-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบ ปัญหาทางวิทยุ 7 JUN *สมุนไพร(70) กล้วย กล้วย-ไม่กล้วย
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบ ปัญหาทางวิทยุ 7 JUN *สมุนไพร(70) กล้วย กล้วย-ไม่กล้วย
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบ ปัญหาทางวิทยุ 7 JUN *สมุนไพร(70) กล้วย กล้วย-ไม่กล้วย

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 07/06/2016 10:59 am    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบ ปัญหาทางวิทยุ 7 JUN *สมุนไพร(70) กล้วย กล้วย-ไม่กล้ว ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทางรายการวิทยุ 7 JUN

AM 594 เวลา 06.30-07.00 (ทุกวัน) และ 08.10-09.00 (จันทร์-ศุกร์)

********************************************************************

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ
กองทัพบกเพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตร และอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดยกองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

@@ สนับสนุนรายการโดย ...

* บ.นิมุติ เอ็นจิเนียริ่ง เครื่องย่อยเศษพืช (02) 322-9175-6

http://kasate.site88.net/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1
* ยิบซั่มธรรมชาติ เฟอร์มิกซ์, ธันเดอร์พลัส, ธาตุรอง/ธาตุเสริม มัลติแชมป์ (089) 144-1112

http://www.mysuccessagro.com
* บ.มายซัคเซส อะโกร---ปุ๋ยอินทรีย์ ตราคนกับควาย, กาวเหนียวดักแมลง มายฟิกส์, กลิ่นล่อแมลงวันทอง ฟลายแอต,
สารเสริมฤทธิ์สารสมุนไพร ไบโอเจ๊ต, ถังฉีดพ่นรุ่นใหม่ ใช้แบตเตอรี่ (081) 910-5034

กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
เช่นเคยครับ รายการเรา 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม ที่ (081) 913-4986

----------------------------------------------------------------------------------------------

ตัวแทนจำหน่าย ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง, ไบโออิ, ไทเป, ยูเรก้า. (อินทรีย์ – เคมี)

1) ชมรม (ใหญ่) สีสันชีวิตไทย (089) 814-3204 ใกล้ไฟแดง สี่แยกบางแพ ราชบุรี
2) “คุณชาตรี” (081) 841-9874 ทรัพย์ทวีการเกษตร ชัฎป่าหวาย สวนผึ้ง ราชบุรี (ส่งทาง ปณ.)

3) ร.ต.ต.นันท์สุรัตน์ (089) 821-8273 ต.จรเข้เผือก ด่านมะขามเตี้ย กาญจนบุรี (ส่งทาง ปณ.)
4) “คุณล่า” (081) 944-8494 ทุกวันจันทร์ ตลาดนัดวัดอมรญาติ ดำเนินสดวก ราชบุรี

5) “คุณประเสริฐ” (080) 110-4645 บ.เขาดิน หนองแขม เดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี
6) “คุณพรพรรณ” (089) 814-7944 พลชัยเกษตรชีวภาพ ตลาดนัดธนบุรี ถ.เลียบคลองทวีวัฒนา
7) “คุณน้ำส้ม” (085) 055-7706 ชมรมฯ สาขาศาลายา หน้า ม.มหิดล พุทธมณฑลสาย 4 (ส่งทาง ปณ.)


----------------------------------------------------------------------------------------

@@ สารอาหาร (ปุ๋ย) เพื่อการสื่อสาร :

** ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง : ส่วนผสมหลัก .... อินทรีย์/เคมี (กุ้งหอยปูปลาทะเล, เลือด,
ไขกระดูก, นม, ขี้ค้างคาว, น้ำมะพร้าว, ธาตุหลักตามพืช, แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม

** ไบโออิ : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม)
** ยูเรก้า : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (21-7-14, ไคโตซาน, อะมิโนโปรตีน)
** ไทเป : ส่วนผสมหลัก ..... อินทรีย์/เคมี (นม, ไข่, น้ำมะพร้าว, 13-0-46. 0-52-34)

มิได้มีเจตนาโฆษณาผลิตภัณฑ์ แต่ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เพื่อง่ายต่อการสื่อสารข้อมูล เท่านั้น
.... ต้นพืชไม่รู้จักยี่ห้อ ไม่รู้จักเจ้าของสูตร .....
...... ไม่รู้เจ้าของคนปลูก ไม่ฟังโฆษณา .......
...... ต้นพืชรู้จักแต่ส่วนผสมหรือเนื้อใน .......

------------------------------------------------------------------------


สมุนไพร (70) :

การทำสารสมุนไพร ป้องกัน/กำจัด ศัตรูพืชและสัตว์เลี้ยง :

สูตรสมุนไพรกำจัดแมลงศัตรูพืช :
8. สูตรป้องกันกำจัด หนอนหลอดหอม หนอนชอนใบ เพลี้ยกระโดด เพลี้ยในผลไม้ (สูตรเข้มข้น)
ส่วนประกอบ

1. เหล้าขาว 2 แก้ว
2. น้ำส้มสายชู 5% 1 แก้ว
3. สาร อีเอ็ม 1 แก้ว
4. กากน้ำตาล 1 แก้ว
วิธีทำ :
นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงไปในภาชนะ คนให้เข้ากันและปิดฝาให้สนิท หมักทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำไปฉีดพ่น
วิธีใช้ :
ใช้ 5-10 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร
---------------------------------------------------------------------

9. สูตรไล่หอยหรือเพลี้ยไฟ ป้องกันใบข้าวไหม้ :
ส่วนประกอบ :

