-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 279 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

จุลินทรีย์






ลำดับเรื่อง...


1. จุลินทรีย์ธรรมชาติ (ทำเอง)
2. จุลินทรีย์ อีแอบ.  
3. จุลินทรีย์ อีแอบ. ซุปเปอร์
4. จุลินทรีย์หน่อกล้วย 
5. จุลินทรีย์เปลือกถั่วลิสง

6. จุลินทรีย์ก้นครัว
7. จุลินทรีย์ฟังก์จัย
8. จุลินทรีย์ ไอเอ็มโอ.
9. จุลินทรีย์นมสด
10. จุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง
 
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

1. จุลินทรีย์ธรรมชาติ 


           หลักการและเหตุผล
       - การที่จะรู้ว่าพื้นดินหรือแหล่งปลูกพืชบริเวณใดมีจุลินทรีย์ประเภทใดได้นั้น สังเกตจากการเจริญเติบโตของต้นพืชที่ขึ้นในบริเวณนั้นหรือใกล้เคียงเป็นหลัก ถ้าต้นพืชเจริญเติบโตดีแสดงว่ามีจุลินทรีย์ประเภทมีประโยชน์ แต่ถ้าต้นพืชไม่เจริญเติบโตแสดงว่ามีจุลินทรีย์ประเภทไม่มีประโยชน์

    - ประเภทของจุลินทรีย์ธรรมชาติในแหล่งธรรมชาติ
*** รากหญ้าแฝก หญ้าขน หญ้าประเภทหน้าแล้งตายหน้าฝนฟื้น มีจุลินทรีย์อะโซโตแบ็คเตอร์
*** ปมรากถั่วลิสง มีจุลินทรีย์คีโตเมียม. ไรโซเบียม. ไมโครไรซ่า.
*** รากมะกอกน้ำ มีจุลินทรีย์บาซิลลัส
*** รากกล้วย มีจุลินทรีย์แอ็คติโนมัยซิส
*** รากพืชตระกูลถั่วยืนต้น เช่น สะดา เหลียง มะขามเทศ

*** เศษใบไม้ เศษกิ่งไม้ ผุเปื่อย
*** ดินผิวดินที่ประวัติเคมีมีเห็ดธรรมชาติเกิดประจำ


วิธีขยายเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ :
น้ำ (พีเอช 6.7-7.0).................... 10 ล.
กากน้ำตาล............................... 1 ล.
น้ำมะพร้าว................................ 1 ล.
วัสดุจุลินทรีย์เริ่มต้นหลายๆอย่าง......... 1-2 กก.

คนเคล้าให้เข้ากันดี

เติมอ๊อกซิเจนตลอด 24 ชม. ........... 7-10 วัน

ได้  "หัวเชื้อ"  พร้อมใช้งาน
ใช้  "หัวเชื้อ 1 ล./น้ำ 500 ล." (1:500) ราดรดลงดิน หรือบนกองปุ๋ยอินทรีย์

หมายเหตุ :
การนำวัสดุที่เป็นแหล่งจุลินทรีย์ธรรมชาติ หลายๆอย่าง สับเล็ก ใส่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หมักในกอง ก็จะทำให้จุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติที่ใส่ร่วมลงไปนั้นขยายเชื้อเพิ่มปริมาณได้
 





2. จุลินทรีย์ อีแอบ.
            

         เตรียมเชื้อจุลินทรีย์เริ่มต้น :
     1. ใช้ “ปลาทะเลสดยังมีชีวิตทั้งตัวบดละเอียด 1 กก.  +  กากน้ำตาล 50 ซีซี. + หัวกระเทียมบดละเอียด 200-300 กรัม.” ผสมนวดให้เข้ากันดี
     2. นำเนื้อปลาที่นวดดีแล้วห่อด้วยใบตองหลายๆ ชั้น รัดห่อด้วยเชือกเป็นเปราะๆ เหมือนห่อหมูยอ แล้วเก็บไว้ในตู้กับข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วัน ช่วงอุณหภูมิอากาศปกติ หรือ 15-20 วันช่วงอุณหภูมิอากาศเย็น ได้    “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ." เข้มข้น พร้อมนำไปขยายเชื้อ
 
