-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 20 ก.พ. * เกษตรแปลงเล็ก ต้องใช้เทคนิคเทคโน
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 21 ก.พ. * เทคนิคเทคโน น้ำหมักระบิดเถิดเทิง
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 21 ก.พ. * เทคนิคเทคโน น้ำหมักระบิดเถิดเทิง

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 20/02/2023 5:19 pm    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 21 ก.พ. * เทคนิคเทคโน น้ำหมักระบ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตร 21 ก.พ.

***********************************************************************
สวัสดีครับ ท่านผู้ฟัง ที่เคารพ
กองทัพบก เพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตรและอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดย กองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

จุดยืนรายการ ....
* เกษตรแบบ อินทรีย์นำ - เคมีเสริม - ตามความเหมาะสม “.. ? ..”
* ปัจจัยพื้นฐาน ดิน - น้ำ - แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล - สารอาหาร - สายพันธุ์ - โรค
* หัวใจเกษตร ปุ๋ย-ยา-ไฟฟ้า-เวลา-ค่าแรง-ค่าที่-อารมย์-เทคนิค-เทคโนฯ-โอกาส-ตลาด-ต้นทุน
* พร้อมทำเองสอนวิธีทำ พร้อมซื้อสอนวิธีซื้อ

กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการ
เช่นเคย รายการเรา....
*** 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม-ฝากข่าว-สายตรง ที่ (081) 913-4986, ....
*** FB วีระ ใจหนักแน่น, ....
*** อินเตอร์เน็ต เกษตรลุงคิม ดอทคอม .... เว้บนี้ ถาม 1 บรรทัด ตอบ 1 หน้า
ถนัดช่องทางไหนเลือกช่องทางนั้นตามอัธยาศัย นักรบไม่ว่ากัน THANK YOU ....

รายการวิทยุ :
*** AM 594 ปตอ. เวลา 0815-0900 จันทร์-ศุกร์ คลื่นนี้ครอบคลุมพื้นที่ 40+ จังหวัด ***

งานสัญจรปกติตามวงรอบ :
* วันเสาร์ของสัปดาห์แรกของเดือน ....... ไปที่วัดพยัคฆาราม (วัดเสือ) ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สองของเดือน ..... ไปที่วัดอัมพวัน (หลวงพ่อโหน่ง) สองพี่น้อง สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สามของเดือน ..... ไปวัดท่าตำหนัก เพชรเกษม แยกนครชัยศรี นครปฐม,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สี่ของเดือน ........ ไปวัดส้มเกลี้ยง ใกล้โรงกรองประปา ถ.วงแหวนตะวันตก
* เดือนที่มี 5 เสาร์ เสาร์ที่ 5 ของเดือน ... ไปวัดทุ่งสะเดา แปลงยาว ฉะเชิงเทรา
** ถึงจุดนี้ เกษตรกรอยากให้งานสัญจรไปลง ที่ไหนก็ได้ ติดต่อมา พูดคุยกันในรายละเอียด

*** วันจันทร์ ทุกวันจันทร์ เฉพาะวันจันทร์ สมช.สีสันชีวิตไทย “คุณล่า” (081) 944-8494 ไปที่ตลาดนัด
วัดอมรญาติ ดำเนินสะดวก ราชบุรี พร้อมกับ ระเบิดเถิดเทิง. ไบโออิ. ไทเป. ยูเรก้า. ยาน็อค. กับหนังสือหัวใจเกษตรไทย มินิ ไปจำหน่าย....
*** ด้วยประสบการณ์ร่วม 20 ปี พบเห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมามากมาย ใครสนใจใคร่รู้ก็ไปคุยกัน แล้วจะรู้ว่า อ้อออ เป็นอย่างนี้นี่เอง....

*** งานสีสันสัญจรวันเสาร์ เสาร์นี้วันที่ 25 ก.พ. ลุงคิม กับ อ.ณัฐ (086) 983-1966 สมุนไพรสำหรับคน ไปวัดส้มเกลี้ยง ใกล้โรงกรองประปามหาสวัสิ์ ถ.วงแหวนตะวันตก กาญจนาภิเษก ....
*** งานนี้ ซื้อหนังสือหัวใจเกษตรไท มินิ 1 เล่ม แถม หนังสือไม้ผลแนวหน้า 1 เล่ม........ใครไม่ซื้อ ไม่ซื้อแต่แจก แจกหนังสือไม้ผลแนวหน้า คนละ 1 เล่ม


***********************************************************************

***********************************************************************


จาก : 09 812x 720x
ข้อความ : ขอสูตรทำปุ๋ยอินทรีย์ แห้ง น้ำ สูตรผู้พันครับ

จาก : 09 581x 430x
ข้อความ : เทคนิคเทคโน น้ำหมักชีวภาพระบิดเถิดเทิง

จาก : 08 518x 271x
ข้อความ : ทำเทือกนาข้าว ไม่ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยน้ำหมัก อินทรีย์เคมี ขอบคุณค่ะ

