หน้า: 2/2
ขั้นตอนการบำรุงต้นข้าวแบบประณีต
1. ระยะกล้า
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนน้ำดำ 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. 1 รอบ .....ให้น้ำ 100 ล.+ 25-5-5 หรือ 30-10-10 (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. 2-3 รอบ และให้แคลเซียม โบรอน 1 ครั้ง โดยฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
- ระยะเวลาให้ปุ๋ยทางใบ แต่ละครั้งห่างกัน 5-7 วัน
- ให้แคลเซียม โบรอน ตัวสุดท้ายก่อนต้นกล้าเข้าสู่ระยะแตกกอ
ทางราก :
- ควบคุมปริมาณน้ำพอแฉะหน้าดินให้เสมอกันทั่วทั้งแปลง
- ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมี เพราะช่วงนี้ต้นข้าวจะได้รับอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในดินซึ่งให้ไว้ก่อนตั้งแต่ช่วงทำเทือกแล้ว
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อต้นข้าวอายุได้ 20-30 วัน
- การให้ 46-0-0 แก่ต้นข้าวจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนอกจากจะทำให้ต้นอวบอ้วนใบเขียวตองอ่อน ใบบางและเล็กแล้ว ยังล่อให้เพลี้ยและแมลงอื่นๆเข้ามากัดกินใบข้าวอีกด้วย
- หลังหว่าน/ดำ 3 วัน ช่วงนี้รากกำลังเจริญยาวยังเกาะยึดเนื้อดินไม่แน่น ควรงดให้น้ำหรือปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยให้ต้นกล้าใช้น้ำจากเทือก (เตรียมเทือกดี) ไปเรื่อยๆจนกระทั่งหน้าดินเริ่มตึงผิวจึงปล่อยน้ำเข้า ถ้าเตรียมเทือกดีต้นกล้าข้าวสามารถเจริญเติบโตดีต่อเนื่องสมบูรณ์ แข็งแรง (เขียวเข้ม) ดีกว่าต้นกล้าที่มีน้ำขังหล่อหน้าดินตลอดเวลา แม้ว่าหน้าดินแห้งจนแตกตะโก้แล้วก็ยังเจริญเติบโตต่อเนื่องได้
ช่วงหลังปักดำ 3 วันนี้ ถ้ามีฝนตก เม็ดน้ำฝนจะกระแทกต้นกล้าจนล้มได้ ก็ให้รีบปักดำซ่อมต้นที่เสียหายนั้น
- ช่วงอายุ 1 เดือนหลังปักดำ อาจจะพิจาณาถอนแยกต้นกล้าจากกอที่มี 2-3 ต้นมาปลูกซ่อมแทนบางกอที่เสียหายได้ ต้นข้าวที่อายุช่วงนี้ยังสามารถเจริญเติบโตทันกันแล้วให้ผลผลิตเป็นรุ่นเดียวกันได้
- เทคนิคการถอนต้นกล้าจากกอแม่ให้มีดินหุ้มรากติดมาด้วย เมื่อนำไปปักดำใหม่รากจะไม่ชะงักการเจริญเติบโตหรือเจริญเติบโตต่อได้เลย
- ปักดำซ่อมแทนต้นที่ตายหรือเสียหายด้วยกรณีอื่นๆ
2. ระยะแตกกอ
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนน้ำดำ 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. ทุก 5-7 วัน โดยฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ให้น้ำ 100 ล. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. 1 ครั้ง เมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะแตกกอ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง (เน้น..มูลค้างคาวหมัก) 5 ล.+ 16-8-8 (5 กก.)/ไร่ โดยผสมน้ำแล้วฉีดลงพื้นให้กระจายทั่วแปลง
- ควบคุมปริมาณน้ำพอแฉะหน้าดินให้เสมอกันทั่วทั้งแปลง
- สำรวจลักษณะต้น เช่น ปริมาณแตกกอ ขนาดลำต้น ความสูงต่ำของต้น ขนาดของใบ สี และอื่นๆของต้นที่แตกต่างจากต้นอื่นๆส่วนใหญ่ทั้งแปลง พบแล้วให้ถอนทิ้งเพราะนั่นคือต้นข้าวปน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อต้นข้าวเริ่มแตกกอ...เป็นการใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 2 (ครั้งแรกใส่เมื่อตอนทำเทือก)