1. ยอดยูคาลิปตัส 2 กิโลกรัม
2. ยอดสะเดา 20 ยอด หรือ 1 ปี๊บ
3. ข่าแก่ 2 กิโลกรัม
4. บอระเพ็ด 2 กิโลกรัม
5. จุลินทรีย์ 1 แก้ว
6. กากน้ำตาล 1 แก้ว
วิธีทำ :
นำยอดยูคาลิปตัส ยอดสะเดา ข่าแก่ และบอระเพ็ด แต่ละอย่างแยกกันใส่ปี๊บ ใส่น้ำให้เต็ม ต้มให้เหลือน้ำอย่างละครึ่งปี๊บ ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาเทรวมกันใส่โอ่ง ใส่จุลินทรีย์ลงไป 1 แก้ว กากน้ำตาล 1 แก้ว ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ 3 วัน แล้วกรองเอาแต่น้ำ นำน้ำที่ได้มาใช้
วิธีใช้ :
ใช้ 0.5 แก้ว ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ราดในไร่ หรือนาข้าว

http://kasetsamunpri.blogspot.com/p/blog-page_06.html
------------------------------------------------------------------------

สูตรสมุนไพร ป้องกันและกำจัด หนอนและแมลง :

สมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบ ดังนี้ :
1. หางไหลแดง หรือขาว 3 กิโลกรัม
2. เปลือกสะเดา 3 กิโลกรัม
3. หนอนตายหยาก 3 กิโลกรัม
4. ยาเส้น 0.5 กิโลกรัม
5. เหล้าขาว 1 ขวด
6. หัวน้ำส้ม 1 ขวดกระทิงแดง
วิธีทำ :
นำสมุนไพรทั้งหมดมาทุบพอแตก จากนั้นเติมกากน้ำตาลลงไปพอท่วม หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วันก็สามารถนำมาใช้กำจัดหนอนและแมลงได้
วิธีใช้ :
นำสมุนไพรที่ได้จากการหมักแล้วให้นำมาใช้ได้ในอัตรา 30-40 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร
----------------------------------------------------------

สูตรสมุนไพร ป้องกันและกำจัด แมลงและเพลี้ยไฟ :

สมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบดังนี้ :
ได้แก่ สาบเสือ ขิงแก่ ข่าแก่ ตะไคร้แกง หนอนตายหยาก พริกไทย บอระเพ็ด กระเพา กระชาย หางไหลขาว หางไหลแดง ดีปลี พริก ใบสะเดาแก่ เทียนทอง (ใบ ผล) ลำโพง (ต้น ใบ)
วิธีทำ :
1. นำสมุนไพรทั้งหมดมาอย่างละเท่ากัน โขลกให้ละเอียดพอประมาณ แล้วเติมน้ำลง ไปใส่พอท่วม
2. เติมเหล้าขาว 1 ขวด น้ำส้มสายชู 2 ขวด กระทิงแดง
3. นำมะนาวผ่าซีก และมะกรูดผ่าซีก (20 ผล) ลงไปหมักด้วย
4. จากนั้นทำการหมักไว้ประมาณ 2 คืนแล้ว

จึงนำมาใช้ในอัตราส่วน 20-30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
-----------------------------------------------------------------------


จาก : (093) 839-26 xx
ข้อความ : ผู้พันครับ มีที่ 21 ไร่ อยู่เพชรบูรณ์ หล่มสัก ตลอดอายุที่ดินที่ผ่านมากว่า 20 ปี เจ้าของเดิมปลูก ข้าวโพด สำปะหลัง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง สลับไปเรื่อยๆ ทำแล้วมีแต่หนี้ วันที่บอกขายที่ดิน เขามีหนี้ 320,000 ที่ผ่านมาได้แต่ส่งดอก บอกว่า จะถูกเจ้าหนี้ยึด ตัดสินใจบอกขายแล้วจะเหลือเงินจำนวนหนึ่ง อยากปรึกษาผู้พันว่า อยากปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ทั้ง 3 กล้วยเลย จะกล้วยไหมครับ .... ขอบคุณครับ
ตอบ :
กรอบในการคิด :

- กล้วยแน่ ถ้ามีน้ำ ถ้าไม่มีน้ำ กล้วยก็ไม่กล้วย
- งานนี้ ทำขาย ไม่ใช่ทำกิน .... ทำขายตามใจแม่ค้า ทำกินตามใจแม่บ้าน
- เนื้อที่ 21 ไร่ ลงกล้วย3อย่าง ๆละ7ไร่ ไร่ละ200ต้น รวมทุกอย่างละ1,400ต้น รวมทุกอย่าง4.200ต้น ต้นละ1เครือ เครือละ 10 หวี ..... ปลูกขาย ขายที่ไหน ? ปลูกกิน กินหมดเหรอ ?

- ลงกล้วยครั้งเดียว รวดเดียว รุ่นเดียวกันทั้งแปลง 21 ไร่ ..... เลยเหรอ ?
- ลงแบบทยอย อย่างละ2ไร่ อย่างละ3รุ่น ห่างกันรุ่นละ2เดือน ปลูก่อน แก่ก่อน เก็บก่อน .... ดีไหม ? ได้ไหม ?

- ต้นพันธุ์ รุ่นเดียวกันมากขนาดนี้....หาที่ไหน ?
- กล้วยเป็นพืชอวบน้ำ ย่อมต้องการน้ำมาก สม่ำเสมอ ตลอดชีวิต ....น้ำมีไหม?
- แรงงานปลูก ดูแลระหว่างปลูก .....หาที่ไหน ?
- ติดสปริงเกอร์ .... ดีไหม ? ได้ไหม ?
- “ตลาด” ไปตลาดกลาง เจรจาล่วงกับคนรับซื้อ .... ดีไหม ? ได้ไหม ?
- ไปเชียงราย เจรจากับล้งจีน .... ดีไหม ? ได้ไหม ?

