-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 499 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เกษตรดีเด่น15





ตามไปดูกล้วย  "รสทุเรียน-สตรอเบอรี่" เกษตรกรดีเด่นแนะปลูก "ผักไฮโซ"


นี่แหละกล้วยที่ปลูกด้วยการใช้หน่อชี้ขึ้นฟ้า
ช่วงนี้หน่วยงานต่างๆ มักชวนให้ไปทำข่าวเกษตรกรดีเด่นหรือปราชญ์ชาวบ้านค่อนข้างถี่ ทำให้นึกอยากจะทำไร่นาสวนผสมกับเขาบ้าง ล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรก็เชิญให้ไปดูผลงานของ "คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ" ที่บ้านเขากลม ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เขาผู้นี้ได้รับรางวัลมากมายถึง 16 รางวัล ทั้งระดับจังหวัดและประเทศ อาทิ เป็นเกษตรกรดีเด่น ปี 2548 สาขาปศุสัตว์, รางวัล 76 คนดีแทนคุณแผ่นดินปี 2552, รางวัลการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านประชาชนทั่วไป ปี 2550 และได้รับรางวัลศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรชนะเลิศอันดับ 1 ระดับจังหวัดปี 2550 ฯลฯ

    
ในพื้นที่เกือบ 8 ไร่ของคุณสงวน นอกจากจะแบ่งที่ดิน 5 ไร่ทำไร่นาสวมผสมแล้ว ยังจัดตั้งเป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหนองทะเล, ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านเขากลม ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนหลายหมื่นคนเข้ามาอบรมดูงาน รวมทั้งนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ มาฝึกงานเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยมีจุดเรียนรู้ 22 จุดเริ่มจาก

จุดที่ 1 การเลี้ยงวัว, แพะ (สัตว์ 4 กระเพาะ) ครบวงจรโดยไม่กินหญ้า ใช้ทางปาล์มน้ำมันมาบดและหมักเพื่อใช้เป็นอาหารแพะและวัวแทนหญ้า
จุดที่ 2 การทำปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศ
จุดที่ 3 การปลูกผักระบบใต้ดิน (ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ)
จุดที่ 4 การผลิตอาหารสัตว์จากทางปาล์มน้ำมัน
จุดที่ 5 การปลูกพืชผสมผสาน จำนวน 5 ไร่ แก้จน
จุดที่ 6 การเลี้ยงปลาแบบบ่อ 3 ด้าน โดยการทำบ่อปลาติดผนังบ้าน หรือโรงเรือนต่างๆ เพียง 3 ด้าน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย
จุดที่ 7 การทำน้ำส้มควันไม้ครบวงจรได้จากการสกัดน้ำจากควันไม้ ประเภทส้ม
จุดที่ 8 การอบสมุนไพร
จุดที่ 9 การทำและการเลี้ยงจุลินทรีย์โดยใช้ภูมิปัญญาไทย
จุดที่ 10 การเลี้ยงเป็ด, ไก่ (คอล่อน)
จุดที่ 11 การทำเตาก๊าซชีวภาพกลายเป็นแก๊สหุงต้มโดยใช้มูลสัตว์
จุดที่ 12 การทำน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้ภูมิปัญญา
จุดที่ 13 ตู้อบสมุนไพร
จุดที่ 14 การทำน้ำยาล้างจาน
จุดที่ 15 การทำอาหารปลาดุก
จุดที่ 16 การทำน้ำมันนวด
จุดที่ 17 การทำเห็ดอบโอ่ง
จุดที่ 18 การปลูกพืชตีกลับ คือการปลูกกล้วย โดยนำเอาส่วนยอดลงเพื่อเพิ่มจำนวนของหน่อที่จะเกิดขึ้น
จุดที่ 19 การเพาะถั่วงอก
จุดที่ 20 การทำถังแก๊สขนาดย่อม
จุดที่ 21 การทำปลาเค็มอบดิน และ
จุดที่ 22 การทำน้ำจุลินทรีย์หน่อกล้วย

    
ในบรรดาจุดเรียนรู้ต่างๆ นี้ น่าสนใจเรื่องการปลูกพืชตีกลับ ซึ่งคุณสงวนได้โชว์ให้เห็นด้วยการนำหน่อชี้ฟ้าเอาส่วนต้นที่มีใบลงดินว่า ถ้าปลูกกล้วยโดยนำหน่อหรือโคนลงดินเหมือนที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปจะได้ต้นกล้วย 1 ต้น เมื่อออกลูกจะได้เครือหนึ่งประมาณ 7-8 หวี แต่ถ้าปลูกเอาปลายลง จะได้ต้นกล้วย 3-4 ต้น ได้กล้วย 3-4 เครือ แต่ละเครือจะได้กล้วยถึง 10 หวี วิธีนี้สามารถใช้ได้กับกล้วยได้ทุกชนิด

