-
MySite.com :: ทบทวนกระทู้ - ข้าวไทย--รอบรู้เรื่องข้าว
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
ตอบตอบ: 13/02/2015 11:49 am    ชื่อกระทู้:

.
.
ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ :
ลูกผสม .... สังข์หยด + หอมมะลิ



เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวขาวดอกมะลิ 105 ต้นเตี้ย เป็นสายพันธุ์ข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสงเป็นพันธุ์แม่ ต้านทานต่อโรคไหม้ กับพันธุ์สังข์หยดพัทลุงซึ่งเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเป็นพันธุ์พ่อ ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ในฤดูนาปรัง 2551 และคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 2-6 ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ และชั่วที่ 7 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ในฤดูนาปี 2555 จนได้ข้าวสายพันธุ์บริสุทธิ์ SRN06008DS-18-1-5-7-CPA-20 เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเหมือนพันธุ์สังข์หยดพัทลุง แต่มีลักษณะอื่นที่แตกต่างจากสังข์หยดพัทลุง คือ เมล็ดใหญ่และเรียวยาว ปริมาณอะมิโลสต่ำ ข้าวหุงสุกจึงนุ่มมาก ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคไหม้ ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ย ไม่ล้มง่ายสมารถปลูกได้ทั้งปี




ลักษณะของสายพันธุ์ :
เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
ความสูงของต้น 113 เซนติเมตร
กอตั้ง ใบเขียว
ปริมาณอะมิโลสต่ำ (12.63 %)
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 144 วัน
มีสารสีขาวคล้ายข้าวเหนียว
ข้าวซ้อมมือมีสีแดงปนสีขาว
ข้าวกล้องมีสีแดง รูปร่างเรียวยาว (7.37 มิลลิเมตร กว้าง 2.02 มิลลิเมตร)
รูปร่าง (ความยาว/ความกว้าง) = 3.64





ลักษณะเด่น :
ต้านทานต่อโรคไหม้
มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกนุ่มเล็กน้อย
ข้าวซ้อมมือเมื่อหุงสุกนุ่มและข้าวสารหุงสุกนุ่มมาก

พื้นที่แนะนำ :
เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีปัญหาโรคไหม้และต้องการข้าวคุณภาพพิเศษ

ข้อควรระวัง :
ไม่ควรปลูกใกล้เคียงแปลงปลูกข้าวขาวและควรแยกเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้โดยเฉพาะ



http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/kasetisan/rice.html


.
kritmba
ตอบตอบ: 17/07/2014 12:01 pm    ชื่อกระทู้: ความรู้เพิ่มเติมเรื่องข้าว

.
รู้หรือไม่ว่าข้าวหอม ที่เราเห็นขายในห้างร้านต่างๆ บางทีอาจไม่ใช่ข้าวหอมมะลิที่เราเข้าใจ
ลองอ่านต่อเพิ่มเติมที่ "คลิก" ข้าวหอมไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ

และข้าวหอมมะลิสำหรับใช้ส่งออกมีดีนะ อ่านเพิ่มเติมที่ "คลิก" ความรู้เรื่องข้าวหอมมะลิส่งออก



.
noo-ring
ตอบตอบ: 21/04/2014 12:26 am    ชื่อกระทู้: เข้ามาค้นหาข้อมูลจ้า

สวัสดีจ้าลุง.

นาน ๆ จะเข้ามาครั้ง

ก็ไม่มีอะไร...เข้ามาค้นหาข้อมูลเรื่องข้าวจ้า เพราะที่มีสมาชิกนำเสนอ อ่านวิชาการแล้ว
ปวดหมองมายเกรนขึ้น ไม่รู้เรื่องจ้า เลยต้องเข้ามาค้นหาที่ลุงโพสต์ไว้ เพราะอ่านง่ายดีกว่าจ้า.....


และฝากทิดแดง....เมื่อไหร่จะเอาไฟล์เสียงที่ลุงบ่นออกอากาศ ลงเว็ปต่อเสียทีล่ะจ๊า....รอฟังต่ออยู่จ้า...
หนานปันบอกว่า ทิ้งไว้นานเกินไป เดี๋ยวไฟล์เสียงลุงราจะขึ้นนะจ๊า.....

ขอบคุณ สวัสดีจ้าลุง


.
kimzagass
ตอบตอบ: 10/11/2013 11:49 am    ชื่อกระทู้:

.
.

200. สารอาหารมหัศจรรย์จากข้าวกล้อง


พัชรี ตั้งตระกูล ผู้เชี่ยวชาญการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร


จากกระแสรักสุขภาพทำให้หลายคนหันมาตื่นตัว ปรับวิธีการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิตที่ดีมากขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังเข้าใจการรักษาสุขภาพแบบผิดๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ไม่รับประทานข้าวเพราะเข้าใจผิดคิดว่าข้าวทำให้อ้วน แต่หันไปรับประทานขนมปัง หรือพาสต้าจากข้าวสาลีแทน

ขณะที่ชาวต่างประเทศหันมารับประทานข้าวมากขึ้น เพราะข้าวไม่มีโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้เหมือนข้าวสาลี ไม่มีโคเลสเตอรอล แถมยังมีไขมันต่ำ ข้าวจึงได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดอาหารธัญพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวกล้องที่มีคุณค่าอาหารอันเป็นประโยชน์ตามธรรมชาติ ซึ่งสารอาหารมหัศจรรย์ในข้างกล้องดีกว่าข้าวขาวในประเด็นของ

โปรตีน : ข้าวกล้องยังมีโปรตีน ช่วยเสริมสร้าง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

แป้ง : แป้งในข้าวกล้องถือเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrate) ที่มีการย่อยสลายอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในสภาวะควบคุม ข้าวกล้องจึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ และให้พลังงานต่ำ ช่วยรักษาน้ำหนักตัวไม่อ้วน แต่แป้งในข้าวขาวถือเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (simple carbohydrate) ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเร็ว ไม่สมดุลกับระดับอินซูลิน ทำให้น้ำตาลเหลือในกระแสเลือดมาก ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมัน เป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วนง่าย

วิตามินและเกลือแร่ : ข้าวกล้องมีวิตามิน เอ, วิตามิน อี, วิตามิน บี 1, ที่ป้องกันโรคเหน็บชา วิตามิน บี 2 ป้องกันโรคปากนกกระจอก และวิตามิน บี อื่นๆ อีกหลายชนิด และยังอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซิลิเนียม แมกนีเซียมที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และโพแทสเซียม ช่วยลดความดันโลหิต

ใยอาหาร : ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ ลดการท้องผูก ป้องกันโรคเกี่ยวกับลำไส้ และโรคมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ยังป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน

สารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอนโทไซยานิน ไฟโตสเตอรอล โทโคเฟอรอล ออริซานอล กรดโฟลิก

จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริการับรองให้ข้าวกล้องสามารถใช้ฉลากอาหารกล่าวอ้างของธัญพืชเต็มเมล็ด (whole grain) ที่ว่าเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ ไขมันอิ่มตัวต่ำ และโคเลสเตอรอลต่ำได้อย่างเต็มภาคภูมิ แถมยังอ้างคุณสมบัติในการช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย

...แล้วมีเหตุอะไรที่เราปฏิเสธการรับประทานข้าวกล้องกัน? หรือถ้าจะรับประทานก็ยังจำกัดเฉพาะกลุ่ม...อาจเป็นเพราะว่าโดยธรรมชาติข้าวกล้องเก็บรักษายาก หุงก็ยากและใช้เวลา เนื้อก็แข็งถึงหยาบ รับประทานแล้วทำให้ฝังใจว่าไม่อร่อย อย่างไรก็ตามวิธีที่ทำให้ข้าวกล้องอัพเกรดเป็นข้าวในใจคุณก็มีอยู่หลายทาง เริ่มตั้งแต่

การเลือกซื้อข้าวกล้อง : ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้ากล้องหรือข้าวเหนียวกล้องที่ผ่านการกะเทาะใหม่ ควรมีจมูกข้าวติดอยู่ และใส่บรรจุในถุงสุญญากาศ

การเก็บรักษา : เนื่องจากอายุการเก็บรักษาข้าวกล้องที่มีคุณภาพจะอยู่ที่ 1-2 เดือน เพื่อป้องกันข้าวกล้องเก่ามีมอด กลิ่นอับและเหม็นหืน ควรซื้อครั้งละน้อยๆ แทน และถ้าเป็นไปได้ควรเก็บในตู้เย็น

การเลือกชนิดข้าวกล้อง : ลองเลือกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมนำมาทำเป็นข้าวกล้อง เพราะเมื่อหุงสุกแล้วจะมีความนุ่มเหนียว

เทคนิคการหุงที่ถูกต้อง : เริ่มจากล้างข้าวกล้องให้สะอาดและแช่น้ำก่อนหุง จะทำให้เนื้อนุ่มขึ้นและหุงเร็ว

ข้าวกล้องที่วางขายในซูเปอร์มาร์เกตหรือร้านค้าก็มีมากมายจนเลือกไม่ถูก เช่น ข้าวกล้องบางชนิดที่มีผิวเมล็ดไม่เรียบ ข้าวกล้องสีน้ำตาลหรือสีเหลืองนวล สีแดง สีม่วงซึ่งขึ้นกับสารสีที่อยู่ในเยื่อหุ้มเมล็ด ซึ่งชื่อของข้าวกล้องที่เราเห็นกันบ่อยๆ ได้แก่

ข้าวซ้อมมือ : เป็นข้าวที่กะเทาะเปลือกโดยใช้ครกกระเดื่อง หรือครกไม้ตำ แล้วนำมาฝัดแยกแกลบออก ข้าวอาจมีการแตกหักบ้าง มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยกลุ่มแม่บ้านต่างๆ

ข้าวมันปู : เป็นข้าวที่มีสีน้ำตาลแดงแม้ว่าผ่านการขัดสีหลายครั้ง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นข้าวกล้อง ถ้าเป็นข้าวมันปูกล้องต้องมีคัพภะข้าวติดอยู่ จึงจะเป็นข้าวที่มีคุณค่าอาหารสูง

ข้าวหอมมะลิแดง : เป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ทำให้ได้ประโยชน์จากสารให้สีแอนโทไซยานินอีกด้วย ซึ่งคุณค่าโภชนาการจะสูงก็ต้องทำเป็นข้าวกล้องหอมมะลิแดงเช่นกัน

ข้าวกาบา (GABA-rice) : ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องไทยที่ได้รับรางวัลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นข้าวกล้องที่นำมาทำให้เริ่มงอก และควบคุมให้เกิดสาร GABA สูงสุด สูงมากกว่าในข้าวกล้องและข้าวขาว ทั้งยังมีใยอาหาร วิตามินอี วิตามินบี1 บี2 บี6 แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม กรดอะมิโนสูงขึ้นอีกด้วย

กาบาจัดเป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้ง ในระบบประสาทส่วนกลาง ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ป้องกันการนอนไม่หลับและอาการกระวนกระวายใจ ช่วยรักษาความดันของเลือด ช่วยให้ร่างกายสะสมไขมันน้อยลงจากการกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต นอกจากนี้ข้าวกาบายังหุงง่าย มีเนื้อสัมผัสนุ่ม รับประทานง่ายกว่าข้าวกล้องธรรมดา หากการรับประทานข้าวกล้องดูเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย อาจเริ่มจากข้าวกาบาก่อนก็ช่วยได้

ข้าวนึ่ง : คือ ข้าวที่ได้จากการสีข้าวเปลือกที่ผ่านการแช่น้ำ นึ่งและอบแห้ง ผลดีของการทำข้าวนึ่งคือลดปริมาณข้าวหักระหว่างการขัดสี เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เช่นวิตามินบี และแร่ธาตุบางชนิดซึมเข้าสู่เมล็ดข้าวขณะแช่ข้าวเปลือก ข้าวนึ่งมีลักษณะร่วนแข็งจึงนิยมกันแถบอินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง แม้ว่าข้าวนึ่งเป็นข้าวที่ผ่านการขัดสี แต่ก็มีคุณค่าอาหารมากกว่าข้าวขาว

ข้าวฮาง หรือข้าวหอมทอง : เป็นข้าวนึ่งชนิดหนึ่งที่ทำจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือข้าวเหนียว นิยมทำกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร

ข้าวก่ำ : เป็นข้าวเหนียวดำที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีคุณค่าโภชนาการมาก

ข้าวโภชนาการสูง : ได้แก่ ข้าวเจ้าหอมนิล ข้าวธาตุเหล็กสูง ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ ข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ข้าวแต่ละพันธุ์ต่างก็มีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ทางโภชนาการที่จำเพาะ

ข้าวรวมมิตร : เป็นความฉลาดของผู้ผลิตที่นำข้าวชนิดต่างๆ มาผสมกัน เช่น ข้าว 5 สี ประกอบไปด้วยข้าวกล้อง ข้าวสีแดง ข้าวสีม่วง ข้าวหอมนิลและข้าวเหนียวดำ การผสมข้าวกล้องผสมกับข้าวสาร การผสมข้าวกล้องผสมธัญพืชอื่น เช่น ถั่ว งา เป็นต้น เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารและจุดขายของผลิตภัณฑ์นั่นเอง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรเลือกข้าวกล้องที่มีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดติดอยู่ อันเป็นส่วนที่มีคุณค่าโภชนาการสูง


จริงอยู่ว่าข้าวกล้องอาจมีราคาแพงกว่าข้าวขาว ทั้งๆ ที่ผ่านการกะเทาะเปลือกอย่างเดียว ไม่ต้องใช้เครื่องขัดขาว ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะกลุ่มผู้บริโภคข้าวกล้องยังน้อย จึงทำให้มีราคาสูง ในอนาคตหากเราหันมากินข้าวกล้องกันมากขึ้น ราคาก็อาจถูกลง และถ้าคุณลองรับประทานข้างกล้องเป็นประจำ ก็จะพบว่าข้าวกล้องอร่อยกว่าข้าวขาว โดยเฉพาะความกรุบกรอบ และเนื้อสัมผัสของข้าวเวลาเคี้ยว แถมยังมีคุณค่าอัดแน่นเต็มเมล็ดอีกต่างหาก


การแปลงร่างของข้าวกล้อง!
ข้าวกล้องสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปได้หลายชนิดเช่นเดียวกับข้าวขาว เช่น ข้าวกล้องกึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล้องหุงสุกบรรจุกระป๋องหรือในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) ก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่จากข้าวกล้อง อาหารขบเคี้ยวจากข้าวกล้อง เครื่องดื่มจากข้าวกล้อง น้ำนมข้าวกล้อง แป้งข้าวกล้องสำหรับทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ซุป อาหารเด็ก อาหารเสริม ชงเป็นเครื่องแทนชาหรือกาแฟ เป็นต้น

การนำข้าวกล้องมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหวานหรืออาหารว่างรูปแบบใหม่ หรือทดแทนส่วนของข้าวขาวหรือแป้งข้าวขาวในส่วนผสมของขนมไทยดั้งเดิม เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าโภชนาการมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาด้วยการเสริมข้าวกล้องมีปริมาณใยอาหารสูงขึ้น ได้แก่ ขนมกรอบแม่คะนิ้ง คุกกี้ข้าวพอง ขนมพิมพ์คำ ข้าวตอกทิพย์ กาละแม ถั่วแปบ กระยาสารท ขนมเบื้องกรอบ ขนมเทียน ไข่หงส์ ข้าวหมาก ขนมบ้าบิ่น แป้งจี่...เรียกได้ว่าอาหารคาว หวาน ข้าวกล้องทำได้ไม่ยากเย็น แถมยังมีคุณค่าทางอาหารกว่ามาก


เอกสารอ้างอิง
* กองโภชนาการ กรมอนามัย กินข้าวกล้องป้องกันโรค
* พัชรี ตั้งตระกูล. 2550. GABA ในคัพภะข้าวและข้าวกล้องงอก วารสารอาหาร 37 (4)
* เพลินใจ ตังคณะกุล และคณะ. 2547. การปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของขนมไทยด้วยข้าวกล้อง ในการสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
* อรอนงค์ นัยวิกุล. 2547. ข้าว : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
* http//www.usarice.com





http://coursewares.mju.ac.th:81/e-learning47/PP360/main/lecture/html/h053.htm


http://www.komchadluek.net



http://www.healthtoday.net/thailand/nutrition/nutrition_88.html


.
kimzagass
ตอบตอบ: 02/10/2013 4:40 pm    ชื่อกระทู้:

ลำดับเรื่อง....

199. จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังแทนการเผา
200. สารอาหารมหัศจรรย์จากข้าวกล้อง
201. ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ


------------------------------------------------------------------------------------------




199. จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังแทนการเผา














นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้วางแผนพัฒนาการใช้เชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังแทนการเผา เพราะเชื้อจุลินทรีย์จะช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย ไถพรวนได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีถึง 50% ช่วยประหยัดต้นทุนและมีผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับโครงการนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่พยายามให้เกษตรกรลด ละ เลิกการเผาตอซัง เพราะการเผาตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว จะทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ทั้งด้านสังคม ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และได้มอบหมายให้ทุกส่วนช่วยกันรณรงค์ รวมทั้งร่วมกันบริหารจัดการ

ในอดีต หลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาจะใช้วิธีการไถกลบ เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติย่อยสลายตอซังข้าวในระยะเวลาประมาณ 40-60 วัน แต่ทุกวันนี้ ชาวนาปลูกข้าว 2 ปี 5 รอบ วิธีไถกลบอาจล่าช้าเกินไป เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติจะไม่สามารถย่อยสลายตอซังได้ในระยะเวลาอันสั้น หากไถกลบและปลูกข้าวต่อทันที โดยไม่รอให้เชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังจนหมด แก๊สมีเทนที่เกิดในนาข้าวในระยะเวลาดังกล่าว จะทำให้ต้นข้าวเหลือง ไม่โต แคระแกร็น เรียกว่าอาการข้าวเมาตอซังได้

ปัจจุบัน ชาวนาส่วนใหญ่นิยมเผาตอซังเพราะไม่รู้จะทำลายฟางข้าวอย่างไรให้ได้ผลเร็วที่สุด ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กรมวิชาการเกษตรพยายามศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนได้ข้อสรุปว่า หากนำจุลินทรีย์หลายชนิดที่มีความเข้มข้นสูงมาใช้ทำงานร่วมกัน จะสามารถย่อยสลายตอซังข้าวได้ในระยะเวลา 7-14 วัน

กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านวิจัยและพัฒนาพืช แม้ว่าจะไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องการทำนาโดยตรง ก็เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ถวายรายงานเรื่องการใช้เชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังในระบบการปลูกพืชหลังนาแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงสนพระทัย และมีพระราชดำริให้ขยายการศึกษาทดลองต่อไป

ความจริง กรมวิชาการเกษตรมีหน่วยงานภายในคือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ดูแลธนาคารเชื้อพันธุ์ โดยรวบรวมเชื้อพันธุ์พืชและเชื้อจุลินทรีย์มากที่สุดในโลก อยู่ที่ปทุมธานี ขณะนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษา “การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังโดยไม่เผา” เป็นโครงการเร่งด่วนแล้ว โดยมอบให้ทีมนักวิจัยนำข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดมาประมวล แล้วคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ต้นแบบมาทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับเชื้อจุลินทรีย์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ผลการศึกษาพบว่า มีทั้งเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มเดียวกัน และเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในลักษณะทำงานร่วมกันหลาย ๆ ชนิดในสัดส่วนที่เหมาะสม จะได้ผลดีที่สุด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเล่าว่า ทีมนักวิจัยได้นำเชื้อจุลินทรีย์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดไปทดสอบในแปลงนาที่จังหวัดพิษณุโลกประมาณ 3-4 รอบ ปรากฏว่า สามารถ ย่อยสลายตอซังได้หมดภายใน 7 วันและสามารถปักดำหรือหว่านข้าวได้ต่อทันที โดยไม่ต้องไถ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไถนาได้มากถึงไร่ละ 400-500 บาททีเดียว

นอกจากนี้ การใช้เชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวในนา เท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุแก่ดินในลักษณะปุ๋ยหมัก ซึ่งปุ๋ยหมักจากฟางข้าวในท้องนาเหล่านี้ มีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับเลี้ยงต้นข้าวได้

ปัจจุบันภาคเกษตรของไทยใช้ปุ๋ยเคมีเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยนาข้าว เมืองไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึง 60 ล้านไร่ หากนำเชื้อจุลินทรีย์มาย่อยสลายตอซังข้าวในท้องนาทั่วประเทศ จะได้ปุ๋ยหมักจากฟางข้าวเป็นมูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญ การเผาตอซังไม่ได้ทำลายฟางข้าวเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการทำลายดิน หรือฆ่าดินโดยตรง เพราะสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นับตั้งแต่จุลินทรีย์ แมลง ไส้เดือนรวมทั้งโครงสร้างดินจะถูกทำลายหมดสิ้น นั่นคือการทำลายระบบนิเวศในท้องนาอย่างรุนแรง ทำให้ศัตรูพืชระบาดมากขึ้นทุกปีดังที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา.



http://www.dailynews.co.th/agriculture/221510

http://www.brrd.in.th/rkb/varieties/index.php-file=content.php&id=110.htm

http://www.brrd.in.th/rkb/vutchapurd/index.php-file=content.php&id=43.htm
kimzagass
ตอบตอบ: 28/09/2013 2:00 pm    ชื่อกระทู้:

198. “ปลูกข้าวต้นเดียว เพื่อชาวนาไทยจะไม่เป็นรองใครในอาเซียน”






การปลูกข้าวของชาวนา มี 2 วิธี เป็นส่วนมาก คือ นาดำกับนาหว่าน คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรหรือกรมการข้าวแนะนำในการปลูกข้าว

นาหว่าน ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 15–20 กิโลกรัม ต่อ ไร่
นาดำ ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 5 กิโลกรัม ต่อ ไร่

แม้ว่าปัจจุบันจะทำนาดำกันน้อยมาก เนื่องจากขาดแคลนแรงงานยิ่งรัฐมีนโยบายประชานิยม ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทยิ่งหาแรงงานยากขึ้น แม้ว่าเกษตรกรจะมีเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน แต่ชาวนาก็ยังนิยมทำนาหว่านกันมากกว่าการดำนาด้วยเครื่องจักรซึ่งชาวนาจะใช้กล้าอายุ 14 วันปลูกโดยใช้ต้นกล้าหลุมละ 2 ต้น (โดยใช้เครื่องจักรดำนา) แต่ถ้าใช้วิธีดำนาด้วยคน ชาวนาจะใช้กล้าอายุ 25 วันขึ้นไปและใช้ต้นกล้าหลุมละ 2-3 ต้น ซึ่งเป็นการเปลืองต้นกล้าเป็นจำนวนมาก และนอกจากจะเป็นการที่ปลูกข้าวหลายต้นรวมกันทำให้ต้นกล้าเบียดเสียดกันมาก ทำให้ข้าวแต่ละต้นจะไม่สามารถแสดงศักยภาพในการเจริญเติบโตของตัวเองได้

ด้วยหลักการและเหตุผล ดังกล่าวมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP : Industrial Technology Assistance Program) เพื่อการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้กับชาวนา โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นผู้ทำการวิจัยเรื่องการปลูกข้าวต้นเดียวโดยใช้แหนแดงทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยยูเรีย)

สาระสำคัญในการปลูกข้าวเพียงต้นเดียว
ควรปลูกให้มีระยะห่างกัน 1 ฟุต จากการปลูกในนาข้าวจริงๆ พบว่า ข้าวเพียง 1 ต้น จะสามารถแตกกอได้ถึง 30–40 ต้น ซึ่งใน 1 กอ ถ้าปักดำต้นกล้าหลายต้น จะมีผลต่อการแตกกอเพราะต้องแย่งพื้นที่ในการเติบโตของต้นข้าว

จากการวิจัยพบว่า
ข้าวพันธุ์เหลืองประทิว สามารถจะแตกกอได้ถึง 40 ต้น
ข้าวพันธุ์ปทุมธานี จะแตกกอได้มากถึง 60 ต้น

ซึ่งถ้าปลูกแบบธรรมดาทั่วไปที่ชาวนาปักดำต้นกล้าจำนวน 2-3 ต้น ในระยะห่างระหว่างต้น 15–20 เซนติเมตร จะแตกกอเพียง 6-10 ต้นเท่านั้น เพราะต้นข้าวจะเบียดเสียดกันแย่งอาหารกันเลยแตกกอได้น้อย การปลูกข้าวต้นเดียวจะใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้างเพียง 1-2 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้ช่วยลดต้นทุนของชาวนาลงได้ถึง 1,500 บาท/ไร่

ข้าวที่ปลูกเพียงต้นเดียวสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพของมัน ทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่านาดำปกติ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เคยได้ผลผลิต 594 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,348 กิโลกรัมต่อไร่ ภาคอีสานต้องปรับปรุงดินใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ และใช้แหนแดงเป็นตัวเสริมถึงจะได้ผลผลิตในปริมาณดังกล่าว ทำให้สามารถลดปัญหาเรื่องเมล็ดข้าวลีบจะลดลง เหลือแค่ประมาณ 5% เท่านั้น

ผลดีอื่นๆ เมื่อมีข้าวดีด ข้าวเด้ง ข้าวปนจะถอนทิ้งได้ง่าย เพราะมองเห็นลักษณะต้นข้าวมันจะไม่เหมือนกันเห็นได้อย่างชัดเจน การเก็บเกี่ยวข้าวก็สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าปกติ 10-14 วัน และหัวใจสำคัญการใช้น้ำ วิธีการปลูกข้าวต้นเดียวจะได้ระดับน้ำเหนือโคนต้นข้าวเพียงแค่ 2-5 เซนติเมตร จากเมื่อก่อนเคยใช้น้ำลึกมากเกินความจำเป็น

การปลูกข้าวเพียงต้นเดียว อาจจะฝืนความรู้สึกเก่าๆ ที่ชาวนาคุ้นเคยกัน เนื่องจากทำกันมานานมากแล้วสำหรับชาวนาดำนาด้วยต้นข้าว 2-3 ต้น แต่ผลการวิจัยและทดลองแล้วได้ผลและปลูกจริงให้เห็นตามผลผลิตและปริมาณตามที่แสดงในตารางเปรียบเทียบ

การปลูกข้าวต้นเดียวต้องมีการเพาะกล้าและเตรียมแปลง ใช้กระบะพลาสติกที่มีรูขนาดเล็ก ใส่ขี้เถ้าแกลบรดน้ำให้เปียกชื้นในตัวแล้วเกลี่ยหน้าให้เรียบ (เราสามารถเพาะในแปลงนา ทำเป็นแปลง ขนาดเล็กๆ ก็ได้) โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำ 12 ชั่วโมง และห่อผ้า 1-2 คืนจนเมล็ดเริ่มมีรากงอก (ทำเช่นเดียวกับการแช่เมล็ดสำหรับต้นกล้า) โรยเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอ แล้วโรยขี้เถ้าแกลบกลบเมล็ดข้าวบางๆ หนาสัก 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม นำกระบะกล้าวางไว้ในที่ร่ม เช่น ในโรงเรือนเพาะชำ หรือวางไว้ใต้ชายคา หรือที่มีลมพัดผ่านได้ (ไม่วางในที่อับชื้น) เมื่อต้นกล้าอายุ 5 วัน ให้นำออกผึ่งแดด และเมื่ออายุ 8 วันสามารถนำไปปลูกในแปลงนาได้ ไม่ควรให้ต้นกล้ามีอายุเกิน 15 วันเพราะมีผลต่อการแตกกอของต้นข้าว เพราะต้นกล้ามีรากยาวมากเกินไป การเพาะกล้าด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้ถอนต้นกล้าไปปลูกได้ง่าย คือต้นกล้าไม่ช้ำสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก คือยกไปทั้งกระบะและนำไปวางไว้ใกล้ๆ กับแปลงปลูก ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการถอนและการเคลื่อนย้าย ถ้าใช้วิธีเพาะกล้าในแปลงนาให้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวบางๆ วิธีดังกล่าวนี้ จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก 1 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่

วิธีการเตรียมแปลงปลูกข้าวต้นเดียว ให้ปล่อยน้ำเข้าแปลงนาทิ้งไว้ 1 คืน หว่านปุ๋ยอิทรีย์ชีวภาพตามปริมาณที่ต้องการ (ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน) ใช้รถไถเดินตามตีดินให้เป็นโคลน ให้ระดับน้ำมีความลึก 3 – 5 เซนติเมตร แล้วหว่านแหนแดงที่เพาะเลี้ยงไว้แล้วให้ทั่วทั้งแปลง ใช้แหนแดง 1 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ ทิ้งไว้ 7 - 10 วัน เมื่อแหนแดงโตเต็มพื้นที่ ให้ใช้คราดหรือทำการไถกลบแหนแดงในแปลงปลูก อาจทำด้วยท่อ (PVC ) ลากขนานไปกับคันนาให้เป็นเส้นตรง โดยปลายท่อจะถูกกดและกรีดลงดินเป็นแนวยาวครั้งละ 4 แถว ระยะห่างแถวละ 30 เซนติเมตร ลากแถวในแนวเดียวกันให้เต็มพื้นที่ทั้งแปลงนา จากนั้นก็ลากแถวในแนวตั้งฉากกันให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส นำกล้าข้าวที่เตรียมไว้ปลูกตรงรอยตัดของสี่เหลี่ยมโดยใช้นิ้วกรีดดินในแนวราบลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร ให้ต้นข้าวที่ปลูกตั้งฉากกับแนวรากเป็นรูปตัวแอล “L” (L-shape) หลังจากปักดำ 1 – 2 วันให้ปล่อยน้ำเข้าแปลงนาในระดับน้ำลึก 2 เซนติเมตร เพื่อเป็นการป้องกันวัชพืชและเพิ่มการกระจายตัวของแหนแดง และหว่านแหนแดงเพิ่มเติมในแปลงนาแล้วปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ไม่ควรให้สูงเกิน 5 เซนติเมตร หว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ครั้งที่สอง เมื่อต้นข้าวอายุได้ 30 วัน

ประโยชน์ของแหนแดง
• ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของต้นข้าว
• ต้นแหนแดงมีธาตุไนโตรเจนสูงมาก เพราะมันสามารถดึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ที่ใบ
• มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพ
• แหนแดงช่วยไม่ให้อุณหภูมิน้ำในนาข้าวสูงเกินไป
• ช่วยไม่ให้หอยเชอร์รี่กินต้นข้าว เพราะมันกินแหนแดงแทน
• เมื่อต้นข้าวโต แหนแดงจะตายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างดีให้ต้นข้าว
• แหนแดงมีเปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้งมี ไนโตรเจน 3.71%

ฟอสฟอรัส 0.55%
โพแทสเซียม 1.25%

• แหนแดงทานเป็นผักสดช่วยให้ผิวพรรณสดใสมีน้ำมีนวลดูแล้วเป็นหนุ่มสาวอยู่เสมอ ช่วยลดความชราก่อนวัยอันสมควร
• แหนแดงมีคุณค่าทางอาหารสูง
• ควรปลูกแหนแดงที่ระดับน้ำมีความลึก 10 เซนติเมตร เลี้ยงไว้สัก 30 วัน เพราะแหนแดงโตเร็วมาก จะโต 2–3 เท่าทุกๆ 2–3 วัน จะมีน้ำหนักรวม 5-10 ตัน/ไร่

คนไทย ชาวนาไทยก็ทำได้ ถ้าจะทำ ข้าว 1.5 ตัน/ไร่ ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญของมวลประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศไทย ครองตลาดข้าวด้วยความเป็นอันดับ 1 มายาวนาน ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณการส่งออกข้าว

ระยะหลังมีความผันผวนทางการเมือง, ตามนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ เพื่อช่วยเหลือชาวนาทั้งประเทศที่ปลายน้ำโดยชูนโยบายประชานิยม เพื่อนบ้านคอยหาโอกาสเชือดเฉือนไปแค่ปลายจมูกในปี 2556 ประเทศเวียดนามตั้งเป้าจะส่งออกข้าว 7.6 ล้านตัน

ประเทศไทยไม่ได้หยุดนิ่ง ยิ่งในช่วงของการก้าวย่างของการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นแม่งานในการส่งเสริมการผลิตเกษตรโดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันหลายๆ หน่วยงาน เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรต่างระดมบุคลากรลงมาช่วยลุยในเรื่องข้าวกันคนละไม้คนละมือ เริ่มจาก

คุณ พรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รีบจัดกิจกรรมกระตุ้นการเกษตรทั้งประเทศ โดยจัดการประกวดผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2555/2556 จำนวน 55 จังหวัด เกษตรกรร่วมส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 505 แปลง สรุปผลโดยกรรมการได้ลงตรวจพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ 1 กันยายน 2555 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 เป็นที่น่ายินดีคือเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีก็ได้รับรางวัลในการประกวดผลผลิตข้าวนาปีในครั้งนี้ คือ นาย ทวี ประสานพันธ์ จังหวัดอุบลราชธานีได้ผลผลิตข้าว 1,323.25 กิโลกรัม/ไร่ แม้ว่าจะได้รางวัลเป็นอันดับที่ 3 แต่ก็น่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพียงจังหวัดเดียวที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีพื้นที่ระบบชลประทาน ไม่ถึงร้อยละสิบของพื้นที่ทั้งประเทศ นอกนั้นเป็นจังหวัดในภาคกลาง ที่ทำผลผลิตได้ถึง 1,520.31 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานค่อนข้างจะสมบูรณ์สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้งหรือสองปี สามารถทำนาได้ถึง 5 ครั้ง


ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จัดให้มีการประกวดผลผลิตข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2555/2556
ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว 1 กันยายน 2555 – 15 พฤศจิกายน 2555

ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบความเป็นไปได้ในแปลงประกวด ประเภทผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงที่สุด

อันดับ 1 นางบุญสม ขาวบริสุทธิ์ จ.สุพรรณบุรี
ได้ผลผลิต เฉลี่ย 1,520.31 กก./ไร่
หักลบต้นทุน เหลือกำไรสุทธิแล้ว 12,801 บาท/ไร่

อันดับ 2 นายถนอม ยังเจริญ จ.สมุทรปราการ
ได้ผลผลิต เฉลี่ย 1,346.87 กก./ไร่
ได้กำไรสุทธิ 13,024 บาท/ไร่

อันดับ 3 นายทวี ประสานพันธ์ จ.อุบลราชธานี
ได้ผลผลิต 1,323.25 กก./ไร่
ได้กำไรสุทธิ 13,431 บาท/ไร่

ประเภทต้นทุนการผลิตเฉลี่ย กิโลกรัมต่ำสุด
อันดับ 1 นาย กำพล ทองโสภา จ.สุพรรณบุรี
ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2.71 บาท/กก. ได้ผลผลิต 1,314 กก./ไร่
ได้กำไรสุทธิ 13,199 บาท/ไร่

อันดับ 2 นาย ธำรง ทัศนา จ.ราชบุรี
ต้นทุนเฉลี่ย 3.01 บาท/กก. ได้ผลผลิต 1,161.87 กก./ไร่
ได้กำไรสุทธิ 11,317 บาท/ไร่

อันดับ 3 นาย ถนอม ยังเจริญ จ.สมุทรปราการ
ต้นทุนผลิตเฉลี่ย 3.08 บาท/กก. ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,346.87 กก./ไร่
ได้กำไรสุทธิ 13,024 บาท/ไร่

โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพ + ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน การใช้ปุ๋ยเคมีแต่ได้ผลผลิตสูง เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมและให้พี่น้องเกษตรกรปฏิบัติตาม



สจจ . อุบลราชธานี
จาก : สำนักงานจัดรูปที่ดิน จังหวัดอุบลราชธานี ลงวันที่ : 2013-03-11


http://www.jadroob.com/story_detail.php?storyid=7161
kimzagass
ตอบตอบ: 07/09/2013 8:15 am    ชื่อกระทู้:

197. “หุ่นยนต์หยอดข้าว” พัฒนาผลผลิต และชีวิตชาวนา





เทคโนโลยีในปัจจุบันได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่หุ่นยนต์ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้พัฒนาต้องการออกแบบมาเพื่อช่วยมนุษย์ โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่เป็นผลงานโดยคนไทย ที่สามารถนำมาช่วยเหลือชาวนาไทยในการทำนา เพื่อทำสามารถลดต้นทุนในการทำนา เพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้

ผลงานวิจัยนี้มีชื่อว่า “การวิเคราะห์ ศึกษา และปรับปรุง การนำเทคโนโลยีระบบการหยอดข้าวอัตโนมัติมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในนาข้าว” ออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์โดย ผศ. ดร. มงคล เอกปัญญาพงศ์ จากภาควิชาไมโครอิเล็กทรอนิกส์และระบบสมองกลฝังตัว AIT (Asian Institute of Technology) ผู้พัฒนาระบบจ่าเฉยอัจฉริยะ ศึกษาและวิเคราะห์ในเชิงของการลดต้นทุนโดย อาจารย์ ดร.ไทยศิริ เวทไว จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ





จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากความต้องการที่จะทำนาให้ได้คุณภาพ เป็นแถวเป็นแนวแบบนาดำ โดยการทำนาดำนั้นจะต้องเอาเมล็ดไปเพาะเป็นต้นกล้าในแปลงขนาดเล็กก่อนถอนต้นกล้าเอาไปปักดำในนาผืนใหญ่ ซึ่งปัญหาของการทำนาดำคือการขาดแคลนแรงงานที่จะทำนา ส่วนมากก็จะหันไปทำนาหว่านแทน โดยการทำนาหว่านคือการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงไปในพื้นนาที่ได้ไถเตรียมดินไว้ ข้อเสียก็คือไม่ได้ต้นข้าวที่เป็นแถวเป็นแนว ดูแลรักษายาก และผลผลิตต่ำไม่คุ้มค่า จึงได้มีการวิจัยและคิดค้น “หุ่นยนต์หยอดข้าวอัจฉริยะ” ที่สามารถใช้แทนแรงงานคนในการหยอดเมล็ดพันธ์ข้าวลงในนา หลังจากกำหนดจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุด หุ่นยนต์สามารถวิ่งไปในนาอัตโนมัติทั้งในนาแห้งและนาโคลน โดยสามารถกำหนดระยะระหว่างจุดและจำนวนเมล็ดต่อจุดหยอดได้ ลักษณะก็เหมือนกับการทำนาหว่าน แต่เป็นแถวเป็นแนวแบบการทำนาดำ ซึ่งลดขั้นตอนไม่ต้องเพาะต้นกล้าและสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้อย่างดี เนื่องจากปัจจุบัน แรงงานในการทำนานั้นหายากขึ้นทุกวันอีกทั้งยังแพงอีกด้วย



คุณสมบัติของหุ่นยนต์หยอดข้าวอัจฉริยะ :

1. ระบบหยอดข้าวอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์สามารถทำงานเองได้โดยอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ ทั้งในนาแห้งและนาโคลน จึงลดแรงงานคนในพื้นที่ขาดแคลนแรงงาน

2. ระบบสามารถควบคุมระยะห่างระหว่างแถว และระยะระหว่างจุดหยอดในแต่ล่ะแถวได้ ซึ่งเทียบได้กับการทำนาดำแต่มีต้นทุนที่ถูกกว่าเพราะไม่ต้องเตรียมปลูกต้นกล้าและถอนต้นกล้ามาปักดำ

3. ระบบสามารถควบคุมจำนวนเมล็ดข้าวต่อจุดหยอดได้ โดยเครื่องจะดูดเมล็ดข้าวจากถังเก็บโดยอัตโนมัติ

4. ใช้ปริมาณข้าวน้อยกว่าการหว่านทั่วไป เหลือเพียง 1-3 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้การที่ปลูกต้นข้าวเป็นแถวเป็นแนว จะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายในการให้ปุ๋ย ปริมาณน้ำที่ใช้ ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช

จากคุณสมบัติของหุ่นยนต์หยอดข้าวนี้แสดงให้เห็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สามารถนำมาช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และที่น่าภูมิใจคือเป็นผลงานโดยคนไทยเพื่อคนไทย ซึ่งควรให้การสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาต่อไป


http://www.it24hrs.com/2013/dropping-machine-for-thaifarmer/
kimzagass
ตอบตอบ: 07/09/2013 7:59 am    ชื่อกระทู้:

196. นวัตกรรมปลูกข้าวสองเกวียน ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต



อุตรดิตถ์ - รองพ่อเมืองอุตรดิตถ์นำร่องโครงการปลูกข้าวสองเกวียน กิจกรรมการปลูกข้าวต้นเดียว หลังพบชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิตสูงถึงไร่ละ 5 พันบาท สูงกว่าเวียดนามถึง 50% แต่ผลผลิตต่ำกว่าเวียดนาม จีน และญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว

นวัตกรรมใหม่ของการทำนาด้วยการปลูกข้าวด้วยต้นกล้า 1 ต้นต่อ 1 จับ ที่แปลงทำนาบ้านชำหนึ่ง หมู่ 5 ต.ท่าสัก อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ มีนายศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นผู้ควบคุมการผลิต มีชาวนาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทุกขั้นตอนการผลิตกว่า 30 คน เพื่อจัดทำเป็นแปลงเรียนรู้ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตให้ได้สูงที่สุด

วันนี้ (17 มิ.ย.) นายศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า การทำนาในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ทำให้ต้นทุนสูงถึงไร่ละ 5,000 บาท สูงกว่าเวียดนามถึง 50% แต่ผลผลิตกลับต่ำกว่าเวียดนาม จีน และญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว ประกอบกับชาวนาใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมากขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศในนาข้าว ทำให้เกิดโรคแมลงระบาดรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวนาและผู้บริโภค จึงได้เกิดโครงการข้าวสองเกวียนเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเพื่อผลิตข้าวคุณภาพดีตามระบบเกษตรที่ดีเหมาะสม และพัฒนาให้เป็นข้าวอินทรีย์ในอนาคต ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำสุด และได้ผลผลิตสูงสุด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยกระดับข้าวให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด

หลังจากคัดเลือกพื้นที่ได้แล้ว กระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมดินด้วยการหมักตอซังข้าว ใส่มูลไก่ เติมโมลาส เพิ่มจุลินทรีย์วัตถุให้ดิน เมื่อไถหมักดินไปได้ระดับหนึ่งก็นำแหนแดงไปปล่อย จากนั้นไม่นานก็กระจายเต็มพื้นที่นา ซึ่งแหนแดงสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี และย่อยสลายได้ง่าย

ข้าวกล้าเพาะด้วยพันธุ์ กข. 47 ที่ชาวนาใช้ปลูกทั่วไปในกระบะหลุมละ 1 เมล็ด เมื่อโตราว 1 เดือนจึงนำไปปักดำ 1 จับต่อ 1 ต้น ระยะ 20-30 เซนติเมตร วิธีการนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์ 3 ขีดเท่านั้น จากปกติใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ละ 30 กิโลกรัม การดูแลก็ปฏิบัติตามปกติ จากการสังเกตพบว่าข้าว 1 ต้นสามารถแตกกอได้ราว 3-5 ต้น และการเจริญเติบโตอยู่ในระดับดีจนน่าพอใจ

คาดว่าต้นทุนการผลิตจะเหลือเพียง 2,000-3,000 บาท ผลผลิตราว 1,500-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะพัฒนาไปสู่ข้าวอินทรีย์ โดยวิธีการทำนาแบบนี้ทำให้ต้นข้าวได้รับแสงแดด และลมพัดผ่านอย่างทั่วถึง ทำให้ลดการแพร่ระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช ที่ผ่านมายังไม่เคยใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่จะใช้สารชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ทดแทนทั้งหมด


http://www.manager.co.th/local/viewnews.aspx?NewsID=9560000072848
kimzagass
ตอบตอบ: 07/09/2013 7:49 am    ชื่อกระทู้:

195. 8 ขั้นตอนลดต้นทุนผลิต ‘ข้าว’



สังเกตุ : นาดำน่าจะ (เน้นย้ำ...น่าจะ) ได้ผลดีกว่าดาหว่าน....


สังเกตุ : ความลึกเทือก....



มีคำแนะนำที่น่าสนใจมากๆ จาก “นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับชาวนาในการลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยเกษตรกรสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ดังนี้…

ขั้นแรก : เกษตรกรต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี มีความงอกไม่ต่ำกว่า 80% โดยนาหว่านให้ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ นาดำใช้อัตรา 7 กิโลกรัมต่อไร่ และนาโยนกล้าใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะสามารถ เพิ่มผลผลิตได้อย่างน้อย 10% หรือประมาณ 300 บาทต่อไร่

ขั้นตอนที่ 2 : การเตรียมดินอย่างพิถีพิถัน ห้ามเผาตอซังฟางข้าวเพราะจะทำลายสภาพดิน ให้ไถพลิกหน้าดินเพื่อกลบฟางข้าว แล้วระบายน้ำเข้านาและใช้สารเร่ง พด.2 หมักฟางข้าวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จากนั้นต้องปรับหน้าดินให้เรียบสม่ำเสมอ สำหรับนาหว่านน้ำตมให้ทำร่องน้ำเป็นทางระบายอากาศในแปลงปลูกข้าวด้วย จะช่วยให้เมล็ดข้าวงอกสม่ำเสมอและไม่มีวัชพืชขึ้นในนา สามารถลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดวัชพืชได้ ประมาณ 250 บาทต่อไร่

ขั้นตอนที่ 3 : การกำจัดวัชพืชให้ใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชทันทีหลังหว่านข้าว หรืออย่างช้าไม่เกิน 4 วันหลังหว่านข้าว โดยใช้สารกำจัดวัชพืชให้ตรงตามชนิดของวัชพืชที่ระบาด ก่อนใช้ควรประเมินการระบาดของวัชพืชด้วย ถ้าไม่ถึง 20 % ของพื้นที่นา ยังไม่ต้องใช้ ขณะพ่นสารกำจัดวัชพืชครั้งแรกต้องไม่มีฝนตก ไม่มีน้ำขังในนา และต้องระบายน้ำเข้านาหลังพ่น 3 วัน จะช่วยให้การงอกของต้นกล้าข้าวสม่ำเสมอ ลำต้นแข็งแรง สมบูรณ์ และทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 10-15%

ขั้นตอนที่ 4 : การใช้ปุ๋ยเคมีต้องใช้ปุ๋ยที่ถุงบรรจุระบุเป็นปุ๋ยสำหรับข้าว โดยนาดินเหนียวควรใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 และปุ๋ยสูตร 16-16-8 สำหรับนาดินทราย ซึ่งต้องใช้ในอัตราที่เหมาะสม และใช้ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของข้าว โดยพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และควรใส่ปุ๋ยตามชนิดและปริมาณปุ๋ยที่ดินมีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใด ๆ หลังข้าวออกดอกเพราะจะทำให้เกิดโรคหรือแมลงระบาดได้ หากทำตามขั้นตอนนี้ จะ ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยลง 50% หรือประมาณ 500-600 บาทต่อไร่ และยังช่วยประหยัดต้นทุนค่าสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงได้ครึ่งหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 5 : การป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว ถ้าเกษตรกรปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนข้างต้นจะลดการระบาดของโรคและแมลงได้ และต้องหมั่นตรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังควรเรียนรู้การคาดคะเนอาการที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคและแมลง นอกจากจะลดค่าสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชได้ครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 420 บาทต่อไร่แล้ว ยังสามารถรักษาสุขภาพของผู้ใช้สารเคมีและช่วยรักษาสภาพแวดล้อมด้วย

ขั้นตอนที่ 6 : การจัดการน้ำอย่างเหมาะสม หลังทำเทือกเสร็จแล้วต้องระบายน้ำออก ให้ดินแห้งแบบหมาด ๆ แล้วจึงหว่านข้าวงอก ช่วงข้าวยังเล็กให้รักษาระดับน้ำอยู่ที่ 5 เซนติเมตร ช่วงข้าวแตกกอ สร้างรวงอ่อน และข้าวออกดอกให้รักษาระดับน้ำอยู่ที่ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำได้ 30% หรือประมาณ 360 บาทต่อไร่ และยังช่วยลดปัญหาวัชพืชได้

ขั้นตอนที่ 7 : การเก็บเกี่ยวควรเก็บเกี่ยวข้าวระยะพลับพลึงหรือหลังข้าวออกดอก 30 วันเท่านั้น โดยให้ระบายน้ำออกจากนาข้าวเมื่อข้าวออกดอกแล้ว 15 วัน เพื่อให้ดินนาแห้งในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้รถเกี่ยวข้าวลงในนาได้ จะสามารถลดการสูญเสียผลผลิตข้าวที่ร่วงระหว่างเก็บเกี่ยว 20%

และขั้นตอนสุดท้าย : ต้องรู้จักทำบัญชีฟาร์ม โดยต้องบันทึกบัญชีฟาร์มอย่างสม่ำเสมอทุกฤดูปลูกข้าว เพื่อจะได้เปรียบเทียบบัญชีฟาร์มด้วยตนเองก่อนปลูกข้าวฤดูถัดไป จะทำให้เห็นว่า สามารถปรับลดต้นทุนอะไรลงได้บ้าง ซึ่งทำได้ไม่ยาก…

...หากพี่น้องเกษตรกรทำตามคำแนะนำ 8 ขั้นตอนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตข้าวลดลงไม่น้อยกว่า 1,500 บาทต่อไร่ มีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน.


http://www.dailynews.co.th/agriculture/228686
kimzagass
ตอบตอบ: 27/08/2013 11:03 am    ชื่อกระทู้:

194. ข้าว จีเอ็ม ระบาดตลาดแดนมังกร ผู้เชี่ยวชาญชี้ผลได้ผลเสีย


เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่จีนยอมรับ มีการลักลอบจำหน่ายข้าวตัดต่อพันธุกรรม หรือข้าว จีเอ็ม เกลื่อนแดนมังกรมานานหลายปีแล้ว จุดประเด็นโต้เถียงกันอีกครั้งเกี่ยวกับแผนรักษาความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศ ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้

เมื่อปี 2552 ทางการจีนอนุมัติให้ข้าว จีเอ็ม 2 สายพันธุ์ทดลองปลูกได้ในนาข้าวกลางแจ้ง แต่ไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ต่อมาเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรของจีนระบุว่า “ไม่มีการปลูกข้าว จีเอ็ม ในจีน” นอกเขตทดลอง

อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย. เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมผู้หนึ่งได้ระบุกับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หนานฟัง โจวหมัวว่า จากการสืบสวนร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐบาล 4 แห่งพบว่า การควบคุมจัดการ ที่เหยาะแหยะทำให้มีการลักลอบขายเมล็ดข้าว จีเอ็ม ในหลายมณฑล

นักวิจัยของจีนกำลังตรวจข้าวตัดต่อพันธุกรรม 2 สายพันธุ์ที่แปลงนาทดลองในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ยทางภาคกลางของจีนเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2554 – เอเอฟพี

จากเว็บไซต์เพื่อการเฝ้าระวังด้านอาหารของสหภาพยุโรป ชาติยุโรปพบว่าเครื่องบริโภคจากแดนมังกร มีข้าว จีเอ็ม ปะปนมาเพิ่มถึง 115 เท่าในช่วงปี 2549-เดือนพ.ค.ปีนี้

ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซระบุว่า เมล็ดข้าว จีเอ็ม ปรากฏในจีนมาตั้งแต่ปี 2548 และพบที่ตลาดในมณฑลหูเป่ย หูหนัน และเจียงซีเมื่อปีที่แล้ว

ข้าวตัดต่อพันธุกรรม 2 สายพันธุ์ ที่แปลงนาทดลองเมืองอู่ฮั่น ซึ่งฝ่ายสนับสนุนระบุว่า ทนทานความแห้งแล้งและให้ผลผลิตสูง -เอเอฟพี

รัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพ และได้อนุมัติให้นำพืช จีเอ็ม หลายชนิดไปปลูกได้ เช่น ฝ้าย พริกไท มะเขือเทศ และมะละกอ นอกจากนั้น ยังอนุญาตให้มีการนำเข้าถั่วเหลือง และข้าวโพด จีเอ็ม สำหรับอุตสาหกรรมอาหารได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นข้าว จีเอ็ม แล้ว เป็นประเด็น ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรกว่า 1,300 ล้านคนในจีน

“ประชากรจีนถึง 2 ใน 3 รับประทานข้าวทุกวัน” นายตง ผิงหยา นักปฐพีวิทยา ซึ่งได้รับการเคารพอย่างสูงของจีนกล่าวในที่ประชุมเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียงเป็นประธาน

นายตงผู้นี้เคยโจมตีนักวิทยาศาสตร์จีนว่า “ปฏิบัติกับชาวจีนเหมือนหนูตะเภา” เขาระบุในที่ประชุมว่า จีนไม่จำเป็นต้องมีข้าว จีเอ็ม เนื่องจากสามารถผลิตข้าวได้เพียงพอ และมีเหลือสำหรับการส่งออกอีกจำนวนหนึ่งด้วยซ้ำ

ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนเมื่อปีที่แล้ว นักวิจัยราว 100 คนได้ยื่นหนังสือต่อผู้แทนประชาชน ขอให้เพิกถอนการอนุญาตใช้เมล็ดพืช จีเอ็ม ที่อยู่ระหว่างการทดลอง ซึ่งรวมทั้งข้าวโพด จีเอ็ม 1 สายพันธุ์ และข้าว จีเอ็ม 2 สายพันธุ์ นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้มีการอภิปรายในเวทีสาธารณะ และติดป้ายฉลากผลิตภัณฑ์ ที่เป็น จีเอ็ม ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้สนับสนุนข้าว จีเอ็ม โต้แย้งว่า ข้าวจีเอ็มมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง และให้ผลผลิตมากกว่า นอกจากนั้น ในกรณีเป็นข้าว จีเอ็ม ที่มียีนบีทีด้วยนั้น จะช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงลงอย่างมาก นักวิเคราะห์ตลาดข้าวยังคาดว่า น่าจะได้รับอนุญาตในเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปี 2555-2556

ยังมีคำถามเกี่ยวกับผลในระยะยาวที่นักวิทยาศาสตร์ยังค้นคว้าไปไม่ถึงเกี่ยวกับข้าวตัดต่อพันธุกรรม - เอเอฟพี

กระนั้นก็ดี นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์ของจีนบางคนได้เตือนถึงผลในระยะยาว ที่เรายังไม่ทราบจากการใช้ข้าว จีเอ็ม ทั้งในด้านสุขภาพของมนุษย์ และความหลากหลายด้านชีวภาพ

นอกจากนั้น สายพันธุ์ข้าว จีเอ็ม ที่พัฒนาในห้องทดลองของจีนยังอาจเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากมอนซานโต้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรของสหรัฐฯ เป็นผู้จดสิทธิบัตรยีนบีที และอาจเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์และค่าชดเชยจากจีนได้ หากนำข้าว จีเอ็ม ที่มียีน บีที มาหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์



http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000074937
kimzagass
ตอบตอบ: 27/08/2013 10:47 am    ชื่อกระทู้:

193. สรรพคุณของการกินข้าวไทย

http://ainews1.com/article467.html


'ข้าวไทยธาตุเหล็กสูง' แก้วิกฤติโรคโลหิตจาง
ราย ละเอียด นักวิชาการ มก. จับมือนักโภชนาการ มหิดลพัฒนา 'ข้าวไทยธาตุเหล็กสูง' 2 พันธุ์ แก้ปัญหาคนไทยขาดธาตุเหล็กเกือบ 50% ทั่วประเทศ เผยผลทดสอบร่างกายดูดซับธาตุเหล็กจากข้าวพันธุ์พิเศษได้เกือบครึ่ง พร้อมแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกอีก 2 ปี หลังทดลองในแปลง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง 'นวัตกรรมข้าวไทยธาตุเหล็กสูง' ณ โรงแรมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน

โดยมี ศ.ดร.อานนท์ บุญยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวว่า เรื่องข้าวเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องข้าว การวิจัยเรื่องข้าว จึงเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการของประเทศ การวิจัยเรื่องนี้จะทำให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่ม และมีผลต่อการส่งออกข้าวไทย ไปสู่ตลาดต่างประเทศในที่สุด พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ขาดธาตุเหล็กจำนวนมากเกือบถึง 50% ของประชากรทั่วประเทศ






การพัฒนาข้าวธาตุเหล็กสูง จะ ช่วยแก้ปัญหาข้อนี้ได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง โดยไม่เฉพาะแต่กับ วช. หรือนักวิจัยที่พัฒนาผลงานออกมา แต่เป็นความภาคภูมิใจระดับประเทศและระดับโลก จากนั้น รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย และผศ.ดร.ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์ นักโภชนาการจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ 'เทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูง'

โดย รศ.ดร.อภิชาติ นักวิจัยพันธุ์ข้าวเสริมธาตุเหล็ก เปิดเผยว่า ได้เริ่มทดลองผสมสายพันธุ์ข้าวมากว่า 10 ปีแล้ว จากนั้นเมื่อปี 2545 ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จำนวน 12.5 ล้านบาท ศ.ดร.อภิชาติ ได้ร่วมกับนักโภชนาการ มหิดลวิจัยพันธุ์ข้าวธาตุเหล็กสูงสำเร็จ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ข้าวขาว 313 และพันธุ์ข้าวสีพันธุ์ 1000 โดยพัฒนาจากข้าวพันธุ์หอมนิล และข้าวพันธุ์ 105 ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้นี้มีธาตุเหล็กสูงถึง 1.6-2.1 มิลลิกรัมต่อข้าว 100 กรัมตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งหากมีผลยืนยันคุณค่าทางโภชนาการตรงตามที่กำหนดไว้ ก็จะนำลงแปลงทดสอบเพาะปลูก และเมื่อพัฒนาจนแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกได้ เชื่อว่าน่าจะให้ผลผลิต 500 กก.ต่อไร่

'ข้าวที่ได้มี 2 สี คือ สีขาวและสีม่วง มีกลิ่นหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ มีเม็ดสวยงาม และมีคุณภาพการหุงดี นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพันธุ์ข้าวสีขาวให้มีธาตุเหล็กสูง นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงข้าวสีม่วงขึ้นใหม่ ให้มีปริมาณธาตุเหล็กสูง กว่าข้าวเจ้าหอมนิลเดิม ให้ผลผลิตดี สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขนมเค้ก' รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.อภิชาติ ชี้แจงว่า ยังต้องการวิจัยต่อในส่วนของเมล็ดข้าวน่ารับประทานขึ้น คือให้เมล็ดข้าวมีสีขาว เม็ดยาว และมีกลิ่นหอม แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ การขยายผลต่อในการแปรรูปและการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการประกันราคาข้าว เพื่อให้เกษตรกรปลูก โดยคาดว่าในอีก 2 ปี จึงจะเผยแพร่ต่อได้อย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ หลังจากพัฒนาพันธุ์ข้าวธาตุเหล็กสูงขึ้น ทางสถาบันวิจัยโภชนาการ มหิดล ก็นำไปศึกษาปริมาณการซึมซับธาตุเหล็กของข้าวสายพันธุ์ใหม่ โดยมีการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 17 คน พบว่าหลังจากรับประทานข้าวเสริมธาตุเหล็ก ปรากฏว่า ร่างกายสามารถดูดซับธาตุเหล็กได้ 6-20% สำหรับข้าวเสริมธาตุเหล็กแบบไม่ขัดสี และ 17-50% สำหรับข้าวขัดสี ทั้งนี้ จะต้องรับประทานกับ กับข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น แกงส้ม น้ำพริกมะขาม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พบว่าข้าวที่ไม่ขัดสีจะมีธาตุเหล็กสูงกว่า ในขณะที่ยังไม่ได้รับประทาน แต่เมื่อนำไปรับประทานจะมีสารขัดขวางการดูดซับธาตุเหล็กด้วย เช่น ไฟเตส และแทนนิน จึงเป็นสาเหตุให้ข้าวที่ขัดสี ให้ธาตุเหล็กที่สูงกว่า นอกจากนี้ ผศ.ดร.รัชนี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนาตำรับอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจางขึ้นด้วย

โดยเป็นการนำเอาข้าวธาตุเหล็กสูงมารับ ประทานกับแกงส้ม ซึ่งมีวิตามินซีมากและช่วยส่งเสริมการทำงาน ของธาตุเหล็กจากข้าวไปใช้ ประโยชน์ได้มากขึ้น ส่วนข้าวไทยธาตุเหล็กสูงนั้น สามารถนำไปประกอบได้ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และอาหารว่าง อาทิ อาหารคาวได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ข้าวผัดกระเพรา ซูชิ อาหารหวานได้แก่ ขนมเค้ก และของขบเคี้ยว

ส่วนอาหารว่างจะได้แก่ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ ปัญหาโรคโลหิตจากการขาดธาตุเหล็กในประชากร กำลังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย อันจะมีผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญา ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจะเป็นผู้ที่มีสมาธิสั้น ร่างกายอ่อนแอ และมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

'ในหลวง' ทรงย้ำกินข้าวนึกถึงชาวนา ทรงห่วงคน ไทยลืม..จิตวิญญาณ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือ ในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม ข้าว และการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย เฉลิมพระเกียรติว่าวิถีชีวิตของคนไทย มีความผูกพันกับข้าวมาก รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

ขณะ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เกี่ยวกับข้าวว่าคนไทยต้องมีจิตสำนึกเรื่องข้าว และนำข้าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และทำอย่างไรจึงจะช่วยปกป้องข้าวไทยได้ เพราะสิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ เรื่องจิตสำนึกของผู้บริโภคข้าวที่ลดลงไป เน้นการบริโภคเลียนแบบต่างชาติ ที่กินเร็ว กินด่วน หรือบริโภคข้าวก็เพียงเพื่อให้อิ่มเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงว่า ข้าว คือ จิตวิญญาณ ที่ผ่านกระบวนการผลิต มาจากการลงแรงของชาวนา กลิ่นของข้าวถือว่าหอมที่สุด และหอมแบบธรรมะ ตนเคยทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ทรงโปรดอะไรมากที่สุด

พระองค์ตรัสว่า ข้าว เพราะมีกลิ่นหอม และตรัสด้วยว่า ถ้ารับประทานข้าวขอให้นึกถึงชาวนาด้วย เพราะถ้าไม่มีชาวนา เราก็ไม่มีข้าวกิน ประธาน มูลนิธิข้าวไทยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ตำแหน่งดังกล่าวกำลังถูกสั่นคลอนจากประเทศคู่แข่งทุกขณะ ดังนั้น จึงต้องหาทางแปรรูปข้าว ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำไปแปรรูปเป็นครีมทาหน้า หรืออาหารเสริม เพราะใน เม็ดข้าวมีสารตัวหนึ่งชื่อว่า แกรมม่า ออริซานอล ที่ช่วยให้อารมณ์ดี เพราะฉะนั้นคนไทยทานข้าววันละ 3 มื้อ จึงหัวเราะได้ทั้งวัน แม้ว่าเศรษฐกิจการเมืองไม่ดีก็ตาม

ดร.สุเมธ กล่าวต่ออีกว่า มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ วท.จัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 80 พรรษา โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนั้น จะมีการพัฒนานวัตกรรมข้าว อาทิ เครื่องสำอางจากข้าวไทย การผลิตข้าวเพื่ออุตสาหกรรมยาและอาหารเสริม ซึ่งจะช่วยต่อยอดข้าวไทยให้แข่งขันกับต่างชาติได้.

