-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - * นานาสาระเรื่องเกษตร
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

* นานาสาระเรื่องเกษตร
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3 ... 72, 73, 74
 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11804

ตอบตอบ: 10/10/2013 11:13 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลำดับเรื่อง ...


1,959. ปุ๋ยเคมีทำลายผืนดินไทยมหาศาล เร่งวิจัยจุลินทรีย์พันธุ์พิเศษ

----------------------------------------------------------------------------------------------------



1,959. ปุ๋ยเคมีทำลายผืนดินไทยมหาศาล เร่งวิจัยจุลินทรีย์พันธุ์พิเศษ


กรมพัฒนาที่ดินระบุผืนดินไทยกว่า 100 ล้านไร่เข้าขั้นเสื่อมโทรม ฉุดผลผลิตต่อไร่ลดฮวบแพ้ประเทศคู่แข่ง เพราะเกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยเคมีมายาวนานกว่า 50 ปี พร้อมเผยผลวิจัยจุลินทรีย์แก้ปัญหาดินเสื่อม ตั้งเป้าพัฒนาจุลินทรีย์พันธุ์พิเศษสร้างโรงผลิตปุ๋ยในดิน ระบุหากประสบผลสำเร็จเกษตรกรจะไม่ต้องซื้อปุ๋ยอีกต่อไป ลดปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีมูลค่ามหาศาล

นับตั้งแต่ประเทศไทยปฏิวัติเขียวเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา โดยปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรพื้นบ้านเป็นการทำเกษตรแบบแยกส่วน เน้นการผลิตแบบเชิงเดี่ยวปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวในพื้นที่ติดต่อกันผืนใหญ่ในลักษณะของเกษตรอุตสาหกรรม ที่เน้นเพิ่มผลผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีการเกษตรต่างๆ เพื่อเพิ่มผลกำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ก่อผลเสียสะสมมาอย่างยาวนานจะทำให้ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านถึง 1 เท่าตัว รวมทั้งสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภคก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

ผลสำรวจพบที่ดิน 70% เสื่อมโทรม :
ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของเกษตรกรมาสู่การพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชปรับเปลี่ยนผืนดินที่เสื่อมโทรมให้กลับฟื้นคืนไปสู่ความสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และรักษาผืนดินให้สามารถสร้างผลผลิตได้อีกยาวนาน โดยในขณะนี้พื้นที่ทำการเกษตรของไทยทั้งหมด 150 ล้านไร่ มีพื้นดินที่เข้าขั้นเสื่อมโทรมอยู่ถึง 100 ล้านไร่ หรือเกือบ 70% ของพื้นที่ทั้งประเทศ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่กรมพัฒนาที่ดินจะต้องเร่งเข้าไปแก้ไข

โดย ฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินเสื่อมโทรมของไทยนับวันก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพื่อนำไปซื้อปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรเพิ่มขึ้นเพื่อคงระดับของผลผลิตไม่ให้ลดลง แต่การแก้ไขปัญหาตามแนวทางนี้ก็ยิ่งทำให้พื้นดินเสื่อมโทรมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะองค์ประกอบดินที่อุดมสมบูรณ์จะประกอบด้วยจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ สัตว์ขนาดเล็กจำพวกใส้เดือนฝอยไปจนถึงสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ใส้เดือน ปลวก มด ที่ทั้งหมดนี้จะมีหน้าที่ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ แต่การใช้สารเคมีเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ และสัตว์ต่างๆเหล่านี้ตายลง ทำให้ที่ดินเสื่อมลงเรื่อยๆ

ปุ๋ยเคมีแพง ดันยอดใช้ปุ๋ยชีวภาพพุ่ง :
ดังนั้นในการฟื้นฟูให้ดินกลับขึ้นมาดีอีกครั้งจะต้องเริ่มที่การเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่างๆให้มีปริมาณเพื่มขึ้น และเมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้มีมากขึ้นสัตว์บำรุงดินน้อยใหญ่ก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามมา ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆทำให้ปุ๋ยเคมีที่มีต้นทางวัตถุดิบมาจากปิโตรเลียมก็มีราคาสูงขึ้น ทำให้มีเกษตรกรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับปุ๋ยชีวภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพเพิ่มขึ้นก็ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 25%

ทั้งนี้กรมพัฒนาที่ดินได้เร่งวิจัยที่จะพัฒนาพันธุ์จุลินทรีย์ชนิดใหม่ๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงดินเพิ่มสารอาหารในดินให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ออกไปเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์ในป่าที่อุดมสมบูรณ์มาคัดแยกพันธุ์ให้ได้เชื่อจุลินทรีย์ที่ดีที่สุดนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด.ชนิดต่างๆ ซึ่งลักษณะเด่นที่ทำให้จุลินทรีย์ในปุ๋ยชีวภาพต่างจากจุลินทรีย์ในกลุ่มอื่นๆคือความสามารถในการตรึงในโตรเจน เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร และความสามารถในการผลิตฮอโมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ พด.12 ที่สามารถตรึงในโตรเจนจากอากาศและในพื้นดินให้เกิดประโยชน์กับพืช เพิ่อประสิทธิภาพในการย่อนสลายฟอสฟอรัส และโพแตสเซียมให้พืชนำขึ้นมาใช้ได้ รวมทั้งยังมีจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างฮอโมนกระตุเนการเจริญเติบโตของพืช

เร่งวิจัยตั้งโรงผลิตปุ๋ยในดิน :
อย่างไรก็ตามแม้ว่า พด.12 จะมีประสิทธิภาพที่ครบถ้วนในการบำรุงพืช แต่กรมฯยังได้ทุ่มวิจัยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยได้วางเป้าว่าจะผลิตจุลินทรีย์เพื่อสร้างโรงปุ๋ยในดิน ทำให้เกษตรกรแทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่ม ซึ่งได้พยายามปรับปรุงสายพันธุ์จุลินทรีย์ตรึงในโตรเจนที่ในปัจจุบันตรึงในโตรเจนได้เฉลี่ย 3 กิโลกรับต่อไร่ต่อปี เป็นเงินเฉลี่ย 97 บาทต่อไร่ ให้เพิ่มปริมาณการตรึงไนโตรเจนให้ได้ 12-15 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ซึ่งจะประหยัดค่าปุ๋ยในโตรเจนเป็นเงิน 440 บาทต่อไร่ ถ้าทำได้จะไม่ต้องพึ่งปุ๋ยในโตรเจนเลยในอนาคต

นอกจากนี้จะปรับปรุงสายพันธุ์จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต ที่ในปัจจุบันละลายหินฟอสเฟตได้ 435 มิลกรัมต่อกิโลกรัม ให้เพิ่มขึ้นอีก 30-45% รวมทั้งปรับปรุงพันธุ์จุลินทรีย์ละลายโพแตสเซียมให้ละลายเพิ่มขึ้นจากสูตรเดิมอีก 30% และปรับปรุงจุลินทรีย์ให้เพิ่มฮอโมนออกซิน จากในขณะนี้ 56.17 ppm เพิ่มขึ้นเป็น 297 ppm ซึ่งจะทำให้ในอนาคตเพียงหว่านหินฟอสเฟต พืชก็สามารถนำไปใช้ได้เลยโดยม่ต้องซื้อปุ๋ย และมีฮอโมนที่มากพอในการกระตุนการเจริญเติบโตให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผืนดินมีโรงงานสร้างปุ๋ยในดินได้เองโดยพึ่งพาปุ๋ยจากภายนอกน้อยมาก ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง ลดการพึ่งพาสารเคมีมีสุขภาพดีขึ้น และยังเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