ถามตัวเอง ถามคนข้างเคียง :

* มีความรู้เรื่องกล้วย
* เขียนรายการงานเกี่ยวกับสวนกล้วย ตั้งแต่ “ก่อนปลูก ถึง ขาย” ว่ามีอะไรบ้าง
* ผลผลิตเพิ่ม (ปริมาณ คุณภาพ) ต้นทุนลด อนาคตแน่นอน
* ลงพืชอื่น เสริม/แซม/แทรก
* ซูพรีม พรีเมียม เกรด เอ. จัมโบ้ โกอินเตอร์ ขึ้นห้าง ออกนอกฤดู คนนิยม ปลอดสารเคมียาฆ่าแมลง
* กล้วยแจ็คพ็อต
* แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง
* เลิกกล้วยแล้วทำอะไร ?
-------------------------------------------------------------------

กล้วย (กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง....หนังสือ “ไม้ผลแนวหน้า”)

ลักษณะทางธรรมชาติ (ทุกสายพันธุ์)

* ในประเทศไทยมีกล้วยหลายร้อยสายพันธุ์ ปัจจุบันสถานีวิจัยปากช่อง นครราชสีมา ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยที่มีค่าทางเศรษฐกิจไว้มากกว่า 50 สายพันธุ์

* เป็นพืชอายุสั้นฤดูกาลเดียวหลังจากให้ผลผลิตแล้วต้นตายแต่มีหน่อสืบต่อ (ไม่แยกหน่อไปปลูกใหม่) ทำให้กลายเป็นพืชอายุยืนนานหลายสิบปีได้ โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าที่มีหน่อสืบแทนต้นแม่มีอายุยืนนานหลายปี แต่ผลผลิตที่เกิดจากหน่อสืบต่อแทนต้นแม่นั้นคุณภาพจะด้อยลงจนถึงขนาดมีเมล็ด

* ระหว่างกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ ปลูกในแปลงเดียวกัน บำรุงรักษาอย่างเดียวกัน กล้วยไข่จะออกเครือก่อน แล้วกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าจะออกเครือที่หลังตามลำดับ

* เป็นพืชอวบน้ำต้องการความชุ่มชื้นสูงทั้งในดิน ผิวดินและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ไม่ชอบน้ำขังค้างนาน ต้นที่ขาดน้ำจะโตช้า ให้ผลผลิตไม่ดี ถ้าอากาศหนาวเย็นจะโตช้าและผลก็แก่ช้าด้วย

* ขณะต้นแม่ยังไม่ออกเครือไม่ควรแยกหน่อเพราะจะทำให้กระทบกระเทือนต่อต้นแม่ แต่ให้ตัดต้นหน่อจนเหลือแต่ตอสูงจากพื้นประมาณ 20-30 ซม. ไม่นานหน่อนั้นจะแตกยอดใหม่ และให้ตัดหน่อทุกครั้งเมื่อความสูง 80 ซม.- 1 ม. กว่าต้นแม่ออกเครือซึ่งอาจจะต้องตัดหน่อ 2-3 รอบ การตัดหน่อจะทำให้ตัวหน่อเองมีเหง้าขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแยกนำไปปลูกจะได้ผลผลิตที่ดี

* ตอบสนองต่อปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทุกสูตร) และฮอร์โมนธรรมชาติ (ทำเอง) ดีมาก ถ้ามีการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพตั้งแต่เตรียมดินจนถึงบำรุงต้นอย่างต่อเนื่อง ลำต้นจะสูงใหญ่มากจนอาจเกิดปัญหาในการค้ำต้นและการเก็บเกี่ยวผลผลิต แก้ไขโดยเมื่ออายุต้นได้ 90 วัน มียอดใหม่หลังตัดตอ ให้บำรุงทางใบด้วย 0-42-56 หรือ นมสัตว์สดหรือกลูโคส 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 20-30 วัน ควบคู่กับให้ทางรากด้วย 8-24-24 นอกจากจะทำให้ต้นเตี้ยลงแล้วยังช่วยให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอก (ปลี) ซึ่งส่งผลให้ออกดอกดีอีกด้วย

* รากเจริญทางยาวได้เดือนละ 1 ม. ซึ่งจะเจริญทางยาวตลอด 3 เดือนแรก หลังจากนั้นไม่เจริญทางยาวอีกได้แต่แตกรากแขนงออกทางข้าง ดังนั้นการให้น้ำและธาตุอาหารทางรากจึงต้องให้แบบกระจายเต็มทั่วแปลงหรือเต็มพื้นที่ทรงพุ่มรัศมี 2-3 ม.

* งดใช้ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดโดยเด็ดขาด แต่ให้ใช้วิธีกำจัดหญ้าหรือวัชพืชด้วยการถอนแล้วปล่อยทิ้งไว้คลุมหน้าดิน ละอองยาฆ่าหญ้าที่ปลิวลมไปกระทบใบกล้วยจะทำให้ใบไหม้ นอกจากนี้ยาฆ่าหญ้าที่ปลิวลงสัมผัสพื้นดินโดยตรงและแทรกอยู่ในต้นหญ้าหรือวัชพืช เมื่อต้นหญ้าหรือวัชพืชเน่าสลาย ยาฆ่าหญ้าก็จะละลายออกมาปนเปื้อนกับเนื้อดินทำให้ดินเป็นกรดอีกด้วย

* แปลงปลูกที่มีลมแรงควรมีไม้บังลม
* ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมแบบรุ่นต่อรุ่น แนะนำให้แบ่งพื้นที่เป็นสองแปลง ระหว่างที่แปลงหนึ่งปลูกกล้วยนั้นอีกแปลงหนึ่งให้ปลูกพืชอายุสั้นบำรุงดิน เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วให้ไถกลบเศษซากต้นลงดินใช้เป็นปุ๋ยพืชสด และเมื่อแปลงที่กล้วยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็ให้เปลี่ยนเป็นปลูกพืชตระกูลถั่ว ส่วนแปลงที่เคยปลูกพืชตระกูลถั่วก็ให้เปลี่ยนเป็นปลูกกล้วยแทน สลับกันไปมาเช่นนี้จะทำให้ปลูกกล้วยและถั่วได้หลายรุ่น

* รากมีจุลินทรีย์แอ็คติโนมัยซิส การให้จุลินทรีย์หน่อกล้วยตั้งแต่ช่วงเตรียมดินและให้ต่ออีกเป็นครั้งคราว (1-2 เดือน/ครั้ง) หลังจากหน่อยืนต้นได้แล้ว นอกจากช่วยบำรุงต้นแล้วยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย

* ธรรมชาติจะออกเครือทางทิศตรงข้ามกับไหลที่งอกออกมาจากต้นแล้วเกิดเป็นหน่อเสมอ เมื่อต้องการให้ต้นออกเครือมาทางทิศใดก็ให้หันด้านตรงข้ามกับไหลไปทางทิศนั้น ถ้ากล้วยทุกต้นออกเครือทางทิศด้านเดียวกันพร้อมกันทั้งแถวจะช่วยให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น

* แต่ละต้นย่อมมีหลายหน่อ หน่ออยู่ลึกเป็นหน่อสมบูรณ์ดีกว่าหน่ออยู่ตื้น เพื่อให้หน่อทุกหน่อเป็นหน่อสมบูรณ์ก็ให้พูนโคนต้นให้สูงขึ้นด้วยเศษซากพืชแห้งหรือดินเลนก้นร่อง

* อายุต้น 4-6 เดือน (ตามชนิดสายพันธุ์) หลังปลูก จะเริ่มมีหน่อ ให้ตัดต้นหน่อทิ้งไปเพื่อไม่ให้ต้นแม่ต้องรับภาระส่งอาหารไปเลี้ยงหน่อซึ่งเกิดใหม่ จะทำให้ต้นแม่มีสารอาหารส่งไปเลี้ยงผลบนต้นอย่างเพียงพอ หรือระหว่างที่ต้นมีเครืออยู่หรือยังไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วมีหน่อแทงขึ้นมาก็ให้ตัดต้นหน่อทิ้งทุกครั้ง ยกเว้นหน่อที่จะเก็บไว้ให้โตต่อแทนต้นแม่

* ระหว่างต้นมีเครืออยู่ ถ้าขุดแยกหน่อออกมาจะทำให้ต้นแม่ชะงักการเจริญเติบโต
* เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือตัดเครือแล้วให้ล้มต้นแม่ นำเศษซากต้นแม่ออก จากนั้นบำรุงหน่อต่อไปจนได้ขนาดเหง้าและลำต้นใหญ่ตามต้องการ การแยกหน่อจะทำได้หลังจากตัดเครือและล้มต้นแม่แล้วเท่านั้น

* ปลูกกล้วยแบบ รุ่นต่อรุ่น หมายถึง การปลูกให้ได้ผลผลิตพร้อมกันทั้งแปลง ด้วยระยะปลูก 2.5 x 2 ม. หลังจัดเก็บเกี่ยวแล้วล้มต้น นำเศษซากต้นออก ขุดแยกหน่อที่มีทั้งหมดออก ปรับปรุงบำรุงดินและจัดแปลงใหม่ จากนั้นลงมือปลูกใหม่พร้อมกันทั้งแปลง ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตพร้อมกันทั้งแปลงเหมือนการปลูกครั้งแรก .... การปลูกแบบหลุมละ 2 ต้นแล้วจัดระยะห่างระหว่างต้น/แถวเพิ่มขึ้นอีก 1 ม.เป็น 3.5 x 3 ม. จะทำให้ได้จำนวนต้นเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่แปลงปลูกด้วยระยะ 2.5 x 2 ม. หรือพื้นที่เท่าเดิม

* ปลูกกล้วยแบบ ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตหลายรุ่น หมายถึง การปลูกครั้งแรกแบบพร้อมกันทั้งแปลงหรือไม่พร้อมกันก็ได้ด้วยระยะห่าง 4 x 4 ม. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นใดแล้วนำเศษซากต้นแม่ออกพร้อมกับขุดแยกหน่อตามออกทั้งหมด ให้คงเหลือหน่อชิดที่อยู่คนละด้านของต้นแม่ไว้ 2 หน่อ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นแม่ในรุ่นต่อไป ซึ่งหน่อชุดใหม่ที่คงไว้นี้จะให้ผลผลิตได้ไม่ต่างจากต้นแม่

* การปลูกกล้วยแบบ มีผลผลิตตลอดปี ให้แบ่งแปลงปลูกเป็นส่วนๆ (โซนนิ่ง) 3-4 แปลง แล้วปลูกกล้วยแต่ละรุ่นให้ห่างกัน 3-4 เดือน แปลงไหนแก่ก่อนเก็บก่อนและแปลงไหนแก่ทีหลังเก็บทีหลัง แต่ละแปลงจะมีกล้วยแก่ให้ทยอยเก็บ 2-3 เดือน เมื่อรวมทุกแปลงแล้วทำให้มีผลผลิตขายตลอดปี

* หน่อหรือต้นแม่เมื่อไม่ต้องการเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อให้ทำลายโดยตัดตอ คว้านไส้กลางให้เป็นแอ่งแล้วหยอดน้ำมันพืชหรือน้ำมันก๊าดลงไป 1 ช้อนโต๊ะ เหง้าของหน่อหรือต้นแม่นั้นจะเน่าไม่แตกยอดใหม่ขึ้นมาอีก จากนั้นจะเน่าสลายกลายเป็นปุ๋ยต่อไป

* ช่วงยังไม่ออกเครือควรให้มีใบ 10-12 ใบ ช่วงกำลังออกเครือให้มีใบ 9-10 ใบ และช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวให้มีใบ 4-5 ใบก็พอ

* ใบกล้วยมีนวลใบมาก การฉีดพ่นสารอาหารทางใบจึงต้องใช้สารจับใบร่วมด้วยทุกครั้ง
* การปลูกกล้วย (ทุกสายพันธุ์) ให้ได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวพร้อมกันหรือระยะเวลาใกล้เคียงกันต้องใช้ต้นพันธุ์จากเพาะเนื้อเยื่อ

* เทคนิคการบำรุงด้วย ฮอร์โมนสมส่วน + ธาตุรอง/ธาตุเสริม อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวจะช่วยให้ได้ต้นสมบูรณ์ ผลขนาดใหญ่ ยาว เนื้อแน่น กลิ่น รส และสีดี

