-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 581 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สัตว์เลี้ยง











สุจิต เมืองสุข

"มูร่าห์ฟาร์ม" นมควายจากเต้า ปลุกกระแสฟาร์มควายไทย

"กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของมูร่าห์ฟาร์ม จึงเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้ที่แพ้แลกโตสในน้ำนมโค ซึ่งระยะแรกที่เริ่มรีดนมมูร่าห์ คุณชาริณียังมองไม่เห็นช่องทางการจำหน่าย เนื่องจากตลาดนมควายในประเทศไทยยังเป็นเพียงจุดเล็กๆ จึงตัดสินใจแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและเชื่อว่า สินค้าที่แปรรูปจากนมมูร่าห์จะจำหน่ายได้ง่ายกว่า"



เพราะช่องทางการตลาดของไทยยังคงมีช่องทางสำหรับผู้สนใจไขว่คว้าและศึกษาหาช่องทางทำกินอยู่เสมอ จึงไม่มีคำว่า "ตัน" สำหรับผู้ที่ดั้นด้น ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า "ประสบความสำเร็จ" ในสิ่งที่ลงมือทำได้เป็นอย่างดี เพราะช่องทางที่ได้มาจากความพยายามส่วนใหญ่เป็นช่องทางที่อาจไม่มีผู้ใดเริ่มมาก่อน เมื่อสิ่งใหม่แปลกก้าวเข้าสู่ตลาดธุรกิจแล้ว การแข่งขันในเชิงธุรกิจและการตลาดย่อมน้อยและด้อยคู่แข่ง ซึ่งไม่น่าแปลกหากจะเติบโตในวงธุรกิจได้สูงและรวดเร็วกว่า

ดังเช่น "ควาย" สัตว์ที่ระยะหลังโด่งดังเฉพาะในจอภาพยนตร์ แม้ว่าในอดีตควายเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในการทำเกษตรกรรมไทย อันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในไทยมาแต่โบราณ กระทั่งปัจจุบัน "ควาย" เริ่มลดจำนวนลง มีให้พบเห็นน้อยจนคนรุ่นใหม่อาจนึกไม่ถึงคุณประโยชน์ของควายว่าให้ความสำคัญเพียงใด

เมื่อ "ฟาร์มควาย" เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจยิ่ง



มองตลาดให้ต่าง

เลือกเลี้ยงควายแทนวัว


พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ในเขตอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกจัดระบบให้เป็นฟาร์ม "ควาย" ที่ไม่เฉพาะให้ความสำคัญเพียงการเลี้ยงควายด้วยระบบฟาร์ม แต่นำผลผลิตที่ได้จากควายมาแปรรูปเป็นสินค้าทำเงินได้อย่างเยี่ยมยอด มี คุณชาริณี ชัยยศลาภ ทำหน้าที่ผู้จัดการบริษัท มูร่าห์ แดรี่ จำกัด หรืออีกนัยหนึ่งเป็นผู้ดูแลกิจการเกือบทั้งหมดของบริษัท โดยมี คุณรัญจวน เฮงตระกูลศิลป์ คุณแม่เป็นผู้ริเริ่มทั้งหมด

เริ่มต้นจากกิจการของครอบครัวของคุณรัญจวนดำเนินมาด้านการแปรรูปหนังสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดของเล่นสุนัขมานานกว่า 20 ปี แต่ระยะหลังประสบปัญหาคู่แข่งทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น วัตถุดิบหนังสัตว์ในประเทศไทยลดน้อยลง ประกอบกับพื้นที่ตลาดถูกแบ่งสัดส่วนไป ทำให้คุณรัญจวนผู้เป็นแม่มองหาช่องทางการตลาดแบบใหม่ที่ไร้คู่แข่งขัน

คุณชาริณี เล่าย้อนความเป็นมาให้ฟังว่า ราว 7 ปีก่อน คุณแม่มองหาธุรกิจตัวใหม่ แต่ด้วยความถนัดในเรื่องช่องทางการตลาดหนังสัตว์ จึงยังคงเลือกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสัตว์ โดยตั้งใจสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างวัตถุดิบขึ้นมาได้เอง และตัดสินใจในท้ายที่สุดว่าจะเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้หนังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