สำหรับเป้าหมายการเตรียมพื้นที่ที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์จะจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ให้ครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะลงไปจัดตั้งกลุ่มให้ความรู้ในการใช้จุลินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมี ฝึกปฏิบัติในพื้นที่ สอนการบริหารกลุ่มให้เข้มแข็ง และมีการตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เกษตรกรทั้งประเทศให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะค่านิยมในการใช้ปุ๋ยเคมีฝั่งแน่นในเกษตรกรไทยมายาวนานกว่า 50 ปี และการใช้ปุ๋ยเคมีก็มีความสะดวกสบายเห็นผลได้เร็วกว่า ต่างจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องลงมือผลิตเอง และใช้เวลาการในการหมักให้ได้คุณภาพ

ดันจุลินทรีย์ปราบศัตรูพืชทดแทนสารเคมี :
ไม่เพียงเท่านั้น กรมพัฒนาที่ดินยังได้วิจัยจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการปราบศัตรูพืชและรักษาโรคพืชด้วย เช่น ซุปเปอร์ พด.3 มีจุลินทรีย์ควบคุมเชื่อสาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืช ซึ่งจุลินทรีย์นี้สามารถสร้างสารปฏิชีวนะออกมายับยั้งเชื่อที่ก่อให้เกิดโรคพืช หรือจุลินทรีย์ที่สามารถขับเอนไซม์ออกมาทำลายผนังเซลทำให้เส้นใยเชื้อโรคพืชแตกสลาย นอกจากนี้ยังมีสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ที่มีจุลินทรีย์ผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งกรมพัฒนาที่จะจะพย่ายามผลิตจุลินทรีย์ชนิดใหม่ๆเพื่อเพิ่มผลผลิต และลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรให้มากที่สุด โดยผลผลิตที่ได้ก็จะปลอดจากจากเคมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งยังทำให้พื้นดินมีความสมบูรณ์เหมาะกับการขยายผลผลิตรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจชาติในอนาคต



http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9530000104645
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
บุคคลทั่วไป






ตอบตอบ: 06/05/2025 8:28 am    ชื่อกระทู้: Re: * นานาสาระเรื่องเกษตร ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

kimzagass บันทึก:
..๔..


ลำดับเรื่อง....

1. วีธีผสมเกสรมะม่วง เพื่อติดผลดีขึ้น
2. วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี
3. ชาวสวนผักโคราช โดนหนอนใยผัก-แมลงวันทอง อาละวาดหนัก
4. วิธีการต่างๆ ที่ใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
5. คุณลักษณะพิเศษของแมลงที่ทำให้สามารถมีชีวิตและขยายพันธุ์เพิ่ม

6. บ่มผลไม้ให้สุกด้วยวิธีใดได้บ้าง
7. สารเคมีที่นิยมใช้ควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตพืชสวนในปัจจุบัน
8. กำจัด 'แมลงวันทอง' ด้วยความร้อน คันผลไม้ไทยโกอินเตอร์ฯ
9. เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน
10. โครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ โดยใช้แมลงที่เป็นหมัน กับวิธีการอื่น

11. โครงการ ควบคุม/กำจัด หนอนใยผัก โดยการใช้แมลงเป็นหมันในรุ่นลูก
12. โครงการ ควบคุม/กำจัดหนอน เจาะสมอฝ้าย โดยการใช้แมลงเป็นหมันในรุ่นลูก
13. แมลงช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ของดิน
14. มะยงชิด คลองสามวา
15. "52 สัปดาห์ รู้แล้วรวย ด้วยนวัตกรรมงานวิจัยเกษตรไทย"

16. วช.เตรียมจัดงาน การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ปี 2554
17. สระเก็บน้ำต้านภัยแล้ง ผลงานวิจัย จาก วช.
18. รถตัดอ้อยเล็ก
19. ปัจจัยในการกระตุ้นให้ต้นไม้ออกดอก
20. PLANT DISEASES โรคพืช และสาเหตุของการเกิดโรค

21. อยากทราบ "จุดตาย" ของปัญหาการเกษตรไทย คืออะไร
22. ไขปัญหาวิกฤติเมล็ดพันธุ์ ต้นเหตุ เกษตรกร เป็นหนี้
23. หนุนวิจัย-พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ สร้างชาวนารุ่นใหม่แทนวัยชรา
24. ผลการบดลำไยหน้าโกดัง ตามโครงการรีไซเคิลลำไย
25. ระวัง ! เปิบปลาร้าอันตรายถึงชีวิต

26. สภาพอากาศป่วน มังคุดเสียหายหนัก
27. เอดีบี. เตือนอาหารแพง ทำคนเอเชียจนเพิ่ม
28. อัดงบผุดโปรเจกท์ "วางแผนใช้ที่ดิน" เป้ารวม 45 ลุ่มน้ำ
29. เทคนิคการปลูกพืชแบบผสมผสาน ... อดีต ปัจจุบัน อนาคต
30. ธาตุอาหารพืชกับคุณภาพผลผลิตส้มโชกุน

31. แอบดูชาวนา……ญี่ปุ่น
32. แอบดูชาวนา.....ญี่ปุ่น (อีกสักครั้ง)
33. รู้แบบไม่เข้าใจธรรมชาติ ทำให้มองธรรมชาติเป็นศัตรู
34. ไร่แตงโมเมืองจีนระเบิดระนาวปริศนา คาดใช้สารเคมีเร่งโตเกินกำหนด
35. ข้าวเคลือบสมุนไพร

36. พริกเข้าตา ‘อมเกลือ’ ช่วยได้ ?
37. การเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตร
38. โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ต. บึงชำอ้อ อ. หนองเสือ จ.ปทุมธานี
39. เร่งปลดล็อกส่งออกผัก 16 ชนิดไป อียู.
40. ผลิตภัณฑ์ใหม่ "ซอสลูกตำลึง" ทำกินเองได้-ทำขายมีกำไร

41. แนะทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ทดแทนปุ๋ยเคมีอย่างสมบูรณ์
42. สายพันธุ์กาแฟ ที่ดีที่สุดในโลก
43. ทุเรียน-ลับแล
44. วิธีการควบคุมวัชพืชในนาข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี
45. ป้องกันและกำจัดใบอ่อนทุเรียน ช่วงพัฒนาการของผล

46. อาหารของมนุษย์อวกาศ คือ อะไร ?
47. เลี้ยงปลาบึกกับปลานิลแดง ในบ่อดิน
48. 'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
49. ญี่ปุ่นให้ไทยเลี้ยงสาหร่ายน้ำมัน หาเงื่อนไขเพิ่มผลผลิต
50. เอกชนทาบ สกว. ผลิตหัวเชื้อรามายคอร์ไรซ่า เพิ่มความแข็งแรงให้พืช