         ขยายเชื้อจุลินทรีย์ :
      1. เตรียมน้ำต้มเดือดจัดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ปล่อยทิ้งให้เย็น 10 ล.ในภาชนะที่ไม่ใช่โลหะ สะอาด ใส่กากน้ำตาลลงไป 1 ล. หรืออัตราส่วน 10 : 1 คนให้เข้ากันดี
      2. นำก้อนเชื้อจุลินทรีย์ออกมาจากห่อ ใส่ลงไปในน้ำ ขยายเชื้อ คนเคล้าให้เข้ากันดี
      3. ใส่ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ลงไปแล้วช่วงการหมัก 24-48 ชม.แรกให้ปิดฝาสนิท อย่าให้อากาศเข้าได้ ผ่าน 24-48 ชม.ไปแล้วคลายฝาออกปิดพอหลวม ระวังอย่าให้สิ่งแปลกปลอมตกลงไป ติดปั๊มออกซิเจนเพื่อเติมอากาศให้แก่จุลินทรีย์
      4. ตรวจสอบประจำวันด้วยการสังเกตฟองที่เกิดขึ้นในถังขยายเชื้อ ถ้ามีฟองผุดขึ้นมามากแสดงว่ามีจุลินทรีย์จำนวนมาก สมบูรณ์ และแข็งแรง แต่ถ้ามีฟองผุดขึ้นมาน้อยแสดงว่ามีจุลินทรีย์น้อยให้ใส่เพิ่ม   “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์”   พร้อมกับเติมกากน้ำตาลอีก อัตรา ¼ ของที่ใส่ครั้งแรกกับน้ำมะพร้าวอ่อนเล็กน้อยลงไป คนเคล้าให้เข้ากันดีอีกครั้งแล้วหมักขยายเชื้อต่อไป
         - หลังจากหมดฟองแล้วได้  “หัวเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ.เข้มข้น”  ให้นำออกใช้ทันทีในวันรุ่งขึ้น
         - ขั้นตอนการหมัก การตรวจสอบ และการนำออกไปใช้ ให้ปฏิบัติเหมือนขยายเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่น

           หมายเหตุ :
         - ไม่ควรเก็บจุลินทรีย์ที่ขยายเชื้อจนเจริญดีแล้วไว้ในน้ำขยายเชื้อนานเกินไป เพราะจะทำให้จุลินทรีย์กลุ่มแรก (จุลินทรีย์ที่ต้องการ) ซึ่งเกิดก่อนต้องตายแล้วเกิดจุลินทรีย์กลุ่มใหม่ (ไม่รู้จัก) ขึ้นมาแทน ทั้งนี้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ต้องการความชื้นเพียง 30-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
         - การควบคุมอุณหภูมิในถังขยายเชื้อหรือถังหมักให้อยู่ที่ 40 องศาเซลเซียสอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้จุลินทรีย์เจริญและขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น  
 
         *  ดร.สุริยา  ศาสนรักกิจ. ตรวจสอบจุลินทรีย์ อีเอ็ม. ว่ามีจุลินทรีย์กลุ่มไหนบ้าง  จากนั้นพยายามคัดสรรสารพัดวัสดุเพื่อนำมา  เพาะ/ขยายเชื้อ   จนกระทั่งพบว่า  ปลาทะเล.  ทำให้ได้จุลินทรีย์กลุ่มเดียวกันกับ อีเอ็ม.  ทันทีที่พบถึงกับอุทานว่า  "แอบ" อยู่นี่เอง  และนี่คือที่มาของชื่อว่า  "อีแอบ" ที่ลุงคิมตั้งให้เอง