จาก : 06 482x 714x
ข้อความ : ที่นา 40 ไร่ น้ำดี อยากลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ใช้ระเบิดเถิดเทิงของลุงแทน


MOTIVATION แรงบันดาลใจ :

ชาวนาไทยทำได้ 1.5 ตันต่อไร่..ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการรวบรวมเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ใช้ น้ำหมักและปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ได้ผลผลิตสูง เพื่อนำมาเป็นต้นแบบส่งเสริมและเผยแพร่แก่เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตร, กรมการข้าว, กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดการประกวดผลผลิตข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2555/56 ในช่วงเวลาเก็บเกี่ยว 1 กันยายน-

ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงประกวด ประเภทผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงสุด (ที่ความชื้น 25%)

อันดับ 1 นางบุญสม ขาวบริสุทธิ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,520.31 กก./ไร่ หักต้นทุนแล้วเหลือกำไรสุทธิ 12,801 บาทต่อไร่,

อันดับ 2 นายถนอม ยังเจริญ จังหวัดสมุทรปราการ ได้ผลผลิต 1,346.87 กก./ไร่ ได้กำไรสุทธิ 13,024 บาทต่อไร่,

อันดับ 3 นายทวี ประสานพันธ์ จังหวัดอุบลราชธานี ผลผลิตเฉลี่ย 1,323.25 กก./ไร่ มีกำไรสุทธิ 13,431 บาทต่อไร่

ส่วนประเภทต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อกิโลกรัมต่ำสุด (ที่ความชื้น 25%)
อันดับ 1 นายกำพล ทองโสภา จังหวัดสุพรรณบุรี ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2.71 บาท/กก. ได้ผลผลิต 1,314.65 กก./ไร่ มีกำไร 13,199 บาท/ไร่,

อันดับ 2 นายธำรง ทัศนา จังหวัดราชบุรี มีต้นทุนเฉลี่ย 3.01 บาท/กก. ผลผลิตเฉลี่ย 1,161.87 กก./ไร่ กำไรสุทธิ 11,317 บาท/ไร่

อันดับ 3 นายถนอม ยังเจริญ จังหวัดสมุทรปราการ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3.08 บาท/กก. ผลผลิตเฉลี่ย 1,346.87 กก./ไร่ ได้กำไรสุทธิ 13,024 บาท/ไร่.

https://www.thairath.co.th/content/320124



เกร็ดเล็กๆน้อยๆ เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ :
อินทรีย์ชีวภาพ :
หลักการและเหตุผล :

1. ปุ๋ย หมายถึง สารเหลวที่พืชนำไปใช้สร้างและบำรุงส่วนต่างๆ ของต้นให้เจริญพัฒนา เรียกว่า “ธาตุอาหาร” ประกอบด้วย

ธาตุหลัก ...... ไนโตรเจน. ฟอสฟอรัส. โปแตสเซียม
ธาตุรอง ....... แคลเซียม. แม็กเนเซียม. กำมะถัน
ธาตุเสริม ...... เหล็ก. ทองแดง. สังกะสี. แมงกานิส. โบรอน. โมลิบดินั่ม. ซิลิก้า. คลอรีน. โซเดียม. นิเกิล. โคบอลท์ ฯลฯ
ฮอร์โมน ....... ไซโตคินนิน. จิ๊บเบอเรลลิน. ไอเอเอ. เอบีเอ. ไอบีเอ. อะมิโน. โปรตีน ฯลฯ
อื่นๆ ........... ดินหรือวัสดุปลูก. น้ำ. อากาศ. แสงแดด. อุณหภูมิ. สายพันธุ์ ฯลฯ ปุ๋ยหรือธาตุอาหารพืชมีหลายสถานะ เช่น น้ำ เม็ด ผง เกร็ด ครีม

จากสถานะเดิมจะเป็นเช่นไรก็ตามก่อนที่พืชจะนำไปใช้งานได้ต้องเปลี่ยนสถานะให้เป็นของเหลวก่อนเสมอ ดังนั้น สิ่งใดที่มีธาตุหลัก ธาตุรอง ธาตุเสริม ฮอร์โมน และอื่นๆ ที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จึงเรียกว่า “ปุ๋ย หรือ ธาตุอาหาร” ทั้งสิ้น

2. ธาตุอาหารพืช มีอยู่ในอินทรียวัตถุและอนินทรีย์วัตถุ......
-อินทรีย์วัตถุ หมายถึง วัสดุที่ได้จากสัตว์และพืช เรียกว่า “ปุ๋ยอินทรีย์” เช่น เศษซากสัตว์ มูลสัตว์ เศษซากพืช น้ำคั้นจากพืช และ

-อนินทรีย์วัตถุ หมายถึง วัสดุที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีวิทยาศาสตร์ เรียกว่า “ปุ๋ยสังเคราะห์ หรือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์” เช่น ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนวิทยาศาสตร์