- ให้ทางใบด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. หรือ ไซโตคินนิน. เดี่ยวๆอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างๆละเท่ากัน 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน โดยฉีดพ่นให้เปียกโชกทั่วทั้งต้นลงถึงพื้นดิน จะช่วยส่งเสริมให้ต้นข้าวแตกกอได้จำนวนลำมากขึ้น
- การใส่ “ฮิวมิค แอซิด และ ฮอร์โมนบำรุงราก” ไว้ก่อนล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเตรียมเทือก เมื่อต้นข้าวโตถึงระยะแตกกอก็จะแตกกอดีมาก ถ้าไม่ได้ใส่ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเตรียมเทือกก็ให้มาใส่ในช่วงตกกล้าก็ได้ หรือถ้าไม่ได้ใส่ไว้ล่วงหน้าทั้งช่วงเตรียมเทือกและช่วงตกกล้าก็ขอให้มาใส่ช่วงแตกกอแทนโดยฉีดพ่นลงดินโดยตรงโชกๆก็ได้เหมือนกัน
- การให้สารอาหารต่างๆโดยการฉีดพ่นให้โชกจนเปียกใบแล้วลงไปถึงพื้นกระจายทั่วแปลง จะช่วยให้ได้ประสิทธิภาพของสารอาหารที่ให้เหนือกว่าการฉีดพ่นทางใบอย่างเดียว
- ต้นข้าวในน้ำน้อยพอเฉอะแฉะหน้าดินจะแตกกอดีกว่าต้นข้าวน้ำขังค้างหน้าดิน
3. ระยะตั้งท้อง (แต่งตัว)
ทางใบ :
- ในรอบ 7 วัน ให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. 1 รอบกับให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. อีก 2 รอบ โดยการฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ควบคุมปริมาณน้ำพอแฉะหน้าดินให้เสมอกันทั่วทั้งแปลง
- สำรวจแปลง พิจารณารูปร่างลักษณะของต้นข้าว ต้นที่แตกกอมาก/น้อย ต้นที่โต/เล็ก ขนาดต้นสูง/ต่ำ รูปร่างอวบอ้วน/ผอมเรียว ที่ผิดเพี้ยนไปจากต้นข้าวส่วนใหญ่ทั้งแปลง ตรวจพบแล้วให้ถอนทิ้งเพื่อป้องกันข้าวปน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อต้นข้างถึงระยะตั้งท้องหรือแต่งตัว
- การให้ 0-42-56 นอกจากช่วยสะสมแป้งและน้ำตาลเหมือนอาการอั้นตาดอกในไม้ผลแล้วยังช่วยให้ส่วนลำต้นต้นไม่สูงอีกด้วย..... ลำต้นไม่ขยายขนาดทางสูงแต่จะขายขนาดทางข้าง ทำให้ลำต้นใหญ่ขึ้นแล้วส่งผลให้ต้นไม่ล้ม
- อาจพิจารณาให้ทางใบด้วยแคลเซียม โบรอน 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน จะส่งผลให้ต้นได้สะสมแคลเซียมไว้ล่วงหน้าซึ่งจะส่งใหได้ผลผลิตที่ดียิ่งขึ้นเมื่อถึงระยะน้ำนม
4. ระยะออกรวง
ทางใบ :
- ในรอบ 7 วัน ให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (400 กรัม) + เอ็นเอเอ. 100 ซีซี + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. 1 รอบกับให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. อีก 1 รอบ โดยการฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ควบคุมปริมาณน้ำพอแฉะหน้าดินให้เสมอกันทั่วทั้งแปลง
- สำรวจแปลงสังเกตต้นที่ออกดอกเร็ว/ช้า ช่อดอกยาว/สั้น ขนาดดอกเล็ก/ใหญ่ ดอกพัฒนาเร็ว/ช้า และลักษณะอื่นๆของดอกในบางต้นที่ผิดเพี้ยนไปจากดอกของต้นอื่นส่วนใหญ่ทั้งแปลง พบแล้วให้ถอนทิ้งเพื่อป้องกันข้าวปน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อช่อดอก (หางแย้) โผล่พ้นกาบขึ้นมาได้ประมาณ 1-2 ซม.
