-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-เชื่อมโยงผลผลิต...เครื่อข่ายเพื่อการเรียนรู้
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - เครื่องหว่านข้าว ชาวนาทำเอง
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

เครื่องหว่านข้าว ชาวนาทำเอง

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 03/08/2010 9:41 pm    ชื่อกระทู้: เครื่องหว่านข้าว ชาวนาทำเอง ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ที่มา http://www.asamedia.org/2010/07/8974/







คนไทยทำได้ เครื่องหว่านข้าว ชาวนาทำเอง


ปัจจุบันการทำการเกษตรของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรกรรมเชิง พาณิชย์(ปลูกเพื่อขาย) เป็นการเพาะปลูกบนพื้นที่ที่มากขึ้น และต้องการผลผลิตที่มากขึ้นไปด้วย เหตุผลดังกล่าว ทำให้ในระยะหลายปีมานี้เครื่องจักรกลทางการเกษตรได้เข้ามามีบทบาทในวิถีการ ทำเกษตรกรรมในทุกขั้นตอนจนแยกออกจากกันไม่ได้ ด้วย เหตุผลดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวทั้งในแง่ ของเชื้อเพลิง การบำรุงรักษา หรือค่าจ้างจักรกลทางการเกษตร(กรณีไม่มีเป็นของตนเอง) ภาพรวมของต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้หลังจากหักลบต้นทุนกับรายได้จากการขายผลผลิต แล้วมีผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลงของเกษตรกรเอง นอกจากนั้นจะส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น รวมถึงศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกในด้านราคาของสินค้าเกษตรที่เรามีต้นทุน การผลิตที่สูงกว่าทำให้เสนอราคาสู้กับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ไม่ได้

นาข้าวก็ไม่ต่างจากการทำเกษตรกรรมประเภทอื่น ที่มีการใช้เครื่องจักรตั้งแต่การเตรียมดินไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ในแต่ละช่วงของการทำนาตลอด ๔ เดือนเมื่อชาวนาในยุคนี้หนีเครื่องจักรไม่พ้น จึงหนีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไม้พ้นเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ชาวนากลุ่มหนึ่งซึ่งใช้ชื่อกลุ่มว่า “ศูนย์สาธิตเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านวังแดง”ได้คิดประดิษฐ์เครื่อง หว่านข้าวสำหรับนาหว่านน้ำตมได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีคุณประเทือง สีสุข ชาวนาจาก ต.วังแดง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นผู้ออกแบบและประดิษฐ์ เครื่องหว่านข้าวฝีมือชาวนาเครื่องนี้มีเครื่องต้นกำลังเป็นเครื่องยนต์ เบนซินขนาด ๖ แรงม้า โดยเครื่องยนต์จะส่งกำลังให้ส่วนประกอบหลัก ๒ ส่วนคือ ส่วนของล้อที่ใช้ขับเคลื่อนในแปลงนา และส่วนของจักรกลที่ทำหน้าที่ในการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ้งมีลักษณะเป็นท่อ กลมมีการเจาะรูไว้เป็นทางออกของเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยระยะห่างของรูที่เจาะจะเป็นตัวกำหนดระยะห่างในการหว่านข้าว เหนือท่อกลมขึ้นไปจะเป็นส่วนของตู้ที่ใช้เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยมีช่องให้ เมล็ดพันธุ์ไหลลงสู่ท่อกลมที่เป็นตัวควบคุมการหว่าน โดยช่องเมล็ดพันธุ์สามารถปรับให้เมล็ดพันธุ์ไหลลงช้าหรือเร็วได้ ผลจากการทดลองใช้ออกมาเป็นที่น่าพอใจ นอกจากช่วยประหยัดแรงงานแล้วยังช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์โดยใช้เมล็ดพันธุ์ ข้าวเพียง ๑๕-๑๘ กิโลกรัม/ไร่ (ปรกติถ้าใช้คนหว่านจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์อย่างต่ำ ๓๐ กิโลกรัม/ไร่) ระยะแถวของต้นข้าวออกมาดูสม่ำเสมอไม่ถี่ไม่ห่างจนเกินไปทำให้ดูแลง่าย ความเร็วในการหว่านอยู่ในช่วง ๑.๕-๒ไร่/ชั่วโมง (ในส่วนนี้ความเร็วยังเป็นรองการใช้แรงงานคนหว่านที่สามารถหว่านได้ ๓-๔ ไร่/ชั่วโมง/คน)