3. ธาตุอาหารพืช สัตว์ คน คือตัวเดียวกัน สังเกตได้จากการเขียนสัญลักษณ์ทางเคมีของชื่อธาตุอาหารเป็นตัวอักษรตัวเดียวกัน แต่ธาตุอาหารที่พืช สัตว์ คน นำไปใช้ต่างกันที่ “รูป” เท่านั้น

4. ในเมือกและเลือดปลาสดมีธาตุไนโตรเจนมากกว่ายูเรีย (46-0-0) 1 เท่าตัว ซึ่งสามารถใช้แทนกันได้ โดยจุลินทรีย์จะทำหน้าที่เปลี่ยน “รูปไนโตรเจน” ในเมือกและเลือดปลาให้เป็น “รูปไนโตรเจน” ที่พืชสามารถนำไปใช้ได้

5. ในปลาทะเลมีกรดอะมิโน โอเมก้า แม็กเนเซียม และโซเดียม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืชจำนวนมาก
6. ในหนอนมีกรดอะมิโน ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและสัตว์มากถึง 18 ชนิด

7. พืชกินธาตุอาหารที่มีสถานะเป็นของเหลวด้วยการดูดซึมเข้าทางปลายราก (หมวกราก) และทางปากใบ ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ยังคงมีสภาพเป็นชิ้นหรือเป็นก้อนอยู่นั้น พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้จะต้องทำให้อินทรียวัตถุนั้นเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวหรือน้ำเสียก่อนพืชจึงจะนำไปใช้ได้....การเปลี่ยนสถานะอินทรียวัตถุให้เป็นของเหลวสามารถทำได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ โดยเริ่มจากหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วบดให้ละเอียด จากนั้นนำไปผสมกับสารรสหวานจัด (กากน้ำตาล กลูโคส น้ำผลไม้หวาน) ด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสม ใส่จุลินทรีย์เล็กน้อย ติดปั๊มออกซิเจนเพื่อให้อากาศแก่จุลินทรีย์ หมักทิ้งไว้นานๆในสถานที่ ภาชนะ และระยะเวลาที่กำหนด จุลินทรีย์จะเป็นตัวย่อยสลายอินทรียวัตถุเหล่านั้นให้มีขนาดเล็กลงถึงระดับโมเลกุล ซึ่งเล็กจนสามารถผ่านปลายรากและปากใบเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของต้นพืชได้


8. ปุ๋ยอินทรีย์ชิ้นขนาดเท่าปลายเข็มหรือเล็กกว่า รากพืชก็ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ลำต้นได้ ต้องเปลี่ยนสภาพปุ๋ยอินทรีย์ชิ้นเท่าปลายเข็มนั้นให้เป็นของเหลวเสียก่อน พืชจึงจะดูดซึมเข้าสู่ลำต้นไปใช้ได้

9. การหมัก หมายถึง กระบวนการย่อยสลาย (เอ็นไซม์) โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวกระทำต่ออินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุเพื่อเปลี่ยนสภาพจากเดิมที่เป็นชิ้นให้เป็นของเหลว

10. การหมักสามารถทำได้ทั้ง “หมักในภาชนะ หมักในกอง และหมักในดิน” ระยะเวลาในการหมักจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความแข็งแรง/จำนวน/ประเภทของจุลินทรีย์. ชนิด/ประเภทของอินทรียวัตถุ. สภาพแวดล้อม (อุณหภูมิ/น้ำ/อากาศ). ระยะเวลา. อัตราส่วนของวัสดุส่วนผสม. อาหารสำหรับจุลินทรีย์. และปัจจัยอื่นๆที่จำเป็น

11. ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ. ปุ๋ยน้ำชีวภาพ. น้ำสกัดชีวภาพ. ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ. ปุ๋ยชีวภาพ. ปุ๋ยพืชสด. ปุ๋ยซากสัตว์ และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นตัวเดียวกันเพราะทำมาจากวัสดุส่วนผสมและด้วยกรรมวิธีในการทำแบบเดียวกัน จึงต่างกันแต่เพียงชื่อเท่านั้น

12. การฝังซากสัตว์หรือซากพืชที่โคนต้นไม้ผลบริเวณชายพุ่ม ช่วงแรกๆ จะยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆในทางที่ดีขึ้นจากไม้ต้นนั้น แต่ครั้นนานไปเมื่อซากสัตว์หรือซากพืชเน่าเปื่อย ไม้ผลต้นนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การที่ซากสัตว์หรือซากพืชเน่าเปื่อยได้ก็คือการ “หมักในดิน” โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวดำเนินการให้นั่นเอง

