มะพร้าวน้ำหอม-น้ำหวาน
หน้า: 2/3
1. มะพร้าวลูกผสมน้ำหอม-พวงร้อย "รบ.3"
น้ำหอมหวาน
ผศ.ประสงค์ ทองยงค์...ภูมิใจนำเสนอ
จริงๆแล้ว อาจารย์ประสงค์ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ ทองยงค์ มีบ้านพักอยู่กรุงเทพฯ
แต่อาจารย์ประสงค์ทำสวนมะพร้าวน้ำหอมอยู่ที่อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี บนพื้นที่ 55
ไร่ ทั้งนี้เพราะอาจารย์ประสงค์เป็นคนดั้งเดิมที่นั่น การนัดหมายเพื่อพูดคุยจึงต้องมีความ
ชัดเจน
"เวลาแปดโมงครึ่ง ผมรออยู่ที่อุโมงค์รถไฟนะ แล้วเจอกัน" อาจารย์ประสงค์ นัดทาง
โทรศัพท์ อาจารย์ประสงค์ วัย 73 ปี แต่ยังดูแข็งแรง อาจารย์ประสงค์ออกจากบ้านที่
บางกะปิ นั่งเรือไปตามคลองแสนแสบ ไปต่อรถเมล์ที่ผ่านฟ้า ไปขึ้นรถทัวร์ที่สายใต้ ใช้เวลา
ไม่นานนักก็ถึงราชบุรี
"ผมมารถทัวร์ เลิกขับรถทางไกลเมื่ออายุ 65 ปี" อาจารย์ประสงค์บอก พร้อมกับนำทาง
ไปยังบ้านดั้งเดิม ถนนที่ไปยังวัดเพลง คู่ขนานไปกับแม่น้ำอ้อม
เมื่อถึงปากทางก่อนเข้าบ้าน อาจารย์ประสงค์ให้รถของทีมเทคโนฯ ไปจอดรออยู่ที่บ้านก่อน
ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำอ้อม เจ้าถิ่นชวนให้เดินจากหน้าสวนซึ่งเป็นถนนใหญ่ พร้อมกับชวนให้ดูป่า
มะพร้าว และพืชที่ปลูกผสมผสาน พืชหลักมี มะพร้าวแกง ที่เสริมเข้ามามีลิ้นจี่ กล้วย ส้มโอ
ก่อนที่จะไปพูดคุยบนเรือนไทยประยุกต์สุดสวย เจ้าของท้องที่พาไปดูมะปรางหวานอายุกว่า
100 ปี ละมุดสีดาอายุกว่า 100 ปี
"ยายชวดปลูกไว้" อาจารย์ประสงค์บอก
สวนอายุเกือบ 200 ปี......สืบทอดมา 3 ชั่วอายุคน
อาจารย์ประสงค์ เกิดที่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 1 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัด
ราชบุรี อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษคือ ทำนา ทำสวนมะพร้าวแกง
"อยู่ที่นี่เลย ยังชีพด้วยการทำนา ทำสวน นาอยู่หลังบ้าน สวนมีมะพร้าวเป็นหลัก ลิ้นจี่และ
ส้มโอมาทีหลัง ตั้งแต่เล็กจนโต ยังชีพด้วยมะพร้าว ชาวสวนที่นี่ ปลูกครั้งแรกต้นไม่สูงทำ
ตาลกัน เมื่อต้นสูงขึ้นก็เก็บผลผลิตจำหน่าย สมัยก่อน มะพร้าวผลละ 3 บาท ผมว่าราคาดี
นะ 60 ปีที่แล้ว มะพร้าวถือว่าเป็นสินค้าสำคัญ ครอบครัวมีพี่น้อง 9 คน ปัจจุบันเหลือ 4
คน แม่น้ำตรงนี้เรียกว่าแม่น้ำอ้อม เป็นแม่น้ำที่มาจากน้ำแม่กลองที่ตัวเมืองราชบุรี ไป
โผล่ออกที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม" อาจารย์ประสงค์เล่า อาจารย์ประสงค์เล่าว่า คุณ
พ่อของอาจารย์ชื่อ ชั้ว บ้านอยู่สมุทรสงคราม มีอาชีพเป็นชาวประมงมาก่อน ส่วนคุณแม่ชื่อ
ฮวย เป็นคนท้องถิ่นวัดเพลง มีฝีมือทำขนมไทย
"คุณยายชื่อ ไล้ สุคนธมาน เป็นคนมีที่ดินค่อนข้างมาก อาชีพคุณแม่ทำสวน ปลูกพลู เอา
ไปจำหน่าย คุณพ่อเป็นชาวประมงแม่กลอง เอาปลาทะเลมาแปรรูปขาย เมื่อก่อนไม่ได้ซื้อ
ขายเป็นเงินสด แต่นำไปแลกข้าวมาใส่ยุ้งฉางไว้ ไกลออกจากนี่ไปพอสมควร มีชุมชนที่มา
จากเขมร สมัยรัชกาลที่ 1 ทำนา เขาจะนำข้าวเปลือกบรรทุกเกวียนมาแลกกับอาหารการ
กิน คุณพ่อคุณแม่ก็เก็บไว้ ขายไปบ้าง" อาจารย์ประสงค์ เล่า
สวนมะพร้าวที่มีอยู่ ได้รับการบอกเล่าว่า บรรพบุรุษแบ่งให้ลูกๆ หลานๆ ซึ่งไม่ได้ขายเปลี่ยน
มือ แต่สืบทอดกันมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว พืชพรรณในยุคเก่าก่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ คือ
มะปรางหวาน ละมุดสีดา ส่วนมะพร้าวก็ปลูกทดแทนไปเรื่อยๆ อาจารย์ประสงค์ได้ที่ดินมรดก
2 ไร่ ริมแม่น้ำอ้อม ส่วนแปลงปลูกมะพร้าว 55 ไร่ อาจารย์ประสงค์บอกว่า เก็บออมจาก
อาชีพราชการ ซื้อที่ในกรุงเทพฯ จากนั้นขายต่อ พอมีกำไร จึงซื้อที่แปลงใหญ่ที่ต่างจังหวัดได้
อาจารย์ประสงค์บอกว่า ตนเองแต่งงานตอนอายุ 31 ปี ไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร จึงทำงานเก็บ
เงิน ส่วนหนึ่งส่งหลานเรียนจบปริญญาตรี 2 คน จนกระทั่งอาจารย์อายุได้ 55 ปี ภรรยา
อายุ ได้ 42 ปี จึงมีบุตรชาย 1 คน ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย
เรื่องการศึกษา อาจารย์เรียนจบปริญญาตรี ที่ประสานมิตร จากนั้นรับราชการครูอยู่ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทากว่า 40 ปี
คนที่อายุ 73 ปี และเป็นคนชนบท ได้เรียนจบปริญญาตรีสมัยก่อนไม่ธรรมดา เรื่องนี้
อาจารย์ประสงค์เล่าว่า คุณย่าของอาจารย์ มีน้องชายได้เรียนหนังสือ ได้เป็นใหญ่เป็นโต
เป็นเจ้าเมืองชื่อ หลวงวุธ จึงให้พี่สาวคนโตไปอยู่บ้านหลวงวุธ จากนั้นเรียนหนังสือจบจาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้ทุนโคลัมโบไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ปัจจุบันพี่สาวคนโต
ของอาจารย์อายุ 83 ปี
"ผมเองหากพี่สาวไม่ได้เรียนหนังสือ พวกผมคงไม่ได้เรียน ใจผมอยากเล่าเรียนหนังสือ แต่
ก่อนที่จะออกจากบ้าน เป็นเรื่องเศร้ามาก ผมห่วงเป็ด ห่วงไก่ ห่วงเตาตาล" อาจารย์
ประสงค์บอก
สนใจงานเกษตรมานาน.....เพราะพื้นฐานเดิมก็เกษตร
อาจารย์ประสงค์ เล่าว่า ตนเองออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ เมื่อทำงานก็กลับมาเยี่ยม
บ้านอยู่เป็นประจำระยะเวลาที่ผ่านมา อาจารย์ประสงค์บอกว่า สภาพพื้นที่ไม่เปลี่ยนไปนัก
สิ่งก่อสร้างบ้านเรือนไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรื่องความอุดมสมบูรณ์ เมื่อก่อนจะทำ
อาหาร ต้มน้ำไว้แล้วลงไปงมปลาในแม่น้ำ มาทำกินได้เลย ปัจจุบันหายาก ส่วนการใช้
ประโยชน์จากแม่น้ำ มีราว 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่น การสัญจรไป-มา
อาจารย์ประสงค์มีความผูกพันกับมะพร้าว ทั้งนี้เพราะมะพร้าวเป็นพืชที่ส่งให้อาจารย์ประสงค์
ได้เรียนหนังสือ ยุคก่อนโน้น ใครมีมะพร้าว 20 ไร่ ถือว่าเป็นผู้มีอันจะกิน
"มะพร้าวที่ปลูก เมื่อต้นต่ำๆ ทำน้ำตาลกัน เมื่อต้นสูงเก็บผลผลิตขาย ถึงช่วงเก็บ คุณยายจะ
ให้หลานๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ มาช่วยกัน เมื่อขายได้เงินก็ได้รับส่วนแบ่งไปเรียนหนังสือ ผมนึก
