-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 9 ม.ค. * ทำจุลินทรีย์ สารพัดจุลินทรีย์
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบ ปัญหาประจำวัน 10 ม.ค. ....... * นาข้าว ฟางซุปเปอร์
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบ ปัญหาประจำวัน 10 ม.ค. ....... * นาข้าว ฟางซุปเปอร์

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 09/01/2023 4:29 pm    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบ ปัญหาประจำวัน 10 ม.ค. ....... * นาข้าว ฟางซุปเปอร์ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 10 ม.ค.

***********************************************************************
สวัสดีครับ ท่านผู้ฟัง ที่เคารพ
กองทัพบก เพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตรและอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดย กองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

จุดยืนรายการ ....
* เกษตรแบบ อินทรีย์นำ - เคมีเสริม - ตามความเหมาะสม “.. ? ..”
* ปัจจัยพื้นฐาน ดิน - น้ำ - แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล - สารอาหาร - สายพันธุ์ - โรค
* หัวใจเกษตร ปุ๋ย-ยา-ไฟฟ้า-เวลา-ค่าแรง-ค่าที่-อารมย์-เทคนิค-เทคโนฯ-โอกาส-ตลาด-ต้นทุน
* พร้อมทำเองสอนวิธีทำ พร้อมซื้อสอนวิธีซื้อ

กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการ
เช่นเคย รายการเรา....
*** 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม-ฝากข่าว-สายตรง ที่ (081) 913-4986, ....
*** FB วีระ ใจหนักแน่น, ....
*** อินเตอร์เน็ต เกษตรลุงคิม ดอทคอม .... เว้บนี้ ถาม 1 บรรทัด ตอบ 1 หน้า
ถนัดช่องทางไหนเลือกช่องทางนั้นตามอัธยาศัย นักรบไม่ว่ากัน THANK YOU ....

รายการวิทยุ :
*** AM 594 ปตอ. เวลา 0815-0900 จันทร์-ศุกร์ คลื่นนี้ครอบคลุมพื้นที่ 40+ จังหวัด ***

งานสัญจรปกติตามวงรอบ :
* วันเสาร์ของสัปดาห์แรกของเดือน ....... ไปที่วัดพยัคฆาราม (วัดเสือ) ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สองของเดือน ..... ไปที่วัดอัมพวัน (หลวงพ่อโหน่ง) สองพี่น้อง สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สามของเดือน ..... ไปวัดท่าตำหนัก เพชรเกษม แยกนครชัยศรี นครปฐม,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สี่ของเดือน ........ ไปวัดส้มเกลี้ยง ใกล้โรงกรองประปา ถ.วงแหวนตะวันตก
* เดือนที่มี 5 เสาร์ เสาร์ที่ 5 ของเดือน ... ไปวัดทุ่งสะเดา แปลงยาว ฉะเชิงเทรา
** ถึงจุดนี้ เกษตรกรอยากให้งานสัญจรไปลง ที่ไหนก็ได้ ติดต่อมา พูดคุยกันในรายละเอียด

*** วันจันทร์ ทุกวันจันทร์ เฉพาะวันจันทร์ สมช.สีสันชีวิตไทย “คุณล่า” (081) 944-8494 ไปที่ตลาดนัดวัดอมรญาติ ดำเนินสะดวก ราชบุรี พร้อมกับ ระเบิดเถิดเทิง. ไบโออิ. ไทเป. ยูเรก้า. ยาน็อค. กับหนังสือหัวใจเกษตรไทย มินิ ไปจำหน่าย....
*** ด้วยประสบการณ์ร่วม 20 ปี พบเห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมามากมาย ใครสนใจใคร่รู้ก็ไปคุยกัน แล้วจะรู้ว่า อ้อออ เป็นอย่างนี้นี่เอง....

*** งานสีสันสัญจรวันเสาร์ เสาร์นี้วันที่ 14 ม.ค. ลุงคิม กับ อ.ณัฐ (086) 983-1966 สมุนไพรสำหรับคน ไปที่วัดอัมพวัน (หลวงพ่อโหน่ง) สองพี่น้อง สุพรรณบุรี, ....
*** งานนี้ ซื้อหนังสือหัวใจเกษตรไท มินิ 1 เล่ม แถม หนังสือไม้ผลแนวหน้า 1 เล่ม........ใครไม่ซื้อ ไม่ซื้อแต่แจก แจกหนังสือไม้ผลแนวหน้า คนละ 1 เล่ม


***********************************************************************
***********************************************************************

จาก : 08 271x 498x
ข้อความ : ฟางข้าวคือปุ๋ยนาข้าวและพืชทุกชนิด เรามีวิธีทำให้ฟางกลายเป็นปุ๋ย กี่วิธีครับ

