-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 584 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

พืชสวนครัว




หน้า: 1/2


แตงโม


1. พันธุ์
แบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ

1.1 พันธุ์ธรรมดา เช่น พันธุ์ซูก้าเบบี้, ซาลสตัน เกรย์, เยลโล เบบี้ ไฮบริด

1.2 พันธุ์ไม่มีเมล็ด เช่น เฟาซานเบอร์ 1 ไฮบริด, ซี้ดเลส เยลโล ไฮบริด, ฟาร์มเมอร์ วันเดอร์ฟูล ไฮบริด

1.3 พันธุ์เมล็ด เช่น เรดโคท ไฮบริด, วานลี เอฟ 2 ไฮบริด


2. การเตรียมดิน
ควรไถดินตากประมาณ 10 วันใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 2-3 ตันต่อไร่พรวนดินให้เข้ากันทำ
การเตรียมร่องได้ 2 แบบ คือถ้าปลูกแบบแถวเดี่ยวก็ปลูกแบบผืนใหญ่เลย ส่วนการปลูกแบบแถว
คู่เตรียมโดยการยกร่องกว้าง 4-5 เมตรยาวแล้วแต่พื้นที่ โดยมีร่องนํ้าสำหรับปล่อยนํ้าไว้ตักรด
ต้นแตงโม


3. การปลูก
การปลูกแบบเดี่ยวหรือผืนใหญ่ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 180 เซนติเมตร และระหว่างแถว 180
เซนติเมตร ส่วนการปลูกแบบแถวคู่ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 60-90 เซนติเมตรและระยะระหว่าง
แถว 200-300 เซนติเมตร ใช้ฟางข้าวคลุมรดนํ้าให้ชุ่มในจุดที่ปลูก


4. การให้นํ้า
โดยการตักรดหรือใช้แครงวักสาดอย่าให้ไกล้โคนต้นเกินไปเพราะนํ้าอาจไปกระแทกถูกต้นทำให้
ชํ้าหักได้โดยพิจารณาให้นํ้าทุกๆวัน


5. การจัดเถา
แตงโมมีเถาว์ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ควรจัดให้เถาว์เลื้อยไปทางเดียวกันเพื่อไม่ให้
เถาว์พันกัน ทับกันจนแน่นยากแก่การผสมเกสรของแมลงและควรริดแขนงส่วนที่เกินหรือไม่จำ
เป็นทิ้งเพื่อให้ได้ผลที่มีขนาดสมบูรณ์


6. การใส่ปุ๋ย
ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 100 กิโลกรรมต่อไร่โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งแรกรองก้นหลุม
ครั้งที่ 2 เมื่อแตงโมทอดยอดยาวประมาณ 30 เซนติเมตรแล้วพรวนดินกลบด้วย และครั้งที่ 3
เมื่อแตงโมทอดยอดยาวประมาณ 90 เซนติเมตร


7. การเก็บเกี่ยว
เมื่อแตงโมอายุได้ 75-120 วันตามลักษณะของพันธุ์ สังเกตุที่ขั้วของแตงโมเริ่มเหี่ยวยุบลง ผิว
แตงกร้าน ไม่สด มือเกาะไกล้ขั้วจะแห้ง ดีดหรือตบเบาๆจะมีเสียงผสมระหว่างกังวานและเสียง
ทึบแสดงว่าแก่พอดี ถ้าเสียงกังวานเพียงอย่างเดียวแสดงว่าแตงโมอ่อนหรือถ้าเสียงทึบเพียง
อย่างเดียวแสดงว่าแตงโมแก่เกินไป ไส้ล้ม


8. โรค
ได้แก่โรครานํ้าค้าง โรคราแป้ง โรคเหี่ยวตาย โรคใบด่าง โรคใบจุด โรคเถาแตก โรคเถาเหี่ยว
ป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่น มาเน็บ ซีเน็บ เบนโนมิล แมนโคเซป คาร์เบนดาซิมและโบแรกซ์ตัว
ไดตัวหนึ่งตามอาการของโรคและควรพ่นสารเคมีฆ่าแมลงที่เป็นพาหะนำโรคด้วย


9. แมลง
ได้แก่ เต่าแตง เพลี้ยไฟแตงโม แมลงวันแตง แมลงวันทอง หนอนกระทู้ หนอนผีเสื้อเจาะผล
แตงโมป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่น เซฟวิน ไซเปอร์เมทริน อะบาเม็กติน คาร์โบซัลแฟนตัวใด
ตัวหนึ่งตามการระบาดของแมลงศัตรู


ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร




แตงโม

ชื่อสามัญ : Watermelon
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Citrullus vulgaris Schard.
วงศ์ : CUCURBITACEAE

ลักษณะทั่วไป
แตงโม เป็นผลไม้เมืองร้อน แตงโมเป็นไม้เถาวงศ์เดียวกับแตงกวา แคนตาลูปและฟัก ลำต้น
เป็นเถาเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ใบมีลักษณะเว้าลึก 3-4 หยัก ก้านใบยาว ทั้งเถาและใบมี
ขนอ่อนปกคลุมผลแตงโมมีทั้งแบบกลม กลมรี และทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล
15-40 ซม. เปลือกแข็ง สีเขียว สีเขียวเข้ม และสีเหลือง บ้างก็มีลวดลายสีขาวเป็นแถบ
ยาวจากขั้วถึงปลายผล รสราติที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของแตงโมคือหวานกรอบ และฉ่ำน้ำ ใน
เนื้อมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กแทรกอยู่บริเวณใจกลางผล



สภาพที่เหมาะต่อการเจริญเติบโต
สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แตงโมเป็นผลไม้ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี แต่ฤดู
กาลของแตงโมจริง ๆ นั้นอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน



การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
แตงโมนิยมรัปประทานผลสด เนื้อมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โพแทสเซียม และวิตามิน
ต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินเอ มีมากเป็นพิเศาในเนื้อสีแดง นอกจากนี้ยังมีสาร
citrulline ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยถอนพิษสุราได้ และมีเอนไซม์ที่ช่วยกระตุ้นความอยาก
อาหาร น้ำแตงโม ช่วยให้ร่างกายขับปัสสาวะได้ดี ช่วยล้างไตและกระเพาะปัสสาวะ บรรเทา
อาหารผิวหนังแห้งกร้านอันเนื่องมาจากภาวะเลือดเป็นกรด เพราะกินเนื้อสัตว์ ของทอด ขนม
หวาน อาหารแป้งขัดขาว และเครื่องดื่มพวกกาแฟหรือน้ำอัดลมมากเกินไป น้ำแตงโมจะช่วย
ไม่ให้ร่างกายสะสมกรดยูริก อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไขข้อ และโรคเกาต์ ส่วนผลอ่อน
นิยมนำมาประกอบอาหารคาว เช่น แกงส้ม แกงเลียง


