fish2 ปลาบู่ ปลาเศรษฐกิจ


ขยายพันธุ์ปลาบู่ เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่

กรมประมงได้มีนโยบายให้นักวิชาการ ศึกษาและวิจัยทดลองขยายพันธุ์ปลาบู่ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพสำหรับประชาชน อันจะนำรายได้ที่มั่นคงมาสู่ครอบครัว เนื่องจากปลาบู่เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน เพราะเป็นปลาเนื้อขาวที่มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่มฟู เหนียว ไม่เละ เฉกเช่นเดียวกับปลาสำลี จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค


อย่างไรก็ตาม ปลาบู่ มีราคาแพงมาก ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 500-700 บาทต่อกิโลกรัม จึงมีแค่เพียงผู้ที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้นถึงจะได้รับประทาน ส่วนใหญ่นิยมรับประทานกันแบบนำปลาเป็น ๆ ไปประกอบอาหารในภัตตาคารจีน เรียกว่าขึ้นเหลาเท่านั้นถึงได้ลิ้มรส

ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การที่ปลาบู่มีราคาสูงมากนั้น เนื่องจากปัจจุบันปลาที่มีขายกันอยู่นั้นเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติทั้ง สิ้น ถึงแม้ว่ากรมประมง จะประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่สำหรับการอนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อนให้มีชีวิตรอดนั้นยังมีจำนวนไม่มากพอที่ จะสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ จึงไม่มีวัตถุดิบป้อนสู่ตลาดได้ตามความต้องการ ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้สั่งการให้นักวิชาการประมงศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจัง คือในระยะแรกภายใน 9 เดือนข้างหน้า มีเป้าจะผลิตลูกปลาบู่ให้ได้ 100,000 ตัว และจะปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก่อน ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ในโครงการฟื้นฟูพันธุ์ปลาไทยตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติฯ พระองค์ท่าน ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา ด้วย จากนั้นจะเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกรเพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ต่อไป


ทางด้าน นายสมหวัง พิมลบุตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เปิดเผยว่า ปลาบู่เป็นปลาที่มีลักษณะลำตัวกลมยาว หัวค่อนข้างโต และด้านบนของหัวแบนราบ หัวมีจุดสีดำประปราย ปากกว้างใหญ่เปิด มีฟันแหลมซี่เล็ก ๆ ลูกตาโปนกลม รูจมูกคู่หน้าเป็นหลอดยื่นขึ้นมาอยู่ติดกับร่องที่แบ่งจะงอยปากกับริมฝีปาก บน ครีบหูและครีบหางมีลักษณะกลมมนใหญ่ มีลวดลายดำและสลับขาว ส่วนของครีบมีลายสีน้ำตาลดำแดงสลับขาวเป็นแถบ ๆ และมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป ลำตัวมีเกล็ดแบบหนามคล้ายซี่หวีและมีแถบสีดำขวางลำตัว 4 แถบ ด้านท้องมีสีอ่อน โดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 30 เซนติเมตร

เคยมีผู้พบยาวถึง 60 เซนติเมตร จัดเป็นปลา 2 น้ำ อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยถึงมีการแพร่ กระจายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ ประกอบกับปลาบู่เป็นปลากินเนื้อ เช่น กุ้งฝอย ลูกปลาเล็ก ๆ จึงทำให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่อปี และที่พิเศษ คือสามารถอยู่บนบกได้ทนนาน จึงมีการส่งออกปลาบู่ไปต่างประเทศ แบบที่มีชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ได้ราคาดี เพราะตรงกับความต้องการของลูกค้าที่นิยมบริโภคแบบปรุงสด มากกว่าแบบแช่แข็ง หรือแปรรูป


แม้ปลาบู่จะเป็นปลาที่ขายได้ราคาดีเพียง ใดก็ตาม ก็มีเกษตรกรน้อยรายที่จะหันมาลงทุนเพาะเลี้ยง เนื่องจากโอกาสในการรอดชีวิตของลูกปลานั้นมีน้อย จึงไม่คุ้มค่ากับการเสี่ยงที่ต้องลงทุน ดังนั้น หากนโยบายของกรมประมงในเรื่องนี้ได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ปลาบู่ก็จะเป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยที่นำมาซึ่งรายได้อย่าง เป็นกอบเป็นกำให้กับเกษตรกรและประเทศชาติในวันข้างหน้าอันใกล้นี้.

dailynews ปลาบู่ ปลาเศรษฐกิจ

http://kasetonline.com/page/76/?s=%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87&cat=plus-5-results