-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 450 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สารสมุนไพร





แมลงวันผลไม้


เป็นแมลงในวงศ์ เทฟริติดี้ (Tephritidae) แมลงในวงศ์นี้ประกอบด้วยแมลงวันผลไม้ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่สำคัญ ของพืชผักและผลไม้ มากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในเขตหนาว เขตอบอุ่นและเขตร้อนของ โลก ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 800 ชนิดที่พบในเขตภาคพื้นทวีปเอเซีย แม้ว่าแมลงวันผลไม้ส่วนใหญ่จะทำลายใน ส่วนของผลก็ตาม แต่แมลงวันผลไม้ก็สามารถเข้าทำลายทุกส่วนของพืชได้ไม่ว่าจะเป็นส่วนดอก ใบ ลำต้น หรือรากก็ตาม แมลงวันผลไม้บางชนิด ( เกือบ 200 ชนิด) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปุ่มปมบนพืช ซึ่งจัดเป็นแมลง ศัตรูที่สำคัญเป็นอันดับที่ 2 รองลงมาจากแมลงในกลุ่ม เซซิโดมายอิดี้ (Cecidomyiidae) แมลงวัน ผลไม้พวกที่ทำลายส่วนของผลไม้ที่สำคัญได้แก่ แมลงวันผลไม้ชนิด แมลงวันแตง (Bactrocera cucurbitae) แมลงวันทอง (B. dorsalis) แมลงวันเมดิเตอร์เรเนียน (Ceratitis capitata) แมลงวันอัฟริกัน (Anastrepha suspense) ซึ่งล้วนเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญในเขตอบอุ่น และเขตร้อนของโลก ในขณะที่แมลงวันผลไม้ชนิด Dioxyna sorrocula, Procecidochares utilis, Bactrocera caudata พบทำลายพืชอยู่ในส่วนของดอก บริเวณที่จะ เจริญเติบโตเป็นเมล็ดต่อไป

แมลงวันผลไม้ในวงศ์เทฟริติดี้ เป็นแมลงที่มีแถบสีดำบนปีก คล้ายคลึงกับแมลงวันในวงศ์อื่นๆ เช่น พลาติสโตมาติดี้ (Platystomatidae) ออติติดี้ (Otitidae) เป็นต้น ลักษณะปีกและเส้นปีกของแมลงวันผลไม้จัดเป็นลักษณะทาง กายภาพที่สำคัญในการจำแนกชนิดแมลงวันผลไม้โดยทั่วไป ตัวหนอนของแมลงวันในวงศ์นี้มีสองลักษณะ ลักษณะแรก รูปทรงป้อมสั้นแบบถังเบียร์ ซึ่งได้แก่ แมลงวันผลไม้ชนิดที่ทำให้เกิดปุ่มปมบนพืช และพวกที่ทำลาย flower-heads ของพืชพวก Compositae หนอนส่วนใหญ่มักมีรูปร่างแบบ มุสซิดิฟอร์ม (musidiform) รูปร่างเรียวยาวหัว แหลมท้ายป้าน ซึ่งทำลายพืชผักและผลไม้โดยทั่วไปซึ่งอยู่ในสกุลแบคโทรเซรา (Bactrocera)

แมลงวันผลไม้ในประเทศไทย พบทำลายผลไม้ที่มีเปลือกบางหรืออ่อนนุ่ม เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง พุทรา กระท้อน มะเฟือง น้อยหน่าฯลฯ พืชพวกไม้ผลชนิดต่างๆ มากกว่า 50 ชนิด ล้วนเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ทั้งสิ้น โดยเหตุที่แมลงวัน ผลไม้มีพืชอาหารหลายชนิด ดังนั้นแมลงวันจึงสามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณประชากรจากพืชอาศัยชนิดต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่นได้เกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนซึ่งมีผลไม้ออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง จะเป็นช่วงที่แมลงวันผลไม้ ระบาดรุนแรง เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์นั่นเอง เนื่องจากแมลงวันผลไม้สามารถขยายพันธุ์โดยอาศัยพืชต่างๆ ได้เกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีแมลงวันผลไม้เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นเกษตรกรประสบปัญหาอย่างมากในการป้องกันกำจัด และจะทำให้การพ่นสารฆ่าแมลงของเกษตรกรไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร

แมลงวันผลไม้ทำลายผลผลิตเสียหายและทำให้เกิดการเน่าเสีย เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ และทำให้คุณภาพตกต่ำขายไม่ได้ราคา นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นปัญหาต่อการส่งออก ในประเทศที่มีกฎหมายกักกันพืชเข้มงวด เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ผลไม้ที่จะมีการนำเข้าประเทศต้องผ่านขบวนการกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยมาตรการอย่างใดอย่าง หนึ่งก่อน เช่น อบไอน้ำร้อน รมยา เป็นต้น ดังนั้นความเสียหายจากแมลงวันผลไม้ จึงไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผลไม้ก่อนเก็บเกี่ยว
ภายในแปลงเท่านั้น แต่มีผลต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้วอีกด้วย ความเสียหายที่เกิดจากแมลงวันผลไม้ต่อเศรษฐกิจของผลไม้ไทยในปีหนึ่งๆ มีมูลค่า ไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยคาดคะเนจากความเสียหายโดยตรงต่อผลผลิต ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในการป้องกันกำจัด และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหลังการเก็บเกี่ยวก่อนการส่งออก ดังนั้น แมลงวันผลไม้จึงจัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกชนิดหนึ่ง



ชนิดของแมลงวันผลไม้ในประเทศไทย
แมลงวันผลไม้ที่มีความสำคัญของประเทศไทยที่มักจะพบเสมอๆ ได้แก่

1. แมลงวันทอง Bactrocera dorsalis (Hendel)
มีเขตการแพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย มีพืชอาศัยมากกว่า 50 ชนิดในเขตภาคกลาง คือ มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ ละมุด พุทรา น้อยหน่า ขนุน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ กะท้อน สะตอ กล้วยน้ำว้า มะกอกฝรั่ง มะเฟือง มะปราง มะละกอ มะยง พริก ชำมะเลียง มะกอกน้ำ มะม่วงหิมพานต์ เชอรี่หวาน กระโดน สตาร์แอปเปิ้ล หว้า มะเดื่อหอม มะเดื่ออุทุมพร มะม่วงป่า มะมุด พิกุด ตะขบฝรั่ง กล้วยป่า นำใจไคร่ หูกวางเล็บเหยี่ยว มะตูม ฯลฯ

2. แมลงวันฝรั่ง Bactrocera correcta (Saunders)
มีเขตแพร่กระจายในเขตภาคเหนือ ภาค และภาคใต้ มีพืชอาศัยไม่น้อยกว่า 36 ชนิด ได้แก่ ฝรั่ง มะม่วง ชมพู่ ละมุด พุทรา น้อยหน่า ขนุน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ กะท้อน วะตอ กล้วยน้ำว้า มะกอกฝรั่ง มะเฟือง มะปราง มะละกอ มะยม ชำมะเลียง มะกอกน้ำ มะม่วงหิมพานต์ เชอรี่หวาน กระโดน สตาร์แอปเปิ้ล หว้า มะเดื่อหอม พิกุล ตะขบฝรั่ง น้ำใจใคร่ หูกวาง หนามหัน ( งัวซัง) แจง มะแว้งเครือ

3. แมลงวันแตง Bactrocera curcubitae (Coquillet)
มีเขตแพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย มีพืชอาศัยมากกว่า 21 ชนิด ได้แก่ ชะมดต้นฟัก มะละกอ แตงโม ตำลึง แตงกวา ฟักทอง ตะโกนา กะดอม ขี้กาดง บวบเหลี่ยม บวบกลม มะเขือเทศ มะระขี้นก กะทกรก บวบงู ขี้กาแดง กระดึงช้าง ขี้กาดิน ถั่วฝักยาว พุทราจีน ฯลฯ


วงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้
การเจริญเติบโตของแมลงวันผลไม้โดยทั่วๆ ไปแบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย

ไข่ .... มีสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม ผิวเป็นมัน สะท้อนแสง รูปร่างคล้ายผลกล้วย มีขนาดค่อนข้างเล็ก ขนาดกว้างประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ยาว 0.4 มิลลิเมตร ระยะไข่กินเวลา 1-3 วัน ปกติฟักภายใน 2 วันที่อุณหภูมิ 28-32 องศาเซลเซียว ระยะไข่ อาศัยอยู่ในผลไม้ ระยะนี้การใช้สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมอาจสามารถทำลายไข่ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หนอน .... ปกติมีสีขาว แต่อาจมีสีใกล้เคียงกับสีของพืชอาศัยได้ เช่น แมลงวันผลไม้ที่ทำลายอยู่ในผล มะม่วงอาจมีสีเหลืองอ่อนตามสีเนื้อมะม่วง หรือแมลงวันผลไม้ที่กินอยู่ในแตงโม อาจมีสีแดงเรื่อๆ ตามสีเนื้อแตงโมก็ได้ แต่เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะมีสีขาวทึบแสง ลักษณะตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่จะมีรูปร่างกลมยาวรี หัวแหลม ท้ายป้าน ไม่มีขา ตัวหนอนเคลื่อนที่โดยการยืดหดลำตัวซึ่งเป็นปล้องๆ ส่วนหัวเป็นตะขอแข็งสีดำหนึ่งคู่ ตัวหนอนมีความสามารถพิเศษในการงอตัว และดีดกระเด็น
ไปได้ไกลประมาณ 30 เซนติเมตร ลักษณะพิเศษนี้จะเกิดเฉพาะหนอนที่ใกล้จะเจริญเต็มที่ (หนอนวัยที่ 3) แล้วเท่านั้น

การกระโดดนี้เป็นการช่วยให้หนอนหาทำเลที่เหมาะสม เพื่อเข้าดักแด้ในดิน ที่อุณหภูมิปกติระยะหนอนประมาณ 5-9 วัน ระยะหนอนอาศัยอยู่ในผลไม้ เป็นระยะของแมลงระยะเดียวที่ทำลายผลผลิต ระยะนี้การใช้สารฆ่าแมลงแทบไม่สามารถทำลาย ตัวหนอนได้เลย เนื่องจากแมลงวัยผลไม้เมื่อฟักออกจากไข่เป็นตัวหนอนจะไชกินเนื้อผลไม้ลึกลงไปในใจกลางผลเรื่อยๆ

ตามระยะการเจริญเติบโต หนอนในวัย 2 และ 3 ก็จะอยู่ลึกลงไปในเนื้อผลไม้ ทำให้สารฆ่าแมลงไม่สามารถที่จะซึมลงไปในปริมาณที่มากพอที่จะทำลายตัวหนอนได้ดังนั้นการพ่นสารฆ่าแมลงแบบปกติ ด้วยสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมหรือประเภทอื่นๆ จึงไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ หนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวกว้างประมาณ 2.0 มิลลิเมตร ยาว 10.0 มิลลิเมตร

ดักแด้ .... มีรูปร่างกลมรีคล้ายถังเบียร์ ลำตัวเป็นปล้องๆ ตามขวาง มีสีน้ำตาลอ่อนและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตัวเต็มวัย ระยะดักแด้เป็นระยะที่แมลงอยู่เฉยๆ ไม่เคลื่อนไหวใดๆ ดักแด้อาศัยอยู่ในดินลึกประมาณ 2-5 เซนติเมตร ระยะดักแด้ประมาณ 10-12 วัน ดักแด้มีขนาด 2 x 4 มิลลิเมตร

ตัวเต็มวัย ..... เป็นแมลงวันที่มีสีน้ำตาลปนดำ บางชนิดก็มีสีน้ำตาลปนแดง แต่มักมีแถบสีเหลืองที่ส่วนอกของแมลง ปีกบางใส สะท้อนแสง เมื่อดูโดยภาพรวมจึงถูกเรียกว่าแมลงวันทอง ระยะตัวเต็มวัยไม่ทำลายพืชผล กินน้ำหวาน โปรตีน และวิตามิน ที่มีในสิ่งขับถ่ายของแมลงอื่น นก ตลอดจนน้ำยางจากแผลต้นไม้ น้ำหวานจากพืช และเชื้อจุลินทรีย์บนพืชที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยหลังออกจากดักแด้แล้ว ประมาณ 10 วันจึงจะเริ่มวางไข่ ในผลไม้ที่อาศัยอยู่ แมลงตัวเต็มวัยในระยะแรกจะต้องการอาหารที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบมากเพื่อพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์และวางไข่

ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ จึงสามารถนำประเด็นซึ่งเป็นจุดอ่อนของแมลง มาศึกษาวิจัยผลิตเหยื่อพิษเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้อย่างได้ผลดี แมลงวันผลไม้สามารถวางไข่ได้ทุกวันนานเกือบตลอดอายุขัย โดยสามารถวางไข่ได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 50 ฟองตลอดอายุจะวางไข่ได้มากถึง 3,000 ฟอง ดังนั้นแมลงวันผลไม้จึงมีอัตราการขยายพันธุ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแมลงอื่นๆ บางชนิด

แมลงวันผลไม้มีอายุเฉลี่ยประมาณ 1-3 เดือน กินอาหารจากพืชอาศัย แต่ไม่มีแหล่งแน่นอน สามารถบินหรือถูกลมพัด พาไปได้ไกลๆ แมลงชนิดนี้เป็นแมลงที่เคลื่อนไหวค่อนข้างช้า หาอาหารในเวลาเช้าชอบหลบตามร่มเงาในเวลาบ่ายหรือเวลาแดดร้อนจัด ผสมพันธุ์ในเวลาเย็นตอนพลบค่ำ วางไข่ในเวลากลางวันและวางไข่ได้ตลอดวัน ระยะตัวเต็มวัยเป็นระยะเดียวของแมลงที่เกษตรกรสามารถกำจัดแมลงนี้ได้ หากทำการพ่นสารฆ่าแมลงให้ถูกตัว หรือทำการพ่นเหยื่อพิษล่อแมลงวันผลไม้


วงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้ จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 16-24 วัน หรือประมาณ 1 เดือน การกำจัดแมลงวันผลไม้อย่างน้อยต้องกำจัดให้ครบ 1 วงจรชีวิต จึงจะเห็นผลของวิธีการนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน เพราะว่ามีแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดักแด้ฟักเป็นตัวเต็มวัยออกจากดินอยู่ตลอดเวลา การป้องกันกำจัดจะเห็นผลชัดเจนหลังจากเราทำการป้องกันกำจัด ไม่น้อยกว่า 3-4 สัปดาห์ จากการศึกษาวงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้ ทำให้ทราบว่า แมลงวันผลไม้สามารถกำจัดได้เพียงระยะเดียว คือ ระยะตัวเต็มวัยที่บินได้เท่านั้น และยังทราบอีกด้วยว่า แมลงวันที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆ ต้องการอาหารที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาวิธีการใช้เหยื่อโปรตีนในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ได้ก่อนที่จะผสมพันธุ์และวางไข่



วิธีการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้
การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ มีวิธีการต่างๆ ดังนี้
- รักษาแปลงปลูกให้สะอาด มีการตัดแต่งกิ่งตามสมควร ไม่ให้เกิดร่มเงามากเกินไป เพื่อให้แมลงและสัตว์ศัตรูธรรมชาติ สามารถมีส่วนช่วยในการทำลายแมลงวันผลไม้ เช่น มด แมงมุม และสัตว์เลี้อยคลานชนิดต่างๆ เป็นต้น

- หมั่นเก็บผลไม้ร่วงในแปลงปลูก และผลไม้ที่ถูกทำลายบนต้น นำไปเผาทำลายหรือ กลบ ฝัง เพื่อป้องกันการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลง

- ห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือถุงพลาสติก เพื่อป้องกันการทำลายจากแมลงวันผลไม้ตัวอย่างการห่อผลในพืชต่างๆ เช่น


ฝรั่ง :
ห่อผลด้วยถุงพลาสติกชนิดมีหูหิ้วขนาดกว้าง 15.2 เซนติเมตร ยาว 35.6 เซนติเมตรและหุ้มด้วยกระดาษ อาจใช้กระดาษสมุดโทรศัพท์เป็นรูปกรวยเพื่อป้องกันแสงแดด ทำให้ผลผลิตมีผิวพรรณสวยงามและเจริญเติบโตเร็ว มุมพลาสติกทั้งสองข้างตัดมุมเพื่อเจาะรูเล็กๆ เพื่อระบายน้ำ การห่อผลให้เริ่มห่อฝรั่ง หลังจากฝรั่งติดผลมีอายุ 1 เดือน