- นอกจาก 0-42-56 แล้ว ยังสามารถใช้ 10-45-10 แทนได้
- ให้เอ็นเอเอ.เดี่ยวๆ ทางใบ 2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน เพื่อบำรุงทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์ ผสมติดดี ซึ่งจะส่งผลให้เกสรผสมติดแล้วพัฒนาเป็นผล (เมล็ดข้าว) ได้มากขึ้น
- การให้ “46-0-0 (400 กรัม) / น้ำ 100 ล.” หรือ “46-0-0 (400 กรัม) + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี. + น้ำ 100 ล.” หรือ “46-0-0 (400 กรัม) + แม็กเนเซียม 200 กรัม + สังกะสี 20 กรัม + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม” ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1 รอบ จะช่วยให้ดอกออก (พุ่ง) ดีขึ้น ประสิทธิภาพเท่าหรือเหนือกว่าสารลมเบ่งที่จำหน่ายในท้องตลาด
- ช่วงออกดอกให้สำรวจแปลง ถ้าดอกออกพร้อมกันทั้งแปลงดีให้ฉีดพ่น 2 รอบ แต่ถ้าดอกออกไม่พร้อมกันก็ให้ฉีดพ่น 3 รอบ ทั้งนี้ปุ๋ยทางใบสูตรเปิดตาดอกหรือกระตุ้นการออกดอกนอกจากจะช่วยให้ต้นข้าวออกดอกดีแล้วยังช่วยบำรุงดอกให้สมบูรณ์ แข็งแรงและ โตเร็วทันกันได้อีกด้วย
5. ระยะน้ำนม
ทางใบ :
- ในรอบ 7-10 วัน ให้น้ำ 100 ล. + ปุ๋ยทางใบสูตรบำรุงผล 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. 2 รอบ สลับครั้งกับให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนน้ำดำ 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. อีก 2 รอบ โดยการฉีดพ่นพอเปียกใบ ให้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงระยะพลับพลึง
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ควบคุมปริมาณน้ำพอแฉะหน้าดินให้เสมอกันทั่วทั้งแปลง
- ขั้นตอนนี้ถ้าได้ใส่ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 5 ล.+ 21-7-14 (5 กก.)/ไร่ จะช่วยบำรุงเมล็ดข้าวให้มีขนาดใหญ่ เมล็ดเต็ม ใสแกร่ง ไม่เป็นท้องปลาซิว น้ำหนักดี
- สำรวจแปลงสังเกตการออกรวงของต้นข้าว รวงสั้น/ยาว เมล็ดเล็ก/ใหญ่/ยาว/สั้น/กลม สีของเปลือกหุ้มเมล็ด ที่มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากต้นข้าวส่วนใหญ่ทั้งแปลง ตรวจพบแล้วให้ถอนทิ้งเพื่อป้องกันข้าวปน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อเมล็ดเริ่มขึ้นรูป หรือเมื่อบีบเมล็ดแล้วมีน้ำในเมล็ด (สีขาวนวลหรือขาวอมเหลืองเหมือนนมสด)
- ช่วงเมล็ดเริ่มๆ เป็นน้ำนม ให้ “แคลเซียม โบรอน + ไคตินไคโตซาน” 1 รอบ จะช่วยบำรุงให้เมล็ดข้าวสมบูรณ์ขึ้น มากกว่าที่ไม่ได้ให้อย่างเห็นได้ชัด
