-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-น้ำหมักชีวภาพ BMW ..ประสบการณ์ตรง
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - น้ำหมักชีวภาพ BMW ..ประสบการณ์ตรง
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

น้ำหมักชีวภาพ BMW ..ประสบการณ์ตรง

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 20/03/2010 7:40 pm    ชื่อกระทู้: น้ำหมักชีวภาพ BMW ..ประสบการณ์ตรง ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ผลของน้ำหมักชีวภาพ Bacterio Mineral Water ในการผลิตถั่วเขียว
Effect of Bacterio Mineral Water (BMW) in Mungbean Production


ชุติมันต์ พานิชศักดิ์พัฒนา 1 นงลักษ์ ปั้นลาย 1 อดิศักดิ์ คำนวณศิลป์ 1
ปิยะรัตน์ จังพล 1 นลินี ศิวากรณ์ 2 สาธิต อารีรักษ์ 3 สุภา โพธิจันทร์ 4
ชรินรัตน์ สุวรรณสม 4 จินดารัตน์ ชื่นรุ่ง 4 สุมนา งามผ่องใส 5


บทคัดย่อ
จากกระแสการลดการใช้สารเคมีในการผลิตพืชได้ทดลองนำน้ำหมักชีวภาพ BMW ซึ่งเป็นระบบการผลิตน้ำหมักชีวภาพแบบให้อากาศมากนำมาทดสอบ โดยการเพิ่มประชากรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในแปลงทดลอง การตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำหมัก BMW พบว่า มี pH 8.3 ปริมาณแบคทีเรียอยู่ระหว่าง 2x104 – 1.21x1010 colony forming unit (cfu)/มล. เชื้อรา 2-24 โคโลนี/มล. มีสีน้ำตาลอ่อนใสคล้ายน้ำชา ไม่มีกลิ่น การทดสอบต่อการเจริญของต้นกล้าถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 ในห้องปฏิบัติการภายใน 7 วัน พบว่าที่ความเข้มข้น 5% สามารถทำให้มีความยาวของต้นสูงสุดคือ 19.1 ซม. ซึ่งแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญกับน้ำเปล่าที่ยาว12.9 ซม. แต่ความยาวของรากถั่วเขียวไม่แตกต่างกัน

เมื่อนำไปหมักกับปุ๋ยมูลวัว พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณแบคทีเรียเป็น 2.14x106–5.78x108 cfu/g ซึ่งมากกว่าการใช้น้ำประปาเกือบหนึ่งเท่าตัว ที่มีค่า 0.9x106-3.21x108 cfu/g เมื่อทำการทดลองในสภาพแปลงทดลองที่ ศูนย์บริการวิชาการ

ด้านพืชและปัจจัยการผลิตลพบุรี วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 8 กรรมวิธีจำนวน 3 ซ้ำ ทำการทดลองซ้ำที่เดิม 3 ปี โดยทุกครั้งที่ปลูกได้เพิ่มปุ๋ยหมักตามกรรมวิธี 2,000 กก./ไร่ และเมื่อหมดฤดูปลูกได้รักษาจุลินทรีย์ดินโดยปลูกปอเทือง ในปี 2549 ผลผลิตของถั่วเขียวทุกการทดลองที่มีปุ๋ยหมัก มูลวัวมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 240-265 กก./ไร่ ซึ่งแตกต่างทางสถิติกับการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวที่ได้ 207 กก./ไร่ ขณะที่แปลงตรวจสอบได้ 194 กก./ไร่ พบว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลองการเกิดโรคใบจุดในถั่วเขียวลดลงทุกการทดลอง ขณะที่ผลผลิตของทุกการทดลองเพิ่มขึ้นระหว่าง 71-120 กก./ไร่ จากปีแรกของการทดลอง โดยกรรมวิธีที่ 6 คือ การใส่ปุ๋ยเคมี + ปุ๋ยคอกมูลวัวหมักน้ำหมักชีวภาพ BMW มีผลผลิตเพิ่มมากที่สุดคือ 120 กก./ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนฝัก/ต้น ที่เพิ่มสูงสุดคือ 11.9 ฝัก/ต้น ขณะที่แปลงตรวจสอบได้ผลผลิตเพิ่ม 76 กก./ไร่ การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวเพิ่ม 72 กก./ไร่ และจำนวนฝัก/ต้น เพิ่มขึ้น 5.9 และ 6.7 ฝัก/ต้น ตามลำดับ