"ตอนแรกคุณแม่คิดเลี้ยงวัว แต่เห็นว่ามีคนเลี้ยงเยอะ จึงมองสิ่งที่แตกต่างซึ่งสรุปได้ว่าเลี้ยงควาย เพราะควายเป็นสัตว์ไทยและมีคนเลี้ยงจริงจังเป็นรูปแบบฟาร์มน้อย โดยเริ่มต้นจากการเช่าที่ดินประมาณ 5 ไร่ ลงทุนซื้อควายไทย จำนวน 8 ตัว จ้างขุดบ่อสำหรับกักเก็บน้ำ รวมทั้งจ้างคนเกี่ยวหญ้ามาให้ควายกินอีกวันละ 1,000 บาท ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูง เพราะตอนนั้นคุณแม่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับควายแม้แต่น้อย"



ศึกษาเห็นช่องทาง

เปิดฟาร์มควายขายนม


ความโชคดีของคุณรัญจวนผู้เป็นแม่ ที่มีโอกาสได้รู้จักกับ ศาสตราจารย์มณีวรรณ กมลพัฒนะ จากศูนย์วิจัยชีววิทยาด้านการปศุสัตว์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อมีความมุ่งมั่นเป็นที่ตั้งจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงควายเพื่อนำวัตถุดิบจากควายมาแปรรูปจำหน่าย โดยได้รับคำแนะนำการรีดนมควาย เพื่อนำนมควายมาแปรรูปเป็นสินค้า แม้ว่ายังไม่เห็นช่องทางการจำหน่ายนมควายในบ้านเราก็ตาม

คุณชาริณี เล่าว่า คุณแม่เลี้ยงควายด้วยความไม่รู้ไปนานกว่า 1 ปี พร้อมๆ กับศึกษาวิธีการเลี้ยง ช่องทางการตลาดและอื่นๆ จากอาจารย์มณีวรรณ ซึ่งขณะนั้นคุณแม่ร่วมเดินทางไปกับอาจารย์มณีวรรณ เพื่อดูการเลี้ยงควายระบบฟาร์ม และการนำผลผลิตที่ได้จากควายมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ตลอดปีคุณแม่เดินทางไปพร้อมกับอาจารย์มณีวรรณถึง 5 ประเทศ คือ อินเดีย บัลแกเรีย จีน อิตาลี และ บราซิล ซึ่งทั้ง 5 ประเทศขึ้นชื่อการทำฟาร์มควาย และนำผลผลิตที่ได้จากควายมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

"คุณแม่เห็นคนต่อคิวเพื่อซื้อมอสซาเรลล่าชีสแถวยาวเหยียดที่ช็อปในอิตาลีแล้วเกิดแรงกระตุ้นให้อยากทำบ้าง กลับมาเมืองไทยคราวนั้นคุณแม่ตัดสินใจซื้อที่ดินในเขตอำเภอแปลงยาว ประมาณ 300 ไร่ ลงทุนสั่งซื้อ "มูร่าห์" ซึ่งเป็นควายนมพันธุ์มูร่าห์ ที่ให้ผลผลิตสูงและนิยมเลี้ยงใน 5 ประเทศที่เอ่ยถึง ตอนแรกสั่งซื้อนำเข้ามาจำนวน 70 ตัว และซื้อควายไทยเลี้ยงรวมไปด้วย เป็นควายพันธุ์นมกว่า 100 ตัว และยังซื้อน้ำเชื้อจากประเทศบัลแกเรียมาอีกจำนวนหนึ่ง ตอนนั้นราคามูร่าห์ต่อตัว 30,000 บาท"