51. ใช้คลื่นไมโครเวฟ กำจัดหนอนแมลงวันทองมะม่วง เพื่อการส่งออก
52. ชุดตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้ รู้ผลเร็วทันใจ-ใครก็ทำได้
53. มน. พัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเคลือบแบคทีเรียแทนใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยให้พืชเติบโตดี
54. วว.ใช้เอทธิลีนยืดอายุ ตัดปัญหาส่งออกทุเรียนอ่อน
55. วิธีกำจัดมดขึ้นข้าวสาร


------------------------------------------------------------

1. วีธีผสมเกสรมะม่วง เพื่อติดผลดีขึ้น
วิธีช่วยผสมเกสรมะม่วง เพื่อติดผลดีขึ้น
มะม่วงเป็นไม้ผลปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้เกษตรกรนิยมปลูกมะม่วงกันทั่วทุกภาคของประเทศ การออกดอกของมะม่วงภายหลังเริ่มแทงช่อดอกจนถึงเริ่มบาน จะใช้ระยะเวลาประมาณ 14 วัน และช่วงบานจนหมดช่อ ใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ระยะเวลาการผสมเกสรของดอกมะม่วงส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 06.00-08.00 น. สังเกตได้จากการที่แมลงเข้ามาตอมช่อดอกมากในช่วงเช้า พอสายกว่านี้ จำนวนแมลงจะลดลงเรื่อยๆ

ทว่า เกษตรกรมักประสบปัญหาอย่างเดียวกันว่า มะม่วงออกช่อดอกแล้ว ไม่ค่อยติดผล สาเหตุอาจมาจากสภาพอากาศ พันธุ์มะม่วง หรือแมลงที่ช่วยผสมเกสรมีน้อยเกินไป

แมลงที่สำคัญที่ช่วยผสมเกสรมะม่วง ได้แก่ ผึ้ง รองลงมาคือ แมลงวันหัวเขียว ดังนั้น ถ้าแมลงเหล่านี้มีจำนวนมาก แมลงเหล่านี้ก็จะช่วยผสมเกสรมะม่วง และทำให้มะม่วงติดผลได้มากขึ้น

วิธีช่วยผสมเกสรมะม่วง
เกษตรกรสามารถช่วยผสมเกสรมะม่วงให้ติดผลได้ดีขึ้น โดยการเลี้ยงแมลงวันหัวเขียวไว้ในสวนมะม่วง วิธีการเลี้ยงแมลงวันหัวเขียวมีขั้นตอน ดังนี้

1. นำปุ๋ยคอกใหม่ๆ มากองไว้ในสวนหลายๆ จุด ในช่วงที่ต้นมะม่วงเริ่มแทงช่อดอก (หรือใช้มูลหมู ซึ่งมีหนอนแมลงวันอยู่แล้ว และกำลังจะเป็นตัวแก่พอดี ในช่วงที่ดอกมะม่วงเริ่มบาน)

2. รดน้ำให้ชื้น เพื่อให้แมลงวันมาไข่บนกองปุ๋ยคอก และฟักตัวในเวลาต่อมา แมลงวันหัวเขียวเหล่านี้จะไปตอมที่ดอกมะม่วง และช่วยผสมเกสรให้กับมะม่วง ทำให้มะม่วงติดผลมากขึ้น

ข้อแนะนำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดผลมะม่วง
1. ควรบำรุงรักษาต้นให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอ คือ ต้องให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ
2. เมื่อมะม่วงติดผลอ่อนประมาณ 1 เดือน เกษตรกรควรฉีดฮอร์โมนพวก เอ็นเอเอ. เพื่อป้องกันผลร่วง
3. วิธีช่วยผสมเกสรมะม่วงให้ติดผลดีขึ้น โดยการเลี้ยงแมลงวันหัวเขียวไว้ในสวน เป็นหนึ่งในอีกหลายวิธีที่ไม่ต้องลงทุนมาก แต่ทำให้มะม่วงออกดอกและติดผลมากขึ้น

เรียบเรียงจาก "วิธีช่วยผสมเกสรมะม่วง เพื่อติดผลดี" นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ปีที่ 7 ฉบับที่ 77

วิธีช่วยผสมเกสรมะม่วง เพื่อติดผลดีขึ้น เป็นการแนะนำวิธีการช่วยผสมเกสรมะม่วงให้ติดผลดีขึ้น โดยการเลี้ยงแมลงวันหัวเขียวไว้ในสวน ในช่วงที่ต้นมะม่วงเริ่มแทงช่อดอก แมลงวันเหล่านี้จะช่วยผสมเกสรให้กับมะม่วง ทำให้มะม่วงติดผลดีขึ้น

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 99 ยิม 1 มธ.ศูนย์รังสิตคลองหลวง ปทุมธานี 12120 โทร.0-2564-4000 webmaster@ismed.or.th 2005 ISMED All rights reserved.


http://www.ismed.or.th
--------------------------------------------------------------


2. วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี
ด้วยเหตุที่การใช้วัตถุมีพิษประเภทสารเคมีสังเคราะห์ได้ก่อให้เกิดพิษอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้นักวิจัยค้นพบข้อจำกัดในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและได้พยายามหันมาใช้วิธีการอื่นผสมผสานกันเพื่อลดพิษและอันตรายดังกล่าว ซึ่งการพิจารณาใช้วิธีการอื่นๆ เกษตรกรควรให้ความสนใจ คือ

1. การเลือกใช้พืชพันธุ์ต้านทานแมลงและโรคศัตรูพืช มักนำมาใช้กับฝ้าย มะเขือเทศ อ้อย มันฝรั่ง ฯลฯ

2. เลือกการหาจังหวะการปลูกที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูการระบาดของศัตรูพืชโดยปลูกให้เร็วหรือช้ากว่าปกติ ตลอดจนการพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืช เพื่อเตรียมการป้องกันกำจัดได้ทันท่วงที

3. การใช้เขตกรรม การตากดิน ไถดิน เพื่อทำลายศัตรูพืช และช่วยให้นกจับกินแมลงที่ฟักตัวในดิน นอกจากนี้การตัดเผาทำลายต้นตอพืชที่หลงเหลือเป็นแหล่งสะสมของศัตรูพืช จะช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชอีกด้วย

4. การใช้วิธีกล เช่น การใช้กาวทาจับแมลงที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว

5. การใช้วิธีทางฟิสิกส์ เช่น การใช้แสง เสียง หรืออุณหภูมิ ในการล่อไล่ฆ่าทำลายศัตรูพืช ทั้งโรคและแมลง ที่นิยมคือ การใช้เครื่องล่อแมลงแบบใช้แสงไฟ

6. การใช้วิธีการทางเคมี เป็นวิธีการใช้สารประกอบที่เป็นอนินทรีย์เคมี หรืออินทรีย์เคมีใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่วิธีการนี้พบว่ามีข้อดีและข้อเสียมากจึงมีข้อจำกัดในการใช้เฉพาะ

7. การใช้วิธีป้องกันกำจัดแมลง โดยการใช้เชื้อจุลินทรีย์ของแมลง ตัวห้ำ ตัวเบียนสัตว์ป่าบางชนิดช่วยลดและควบคุมปริมาณศัตรูพืชมิให้เกิดความเสียหายกับพืชผลนับตั้งแต่กิ้งก่า แย้ ตุ๊กแก จิ้งจก งู ฯลฯ