ยอดข้าวราชินี ให้ความเป็นหนุ่มสาวกระชุ่มกระชวย ประเทศทั่วโลกที่กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักต่างรู้กันดี สุดยอดข้าวเจ้าเยี่ยมที่สุดในโลกคือ ข้าวหอมมะลิของไทย กลิ่นหอมนุ่มนวลรสชาติอร่อย และให้คุณค่าทางอาหารสูง แต่ไทยเราไม่พอใจอยู่แค่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทอย่างสำคัญทำให้ข้าวไทย มีคุณค่าทางอาหารและรสชาติดียิ่งขึ้นไปอีก

โปรดให้ทำการ ค้นคว้าจนได้ยอดข้าว 5 ชนิด เอามาปรุงแต่งแล้วผสมกันตามสัดส่วนที่กำหนด หุงกินได้เลยโดยไม่ต้องซาวข้าว เป็นสุดยอดข้าว ยอดอาหารที่กินแล้วช่วยให้ดูเป็นหนุ่มเป็นสาว ทั้งชะลอความชรา และเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์ 'แรกผลิ 6'

องค์กร ที่มีบทบาทสำคัญในการ ผลิตยอดข้าวสมเด็จพระราชินีออกสู่ท้องตลาด ได้แก่ฟาร์มตัวอย่างมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย หมู่ที่ 1, 2 กม.ที่ 32 ถนนแจ้งสนิท ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พื้นที่ 210 ไร่ ที่โน่นมีบทบาทอย่างเงียบน่ามหัศจรรย์มากมายหลายประการ ด้วยการค้นคว้าใช้ความรู้ก้าวหน้าที่ค้นพบใหม่มาใช้กับการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ไม้ดอกไม้ประดับ พืชให้ผลและพืชสวน

นับเป็น สถานที่น่าสนใจที่สุดทั้งการดูงานสาธิตวิธีการใหม่ๆ และการท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจไปพร้อมกัน ใช้พื้นที่เพื่อการเกษตร 118 ไร่ เป็นป่าโปร่ง 64 ไร่ พื้นที่น้ำเพื่อการประมง 14 ไร่ นอกนั้นเป็นถนนและสิ่งก่อสร้าง น่าสังเกตว่าที่นั่นเป็นพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล อุณหภูมิสูงในหน้าแล้งและมีอากาศแห้ง

การ ผลิตยอดข้าวมหัศจรรย์ที่ บริโภคแล้วทำให้ ร่างกายดูเป็นหนุ่มเป็นสาวกระชุ่มกระชวย เป็นหนึ่งในงานทั้งหมดเท่านั้น อยากเอ่ยถึง 2-3 โครงการ ที่น่าสนใจ ได้แก่ พัฒนาการเพาะเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดป่า ผลิตพืชมีศักยภาพในระบบหมุนเวียน ปลูกพืชไร่เศรษฐกิจก่อนและหลังการทำนา ปลูกผักปลอดสารพิษราคาดีในตลาด อาทิ ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง ผักฮ่องเต้ การเพาะเลี้ยงหมูป่าและโครงการพัฒนาผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้าน ที่ทำครบวงจรตั้งแต่ปลูกต้นหม่อนเอง เลี้ยงไหมเอง สาวไหมเอง รวมตลอดไปถึงการฟอกย้อมจนถึงการทอและการขึ้นลายผ้าจนสำเร็จเป็นผืน

น่าสังเกตมาก ตรงการย้อมผ้าไหม ใช้สีจากพืชเอามาย้อมทั้งหมดแบบโบราณ ถ้าต้องการสีเขียวจะใช้สีทำจากต้นเพกา สีชมพูอมม่วงทำจากลูกหม่อน สีเหลืองทำจากเปลือกต้นก้านขี้เหล็ก และสีเขียวอ่อนทำจากต้นขนุน

เฉพาะ การผลิตยอดข้าวราชินี หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'ข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์ แรกผลิ 6' ทำกันอย่างพิถีพิถันมาก ต้องทำการคัดเลือกพันธุ์ข้าวชั้นยอดทั้ง 5 พันธุ์ จากหลายแหล่งหลายจังหวัด เริ่มด้วยเลือกข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข.6 ของอุบลราชธานี ข้าวหอมกุหลาบที่ปลูกในฟาร์มของศูนย์ศิลปาชีพฯเอง เลือกข้าวหอมแดงจากสุรินทร์ และเลือกยอดข้าวกํ่าชาวเขาเผ่ามูเซอ ที่ปลูกในหุบเขาความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 900-1,000 เมตร ในพื้นที่ที่ปราศจากมลภาวะจากเชียงใหม่และเชียงราย

ด้วยเหตุผลข้าว ก่ำมูเซอเป็นข้าวที่มีเส้นใยสูง มีโปรตีนสูง มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ มีวิตามินและแร่ธาตุสูง จุดน่าพิศวงของยอดข้าวราชินี ที่ต้องเพาะเมล็ดข้าวจนงอกเสียก่อนแล้ว จึงนำมาปรุงแต่งเป็นข้าวเบญจกระยาทิพย์ ได้รับการอธิบายในแง่วิชาการการเกษตรว่า เพื่อเป็นการเพิ่มสาร GABA ในเมล็ดข้าวทางชีวะธรรมชาติ ปรับปรุงโครงสร้างคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนให้ย่อยง่ายพร้อมเพิ่มคุณค่าทาง โภชนาการ เพื่อให้มีสาร กลูตามีนออกมาจากเมล็ดข้าวด้วยวิธีธรรมชาติโดยจุลชีพ

เพื่อที่ จะให้จมูกข้าวที่เพาะจนงอก มีโปรตีนมากสามารถสร้างกรดอะมิโน เหมาะแก่การสร้างเอนไซม์เพื่อย่อยอาหาร ไวตามีน แร่ธาตุนำไปเลี้ยงต้นอ่อนที่งอก มีผลสร้างภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติของพืช วิธีการดังกล่าวจะทำให้ข้าวมีแทนนินสูงไม่มีรสขม มีปฏิกิริยาที่เป็นกรดเล็กน้อย ทำให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุได้ดีกว่าเดิม เมื่อนำข้าวมาหุงจะทำให้เกาะกันอุ้มน้ำได้ดี ได้ข้าวนุ่มนวลได้ปริมาณข้าวมากขึ้นโดยไม่แฉะ ด้วยวิธีหุงด้วยไฟปานกลางช้าๆ จะได้เมล็ดข้าวสุกสวยงามและไม่แตก ข้าวจะให้รสชาติอร่อยไม่จืดชืด

การ ค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์การเกษตรระบุว่า ยอดข้าวราชินีมีผลกระตุ้นฮอร์โมนใ ห้ทำการระดับสม่ำเสมอทำให้ชะลอความชรา สำหรับสตรีมีผลต่อการสมานผิวโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะสตรีที่มีปัญหาปวด ท้อง และเป็นสิวในรอบเดือน นอกจากนั้น ยังกระตุ้นให้ตับขับเอนไซม์ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด ช่วยขับสารแห่งความสุขใจ พอใจ ป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ลดโอกาสในการเป็นโรคไขข้ออักเสบ ส่งเสริมการหมุนเวียนของโลหิต ลดพลาสมาคอเลสเทอรอลในเลือด และกระตุ้นการขับน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เพื่อสลายไขมัน ความจริงคำบรรยายมีคุณสมบัติมากกว่านี้ แต่คัดมาเท่าที่เห็นว่าเป็นที่น่าสนใจเท่านั้น.

กว่าจะมาเป็นยอดข้าว เมื่อได้ยอดข้าว 5 พันธุ์ คัดอย่างดีมาจากหลายจังหวัดแล้ว การจะทำเป็นยอดข้าวราชินีให้ คุณค่าทางอาหารสูง แถมทำให้ร่างกายดูเป็นหนุ่มสาวกระชุ่มกระชวย จะต้องผ่านกรรมวิธีเอาข้าวทั้ง 5 พันธุ์นั้น แช่น้ำไว้ 4-8 ชม. เมื่อแช่ครบตามเวลาแล้ว นำเอาข้าวไปเพาะหนึ่งคืน เพื่อให้รากงอก น่าสังเกตว่าข้าวที่นำเอาไปแช่น้ำ เพื่อเพาะให้รากงอกเป็นข้าวที่ผ่านการสีเป็นข้าวสารเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่แช่ข้าวทั้งที่ยังเป็นข้าวเปลือก อย่าได้สงสัยข้าวที่สีเป็นข้าวสาร แล้ว เอาไปแช่น้ำเพาะให้รากงอกได้ ถ้าหากจมูกข้าวยังอยู่ครบ

ต่อ จาก นั้นนำเอาข้าวไปนึ่ง 5-7 นาที โดยนึ่งด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียวแบบชาวบ้านนั่นแหละ ไม่ได้ใช้หม้อนึ่งแบบอุตสาหกรรมใหญ่โตแต่อย่างใด เมื่อเสร็จสิ้นจากขบวนการนำเอาไปนึ่งแล้ว เอาข้าวทั้ง 5 พันธุ์ไปตากแดดเพื่อให้ความชื้นลดลงเหลือเพียง 13-15% ต่อจากนั้นจัดการเก็บยอดข้าวไทยทั้ง 5 พันธุ์ที่ตากแล้ว โดยแยกแต่ละพันธุ์ข้าวไว้จัดส่งไปให้แผนกที่มีหน้าที่จัดการผสมข้าว 5 พันธุ์เข้าด้วยกัน โดยสูตรการผสมข้าวที่ผ่านการคิดค้นมานานจนเกิดความลงตัว จะให้ผลดีด้านโภชนาการมากที่สุด โดยขณะนี้ยังไม่เปิดเผยสูตร





เมื่อผสมยอด ข้าวทั้ง 5 พันธุ์ที่ผ่านขบวนการปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว จัดการบรรจุถุงผ้าดิบถุงละ 1 กก. เพื่อนำออกจำหน่ายเป็นอันเสร็จพิธี การบรรจุนั้นหากเป็นข้าวที่จะต้องส่งไปขายยังต่างประเทศ หรือที่ต่างประเทศสั่งซื้อจะบรรจุในภาชนะบรรจุสุญญากาศ โดยส่วนหนึ่งส่งไปขายที่อังกฤษอย่างสม่ำเสมอ ในไทยเรานั้นข้าวกระยาทิพย์ เมื่อผสมยอดข้าวทั้ง 5 พันธุ์ที่ผ่านขบวนการปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว จัดการบรรจุถุงผ้าดิบถุงละ 1 กก. เพื่อนำออกจำหน่ายเป็นอันเสร็จพิธี
ยอดข้าวสมเด็จพระราชินีมีขายที่สยามพารากอน เดอะมอลล์ และที่ห้างเซ็นทรัลในราคาถุงละ 70 บาท การหุงกินง่ายมาก ไม่ต้องซาวข้าวก่อน เพียงเติมน้ำลงไปแล้วก็หุงกินได้เลย.


คุณสมบัติต่างๆของข้าวไทย
ด้าน ราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าข้าวหอมมะลิเป็นข้าวหนึ่งเดียวของโลก ที่มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติคล้ายกลิ่นใบเตย เป็นสินค้าระดับพรีเมียมเกรด เป็นของหายาก เพราะผลิตได้เพียงปีละ 3 ล้านตัน ในฤดูนาปีเท่านั้น

'ปัจจุบัน เป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดการค้าข้าวทั่วโลก เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพดี กลิ่นหอม และรสชาติอร่อย ไม่เหมือนข้าวชนิดใดในโลก เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ ของไทยที่ก้าวไปไกลสู่ระดับสากล จึงอยากให้คนจดจำตรารับรอง THAI HOM MALI RICE มากยิ่งขึ้น' อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว ว่าไปแล้วข้าวหอมมะลิไทย มีหลากหลายสายพันธุ์แบ่งไปตาภูมิประเทศที่ปลูก และลักษณะพิเศษ อย่าง ข้าวหอมมะลิจาก จ.สุรินทร์ จะมีกลิ่นหอม เมล็ดเรียวยาว ขาวเป็นมัน หุงแล้วนุ่มเก็บไว้ได้นาน ส่วนข้าวหอมมะลิของจ.บุรีรัมย์ แดนดินถิ่นภูเขาไฟ ที่ดับสนิทเมื่อ 1 ล้านปีมาแล้ว แต่เมื่อมีการปรับตัวทางสภาพธรรมชาติ และภูมิศาสตร์แล้ว กลับกลายเป็นแร่ธาตุ ต่างๆ หลายชนิด ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชต่างๆ และข้าวขาวดอกมะลิที่ปลูกที่นี่ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดฤดูกาลผลิตปี 2547-2548 มาแล้ว

ส่วนข้าวหอมมะลิ จ.ยโสธร ก็มีสโลแกนว่า 'มีคุณค่ามากกว่าความหอม' เมื่อหุงสุกแล้วจะเหนียวนุ่ม ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะแปลงข้าวเจ้าและข้าวเหนียวปลูกใกล้กัน จึงทำให้คุณสมบัติบางอย่างของข้าวเหนียวถ่ายทอดออกมา พ่อครัวจากโรงแรมต่างๆ จึงมักเอาข้าวของที่นี่ มาทำเป็นข้าวปั้นญี่ปุ่นแทนข้าวญี่ปุ่น

มาถึงข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด ที่รู้จักกันดีคือที่ 'ทุ่งกุลาร้องไห้' ถือเป็นความพยายามของเกษตรกรไทย ที่สามารถเอาชนะธรรมชาติ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ จนได้ข้าวที่ขึ้นชื่อแห่งภาคอีสานได้สำเร็จ

ยังมีข้าวที่ จ.อำนาจเจริญ ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็น ดินแดนตำนานข้าวชั้นเยี่ยม ด้วยมีผืนป่าและภูเขาที่มีความสูงต่ำเป็oลูกระนาดลดหลั่นกัน มีแหล่งน้ำย่อยๆ กระจายทุกพื้นที่ มีความชื้นในอากาศที่ถ่ายเทจากแอ่งลำน้ำโขง ที่ชาวบ้านเรียกว่า 'ตะวันอ้อมข้าว' ทำให้ข้าวมีคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์สูง เมล็ดข้าวจึงใหญ่ ขาวเป็นมัน หุงแล้วนุ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป

และมาถึง เมืองที่รับแสงตะวันก่อนใครในสยาม จ.อุบลราชธานี ข้าวที่นี่จึงออกรวงและเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมนำออกสู่ตลาดก่อนจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากทีเดียว

เห็นความสำคัญและเอกลักษณ์พิเศษของข้าวหอมมะลิแต่ละจังหวัดแล้ว หายสงสัยหรือยังล่ะ ว่า 'ของดี' บ้านเรา ทำไมก้าวไกลไปทั่วโลก

ข้าวจัดเป็นอาหารหลักที่มีความสำคัญต่อ ประชากรโลก มีผู้คนกว่าครึ่งโลกที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ประเทศไทยเรานั้น มีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักนานมาแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังการบริโภคข้าว เป็นอาหารหลัก และที่สำคัญนั้นข้าวเป็นแหล่งของอาหารที่ให้พลังงานแก่ชีวิต ในแต่ละวันของคนไทยเรา

กองโภชนาการได้กำหนดข้อปฏิบัติการกินอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดี ของคนไทยขึ้น 9 ข้อ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า #FF0000 1 ใน 9 ข้อ นั้น มีอยู่ 1 ข้อ ที่กำหนดไว้ว่า กินข้าวเป็นอาหารหลัก และสลับกับอาหารประเภท แป้งเป็นบางมื้อ การกำหนด เช่นนี้ก็เพราะต้องการให้คนไทยเราเห็นความสำคัญของข้าว เพราะปัจจุบันคนไทย เริ่มหันไปกินอาหารอื่นแทนข้าวกันมากขึ้น จึงต้องรณรงค์ให้คนไทยกินข้าวต่อไป

ข้าวจัดเป็นอาหารหลักของ คนทุก ชาติทุกภาษา เพียงแต่ข้าวที่กินนั้นจะต่างชนิดกันออกไปอาจเป็นชนิดที่แปรรูป มาจากข้าวชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธัญญพืช พวกข้าว ในประเทศไทยเราจัดข้าวอยู่ในอาหารหลักหมู่ที่ 2 ให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังมีพวกวิตามินและ แร่ธาตุ เป็นแหล่งที่ให้กำลังงานและความอบอุ่นจะเห็นได้ว่า คนไทยเราส่วนใหญ่ยังคงบริโภคข้าวทุกวัน บ้างก็กิน ข้าวเจ้า บ้างก็กินข้าวเหนียว ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะนิยมกินข้าวเหนียว มากกว่าข้าวเจ้า ซึ่งก็แล้วแต่ความคุ้นเคยและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา

ข้าวที่เรากิน จะต้องผ่านกรรมวิธีสีเอาเปลือกข้าวออก ในเมล็ดข้าวจะมีวิตามินแร่ธาตุและสารอาหารที่สำคัญ ต่อร่างกายรวม 20 กว่าชนิด แต่ข้าวที่อุดมไปด้วยคุณค่าของสารอาหารที่กล่าวมานี้ จะต้องผ่านการสีแต่น้อย คือ สีเอาเปลือกข้าวหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า 'แกลบ' ออกโดยที่ยังมีจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวที่เราเรียกว่า 'รำ' อยู่ ซึ่งจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวที่มีคุณค่าอาหาร ที่มีประโยชน์มาก

ข้าวที่มีคุณค่าอาหารก็คือ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวนึ่งก่อนสี ข้าวเสริมวิตามิน ข้าวกล้องนั้นในสมัยก่อนเรียกว่า ข้าวซ้อมมือ หรือข้าวแดง ในสมัยก่อนชาวบ้านใช้วิธีตำข้าวกินกันเอง ซึ่งมัก ใช้ครกกระเดื่องตำจึงเรียกข้าวซ้อมมือ ปัจจุบันนี้จะไม่มีให้เห็นโดยทั่วไปแล้ว จะมีก็ในหมู่บ้านที่ห่างไกลตัวเมือง อย่างบนพื้นที่สูงเราจะพบชาวเขานำมาขายข้างทาง ซึ่งถ้าซื้อมาบริโภคจะมีประโยชน์มาก

ในสมัยก่อนนั้นเราจะ เห็นพวกชาวเขา และพวกชาวบ้านจะมีสุขภาพพลานามัยดี หน้าตาไม่ซีดเซียว ไม่ขาดสารอาหาร แต่ในปัจจุบันพบว่า ในบางพื้นที่มีการขาดสารอาหาร ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่ามีหน้าตาซีดเซียว ไม่แข็งแรงในบางราย ซึ่งจากการสังเกต และสอบถามดูจะรู้ว่าอาหารการกินของเขา ในแต่ละวันนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม

เมื่อก่อนเคยกิน ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ อุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกินข้าวขาว กินอาหารที่แปรรูปมากขึ้น ทำให้ได้สารอาหารไม่เพียงพอ อาหารที่มีวางจำหน่าย ในร้านค้าในหมู่บ้านก็พบว่ามีอาหารสำเร็จรูปเป็นพวกขนมปัง แครกเกอร์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต่าง ๆ มากมาย และขนมใส่สีอีกมากมายหลากหลายชนิด เท่าที่สังเกตดูส่วนประกอบของอาหารสำเร็จรูปเหล่านี้ มีคุณค่าทางโภชนาการ น้อยมาก จะมีก็แต่ในรูปของแป้งและน้ำตาล ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย

ถ้าเทียบกับการ บริโภคข้าวและ อาหารไทย ๆ ในสมัยก่อนจะมีประโยชน์มากกว่า ข้าวกล้องนั้นจะมีโปรตีนประมาณ 7-12 เปอร์เซนต์ ซึ่งก็แล้วแต่พันธุ์ข้าว การขัดสีข้าวกล้องจนมีสีขาวจะทำให้ โปรตีนสูญหายไปประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ถ้าดูอย่างผิวเผิน การสูญเสียงเพียงแค่นี้ไม่มากนัก ซึ่งคนส่วนใหญ่กินข้าว กันวันละ 3 มื้อ และข้าวเป็นอาหารที่เรากินมากที่สุด จึงจำเป็นที่เราควรจะคำนึงถึงคุณค่าในสิ่งที่เรากินเข้าไป ข้าวขาวที่กินในแต่ละวันนั้นมีคุณค่าสารอาหารน้อยกว่าข้าวกล้อง ในข้าว กล้อง จะมีคุณค่าแร่ธาตุมากมาย ที่เป็นประโยชน์ ต่อร่างกาย คือมีวิตามินบีรวม ซึ่งจะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการอ่อนเพลีย แขน ขา ไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อ โรคผิวหนังบางชนิด บำรุงสมอง ทำให้เจริญอาหาร

- วิตามินบี 1 ซึ่งถ้ากินพวกข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวนึ่งก่อนสี ข้าวเสริมวิตามินจะช่วยป้องกันโรคเหน็บชาได้
- วิตามินบี 2 ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก คือ จะมีอาการเป็นแปลที่มุมปาก ทั้งสองข้าง ริมฝีปากบวม ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาสู้แสงไม่ได้

- แร่ธาตุฟอสฟอรัส ซึ่งจะช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน
- แร่ธาตุแคลเซี่ยม จะช่วยลดอาการเป็นตะคริว

- แร่ธาตุทองแดง จะช่วยในการสร้างเม็ดเลือด
- แร่ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางและช่วยในการสร้างเม็ดเลือด
- สารอาหารโปรตีน จะช่วยเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอของร่างกาย

แต่เนื่องจากโปรตีนในข้าวเป็นโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ การที่จะกินข้าวเพื่อให้ได้คุณค่าของสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ก็โดยการกินร่วม กับ พวกถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ จะทำให้คุณภาพของโปรตีนในข้าวดีขึ้น เช่น จะใช้วิธีการง่าย ๆ โดยการนึ่งหรือหุงข้าวใส่ถั่วเขียว ถั่วลิสงหรือถั่วดำ ถั่วแดง ตามความชอบ ถั่วแต่ละชนิดมีคุณค่าแตกต่างกันไป แต่ก่อนจะนำถั่วมานึ่งหรือหุงรวมกับข้าวนั้นควรล้างแล้วแช่น้ำทิ้ง ไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ในน้ำธรรมดา ถ้าเป็นน้ำร้อนก็แช่ประมาณ 1 ชั่วโมง จะช่วยทำให้เอนไซม์บางตัวในถั่วไม่เกิด ปฏิกริยาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ซ บางคนคิดว่ากินถั่วแล้วไม่ค่อยย่อย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการทำที่ถูกต้องด้วย ถ้ากินข้าวกล้องผสมถั่วได้เป็นประจำจะทำให้เราได้คุณค่าสารอาหารที่สมบูรณ์ ทดแทนเนื้อสัตว์ได้

นอกจากนี้แล้ว ข้าวกล้องจะมีสารอาหารไขมัน ให้พลังงานแก่ร่างกายโดยเฉพาะน้ำนมในข้าวกล้อง เป็นน้ำมันที่ไม่มี โคเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือด เพราะถ้ามีมากจะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย

- ในข้าวกล้องมีไนอะซิน เป็นวิตามินชนิดหนึ่งที่จำเป็นสำหรับสุขภาพของผิวหนัง ลิ้น การทำงานของกระเพาะ อาหารและลำไส้ รวมทั้งการทำงานของระบบประสาท และโรคที่เกิดจากการขาดไนอะซิน ซึ่งมีอาการท้องเสีย ความจำ เสื่อมและอาการโรคผิวหนังหยาบและอักเสบแดง

นอกจากนี้การกินข้าวกล้องจะได้กากอาหารมาก ซึ่งจะทำให้ท้อง ไม่ผูกและยังช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้อีกด้วย คุณค่าอาหารที่กล่าวมา ข้างต้นนี้ มีประโยชน์และจำเป็นที่ร่างกายต้องได้รับ ดังนั้น ในการบริโภคข้าว ควรจะได้ คำนึงถึงในเรื่องนี้เพื่อสุขภาพต่อตัวท่านเองและคนในครอบครัวด้วย จึงมีข้อกำหนดในข้อที่ 2 ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราต้องการให้กินอาหารที่มี ประโยชน์มากกว่าพวกแป้ง ถ้าเป็นพวกข้าวกล้อง หัวเผือก หัวมัน ข้าวโพด จะดีกว่า แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทย เปลี่ยนไป จึงมีการอนุโลมให้กินอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ สลับกับข้าวที่เป็นอาหารหลัก ไม่ใช่เป็นพวกแป้งทุกมื้อ จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

http://www.ricethailand.go.th/rkb/data_007/rice_xx2-07_gatherNew_004.html


สูตรน้ำข้าวกล้องขึ้นโต๊ะเสวย
สำนักพัฒนาข้าว'เผยเคล็ดต้มข้าวอย่าให้เดือดนานเกิน' ชาวบ้านทำกินกันเองได้ง่าย

สูตรน้ำข้าวกล้องงอก ขึ้นโต๊ะเสวย 'ในหลวง' ชาวบ้านทำกินเองได้ง่ายราคาไม่แพง สารอาหารครบถ้วน อธิบดีกรมการข้าว รายงาน รมต.เกษตรฯ-ปลัดฯ นำข้าวกล้อง งอกปลุกกระแสให้คนไทยรู้คุณค่าข้าวไทย ช่วยเพิ่มรายได้ชาวนา ขณะที่สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว เตรียมสาธิตวิธีทำน้ำข้าวกล้องงอก ในวันพุธที่ 7 ม.ค.นี้ เวลา 9 โมงเช้าเป็นต้นไป หลังมีประชาชนสนใจโทรฯ สอบถามจำนวนมาก

ตามที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เสนอข่าวอันเป็นมหามงคล กรณี 'น้ำข้าวกล้องงอก' ได้ขึ้นโต๊ะเสวยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายครบถ้วน จนมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงสูตร ขั้นตอน และวิธีการทำน้ำข้าวกล้องงอกดังกล่าว ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นจำนวนมากนั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายประเสริฐ โกศัลยวิตร อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากที่กรมการข้าว ได้เผยแพร่เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเสวยน้ำข้าวกล้องงอก ทำให้มีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากโทรศัพท์เข้ามาสอบถามสูตรน้ำ ข้าวกล้องงอก และเดินทางมายังกรมการข้าว เพื่อมาติดต่อซื้อ เมล็ดข้าวกล้องไปปรุงรับประทานเองที่บ้าน ทางกรมฯ จึงตกลงที่จะจัดสาธิตวิธีการทำน้ำข้าวกล้องงอก และสาธิตการหุงข้าวกล้อง ให้นุ่มนวล มีรสชาติอร่อย ในวันพุธที่ 7 ม.ค.นี้ จัดโดยสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพ มหานคร ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อว่า สำหรับข้าวกล้องงอกที่เป็นวัตถุดิบ ในการทำน้ำข้าวกล้องงอกนั้นทางกรมฯ มีจำนวนจำกัด ดังนั้นหากประชาชนสนใจที่จะซื้อ ให้ไปซื้อได้ที่ศูนย์ศิลปาชีพทุกสาขา โดยเฉพาะที่ศูนย์ศิลปาชีพ จ.อุบลราช ธานี จะมีจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สำหรับกระแสข่าวนี้ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว เพราะคนไทยบริโภคข้าวมาตลอดชีวิต แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าการบริโภคที่ถูกต้อง จะต้องทำอย่างไรให้คุณค่า ทางโภชนาการ และสารอาหารยังอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะในข้าวกล้อง ซึ่งยังมีจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวที่เป็นสีน้ำตาลและสีแดง จะให้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วน ทั้งวิตามิน เกลือแร่ และแคลเซียม

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในน้ำข้าวกล้องงอกยังมีสิ่งพิเศษในเรื่องของสารกาบ้า และสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายตัว ที่เราไม่ จำเป็นต้องไปหาซื้ออาหารเสริมมารับประทานให้เปลืองเงินเลย และไม่ต้องเสียเวลาสกัดสาร อาหารออกมาให้ยุ่งยากเหมือนกับอาหารเสริม หรือเครื่องดื่มบำรุงร่างกายบางตัวที่โฆษณาสรรพ คุณจนเป็นยาครอบจักรวาล ทั้งนี้ ตนได้รายงานเรื่องนี้ให้กับนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายจรัลธาดา กรรณสูตร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทราบแล้ว ทั้งสองท่านดีใจมากที่คนไทยหันมาเห็นคุณค่าของข้าวไทย ถือเป็นการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งในเรื่องการแปรรูปข้าวให้เป็นอาหารที่หลากหลายชนิด และยังทำขายได้ด้วยโดยมีกรรมวิธีง่าย ๆ แต่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเราได้เร่งวิจัยต่อยอดสรรพคุณของข้าวในด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

ด้าน นางลัดดาวัลย์ กรรณนุช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยสูตรการทำน้ำข้าวกล้องงอก ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า เริ่มจาก เมล็ดข้าวกล้องใหม่ 100 กรัม หรือ 1 ขีด จะต้องซาวน้ำล้างเอากรวดทรายออกก่อนหนึ่งครั้ง แล้วนำไปแช่น้ำประมาณ 1 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 5-6 ชม. ก็จะเกิดเป็นตุ่มงอกสีขาวขึ้นมาที่ เมล็ดข้าวพอมองเห็น จากนั้นให้เอาขึ้นนำมาผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปต้มใช้ไฟปานกลางให้เดือด แต่อย่าให้เดือดมาก เพราะถ้าร้อนมากเกินไป สารกาบ้าจะถูกทำลายมาก หากเดือดพอดีให้เคี่ยวไปสัก 15-20 นาที สารกาบ้าจะยังอยู่ในข้าวถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปริมาณเพียงพอต่อร่างกาย

'เสร็จแล้วใช้ผ้าขาวบาง หรือกระชอน กรองน้ำออกมาดื่ม เพิ่มรสชาติโดยโรยเกลือป่นให้ออกเค็มเล็กน้อย ก็จะเพิ่มความอร่อย นอกจากความหอมหวานที่มีอยู่ในน้ำข้าวกล้องงอกแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นสูตรที่ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวปทุมธานี ทำเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง ทุก 3 วัน

ส่วนการหุงข้าวกล้องให้ได้รสชาติอร่อย นุ่มลิ้น จะต้องนำข้าวกล้องไปแช่น้ำสัก 1 ชั่วโมง ให้เมล็ดข้าวบานออกเล็กน้อยก็หุงได้ทันที จะ ทำให้เมล็ดข้าวนุ่ม น่ารับประทานมาก การหุงข้าว จะทำให้สารกาบ้าถูกทำลายไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่กาบ้าที่เหลือก็เพียงพอต่อร่างกายที่จะต้องบริโภคทุกวันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำให้ข้าวกล้องงอกขึ้นมา จะเพิ่มคุณค่าสารอาหารขึ้นอีก 10 เท่าเลยทีเดียว' นางลัดดาวัลย์ กล่าวตอนท้าย.

ชะลอความแก่ชรา
นักวิชาการน้อมรับพระราชเสาวนีย์ ระบุสรรพคุณน้ำข้าวกล้องงอกดีกว่าเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ช่วยระบบย่อยอาหาร ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ไม่ให้แก่ก่อนวัย เผยทำกินเองในครอบครัวได้ง่าย หรือจะทำขายก็ไม่สงวนสิทธิ์ เตรียมอบรมให้ประชาชนฟรี ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ในน้ำข้าวกล้องงอก มีสาร 'กาบ้า' จำนวนมาก มีสรรพคุณบำรุงประสาท และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับ

ตามที่อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยข้อ มูลอันเป็นสิริมงคลแก่พสกนิกรชาวไทย กรณีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้นำเครื่องดื่มน้ำข้าวกล้องงอก ที่วิจัยและผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เข้าพระราช วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทุก ๆ 3 วัน เพื่อนำขึ้นโต๊ะเสวย ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงทราบว่าในน้ำข้าวกล้องงอก มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ครบถ้วน โดยนอกจากล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์จะโปรดแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็โปรดด้วยเช่นกัน

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายประเสริฐ โกศัลยวิตร อธิบดีกรมการข้าว กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสรรพคุณของน้ำข้าวกล้อง งอก ว่า จากการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญของ กรมการข้าว ได้ผลชัดเจนว่ามีสรรพคุณดีกว่าเครื่องดื่มบำรุงกำลัง และเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย ราคาแพงที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดอย่างแน่นอน

เพราะสารอาหารในข้าวที่งอกใหม่จะมี สิ่งมีประโยชน์ที่มีคุณค่าต่อร่างกายหลาย ชนิด เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ เพราะสารอาหารที่เกิดจากข้าวกล้องงอก จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมทั้งฟื้นฟูสภาพเซลล์และชะลอการเสื่อมสภาพของ เซลล์ ทั้งนี้ยังมีสารอาหารอีกหลายตัวที่กรมการข้าว กำลังวิเคราะห์หาค่าความเป็น ประโยชน์ด้านสารอาหารต่อร่างกาย

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่าสำหรับคุณค่าทางสารอาหารเมื่อรับประทานน้ำข้าวกล้องงอก เป็นประจำทุกวัน จะช่วยในระบบย่อยอาหารของร่างกายให้ดีขึ้นด้วย ดูดซึมสารอาหารเข้าร่างกายได้เป็นอย่างดี แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าคนในสมัยโบราณนำน้ำข้าวไปเลี้ยงลูก ทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ดีและเป็นของหาง่าย ทำได้เองไม่ต้องซื้อหาให้เสียเงินตราต่างประเทศ

'ทุกวันนี้คน ไทยมองแต่อาหารเสริมจากต่างประเทศ ทั้งที่อาหารเสริมบางอย่างไม่เหมาะกับคนไทย รับประทานเข้าไปก็ถูกร่างกายขับออกมา บางอย่างยังสะสมในร่างกายอีกด้วย จริง ๆ แล้ว ของที่เป็นประโยชน์มีสรรพคุณครบถ้วนอยู่รอบตัวเรา และทำได้ง่าย ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เสวยข้าวกล้องตลอด

เพราะมี คุณค่าทางสารอาหารมากกว่าข้าวขัดขาวที่คนส่วนใหญ่รับประทาน คนไทยสมัยโบราณจะรับประทานข้าวซ้อมมือ หรือข้าวที่ตำด้วยครก สารอาหารก็ยังคงอยู่ไม่ถูกขัดทิ้งไปหมด คนไทยสมัยก่อนจึงมีสุขภาพดีกว่าคนสมัยนี้ ปัจจุบันคนไทยกินแต่ข้าวขัดจนขาว เพราะโรงสีใช้หินขัดทำให้สารอาหารถูกขัดทิ้งไป เป็นรำข้าวจนหมด' นายประเสริฐ กล่าว

อธิบดีกรมการข้าวกล่าวอีกว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้กรมการข้าวนำผลิตภัณฑ์ข้าวต่าง ๆ ที่เราคิดค้นขึ้นมา จัดทำเป็นกระเช้าของขวัญเพื่อส่งความสุขในเทศกาลปีใหม่นี้ด้วย เพราะพระองค์ทรงต้องการให้คนไทยหันมาเห็นคุณค่าของข้าวไทย และตระหนักถึงสิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ ประโยชน์ก็จะกลับมาสู่คนไทย และเกษตรกรของเราเอง

ช่วงปีใหม่นี้ทางกรมการข้าวจึงได้จัด ทำกระเช้าของขวัญจากผลิตภัณฑ์ข้าวหลาก หลายชนิดไว้จำหน่าย อาทิ ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้องน้ำมันรำข้าว ครีมทามือ ครีมทาผิว เป็นต้น

ด้าน น.ส.อรพิน วัฒเนสก์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านปรับปรุงพันธุ์ข้าว 9 เปิดเผยว่าในน้ำข้าวกล้องงอก ต่อ 120 มิลลิลิตร มีสารอาหารมากมาย ได้แก่ โปรตีน 0.49 กรัม ไขมัน 2.05 กรัม ความชื้น 88.21 กรัม เถ้า (สารอาหารจำพวกหนึ่งช่วยย่อยอาหาร) 0.06 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1.42 กรัม และกาบ้า 4.62 กรัม โดยสรรพคุณของ 'กาบ้า' จะช่วยแก้โรคอัลไซ เมอร์ บำรุงระบบประสาท ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ และยังช่วยชะลอความชราและฟื้นฟูสภาพผิวได้ดี

นอกจากนี้ยังมีเพอร์ริคาบ คือ เยื่อหุ้มเมล็ดข้าว ที่เห็นเป็นสีน้ำตาลแดง มีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากอีกด้วย “สารกาบ้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ดีกว่าเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย และอาหารเสริมราคาแพง หลายชนิด สำหรับสูตรการทำน้ำข้าวกล้องงอก ขณะนี้เราได้จดอนุสิทธิบัตรไว้แล้ว ซึ่งศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีจะอบรมให้แม่บ้าน และเกษตรกรผู้สนใจไปทำบริโภคเอง หรือจะผลิตขายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนก็ได้ ไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทยได้อีกทางหนึ่ง

ด้าน นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เปิดเผยว่า ข้าวกล้อง หรือเมล็ดธัญพืชที่กำลังงอกเป็นตุ่ม จะมีสารกาบ้าเยอะ โดยสารกาบ้าจะช่วยเติมสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้สมองแล่นได้ไวกว่าเดิม ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตามเมล็ดข้าว ที่กำลังงอก มีข้อเสียที่ต้องระวัง คือ เมล็ดอะไรก็ตามที่กำลังงอก หรือยอดผักต่าง ๆ ที่กำลังงอก จะมีสารยูริคเยอะ ดังนั้นคนที่เป็น โรคเกาต์อาจจะต้องระวังสักนิด แต่ถ้าไม่เป็นโรคเกาต์ก็รับประทานได้ตามปกติ ข้อควรระวังอีกอย่าง คือ กาบ้าไม่ควรจะผ่านความร้อน เพราะ กาบ้าจะไวต่อความร้อน อาจจะสลายไปได้

'การ รับประทานข้าวกล้องมี ประโยชน์ต่อร่างกายมาก เพราะข้าวกล้องเป็นเหมือนข้าวขาวที่มีไฟเบอร์ หรือเส้นใย หรือกาก โดยกากของมันจะช่วยให้น้ำตาลในข้าวไม่ดูดซึมเร็วเกินไป ยกตัวอย่าง ถ้าเรากินข้าวขาวทั่วไปประมาณ 3 นาที ข้าวจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล รู้สึกหวานในปาก แต่ข้าวกล้องอมประมาณ 10 นาทียังไม่หวานเลย เพราะมีไฟเบอร์อยู่ ซึ่งจะช่วยยับยั้งไม่ให้น้ำตาลดูดซึมเร็ว

นอกจากนี้ ข้าวกล้องยังมีวิตามินบีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นบี 1 บี 2 บี 6 หรือบี 12 โดยเฉพาะตัวเปลือกที่ยังไม่สี ดังนั้นควรจะรับประทานบ่อย ๆ แต่มีข้อเสียบ้างคือฝืดคอ เพราะมีกากเยอะ ถ้าเพิ่งเริ่มรับประทานอาจจะผสมกับข้าวขาวทั่วไปก่อนก็ได้' นพ.กฤษดา กล่าวตอนท้าย.