3. จุลินทรีย์ อีแอบ. ซุปเปอร์


            เตรียมเชื้อเริ่มต้น :
          ใช้   “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ.เข้มข้น”  หมักนานจนพร้อมใช้งานแล้ว
 
          การขยายเชื้อและวิธีใช้ :
        - เตรียมน้ำขยายเชื้อเหมือนเดิม
        - ใส่ “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ.เข้มข้น + จุลินทรีย์ท้องตลาดหรือจุลินทรีย์อื่นๆ” ลงในถังขยายเชื้อ คนเคล้าให้เข้ากันดี
        - กรรมวิธีการหมักขยายเชื้อเหมือนการทำจุลินทรีย์ อีแอบ.ทุกประการ

          หมายเหตุ :
        - จุลินทรีย์ท้องตลาดได้แก่ ยาคูลท์ โยเกิร์ต และร้านขายสินค้าเกษตรทั่วไป
        - จุลินทรีย์อื่นๆ หมายถึง พด. จุลินทรีย์หน่อกล้วย. จุลินทรีย์ประจำถิ่น. ฯลฯ ที่พร้อมใช้งานดีแล้ว ซึ่งจะทำให้ในอีแอบ.มีจุลินทรีย์กลุ่มอื่นเพิ่มขึ้น 

 





4. จุลินทรีย์หน่อกล้วย 

           เตรียมเชื้อจุลินทรีย์เริ่มต้น :
 
      1. เลือกหน่อกล้วยความสูง 1 ม.จากพื้นถึงยอด เป็นหน่อชนิดที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรค เกิดจากต้นแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงให้ผลผลิตดี ทั้งต้นแม่และหน่ออยู่ในบริเวณที่ดินมีค่ากรด-ด่างเป็นกลางหรือเป็นกรดอ่อนๆ

       2. ขุดหน่อขึ้นมาให้มีเหง้าติดรากมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สลัดดินทิ้งไปให้เหลือติดรากไว้เล็กน้อย ไม่ต้องล้างน้ำ  

       3. สับเล็กหรือบดละเอียดทั้งต้น (ราก เหง้า ต้น ใบ) อัตราส่วน หน่อกล้วย 3 ส่วน : กากน้ำตาล 1 ส่วน (3:1) เติมน้ำมะพร้าวอ่อนพอเหลว บรรจุในภาชนะที่ไม่ใช่โลหะ คลุกเคล้าให้เข้ากันดี เก็บในร่ม อุณหภูมิห้อง คนบ่อยๆ เพื่อเร่งอากาศให้แก่จุลินทรีย์ หมักนาน 7-10 วัน  กรองเอากากออก น้ำที่ได้คือ  “น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์หน่อกล้วยเข้มข้น”  พร้อมใช้งานขั้นตอนการหมัก การตรวจสอบ และการนำไปใช้เหมือนจุลินทรีย์ประจำถิ่น อายุการเก็บนาน 6 เดือนหลังจากหมดอายุแล้วนำมาขยายเชื้อด้วยจุลินทรีย์เริ่มต้นชุดใหม่ได้

         
ประโยชน์ :
        - ใช้ในการหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพ ฮอร์โมนพืช บ่มดิน ปรับปรุงดิน ฯลฯ
        - ราดลงดินช่วยปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินโปร่งร่วนซุยและกำจัดเชื้อโรคในดิน
        - ผสมกับปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก ให้ได้ความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยเร่งให้ปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอกใช้งานได้เร็วและดีขึ้น
        - ช่วยย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุที่ใส่ลงไปในดินให้เกิด  “ฮิวมิค แอซิด”  ได้เร็วและจำนวนมาก
        - ช่วยย่อยสลายฟางในนาข้าวที่ไถกลบช่วงทำเทือกให้เปื่อยยุ่ยเร็วขึ้น
        - ฉีดพ่นทางใบช่วยกำจัดเชื้อรา ทำให้หนอนไม่ลอกคราบไม่กินอาหาร (ทำลายพืช) ทำให้ไข่ของแม่ผีเสื้อฝ่อจนฟักออกมาเป็นตัวหนอนไม่ได้ และขับไล่แม่ผีเสื้อไม่ให้เข้าวางไข่
        - กำจัดเชื้อโรคในน้ำในร่องสวน สระกักเก็บน้ำ และคอกปศุสัตว์