ถึงบุญคุณบรรพบุรุษตรงนี้ จึงสนใจมะพร้าว จริงๆ แล้วผมสนใจงานเกษตรมาตั้งแต่อายุได้
23 ปี ผมทำมะพร้าวจริงจังมา 33 ปีแล้ว เป็นมะพร้าวน้ำหอม ทั้งนี้เพราะพบมะพร้าวน้ำ
หอมผลใหญ่ ที่เป็นพืชพรรณดีของท้องถิ่น" อาจารย์ประสงค์ ให้ข้อมูล
รบ.1 พืชพรรณล้ำค่า.....ตามด้วย รบ.2
งานปลูกมะพร้าวของอาจารย์ประสงค์ เริ่มจริงจังโดยซื้อมะพร้าวน้ำหอม จากฟาร์มอ่างทอง
มาปลูกจำนวน 40 ต้น โดยผสมผสานกับมะพร้าวหมูสีในท้องถิ่น ต่อมาได้มีการเก็บพันธุ์
มะพร้าวจากต้นน้ำหอมไปเพาะ เพื่อขยายพันธุ์ต่อ ปรากฏว่า พบลักษณะของมะพร้าวที่
เปลี่ยนไป อาจารย์ประสงค์เฝ้าสังเกตมะพร้าวที่ได้อยู่นาน จนสุดท้ายพบว่า มะพร้าวต้นใหม่
มีลักษณะนิ่ง มีความโดดเด่น จึงขยายปลูกเต็มที่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 1,250 ต้น อาจารย์
ประสงค์ตั้งชื่อมะพร้าวที่ได้ว่า "รบ.1" คือ "ราชบุรี 1" นั่นเอง
จุดเด่นของมะพร้าวพันธุ์ รบ.1 คือต้นเตี้ยเหมือนมะพร้าวน้ำหอมทั่วไป ต้นมีขนาดใหญ่
คล้ายหมูสี ผลมีขนาดใหญ่กว่ามะพร้าวน้ำหอม รสชาติและกลิ่นเหมือนมะพร้าวน้ำหอม จุด
เด่นอย่างหนึ่งที่พบอยู่ มีนิสัยออกผลอย่างต่อเนื่องแทบไม่ขาดคอ เป็นนิสัยของมะพร้าวหมูสี
หากเป็นมะพร้าวน้ำหอมทั่วไปมักขาดคอเป็นบางช่วง
มะพร้าว รบ.1 ให้ผลผลิต 10-12 ทะลาย ต่อต้น ต่อปี แต่ละทะลายผลผลิตเฉลี่ย 10-
12 ผล การจำหน่ายมะพร้าวในยุคเริ่มแรก อาจารย์ประสงค์บอกว่า ราคาผลละ 2 บาท
ปัจจุบันผลละ 5 บาท สำหรับมะพร้าว รบ.2 หรือราชบุรี 2 เป็นมะพร้าวหมูสีกลายพันธุ์
ลักษณะต้นเตี้ย คุณสมบัติทั่วไปคล้ายหมูสี แต่โดดเด่นกว่า
รบ.3 พืชพรรณล้ำค่า.....ท้องถิ่นแถบวัดเพลง เป็นแหล่งพันธุกรรมมะพร้าวที่สำคัญไม่
น้อย รวมไปถึงมะแพร้ว .....แต่หากเป็นมะพร้าวน้ำหอมแล้ว ถือว่า อาจารย์ประสงค์เป็น
ผู้บุกเบิกคนสำคัญ เพราะเวลาผ่านมา 33 ปีแล้ว
ที่วัดเพลง และบริเวณใกล้เคียง เช่น ที่บางคนที สมุทรสงคราม มีมะพร้าวพวงร้อย บางช่วง
ติดผลทะลายหนึ่งมากกว่า 100 ผล ลักษณะของมะพร้าวพันธุ์นี้ ต้นสูง มีเลือดมะพร้าวป่า
มาก มะพร้าวพวงร้อยในรอบปีหนึ่ง จะมี 10-12 ทะลาย เหมือนมะพร้าวอื่น คือ 10-12
ทะลาย ต่อต้น ต่อปี แต่ทะลายจะดกมากเป็น 80-100 ผล ราว 3-4 เดือนเท่านั้น นั่น
ย่อมหมายถึงมีผลดกในรอบปี 3-4 เดือน.....เพราะอยู่ในวงการมะพร้าวมานาน
อาจารย์ประสงค์พบว่า ใกล้ๆ บ้าน มีมะพร้าวลูกผสม เข้าใจว่า เป็นลูกผสมระหว่างมะพร้าว
พวงร้อยกับมะพร้าวน้ำหอม จึงไปนำมาปลูก โดยเปรียบเทียบกับของตนเองและของหลาน
ปรากฏว่า พบลักษณะที่โดดเด่นอย่างมาก เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดราชบุรี อาจารย์จึงขอตั้ง
ชื่อว่า "รบ.3" หรือราชบุรี 3 นั่นเอง
มะพร้าวลูกผสมพวงร้อยกับมะพร้าวน้ำหอม มีคุณสมบัติอย่างไร
อาจารย์ประสงค์อธิบายว่า มะพร้าวลูกผสมพันธุ์ใหม่ ผลดก เคยเก็บได้ 30 ทะลาย ต่อผล
ขนาดของผลใหญ่กว่ามะพร้าวพวงร้อย .....หากการติดผลไม่มากนัก ผลมีขนาดเท่า
มะพร้าวน้ำหอม สิ่งที่พิเศษสุดนั้น น้ำของมะพร้าวรสชาติหวานมาก มีกลิ่นหอม ต้นไม่สูง ซึ่ง
ได้คุณสมบัตินี้มาจากมะพร้าวน้ำหอม
ปกติหากเป็นมะพร้าวพวงร้อยทั่วไปต้นจะสูง......ความดกของมะพร้าวลูกผสมพวงร้อย
คล้ายมะพร้าวพวงร้อยเดิม คือดกเป็นบางช่วง แต่โดยทั่วไปแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้
พื้นที่ปลูกมะพร้าวของอาจารย์ประสงค์มี 2 แปลง แปลงแรก 30 ไร่ แปลงที่สอง จำนวน
25 ไร่ อาจารย์ประสงค์ได้พาไปพิสูจน์มะพร้าวลูกผสมพวงร้อย หรือ รบ.3 ที่แปลงแรก
ซึ่งปลูกไว้ 4 ทิศของสวน
"ต้องชิมให้ครบ 4 ทิศ" อาจารย์ประสงค์บอก
มะพร้าวที่อาจารย์ประสงค์ปลูกไว้กว่า 1,000 ต้น มีกระรอกรบกวนบ้าง เหมือนสวน
เกษตรกรทั่วๆ ไป แต่มีมะพร้าว รบ.3 อยู่ต้นหนึ่ง มีกระรอกรบกวนอยู่เป็นประจำ แรกๆ เจ้า
ของก็สงสัย ว่าทำไมต้นนี้ถูกกระรอกเจาะไม่ขาด หลังๆ หลานของอาจารย์ประสงค์ไขข้อ
สงสัยว่า มะพร้าว รบ.3 ต้นนั้น อร่อยเป็นพิเศษ
หลานของอาจารย์ประสงค์ได้เฉาะมะพร้าว รบ.3 ต้นที่กระรอกชอบให้ชิมดู เพียงแต่ยก
มะพร้าวขึ้นจ่อที่ปาก กลิ่นหอมปะทะจมูก จนต้องหายใจเข้าลึกๆ เมื่อกลืนน้ำมะพร้าวลงคอ
น้ำมะพร้าวมีความหวานเป็นพิเศษ ซึ่งนานๆ 5-10 ปี จะพบครั้งหนึ่ง
ชิมทิศแรกผ่านไปแล้ว อาจารย์ประสงค์ได้พาไปชิมอีก 3 ทิศ รวมทั้งต้องชิมมะพร้าวน้ำ
หอม รบ.1 อีก สรุปแล้ว ชิมไป 6 ผลด้วยกัน ชิมเฉพาะน้ำ ส่วนเนื้อทดลองดูนิดหน่อย
ซึ่งอร่อยมาก เรื่องชิมเรื่องกินนี่ไม่ปฏิเสธแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
หลังชิมมะพร้าว อาจารย์ประสงค์ยังพาไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง
ราชบุรี ปลาช่อนทอด และต้มยำอร่อยมาก รับประทานเข้าไปเต็มที่ เพราะมะพร้าวและ
อาหารมื้อเที่ยง เมื่อกลับถึงบ้าน ไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารเย็นได้เลย
ร่องกั๊บ.....ภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น
ระบบปลูกมะพร้าวน้ำหอม ในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เป็นระบบยกร่อง คือมีสันร่อง ปลูกมะพร้าว
ตรงกลาง ระหว่างสันร่อง มีร่องน้ำ.....ร่องน้ำมีไว้เพื่อใช้เรือรดน้ำ หรือลากเรือเข้าไป
เก็บผลผลิต
อาจารย์ประสงค์เล่าว่า เมื่อเกษตรกรปลูกมะพร้าวได้ 2-3 ปี ก็จะเริ่มทำ "ร่องกั๊บ" การ
ทำร่องกั๊บนั้น เกษตรกรจะนำทาง (ใบ) มะพร้าว ผลมะพร้าวที่เน่าเสีย รวมทั้งปุ๋ยคอกมา
ใส่ที่ร่องกั๊บ เพื่อให้เน่าสลายกลายเป็นปุ๋ย ปีแรกที่ทำร่องกั๊บ วัสดุต่างๆ อาจจะไม่มาก เมื่อ
หลายปีไปแล้วร่องก็จะเต็ม เป็นผืนเดียวกัน ร่องกั๊บที่ทำ เกษตรกรจะทำร่องเว้นร่อง ดังนั้น
เรือรดน้ำ รวมทั้งเรือเก็บผลผลิต จะยังคงทำงานได้ตามปกติ
อาจารย์ประสงค์บอกว่า ประโยชน์ของร่องกั๊บ ช่วยให้เกษตรกรใช้วัสดุที่มีอยู่ให้เป็น
ประโยชน์ อย่างทางมะพร้าวแทนที่จะทิ้ง เมื่อนำวางไว้ที่ร่องก็กลายเป็นอินทรียวัตถุได้อย่าง
ดี เมื่อวัสดุที่เหลือใช้ถูกทิ้งเป็นที่เป็นทาง สวนก็สะอาด ลดการระบาดของโรคและแมลงได้