1 : สถาบันวิจัยพืชไร่
2 : สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
3 : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์
4 : สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
5 : ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท

ผลการวิเคราะห์ทางเคมีของดิน พบว่า ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่อยู่ในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้ของทุกการทดลองที่มีปุ๋ยหมักมูลวัวเพิ่มขึ้นระหว่าง 200-400 ppm และ 200 ppm ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวและแปลงตรวจสอบ ผลการวิเคราะห์ทางกายภาพของดินพบว่า ที่ความลึกไม่เกิน 5 ซม. กรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมี มีการดูดซึมน้ำน้อยที่สุดอยู่ที่ระดับ moderate คือ 7.5 mm/hr ขณะที่ทุกกรรมวิธีที่มีปุ๋ยมูลวัวหมักน้ำหมัก BMW มีการดูดซึมน้ำที่ระดับ Rapid คือ ระหว่าง 56.7 - 89.7 mm/hr ซึ่งไม่ต่างจากแปลงตรวจสอบที่มีค่า 70.2 mm/hr ประชากรของแบคทีเรียในดิน พบว่า ทุกการทดลองที่มีปุ๋ยหมักมูลวัวมีปริมาณสูงคือระหว่าง 2.7x106- 4.32x106 cfu/กรัม ขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวมีจำนวนน้อยที่สุดเพียง 0.74x106 cfu/g และแปลงตรวจสอบมี 1.18x106 cfu/กรัม

ผลการทดลองสรุปได้ว่า การปรับปรุงดินโดยใช้มูลวัวที่มีน้ำหมัก BMW ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติจากการใช้มูลวัวปกติ อีกทั้งให้ผลผลิตที่สูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว และให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันทางสถิติกับการใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี ตลอดจนเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว

ดังนั้นสรุปได้ว่าในดิน Clay loam ที่มีประวัติการใช้ปุ๋ยเคมีมานาน เช่น ศบป.ลพบุรี สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวร่วมกับการรักษาความชื้นในดิน โดยปลูกปอเทืองสลับซึ่งมีผลต่อการเพิ่มบทบาทของจุลินทรีย์ดินในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและผลผลิตพืช และลดความรุนแรงของโรคถั่วเขียวได้

คำนำ
ตามนโยบายการเป็นครัวของโลก โดยการผลิตอาหารปลอดภัย และกระแสของการลดการใช้สารเคมีโดยการใช้น้ำหมักชีวภาพในการผลิตพืช เพื่อพัฒนาสู่การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ โดยที่เน้นความแข็งแรงของพืช ก็จะมีความต้านทานต่อโรค เพื่อได้ผลผลิตดี จึงได้ทำการศึกษาการใช้น้ำหมักชีวภาพในการผลิตถั่วเขียวโดยมองแบบองค์รวม (Wholistic) โดยการเพิ่มประชากรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในแปลงทดลองด้วยการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพโดยทั่วไปมีการผลิตหลักใหญ่ๆ 2 แบบ คือ

การให้อากาศมาก (Aerobic) และการให้อากาศน้อย (Semi-anaerobic) น้ำหมักชีวภาพ Bacterio Mineral Water (BMW) เป็นระบบการผลิตน้ำหมักแบบให้อากาศอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในระหว่างการหมัก โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญหลัก 3 อย่าง คือ อินทรียวัตถุที่ย่อยสลายแล้ว หินภูเขาไฟและหินแกรนิต และน้ำสะอาด ที่ให้อากาศอย่างต่อเนื่อง วิธีการหมักโดยให้น้ำหมักไหลผ่านชั้นหินแกรนิตในบ่อหมักจำนวน 7 บ่อ จนได้น้ำหมัก ที่มีคุณภาพเป็น Liquid vigor ซึ่งมีค่า pH 6.0 – 8.5 ค่า EC อยู่ระหว่าง 0.6-2.00 ms/cm. ไม่มีการปนเปื้อนของ Nitrous acid ไม่มีการปนเปื้อนของ Escherichia coli และได้น้ำหมักมีสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีกลิ่น ไม่มีความข้นเหนียวชนิดและ

