-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 603 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

พืชสวนครัว




หน้า: 2/2



กะหล่ำปลีเปื้อนยาพิษ : กลเกมการค้า - แรงปรารถนาผู้บริโภค - ฯลฯ




ออกเดินทาง : “การกลับคืนเมือง-ของสารเคมี”

ในไร่ที่ได้รับการบำรุงด้วยธาตุอาหารอย่างเพียงพอ กะหล่ำปลีจะออกใบหนาและเหนียว สีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นฝ้านวล ใบซ้อนใบ-เรียงรอบลำต้นอย่างการเรียงตัวของกลีบดอกไม้ ยืนต้นอยู่ในแถวอย่างเป็นระเบียบเรียงต่อกันไปสุดม่อนดอยแลคล้ายดอกดวงของแพรพรมผืนใหญ่ที่ปูปิดเนื้อดินแดงไว้ใต้ความเขียวชอุ่ม

ถึงวันตัดปลีกะหล่ำชาวไร่จะลุกตื่นกันตั้งแต่ตีสาม ระดมแรงงานในครอบครัวออกไปช่วยงานในไร่ ตัดและเรียงขึ้นรถบรรทุกให้เร็วที่สุด และรถก็ต้องส่งไปให้ถึงตลาดโดยด่วนที่สุดด้วย

ทุ่งไร่สวยงามและมีชีวิตชีวาที่สุดในวันนี้-หากเป็นช่วงที่กะหล่ำปลีกำลังขึ้นราคา และมันก็เป็นวันอันน่าห่อเหี่ยวที่สุดด้วยเช่นกัน หากยามนั้นกะหล่ำปลีหาราคาไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่รูปการณ์ก็มักเป็นไปในทางหลัง เพราะแต่ละปีมีช่วงที่กะหล่ำราคาสูงอยู่ไม่กี่วัน

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ ราคากะหล่ำปลีตกต่ำลงจนเหลือไม่ถึง ๒ บาทต่อกิโลกรัม แหล่งปลูกกะหล่ำแห่งใหญ่ ๆ ที่มีเนื้อที่เป็นพันไร่ เผชิญกับสถานการณ์นี้ในชะตากรรมที่ต่างกันออกไป
ที่ทับเบิก เพชรบูรณ์ ตัดขายกันเบาบางไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ในราคาที่คนปลูกพอใจ



แถบห้วยเสือ ห้วยนางปุ๊ ในหมู่บ้านม้งไมโครเวฟ แม่ฮ่องสอน อยู่ในระยะเริ่มออกหัว ยังพอมีเวลาได้รอลุ้นราคาในเดือนหน้าที่ไม่อาจหลีกหนีจากสถานการณ์อันแสนชอกช้ำนี้ไปได้ คือชาวไร่กะหล่ำปลีที่กองแป สบเมย บ้านนี้เป็นถิ่นของคนปกากะญอ ซึ่งแต่เดิมเคยไปรับจ้างแรงงานในไร่กะหล่ำปลีที่แม่โถ จนได้แบบอย่างมาปลูกที่หมู่บ้านของตัวเอง เริ่มแรกมีคนลงมือก่อนเพียงสองเจ้า มาถึงทุกวันนี้ปลูกกันทั้งหมู่บ้านและยังขยายไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียง จนตำบลป่าโปงกลายเป็นพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีแหล่งใหญ่ของอำเภอสบเมย

ในวันตัดกะหล่ำปลี กือ (ตะกร้าสานด้วยหวาย/ไม้ไผ่ ใช้แบกบนหลัง มีสายคาดหน้าผาก) ที่เคยใช้ขนข้าวและผักหญ้าจากไร่กลับมาบ้าน ถูกเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือลำเลียงกะหล่ำปลีไปใส่ท้ายรถ
ชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุดของชาวไร่กะหล่ำปลีไม่เพียงแต่ขายผลิตผลไม่ได้ราคาเท่านั้น ยามที่กะหล่ำปลีล้นตลาดเช่นนี้มันแทบไม่มีที่จะขายอีกต่างหาก

จนเกิดสำนวนที่คนดอยพูดกันติดปาก  "ไร่เราปีนี้เจ๊หมูเหมาหมด"
เจ๊หมูไหน ?
หมู = สุกร



