-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-สารเคมีในมาตรฐาน Q และ Organic
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - สารเคมีในมาตรฐาน Q และ Organic
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

สารเคมีในมาตรฐาน Q และ Organic

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 19/05/2016 4:01 pm    ชื่อกระทู้: สารเคมีในมาตรฐาน Q และ Organic ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
THAI PAN เปิดผลตรวจ “ผัก-ผลไม้” ชี้ตรา Q แชมป์สารเคมีตกค้างมากสุด – ผักดอกเตอร์เกินค่ามาตรฐานซ้ำซากติดต่อ 3 ปี

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN (ไทยแพน) ได้จัดงานแถลงข่าวผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากการตรวจสอบพบว่ามีสารพิษตกค้างในผักและผลไม้หลายรายการ

โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค จำนวน 138 ตัวอย่าง ในผัก 10 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง จำนวน 138 ตัวอย่าง เด็กในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2559 และส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) ณ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025:2005 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ หาสารพิษตกค้างได้กว่า 450 ชนิด ซึ่งทาง Thai-PAN ระบุว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจหาสารเคมีตกค้างที่ครอบคลุมชนิดสารมากที่สุดที่มีการเปิดเผยต่อประชาชน

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า การตรวจผักผลไม้ในปี 2559 นี้ มีการสุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่าย 2 ประเภท คือ

1) ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการเก็บตัวตัวอย่างสินค้าทั้งที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q และ Organic Thailand โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท ฟู้ดแลนด์ เลมอนฟาร์ม และสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ซึ่งมีทั้งสินค้าเฮาส์แบรนด์และสินค้าแบรนด์อื่นๆ สุ่มเก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี เทสโก้โลตัส และแม็คโคร

2) ตลาดสดค้าส่ง 4 แห่ง ได้แก่
ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี,
ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี,
ตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่, และ
ตลาดเจริญศรี จังหวัดอุบลราชธานี

เนื่องจากในปีนี้เลือกใช้ห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพในการตรวจหาสารตกค้างได้มากขึ้น จึงพบจำนวนสารตกค้างเพิ่มขึ้น จากเดิมตลอดตั้งแต่ปี 2555 ที่เริ่มทำการตรวจสอบ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพียง 4 กลุ่ม จำนวนประมาณ 100 ชนิด พบชนิดสารตกค้าง 20 ชนิด ปี 2559 พบเพิ่มขึ้นเป็น 66 ชนิด โดยพบวัตถุอันตรายอยู่ในสถานะ “ต้องไม่พบ หรือไม่ควรพบ” 4 ชนิด เนื่องจาก

1) สารเคมีที่ถูกห้ามนำมาใช้ในการเกษตร (วัตถุอันตรายชนิดที่ 4) คือ เอนโดซัลแฟนซัลเฟต ตกค้างในตัวอย่างส้มสายน้ำผึ้งที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q

2) เป็นวัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน 2 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ซึ่งตกค้างในตัวอย่างแตงกวาและพริกแดงที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q และในถั่วฝักยาวจากตลาดสี่มุมเมือง และเมโทมิล พบตกค้างในตัวอย่างฝรั่งที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q ฝรั่งจากตลาดไท และผักกาดขาวปลีจากบิ๊กซี

3) เป็นวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ 1 ชนิด คือ DEET ซึ่งเป็นสารที่ไม่ใช่สารกำจัดศัตรูพืช เป็นสารเคมีสำหรับกำจัดยุง แต่กลับตกค้างในผักคะน้าตัวอย่างที่เก็บมาจากตลาดเมืองใหม่ นอกจากนี้ ยังพบวัตถุอันตรายที่ต้องสงสัยว่ายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีก 8 ชนิด

ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบในภาพรวม มีสารตกค้างในผักและผลไม้เกินมาตรฐานสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ โดยข้อมูลที่น่าตระหนกมากไปกว่านั้น พบว่าผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด โดยพบสูงถึง 57.1%

นอกเหนือจากนั้น ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมี กลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง และจำนวนตัวอย่างของผักและผลไม้ที่จำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ซึ่งผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่ากลับไม่มีความปลอดภัยมากกว่าตลาดสดโดยทั่วไป เพราะมีจำนวนตัวอย่างการตกค้างเกินมาตรฐานถึง 46% ในขณะที่ตลาดสดมีสัดส่วนมากกว่าเล็กน้อย


ผักในตลาดสด
โดยผักที่พบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ได้แก่

พริกแดง 100% ของตัวอย่าง
กะเพราและถั่วฝักยาว 66.7%
คะน้า 55.6%
ผักกาดขาวปลี 33.3%
ผักบุ้งจีน 22.2%
มะเขือเทศ และแตงกวา 11.1%
มะเขือเปราะพบสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่า MRL 66.7%