13. ซากสัตว์ที่หมักลงไปในดินใหม่ๆ หรือระยะแรกๆ หรือระหว่างที่ซากสัตว์กำลังเน่าเปื่อยนั้นมีความเป็นกรดจัดมาก เป็นอันตรายต่อระบบรากหรือทำให้รากเน่าได้ ดังนั้นจึงไม่ควรฝังซากสัตว์ในช่วงที่ต้นพืชกำลังอยู่ในระยะสำคัญ เช่น ระยะกล้า. สะสมอาหาร. เปิดตาดอก. บำรุงดอก. บำรุงผล ฯลฯ ทั้งนี้ การฝังซากสัตว์จะต้องกระทำก่อนหน้านั้นนานๆ เพื่อให้เวลาแก่จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายหรือแปรสภาพซากสัตว์จนหมดความเป็นกรดแล้วเปลี่ยน “รูป” มาเป็นรูปของธาตุอาหารพืชที่พืชพร้อมนำไปใช้ได้......การหมักซากสัตว์แบบปุ๋ยน้ำชีวภาพนานข้ามปีแล้วจึงนำมาใช้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ได้แต่ต้องไม่ลืมตรวจวัดค่ากรดด่างแล้วปรับให้เป็นกลางก่อนใช้เสมอ

14. ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่มีกากน้ำตาลเป็นส่วนผสม หมักใหม่หรืออายุการหมักสั้น มีความเป็น “กรด” สูงมาก (2.5-3.0) โดยปุ๋ยน้ำชีวภาพซากสัตว์เป็นกรดจัดมากกว่าเศษพืช เมื่อฉีดพ่นทางใบจะทำให้เกิดอาการ ใบไหม้ ใบจุด ดอกร่วง ผลด่างลาย/ร่วง เมื่อไม่แน่ใจว่าปุ๋ยน้ำชีวภาพเป็นกรดจัดหรือไม่ ขอให้งดการให้ทางใบแล้วให้ทางรากแทน แม้แต่การให้ทางดินบ่อยๆ หรือประจำๆ ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จนเกิดการสะสมก็อาจทำให้ดินเป็นกรดได้เช่นกัน

15. ปุ๋ยน้ำชีวภาพกล้อมแกล้มสูตรมาตรฐาน ผ่านกรรมวิธีการหมักถูกต้อง อายุการหมักนานข้ามปี เมื่อวัดค่ากรดด่างจะได้ประมาณ 6.0-7.0 จึงถือว่าดี ถูกต้อง และใช้ได้

16. วิธีการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าในปุ๋ยน้ำชีวภาพแต่ละสูตรหรือแต่ละยี่ห้อมีปริมาณธาตุพืชมากหรือน้อยกว่ากัน สามารถพิสูจน์ได้โดยการบรรจุปุ๋ยน้ำชีวภาพใส่ขวดขนาดเดียวกันหรือปริมาตรเท่าๆ กัน แล้วนำขึ้นชั่งด้วยตาชั่งที่มีมาตรวัดละเอียดมากๆ ตรวจค่าความถ่วงจำเพาะ (ถพ.) ขวดที่หนักกว่าแสดงว่ามีธาตุอาหารพืชมากกว่าหรือนำลงจุ่มน้ำ ขวดที่จมน้ำได้ลึกกว่าแสดงว่ามีปริมาณธาตุอาหารมากกว่า

17. อาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ที่ปรุงโดยการต้มเคี่ยว หรือตุ๋นจนเหลวเปื่อยยุ่ย เช่น แกงจืดจับฉ่าย น้ำต้มกระดูก ซุปไก่แบลนด์ น้ำหวานจากน้ำตาลหรือผลไม้คั้น วิตามินบำรุงร่างกายคน/สัตว์ ฯลฯ ยังมีธาตุอาหารครบถ้วนตามวัสดุที่นำมาปรุง หากนำน้ำอาหารที่เหลวเปื่อยยุ่ยแล้วนี้ให้แก่พืชบ้าง พืชก็จะได้รับธาตุอาหารตัวเดียวกันนี้เช่นกัน

18. พืชสามารถนำธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของต้นได้ทั้งทางปลายราก และปากใบ เมื่อให้ธาตุอาหารทางใบด้วยการฉีดพ่น ธาตุอาหารส่วนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กสามารถผ่านปากใบได้จะผ่านเข้าไปทันที ส่วนธาตุอาหารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านปากใบเข้าไปได้ยังติดค้างอยู่บนใบ เมื่อถูกน้ำชะล้างก็จะตกลงดินแล้วถูกจุลินทรีย์ในดินทำการย่อยสลายต่อให้โมเลกุลมีขนาดเล็กลงอีกจนสามารถผ่านปากรากได้ พืชก็จะได้รับธาตุอาหารนั้นต่อไป

19. การหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพโดยใช้ถังหมักที่แข็งแรง มีฝาปิดเรียบร้อย มีระบบให้ออกซิเจนแล้วฝังลงดินจนมิดถัง มีระบบป้องกันน้ำเข้าไปในถังได้แน่นอนนั้น อุณหภูมิใต้ดินที่เย็นกว่าบนดินนอกจากจะช่วยให้กระบวนการหมักดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพใช้การได้เร็วขึ้นอีกด้วย

20. เสริมประสิทธิภาพจุลินทรีย์ในถังหมักให้แข็งแรงยิ่งขึ้นด้วยการใส่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 (100 กรัม) หรือ 21-53-0 (100 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง หรือน้ำมะพร้าวอ่อน 1-2 ล. ต่อวัสดุส่วนผสมในถัง 100 ล.