ชมพู่ :
ห่อผลด้วยถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาดกว้าง 15.2 เซนติเมตร ยาว 35.6 เซนติเมตร โดยทำการตัดแต่งผลชมพู่ให้มีจำนวน ไม่เกิน 4-5 ผลต่อพวง โดยปลิดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป แล้วห่อด้วยถุงพลาสติก มุมถุงพลาสติกทั้งสองข้างตัดเล็กน้อยเพื่อช่วยระบายน้ำและความชื้น การห่อให้เริ่มห่อผลเมื่อชมพู่อยู่ในระยะที่เรียกว่า หมวกเจ๊ก หรือเมื่อชมพู่ติดผลอายุประมาณ 1 เดือน


มะม่วง :
ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาลหรือ กระดาษเคลือบด้านในด้วยพลาสติกบางเช่น กระดาษห่อข้าวมันไก่ โดยใช้ขนาดถุงกว้าง 15.0 เซนติเมตร ยาว 30.0 เซนติเมตร โดยเริ่มห่อผลมะม่วงเมื่อมะม่วงติดผลอายุได้ประมาณ 60 วัน ในมะม่วงต่างพันธุ์กันอาจแตกต่างจากนี้เล็กน้อย



ขนุน :
ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาลก่อนผลห่าม ประมาณ 20 วัน หรือเมื่อติดผล 80 วัน พ่นด้วยสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 57 %EC ในอัตรา 30-50 มล./น้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน/ครั้ง หรือ คลอไพริฟอส 40 %EC ในอัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร พ่นด้วยเหยื่อพิษ ที่ประกอบด้วยยีสต์โปรตีนในอัตรา 200 มล. ผสมสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 57 %EC จำนวน 40 มล.ในน้ำ 5 ลิตร ทุก 7 วันครั้ง โดยเริ่มพ่นเหยื่อพิษก่อนแมลงระบาด 1 เดือน


การติดตามและตรวจสอบปริมาณแมลงวันผลไม้
ในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ขั้นตอนที่สำคัญควรปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้คือ การติดตามตรวจสอบปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลุก โดยการใช้กับดักสารล่อแมลง เมทธิลยูจีนอล (methyl eugenol) สำหรับแมลงวันผลไม้ชนิดแมลงวันมะม่วงและแมลงวันฝรั่ง และสารล่อแมลงชนิดคิวลัว (cue-lure) สำหรับแมลงวันผลไม้ชนิด แมลงวันแตง

วิธีปฏิบัติ คือ ใช้สารล่อแมลงวันผลไม้ตามชนิดแมลงผสมสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 83%EC ในอัตรา 1 : 1 โดยปริมาตร ชุบสำลีใช้คลิปหนีบกระดาษแขวนไว้ในกล่องดักแมลงวันผลไม้แบบสไตเนอร์ (Steiner’s traps) แขวนกับดักในแปลงปลูก จำนวน 8 กับดัก ในพื้นที่ 1 ไร่/แปลงปลูกขนาด 10-100 ไร่ เพื่อเก็บตัวอย่างแมลงวันผลไม้ตรวจนับ 7 วันครั้ง และกำหนดมาตรการปฏิบัติในการพ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ เมื่อจำนวนแมลงวันผลไม้โดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ตัว/กับดัก/วัน


ปริมาณแมลงเฉลี่ย/กับดัก/วัน : มาตรการในทางปฏิบัติ
น้อยกว่า 1 ตัว ไม่มี
เท่ากับ 1 ตัว ควรระมัดระวัง
มากกว่า 1 ตัว แต่น้อยกว่า 3 ตัว พ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ 7 วันครั้ง
มากกว่า 5 ตัว พ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ 4 วันครั้ง
มากกว่า 10 ตัว พ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ 3 วันครั้ง




โดย : มนตรี จิรสุรัตน์ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร
http://www.ezathai.org/knowledge05.html




แมลงวันผลไม้ (Fruit Fly)