เครื่อง หว่านข้าวภูมิปัญญาชาวนาเครื่องนี้ นับเป็นอีก ๑ ความภาคภูมิใจของคนไทยที่จุดประกายให้เรามีความหวังว่าต่อไปเกษตรกรไทยจะไม่ ต้องซื้อเครื่องมือทางการเกษตรที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ แสงสว่างและความหวังสำหรับชาวนาไทยยังมี หากเครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์นี้ได้รับการต่อยอดให้ผลิตออกมาจำหน่ายในเชิง อุตสาหกรรม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 04/08/2010 5:32 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

รายงานพิเศษ วช. เรื่อง

เครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวพ่วงรถไถเดินตาม

นักประดิษฐ์ไทย สร้างเครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวพ่วงรถไถเดินตามสำเร็จ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หวังช่วยทุ่นแรงและลดต้นทุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศไทย

ข้าวไทย เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่ามีรสชาติอร่อยและคุณภาพดี ซึ่งหนึ่งในพันธุ์ที่ดีที่สุดคือข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ปลูกกันมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทั้ง จ.สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และมหาสารคาม แต่พื้นที่ดังกล่าวมักประสบปัญหาภัยแล้ง และการปลูกข้าวโดยการหว่านของเกษตรกร มักทำไม่ทันฝนแรกในฤดูฝนและเมื่อพบฝนทิ้งช่วง จะไม่สามารถปลูกข้าวได้ผลตามต้องการ

ดังนั้น นายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี จึงเริ่มคิดค้นเครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวพ่วงรถไถเดินตาม เครื่องแรกของไทย ตั้งแต่ปี 2545 จนสำเร็จและได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2550 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดยเครื่องดังกล่าวเป็นการดัดแปลงรถไถเดินตามที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว มาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นเครื่องหยอดและหว่านข้าวในเครื่องเดียวกัน โดยใช้ถังบรรจุเมล็ดข้าวและชุดกำหนดเมล็ดข้าวร่วมกัน โดยใช้อุปกรณ์เปิดร่องและกลบเมล็ด

ในกรณีหยอดข้าว ส่วนกรณีหว่านข้าวจะใช้อุปกรณ์กระจายเมล็ดติดที่ผลจานที่ใช้ในการเตรียมดิน เมื่อใช้เครื่องดังกล่าวจะช่วยทุ่นแรงเกษตรกร เพราะทำงานได้เร็วถึงกว่า 10 ไร่ต่อวัน หมดปัญหาปลูกไม่ทันฝน ลดความเสี่ยงในกรณีฝนทิ้งช่วง ช่วยแก้ปัญหาความไม่สม่ำเสมอของต้นข้าว

ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถควบคุมจำนวนและความสม่ำเสมอของเมล็ดที่หยอดและหว่านลงไปได้ โดยใช้เมล็ดเพียง 10 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมหากเกษตรกรลงมือเองต้องใช้เมล็ดกว่า 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ จึงช่วยลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์และต้นทุนให้เกษตรกรได้ถึงร้อยละ 50 และยังได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 18 จากความสม่ำเสมอของเมล็ดที่ลงไป

ทั้งนี้ นายสุรเวทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังต้องการขยายและส่งเสริมให้โรงงานที่มีความพร้อม และอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้ามาผลิตเครื่องดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ หากผลิตในเชิงพาณิชย์ทีละมากๆ จะเป็นการลดต้นทุนเครื่องให้มีราคาถูกลงยิ่งขึ้น