ปริมาณแร่ธาตุในน้ำหมัก BMW ประกอบด้วย ....
N 0.051%,
P2O50.17%,
K2O 0.03%,
Ca 0.009%,
Mg 0.007%,
Cu 0.0025%
Zn 0.001%

องค์ประกอบทางชีววิทยามี...
ปริมาณแบคทีเรีย 6.25x106 – 3.9x1012 cfu/ml
เชื้อราปริมาณ 13-62 โคโลนี/มล.
แอคติโนมัยซีส 0.9x103 – 4.4x104 โคโลนี/มล.

บ่อหมักนี้อยู่ที่สหกรณ์บ้านลาด จ.เพชรบุรี (เตือนใจและคณะ , 2545 ก)

การทดสอบคุณสมบัติของจุลินทรีย์ในน้ำหมัก BMW ต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้แก่ Phytophthora palmivora, P. parasitica และ Colletotrichum gloeosporioides พบว่า สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (Boonlong et al., 2002) การทดสอบศักยภาพในการควบคุมโรคพืช พบว่าในอัตราส่วน น้ำหมัก BMW : น้ำ 1:3 สามารถลดระดับการเกิดโรค ของ P. parasitica บนใบพริกไทยได้ดีเท่ากับการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช (Aliette) และสามารถลด ระดับการเกิดโรค ของ P. palmivora บนใบทุเรียนได้มากกว่าน้ำหมักชีวภาพชนิดหมักแบบใช้กากน้ำตาล และใช้อากาศน้อย น้ำหมัก BMW ที่ความเข้มข้น20% สามารถลดระดับการเกิดโรคของ C. gloeosporioides บนใบมะม่วงได้ดีเท่ากับสารป้องกันกำจัดโรคพืช (prochloraz) (เตือนใจและคณะ, 2545 ก.)

การทดสอบประสิทธิภาพของน้ำหมัก BMW ต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้าพืชพบว่าสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นกล้าข้าวโพด พริก มะเขือเทศ ที่ความเข้มข้น 5, 15 และ 20%ตามลำดับทำให้ต้นกล้าของพืชทดลองมี ลำต้นและรากยาวมากกว่าการแช่เมล็ดในน้ำสะอาดโดยมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( Panichsukpatana et al., 2002 )

ในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้เทคโนโลยี BMW ในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์เพื่อการบำบัดน้ำเสียทำความสะอาดโรงเรือนช่วยลดมลภาวะของกลิ่นและแมลงวัน เมื่อนำไปผสมน้ำดื่มของสัตว์ ทำให้กลิ่นมูลสัตว์และปัสสาวะลดน้อยลงมาก และสามารถลดการใช้สารปฏิชีวนะลงไป ทำให้คุณภาพของเนื้อนมวัวและไข่ไก่ ดีขึ้น เมื่อนำมูลสัตว์เหล่านี้ผ่านระบบ BMW อีกครั้งสามารถลดกลิ่นเหม็นลงไปได้มาก จนถึงไม่มีกลิ่นเป็นผลให้โรงเรือนสะอาด ไม่มีแมลงวันสัตว์ไม่เครียด จึงทำให้ได้ผลผลิตดี

เมื่อนำปุ๋ยหมักจากระบบนี้ ไปบำรุงดินทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีกับพืชทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น อีกทั้งลดความรุนแรงของโรคพืชได้ (เตือนใจ และคณะ, 2545 ข.)