 

การปลูกและการดูแลรักษา
การเตรียมดิน
แตงโมเป็นพืชที่หยั่งรากลึกมากกว่า 120 เซนติเมตร และต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์ มี
ความชุ่มชื้นมากพอ ฉะนั้นถ้ามีการไถพรวนหรือขุดย่อยดินให้มีหน้าดินร่วนโปร่ง และลึกก็จะ
ช่วยป้องกันการขาดน้ำได้เป็นอย่างดีในระยะที่ต้นแตงโมกำลังเจริญเติบโต การเตรียมดินให้
หน้าดินลึกร่วนโปร่งจะช่วยทำให้ดินนั้นยึดและอุ้มความชื้นได้มากขึ้น และเป็นทางเปิดให้
รากแตงโมแทรกตัวเองลึกลงไปใต้ดินซึ่งจะช่วยให้รากหาอาหารและน้ำได้กว้างไกลยิ่งขึ้น
และเป็นการช่วยทำให้พืชสามารถใใช้น้ำใต้ดินมาเป็นประโยชน์ได้อย่างดีอีกด้วย ถ้าจำเป็น
ต้องปลูกแตงโมในหน้าฝน ควรเลือกปลูกในดินที่มีการระบายน้ำดี คือ เป็นดินเบา หรือดิน
ทราย แต่ถ้ามีที่ปลูกเป็นดินหนักหรือค่อนข้างหนักควรปลูกแงโมในหน้าแล้ง และขุดดิน
หรือไถดินให้ลึกมากที่สุดจะเหมาะกว่า
 

การปลูกแตงโม
ใช้เมล็ดพันธุ์หยอดเป็นหลุมให้แต่ละหลุมในแถวห่างกัน 90 เซนติเมตร ส่วนแถวของแตง
นั้นควรให้ห่างจากกันเท่ากับความยาวของเถาแตงโม หรือประมาณ 2-3 เมตร ในดินทราย
ขุดหลุมให้มีความกว้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนใน
ดินเหนียวขุดหลุมให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกที่ละเอียดคลุกเคล้ากับดินบน
ใส่รองก้นหลุม ๆ ละ 4-5 ลิตร เตรียมหลุมทิ้งไว้ 1 วัน แล้วจึงลงมือปลูก หยอดหลุมละ 5
เมล็ด
 

การช่วยให้เมล็ดงอก
สำหรับผู้ที่หยอดเมล็ดแตงโมในฤดูหนาว มักจะพบว่าแตงโมงอกช้า หรือไม่งอกเลย ทั้งนี้
เพราะว่า ถ้าอุณหภูมิในดินปลูกต่ำกว่า 15.5 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอกโดย
ธรรมชาติ ฉะนั้นเพื่อขจัดปัญหาเมล็ดไม่งอกในฤดูหนาวควรทำการหุ้มเมล็ดโดยแช่เมล็ด
แตงโมในน้ำอุ่น แล้วทิ้งไว้ 1 วันกับ 1คืน แล้วเอาผ้าเปียกห่อวางไว้ที่อื่น ๆ ในบ้าน จะช่วย
ทำให้เมล็ดแตงโมงอกได้เร็วขึ้น และงอกได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อรากเริ่มโผล่ออกมาจาก
เมล็ด ก็เอาไปเพาะในถุงหรือกระทงใบตองได้ รอจนกล้ามีใบจริงแล้ว 2-3 ใบ จึงนำลง
ปลูกในไร่ หรือหากไม่สะดวกเพราะต้องการประหยัดแรงงาน ก็อาจนำเมล็ดที่งอกนั้นไปปลูก
ในแปลงได้เลย โดยหยอดลงในหลุมแบบเดียวกับหยอดเมล็ดที่ยังไม่งอก แต่ต้องให้น้ำ
ในหลุมที่จะหยอดล่วงหน้าไว้ 1 วัน เพื่อให้ดินในหลุมชื้นพอเหมาะ หยอดเมล็ดที่งอก
แล้วกลบดินทับหนาไม่เกิน 1 เซนติเมตร แล้วรดน้ำ ต้นแตงโมจะขึ้นมาสม่ำเสมอกันทั้งไร่


การให้ปุ๋ย
ปุ๋ยคอก การใส่ปุ๋ยคอกให้แก่แตงโมก็มีความสำคัญมาก เพราะปุ๋ยคอกช่วยทำให้ดินร่วน
โปร่ง ช่วยทำให้ดินมีธาตุอาหารมากขึ้น แล้วยังช่วยทำให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อยู่ในสภาวะสมดุล
เป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้นด้วย ควรใส่ปุ๋ยคอกในพื้นที่ปลูกจริง อัตราไร่ละ 2-4 ตัน 
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 1 : 1 : 2 ซึ่งได้แก่ปุ๋ยเคมี สูตร
10-10-20 เป็นต้น หรือใช้ปุ๋ยสูตรใกล้เคียงได้ เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในอัตราไร่
ละ 100-150 กิโลกรัม จะตัดสินใจใส่ปุ๋ยมากหรือน้อยก็ต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
และราคาแตงโมประกอบกันด้วย ปกติแล้วจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ประมาณ 120-150 กก.
/ไร่ต่อฤดูปลูก 

ผู้ปลูกแตงโมส่วนใหญ่ยังนิยมใส่ปุ๋ยเคมี ลงบนผิวดิน โดยหว่าน หรือวางเป็นกระจุกหน้าดิน
แล้วรดน้ำเพื่อให้ปุ๋ยละลายน้ำลงไปสู่รากแตงดม การใส่ปุ๋ยวิธีดังกล่าวนี้ เป็นวิธีที่จะทำให้
เปลืองปุ๋ยมาก รากพืชจะได้รับธาตุไนโตรเจนกับโปแตสเซียมจากปุ๋ยเคมีเท่านั้น แต่จะไม่
ได้รับธาตุฟอสฟอรัสจากปุ๋ยเคมีนั้นเลย หรือได้รับก็ได้รับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตาม
ปกติธาตุฟอสฟอรัสจะไม่เคลื่อนย้ายจากผิวหน้าดินลงไปสู่รากแตงโมแต่อย่างใด ซึ่งธาตุ
ฟอสฟอรัสนั้นก็เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมากพอสมควรทีเดียว ฉะนั้น
การใส่ปุ๋ยเคมี จึงควรใส่ไว้ใต้ดินเป็นกลุ่ม ๆ เช่น ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือใส่ไว้ใต้ผิวดิน
ห่างจากโคนต้นแตงโม สัก 1 ฟุต ใส่เป็นกลุ่ม แตงโมจะได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่