จากเดิมที่เครื่องหว่านขนาดเล็กติดรถไถเดินตาม ราคากว่า 4,000 บาท เครื่องหว่านขนาดใหญ่ติดรถแทรกเตอร์ ราคา 10,000 บาท ส่วนเครื่องหยอดขนาดเล็กติดรถไถเดินตาม เครื่องละ 9,000 บาท และเครื่องหยอดขนาดเล็ก ติดรถแทรกเตอร์ ราคาเครื่องละ 40,000 บาท ทั้งนี้หากราคาถูกลง จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสได้ใช้เครื่องดังกล่าวมากขึ้น

โดยปัจจุบันได้มีการผลิตเครื่องดังกล่าวจำหน่ายให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 40 เครื่อง โดยมีโรงงานอยู่แห่งเดียวที่ จ.ลพบุรี ซึ่งหากมีการผลิตในพื้นที่ ก็จะลดค่าขนส่งไปได้มาก โดยคณะผู้วิจัยจะสนับสนุนความรู้ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต แต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้นในเวลาที่เร็วขึ้น หากผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่สนใจเครื่องดังกล่าว สามารถติดต่อเพิ่มเติมกับคณะผู้วิจัยได้ที่โทร. 08-4656-8019

news.sanook.com › สกู๊ปพิเศษ -
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 04/08/2010 5:53 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

วิจัยและพัฒนาเครื่องหยอด-หว่านข้าว...สู่ทุ่งกุลาร้องไห้

ทุ่งกุลาร้องไห้มีพื้นที่ปลูกข้าวดอกมะลิ 105 ถึง 10 ล้านไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และการกระจายของฝนไม่ดี นอกจากนี้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ยังแห้งแล้งและขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรขาดแรงงานในการปลูกข้าว ข้าวในแปลงขึ้นไม่สม่ำเสมอเป็นสาเหตุให้ได้ผลผลิตต่ำและต้องใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูง ที่สำคัญเกษตรกรยังไม่มีเครื่องหยอดหรือหว่านข้าวใช้

นาย สุรเวทย์ กฤษณเศรณี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า การแก้ปัญหาการปลูกข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นอกจากจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ กรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาเครื่องปลูกข้าวเพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวและการผลิตเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้จนประสบความสำเร็จทั้งหมด 4 เครื่อง

เครื่องหยอดข้าว 10 แถว ใช้พ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 60-70 แรงม้าสามารถหยอดข้าวได้เป็นแถวครั้งละ 10 แถว เครื่องสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วประมาณ 5-6 ไร่ต่อชั่วโมง หรือวันละ 40- 50 ไร่ อัตราการหยอดเมล็ดพันธุ์ 9-10 กิโลกรัมต่อไร่ เครื่องหยอดข้าว 10 แถว เหมาะสมกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพราะหยอดได้เป็นแถวเป็นแนว มีความแม่นยำในการหยอด ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการกำจัดวัชพืช ข้าวเรื้อและข้าวปน ราคาประมาณเครื่องละ 40,000-50,000 บาท

เครื่องหยอดข้าว 4 แถวติดรถไถเดินตาม จากการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้พบเกษตรกรมีรถไถเดินตามประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรใช้รถไถเดินตามให้สามารถทำงานได้มากขึ้น จึงได้พัฒนาให้รถไถเดินตามสามารถหยอดเมล็ดข้าวได้โดยใช้เครื่องหยอดติดกับรถไถเดินตาม ความสามารถในการทำงานของเครื่อง 1.7 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการหยอดเมล็ดพันธุ์ 8.2 กิโลกรัมต่อไร่ เครื่องนี้มีความเหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกข้าวไว้ในเมล็ดพันธุ์ ราคาเครื่องประมาณ 5,000 บาท