ถั่วเขียวเป็นพืชไร่ตระกูลถั่วที่มีปัญหาการผลิต คือ โรคเน่าดำจาก Macrophomina phaseolina ทำให้ในการปลูกถั่วเขียวไม่สามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้และปัญหาโรคใบจุดจากเชื้อราCercospora canescens การนำน้ำหมักชีวภาพ BMW มาทดสอบกับถั่วเขียวเพื่อศึกษาเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวให้ได้คุณภาพดีและสามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้มากกว่า 2 ปี โดยไม่ถูกทำลายโดย Macrophomina phaseolina การทดลองได้ดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี เมื่อ พ.ศ. 2547-2549 ในพื้นที่เดิม โดยที่ทุกครั้งที่ทำการปลูกถั่วเขียวได้เติมปุ๋ยหมักอัตรา 2,000 กก./ไร่/ฤดูปลูก เพื่อศึกษาถึงผลของน้ำหมัก BMW และปุ๋ยหมักต่อการเจริญเติบโตของถั่วเขียวและการเพิ่มผลผลิต


วิธีดำเนินการ
อุปกรณ์
- ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 น้ำหมักชีวภาพ BMW ปุ๋ยมูลวัว ปุ๋ยเคมีสูตร 12–24-12
- อุปกรณ์และสารเคมีในห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยพืชไร่
- วัสดุอุปกรณ์ในแปลงทดลอง ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตลพบุรี
- อุปกรณ์และสารเคมีในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพเคมีดินและกายภาพของดินสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

วิธีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. การศึกษาหาปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำหมัก BMW และในมูลวัวหมัก

1.1 ในน้ำหมักชีวภาพ BMW นำตัวอย่างน้ำหมักชีวภาพ BMW มาทำความเจือจางตามลำดับ (dilution series) ที่ความเข้มข้น 10-2 10-4 10-6 10-8 บนอาหาร PDA และอาหาร PDA + Rifam 10 ppm เพื่อตรวจหาเชื้อรา จากนั้นตรวจนับโคโลนี จุลินทรีย์ที่ได้ ภายใน 48 ชั่วโมง สำหรับแบคทีเรีย และ 5 วัน สำหรับเชื้อรา

1.2 ในมูลวัวที่หมักโดยน้ำหมัก BMW และที่ไม่ใช้น้ำหมักนำตัวอย่างมูลวัวที่หมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์นาน 4 สัปดาห์ จนการหมักสมบูรณ์ โดยการทดลองมี 2 ตัวอย่าง คือที่หมักโดยใช้น้ำประปาปกติกับมูลวัวที่รดด้วยน้ำหมัก BMW นำมาตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์โดยการทำความเจือจางตามลำดับ 10-4, 10-5, 10-6, 10-7 และ 10-8 บนอาหาร PDA และอาหาร PDA ที่เติม Rifam 10 ppm เพื่อหาจำนวนเชื้อรา ทำการทดลอง 3 ครั้งๆละ 10 จานเลี้ยงเชื้อ/การทดลอง ทำการนับโคโลนีจุลินทรีย์ภายใน 48 ชั่วโมง สำหรับแบคทีเรีย และ 5 วัน สำหรับเชื้อรา

2. การทดสอบน้ำหมักชีวภาพ BMW ต่อเชื้อ M. phaseolina บนอาหาร PDA

2.1 นำน้ำหมักชีวภาพ BMW มาทำความเจือจางที่ความเข้มข้นต่างๆ คือ 1, 2, 5, 10, และ 20%บนอาหาร PDA จากนั้นทำการเพาะเลี้ยงเชื้อ M. phaseolina บนจุดกึ่งกลางจานเลี้ยงเชื้อ บ่มที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ทำการตรวจวัดการเจริญของโคโลนีเชื้อรา

2.2 ทำการทดลองโดยนำน้ำหมัก BMW มาเติม PDB บ่มบนเครื่องเขย่า 100 rpm เป็นเวลา
24 ชั่วโมงจากนั้นนำมาตรวจสอบกับการเพาะเลี้ยงเชื้อ M. phaseolina ในอัตราส่วน 1, 2, 5 และ 10% โดยวิธีเดียวกันกับข้อ 2.1