การให้น้ำ
ตามธรรมชาติต้นแตงดมต้องการผิวดินชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผล
แตงโมกำลังเจริญเติบโต เป็นตอนที่ต้นแตงโมต้องการน้ำมากการให้ความชุ่มชื้นแก่ดินใน
แปลงควรให้ทั้งแปลงเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินแห้งแข็งและจับปึก ซึ่งจะทำให้ดินขาด
อากาศอ๊อกซิเจน ถ้าดินขาดอากาศเมื่อใด รากแตงโมจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตเมื่อนั้น
ซึ่งหมายถึงว่าต้นแตงโมจะได้รับน้ำ และธาตุอาหารอยู่ในขอบเขตที่จำกัดไปด้วย ดินที่ขาด
น้ำแล้วแห้งแข็งทำให้ขาดอากาศไปด้วยนั้นคือดินเหนียว และดินที่ค่อนข้างหนัก ส่วนดิน
ทรายและดินร่วนทราย รากแตงโมจะไม่ขาดอากาศ แม้ว่าจะขาดน้ำก็ตาม ดินร่วนทรายและ
ดินทรายสามารถไถพรวนในหน้าดินลึกมาก ๆ ได้ เพื่อให้สามารถยึดจับความชื้นที่เราให้ไว้
ได้มากขึ้น ส่วนดินเหนียวนั้นไม่สามารถไถพรวนให้ลึก เท่าดินทราย หรือดินร่วนทรายได้
เพราะเนื้อดินทั้งเหนียวและแน่นอุ้มน้ำไว้ในตัวได้มากกว่าดินทราย แต่ก็คายน้ำออกจากผิว
ดินได้ไวมาก และดูดซับความชื้นได้ตื้นกว่าดินทราย หรือดินร่วนทราย จึงทำให้ต้องให้น้ำกับ
ต้นแตงโมที่ปลูกในดินเหนียวมากกว่า คือ ต้องให้น้ำอย่างน้อย 5 วันครั้ง หรือรดน้ำทุกวัน ๆ
ละครั้ง


การคลุมด้วยฟาง
เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง เราควรจะปิดคลุมหน้าดินด้วยฟาง การคลุมดินด้วย
ฟางจะมีผลดังนี้ คือ 
- ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้คงอยู่ได้นาน ทำให้รากแตงโมดูดซับธาตุอาหารในดินได้
ติดต่อกันโดยไม่ขาดตอน 
- ทำให้ต้นแตงโมเป็นโรคทางใบน้อยลง เพราะต้นและเถาเลื้อยอยู่บนฟางไม่ได้สัมผัสกับ
ดิน 
- ป้องกันไม่ให้ดินร้อนจัดเกินไป 
- เป็นการรองผลทำให้สีของผลสม่ำเสมอ 
- ควบคุมไม่ให้หญ้าขึ้นและเจริญเติบโตมาแข่งกับแตงโม เพราะแตงโมแพ้หญ้ามากเนื่อง
จากหญ้าส่วนใหญ่มีใบปรกดิน เถาแตงโมนั้นทอดนอนไปกับผิวดิน หากหญ้าขึ้นคลุมแตงโม
เมื่อใด หญ้าจะบังใบแตงโมไม่ให้ถูกแดดทำให้ใบแตงโมปรุงอาหารไม่ได้เต็มที่ และจะ
อ่อนแอลงทันทีในที่สุดจะตายหมด ภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ เท่านั้น 
                
การคลุมฟางจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมาก ในต่างประเทศนิยมใช้พลาสติก
สำหรับคลุมแปลง ซึ่งสะดวกในการปฏิบัติมาก และขณะนี้วัสดุดังกล่าวเริ่มนำมาใช้ในการ
ปลูกแตงเทศในภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว


การจัดเถา
ถ้าปล่อยให้เถาแตงโมเลื้อยและแตกแขนงไปตามธรรมชาติเถาแตงของแต่ละต้นก็จะเลื้อย
ทับกัน และซ้อนกันจนหนาแน่นทำให้ผลผลิตลดน้อยลง สืบเนื่องมาจากแมลงช่วยผสมเกสร
ได้ไม่ทั่วถึงเพราะไม่อาจแทรกหาดอกได้ทั้งหมด ฉะนั้น เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตไปจนมี
ความยาว 1-2 ฟุต ควรได้มีการจัดเถาให้เลื้อยไปในทางเดียวกันและตัดเถาให้เหลือไว้ต้น
ละ 4 เถา เถาที่เป็นเถาแขนงก็จะแตกแขนงต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ จึงควรริดแขนงที่ไม่จำเป็น
เหล่านั้นออก ให้คงเหลือไว้ต้นละ 4 เถา ซึ่งเป็นเถาที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ตามเดิม


การช่วยผสมเกสรด้วยมือ(การต่อดอก)
ผู้ปลูกแตงโม มักประสบปัญหาแตงโมไม่ติดผล เนื่องจากไม่มีแมลงช่วยผสม เพราะใช้สาร
ฆ่าแมลงฉีดพ่นต้นแตงโมมากไปและไม่เลือกเวลาฉีด ทำให้แมลงที่ช่วยผสมเกสร เช่น ผึ้ง
ถูกสารฆ่าแมลงตายหมดจึงเกิดปัญหาไม่มีผึ้งช่วยผสมเกสรจึงต้องใช้คนผสมแทน เรา
สามารถผสมพันธุ์แตงโมได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.ถึง 10.00 น. หลังจากเวลา
10.00 น. ไปแล้ว ดอกตัวเมียจะหุบและไม่ยอมรับการผสมเกสรอีกต่อไป การผสมด้วย
มือทำได้โดยเด็ดดอกตัวผู้ที่บานมาปลิดกลีบดอกสีเหลืองของดอกตัวผู้ออกเสียก่อน จะ
เหลือแต่อับเรณู ซึ่งมีละอองเกสรตัวผู้เกาะอยู่ทั่วไป จากนั้นจึงคว่ำดอกตัวผู้ลงบนดอกตัว
เมียให้อับเรณูของดอกตัวผู้ แตะสัมผัสกับเกสรตัวเมียโดยรอบให้ละอองเกสรตัวผู้สีเหลือง
จับอยู่บนเกสรตัวเมียทั่วกันทั้งดอกก็เป็นอันเสร็จสิ้นการผสมซึ่งวิธีนี้ชาวบ้านเรียกว่า "การ
ต่อดอก"