ที่มา.....เทคโนโลยีการเกษตร


การค้นพบข้าวโภชนาการสูง
ข้าว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยมายาวนาน ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมของไทยและแนวความคิด ที่มักมีข้าวหรือส่วนประกอบของ ข้าวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในทางโภชนาการข้าวเป็นธัญพืช 1 ใน 3 ชนิด ที่คนบริโภคมากที่สุด และธัญพืชชนิดเดียวที่คนนิยมบริโภค 'เมล็ดข้าว' โดยตรง ดังนั้น 'เมล็ดข้าว' จึงเปรียบเสมือน 'เม็ดยา' ที่ทุกคนยินดีรับประทาน ดังนั้น จึงมีความพยายามในการปรับปรุงโภชนาการ ที่เกี่ยวกับข้าวและพันธุ์ข้าวเพื่อ ให้ประสบผลสำเร็จอย่างจริงจัง

รศ.ดร.อภิชาติ ได้เป็นผู้นำในงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างพันธุ์ข้าวธาตุเหล็กสูงระดับ 1.6-2.1 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ที่มีลักษณะดีและคุณภาพการหุงต้มดีและมีกลิ่นหอม จากคู่ผสมข้าวขาวดอกมะลิ 105 กับข้าวเจ้าหอมนิล พันธุ์บริสุทธิ์เหล่านี้มีทั้งสีขาวและสีม่วง นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพันธุ์ข้าวสีขาว ให้มีความหนาแน่นของธาตุเหล็ก สูงถึง 2.1 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ที่มีกลิ่นหอมคล้ายข้าวหอมมะลิได้สำเร็จ ได้มีการปรับปรุงข้าวสีม่วงขึ้นมาใหม่ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีปริมาณ ธาตุเหล็กสูงกว่าข้าวหอมนิลเดิม และให้ผลผลิตดีอีกด้วย นอกจากนี้ ข้าวสีม่วงยังมีข้อได้เปรียบจากข้าวพันธุ์อื่นๆ คือมีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนสูงที่สุดและมีวิตามินอี ซึ่งน่าจะมีผลให้ข้าวสีม่วงนี้มีความสามารถ ในการกำจัดสารอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่มีมาก โดยเฉพาะเมื่อศึกษาเฉพาะรำพบว่า อัตราการยับยั้งอนุมูลอิสระสูงกว่าน้ำองุ่นสีม่วง 100% และน้ำส้ม 100% อีกด้วย

ด้านโภชนาการ ได้มีการพัฒนาการตรวจความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร การวิเคราะห์ทางด้านโภชนาการในสายพันธุ์ข้าวจำนวนมาก พบว่า มีข้าวที่มีลักษณะพิเศษเป็นที่ต้องการ ทั้งในพันธุ์ข้าวสีขาวและสีม่วงเพื่อ ทำการทดสอบกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า ในข้าวกล้องของข้าวทั้งสองนี้มีค่า glycemic index ต่ำกว่า glucose อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแสดงให้เห็นว่าในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 polysaccharides หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrate) ของข้าวช่วยชะลอกระบวนการย่อย และดูดซึมของอาหารได้เมื่อเปรียบเทียบกับ น้ำตาลเชิงเดี่ยว (glucose) มีการสูญเสียคุณค่าทางอาหารนับเป็นประเด็นที่สำคัญทางโภชนาการ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับสารอาหารจากข้าวที่มีโภชนาการสูง ดังนั้น ความเข้าใจถึงสาเหตุของความสูญเสีย จะนำไปสู่แนวทางป้องกันที่เหมาะสม เพื่อให้ธาตุอาหารถึงผู้บริโภคมากที่สุด สารอาหารส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการขัดสี เนื่องจากแหล่งสะสมสารอาหารที่สำคัญอยู่ในส่วนของ pericarp นอกจากนี้ กระบวนการหุงต้มก็ทำให้เกิดการสูญเสียสารอาหารที่ไวต่อความร้อน ได้แก่ เบต้าแคโรทีนและวิตามินอี การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการสูญเสียสารอาหารจากการขัดสี จึงได้เปรียบเทียบวิธีการนำข้าวไปแช่น้ำ เพื่อกระตุ้นให้มีการกระจายของสาร อาหารเข้าไปภายในเนื้อแป้งก่อนการขัดสี ทำให้พบว่า ปริมาณสารบางตัว เช่น เบต้าแคโรทีนและวิตามินอีในข้าวขัดที่ผ่านการแช่น้ำเพิ่มสูงขึ้น


ผลงานวิจัยเด่นของ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร
- การค้นพบยีนความหอมและศึกษาหน้าที่ของยีนในการกำหนดปริมาณสารหอมในข้าว ขณะนี้อยู่ระหว่างจดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์

- การค้นพบยีนที่ทำให้ข้าวทนน้ำท่วม และนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ให้สามารถทนน้ำท่วมได้นานกว่า 2 สัปดาห์ และเป็นผู้ที่ทำให้งานวิจัยด้านกระบวนการ ที่ทำให้ข้าวทนน้ำท่วมเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง

- การค้นพบพันธุ์ข้าวที่มีโภชนาการสูง มีกลิ่นหอม มีคุณภาพหุงต้มดี เช่น ข้าวธาตุเหล็กสูงที่มีสีขาวและหอมแบบข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวสีม่วงดำที่มีการสะสมสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และมี Provitamin A ในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ข้าวเหล่านี้มี Glycemic index อยู่ในระดับที่ต่ำปานกลาง พันธุ์ข้าวเหล่านี้เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการแปรรูป และผู้ผลิตข้าว คุณภาพสูงพิเศษ

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่สามารถนำเม็ดเงินเข้าประเทศได้ปีละไม่น้อยเลยทีเดียว นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาสายพันธุ์ข้าวและพัฒนากรรมวิธีการผลิตข้าวกล้องงอกที่มี GABA สูง เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มประโยชน์ของข้าวกล้อง โดยพบว่า ข้าวกล้องมีสารอาหารมากกว่าข้าวทั่ว ๆ ไป สามารถป้องกันโรค และควบคุมน้ำหนักได้

พัชรี ตั้งตระกูล นักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ศึกษาเรื่องการใช้ ประโยชน์จากคัพภะข้าว และข้าวกล้องงอกเป็นอาหารสุขภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อศึกษาปัจจัยการผลิต สายพันธุ์ข้าวและสภาวะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

พัฒนากรรมวิธีการผลิต ข้าวกล้องงอกที่มี GABA สูง (GABA enriched-rice) จากข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ และนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ จากผลงานวิจัยพบว่า ในคัพภะข้าวเจ้า มี GABA สูงสุดในข้าวขาวดอกมะลิ 105 (37.2 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ส่วนข้าวเหนียวพบ GABA สูงสุดในพันธุ์ R258 (72.8 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม)

ข้าวกล้องงอกจาก พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จะให้ปริมาณ GABA สูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ซึ่งจากการศึกษาประโยชน์ของข้าวกล้อง เพื่อการบริโภคที่ได้ประโยชน์สูงสุดทำ ให้ทราบว่า “ข้าวกล้อง” ซึ่งประกอบด้วยจมูกข้าว มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมาก อาทิ ใยอาหาร กรดไฟติก (Phytic acid) กรดเฟรูลิก (Ferulic acid) วิตามินบีและอี และ GABA (กรดแกมมา แอมิโนบิวทิริก) ซึ่งช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน และช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว

การบริโภคข้าวกล้อง ให้ได้ประโยชน์สูงสุดจะต้องนำข้าวกล้องมาแช่น้ำทำให้งอกเสียก่อน ซึ่งข้าวกล้องงอกนี้จะมีสารอาหารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ GABA ที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง GABA เป็นกรดอะมิโน ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากกระบวนการ decarboxylation ของกรดกลูตามิก กรดชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็น neurotransmitter ในระบบประสาทส่วนกลาง มีการใช้กรดในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทหลายโรค เช่น โรควิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคลมชัก และยังมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิตด้วย

คน ไทยและผู้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก มักนิยมรับประทานข้าวหุงสุกจากข้าวทั้ง เมล็ด และ ผู้ที่รับประทานข้าวกล้องเป็นประจำก็ยังมีน้อย เนื่องจากข้าวกล้องมีเนื้อสัมผัสที่แข็ง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคข้าวกล้อง แทนข้าวขาวได้ก็จะทำให้ร่าง กายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ซึ่งการนำข้าวกล้องมาแช่น้ำให้งอก นอกจากจะได้ประโยชน์จากปริมาณ GABA ที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ข้าวกล้องมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่มรับประทานได้ง่าย สำหรับข้าวกล้องที่สามารถนำมาแช่น้ำให้เกิดการงอกได้นั้น จะต้องเป็นข้าวกล้องที่ผ่านการกะเทาะเปลือกมาไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้

คณะวิจัยสามารถผลิต ข้าวกล้องงอกที่ผ่านกรรมวิธีเพิ่ม GABA ให้สูงขึ้น พร้อมนำมาหุงต้มเพื่อรับประทานได้ทันที และนอกจากนั้นยังสามารถนำมาพัฒนา เป็นแป้งข้าวกล้องงอกและผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ ได้หลายชนิด เช่น อาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว ซุป เครื่องดื่ม ฯลฯ

ปริมาณ GABA ที่วิเคราะห์ได้ในข้าว กล้องของข้าวเจ้าพบสูงสุดในข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เมื่อนำเมล็ดข้าวกล้องขาวดอกมะลิ 105 ที่สมบูรณ์ ผ่านการคัดเลือกและทำความสะอาด นำมาแช่น้ำให้เกิดการงอกโดยควบคุมอุณหภูมิ เป็นเวลานาน 36-72 ชั่วโมง โดยมีการเปลี่ยนน้ำเป็นระยะ เพื่อป้องกันการเกิดการหมัก และการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นใช้น้ำร้อน เพื่อหยุดปฏิกิริยาการงอก

นำมาทำให้แห้งที่ อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เพื่อลดความชื้นของข้าวลงเหลือประมาณ 12-13% จะได้ข้าวกล้องงอกที่มีปริมาณ GABA สูงขึ้นเป็น 15.2-19.5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งสูงกว่าข้าวกล้องปกติ และขณะนี้คณะวิจัยกำลังดำเนินการขยายผลงานวิจัย สู่ระดับต้นแบบการผลิต ข้าวกล้องงอกโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และกลุ่มธุรกิจข้าวส่งออก เพื่อร่วมพัฒนาสายการผลิตต้นแบบสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ GABA-Rice

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทย และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยโรงงานและเครื่องจักรต้นแบบจะอยู่ที่สถาบันค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้วางแผนการผลิตข้าวงอกและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพื่อการค้าต่อไป

สำหรับ เกษตรกรและผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2942-8629.

เชิญทุกท่าน ร่วมสร้างบุญกุศลด้วยกัน ....ส่งต่อข่าวสารแก่เพื่อนๆ มีโอกาสชมจิ๊กซอร์ต่างๆ สำหรับนักค้นหาสาระชีวิตต่อภาพของตนเอง ทั้ง ด้านโลกียะและโลกุตระ ที่ ainews1.com จัดไว้บริการให้แก่เพื่อนๆทุกเพศวัยทุกคน ฟรี นอกเหนือจากส่วนขยายธุรกิจ ที่ลิงค์ /article385.html Bookmark and Share


http://www.oknation.net/blog/print.php?id=661834
kimzagass
ตอบตอบ: 30/07/2013 7:50 pm    ชื่อกระทู้:

192. การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง


จากสภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และสภาพดินที่เสื่อมลงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เกษตรกรต้องคิดหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ลดการใช้สารเคมีและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการปลูกข้าวแบบล้มตอซัง นำไปปฏิบัติใช้ในไร่นา ดังนี้

การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง คือ การปลูกข้าวโดยอาศัยตอซังเดิม ให้แตกหน่อขึ้นมาเอง จึงไม่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ ไม่ต้องไถพรวน ไม่ต้องเผาฟาง หลักการสำคัญ คือให้ต้นข้าวแตกหน่อขึ้นมาจากตอซังข้าวข้อแรกที่อยู่ติดดิน แล้วเจริญขึ้นมาเป็นต้นข้าวที่ต้องการ


ความเป็นมา
ปี 2539 เกษตรกรจังหวัดปทุมธานีประเภท “หัวไวใจสู้” ชื่อ นายละเมียด ครุฑเงิน อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 46 หมู่ 9 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เป็นคนช่างสังเกต และสะสมประสบการณ์ในการทำนามานานได้สังเกตเห็นว่าตอซังข้าวที่ถูกล้อรถเก็บเกี่ยว (combine) เหยียบย่ำล้มลงราบกับพื้นนาในขณะที่ดินมีความชื้นหมาด ๆ คือ ไม่แห้งและเปียกเกินไป หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว 7–10 วันนั้น จะมีหน่อข้าวแทงขึ้นมาจากโคนตอซังส่วนที่ติดอยู่กับดินเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องเท่าที่ดินยังมีความชื้นเพียงพอ แต่ตอซังข้าวที่ไม่ถูกล้อรถเก็บเกี่ยวทับจะมีหน่อแตกงอกออกจากข้อของต้นตอซังข้าวสังเกตเห็นว่าหน่อจะงอกช้ากว่าและขนาดเล็กกว่าหน่อที่งอกออกจากตอซังที่ล้มลงด้วยล้อรถเก็บเกี่ยวทับ จากการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความอยากรู้ของเกษตรกรเอง และคิดว่าสามารถลดต้นทุนลงหลายอย่าง เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเตรียมดิน นายละเมียด ครุฑเงิน ได้ทำการทดสอบ 4 ฤดูโดยปลูกข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 พบว่า ได้ผลผลิตสูงไม่แตกต่างจากการใช้เมล็ดหว่าน อีกทั้งยังประหยัดเรื่องของเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน และอายุสั้นเพียง 90 วันเท่านั้น ซึ่งวิธีการปลูกข้าวเช่นนี้เกษตรกรเรียกว่า “การปลูกข้าวด้วยตอซัง” ปี 2543 มีเกษตรกรอำเภอลาดหลุมแก้วทำตามกรรมวิธีของ นายละเมียด ครุฑเงิน รวมพื้นที่ 45,000 ไร่/ฤดู และยังได้ขยายผลไปสู่เกษตรกรจังหวัดใกล้เคียง


การปลูกข้าวแบบล้มตอซังมีเทคนิคและวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ :
1. แปลงที่ปลูกข้าวรุ่นแรกต้องมีการเตรียมดินและทำเทือกให้ได้ระดับสม่ำเสมอและปลูกข้าวโดยวิธีหว่านน้ำตม แปลงนาสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้หรือควรอยู่ในเขตชลประทาน ใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง


อัตราเมล็ดพันธุ์ 15–20 กก./ไร่ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน
1. ก่อนเก็บเกี่ยวข้าวรุ่นแรกประมาณ 10 วัน ถ้ามีน้ำขังให้ระบายออกจากแปลง ถ้าไม่มีน้ำให้ระบายน้ำเข้าแปลงเมื่อดินในแปลงเปียกทั่วกันแล้ว ให้ระบายน้ำออกเพื่อให้ดินมีความชื้นหมาด ๆ คือ ไม่แห้งหรือเปียกเกินไปหลังเก็บเกี่ยวข้าว

2. เก็บเกี่ยวข้าวในระยะ “พลับพลึง” เพราะต้นข้าวยังสดอยู่ไม่แห้งเกินไป

3. ตอซังที่ใช้ปลูกข้าวแบบล้มตอซังต้องไม่มีโรคและแมลงรบกวน

4. หลังเก็บเกี่ยวต้องเกลี่ยฟางข้าวให้กระจายทั่วทั้งแปลงอย่างสม่ำเสมอ ทำการย่ำตอซังให้ล้มนอนราบ อย่าให้ตอซังกระดกขึ้น (ย่ำตอนเช้ามืด ดินมีความชื้นตอซังและฟางนิ่ม โดยใช้อีขลุบ หรือล้อรถมัดติดกัน 5 ล้อลากย่ำ)

5. หลังจากย่ำตอซังแล้ว ต้องคอยดูแลไม่ให้น้ำเข้าแปลง โดยทำร่องระบายน้ำเมื่อมีฝนตกลงมา ต้องรีบระบายออกให้ทัน ถ้าปล่อยไว้หน่อข้าวจะเสียหาย

6. เมื่อหน่อข้าวมีใบ 3–4 ใบ หรือ 10–15 วัน หลังล้มตอซัง ให้ระบายน้ำเข้าแปลงให้ดินแฉะ แต่ไม่ท่วมขัง ใส่ปุ๋ยครั้งแรก สูตร 46-0-0 อัตรา 15–20 กก./ไร่ เพื่อเป็นปุ๋ยแก่ต้นข้าว และช่วยการย่อยสลายฟางได้ดีขึ้น

7. เมื่อข้าวอายุได้ 35–40 วัน หลังล้มตอซังใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง สูตร 16-20-0 อัตรา 20–25 กก./ไร่


1. เมื่อข้าวอายุได้ 50–55 วัน หลังล้มตอซัง ถ้าข้าวเจริญเติบโตไม่ดีให้ใส่ปุ๋ยครั้งที่สาม สูตร 46-0-0 อัตรา 15–20 ก.ก./ไร่

2. เมื่อข้าวอายุใกล้เก็บเกี่ยว (ประมาณ 80 วันหลังล้มตอซัง) ให้ระบายน้ำออกจากแปลงเพื่อให้ดินมีความชื้นหมาด ๆ


สิ่งที่ควรคำนึงในการปลูกข้าวแบบล้มตอซัง มีเงื่อนไขและข้อจำกัด ดังนี้
1. อยู่ในเขตหรือพื้นที่ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้

2. เก็บเกี่ยวข้าวในระยะ “พลับพลึง” ซึ่งต้นข้าวจะยังสดไม่แห้งเกินไปเวลาใช้ทำเป็น “ต้นพันธุ์” หน่อข้าวจะแตกเป็นต้นข้าวใหม่ที่แข็งแรงและเจริญเติบโตดี

3. เกลี่ยฟางข้าวคลุมตอซังให้สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง

4. ตอซังที่ใช้ปลูกข้าวแบบล้มตอซังต้องไม่มีโรคและแมลงรบกวน ถ้ามีโรคและแมลงรบกวนต้องไถ่ทิ้ง เตรียมดินและปลูกแบบหว่านน้ำตมใหม่

5. การปลูกข้าวแบบล้มตอซังไม่ต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเสริม


ข้อดีของการปลูกข้าวแบบล้มตอซัง
1. ลดต้นทุนการผลิต ค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าสารเคมีควบคุมและกำจัดวัชพืช ฯลฯ ไร่ละประมาณ 900 บาท

2. ย่นระยะเวลาการปลูกข้าวให้เร็วขึ้น 10–15 วัน (ไม่เสียเวลาเตรียมดินและหว่านข้าว)

3. เป็นการรักษาสภาวะแวดล้อม เพราะลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและหอยเชอรี่

4. ลดปัญหาการเผาฟางข้าว โดยนำมาใช้ประโยชน์ในการคลุมแปลงนาเพื่อรักษาความชื้นในดิน



รายการ..................การทำนาหว่านน้ำตม (บาท/ไร่)..............การปลูกข้าวตอซัง (บาท/ไร่)

1. ค่าเตรียมดิน...................... 250 .................................... -
2. ค่าล้มตอ กระจายฟาง............ - ...................................... 80
3. ค่าเมล็ดพันธุ์..................... 120..................................... -
4. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง............... 300...................................... 150
5. ค่าปุ๋ยเคมี........................ 480..................................... 282
6. ค่าสารกำจัดวัชพืช.............. 165..................................... -
7. ค่าสารกำจัดหอย................. - ........................................ -
8. ค่าสารกำจัดศัตรูพืช.............. 141...................................... 91
9. ค่าจ้างหว่านข้าว................... 40..................................... -
10. ค่าจ้างหว่านปุ๋ย................. 120..................................... 80
11. ค่าจ้างพ่นสารกำจัดวัชพืช....... 80..................................... -
12. ค่าจ้างพ่นสารกำจัดศัตรูพืช..... 120...................................... 80
13. ค่าจ้างเก็บเกี่ยว................. 250..................................... 250
14. ค่าขนส่ง........................ 100..................................... 100

ต้นทุนการผลิตรวม (บาท/ไร่)....... 2,166................................. 1,113
ผลผลิตข้าวเปลือก (กิโลกรัม/ไร่)... 958.................................... 975

ราคาขาย (บาท/กิโลกรัม............. 5.90 ................................. 5.90
รายได้รวม (บาท/ไร่)................. 5,652................................ 5,752

รายได้สุทธิ (บาท/ไร่)................ 3,486................................. 4,639


ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี (2549)
ตาราง เปรียบเทียบต้นทุนการผลิต ผลผลิต รายได้รวม และรายได้สุทธิจากการปลูกข้าวแบบล้มตอซัง กับการทำนาหว่านน้ำตม ปีการผลิต 2549 ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

ข้าวล้มตอ : การทำนาสูตรประหยัด
เรื่อง/ภาพ เสมอชน ธนพัธ


ปกติหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวนาจำนวนมากจะเผาไร่เพื่อกำจัดซังข้าวเดิม จากนั้นก็จะทำเทือกด้วยการวิดน้ำเข้านา ไถให้ดินเละจนเป็นเลน แล้วจึงหว่านเมล็ดพันธุ์

แต่นายละเมียด ครุฑเงิน ชาวนาแห่งอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ไม่ได้ปลูกข้าวด้วยวิธีการตามขนบเช่นนั้น เพราะหลังจากที่เกี่ยวข้าวแล้ว แทนที่จะเผา เขากลับขับรถเกี่ยวข้าวย่ำลงไปที่ตอซัง หลังจากนั้นไม่กี่วัน ต้นอ่อนของข้าวก็จะงอกขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่เลย

นายละเมียด ครุฑเงิน ทำได้อย่างไร ?!
“ไม่น่าเชื่อว่ามันจะงอกขึ้นมาใหม่ทั้งแปลง เหมือนกับเราทำนาหว่านน้ำตมเลย” แม้แต่เจ้าตัวก็ยังกล่าวด้วยความอัศจรรย์ใจ

วิธีการปลูกข้าวในลักษณะนี้ ถูกคิดค้นขึ้นโดยนายละเมียด ครุฑเงิน ซึ่งทำให้ชาวนาที่เรียนจบเพียงชั้น ป. 4 ผู้นี้ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภายหลังนักวิชาการเกษตรเรียกวิธีการปลูกข้าวลักษณะนี้อย่างเป็นทางการว่า “การปลูกข้าวล้มตอ” ซึ่งเป็นการทำนาข้าวด้วยตอซังเดิม แทนการหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่ โดยต้นข้าวที่งอกนี้ จะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีเช่นเดียวกับการทำข้าวนาหว่านน้ำตมโดยทั่วไป


สำหรับขั้นตอนการปลูกข้าวล้มตอ ประกอบด้วย
• ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน ให้ระบายน้ำออกจากนา เพื่อให้ดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมีความชื้นหมาดๆ
• หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เอาฟางข้าวคลุมดิน ใช้รถไถหรือรถเกี่ยวข้าวย่ำตอข้าวเดิมให้ล้มราบติดผืนนา ปล่อยไว้ประมาณ 10–15 วัน ลูกข้าวก็จะแตกหน่อขึ้นมาจากตาต้นแขนงโคนตอซัง และที่ข้อตอซังเดิม
• วิดน้ำเข้านา อย่าให้น้ำขาด เนื่องจากถ้าดินแห้งเกิน 10 วัน ข้าวเปลือกที่ตกค้างอยู่จะงอกขึ้นมาแทรกกับต้นข้าวที่งอกจากตอ แล้วจะทำให้ข้าวมีสองรุ่นในแปลงเดียวกัน เมื่ออายุไม่เท่ากัน ก็จะแก่ไม่เท่ากัน สุดท้ายก็จะทำให้เก็บเกี่ยวลำบาก

ข้อดีของการปลูกข้าวล้มตอ คือ ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะไม่ต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่ แถมลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะการกระจายฟางข้าวเป็นเสมือนวัสดุคลุมดิน ทำให้ปุ๋ยไม่ระเหยง่าย และเมื่อฟางข้าวย่อยสลาย ก็จะเน่าเปื่อยผุพังเป็นปุ๋ยธรรมชาติ

ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช เนื่องจากข้าวต้นอ่อนโตเร็วกว่าหญ้า เมื่อผันน้ำเข้านา ฟางที่เริ่มเน่าเปื่อยก็จะใช้ออกซิเจน กลายเป็นน้ำฟางแดงๆ หญ้าต้นเล็กๆ ที่เพิ่งงอกก็จะจมน้ำฟางตาย เพราะขาดออกซิเจน

การปลูกข้าวล้มตอตามตำรับนายละเมียดนี้ได้แพร่หลายไปในหมู่เกษตรกรหลาย จังหวัด โดยเฉพาะในที่ราบลุ่มภาคกลาง อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวล้มตอยังคงต้องพึ่งสารเคมีเกษตรบางส่วน เช่น ปุ๋ยเคมี และสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง อีกทั้งการปลูกข้าวล้มตอ สามารถปลูกได้เพียง 2–3 รุ่น แล้วก็ต้องกลับไปเผาตอซัง ทำเทือก และหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากในอนาคต เทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวนาที่ว่านี้ สามารถพัฒนาไปสู่การใช้สารอินทรีย์เกษตร และลดจำนวนการเผาลงอีก ก็เยี่ยมไปเลย



http://bio5thailand.igetweb.com/articles/328736/igetweb-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C.html


http://www.kasetorganic.com/%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b9%8c%e0%b8%9c%e0%b8%aa%e0%b8%a1-%e0%b8%88%e0%b8%b5%e0%b8%99.html


http://www.oknation.net/blog/print.php?id=661834
.
kimzagass
ตอบตอบ: 29/07/2013 10:21 pm    ชื่อกระทู้:

191. การร่วงหล่นของเมล็ดข้าว จะป้องกันหรือแก้ไข


เมื่อเจ้าของรถเกี่ยวนวดข้าว/คนขับรถเกี่ยวนวดข้าว กับเจ้าของนา เป็นคนละคนกัน เรื่อง "ข้าวร่วงหล่น จึงเป็นปัญหาของเจ้าของนา ไม่ใช่เจ้าของรถ" .... เพราะรถต้องรีบทำงาน เอาจำนวนไร่เข้าว่า ให้คุ้มค่าการลงทุน เพื่อไปรับงานเเปลงอื่นๆต่อ ตามที่นายหน้า วิ่งรับงานไว้แล้ว ช้าไม่ได้จะเสียคิว

ดีที่สุด คือ ทำอย่างไร ไม่ให้ข้าวร่วงหล่น ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ???
ตอบ คือ ทำความเข้าใจ กับเรื่องนี้ ในบันทึกต่อไปนี้ครับ ....


กลับมาที่สาเหตุของการร่วงหล่นข้าว แบ่งออกเป็น "สี่ส่วน" ด้วยกันครับ
ส่วนแรก คือ คุณลักษณะของพันธุ์ข้าว
- ความเหนียวของขั้วเมล็ด
- อายุการเก็บเกี่ยว เกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสม ร่วงหล่นน้อย
- ถ้าเก็บเกี่ยว ระยะพลับพลึง เป็นระยะที่ทำให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพและน้ำหนักดี ... ลดการร่วงหล่นได้


ส่วนที่สอง คือ การดูแลดีเกินไป และขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง (ต้นทุนการผลิตสูง)
- การทำนาหว่าน ระบบรากลอย รากตื้น จำนวนประชากรต้นข้าวในเเปลงนามาก =ฟางข้าวมาก)
- การให้ปุ๋ยไนโตรเจน (ยูเรีย) มากเกินความจำเป็น ทำให้ลำต้นอ่อน ผนังเซลล์บอบบางขี้โรค และรากข้าวไม่มีการพัฒนา หยั่งรากลึกลงไปหากินในดิน
- การปล่อยน้ำท่วมขังในเเปลงนาอย่างต่อเนื่องในฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ดินเป็นเลนและนาหล่ม
- ส่งผลให้ต้นข้าวล้มก่อนการเก็บเกี่ยว บางส่วนรวงจมน้ำ เป็นรา มีความชื้นสูง!!!


ส่วนที่สาม คือ ความด้อยประสิทธิภาพของเครื่องเกี่ยวนวดข้าว
1. หากต้นข้าวล้ม ระบบนิ้วดึง จะไปคว้า ไปดึง รวงที่ล้ม เข้าชุดปากใบมีด ทำให้ ข้าวร่วงหล่นจำนวนมาก (Head Loss) ร่วงหล่นก่อนเข้าตู้นวด!!!!

2. ต้นข้าวที่ออกรวง และยังตั้งตรงอยู่จนถึงการเก็บเกี่ยวจะลดการสูญเสียส่วนนี้ลงไปได้มาก

3. หากไม่มีการปรับมุมองศา ชุดนิ้วดึงรวงข้าวเข้าปากใบมีดอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้นิ้วไปฟาดรวงข้าว ทำให้ต้นข้าวที่ตั้ง ร่วงหล่นได้เช่นกัน

4. จำนวนต้นข้าวในเเปลงนามาก (นาหว่าน) ทำให้ฟางมาก ตู้นวดข้าวต้องใช้พลังงานมาก กว่าจะเหวียงให้เมล็ดหลุดจากรวง หลุดจากฟาง มาลงตะแกรงร่อน

5. ระบบตู้นวด และตะเเกรงร่อน ด้อยประสิทธิภาพ ก็ทำให้การนวดไม่สะอาด มีเมล็ดข้าวเต็มเมล็ดติดไปกับฟางข้าว เป็นข้าวร่วง ทิ้งไว้หลังรถเกี่ยวนวดข้าวได้!!!!


ไม่เเปลกใจว่า ทำไม หลังการเก็บเกี่ยวส่วนมาก จะจุดเผาฟาง เพราะมันมีฟางมากจุดติดไป ไฟลามติดได้ง่าย / ฟางปริมาณมากจะหมักฟาง ก็เกรงจะย่อยไม่ทันการผลิตรอบต่อไป กลัวว่าหว่านข้าวไปแล้วจะเกิดอาการเมาตอซัง อีก ...

ปัญหามันเป็นห่วงโซ่ ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่จุดเริ่มต้นของการเพาะปลูกข้าว แก้ที่ใจคนทำนา แก้ที่ความเข้าใจผิดๆของเจ้าของนา ...