เครื่องหว่านข้าวติดรถแทรกเตอร์ เป็นเครื่องหว่านข้าวที่ใช้พ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาดต้นกำลัง 60-70 แรงม้า การทำงานของเครื่องจะเป็นลักษณะหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในแปลงพร้อมกับทำการไถกลบเมล็ดข้าวไปด้วย จึงลดขั้นตอนในการทำงานของเกษตรกร นอกจากนี้การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเครื่องหว่านจะทำให้มีความสม่ำเสมอของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก สามารถหว่านได้ 3.1 ไร่ต่อชั่วโมง ทำงานได้ 30-40 ไร่ต่อวัน อัตราการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว 15 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับเกษตรกรรายใหญ่เมื่อใช้เครื่องหว่านในแปลงนาขงตนเองเสร็จแล้วสามารถนำไปรับจ้างหว่านเมล็ดข้าวในแปลงนาอื่นได้ ราคาเครื่องหว่านติดรถแทรกเตอร์ประมาณเครื่องละ 8,000 บาท

เครื่องหว่านข้าวติดรถไถเดินตาม ลักษณะการทำงานคล้ายกับเครื่องหว่านข้าวใหญ่ การใช้เครื่องชนิดนี้จะช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน เนื่องจากเครื่องรวมการหว่านและการกลบไว้ในขั้นตอนเดียว ความสามารถในการทำงานของเครื่องสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ได้ 1.2 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการหว่านเมล็ด 8.2 กิโลกรัมต่อไร่

เครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวทั้ง 4 เครื่องดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเมล็ดพันธุ์แล้ว เกษตรกรยังสามารถปลูกข้าวได้เต็มพื้นที่และเร็วขึ้น เมล็ดข้าวที่ใช้วิธีการหว่านหรือหยอดด้วยเครื่องจะได้รับการโรยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นข้าวเติบโตขึ้นจึงมีความแข็งแรง ทนแล้ง และให้ผลผลิตสูง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นาย สุรเวทย์ กฤษณเศรณี โทร. 0-2940-5566 ทุกวันในเวลาราชการ


ที่มา : พนารัตน์ เสรีทวีกุล. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 19,982 วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2547 หน้า 12



www.thaigreenagro.com/aticle.aspx?id=1279 -
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 04/08/2010 5:55 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น

ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น หมายถึง ความรู้ของชาวบ้านที่เรียนรู้มาจาก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้องหรือผู้มีความรู้ในหมู่บ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ แล้วมาประยุกต์หรือหรับใช้ หรือผสมผสานความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ที่ได้รับมาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับวิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีนั้น พ่อ แม่ บรรพบุรุษหรือผู้มีความรู้ใช้วิธีสอน โดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ลูกหลานเลียนแบบในการทำจากตัวอย่าง ทั้งนี้ก็โดยอาศัยศักยภาพและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต ที่สอดคล้องกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของตนเอง ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีท้องถิ่นที่ปรากฏในวิถีชีวิตของชาวบ้านนี้ สืบเนื่องมาจากองค์ประกอบในการดำรงชีวิตพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เป็นต้นว่า อาหาร การกิน การประกอบอาหาร การถนอมอาหาร การรักษาโรคภัยไข้เจ็บจากยาสมุนไพรและความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปกรรมการสร้างสิ่งสวยงามตลอดจนการถักทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักสาน โดยใช้ไม้ไผ่ เถาวัลย์ ใบไม้ ใบตอง ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและที่อยู่อาศัย

การทำมาหากิน
เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของจังหวัดนครพนม เป็นที่ดินปนทราย มีที่ราบลุ่มตามบริเวณห้วยหนองคลองบึงบ้างและอยู่ในเขตลมมรสุม ฤดูฝน ฝนจึงตกชุก เหมาะแก่การทำนา ทำไร่ ในห้วยหนอง คลองบึง มีปลาธรรมชาติชุกชุม (แต่ขณะนี้สัตว์ที่เป็นอาหารมีน้อยลงทุกที ต้องเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ขายเป็นอาชีพ)

การทำเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่
สำหรับการทำนา ทำไร่นี้อาศัยที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เคยทำมาเช่นไร ก็ทำตามมาอย่างนั้น เช่น การทำไร่ ต้องเตรียมที่ถางต้นไม้ตัดต้นไม้ลง ทิ้งต้นไม้ให้แห้งตาย แล้วใช้ไฟเผาเพื่อให้เตียน เถ้าถ่านก็จะได้เป็นปุ๋ยของต้นข้าว การทำนาก็ทำเหมือนบรรพบุรุษเคยทำมาที่ฉลาดหน่อยก็คือ การเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย ควบคู่กับการทำนาก่อนจะถึงฤดูทำนา คือ ราว ๆ เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ก็เอาวัว ควาย ผูกเป็นคอกในไร่นา ไร่ละ 3-4 วัน และก็ย้ายไปไร่อื่น ทำให้ปุ๋ยกระจายไปสู่ที่ต่าง ๆ โดยปริยาย

การทำนา นอกจากปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมแล้วยังมีปัญหา ปูกัดต้นข้าวนาที่อยู่ในที่ลุ่มหรือมีหนองน้ำ ชาวบ้านก็หาวิธีกำจัดปู ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเช่นกัน โดยเขาเอาปี๊บน้ำมันก๊าดที่ใช้แล้วเปิดปากออกเอาไปฝังไว้ตรงที่มีปูกัด โดยฝังให้ปากปี๊ปเสมอกับพื้นดินแล้วเอาเหยื่อคือ ปลาดิบ หรือ ไส้เดือนสับ ๆ วางไว้ในปี๊ป เมื่อปูลงไปกินแล้วจะขึ้นไม่ได้ภูมิปัญญาด้านอื่น ๆ เช่น การทำเครื่องดัก นก หนู ที่จะมาทำลายข้าวก็มีมากมาย

การทำไร่ ขึ้นแรกชาวบ้านก็ต้องตัดต้นไม้ ถางหญ้าให้เตียนแล้วกองไว้เป็นกองทิ้งตากแดดไว้จนแห้งแล้วเอาไฟมาเผาปราบที่ให้เตียน จึงเริ่มปลูกข้าวโดยเอาไม้กลม ๆ หรือใช้ด้ามเสียมก็ได้ กระทุ้งลงไปในดินเอาเมล็ดข้าวใส่ลงไปเพื่อให้ทำเร็วขึ้นชาวบ้านก็ใช้ไม้เฮี้ย มาทำเป็นกระบอกตามความยาวของปล้องไม้ ยาวประมาณ 40 ซม. ให้มีข้อไว้ 1 ข้อ ภายในกระบอกก็เอาเมล็ดพันธุ์ข้าวใส่ เมื่อหยอดข้าวลงหลุมแล้ว ก็เอากระบอกไม้เฮี้ยนั้นแหละ กระทุ้งดินกลบหลุมที่มีเมล็ดข้าวอยู่เรียกว่า หน่ำข้าว

เทคโนโลยีชาวบ้านเกี่ยวกับการทำไร่ ชาวบ้านได้คิดประดิษฐ์เครื่องมือหยอดพันธุ์ข้าวลงในดิน โดยกระแทกเครื่องมือลงในดิน แล้วเมล็ดพันธุ์ข้าวจะไหลลงในหลุมเองทำให้การปลูกข้าวเร็วขึ้น เครื่องมือหยอดเมล็ดพืชดังกล่าวนี้ เป็นผลงานผลิตจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่คิดนำวัสดุเหลือใช้ ที่มีในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือ ใช้ในการทำไร่อย่างได้ผลนอกจากนั้นยังมีวิธีการนำเครื่องมือบางชนิด ไปดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างก็มี