จาก : 06 823x-091x
ข้อความ : ข้าว 1 เกวียน ได้ฟาง 1 ตัน ในฟางคือปุ๋ยเอามา แทนเสริมเติมเพิ่ม ปุ๋ยในกระสอบได้ ขึ้นกับการบริหารจัดการค่ะ

จาก : 09 834x 263x
ข้อความ : อยากให้พ่อแม่ย่ายาย เลิกเผาฟางแล้วทำฟางบำรุงดินเป็นปุ๋ย ต้องสร้างทางเลือกหลายทางเพื่อให้ยอมรับ ขอบคุณครับ


MOTIVATION แรงบันดาลใจ :

จากฟาง ต่อยอดขยายผลเป็น ฟางซุปเปอร์ :
การผลิตปุ๋ยหมักฟางข้าวและตอซังด้วยน้ำหมักชีวภาวนาเกษตรกร :

ฟางข้าว เป็นอินทรียวัตถุที่มีประโยชน์สูงควรถนอมไว้ในนาข้าวของเกษตรกรทุกคนและทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะนาเขตชลประทาน ซึ่งมีพฤติกรรมการทำนา 2-3 ครั้งต่อปี แต่จำนวนฟางข้าวอาจถูกนำออกจากนาหรือเผาทิ้ง โดยไม่มีการเพิ่มอินทรียวัตถุกลับคืนให้กับดินนาเช่นนี้ ดินย่อมเสื่อมคุณภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินโดยการใส่ปุ๋ยเคมีทดแทนก็ตาม แต่มีผลกระทบต่อดินนา คือ ปุ๋ยเคมีจะไปช่วยเร่งให้จุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้หมดไปโดยเร็วสภาพดังกล่าวอาจทำให้ดินนาเสื่อมสภาพทางฟิสิกส์ทำให้ดินแข็งตัวมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าดินจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้นด้วย ดังนั้นฟางข้าวจึงเป็นอินทรียวัตถุที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงบำรุงดิน เกษตรกรไม่ควรนำออกจากแปลงนาหรือไม่ควรเผาทิ้งเป็นอย่างยิ่ง

สถานการณ์และสภาวะปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของเกษตรเทคโนโลยีการทำนาของเกษตรกร ในเขตชลประทานภาคกลางที่มีปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานค่อนข้างสมบูรณ์ เกษตรกรทำนาต่อเนื่อง 2-3 ครั้งต่อปี โดยวิธีการหว่านน้ำตมทำให้มีรอบการผลิตค่อนข้างรวดเร็ว (ประมาณ 12-21 วัน) เพื่อให้ทันต่อฤดูกาลผลิต ทำให้เกษตรกรเกือบทุกรายเผาฟางก่อนฤดูทำนา ด้วยวิธีการเตรียมดินแบบหยาบๆ และรีบเร่ง โดยไถกลบเศษฟางที่เหลือจากการเผากับตอซังลงไปในดินที่มีการระบายอากาศไม่ดีขาดออกซิเจน ทำให้เกิดมี Intermidiate Product สะสมมาก เช่นก๊าซมีเทน (CH4) เป็นต้น ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีผลเสียต่อสภาวะแวดล้อมของโลก ทำให้จุลินทรีย์ดินพวก Heterothropic ที่มีบทบาทการย่อยสลายฟางข้าวและตอซังมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ มีการย่อยสลายเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้เกิดกระบวนการ Immobilization เกิดขึ้นรุนแรง ทำให้ข้าวที่ปลูกใหม่ แสดงอาการขาดไนโตรเจนชั่วคราว ที่เกษตรกรนิยมเรียกว่า “โรคเมาหัวซัง” วิธีแก้ไขมีหลายวิธี ที่ดีและรวดเร็วคือ ทำให้ฟางข้าวหรือตอซังย่อยสลายให้รวดเร็วที่สุดโดยการเพิ่มหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้าช่วยให้เกิดกิจกรรมย่อยสลายจากจุลินทรีย์หลายกลุ่มที่มีปฏิกิริยาต่อเนื่องสนับสนุนกันเป็นลูกโซ่ ระหว่างมีกิจกรรมจุลินทรีย์จะช่วยใช้ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดิน ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดขบวนการทำให้ธาตุอาหารเปลี่ยนรูปที่เป็นประโยชน์เมื่อจุลินทรีย์เหล่านั้นตายไป ก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืชใช้ได้ และยังก่อให้เกิดสารประกอบอินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่มีผลดีต่อพืช เช่น ฮอร์โมน สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและรากพืช ดังนั้นหลังเก็บเกี่ยวแล้วเกษตรกรไม่ควรเผาฟางข้าวเพราะจะทำให้สูญเสียคาร์บอนที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ดินที่จะนำไปก่อให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพืช


ผลงานวิจัยการใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวปรับปรุงดินนา
ประเสริฐและคณะ (2531) รายงานว่าผลการทดลองใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวปรับปรุงดินนาในท้องที่ จังหวัดสุรินทร์ โดยใช้เวลาติดต่อกันถึง 12 ปี (2519-2530) พบว่า ถ้าใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวในอัตรา 2 ตัน/ไร่ ผลผลิตข้าว กข.7 ในปีแรกของการทดลองได้ผลผลิตเพียง 265 กก./ไร่ และเพิ่มขึ้นเป็น 621 กก./ไร่ ในปี 2530 หรือเพิ่มขึ้นถึง 356 กก. คิดเป็นการเพิ่มถึงร้อยละ 134 และถ้าหากเปรียบเทียบกับนาที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยหมักฟางข้าวซึ่งในปี 2530 ให้ผลผลิตเพียง 358 กก./ไร่ ซึ่งต่ำกว่าผลผลิตของแปลงที่ใส่ปุ๋ยหมักฟางข้าวถึงไร่ละ 263 กก./ไร่ หรือต่ำกว่าร้อยละ 73 และเมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-4-4 กก./ไร่ ของ N,P2O5 และ K2O อย่างเดียว ให้ผลผลิตในปีที่ 12 (2530) 507 กก./ไร่ ขณะที่ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราเดียวกันร่วมกับปุ๋ยหมักฟางข้าวในอัตรา 2 ตัน/ไร่ จะให้ผลผลิตสูงถึง 793 กก./ไร่ สูงกว่าถึง 286 กก./ไร่ หรือร้อยละ 56 จากแปลงที่ใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวและยังพบอีกว่าแปลงที่ใส่ปุ๋ยหมักฟางข้าวอัตรา 2 ตัน/ไร่ ติดต่อกันให้ผลผลิตสูงกว่าแปลงที่ใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวติดต่อกัน

ประโยชน์ของฟางข้าวเมื่อไม่เผาทิ้ง
1. ฟางข้าวช่วยทำให้ดินมีปริมาณของอินทรียวัตถุในดินมากขึ้น
2. ฟางข้าวช่วยทำให้พื้นที่นาที่ถูกคลุมด้วยฟางข้าวมีสภาพจุลนิเวศ (Microclimate) เหนือผิวดินเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และ ไส้เดือน เป็นต้น

3. ฟางข้าวช่วยคลุมวัชพืช โดยการบังแสงแดด ไม่ให้วัชพืชเติบโตได้
4. ฟางข้าวช่วยบังแสงแดด ทำให้ดินมีความชื้นอยู่ได้นาน เป็นประโยชน์แก่พืชที่ปลูกทำให้ผลผลิตสูงกว่าดินที่ไม่มีฟางข้าวปกคลุม

5. ฟางข้าวเมื่อเน่าสลายจะให้ธาตุอาหารแก่พืชเมื่อฟางข้าวย่อยสลายแล้วจะได้ธาตุไนโตรเจน (N) ธาตุฟอสฟอรัส (P) ธาตุโพแทสเซียม (K) และ แคลเซียม (Ca ) แมกนีเซียม (Mg) ที่สำคัญมีธาตุซิลิก้า (SiO2) ด้วย

6. ฟางข้าวนำไปเป็นอาหารโค กระบือ ได้
7. ฟางข้าวสามารถนำไปทำวัสดุเพาะเห็ดฟางได้
8. ฟางข้าวเป็นวัสดุที่อยู่ในนาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาไปขนมาใส่ในนา ก่อนที่จะหมักฟางข้าว ต้องเกลี่ยฟางให้กระจายทั่วทั้งแปลง


วิธีการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวและตอซังด้วยน้ำหมักชีวภาพในพื้นที่แปลงนาเกษตรกร :
ฟางข้าวจำนวน 1 ตัน เมื่อหมักแล้วจะได้ธาตุอาหารทั้งธาตุหลักและธาตุรอง ดังนี้คือ
ไนโตรเจน (N) 6 กิโลกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส (P2O5) 1.4 กิโลกรัม
ธาตุโพแทสเซียม (K2O) 17 กิโลกรัม
แคลเซียม (Ca) 1.2 กิโลกรัม
แมกนีเซียม (Mg) 1.3 กิโลกรัม และที่สำคัญคือ
ได้ธาตุซิลิก้า (Si O2) จำนวน 50 กิโลกรัม
(จิราภา,2544)