ส่วนที่สี่ คือ รูปแบบการทำงานของเจ้าของรถเกี่ยวนวดข้าว /ความเป็นเจ้าของผลผลิตข้าว

- เนื่องจากรถเกี่ยวนวดข้าวขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง (1.5-3 ล้านบาท) ทำให้เกิดเป็นธุรกิจรับจ้างเกี่ยวนวดข้าว มีนายหน้าวิ่งรับงาน มีลูกจ้างเป็นคนขับรถ

- ลูกจ้างขับรถเกี่ยวมีรายได้เป็น ไร่ = เกี่ยวได้ไร่ต่อวันมาก = รายได้มาก
- ประมาณการรายได้รถเกี่ยวนวดข้าวขนาดใหญ่ 40 ไร่ x 500 บาท = 20,000 บาท/วัน


1. เป็นรายได้ลูกจ้างขับรถเกี่ยว 40 x 50 บาท/ไร่ = 2,000 บาท
2. เป็นรายได้ของนายหน้าวิ่งรับงาน 40 x 20 บาท/ไร่ = 800 บาท
3. เป็นรายได้ของเจ้าของรถยังไม่หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ (น้ำมัน ซ่อมบำรุง ค่ารถบรรทุกขนส่ง) = 20,000 - 2,000 - 800 = 17,200 บาท


เมื่อเจ้าของรถเกี่ยวนวดข้าว/คนขับรถเกี่ยวนวดข้าว กับเจ้าของนา เป็นคนละคนกัน เรื่อง "ข้าวร่วงหล่น จึงเป็นปัญหาของเจ้าของนา ไม่ใช่เจ้าของรถ" .... เพราะรถต้องรีบทำงาน เอาจำนวนไร่เข้าว่า ให้คุ้มค่าการลงทุน เพื่อไปรับงานเเปลงอื่นๆต่อ ตามที่นายหน้า วิ่งรับงานไว้แล้ว ช้าไม่ได้จะเสียคิว และรถเกี่ยวนวดข้าวส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนในหมู่บ้านเดียวกัน ... รอบนี้ไม่ดี (เกี่ยวมีข้าวร่วงหล่นมาก รอบหน้าก็หาคันใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าดีหรือป่าว วัดดวง กันต่อไป) ...



ส่วนที่ตามมาจากรถเกี่ยวข้ามหมู่บ้าน ข้ามภาคไปหากินต่างถิ่น
- ข้าวปนพันธุ์ข้ามถิ่นจากการไม่ล้างทำความสะอาดตู้นวดข้าว
- โรคข้าวและแมลง หอยเชอรี่ติดไปกับโคลน ติดไปตามล้อแทรกเหล็ก
- คุณภาพงานการเก็บเกี่ยว คุณภาพข้าว ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะไม่ใช่คนบ้านเดียวกัน


เมื่อไล่เลียง ทั้งสี่ส่วน เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะพบว่า ถ้ามีปัจจัย ที่ทำให้ข้าวร่วงหล่น ผสมโรงกันตั้งแต่ส่วนที่สอง ถึงสี่ เจ้าของนา คงเหลือแต่ฟางข้าว ข้าวร่วงหล่น ไข่เป็ด และหนี้สิน จากการเพาะปลูกข้าวที่ไม่มีกำไร ครับ

ท่านผู้อ่านลองช่วยกันคิดต่อนะครับ ว่าจะ ป้องกันหรือแก้ไข กันอย่างไรดี ครับ



http://www.gotoknow.org/posts/464704
kimzagass
ตอบตอบ: 26/07/2013 12:21 pm    ชื่อกระทู้:

189. การปลูกข้าวด้วยต้นกล้าต้นเดียวต่อ 1 กอ System of Rice Intensification


วัตถุประสงค์
เพื่อการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่
เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
เพื่อคัดเลือก และผลิตเมล็ดพันธุ์ ด้วยการปลูกแบบข้าวกล้องต้นเดียว

การเตรียมเมล็ดพันธุ์
เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ คัดเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ คือ อวบ ใส และมีตาข้าว แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำประมาณ ๑๒-๒๔ ชั่วโมง ในน้ำอุ่น ๓๐-๔๐ องศาเซลเซียสจะดีที่สุด หากต้องการป้องกันโรคหรือแมลงไว้ล่วงหน้า เช่น โรคบั่ว ควร นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำเกลือ หรือ น้ำสะเดา ไว้ ๑ คืน จากนั้นเอาเมล็ดพันธุ์ผึ่งลมให้แห้ง

หมายเหตุ : เนื้อที่เพาะปลูก ๑ ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ ๑ กิโลกรัม


การเตรียมแปลงเพาะกล้า เลือกแปลงเพาะกล้าใกล้แปลงที่จะปลูกข้าว ทำแปลงเพาะกล้าให้เหมือนแปลงผัก โดยผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อให้ดินร่วนซุย เอาฟางคลุมพื้นที่แปลงไว้ จากนั้นรดน้ำให้มีความชุ่มชื้นในช่วงเช้า-เย็น (ไม่ควรรดน้ำในขณะที่แดดร้อนจัด) ความชื้นในแปลงควรเหมาะสม ไม่ควรให้น้ำท่วมแปลงโดยการทำทางระบายน้ำเล็กๆเพื่อให้น้ำไหลออก หรืออีกวิธีหนึ่งที่จะสะดวกต่อการขนย้ายต้นกล้า คือการเพาะเมล็ดในกระบะ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการขนย้ายแล้วยังช่วยทะนุถนอมต้นกล้าขณะเวลาปักดำ การเตรียมแปลงปักดำ หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรไถกลบตอซัง แล้วบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว ปลูกพืชหลังนา เช่น โสนอัฟริกัน หรือจะทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หว่านในนาก็ได้ ก่อนปักดำควรปรับที่นาให้ได้ระดับเดียวกัน และทำร่องน้ำตามขอบคันนาเพื่อช่วยในการระบายน้ำเข้า-ออก สูบน้ำเข้าแปลงนาให้ดินเป็นโคลนเหนียวข้น ไม่ควรปล่อยให้ดินเละหรือมีน้ำท่วมขัง การขนย้ายต้นกล้าออกจากแปลงเพาะ .ถอนกล้าเมื่อมีอายุ ๘-๑๒ วัน (มีใบ ๒ ใบเท่านั้น) อย่างระมัดระวัง ให้ต้นกล้ากระทบกระเทือนน้อยที่สุด ถอนต้นกล้าเบาๆตรงโคนต้น ใช้เครื่องมือเล็กๆ เช่น เกรียง หรือเสียม ขุดให้ลึกถึงใต้ราก ควรระวังอย่าให้ต้นกล้าหลุดออกจากเมล็ดพันธุ์และให้มีดินเกาะรากไว้บ้าง ๓.ระหว่างการย้ายกล้าต้องทำอย่างเบามือ ไม่ควรทิ้งกล้าไว้กลางแดดและรีบนำกล้าไปปักดำทันที (ภายใน ๑๕-๓๐ นาที) การปักดำ นำต้นกล้ามาปักดำอย่างเบามือ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับโคนราก แล้วนำไปปักให้รากอยู่ในแนวนอนลึกประมาณ ๑ เซนติเมตร ปักดำกล้าทีละต้น ให้มีความห่างของระยะต้นไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตรเท่าๆกัน จนเหมือนสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ควรปักดำในระยะห่าง ๓๐ x ๓๐ เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดเล็ก หรือ ๔๐ x ๔๐ เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดใหญ่)


การบำรุงดูแลรักษา
การจัดการน้ำ
-แปลงเพาะปลูกควรปรับให้เรียบสม่ำเสมอ และทำร่องน้ำเพื่อช่วยในการระบายน้ำเข้า-ออก แปลงปักดำไม่ควรมีน้ำท่วมขัง เพียงแต่ทำให้ดินเป็นโคลนเท่านั้น ขณะที่ข้าวแตกหน่อ (๑-๒ เดือนหลังปักดำ) ปล่อยน้ำเข้านาให้สูง 2 เซนติเมตรทุกๆเช้า แล้วปล่อยน้ำออกในช่วงบ่าย หรือสามารถปล่อยทิ้งให้นาแห้งประมาณ ๒-๖ วัน -เมื่อข้าวแตกกอ ปล่อยให้แปลงข้าวแห้งลงไปในเนื้อดิน ไม่ต้องกังวลหากหน้าดินจะเป็นรอยแตกบนผิวโคลน ขณะที่ข้าวตั้งท้องจนเริ่มออกรวง ปล่อยให้น้ำท่วมสูงประมาณ ๑-๒ เซนติเมตรเท่านั้น ทันทีที่ต้นข้าวเริ่มลู่ลง เพราะน้ำหนักของเมล็ดข้าว ให้ปล่อยน้ำออกจากนาจนกว่าจะแห้งและถึงเวลาเก็บเกี่ยว การกำจัดวัชพืช ควรมีการกำจัดวัชพืชอย่างน้อย ๓ ครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ครั้งที่ ๑ เมื่ออายุข้าว ๑๐ วัน ครั้งที่ ๒ เมื่ออายุข้าว ๒๕-๓๐ วัน ครั้งที่ ๓ เมื่ออายุข้าว ๕๐-๖๐ วัน ทั้งนี้การกำจัดวัชพืช สามารถใช้เครื่องมือทุ่นแรง นอกจากนี้การจัดน้ำเข้าออกอย่างสม่ำเสมอ หรือเอาฟางคลุมแปลงจะช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี สำหรับการกำจัดศัตรูของข้าว เช่น ปู หอยเชอรรี่ ทำได้โดยการเลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ดในนาข้าว แต่เมื่อข้าวออกรวงจะต้องห้ามเป็ดเข้านาโดยเด็ดข้าว หรือทำน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น ๑-๒ ครั้งก็เพียงพอ สำหรับวิธีการป้องกันนก ทำได้โดยการขึงเชือกเทปล้อมรอบแปลงนา เมื่อลมพัดจะทำให้เกิดเสียงดัง แล้วนกจะไม่มารบกวน


เหตุใด ปลูกข้าวต้นเดียวจึงได้ผลผลิตดีกว่า
การใช้กล้าอายุสั้นและปักดำต้นเดียว ต้นกล้าที่มีอายุ ๘-๑๒ วัน หรือมีใบเล็กๆสองใบ และยังมีเมล็ดข้าวอยู่ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีและการผลิตหน่อจะมีมาก การใช้กล้าต้นเดียวปักดำ จะช่วยในการแพร่ขยายของราก สามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีกว่าปลูกกล้าหลายต้น การปักดำให้ปลายรากอยู่ในแนวนอน ปลายรากจะชอนไชลงดินได้ง่ายและทำให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว การปักดำในระยะห่างช่วยให้รากแผ่กว้างและได้รับแสงแดดมากขึ้น ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์ ทำให้ข้าวแตกกอใหญ่ การจัดการน้ำ การปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตในดินที่แห้งสลับเปียกทำให้ข้าวสามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง และรากของต้นข้าวสามารถงอกยาวออกเพื่อหาอาหาร

-การปล่อยให้มีน้ำท่วมขังในแปลง ทำให้ซากพืชเน่าเปื่อย และก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปลดปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น การปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตในน้ำท่วมขัง ทำให้รากต้นข้าวต้องสร้างถุงลมเล็กๆ เพื่อดูดออกซิเจนจากผิวดินทำให้การส่งอาหารไปสู่หน่อและใบถูกรบกวน รากข้าวจะหายใจลำบาก ประโยชน์ที่ได้รับ ประหยัดเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก ประหยัดน้ำได้ครึ่งหนึ่งจากการทำนาแบบปกติ สามารถใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ข้าว แต่หากต้องการผลผลิตสูงควรเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ และสภาพอากาศ จากประสบการณ์ของเกษตรกร พบว่าหากเป็นนาอินทรีย์ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย ๖๐ % และในประเทศลาวพบว่าเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐ % ประหยัดแรงงานในการลงกล้า (ประหยัดต้นทุนในการผลิต) การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะมีช่องว่างระหว่างกอข้าว หรือการควบคุมน้ำเข้า-ออก



ข้อมูลเพิ่มเติม มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
http://www.sathai.org/knowledge/06_grow_water/onerice_grow.htm


http://pr.prd.go.th/nakhonsawan/ewt_news.php?nid=452&filename=index
kimzagass
ตอบตอบ: 26/07/2013 12:01 pm    ชื่อกระทู้:

188. การปลูกข้าวต้นเดียว (SRI) แบบอินทรีย์





เป็นวิธีการจากมาดากัสการ์ ศรีลังกา กัมพูชา สู่การทดลองครั้งสำคัญบนผืนนาไทย การปักเดี่ยว ซึ่งประหยัดเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพเต็มที่ใน การแตกกอและออกรวง

หลังจากกระเด็นกระดอนอยู่บนถนนลูกรังที่ตัดผ่านทุ่งนาผืนกว้างมาได้ครึ่งชั่วโมง รถกระบะสีน้ำเงินของโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกร (คสป.) ก็มาจอดอยู่ตรงหน้าบ้านไม้หลังใหม่ของรุ่งโรจน์ ขจัดโรคา ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับพิธีขึ้นบ้านใหม่และเตรียมอาหารเลี้ยงญาติมิตรที่มาร่วมงาน

พวกชาวบ้านดูไม่แปลกใจกับการมาเยือนของคนแปลกหน้า บางคนคงเดาออกแล้วด้วยซ้ำว่าเราดั้นด้นมาถึงตำบลทมอของพวกเขาเพื่อตามหา ‘ข้าวอินทรีย์’ ที่ขายดีหนักหนา และเป็นสินค้าส่งออกไปถึงทวีปยุโรป

“ยุโรป” อยู่ห่างจากตำบลทมอกี่หมื่นไมล์ชาวนาอย่างรุ่งโรจน์และพรรคพวกกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์ไม่รู้ พวกเขารู้แต่เพียงว่า ข้าวหอมมะลิจากนาของตนนั้นจะถูกส่งไปขายชาวยุโรป ซึ่งส่งใบสั่งซื้อมาไม่ขาดสาย ทั้งยังให้ราคาดีกว่าข้าวที่ปลูกแบบใช้สารเคมีอีกด้วย- -คุ้มค่าเหนื่อยที่เฝ้าลงแรงปรับปรุงดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปลูกถั่ว ปลูกต้นโสนหลังเกี่ยวข้าวเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน ทั้งยังต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว ปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวกันชนเพื่อป้องการสารเคมีจากแปลงนาของเพื่อนบ้าน และปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) มาตลอดหลายปี

ตำนานเกษตรอินทรีย์ของ “กลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติตำบลทมอ” ที่หมู่บ้านโดนเลงใต้ ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อาจไม่เข้มข้นเร้าใจเหมือนเรื่องราวของเกษตรกรที่อื่นๆ ซึ่งผ่านฝันร้ายจากการทำเกษตรแบบใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้ามาอย่างโชกโชน เพราะเริ่มต้นขึ้นง่ายๆ จากการที่มีคนมาขอซื้อข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากในตำบลทมอ โดยผู้ซื้อระบุไว้ด้วยว่าต้องการซื้อข้าวเหลืองอ่อนปลอดสารเคมี คือใส่ปุ๋ยเคมีได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อไร่ และห้ามใช้ยาปราบศัตรูพืชและวัชพืช

อาจเป็นเพราะเกษตรกรของที่นี่บางส่วนไม่นิยมใช้ยาฆ่าหญ้า-ฆ่าแมลงมาแต่เดิม การปลูกข้าวปลอดสารเคมีจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องฝืนความรู้สึกและความเคยชินอยู่บ้างเมื่อต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง และหันมาบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสดแทน

จากการปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมี พวกเขาก็เริ่มพัฒนามาปลูกข้าวอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ คือเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาดด้วยการสนับสนุนจากโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์ (คปส.) ซึ่งทั้งแนะนำเทคนิคขั้นตอนการปลูกข้าวแบบอินทรีย์และจัดการหาตลาดให้

การเพาะปลูกระบบอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มกท. นั้นสอดคล้องกับหลักการที่สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ให้ความหมายไว้ว่า เป็น “ระบบเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และระบบนิเวศเกษตร” นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงปุ๋ยเคมี สารเคมีสังเคราะห์กำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ วิถีเกษตรอินทรีย์จะลดการพึ่งพาปัจจัยผลิตจากภายนอก ขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในตำบลทมอเพิ่มจำนวนจาก 7 รายในปี พ.ศ. 2539 เป็น 170 รายในปัจจุบัน แต่เหตุที่เราต้องเจาะจงมาพบรุ่งโรจน์ ชาวนาวัย 30 ปีที่หมู่บ้านโดนเลงใต้แห่งนี้ก็เพราะเขาเป็นเกษตรกร 1 ใน 3 รายในจังหวัดสุรินทร์ และเป็นรายแรกๆ ของประเทศที่ทดลองปลูกข้าวอินทรีย์ด้วย “วิธีใหม่” ซึ่งถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาจากชาวนาในมาดากัสการ์สู่ชาวนาใน 20 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา กัมพูชา และไทย

“พวกชาวบ้านหาว่าผมบ้า เดินผ่านที่นาก็พากันล้อว่าปลูกแบบนี้จะได้กินหรือ?”

รุ่งโรจน์ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาลงมือปลูก “ข้าวต้นเดียว” ท่ามกลางแวดล้อมของเพื่อนบ้านที่มาร่วมยินดี และมีข้าวเปลือกในกระบุงเป็นส่วนหนึ่งของพิธี

ข้าวต้นเดียว มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ระบบการปลูกข้าวแบบเข้มข้น” หรือ System of Rice Intensification - SRI

รุ่งโรจน์ ได้ยินเรื่องราวของการทำนาแบบ SRI จากการไปอบรมเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตรเมื่อปีปลายปี 2544 เขากลับมาที่หมู่บ้านพร้อมกับตำราหนึ่งเล่มที่บรรยายหลักการของ SRI ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่อายุของต้นกล้าที่ใช้ การเคลื่อนย้ายต้นกล้ามาปลูก ระยะห่างระหว่างกล้าแต่ละต้น การจัดเรียงรากของต้นข้าวให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไปจนกระทั่งถึงการปล่อยน้ำเข้านา และการจัดการกับวัชพืช

เดือนมิถุนายนปี 2546 หลังจากอ่านตำราอย่างละเอียด ปรึกษากับพ่อและเพื่อนจนเริ่มมั่นใจ รุ่งโรจน์ กับพ่อก็ตัดสินใจลงมือปลูกข้าวแบบ SRI ในที่นาประมาณ 2 ไร่

“ผมลองทำเพราะอยากได้ผลผลิตเยอะๆ เหมือนกับชาวนาจากกัมพูชาที่เล่าให้ฟังว่าการปลูกข้าวต้นเดียวทำให้เขาได้ผลผลิตตั้ง 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเราใส่ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแล้วยังได้แค่ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่” ชายหนุ่มพูดด้วยสำเนียงควบกล้ำชัดตามธรรมชาติของคนใช้ภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน แล้วตบท้ายว่า “ผมอยากรู้จริงๆ ว่าไอ้ข้าวต้นเดียวนี่มันให้ผลผลิตเยอะจริงอย่างที่เขาพูดหรือไม่”

ปัจจุบันวิธีการของ SRI กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และเกษตรกรเอง แต่เหตุที่ยังมีชาวนาลงมือทำกันน้อยอยู่นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้าน SRI วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเทคนิคนี้ “ฟังดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้”

คู่มือการปลูกข้าว SRI ฉบับภาษาไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยทีมงานส่งเสริมเกษตรสถาบันแมคเคน (เชียงใหม่) เมื่อเดือนตุลาคม 2544 แนะนำการปลูกข้าวแบบนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“SRI เริ่มจากหลักปรัชญาที่ว่า ต้นข้าวต้องได้รับความเคารพและจุนเจือประหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพ ซึ่งศักยภาพนี้จะเปล่งออกมาก็ต่อเมื่อเราอำนวยสภาวะที่ดีที่สุดที่เอื้อต่อการเติบโตของพืช หากเราช่วยให้พืชเจริญเติบโตด้วยหนทางใหม่ที่ดีกว่า พืชก็จะตอบแทนความพยายามนั้นกลับคืนเป็นหลายเท่า เราจะไม่ปฏิบัติต่อพืชเยี่ยงเครื่องจักรน้อยๆ ที่ถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของตนเอง วิธีการทำนาที่เกษตรกรทั่วโลกปฏิบัติกันมานับร้อยๆ ปีได้ทำให้ศักยภาพตามธรรมชาติของต้นข้าวลดลง วิธี SRI นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติเดิมๆ เพื่อนำศักยภาพสำคัญในต้นข้าวออกมาใช้เพิ่มผล"

เพื่อให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพในการออกรวงได้เต็มที่ รุ่งโรจน์เริ่มต้นด้วยการเตรียมดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเช่นเดียวกับการปลูกข้าวอินทรีย์ จากนั้นสูบน้ำเข้านาพอให้ดินเป็นโคลน จากนั้นก็ไถแปรแล้วคราดให้เรียบเสมอกันทั้งแปลง เช้าวันรุ่งขึ้นจึงนำต้นกล้าอายุ 8 วันที่เตรียมเอาไว้มาปักดำทีละต้น โดยปลูกห่างกันที่ระยะ 40X40 เซ็นติเมตร

“ต้นกล้าอายุ 8 วัน เป็นช่วงที่มีพลังมากมายเหมือนกับวัยเด็ก ต้นกล้าที่อายุเยอะจะไม่ค่อยแตกกอ เวลาย้ายต้นกล้ามาลงแปลงต้องแซะอย่างประณีต และต้องให้มีดินติดรากมาด้วย เมื่อแซะมาแล้วต้องปลูกให้หมดภายใน 20 นาที เพราะว่าถ้าทิ้งไว้นานกว่านี้กล้าจะเหี่ยวเฉาและอารมณ์ไม่ดี ปักดำทีละต้น โดยรากต้องอยู่ลึกไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร และจัดเรียงรากให้แผ่ไปตามแนวนอนในทิศทางเดียวกัน” รุ่งโรจน์อธิบายพร้อมสาธิตการจัดเรียงรากของต้นกล้าด้วยมือเปล่าให้ดู “พอปักดำเสร็จมองไม่เห็นต้นข้าวในนาเลย ใครเดินผ่านมาเห็นเขาก็หัวเราะเยาะว่าปลูกอย่างนี้สงสัยจะไม่ได้กิน…”

การปักต้นกล้าทีละต้นนี่เองที่เป็นหัวใจของ SRI แถมยังเป็นที่มาของชื่อ ข้าวต้นเดียว หรือ ‘ปักเดี่ยว’ ที่รุ่งโรจน์และชาวบ้านโดนเลงใต้ตั้งชื่อให้อีกด้วย

อองรี เดอ โลลานี ชาวฝรั่งเศสที่พัฒนาวิธีการ SRI ขึ้นระหว่างที่เขาทำงานร่วมกับชาวนาในมาดากัสการ ์ระหว่างปี 2504-2538 บอกว่า การปักต้นกล้าทีละหลายต้นอย่างที่ชาวนาทั่วโลก ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้จะทำให้ต้นข้าวแย่งอาหาร และแสงแดดกัน ทำให้เติบโตได้ไม่เต็มที่และออกรวงน้อย ดังนั้นแม้ว่าวิธีการปลูกข้าวแบบเดิมนี้ จะช่วยเลี้ยงประชาชนนับพันล้านคนมานานนับศตวรรษ แต่เกษตรกรจำเป็นต้องไตร่ตรองถึงการปลูกข้าวด้วยวิธีใหม่ที่ต่างออกไป เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มและไม่ทำลายดิน น้ำ อากาศเหมือนกับการใช้สารเคมีเร่งผลผลิต

รุ่งโรจน์ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการปลูกข้าว SRI กับการปลูกข้าวทั่วไปว่า “ปกติเราใช้ต้นกล้าอายุ 30-40 วัน พอถอนกล้ามาแล้วก็ไม่ต้องรีบปลูกให้เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง บางทีแช่น้ำไว้จนเกือบเน่าแล้วค่อยปักดำ เวลาย้ายกล้าไม่ต้องระมัดระวังขนาดนี้ ถ้ามีดินติดรากมา เราก็เอาต้นกล้าฟาดกับหน้าแข้งเพื่อให้ดินหลุด ซึ่งการปลูกแบบ SRI ห้ามเด็ดขาด เวลาปลูกก็ปักกล้าลงไปตรงๆ ทีละหลายๆ ต้น ไม่ต้องวัดระยะห่าง ไม่ต้องจัดเรียงรากให้เป็นแนว”

ตามคู่มือการปลูกแบบ SRI คำอธิบายสำหรับขั้นตอนอันละเอียดอ่อนเหล่านี้มีว่า ต้นกล้าอ่อนๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางมาก หากได้รับการสัมผัสเบาๆ การเติบโตจะไม่ชะงักและใบไม่เหลือง การฟาดต้นกล้าเพื่อให้ดินหลุดก็เหมือนกับการฟาดหัวเด็กนั่นเอง การจัดตำแหน่งรากให้อยู่ในแนวนอนจะทำให้ปลายรากชอนไชลงดินได้ง่ายและเป็นการประหยัดพลังงานของข้าวทำให้ข้าวตั้งตัวได้เร็ว, การปลูกกล้าให้เสร็จภายใน 15-30 นาทีหลังจากถอนต้นกล้ามาก็เพื่อช่วยลดความเครียดให้กับต้นข้าว, ส่วนการปักต้นกล้าให้ห่างกัน 40x40 เซ็นติเมตร จะทำให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืชและทำให้ข้าวแตกกอได้ใหญ่กว่า

ความยากของ SRI ไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการเตรียมกล้าและปักดำเท่านั้น พ่อศิริชัย ชุ่มมีชัย หนุ่มใหญ่อีกรายหนึ่งในตำบลทมอ ที่สมัครใจทดลองการปลูกข้าวต้นเดียวพร้อมกับรุ่งโรจน์เมื่อปีก่อนบอกว่า การจัดการน้ำและ วัชพืชเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวนาต้องเตรียมรับมือให้ดี

แทนที่จะปล่อยน้ำให้ขังในนาช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโตเพื่อป้องกันวัชพืชอย่างที่ชาวนาทำกันอยู่ทุกวันนี้ ระบบการปลูกข้าวต้นเดียวแนะนำให้เกษตรกรปล่อยให้นาแห้งเป็นช่วงๆ เพื่อให้ต้นข้าวได้รับออกซิเจนมากขึ้นและได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มผลผลิต แต่การปล่อยให้นาแห้งนั้นจะทำให้มีวัชพืชมาก ดังนั้นเกษตรกรจะต้องขยันถอนวัชพืช ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องพร้อมที่จะเสียแรงงานมากขึ้นและใช้เวลาอยู่ในนาข้าวมากขึ้นกว่าเดิม

“การปลูกแบบปักเดี่ยวนี่ ถ้าใส่น้ำเยอะข้าวก็ไม่แตกกอ แต่ถ้าปล่อยให้ดินแห้งหญ้ามันก็ขึ้นรกอีก” พ่อศิริชัย เล่าประสบการณ์ “แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือ ที่นาเราอยู่นอกเขตชลประทาน อาศัยแต่ฝนฟ้า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะควบคุมน้ำเข้า-ออกที่นาได้ตามสูตรที่เขากำหนด”

ลำพังการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกเอาการอยู่แล้วสำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เคยชินกับการหว่านปุ๋ย-พ่นยาในนาข้าว แต่ SRI หรือที่บางคนเรียกว่า “การปลูกข้าวแบบมาลากาซี” ดูเหมือนจะแปลกยิ่งกว่า เพราะการปักดำต้นกล้าทีละต้นและการปล่อยที่นาให้แห้งตามกระบวนการของ SRI นั้นเป็นเรื่องที่ขัดความรู้สึก-ฝืนความเคยชินของชาวนาอย่างรุนแรง

แต่ชาวนานักทดลองอย่าง พ่อศิริชัย และ รุ่งโรจน์ ก็ยินดีจะฝืนและเสียแรงเสียเวลาไปกับการดูแลแปลงนา SRI

“เราจะปักใจเชื่อตามหนังสือหรือที่คนอื่นเล่าไม่ได้ ถ้าไม่ลองทำดูก็ไม่รู้ว่าการปลูกข้าวแบบนี้จะให้ผลผลิตเป็นพันกิโลต่อไร่จริงหรือเปล่า เราอยากรู้ว่าที่ดินตรงนี้จะปลูกข้าวต้นเดียวได้หรือไม่” พ่อศิริชัยบอกเหตุผลที่แกยอมถูกเพื่อนบ้านหัวเราะเยาะ และทะเลาะกับภรรยาซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทดลอง

เราไปถึงหมู่บ้านโดนเลงใต้เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2547 ที่นาของ พ่อศิริชัย และ รุ่งโรจน์ ไม่มี “ข้าวต้นเดียว” ให้เห็น เพราะถูกเก็บเกี่ยวไปหมดตั้งแต่เดือนธันวาคม และที่นาก็ถูกแทนที่ด้วยพืชหลังนา เช่น ถั่ว งา ตามวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็นับว่าเป็นจังหวะดี เพราะตลอด 6 เดือนที่ผ่านมานั้น พวกเขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์การปลูกวิธี SRI มาได้ชุดใหญ่ และพร้อมจะบอกเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง ถึงความยากง่ายและปัญหาที่พบเจอระหว่างการทดลองครั้งสำคัญ

และต่อไปนี้คือผลการทดลองของชาวนาทั้งสอง

รุ่งโรจน์ : ปลูกข้าวแบบ SRI ในพื้นที่ 2 ไร่ ปักต้นกล้าประมาณ 500 ต้น ได้ผลผลิตเฉลี่ย 720 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นกล้า 1 ต้นแตกกอได้ถึง 40 ต้น ข้าวหนึ่งรวงมีเมล็ดข้าวประมาณ 230 เมล็ด (ข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมี 170-180 เมล็ดต่อหนึ่งรวง)

พ่อศิริชัย : ปลูกข้าวแบบ SRI ในพื้นที่ 1 งาน ปักต้นกล้าไปประมาณ 100 กว่าต้น ได้ผลผลิต 160 กิโลกรัม (4 กระสอบ) ต้นกล้า 1 ต้น แตกกอได้มากที่สุดถึง 44 ต้น (ข้าวอินทรีย์ทั่วไปจะแตกกอได้ 5-10 ต้นเท่านั้น)

ต้นข้าวที่ปลูกแบบ SRI ของทั้งสองคนเจริญเติบโตเร็วกว่าข้าวทั่วไป คือ ตั้งต้นได้ภายใน 3 วันหลังจากปักดำ นอกจากนี้ยังแตกเป็นกอใหญ่ ออกรวงเยอะ ลำต้นใหญ่ แข็งแรง บางต้นสูงกว่า 2 เมตร รากแผ่ขยายเป็นวงกว้างทำให้สามารถหาอาหารมาเลี้ยงลำต้นได้มากกว่า

ถึงตอนนี้พวกชาวบ้านเริ่มตื่นเต้นสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่นาของรุ่งโรจน์และพ่อศิริชัย หลายคนบอกกับพวกเขาว่า “ไม่น่าเชื่อ“

ชาวนาทั้งสองสรุปว่า วิธี SRI ให้ผลผลิตสูงอย่างเห็นได้ชัดจริง แม้ยังไม่มากถึง 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างที่บันทึกเอาไว้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดินในตำบลทมอไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์และไม่เรียบสม่ำเสมอ การทำนายังต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถจัดการน้ำในนาได้ นอกจากนั้นเกษตรกรไม่มีเวลาดูแลนา-กำจัดวัชพืชได้เต็มที่ เพราะต้องทำนาอินทรีย์ควบคู่กันไปด้วย แต่ผลผลิตระดับ 700 กว่ากิโลกรัมถือว่าน่าจะพอให้ชาวนายิ้มออก และน่าจะถือเป็นความสำเร็จขั้นต้นสำหรับความพยายามที่จะต่อยอดการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ในแง่ของการเพิ่มผลผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย หรือใช้สารเคมีที่เป็นภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

“ถึงอย่างไรผมก็จะลองปลูกอีกรอบ” พ่อศิริชัยประกาศ “ทดลองดูว่าปลูกช่วงเวลาไหน ระยะห่างแค่ไหนถึงจะดีที่สุด เพราะมันไม่มีอะไรเสียหาย อย่างน้อยก็เป็นการคัดพันธุ์ข้าวไปในตัว” นอกเหนือจากชาวบ้านโดนเลงใต้ ขณะนี้ในประเทศไทยมีการทดลองปลูกข้าวแบบ SRI อย่างน้อยอีก 3 แห่ง คือที่ตำบลสำโรง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับ อนุวัฒน์ จันทร์เขต หรือ “หนุ่ม” เจ้าหน้าที่ คปส. ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยรุ่งโรจน์และพ่อศิริชัยเก็บข้อมูลการทำนา SRI ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การปลูกข้าวต้นเดียวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นี่ เพราะที่นามีความสูงต่ำไม่สม่ำเสมอ มีปัญหาเรื่องน้ำ และเกษตรกรมีที่นามากทำให้ดูแลกำจัดวัชพืชได้ไม่ทั่วถึง เขาคิดว่าวิธีนี้น่าจะเหมาะกับคนที่มีที่นาเล็กๆ ขนาด 3-5 ไร่เท่านั้น

ถึงกระนั้นหนุ่มก็ยืนยันว่า คปส. จะเดินหน้าส่งเสริมการปลูกข้าวแบบ SRI ต่อไป เพราะการปลูกข้าวต้นเดียวนี้มีประโยชน์มหาศาลต่อการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนา

“การปลูกข้าวทีละต้นทำให้เราเห็นได้ชัดว่าต้นไหนไม่ใช่ข้าวมะลิ 105 หรือเป็นข้าวเมล็ดลีบที่ปะปนมา เพราะดูจากเมล็ดข้าวเราไม่มีทางรู้ ต่อเมื่อข้าวแตกกอขึ้นมาเราถึงจะรู้ว่าเมล็ดข้าวนั้นเป็นพันธุ์อะไร ถ้าเป็นพันธุ์อื่นเราก็ถอนทิ้งไป เก็บแต่ต้นที่เป็นพันธุ์แท้เอาไว้ วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์ข้าวลงได้มาก” หนุ่มอธิบาย

เขาบอกว่าในอนาคต คปส. จะตั้งธนาคารพันธุ์ข้าวเพื่อเก็บข้าวหอมมะลิพันธุ์แท้ที่มีคุณภาพดีไว้ให้สมาชิก โดยยินดีจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดมาจากแปลง SRI ของเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรทดลองทำนาแนวใหม่นี้กันมากขึ้น

หน้านาปีนี้ นอกจากรุ่งโรจน์กับพ่อศิริชัยแล้ว สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์อีกอย่างน้อยสองราย คือ มิตร บุญทวี และภาคภูมิ อินทร์แป้น ประกาศว่าจะหาแปลงนาที่เหมาะๆ เพื่อทดลองปลูกข้าวต้นเดียวดูบ้าง

เรื่องที่ต้องทำงานหนักขึ้น ปรับเปลี่ยนความเชื่อความเคยชินในการทำนา หรือการถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากเพื่อนบ้านนั้น พวกเขารับมือได้สบายๆ เพราะเคยผ่านมันมาหมดแล้ว เมื่อครั้งที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการทำนา “เคมี” มาเป็น “อินทรีย์”

บางทีชาวนากลุ่มนี้อาจเป็นผู้ค้นพบวิธีการปลูกข้าว SRI แบบไทยๆ ที่เหมาะสมกับเกษตรกรและนาข้าวในประเทศไทย--ทำให้วิธีการทำนาที่ “ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นจริง” นี้ได้รับการยอมรับแพร่หลายเหมือนอย่างที่ “เกษตรอินทรีย์” เคยทำสำเร็จมาแล้วก็เป็นได้

ที่สำคัญ SRI อาจเป็นหนทางในการเพิ่มผลผลิตข้าวที่ชาวนามีโอกาสเป็นผู้ทดลอง และเลือกใช้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงของบริษัทข้ามชาติ อย่างการดัดแปรพันธุกรรมที่กำลังจู่โจมประเทศเกษตรกรรมอย่างหนักอยู่ในวันนี้


http://farmthai.blogspot.com/2012/01/sri.html
kimzagass
ตอบตอบ: 25/07/2013 5:02 pm    ชื่อกระทู้:

187. พันธุ์ข้าวเจ้า - กข41

(พัทธชนก กิติกานันท์)


เป็นธรรมดาของข้าวที่เมื่อปลูกเป็นระยะเวลานาน พันธุ์ข้าวจะเริ่มต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคอื่นๆ ไม่ได้ เนื่องจากเหล่าแมลงและโรคได้มีการปรับตัวให้สามารถเข้าทำลายพันธุ์ข้าวนั้นได้ ทำให้ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ในจังหวัดพิษณุโลกนั้น การพัฒนาพันธุ์ข้าว เริ่มจากปัญหาที่ว่าจะพัฒนาพันธุ์ข้าวอะไรที่จะสามารถต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ได้ ทางศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก มีบทบาทและหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร ซึ่งปัจจุบันพันธุ์ข้าวที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดเนื่องจากสามารถต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลพันธุ์ใหม่ล่าสุด คือ กข41 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกผสมและคัดเลือกพันธุ์ขึ้น โดยได้รับงบประมาณจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ เพื่อนำพันธุ์ข้าวนี้ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 อำเภอวัดโบสถ์ ปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์เป็นแห่งแรกในจังหวัดพิษณุโลกเมื่อได้รับการรับรองพันธุ์แล้ว



ภาพแปลงนาข้าว กข 41 ที่ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของรูปภาพ : พัชรินทร์ อนันตศิริวัฒน์ และ พัทธชนก กิติกานันท์
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553



ต้นกำเนิดของพันธุ์ข้าว กข41 นั้น เกิดจากการผสม 3 ทางระหว่างลูกผสมชั่วที่ 1 ของ CNT85059-27-1-3-2 กับสุพรรณบุรี 60 นำไปผสมกับ RP217-635-8 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทในฤดูนาปี พ.ศ. 2539 ปลูกชั่วที่ 1-3 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทและชั่วที่ 4-6 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2542 จากนั้นดำเนินการปลูกศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบพันธุ์ตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งนายสุรเดช ปาละวิสุทธิ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้ทำเสนอเพื่อขอรับรองพันธุ์ และได้รับการรับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552

ข้าวเจ้า กข41 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง จึงปลูกได้ทั้งปี เพราะไม่ขึ้นกับปริมาณแสงแดด ดังนั้น เมื่อต้นข้าวอายุครบประมาณ 105 วัน เกษตรกรก็สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว

ลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์นี้ คือ ผลผลิตสูง มีเสถียรภาพดีให้ผลผลิตเฉลี่ย 894 กิโลกรัม/ไร่ ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ กอตั้งตรง ลำต้นแข็งแรง ใบสีเขียวตั้งตรง ใบธงตั้งตรง ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดเรียวยาว 10.4 มิลลิเมตร ขนาดข้าวกล้องยาว 7.73 มิลลิเมตร ข้าวสารยาว 7.3 มิลลิเมตร ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี สามารถสีเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ได้ มีปริมาณแอมิโลสสูง 27.15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้าวที่มีแอมิโลสสูงจะดูดน้ำได้มากในระหว่างการหุงต้ม

ข้าวเจ้ากข41 เมื่อหุงสุกจะขึ้นหม้อดี เมล็ดข้าวสุกมีลักษณะร่วนและค่อนข้างแข็ง ทำให้เหมาะกับธุรกิจของแม่ค้าข้าวแกง แม้จะเป็นข้าวเจ้าที่ปลูกได้ตลอดปี แต่ทางศูนย์ฯ ก็ไม่แนะนำให้ปลูกในช่วงฤดูหนาว (เดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน) โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เพราะทำให้ผลผลิตต่ำกว่าปกติ เนื่องจากข้าวจะกระทบอากาศหนาวตอนข้าวตั้งท้องและออกรวงทำให้รวงข้าวเจริญโผล่ไม่พ้นกาบใบธง ผลผลิตจะเสียหายจากโรคที่เกิดจากเชื้อราและถูกแมลงที่เป็นศัตรูข้าวทำลายได้ง่าย



ลักษณะรวงข้าวเจ้า กข41

ที่มาของรูปภาพ : พัชรินทร์ อนันตศิริวัฒน์ และ พัทธชนก กิติกานันท์
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553



จากการนำพันธุ์ข้าว กข41 ที่ได้รับการรับรองพันธุ์แล้วไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกขยายเป็นเมล็ดพันธุ์ ที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดรูปที่ดินของพื้นที่รับน้ำชลประทานจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนของพื้นที่ดังกล่าวได้รับการรับรองระบบการปลูกข้าว GAP ว่าปลูกข้าวปลอดภัยทำให้กลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการปลูกขยายพันธุ์ข้าว กข41 นี้ ซึ่งผลผลิตที่ได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ คือประมาณ 50 ต้นต่อ 100 ไร่ เป็น 97.45 ตัน โดยมีเกษตรกรจากพื้นที่ใกล้เคียงมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเกษตรกรไปปลูกขยายพันธุ์ต่อ ถึง 80 ตันคิดเป็นพื้นที่ถึง 4,000ไร่ เมื่อปลูกอัตรา 20 กิโลกรัม ต่อ ไร่ นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการยอมรับข้าวพันธุ์นี้ของเกษตรกร ข้าวพันธุ์กข41 เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูง โดยผลผลิตข้าวสูงสุดที่ได้ ปลูกที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ ฤดูนาปี พ.ศ. 2552 ได้ 910 กิโลกรัมต่อไร่ และต่ำสุดได้ 637 กิโลกรัมต่อไร่



คุณวรรณกรณ์ อินทรสถิตย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้ให้ข้อมูล

ที่มาของรูปภาพ : พัชรินทร์ อนันตศิริวัฒน์ และ พัทธชนก กิติกานันท์
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553



ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมข้าวเจ้าพันธุ์กข41 จึงกลายเป็นข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานในแถบภาคเหนือตอนล่าง เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในการป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และจากการปลูกครั้งที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรได้พิสูจน์ความตั้งใจและความสามัคคีในการปลูกข้าว โดยช่วยกันลงแขกทำให้ผลผลิตที่ได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากเกษตรกรจะเก็บไว้ทำพันธุ์เองแล้วยังจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรเพื่อนบ้านอีกด้วย
(วรรณกรณ์ อินทรสถิตย์, ผู้ให้สัมภาษณ์, 22 กุมภาพันธ์ 2553)



ภาพชาวบ้านรับมอบพันธุ์ข้าว กข41 จากศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก
ที่มาของรูปภาพ : พัชรินทร์ อนันตศิริวัฒน์ และ พัทธชนก กิติกานันท์
ถ่ายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553


http://wiki.nu.ac.th/index.php?title=%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%8241
kimzagass
ตอบตอบ: 24/07/2013 4:33 pm    ชื่อกระทู้:

186. รู้จักกับ “ข้าวสีนิล”







ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ, ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์, sininrice.com

“ข้าวสีนิล” ข้าวเมล็ดสีม่วงดำสวยแปลกตา รสสัมผัสหนึบหนับ ใครจะรู้หรือไม่ว่าเป็นอาหารอันทรงคุณค่า มากด้วยคุณประโยชน์ แถมยังแปรรูปได้หลากหลาย เรามารู้จักเจ้าขาวสีนิลนี้ให้มากกว่าเดิมกันค่ะ

ข้าวสีนิลลักษณะเด่น คือ มีสีม่วงเข้มข้าวสีม่วงเข้มจนเกือบดำ ซึ่งเป็นสีของสารรงควัตถุ ที่อุดมไปด้วย “แอนโทไซนานิน” และ “โปรแอนโทไซยานิน” ที่อยู่ในส่วนของปลายจมูกข้าว ทำงานร่วมกันต้านอนุมูลอิสระ โดยปกติ “แอนโทไซนานิน” และ “โปรแอนโทไซยานิน” จะพบมากในพืชหรือผลไม้ที่มีสีม่วงยิ่งสีเข้มมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีขึ้นตามลำดับ แต่จากวิจัยพบว่า ในข้าวสีนิล มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าผลไม้ในตระกูลเบอรี่ถึง 3 เท่า

แอนโทไซยานิน ทำงานได้ดีกว่า วิตามิน E ถึง 5 เท่า ช่วยยับยั้งริ้วรอยอันเกิดก่อนวัย สารสกัดแอนโทไซยานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ รายงานการวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่าในสัตว์ทดลอง แอนโทไซยานินสามารถกระตุ้นให้ขนงอกกลับคืนมาเร็วกว่าตัวเปรียบเทียบที่ไม่ได้ใช้สารถึงถึงเท่าตัวเลยทีเดียว การศึกษาในหลอดทดลองยืนยันว่า สารแอนโทไซยานิน กระตุ้นให้เซลล์รากผมสร้างผมมากขึ้นถึง 3 เท่า นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ผมมีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยให้ผิวหนังดูอ่อนกว่าวัยและลดความเสียหายของผิวหนังที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากแสงอัลตร้าไวโอเลท (แสงแดดและไฟนิออน)

โดยในการทดลองเดียวกันพบว่า สารแอนโทไซยานินเมื่อใช้ร่วมกับวิตามินอีจะช่วยให้การทำงานของมันดีขึ้นเพราะ สาร Anthocyanin จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังไม่ให้ปลดปล่อยอิลาสตินเป็นผลให้ผิวหนังไม่สูญเสียความยืดหยุ่น ดังนั้น เราจะคงความหนุ่ม-สาวอ่อนกว่าวัย ดูดี เอาไว้ได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้นนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้วคงต้องรีบไปลองหามารับประทานดูแล้ว จะได้หน้าใส ผิวเด้งก่อนใคร แต่ถ้าไม่รู้จะไปหาทานจากไหน ก็สามารถหาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของงาดำและข้าวสีนิลก็อร่อยและคุณค่าทางสารอาหารไม่ต่างกันเลยค่ะ



http://www.xn--12ccn6c1ae3fo1a0eibe5an03a7b.com/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A5.html
kimzagass
ตอบตอบ: 23/07/2013 11:46 am    ชื่อกระทู้:

185. หลักการผลิตข้าวอินทรีย์


ข้าวอินทรีย์ คือ อะไร ?
ข้าวอินทรีย์ (Organic rice) เป็นข้าวที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture หรือ Organic Farming) ซึ่งเป็นวิธีการผลิตที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือสารสังเคราะห์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าวในทุกขั้นตอนการผลิตและในระหว่างการเก็บรักษาผลผลิต หากมีความจำเป็น แนะนำให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติและสารสกัดจากพืชที่ไม่มีพิษต่อคน หรือไม่มีสารพิษตกค้างปนเปื้อนในผลิตผลในดินและน้ำ ในขณะเดียวกันก็เป็นการรักษาสภาพแวดล้อม ทำให้ได้ผลิตผลข้าวที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากอันตรายของผลตกค้างส่งผลให้ผู้บริโภคมีสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี

สถานการณ์การผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศไทย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา กรมวิชาการเกษตรได้ให้การสนับสนุนบริษัทในเครือสยามไชยวิวัฒน์ และบริษัทในเครือนครหลวงค้าข้าว จำกัด ดำเนินการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยให้คำปรึกษาแนะนำ และประสานงานกับทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจากจังหวัดพะเยา และเชียงรายขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก หลังจากได้คัดเลือกเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไว้เพียงบางส่วนเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้มีการชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจหลักการและขั้นตอนการผลิตข้าวอินทรีย์ที่ถูกต้อง การจัดทำข้อตกลงและการยอมรับนำไปปฏิบัติตามหลักการการผลิตข้าวอินทรีย์ รวมทั้งจัดนักวิชาการออกติดตามให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนของการผลิต จากการดำเนินงานตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2535 เป็นต้นมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณปีละ 100 รายในพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตรวมประมาณปีละ 2,000 ตัน

นอกจากนี้ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ให้การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ผลิตข้าวอินทรีย์ รวมทั้งมีบริษัทเอกชนผลิตข้าวอินทรีย์จำหน่ายโดยตรง เช่น บริษัทลัดดา จำกัด เป็นต้น

ตลาดและราคาข้าวอินทรีย์
ข้าวอินทรีย์ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป ส่วนที่เหลือจะวางจำหน่ายภายในประเทศ ราคาข้าวเปลือกอินทรีย์ที่เกษตรกรได้รับจะสูงกว่าราคาข้าวเปลือก โดยทั่วไปประมาณร้อยละ 10 แต่ในส่วนที่เป็นข้าวสารบรรจุวางจำหน่ายในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าข้าวสารทั่วไปประมาณร้อยละ 20 สำหรับในตลาดต่างประเทศข้าวขาวดอกมะลิ 105 อินทรีย์ จะมีราคาใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์บาสมาติ


หลักการผลิตข้าวอินทรีย์
การผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดเป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ การผลิตข้าวอินทรีย์นอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยจากสารพิษแล้วยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย

การผลิตข้าวอินทรีย์เป็นระบบการผลิตทางการเกษตรที่เน้นเรื่องของธรรมชาติเป็นสำคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ การรักษาสมดุลธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน เช่น ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ในไร่นาหรือจากแหล่งอื่น ควบคุมโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าวโดยวิธีผสมผสานที่ไม่ใช้สารเคมี การเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมีความต้านทานโดยธรรมชาติ รักษาสมดุลของศัตรูธรรมชาติ การจัดการพืช ดิน และน้ำ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของต้นข้าว เพื่อทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี มีความสมบูรณ์แข็งแรงตามธรรมชาติ การจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการระบาดของโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้ก็สามารถทำให้ต้นข้าวที่ปลูกให้ผลผลิตสูงในระดับที่น่าพอใจ

เทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ มีขั้นตอนการปฏิบัติ เช่นเดียวกับการผลิตข้าวโดยทั่วไปจะแตกต่างกัน ตรงที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้


1. การเลือกพื้นที่ปลูก
เลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกัน และมีความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติค่อนข้างสูง ประกอบด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าวอย่างเพียงพอ มีแหล่งน้ำสำหรับเพาะปลูก ไม่ควรเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมีการปนเปื้อนของสารเคมีสูง และห่างจากพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีการเกษตร พื้นที่ที่จะใช้ในการผลิตข้าวโดยปกติมีการตรวจสอบหาสารตกค้างในดินหรือในน้ำ


2. การเลือกใช้พันธุ์ข้าว
พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกควรมีคุณสมบัติด้านการเจริญเติบโตเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูกและให้ผลผลิตได้ดีแม้ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ต้านทานโรค แมลงที่สำคัญ และมีคุณภาพเมล็ดตรงกับความต้องการของผู้บริโภคข้าวอินทรีย์ การผลิตข้าวอินทรีย์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ซึ่งทั้งสองพันธุ์เป็นข้าวที่มีคุณภาพเมล็ดดีเป็นพิเศษ


3. การเตรีมเมล็ดพันธุ์ข้าว
เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานผลิตจากแปลงผลิตพันธุ์ข้าวที่ได้รับการดูแลอย่างดี มีความงอกแรงผ่านการเก็บรักษาโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ปราศจากโรคแมลง และเมล็ดวัชพืช หากจำเป็นต้องป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์อนุโลมให้นำมาแช่ในสารละลายจุนสี (จุนสี 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) เป็นเวลานาน 20 ชั่วโมง แล้วล้างด้วยน้ำก่อนนำไปปลูก

4. การเตรียมดิน
วัตถุประสงค์หลักของการเตรียมดิน คือ สร้างภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว ช่วยควบคุมวัชพืช โรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าวบางชนิด การเตรียมดินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณสมบัติดินและสภาพแวดล้อมในแปลงนาก่อนปลูกโดยการไถดะ ไถแปร คราด และทำเทือก

5. วิธีการปลูก
การปลูกข้าวแบบปักดำ จะเหมาะสมที่สุดกับการผลิตข้าวอินทรีย์ เพราะการเตรียมดิน ทำเทือก การรักษาระดับน้ำขังในนาจะช่วยควบคุมวัชพืชได้ และการปลูกกล้าข้าวลงดินจะช่วยให้ข้าวสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ ต้นกล้าที่ใช้ปักดำควรมีอายุประมาณ 30 วัน เลือกต้นกล้าที่เจริญเติบโตแข็งแรงดี ปราศจากโรคและแมลงทำลาย เนื่องจากในการผลิตข้าวอินทรีย์ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ทุกชนิด โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี จึงแนะนำให้ใช้ระยะปลูกถี่กว่าระยะปลูกที่แนะนำสำหรับการปลูกข้าวโดยทั่วไปเล็กน้อย คือ ประมาณ 20 x 20 เซนติเมตร จำนวนต้นกล้า 5 ต้นต่อกอ และใช้ระยะปลูกแคบกว่านี้ หากดินนามีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ในกรณีที่ต้องปลูกล่าหรือปลูกหลังจากช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมของข้าวแต่ละพันธุ์ และมีปัญหา เรื่องการขาดแคลนแรงงาน แนะนำให้เปลี่ยนไปปลูกวิธีอื่นที่เหมาะสม

6. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน
เนื่องจากการปลูกข้าวอินทรีย์ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้นการเลือกพื้นที่ปลูกที่ดินมีความ อุดมสมบูรณ์สูงตามธรรมชาติ จึงเป็นการเริ่มต้นที่ได้เปรียบ เพื่อที่จะรักษาระดับผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ ที่น่าพอใจ นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องรู้จักการจัดการดินที่ถูกต้อง และพยายามรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ผลดีและยั่งยืนมากที่สุดอีกด้วย

คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน สำหรับการผลิตข้าวอินทรีย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ การจัดการดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้วัสดุอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี


6.1 การจัดการดิน
มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมกับ การใช้ปลูกข้าวอินทรีย์ ดังนี้

ไม่เผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุอินทรีย์ในแปลงนา เพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุ และจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์

ไม่นำชิ้นส่วนของพืชที่ไม่ใช้ประโยชน์โดยตรงออกจากแปลงนา แต่ควรนำวัสดุ อินทรีย์จากแหล่งใกล้เคียงใส่แปลงนา ให้สม่ำเสมอทีละเล็กละน้อย

เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินโดยการปลูกพืชโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วในที่ว่างในบริเวณพื้นที่นาตามความเหมาะสม แล้วใช้อินทรียวัตถุที่เกิดขึ้นในระบบไร่นาให้เกิดประโยชน์ ต่อการปลูกข้าว

ไม่ควรปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่าก่อนการปลูกข้าวและหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว แต่ควร ปลูกพืชคลุมดินโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วพร้า โสน เป็นต้น

ป้องกันการสูญเสียหน้าดินเนื่องจากการชะล้าง โดยใช้วัสดุคลุมดิน พืชคลุมดิน และ ควรมีการไถพรวนอย่างถูกวิธี

ควรวิเคราะห์ดินนาทุกปี แล้วแก้ไขภาวะความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว (ประมาณ 5.5-6.5) ถ้าพบว่าดินมีความเป็นกรดสูง แนะนำให้ใช้ปูนมาร์ล ปูนขาว หรือขี้เถ้าไม้ปรับปรุงสภาพดิน

6.2 การใช้ปุ๋ยอินทรีย์
หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด และพยายามแสวงหาปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติมาใช้อย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติแทบทุกชนิดมีความเข้มข้นของธาตุอาหารค่อนข้างต่ำ จึงต้องใช้ในปริมาณที่สูงมากและอาจมีไม่พอเพียงสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ และถ้าหากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสมก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต จึงแนะนำให้ใช้หลักการธรรมชาติที่ว่า “สร้างให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ใช้ทีละเล็กทีละน้อยสม่ำเสมอเป็นประจำ”

ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติที่ควรใช้ ได้แก่
ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยมูลสัตว์ ได้แก่มูลสัตว์ต่างๆ ซึ่งอาจนำมาจากภายนอก หรือจัดการผลิตขึ้นในบริเวณไร่นา นอกจากนี้ท้องนาในชนบทหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วมักจะปล่อยให้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ โดยให้แทะเล็มตอซังและหญ้าต่างๆ มูลสัตว์ที่ถ่ายออกมาปะปนกับเศษซากพืช ก็จะเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในนาอีกทางหนึ่ง


ปุ๋ยหมัก :
ควรจัดทำในพื้นที่นาหรือบริเวณที่อยู่ไม่ห่างจากแปลงนามากนัก เพื่อความสะดวกในการใช้ ควรใช้เชื้อจุลินทรีย์ในการทำปุ๋ยหมักเพื่อช่วยการย่อยสลายได้เร็วขึ้น และเก็บรักษาให้ถูกต้องเพื่อลดการสูญเสียธาตุอาหาร

ปุ๋ยพืชสด :
ควรเลือกชนิดที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ควรปลูกก่อนการปักดำข้าว ในระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้ต้นปุ๋ยพืชสดมีช่วงการเจริญเติบโตเพียงพอที่จะผลิตมวลพืชสดได้มาก มีความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนสูงและไถกลบต้นปุ๋ยพืชสดก่อนการปลูกข้าวตามกำหนดเวลา เช่น โสนอัฟริกัน (Sesbania rostrata) ควรปลูกก่อนปักดำข้าวประมาณ 70 วัน โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อไร่ หากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสช่วยเร่งการเจริญเติบโต แนะนำให้ใช้หินฟอสเฟตบดละเอียด ใส่ตอนเตรียมดินปลูก แล้วไถกลบต้นโสนขณะมีอายุประมาณ 50-55 วันหรือก่อนการปักดำข้าวประมาณ 15 วัน

6.3 การใช้อินทรียวัตถุบางอย่างทดแทนปุ๋ยเคมี
หากปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดินข้างต้นแล้วยังพบว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอหรือขาดธาตุอาหารที่สำคัญบางชนิดไป สามารถนำอินทรียวัตถุจากธรรมชาติต่อไปนี้ ทดแทนปุ๋ยเคมีบางชนิดได้ คือ

- แหล่งธาตุไนโตรเจน : เช่น แหนแดง สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว กากเมล็ดสะเดา เลือดสัตว์แห้ง กระดูกป่น เป็นต้น
- แหล่งธาตุฟอสฟอรัส : เช่น หินฟอสเฟต กระดูกป่น มูลไก่ มูลค้างคาว กากเมล็ดพืช ขี้เถ้าไม้ สาหร่ายทะเล เป็นต้น
- แหล่งธาตุโพแทสเซียม : เช่น ขี้เถ้า และหินปูนบางชนิด
- แหล่งธาตุแคลเซียม : เช่น ปูนขาว โดโลไมท์ เปลือกหอยป่น กระดูกป่น เป็นต้น

7. ระบบการปลูกพืช
ปลูกข้าวอินทรีย์เพียงปีละครั้ง โดยเลือกช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมกับข้าวแต่ละพันธุ์ และปลูกพืช หมุนเวียนโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วก่อนและหลังการปลูกข้าว อาจปลูกข้าวอินทรีย์ร่วมกับพืชตระกูลถั่ว ก็ได้ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม

8. การควบคุมวัชพืช
หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดในการควบคุมวัชพืช แนะนำให้ควบคุมวัชพืชโดยวิธีกล เช่น การเตรียมดินที่เหมาะสม วิธีการทำนาที่ลดปัญหาวัชพืช การใช้ระดับน้ำควบคุมวัชพืช การใช้วัสดุคลุมดิน การถอนด้วยมือ วิธีเขตกรรมต่างๆ การใช้เครื่องมือ รวมทั้งการปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น


9. การป้องกันกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูพืช
หลักการสำคัญของการป้องกันกำจัดโรคแมลง และสัตว์ศัตรูข้าวในการผลิตข้าวอินทรีย์ มีดังนี้

ไม่ใช้สารสังเคราะห์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลง และสัตว์ศัตรูข้าวทุกชนิด

ใช้ข้าวพันธุ์ต้านทาน
การปฏิบัติด้านเขตกรรม เช่น การเตรียมแปลง กำหนดช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม ใช้อัตราเมล็ดและระยะปลูกที่เหมาะสม การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด ของโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสมดุลของธาตุอาหารพืช การจัดการน้ำ เพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตดี สมบูรณ์และแข็งแรง สามารถลดการทำลายของโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าวได้ส่วนหนึ่ง

การจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมกับการระบายของโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว เช่น การจำจัดวัชพืช การกำจัดเศษซากพืชที่เป็นโรคโดยใช้ปูนขาว หรือกำมะถันผงที่ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี และควรปรับสภาพดินไม่ให้เหมาะสมกับการระบาดของโรค

การรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ โดยส่งเสริมการเผยแพร่ขยายปริมาณของแมลงที่มีประโยชน์ เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน และศัตรูธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว

การปลูกพืชขับไล่แมลงบนคันนา เช่น ตะไคร้หอม หากมีความจำเป็นอนุญาตให้ใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ใบแคฝรั่ง เป็นต้น

ใช้วิธีกล เช่น ใช้แสงไฟล่อ ใช้กับดัก ใช้กาวเหนียว

ในกรณีที่ใช้สารเคมีกำจัดควรกระทำโดยทางอ้อม เช่นนำไปผสมกับเหยื่อล่อในกับดักแมลงหรือใช้สารพิษกำจัดสัตว์ศัตรูข้าว ซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง และต้องกำจัดสารเคมีที่เหลือรวมทั้งศัตรูข้าวที่ถูกทำลายโดยเหยื่อพิษอย่างถูกวิธี หลังจากปฏิบัติเสร็จแล้ว


10. การจัดการน้ำ
ระดับน้ำมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางลำต้น และการให้ผลผลิตของข้าวโดยตรง ในระยะปักดำจนถึงแตกกอ ถ้าระดับน้ำสูงมากจะทำให้ต้นข้าวสูงเพื่อหนีน้ำทำให้ต้นอ่อนแอและล้มง่าย ในระยะนี้ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ถ้าต้นขาดน้ำจะทำให้วัชพืชเติบโตแข่งกับต้นข้าวได้ ดังนั้นระดับน้ำที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวอินทรีย์ ตลอดฤดูปลูกควรเก็บรักษาไว้ที่ประมาณ 5-15 เซนติเมตร จนถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 7-10 วัน จึงระบายน้ำออกเพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน และพื้นนาแห้งพอเหมาะต่อการเก็บเกี่ยว


11. การจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวหลังข้าวออกดอก ประมาณ 30 วัน สังเกตจากเมล็ดในรวงข้าวส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นสีฟาง เรียกว่าระยะข้าวพลับพลึง

การตาก
ขณะเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวมีความชื้นประมาณ 18-24 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องลดความชื้นลงให้เหลือ 14 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่า เพื่อให้เหมาะสมต่อการนำไปแปรสภาพ หรือเก็บรักษา และมีคุณภาพการสีดี การตากข้าวแบ่งออกเป็น 2 วิธี

ตากเมล็ดข้าวเปลือกที่นวดจากเครื่องเกี่ยวนวด โดยเกลี่ยให้มีความหนา ประมาณ 5 เซนติเมตร ในสภาพที่แดดจัดเป็นเวลา 1-2 วัน หมั่นพลิกกลับเมล็ดข้าวประมาณวันละ 3-4 ครั้ง นอกจากการตากเมล็ดบนลานแล้วสามารถตากเมล็ดข้าวเปลือกโดยการบรรจุกระสอบขนาดบรรจุ 40-60 กิโลกรัม ตากแดดเป็นเวลา 5-9 วัน และพลิกกระสอบวันละ 2 ครั้ง จะช่วยลดความชื้นในเมล็ดได้เหลือประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์

การตากฟ่อนข้าวแบบสุ่มซังในนา หรือแขวนประมาณ 2-3 แดด อย่าให้ เมล็ดข้าวเปียกน้ำ หรือเปื้อนโคลน

12. การเก็บรักษาผลผลิต
ก่อนนำเมล็ดข้าวไปเก็บรักษา ควรลดความชื้นให้ต่ำกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาด้วยวิธีจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เป็นต้นว่า เก็บในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ การใช้ภาชนะเก็บที่มิดชิดหรืออาจใช้เทคนิคการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการเก็บรักษา การเก็บในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำจะป้องกันการเจริญเติบโตของโรคและแมลงได้


13. การบรรจุหีบห่อ
ควรบรรจุในถุงขนาดเล็กตั้งแต่ 1 กิโลกรัมถึง 5 กิโลกรัม โดยใช้วิธีอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเฉื่อย หรือเก็บในสภาพสุญญากาศ

ระบบการตรวจสอบข้าวอินทรีย์
เพื่อให้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ ถูกต้องตามหลักการเกษตรอินทรีย์ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ดีปลอดภัยจากสารพิษ จำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักการของการเกษตรอินทรีย์


ระบบการตรวจสอบข้าวอินทรีย์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ
1. การตรวจสอบขั้นตอนการผลิตในไร่นา
มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลให้วิธีการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามหลักการเกษตรอินทรีย์ คือ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดแต่สามารถใช้สารจากธรรมชาติแทนได้ เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน

2. การตรวจสอบรับรองคุณภาพผลผลิตในห้องปฏิบัติการ
เพื่อให้แน่ใจว่าผลผลิตที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารพิษ สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดโดย FAO /WHO

ในระบบสากลนั้นผลิตผลเกษตรอินทรีย์จะต้องผ่านการตรวจสอบทั้งขั้นตอนการผลิตและรับรองคุณภาพผลผลิตจากหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานของประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ (International Federation of Organic Agriculture Movement – IFOAM)

ปัจจุบันข้าวอินทรีย์ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือสยามไชยวิวัฒน์ และบริษัทในเครือนครหลวงค้าข้าว จำกัด โดยความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตร จะมีการตรวจสอบระบบการผลิตในไร่นา โดยนักวิชาการ และตรวจสอบรับรองคุณภาพผลผลิตในห้องปฏิบัติการโดยกรมวิชาการเกษตร แล้วส่งผลผลิตไปยังประเทศอิตาลี เพื่อจำหน่ายโดยมีองค์กร Riseria Monferrato s.r.I. Vercelli ประเทศอิตาลี เป็นผู้ประสานงานกับ IFOAM ในการรับรองคุณภาพมาตรฐานของการผลิต

เพื่อให้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักเกษตรอินทรีย์ คุณภาพดีได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ จำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ และรับรองคุณภาพของผลผลิต ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะได้สนับสนุนให้มีหน่วยงาน / องค์กรประชาชน ที่ทำงานเป็นอิสระแต่สามารถตรวจสอบ ซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน (Standard setting) ตรวจสอบ (Inspection) และออกใบรับรอง (Certification) ผลผลิตข้าวอินทรีย์โดยรัฐเป็นผู้รับรอง (Accreditation) หน่วยงาน/องค์กรประชาชน ดังกล่าว และประสานงานกับหน่วยงานในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น IFOAM และ EEC เป็นต้น


ศักยภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศไทย
ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตข้าวอินทรีย์สูงมาก เพราะมีพื้นที่นา ทรัพยากรน้ำ และปัจจัยแวดล้อมทั่วไปเหมาะแก่การทำนา มีความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่ปลูก เกษตรกรไทยคุ้นเคยกับการผลิตข้าว มาหลายศตวรรษ การผลิตข้าวของประเทศไทยในสมัยก่อนเป็นระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ต่อมาในปัจจุบันถึงแม้จะมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีต่างๆในนาข้าว แต่ก็ยังมีใช้ในปริมาณน้อย ส่วนเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการผลิตข้าวอินทรีย์ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอยู่ในระหว่าง การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาโดยจัดเป็นนโยบายเร่งด่วน จากปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยีที่เหมาะสมการผลิตข้าวอินทรีย์ที่กล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร นอกจากผลิตเพื่อส่งออก จำหน่ายนำเงินตราเข้าประเทศแล้ว ยังสามารถขยายการผลิตเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ เพื่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย รวมถึงการลดปัญหามลพิษที่กำลังประสบอยู่ในภาวะในปัจจุบันอีกด้วย



งานวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์
1. พันธุ์ข้าว
พันธุ์ข้าวที่ปลูกโดยทั่วไปเป็นพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกตามระบบเกษตรเคมี ยังไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ ข้าวที่นิยมใช้ผลิตข้าวอินทรีย์ในปัจจุบันมีเพียง 2 พันธุ์ คือ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ซึ่งสามารถปลูกได้ดีเฉพาะพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดการระบาดของโรค แมลงศัตรูข้าวได้ง่าย หากมีการขยายพื้นที่ปลูก จึงควรมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับการผลิตแบบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวอินทรีย์ ลักษณะบางประการของข้าวที่ควรคำนึงในการพัฒนาพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ได้แก่ คุณภาพเมล็ดตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อายุการเจริญเติบโตเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาลปลูก ให้ผลผลิตดีในสภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง-ต่ำ ต้านทานโรคแมลงศัตรูที่สำคัญบางชนิดในธรรมชาติ แข่งขันกับวัชพืชได้ดี ระบบรากแข็งแรงมีประสิทธิภาพ


2. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดินมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตและรักษาระดับผลผลิตข้าวอินทรีย์ จึงควรมีการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยวิธีการต่างๆ เช่น การจัดการดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้วัสดุธรรมชาติบางชนิดทดแทนปุ๋ยเคมี ทั้งในเรื่องของชนิดวัสดุ แหล่งผลิต ปริมาณ วิธีการใช้ และผลกระทบต่อผลผลิตข้าวและสภาพแวดล้อมรวมทั้งการปรับใช้ให้ได้ผลดีและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จะช่วยให้การผลิต ข้าวอินทรีย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


3. การเขตกรรม
นอกจากการจัดการด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว การวิจัยและพัฒนาด้านเขตกรรม เช่น การเตรียมดิน ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม วิธีการปลูก อัตราเมล็ดพันธุ์ ระยะปลูก การจัดการน้ำ การควบคุมวัชพืชและการจัดการโดยทั่วไป เพื่อให้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวที่ปลูกเจริญเติบโตดี สมบูรณ์และแข็งแรง ก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ การใช้เครื่องมือ/เครื่องจักรกลในบางกิจกรรมในการผลิตเพื่อทดแทนแรงงาน ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี จึงควรมีการวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ที่เหมาะสม

4. ด้านระบบการปลูกพืช
ควรมีระบบวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยเน้นระบบ การผลิตที่เกื้อกูลการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน รักษาความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์มีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางการผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืนได้

5. การป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว
เนื่องจากระบบการผลิตข้าวอินทรีย์หลีกเลี่ยงการใช้สารป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว ประกอบกับพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่นิยมปลูกในปัจจุบันไม่ต้านทานโรคแมลงที่สำคัญ นอกจากนี้เทคโนโลยี การใช้สารอินทรีย์จากธรรมชาติในการป้องกันกำจัดโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าวยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร จึงควรศึกษาวิจัยในด้านนี้ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคแมลง และสัตว์ศัตรูข้าวที่เหมาะสมกับการผลิตข้าวอินทรีย์

6. การเก็บรักษาผลผลิต
การเก็บรักษาผลผลิตข้าวที่ไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดการเสื่อมคุณภาพของข้าวที่เก็บรักษา การสูญเสียผลผลิตข้าวเนื่องจากการทำลายของแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บมีประมาณ ร้อยละ 4-5 โดยน้ำหนัก จึงมีการใช้สารเคมีป้องกันการทำลายของแมลงในการเก็บรักษาผลผลิตข้าวเพื่อการค้า แต่การเก็บรักษาผลผลิตข้าวอินทรีย์จะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในโรงเก็บ ดังนั้นจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และการจัดการในโรงเก็บเพื่อลดความสูญเสียและรักษาคุณภาพผลผลิต การเก็บในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ ประมาณ 18 องศาเซลเซียส และการบรรจุหีบห่อโดยใช้ถุงสุญญากาศหรือถุงบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเฉื่อยเป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการใช้อยู่ในปัจจุบัน



ที่มา : หลักการผลิตข้าวอินทรีย์ สถาบันวิจัยข้าวอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จัดพิมพ์เผยแพร่โดย
กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์
ส่วนส่งเสริมและบริการพัฒนาคุณภาพสินค้า
สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร
เขตจตุจักร กทม. 10900
โทร. 0-2955-1515
โทรสาร 0-2940-6170
E-mail : agriqua41@doae.go.th, organic_group@hotmail.com


http://www.agriqua.doae.go.th/organic/general/general.html

http://www.brrd.in.th/rkb/seed/index.php-file=content.php&id=16.htm
kimzagass
ตอบตอบ: 21/07/2013 10:43 am    ชื่อกระทู้:


184. โฉม 10 ยอดพันธุ์ข้าว



ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นพืชหลักของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ความสำคัญจึงไม่ใช่เพียงพืชเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เปรียบเสมือนสินค้าทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

การปรับปรุงและคงไว้ซึ่งสายพันธุ์ข้าว มีหลายหน่วยงานเห็นความสำคัญ คิดค้น ศึกษาและวิจัย รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และรักษาสายพันธุ์แท้ให้คงอยู่

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นแม่งานหลักในการจัดงาน "เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี-เทคโนโลยีชาวบ้าน 2012" วันที่ 22-26 ก.พ.2555 ที่ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางแค

ประเด็นหลักของงานมุ่งไปที่ "ข้าวของพ่อ วิถีพอเพียง" ซึ่งนำสายพันธุ์ข้าวจำนวน 84 สายพันธุ์ที่หายากจัดแสดงให้ชม และเกือบทุกสายพันธุ์มีหุงให้ชิม



ขอยกตัวอย่าง 10 สุดยอดพันธุ์ข้าวที่นำมาจัดแสดงให้ชมและชิม เรียกน้ำย่อยก่อนถึงวันงาน

1.ข้าวสังข์หยด
เป็นข้าวที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศรับรองตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2549 ให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พันธุ์แรกของประเทศไทย (จีไอ)

มีชื่อเต็มว่า "ข้าวสังข์หยด เมืองพัทลุง"

เป็นข้าวต้นสูง กอตั้ง แตกกอปานกลาง ใบสีเขียว มีขนบนแผ่นใบ ข้าวเปลือกสีฟาง ขนาดเมล็ด 9.35 มิลลิเมตร กว้าง 2.13 มิลลิเมตร หนา 1.75 มิลลิเมตร จัดเป็นข้าวเจ้านาสวน ถิ่นกำเนิดอยู่ในจังหวัดพัทลุง

มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ คือ มีกากใยอาหารสูง จึงมีประโยชน์ในการชะลอความแก่

นอกจากนี้ มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงโลหิต ป้องกันโรคความจำเสื่อม และยังมีสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง

ลักษณะเด่นคือ เมล็ดเล็ก เรียว ท้ายงอน เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีแดงถึงแดงเข้ม เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่ม และจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว

วิธีการหุง ให้ซาวข้าวเบาๆ โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้สูญเสียคุณค่าของข้าว เติมน้ำให้ท่วมข้าว สูง 1 ข้อนิ้ว

เมื่อข้าวสุกทิ้งไว้ให้ข้าวระอุ ประมาณ 5-10 นาที หากต้องการให้ข้าวแข็งหรือนุ่ม ลดหรือเพิ่มน้ำได้ตามความชอบ


2. ข้าวลืมผัว
เป็นข้าวไร่ที่เป็นข้าวเหนียวนาปีของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 3 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร ก่อนพัฒนาและคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์โดยศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สถาบันวิจัยข้าว และศูนย์วิจัยข้าวแพร่

ได้รับขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2552 ขณะนี้ อยู่ในโครงการนำร่องอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวเพื่อใช้ประโยชน์ ของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

ข้าวลืมผัวมีต้นสูงประมาณ 137 เซนติเมตร มีสีเปลือกหุ้มเมล็ดเปลี่ยนไปตามระยะการเจริญเติบโตของเมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีม่วงดำ ที่เรียกว่า ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวก่ำ เป็นข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกมันและนุ่มแบบหนุบๆ

การบริโภค ทำได้ทั้งแบบข้าวเหนียวนึ่งกินกับอาหาร ผสมข้าวต้มทำให้มีสีม่วงอ่อนสวยงาม ทำเป็นขนมแบบข้าวเหนียวเปียก ทำเป็นชาข้าวคั่วแบบเพิร์ล บาร์เลย์ หรือเครื่องดื่มทั้งแบบมีแอลกอฮอล์หรือปราศจากแอลกอฮอล์ จะมีสีคล้ายทับทิมสวยงาม

คุณค่าทางโภชนาการคือมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีกรดไขมันช่วยบำรุงสมอง ป้องกันภาวะเสื่อมของสมองและช่วยความจำ มีโอเมก้า-6 ที่บรรเทาอาการขาดภาวะเอสโตรเจนของวัยทองและช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มี โอเมก้า-9 ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด


3. ข้าวสินเหล็ก

เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนา โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) ของสถาบันวิจัยข้าว กับข้าวเจ้าหอมนิล (พันธุ์พ่อ) ของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์

เริ่มดำเนินการปี 2545 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม สิ้นสุดในปี 2548

ค้นพบข้าวหอม สีขาว ที่มีธาตุเหล็กสูง และคุณสมบัติโภชนาการโดยรวมดีเด่น 1 สายพันธุ์ และให้ชื่อพันธุ์ว่า "สินเหล็ก"

ขณะนี้อยู่ในขั้นปลูกประเมินพันธุ์ ประกอบการขอจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยกองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร คาดว่าจะถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไปในอนาคต

ในทางเศรษฐกิจ ข้าวสินเหล็กเป็นที่ต้องการในตลาดโภชนาการเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณที่สูงและมีดัชนีน้ำตาลในระดับปานกลางถึงต่ำ จึงทำให้เมล็ดข้าวสินเหล็กมีมูลค่าสูง


4. ข้าวไรซ์เบอร์รี่
ผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์เจ้าหอมนิล ม.เกษตรศาสตร์ (พันธุ์พ่อ) กับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากสถาบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) เมื่อปี 2545 ที่ศูนย์วิจัยข้าว ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม สิ้นสุดการวิจัยในปี 2548

ทำให้ค้นพบข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการโดยรวมดีเด่น 1 สายพันธุ์ ใช้ชื่อพันธุ์ว่า "ไรซ์เบอร์รี่"

ข้าวพันธุ์นี้กำลังอยู่ในขั้นปลูกประเมิน ประกอบการขอจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ คาดว่าจะถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไปในอนาคต

ในทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าสูง เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในปริมาณสูง


5. ข้าวปิ่นเกษตร

เป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนามาจากการผสมระหว่างข้าวขาวดอกมะลิ 105 กับข้าวไม่ไวแสงที่ทนแล้ง (CT9993) จนคัดเลือกข้าวหอมสีขาวที่ไม่ไวแสง มีกลิ่นหอมนุ่มเหนียว ข้าวกล้องมีความนุ่มนวล มีเมล็ดยาวและใสมาก โดยใช้ชื่อว่า ปิ่นเกษตร

ข้าวพันธุ์ปิ่นเกษตรได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากการประกวดข้าวโลก (2nd World Rice Competition) ในปี 2547

ธาตุเหล็กในเมล็ดข้าวพันธุ์นี้มีความเป็นประ โยชน์สูงมากทั้งในระดับเซลล์ทดสอบและในร่างกายมนุษย์

เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรโดยทั่วไป ทั้งคุณภาพ และปริมาณผลผลิต ในขณะนี้ข้าวปิ่นเกษตรกำลังส่งเสริมและทดลองปลูกในหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม


6. มะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์
เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว คณะเทคโนโลยีและคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหาสารคาม

เป็นข้าวเจ้าหอมต่างสี มาจากการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ข้าวเจ้าต่างสี พันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง 3 พันธุ์คือ มะลิแดง เบอร์ 54 มะลิพื้นเมือง (ข้าวแดง) และมะลิดำ เบอร์ 53

น่าจะถูกใจคนรักสุขภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งยังมีข้อดีทางด้านคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมี และคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี คือ เป็นข้าวเมล็ดเรียวยาว เปอร์เซ็นต์อมิโลสต่ำ ข้าวสุกเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอม มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูง

นอกจากนั้นข้าวกลุ่มนี้ยังเหมาะสำหรับใช้ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เพราะใช้ปัจจัยการผลิตต่ำ มีความต้องการปุ๋ยเคมีน้อย

แต่ปัจจัยของผลผลิตของข้าวสายพันธุ์นี้ ขึ้นอยู่กับแร่ธาตุและอาหารในดิน ดังนั้นการดูแลรักษาและบำรุงดิน จึงจัดว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์


7. ข้าวเล็บนก
เป็นข้าวที่ได้จากการรวบรวมพันธุ์ 307 พันธุ์ จาก 104 อำเภอใน 14 จังหวัดภาคใต้ ในปี 2527 โดยพันธุ์เล็บนกที่เก็บมาจาก ต.ชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง

เป็นข้าวที่มีคุณภาพการหุงต้มเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ผลิตเป็นการภายในท้องถิ่นภาคใต้

ลักษณะประจำพันธุ์ของข้าวพันธุ์เล็บนก เป็นข้าวเจ้า ประเภทไวต่อแสง มีอายุการเก็บเกี่ยวในเดือนก.พ. รวงยาวจับกันแน่น ระแง้ถี่ คอรวงยาว และความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ข้าวพันธุ์เล็บนกให้ผลผลิตค่อนข้างสูง เมื่อปลูกในสภาพนาเป็นลุ่มน้ำที่แห้งช้า ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมของภาคใต้ตอนกลาง บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง


8. ข้าวน้ำรู
ได้จากการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวจากชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ ที่บ้านน้ำรู ดอยสามหมื่น อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

นายวิฑูรย์ ขันธิกุล ปลูกศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว อำเภอสะเมิง และสถานีทดลองเกษตรที่สูงในภาคเหนือ คณะกรรมการวิจัยและพัฒนา กรมวิชาการเกษตร ได้รับรองสายพันธุ์เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2530

ข้าวน้ำรู เป็นข้าวไร่ ข้าวเจ้า ลำต้นสูง 141 เซนติเมตร ไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน

ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวน้ำรู คือ ลำต้นตรงและแข็ง ไม่ล้มง่าย แตกกอดี ทรงต้นค่อนข้างแน่น ใบยาว แผ่นใบกว้างตรง มีขนเล็กน้อย กาบใบสีเขียว ระแง้ถี่ คอรวงยาว เมล็ดร่วงปานกลาง ส่วนใหญ่ไม่มีหาง เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 1 สัปดาห์ คุณภาพข้าวสุก ร่วน นุ่ม ผลผลิตประมาณ 247 กิโลกรัมต่อไร่

ปรับตัวได้ดีในพื้นที่อากาศหนาวเย็นและพื้นที่สูงมากๆ ต้านทานโรคเมล็ดด่างในธรรมชาติ ค่อนข้างต้านทานโรคไหม้

แต่ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ใบสีส้ม โรคใบหงิก โรคเขียวเตี้ย โรคหูด และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคเน่าคอรวง


9. ปะกาอำปึล (ดอกมะขาม)
เป็นข้าวพันธุ์หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ถิ่นกำเนิดของข้าวพันธุ์นี้ อยู่ตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา

ทางฝั่งไทยปลูกกันแถบจังหวัดสุรินทร์ ส่วนกัมพูชาคือจังหวัดอุดรมีชัย

นายอร่าม ทรงสวยรูป ผู้ศึกษาข้าวพันธุ์นี้ บอกว่า ปะกาอำปึล แปลว่า ดอกมะขาม เป็นข้าวเจ้า ต้นสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105

จุดเด่นอยู่ที่ทนแล้ง ผลผลิตอาจจะน้อยกว่าข้าวหอมมะลิ เหมาะปลูกตามหัวไร่ปลายนา น้ำขังได้นิดหน่อย ไม่ชอบน้ำขังมาก เมื่อสุกแก่ เปลือกของข้าวสีเหลืองทองเหมือนดอกมะขาม เมล็ดยาว เมื่อขัดขาวจะสีขาวเหมือนข้าวทั่วไป หากสีเป็นข้าวกล้องเมล็ดสีน้ำตาลออกเขียว ทนทานต่อโรคแมลง ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูข้าว ปลูกทิ้งรอเก็บเกี่ยว อาจจะกำจัดวัชพืชให้บ้าง

คุณภาพการหุงต้ม เป็นข้าวที่นุ่ม เมื่อเก็บเกี่ยวและสีใหม่ๆ มาหุง มีความหอมไม่น้อยไปกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมื่อหุงกินแล้วเหลือ อยู่ได้นาน ไม่บูดง่าย



10. ปิ่นแก้ว
เป็นพันธุ์ข้าวไทยดังกระฉ่อนโลก เมื่อชนะการประกวดคว้ารางวัลที่ 1 ที่ประเทศแคนาดา ปี 2476 หลังผ่านการปรับปรุงพันธุ์พืชมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

แต่เดิมเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่ได้จากการประกวดพันธุ์ข้าวของ นางจวน (ไม่มีการบันทึกนามสกุล) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากนั้นคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยพระยาโภชากรและทีมงานนาทดลองคลอง 6 รังสิต ปัจจุบันคือศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว

ปลูกในระดับน้ำลึกได้ดี ต้นสูง 200 เซนติเมตร หรืออาจสูงกว่านี้ ตามระดับน้ำ เป็นข้าวนาสวน ไวต่อช่วงแสง ทรงกอแผ่เป็นแนวนอน คอรวงยาว และมีคุณภาพการหุงต้มดี

นี่เป็นเพียง 10 สายพันธุ์ใน 84 สายพันธุ์ที่หาดูของจริงได้ยากยิ่ง จึงขอเชิญชวนให้ไปชมและชิมของจริงได้ภายในงานเกษตรมหัศจรรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี-เทคโนโลยีชาวบ้าน 2012 วันที่ 22-26 ก.พ.2555 ที่ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางแค



http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEF5TURJMU5RPT0=
kimzagass
ตอบตอบ: 21/07/2013 10:13 am    ชื่อกระทู้:

183. ข้าวจิ๊บ


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจตรวจราชการที่ จ.บุรีรัมย์ และมหาสารคาม วันที่ 14-15 ก.ค. ที่ผ่านมา

ระหว่างเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้เฉลิมพระ เกียรติ 80 พรรษา ชุมชนบ้านลิ่มทอง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ นายกฯ พูดคุยกับชาวบ้านที่มาต้อนรับว่า รัฐบาลจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่และแหล่งน้ำ เช่น ข้าวจิ๊บ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษา และส่งเสริมการเพาะปลูกต่อไป

"ข้าวจิ๊บ" เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่ชาวบ้านลิ่มทองเพาะปลูกไว้บริโภคตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก และยังไม่ได้นำไปวิจัยขยายพันธุ์ในการเพาะปลูกยังถิ่นอื่น

ลักษณะสำคัญของข้าวจิ๊บ คือมีเมล็ดเรียวยาว หุงขึ้นหม้อ ไม่แตกต่างจากข้าวสายพันธุ์อื่นที่ขึ้นชื่อ ที่สำคัญพันธุ์ข้าวจิ๊บยังทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับเพาะปลูกในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ และจังหวัดอื่นๆ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก

ระหว่างมูลนิธิไทยคม ลงพื้นที่ไปทำโครงการ "เพิ่มคุณค่าผืนนาชุมชน" ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรักษ์ผืนดิน ประกอบด้วย การศึกษาเกี่ยวกับข้าว ตั้งแต่พันธุ์ข้าวพื้นเมือง การคัดเลือกพันธุ์ข้าว อนุรักษ์พันธุ์ข้าว และการเพิ่มผลผลิตข้าว ก็ได้พบกับข้าวพันธุ์ดังกล่าว จึงสนับสนุนงบประมาณในการนำข้าวจิ๊บไปส่งตรวจ เพื่อหาคุณค่าทางโภชนาการ ณ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

ผลการตรวจพบว่า "ข้าวจิ๊บ" มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งในด้านพลังงาน ไฟเบอร์ และวิตามิน บี 1 เมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าว กข 15 ที่นิยมบริโภคในปัจจุบัน

มูลนิธิไทยคมจึงเข้ามาสนับสนุนบ้านลิ่มทองให้ปลูกข้าวจิ๊บในแปลงทดลอง จำนวน 3 ไร่ เพื่อเป็นการขยายพันธุ์ข้าวจิ๊บให้กับชุมชน และทดลองทำข้าวจิ๊บให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นเอกลักษณ์ของบ้านลิ่มทอง ที่จะสามารถทำรายได้ให้ชุมชนในอนาคต

นางสนิท ทิพย์นางรอง ประธานศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ 80 พรรษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวจิ๊บไว้ว่า ลักษณะ ของต้นข้าวจิ๊บ ช่วงแรกๆ จะไม่ค่อยเจริญเติบโตมากนัก แต่พอช่วงระยะตั้งท้องหรือออกรวง ต้นข้าวจะเริ่มทรงตัวและเจริญเติบโตเร็วขึ้น ลำต้นจะโน้มไปในทิศทางเดียวกัน พอเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วนำไปสีเป็นข้าวสาร เมล็ดจะยาวเรียว เป็นสีแดงเข้ม ลักษณะคล้ายกับข้าวกล้อง แต่หากนำไปหุงแล้วจะอ่อนนุ่ม และหุงขึ้นหม้อ รสชาติอร่อย

ปัจจุบันราคาตันละ 50,000-60,000 บาท

ขณะที่ นายบพิธ โกมลภิส ผู้จัดการโครงการอาวุโสมูลนิธิไทยคม ระบุว่า ข้าวจิ๊บ น่าจะพบเพียงในพื้นที่ อ.นางรอง เท่านั้น แม้แต่พื้นที่ใกล้เคียง เช่น อ.หนองกี่ ก็ไม่ปรากฏและไม่มีใครรู้จักพันธุ์ข้าวดังกล่าว จึงอยากให้ช่วยกันส่งเสริมข้าวจิ๊บให้เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านลิ่มทอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนในอนาคต

นอกจากนั้นจะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของข้าวจิ๊บให้เยาวชนในชุมชนรับทราบ และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ข้าวจิ๊บให้มีคุณภาพมาตรฐาน

จนสามารถส่งออกจำหน่ายเหมือนกับข้าวชนิดอื่นต่อไป



http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dPVEUzTURjMU5nPT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE15MHdOeTB4Tnc9PQ==
kimzagass
ตอบตอบ: 19/07/2013 5:33 pm    ชื่อกระทู้:

182. สุดยอด 5 พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

















ปัจจุบันคนส่วนใหญ่กำลังตื่นตัวในเรื่องการรักษาสุขภาพพลานามัย ตลอดจนใส่ใจที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น โดยหันมาสนใจบริโภคอาหารอินทรีย์หรืออาหารออแกนิค เช่น พืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้สารเคมีเร่งผลผลิตหรือยาฆ่าแมลงปราบศัตรูพืช นอกเหนือจากผัก ผลไม้แล้ว ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักที่เรากินเป็นประจำทุกวันนี้ ก็สามารถกินให้เป็นยาป้องกันและบรรเทาโรคได้

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึงความเป็นมาที่สืบเนื่องจากงานในภารกิจ เมื่อปี 2554 ว่า ส.ป.ก.ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จัดทำโครงการรวบรวมข้าวผสม 84 สายพันธุ์ เพื่อบรรจุถุงจำหน่าย เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยผลผลิตข้าวผสม 84 สายพันธุ์นั้น ได้รับการตอบรับ และความสนใจจากผู้บริโภค อุดหนุนสินค้าเป็นอย่างดี ส.ป.ก.ได้ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย จัดทำโครงการวิจัยคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพื้นเมืองในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ บ้านกำแมด หมู่ 17 ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จำนวน 30 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่าข้าวเจ้าจำนวนหนึ่งมีสารอาหารประกอบด้วย ธาตุสังกะสี, วิตามิน อี, วิตามิน บี1, วิตามิน บี12, วิตามิน เอ, โฟเลต, เบต้าแคโรทีน, และสารลูทีน. ที่มีประโยชน์ต่อสายตาและสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่าข้าวเจ้าพื้นเมืองจำนวน 5 สายพันธุ์ มีดัชนีน้ำตาลต่ำถึงปานกลาง ได้แก่ ข้าวเจ้าแดง ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเจ้าเหลือง ข้าวหอมนิล และข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมื่อนำมาผสมรวมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสมในรูปแบบข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ และนำมาหุงรับประทานจะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการบริโภคแป้งจากข้าวโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง และผู้รักสุขภาพทั่วไป

นายบุญส่ง มาตขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง และเป็นผู้นำเกษตรกรโครงการนิคมการเกษตร “เกษตรอินทรีย์” ในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร เล่าให้ฟังว่า เดิมทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 20 ปีแล้ว เพราะเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์นั้นต้นทุนต่ำ รวมทั้งปลอดภัยกับผู้ผลิตและผู้บริโภค เมื่อ ส.ป.ก. เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกข้าวอินทรีย์ ผมจึงเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับชักชวนเกษตรกรรายอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 ครัวเรือนแล้ว อีกทั้งตอนนี้กำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพื้นเมือง 5 สายพันธุ์เพิ่มขึ้น เพื่อต้องการรักษาเอกลักษณ์พันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่นนี้ไว้ รวมทั้งได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง มีการรวมกลุ่มประกอบธุรกิจการเกษตรที่เข้มแข็งในเรื่องข้าวและพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ตลอดจนสร้างพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่เหมาะสม เพื่อเก็บไว้ใช้เองและจำหน่ายต่อไป

สำหรับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองดังกล่าวสามารถปลูกได้ในพื้นที่แถบภาคอีสานเท่านั้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่มีความคุ้นเคยกับสภาพพื้นที่และเหมาะกับนาน้ำฝน ถึงแม้จะเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติเฉพาะ แต่การปลูกและการดูแลรักษาไม่แตกต่างไปจากการปลูกข้าวอินทรีย์ทั่วไป

ทั้งนี้ หากผู้รักสุขภาพท่านใดสนใจข้าวพื้นเมือง 5 สายพันธุ์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายบุญส่ง มาตขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง บ้านเลขที่ 169 บ้านกำแมด หมู่ 17 ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร โทร. 08-1300-0165.



http://www.dailynews.co.th/agriculture/133682
kimzagass
ตอบตอบ: 19/07/2013 5:17 pm    ชื่อกระทู้:

181. ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ของดีที่ (เกือบ) ถูกลืม

โดย : รัชดา ธราภาค

อาหารหลักของไทยที่กลายเป็นวัฒนธรรม แต่กลับถูกลืมเลือนในช่วงหลายสิบปี โชคดีที่วันนี้ ข้าวพื้นเมือง ถูกใส่ใจศึกษา เพื่อพบว่าคุณค่าสูงส่ง

วัฒนธรรมข้าวของไทย ก่อตัวมาพร้อม 'ข้าวพื้นเมือง' หลากสายพันธุ์ แต่เมื่อข้าวพัฒนาตัวเป็นผลิตผลการเกษตรที่สำคัญของชาติ ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคที่เริ่มลืมเลือนชื่ออย่าง สังข์หยด, เหลืองเลาขวัญ, กันตัง, กอเตี้ย, หอมหมาตื่น ฯลฯ เพราะแม้แต่ชาวนายุคนี้เองก็เหมือนจะรู้จักข้าวแค่พันธุ์ กข ไปจนถึงไม่รู้เลยว่าข้าวที่ปลูกอยู่มีชื่อพันธุ์ว่าอะไร

ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ได้รับความสนใจให้ความสำคัญอีกครั้งในยุคที่การดูแลสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อมกลายเป็นกระแส แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เกือบจะสายเกินไปในเมื่อเกษตรกรของยุคนี้ต่างหันไปปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันทั้งประเทศ




คุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ทายาทตระกูลดัง ที่ทิ้งธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวของครอบครัวไว้เบื้องหลัง แล้วหันไปเป็นชาวนา กลายเป็นหนึ่งในน้อยรายของผู้ที่รื้อฟื้นและผลิตข้าวพันธุ์พื้นเมืองออกสู่ตลาดให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค

"ตอนแรกผมคิดแค่การทำนาข้าวอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมี แต่พอไปทำแล้วจึงพบว่าพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ก็คือข้าวพันธุ์พื้นบ้านเพราะมันเหมาะกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละท้องที่ ทำให้ไม่ต้องอัดปุ๋ยหรือใช้ยาฆ่าแมลง"

'วิลิต' ย้อนความหลังเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว ที่เขาหันไปยึดวิถีเกษตรกรเลี้ยงชีพบนที่ดิน 8 ไร่ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นการประกาศตัวเป็นเกษตรกร 'ออร์แกนิค' ท่ามกลางไร่นาเคมี แต่พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่เขาบอกว่าดีนั้น มีความหมายว่าต้องดั้นด้นไปเสาะหากันถึงท้องถิ่นชนบทห่างไกล ที่เหลือชาวบ้านเพียงไม่กี่รายที่ยังปลูกข้าวพันธุ์ 'ขาวนางพญา' เอาไว้กินกันเองในครัวเรือน

"ช่วงปีแรกค่อนข้างขลุกขลัก พยายามแบ่งโซนเพื่อแยกสายพันธุ์ไม่ให้ปะปนกัน" แม้จะไม่ได้ราบรื่น แต่นาของ 'วิลิต' ก็ให้ผลผลิตตอบแทนแรงกายและแรงใจแบบไม่น้อยหน้าไปกว่าที่ชาวนาในอดีตเคยสร้างทำ แม้ตัวเลข 50 ถัง ต่อไร่ จากนาของเขาจะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิต 100-120 ถัง ของชาวนาทั่วไป แต่ต้นทุนต่ำกว่าหลายเท่าเมื่อไม่ต้องควักกระเป๋าเป็นค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง

"ตัวที่หลอกเรา คือ พันธุ์ข้าว ข้าวพันธุ์ กข ทั้งหมดที่กรมการข้าวนำมา มันมาพร้อมกับการต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เป้าหมายเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง จากที่เคยได้ 60-70 ถัง พอใช้ปุ๋ยใช้ยา อาจได้ถึง 100-120 ถัง ดูน่าตื่นเต้น"

แต่สิ่งที่ตามมาคือต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆ เพราะพื้นดินที่เสื่อมทรามลง กับโรคแมลงต่างๆ ที่พัฒนาตัวสู้กับยา ยิ่งทำให้เกษตรกรต้องหาซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมาใช้ในไร่นาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนชาวนาพากันจมกองหนี้ ขณะที่ผู้บริโภครับสารเคมีไปเต็ม ๆ ...





ผ่านไปหลายปี 'นาวิลิต' ให้ผลผลิตพอเลี้ยงตัว พร้อม ๆ กับการทำหน้าที่เป็นแปลงทดลองสำหรับการปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ หนุ่มจากเมืองกรุงเริ่มแสวงหาพันธุ์ข้าวจากแหล่งต่าง ๆ มาซอยแปลง เพื่อลองปลูกในพื้นที่ เพื่อจะพบว่า..