ในวัย 73 ปี อาจารย์ประสงค์ยังแข็งแรง...... "ผมเดิมเป็นเกษตรกร มาทำเกษตรกร
ได้ยืดเส้นยืดสาย ช่วงเรียนเป็นนักกีฬา สอนอยู่เป็นโค้ชกรีฑา เริ่มวิ่งมาตั้งแต่สมัยเด็ก เขา
เรียกวิ่งวัว เข้าแถวที่แปลงนา ใช้เชือกมัดไว้ เมื่อได้สัญญาณกรรมการตัดเชือก ก็ออกวิ่ง
ระยะทาง 50-100 เมตร ตอนวิ่งวัวยืนดูอยู่ สวนผมนี่ไม่ได้จ้างประจำ แต่เหมาให้ญาติมา
ช่วย ผมมาสวนอย่างต่ำอาทิตย์ละครั้ง ผมผลิตแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีนานแล้ว เน้นขี้หมู
สารเคมีก็ไม่ใช้ เมื่อเข้าสวนแต่ละครั้งต้องดูแลอย่างน้อย 1 ร่อง ผมกับภรรยายช่วยกัน
เพราะปลูกมะพร้าวใกล้นาชาวบ้าน มีหนอนม้วนใบ ต้นเล็กๆ ผมใช้น้ำฉีดเอา หรือเดินเก็บ
ต้นใหญ่ไม่ได้ใช้สารอะไร" อาจารย์ประสงค์บอก
มะพร้าวน้ำหอมปลูกเป็นการค้าอยู่ได้......อาจารย์ประสงค์ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ 1 ไร่
ปลูกมะพร้าวได้ 25 ต้น ผลผลิตมะพร้าวที่เก็บได้ 10 ผล ต่อต้น ต่อเดือน พื้นที่ 1 ไร่ จึง
เก็บมะพร้าวได้ 250 ผล ต่อไร่ ต่อเดือน หากจำหน่ายได้ผลละ 4 บาท จะมีรายได้
1,000 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน ถ้าพื้นที่ 55 ไร่ อย่างของอาจารย์ประสงค์ จะมีรายได้
55,000 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน
ต้นทุนการผลิตนั้น :
ปีหนึ่งเสียค่ากำจัดวัชพืช 5,000 บาท
ค่าปุ๋ยคอกและค่าใส่ปุ๋ย 45,000 บาท ต่อปี
ค่าลอกเลน 10,000 บาท (4-5 ปี ลอกครั้งหนึ่ง โดยใช้รถ ครั้งละ 50,000 บาท)
ต้นทุนการผลิตของอาจารย์ประสงค์แต่ละปี ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาท เมื่อหักต้นทุน
แล้ว งานปลูกมะพร้าวยังมีกำไร
อาจารย์ประสงค์บอกว่า สำหรับผู้ที่อยากปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นการค้า ต้องดูสภาพพื้นที่
ก่อน ที่ลุ่มภาคกลางได้เปรียบ โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร
"เคยมีผู้ซื้อต้นพันธุ์ไปปลูกที่นครสวรรค์ ริมบึงบอระเพ็ดได้ผล ผมไปซื้อที่ไว้ที่อำเภอผา
ขาว จังหวัดเลย 60 ไร่ นำมะพร้าวไปปลูก ตรงนั้นมีสระน้ำ ได้ผล ตอนนี้ขายไปหลายปีแล้ว
เทียวไปเทียวมาลำบาก อยู่ไกล บริเวณที่มีแหล่งน้ำ มีดินทับถม มีโพแทสเซียมสูง ผมว่า
ได้ผล อย่างเขตนี้ สำหรับที่อยากปลูกมะพร้าวไว้กินผล ควรมีพื้นที่พอสมควร ใบมะพร้าวแผ่
ออกข้างละ 4 เมตร ต้องคำนวณอย่าให้รบกวนเพื่อนบ้าน และควรปลูกทิศตะวันออก ให้ได้
รับแสงเต็มที่" อาจารย์ประสงค์แนะนำ
เรื่องราวงานปลูกมะพร้าวของอาจารย์ประสงค์น่าสนใจไม่น้อย ถามไถ่กันได้ที่ โทร. (02)
378-2620 และ (081) 836-6228
ในงานสัมมนา มหัศจรรย์...มะพร้าวไทย "พบความหลากหลายของมะพร้าว พืชที่รับใช้
คนไทยมานาน" ซึ่งจะจัดขึ้นที่สำนักงาน หนังสือพิมพ์ข่าวสด ในวันที่ 28 พฤศจิกายน
2552 นี้ อาจารย์ประสงค์ จะมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ในฐานะที่เป็นผู้ปลูกมายาว
นาน 33 ปี
พร้อมกับนำพันธุ์มะพร้าวมาโชว์ดังนี้ คือ
มะพร้าวน้ำหอม รบ.1,
มะพร้าว รบ.2,
มะพร้าวน้ำหอมพวงร้อยพันธุ์แท้,
มะพร้าวน้ำหอมพวงร้อยลูกผสม (รบ.3),
มะพร้าวใหญ่ต้นสูงสีเขียว,
มะพร้าวใหญ่ต้นสูงสีเหลือง,
มะพร้าวใหญ่ต้นสูงสีแดง และมะแพร้ว
รวมแล้วไม่น้อยกว่า 8 ตัวอย่าง จากวัดเพลง นอกจากฟังอาจารย์ประสงค์บรรยายแล้ว
สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนตัวต่อตัวได้ เมื่อมีเวลาว่าง
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
****************************************************************************
พานิชย์ ยศปัญญา
2. มะพร้าวน้ำหอม 50 ไร่ ขอบเมืองบางกรวย รสชาติดี กลิ่นหอม
เพราะปลูกเตยในร่องสวน เจ้าของยืนหยัด สร้างรายได้ดี
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีท่านหนึ่ง พูดไว้ว่า ในเขตขอบเมืองกรุงเทพฯ ท้องที่แถบ
อำเภอเมืองนนท์ บางใหญ่ บางบัวทอง ไทรน้อย รวมทั้งบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นพื้นที่
ที่น่าอยู่อาศัยมาก ซึ่งก็เป็นจริงอย่างอดีตผู้ว่าราชการฯ บอกไว้ เพราะเมื่อถนนนครอินทร์เกิด
ขึ้น บ้านจัดสรรผุดขึ้นเต็มไปหมด ชาวบ้านที่ทำสวนมานาน อย่างเก่งได้เห็นแค่เงินแสน เมื่อ
คนมาเสนอซื้อที่ดินไร่ละ 8 ล้านบาท มีที่ดินอยู่ 4-5 ไร่ หอบเงินไปซื้อที่ดินต่างจังหวัด
สัก 50-60 ไร่ ที่เหลือแบ่งให้ลูก ส่วนหนึ่งฝากไว้กินดอกเบี้ยสบายๆ
"ปลูกมะพร้าวไม่ตกต่ำ" คุณสวัสดิ์ เปาทุย เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่อำเภอบ้านแพ้ว จัง
หวัดสมุริมถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี หรือถนนกาญจนาภิเษก ช่วงตำบลปลายบาง อำเภอ
บางกรวย ฝั่งตะวันตก มีซอยอยู่ 2 ซอย ซอยแรกเรียกกันว่า "ซอยวัดศรีประวัติ" ซอยที่
สองเรียกว่า "ซอยวัดส้มเกลี้ยง" เข้าซอยไหนก็ได้ ระยะทางราว 3 กิโลเมตร ขวามือเป็น
สวนมะพร้าวน้ำหอม พื้นที่ 50 ไร่ ของ คุณชะออม น้อยปั่น อยู่บ้านเลขที่ 61/3 หมู่ที่ 4
ตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130 ท้องถิ่นแถบนั้น มีหมู่บ้านจัดสรร
ผุดขึ้นมากมาย เลยบ้านคุณชะออมไป 2-3 กิโลเมตร มีหมู่บ้านขนาดใหญ่ ห่างจากประตู
สวนของคุณชะออม 100 เมตร มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แต่คุณชะออมยังยืนหยัด นำผลผลิต
มาวางขายแข่งทุกวัน ที่ขาดไม่ได้มีมะนาว กล้วย มะละกอ รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม
ปลูกมะพร้าวไม่ตกต่ำ
สมุทรสาคร ว่าไว้ ซึ่งมีความหมายสองนัยด้วยกัน มะพร้าวที่ปลูกกันนั้น เป็นมะพร้าวน้ำหอม
แรกๆ เมื่อติดผล เก็บง่ายมาก เพราะติดผลเมื่อขณะต้นไม่สูง จากนั้นความสูงของต้นจะเพิ่ม
ขึ้น ต้องปีนกันเลยทีเดียวคนที่ปีนต้นมะพร้าว หากไม่ระมัดระวัง อาจจะตกมาจากที่สูงแข้งขา
หักได้ ทุกวันนี้ เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวเขามีเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว ส่วนหนึ่งมีผู้ซื้อไปตัด