- ตลอดระยะน้ำนม การให้ทางใบด้วยแม็กเนเซียม.จะช่วยให้ใบข้าวเขียวสดถึงวันเกี่ยว.... การให้สังกะสี.จะช่วยสร้างแป้ง....และการให้แคลเซียม โบรอน.จะช่วยคุณภาพเมล็ดข้าวดี.....เมื่อให้รวมครบทุกตัวแล้วจะช่วยให้เมล็ดข้าวเปอร์เซ็นต์แป้งสูง เมล็ดแกร่งเปอร์เซ็นต์ข้าวหักน้อย ไม่เป็นท้องปลาซิว เมล็ดใส น้ำหนักดี กลิ่นดี
- ต้นข้าวที่มีความสมบูรณ์เนื่องจากได้รับสารอาหารครบสูตร (ธาตุหลัก-ธาตุรอง-ธาตุเสริม-ฮอร์โมน และ อื่นๆ) สม่ำเสมอตรงตามระยะพัฒนาการในแต่ละระยะ ลำต้นจะยังคงตั้งตรงในขณะที่รวงจะโค้งโน้มลง
- ธาตุอาหารที่ช่วยบำรุงให้เมล็ดเต็ม แกร่ง ใส ไม่เป็นท้องปลาซิว น้ำหนักดี เปอร์
เซ็นต์แป้งสูง คือ “ธาตุรอง/ธาตุเสริม/ฮอร์โมน” ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวนาจะต้องให้อย่างสม่ำเสมอให้ได้ ทั้งการใส่เตรียมไว้ในดินล่วงหน้า (ช่วงเตรียมเทือก) และให้ทางใบภายหลังเมื่อต้นข้าวโตแล้ว
- ต้นข้าวที่เมล็ดเป็นน้ำนมแล้ว ถ้าให้ทางใบด้วย 14-7-21 เมล็ดจะหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นเมล็ดแก่ (พลับพลึง-เมล็ดแกร่งใส) พร้อมเกี่ยวทันที กรณีนี้เหมาะสำหรับการบำรุงเพื่อเร่งให้เมล็ดแก่ทันเก็บเกี่ยวตามกำหนด ณ เวลาที่ต้องการหรือเกี่ยวก่อนครบอายุ
6. ระยะก่อนเกี่ยว (พลับพลึง)
ทางใบ :
- ในรอบ 10 วัน ให้น้ำ 100 ล. + 0-21-74 (400 กรัม) หรือ มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี. (อย่างใดอย่างหนึ่ง) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. 1 รอบกับให้น้ำ 100 ล. + นมสด 100-200 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. อีก 1 รอบ ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1 รอบ ก่อนเกี่ยว 10 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ควบคุมปริมาณน้ำพอแฉะหน้าดินให้เสมอกันทั่วทั้งแปลง
- สำรวจแปลงสำรวจลักษณะต้นข้าว สังเกตอาการโค้งงอลงของรวง โค้งลงต่ำมาก/น้อย ขนาดและรูปร่างของรวง ขนาดเมล็ดเล็ก/ใหญ่/ยาว/สั้น/กลม/แบน สีเปลือกหุ้มเมล็ด ความแก่/อ่อน และอื่นๆ ที่ผิดเพี้ยนไปจากลักษณะของเมล็ดข้าวส่วนใหญ่ในแปลงแปลง ตรวจพบแล้วถอนทิ้งเพื่อป้องกันข้าวปน
- งดน้ำเด็ดขาดก่อนลงมือเกี่ยว 7-15 วัน
หมายเหตุ :
- ช่วงปลายรวงเริ่มก้มหรือปลายโค้งลงเนื่องจากน้ำหนักของรวงนั้น ใบธงจะเริ่มเหี่ยวเหลืองเนื่องจากใกล้หมดอายุขัย เมื่อใบเริ่มเหลืองนั่นหมายความว่าใบเริ่มเลิกการสังเคราะห์อาหารแล้ว ในขณะที่เมล็ดส่วนปลายรวงยังเป็นน้ำนมอยู่ จึงทำให้เมล็ดส่วนผลายรวงไม่ได้รับสารอาหาร ส่งผลให้เป็น "เมล็ดลีบ" กรณีนี้แก้ไขด้วยการให้ "แม็กเนเซียม + สังกะสี + แคลเซียม โบรอน" 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดระยะน้ำนม