8. วิธีการอื่นๆ เช่น การกำหนดระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเพื่อให้การใช้วัตถุมีพิษเป็นไปอย่างคุ้มทุนและมีประสิทธิภาพ การใช้สมุนไพรบางชนิดป้องกันกำจัดศัตรูพืช อาทิเช่น โล่ติ้น สะเดา ยาสูบ หนอนตายหยาก ฯลฯ


สะเดา (NEEM)
สะเดาเป็นไม้พื้นบ้านที่พบเจริญได้ดีในเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนิยมใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ทนความแล้ง นอกจากนี้ยังมีปลูกในแถบเอเชีย อัฟริกา และอเมริกากลาง มีประวัติการใช้เมล็ดและใบสะเดาป้องกันกำจัดศัตรูพืชในอินเดียและศรีลังกา น้ำมันสะเดายังใช้เป็นวัตถุดิบทำสบู่ ใบของสะเดายังมีสารไล่แมลงอยู่ด้วย จากการศึกษาพบว่ามีผลทำให้แมลงวางไข่ลดลง สะเดาเหมาะสำหรับใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิด อาทิเช่น

ผักกาดหัวที่ถูกหนอนผีเสื้อ เพลี้ยอ่อน และตั๊กแตนบางชนิดทำลาย โดยเฉพาะหนอนใยผักได้ผลดีมาก สารสกัดจากเมล็ดสะเดาจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นจะทำให้ผิวใบคะน้า ผักกาดเขียว มีสีม่วงบริเวณด้วนบนที่ถูกแดดทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ เกษตรกรจึงไม่นิยมใช้

อนึ่งการใช้ผงเมล็ดสะเดาอัตรา 5 กรัม/หลุม หยอดโคนต้นหน่อไม้ฝรั่งหรืดฉีดพ่นสารสกัดจากเมล็ดสะเดาด้วยน้ำอัตราความเข้มข้น 100 กรัม/น้ำ 3 ลิตร จะไม่เป็นอันตรายต่อหน่อไม้ฝรั่ง และช่วยลดปริมาณหนอนของผีเสื้อบางชนิดได้ดี

ตามคำแนะนำของ GTZ ใน Neem a Natural Insecticide ระบุว่าสะเดาจะเริ่มให้ดอกครั้งแรกเมื่ออายุได้ 2-3 ปี และติดผลเมื่ออายุ 3-4 ปี และให้ผลผลิต 1-2 ครั้ง/ปี ตามสภาพอากาศกลุ่มของแมลง ที่นับว่าได้ผลดีในการป้องกันและกำจัด คือ ตัวอ่อนของด้วย หนอนผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน และยังได้ผลดีกับแมลงในกลุ่มตั๊กแตน หนอนชอนใบ เพลี้ยจั๊กจั่น และเพลี้ยกระโดด สำหรับพวกตัวเต็มวัยของด้วงปีกแข็ง เพลี้ยอ่อน และแมลงหวี่ขาว จะได้ผลป้องกันในระดับพอใช้ และไม่ได้ผลในการป้องกันกำจัดในกลุ่มแมลงพวกเพลี้ยแป้ง หรือเพลี้ยหอย ตัวแก่ของมวนแมลงวันผลไม้ และไรแมงมุม

http://nsw-rice.com

--------------------------------------------------------------------

3. ชาวสวนผักโคราช โดนหนอนใยผัก-แมลงวันทอง อาละวาดหนัก



ด้วยสภาพอากาศของจังหวัดนครราชสีมา ที่ร้อนและแล้งจัดในช่วงนี้ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกผักในชุมชนมิตรภาพ ซอย 4 บ้านลำตะคองเก่า เขตเทศบาลนครนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กว่า 20 ครอบครัวต้องประสบกับปัญหาการระบาดของศัตรูพืชในผัก โดยเฉพาะหนอนใยผักและแมลงวันทองที่ออกอาละวาดกัดกินพืชผักของเกษตรกรจนเสียหายย่อยยับนับ 100 ไร่

เกษตรกรผู้ปลูกผัก ชุมชนมิตรภาพ ซอย 4 เขตเทศบาลนครนครราชสีมา หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของหนอนใยผักและแมลงวันทอง กล่าวว่า

ขณะนี้ชาวสวนผักต้องเผชิญกับปัญหาหนอนใยผักอาละวาดกัดกินพืชผักอย่างหนัก โดยเฉพาะในส่วนของผักคะน้าและกวางตุง ที่ตนเองปลูกไว้กว่า 10 ไร่ ส่งผลให้พืชผักได้รับความเสียหายย่อยยับ และต้องเสียเงินลงทุนเป็นค่ายาและค่าแรงในการจำกัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น

จากเดิมผักที่ปลูกกว่า 10 ไร่ จะใช้เงินลงทุนในการเพาะปลูกจำนวนประมาณ 3–4 หมื่นบาท แล้วแต่ฤดูกาล แต่เมื่ออากาศในช่วงนี้ร้อนและแล้งจัดทำให้หนอนใยผักออกอาละวาด ตนเองต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 บาทแล้ว ในการปลูกผักรุ่นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมหนอนใยผักได้ ทำให้ผลผลิตในรุ่นนี้ถูกทำลายเหลือเก็บเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วปกติการเก็บผักในแต่ละแปลง ซึ่งมีขนาดความกว้าง 2.5 เมตร ยาว 100 เมตร อย่างเช่นผักคะน้า จะได้ผลผลิตประมาณ 250 กิโลกรัม แต่มาวันนี้น่าจะเหลือเพียง50 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับผักกวางตุ้งที่ต้องเจอกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้พริกชี้ฟ้าแดงที่ตนเองปลูกไว้อีกกว่า 1 ไร่ ก็ต้องประสบกับปัญหาแมลงวันทองมารบกวนและวางไข่ลงในผลผลิตจนได้รับความเสียหาย จากเดิมที่จะสามารถเก็บผลผลิตต่อแปลงขนาดความกว่า 2.5 ยาว 100 เมตร จะได้ผลผลิตประมาณ 5–6 เข่ง แต่มาวันนี้เหลือเพียงแค่เข่งเดียวเท่านั้น จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะการออกให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันและกำจัดหนอนใยผัก และแมลงวันทองที่ถูกต้อง เพื่อที่จะหาทางป้องกันความสูญเสียที่เกิดขึ้น


http://www.rd1677.com/branch.php?id=67273

------------------------------------------------------------------

4. วิธีการต่างๆ ที่ใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

วิธีการต่างๆ ที่ใช้ป้องกันกำจัดแมลง มีอยุ่ด้วยกันมากมายหลายชนิด เช่น
1. การใช้กฎหมายควบคุม (Legal control) เพื่อไม่ให้แมลงระบาดจากประเทศหนึ่งไปประเทศหนึ่งหรือจากท้องที่หนึ่งไปอีกท้องที่หนึ่ง

2. การใช้พันธุ์พืชที่มีความต้านทานแมลง
3. การใช้สิ่งมีชีวิตในการป้องกันกำจัด เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค เป็นต้น (Biological control)
4. วิธีทางเขตต์กรรม (cultural control)
5. วิธีทางกลศาสตร์และฟิสิกส์ (Mechanical&physical control)
7. การใช้ฮอร์โมนหรือสารเคมีอื่นในการยับยั้งการเจริญเติบโต หรือการกินอาหาร (juvenile hormone,antimetabolites and antifeedants)
8. การใช้สารดึงดูดและสารไล่ (Attractant and repellents)
9. การทำให้แมลงเป็นหมัน (Steriliztion)
10. การใช้ยาฆ่าแมลง (Insecticide)
11. การใช้วิธีร่วม (Integrated control) หรือการบริหารแมลงศัตรูพืช (Insect peats management) วิธีการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้