ปกติในนาเกษตรกรในภาคกลางและภาคตะวันตกมีเนื้อดินเป็นดินเหนียวส่วนใหญ่มีฟางข้าวเหลือ 800-1,000 กิโลกรัม/ไร่ รวมทั้งตอซังอีก 1,200-1,500 กิโลกรัม/ไร่ คือ เฉลี่ยทั้งตอซังและฟางข้าวประมาณ 2 ตัน/ไร่ ส่วนในดินที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนทรายจะมีฟางข้าวเหลือต่ำกว่า คือ 500-800 กิโลกรัม/ไร่


ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักฟางข้าวและตอซังโดยไม่มีการเผาฟางข้าว :
1. หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วให้เกษตรกรเกลี่ยฟางข้าวให้กระจายคลุมทั่วทั้งแปลงนาด้วย แรงคนหรือ เครื่องเกลี่ยฟางข้าวติดท้ายแทรกเตอร์มีค่าใช้จ่าย 50 บาท/ไร่ หรือใช้ภูมิปัญญาเกษตรกร อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้ลำไม้ไผ่ชนิดที่มีกิ่งมีหนามจำนวน 2 ลำ ผูกติดท้ายแทรกเตอร์ลาก 2-3 รอบ สามารถเกลี่ยฟางข้าวกระจายทั่วทั้งแปลงนา เมื่อคิดต้นทุนเพียง 15 บาท/ไร่ (ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง)

2. ทดน้ำเข้าแปลงนา ใช้อีคลุบติดท้ายแทรกเตอร์ย่ำให้ฟางข้าวและตอซังจมน้ำระดับ 3-5 ซม.
3. ใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรไหนก็ได้ที่คิดว่าต้นทุนถูกที่สุดและจุลินทรีย์ยังมีชีวิตอัตรา 5-10 ลิตร/ไร่ (ฟางข้าว 500-800 กก. ใช้น้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร/ไร่ และฟางข้าว 800-1,000 กก. ใช้น้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร/ไร่) ใส่แกลลอนเจาะรูให้น้ำหมักชีวภาพไหลได้ นำไปติดท้ายแทรกเตอร์ โดยใช้อีคลุบย้ำตอซังและฟางข้าวทำให้น้ำหมักกระจายไปทั่วแปลงนา เป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ย่อยสลาย

4. ใช้เวลาหมักประมาณ 10 วัน ตอซังและฟางข้าวเริ่มอ่อนตัวและเริ่มย่อยสลาย สามารถไถพรวนเตรียมดินได้ไม่ติดเครื่องมือไถพรวน


เอกสารประกอบการเขียน
จิราภา เมืองคล้าย. 2542. การใช้ปุ๋ยในนาข้าว. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร. 32 หน้า.
ชนวน รัตนวราหะ. 2544. เกษตรอินทรีย์. เอกสารเผยแพร่ กพพ.1/2544 , กองสหกรณ์การเกษตร กลุ่มพัฒนาระบบการจัดการสหกรณ์ด้านพืชผักผลไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์.152 หน้า.
ประเสริฐ สองเมือง และวิทยา ศรีทานันท์. (2531). การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดินนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. รายงานสัมมนาวิชาการเรื่อง การปลูกพืชในดินนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23-27 พฤษภาคม 2541. สำนักงานปลัดกระทรวง , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สุรพล จัตุพร. 2544. ฟางข้าว. อาหารของจุลินทรีย์ดินในการทำนายุคเกษตรกรเทคโนโลยี. โรเนียว 3 แผ่น.
อัครินทร์ ท้วมขำ นักวิชาการเกษตร 8ว
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร
23 กรกฎาคม 2547


ตอบ :

คนถามใหม่ คำถามเก่า คำตอบเดิม :
จาก :
(068) 187-62xx
ข้อความ : ขอเรื่อง วิธีไม่เผาฟางและประโยชน์ของฟางข้าวในนา จะเอาไปเขียนรายงานส่งครูค่ะ ขอข้อมูลที่คุณตาผู้พันเขียนขึ้นมาเองค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ.... สุณิสา บางปลาม้า สุพรรณบุรี
ตอบ :
หลากหลายวิธีไม่เผาฟาง :
หลักการและเหตุผล :

ฟาง คือ อินทรีย์วัตถุประเภทเศษซากพืชที่มีราคาประหยัดที่สุด และมีประโยชน์ต่อต้นข้าวมากที่สุด กล่าวคือ ฟางคือต้นข้าว ในต้นข้าวย่อมมีสารอาหารที่ต้นข้าวต้องใช้พัฒนาตัวเอง เมื่อฟางถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ สารอาหารที่เคยมีในฟางก็จะออกมากลายเป็นสารอาหารพืชสำหรับข้าวต้นใหม่ นอกจากเป็นสารอาหารพืชแล้ว ฟางยังมีคุณสมบัติที่ดีต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวอีกหลายประการ อาทิ เป็นแหล่งอาหารจุลินทรีย์ ทำให้ดินโปร่งร่วนซุย น้ำและอากาศผ่านสะดวก ช่วยซับหรืออุ้มน้ำไว้ใต้ดินโคนต้น เป็นต้น