21. การใช้ถังหมักแบบมีใบพัดปั่นหมุนภายในตลอด 24 ชม. นอกจากจะเป็นการช่วยบดย่อยวัสดุส่วนผสมให้ละเอียดยิ่งขึ้นแล้วยังส่งผลให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพนั้นใช้การได้เร็วขึ้น

22. ไม่ควรใช้พืชผักจากตลาดเพราะเป็นพืชผักที่เก่าแล้วและอาจปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ จากตลาดมาด้วย

23. ไม่ควรใช้ซากสัตว์ที่ตายนานแล้วหรือเน่าแล้วแต่ให้ใช้ซากสัตว์สดและใหม่ โดยเลือกใช้สัตว์ขณะที่ยังมีชีวิตหรือตายใหม่ๆ จะได้ธาตุอาหารพืชที่ดีกว่า

24. ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรมาตรฐานที่ดีจะต้องไม่มีกลิ่นของวัสดุส่วนผสมตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียวชัดเจน ซึ่งเป็นการแสดงให้รู้ว่าใช้วัสดุส่วนผสมไม่หลากหลาย ยกเว้นสูตรเฉพาะซึ่งจะต้องมีกลิ่นเฉพาะตัว และปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ดีต้องมีกลิ่นหอม-หวาน-ฉุน

25. ระยะเวลาในการหมัก หมักนาน 3 เดือนจะได้ธาตุหลัก หมักนาน 6 เดือนจะได้ธตุรอง หมักนาน 9 เดือนจะได้ธาตุเสริมและฮอร์โมน....เมื่อหมักนานข้ามปีจะได้สารอาหาร ฮอร์โมน และจุลินทรีย์ต่างๆ หลายชนิด เช่น

- ธาตุอาหาร ได้แก่ ไนโตรเจน. ฟอสฟอรัส. โปรแตสเซียม. แคลเซียม. แม็กเนเซียม. กำมะถัน. เหล็ก. ทองแดง. สังกะสี. แมงกานิส. โซเดียม. อะมิโนโปรตีน. ..... สารอาหารเหล่านี้เป็นสารอินทรีย์บริสุทธิ์

- ฮอร์โมน ได้แก่ ไซโตคินนิน. เอสโตรเจน. ออร์แกนิค แอซิด. ฟลาโวอยด์. ควินนอยด์. อโรเมติก แอซิด. ฮิวมัส. โพลิตินอล. ไอบีเอ. เอ็นบีเอ. ....ฮอรโมนเหล่านี้เป็นฮอร์โมนอินทรีย์บริสุทธิ์ และสารท็อกซิก.ที่เป็นสารพิษต่อโรคและแมลงศัตรูพืช

- จุลินทรีย์ ได้แก่ คีโตเมียม. ไรโซเบียม. ไมโครไรซ่า. แอ็คติโนมัยซิส. บาซิลลัสส์. ไรซ็อคโธเนีย. แบคทีเรีย. และฟังก์จัย.

คนถามใหม่ คำถามเก่า คำตอบเดิม

ตอบ :
ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ :
วัสดุ :

1. ปุ๋ยคอก (มูลไก่, มูลวัว) 20 กก.
2. ขี้เถ้าแกลบ 20 กก.
3. รำละเอียด 1 กก.
4. น้ำสกัดชีวภาพสูตรใดก็ได้จาก 4 สูตร ผสมน้ำอัตรา 100 ซีซี/น้ำ20 ลิตรหรือหัวเชื้อจุลินทรีย์+น้ำสกัดชีวภาพ สูตรใดสูตรหนึ่ง (ไม่ต้องผสมน้ำ)
วิธีทำ
1. ผสมคลุกเคล้าปุ๋ยคอก ขี้เถ้าแกลบ และรำละเอียดตามอัตราส่วนที่กำหนดข้างต้นให้เข้ากัน
2. ราดด้วยน้ำสกัดชีวภาพผสมน้ำในอัตราส่วนที่กำหนดข้างต้น หรือหัวเชื้อจุลินทรีย์+น้ำสกัดชีวภาพ สูตรใดสูตรหนึ่ง (เพียงเล็กน้อย)
3. ผสมคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน โดยให้มีความชื้นในกองปุ๋ยประมาณ 50%
4. หมักทิ้งไว้จนกว่าความร้อนในกองปุ๋ยจะลดลงจึงนำไปใช้ในการเตรียมดินหรือโรยรอบโคนต้นพืชปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตโดยนำมูลสัตว์ชนิดต่างๆผสมคลุกเคล้ากับขี้เถ้าแกลบหรือกากอ้อยและรำละเอียด แล้วใช้กากน้ำตาลและหัวเชื้อจุลินทรีย์ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอนุภาคเล็กลง