         

ชื่ออื่นๆ                    Oriental Fruit Fly
ชื่อวิทยาศาสตร์     Drosophila melanogaster
วงศ์                          Drosophilidae

 




ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ความเสียหายของแมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทองมักจะเกิดขึ้นเมื่อ เพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงเข้าไปในผลไม้ ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้นตัวหนอนจะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน แล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย แมลงวันผลไม้วางไข่ในผลไม้ที่ใกล้สุกและมีเปลือกบาง ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้ยากอาจพบอาการช้ำ บริเวณใต้ผิวเปลือกเมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ผลเน่าเละและมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรูที่หนอนเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ ผลไม้ที่ถูกทำลายนี้มัก จะมีโรคและแมลงชนิดอื่น ๆ เข้าทำลายซ้ำ ดังนั้นความเสียหายที่เกิด กับผลผลิตโดยตรงนี้ ีจึงมีมูลค่ามหาศาล ก่อให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจในระดับชาติเป็นอันมาก





รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เป็นแมลงขนาดเล็ก ส่วนหัว อก และท้องมีสีน้ำตาลอ่อน ที่สันหลังอกมีแถบสีเหลืองทองเป็นแห่ง ๆ ส่วนอกกว้าง 2 มม. ส่วนท้องกว้าง 3 มม. ปีกใสจากปลายปีก ข้างหนึ่งไปยังปลายปีกอีกข้างหนึ่ง กว้าง 15 มม. หลังการผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่โดย ใช้อวัยวะวางไข่แทงลงใต้ผิวผลไม้ ไข่มีลักษณะยาวรี ระยะไข่ 2-4 วัน เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ ตัวหนอนมีสีขาวใสเมื่อโตเต็มที่มีขนาด 8 -10 มม. ระยะหนอน 7-8 วัน เมื่อเข้าดักแด้เริ่มแรกมีสีนวลหรือเหลืองอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ระยะดักแด้ 7-9 วัน แล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย เมื่อตัวเต็มวัยอายุประมาณ 12-14 วัน จะเริ่มผสมพันธุ์ และวางไข่ ตัวเมียมีการผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายครั้ง ตัวเมียตัวหนึ่ง ๆ สามารถวางไข่ได้ประมาณ 1,300 ฟอง วงจรชีวิตใช้เวลา ประมาณ 3-4 สัปดาห์





การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

แมลงวันผลไม้ระบาดในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิก ไต้หวัน ญี่ปุ่น ปาปัวนิวกินี ฮาวาย ฯลฯ ในประเทศไทยพบการระบาดทั่วทุกภาค ทั้งในเขตป่าและในบ้าน และสามารถอยู่ได้แม้มีระดับความสูงถึง 2,760 เมตร จากระดับน้ำทะเล และยังพบตลอดทั้งปี เนื่องจากมีพืชอาหารมากมาย แต่จะมีปริมาณแมลงวันผลไม้สูงสุดในช่วงเดือนที่มีผลไม้สุกคือ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25-28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์

 

พืชอาหาร

ทำลายผลไม้หลายชนิดเสียหายได้ เช่น ชมพู่ มะม่วง กล้วย มะละกอ พุทรา น้อยหน่า




การใช้ฟิโรโมน

 ประกอบด้วยขวดซึ่งเป็นกรวยอยู่ภายใน บรรจุเหยื่อล่อพร้อมด้วยที่วางขวด แมลงวันผลไม้จะเข้าไปเพื่อกินเหยื่อและจมน้ำ เหยื่อล่อเป็นของเหลว ติดตั้งทั่วไปทุกแห่ง เช่น พื้นที่ปลูกไม้ผล ตลาดขายผลไม้ สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ตรวจนับประชากรแมลงวันผลไม้อย่างเป็นระยะ ๆ ในสถานที่ทุกแห่งที่ทำการวางกับดักไว้ สามารถสำรวจพบแมลงวันผลไม้ตั้งแต่ต้น จะได้กำจัดแมลงวันผลไม้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล อย่างรวดเร็วและประหยัด ส่วนจำนวนที่ใช้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่


http://www.ikaritrading.com/fruitfly.htm










สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-06-09 (2703 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©