ต้นข้าวในแปลงปลูกที่ดินมีความความชื้นสูง (ดินแฉะ) จะเจริญเติบโต แตกกอ สมบูรณ์แข็งแรง มีภูมิต้านทานสูงและให้ผลผลิตดีกว่าต้นข้าวในแปลงปลูกที่ดินมีน้ำขังท่วม

มาตรการทำให้ดินมีความชื้นสูง มีน้ำใต้ผิวดินมากๆ ทั้งๆ ที่หน้าดินแห้งจนแตกระแหงก็คือ การให้มีอินทรีย์วัตถุ (เศษซากพืช เศษซากสัตว์ และจุลินทรีย์)อยู่ในเนื้อดินมากๆ ถึงอัตราส่วน 1:1 สะสมต่อเนื่องติดต่อกันมานานหลายๆปี

แนวทางปฏิบัติ :
หลังจากรถเกี่ยวข้าวออกไปแล้ว ให้ดำเนินการส่งฟาง และ/หรือ เศษซากพืช-อินทรีย์วัตถุอื่นๆ ลงไปอยู่ใต้ผิวดิน ผสมคลุกกับเนื้อดินให้เข้ากันดี ตามขั้นตอน หรือ ลัดขั้นตอนก็ได้ ดังนี้

1. ตากฟาง-ไม่ตากฟาง :
วัตถุประสงค์คือ ต้องการให้ฟางแห้ง เพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายทำให้ฟางเปื่อยได้เร็วขึ้น อันที่จริงนั้น จุลินทรีย์สามารถย่อยสลายได้ทั้งฟางสดและฟางแห้ง เพียงแต่การย่อยสลายฟางแห้งทำได้ง่ายและเร็วกว่าฟางสดเท่านั้นเอง ดังนั้น การตากฟางหรือไม่ตากก่อนไถกลบจึงไม่ต่างกันนัก ก็ให้พิจารณาตามความเหมาะสม

2. เกลี่ยฟาง-ไม่เกลี่ยฟาง :
วัตถุประสงค์คือ ต้องการให้ฟางกระจายตัวเท่าๆกันทั่วแปลง และแห้งเร็วๆ เมื่อไถกลบลงไปในดินแล้วเนื้อดินผสมกับฟางสม่ำเสมอกันซึ่งจะส่งผลให้ดินมีคุณภาพเท่าๆกันทั้งแปลงนั่นเอง.......ล้อรถเกี่ยวข้าวเป็นสายพานตีนตะขาบ ขณะที่รถเกี่ยววิ่งไปนั้น ตอซังที่ถูกสายพานตีนตะขาบเหยียบย่ำจะแบนราบแนบติดพื้น ส่วนตอซังที่อยู่บริเวณใต้ท้องรถเกี่ยวจะไม่ถูกเหยียบย่ำ ยังคงเป็นตอตั้งตรงเหมือนเดิม นอกจากนี้เศษฟางที่รถเกี่ยวพ่นออกมา ซึ่งรถเกี่ยวข้าวบางรุ่นพ่นเศษฟางให้ฟุ้งแผ่กระจายไปทั่วได้ แต่รถเกี่ยวบางรุ่นพ่นเศษฟางตรงๆลงทับบนตอซังกลายเป็นกองเศษฟาง กรณีนี้ ถ้าต้องการให้ฟางแผ่กระจายก็ให้ใช้ไม้เขี่ยฟางที่เป็นกองออก แต่ถ้าไม่ต้องการให้ฟางแผ่กระจายก็ไม่จำเป็นต้องเขี่ยออก เพราะช่วงที่รถไถผานโรตารี่เข้าทำเทือกนั้น ผานโรตารี่ก็จะช่วยกระจายฟางไปในตัวเองได้แต่อาจจะไม่กระจายดีกับการเกลี่ยก่อนเท่านั้น

3. ย่ำฟาง-ไม่ย่ำฟาง :
วัตถุประสงค์คือ ทำให้ฟาง ฉีก-ขาด-ช้ำ เพื่อเป็นช่องทางให้จุลินทรีย์ผ่านเข้าไปง่ายๆแล้วย่อยสลายฟาง ปฏิบัติโดยการใช้รถไถเดินตามล้อเหล็กวิ่งย่ำไปบนเศษฟางให้ทั่วแปลง วิ่งย่ำซ้ำหลายๆรอบ ฟางที่ถูกล้อเหล็กย่ำจะ ฉีก-ขาด-ช้ำ เกิดเป็นบาดแผลช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางให้เปื่อยยุ่ยได้เร็วกว่าฟางที่ยังคงเป็นชิ้นๆอยู่