- การให้มูลค้างคาวสกัดจะทำให้ขั้ว (ระแง้คอรวง) เหนียว เครื่องนวดข้าวในรถเกี่ยวจะสลัดเมล็ดข้าวออกจากรวงไม่ได้หรือสลัดออกมาไม่หมด เมล็ดข้าวส่วนนี้จะปลิวไปกับเศษฟาง เพราะฉะนั้นการให้มูลค้างคาวสกัดจะต้องให้ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้มากเกินอัตราที่ต้นข้าวสามารถรับได้ หรือหากเห็นว่าเมล็ดแกร่งใสดีแล้วก็ไม่ต้องให้มูลค้างคาวสกัดก็ได้
- การให้นมสด 1 รอบ นอกจากช่วยลดความชื้นในเมล็ดข้าวหลังเก็บเกี่ยวได้ดีแล้ว ยังช่วยลดปริมาณไนเตรทในเมล็ดข้าวได้อีกด้วย
- ลักษณะต้นข้าวระยะพลับพลึงที่สมบูรณ์แข็งแรง ลำต้นจะยังคงสีเขียวอยู่ ใบบางส่วนยังเป็นสีเขียวแต่บางส่วนเริ่มเหลือง รวงข้าวยังไม่แห้งสนิทหรือสีออกเขียวเล็กน้อย
- ต้นข้าวที่สมบูรณ์แข็งแรง เนื่องจากได้รับ “ธาตุรอง/ธาตุเสริม” ถูกต้อง และสม่ำเสมอ ลำต้นจะแข็งแรงตั้งตรงไม่ล้ม และรวงข้าวระยะพลับพลึงจะโค้งลงไม่มากนัก หรือ โค้งลงน้อยกว่าต้นที่ไม่สมบูรณ์ การที่ต้นไม่ล้มและรวงโค้งลงไม่มากนี้จะช่วยให้รถเกี่ยวทำงานได้ง่าย เปอร์เซ็นต์ความสูญเสียเมล็ดข้าวก็น้อยด้วย
- ต้นข้าวระยะพลับพลึง (ก่อนเกี่ยว) แต่ใบยังเขียวหรือเขียวอมเหลือง บ่งบอกถึงความสมบูรณ์สูงของต้น ซึ่งจะส่งให้เมล็ดข้าวคุณภาพดี
- ให้น้ำ 100 ล.+ น้ำคั้นใบเตยสด 250-300 ซีซี. + กลูโคสน้ำ 100 ซีซี. ฉีดพ่นทางใบ ก่อนเกี่ยว 5-7 วัน จะช่วยบำรุงให้ข้าวมีกลิ่นหอมดีขึ้น
- การให้ "แม็กเนเซียม + สังกะสี" ตั้งแต่ช่วงระยะกล้า 1-2 รอบ กับให้ช่วงระยะน้ำนม 2 รอบ....แม็กเนเซียมจะช่วยบำรุงให้ใบข้าวเขียวถึงวันเกี่ยว และสังกะสีจะช่วยสร้างแป้ง ทำให้ต้นสมบูรณ์ เมล็ดเต็ม ใส แกร่ง แข็ง
- ก่อนเกี่ยว 15 วัน ให้ "14-7-21 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม + แคลเซียม โบรอน" 2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน และให้รอบสุดท้ายก่อนลงมือเกี่ยว 5-7 วัน นอกจากช่วยปรับปรุงคุณภาพเมล็ดข้าวแล้ว ยังช่วยลดความชื้น ณ วันเกี่ยวได้อีกด้วย
สรุปขั้นตอนทำนาข้าวอย่างประณีต
ขั้นตอนที่ 1 เตรียมแปลง
ขั้นตอนที่ 2 เตรียมเทือก
ขั้นตอนที่ 3 เตรียมเมล็ดพันธุ์
ขั้นตอนที่ 4 เตรียมเพาะกล้า
ขั้นตอนที่ 5 บำรุงระยะกล้า
ขั้นตอนที่ 6 บำรุงระยะแตกกอ
ขั้นตอนที่ 7 บำรุงระยะตั้งท้อง (แต่งตัว)
ขั้นตอนที่ 8 บำรุงระยะออกดอก
ขั้นตอนที่ 9 บำรุงระยะน้ำนม
ขั้นตอนที่ 10 บำรุงระยะก่อนเกี่ยว (พลับพลึง)
..... แปลง-เทือก-พันธุ์ ..... กล้า-กอ-ท้อง ..... ดอก-นม-เกี่ยว ....
*********************************************
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.