หงษ์ประดิษฐ์
หงษ์ประดิษฐ์ เป็นชื่อผลงานสร้างสรรค์ค์ของ นายหงษ์ ไชยสุร ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตชิ้นงานเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลงานที่ นายหงษ์ ไชยสุระ ได้ผลิตขึ้นนั้นถือว่าเป็นชิ้นงาน ต้นแบบ ได้เนื่องจากเป็นผลงานที่สร้างจากวัสดุเหลือใช้และวัสดุที่มีในท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น แม้ว่าการผลิตชิ้นงานแต่ละอย่างจะไม่มีงบประมาณสนับสนุน เขาก็ประยุกต์ดัดแปลงประดิษฐ์ขึ้นจนสำเร็จ สามารถใช้ได้ผลดี เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านและส่วนราชการทั่วไป

นายหงษ์ ไชยสุระ เป็นบุตรของ นายไพร - นางวงศ์ ไชยสุระ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2487 ณ บ้านเลขที่ 19 หมู่ 8 ต.โพนทอง อ.บ้านแพง จังหวัดนครพนม

การศึกษา
จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 ที่โรงเรียนมัธยมบ้านแพง ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ยุบไปแล้ว แต่อาคารเรียนจะยังคงสภาพปรากฏให้เห็นอยู่ (บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านแพง) ขณะเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 นั้น มี นายหนูปอน ศิริผลา เป็นครูใหญ่ เมื่อเรียนจบมัธยมปีที่ 3 แล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาระยะหนึ่ง เพราะยากจนไม่มีทุนเรียนต่อ ด้วยความตั้งใจอยากเรียนต่อ จึงไปหา นายเลี่ยน โกษาแสง ซึ่งเป็นครูคนหนึ่งที่เขาเคารพนับถือมาก นายเลี่ยน โกษาแสง ได้ให้ข้อคิดแก่เขาว่าสังคมในอนาคต วิชาการด้านอิเล็กทรอนิกส์จะมีบทบาทต่อสังคมมาก ควรจะไปเรียนหรือหาความรู้ด้านนี้จะดีที่สุด นายเลี่ยน โกษาแสง จึงพาไปฝากให้ฝึกงานที่ร้านซ่อมโทรทัศน์ที่จังหวัดสกลนคร ด้วยความเอาใจใส่ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน จึงเข้าใจได้รวดเร็ว ภายหลังได้เป็นหัวหน้าช่าง ต่อมาย้ายไปทำงานการช่างที่จังหวัดอุดรธานี รับซ่อมเครื่องกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ จนอายุได้ 21 ปี จึงกลับบ้าน เพื่อเข้ารับการเกณฑ์ทหารและได้สมรสในเวลาต่อมา

มูลเหตุที่ทำให้เป็นนักคิดค้นและประดิษฐ์ผลงาน ในขณะที่เป็นช่างทำงานประจำที่ร้านซ่อมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อยู่นั้น เขาครุ่นคิดอยู่เสมอว่า การยึดอาชีพเป็นช่างประจำร้านไปเรื่อย ๆ จะไม่มีโอกาสร่ำรวยคงเป็นเพียงลูกจ้างเขาไปตลอด ถ้าหากกลับไปเป็นช่างอิสระที่บ้านเกิดก็คงจะลำบากมากขึ้น เนื่องจากเป็นหมู่บ้านชนบทห่างไกลความเจริญ การไปหาซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ไม่สะดวก แต่ก็มีความคิดไปอีกมุมมองหนึ่งว่า ที่ดินทำกินทางการเกษตรที่บ้านเกิด ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านแพงนั้น ก็มีมากพอที่จะไปเริ่มต้นบุกเบิกทำกินได้ จึงตัดสินใจลาออกจากการทำงานเป็นช่างซ่อมกลับมาบ้านเกิดซึ่งขณะนั้นก็สมรสแล้ว จึงได้ลงมือเริ่มบุกเบิกทำนา ทำสวน ซึ่งต้องอาศัยลำแข้งหนึ่งสมองและสองมือน้อย ๆ ของตัวเองทุ่มเทให้งานทางการเกษตร เริ่มจากขุดบ่อน้ำ ทำสวนสับปะรด และทำนา จากกิจกรรมหลายขั้นตอน ในการทำนาและทำสวนนี้เอง ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นภาระหนักและยุ่งยากมาก แต่ชาวนาชาวสวนในชนบท ส่วนใหญ่ก็ต้องทนทุกข์ต่อสู้ตามชะตากรรมเรื่อยมาเราจึงคิดว่าถ้าหากใช้ความรู้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียนมา คิดประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงในการทำนาทำสวนได้ก็คงจะดี และเป็นการท้าทายความสามารถของตนเองด้วย หากสำเร็จก็จะขยายผลไปช่วยเพื่อนชาวนา ชาวสวนผู้ยากจนในท้องถิ่นให้ลดความลำบากในการประกอบอาชีพลงไปได้บ้าง