4. หมักฟาง :
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ฟางเปื่อยยุ่ยโดยเร็ว ไม่ว่าฟางในแปลงนาจะตากแห้งแล้วหรือยังสด เกลี่ยกระจายแล้วหรือยังเป็นกลุ่มกอง ย่ำให้เป็นแผลช้ำแล้วหรือยังเป็นชิ้นเดิมๆ ทุกสภาพของฟางไม่อาจรอดพ้นฝีมือของจุลินทรีย์ไปได้ เริ่มด้วยการปล่อยน้ำเข้าแปลงพร้อมกับใส่จุลินทรีย์ 2-5 ล./ไร่ รักษาระดับน้ำให้ลึกราว 20-30 ซม. ทิ้งไว้ราว 10-20 วัน น้ำจะเปลี่ยนสีเป็นสีชาอ่อนๆ สภาพของฟางเริ่มเปื่อยยุ่ย เมื่อเดินย่ำลงไปจะมีฟองเกิดขึ้น ให้สังเกตฟอง ถ้ามีกลิ่นเหม็นแสดงว่าจุลินทรีย์เป็นพิษให้ ระบายน้ำออกทั้งหมดแล้วเติมน้ำใหม่ พร้อมกับจุลินทรีย์ชุดใหม่เข้าไปแทน แล้วเริ่มหมักใหม่อีกรอบ....ถ้าฟองนั้นไม่มีกลิ่นเหม็นแสดงว่าจุลินทรีย์ดี ให้หมักต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าฟางจะเปื่อยยุ่ยได้ที่ตามต้องการแล้วจึงลงมือทำเทือก

ถ้าหมักฟางยังไม่ได้ที่หรือยังมีกลิ่นเหม็น (แก๊ส) จะมีผลต่อต้นข้าวระยะกล้า (ต้นเหลืองโทรม) เรียกว่า “เมาตอซัง” กรณีนี้แก้ไขโดยระบายน้ำเก่าออกพร้อมๆกับส่งน้ำใหม่เข้าไปแทนที่หรือใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย จากนั้นบำรุงต้นกล้าด้วยฮอร์โมนทางด่วน 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 3-5 วัน

5. ไถกลบฟาง :
วัตถุประสงค์คือ การส่งฟางลงไปคลุกเคล้ากับเนื้อดินจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วให้จุลินทรีย์ย่อยสลายจนเปื่อยยุ่ยกลายเป็นปุ๋ยฟางที่อยู่ในแปลงนานั้นจะตากหรือไม่ตาก เกลี่ยหรือไม่เกลี่ย ย่ำหรือไม่ย่ำ หมักหรือยังไม่หมัก สามารถไถกลบลงดินได้ทั้งสิ้น เพียงแต่แบบไหนจะยากง่ายกว่ากัน ด้วยเครื่องมือต่างๆ ดังนี้

- ไถด้วยรถไถจอบหมุนโรตารี่ เป็นรถไถขนาดกลางนั่งขับ ขณะไถมักมีฟางพันผาน แก้ไขโดยการเดินหน้าสลับกับถอยหลังเพื่อสลัดฟาง หรือยกผานขึ้น ใส่เกียร์ถอยหลังแล้วเร่งเครื่องแรงๆ ผานจะหมุนฟรีแล้วสลัดฟางออกเองได้

- ไถด้วยรถไถเดินตาม (ควายเหล็ก) ผานเดี่ยว (ผานหัวหมู) ขณะไถมักมีฟางพันผาน แก้ไขโดยต่อใบผานให้ยาวขึ้น 10-12 นิ้ว หรือมากกว่า เพื่อส่งขี้ไถและฟางให้ตกห่างจากผานมากๆ