ข้อควรปฏิบัติและข้อสังเกตในการทำปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ :
1. ระหว่างการหมักปุ๋ย ต้องรดน้ำกระสอบป่านให้ชื้นตลอดเวลา เพื่อให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายวัตถุดิบได้อย่างสมบูรณ์

การใช้ประโยชน์ พืชผัก : คลุกเคล้ากับดินในระยะเตรียมแปลงปลูก อัตรา 1.5-2 กก./ตรม. โรยแต่งหน้า
ผักกินใบ : โรยแต่งหน้าหลังเมล็ดงอกประมาณ 15 วัน อัตรา 1 กก./ตรม.
ผักกินผล : โรยรอบโคนต้นในระยะติดผลและหลังเก็บผลผลิต อัตรา 50-100 กรัม/ต้น
ไม้ผล : โรยรอบทรงพุ่ม อัตรา 5-10 กก./ต้น

อัครินทร์ ท้วมขำ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร สิงหาคม 2547

ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง :
ขั้นตอนที่ 1 (วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ)

ปลาทะเลสด 20 กก.
กากน้ำตาล 5 ล.
ผงเอ็นไซม์ 250 กรัม
จุลินทรีย์ 100 กรัม
เตรียมถังพลาสติกขนาดจุ 200 ล. ใช้ปลาสดใหม่ทั้งตัว บดให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้ด้วยเครื่องบดโมลิเน็กซ์ยักษ์ หรือเครื่องบดทั่วๆไป แล้วใส่ส่วนผสมทุกตัวจนครบ คนเคล้าให้เข้ากันดี ถ้าส่วนผสมข้นมากจนบดไม่ได้ให้เติมน้ำมะพร้าวเล็กน้อยพอเหลวให้เครื่องบดทำงานได้ เสร็จแล้วปิดฝาพอหลวมเก็บในอุณหภูมิห้อง หมักทิ้งไว้ 3 เดือน ระหว่างหมัก 3 เดือนนี้ให้คนวันละครั้ง......ครบกำหนด 3 เดือนแล้วจะพบว่า ส่วนผสมต่างๆในถังหมักจะเหลวเป็นน้ำ นั่นคือ "อะมิโน โปรตีน" มีกลิ่นคาวปลาแรงกว่ากากน้ำตาล พร้อมปรุงต่อขั้นที่ 2

ขั้นที่ 2 (วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ)
อะมิโนโปรตีน. ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ซึ่งจะมีปริมาณประมาณ 20 ล.ของถัง 200 ล. ให้เติม......
น้ำมะพร้าว 160 ล.
จุลินทรีย์ 100 กรัม
21-0-0 500 กรัม
คนเคล้าให้เข้ากันดี แล้วเติมอากาศด้วยปั๊มออกซิเจนเฉพาะช่วงกลางวัน เช้าถึงเย็น นานติดต่อกัน 7 วัน......ระหว่างเติมอากาศหากหยุดเติมจะพบว่า วัสดุส่วนผสมต่างๆ ช่วงแรกๆ จะลอยอยู่ที่ผิวหน้า ครั้นเวลาผ่านไปประมาณ 7-21 วัน ส่วนผสมเหล่านั้นจะจมลงก้นถังทั้งหมด เมื่อเห็นว่าส่วนผสมจมลงก้นถังหมดแล้วให้หยุดเติมอากาศ หยุดการคนส่วนผสมก้นถังด้วยเครื่องมือใด เพื่อปล่อยให้ส่วนผสมก้นถังอยู่ในสภาพไร้อากาศ ในสภาพไร้อากาศนี้จะเกิดจุลินทรีย์กลุ่มไม่ต้องการอากาศซึ่งมีพลังย่อยสลายดีกว่าจุลินทรีย์ประเภทต้องการอากาศ....นอกจากนี้ยังพบสารเหลวที่เป็นเมือกจำนวนมากนั่น คือ "ฮอร์โมนไซโตคินนิน" สารที่มีประโยชน์ต่อพืชอย่างมาก
หมายเหตุ :
- คนเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี ปิดฝาพอหลวม เก็บในร่ม อุณหภูมิห้อง เติมอากาศช่วง 7 วันแรก ระหว่างเติมอากาศจะพบว่ามีฟองเกิดขึ้น ถ้าลูกฟองมีขนาดใหญ่ให้เติมอากาศต่อไปเรื่อยๆ จนลูกฟองมีขนาดเล็กละเอียด จึงหยุดเติมอากาศ แล้วหมักทิ้งไว้ข้ามปี (ฟองขนาดใหญ่แสดงว่ายังไม่พร้อมใช้งาน.....ฟองเล็กละเอียดแสดงว่าพร้อมใช้งานแล้ว)