    
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วต้นไม่ตายหรือ คุณสงวนตอบแบบติดตลกว่า "กล้วยมันมีปัญหาเลยเรียกประชุมกันด่วนว่าทำไมมั่วจังเลย เกิดสึนามิหรือเปล่า ประมาณ 15 วัน มันจะรีบขึ้นมาอย่างน้อย 3-4 ต้น พร้อมกันเลย พอมันขึ้นมาแล้ว มันจะพึ่งตัวเองคือมันจะกินตัวมันเองที่มีจุลินทรีย์เราไม่ต้องใส่ปุ๋ย"

    
ทั้งนี้ ต้นกล้วยที่ได้จะมีความสูง ไม่เกิน 1.50 เมตร และจะออกเครือเร็วกว่ากล้วยที่ปลูกด้วยการนำหน่อลงดิน ที่สำคัญขนาดของลูกจะใหญ่ขึ้น

    
นอกจากนี้ คุณสงวนยังมีวิธีการเพิ่มมูลค่าของกล้วยด้วยวิธีการแต่งกลิ่นเข้าไป อยากได้กล้วยรสทุเรียน รสสตรอเบอรี่ รสวานิลลา หรือรสสละก็สามารถทำได้ตามใจชอบ จากเดิมขายกล้วยได้หวีละ 10 บาท แต่พอแต่งกลิ่นและรสชาติพวกนี้แล้วสามารถขายได้ถึงหวีละ 45 บาท

    
สำหรับวิธีการทำนั้นคุณงวนบอกว่าไม่ยากเลย พอตอนกล้วยออกปลีก็ไปเจาะหรือกรีดลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยมจนถึงไส้ทำให้เกิดแผล จากนั้นนำหัวเชื้อเข้มข้นและกลิ่นต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดจำพวกเดียวกับที่ใช้ทำกลิ่นไอศครีม ตกขวดละ 10 กว่าบาท นำมาชุบสำลีแล้วยัดเข้าไปในไส้ต้นกล้วย จากนั้นปิดไส้ต้นกล้วยให้เหมือนเดิม สักสองเดือนกล้วยก็สุกและจะได้กล้วยตามกลิ่นที่ใส่เข้าไป

    
ความจริงจุดเรียนรู้ต่างๆ มีรายละอียดอีกเยอะ แต่ด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่ ถ้าสนใจอยากศึกษาดูงานศูนย์ดังกล่าว ติดต่อคุณสงวนได้ที่ 08-9590-6738




ที่มา โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
www.matichon.co.th




กล้า บ้า ขยัน สร้างรายได้ปีละล้านเศษๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2517 และทรงย้ำชัดเจน อีกครั้งในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 (ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540) เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
   
ปรัชญาที่ว่าได้ยึดหลักทางสายกลาง ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้มีความพอเพียง จะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง
   
ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง บ้านเขากลม ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นหนึ่งสถานที่ที่จะช่วยถ่ายทอดความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เปิดโอกาสให้คนทุกระดับชั้นเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้จริง
   
สงวน มงคลศรีพันเลิศ ผู้บุกเบิกศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง บอกเล่าถึงความเป็นมาของศูนย์แห่งนี้ว่า เริ่มต้นมาจากปี 2540 ตัวเองเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานอยู่ในบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี มีรายได้ถึงเดือนละ 28,000 บาท แต่ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บ คิดถึงในหลวงสอนให้คิดเรื่องกินก่อนคิดเรื่องเงิน จึงตัดสินใจกลับบ้านที่ จ.กระบี่ เริ่มต้น   ทำเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีต้นทุนอยู่ที่ดิน 8 ไร่ ศึกษาและเรียนรู้เองจนตกผลึกทางความคิดว่า เมื่อจะทำเกษตรแบบพอเพียง ต้องสร้างโรงปุ๋ยก่อน ประกอบกับพื้นที่เป็นสวนปาล์ม ทางปาล์มมีเยอะเป็นอาหารของวัว ที่มีด้วยกัน 4 ตัว โดยใช้ทางปาล์มซึ่งชาวสวนต้องตัดทิ้งอยู่แล้ว นำมาเข้าเครื่องบดเป็นอาหารให้วัว เมื่อวัวถ่ายออกมา นำมูลของมันหมักในบ่อก๊าซชีวภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม ส่วนขี้วัวที่เหลือยังไปทำเป็นอาหารปลา และปุ๋ยหมักได้ โดยมีการคำนวณว่ามูลวัว 1 ตัว จะมีปริมาณถึง 2 ตันต่อเดือน ได้แก๊สชีวภาพ 15-16 กิโลกรัม
   