3. การทดสอบน้ำหมักชีวภาพ BMW ต่อการเจริญเติบโตของถั่วเขียวทำการเพาะเมล็ดถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 ในน้ำหมักชีวภาพ BMW ที่ความเข้มข้น 5, 10, 15 และ20% บนกระดาษเพาะเมล็ดภายในกล่องพลาสติกใส ทำการทดลองละ 300 เมล็ด บ่มที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นวัดความสูงของต้น ความยาวของรากเปรียบเทียบกับการทดลองซึ่งใช้น้ำกรองเป็นตัวเปรียบเทียบ

4. การใช้น้ำหมักชีวภาพ BMW ในสภาพแปลงทดลองปลูกถั่วเขียวทำการทดลองที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตลพบุรี อ.พระพุทธบาท จ.ลพบุรี (ศบป.ลพบุรี) สภาพแปลงทดลองเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายสีแดง (clay loam) ทำการทดลองโดยวางแผนการทดลองแบบ RCB มี 8 กรรมวิธี จำนวน 3 ซ้ำ โดยมีกรรมวิธีการทดลองดังนี้
- T1 : แปลงตรวจสอบ ไม่ใส่อะไร (control)
- T2 : ใช้ปุ๋ยเคมีตามอัตราแนะนำของกรมวิชาการเกษตร คือปุ๋ยสูตร12-24-12 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่รองก้นหลุมพร้อมปลูก
- T3 : ใส่ปุ๋ยมูลวัวที่หมักด้วยน้ำหมัก BMW ในดินเมื่อเตรียมแปลงปลูกพืช
- T4 : ใส่ปุ๋ยมูลวัวที่หมักด้วยน้ำปะปา ( ไม่มีน้ำหมัก BMW ) ในดินเมื่อเตรียมแปลงปลูกพืช
- T5 : ใส่ปุ๋ยมูลวัวที่หมักด้วยน้ำหมัก BMW และรดด้วยน้ำ BMW 5 ครั้ง (หลังจากพืชเริ่มออกดอกแล้วสัปดาห์ละครั้ง)
- T6 : ใส่ปุ๋ยเคมีตามอัตราแนะนำ + มูลวัวที่หมักด้วยน้ำหมัก BMW ในดินเมื่อเตรียมแปลงปลูกพืช
- T7 : ใส่ปุ๋ยเคมีตามอัตราแนะนำ + มูลวัวหมักที่ไม่มีน้ำหมัก BMW ในดินเมื่อเตรียมแปลง ปลูกพืช
- T8 : ใส่ปุ๋ยเคมีตามอัตราแนะนำ + มูลวัวที่หมักด้วยน้ำหมัก BMW + รดน้ำ BMW 5 ครั้ง (หลังพืชออกดอกแล้วเหมือน T5) ขนาดแปลงปลูก 3 x 5 ตร.ม. โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 2 x 5 ตร.ม. เว้น 2 แถวข้าง หัวท้ายข้างละ 2 หลุม มีร่องน้ำกั้นระหว่างทุกแปลงย่อย ปุ๋ยมูลวัวหมักทุกการทดลองใช้อัตรา 2,000 ก.ก/ไร่/ฤดูปลูก ระบบการปลูกพืชคือ ถั่วเขียว,ปอเทือง,ถั่วเขียว โดยรักษาสภาพแปลงปลูกให้มีพืชปกคลุมตลอดปี เพราะเป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์ดินเพื่อให้มีกิจกรรมและการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

5. ตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพของดินและปริมาณจุลินทรีย์ดินเมื่อสิ้นสุดการทดลองดำเนินการสุ่มตัวอย่างดินในแปลงทดลองของทุกแปลงย่อยๆ ละ 5 จุด ปฏิบัติตามคู่มือการเก็บตัวอย่างดินและน้ำเพื่อวิเคราะห์ ของสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จากนั้นนำตัวอย่างมาศึกษา ดังนี้

5.1 ในปี 2548 ทำการวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางเคมีของดินโดยกลุ่มวิจัยเกษตรเคมี และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

5.2 ในปี 2549 ทำการวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางเคมีของดินโดยกลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สปผ. เมื่อสิ้นสุดการทดลอง

5.3 ทำการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพของดินโดยกลุ่มงานวิจัยปฐพีกายภาพ สปผ.