คนปลูกกะหล่ำจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากเสี่ยงกับความผันผวนของราคาจึงเลือกที่ขายแบบเหมาสวนตั้งแต่ตอนกะหล่ำปลีเริ่มเข้าหัว แบบเดียวกับการ "ตกเขียว" ข้าวในนาถึงวันออกสู่ตลาด กะหล่ำปลีกลุ่มนี้จะเปื้อนสารพิษมากที่สุด

นายหน้าที่ตระเวนเหมาไร่กะหล่ำให้แก่พ่อค้ารับซื้อกะหล่ำปลีรายหนึ่งในจังหวัดลำพูน ให้ข้อมูลว่า หลังจากตกลงเหมาสวนกันแล้ว เถ้าแก่จะเป็นผู้ดูแลไร่เอง เขาจะจัดยาส่งมาให้เกษตรกรใช้ หรือไม่ก็จัดชุดพ่นยามาเอง "คนบนดอยไม่รู้จักใช้ยา อาจจะใช้ยาอ่อนหรือน้อยเกินไป ผักที่เหมาไปแล้วอาจเสียหาย" นายหน้าพูดแทนเถ้าแก่ ซึ่งตอนนั้นอาจกำลังนั่งดีดลูกคิดอยู่ที่ตลาดเวียงหนองล่อง ลำพูน

เมื่อกะหล่ำปลีในไร่เป็นของเถ้าแก่แล้ว ยาฆ่าแมลงถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และไม่มีพ่อค้ารายไหนนั่งจดจำและนับวันให้ยาสิ้นฤทธิ์ รอแต่จังหวะกะหล่ำปลีขึ้นราคาก็จะสั่งตัดและลำเลียงส่งตลาดกันวันนั้น



กะหล่ำปลีชุ่มโชกสารพิษร่วมขบวนมากับกองคาราวานกะหล่ำจากทั่วสารทิศ อันมีปลายทางอยู่ที่ตลาดค้าส่งพืชผักในหัวเมืองต่าง ๆ ที่ราชบุรี นครปฐม สระบุรี โคราช หาดใหญ่ ตลาดหัวอิฐ ที่นครศรีธรรมราช รวมทั้งตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท และตลาดปากคลอง ที่กรุงเทพฯ แล้วเดินทางต่อไปสู่แผงผักในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตในวันเดียวกัน ก่อนจะไปอยู่ในจานอาหารในวันต่อ ๆ ไป

เมื่อปี ๒๕๔๕ กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด สุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักทั่วประเทศตรวจสารพิษตกค้างโดยชุดน้ำยาตรวจสอบ (จีที-GT) และเครื่องตรวจสอบสารเคมีตกค้างอย่างละเอียดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (GAS Chromatography)

ผลการตรวจสอบในส่วนของผักกะหล่ำปลี พบสารเคมีตกค้างเกือบครึ่งหนึ่งจากจำนวน ๑๖๓ ตัวอย่างกะหล่ำปลีที่นำมาตรวจสอบ และร้อยละ ๖.๑๓ มีพิษตกค้างถึงระดับไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ผลการศึกษาภายใต้โครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสดปลอดสารเคมีของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี ๒๕๓๗ ถึง ๒๕๔๒ ยังพบว่า ในบรรดาผักจากต่างจังหวัดทั่วประเทศ กะหล่ำปลีเป็นผักที่พบสารตกค้างสูง
และเป็นผักที่พบสารตกค้างมากของภาคเหนือ

หลักฐานมัดใจคนที่มีเหตุผลได้เสมอ ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงเป็นหลักฐานที่หนุนคำนินทาทีเล่นทีจริง ให้เป็นเรื่องน่าเชื่อถือขึ้นมาทันที




หยาดน้ำค้างในอ่างน้ำครำ

ทำไม ? คุณคิดว่าชาวไร่บนดอยเขาไม่รู้หรือ ? เรื่องที่ถูกคนกินกะหล่ำปลีนินทาว่าร้าย
ถึงจะเป็นแค่คนดงดอยที่ไร้การศึกษา แต่พวกเขาก็พอจะรู้ว่า ยา ที่นำหน้า -ฆ่าแมลง -ฆ่าหญ้า นั้น--ไม่ใช่โอสถในความหมายของยารักษา แต่บ่งนัยถึง ยาพิษ !