ส่วนการทำปุ๋ยหมัก ก็ใช้ภูมิปัญญาของตัวเอง มี 2 สูตรให้เลือกเรียนรู้คือแบบขยันและขี้เกียจ แบบขยันก็คือวิธีที่ทำทั่วไป แต่แบบขี้เกียจใช้ไก่มาเป็นตัวช่วยคลุกเคล้ามูลวัวกับส่วนผสมของปุ๋ยหมัก เพราะไก่จะทำงานวันละ 4 ชั่วโมง เช้า 2 ชั่วโมง เย็น 2 ชั่วโมง     ระหว่างคุ้ยเขี่ยหาอาหาร  ปุ๋ยชนิดนำไปใช้ได้เลย
   
เมื่อมีปุ๋ยแล้วก็ลงมือปลูกต้นไม้ ใช้วิธีปลูกผักแบบไฮโซ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไม่มีที่ดินก็ปลูกได้ โดยการปลูกผักบนที่สูง ใช้ยางรถยนต์เก่า ๆ มาเป็นกระถาง ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด พริก มะเขือ ปลูกถั่วฝักยาวบนต้นกระถิน ป้องกันปลวกกิน ปลูกผักหลายชนิดสลับกัน เพื่อป้องกันแมลง วิธีนี้ไม่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก เมื่อมีผักแล้ว อาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็สร้างกินเองได้ สงวนเลือกที่จะขุดบ่อเลี้ยงปลา นอกจากอาหารปลาจากมูลสัตว์แล้ว ใช้เปลือกผลไม้ที่หาได้ง่ายในสวนผลไม้ในย่านนั้นทั้งเงาะ มังคุด ชมพู่ แม้กระทั่งเปลือกทุเรียนนำมาใส่กากน้ำตาลหมักให้เปื่อยทิ้งไว้ 1 เดือน โยนให้ปลากินได้ 
   
ถ้าไม่มีกากน้ำตาลก็ใช้น้ำมะพร้าวใส่ลงไป ใส่ ปด.6 ของกรมพัฒนาที่ดิน แล้วหมักไว้หนึ่งเดือน โยนให้ปลากิน ได้ จุลินทรีย์ที่อยู่ในกากน้ำตาลจะช่วยให้น้ำสะอาด 4 เดือนไม่ต้องถ่ายน้ำ ปลาจะโตเร็ว...... กูรูด้านเศรษฐกิจพอเพียงบอกถึงเคล็ดลับ
   
แหล่งอาหารการกินที่หาได้อีกแหล่งการเพาะเห็ด ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สอนให้เพาะเห็นในโอ่ง ประหยัดพื้นที่ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลูกโรงเรือน
   
สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของศูนย์แห่งนี้ที่ใครมาเรียนรู้แล้วต้อง  ทึ่งในความกล้าและบ้าของเขา สงวนแสวงหาวิธีปลูกกล้วยแนวใหม่ด้วยการนำยอดกล้วยลงดินแทนวิธีเดิม ๆ ที่ใช้รากหย่อนลงดิน วิธีนี้ทำให้ได้ต้นกล้วยเตี้ยลงเก็บง่าย และที่สำคัญได้ผลผลิตมากกว่า จากวิธีปลูกแบบเดิมได้ผลผลิต 3 เครือต่อปี แต่วิธีของเขาได้ปีละ 10-12 เครือ อีกทั้งจำนวนหวีในเครือก็เพิ่มขึ้น
   
สาเหตุที่กล้วยให้ผลผลิตเพิ่มเท่าทวี สงวนบอกว่าเพราะว่าพืชกลัวจะสูญเสียเผ่าพันธุ์ตกใจกลัวจึงรีบออกลูกออกผล กล้วยจะผลิตอาหารให้ตัวเองไม่ต้องใส่ปุ๋ย พืชจะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
   
เรื่องกล้วย ๆ ยิ่งกล้วยมากขึ้น กล้วยในศูนย์แห่งนี้ยังสามารถผลิตให้ออกมาเป็นรสทุเรียน สตรอเบอรี่โดยการเติมหัวเชื้อ  ดังกล่าวซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาด ใส่ลงไปในลำต้นเมื่อผลกล้วยออกมานอกจากหน้าตาของความเป็นกล้วยยังได้กลิ่นสตรอเบอรี่ผสมรวมอยู่ด้วย นั้นหมายถึงทำให้กล้วยหอมทองที่เขาปลูกอยู่ทุกวันนี้หวีละ 45 บาทขยับขึ้นไป 70 บาท ขายดิบขายดีจนไม่พอขาย
   