          หมายเหตุ :
        - ในหน่อกล้วยมีจุลินทรีย์กลุ่ม “แอ็คติโนมัยซิส” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสูง
        - ฉีดพ่นจุลินทรีย์หน่อกล้วยทางใบให้ทั่วทรงพุ่มตอนกลาวันช่วงหลังฝนหยุด (ฝนต่อแดด) เพื่อล้างน้ำฝนออกจากต้นไม่ให้น้ำฝนแห้งคาต้นช่วยกำจัดเชื้อราแอนแทร็คโนส. ไม่ให้เข้าทำลายใบ ยอด ดอก ผล และส่วนต่างๆ ของพืชได้.....ฉีดพ่นตอนเช้ามืดเพื่อล้างน้ำค้างและหมอกออกจากต้นก่อนที่น้ำค้างและหมอกจะแห้งคาต้น ช่วยกำจัดเชื้อราน้ำค้าง. ราแป้ง. ราสนิม. ไม่ให้เข้าทำลายส่วนต่างๆ ของต้นพืชได้
        - จุลินทรีย์กลุ่มแอ็คติโนมัยซิส. มีประสิทธิภาพในการกำจัดจุลินทรีย์เชื้อโรคพืชประเภทเชื้อราในดิน เช่น เชื้อไฟธอปเทอร่า. พิเทียม. ฟูซาเลียม. สเคลโรเทียม. และไรช็อคโธเนีย. ได้ผลดีมาก
        - ถ้าไม่ใช้หน่อกล้วยทั้งหน่อ สามารถใช้เฉพาะส่วนลำต้นของต้นกล้วยแก่ตัดเครือใหม่ๆ แทนก็ได้ ด้วยอัตราส่วนและวิธีการเดียวกัน




5. จุลินทรีย์เปลือกถั่วลิสง

           วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ :
        ใช้  “เปลือกถั่วลิสงสดใหม่ผึ่งลมให้แห้ง บดละเอียด 10 กก. + ข้าวฟ่างสดใหม่บดละเอียดผึ่งลมให้แห้ง 1 กก. + มูลม้าสดใหม่บดละเอียดผึ่งลมแห้ง 1 กก. + รำละเอียดใหม่ 1 กก.”   คลุกเคล้าให้เข้ากันดีพร้อมกับพรมด้วย “น้ำ 10 ล. + จุลินทรีย์ อีแอบ.ซุปเปอร์ หรือ จุลินทรีย์หน่อกล้วย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) 100 ซีซี.”   ให้ได้ความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์ ทำกองอัดแน่น คลุมด้วยพลาสติก ระหว่างหมักช่วง 5-7 วันแรกถ้าเกิดควันให้กลับกอง และกลับกองทุกครั้งที่มีควันขึ้น หมักไปจนกระทั่งอุณหภูมิในกองเย็นลง หมักนาน 3-6 เดือน ได้  “หัวเชื้อจุลินทรีย์เปลือกถั่วลิสงแห้ง”  พร้อมใช้งาน

         อัตราส่วนผสมและวิธีทำ :
        ใช้  “หัวเชื้อเข้มข้น 1 กก. ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์หมักใหม่ 100 กก.”   จุลินทรีย์ในเปลือกถั่วลิสงจะแพร่ขยายพันธุ์ในกองปุ๋ยอินทรีย์ชุดใหม่ หรือใส่ลงดินแล้วไถกลบ/คลุมด้วยอินทรีย์วัตถุก็จะแพร่ขยายพันธุ์ในดินเอง

        หมายเหตุ :
       ในเปลือกถั่วลิสงมีจุลินทรีย์กลุ่ม  คีโตเมียม.  ไรโซเบียม.  และไมโครไรซ่า 