"ข้าวพื้นบ้านแต่ละพันธุ์มีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ข้าวภาคกลางส่วนมากเม็ดยาว หุงแล้วร่วน มีความหอมแตกต่างกัน"

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่ถูกปลูกในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันด้วย 'วิลิต' ส่งข้าวในนาไปตรวจสอบกับ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในตัวอย่าง ข้าวกล้องเหลืองเลาขวัญ ข้าวกล้องนางพญา และ ข้าวกล้องกันตัง อย่างละ 100 กรัม จากที่นาของเขา มีธาตุเหล็ก และไนอะซินค่อนข้างสูง คือ 1.4-6.60, 1.0-5.86 และ 1.1-5.24 ตามลำดับ

ข้าวพันธุ์ดี มีแบรนด์
จากการทดลองปล่อยข้าวพันธุ์พื้นเมืองสู่ตลาดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วิลิต พบว่า กระแสนิยมเน้นข้าวนิ่ม หุงขึ้นหม้อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของข้าวหอมมะลิ ที่กลายเป็นต้นแบบของข้าวไทยที่ได้รับความนิยมจากคนส่วนใหญ่ กระนั้น ข้อมูลจากการวิจัยด้านคุณค่าทางโภชนาการ และแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางธรรมชาติ รวมทั้งความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ทำให้ตลาดสำหรับข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ผลิตจากนาของเขาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเริ่มขยายตัวทีละน้อย โดยมีเกษตรกรจากนาใกล้เคียงทยอยมาขอแบ่งพันธุ์ข้าวไปทดลองปลูกในนาของตัวเอง แม้จะเพียงจำนวนไม่เกินนิ้วนับ

วันนี้พันธุ์ข้าวจากนา 8 ไร่ของวิลิต ประกอบด้วย พันธุ์สันป่าตอง กันตัง ปทุมเทพ เหลืองปะทิว หอมดิน หอมมะลิแดง หอมนิล และ เหลืองเลาขวัญ นอกจากนี้ ยังมีที่ปลูกไว้เพื่อคัดพันธุ์ ได้แก่ เหลืองทอง แดงใหญ่ พวงเงิน บาสมาติก และมีที่คัดพันธุ์เก็บไว้แล้วอีกกว่า 10 สายพันธุ์

"ปลูกพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดในท้องที่เป็นหลัก เน้น 8 พันธุ์หลัก แต่ก็มีพันธุ์อื่น ๆ ที่พร้อมจะมาสลับเพื่อให้ได้ผลผลิตที่แตกต่างกันในแต่ละรอบปีการผลิต วิลิต พูดถึงพันธุ์ข้าวที่มีพร้อมผลิตสู่ตลาดอย่างหลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกลิ้มลอง" เขายังมีแบรนด์ นาวิลิต และร้าน บ้านนาวิลิต ที่ตึกรีเจ้นท์ ถนนราชดำริ สินค้ามีทั้งที่มาจากไร่นาของเขาเอง และรับมาจากเกษตรกรในท้องที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง ผัก-ผลไม้ น้ำตาลโตนด ธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม น้ำผึ้ง ไข่ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค

"ตลาดอินทรีย์สดใส มี 'ผู้บริโภคสีเขียว' ที่ใส่ใจสุขภาพและห่วงใยสิ่งแวดล้อมพร้อมจะให้การสนับสนุนผลผลิตเหล่านี้" วิลิต สรุปบทเรียนการเป็นผู้ผลิตในไร่นาอินทรีย์เกือบ 10 ปี ได้เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของ 'ตลาดสีเขียว' ซึ่งแตกต่างอย่างลิบลับกับเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ..แต่ปัญหาวันนี้ 'วิลิต' ชี้ว่าอยู่ที่ภาคการผลิต

"เกษตรกรอยู่ในวังวนของหนี้สิน พวกเขาไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนการผลิตจากที่เคยทำมา"

และนั่นจึงเป็นคำตอบของข้อสงสัยที่ว่า ทำไมผลผลิตการเกษตรที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ถูกกล่าวขวัญถึงในวันนี้ จึงหาซื้อไม่ง่าย จนหลายคนท้อที่จะดิ้นรน ยกเว้นหนุ่มนาข้าวจากเมืองกรุงคนนี้...

• ข้าวพื้นเมือง เรื่องของสุขภาพ
ข้าวเป็นอาหารหลักไม่เฉพาะของไทย แต่รวมไปถึงอีกหลายประเทศในโลก นักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงเมล็ดข้าวให้ทำหน้าที่เหมือน 'เม็ดยา' ที่กินง่าย รสดี แถมมีสรรพคุณป้องกันโรคได้ด้วย และเมื่อไม่อยากใช้เทคนิคตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMOs ที่มีกระแสต่อต้านทั่วโลก อีกทางเลือกที่เป็นไปได้ คือ การมองหาพันธุ์ข้าวที่มีศักยภาพ เพื่อหวังจะพัฒนาให้ได้คุณสมบัติตามต้องการต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิจัยเพื่อตรวจสอบสารอาหารในข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง ไม่ใช่แค่ประโยชน์สำหรับนักปรับปรุงพันธุ์พืช แต่ประชาชนทั่วไปก็จะได้ทราบข้อมูลเพื่อการบริโภค และที่เลือกข้าวพื้นเมืองก็เนื่องจากข้าวขาวมีปริมาณสารอาหารเหลืออยู่น้อยมากถึงขั้นไม่มีเลย แต่ข้าวกล้องพื้นเมืองกลับเป็นแหล่งของสารอาหารหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง วิตามิน อี และเบต้าแคโรทีน

จากการวิจัยครั้งนี้ ดร.รัชนี พบว่าข้าวแต่ละสายพันธุ์มีคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน ขึ้นกับสิ่งแวดล้อม อากาศ ปุ๋ย ดิน น้ำ รวมทั้งพันธุกรรมของข้าวชนิดนั้นๆ อาทิ ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกทางภาคใต้ เช่น จังหวัดพัทลุง จะมีปริมาณธาตุเหล็กและสังกะสีสูงกว่าที่ปลูกในจังหวัดอื่น (ข้าวปทุมธานีหนึ่ง ที่ปลูกในจังหวัดพัทลุงมีธาตุเหล็ก 36 มิลลิกรัม/ 1 กิโลกรัมข้าวดิบ สูงกว่าข้าวพันธุ์เดียวกันซึ่งปลูกที่อื่น ที่มีธาตุเหล็กอยู่เพียง 25-27 มิลลิกรัม/ 1 กิโลกรัมข้าวดิบ)

ขณะที่ 'เบต้าแคโรทีน' ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอความเสื่อมของตาเนื่องจากวัย รวมทั้งลดความเสี่ยงเกิดต้อกระจก ผลวิจัยพบว่าข้าวกล้องอีก่ำจากอุบลราชธานีและข้าวเหนียวดำจากพัทลุง มีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูงที่สุด คือ 30.04 และ 34.76 ไมโครกรัม/ 100 กรัมนอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าข้าวที่มีสีเข้มเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ อาทิ วิตามิน อี เบต้าแคโรทีน และสารแคโรทีนอยด์ (ลูทีน) อีกด้วย

• 'ข้าว จีไอ' ของดี ตีทะเบียน
หน่วยงานภาครัฐมีความตื่นตัวเรื่องข้าวพันธุ์พื้นเมืองด้วยเช่นกัน โดยมีการส่งเสริมการนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า จีไอ (GI - Geographical Indications) เพื่อที่ 'ชุมชน' ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเฉพาะพื้นที่ได้รับประโยชน์ในการผลิตสินค้าท้องถิ่น ทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษ ที่ผู้ผลิตถิ่นอื่นไม่สามารถผลิตสินค้าในชื่อเดียวกันมาแข่งขันได้

ล่าสุด ข้อมูลถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ พบว่ามี 'ข้าว จีไอ' หลายสายพันธุ์ อาทิ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์, สังข์หยดเมืองพัทลุง, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้, ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี นอกจากนี้ ยังมีข้าวที่อยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียน จีไอ อีก 5 รายการ ได้แก่ ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้, ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์, ข้าวหอมมะลิบุรีรัมย์, ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร และข้าวก่ำล้านนา

คุณสมบัติพิเศษของข้าว จีไอ เหล่านี้ เช่น 'ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง' เป็นข้าวที่ปลูกในจังหวัดพัทลุงกันมากว่า 100 ปี เป็นข้าวที่มีความนุ่ม น่ากิน สีของเมล็ดข้าวกล้องเป็นสีแดง ถ้าขัดสีจนเป็นข้าวสารจะมีสีชมพูและขาว ปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภครักสุขภาพ เพราะในข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงซ้อมมือ 100 กรัม มีธาตุเหล็ก 0.52 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 165 มิลลิกรัม, วิตามิน บี 1 0.18 มิลลิกรัม และไนอาซิน 3.97 มิลลิกรัม

ส่วน 'ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร' เป็นพันธุ์ข้าวเก่าแก่ของอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูก 30 ราย ครอบคลุมที่นา 500 ไร่ เป็นข้าวที่หุงสุกจะแข็ง-ร่วน ขึ้นหม้อ เหมาะกับการทำข้าวราดแกง และเป็นวัตถุดิบสำหรับทำขนมจีน มีสารอาหารไนอะซีน (วิตามิน บี 3) สูงถึง 9.32%


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพ : http://www.bangkokbiznews.com




http://dna.kps.ku.ac.th

.
kimzagass
ตอบตอบ: 17/07/2013 1:52 pm    ชื่อกระทู้:

180. พัฒนาสายพันธุ์ข้าวทนแล้ง



รับมือวิกฤติความเปลี่ยนแปลง
ด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยซึ่งมีความเหมาะสมต่อการเกษตรกรรมเป็นแหล่ง เพาะปลูกผลิตข้าว แต่ที่ผ่านมาเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดคะเนหรือหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่า จะเป็นภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ความแห้งแล้ง เช่นเดียวกับช่วงเวลานี้ที่อากาศร้อนหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำส่งผลต่อการเพาะปลูก

การวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมสิ่งนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มผลผลิตหากแต่มี ความหมายเพิ่มศักยภาพการเพาะปลูกและยังเกิดประโยชน์ สูงสุดแก่เกษตรกร จากความ ต่อเนื่องของการศึกษาวิจัยที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิจัย และพัฒนาด้านข้าว โดยร่วมพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนให้มีความต้านทานต่อโรค แมลงและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม






ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความรู้บอกเล่าว่า ข้าวนาน้ำฝนที่ศึกษาวิจัยร่วมกัน สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ พันธุ์ กข 6 เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกมากในพื้นที่นาน้ำฝนซึ่งปัญหาหลักของข้าวสองพันธุ์ นี้คือไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมวิกฤติหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ภาวะน้ำท่วม ซึ่งต้นข้าวจะตายหมด หรือ ในสภาพดินเค็ม ข้าวจะทนได้ระดับหนึ่งแต่ผลผลิตจะลดลงมาก เช่นเดียวกับภาวะแล้ง ซึ่งผลผลิตจะลดลงมากเช่นกัน

นอกจากนี้ยังอ่อนแอต่อโรคแมลง อย่างโรคไหม้จะอ่อนแอมากทั้งสองสายพันธุ์ โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฯลฯ ในเบื้องต้นจึงศึกษาถึงความสามารถให้ ทั้งสองสายพันธุ์มีความต้านทาน ทนทานเพื่อให้เหมาะกับ การเพาะปลูกของเกษตรกรเมื่อเพาะปลูกไปแล้วไม่ว่า จะเกิดสภาพแวดล้อมเปลี่ยน แปลงอย่างไรก็จะยังคงให้ผลผลิต รักษาเสถียรภาพการให้ผลผลิตของข้าวทั้งสองไว้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

“งานที่ทำเป็นความต่อเนื่องมาซึ่งบางส่วนได้สายพันธุ์ออกมาบ้างตามที่มี รายงาน อย่างข้าวขาวดอกมะลิทนน้ำท่วม ทนเค็มหรือว่าต้านทานโรค ขณะเดียวกันก็มีข้าวขาวมะลิทนแล้งซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทดสอบ ส่วนเรื่องทนแล้งหากจะพูดถึงในแง่ของการปรับปรุงพันธุ์อาจจะยากกว่าในลักษณะ อื่น ๆ เนื่องจากความทนแล้งมีระยะเวลาแตกต่างไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ภาวะแล้งอาจจะมาในระยะต้น ระยะกลางหรือใน ระยะปลายซึ่งลักษณะข้าวที่จะทนแล้งแต่ละระยะที่จะพัฒนาก็จะไม่เหมือนกัน”





งานวิจัยที่ทำจึงเน้นไปที่ระยะออกดอกให้ผลผลิตเนื่องจากเป็นระยะที่มีผลมาก สุด คือ ถ้าแล้งในระยะต้นข้าวมีโอกาสจะฟื้นตัวได้เวลาที่น้ำมาหรือฝนตก แต่หากเป็นการแล้งปลายหมายความว่าถ้าข้าวออกรวงแล้วไม่มีน้ำก็ไม่มีโอกาสที่ ข้าวจะกลับมาให้ผลผลิตได้อีก งานวิจัยหลักจึงเน้นไปที่ช่วงออกรวงแล้งช่วงปลายฤดู

“ความแล้งมีความหนักเบาไม่เท่ากัน แต่ไม่ว่าจะแล้งอย่างไรทั้งหมดมีผลต่อผลผลิต ยิ่งถ้าแล้งยาวนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีผลมาก ในกรณี ที่แล้งมากต้องอาศัยกลไกของพันธุ์ข้าวที่สร้างความต้านทานขึ้นมา ทีนี้ในความต้านทาน ที่ทำให้ต้นข้าวรอดในความแห้งแล้งก็มีหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวมีรากลึกลงไปในดินได้มากก็จะดึงน้ำมาใช้ได้ก็จะรอดให้ผลผลิตได้ดี ขึ้น หรือถ้ารากไม่สามารถลงไปได้จะทำอย่างไรให้ข้าวรักษาความเต่งไว้ได้อาจจะลด การคายน้ำหรือทำอย่างไร ให้รักษาสภาพการสังเคราะห์แสงซึ่งให้ผลผลิตดีในสภาพแล้ง ก็จะเป็นกลไกทางสรีระเข้ามาเกี่ยวข้อง ฯลฯ”

การศึกษาวิจัยเน้นในนาน้ำฝนซึ่งเป็นการเพาะปลูกกลุ่มใหญ่ จากที่กล่าวการวิจัยพัฒนามีมายาวนานซึ่งขณะนี้ก็สามารถเห็นผลเกิดขึ้นบ้าง แต่อย่างไรยังคงดำเนินการต่อเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยจะมีลักษณะ สำคัญอย่างอื่นร่วมด้วย อย่างในนาน้ำฝนซึ่งโรคไหม้เป็นโรคสำคัญที่จะมีมาควบคู่กัน สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาทนแล้งได้ แต่ยังไม่มีความต้านทานโรคไหม้ก็จะต้องพัฒนาต่อให้สมบูรณ์ซึ่งน่าจะอีกไม่ นานที่จะได้พันธุ์ทนแล้งที่ต้านทานโรค

“ในข้าวขาวดอกมะลิที่พัฒนาเสร็จมีทั้งลักษณะทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทนแล้งซึ่งเป็นอย่าง ๆ ไป อีกทั้งมีทั้งที่ทนน้ำท่วมมีความต้านทานขอบใบแห้ง ต้านทานเพลี้ยกระโดดอยู่ด้วยกันซึ่งก็เริ่มนำออกไปทดสอบในพื้นที่เกษตรกร บ้างแล้ว ขณะนี้เป็นเรื่องของการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมพัฒนารวมความสมบูรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันซึ่งก็ยังอยู่ในช่วงดำเนินการ”

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผลกระทบ ต่อภาวะโลกร้อนเรื่องนี้ค่อนข้างมีผลต่อการเกษตรกรรม ซึ่งทำให้รูปแบบ ระยะเวลาของปริมาณน้ำฝนที่จะตกหรือการกระจายเปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งถ้ามากเกิน ไปก็จะส่งผลให้น้ำท่วมหรือถ้าทิ้งช่วงก็กลาย เป็นความแห้งแล้ง

อีกทั้งยังมีผลต่อการเปลี่ยนระดับน้ำใต้ดินทำให้เกิดดินเค็ม เกิดการระบาดของโรคแมลง ฯลฯ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ในงานวิจัยก็จะต้องพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะต้องเพิ่มเติม ให้ลักษณะของพันธุ์ที่มีอยู่ให้มีความต้านทานได้ดียิ่งขึ้น

ในภาพความแห้งแล้งจะนึกกันถึงเรื่องน้ำเป็นหลักเพราะถ้าไม่มีน้ำก็จะมีผล กระทบอย่างอื่นเข้ามาอีกมากมาย การศึกษาวิจัยการทนแล้งจะมองในหลายมิติไม่ได้หมายถึงเรื่องน้ำอย่างเดียวมี ทั้งเรื่องของการก่อเกิดโรคมีสิ่งอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย การปรับปรุงพันธุ์นอกจากการเพิ่มผลผลิตแล้วยังเป็นการยกระดับผลผลิตเพิ่ม ศักยภาพการผลิต

“พันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ต่างก็มีลักษณะพิเศษอยู่ อาจจะมีความต้านทานโรคได้ดี แต่ไม่มีอย่างอื่น อีกพันธุ์หนึ่ง อาจมีความทนแล้งแต่คุณภาพไม่ดี ทนน้ำท่วมแต่เมล็ดข้าวให้สีไม่สวย ฯลฯ การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับที่มีมา แต่เพิ่มให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งปัจจุบันมีเทคโน โลยีสมัยใหม่ก็ยิ่งช่วยปรับปรุงพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีความยั่งยืนนำมาใช้ประโยชน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผล ดีต่อการเพาะปลูกยิ่งขึ้น”

จากการศึกษาวิจัยพัฒนา พันธุ์ข้าวที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นอีกความก้าวหน้าที่นอกจาก จะช่วยพัฒนาเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพันธุ์ข้าวของไทย ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มพูนผลผลิตในการเพาะปลูกช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมรับมือความแห้งแล้ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกร่วมด้วย.

-ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์



http://dna.kps.ku.ac.th


.
kimzagass
ตอบตอบ: 17/07/2013 1:40 pm    ชื่อกระทู้:

179. พันธุ์ข้าวลูกผสม ผ่าทางตันวิกฤตข้าวไทย


‘ราคาข้าวยังพุ่งไม่หยุด’ พาดหัวข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่อเนื่องมานานหลายสัปดาห์ บ่งบอกถึงสัญญาณบางอย่างที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมการรับมือ และหาทางแก้ไข ซึ่งทางแก้ที่ดีที่สุดในมุมมองของนักวิจัย คือการค้นหาพันธุ์ข้าวที่ให้ปริมาณผลผลิตสูง เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยใช้เทคนิคปรับปรุงพันธุ์ “ข้าวลูกผสม”

สถานการณ์ราคาข้าวผันผวน เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่เดือนต้นปี 2551 จนถึงเดือนเมษายน และยังไม่มีวี่แววที่จะลดลง เหตุผลประการหนึ่งมาจากภาวะความแปรปรวนของสภาพอากาศ พายุไซโครน ทำให้ปริมาณผลผลิตในประเทศส่งออกข้าวเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม พม่า แม้กระทั่งอินเดีย ที่เจอกับภัยแล้ง ฝนฟ้าไม่เอื้ออำนวย เป็นสาเหตุให้ปริมาณสำรองข้าวในตลาดโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดโลกตื่นเต้นกันยกใหญ่ มาจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติเอลนีโญ อาจเวียนกลับมาอีกรอบในปีนี้ และส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนข้าวครั้งใหญ่ ทำให้ทุกประเทศเร่งกักตุนข้าว ดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นไปอีก



ดร.ปัทมา ศิริธัญญา นักวิจัยและรองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

ดร.ปัทมา ศิริธัญญา นักวิจัยและรองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง กล่าวในงานเสวนาคุยกันฉันท์วิทย์ พันธุ์ข้าวลูกผสม...ความหวังที่อุดมด้วยผลผลิต ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางออกที่จะสามารถแก้ปัญหาข้าวขาดตลาดได้นั้น คือการเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งแนวโน้มของนักปรับปรุงพันธุ์หลายประเทศมุ่งหน้าพัฒนาคือ “ข้าวลูกผสม” จากเทคนิคผสมข้ามพันธุ์ เพื่อให้ได้ข้าวที่มีปริมาณผลผลิตสูงและต้านทานโรคแมลง



ศ.หยวนลองปิง บิดาแห่งเทคโนโลยีข้าวลูกผสม

จุดเริ่มต้นของข้าวลูกผสมมาจากประเทศจีน จากเหตุผลที่ปริมาณข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคของคนในประเทศ ส่งผลให้ ศ.หยวน ลองปิง (Prof.Yuan Longping) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งจีน (China National Hybrid Rice R&D Center) ได้รับยกย่องให้เป็น บิดาแห่งพันธุ์ข้าวลูกผสม ซึ่งเป็นแนวทางให้นักวิจัยทั่วโลกหันมาทำการวิจัยเพื่อเพื่อพัฒนาพัฒนาข้าวลูกผสมมากขึ้น

สำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวในประเทศไทย เริ่มต้นทำในหลายหน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ตลอดจนภาคเอกชน ที่ต้องการพัฒนาพัฒนาข้าวให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

จากสถิติระบุว่าผลผลิตข้าวของประเทศไทยโดยเฉลี่ย ระหว่างปี 2546-2548 อยู่ที่ประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจัดอยู่อันดับที่ 6 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเวียดนามที่ผลผลิตข้าวเฉลี่ยราว 750 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่จีนครองอันดับสูงสุดผลิตข้าวเฉลี่ยได้มากกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

“แม้ไทยจะเป็นประเทศส่งออกข้าวติดอันดับหนึ่ง แต่อาจจะต้องเสียแชมป์ให้ประเทศคู่แข่งได้ หากผลผลิตต่อไร่ยังคงหยุดนิ่ง ตรงกันข้ามกับประเทศคู่แข่งที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้สูงกว่า” นักวิจัยกล่าว



------------ข้าวลูกผสม ความหวังเพิ่มผลผลิต--------------

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสมในประเทศไทย เริ่มต้นจากการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีความโดดเด่น โดยในปี พ.ศ. 2543 ทีมวิจัยของ ดร.ปัทมา ได้คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์มาทดสอบคู่ผสม อาทิเช่น สุพรรณบุรี 1, 2 และ 3, ปทุมธานี ข้าวขาวดอกมะลิ โดยใช้เวลาในการวิจัยกว่า 8 ปี จนกระทั่งได้สายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าเดิม 20% ตลอดจนต้านทานโรคแมลง โดยใช้ชื่อสายพันธุ์ลูกผสมนี้ว่า T6-4

ข้าวลูกผสม T6-4 เป็นพันธุ์แม่ที่ได้จากข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 3 ซึ่งเป็นพันธุ์พ่อ โดยผลจากการทดลองปลูกข้าวลูกผสม T6-4 พบว่าได้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,578 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตต่อไรมากกว่า 2 กิโลกรัมประมาณ 20 สายพันธุ์ ทั้งนี้คาดหวังว่าอีก 3 ปีจะสามารถพัฒนาจนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชาวนาได้ลองปลูกเพื่อประเมินว่าคุ้มหรือไม่

“ทีมวิจัยได้อาศัยประสบการณ์จากการร่วมทำวิจัยกับ ศ.หยวนที่ประเทศจีน โดยคัดข้าวลูกผสมมา 20 สายพันธุ์จากทั้งหมด 400 สายพันธุ์ หลังจากทดลองปลูกในแปลงขนาดเล็ก พบให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 2,000 กิโลกรัม จากที่ตั้งไว้ 1,000 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้เป็นระดับของงานวิจัย หากนำไปปลูกจริง ผลผลิตต่อไร่อาจจะไม่สูงเท่านี้ เพราะความผันแปรของปัจจัยแวดล้อม” ดร.ปัทมากล่าว



แปลงผลิตภัณฑ์ข้าวลูกผสม

เมื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมได้แล้ว จากนี้จะนำไปทดสอบปลูกในแปลงสถานี โดยจากนี้จะนำไปปลูกในแปลงทดลองขนาดใหญ่ จากนั้นจึงค่อยไปทดลองปลูกในแปลงเกษตร และให้เกษตรกรเป็นผู้ปลุกในที่สุด เพื่อศึกษาถึงวิธีการปลูกและเงื่อนไขต่าง อาทิ การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว คาดว่าขั้นตอนดังกล่าวจะทำเสร็จในเวลา 3 ปี

นักวิจัย กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปทดสอบที่สถานีทดลองข้าวในเขตภาคกลางอีกหลายสถานี โดยต้องทดลองปลูกอย่างน้อย 3 ฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จากนั้นจึงนำไปทดสอบกับแปลงเกษตรที่ใหญ่ขึ้น และในขั้นตอนสุดท้ายคือปลูกในแปลงขนาดใหญ่แล้วให้ชาวนาเลือกว่าจะใช้พันธุ์ไหนดีที่สุด

นักวิจัย กล่าวต่อว่า เทคนิคผสมข้ามสายพันธุ์เป็นทางเลือกหนึ่งการปรับปรุงพันธุ์ข้าวนอกเหนือจากเทคนิคทางพัฒนากรรมสมัยใหม่ หรือการดัดแปรพันธุกรรมในระดับยีน หรือ จีเอ็มโอ ซึ่งยังคงเป็นข้อถกเถียงถึงปัญหาด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบนิเวศน์ใกล้เคียง

"ทุกวันนี้ผลผลิตเฉลี่ยของข้าวไทยตลอดทั้งปีไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งพันธุ์ข้าวลูกผสมเป็นทางออกที่ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ โดยไม่ต้องพึ่งจีเอ็มโอ" นักวิจัยกล่าว

การวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสมนอกจากจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่แล้ว การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคแมลง ยังเป็นเป้าหมายที่นักวิจัยต้องการ โดยเฉพาะโรคไหม้ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร ที่ทำให้ผลผลิตได้ไม่ตรงตามที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ทิศทางของงานวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวยังมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มคุณค่าด้านสารอาหารลงในข้าวสายพันธุ์ลูกผสม ให้มีคุณค่าเทียบเท่าข้าวหอมมะลิ มีปริมาณแป้งหรืออะไมเลส (Amylase) สูง เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการใช้ข้าวเป็นส่วนผสมหลัก เช่น อุตสาหกรรม แป้ง อุตสาหกรรมยา ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกของความต้องการผลผลิตข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ทดแทนการผลิตเพื่อบริโภคเพียงอย่างเดียว


http://vcharkarn.com/varticle/37200
kimzagass
ตอบตอบ: 07/07/2013 6:47 pm    ชื่อกระทู้:

178. เทคนิคการปลูกข้าวต้นเดี่ยว โดยใช้แหนแดง และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ

ชื่อเจ้าของ : ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิด
อีเมล์ : nantakon@sut.ac.th
ชื่อหน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


การปลูกข้าวในระบบประณีต (System of Rice Intensification; SRI) คือ การจัดการพืช การจัดการดิน และการจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งการผลิตข้าวในระบบของ มทส. เป็นการประยุกต์และปรับปรุงมาจากวิธีการผลิตข้าวในระบบ SRI ของ Dr.Norman Uphoff และคณะ จึงเน้นเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งได้แก่ แหนแดง ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยให้พื้นที่ปลูกข้าวมีน้ำขัง ประมาณ 2-5 ซ.ม. เพื่อให้สามารถเลี้ยงแหนแดงได้


แหนแดง (Azolla) เป็นพืชน้ำเล็ก ๆ พวกเฟิร์นพบเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำในที่มีน้ำขังในเขตร้อนและอบอุ่น มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพ
ความเหมาะสมของแหนแดงในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว
- แหนแดงสามารถเจริญเติบโตและขยายปริมาณได้รวดเร็ว
- สามารถเลี้ยงแหนแดงได้ให้เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีไนโตรเจนต่ำ
- แหนแดงมีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่สูง (3-5%)
- แหนแดงสลายตัวได้รวดเร็ว ใช้ระยะเวลาสั้นในการผลิตปุ๋ยให้กับข้าว


ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (Bioorganic Fertilizer) หมายถึง ปุ๋ยที่เกิดจากกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพพร้อมๆกัน และนำมาผสมกันในขั้นตอนสุดท้าย กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในระบบนี้จะต่างจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆไป เนื่องจากการผลิตปุ๋ยในระบบนี้จะใช้อุณหภูมิในระหว่างกระบวนการหมักสูงมาก จนสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อก่อโรคทั้งในคน สัตว์ และพืช ตลอดจนเมล็ดวัชพืชที่ติดมากับมูลสัตว์

ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพนั้น ได้ทำการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ ซึ่งได้แก่ Plant Growth Promoting Rhizobacteria (PGPR) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนและผลิตออกซินได้ นอกจากปุ๋ยชีวภาพในกลุ่ม PGPR แล้วยังได้นำเชื้อราปฏิปักษ์ ไตรโคเคอร์มา (Trichoderma harzianum) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ และยับยั้งการทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในพืชใส่ลงไปในปุ๋ยดังกล่าวด้วย


ขั้นตอนการผลิตข้าวโดยการใช้แหนแดง และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต
1. การเพาะกล้าสำหรับการผลิตข้าวในระบบ SRI จากผลการทดลองในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีขั้นตอนและวิธีการในการเพาะกล้าดังต่อไปนี้
1. ใช้กระบะพลาสติกที่มีรูขนาดเล็กบรรจุด้วยขี้เถ้าแกลบที่เปียกชื้นจากการรดน้ำให้อยู่ตัว จากนั้นทำการเกลี่ยหน้าให้เรียบ (สามารถเพาะในแปลงขนาดเล็กได้)

2.โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำ 12 ช.ม. และห่อผ้า 1-2 คืน จนเมล็ดเริ่มมีรากงอก (เช่นเดียวกับการแช่เมล็ดสำหรับตกกล้า) โดยทำการโรยเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอ

3. โรยขี้เถ้าแกลบกลบบางๆ หนาประมาณ 1 ซม. ทำการรดน้ำให้ชุ่ม

4. วางกระบะกล้าไว้ในที่ร่ม เช่นในโรงเรือนเพาะชำ ใต้หลังคา หรือที่มีลมพัดผ่านได้ เมื่ออายุต้นกล้าได้ 5 วัน ให้นำออกตากแดดและเมื่ออายุได้ 8 วัน สามารถนำไปปลูก ในแปลงปลูกได้ ไม่ควรให้อายุกล้าเกิน 15 วัน เพราะรากกล้าจะยาวมากเกินไป การเพาะกล้าโดยวิธีนี้จะทำให้สามารถถอนกล้าไปปลูกได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก สามารถยำไปได้ทั้งกระบะและวางไว้ใกล้ๆ กลับแปลงปลูก ทำให้ไม่เสียเวลาในการถอน และเคลื่อนย้าย แต่ถ้าเพาะในแปลงเพาะกล้าให้หว่านเมล็ดบางๆ
5. พื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 กก.


2. การถอนกล้า และการขนย้ายต้นกล้า
- ควรทำการย้ายปลูกกล้าที่อายุประมาณ 8-15 วัน และยังคงให้เมล็ดข้าวติดอยู่
- ในกรณีเพาะในถาดสามารถยกถาดไปยังแปลงปลูกได้เลย
- กรณีเพาะกล้าในแปลงควรทำการถอนทีละน้อยย้ายปลูกทันที
- ควรทำการปักดำกล้าที่ถอนให้แล้วเสร็จภายในเวลาครึ่งชั่วโมง
- ไม่ควรล้างรากหรือให้รากกล้าแห้งก่อนทำการปักดำ


3. การเตรียมแปลงปลูก และการปลูกข้าวต้นเดี่ยว
1. ปล่อยน้ำเข้าแปลงทิ้งไว้ 1 คืน ทำการหว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตามปริมาณที่ต้องการ
2. ใช้รถไถเดินตามตีดินให้เป็นโคลน โดยให้ระดับน้ำลึก 3-5 ซ.ม.
3. ทำการหว่านแหนแดง ประมาณ 1 กก./พื้นที่ 10 ตร.ม. ทิ้งไว้ 7-10 วัน
4. หลังจาก 7-10 วัน ให้ไถกลบแหนแดงลงแปลงปลูกและทำให้ดินมีลักษณะเป็นโคลน
5. นำเครื่องมือ ซึ่งทำจากท่อ PVC ลากขนานไปกับคันนาให้เป็นส้นตรงในแนวเดียวกันให้เต็มพื้นที่แปลงปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
6. นำข้างที่เพาะไว้ในกระบะเพาะ มาปลูกตรงรอยตัดของสี่เหลี่ยม โดยใช้นิ้วกรีดดินในแนวราบลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร ต้นข้าวจะต้องตั้งฉากกับแนวราก เป็นรูปตัว “L” (L-shape) และหลังจากการทำการปักดำ 1-2 วัน ให้ทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูกในระดับน้ำลึกประมาณ 2 ซ.ม. และทำการปล่อยแหนแดงให้ทั่วแปลงในอัตรา 10% ของพื้นที่

4. การดูแลรักษาแหนแดง และระดับน้ำในแปลงปลูก
- ทำการหว่านแหนแดงเพิ่มหลังจากการปักดำ 1-2 (หลังการใส่น้ำในแปลงข้าว)
- ควรให้ระดับสูงประมาณ 2 ซ.ม.ในครั้งแรก เพื่อป้องกันวัชพืชและการเพิ่มกระจายตัวของแหนแดงจากนั้นให้รักษาระดับน้ำไว้ประมาณ 5 ซ.ม.
- หว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน

สรุปข้อดีของการปลูกข้าวต้นเดี่ยวร่วมกับแหนแดงและปุยอินทรีย์ชีวภาพ
1. ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย
2. สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้แหนแดงแทน
3. สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
4. เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะจุลินทรีย์กกลุ่มส่งเสริมการเจริญเติบโต
5. ประหยัดน้ำ
6. กำจัดวัชพืชและข้าวปนได้ง่าย
7. อายุการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าปกติ 10-15 วัน
8. จำนวนการแตกกอสงกว่าปกติ 2-3 เท่า
9. เปอร์เซ็นต์การสูญเสียจากข้าวลีบน้อยกว่าวิธีการผลิตแบบปกติ
10. ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 50-70%



























http://www.clinictech.most.go.th/online/techlist/techlist_display.asp?tid=448