หลังสั่งนำเข้าควายมูร่าห์มา ยังคงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์มณีวรรณอย่างต่อเนื่องถึงการทำระบบฟาร์ม โดยแบ่งพื้นที่สำหรับทำคอกเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่สำหรับปลูกพืช เพื่อลดต้นทุนเรื่องอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุด คุณชาริณี เล่าว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกหญ้ารูซี่ ซึ่งเป็นหญ้าที่ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ เพราะมีธาตุอาหารสูง และยังแบ่งพื้นที่ที่เหลือปลูกข้าวโพด เพราะสามารถเก็บฝักไปเลี้ยงสัตว์และหากมีผลผลิตมากพอยังนำไปขายได้ด้วย ซึ่งเมื่อเริ่มจัดระบบให้เข้ารูปแบบของฟาร์มเลี้ยงสัตว์อย่างแท้จริง คุณรัญจวนตัดสินใจซื้อที่ดินเพิ่มอีกเกือบ 100 ไร่ จนปัจจุบันมีพื้นที่ทำฟาร์มควายจำนวน 400 ไร่

การลงทุนระบบฟาร์ม คุณชาริณี ยอมรับว่า เป็นการลงทุนที่สูงและการทำฟาร์มถือเป็นเรื่อง "โหด" เหมือนกัน

"ฟาร์มสำคัญตรงระบบน้ำและการขุดบ่อ ซึ่งเป็นการลงทุนที่แพงที่สุด แบ่งพื้นที่เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ประมาณ 10 ไร่ ที่เหลือปลูกพืช ส่วนใหญ่เป็นหญ้ารูซี่และข้าวโพด ซึ่งข้าวโพดยังเป็นสินค้าส่งออกของฟาร์มด้วย เนื่องจากทั้งฟาร์มปราศจากสารเคมี ทำให้มีช่องทางส่งออกยังตลาดออร์แกนิก เป็นรายได้อีกส่วนหนึ่ง"



รุกตลาดแปรรูปนมควาย

ขายชีส กีห์ และสบู่


เมื่อเริ่มต้นจริงจังกับฟาร์มควาย และพุ่งเป้าให้ความสำคัญการทำฟาร์มควายนมไปที่ผลผลิต "นมควาย" ฟาร์มมูร่าห์จึงพยายามขยายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์มูร่าห์ พัฒนาสายพันธุ์เช่นเดียวกับอีก 5 ประเทศที่มูร่าห์เป็นต้นแบบของการเลี้ยงควายนม

คุณชาริณี ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่เลือกมูร่าห์เพราะมูร่าห์เป็นควายพันธุ์นม มูร่าห์ 1 ตัว สามารถรีดนมได้สูงถึง 20 กิโลกรัม ต่อวัน ขณะที่ควายไทยให้นมอยู่ที่ 1 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ดังนั้น การเลี้ยงควายไทยจึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงหวังน้ำนม อีกทั้งนมมูร่าห์มีสารอาหารสูงกว่านมวัว มีสีขาวเนียนน่าดื่ม ไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งเมื่อเทียบค่าคอเลสเตอรอล พบว่ายังต่ำกว่า และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่แพ้แลกโตสในน้ำนมวัว

เพราะเหตุนี้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของมูร่าห์ฟาร์ม จึงเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้ที่แพ้แลกโตสในน้ำนมโค ซึ่งระยะแรกที่เริ่มรีดนมมูร่าห์ คุณชาริณียังมองไม่เห็นช่องทางการจำหน่าย เนื่องจากตลาดนมควายในประเทศไทยยังเป็นเพียงจุดเล็กๆ จึงตัดสินใจแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และเชื่อว่าสินค้าที่แปรรูปจากนมมูร่าห์จะจำหน่ายได้ง่ายกว่า