การปลิดผลทิ้ง
แตงโมผลแรกที่เกิดจากเถาหลัก ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและคุณภาพต่ำ เราควรปลิดทิ้งตั้งแต่
ลูกยังเล็ก ๆ และแตงที่มีลักษณะผลบิดเบี้ยวก็ควรปลิดทิ้งด้วย ขนาดที่ปลิดทิ้งไม่ควรปล่อย
ให้โตเกินลูกปิงปอง หรือผลฝรั่ง แตงที่ปลิดทิ้งนี้สามารถขายเป็นผลแตงอ่อนได้ และตลาด
ยังนิยมอีกด้วย ควรเลี้ยงต้นแตงโมไว้เถาละลูกจะดีที่สุด เถาแตงโมเถาหนึ่ง ๆ อาจติดเป็น
ผลได้หลายผล ให้เลือกผลที่มีก้านขั้วผลขนาดใหญและรูปทรงผลได้รูปสม่ำเสมอทั้งผลไว้
ซึ่งจะทำให้ผลแตงโมมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพสูง เพราะขนาดก้านขั้วผลมีความสัมพันธ์
กับขนาดของผล ถ้าก้านขั้วผลใหญ่ ผลก็จะใหญ่ ถ้าก้านขั้วผลเล็กผลก็จะเล็ก


การเก็บเกี่ยว
แตงโมเป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่ผลแก่แล้วไม่แสดงอาการว่าสุกงอมให้เห็นเหมือนผลมะเขือเทศ
หรือพริก ซึ่งจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง หรือไม่เหมือนกับมะม่วง ซึ่งทั้งเปลี่ยนสีแล้วยังมีกลิ่น
หอมด้วย ฉะนั้นการดูว่าแตงโมแก่เก็บได้หรือยัง จึงต้องพิถีพิถันมากกว่าปกติอีกเล็กน้อย คือ
คาดคะเนการแก่ของผล ด้วยการดู

ลักษณะที่พบได้ทั่วไปเมื่อแตงโมแก่ 
- มือเกาะที่อยู่ใกล้กับขั้วของผลมากที่สุดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งเป็นบางส่วนจาก
ปลายมาหาโคน 
- วัดความแก่อ่อนของผลแตงโมได้จากการดีดฟังเสียงหรือตบผลเบา ๆ ฟังเสียงดูถ้ามี
เสียงผสมกันระหว่างเสียงกังวานและเสียงทึบ แตงจะแก่พอดี (แก่ 75%) มีเนื้อเป็นทราย
ถ้าดีดแล้วเป็นเสียงกังวานใส แสดงว่าแตงยังอ่อนอยู่ ถ้าดีดแล้วเสียงทึบเหมือนมีลมอยู่ข้าง
ใน แตงจะแก่จัดเกินไปที่ชาวบ้านเรียกว่า "ไส้ล้ม" (แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับผลแตงที่เป็นโรค
เถาตาย ควรเก็บผลตอนบ่ายไม่ควรเก็บผลตอนเช้าเพราะจะทำให้ผลแตงแตกได้ 
- สังเกตนวลของผล ถ้าจางลงกว่าปกติแสดงว่าแตงเริ่มแก่






การปลูกแตงโมแผนใหม่ 

โดย   นิพนธ์ ไชยมงคล                

แตงโมเป็นพืชที่ทำเงินให้แก่เกษตรกรพืชหนึ่งจากสถิติการเกษตรของกรมส่งเสริมการ
เกษตรปี พ.ศ.2523  จะเห็นว่าเกษตรนิยมปลูกแตงโมกันมาก และมีพื้นที่ปลูกมาก
เป็นอันดับสองรองจากพริกโดยมีพื้นที่ปลูก 270,500 ไร่ ผลผลิตทั้งหมด631.3 ตัน
และผลผลิตเฉลี่ย 2,402 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันตลาดกำลังตื่นตัวสนใจแตงโมสีเหลือง
ซึ่งเชื่อว่ามีรสหวานว่าสีแดง และขายได้ราคาดีกว่าคงจะช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้
ราคาดีขึ้นอีก               

เกษตรกรนิยมปลูกแตงโมหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งจะทำให้แตงโมมีราคาถูก ควรปลูกให้มี
ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ก่อน หรือหลังจากฤดูปกติ จะสามารถขายได้ราคาดี  การใช้
เทคนิคใหม่ ๆเข้าช่วยในการผลิตแตงโมจะทำให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดีเมื่อเทียบกับ
การปลูกแบบที่ปฎิบัติอยู่ในปัจจุบัน เช่นการผลิตในประเทศญี่ปุ่น 1 ไร่ ผลผลิตเมื่อ
เปรียบเทียบกับการปลูกของเรา 

ปัจจุบันจะต้องใช้พื้นที่ 3 ไร่ การปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ย่อมใช้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า 3
ไร่ และการดูแลรักษาจะสามารถทำได้ดีกว่า               

เทคนิคการผลิตจะมีหลายวิธี ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของท่านที่จะเลือก และปรับ
ปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
               
การปลูกในฤดูฝน หรือปลูกในช่วงที่มีฝนตก ควรปลูกในที่ที่ระบายน้ำได้ดี และยกแปลง
ให้สูง และใช้เทคนิคในการผลิตต่าง ๆ ดังนี้ คือ 

พันธุ์
               
พันธุ์ที่ปลูกโดยทั่วไป คือ  ชูการ์เบบี้ , บลูเบล พันธุ์เนื้อสีเหลืองนิวสวีทเบบี้(น้ำหนัก
2 กก.) สวีทเบบี้ (น้ำหนัก 1 กก.) โกลเบบี้ แตงโมไม่มีเมล็ด ซีสเลสโกลเดน ฟัม
มี่(สีเหลือง) ซีดเลสเยลโล่เบบี้(สีเหลือง)  เอมไพร์(สีแดง) ควาลิตี้(แดง) 


การต่อกิ่ง
               
รากของฟักหรือน้ำเต้า จะทนทานต่อความชื้น ในดินได้ดีกว่าแตงโม และจะทำให้แตงโม
เจริญแข็งแรงกว่าการปลูกจากเมล็ด และต้นตอบางชนิดจะสามารถต้านทานโรคเหี่ยวที่เกิด
จากเชื้อราได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในการปลูกซ้ำที่เดิม การต่อกิ่งทำได้แบบง่าย ๆ โดยวิธี
เสียบกิ่ง โดยเพาะฟัก หรือน้ำเต้าก่อนเพาะแตงโม 6-7 วัน และเสียบกิ่งหลังจากเพาะ
ฟักหรือน้ำเต้า 15 วัน หรือในระยะที่ต้นตอมีใบจริง 1 ใบ และแตงโมอยู่ในระยะที่ใบ
เลี้ยงเริ่มเปิด  โดยใช้ไม้ไผ่เสียบปลาย ให้มีขนาดเท่ากับต้นแตงโม แทงต้นตอให้ต่ำกว่า
ใบเลี้ยง 1 ซม. แทงให้เฉียงลงและตัดต้นแตงโม ให้เป็นรูปปากฉลาม และเสียบเข้า
ไป หลังจากนั้นนำไปปลูกในกระทง หรือถุงพลาสติก เพื่อรักษาความชุ่มชื้น ประมาณ7-
10 วัน จึงนำไปปลูก 