ถึงสวน เจ้าของไม่ต้องตัดเอง เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม หากมีการวางแผน เริ่มต้นที่
เรื่องของสายพันธุ์ การเตรียมพื้นที่ปลูก รวมทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อย่างพื้นที่ภาค
กลาง มะพร้าวสามารถให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของได้อย่างดี เทคโนโลยีชาวบ้านได้ลงเรื่อง
ของอาจารย์ประสงค์ ทองยงค์ เมื่อฉบับที่แล้ว เพราะมะพร้าว อาจารย์สามารถส่งลูกชายไป
เรียนต่อปริญญาโท ที่ประเทศออสเตรเลียได้
งานปลูกมะพร้าวน้ำหอม หากพื้นที่ 7-10 ไร่ขึ้นไป เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่าง
สบาย กรณีของคุณชะออม เขาผสมผสานพืชผลเข้าไปหลายอย่าง ทุกอย่างขาย
ได้ เจ้าของสารภาพว่า อย่างต่ำวันหนึ่งมีรายได้ 2,000 บาท จริงๆ แล้วพื้นที่ดิน
ของคุณชะออมมีมากกว่า 50 ไร่ แต่เจ้าตัวนำมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมแค่ 50 ไร่
เท่านั้นเอง
คุณชะออม เป็นหนุ่มเมืองนนท์มาแต่กำเนิด เริ่มต้นอาชีพการเกษตรด้วยการทำ
นา ต่อมาจึงทำสวนอย่างจริงจัง สำหรับมะพร้าวน้ำหอม เจ้าของปลูกมาได้ 30 ปี
แล้ว มะพร้าวส่วนไหนที่ล้มหายตายจากไป ก็ปลูกแทน แต่ส่วนใหญ่แล้วมะพร้าว
รุ่นแรกยังอยู่
มีผลผลิตจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
ระบบปลูกมะพร้าวของคุณชะออม คล้ายกับเกษตรกรรายอื่น คือมีร่องสวน แล้ว
ปลูกตามสันร่องสายพันธุ์มะพร้าวที่ปลูกเจ้าของบอกว่า คัดเลือกต้นที่มีขนาด
ใหญ่ ผลใหญ่ ผลดก สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ขายในประเทศดี
หลังปลูกได้ 3 ปี มะพร้าวก็จะเริ่มมีดอกหรือจั่น ปีที่ 4 จึงเก็บผลผลิตได้ เจ้า
ของบอกว่า ถึง 40 ปี นั่นแหละถึงจะเปลี่ยนต้นใหม่ พื้นที่ 50 ไร่ คุณชะออม มี
มะพร้าวทั้งหมด 1,500 ต้น ในรอบปีหนึ่ง มะพร้าวให้ผลผลิต 12 ทะลาย ต่อ
ต้น แต่ละทะลายมีผลผลิต 5-15 ผล แต่โดยเฉลี่ยแล้ว 10 ผล ราคาที่จำหน่าย
เมื่อก่อนผลละ 3 บาท ปัจจุบันจำหน่ายได้ผลละ 5 บาท
งานดูแลรักษาต้องมีความเข้าใจพอสมควร
เรื่องปุ๋ย เจ้าของใส่ปุ๋ยให้เดือนละ 2 ครั้ง สูตร 21-0-0 แต่ละครั้งให้จำนวน 1
ตัน หรือ 20 กระสอบ อย่างอื่นที่เป็นผลพลอยได้คือการลอกเลน
ระบบการขายนั้น เจ้าของบอกว่ามีคนเข้าไปซื้อถึงสวน 2 เจ้า ส่วนหนึ่งเจ้าของ
นำมาวางจำหน่ายที่ประตูสวน ตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 6 โมงเย็น ใกล้ๆ กันตรงนั้นมี
ตลาดนัด ผู้คนพลุกพล่านซื้อหาสิ่งของกัน ใครที่ใช้ทางเส้นนี้สังเกตให้ดี เมื่อเข้า
ไปในซอยได้ 3 กิโลเมตร ซ้ายมือมีเซเว่นฯ เลยเซเว่นฯ ไป 100 เมตร ขวามือ มี
ของจากสวนคุณชะออมล้วนๆ วางขาย แต่ต้อง 4 โมงเย็น ไปแล้ว ทางเส้นนี้
หากตรงไปเรื่อยๆ ไปออกศาลายาได้ ช่วงเทศกาลคนใช้เส้นทางนี้ไม่น้อย
คุณชะออม บอกว่า ผลผลิตมะพร้าวของตนเอง มีจำหน่ายทั้งปี อาจจะมากบ้าง
น้อยบ้าง ปีที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องโลกร้อน ทางบ้านแพ้วต้องวิ่งมาซื้อมะพร้าวถึง
บางกรวย
ผสมผสาน......ขายได้ เตยทำให้มีกลิ่นหอม
เทคโนโลยีชาวบ้าน เคยจัดเสวนาเกษตรสัญจรไปจังหวัดนนทบุรีกันบ่อย จุด
หนึ่งที่แวะกัน คือ สวนมะพร้าวคุณชะออม สมาชิกเสวนาชอบสวนคุณชะออมมาก
บ้านคุณชะออมอยู่ห่างจากถนนถึง 800 เมตร ตั้งอยู่ริมคลองบางนา คุณชะออม
บอกว่า ที่บ้านมีเรือ ใครสนใจเข้าไปท่องเที่ยวก็ยินดี พายเรือให้ชมธรรมชาติฟรี
นานมาแล้ว ที่ทางอำเภอบางกรวยได้จัดให้สวนคุณชะออมเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ทางการเกษตร ซึ่งก็มีผู้คนแวะเวียนไปมากหน้าหลายตา
สถาบันทางการศึกษา ก็นำนักเรียนไปเรียนรู้เรื่องพืชพรรณ ซึ่งมีปลูกอยู่มากกว่า
60 ชนิด แต่หากเอากันจริงๆ แล้ว มีเป็น 100 ชนิด
คุณชะออมได้ปลูกพืชแซมในสวนมะพร้าว พืชที่สร้างรายได้หลักๆ เลย คือ
มะนาว กล้วย สับปะรด ไม้ดอกไม้ประดับ เตย มะนาว ที่คุณชะออมมีอยู่ เขาปลูก
แซมระหว่างต้นมะพร้าวได้อย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับมะนาวที่ปลูกเป็นแปลง
ใหญ่ๆ แถวท่ายาง เพชรบุรี ผลผลิตสู้ท่ายางไม่ได้แน่ แต่ต้นทุนการผลิตของคุณ
ชะออมต่ำ เมื่อให้ปุ๋ยมะพร้าว มะนาวก็ได้กินด้วย ที่แนะนำไปครั้งละ 1 ตัน จึงไม่
มากแต่อย่างใด เพราะทุกพืชได้รับปุ๋ยหมด ผลผลิตมะนาวคุณชะออมมี อย่างต่อ
เนื่อง ผ่านไปทีไรก็เห็นมะนาววางขายทุกทีไป ไม่เว้นแม้แต่ช่วงเดือนมีนาคม-
เมษายน
กล้วยคุณชะออมสะสมพันธุ์ไว้มากกว่า 20 สายพันธุ์ แต่ที่ทำเป็นการค้าได้ มี
เล็บมือนาง น้ำว้าแล้วก็หักมุก งานปลูกกล้วยไม่ได้ใช้สารเคมีกำจัด
เตย เจ้าของปลูกไว้ริมร่อง จากนั้นก็แผ่ขยายออกไป เตยที่ปลูกเป็นเตยหอม คน
ที่ได้ชิมมะพร้าวของคุณชะออมแล้ว บอกว่า มะพร้าวที่สวนนี้มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ
แตกต่างจากสวนอื่นอย่างชัดเจน เตยนั้นคุณชะออมมัดกำจำหน่าย ผู้ซื้อนำไป
กำกับกล้วยไม้เพื่อไหว้พระ ส่วนหนึ่งนำไปเป็นวัตถุดิบทำขนม
ไม้ดอกไม้ประดับที่คุณชะออมปลูกอยู่มีมากมายหลายชนิด เช่น เฮลิโคเนีย
(ธรรมรักษา) ดาหลา อัญชัน และอื่นๆ
ที่แนะนำมา เป็นพืชพรรณที่สร้างรายได้หลักให้ แต่มีอยู่ไม่น้อยที่ปลูกเพื่อการ
อนุรักษ์ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดี เป็นต้นว่า มังคุด ทุเรียน พืชผักพื้นบ้านและสมุนไพร
อื่นๆ พื้นที่ที่คุณชะออมมีอยู่ แทบไม่มีวัชพืชขึ้นให้กำจัด สิ่งที่เห็นอยู่ เป็นต้นไม้
ที่เก็บขายได้ทั้งนั้น
ทำสวน มีกำไร.....ยืนหยัด ไม่ขายที่ดิน
"คนทำสวนส่วนหนึ่งเลิกไปเยอะ เขาบอกทำแล้วขาดทุน แต่ผมทำมีกำไร บาง
วันได้มากกว่า 5,000 บาท แต่บางวันก็ไม่ถึง ผมไม่ขาย อยากทำอย่างนี้ตลอด
ไป ช่วยป้องกันโลกร้อน เมื่อวานบ้านจัดสรรก็มาถามซื้อ...ผมไม่ขาย" คุณชะ
ออม บอก
ถามว่า ... "มีคนมาให้หลายร้อยล้านก็ไม่ขาย"
"ไม่ขาย..." คุณชะออมยืนยัน ใครที่เคยไปเสวนาเกษตรสัญจรที่สวนเกษตรราย
นี้ จะได้ชิมมะพร้าวเผา ที่น้ำหวานล้ำลึกแต่อีกสวนหนึ่ง คุณชะออมจะเฉาะ
มะพร้าวสดๆ ให้ชิม โดยใช้มีดที่คม สับลงไปที่ก้นผลมะพร้าว 3 ที "...ฉับ...