เมื่อดูจากผลผลิตพบว่า ฟาร์มซึ่งมีแม่พันธุ์ควายจำนวน 200 ตัว พ่อพันธุ์ 2 ตัว มีน้ำเชื้อนำเข้าจากบัลแกเรียเพื่อผสมเทียมประมาณ 4,000 โด๊ส ต่อปี ทำให้มีแม่ควายรีดนมได้มากกว่า 30 ตัว ได้น้ำนมดิบเฉลี่ยวันละ 100 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 80 บาท รวมถึงการแปรรูปนมควายเป็น มอสซาเรลล่าชีส ซึ่งคุณชาริณีทำตลาดส่งให้กับโรงแรมชื่อดัง เนื่องจากชาวต่างชาตินิยมบริโภคชีสที่ทำจากนมควายมาก นอกจากนี้ ยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นจำหน่ายอีก ได้แก่ รีคอตต้าชีส โยเกิร์ต น้ำมันกีห์ และผลิตภัณฑ์ชิ้นล่าสุด คือ สบู่ครีมน้ำนมมูร่าห์

"ลูกค้าส่วนใหญ่ถามว่า กินนมควายแล้ว "โง่" หรือเปล่า อาจเป็นคำถามติดตลกแต่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการรู้จริงๆ ซึ่งเราให้คำตอบด้วยการทดลองให้ชิม และให้ข้อมูลด้านโภชนาการที่มีการเปรียบเทียบสารอาหารในน้ำนมให้ดู หลังจากนั้น เกือบทุกรายเป็นลูกค้าประจำของเราตลอดมา"



เปิดหน้าร้านรับลูกค้า

พัฒนาฟาร์มรับท่องเที่ยว


ในปี 2547 คุณชาริณีเข้ามาบริหารงานในส่วนของฟาร์มมูร่าห์ให้กับครอบครัวเต็มตัว เธอมองเห็นช่องทางการส่งเสริมการตลาดให้กับฟาร์มควาย จึงคิดเปิดร้านวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มี พร้อมทั้งเปิดเป็นร้านอาหาร เพื่อให้ลูกค้าได้ลิ้มชิมรสชาติอาหารสไตล์อิตาเลียนที่มีน้ำนมควายเป็นส่วนประกอบ เช่น คาปรีเซ่สลัด แฮมชีสบรูเซตต้า ข้าวผัดกีห์กับปลาเค็มหน้ากุ้ง พิซซ่ามาร์การิต้า เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ต้องการซื้อสินค้า ต้องเดินทางไปถึงฟาร์มในจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือในบางรายโทรศัพท์สั่งซื้อสินค้า และขอให้ส่งสินค้าให้ เพราะไม่สามารถเดินทางไปซื้อด้วยตนเองได้ ทำให้คุณชาริณีตัดสินใจเปิดร้านได้โดยง่าย

ร้านมูร่าห์คาเฟ่แอนบิสโทร ลงทุนไปกว่า 800,000 บาท เลือกทำเลในกรุงเทพมหานคร ย่านหมู่บ้านสัมมากร รามคำแหง ซอย 112 และก่อสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2550 ทำให้จุดนี้เป็นหน้าร้านรับผลิตภัณฑ์จากฟาร์มมูร่าห์มาจำหน่าย และเป็นช่องทางตลาดอีกช่องทางหนึ่ง

แต่ไม่มีการทำธุรกิจใดที่ไม่ประสบปัญหา คุณชาริณี เผยว่า ปัญหาหลักที่สำคัญของการทำฟาร์มควาย คือ น้ำนมที่ได้เมื่อนำไปพาสเจอไรซ์บรรจุขวดส่งออกจำหน่าย มีระยะเวลาการเก็บน้ำนมไม่ให้เสียได้เพียง 7 วัน ส่วนเมื่อแปรรูปเป็นชีสสามารถเก็บได้นานขึ้น แต่ไม่เกิน 14 วัน ทำให้โอกาสในการจำหน่ายสั้น แต่ถึงกระนั้นคุณชาริณีก็ไม่ย่อท้อ ยังคงตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้นมควายออกสู่ตลาดเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน ฟาร์มมูร่าห์แห่งนี้นอกจากเป็นแหล่งผลิตนมควาย และแปรรูปผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ "มูร่าห์ฟาร์ม" แล้ว ยังจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ทำฟาร์มควายนม ตำบลหนองไม้แก่น บนพื้นที่ 400 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเลี้ยงควายนม ขยายพันธุ์ควายนมลูกผสมสายพันธุ์มูร่าห์ 75 เปอร์เซ็นต์ กับพันธุ์พื้นเมือง 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อและน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ฟาร์มแห่งนี้คุณชาริณียังมองไกลถึงการดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว คิดพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวผนวกเข้ากับการทำฟาร์ม โดยเบื้องต้นแม้ยังไม่เป็นฟาร์มสำหรับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แต่สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเข้าชมและศึกษาการเลี้ยงมูร่าห์และควายไทย ชมกรรมวิธีการรีดนม การขี่ควาย รวมถึงการทำมอสซาเรลล่าชีส ซึ่งเป็นชีสชนิดเดียวที่ทำจากนมควายอีกด้วย