การเตรียมดินและการปลูก
               
ในไต้หวัน จะเว้นช่องว่างในนาข้าวและปลูกก่อนเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 7-14 วัน โดย
การเจาะร่องระหว่างห่างกัน 3-5 เมตร หลังจากการเก็บเกี่ยวจะใช้ฟางคลุมแปลงและจัด
เถาให้เลื้อยเข้าหากัน
               
การปลูกในฤดูฝน หรือช่วงที่มีฝน ควรใช้พลาสติกคลุมแปลงและคลุมต้นแตงโม เพื่อ
ป้องกันฝน เนื่องจากละอองเกสรตัวผู้จะแตกได้ง่ายเมื่อถูกน้ำฝนและป้องกันความชื้นใน
ดิน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคทางใบและทำให้ผลเน่า การปลูกใช้แปลงกว้าง 1.30 เมต
ห่างกัน 2 เมตร และคลุมพืช คลุมแปลงกว้าง 1.30 เมตร ห่างกัน 2 เมตร และ
คลุมพืช คลุมแปลงด้วยพลาสติกใส่ ปลูกห่างกัน 1 เมตร 

การตัดแต่งเถาและการจัดเถา
               
ใบแตงโม เมื่อสร้างอาหารจะส่งไปเลี้ยงผล ซึ่งอยู่บนต้นเดียวกัน ถึงแม้จะอยู่ต่างเถา ดัง
นั้นการเด็ดยอด เพื่อให้แตกเถาใหม่ซึ่งจะเจริญในเวลาใกล้เคียงกัน จะช่วยให้ต้นแตงโมมี
จำนวนใบมาก ซึ่งจะสร้างอาหารและส่งไปเลี้ยงผลได้เต็มที่ ทำให้ผลเจริญได้เต็มที่ และ
มีคุณภาพดี
               

การเด็ดยอด 
จะเริ่มทำเมื่อมีใบจริง 5 ใบ และถ้าหากเถาบางเถาที่เจริญขึ้นมาก่อนควรตัดทิ้ง และให้
คงเหลือ 4 เถาต่อต้น ซึ่งเจริญในเวลาใกล้เคียงกัน               

ในไต้หวันจะไม่นิยมเด็ดยอด แต่จะตัดแต่งให้เหลือ 4 เถา การปลูกวิธีนี้จะเก็บเกี่ยวเร็ว
กว่า แต่จะได้ผลที่มีคุณภาพดีจากเถาใหญ่เท่านั้น 

การจัดเถา
               
แต่ละเถาจะจัดให้ห่างกันประมาณ 30 ซม.และจัดเถาให้ข้อที่มีดอกตัวเมียอยู่ใน
พลาสติก ในแต่ละข้อจะมีกิ่งใหม่แตกออกมา ควรตัดทิ้งจนกระทั่งข้อที่ปล่อยให้ติดผล
เนื่องจากใบอ่อน หรือยอดอ่อนที่เจริญจะสามารถดึงอาหารไปใช้ได้มากกว่าผล และเด็ด
ยอด  

การปลิดผล
               
ปกติแตงโมจะมีดอกตัวเมียดอกแรกหรือ 10 ดอกตัวเมียดอกที่สองจะเกิดขึ้น การปล่อย
ให้ดอกแรกติดผล จะทำให้ผลมีลักษณะผิดปกติ และคุณภาพต่ำ เนื่องจากมีจำนวนใบที่
ปรุงอาหารส่งไปเลี้ยงผลน้อย ควรจะรักษาผลที่เกิดจากดอกที่ 2 หรือ 3  พันธุ์ซูการ์เบ
บี้ควรจะให้ติดผลเถาละ 1 ผล หรือต้นละ 4 ผล แต่พันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่  ควรให้ติด
ผลเพียง 2 ผลต่อต้น               

ในฤดูฝนหรือการปลูกในช่วงที่มีฝนตก จะมีปัญหาในด้านการผสมเกสร เนื่องจากสภาพ
อากาศไม่เหมาะสมสำหรับการทำงานของผึ้ง ควรให้คนผสมช่วย โดยเด็ดดอกตัวผู้และนำ
ไปแตะบนก้านเกสรตัวเมีย ดอกจะบานในตอนเช้า และปิดตอนบ่าย เวลาที่เหมาะสำหรับ
การผสมเกสรคือ 9.00–10.00 น. และควรให้ดอกตัวเมียได้รับลออกงเกสรมากที่
สุด ถ้าหากไม่ได้รับละอองเกสรสม่ำเสมอ และจำนวนมากจะทำให้ผลมีลักษณะผิดปกติ 

การเก็บเกี่ยว
               
จะเก็บเกี่ยวประมาณ 35 วัน หลังจากผสมเกสร สำหรับพันธุ์ที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 3 กก.
เช่น ซูการ์เบบี้ และ 40-45 วัน สำหรับพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ดอกที่ผสมในวันเดียวกัน
จะใช้หลักทาสีเดียวกัน ปักเป็นเครื่องหมาย เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวจะนำมาตรวจสอบเมื่อเก็บ
เกี่ยวได้ จะเก็บตามเครื่องหมายที่ผสมในวันเดียวกัน ในญี่ปุ่นได้ผลผลิต 5,000กก.
ต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร สำหรับผลขนาดเล็ก และ 7,000–8,000 กก.
สำหรับผลขนาดใหญ่ 

การดูแลรักษา
               
ควรใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 1.5-2 ตันต่อไร่ ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12
ประมาณ 60-100 กก.ต่อไร่ เมื่อเริ่มทอดยอดและติดผลควรเพิ่มปุ๋ย 21-0-0
ประมาณ 20–30 กก.ต่อไร่ และทุกครั้งที่ฉีดยาป้องกันกำจัดโรคแมลง ควรผสมปุ๋ยน้ำ
เช่น  อะโทนิค  ฟลาโนฟิค  ไบโฟลาน  อะกรีวิท  หรือไบโอติก้า 