ผลงานที่ประดิษฐ์
รถยนต์ หงษ์ประดิษฐ์ ใช้เครื่องเรือหางยาว ประกอบติดตั้งกับรถเข็นปรับปรุงให้เป็นรถยนต์ มีเกียร์ ใช้บรรทุกขนของ ใบยาสูบ ได้เหมือนรถยนต์ทั่วไป มีความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เครื่องหยอดเมล็ดพืช จากวัสดุเหลือใช้ คือ แป๊ปน้ำ กระป๋องน้ำมันเครื่อง ลวด สปริง ใช้หยอด เมล็ดข้าว มะละกอ ข้าวโพด หรือเมล็ดพันธุ์อื่น ๆ ได้

เครื่องตัดหญ้าจากเครื่องเรือหางยาว ใช้ตัดหญ้าในสวน ใช้สะดวก ประหยัด ปลอดภัย

คิดเครื่องกลผ่อนแรง ใช้ขนดินจากการขุดบ่อน้ำที่ลึก ด้วยรอกและคันบังคับดึงดินขึ้นจากก้นบ่อ สู่ปากบ่อ โดยให้บุ้งกี๋โยกไปเทดินไกลจากปากบ่อเอง

ผลงานที่กำลังคิดค้นและหวังจะให้สำเร็จในอนาคต มีความมุ่งมั่นและพยายามคิดประดิษฐ์เครื่องดำนา จากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ หาง่ายในท้องถิ่น เน้นการประหยัด สะดวก ปลอดภัย และคุ้มค่า

ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน
ไม่มีเวลาคิดและประดิษฐ์ผลงานอย่างต่อเนื่อง
ขาดงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ

ข้อคิดหรือคติในการทำงาน ยึดถือตามแนวความคิดของเอดิสันที่ว่า ผลงานจะสำเร็จได้ต้องลงมือทำก่อน 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อตัดสินใจลงมือทำแล้วแม้จะยากจนเงินทองเพราะการประดิษฐ์ก็ยอม

www.sawasdeenakhonphanom.com/knowledge.php?...
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 04/08/2010 6:03 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

"เครื่องหยอด-หว่านข้าว" 3 รุ่น ทุ่นเวลาเพิ่มผลผลิตที่ทุ่งกุลา

นับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรที่ปลูก "ข้าวหอมดอกมะลิ 105" ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งครอบคลุมถึง 6 จังหวัดของภาคอีสาน ประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และ จ.มหาสารคาม หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรจับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนิน "โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้" จนสามารถผลิต เครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าว ต้นแบบ จำนวน 3 รุ่น เหมาะสำหรับการใช้เพาะปลูกข้าวในสภาพดินร่วนปนทราย อย่างที่ทุ่งกุลาร้องไห้

เครื่องต้นแบบที่ว่านี้ ประกอบด้วย เครื่องหยอดข้าว 10 แถว ที่ใช้พ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 60 แรงม้าขึ้นไป มีอัตราการหยอดได้ 10-12 กก.ต่อไร่ ส่วนเครื่องหว่านข้าว เป็นเครื่องที่ติดตั้งบนผาน 7 (อุปกรณ์ติดท้ายรถแทรกเตอร์) สามารถกำหนดอัตราการหว่านเมล็ดข้าวได้สม่ำเสมอ มีความสามารถในการหว่านชั่วโมงละ 4-5 ไร่