นับตั้งแต่การเริ่มต้นเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวง ของมนุษย์เงินเดือนตั้งแต่ปี 2540 จนมาถึงวันนี้ เมื่อถามถึงตัวเลขของรายได้ในแต่ละเดือน สงวนแจงให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อแรกเริ่มเหลือเพียง 900 บาท จากเดิมที่เคยได้รับเงินเดือน 20,000 กว่าบาท สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้ตัวเองอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมานั่งย้อนดูบัญชียังมีเงินเหลือเก็บ 300 บาท นั้นเป็นแรงผลักว่ารายได้ 900  ยังเหลือออม จึงตันสินใจมุ่งมั่นจะเดินตามรอยเท้าของพ่อต่อไป ภายใต้การสนใจใฝ่รู้ มีตรงไหนติด  ขัดไม่เข้าใจจะวิ่งไปขอความรู้จากเกษตรอำเภอในพื้นที่
   
เศรษฐกิจพอเพียงที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ต้องมีวิชาการและภูมิปัญญาควบกัน สงวนระบุ
       
สงวนมีรายได้เหลือปีละ 1,300,000 บาท อันเป็นรายได้ของปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งมาจากรายได้ของผลผลิตบนผืนดิน 8 ไร่ เขาโชคดีที่  ว่าวันนี้ศูนย์แห่งนี้โด่งดังแต่ละวันมีผู้คนจากทุกสารทิศมา ดูงานและฝึกอบรมไม่ขาด สาย ผลผลิตที่มีนำมาทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งศูนย์แห่งนี้เปิดให้คนเข้ามาดูงานเมื่อปี 2549
   
ตัวเลขรายได้ที่สูงส่งที่หลายคนได้ฟังแล้วตาโต เบื้องหลังนั้นเคล็ดลับที่ไม่ใช่เรื่องลับแต่ทุกคนทำได้  ที่โตมาได้เห็นตัวเลขเยอะขนาดนี้ เพราะบัญชี หนังที่ดีต้องมีผู้กำกับ ผู้กำกับที่ดีก็คือบัญชีครัวเรือน เพราะบัญชีจะฟ้องได้ทำอะไรกี่เรื่อง คนที่มีบัญชีจะรู้ทางไหนไปสวรรค์ทางไหนไปนรก คนอื่นสู้เราไม่ได้หรอกถ้าเรามีบัญชีมาเป็นความสำเร็จ
   
หลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่าเศรษฐกิจพอเพียงทำไม่ได้ เพราะไม่มีที่ดินไม่เคยทำเกษตรมาก่อน แต่สงวนบอกว่าเหล่านี้เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง ที่ดินที่มีขอแค่ สัก 1 งานพอจะมีไหม อันดับต่อมาสมาชิกในครอบครัวที่จะมาร่วมแรงร่วมใจกัน สุดท้ายน้ำแสงแดดไม่ต้องหาประเทศไทยมีหมด เหลืออย่างเดียวกระบวนการคิด ซึ่งต้องเรียนรู้ออกแบบเศรษฐพอเพียงให้เหมาะกับตัวเอง ความคิดความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
   
ทั้งนี้และทั้งนั้นหากผลลัพธ์ที่ออกมาคือความสุขมากกว่าตัวเลข นั่นเท่ากับคุณได้ทำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้องถ่องแท้แล้ว
   
***สนใจดูงานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขาพนม มีฐานการเรียนรู้ทิ้งสิ้น 22  จุด อาทิการทำน้ำมันไบโอดีเซล การเลี้ยงเป็ดไก่คอล่อน การเพาะจุลินทรีย์ภูมิปัญญาไทย ปลาเค็ม อบดิน จุลินทรีย์หน่อกล้วย การปลูกพืชตีกลับ เป็นต้น สอบถามได้ที่ 08-9590-6738.
 
 คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ หมอดินอาสากระบี่ เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 7 บ้านเขากลม ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


มุ่งสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง
ในปี พ.ศ. 2540 คุณสงวน ได้เริ่มเข้าจัดตั้งกิจกรรมต่างๆ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินกระบี่ ซึ่งได้แนะนำเกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ใช้ปูนโดโลไมต์ ในการปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยว และใช้พืชปุ๋ยสดในการบำรุงดินเพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารแก่ดิน ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ไถกลบช่วงพืชออกดอก จะเป็นช่วงที่ถั่วให้ธาตุไนโตรเจนสูงสุด การใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1,พด.6, พด.7 ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน รวมทั้งเป็นการปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะแก่การปลูกพืชต่อไป กิจกรรมดังกล่าว เป็นการพึ่งพากันเอง เกื้อกูลกันและกัน มีการจัดการแบบบูรณาการ ประชาชนในหมู่บ้านถือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต โดยยึดถือ