5.4 ทำการตรวจหาปริมาณจุลินทรีย์ดิน ตามวิธีการข้อ 1.2 เมื่อสิ้นสุดการทดลองในปี 2549
เวลาและสถานที่ ทำการทดลองปี พ.ศ. 2547– 2549 ที่สถาบันวิจัยพืชไร่ และ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตลพบุรี กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

สรุปผลการทดลอง
1. น้ำหมักชีวภาพ BMW มีผลต่อการเพิ่มการเจริญเติบโตของต้นกล้าถั่วเขียว เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในการหมักปุ๋ยคอกมูลวัว มากกว่าการใช้น้ำประปา

2. ในสภาพแปลงทดลอง ที่ ศบป.ลพบุรี เป็นดินชุด clay loam การผลิตถั่วเขียวในระบบการปลูกพืช ถั่วเขียว – ปอเทือง – ถั่วเขียว การเติมปุ๋ยหมักมูลวัว 2,000 กก./ไร่/ฤดูปลูก ภายใน 2 ปี พบว่าบทบาทของน้ำหมักชีวภาพ BMW ที่ใช้หมักปุ๋ยมูลวัวเปรียบเทียบกับปุ๋ยหมักมูลวัวปกติไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของผลผลิต ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การลดความรุนแรงของโรคใบจุด อีกทั้งยังสามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้มากกว่า 2 ปี โดยผลผลิตไม่เสียหายจากโรคเน่าดำ และสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี

ผลการทดสอบน้ำหมักชีวภาพ BMW ต่อการเจริญเติบโตของถั่วเขียวอย่างเดียว ประมาณ 20% และให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันทางสถิติกับการใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อเป็นการผลิตถั่วเขียวอย่างยั่งยืน สามารถใช้ปุ๋ยหมักมูลวัวอย่างเดียวทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตและความรุนแรงของการเป็นโรคใบจุดของถั่วเขียวระหว่างปี 2004-2006

3. บทบาทของปุ๋ยหมักมูลวัวต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงทดลองพบว่าดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีและแปลงตรวจสอบ โดยมีผลทำให้ปริมาณแบคทีเรียในดินเพิ่มขึ้นมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างชัดเจน และปริมาณธาตุอาหารในรูปที่เป็นประโยชน์ของ Phosphorus เพิ่มขึ้นระหว่าง 200-400 ppm และ Potassium เพิ่มขึ้นประมาณ 200 ppm การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวทำให้แบคทีเรียในดินน้อย และปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปในดินก็ถูกตรึงในอนุภาคดิน พืชนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

การนำไปใช้ประโยชน์
1. ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในปุ๋ยหมักมูลวัวสามารถเพิ่มผลผลิตพืชได้ไม่แตกต่างจากการใช้จุลินทรีย์จากน้ำหมักชีวภาพ BMW ดังนั้นเกษตรกรควรเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงปลูกพร้อมทั้งรักษาแปลงให้มีพืชปกคลุมในระบบการปลูกพืชตลอดปี เพื่อให้จุลินทรีย์ดินมีกิจกรรมตลอดทั้งปีเป็นผลให้เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยวัดได้จากปริมาณธาตุอาหารในรูปที่เป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเพิ่มมากกว่า การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว

2. การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว โดยไม่เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินทำให้ปริมาณจุลินทรีย์ดินลดลงมาก ซึ่งเป็นผลให้แร่ธาตุอาหารถูกตรึงในอนุภาคของดินเหนียว พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยลง นับว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ปริมาณแบคทีเรียในดินกับ P และ K ในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้เมื่อสิ้นสุดการทดลองปี 2006