"เราที่เป็นผู้ใช้ยา เป็นคนแรกที่จะได้รับอันตราย" ประโยคแรกของผู้ช่วยฯ สัว แสงเฮ่อ ม้งชาวไร่กะหล่ำปลีที่บ้านปางตอง พูดถึงแรงจูงใจที่ทำให้หันมาทำเกษตรชีวภาพ และพูดประโยคต่อมาหลังแปลงภาษาม้งเป็นภาษาไทยในใจได้สำเร็จ "และเราก็ไม่อยากให้คนกินผักได้รับพิษภัยของสารเคมีด้วย"



โดยฐานะทางการปกครอง ชายวัย ๔๔ ปีคนนี้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ บ้านปางตอง ของตำบลแม่อุคอ แต่ในฐานะเกษตรกรเขาเป็นผู้นำเกษตรชีวภาพมาสู่ไร่กะหล่ำปลีแถบต้นน้ำยวมเป็นรายแรก หลังจากเข้าร่วมอบรมกับชุมชนพุทธเกษตรเมื่อปี ๒๕๔๑

ผืนดินในไร่ของสัวไม่เคยต้อนรับปุ๋ยเคมีอีกเลยตั้งแต่บัดนั้น เขาเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และน้ำปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นใช้เอง ความสำเร็จอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็คือการพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องขึ้นกับนายทุนเงินกู้หรือร้านจำหน่ายเคมีการเกษตรอีกต่อไป

ในช่วง ๓ ปีแรกต้องใช้ในปริมาณค่อนข้างสูง ก่อนดินที่เสื่อมสภาพเพราะการใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันมานานจะคืนความอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นต้นทุนก็คงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการทำเกษตรเคมี ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากไร่ละ ๓-๔ ตัน เป็น ๕-๖ ตัน และคุณภาพก็ดีขึ้น ปลีแน่น เนื้อเหนียว ไม่แตก เน่า ช้ำง่ายเหมือนครั้งที่ยังใช้สารเคมี ทั้งหมดนี้เขาเชื่อว่าเป็นผลของการใช้ปุ๋ยชีวภาพ



ผลตอบแทนที่ดีกลายเป็นตัวอย่างให้พี่น้องชาวไร่ในหมู่บ้านหันมาทำเกษตรชีวภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกถึง ๓๒ ครอบครัว น้ำในแม่น้ำยวมช่วงต้นสายก็สะอาดขึ้นเป็นลำดับ
ด้านการดูแลรักษา ชาวไร่เกษตรชีวภาพใช้ตัวยาในธรรมชาติมาควบคุมศัตรูพืช  ใช้น้ำเกลือฉีดคุมหญ้า (ในวันที่มีแสงแดด)

โรคราน้ำค้างใช้น้ำขี้เถ้ากำจัด
ใช้น้ำสะเดา ใบยาสูบ หางไหล ใบบัวตอง เป็นยาไล่แมลง
รวมทั้งพึ่งน้ำฝนและความหนาวเย็นของอากาศ ช่วยทำลายไข่และดักแด้ของหนอนผีเสื้อ
แต่เขาก็ยอมรับว่า บางครั้งที่ศัตรูพืชระบาดหนักจนเกินควบคุมของสารชีวภาพและวิธีการตามธรรมชาติ ชาวไร่กะหล่ำปางตองก็ยังต้องพึ่งยาฆ่าแมลงอยู่บ้างเหมือนกัน
ภายใต้กฎใช้น้อยที่สุดและไม่เก็บเกี่ยวก่อนถึงระยะปลอดภัย

ท่องทะเลภูเขาที่มีไร่กะหล่ำปลีเป็นแพคลื่น ลงมาตามเส้นทางลำเลียงปลีกะหล่ำออกสู่ตลาด จากตีนดอยแม่อุคอ มาทางขุนยวม ผ่านแม่ลาน้อย แม่สะเรียง จนถึงแม่เหาะ ลึกจากตลาดค้าส่งกะหล่ำปลีเข้าไปหลังแนวเขา เป็นไร่กะหล่ำปลอดสารพิษของบ้านทุ่งบัวตองแม่เหาะ
ชาวบ้านแถบนี้ปลูกกะหล่ำปลีเป็นอาชีพหลักมา ๒๐ กว่าปีแล้ว บนพื้นที่หลายพันไร่ จำนวนเกษตรกรหลายร้อยครอบครัว ทั้งคนภูเขา คนพื้นถิ่น และคนจากต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาเพื่อทำไร่กะหล่ำปลี



จนในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ เกษตรกรกลุ่มเล็กๆ จำนวน ๑๐ ครอบครัว ที่เป็นคริสต์ศาสนิกชนในหมู่ที่ ๔ ตำบลแม่เหาะ ได้รวมกลุ่มกันปลูกผักปลอดสารพิษบนเนื้อที่ ๗๐ ไร่ โดยการนำของศิยาภิบาลคริสตจักรบ้านทุ่งบัวตอง และการดูแลสนับสนุนของเกตรอำเภอแม่สะเรียง

ยาฆ่าแมลงถูกตัดออกไปจากแปลงเพาะปลูกอย่างเด็ดขาด แต่ยังคงใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดวัชพืช

ใช้ยาฆ่าหญ้าในขั้นเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และฉีดยาคุมหญ้าอีกครั้งหลังปลูก ๑ เดือน

ใช้ปุ๋ยเคมี ๑๖-๒๐-๐ ผสมปุ๋ยคอก รองก้นหลุม ใส่ปุ๋ยยูเรีย หลังปลูก ๑ สัปดาห์ แล้วปิดท้ายด้วยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๓-๑๓-๒๑ หลังปลูกได้ ๑ เดือน จากนั้นก็รอเก็บเกี่ยวผลผลิต

ระหว่างนี้หากมีหนอน แมลงรบกวน จะกำจัดด้วยบีที (Bt หรือ Bacillus thuringiensis) เป็นชีวภัณฑ์ทำจากเชื้อแบคทีเรียในธรรมชาติ เป็นยาเบื่อหนอน แต่ไม่มีพิษกับคน

ก่อนกะหล่ำปลีจากสวนปลอดสารพิษจะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากแปลงปลูกไปสู่มือผู้บริโภค ต้องผ่านการตรวจสารพิษตกค้างอย่างเข้มงวดโดยสาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียง

แล้วถัดจากนั้นกะหล่ำปลีราว ๑๐๐ ตันต่อครั้งการเพาะปลูก ก็ถูกขนมาขายที่ตลาดแม่เหาะ--ในราคาและมาตรฐานเดียวกับผักปนเปื้อนเคมี และถูกลำเลียงปนเปไปด้วยกันโดยไม่มีการแบ่งแยก
 


กะหล่ำปลีจากไร่เกษตรชีวภาพที่ดอยแม่อุคอก็เช่นกัน
กะหล่ำปลีปลอดภัยจำนวนหนึ่งที่ท้องถิ่นทั้งสองผลิตได้ จึงเหมือนหยาดน้ำค้างที่หยดทิ้งลงสู่บ่อน้ำครำ

"จะให้เราทำอย่างไรได้ ที่นี่ยังไม่มีตลาดรับซื้อผักปลอดสารพิษโดยเฉพาะ" คนปลูกครวญปนสะอื้น
"ขอช่วยเรื่องนี้ด้วยนะ" ชาวสวนผักที่บ้านทุ่งบัวตองฝากมา ก่อนจากกันในวันนั้น

ออกมาอยู่ในไร่เสียนาน ขออนุญาตพาผู้อ่านเข้าห้องสมุดของภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกครั้ง

ข้อเขียนเกี่ยวกับผลิตผลเกษตรที่ปลอดภัยโดยรองศาสตราจารย์นิพนธ์ ไชยมงคล ให้ข้อมูลเชิงวิชาการที่น่ารู้เกี่ยวกับพืชผักติดตรา "ปลอดสาร" ตามท้องตลาด :-

ผักปลอดภัยจากสารพิษ (Green Food) เป็นผลผลิตของระบบการเพาะปลูกที่สามารถใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี สารป้องกันและกำจัดแมลง ยาฆ่าหญ้าได้ตามปรกติ ในปริมาณที่จำกัดและเก็บเกี่ยวเมื่อปลอดภัย มีระบบการตรวจสอบและรับรอง (Good Agricultural Practices)
โดยนัยนี้ผักที่ติดฉลาก "ปลอดภัย" หรือ "อนามัย" ที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในเมือง จึงไม่ได้หมายถึง-ปลอดพิษ แต่หมายความว่ามีสารพิษไม่เกินอัตราที่สามารถยอมรับได้ตามค่าเอ็มอาร์แอล (MRL - Maximum Residue Limit) เป็นค่าสารพิษตกค้างสูงสุด ที่กำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ โคเด็กส์ (the Codex Alimentarius Commission) แต่มีเสียงลือกันในหมู่นักสิ่งแวดล้อมโลกว่า องค์กรนี้ก็อยู่ใต้การครอบงำของบริษัทสารเคมีในอเมริกา

อย่างไรก็ตามถ้าให้กล่าวกันอย่างจริงที่สุดก็คือ ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้สารพิษโดยปราศจากอันตราย และไม่มีระดับการปนเปื้อนที่ถือว่าปลอดภัย
ระดับที่ปลอดภัยคือต้องไม่มีการใช้สารเคมี!

