลิตดก ขนาดใหญ่เต็มที่และเก็บผลในรุ่นที่ 2-3 ผลพริกที่เลือกเก็บนั้น ควรเป็นผลที่เริ่มสุกหรือสุกสีแดงสด ปราศจากโรคแมลงทำลาย นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน หรือนำมาห่อในผ้าขาวบางซับๆ เก็บไว้ประมาณ 2-3 วัน จนมีตุ่มรากสีขาวเล็กๆ แล้วนำไปเพาะ ในการเตรียมแปลงเพาะกล้า เลือกพื้นที่สำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ ต้องเตรียมดินให้ละเอียดพร้อมผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำเมล็ดพริกโรยเป็นแถวห่างกันประมาณ 3 นิ้ว กลบหน้าดินประมาณ 1 เซนติเมตร หลังเพาะนาน 7-10 วัน เริ่มงอก หมั่นรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้แปลงแห้ง จนกระทั่งต้นกล้าเจริญเติบโตมีใบประมาณ 3-4 คู่ หรือต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน สามารถนำไปปลูกในแปลงปลูก

การปลูกและการดูแลรักษาพริกกะเหรี่ยง
1. การปลูกพริกกะเหรี่ยงโดยนำเมล็ดพริกที่เก็บเมล็ดจากต้นแล้วนำมาตากแดดจนแห้งสนิท แล้วนำไปตำในครก หรือกระบอกไม้ไผ่ ให้เมล็ดแตกออก นำเมล็ดมาหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละประมาณ 5-10 เมล็ด ระยะปลูก 80x80 เซนติเมตร และหากปลูกแซมข้าวไร่ ระยะปลูกจะห่างตามความต้องการและสภาพพื้นที่เป็นหลัก

2. การปลูกด้วยต้นกล้า ควรมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวนต้นกล้าประมาณ 2,500-3,000 ต้น ต่อไร่ ระยะปลูก 80x80 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชแซมกับข้าวไร่ หรือพืชชนิดอื่นๆ

3. การปลูกพริกกะเหรี่ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าของพริกสด สามารถทำได้โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่ สามารถให้น้ำได้ และเป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง เกษตรกรเริ่มเพาะกล้าพริกตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม หลังปลูกแล้ว 90 วัน ก็จะเริ่มเก็บผลผลิต ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูแล้ง พริกสดจะเริ่มราคาแพง เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงที่ปลูกพริกในป่า ไม่สามารถให้น้ำพริกได้ และผลผลิตก็จะหมดเร็ว ทำให้พริกสดขาดแคลน เกษตรกรที่ปลูกพริกกะเหรี่ยงฝืนฤดู สามารถขายพริกสดได้ถึงราคา 50-80 บาท ต่อกิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

การใช้สารเคมีในการปลูกพริก เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การบริหารเรื่องต้นทุนในการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในการปลูกพริกถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก เนื่องจากพริกเป็นพืชที่มีแมลงและโรครบกวนมาก ดังนั้น การใช้สารเคมีในการปลูกพริกจึงเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่เกษตรกรจะมีการจัดการในเรื่องนี้ได้ดีเพียงใด จะมีการตั้งโปรแกรมการฉีดพ่นสารเคมีปราบศัตรูพืชอย่างกว้างๆ เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนความถี่ในการฉีดพ่นจะมากน้อยลงกว่านี้ขึ้นอยู่กับการสำรวจแมลงและโรคที่เราพบเป็นหลัก เกษตรกรที่จะปลูกพริกให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการศึกษาและหาความรู้ในเรื่องสารเคมีที่ดีพอสมควร สำหรับการเลือกใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชจะต้องมองถึงรายละเอียดมากเข้าไปอีก จะต้องทราบว่าสารเคมีแต่ละชนิดมีฤทธิ์ตกค้างนานขนาดไหน