3. ในดิน Clay loam ที่มีประวัติการใช้ปุ๋ยเคมีมานาน เช่น ศบป.ลพบุรี สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวร่วมกับการรักษาความชื้นในดินโดยปลูกปอเทืองสลับ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและผลผลิตพืช และลดความรุนแรงของโรคถั่วเขียวได้ และเป็นแนวทางการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชในการผลิตถั่วเขียว และองค์ความรู้นี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตพืชชนิดอื่นๆ ได้


เอกสารอ้างอิง
เตือนใจ บุญหลง นิตยา กันหลง แสงมณี ชิงดวง ชุติมันต์ พานิชศักดิ์พัฒนา รังษี เจริญสถาพร. 2545 ก. ปุ๋ยน้ำหมัก BMW และการใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืช. ข่าวสารโรคพืชและจุลชีววิทยา
เตือนใจ บุญหลง สมชาย กันหลง นิตยา กันหลง รังษี เจริญสถาพร แสงมณี ชิงดวง และชุติมันต์ พานิชศักดิ์
พัฒนา. 2545 ข. ปุ๋ยน้ำหมัก BMW และการใช้ประโยชน์ในการเกษตรของญี่ปุ่น. ข่าวสารโรคพืช และจุลชีววิทยา ปีที่ 12 (2) :77-83.
วรางคณา สระบัว อารี ไชยาภินันท์. 2548. คู่มือการเก็บตัวอย่างดินและน้ำเพื่อวิเคราะห์ กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กทม. 35 หน้า
ศุภมาศ พนิชศักดิ์พัฒนา.2529. จุลชีววิทยาของดินเพื่อผลิตผลทางการเกษตร ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กทม. 335 หน้า.


ที่มา : กรมวิชาการเกษตร


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 03/04/2010 5:36 pm, แก้ไขทั้งหมด 3 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 21/03/2010 12:39 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เฮ่อออ....งานวิจัยก็คืองานวิจัย เหมือนกระดาษเปื้อนหมึกธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น อ่านแล้ว อ่าน 20 เที่ยว ยังไม่รู้เลยว่า "ทำอย่างไร - ใช้อย่างไร" งานนี้ต้อง "ตีความ" เอาเอง


ประสบการณ์ตรง :

เป็นไปได้ไหม หรือจะเหนือกว่าไหม ถ้าเอา.....

ขั้นตอนที่ 1
ขี้วัวนมตั้งท้องใหม่ 5 กก.+ มูลหมูตั้งท้องใหม่ 5 กก.+ มูลไก่ไข่ 5 กก.+ มูลค้างคาว 2 กก.+ น้ำมะพร้าว 5 ล.+ น้ำผักดอง 1 ล.+ สับปะรด 1 หัว + กากน้ำตาล 2 ล.+ เลือด 1 ล.+ ไขกระดูก 1 ล.+ นมสดจากฟาร์ม 1 ล.+ เปล่า 100 ล. คนเคล้าให้เข้ากันดี เติมออกซิเจนตลอด 24 ชม. นาน 7-10 วัน.....ครบกำหนดแล้วกรองน้ำใสออกมา

ขั้นตอนที่ 2
น้ำใสปุ๋ยคอกหมัก 100 ล.+ ธาตุหลัก 8 กก. (สูตรตามพืช) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 2 กก.+ สาหร่ายทะเล 1 กก.+ ฮิวมิก แอซิด 1 กก. ..... คนเคล้าให้เข้ากันดี ได้ "หัวเชื้อ" พร้อมใช้งาน

อัตราใช้ :
หัวเชื้อ 500 ซีซี./น้ำ 100 ล. ..... ให้ทางราก ทุก 20-30 วัน

หมายเหตุ :
บริเวณโคนต้นมี ปุ๋ยคอก. ยิบซั่ม. เศษพืช. คลุมหน้าดินหรือไถพรวนคลุกอยู่ในเนื้อดิน เป็นตัวรองพื้น


ระวัง จะทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก
ลุงคิมครับมผม
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©