ระยะเวลาหมักยิ่งหลายปียิ่งดี ก็จะได้ "น้ำหมักระเบิดเถิดเทิงดิบ" พร้อมปรุง ก่อนใช้งานจริงน้ำหมักระเบิดเถิดเทิงดิบที่ผ่านการหมักข้ามปีแล้วจะมีกลิ่นแอลกอฮอร์ หากใช้ไม้พายค่อยๆ งัดกากที่อยู่ก้นถังขึ้นมาดู จะพบว่าส่วนผสมที่อาจจะหยาบๆ ในครั้งแรกนั้นได้กลายสภาพเป็นของเหลวเหมือนวุ้น

- สารอาหารพืชที่พึงมีในน้ำหมักระเบิดเถิดเทิงดิบเป็นสารอาหารประเภท "อินทรีย์สาร" ที่ถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายออกมาจากวัสดุส่วนผสมนั่นเอง ปริมาณสารอาหารที่มีหรือที่ได้เมื่อคิดปริมาณเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วถือว่าไม่มากนัก ในพืชอายุสั้นฤดูกาลเดียวอาจเพียงพอต่อการนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตแต่ในพืชยืนต้นขนาดใหญ่ซึ่งต้องการใช้สารอาหารในปริมาณมากขึ้นนั้นอาจจะไม่พอเพียง.....จากหลักการและเหตุผลที่ว่า น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง มีปริมาณเปอร์เซ็นต์ของอาหารน้อยถึงน้อยมากแต่เมื่อได้เติมเพิ่มปริมาณปุ๋ยที่เป็นอนินทรีย์สารจนได้ปริมาณเปอร์เซ็นต์ตามต้องการ จึงสามารถเรียกชื่อใหม่ว่า "ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง" ได้อย่างมั่นใจ

- ทุกขั้นตอนของการหมักไม่มีการเติม "น้ำเปล่า" เพราะในน้ำเปล่านอกจากไม่มีสารอาหารแล้วยังทำให้เปอร์เซ็นต์ของสารอาหารที่พึงมีเจือจางลงไปอีก กับทั้งน้ำเปล่าเป็นต้นสาเหตุทำให้การหมักเกิดเน่าเหม็นอีกด้วย

ขั้นตอนที่ 3 (น้ำหมักระเบิดเถิดเทิงสูตร -?-)
ความหมายของเครื่องหมาย " -?- " คือ สูตรของปุ๋ยธาตุหลัก ซึ่งจะต้องเลือกสูตรที่ตรงกับชนิดและระยะพัฒนาการของพืชที่จะใช้โดยเฉพาะ และ "ธาตุอาหารเน้น" หมายถึง ธาตุอาหารพืชที่นอกเหนือไปจากธาตุรอง/ธาตุเสริม ที่จำเป็นต้องเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับพืชบางชนิด......โดยการปฏิบัติดังนี้
น้ำหมักระเบิดเถิดเทิงดิบ 100 ล.
ปุ๋ยธาตุหลัก (ทางราก) 10-20 กก.
ธาตุรอง/ธาตุเสริม 1-2 กก.
ธาตุอาหารเน้น 1-2 กก.
ไขกระดูก 10 ล.
เลือด 10 ล.
มูลค้างคาว 5 ล.
นม 5 ล.
สาหร่ายทะเล 500 กรัม
ฮิวมิค แอซิด 500 กรัม
บี-1 500 กรัม

คนเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันดีแล้วได้ "ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง" พร้อมใช้งานได้เลย อายุเก็บไม่ควรเกิน 6 เดือน

หมายเหตุ :
- ไขกระดูก. เลือด. มูลค้างคาว. นม. หมักแยกล่วงหน้านานข้ามปีจนพร้อมใช้งาน......หมายถึง "หมักแยก - ใช้รวม"

อัตราใช้และวิธีใช้ :
- ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง 2-5 ล. / ไร่ (นาข้าว พืชไร่ พืชน้ำ ผักสวนครัว.....ช่วงเตรียมดิน)
- ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง 50 ซีซี. / น้ำ 20 ล. /7-10 วัน ให้ทางดิน (ไม้ผลยืนต้น)
- ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง 10 ล. / อินทรีย์วัตถุ 1 ตัน ในการทำปุ๋ยอินทรีย์

ตรวจสอบ - แก้ไข :
สี.
สีน้ำตาลอ่อน-น้ำตาลไหม้-ดำ ขึ้นอยู่กับปริมาณกากน้ำตาลที่ใส่ครั้งแรก และใส่เพิ่มภายหลัง