* วิธีรักษากล้วยให้สุกช้า หลังจากตัดเครือลงมาจากต้นแล้วให้นำลงแช่น้ำในโอ่งจนท่วมทั้งเครือหรือตัดออกเฉพาะหวี แช่นาน 3-5-7 วัน ตามความต้องการยืดอายุนานสุด ระหว่างแช่อยู่ในน้ำนี้กล้วยจะไม่สุกแต่จะนิ่งอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งนำขึ้นจากน้ำ ผึ่งลมให้แห้งแล้วบ่ม กล้วยก็จะเริ่มสุกเองตามปกติ

* บำรุงกล้วยให้รสชาติหอมหวาน ก่อนตัดเครือ 7-10 วัน ให้เจาะลำต้นด้านบน ณ ความสูง 3 ใน 4 ของความสูงลำต้นจากพื้น หรือเจาะลำต้นด้านล่าง ณ ความสูงจากพื้น 1 ฝ่ามือ เลือกเจาะจุดใดจุดหนึ่งด้วยไม้ปลายแหลมมนขนาดตะเกียบ ลึกถึงไส้กลาง 3 รูของทั้ง 3 ด้านเป็นแฉกเหมือนตรารถเบนซ์ ให้ปลายรูทั้ง 3 ชนกันที่ไส้กลางพอดี ใส่ "แป้งข้าวหมาก" ลงไปจนเต็มรูทั้ง 3 แล้วปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจนถึงเก็บเกี่ยว เมื่อนำไปบ่มจนสุกแล้วรับประทานจะมีกลิ่นหอมรสหวานขึ้น บางคนบอกว่ามีกลิ่นและรสแอลกอฮอร์น้อยๆทำให้รับประทานได้อร่อยขึ้น

* ทำกล้วยรสชาติต่างๆ บำรุงต้นกล้วยตามปกติ จนกระทั่งออกเครือตัดปลี ใช้มีดกรีดลำต้น ณ ความสูงประมาณกลางลำต้น กรีดให้ลึกถึงไส้ข้างใน แล้วนำกลิ่นสังเคราะห์ (ใช้ทำไอศกรีม) เช่น กลิ่นสตอเบอรี่ กลิ่นช็อกโกแลต กลิ่นทุเรียน กลิ่นลิ้นจี่ จุ่มสำลี อัดเข้าไปที่ไส้ในกล้วย เสร็จแล้วปิดกลับเหมือนเดิม เมื่อกล้วยจากต้นนั้นลูก จะมีกลิ่นตามกลิ่นสังเคราะห์ที่ใส่ แต่รสชาติยังเหมือนกล้วยอย่างเดิม

* ก่อนตัดเครือ 2-3 อาทิตย์ ฉีดพ่นด้วยน้ำคั้นมะเขือเทศสุก ให้ทั่วต้นแต่เน้นที่เครือโดยตรง 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 1 อาทิตย์ หลังจากตัดเครือและนำไปบ่มจนสุกแล้วจะได้รสชาติและกลิ่นดีมาก

* ใช้เกลือแกง 1-2 กำมือ + ปุ๋ยคอกแห้งเก่าค้างปี 2-3 กก. ผสมดินปลูกรองก้นหลุมนอกจากช่วยป้องกันหนอนและด้วงงวงเจาะเหง้าได้แล้วยังบำรุงผลให้รสชาติดีอีกด้วย

* คลุมโคนต้นด้วยผักปอด (ทั้งต้นและราก) ผสมปุ๋ยคอกจะช่วยบำรุงต้นให้สมบูรณ์ หน่อมาก ผลดกและคุณภาพดี

* ห่อผลหลังจากตัดปลี 20-30 วัน ด้วยกระสอบปุ๋ยทั้งใบ หรือวัสดุอื่นที่ขนาดใหญ่สวมกล้วยได้ทั้งเครือ ตัดส่วนก้นกระสอบเปิดให้อากาศผ่านได้ หรือใช้ใบกล้วยทั้งก้าน 3-4 ก้าน ผูกโคนก้านกับเครือด้านบน จัดใบปิดหวีกล้วยให้มิดชิด ผูกรวบปลายใบที่ห่อให้เรียบร้อย .... เครือที่ห่อด้วยใบกล้วยมีคุณภาพดีกว่าห่อด้วยกระสอบปุ๋ย

* ช่วงติดเครือใหม่ๆยังไม่ห่อผล ควรตัดใบล่างทิ้งเพื่อไม่ให้กวัดแกว่งไปถูกผลเพราะจะทำให้ผิวผลมีตำหนิได้

* เครือกล้วยมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก จำเป็นต้องค้ำต้นด้วยการใช้ไม้ไผ่ลำขนาดเท่าแขน ยาวหรือสูงกว่าเครือกล้วย 1-1.5 ม. จำนวน 2 อัน ใช้เชือกปอพลาสติกทบกันหลายๆชั้น ยาวประมาณ 50-80 ซม.ผูกปลายไม้ค้ำทั้งสองด้านให้แน่น ค้ำต้นโดยสวมเชือกเข้าหาเครือตรงๆไม่ต้องไขว้ปลายไม้ ให้น้ำหนักเครือกล้วยอยู่บนเชือกนั้น ขยับปลายไม้ที่พื้นกางออกแล้วปักลงดินในลักษณะที่ต้นกล้วยเอนลงเล็กน้อย......หรือใช้ไม้ไผ่ลำขนาดเท่าแขน 1 ลำ แนบลำต้นด้านหลังของเครือ แทงไม้ลงดินยิ่งลึกยิ่งดี ใช้เชือกผูกต้นกล้วยเข้ากับหลัก หลายๆทบ แน่นพอประมาณ 3-4 เปราะจากโคนถึงคอ ไม้หลักนี้จะช่วยรั้งลำต้นไว้ไม่ให้เอนมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้นได้

* ปลูกกล้วยตัดใบโดยเฉพาะให้ปลูกระยะห่าง 2 x 2 ม. หรือ 2 x 3 ม.