แนวทางในการป้องกันโรคแอนแทรกโนสในพริก
เกษตรกรที่มีอาชีพในการปลูกพริกต่างก็ทราบดีว่าเมื่อพบการระบาดของโรคแอนแทรกโนสในแปลงปลูกพริกแล้ว ผลผลิตของการปลูกพริกในฤดูกาลนั้นมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหายมากจนขาดทุนได้ การป้องกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ถ้าปล่อยให้มีการระบาดแล้วยากต่อการควบคุม สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคคือ การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดให้ถูกจังหวะ เกษตรกรจะต้องเป็นคนที่หมั่นสังเกตว่าเมื่อมีโรคแอนแทรกโนสเข้ามารบกวน ต้นพริกจะเริ่มแสดงอาการบางอย่างออกมาให้เห็น เช่น เริ่มมีใบจุดเล็กๆ บนใบพริกหรือบริเวณโคนต้น หลังจากฝนตกหนัก มีหมอกลงจัด หลังการให้น้ำหรือแปลงปลูกพริกข้างเคียงเป็นโรคนี้ ก็ให้พึงระวังและเตรียมป้องกันว่าในแปลงพริกของท่านมีโอกาสที่จะมีการระบาดของโรคแอนแทรกโนส เกษตรกรจะต้องมีการเริ่มฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืชประเภทดูดซึมทันที อาจจะใช้ยาเชื้อราที่มีราคาไม่แพงนัก เช่น ยาแอนทราโคล เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ปริมาณของเชื้อมีปริมาณมากขึ้นจนก่อให้เกิดโรคได้

จากการดำเนินงาน นักวิจัยได้รวบรวมพันธุ์พริกพื้นเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จากอำเภออุ้งผาง แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง และพบพระ จนได้พริกจำนวน 192 สายพันธุ์ และได้ดำเนินการคัดเลือกพันธุ์ 2 ชั่วรุ่น โดยการปลูกลงแปลงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร จังหวัดลำปาง และแปลงเกษตรกรในพื้นที่พบพระ จนได้พริกสายพันธุ์ดี 14 สายพันธุ์ หลังจากนั้นทดสอบและประเมินพันธุ์โดยนักวิจัยและภาคเอกชน ผลสำเร็จที่ได้คือ "พริกพันธุ์คีรีราษฎร์ 1" ที่สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ และให้ผลผลิตสูงมากกว่า 1.5 ตัน ต่อไร่ ทั้งนี้เป้าหมายหลักของโครงการนอกจากได้พริกสายพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิต และสารแคปไซซินสูง รวมทั้งปรับตัวได้ดีแล้ว เป้าหมายหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การส่งมอบเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาได้คืนกลับสู่ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรนำไปเพาะและเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์เพื่อการผลิตและจำหน่ายเป็นพริกพันธุ์การค้าในระยะต่อไป


หนังสือ "คู่มือการปลูกพริกเชิงพาณิชย์" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่มที่ 5" รวม 2 เล่ม จำนวน 120 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์เป็นมูลค่า 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398



ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ






4.ปลูกพริกหวาน สูตร อำภา ปัญจบุตร


นางอำภา ปัญจบุตร เกษตรกรลูกค้า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จากเคยล้มลุกคลุกคลานจากการปลูกหอมหัวใหญ่และลิ้นจี่ ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด เนื่องจากปลูกพืชโดยไม่ศึกษาความต้องการของตลาด จนกระทั่งได้มาเป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และได้รับคำแนะนำในเรื่องการปลูกพริกหวาน
         
อำภา เล่าว่า ตนเองต่อสู้ชีวิตเพียงคนเดียวส่งลูก 2 คนเรียนหนังสือแต่ก็ไม่ย่อท้อ อดทนต่อสู้ จนทำให้ปัจจุบันมีโรงเรือนผลิตพริกหวานอยู่ 4 โรง ประมาณ 16,000 ต้น ส่วนเทคนิคในการปลูก คือ จะนำเมล็ดพันธุ์มาแช่น้ำ 1 คืน แล้วนำมาผึ่งพอหมาด ๆ จากนั้นก็นำเมล็ดพันธุ์มาใส่ภาชนะทึบแสงนำออกไปตากแดดอีก 1 วัน จากนั้นนำไปใส่ถาดหลุมเพื่อเพาะเป็นต้นกล้า
         
จากที่เคยล้มเหลวจากการปลุกหอมหัวใหญ่ แต่ก็มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้ และได้รับคำแนะนำที่ดี ทำให้ทุกวันนี้ อำภา มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตนเอง และครอบครัวให้มีความสุขได้ แม้จะมีปัญหาในเรื่องของราคาผลผลิตอยู่บ้าง แต่หลังจากที่ได้ศึกษาเทคนิคการปลูกพริกหวาน ก็สามารถจัดการกับผลผลิตของตนเองได้
         
แหล่งจำหน่ายผลผลิต จะส่งจำหน่ายที่ปากคลองตลาด ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของการผลิตพริกหวานอย่างถูกวิธี ติดต่อได้ที่ 19/1 หมู่ 3 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ติดต่อ 08-1980-0754

         
ที่มา  :  ดลินิวส์




หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©