หลักการลดรายจ่าย ได้แก่ ประชากรในชุมชนมีการปลูกผักสวนครัว เช่น ผักเหมียง พริก ใบชะพลู พริกไทย ตะไคร้ ฯลฯ เพื่อบริโภคในครัวเรือน ประชาชนในหมู่บ้านรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศ และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการทำการเกษตร และส่งออกขายเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในครัวเรือน


การเพิ่มรายได้ ประชาชนในหมู่บ้านมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อทำอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวผสมผสาน กลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง


การเลี้ยงสัตว์ ประชากรในหมู่ที่ 7 ตำบลหนองทะเล ส่วนใหญ่ 95 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาอิสลาม มีสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงกันเกือบทุกครัวเรือน คือ "แพะ" ประชากรในตำบลจึงมีความคิดริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม "ธนาคารแพะ" ตำบลหนองทะเลขึ้น ต่อมามีสมาชิกมากขึ้น มีจำนวนแพะมากขึ้น สมาชิกกลุ่มจึงมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ใช้ชื่อว่า "กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ตำบลหนองทะเล" ปัจจุบัน มีการเลี้ยงวัวในกลุ่มด้วย มีสมาชิกทั้งหมด 44 คน มีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 8,000-10,000 บาท ต่อครัวเรือน

ผลงานดีเด่นของกลุ่ม ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาปศุสัตว์ ประจำปี 2548
โดยคุณสงวน ประธานกลุ่ม เข้ารับรางวัลจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันพืชมงคล ประจำปี 2548  นอกจากที่แนะนำมา ยังมีกลุ่มต่างๆ ดังนี้

1.กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวผสมผสาน ได้แก่ พริก ตะไคร้ ข่า ผักเหมียง ฯลฯ สมาชิกทั้งสิ้น 11 คน
2.กลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ ระบบเติมอากาศและปุ๋ยจุลินทรีย์ มีสมาชิกทั้งสิ้น 11 คน
3.กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง มีสมาชิกทั้งสิ้น 20 คน
4.กลุ่มประมง มีการทำประมงน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาจะละเม็ด มีสมาชิกทั้งสิ้น 19 ราย
5.กลุ่มทำอาหารสัตว์จากทางปาล์ม (สี่กระเพาะ) สำหรับวัวและแพะ เนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เพาะปลูกปาล์ม จึงมีการนำผลิตผลจากปาล์ม ได้แก่ ใบทางปาล์ม และลูกปาล์มมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบัน มีสมาชิก 44 คน
6.กลุ่มออมทรัพย์ ประชากรในหมู่ที่ 7 บ้านเขากลม มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเขากลม โดยจัดตั้งขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2544 ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 261 คน
7.กลุ่มภูมิปัญญาไทยกู้ภัยเศรษฐกิจ กลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ ประชากรในพื้นที่รวมกลุ่มกันเพื่อสะสมเงินออม ตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2549 ปัจจุบัน มีสมาชิก 74 คน


กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล 1,000,000 บาท และได้เพิ่มทุนจากรัฐบาลอีก 100,000 บาท (รางวัลกองทุนหมู่บ้าน ระดับ 3 A) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,100,000 บาท ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งสิ้น 106 คน มียอดเงินกู้ 1,100,000 บาท ขณะนี้กองทุนมีเงินทั้งสิ้น 1,530,000 บาท

ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนมีการอนุรักษ์ทรัพยากร ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการดูแลรักษาความสะอาดของบ้านเรือน มีการจัดทำปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมี โดยใช้ระบบเติมอากาศในกองปุ๋ยหมัก


วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นการใช้พื้นที่ทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้แก่ครัวเรือน
เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรในชุมชน
เป็นแหล่งระดมสมองตามวิถีภูมิปัญญาไทย
ต้องการขยายผลเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง


วิธีการผลิตปุ๋ยหมัก สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ....ด้วยระบบเติมอากาศ
ในสมัยก่อนถ้าคิดจะทำปุ๋ยหมักขึ้นมาใช้เองต้องใช้เวลาในการหมักนานหลายเดือน เนื่องจากอาศัยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเป็นตัวช่วยในการย่อยสลาย และยังต้องใช้แรงงานในการกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อเป็นการระบายความร้อนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อเป็นการช่วยให้จุลินทรีย์สามารถทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น การย่อยสลายก็จะเกิดเร็วขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวนี้ทำให้ผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่พยายามคิดค้นเพื่อหาวิธีลดการใช้แรงงานในการกลับกองปุ๋ย ในที่สุดก็สามารถคิดค้นวิธีการใช้ระบบเติมอากาศเข้าไปในกองปุ๋ยหมักได้สำเร็จ


โดยการนำวัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ได้แก่ ใบทางปาล์มน้ำมันที่บดแล้วนำมาผสมกับมูลแพะและมูลวัว และใช้เชื้อจุลินทรีย์ชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 หมัก และฉีดรดด้วยน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มฮอร์โมนลงไปในกองปุ๋ยหมักด้วย


ส่วนระบบเติมอากาศนั้น ใช้ท่อ พีวีซี ขนาด 4 นิ้ว เจาะเป็นรูเล็กๆ รอบท่อ ประมาณ 1,200 รู นำมาวางไว้แล้ววัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยหมักมาวางทับเป็นชั้นๆ ตามวิธีการทำปุ๋ยหมัก หลังจากนั้นให้เติมลมเข้ากองปุ๋ย วันละประมาณ 15 นาที หมักนาน 21 วัน ก็สามารถนำปุ๋ยหมักไปใช้ได้ ผลิตปุ๋ยหมักได้เดือนละ 10-15 ตัน ประหยัดแรงงานได้มากทีเดียว ใช้พื้นที่น้อยเหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่


ปัจจุบันนี้ได้นำปุ๋ยหมักมาใช้กับพืชต่างๆ ดังนี้
- ปลูกผักปลอดสารพิษ..... 2 ไร่
- สวนยางพารา.............. 3 ไร่
- สระน้ำ..................... 1 ไร่
- ที่อยู่อาศัย................. 1 ไร่
- แปลงปลูกสะละอินโดแซมในสวนยางพารา


เพื่อใช้ในการเกษตร โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อสารเคมี เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้ดินร่วนซุย เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และดินยังอุ้มน้ำได้ดี


จากการที่เกษตรกรใช้ยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีการสะสมสารพิษในดิน เชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดินถูกทำลาย ดินแข็ง และแน่นทึบ ดินขาดอากาศในที่สุดนำไปสู่ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง มักจะมีสารพิษตกค้าง ผู้ผลิตไม่ปลอดภัย และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากในปัจจุบัน มีการลงทุนสูงขึ้นทุกปีเนื่องปุ๋ยเคมีบางชนิดนำเข้ามาจากต่างประเทศ


แต่พอมาลองใช้น้ำหมักชีวภาพผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดิน ใช้กับพื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมีกับน้ำหมักชีวภาพอย่างชัดเจน จะเห็นว่าใบพืชใหญ่ขึ้น สีเขียวเข้ม ผลผลิตก็เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่มีการลงทุนน้อยมาก เนื่องจากน้ำหมักชีวภาพเมื่อนำมาผสมกับน้ำใช้


ปลูกผักไร้สารพิษระบบใต้ดิน
คำว่า ระบบใต้ดิน หมายถึง การขุดดินให้ลึกประมาณ 4 เมตร รวมคันดินด้วย ความกว้างแล้วแต่ขนาดของพื้นที่ ส่วนด้านบนก็ทำมุ้งคลุมให้รอบ เพื่อป้องกันแมลงจากภายนอกรบกวน หลังจากนั้น ก่อนมีการปลูกผักก็ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปูนโดโลไมต์ และรดน้ำตามเพื่อให้ปูนซึมลงไปด้านล่าง ชะล้างเอาความเปรี้ยวของดินออก หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ก็แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ยกร่องเตี้ยๆ นำปุ๋ยหมักที่ได้จากการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผสมกับสารเร่ง พด.3 คลุกเคล้ากับดิน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคโคนเน่าของผัก พอผักเริ่มงอกประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ฉีดพ่นทุกๆ 10 วัน หรือให้สังเกตจากผัก ถ้าผักเริ่มมีสีเหลืองก็ให้ฉีดน้ำหมักชีวภาพได้เลย จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ใช้ระยะเวลา 25 วัน แล้วแต่ชนิดของผัก นอกจากนี้ ได้ปลูกหญ้าแฝกรอบบ่อเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและยังรักษาความชุ่มชื้นแก่ดินได้อีกด้วย


การปลูกผักด้วยวิธีนี้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ เนื่องจากบ่อปลูกจะมีความชื้นสูง ผักเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ ให้รสชาติดี กรอบ และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก ส่วนด้านบนคันดินยังสามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้อีก เป็นการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ในพื้นที่ 2 ไร่ สามารถทำให้มีรายได้ให้แก่ครอบครัว 9,000 บาท ต่อเดือน