แต่ว่ากันเฉพาะมาตรฐานตามค่าเอ็มอาร์แอล--บรรดาผักที่อยู่ในถุงประทับตราปลอดสารพิษ/ปลอดภัย นั่นก็ไม่ได้ปลอดภัยเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ผลการสำรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผักสดทั่วประเทศของคณะกรรมการอาหารและยาและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี ๒๕๔๒ พบสารพิษตกค้างถึงร้อยละ ๖๓.๘๓ ในผักที่ติดฉลากปลอดภัยจำนวน ๔๗ ตัวอย่าง ในจำนวนนี้มีพิษเกินมาตรฐานอยู่ถึงร้อยละ ๑๐.๖๔




ฝากสายหมอกไปบอกเธอ กะหล่ำปลีหัวนี้ไม่มีสารพิษ

พืชพรรณธัญญาหารที่ปราศจากการปนเปื้อนอย่างสิ้นเชิงต้องเป็นประเภท ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ในภาษาอังกฤษว่า Oganic Thailand ที่เป็นผักจะเพาะปลูกโดยงดเว้นการใช้เคมีทุกชนิด ตั้งแต่ในแปลงปลูกจนถึงแผงขายผัก

ตลอดระยะทาง ๕,๐๐๐ กว่ากิโลเมตรของการเดินทางตามหาไร่กะหล่ำปลี ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ๒๕๔๗ เราพบไร่กะหล่ำที่ทำการเพาะปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์เพียงแห่งเดียว ที่หมู่บ้านนอแล ห่างดอยอ่างขางไปทางเส้นพรมแดน ๔ กิโลเมตร

ชาวไร่กะหล่ำปลีที่นอแลเป็นชนเผ่าดาระอั้งหรือปะหล่อง ซึ่งเคยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เชียงตองในเขตพม่า เพิ่งอพยพเข้าประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๒๗ และได้รับอนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่ ๑๔ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนการทำมาหากิน ชาวดาระอั้งที่นอแลยังคงต้องข้ามไปทำไร่บนที่ทำกินเดิมในแดนพม่า หรือไม่ก็เร่ร่อนขายแรงงานราคาถูก

กระทั่งเมื่อปี ๒๕๔๖ โครงการหลวงดอยอ่างขางมาส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ โดยจัดสรรที่ดินข้างหมู่บ้านให้ทำกินครอบครัวละ ๑ ไร่

"เป็นการคืนวิถีชีวิตเดิมให้พวกเขา" สยามเขต เลาเหล็กพลี เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน ที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือชาวไร่ที่นอแล กล่าวถึงงานที่เขาทำ
ดาระอั้งเคยมีวิถีชีวิตอยู่กับการเพาะปลูกตามธรรมชาติ เมื่อครั้งอยู่ในถิ่นฐานเดิมพวกเขาไม่เคยรู้จักสารเคมี เพิ่งมาพบและรู้จักใช้ก็ตอนที่มาเป็นลูกจ้างอยู่ตามไร่ตามสวนของคนไทย และบางรายกลับหมู่บ้านด้วยสภาพที่เจ็บป่วยเพราะพิษสารเคมี

เมื่อมาทำเกษตรอินทรีย์ของตัวเอง ไม่เฉพาะแต่เจ้าของไร่เท่านั้นที่มีสุขภาพดีขึ้น ผืนดินที่เคยซีดเซียวก็ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์

การเกษตรอินทรีย์มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก แต่พื้นที่นอแลก็ดูจะเอื้อต่อทุกเงื่อนไข
แดนไร่รอบด้านไม่มีพื้นที่เกษตรเคมี โอกาสที่สารพิษจะเล็ดลอดเข้ามากับน้ำหรือลอยตามลมเข้ามาปนเปื้อนจึงแทบไม่มีความเป็นไปได้ หรือในกรณีของสารเคมีบางชนิดอาจสะสมตกค้างอยู่ในเนื้อดินได้เป็นเวลาหลายปี บนที่ไร่ของชาวนอแลก็ไม่เคยผ่านการใช้เคมีสังเคราะห์มาก่อน

ในการเพาะปลูกไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน รัฐกร จารุจิตร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการผลิตผัก ประจำสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แนะนำให้ชาวไร่กะหล่ำที่นอแลใช้ปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยพืชสดรองพื้นก่อนปลูก ๓-๕ กิโลกรัมต่อตารางเมตร เริ่มให้ปุ๋ยน้ำหลังปลูกได้ ๗ วัน หลังจากนั้นให้ทุก ๓-๕ วัน ไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว

"ผมคิดว่าการทำเกษตรอินทรีย์ไม่มีหลักสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาพแวดล้อม เราไม่มุ่งเอาชนะธรรมชาติ แต่เน้นการปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศ"

การควบคุมป้องกันศัตรูพืช พึ่งพาการควบคุมกันเองตามวงจรธรรมชาติ
อาศัยนกช่วยกินแมลง  ใช้ตัวห้ำตัวเบียน จำพวกด้วงเต่า มวนพิฆาต ควบคุมหนอน พ่นน้ำสมุนไพร สะเดา ใบยาฉุน (ต้องเป็นใบยาที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี) เป็นยาป้องกัน และใช้ชีวภัณฑ์กำจัดแมลง

ส่วนการกำจัดวัชพืช ตั้งแต่เตรียมพื้นที่จนถึงระหว่างเพาะปลูก ใช้แรงงานคนเท่านั้น
ขนาดของผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วง ๐.๘ - ๑ กิโลกรัมต่อหัว (แต่เคยมีเหมือนกันที่ได้หัวใหญ่มากหนักถึง ๕ กิโลกรัม) ราคาที่ริมไร่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า ๙ บาท รวมค่าจัดการและค่าขนส่งแล้ว มาถึงตลาดผักอินทรีย์ในเมืองเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่กิโลกรัมละ ๒๐-๓๐ บาท ราคาสูงกว่าราคากะหล่ำปลีทั่วไป ๒๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยคนกินผักก็ยินดีจะจ่ายใครเล่า ? อยากเลี้ยงดูตัวเองด้วยยาพิษ !

แต่ปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองโดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ม.ก.ท.) อยู่เพียง ๒๕,๐๐๐ ไร่ เทียบสัดส่วนกับพื้นที่เกษตรทั่วไปได้ ๑ : ๕,๐๐๐
จึงมีแต่ผู้บริโภคในเมืองจำนวนน้อยนิดที่พอมีโอกาสได้กินผักบริสุทธิ์ ขณะที่คนกินผักตามต่างจังหวัดยังคงต้องอยู่กับกะหล่ำปลีแปดเปื้อนสารพิษต่อไป





ช่วงเวลา ๔๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ ระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ได้ทำให้ผลิตผลในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทว่าในปริมาณอันมหาศาลนั้น จะหาพืชผลที่สะอาดปลอดภัยได้ยากยิ่ง เปรียบว่า--หาทำยาได้ยาก

กะหล่ำปลี
ในทางโภชนาการถูกนับเป็นผักที่มีวิตามินสูง
ในทางยามีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยโรคเบาหวาน และมีสารช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง การดื่มน้ำกะหล่ำปลีคั้นสดวันละ ๒ แก้ว ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ และโรคถุงน้ำดีอักเสบ

แต่ในสภาพการณ์ที่พืชผักทั้งตลาดล้วนแต่ปนเปื้อนสารพิษ เราจะหากะหล่ำปลีที่พอทำยาได้-ได้ที่ไหน

Previous Page Previous Page (2/3)   

[
Back to ฉบับที่ 237 > พฤศจิกายน 47 ปีที่ 20 | Sections Index ]

Sections ©
ติดต่อ เว็บไซต์ และ นิตยสาร สารคดี : บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด
28-30 ถนนปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร: 02-281 6110 (อัตโนมัติ), Fax: +66 (0) 2282 7003 E-mail :
contact@sarakadee.com
© CopyRight, All Rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ ในนามบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด 


www.sarakadee.com/web/modules.php?name...op...
-







หน้าก่อน หน้าก่อน (1/2)


สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (9614 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©