สนใจโทรศัพท์สอบถามกันล่วงหน้าที่ มูร่าห์ฟาร์ม โทรศัพท์ (086) 777-4515 และ (081) 838-2425 ระหว่างเวลา 11.00-16.00 น. ของทุกวัน หรือสนใจแวะชิม "นมควาย" ก่อนตัดสินใจในสินค้าชนิดอื่นที่ มูร่าห์เฮ้าส์ เลขที่ 211/3/8 หมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง ซอย 112 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ (02) 373-2992 รับรอง "นมควาย" ไม่ทำให้ผิดหวัง





ข้อมูลจำเพาะ

กิจการ ทำฟาร์มควาย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนมควาย

ชื่อกิจการ บริษัท มูร่าห์ แดรี่ จำกัด

ลักษณะกิจการ ครอบครัว

เจ้าของกิจการ คุณรัญจวน เฮงตระกูลศิลป์ และ คุณชาริณี ชัยยศลาภ

เงินลงทุน หลักล้านบาท

ทำเล พื้นที่โล่งกว้าง แบ่งทำคอกเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช

สินค้า นมควาย มอสซาเรลล่าชีส โยเกิร์ต น้ำมันกีห์ สบู่ครีมน้ำนมมูร่าห์

วัตถุดิบ ควายนมมูร่าห์ นำเข้าตัวละ 30,000 บาท

พนักงาน ประมาณ 45 คน เฉพาะในฟาร์ม

กำไรสุทธิต่อเดือน หลักแสนบาท

กลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้ป่วยภูมิแพ้

จุดเด่นของสินค้า เป็นรายแรกและรายเดียวที่ผลิตนมควายในประเทศไทย

สถานที่ตั้ง มูร่าห์ฟาร์ม เลขที่ 99/14 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา 24190

มูร่าห์เฮ้าส์ เลขที่ 211/3/8 หมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง ซอย 112 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ 10240

โทรศัพท์ (086) 777-4515 และ (02) 373-2992
เว็บไซต์ www.murrahfarmcom
ที่มา  :  เส้นทางเสรษฐี





ฟาร์มเลี้ยงควายนม (2)

คมชัดลึก :คราว ที่แล้วได้เล่าให้ฟังถึงธุรกิจการเลี้ยงควายนมแห่งแรกในประเทศไทยที่ จ.ฉะเชิงเทราไปแล้วบางส่วน ซึ่งฟาร์มดังกล่าวเลี้ยงควายนมเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปของนมสด ชีส ไปจนถึงสบู่ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

แต่ว่ากว่าที่จะประสบความสำเร็จดังกล่าวได้นั้น ต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่างพอสมควรจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ อุปสรรคอย่างแรกก็คือคนไทยไม่ค่อยยอมรับหรือไม่คุ้นกับนมและผลิตภัณฑ์นมที่ มาจากสัตว์อื่นที่ไม่ใช่วัว แต่เมื่อดื่มหรือลองชิมแล้วก็จะพบว่าไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างที่คิด แต่ว่าทั้งนมแพะ นมอูฐ หรือนมควาย ล้วนแล้วแต่มีข้อดีบางอย่างที่เหนือกว่านมวัวด้วยซ้ำไป มูร์ร่าห์ฟาร์ม ซึ่งเป็นชื่อของฟาร์มควายแห่งแรกที่พูดถึง ได้เริ่มต้นจากการเลี้ยงควายแค่ 8 ตัว พื้นที่ 1-2 ไร่