พื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรมีจำนวนน้อยลง แต่ความจำเป็นและความต้องการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น จึงได้ศึกษาและค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ในอดีตที่เป็นสวนผสมผสาน มาใช้ทดลองในพื้นที่ที่เป็นสวนยางพารา เพื่อหาอาชีพและรายได้ให้เพิ่มขึ้น เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2540 จากการแบ่งพื้นที่ ที่มีอยู่ 7 ไร่ จัดสรรเป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำสวนยางพารา จำนวน 3 ไร่ ปลูกผักปลอดสารพิษ จำนวน 2 ไร่ สระน้ำ 1 ไร่ และที่อยู่อาศัย 1 ไร่ โดยใช้แรงงานในครัวเรือน ในช่วงปีแรกใช้โดโลไมต์ปรับสภาพความเป็นกรดของดินก่อน แล้วจึงปลูกปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ถั่วพร้า ปอเทือง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน หลังจากปลูกยางพาราแล้วพอจะมีที่ว่างระหว่างแถว ก็ปลูกสับปะรดแซม และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จากกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ สารเร่งซุปปอร์ พด.1 และสารเร่ง พด.3 ใช้รองก้นหลุม เนื่องจาก สารเร่ง พด.3 สามารถป้องโรครากเน่าโคนเน่าได้ดีทั้งในสวนยางพาราและแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ และใช้ซุปเปอร์ พด.2 ฉีดรดทั้งผักและยางพารา


เมื่อปาล์มน้ำมันอายุ 6-7 ปี ต้นโตพอจะกรีดน้ำยางได้แล้ว ได้ปลูกสะละอินโดแซมในสวนยางพาราได้อีก เพื่อใช้พื้นที่เกิดผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวหลายๆ ชนิดพืช โดยไม่หวังรายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว


ปศุสัตว์อินทรีย์
ปศุสัตว์อินทรีย์ หมายถึง การเลี้ยงสัตว์แบบพึ่งพากันระหว่างคนกับสัตว์ สัตว์กับสัตว์ และสัตว์กับต้นไม้ โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงวัว 2 ตัว เลี้ยงแพะ 2 ตัว และไก่ 20 ตัว เลี้ยงให้อยู่ในคอก จะไม่ปล่อยให้ออกมาหากิน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนปาล์มน้ำมัน และยางพารา ไม่มีแปลงหญ้าให้สัตว์กินทำประกอบกับ ใบทางปาล์มน้ำมันจำเป็นต้องตัดทุกๆ 15 วัน จึงเกิดแนวความคิดที่จะผลิตอาหารสัตว์ขึ้นมา มีขั้นตอนการผลิต ดังนี้


1. นำใบทางปาล์มน้ำมัน และผลปาล์มน้ำมันมาบด
2. นำกากน้ำตาลผสมกับยูเรีย
3. นำสารเร่ง พด. 6 มาใส่ลงไปในถังหมัก หมัก 21 วัน ก็สามารถนำมาให้สัตว์กินได้เลย


เมื่อวัวและแพะกินอาหารหมักเข้าไป ปรากฏว่าการขับถ่ายของเสียไม่มีกลิ่นเหม็นเลย
ส่วนทางใบปาล์มบดนำมาใช้ปูในคอกวัว และใส่ใต้โรงเรือนแพะ เมื่อแพะถ่ายออกมาก็จะไปผสมคลุกเคล้ากับวัสดุรองพื้นด้านล่างเป็นการหมักโดยวิธีธรรมชาติ ไก่พันธุ์พื้นเมืองที่นำมาเลี้ยงในโรงเรือนแพะ และวัวเพื่อให้ไก่ช่วยเขี่ยเศษหญ้า และมูลสัตว์ให้คลุกเคล้าผสมกันก็ให้เกิดการทำปุ๋ยคอกมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นให้อาหารที่ผลิตขึ้นมาได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น หากมีเศษอาหารตกหล่นบริเวณโรงเลี้ยงแพะ และวัว ไก่ก็ได้กินอาหารเหล่านี้ ไก่เป็นสัตว์ที่ช่วยทำลายสัตว์ประเภทปรสิตที่อยู่ตามตัววัวและแพะ เช่น หมัด เห็บ


ปัจจุบันนี้ ได้มีผู้เข้าร่วมกลุ่มปศุสัตว์อินทรีย์ โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะ มีจำนวน 68 ราย เนื่องจากประชาชนในตำบลหนองทะเลส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม นำแพะมาประกอบอาหารและทำพิธีกรรมทางศาสนา