การเตรียมหน่อพันธุ์ (ทุกสายพันธุ์) :

- เลือกหน่อพันธุ์ที่เป็นหน่อชิด (หน่อแรกที่ออกมาจากต้นแม่) ใบแคบหรือใบธง (ยังไม่กางแผ่) เหง้าใหญ่ ลำต้นตรง ปลายเรียว ถ้าเป็นหน่อที่ผ่านการตัดตอขณะที่ยังอยู่กับต้นแม่มาแล้ว 2-3 รอบซึ่งจะมีเหง้าขนาดใหญ่ หลังจากนำลงปลูกแล้วตัดตออีกเพียงรอบเดียวแล้วบำรุงต่อได้เลย

- หน่อรากลึกสมบูรณ์กว่าหน่อรากตื้น และหน่อเหง้าใหญ่ให้ผลผลิตดีกว่าหน่อเหง้าเล็ก
- หน่อเหง้าเล็กเมื่อนำลงปลูกจนแตกใบอ่อนชุดใหม่สูง 1-1.20 ม. ให้ตัดต้นเหลือแต่ตอแล้วบำรุงเรียกใบใหม่ เมื่อใหม่ออกมาจนต้นสูง 1-1.20 ม. ก็ให้ตัดตอเหนือรอยตัดครั้งแรก 1 ฝ่ามือ ทำซ้ำอย่างนี้ 3รอบ ห่างกันรอบละ 1-1 เดือนครึ่ง ก็จะได้หน่อเหง้าใหญ่เช่นกัน เรียกว่า เลี้ยงหน่อสร้างเหง้า การตัดจะตัดกี่รอบก็ได้ ต้นแม่หรือหน่อจะไม่ตายตราบเท่าที่ต้นแม่ยังไม่ออกเครือ

- เหง้ากล้วยมีตา เมื่อเฉือนเหง้าออกเป็นชิ้นรูปลิ่ม ให้มีตาติดอยู่ชิ้นละ 1-2 ตา แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะด้วยวัสดุเพาะธรรมดาๆ ตาจากเหง้าจะงอกขึ้นมาเป็นหน่อได้ 1 ตาต่อ 1 หน่อ สามารถนำไปปลูกได้เช่นกัน แต่ต้นอาจจะไม่สมบูรณ์เท่าหน่อปกติ

- ได้หน่อกล้วยมาแล้วตัดส่วนลำต้นออกให้หมดเหลือแต่เหง้า นำลงปลูกโดยให้ส่วนลำต้นชี้ลงดิน ส่วนใต้เหง้าชี้ขึ้นด้านบน กลบดินหลุมปลูก คลุมหลุมปลูกด้วยเศษพืชแห้ง ให้น้ำปกติเหง้ากล้วยต้นนั้นจะแตกหน่อ 3-5 หน่อ/เหง้า ซึ่งหน่อทั้งหมดนี้สามารถให้ผลผลิตที่ดีได้

- การขุดแยกหน่อจากต้นแม่ควรขุดให้ตั้งฉาก ใช้มีดคมๆตัดก้าน (ไหล) น้ำเลี้ยง ยกขึ้นตรงๆ ห้ามโยกเด็ดขาดเพราะจะทำให้เหง้าช้ำ โดยเฉพาะกล้วยหอมกับกล้วยไข่ต้องระวังเป็นพิเศษ

- หน่อที่แยกออกมาจากต้นแม่แล้ว ถ้ามีใบมากเกินไปให้ลิดใบทิ้งเหลืองเพียง 1-2 ใบ พร้อมกับตัดใบแห้งกาบแห้งออกให้หมด หรือถ้าหน่อมีความสูงมากเกินไปให้ตัดลำต้นแล้วต้นจะแตกยอดขึ้นมาใหม่เอง

- หน่ออ่อนอายุยังน้อยหรือหน่อใบกว้างเป็นหน่อไม่สมบูรณ์ไม่ควรใช้ทำพันธุ์ ส่วนหน่อใบแคบหรือใบธงเป็นหน่อสมบูรณ์เหมาะสำหรับใช้ทำพันธุ์

- หน่อแรกที่ออกมาจากต้นแม่เรียกว่า "หน่อชิด" เป็นหน่อสมบูรณ์เหมาะสำหรับใช้ทำพันธุ์ ส่วนหน่อที่เกิดต่อลำดับจากหน่อชิดเรียกว่า "หน่อตาม" เป็นหน่อสมบูรณ์น้อยกว่าหน่อชิด เมื่อนำลงปลูกแล้วต้องบำรุงเลี้ยงเหง้าให้ใหญ่เสียก่อน

- วิธีขุดแยกหน่อจากต้นแม่ออกมาแล้วนำลงชำในถุง เลี้ยง (อนุบาล) ในโรงเรือน จน กระทั่งได้ใบใหม่ 2-3 ใบ จึงนำลงปลูกในแปลงจริงจะช่วยให้ต้นแตกรากใหม่และโตเร็วกว่าการนำหน่อที่แยกจากต้นแม่แล้วนำลงปลูกในแปลงจริงเลย

เตรียมแปลง
สวนยกร่องน้ำหล่อ :

สันแปลงสูงกว่าพื้นระดับปกติ 30-50 ซม. กว้าง 4-5 ม. ร่องน้ำกว้าง 1.5-2 ม. ที่ผิวน้ำ ลึก 50-80 ซม. ก้นสอบกว้าง 30-50 ซม. ใส่น้ำในร่องน้ำให้มีน้ำหล่อตลอดเวลา ระดับผิวน้ำต่ำกว่าระดับสันร่อง 30-50 ซม.หรืออยู่เสมอระดับพื้นเดิม

สวนพื้นราบยกร่องแห้งหรือลูกฟูก :

สันแปลง (ลูกฟูก) เหมือนสวนยกร่องน้ำหล่อแต่ร่องระหว่างแปลงกว้าง 1.5-2 ม.ไม่มีน้ำหล่อ ก้นสอบหรือไหล่ร่องเอียง

ระยะปลูก

- สันแปลงกว้าง 4-5 ม. ถ้าต้องการปลูก 2 แถว ให้ปลูกแบบสลับฟันปลาริมสันร่อง ถ้าสันแปลงกว้าง 3-4 ม. ให้ปลูกแบบแถวเดี่ยวกลางสันร่อง....ทั้งสองแบบระยะห่างระหว่างต้น 3-4 ม.