ฉับ...ฉับ..." แล้วเปิดเปลือกให้ดื่มน้ำที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม อุดมไป
ด้วยคุณค่าทางอาหาร ผู้ที่อ่านตรงนี้ จงใช้วิจารณญาณ อย่าได้ไป ทดลองทำ
โดยไม่มีความรู้ ความชำนาญ เพราะอาจจะทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
ที่บ้านคุณชะออม มีมะพร้าวพวงร้อย ที่ทะลายหนึ่งติดผลมากกว่า 60 ผล เพื่อน
บ้านคุณชะออมก็มีมะพร้าวไฟผลสีเหลืองและแดงในงานสัมมนา มหัศจรรย์...
มะพร้าวไทย "พบความหลากหลายของมะพร้าว พืชที่รับใช้คนไทยมานาน" ตรง
กับวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งจัด
โดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน คุณชะออม บอกว่า หากกระรอกไม่เจาะเจ้าพวง
ร้อยเสียก่อน จะให้มะพร้าวพวงร้อยดกๆ แสดงในงาน รวมทั้งมะพร้าวไฟด้วย
ผู้สนใจเรื่องราวมะพร้าวของคุณชะออม หรืออยากเข้าไปท่องเที่ยว ติดต่อได้โดย
ตรง ที่ โทร. (086) 526-8463 หรือ (02) 903-9298
มีอะไร ในน้ำมะพร้าว
เพราะต้นมะพร้าวมีลำต้นสูง ต้องผ่านการกลั่นกรองตามชั้นต่างๆ ของลำต้นกว่า
จะถึงลูกมะพร้าวที่อยู่ข้างบน น้ำมะพร้าวที่ได้มาจึงบริสุทธิ์มาก และอุดมไปด้วย
แร่ธาตุหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม เหล็ก โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม
ฟอสฟอรัส ทองแดง กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ และวิตามินบี แถมยังมีน้ำตาล
กลูโคสที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ภายใน 5 นาที และยังเป็น
ประโยชน์ในการขับสารพิษและชำระล้างร่างกายด้วย
น้ำมะพร้าวช่วยชะลออาการอัลไซเมอร์
การดื่มน้ำมะพร้าวทุกวันจะช่วยชะลออาการอัลไซเมอร์ได้ จากผลงานวิจัยของ
ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะ
วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า ในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนคล้าย
ฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจนสูง ซึ่งมีผลช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์
หรือความจำเสื่อมในสตรีวัยทอง นอกจากนี้ การดื่มน้ำมะพร้าวเป็นประจำทุกวัน
ยังสามารถช่วยสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้นกว่าปกติ และไม่ทิ้งรอยแผลเป็น
อีกด้วย
น้ำมะพร้าวช่วยให้ผิวพรรณสดใส
น้ำมะพร้าวสามารถช่วยเสริมสร้างความสวยใสของผิวพรรณ ทำให้เปล่งปลั่งและ
ขาวนวลขึ้นจากภายในสู่ภายนอก เพราะในน้ำมะพร้าวมีเอสโตรเจนอยู่ ซึ่งมีส่วน
สำคัญต่อการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้ผิวกระชับ ยืดหยุ่น และชะลอ
การเกิดริ้วรอยก่อนวัยได้ และในน้ำมะพร้าวยังสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตและ
แบ่งเซลล์ได้ดี แถมยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับของเสียหรือสารพิษออกจากร่างกาย
(คล้ายๆ กับการทำดีท็อกซ์) จึงช่วยทำให้ผิวพรรณผ่องใส อีกทั้งความเป็นด่าง
ของน้ำมะพร้าวยังช่วยปรับสมดุลของร่างกายในช่วงที่มีความเป็นกรดสูง ทำให้
กลไกการทำงานของระบบภายในเป็นปกติ ส่งผลให้มี
สุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก
น้ำมะพร้าว "สปอร์ตดริ๊งก์" จากธรรมชาติ
เนื่องจากน้ำมะพร้าวมีปริมาณเกลือแร่ที่จำเป็นสูง รวมทั้งมีคุณสมบัติช่วยบรรเทา
ความอ่อนเพลียเนื่องจากอาการท้องเสียหรือท้องร่วงได้ จึงจัดเป็นสปอร์ตดริ๊งก์
(Sport Drink) สามารถดื่มหลังการสูญเสียเหงื่อจากการเล่นกีฬาหรือออก
กำลังกาย นอกจากนี้ ในประเทศไต้หวันและประเทศจีน ยังนิยมดื่มน้ำมะพร้าว
เพื่อลดอาการเมา หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
น้ำมะพร้าว เป็นอาหารบริสุทธิ์ และเต็มไปด้วยกลูโคสที่ร่างกายดูดซึมเข้าไปใช้
ได้ง่าย นอกจากนั้น มะพร้าว ยังเป็นผลไม้ที่มีความเป็นด่างสูง สามารถรักษาโรค
ที่เกิดจากร่างกายมีความเป็นกรดมากเกินไป หมอพื้นบ้านไทยถือกันว่า มะพร้าว
เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเส้นเอ็น ใช้รักษาโรคกระดูกได้ ส่วนคนจีนเชื่อว่า น้ำ
มะพร้าวมีฤทธิ์เป็นกลาง ไม่เป็นทั้งหยินและหยาง มีสรรพคุณในการขับพยาธิ
สำหรับคนไข้ที่อาเจียนและท้องร่วงในเวลาเดียวกัน สามารถดื่มน้ำมะพร้าวเพื่อ
ช่วยให้ร่างกายดูดซึมกลูโคสไปใช้ในเวลาอันรวดเร็วได้
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
วัชรินทร์ เขจรวงศ์
3. มะพร้าวน้ำหอม ทุ่งกุลาร้องไห้ ปลูกได้ คุณภาพดี
ดินแดนอันไกลโพ้น "ทุ่งกุลาร้องไห้" ตำนานเล่าขาน "ฝนแล้ง แมลงกิน ดินไม่ดี" คุณมานะ เหนือ
โท ทีมข่าวชาวทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นคนชอบเดินทางเพื่อค้นหาและค้นพบงานปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้รส
ชาติดี ในเมื่อสภาพพื้นที่ท้องทุ่งกุลาร้องไห้ แปลงนา ดิน ฟ้า จรดกัน อากาศที่แห้งแล้ง ดินมีสภาพ
เปรี้ยว-เค็ม ดินทรายก็ไม่มีน้ำ หรือแม้แต่แหล่งกักเก็บน้ำบนผิวดิน ช่วงฤดูแล้ง น้ำแห้งขาดหาย รอ
ปริมาณน้ำฝนที่ตกจากฟากฟ้า คือบริบทพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ใครต่อใครที่รู้จักพอสังเขป
ใช่วันนี้ดินแดนทุ่งกุลาฯ ยังเป็นทุ่งแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด หลายต่อหลายคนที่รู้จัก คุณพีระ
วัฒน์ สังข์น้อย เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด คุณมานิตย์ สาสนาม เกษตรอำเภอเกษตรวิสัย พร้อมนักส่งเสริม
การเกษตร ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทีมงานข่าวเดินทางด้วยรถยนต์บุโรทั่ง ยางดี น้ำมันพร้อม เส้นทางไกลแสนไกล แสงแดดระยิบระยับ
จากตัวอำเภอถึงบ้าน คุณลุงแสวง มะโนลัย อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 98 หมู่ที่ 12 บ้านโพนฮาด
ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เกือบเท่ากับการเดินทางเข้าจังหวัดร้อยเอ็ด 45
กิโลเมตร แต่นี่เข้าทุ่งกุลาร้องไห้ คุณลุงแสวงผู้ที่ไม่ยอมแพ้กับสภาพปัญหา ดิน ฟ้า อากาศ ทุ่งกุลา
ร้องไห้ ผู้ที่ต่อสู้ชีวิต ครอบครัว ชุมชน อีกทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยความตั้งใจแน่วแน่จริง ต่อสู้
มาครึ่งชีวิต ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ดินแปลงนาตนเอง ที่เคยปลูกข้าวหอมมะลิเพียงปีละครั้ง ดินเค็ม แล้ง
พืชอื่นไม่สามารถทนความเค็มและความแห้งแล้งได้
คุณลุงแสวง เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนที่ดินแปลงนาสภาพเดิมๆ ของตนเองก็เป็นทุ่งนา ปลูกข้าวหอมมะลิปี
ละครั้ง คือ ทำนาปี มีพื้นที่แปลงนาอยู่ 37 ไร่ ได้ 9 ตันเศษ หรือ 9,000 กิโลกรัมเศษ จึงมานอน
คิด นั่งคิดถามตนเอง มีที่ดิน แปลงนาปลูกข้าวได้อย่างเดียว ปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้หรืออย่างไร
ประกอบกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนว
คิดสู่พสกนิกรของท่าน
คุณมานิตย์ สาสนาม เกษตรอำเภอ เป็นผู้ประสานงาน ที่แปลงนาทำไมต้องทำแต่นาปลูกข้าว จึงได้แบ่ง
ส่วนแปลงนา เริ่มแรก ขุดสระบ่อน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแห้งแล้ง ให้สัตว์กิน คือเลี้ยงวัว เลี้ยง
ปลา และปลูกต้นมะม่วงรอบๆ ขอบสระน้ำ ช่วงเวลาผ่านไปปีสองปี สังเกตเห็นว่าน้ำในบ่อสระน้ำที่กักเก็บ