- ย่ำด้วยลูกทุบ (อีขลุบ) ลากด้วยควายเหล็ก ลูกทุบจะย่ำฟางให้ยุบลงแนบกับเนื้อดินบริเวณผิวหน้าดินเท่านั้นไม่ได้ลงไปคลุกหรือจมลงไปในเนื้อดิน เมื่อหว่านเมล็ดข้าวลงไป เมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งจะติดค้างอยู่บนหญ้าที่หน้าดิน ช่วงที่เมล็ดเริ่มงอก ระบบรากยังแทงไม่ทะลุกองหญ้าลงไปถึงเนื้อดินด้านล่างได้ ครั้นเมื่อปล่อยน้ำเข้าแปลง ฟางจะลอยขึ้นพร้อมกับยกต้นกล้าข้าวให้ลอยตามขึ้นมาด้วย กรณีนี้แก้ไขโดย ปล่อยให้รากต้นข้าวเจริญยาวลงไปถึงเนื้อดินล่างดีแล้วจึงปล่อยน้ำเข้า หรือนำเส้นฟางออกเหลือแต่เหง้ากับรากต้นข้าวแล้วย่ำ....วิธีการหมักฟางนานๆจนเปื่อยยุ่ยดี แล้วย่ำด้วยอีขลุบหลายรอบ ให้มากรอบที่สุดเท่าที่จะมากได้ ฟางที่เปื่อยยุ่ยแล้วถูกย่ำด้วยล้อเหล็กจนแหลกละเอียดจะคลุกเคล้าผสมกับเนื้อดินบริเวณผิวหน้าดิน กรณีนี้แม้ต้นกล้าข้าวจะงอกบนเศษฟางเปื่อย เมื่อปล่อยน้ำเข้าก็จะไม่ยกต้นกล้าข้าวให้ลอยตามขึ้นมา นาข้าวที่ผ่านการไถกลบฟางมา 2-3 รุ่น จนขี้เทือกลึกระดับครึ่งหน้าแข้งแล้ว การทำนารุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องไถอีก แต่ให้ปล่อยน้ำเข้าเพื่อหมักฟางหรือล่อให้วัชพืชขึ้นจากนั้นหมักทิ้งไว้ 10-15 วัน จนแน่ใจว่าฟางเปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าและเมล็ดวัช พืชงอกขึ้นมาจนหมดแล้วก็ให้ลงมือย่ำด้วย “อีขลุบหรือลูกทุบ” ได้เลย ทั้งนี้ลูกทุบหรืออีขลุบจะช่วยคลุกเคล้าเนื้อดินกับฟางและวัชพืชให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าไถลงได้

6.ไม่ไถ :
หลังจากรถเกี่ยวเสร็จสิ้นภารกิจ ในแปลงมีตอซังและเศษฟาง แนวทางการทำเทือกโดยไม่ต้องไถ ไม่ว่าจะเป็นการไถด้วยรถไถใหญ่ผานจาน 3 หรือผาน 7 รถไถเดินตามผานจานเดี่ยวหรือคู่ รถไถโรตารี่สามารถทำได้โดยจัดการกับตอซังและเศษฟาง ตากฟางหรือไม่ตาก เกลี่ยหรือไม่เกลี่ยก็ได้ แล้วเริ่มด้วยการสูบน้ำเข้าให้ลึกประมาณ 30 ซม. ใส่จุลินทรีย์หน่อกล้วยหรือกากน้ำตาล 5-10 ล./ไร่ สาดให้ ทั่วแปลง ทิ้งไว้ 7-10 วัน จนน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีชาอ่อนๆ จากนั้นให้ลงมือย่ำด้วย อีขลุบ หรือ ลูกทุบ ได้เลย ย่ำหลายๆรอบจนกว่าตอซังและเศษฟางรวมทั้งเศษซากต้นวัชพืชแหลกละเอียดลงไปคลุกกับเนื้อดิน เสร็จแล้วทิ้งไว้อีก 7-10 วัน ก็ให้ลงมือย่ำรอบสองด้วยวิธีการเดิม แล้วทิ้งไว้อีก 7-10 วัน ตรียมการย่ำต่อรอบสามเป็นรอบสุดท้าย ก่อนลงมือย่ำรอบสามให้ใส่อินทรีย์วัตถุ และ ปุ๋ย สำหรับนาข้าวตาม ปกติ เสร็จแล้วให้ลงมือปลูก (ดำหรือหว่าน) ข้าวได้เลย ถ้าเป็นนาข้าวที่เตรียมแปลงแบบไม่เผาฟางหรือไถกลบฟางครั้งแรก จะพบว่าชี้เทือกลึกเหนือกว่าตาตุ่มอย่างชัดเจนซึ่งถือว่าเพียงต่อการเพาะปลูกข้าวแล้วทั้งดำและหว่าน....หากเป็นนาที่เคยไม่เผาฟางแต่ไถกลบมาหลายรุ่นแล้ว การย่ำเพียงรอบแรกรอบเดียวก็จะได้ขี้เทือกลึกถึงระดับครึ่งหน้าแข้ง

ประโยชน์ที่ได้จากการย่ำเทือกหลายๆ รอบที่เห็นชัดที่สุด คือ นอกจากได้กำจัดวัชพืชโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีกำจัดวัชพืชแล้วยังได้ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษซากพืชอีกด้วย