-----------------------------------------------------------------


5. คุณลักษณะพิเศษของแมลงที่ทำให้สามารถมีชีวิตและขยายพันธุ์เพิ่ม

มนุษย์ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับแมลง เพื่อหาวิธีการป้องกันกำจัดมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ก็ไม่สามารถป้องกันกำจัดแมลงให้หมดไปได้ เป็นทำนองว่า ยิ่งปราบยิ่งมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากแมลงมีคุณลักษณะพิเศษหลายประการ ที่ทำให้สามารถมีชีวิตและขยายพันธุ์เพิ่มลูกหลานอยู่จนทุกวันนี้ คุณลักษณะที่สำคัญ ได้แก่.-

1. ลักษณะโครงสร้างภายนอกแข็ง ประกอบด้วยสารไคติน (Chitin) ซึ่งสามารถป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ดี เช่น สารเคมี สภาพดินฟ้าอากาศและอื่นๆ

2. แมลงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เช่น ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ การเลียนแบบ (mimicry) และการสร้างความต้านทาน เป็นต้น

3. ขนาดลำตัวเล็ก ทำให้สามารถหลบซ่อนได้ดี และไม่จำเป็นต้องใช้อาหารมากก็สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ได้

4. มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างขณะเจริญเติบโต (metamorphosis) ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษอย่างยิ่ง ที่มีค่อยพบในสัตว์ชนิดอื่น เช่น จากไข่เจริญเติบโตเป็นตัวหนอน จากหนอนเข้าดักแด้ และเจริญเติบโตต่อไปเป็นตัวแก่ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละระยะของการเจริญเติบโตจะมีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันไป

5. แมลงตัวแก่บางชนิดมีปีกบินได้ ทำให้สามารถไปหาแหล่งอาหารที่ใหม่ได้ หรือหลบหนีศัตรูที่จะมาทำลาย

6. มีระบบการสือพันธุ์หรือขยายพันธุ์พิเศษหลายประการ เช่น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการผสมพันธุ์หรืออาจได้รับการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว ก็สามารถวางไข่ที่มีเชื้อได้ตลอดไป แมลงบางชนิดสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในระยะตัวเต็มวัย เป็นต้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักดีว่าการที่จะปราบแมลงชนิดหนึ่งชนิดใด ให้หมดไปจากโลกนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงได้เปลื่ยนแนวความคิดใหม่ คือ ต้องการที่จะควบคุมปริมาณแมลงศัตรูพืช ให้อยุ่ในระดับต่ำ ไม่ทำให้พืชผลเกิดความเสียหายถึงขั้นเศรษฐกิจ (economic injury level) การที่จะควบคุมปริมาณแมลงให้อยู่ในระดับต่ำนั้นจำเป็นต้องศึกษาหรือทราบสภาพทางนิเวศน์วิทยาของแมลงอย่างละเอียด ตลอดจนการศึกาวิธีการต่างๆ

----------------------------------------------------------------


6. บ่มผลไม้ให้สุกด้วยวิธีใดได้บ้าง

การเก็บเกี่ยวผลไม้หลายชนิด มักทำในขณะที่ผลไม้ยังไม่สุก เพื่อให้ขนส่งขายได้ระยะไกล ๆ เมื่อถึงเวลาขายหรือบริโภคจำเป็นต้องทำให้สุกโดยการบ่ม หากปล่อยให้สุกเอง จะมีบางผลสุกก่อน บางผลสุกช้า เนื่องจากการเก็บเกี่ยวของแต่ละผลไม่เท่ากัน ทำให้ไม่สะดวกในการขนส่งและจำหน่าย ผลไม้ที่จะบ่มให้ได้รสดี ควรเป็นผลแก่ได้ที่ ถ้าเอาผลที่อ่อนไปมาบ่มจะได้ผลไม้คุณภาพต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนบ่นเสมอว่าผลไม้ที่บ่มด้วยแก๊สไม่อร่อยเลย แต่ถ้าใช้ผลแก่ แต่บ่มแล้วเนื้อยังสุกไม่ได้ที่ก็นำมากินแล้ว รสชาติก็จะไม่ดีเท่าที่ควรเหมือนกัน

นอกจากนั้นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลไม้ที่ได้จากการบ่มด้วยก๊าซ รสชาติไม่ดีเหมือนกับที่บ่มหรือสุกตามธรรมชาติเป็นเพราะในกระบวนการสุกนั้นมีกระบวนการย่อย ๆ หลายกระบวนการ เช่น การเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล การสลายตัวของกรด การอ่อนนุ่มของเนื้อ การเปลี่ยนสี ฯลฯ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน ในธรรมชาติเมื่อผลไม้สุกด้วยก๊าซ ก๊าซจะเร่งกระบวนการสุกแต่ละกระบวนการให้เกิดเร็วขึ้นได้ต่างกันออกไป ไม่ได้สัดส่วนเหมือนในธรรมชาติ ดังนั้นคุณภาพของผลไม้ที่บ่มให้สุกด้วยก๊าซอาจไม่ดีเท่าบ่มธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้าใช้ก๊าซความเข้มข้นสูงเพื่อบ่มให้ผลไม้สุกในเวลาอันสั้น

วิธีการบ่มผลไม้ง่าย ๆ อาจทำได้โดยนำผลไม้ไปรวมกันในสถานที่หรือภาชนะที่ค่อนข้างปิด การถ่ายเทอากาศเกิดขึ้นได้น้อย ในสภาพเช่นนี้ เอทิลีนที่ผลไม้สร้างขึ้นเองจะสะสมมากขึ้นจนกระตุ้นให้ผลไม้สุกได้อย่างสม่ำเสมอ การจุดธูปในสถานที่บ่มก็เป็นการเพิ่ม เอทิลีน ให้กับผลไม้ เพราะในการเผาไหม้ธูปจะมี เอทิลีน ออกมาด้วย และนอกจากนั้นผลไม้ชนิดต่างๆ เหล่านั้นก็ต้องการสภาพแวดล้อมในการบ่มต่างกัน เช่น กล้วยหอมทองบ่มให้สุกได้ที่สภาพอุณหภูมิห้อง แต่กล้วยหอมพันธุ์แกรนเนนต้องบ่มที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส สำหรับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ผลแก่บริบูรณ์ (อายุ 90-105 วัน) ควรบ่มที่อุณหภูมิ 20-22 องศาเซลเซียส

ในบ้านเราการบ่มผลไม้จะนิยมใช้ถ่านแก๊ส หรือ แคลเซียม คาร์ไบด์ มากที่สุด ถ่านแก๊สนี้จะเป็นก้อนขนาดเล็กกว้างยาวประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ห่อกระดาษห่อละ 10 กรัม ซุกให้ทั่วกองผลไม้หรือภาชนะบรรจุ ในอัตรา 10 กรัมต่อผลไม้ 3-5 กิโลกรัม ความชื้นจากผลไม้จะทำปฏิกิริยากับถ่านแก๊สได้เป็นก๊าซอะเซทิลีนที่ช่วยเร่งการสุกของผลไม้ แต่อาจจะบ่มให้สุกไม่สม่ำเสมอเพราะมีการหมุนเวียนของอากาศภายในเข่งหรือกองผลไม้ต่ำ รวมทั้งอาจมีกลิ่นอะเซทิลีนติดไปกับผลไม้ถ้าใช้ถ่านแก๊สมากเกินไป แต่การบ่มด้วยวิธีการนี้เสียค่าใช้จ่ายน้อย