6. จุลินทรีย์ก้นครัว            

        วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ :
       ใช้อาหารหมักดองที่ สี  กลิ่น  และรสชาติ  พร้อมบริโภค  เช่น แหนม.   ส้มฟัก.  ปลาส้ม.  ผักดอง.  เต้าเจี้ยว.  เต้าหู้ยี้.  ยาคูลท์. โยเกิร์ต.  นมเปรี้ยว.  ถั่วเน่า.  กะปิ. สภาพสดใหม่ สะอาด สภาพดีรับประทานได้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างๆละเท่าๆกัน ขยำพอแหลก เป็น   “จุลินทรีย์เริ่มต้น”   ใส่ใน   “น้ำขยายเชื้อ”   แล้วดำเนินการหมักเหมือนการขยายเชื้อจุลินทรีย์ตามปกติ

       วิธีใช้และอัตราใช้ :

     - ใช้เป็นจุลินทรีย์เริ่มต้นในกองปุ๋ยหมักหรือในดินหมายเหตุ :
     - ในมูลไก่ค้างคอน มูลสัตว์กินเนื้อ ขี้เพี้ยวัว/ควายสภาพสดใหม่ก็มีจุลินทรีย์ เมื่อนำมาขยายเชื้อในน้ำขยายเชื้อหรือผสมปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงดินก็จะได้จุลินทรีย์ที่ดีเช่นกัน
     - น้ำผักดองที่อยู่ในไห  คือ  “หัวเชื้อเข้มข้น”   พร้อมใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องนำไปขยายเชื้ออีก อัตราใช้   “น้ำผักดองในไห 1 ล./น้ำ 500 ล.” (1:500) ให้ทางดินหรือใส่ร่วมในปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก จุลินทรีย์ก็จะเจริญขยายพันธุ์ได้เอง
     - ดร.อิงะ นักวิชาการเกษตรอินทรีย์ญี่ปุ่น ศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์จากแหล่งต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารหมักดองแล้วพัฒนาจนกลายเป็นจุลินทรีย์ อีเอ็ม.นำมาใช้อย่างได้ผลจนกระทั่งปัจจุบัน  




7. จุลินทรีย์ฟังก์จัย
            

      วัสดุส่วนผสม :                        
       ฟางเห็ดฟางที่เชื้อเห็ดเริ่มเจริญ      10      กก.                       
      มูลวัวไล่ทุ่งแห้งเก่าค้างปี            10      กก.                       
      รำละเอียด                            1       กก.                      
      ข้าวฟ่างสดใหม่บดละเอียด           1       กก.                       
      ยิบซั่มธรรมชาติ                       1       กก.            
    
      คลุกเคล้าวัสดุส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี ทำกองบนแผ่นพลาสติกหรือพื้นคอนกรีตน้ำเข้าไม่ได้ อยู่ในร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก            
 
      น้ำขยายเชื้อ :                       
      น้ำต้มปล่อยให้เย็น          10      ล. 
      น้ำมะพร้าวอ่อน             1       ล.                       
      กากน้ำตาล                  1       ล.
      นมสดสัตว์รีดใหม่           1       ล.           
 
      ใส่ส่วนผสมตามลำดับ คนเคล้าให้เข้ากันดี            

     วิธีทำ :          
      คลุกเคล้าวัสดุส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดีพร้อมกับพรมด้วยน้ำขยายเชื้อให้ทั่วกองได้ความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์เสร็จแล้วทำกองอัดแน่น ปิดทับด้วยพลาสติกให้อากาศเข้าได้น้อยที่สุด ช่วงการหมัก 5-7 วันแรกถ้ามีควันเกิดขึ้นให้กลับกองระบายอากาศ และให้กลับกองทุกครั้งเมื่อมีควันเกิดขึ้น หลังจากหมดควันแล้วให้กลับกองทุก 10-15 วัน จนกระทั่งเห็นว่าวัสดุส่วนผสมเย็น มีกลิ่นหอมรำข้าว  เนื้อนุ่มเปื่อยยุ่ยสีน้ำตาลอมดำ ได้   "หัวเชื้อจุลินทรีย์ฟังก์จัยเข้มข้น" พร้อมใช้งาน            