หมายเหตุ :
- ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแบบใด ที่ด้านหน้ารถดัดแปลงให้มีตะแกงสำหรับตั้งถังขนาดจุ 20-50 ล. เจาะรูก้นถัง 2-3 รู มีก๊อกปรับอัตราการไหลช้า/เร็วได้ ในถังใส่ปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์น้ำ แล้วปล่อยให้ไหลออกมช้าๆ ขณะที่รถไถวิ่งไปนั้นก็จะปล่อยปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์หยดลงพื้นที่ด้านหน้า แล้วถูกผานด้านหลังไถผสมลงไปคลุกผสมกับเนื้อดินเอง

- การทำนาแบบไถกลบฟางลงดินรุ่นแรก หมักฟางนานๆจนเปื่อยยุ่ยดี แล้วย่ำซ้ำหลายๆรอบ จะทำให้ได้ “ขี้เทือก” ลึก 20-30 ซม.(ครึ่งหน้าแข้ง) ในขณะที่การทำเทือกแบบเผาฟางก่อนนั้นจะได้ขี้เทือกลึกน้อยกว่ามาก

- นาข้าวแบบไถกลบฟาง จากรุ่นแรกที่ไถกลบนั้นจะมีฟางลงไปอยู่ในเนื้อดินราว 1 ตัน ต่อมารุ่นที่ 2 ก็จะมีฟางชุดใหม่ลงไปสมทบอีก 1 ตัน หรือทำนาข้าวจะได้ฟางรุ่นละ 1 ตัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแบบรุ่นต่อรุ่น ทั้งนี้เนื่องจากฟางรุ่นแรกๆ แม้จะเปื่อยยุ่ยดีแล้วแต่ก็ยังคงมีเศษซากหลงเหลืออยู่ ยิ่งมีเศษซากฟางอยู่ในดินมากเท่าใดยิ่งทำให้ได้ขี้เทือกลึกมากเท่านั้น

จากประสบการณ์ตรงพบว่า การทำเทือกแบบไถกลบฟางสี่รุ่นติดต่อกัน ปรากฏว่าได้ขี้เทือกลึกถึงหัวเข่าซึ่งถือว่ามากเกินไป ผลเสียคือ เดินเข้าไปสำรวจแปลงได้ยาก ก่อนเกี่ยวซึ่งต้องงดน้ำ 7-10 วันเพื่อให้หน้าดินแห้งทำไม่ได้ และทำให้รถเกี่ยวเข้าทำงานไม่ได้อีกด้วย

แนวแก้ไข คือ ไถกลบฟาง 2 รุ่นติดต่อกันไปก่อน เมื่อจะทำนารุ่น 3 ให้นำฟางออกเหลือแต่เหง้ากับรากในดินก็พอ ต่อมาเมื่อจะทำนารุ่น 4 ก็ให้วิเคราะห์ปริมาณเศษซากฟางในดินก่อนว่า สมควรนำฟางของนารุ่น 3 ออก แล้วเหลือแต่เหง้ากับราก หรือต้องไถกลบฟางรุ่นใหม่เติมลงไปอีก ทั้งนี้ความ ลึกของขี้เทือกจะเป็นตัวชี้บอก ประเด็นสำคัญก็คือ จะต้อง “ไม่เผา” อย่างเด็ดขาด.ตามเกณฑ์ของการเตรียมดินปลูกข้าว ควรมีอินทรีย์วัตถุประเภทเศษซากพืช 2-3 ตัน/ไร่/รุ่น

- ฟางข้าวในนาข้าว คือ อินทรีย์วัตถุหรือปุ๋ยพืชสดที่มีราคาต่ำที่สุดและมีประโยชน์มากที่สุด ฟางข้าวเป็นทั้งแหล่งสารปรับปรุงบำรุงดิน บำรุงจุลินทรีย์ และเป็นแหล่งสารอาหารสำหรับต้นข้าวทั้งรุ่นปัจจุบัน รุ่นหน้า และรุ่นต่อๆไป นอกจากฟางแล้วควรจัดหาแหล่งเศษซากพืชอื่นๆเสริมเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้มากขึ้น จากฟางตัวเดียว ฟางธรรมดาๆ ก็กลายเป็น “ฟางซุปเปอร์” นั่นเอง

เกษตรกรชาวนาและชาวไร่ของสหรัฐอเมริกา หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในนาหรือในไร่แล้วไม่มีการเผาทิ้งหรือนำออก แต่ใช้วิธีการไถกลบด้วยรถไถกลบขนาดใหญ่ ซึ่งขณะไถกลบนั้นก็จะเติมอินทรีย์วัตถุสารปรับปรุงบำรุงดิน จุลินทรีย์ และสารอาหารอื่นๆไปพร้อมๆกัน เพื่อประหยัดเวลา แรงงาน และให้เกิดความหลากหลายตามธรรมชาติ

---------------------------------------------------------------------------------------


.




กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©