ไว้ไม่แห้งแล้งขาดหายไปตามฤดูช่วงแล้ง คือ มีพอเพียงพอใช้สามารถเก็บไว้ให้สัตว์เลี้ยงกิน รดน้ำต้น
มะม่วงได้ตลอดปี จากนั้นก็ขุดสระบ่อน้ำขึ้นมาเพิ่มอีกรูปแบบการขุดสระบ่อน้ำตามที่ดินแปลงนาตามหลัก
"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิป้องกัน คือการตัดสินใจและการกระทำ
ต่างๆ
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ
ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยว
ข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว
ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้น
คุณลุงแสวง เปิดเผยเล่าความเป็นมาต่อว่า ตนเองได้ทดสอบพื้นที่แปลงนา ในช่วงที่ขุดสระบ่อน้ำแรก
แล้ว นั้นแสดงว่าบริเวณนี้น้ำใต้ผิวพื้นดินแปลงนาแห่งนี้มีเพียงพอ จึงได้ขุดสระบ่อน้ำเพิ่มมาอีก แบ่งเป็น
ส่วนๆ พื้นที่แปลงนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 30:30:30:10 มี
1. บ่อปลา บ่อกักเก็บน้ำ
2. แปลงนา ปลูกข้าว
3. ปลูกผักปลูกพืชที่กินได้ ปลูกต้นไม้
4. ที่อยู่อาศัย คอกสัตว์เลี้ยงวัว จากนั้นได้สั่งนำมะพร้าวน้ำหอมมาจากเมืองชลบุรี 200 ต้น
ตนเองได้เตรียมหลุม ขุดหลุมขนาด 50 กว้าง 50 ยาว 50 ลึกพอประมาณ ไปรอบๆ คูคั่นสระทุกบ่อ
ส่วนปุ๋ยหมักก็นำมาจากคอกวัว (ขี้วัว-ขี้ควาย ยกเว้นขี้เกียจไม่มีในแปลงนี้) นำมารองพื้นดินแต่ละ
หลุม และแกลบผสมกันไป เพราะว่าปลูกข้างริมขอบสระบ่อน้ำจะได้รดน้ำง่าย สะดวก แรกๆ ต้องดูแลมัน
เป็นพิเศษเอาใจใส่รดน้ำทุกวัน จะมีแมลงที่คอยมารบกวนมะพร้าว แมลงศัตรูที่ชอบกินลำต้น ก้านใบ
มะพร้าวอยู่เป็นประจำช่วงระยะเวลาที่กำลังโต แรกๆ เริ่มต้องสังเกตแมลงศัตรูที่จะเข้ามาทำลายจะมา
ตามช่วงฤดูกาล แต่ก็มีวิธีที่จะช่วยต้นมะพร้าวเช่นกัน คือ คุณลุงแสวงจะใช้น้ำหมักใบไม้ น้ำหมักปลา
เป็นน้ำที่นำมารดต้นมะพร้าว
ต้องคอยสังเกต ถ้าเราเห็นมีร่องรอยแมลงศัตรูมากัดกินต้นมะพร้าว เราต้องคอยดูแลพิเศษ
คุณลุงแสวง ปลูกมะพร้าวน้ำหอมริมสระบ่อน้ำ นี่ก็เพราะว่า มะพร้าวน้ำหอมต้องการน้ำมากเพื่อหล่อ
เลี้ยงตนเองตลอดเวลาจนถึงช่วงออกผล ผลผลิตเป็นลูกมะพร้าว ใช้ระยะเวลาปลูกเพียง 4-5 ปี ก็ได้
ผลได้ลูกมะพร้าวน้ำหอมที่มีรสชาติมีผลโตสม่ำเสมอทั้งทะลาย น้ำหนักผลประมาณ 900 กรัม ต่อผล
ผลยาวรีเล็กน้อย และตรงกันเป็นจีบเล็กน้อย น้ำมีรสหวานและกลิ่นหอม เนื้อนุ่มรสชาติกลมกล่อม ทุก
วันนี้มีพอกิน พอขายให้คนทั่วไปในชุมชนข้างเคียง นอกจากนั้น บ่อปลา มีปลานิล ปลาไน ขอบบ่อเลี้ยง
ไก่ เป็ด พืชผัก ข่า ตะไคร้ เลี้ยงโค-กระบือ ได้ปุ๋ยคอก มีกินมีใช้ เหลือกินขาย มีเงินเก็บ มะพร้าวน้ำ
หอมพืชหลัก ขยายเต็มพื้นที่ สร้างเงิน สร้างงาน ให้คนทำกิน "สิบสลึง อยู่ฟากฟ้าอย่างสิอ่าวคะ
นิงหา สองสลึง อยู่ในมือ หีบกำเอาไว้" วันข้างหน้ามั่งมีศรีสุข
ปี 2553 คุณธวัชชัย ฟักอังกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้สั่งการให้นายอำเภอ 20 อำเภอ นายก
องค์การบริหารส่วนจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขยายผลจากการศึกษาดูงานศูนย์ศึกษา
การพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พื้นที่
11,300 ไร่ โดยจังหวัดร้อยเอ็ด นำ 19 ผลงานดีเด่นของศูนย์ขยายผลสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยึดหลักการบริหารการจัดการที่ดี นำไปสู่วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง มีผลงานซึ่งผ่านการทดสอบทดลอง
เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จ อาทิ การเลี้ยงไก่ดำภูพาน การเลี้ยงสุกรภูพาน การเลี้ยงโคเนื้อทาจิมะ
ภูพาน การจัดการดินลูกรังเพื่อปลูกไม้ผล การจัดการดินเค็มเพื่อปลูกข้าว การผลิตวุ้นเส้นจากถั่วเขียว
การปลูกยางพารา การเลี้ยงปลานิลแดง การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ให้ 20 อำเภอ จัดทำแผน
พัฒนาเพื่อขยายผลงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากการศึกษาดูงาน เพื่อการเปลี่ยนแปลง
พฤติกรรมของประชาชน เกษตรกร เพื่อมุ่งสู่วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ทั้ง 192 ตำบล 2,468 หมู่
บ้าน เกษตรกรสามารถคิดได้ทำเป็น อยู่อย่างมีความสุขตลอดไป
คุณลุงแสวง กล่าวช่วงท้ายว่า ยินดีต้อนรับทุกท่านที่จะมาแวะเยี่ยมชม หรือยินดีให้ความรู้ เชิญชวนมา
พิสูจน์ได้ที่สวนมะพร้าวน้ำหอมกลางทุ่งนา กลางทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะทางออกจากตัวอำเภอเกษตรวิสัย
ไปทางทิศใต้ ตามถนนทางหลวงเส้นทางไปอำเภอท่าตูมตัดใหม่ ผ่านตำบลเมืองบัว เข้าสู่ตำบลดงครั่ง
น้อย ถึงบ้านโพนฮาด ก็ประมาณ 40 กิโลเมตร หรือโทร.หาคุณลุงแสวง มะโนลัย (087)231-
6806 หรือ (081)183-2631
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th
4. ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ แบบอย่างของการผลิต มะพร้าวน้ำหอม ยุคใหม่
นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปักษ์ 464 วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ได้ลงเรื่องราวมะพร้าวน้ำหอม
ของ ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ หลังจากหนังสือวางตลาด มีการต่อว่าต่อขานของมิตรรักนักอ่านกัน
พอสมควร...ว่าทำไมนำเสนอจวนเจียนจะหมดฝนแล้ว เพราะหากสนใจปลูก แล้วลงในฤดูฝน
โอกาสที่ต้นมะพร้าวจะเจริญเติบโตมีมาก...ขอน้อมรับข้อเสนอแนะด้วยความเต็มใจยิ่ง
เรื่องราวของมะพร้าว มีกิจกรรมต่อเนื่องกันพอสมควร เมื่อปลายปี 2552 นิตยสารเทคโนโลยี
ชาวบ้าน จัดสัมมนามะพร้าว ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ในงานเกษตรมหัศจรรย์ฯ ที่ เดอะมอลล์ บางแค มะพร้าวเป็นส่วน
หนึ่งของงาน
งานของสถาบันวิจัยพืชสวน เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการพูดถึงมะพร้าวไม่น้อย โดยเฉพาะ
น้ำมันมะพร้าว
ล่าสุด วันที่ 5-9 กรกฎาคม 2553 มีงานสัมมนามะพร้าวนานาชาติ ที่เกาะสมุย
แวดวงมะพร้าวน้ำหอม เกษตรกรผู้ปลูก ขายผลผลิตได้ราคาดี อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คือผลละ
6 บาท เมื่อถึงผู้บริโภคในกรุงเทพฯ อย่างต่ำต้อง 10 บาท ไกลออกไปราคายิ่งแพงขึ้น
ขอนแก่น เชียงใหม่ อาจจะตกผลละ 15 บาท
อำเภอวัดเพลง ดินดำ น้ำดี อากาศเหมาะสม
ในวัย 73 ปี ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ ยังดูแข็งแรง ทั้งนี้คงเป็นเพราะท่านได้ออกกำลังกาย และ
สำคัญที่สุด ได้ดื่มน้ำมะพร้าวอยู่เป็นประจำ
อาจารย์อยู่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 1 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี
เมื่อปีที่ผ่านมา ช่วงไปพิสูจน์ความโดดเด่นของมะพร้าว รบ.1, รบ.2 และ รบ.3 พื้นที่ปลูก
มะพร้าวของอาจารย์ประสงค์มีอยู่จำนวน 55 ไร่ แต่การไปครั้งใหม่นี้ คือปลายเดือนมิถุนายน
พื้นที่ปลูกมีเพิ่ม รวมแล้ว 62 ไร่
ถามว่า...อาจารย์ตั้งเป้าไว้เท่าไร
"100 ไร่" อาจารย์ให้คำตอบ
"อำเภอวัดเพลง อยู่ห่างจากทะเลราว 27 กิโลเมตร กลางวันได้รับอิทธิพลจากลมทะเล พืชปรุง
อาหารอย่างเต็มที่ ครั้นกลางคืน มีลมจากทางเทือกเขาตะนาวศรีพัดลงทะเล เป็นอากาศเย็น
อุณหภูมิกลางคืนต่ำกว่ากลางวันไม่น้อย ทำให้พืชได้พักตัวและปรุงอาหารในเวลากลางวัน...