      วิธีใช้และอัตราใช้ :           
      ใช้  "หัวเชื้อเข้มข้น 1 กระป๋องนม/พื้นที่ 1 ตร.ว."  เป็นเชื้อเริ่มต้น หรือใช้ "หัวเชื้อเข้มข้น 10 กก.ผสมปุ๋ยหมัก 100 กก."  เป็นเชื้อเริ่มต้น วิธีขยายเชื้อจุลินทรีย์            

      วัสดุผสมและวิธีทำ :

      น้ำ 10 ล. ต้มเดือดจัดเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วทิ้งให้เย็น  ใส่กากน้ำตาลต้มความร้อน 70 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที อัตรา 1 ล. คนเคล้าให้เข้ากันดี ใส่จุลินทรีย์ที่ต้องการขยายเชื้อลงไป  1 ล.หรือ 100 กรัม คนเคล้าให้เข้ากันดีอีกครั้งช่วงการหมัก 24 ชม.แรก ปิดฝาให้สนิทให้อากาศเข้าได้น้อยที่สุด   ครบ 24 ชม.แล้วคลายฝาพอหลวม ติดปั๊มออกซิเจนเพื่อให้อากาศแก่จุลินทรีย์แบบตลอด 24 ชม. นานติดต่อกัน 7 วัน  เก็บในร่ม อุณหภูมิห้อง ระวังอย่าให้ถูกแสงสว่างหลังจากให้ออกซิเจนครบ 7 วัน  ให้ตรวจสอบโดยหยุดให้ออกซิเจน 2-3 วัน  จากนั้นให้สังเกตฟอง.........ถ้ามีฟองเกิดขึ้น แสดงว่ามีจุลินทรีย์ดี จำนวนมาก ให้หมักต่อไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องให้ออกซิเจน  จนกว่าจะไม่มีฟองเกิดขึ้นหรือนิ่งหมดฟองก็จะได้   "หัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้น"   พร้อมใช้งาน

      วิธีใช้และอัตราใช้ :

      ใช้เหมือนจุลินทรีย์ดั้งเดิมตั้งแต่ยังไม่ได้นำมาขยายเชื้อ

      เป้าหมาย :
      เหมือนจุลินทรีย์ดั้งเดิมตั้งแต่ยังไม่ได้ขยายเชื้อ
    - ช่วงการหมักครบ  24  ชม.แรก  ค่อยๆ เปิดฝาพร้อมกับสังเกตก๊าซที่พุ่งสวนออกมา ถ้าเสียงก๊าซพุ่งออกมาแรงแสดงว่ามีจุลินทรีย์มากและแข็งแรงดี  ให้เปิดฝาแล้วเติมออกซิเจนได้เลย  แต่ถ้าเสียงก๊าซพุ่งออกมาค่อยๆแสดงว่ามีจุลินทรีย์ไม่มากและไม่ค่อยแข็งแรง  ให้ปิดฝาแน่นป้องกันอากาศเข้าต่อไปอีก 24 ชม. จากนั้นให้ตรวจสอบปริมาณก๊าซด้วยการเปิดฝาทุกๆ  24  ชม.เพื่อให้รู้ว่ามีจุลินทรีย์มากหรือน้อย
    - ตรวจสอบจุลินทรีย์โดยการขยายเชื้อจุลินทรีย์ในขวดปากแคบ ใช้ลูกโป่งสวมปากขวดไว้ แล้วสังเกตลูกโป่ง    ถ้าลูกโป่งพองดีแสดงว่ามีจุลินทรีย์จำนวนมาก ถ้าลูกโป่งไม่พองหรือพองช้าก็แสดงว่าไม่มีจุลินทรีย์หรือมีจำนวนน้อย  






8. จุลินทรีย์ ไอเอ็มโอ.
 
       วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ :
      1. หุงข้าว (ข้าวใหม่ดีกว่าข้าวเก่า) ให้สุกปกติพอดีๆ ปล่อยให้เย็นคาหม้อหุง ตักใส่กระบะพลาสติก ยีข้าวให้แตกเมล็ดดีพร้อมกับโรยน้ำตาลทรายแดงบดละเอียดบางๆ อัตราส่วน ข้าว 1,000 ส่วน น้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน (1,000 : 1) คนเคล้าให้เข้ากันดีปิดฝากระบะด้วยผ้า รัดขอบให้มิดชิด
      2. นำกระบะข้าวไปวางไว้ในสวนบริเวณร่มเย็น ความชื้นสูง (กลางกอกล้วย) ปลอดสารเคมี-ยาฆ่าหญ้าและสารเคมีอื่นๆ ทุกชนิด แล้วคลุมด้วยเศษพืชแห้งบางๆ โปร่งอากาศผ่านสะดวก
      3. ทิ้งกระบะไว้ 5-7 วัน เมล็ดข้าวสุกจะเริ่มเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อนๆ บริเวณผิวหน้าก่อน เมื่อปล่อยไว้ต่อไปอีกเมล็ดข้าวสุกจะเป็นสีเหลืองอมเขียวทั้งหมดและมีน้ำใสๆ อยู่ที่ก้นกระบะนำกระบะข้าวสุกกลับมา ได้  “หัวเชื้อจุลินทรีย์ ไอเอ็มโอ. เข้มข้น”   พร้อมใช้งาน

        อัตราใช้และวิธีใช้ :

        ใช้  “น้ำ 1,000 ล. + กากน้ำตาล 1 ล. + หัวเชื้อเข้มข้น 1 กก.”  คนให้เข้ากันดี กรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นทางใบแก่พืชช่วงหลังค่ำ อากาศไม่ร้อน หรือผสมปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อขยายเชื้อจุลินทรีย์ให้มากและแข็งแรงขึ้น 






9. จุลินทรีย์นมสด
 
วัสดุส่วนผสม วิธีทำ และวิธีใช้ :
นมโคสด รีดใหม่ จากฟาร์ม............ 10 ล.
น้ำส้มสายชู 5% ...................... 100 ซีซี.
น้ำมะพร้าว.............................. 1 ล.
กากน้ำตาล............................. 1 ล.
ยิสต์ทำขนมปัง......................... 100 กรัม

คนเคล้าทุกอย่างให้เข้ากันดี เติมอ๊อกซิเจน ตลอด 24 ชม. นาน 7-10 วัน
ได้ "หัวเชื้อ" เข้มข้น

วิธีใช้  "หัวเชื้อ 20 ซีซี./น้ำ 20 ล. ราดรดลงดิน




10. จุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง

วัสดถุส่วนผสม วิธีทำ และวิธีใช้ :
น้ำ (พีเอช 6.5-7.0) ......................... 10 ล.
เศษฟางเปื่อยยุ่ยเองตามธรรมชาติ ............ 1-2 กก.
กากน้ำตาล..................................... 1 ล.
น้ำมะพร้าว...................................... 1 ล.
ยูเรีย............................................ 100 กรัม

คนเคล้าส่วนผมทุกอย่างให้เข้ากันดี เติมอ๊อกซิเจนตลอด 24 ชม. นาน 7-10 วัน
ได้ "หัวเชื้อ" เข้มข้น

ใช้  "หัวเชื้อ 1-2 ล."  ผสมน้ำตามความเหมาะสม สาดให้ทั่วแปลงนา 1 ไร่ ช่วงหมักฟาง
หรือใส่กองปุ๋ยอินทรีย์หมัก 1 ตัน


         


------------------------------------------------------------------------------------------------------------------









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-10 (6149 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©