เลี้ยงปลาดุกอินทรีย์ด้วยบ่อสามด้าน

ปกติถ้าจะมีการเลี้ยงปลาด้วยบ่อปูนจะต้องสร้างบ่อจำนวน 4 ด้าน แต่ในกรณีการเลี้ยงปลาดุกด้วยบ่อสามด้านนั้น หมายถึง การสร้างขอบบ่อขึ้นมาใหม่เพียงแค่ 3 ด้าน เท่านั้น ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการใช้ฝาบ้านแทน เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในการสร้างบ่อ และประหยัดพื้นที่ด้วย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพาราไม่มีพื้นที่สำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา จึงเกิดแนวคิดเลี้ยงปลาดุกโดยใช้ฝาผนังบ้านให้เกิดประโยชน์โดยทำเป็นบ่อสามด้านเลี้ยงปลาไว้บริโภคเองในครัวเรือน ที่เหลือก็สามารถจำหน่ายให้แก่เพื่อนบ้านใกล้เคียง ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นมาช่วยเสริมครอบครัวอีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันวิธีการเลี้ยงปลาดุกด้วยวิธีนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มากทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องอาหารปลา สามารถผลิตขึ้นเองโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ (สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดินมีขั้นตอนการหมักอาหารปลาดุกด้วยวิธีการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ดังนี้


1. นำสับปะรด จำนวน 30-40 กิโลกรัม มาสับให้มีขนาดชิ้นเล็กๆ เพื่อจุลินทรีย์จะได้ย่อยได้เร็วขึ้น
2. เตรียมกากน้ำตาล จำนวน 10 กิโลกรัม และน้ำ 10 ลิตร นำมาหมักในถังพลาสติค
3. หลังจากหมักเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้น้ำหมักชีวภาพ จำนวน 50 ลิตร
4. นำน้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน มาผสมกับมูลสัตว์ 1 ส่วน รำข้าว 1 ส่วน แล้วหมักในตอนเช้า

พอตกตอนบ่ายก็สามารถนำอาหารหมักนี้มาให้ปลากินได้ ส่วนตอนบ่ายก็หมักไว้ใช้ในตอนเช้าได้เลย เป็นการหมักวันต่อวัน

5. ในขั้นตอนการเลี้ยงปลาได้ใช้ภูมิปัญญาไทยในการนำใบหญ้าคาหรือซังข้าวใส่ลงในบ่อปลาเพื่อเปลี่ยนเนื้อและสีปลาดุกให้เป็นปลาดุกนา (ปลาดุกตามธรรมชาติ) ก่อนนำปลาไปจำหน่าย ประมาณ 7 วัน

6. ในขณะเลี้ยงนำใบกะเพรา ใบยี่หร่า ใบโหระพา มาผสมและตำให้ละเอียดผสมกับอาหารให้ปลากิน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันโรค จับปลาอายุประมาณ 4-5 เดือน เพื่อบริโภคและจำหน่าย วันละไม่เกิน 4 กิโลกรัม ส่วนราคาให้

เกษตรกรเป็นผู้กำหนดเอง (ราคาเฉลี่ย 50-80 บาท ต่อกิโลกรัม)

จากการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ขึ้นนี้ นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างน้อยเป็นการดึงเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ เกษตรกรเริ่มตื่นตัว ให้ความร่วมมือในการรับเทคโนโลยีและนำมาผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งสองอย่างนี้ต้องทำควบคู่กันไป จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ไว้ในศูนย์เรียนรู้แบบครบวงจร มีการทำงานแบบบูรณาการโดยให้ผู้ที่มีความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน พูดคุยกันทุกๆ วันที่ 9 ของเดือน เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่บ้านและชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง


ผลสำเร็จจากการเข้าร่วมกิจกรรม จากการสัมภาษณ์เกษตรกรในศูนย์เรียนรู้ฯ พวกเขาเหล่านั้นมีความสุขกับการพออยู่พอกิน เพราะได้ลดรายจ่ายลง ลดต้นทุนการผลิต หันมาใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ ชีวิตก็ปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงต่อการใช้สารเคมี รายได้ก็เพิ่มขึ้น สามารถเก็บเงินออมไว้ในธนาคารหมู่บ้านซึ่งมีอยู่ในศูนย์เรียนรู้ฯ อยู่แล้ว


ความสำเร็จในการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการใช้ที่ดินในการปลูกพืชแบบผสมผสาน มีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกันและกันเอง ต้นไม้ก็พึ่งพาสัตว์ สัตว์ก็ต้องอาศัยต้นไม้ ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืนต่อไป




ผู้สนใจดูงาน ติดต่อได้ที่ คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ หมอดินอาสากระบี่ บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โทร. (089) 590-6738 และสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ 
 

ไฟล์แนบ :  
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง : info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05064150252&srcday=&search=no









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-04-23 (2892 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©