การป้องกันและกำจัดโรคแมลง
               
เมล็ด :
ก่อนเพาะควรแช่น้ำผสมยาป้องกันเชื้อราแคปแทนและเบนเลท อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 1
ลิตร แช่ไว้ 1 คืน ใช้ยาฟูราดานรองก้นหลุมและในระยะแรกฉีดยาซึ่งป้องกันแมลงปาก
ดูด เช่น มาลาไธออน หรือพวกไดเมทไธเอท  พวกเพลี้ยไฟสามารถกำจัดโดยยาเมซู
โรล  หรือ โตกุไธออน
               

เมื่อเถาเริ่มเจริญควรฉีดด้วย เซฟวิน-ทามารอน เพื่อป้องกันด้วงเจาะเถา การใช้ทุกครั้ง
ควรผสมยาจับใบและผสมยาดาโคนิล หรือโลนาโคลหรือไดเทนเอม 45ผสมกับเซฟวิน ฉีด
ทุก 5-7 วัน
               

ถ้าหากมีปัญหาโคนเน่าควรใช้ยาแคปแทนหรือคูปราวิท ผสมให้เข้มข้นฉีดหรือทาที่โคนการ
ให้น้ำแบบผ่านร่องแปลงป้องกันไม่ให้ดินบริเวณโคนแฉะจะช่วยลดการระบาดของโรคนี้ได้
               

การป้องกันแมลงวันทองเจาะผลทำได้โดยฉีดนาซิมานผสมมาลาไธออน อัตรา 100–
200 ผสมน้ำ 20 ลิตร  หรืออาจจะใช้น้ำเปล่าผสมมาลาไธออนฉีดเป็นจุด



http://www.it.mju.ac.th/dbresearch/organize/extention/book-veget/book011.html

********************************************************************************************************************


ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

แตงโมยักษ์ไต้หวัน ปลูกได้คุณภาพดีในประเทศไทย

ผู้สนใจสัมผัสได้ในงาน เกษตรมหัศจรรย์ วันเทคโนโลยีชาวบ้าน

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ทุกวันนี้ในวงการพืชผักและผลไม้ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์และนำ
มาทดลองปลูกในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มของพืชผักซึ่งมีหลายชนิดที่มีการนำพันธุ์มา
จากไต้หวัน หรือแม้แต่ไม้ผล อาทิ พุทราผลใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ พันธุ์ซื่อหมี่
พันธุ์มิ่งเฉา ฯลฯ มีเกษตรกรไทยนำมาปลูกให้ผลผลิตและคุณภาพไม่แตกต่างไปจากที่ปลูกใน
ไต้หวัน ปัจจุบัน การปลูกพุทราในประเทศไทยเกือบทั้งหมดได้เปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ที่นำมาจาก
ไต้หวัน เกษตรกรไทยหลายรายมีรายได้ดีจากการปลูกพุทราไต้หวัน เนื่องจากผลผลิตขายได้
ราคาดี ขนาดของผลใหญ่และทุกสายพันธุ์ติดผลดกมาก มะม่วงพันธุ์จินหวงของไต้หวัน ซึ่งมี
ลักษณะเด่นตรงที่ขนาดของผลใหญ่และเป็นสายพันธุ์มะม่วงหลักพันธุ์หนึ่งของไต้หวัน ทาง
โครงการหลวงได้สายพันธุ์มาปลูกและได้เปลี่ยนเป็นชื่อไทยว่า "นวลคำ" และมีเกษตรกรอีก
หลายรายนำมะม่วงพันธุ์นี้ไปปลูกและเปลี่ยนชื่อไทยอีกหลายชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นมะม่วงสาย
พันธุ์เดียวกัน แต่ที่น่าแปลกใจมากที่เกษตรกรไทยอีกเป็นจำนวนมากไม่ทราบก็คือ เมื่อ
ประมาณ ปี พ.ศ. 2513 ไต้หวันได้มีการนำฝรั่งจากประเทศไทยซึ่งมีขนาดของผลใหญ่ เนื้อแน่น
และกรอบ ไปปลูก ผลผลิตเป็นที่ชื่นชอบของคนไต้หวันในขณะนั้น ไต้หวันได้มีการปรับปรุงได้
ฝรั่งสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีเมล็ดน้อยและนิ่ม รสชาติอร่อย เช่น พันธุ์เจินจู ได้มีการขยายพื้นที่ปลูก
กันมากในบ้านเราขณะนี้

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวัน เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่
ผ่านมา ก่อนอื่นจะต้องขอขอบพระคุณ คุณเฉิน ชิงเฉิน เจ้าของ บริษัท แสงจิต เครื่องจักรการ
เกษตร จำกัด หรือที่รู้จักกันดีคือผู้นำเข้าถุงห่อผลไม้ "ชุนฟง" จากไต้หวัน เป็นหัวหน้าคณะนำ
เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงชั้นแนวหน้าของจังหวัดพิจิตร ไปดูงานเกษตรไต้หวันในครั้งนั้น ระหว่างดู
งานผลไม้ที่เสิร์ฟหลังอาหารทุกมื้อ จะเป็น "แตงโม" คณะผู้ร่วมดูงานทุกคนต่างให้ความเห็นตรง
กันว่า แตงโม ที่ปลูกในไต้หวันมีรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก บางคนถึงกลับบอกว่าไม่เคยรับ
ประทานแตงโมที่มีรสอร่อยเช่นนี้มาก่อน ผู้เขียนยังได้สังเกตต่อไปว่า แตงโมที่นำมาให้รับ
ประทานนั้นจะเฉือนเป็นชิ้นติดเปลือก ซึ่งเมื่อสังเกตแล้วคาดจากสายตาว่าน่าจะเป็นแตงที่มี
ขนาดผลใหญ่มาก แตกต่างจากแตงโมที่นิยมปลูกในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดของผลเล็กกว่า
ระหว่างการเดินทางดูงานเกษตรไต้หวันได้มีโอกาสแวะชมตลาดขายผลไม้ตามอำเภอต่างๆ ได้
พบเห็นแตงโมมีวางขายเป็นจำนวนมาก และมีขนาดของผลใหญ่มาก น้ำหนักผลเฉลี่ย 15-20
กิโลกรัม และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนให้ความสนใจที่จะหาซื้อเมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวัน
สายพันธุ์นี้มาทดลองปลูกในประเทศไทยให้ได้