ส่วนการใช้ก๊าซเอทิลีนนิยมใช้ความเข้มข้น 10-100 พีพีเอ็ม. ในห้องบ่มนานประมาณ 24-72 ชั่วโมง โดยมีพัดลมหมุนเวียนอากาศให้ทั่วถึง ในช่วงอุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส ขึ้นกับชนิดของผลไม้ แต่ในบ้านเราการใช้ เอทิลีน บ่มโดยตรงยังใช้กันน้อย เนื่องจากก๊าซ เอทิลีน มีราคาแพง ถ้าในอนาคตก๊าซ เอทิลีน มีราคาถูกลงมาพอสมควรก็อาจจะมีการใช้ เอทิลีน บ่มผลไม้กันมากขึ้น ส่วนในต่างประเทศนิยมใช้ เอทิลีน กันอย่างแพร่หลายในการบ่มกล้วยและส้ม ซึ่งนอกจากจะใช้เอทิลีนจากถังบรรจุโดยตรงแล้ว ยังมีการใช้ เอทิลีน จากเครื่องผลิต เอทิลีน หรือ Ethylene generator กันมาก โดยเครื่องดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องทำความร้อนที่จะช่วยเร่งปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อให้แอลกอฮอล์แตกตัวเป็น เอทิลีน และสามารถควบคุมอัตราการผลิต เอทิลีน ได้ตามความต้องการด้วย

การใช้เอทิฟอน ที่มีชื่อการค้าต่าง ๆ กัน เช่น อีเทรล โปรเทรล ฟลอเรล ซึ่งมีความคงตัวที่สภาพเป็นกรด หรือ มี พีเอช กว่า 4 เมื่อนำมาละลายน้ำหรือเมื่อซึมเข้าไปในเซลล์พืช จะสลายตัวให้เอทิลีน สารเอทิฟอนจัดว่าเป็นสารที่มีพิษน้อยและสลายตัวได้ง่าย ส่วนมากนิยมให้สารนี้ก่อนเก็บเกี่ยว เช่น ใช้เพื่อเร่งการสุกหรือการเปลี่ยนแปลงสีในองุ่น พริกยักษ์ มะเขือเทศ สับปะรด ในทุเรียนก็มีการใช้เช่นกันโดยฉีดพ่นทั้งผลหรือจุ่มที่ก้านผลเท่านั้นก็ได้ ในบ้านเรายังไม่มีกฎระเบียบที่แน่ชัดในการควบคุมการใช้เอทิฟอน แต่พออนุโลมได้ว่าน่าจะใช้สารนี้ได้อย่างปลอดภัยกับผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวซึ่งผู้บริโภคไม่รับประทานเปลือก เช่น การใช้ เอทิฟอน ความเข้มข้นสูง 2,400 พีพีเอ็ม ในการบ่มทุเรียน แต่ในผลไม้ทั่วไปใช้วิธีการแช่ในสารละลายเอทิฟอนความเข้มข้นประมาณ 600 พีพีเอ็ม. 2-3 นาที ซึ่งจะทำให้ผลไม้สุกใน 3-4 วัน

ทีนี้คงจะรู้แล้วซินะว่าผลไม้ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้เขามีวิธีการบ่มอย่างไร

------------------------------------------------------------------


7. สารเคมีที่นิยมใช้ควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตพืชสวนในปัจจุบัน

สารเคมีที่นิยมใช้ควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตพืชสวนในปัจจุบัน ออโธ-ฟีนีลฟีนอล (Ortho-phenylphenol) เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มใหญ่มาก เพราะจะเป็นพิษต่อเชื้อรา แบคทีเรียและตัวของผลิตผลเองด้วย โดยสารประกอบฟีนอลที่ไม่แตกตัวจะฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้และเป็นพิษต่อผลิตผลเมื่อใช้ในอัตราความเข้มข้น 200-400 มก./ลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสารละลายและระยะเวลาที่ใช้

แต่สารประกอบออโธ-ฟีนีลฟีเนต ซึ่งมีประจุบวกจะไม่เป็นพิษต่อพืช และสารละลายโซเดียมออโธ-ฟีนีลฟีเนต หรือ SOPP ก็นับเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยในการนำมาใช้กับผักและผลไม้ สำหรับผลไม้ที่มีแว็กซ์เคลือบผิว เช่น ส้ม แอปเปิ้ล และผลไม้อื่น ๆ นั้นจะไม่ยอมให้สารละลายออโธ-ฟีนีลฟีเนตผ่านเข้าไปได้ จึงทำให้สารเคมีชนิดนี้ไม่สามารถควบคุมโรคหลังจากที่ใช้กับผลิตผลประเภทนี้

อย่างไรก็ตามสารนี้จะสามารถซึมเข้าสู่แผลของผลิตผลได้ การล้างผลิตผลที่ได้รับสารนี้แล้วจะทำให้สารถูกชะล้างไปกับน้ำจึงมีสารเหลืออยู่ที่ผิวผลน้อยมากแต่หากผลิตผลมีบาดแผลก็จะยังคงมีสารชนิดนี้อยู่และสามารถป้องกันการเข้าทำลายผลิต ผลได้

การใช้สารโซเดียมออโธ-ฟีนีลฟีเนต (SOPP) มีประโยชน์ คือ สปอร์ของเชื้อราและแบคทีเรียซึ่งอยู่ที่ผิวผลิตผลหรือในน้ำที่ใช้ล้างผลิตผลจะถูกฆ่าหมดและสารออโธ-ฟีนีลฟีนอล ซึ่งตกค้างอยู่บริเวณแผลจะป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ที่บริเวณในระหว่างการขนส่งได้ สารละลาย SOPP สามารถใช้ในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลไม้หลายชนิด เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ ท้อ มันเทศและผักผลไม้ที่เสียง่าย วิธีการใช้ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น แช่ผลไม้ลงในสารละลาย SOPP นาย 1-3 นาที หรือ ให้ SOPP ไหลผ่านผลไม้ และใช้ฟองของ SOPP ทาให้ทั่วผลิตผลด้วยแปรงนาน 15 นาที


http://www.thaikasetsart.com

-----------------------------------------------------------------

8. กำจัด 'แมลงวันทอง' ด้วยความร้อน คันผลไม้ไทยโกอินเตอร์ฯ

หลังเปิดเขตเสรีทางการค้า (FTA) ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี นิวซีแลนด์ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ได้มีมาตรการเข้มงวดทางด้านกักกันพืชมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศที่เข้มงวดได้ เนื่องจากไทยยังไม่สามารถกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ที่มีความสำคัญทางด้านกักกันให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะ แมลงวันทอง และ แมลงวันแตง ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญเพราะแมลงทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว มีพืชอาศัยมากมาย ได้แก่ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ มังคุด และพืชตระกูลแตง ฯลฯ

กรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อหาเทคนิคการกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ได้มาตรฐานของวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืช สามารถกำจัดศัตรูพืชในพืชก่อนส่งออกได้ทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อคุณภาพของสินค้าเพื่อช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น

นางสาวรัชฎา อินทรกำแหง นักวิชาการเกษตร 8 ว กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า

การกำจัดแมลงด้วยความร้อนเป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชหลังการเก็บเกี่ยวที่ได้ผลดี ขณะนี้ประเทศคู่ค้าได้ยอมรับเทคนิคการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว เนื่องจากไม่มีสารพิษตกค้างปนเปื้อนในสินค้า โดยใช้กรรมวิธีอากาศเป็นสื่อนำความร้อนมีหลักการทั่วไป คือ ให้ความร้อนกับผลไม้โดยหมุนเวียนอากาศร้อนผ่านผลไม้ ความร้อนจากอากาศจะถ่ายเทไปที่เปลือกและแพร่กระจาย เข้าไปในผล ซึ่งผลไม้จะได้รับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนถึงระดับอุณหภูมิที่ต้องการภายในกำหนดเวลา

การให้ความร้อนกับผลไม้ อาจสิ้นสุดที่อุณหภูมิซึ่งสามารถกำจัดแมลงทุกระยะการเจริญเติบโตภายในผลให้ตายหรือทั้งหมด หรืออาจจะต้องคงระดับความร้อนภายในผลไม้ที่กำหนดนานช่วงระยะเวลาหนึ่ง เทคนิคนี้สามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้ 3 วิธีการ ได้แก่

1. วิธีการอบไอน้ำ อากาศร้อนจะอยู่ในสภาพอิ่มตัวด้วยไอน้ำ มีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90%

2. วิธีการอบอากาศร้อน ปรับปรุงมาจากการอบไอน้ำโดยอากาศร้อนภายในห้องบรรจุผลไม้มีไอน้ำน้อย ความชื้นต่ำ ประมาณ 50% และ

3. วิธีอบไอน้ำปรับความชื้นสัมพัทธ์ ใช้วิธีอบอากาศร้อนร่วมกับวิธีอบไอน้ำ

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ประสบความสำเร็จด้านการวิจัย และพัฒนาเทคนิคการใช้ความร้อนกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เหมาะสมในสินค้าพืชส่งออกแล้ว 3 ชนิด ประกอบด้วย มะม่วง 5 พันธุ์ ได้แก่ มะม่วงแรด น้ำดอกไม้ พิมเสนแดง หนังกลางวัน และมะม่วงมหาชนก โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 47 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 20 นาที สามารถกำจัดศัตรูพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มังคุด ให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 58 นาที และ ส้มโอพันธุ์ทองดี ให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส เวลา 10 นาที ซึ่งไม่กระทบต่อคุณภาพของสินค้า วิธีนี้ช่วยให้ไทยสามารถส่งออกมะม่วงผลสดไปยัง ญี่ปุ่น เกาหลี และ นิวซีแลนด์ได้

ขณะเดียวกันยังมีการใช้ความร้อนกำจัดแมลงวันทองในมังคุดส่งออกไปยังญี่ปุ่นด้วย และกำลังอยู่ระหว่างเสนอข้อมูลให้เกาหลีและไต้หวันพิจารณานำเข้ามังคุดจากไทยโดยวิธีดังกล่าวด้วย ขณะที่กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณานำเข้าส้มโอจากไทย ด้วยเทคนิคการใช้ความร้อนกำจัดแมลงวันทองในส้มโอ เช่นเดียวกัน

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคการใช้ความร้อนกำจัดแมลงศัตรูพืชในสินค้าพืชผักและผลไม้เพื่อการส่งออกเพิ่มเติม ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ส้มโอขาวน้ำผึ้ง พริกหวาน ลิ้นจี่ และลำไยด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งจะนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรยังได้เตรียมแผนเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตผลไม้ที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ โดยเน้นให้มีการกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะแมลงวันผลไม้ให้มีปริมาณน้อยที่สุด เพื่อให้การกำจัดแมลงด้วยความร้อนมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้ยังจะแนะนำเทคนิคการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ผลไม้ที่ผ่านความร้อนไม่เกิดความเสียหาย

หากสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-8516 ทุกวันในเวลาราชการ


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
http://www.dailynews.co.th
http://www.phtnet.org


-----------------------------------------------------------------

9. เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (SIT)

ทศพล แทนรินทร์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตผลที่ได้จากการเกษตร นอกจากใช้บริโภคในประเทศแล้ว ยังส่งไปขายต่างประเทศ นำเงินตราเข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท ความเสียหายของผลิตผลการเกษตร ส่วนใหญ่เกิดจากแมลงศัตรูพืช เพื่อลดความเสียหายของผลิตผล เกษตรกรจึงนิยมใช้สารเคมี ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชเหล่านั้น แต่การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช นอกจากทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว แมลงศัตรูพืชยังสร้างความต้านทานต่อพิษของสารฆ่าแมลง นอกจากนี้ พิษของสารเคมี ยังเป็นอันตรายต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อทางการเกษตร เช่น ผึ้ง ชันณรงค์ แตนเบียน ตัวห้ำ เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และมีสารพิษตกค้างในผลิตผล ทำให้ต้องหาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อต่อสู้กับเหล่าแมลงศัตรูพืชทั้งหลาย เทคนิคที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (Sterile Insect Technique, SIT) เป็นเทคโนโลยีที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการจัดการแมลงศัตรูพืชทั่วโลก

เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน เป็นการใช้แมลงชนิดเดียวกัน ควบคุมแมลงชนิดเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีจำนวนประชากรของแมลงชนิดนั้น ๆ มากจนเป็นอันตรายต่อผลิตผลการเกษตร ขั้นตอนของเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันประกอบด้วย การเลี้ยงแมลงในห้องทดลองเป็นจำนวนมาก การทำหมันแมลงที่เลี้ยงด้วยการฉายรังสี การปล่อยแมลงที่ทำหมัน ออกไปผสมพันธุ์กับแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผลของการผสมพันธุ์จากแมลงที่เป็นหมัน ทำให้ตัวเมียวางไข่ที่ไม่สามารถฟักออกเป็นตัวหนอน (ไม่มีลูก) จะต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมัน ให้มากกว่าแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดโอกาสแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติจะได้ผสมพันธุ์กันเอง ทำให้ประชากรแมลงในธรรมชาติลดลง เมื่อปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากติดต่อกัน จะทำให้ประสบความสำเร็จ ในการลดประชากรแมลงในธรรมชาติอย่างรวดเร็ว


แมลงวันผลไม้


[img]http://www.tint.or.th

ต้นกำเนิดรังสีแกมมา โคบอลต์-60

เพื่อความสำเร็จเร็วขึ้นและลดต้นทุน จะต้องกำจัดแมลงในธรรมชาติให้มีจำนวนลดต่ำลงก่อนการปล่อยแมลงที่เป็นหมัน ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

ปล่อยให้แมลงในธรรมชาติลดต่ำลง เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ

การใช้สารเคมี เหยื่อพิษ กับดัก การทำเขตกรรม :
ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันกับแมลงศัตรูพืชมากกว่า 20 ชนิด และยังมีการวิจัยและพัฒนาวิธีการนี้ กับแมลงศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ อีก คาดว่า เทคโนโลยีนี้ จะมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอนาคต

งานวิจัยการควบคุมและกำจัดแมลง โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันในประเทศไทย ได้ดำเนินการมานานกว่า 20 ปีแล้ว ในโครงการวิจัย ดังนี้

โครงการควบคุมและกำจัดแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน
โครงการนี้ได้ดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ พ.ศ.2525 (กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ) โดยพัฒนาสูตรอาหารเทียม สำหรับเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันผลไม้ให้ได้จำนวนมาก ศึกษาปริมาณรังสีที่ทำให้แมลงเป็นหมัน การขนส่งดักแด้ การควบคุมคุณภาพแมลง และปล่อยแมลงวันผลไม้ที่ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2528-2540 พบว่า สามารถลดการทำลายท้อพันธุ์พื้นเมือง ของแมลงวันผลไม้จาก 54.7% ลดลงเหลือ 4% จากนั้นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ ให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับเทคโนโลยีและได้ดำเนินการควบคุมและกำจัดแมลงวันผลไม้ในพื้นที่อื่น ๆ เช่น อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และกิ่งอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ในเขตควบคุมแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้าง (area-wide integrated control of fruit flies)

-----------------------------------------------------------------


10. โครงการควบคุมแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้างโดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็น
หมันผสมผสานกับวิธีการอื่น


โครงการนี้กำลังดำเนินงานโดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ในพื้นที่ ต.เขาพระ ต.หินตั้ง ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก และ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ซึ่งจะใช้การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันดัวยรังสี หลังจากมีการรณรงค์ใช้สารล่อเมธิลยูจีนอล (methyl eugenol) การทำเขตกรรมเพื่อตัดวงจร และลดจำนวนประชากรของแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติให้อยู่ในระดับต่ำ หลังจากนั้น จึงนำเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน เข้าไปควบคุมแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

[img]http://www.tint.or.th

-------------------------------------------------------------------

11. โครงการควบคุมและกำจัดหนอนใยผักโดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันในรุ่นลูก

ได้ดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ พ.ศ.2535-2543 ที่สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยนำเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันด้วยรังสีในรุ่นลูกมาใช้ควบคุมกำจัดหนอนใยผักในแปลงกะหล่ำปลี โดยฉายรังสีให้แมลง “เป็นหมันไม่สมบูรณ์” ในรุ่นพ่อแม่ แล้วปล่อยไปผสมพันธุ์กับแมลงในธรรมชาติเพื่อให้เกิดรุ่นลูกที่มีความเป็นหมันเพิ่มขึ้น การติดตามผลการทดลองกระทำโดยผ่าดูโครโมโซมของอัณฑะหนอนเพศผู้วัยสุดท้ายที่จับได้ในแปลงทดลอง ถ้าเป็นแมลงที่เป็นหมัน ในรุ่นลูกจะมีโครโมโซมผิดปกติ ส่วนการติดตามผลการปล่อยแมลงที่เป็นหมันในรุ่นพ่อแม่ โดยการทำเครื่องหมายด้วยผงสีสะท้อนแสง และจับแมลงกลับด้วยกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อหาอัตราส่วนระหว่างแมลงฉายรังสีกับแมลงธรรมชาติ ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของเทคนิคนี้

นอกจากนี้ยังพบแมลงตัวห้ำและแมลงตัวเบียนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดสมดุลธรรมชาติ ความสำเร็จของโครงการนี้ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้สารฆ่าแมลงหรือใช้ปริมาณน้อยลง พิษตกค้างของสารฆ่าแมลงในผัก และสิ่งแวดล้อมน้อยลง

-------------------------------------------------------------------

12. โครงการควบคุมและกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายโดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันในรุ่นลูก

ได้ดำเนินการวิจัยตั้งแต่ พ.ศ.2541-2547 หลักการควบคุมและกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้าย เช่นเดียวกับหนอนใยผัก ได้พัฒนาอาหารเทียมและวิธีการเพาะเลี้ยงหนอนเจาะสมอฝ้าย ศึกษาปริมาณรังสีที่ทำให้แมลงเป็นหมันในรุ่นลูก การควบคุมคุณภาพแมลง การศึกษาความสามารถในการผสมพันธุ์ในห้องปฏิบัติการและในภาคสนาม พ.ศ.2546-2547 ดำเนินการปล่อยแมลงที่เป็นหมันในแปลงทดลองฝ้าย ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ความสำเร็จของโครงการนี้ทำให้เกษตรกรลดการใช้สารฆ่าแมลง พิษตกค้างของสารฆ่าแมลงในสิ่งแวดล้อมน้อยลง สังเกตได้จากจำนวนของแมลงตัวห้ำ ตัวเบียนในแปลงทดลองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

http://www.tint.or.th

------------------------------------------------------------------

13. แมลงช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ของดิน

แมลงที่กินซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร มีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายซากเหล่านั้น และปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารออกมาอยู่ในสภาพที่พืชนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเจริญเติบโตได้ แมลงหลายชนิดเจาะทำลายต้นไม้ที่ตายแล้วหรือที่โค่นล้ม เปิดโอกาสให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าย่อยสลายไม้ได้เร็วขึ้น และแปรสภาพเป็นแร่ธาตุอาหารที่สำคัญของพืชปกคลุมผิวหน้าดินเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน แมลงที่เก็บเศษใบไม้หรือเศษผงต่าง ๆ มาสร้างรังใต้ดิน โดยการเจาะทำรังหรือไชชอนลงไปในดิน ก็มีส่วนช่วยทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ทำให้ดินโปร่ง มีการระบายอากาศดีและเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดิน แม้ว่าจะเป็นที่ทราบดีว่า ไส้เดือน มีหน้าที่สำคัญในการปรับสภาพของดิน แต่แมลงที่อาศัยในดิน ก็มีส่วนช่วยมิใช่น้อยเช่นกัน

ด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง (dung beetle) ช่วยรวบรวมมูลวัวมูลควายซึ่งมนุษย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยต่อไป แต่ที่สำคัญคือ ช่วยลดที่อยู่อาศัยและที่เพาะพันธุ์ของแมลงวันและแมลงอื่น ๆ ที่เป็นศัตรูต่อสัตว์เลี้ยง มูลวัวมูลควายนั้นหากปล่อยตามธรรมชาติจะกินเวลานานเป็นปีจึงจะย่อยสลาย จึงเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ที่ดีของแมลง วันชนิดต่าง ๆ ด้วงปีกแข็งชนิดนี้กินมูลสัตว์เป็นอาหารและยังมีนิสัยเก็บมูลสัตว์รวมเป็นก้อนพร้อมทั้งวางไข่ในมูลนั้น แล้วนำไปเก็บรวมกันไว้เป็นอาหารของตัวอ่อน ดังนั้นด้วงจึงช่วยขจัดมูลสัตว์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และยังช่วยเก็บรวบรวมมูลสัตว์ให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย


ด้วงปีกแข็ง รวบรวมมูลสัตว์เป็นก้อน เพื่อใช้เป็นที่วางไข่และเป็นอาหารของตัวอ่อน


http://web.ku.ac.th

.
กลับไปข้างบน
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11804

ตอบตอบ: 06/05/2025 1:16 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

....
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3 ... 72, 73, 74
หน้า 74 จากทั้งหมด 74

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©