- ปลูกแบบ รุ่นต่อรุ่น ให้ปลูกระยะห่าง 2.5 - 3 ม.
- ปลูกแบบครั้งเดียวได้ ผลผลิตตลอดปี ให้ปลูกระยะห่าง 4 x 6 ม.

เตรียมดิน :

- ไถดะ ไถแปร ใส่ยิบซั่ม เฟอร์มิกซ์, ปุ๋ยอินทรีย์ ตราคนกับควาย, กระดูกป่น, ขี้วัวขี้ไก่แกลบดิบ แล้วไถพรวน ทำแปลงลูกฟูก คลุมสันแปลงด้วยหญ้าแห้งหนาๆ

- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 30-10-10 (2 ล.) รดทั่วสันแปลง ทุกตารางนิ้ว
- บ่มดิน 15-20 วัน จึงเริ่มลงกล้า

** ปุ๋ยเคมี ไม่ต้อง เพราะในเฟอร์มิกซ์, น้ำหมักระเบิดเถิดเทิง และปุ๋ยทางใบ ทุกสูตร มีปุ๋ยเคมีเพียงพอแล้ว พืชอายุสั้นอย่าง แตงกวา-ถั่วฝักยาว ผักสวนครัวอื่นๆ กินปุ๋ยเคมีแค่นี้
หมายเหตุ :
- สปริงเกอร์ หม้อปุ๋ยหน้าโซน/ถังปุ๋ยที่ปั๊ม
- ประหยัดเวลา แรงงาน พลังงาน
- เพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลของเนื้องาน
- สร้างเครดิตและความน่าเชื่อถือ

ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อกล้วย (ทุกสายพันธุ์)
1. ระยะต้นเล็ก
ทางใบ :

- ให้ไบโออิ เดือนละครั้ง
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 30-10-10 (2 ล.)/ไร่ ด้วยการรดโคนต้นจนโชกแฉะเต็มพื้นที่แปลงปลูก เดือนละครั้ง
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน

2. ระยะก่อนแทงปลี
ทางใบ :

- ให้ไทเป 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้น ติดต่อกัน 1-2 เดือน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 (1-2 กก.) สำหรับพื้นที่ 1 ไร่/เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน
หมายเหตุ :
- ระยะต้นเล็กถึงก่อนแทงปลีให้ตัดแต่งใบเหลือ 12-13 ใบ
- อายุต้น 90-120 วันหลังปลูกแตกใบอ่อนชุดแรกจะเริ่มมีหน่อแทงขึ้นมา เมื่อหน่อโตสูงได้ 90 ซม. - 1 ม. ให้ตัดตอหน่อเหลือตอสูงจากพื้น 15-20 ซม. หลังจากตัดตอหน่อแล้วจะแตกใบอ่อนออกมาอีกก็ให้ตัดตออีกเมื่อตอสูง 90 ซม. - 1 ม. เช่นกัน และให้ตัดทุกครั้งจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต การตัดตอแต่ละครั้งให้แผลครั้งหลังสูงกว่าแผลครั้งแรก 1-2 ฝ่ามือ มีดที่ใช้ตัดต้องคมจัดเพื่อให้แผลช้ำน้อยที่สุดก็จะแตกใบอ่อนชุดใหม่ได้เร็ว

- การตัดหน่อด้วยมีดหรือเคียวคมๆทำให้แผลไม่ช้ำ จากนั้นประมาณ 10-15 วัน จะมีหน่อใหม่แทงขึ้นมา ถ้าไม่ใช้มีดหรือเคียวคมๆตัดหน่อแล้วใช้วิธีเหยียบหน่อให้ล้มลง โคนหน่อช้ำ แบบนี้จะทำให้หน่อแทงใบใหม่ช้า ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ทำให้ประหยัดเวลา

4. ระยะเริ่มแทงปลี
ทางใบ :

- ให้ไทเป 2 รอบ สลับด้วยแคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 (1-2 กก.)/1 ไร่ ทุก 20-30 วัน
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน
หมายเหตุ :
- ก่อนแทงปลีจะมี “ใบธง” ลักษณะม้วนกลมชี้ตรงขึ้นฟ้าแทงออกมาก่อน หลังจากปลีออกมาเป็นงวงชี้ลงล่างแล้วใบธงก็จะกลายเป็นใบปกติ

- การที่ในเครือกล้วยมีจำนวนหวีน้อยหรือหวีสุดท้ายปลายเครือเป็น “ตีนเต่า” เร็วเกินไป เนื่องมาจากต้นได้รับธาตุอาหารไม่สมดุล และบำรุงตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมหน่อและระยะต่างๆก่อนแทงปลีไม่ดีพอ

- เริ่มให้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. เมื่อปลายปลีแทงพ้นโคนก้านใบธงขึ้นมาประมาณ 1 ฝ่ามือ 2-3 รอบห่างกันรอบละ 7-10 วัน จนกระทั่งตัดปลีจะช่วยให้เกสรสมบูรณ์ ผสมติดเป็นผลได้มากขึ้น ส่งผลให้ในเครือมีจำนวนหวีมาก และแต่ละหวีก็จะมีจำนวนผลมากขึ้นด้วย

- ดอกกล้วย (ปลี) เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรกล้วยพร้อมผสมกันเองหรือรับการผสมจากต้นอื่นได้ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ช่วงกลางวันจะมีแมลงช่วยผสม ส่วนช่วงกลางคืนจะมีค้างคาวช่วยผสม หลังจากกลีบดอก (กาบหัวปลี) เปิดแย้มเต็มที่แล้ว ถ้าช่วยผสมด้วยมือโดยใช้พู่กันขนอ่อนยาวคุ้ยเขี่ยบริเวณเกสรให้มีโอกาสได้ผสมกัน นอกจากจะช่วยให้ได้ผลผลิตมากขึ้นแล้วคุณภาพผลก็ดีขึ้นอีกด้วย

5. ระยะผล เล็ก-กลาง :
ทางใบ :