แตงโมยักษ์ไต้หวัน มีพื้นที่ปลูกมากที่จังหวัดอิ๋นหลิน
อิ๋นหลิน (Yunlin) เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของไต้หวันจังหวัดหนึ่ง พื้นที่อยู่ทางทิศตะวัน
ตกของเกาะไต้หวัน แตงโมยักษ์มีพื้นที่ปลูกมากที่จังหวัดนี้คือ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 6,250 ไร่
ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 16,000 ตัน โดยมีช่วงฤดูกาลปลูกจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-
เดือนสิงหาคม ของทุกปี สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ลักษณะเด่นของ
แตงโมยักษ์ไต้หวันจัดเป็นแตงโมขนาดผลใหญ่ ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดี น้ำหนักผลจะมีน้ำหนัก
ได้ถึง 20 กิโลกรัม รูปทรงผลรีคล้ายลูกรักบี้ เปลือกมีสีเขียวอ่อนและมีลายทั่วผล เนื้อมีสีแดง
เข้ม การขายผลผลิตแตงโมยักษ์ในไต้หวันถ้าขายแบบยกผล จะมีราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 15-20
บาท แต่ส่วนใหญ่พ่อค้าที่นำมาขายปลีกจะผ่าขายเป็นชิ้นๆ

ได้เมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวัน มาทดลองปลูก ที่จังหวัดพิจิตร ในที่สุดผู้เขียนก็ได้ซื้อเมล็ดแตงโม
ยักษ์ไต้หวันมาทดลองปลูกที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร โดยเริ่มปลูกครั้ง
แรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2552 โดยเริ่มต้นจากการเพาะกล้าด้วยการนำเมล็ดแตงโมมาแช่ใน
น้ำอุ่น นานประมาณ 30 นาที จากนั้นให้นำเมล็ดบ่มในผ้าขาวบางที่เก็บความชื้นเก็บไว้ใน
อุณหภูมิห้อง ประมาณ 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มแทงรากออกมา นำเมล็ดไปเพาะในกระบะเพาะกล้า
รดน้ำทุกวัน จนต้นกล้ามีอายุได้ 10-13 วัน จึงย้ายต้นกล้าแตงโมยักษ์ลงปลูกในแปลง (มีข้อมูล
เพิ่มเติมสำหรับการปลูกแตงโมในช่วงฤดูหนาว มีเกษตรกรบางรายหยอดเมล็ดลงปลูกในหลุม
เลย จะพบว่าเมล็ดงอกช้ามากหรือไม่งอกเลย เนื่องจากถ้าอุณหภูมิของดินปลูกต่ำกว่า 15.5
องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอกโดยธรรมชาติ แก้ปัญหาด้วยการหุ้มเมล็ด แช่เมล็ดแตง
โมในน้ำอุ่น ทิ้งไว้ 1 วัน กับ 1 คืน แล้วเอาผ้าเปียกห่อวางไว้ในที่ร่ม จะช่วยทำให้เมล็ดแตง
โมงอกได้เร็วขึ้น)

การเตรียมแปลงปลูกแตงโมยักษ์ในการทดลองปลูกแตงโมยักษ์ของแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่
ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้มีการเตรียมแปลงด้วยการขึ้นแปลงแบบคู่กัน โดยให้มี
ความกว้างของแปลงประมาณ 1 เมตร สำหรับความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และ
ความสะดวกในการจัดการ แปลงปลูกแตงโมแต่ละคู่จะให้ห่างกันประมาณ 7-10 เมตร เพื่อให้
เป็นพื้นที่ให้เถาแตงโมได้เลื้อยและติดผล สภาพของดินปลูกถ้าเลือกสภาพดินได้ ควรเป็นดิน
ร่วนปนทรายจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีการระบายน้ำที่ดี จะต้องปรับสภาพค่าความเป็นกรด-
ด่าง ให้มีค่า pH เฉลี่ยอยู่ที่ 6-6.5 ถ้าดินมีสภาพความเป็นกรดให้ใส่ปูนขาว เนื่องจากเป็นแตง
โมที่มีขนาดของผลใหญ่มาก ระบบการให้น้ำจะต้องดีและมีประสิทธิภาพ จึงใช้ระบบน้ำหยด ต้น
ละ 1 หัว และแปลงปลูกจะคลุมแปลงด้วยพลาสติค โดยให้ด้านสีบรอนซ์อยู่ด้านบน ซึ่งจะมีส่วน
ช่วยไล่แมลงศัตรูแตงได้ระดับหนึ่ง ก่อนย้ายต้นกล้าลงปลูกควรจะรองก้นหลุมด้วยสาร สตาร์เกิล
จี อัตรา 2 กรัม ต่อหลุม

การไว้เถาและการเด็ดตาข้างของการปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวันความจริงแล้วในการทดลองปลูก
แตงโมยักษ์ไต้หวันนั้น ในการเตรียมแปลง การปลูกและการบำรุงรักษาใช้วิธีการเดียวกับการ
ปลูกแตงโมในบ้านเรา แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยและเทคนิคที่มีความแตกต่างกันบางประการ
เท่านั้น อาทิ ในแต่ละต้นหรือแต่ละหลุมปลูกจะปล่อยให้ผลแตงโมยักษ์ติดเพียงผลเดียวเท่านั้น
ในขณะที่การปลูกแตงโมของเกษตรกรไทยจะปล่อยให้ติดหลายผล อย่างน้อย 2-3 ผล ต่อ 1
ต้น หลังจากที่ปลูกต้นกล้าแตงโมยักษ์ลงแปลงมีการแตกใบใหม่ออกมา 2-3 ใบ ให้เด็ดยอดแตง
โมออกเพื่อให้แตกออกเป็น 2 ตา ซึ่ง 2 ตาข้างดังกล่าวจะเจริญเติบโตเป็นเถา 2 เถา และจะให้
แตงโมติดผลเพียงเถาเดียวเท่านั้น ส่วนอีกเถาหนึ่งให้สังเคราะห์แสงเพื่อช่วยเลี้ยงผลเท่านั้น

ในการเด็ดตาข้างจะเด็ดตาข้างตั้งแต่ตาข้างที่ 1-19 ของทั้ง 2 เถา และจัดการเถาให้เลื้อยไปใน
แนวทางเดียวกัน มีการจัดเถาให้เลื้อยไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เถาพันกัน และง่ายต่อ
การจัดการ ตั้งแต่ตาข้างที่ 20 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นจะต้องเด็ดทิ้ง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าทุกข้อที่
มีตาข้างจะมีรากแทงออกมา จึงควรเจาะพลาสติคเพื่อให้รากแทงลงไป ยิ่งมีจำนวนรากมาก
เท่าไร มีส่วนช่วยให้ผลแตงโมมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย การผสมดอกมีส่วนสำคัญของการปลูกแตง
โมยักษ์ ถ้าเป็นไปได้เมื่อผสมดอกจนติดผลแล้วควรเลือกผลที่ 3 หรือ 4 โดยนับจากการติดผล
แรกจะดีที่สุด ช่วงเวลาในการผสมดอกคือ ช่วงเวลาเช้า 06.00-09.00 น.

ผลจากการปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวัน 2 รุ่น ได้แตงโมที่มีขนาดผลใหญ่สุด.....มีน้ำหนักเกือบ 20
กิโลกรัมจากการทดลองปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวันดังกล่าวที่จังหวัดพิจิตร ในรุ่นแรกพบว่าขนาด
ของผลมีน้ำหนักใกล้เคียงกับที่ปลูกในลักษณะของผล, เนื้อ เหมือนกัน แต่เนื่องจากในการปลูก
รุ่นแรกปลูกในช่วงฤดูฝน รสชาติยังไม่อร่อยเท่ากับที่ปลูกในไต้หวัน แต่สิ่งที่สร้างความมั่นใจได้
ระดับหนึ่งก็คือ ขนาดของผลและสีของเนื้อเหมือนกัน ทำให้สรุปได้ในเบื้องต้นว่า แตงโมยักษ์
สายพันธุ์นี้ปลูกได้ในบ้านเรา เมื่อผลผลิตแตงโมยักษ์ ในรุ่นที่ 2 ออกมาในช่วงปลายฤดูฝน
คุณภาพของเนื้อดีขึ้นและมีรสชาติใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน และที่สำคัญผลผลิตแตงโม
ยักษ์ไต้หวัน ในรุ่นที่ 2 นี้ มีอยู่ต้นหนึ่งที่ให้ผลผลิตมีน้ำหนักถึง 19 กิโลกรัมเศษ นับว่าใหญ่มาก
ใครเห็นรู้สึกแปลกใจด้วยคนไทยอาจจะไม่เคยเห็นแตงโมที่มีขนาดของผลใหญ่ขนาดนี้ และใน
ขณะนี้ทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้ทดลองปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวัน
ในรุ่นที่ 3 และ รุ่นที่ 4 เพื่อให้ผลผลิตออกให้ทันงาน "เกษตรมหัศจรรย์ วันเทคโนโลยีชาวบ้าน
ครั้งที่ 2" จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่เดอะมอลล์ บางแค

ปลูกแตงโมยักษ์ในไทย : ตลาดอยู่ที่ไหนจริงอยู่พฤติกรรมในการบริโภคแตงโมของคนไทยมัก
จะคุ้นเคยกับแตงโมที่มีขนาดผลไม่ใหญ่มากนัก มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 2-3 กิโลกรัม เท่านั้น ในขณะ
ที่ผู้บริโภคตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ฯลฯ หรือเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา
ภูเก็ต ฯลฯ พ่อค้าซื้อแตงโมยักษ์ไปแบ่งผ่าเป็นชิ้นๆ ขายเหมือนกับที่ไต้หวัน จึงเป็นอีกช่องทาง
หนึ่งทางการตลาดในอนาคต ความจริงแล้วตามโรงแรมหรือการจัดงานเลี้ยงตามสถานที่ต่างๆ
มีความต้องการแตงโมที่มีขนาดผลใหญ่ ขอเพียงแต่แตงโมมีรสชาติหวาน กรอบ และอร่อย เป็น
อันใช้ได้ ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้นำผลผลิตแตงโมยักษ์บางส่วนมาทดลอง
คั้นน้ำแยกกากเพื่อทำเป็นน้ำแตงโมสด 100% (ตามห้องอาหาร โรงแรมใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหา
นคร จะมีน้ำแตงโมสดบริการแขกที่มาใช้บริการ) ผลปรากฏว่าแตงโมยักษ์ที่มีน้ำหนักผล
ประมาณ 15 กิโลกรัม เมื่อทำเป็นน้ำแตงโมสด 100% บรรจุขวดละ 200 ซีซี ได้จำนวน
50 ขวด เป็นอย่างน้อย และนำมาจำหน่ายถึงผู้บริโภคในราคาขวดละ 10 บาท นั่นแสดงให้เห็น
ว่าแตงโมยักษ์ผลหนึ่งจะทำรายได้ถึงผลละ 400-500 บาท

จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแตงโมยักษ์ไต้หวันที่ปลูกที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการ
เกษตร จังหวัดพิจิตร ซึ่งปลูกในสภาพไร่พื้นราบและมีอุณหภูมิเหมือนกับพื้นที่ที่ปลูกแตงโมทั่ว
ไป 2 รุ่น สรุปข้อมูลของความเป็นไปได้ในเบื้องต้นว่า สามารถปลูกและให้ผลผลิตมีขนาดผล
ใหญ่ได้ใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน ในเรื่องของรสชาติยังต้องมีการตรวจสอบเรื่องอายุของ
การเก็บเกี่ยวว่า แตงโมยักษ์สายพันธุ์นี้มีอายุการเก็บเกี่ยวและการจัดการในเรื่องของการให้ปุ๋ย
โดยเฉพาะการปลูกในช่วงฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนอาจจะมีผลต่อรสชาติบ้าง แต่ผลผลิตที่ปลูก ใน
รุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้และเป็นช่วงปลายฤดูฝน รสชาติของผลผลิตมีความ
หวานและกรอบใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน ในเรื่องของโรคและแมลงแตงโมยักษ์เหมือนกับ
การปลูกแตงโมทั่วไป สิ่งที่จะต้องระวังเป็นพิเศษคือ โรคเถาเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม
ซึ่งโรคนี้เป็นปัญหาหลักของการปลูกแตงโมในบ้านเรา โรคนี้จะระบาดมากในช่วงแตงโมออก
ดอก การปลูกแตงโมซ้ำที่เดิมและสภาพดินเป็นกรดจัด ขณะนี้ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการ
เกษตรได้เมล็ดพันธุ์แตงโมยักษ์ไต้หวันอีกสายพันธุ์หนึ่งมาเริ่มทดลองปลูก และเป็นสายพันธุ์ที่
ต้านทานโรคเถาเหี่ยว

พบกับผลแตงโมยักษ์ไต้หวันได้ ในงาน "เกษตรมหัศจรรย์ วันเทคโนโลยีชาวบ้าน ครั้งที่ 2" วัน
ที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่เดอะมอลล์ บางแค กรุงเทพมหานคร



หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรมทำง่าย-รายได้งาม" เล่ม 1-4 รวม 4 เล่ม จำนวน 336 หน้า มีแจก
ฟรี เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์เป็นมูลค่า 100 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรม
เผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัด
พิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน





หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©