พื้นที่วัดเพลงได้รับอิทธิพลจากน้ำแม่กลอง ซึ่งไหลมาจากป่าเขา จะพัดพาเอาธาตุอาหารมาทับ
ถมและสะสมยาวนาน โดยเฉพาะโพแทสเซียม ทำให้ผลไม้มีขนาดของผลโต รสชาติดี"
อาจารย์ประสงค์ เล่าถึงสภาพพื้นที่ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะในการปลูกพืชผล
พืชพรรณที่เหมาะสม
แรกที่ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม สายพันธุ์ที่ปลูก อาจารย์ประสงค์ได้มาจากฟาร์มอ่างทอง จังหวัด
สมุทรสาคร เมื่อปลูกไปกว่า 30 ปี พืชพรรณได้ผสมกันไปมา จนเกิดสิ่งที่ดีขึ้น เหมาะที่จะปลูก
เป็นการค้า ซึ่งได้แก่ มะพร้าว รบ.1, รบ.2, รบ.3
"รบ." ย่อมาจาก ราชบุรี
อาจารย์ประสงค์พูดถึงจุดเด่นของมะพร้าวแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้
รบ.1 เป็นมะพร้าวน้ำหอมลูกผสม โคนต้นหรือสะโพกใหญ่ มีความคงทนแข็งแรง หากินเก่ง
เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่น เปอร์เซ็นต์การโค่นล้มน้อยกว่า ผลมีขนาดใหญ่ ดก หากดูแลพอ
สมควรจะไม่ขาดคอ ความหอมของน้ำ หลังจากใส่ปุ๋ยคอก กลิ่นหอมอาจจะลดลงบ้าง
รบ.2 จัดเป็นมะพร้าวแกงลูกผสม ที่ต้นมีขนาดใหญ่ ต้นไม่สูงนัก มีเลือดผสมระหว่างมะพร้าว
แกงกับหมูสี เหมาะที่จะปลูกเพื่อผลิตน้ำมัน
รบ.3 เป็นมะพร้าวน้ำหอมยุคใหม่ที่มาแรงมาก เพราะรวมเอาคุณสมบัติที่โดดเด่น 3 ลักษณะ ไว้
ในสายพันธุ์เดียวกัน คือ น้ำหวาน มีกลิ่นหอม เมื่อเก็บในระยะที่เหมาะสม เนื้อมะพร้าวจะนุ่ม
เคี้ยวมัน
ความเป็นมาของ รบ.3 นั้น เข้าใจว่า เป็นลูกผสมระหว่างมะพร้าวน้ำหอมกับมะพร้าวพวงร้อย
เพราะดูจากลักษณะผลแล้วคล้ายมะพร้าวพวงร้อย แต่ปริมาณผลต่อทะลายไม่มากเท่าพวงร้อย
เมื่อมีการเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับมะพร้าวของอาจารย์ประสงค์ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ที่
ผ่านมา ปรากฏว่าคนสนใจซื้อหาผลผลิต รวมทั้งต้นพันธุ์ไปปลูก แต่อาจารย์ประสงค์ไม่สามารถ
ตอบสนองความต้องการของผู้สนใจได้ แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังผลิตให้ไม่พอ อาจารย์ฝากบอกว่า
ใครอยากปลูกให้ใจเย็นๆ ศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนว่า พื้นที่ของตนเองเหมาะสมไหม และที่สำคัญ มี
ใจรักที่จะปลูกมะพร้าวจริงๆ หรือไม่ หากสรุปได้จึงลงมือ
อยากปลูกมะพร้าว อาจารย์ประสงค์มีแง่คิด
มะพร้าว เป็นพืชพรรณที่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ผลตอบแทนที่ได้จะมากหรือ
น้อยขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และการดูแลรักษา ดังนั้น ผู้ปลูกต้องยอมรับสภาพและทำความเข้าใจ
เสียก่อน มะพร้าวน้ำหอมที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งลงตีพิมพ์ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ ผล
ผลิตคงสู้ที่อำเภอวัดเพลงไม่ได้ แต่มะพร้าวที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก็สร้างคุณค่าได้มากมายมหาศาล
ดังนั้น ผู้ปลูกควรตั้งความหวังกับสิ่งที่ตนเองทำตามความเป็นจริง
หลังจากปลูกลงดิน มะพร้าวจะให้ผลตอบแทนหลังปลูกไปแล้วปีที่ 4-5 แต่หากเป็นภาคอื่น อาจ
จะปีที่ 6-7 อย่างกรณีทางภาคอีสานและภาคเหนือ ฤดูหนาว ต้นมะพร้าวจะชะงักการเจริญเติบ
โต หน้าแล้งยิ่งไปกันใหญ่ สังเกตได้ง่ายๆ ว่า มะพร้าวในเขตน้ำน้อย ต้นจะมีขนาดเล็ก
อาจารย์ประสงค์แนะนำผู้ปลูกมะพร้าวให้มีรายได้จากพืชแซม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก
พืชแรกคือ กล้วย ถือเป็นพืชข้ามปียืนต้น โดยการแตกกออยู่อย่างต่อเนื่อง จำนวนต้นต่อไร่ที่
ปลูก ไม่ควรให้หนาแน่นจนเกินไป เพราะอาจจะไปเบียดบังมะพร้าวได้
กล้วยที่นิยมปลูกกันคือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ หรือจะเป็นกล้วยหักมุกก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
แต่ที่นิยมปลูกแซมในแปลงมะพร้าว คือผักกินใบ อายุสั้น 30-45 วัน เก็บเกี่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็นผัก
บุ้ง คะน้า กวางตุ้ง และอื่นๆ
ผักกินหัวก็สามารถปลูกได้ พริกกะเหรี่ยงก็เป็นที่นิยม ผักชีไทยก็ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกไม่น้อย
บางคราวได้เงินเป็นล้านบาทก็มี หากแปลงปลูกมีขนาดใหญ่
งานปลูกพืชแซม ก่อนที่มะพร้าวจะให้ผลผลิตได้ประโยชน์หลายอย่าง แรกสุด เจ้าของแปลง
ปลูกมีรายได้ และที่สำคัญมากนั้น เมื่อปลูกพืชแซม พื้นที่ถูกจัดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ทำ
ให้ไม่มีวัชพืช ขณะเดียวกันปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดิน น้ำที่รดลงแปลง ต้นมะพร้าวก็ได้รับและเติบโต
เร็วกว่าปกติ
เพราะพืชแซมมีรายได้ดีนี่เอง ทำให้ผู้ปลูกมะพร้าว มักไม่พลาดที่จะปลูก ขณะเดียวกันก็มี
เกษตรกรที่ปลูกผักเป็นอาชีพ ตระเวนเช่าปลูกพืชแซม ซึ่งการลงทุนเรื่องการเตรียมดินมีน้อย
"มีคนโทร.มาคุยกับผม เรื่องมะพร้าวที่ติดผลขนาดเล็กแล้วผลร่วง ผมก็บอกไป สาเหตุนั้น หาก
แล้งจัดๆ ผลก็ร่วง หรือน้ำขังมากๆ ผลก็ร่วง ควรดูแลอย่าให้น้ำในแปลงมากจนเกินไป หรือหาก
เจอสภาพอากาศแล้งก็ควรให้น้ำ ทีละน้อย อย่าให้ทีเดียว ระยะปลูกมะพร้าวระหว่างต้นระหว่าง
แถว ควรให้อยู่ที่ 7.50x7.50 เมตร ระยะขนาดนี้ แสงแดดจะส่องได้ทั่วถึง ใบไม่เกยทับกัน ผล
ผลิตจะดก"
อาจารย์อธิบายและบอกอีกว่า
"หากเกษตรกรปลูกมะพร้าวในระบบร่องสวน ตามคันสวน ควรปลูกไม้ผลชนิดอื่นบ้าง เพื่อให้มี
ความหลากหลาย ให้เป็นที่อยู่ของมดแดง ประโยชน์ของมดแดงจะช่วยกำจัดหนอนม้วนใบได้
อย่างดี หากกลัวว่ามดแดงจะเข้ามาในแปลงมะพร้าว ก็อาจจะตัดทางไว้ ให้อยู่เฉพาะที่คันสวน"
เรื่องราวของมะพร้าว จากประสบการณ์ของอาจารย์ประสงค์ยังมีอีกมาก คงได้นำมาเสนอใน
โอกาสต่อไป
ผู้สนใจถามไถ่อาจารย์ประสงค์ได้ที่ โทร. (02) 378-2620 และ (081) 836-6228
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
*************************************************************
5. การปลูกและการผลิตมะพร้าวน้ำหอม
การปลูกมะพร้าวให้ได้ผลดี ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้ คือ เลือกที่ปลูกดี ใช้พันธุ์ดี ปลูก
ถูกวิธี ดูแลรักษามะพร้าวให้สมบูรณ์ ปราศจากโรคและศัตรูที่มารบกวนและแก้ไขอุปสรรคที่เป็นตัว
การทำให้มะพร้าวออกผลน้อย ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าต้นมะพร้าวจะออกผลให้ดกแน่
นอน
การเลือกที่ปลูกมะพร้าว หลักทั่วไปในการเลือกที่ปลูกมะพร้าวควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
ฝน
จะต้องมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิ การปลูกมะพร้าวให้ได้ผลดี
อุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 20-27 องศาเซลเซียส
แสงแดด
ปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม วันละ 1.7 ชม.