ต่อมาจึงได้ขยายโดยการสั่งซื้อพ่อพันธุ์เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ และขยายพื้นที่ไปถึง 400 ไร่ และปัจจุบันมีควายนมมูร์ร่าห์ถึง 200 ตัว ควายมูร์ร่าห์เป็นควายพันธุ์นมที่นำเข้ามาจากอินเดีย ซึ่งตอนนี้ฟาร์มได้นาผสมกับควายพื้นเมืองของเรา จนได้ควายลูกผสมที่ให้นมมากกว่าควายพื้นเมืองทั่วไป เรียกว่าเป็นกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อย่างหนึ่ง หากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็น่าจะทำให้ได้ควายไทยที่สามารถให้นมได้สูงขึ้น และอาจเกิดธุรกิจการเลี้ยงควายนมขึ้นในประเทศไทยเหมือนที่เราเลี้ยงวัวนมทุกวันนี้

จากการที่เจ้าของฟาร์มเดินทางไปดูงานในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิตาลี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมอสซาเรลล่าชีสแหล่งใหญ่ของโลก ก็เลยเกิดความคิดที่จะแปรรูปน้ำนมควายให้ กลายเป็นชีส ซึ่งขายได้ในราคาที่สูงขึ้นมาก จึงได้เริ่มการผลิตชีสดังกล่าวขึ้นมาในประเทศไทย แต่ว่าในระยะแรกคุณภาพของชีสที่ได้ ยังไม่เป็นที่ยอมรับของลูกค้าเพราะว่าเนื้อไม่เนียน ไม่สม่ำเสมอ และยังดูแห้งและแข็งกระด้าง ประกอบกับความยืดหยุ่นหรือยืดตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จากจุดนี้เองที่นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คือ

รศ.ดร. วรรณา ตั้งเจริญชัย จึงได้เข้ามาร่วมในการหาทางปรับปรุงคุณภาพของมอสซาเรลล่าชีส โดยการสนับสนุนทุนวิจัยร่วมระหว่าง สกว. กับมูร์ร่าห์ฟาร์ม ในที่สุดทางฟาร์มก็ได้ทราบกระบวนการผลิตชีสที่มีคุณภาพและสามารถทำได้สำเร็จ โดยสามารถผลิตมอสซาเรลล่าที่มีคุณภาพไม่แตกต่างจากของที่นำเข้าจากต่าง ประเทศได้ ผลก็คือยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากจนผลิตไม่ทัน เพราะว่าลูกค้ารายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน โรงแรมชั้นหนึ่งต่างๆ รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ได้ให้ความเชื่อถือในคุณภาพของชีสที่ผลิตขึ้น

ตัวอย่างเรื่องนี้เห็นได้ว่าการใช้ความรู้จากการวิจัยเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ที่ผู้ประกอบการประสบอยู่นั้น หากทำได้สำเร็จก็จะส่งผลทางบวกอย่างมากมาย แต่ทั้งนี้สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานภาครัฐคงต้องเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ ประกอบการรายย่อยหรือขนาดกลางเหล่านี้ก่อน เพราะว่ากลุ่มนี้คงไม่มีขีดความสามารถในการที่จะสร้างแผนกวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาในบริษัทได้ ไม่เหมือนบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ดังนั้น หากต้องการให้กิจการของบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้น ก็คงต้องใช้แรงช่วยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

สำหรับเรื่องการเลี้ยงควายนมเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น ขณะนี้มีตัวอย่างความสำเร็จแล้ว จึงพอมองเห็นช่องทางอนาคตว่าการเลี้ยงควายนม อาจกลายมาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของเมืองไทยที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เป็นอย่างดี หากมีการรวมกลุ่มและร่วมมือร่วมใจกันทำอย่างเหมาะสมต่อไป


รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ


http://soclaimon.wordpress.com/category/%e0%b8%84%e0%b8%a1%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%b6%e0%b8%81/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%84%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%88/









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (1815 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©