- ให้ไบโออิ + ยูเรก้า 2 รอบ สลับด้วยแคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 21-7-14 เดือนละครั้ง
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงหลังจากตัดปลี
- หลังจากตัดปลีแล้ว 20-30 วันให้ห่อผลด้วยถุงขนาดใหญ่ เปิดก้นระบายอากาศห่อทั้งเครือ หรือใช้ใบกล้วย 3-4 ใบผูกโคนก้านกล้วยกับก้านเครือ ปล่อยใบยาวตามเครือ จัดระเบียบใบกล้วยให้คลุมผลกล้วยทั้งเครือ มัดรวบช่วงปลายใบกล้วยที่ใช้ห่อกับมัดช่วงกลางพอหลวมอีก 1-2 เปราะ .... ก่อนลงมือห่อผลควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรกำจัดชื้อราและแมลงให้เปียกโชก นอกจากช่วยกำจัดเชื้อราแล้วยังกำจัดไข่ของแม่ผีเสื้อไม่ให้ฟักออกเป็นตัวหนอน ป้องกันแมลง วันทองและยังทำให้ผิวสวย คุณภาพเนื้อในดีอีกด้วย

- ระยะบำรุงผล (หลังตัดปลี) ถึง ผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว ตัดแต่งใบให้เหลือไว้ประมาณ 9-10 ใบ
- เมื่อเห็นว่าเครือเริ่มใหญ่และน้ำหนักมากขึ้นให้ค้ำต้น
- ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้แม็กเนเซียม 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก

- ให้กำมะถัน 1-2 รอบตลอดช่วงผลกลางจะช่วยบำรุงให้กลิ่นและสีดี

7. ระยะผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว :
ทางใบ :

- ให้ 0-21-74 (1-2 รอบ) ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 13-13-21 หรือ 8-24-24 (1-2 กก.)/ไร่
- ให้น้ำกับปุ๋ยแล้วงดน้ำจนถึงวันเก็บเกี่ยว
หมายเหตุ :
- ให้ก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน
- เมื่อผลกล้วยส่วนโคนเครือแก่ได้ประมาณ 3 ใน 4 ของจำนวนหวีทั้งเครือ ใบจะเริ่มเหี่ยวเหลืองเนื่อจากไกล้หมดอายุต้น ใบที่เหี่ยวเหลืองแล้วนี้จะไม่สังเคราะห์สารอาหาร เป็นเหตุให้จำนวนหวีส่วนปลายเครือ 3 ใน 4 ไม่ได้รับสารอาหาร หรือได้รับน้อยกว่าปกติ จังหวะนี้หากมีการให้ ไบโออิ” หรือ “แมกเนเซียม” 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ก็จะช่วยบำรุงให้ใบยังคงเขียวสด สังเคราะห์สารอาหารต่อไปได้ จนกระทั่งผลของหวีสุดท้ายปลายสุดของเครือแก่จัด
-----------------------------------------------------------------------

@@ กล้วยหอมแจ๊คพ็อต :

- กล้วยหอมราคาดีมากช่วงเทศกาล ตรุษจีน, สาร์ทจีน, เชงเม้ง, ไหว้พระ จันทร์. ผลที่มีขนาดใหญ่ จำนวนผลในหวีมาก สีจัด ไร้ตำหนิ มีราคาแพงมาก ลักษณะสีเหลืองเปรียบเสมือนสีทอง ถือเป็นโหงวเฮ้งที่ดี คนซื้อใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้

- ผลสุกเต็มที่ในวันเซ่นไหว้ถือว่าดีที่สุด แต่ปัจจุบันค่านิยมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป กล้วยหอมที่ลักษณะทุกอย่างดี แต่ยังดิบอยู่ก็ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ได้เช่นกัน

@@ ระยะพัฒนาการของกล้วยหอม :

- ตั้งแต่เริ่มปลูกถึงแทงปลี 7-8 เดือน
- ตั้งแต่แทงปลีถึงเก็บเกี่ยว 70-80 วัน .... หรือ
- ตั้งแต่เริ่มปลูกถึงตัดเครือ 10 เดือนครึ่ง

@@ เทคนิคการทำให้ตัดเครือได้ ณ วันที่ต้องการ :

1. จากวันตัดเครือ ให้นับถอยหลังในปฏิทิน 10 เดือน สำหรับการเลี้ยงต้น
2. จากระยะ 10 เดือนสำหรับการเลี้ยงต้นให้นับถอยหลัง 2 เดือน สำหรับการเลี้ยงเหง้า
3. จากระยะ 2 เดือนสำหรับการเลี้ยงเหง้า ให้ลงหน่อ สำหรับการตัดต้นก่อนเลี้ยงต้น
สรุป :
- ลงหน่อ 2 เดือน เลี้ยงเหง้าแล้วตัดต้น + 10 เดือน สำหรับการเลี้ยงต้น .... หรือ
- วันที่ตัดต้น คือ วันเริ่มนับอายุ เริ่มปลูก ถึง ตัดเครือ ..... หรือ
- ลงหน่อก่อนวันตัดเครือ 12 เดือน
หมายเหตุ :
- ในธรรมชาติไม่มีตัวเลขและไม่มีสูตรสำเร็จ วันที่ตัดเครือ คือ วันที่กล้วยยังดิบอยู่ หากต้องการขายกล้วยสุก ก็ต้องตัดเครือล่วงหน้า 7 วัน สำหรับบ่ม

- กำหนดวันตัดเครือล่วงหน้า 7-15 วัน ต้องเปลี่ยนวันลงหน่อก่อน 12 เดือน เป็น 12 เดือนครึ่ง ก็จะทำให้มีกล้วยออกตลาดตั้งแต่ก่อนวันไหว้ ถึงวันไหว้ 10-15 วัน

- กล้วยหอม ท่ายางเพชรบุรี บำรุงด้วยสูตรสหประชาชาติ ปรากฏผลใหญ่เกิน ส่งออกญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ห้างในประเทศชอบ มีเท่าไหร่รับทั้งหมด จองล่วงหน้าด้วย

------------------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©