ความสูงของพื้นที่
การทำสวนมะพร้าวเพื่อการค้าควรเลือกพื้นที่ไม่สูงเกิน 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ดินที่ใช้ปลูกมะพร้าว
มะพร้าวสามารถขึ้นได้กับดินทุกชนิด ถ้าดินเหล่านั้นมีปุ๋ยดี มีความชุ่มชื้นพอเพียงการปลูก
มะพร้าว
การเตรียมพื้นที่ปลูกมะพร้าว
ถ้าเป็นพื้นที่ป่าควรถางพื้นที่ให้เตียน ถ้าเป็นที่ลุ่มต้องยกร่องปลูก ถ้าเป็นพื้นที่ลาดชันหรือบนเขา
ควรทำเป็นขั้นบันได
ระยะปลูกมะพร้าว
การปลูกมะพร้าวถี่มากเกินไปจะทำให้ออกผลไม่ดก แต่ถ้าปลูกห่างมากก็ได้ผลน้อย
การปลูก
ฤดูที่เหมาะสมสำหรับปลูกมะพร้าว ควรเริ่มปลูกในฤดูฝน โดยการขุดหลุมเล็กๆ ขนาดเท่าผล
มะพร้าว แล้วเอามะพร้าววางลงในหลุ่มแล้วกลบและเหยียบดินข้างๆให้แน่น
การดูแลรักษา
ควรมีการไถพรวนระหว่างแถวมะพร้าวและไม่ลึกเกินไป ถ้าจะให้มะพร้าวเจริญงอกงามดีควรควบ
คุมวัชพืชในสวนมะพร้าว และควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสดบ้าง ส่วนปุ๋ยเคมีที่นิยมใส่ คือ
13-13-21 แต่อย่างไร ควรทำการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนทำการใส่ปุ๋ย
โรคและแมลงที่สำคัญ
โรค ประกอบไปด้วยโรคยอดเน่า โรคใบจุด โรคผลร่วง และโรคเอือนกิน
แมลง ประกอบไปด้วย ด้วงแรด ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนาวมะพร้าว หนอนจั่นมะพร้าว หนอน
ร่านกินใบมะพร้าว
พันธุ์มะพร้าว
มะพร้าวน้ำหอม
จัดอยู่ในกลุ่มมะพร้าวพันธุ์ต้นเตี้ยหรือที่รู้จักกันในชื่อมะพร้าวหมูสี มีหลายพันธุ์ เช่น มะพร้าวน้ำ
หอม มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ลำต้นขนาดเล็กไม่มีสะโพก ทางใบและใบย่อยสั้น มีอายุตกจั่นเร็ว
ความหอมของมะพร้าวน้ำหอม
จะพบว่ามีส่วนที่เราสามารถทดสอบความหอมได้ เช่น ปลายรากอ่อนของหน่อมะพร้าว กะลาของ
ผลอ่อน น้ำ และเนื้อมะพร้าว
สาเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมไม่หอม
ปัญหาที่ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพบบ่อยๆ คือ ความหอมจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุถึงแม้ว่าหน่อ
พันธุ์ที่ปลูกจะเป็นพันธุ์แท้ และเคยให้ความหอมมาก่อน เกิดจากบริเวณแปลงปลูกอาจมีต้น
มะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าวน้ำหวานปนอยู่ทำให้เกิดการผสมข้ามของละออกเกสร จากการวิจัยพบ
ว่า มะพร้าวน้ำหอมที่ผสมกับมะพร้าวใหญ่และมะพร้าวน้ำหวาน ผลมะพร้าวจะไม่มีความหอม แต่
ถ้าผสมตัวเองหรือผสมกับมะพร้าวน้ำหอม ผลมะพร้าวที่ได้จะมีความหอมไม่
เปลี่ยนแปลง
การเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม
ปัจจัยที่สำคัญต่อการเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม ได้แก่ พันธุ์ อายุหรือความแก่ของผล สภาพ
ความสมบูรณ์ของผลมะพร้าว ธาตุอาหารพืช อุณหภูมิ น้ำ และแสงแดด
เทคนิคการเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม
- การคัดเลือกผลมะพร้าว ผลมะพร้าวต้องสมบูรณ์และตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรคและแมลง รวมทั้งผลมีอายุพอดีไม่อ่อนหรือแก่เกินไป
- การเตรียมพื้นที่ ควรปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นราบสม่ำเสมอและควรมีร่องระบายน้ำ
- การปาดผล ควรทำการปาดผลออกประมาณ 1 ใน 4-5 ส่วนของผล เพื่อให้น้ำซึมเข้าในส่วนของกาบมะพร้าวได้
- การวางผล นำผลที่ปาดแล้วมาเรียงเป็นแถวๆ แบบสลับฟันปลา โดยให้ส่วนที่ปาดอยู่ด้านบน
- การคลุมผลมะพร้าว ส่วนใหญ่นิยมใช้ขุยมะพร้าวคลุมผลเพื่อรักษาความชื้น
- การรดน้ำ ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นและมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอตลอดเวลา
- การย้ายต้นกล้า ควรให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงก่อน
การวิจัยเทคโนโลยีการผลิตต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมคุณภาพ
การทดลองนี้ศึกษาถึงปริมาณแสง ชนิดของวัสดุเพาะ อายุและขนาดผล ที่มีผลต่อการงอก และการเจริญเติบโตของต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม โดยแบ่งพื้นที่การทดลองออกเป็น 2 แหล่ง คือ แปลงเกษตรกรอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และแปลงภายในสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลการศึกษา พบว่า การเพาะชำมะพร้าวน้ำหอมในโรงเรือนตาขายพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์มีเปอร์เซ็นการงอกที่สูง และผลมะพร้าวที่มีลักษณะเปลือกชั้นนอกมีสีน้ำตาลและมีความยาวของเส้นรอบผลมากว่า 57 เซนติเมตร ที่เพาะ
ชำในขุยมะพร้าวหรือมีขุยมะพร้าวเป็นส่วนผสม มีแนวโน้มมีเปอร์เซ็นต์การงอกของผล ความสูงของต้นกล้า น้ำหนักของต้นกล้า ความยาวของราก จำนวนราก ความยาวของเส้นรอบโคนต้นกล้า และคะแนนความสมบูรณ์ของต้นกล้า มากที่สุด
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แสง และวัสดุเพาะชำมีอิทธิพลต่อการงอกและความสมบูรณ์ของต้นกล้ามาก และยังมีอิทธิพลต่อการที่จะเพาะชำกล้ามะพร้าวน้ำหอมให้ได้คุณภาพ
|
|
 |
กิตติพงศ์ ตรีตรุยานนท์ จุลพันธ์ เพ็ชรพิรุณ สมชาย วัฒนโยธิน พนม สุทธิศักดิ์โสภน และ วัลลภ โพธิ์สังข์
ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-7427, 0-2597-6959
|
www.rdi.ku.ac.th/kufair50/plant/24_plant/24-plant.htm -
หน้าก่อน (1/3) - หน้าถัดไป (3/3) 
|