นอกจากนี้ ยังมี เครื่องปลูกติดรถไถเดินตาม มี 2 แบบ ทั้งแบบหว่านข้าว 0.5 ไร่ต่อชั่วโมง และแบบหยอดข้าวได้ประมาณ 1 ไร่ต่อชั่วโมง ซึ่งการปลูกข้าวด้วยเครื่องมือทั้ง 3 รุ่นนี้ จะช่วยร่นระยะเวลาในการทำงานของเกษตรกรให้น้อยลง และยังประหยัดเมล็ดพันธุ์อีกด้วย

นายสัญชัย ตันตยาภรณ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เล่าถึงความเป็นมาของโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ว่า ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้นั้น มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมดอกมะลิ 105 ถึง 10 ล้านไร่ นับเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมดอกมะลิ 105 ที่ดีที่สุดในเมืองไทย และมีปริมาณการผลิตข้าวป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ปีละ 3.5 ล้านตัน

แต่ที่ผ่านมา เกษตรกรที่ปลูกข้าวในบริเวณนี้ ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคน ทำให้ประสบปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ ดังนั้นเกษตรกรจึงใช้วิธีหว่านข้าวแห้ง ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนแทนการปักดำที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนวิธีการหว่านนั้น จะใช้มือแล้วไถคลาดกลบ ซึ่งวิธีนี้เมล็ดข้าวจะถูกทำลายโดยศัตรูธรรมชาติ อย่าง นกและหนู ทำให้ข้าวในแปลงขึ้นไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ผลผลิตต่ำ

จากปัญหานี้ ทางกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2546 ถึงขณะนี้ผลงานการวิจัยเครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวที่ออกมา ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทางกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมเผยแพร่ข้อมูลให้แก่เกษตรกรรับทราบต่อไป

ด้าน นายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ บอกว่า เครื่องต้นแบบทั้ง 3 รุ่นนี้ มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เพื่อให้เกษตรกรเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสมคือ เครื่องหยอดข้าว 10 แถว หยอดข้าวได้ 10-12 กก.ต่อไร่ จะมีอุปกรณ์เบิกร่องแบบจาน ทำให้สามารถใช้ในแปลงปลูกที่มีหญ้าตกค้างได้ และสามารถปรับความลึกได้ ราคาประมาณ 40,000.-50,000 บาท ส่วนเครื่องหว่านข้าว หว่านเมล็ดข้าวได้สม่ำเสมอในอัตราชั่วโมงละ 4-5 ไร่ ราคา 7,000-8,000 บาท และเครื่องปลูกติดรถไถเดินตาม ทั้งแบบหว่านข้าวและแบบหยอดข้าวนั้น ราคาประมาณ 6,000 บาท

"เราได้ทดลองนำเครื่องหยอดข้าว 10 แถว ไปทดลองปลูกข้าวเปรียบเทียบกับการปักดำของเกษตรกรในพื้นที่ อ.เมือง จ.ยโสธร ปรากฏว่า ข้าวที่ปลูกโดยเครื่องหยอดข้าว ให้ผลผลิต 430 กก.ต่อไร่ ส่วนข้าวที่แปลงปลูกด้วยวิธีปักดำได้ไร่ละ 434 กก. นับว่าใกล้เคียงกันมาก" นายสุรเวทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม "เครื่องหยอดและหว่านข้าว" ต้นแบบทั้ง 3 รุ่นนี้ ทีมนักวิจัยระบุว่า ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ หากบริษัทเอกชนต้องการนำไปผลิต ติดต่อขอแบบได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2561-2825


ที่มา: หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
eawbo
สาวดอง
สาวดอง


เข้าร่วมเมื่อ: 03/03/2010
ตอบ: 52

ตอบตอบ: 04/08/2010 7:01 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ขอบคุณลุงคิมและคุณอ้อที่หาความรู้และเทคโนโลยี่ใหม่ ๆ ให้ทุกคนได้เรียนรู้
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©