กลิ่น. หมักใหม่ๆเป็นกลิ่นคาวปลา เมื่ออายุการหมักนานขึ้น กลิ่นคาวปลาเริ่มลดลง เป็นกลิ่นกากน้ำตาลปนกลิ่นคาวปลา กระทั่งหมักนานข้าม 1-2-3 ปี จะมีกลิ่นฉุนเหมือนแอลกอฮอร์ชัดเจน....กลิ่นปกติคือ “กลิ่นที่รับได้” สัมผัสแล้วไม่เวียนหัว ซึ่งต่างจากกลิ่นเหม็นเน่าอย่างสิ้นเชิง ระหว่างการหมักถ้าเริ่ม (เน้นย้ำ...เริ่ม) มีกลิ่นเหม็นเน่า หรือกลิ่นไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น แสดงว่าอ่อนกากน้ำตาล ให้เติมกากน้ำตาล 1-2 ล. ใส่แล้วคนให้ทั่วถัง ทิ้งไว้ 12-24 ชม. กลิ่นไม่พึงประสงค์จะหายไป กลายเป็นกลิ่นรับได้ตามปกติ แสดงว่าอัตราส่วนกากน้ำตาลพอดีแล้ว ถ้ากลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นยังไม่หายก็ให้เติมกากน้ำตาลซ้ำ 1-2 ล.อีกรอบ คนให้ทั่วถัง ทิ้งไว้ 12-24 ชม. จากนั้นตรวจสอบซ้ำพร้อมกับแก้ไขด้วยการเติมกากน้ำตาลไปเรื่อยๆ เมื่ออัตราส่วนของกากน้ำตาลพอดีแล้ว จะไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นอีกเลยจนถึงวันใช้งาน

หมายเหตุ :
ถ้ากากน้ำตาลมากเกิน กระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์จะชะงัก หรือไม่ย่อยสลายเลย ส่วนผสมต่างๆจะไม่เปื่อยยุ่ย หรือเรียกว่า “แช่อิ่ม” นิ่งอยู่อย่างนั้นตราบนานเท่านาน

กาก. หมักใหม่ๆส่วนผสมต่างๆ จะขนาดเท่ากับที่บดด้วยเครื่องบดโมลิเน็กซ์ยักษ์นั้น ครั้นนานไปส่วนผสมจะเหลวเป็นน้ำวุ้น

ฝ้า. บนผิวหน้าจะมีฝ้า สีขาวอมเทา หรือเทาอมดำ หรือสีดำ ฝ้านี้คือจุลินทรีย์กลุ่มต้องการอากาศประเภท "รา" เป็นราที่มีประโยชน์ ไม่มีกลิ่น ส่วนหนึ่งยังมีชีวิต ส่วนที่ตายแล้วจะเป็นอ่าหารให้แก่ตัวที่ยังมีชีวิต

ฟอง.หลังจากผ่านการมักนาน 3-6-9 เดือน ถึงข้าม 1-2-3 ปี แล้วทดสอบโดยปั่นด้วยเครื่องโมลิเน็กซ์ยักษ จะมีฟองเกิดขึ้น ถ้าเป็นฟองขนาดใหญ่ถือว่าการหมักยังไม่ดี แต่ถ้าเป็นฟองละเอียดถือว่าการหมักดี ใช้การได้แล้ว

รูปลักษณ์.กากส่วนที่อยู่ก้นถังจะเหลวเป็นวุ้น มีเมือกใส ซึ่งเมือกนี้คือไซโตไคนิน. อุดมไปด้วยจุลินทรีย์กลุ่มบาซิลลัสส์ เป็นจุลินทรีย์ประเภทไม่ต้องการอากาศ มีพลังในการย่อยสลายเหนือกว่าจุลินทรีย์ประเภทต้องการอากาศ

ปริมาณ. ในการหมักขั้นตอนที่ 2 เติมน้ำมะพร้าวจนเต็มถึงปากถังขนาดจุ 200 ล. จากนั้นประมาณ 1 เดือน ระดับน้ำมะพร้าวจะยุบลงราว 10-15 ซม.เสมอ เมื่อเติมน้ำมะพร้าวใหม่จนเต็มก็จะยุบลงอีก ก็ให้เติมใหม่อีกทุกครั้ง กรณีนี้เกิดจากกระบวนการย่อนยสลายของจุลินทรีย์นั่นเอง

อีซี - ซี/เอ็น เรโช. ตรวจสอบโดย LAB
ถพ. โดยน้ำใสด้านบน ค่า ถพ.ประมาณ 4-5% แต่ถ้าคนให้มีกากละเอียดรวมอยู่ด้วย 30% จะมีค่า ถพ.ประมาณ 10-12%

พีเอช. หมักใหม่ 3-6 เดือน ค่า พีเอช. ประมาณ 3.5-4.5 แต่ถ้าหมักนานข้ามปี ค่า พีเอช. ประมาณ 5.0-6.0

------------------------------------------------------------------------------------------


.


กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©