ในขณะที่กะหล่ำปลีไม่พบสารพิษตกค้างเลย 100%

นอกจากนี้ยังพบว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้แล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน รวม 11 ชนิด (ตรวจสอบจากรายการวัตถุอันตรายที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เผยแพร่โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 4 เมษายน 2559) ตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในตลาด และมีผู้ประกอบการผักและผลไม้รายใหญ่ที่จัดส่งสินค้าไปยังโมเดิร์นเทรดกระทำความผิดซ้ำซาก ได้แก่ ผักด๊อกเตอร์ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ติดต่อกัน 3 ปี ในการจำหน่ายผัก และผลไม้ไม่ปลอดภัย และยังไม่พบว่ามีการดำเนินการลงโทษกับบริษัทดังกล่าว

นางสาวปรกชลระบุว่า สำหรับการสุ่มตรวจผลไม้รวม 6 ชนิด พบว่าส้มสายน้ำผึ้งและฝรั่งมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานทุกตัวอย่างหรือคิดเป็น 100% ที่มีการสุ่มตรวจ รองลงมาเป็นแก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 71.4%, 66.7% และ 44.4% ตามลำดับ

ในขณะที่แตงโม จากการตรวจสอบพบว่าทุกตัวอย่างที่มีการตรวจไม่พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานเลย ผลการตรวจครั้งนี้ของไทยแพนสอดคล้องกับผลการตรวจในครั้งที่แล้ว เช่นเดียวกันกับผลการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี 2557 ที่พบว่าแตงโมเป็นผลไม้ที่ปลอดภัย

“การที่ข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์มีความครอบคลุมมากขึ้นทำให้เราตระหนักว่าปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นปัญหาใหญ่และรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยมีการประเมินมาก่อน แต่หากมองในเชิงพัฒนาการที่ Thai-PAN ได้เริ่มเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด มีการรณรงค์ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายร้ายแรง กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จะเห็นว่าแนวโน้มของปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มที่ดีขึ้น” นางสาวปรกชลกล่าว

ทั้งนี้ สารเคมีดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นสารตกค้างที่สามารถล้างออกได้ และสารดูดซึมซึ่งไม่สามารถล้างออกได้ ซึ่งหากสะสมในร่างกายในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท การผลิตเอนไซม์ และเยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากที่จะบริโภคผักผลไม้ที่ปราศจากสารเคมี 100% ดังนั้น นอกจากการล้างผัก ผู้บริโภคจึงควรบริโภคผัก ผลไม้ที่หลากหลาย ไม่รับประทานซ้ำแต่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อบรรเทาการตกค้างของสารเคมีในร่างกาย

“อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังหารือแนวทางแก้ไขกับทางภาครัฐ คือ การออกมารฐาน Q เนื่องจากวันนี้เรามี Q 2 รูปแบบ คือ Q-GAP ที่เป็นมาตรฐาน ณ แปลงเกษตร กับ Q-GMP ที่เป็นมาตรฐาน ณ โรงบรรจุสินค้า ซึ่งสำหรับแบรนด์ผักในห้างค้าปลีกหลายแบรนด์พบว่าเขาได้มาตรฐาน Q-GMP แต่ก็ไม่ทราบว่าผักที่เขารับซื้อนั้นได้มาตฐาน Q-GAP ด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องดูฉลากให้ดีว่าสินค้าที่ซื้อได้มาตรฐาน Q แบบใด” นางสาวปรกชลกล่าว

ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวว่า ผลการตรวจทั้งหมดของไทยแพนได้นำเสนอต่อห้างค้าปลีก ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร ฟู้ดแลนด์ ท็อปส์ และสมาคมตลาดสดไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มกอช. กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) แล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยจากผลการตรวจชี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. และกรมวิชาการเกษตร จะต้องเพิ่มความเข้มวงดในการให้ตรารับรอง Q และออร์แกนิกไทยแลนด์อย่างจริงจังโดยทันที เพราะถ้าสภาพปัญหายังพบการตกค้างเช่นนี้ ประชาชนทั่วไปจะขาดความเชื่อถือในตรารับรองดังกล่าว รวมถึงต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย

“สำหรับด้านผู้ประกอบการนั้น ภายในสัปดาห์หน้าหลังจากที่ห้างค้าปลีกได้รับผลการตรวจอย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการแต่ละรายจะทำจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าได้ดำเนินการลงโทษซัพพลายเออร์และมีมาตรการในการลดปัญหาการตกค้างของสารเคมีอย่างไรมายังไทยแพน โดยในส่วนของสมาคมตลาดสดไทยนั้นจะมีการจัดประชุมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิดในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ไทยแพนยังได้หารือกับหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และองค์กรผู้บริโภคเพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดซ้ำซากเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ประกอบการอื่นๆ ต่อไปด้วย” นางสาวกิ่งกรกล่าว

นางสาวกิ่งกรระบุว่า ในครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่การเก็บตัวอย่างที่ให้ผลรวมได้ทั้งประเทศ ยังคงต้องทำการสุ่มตรวจในพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเติมอีก 1-2 แห่ง แต่ผลในเบื้องต้นก็สามารถช่วยเป็นตัวชี้วัดให้ผู้บริโภค ผู้จำหน่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้เห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ทำการสุ่มตรวจผัก ผลไม้เช่นเดียวกัน โดยสุ่มเก็บถึง 900 ตัวอย่าง และได้ผลออกมาในรูปแบบเดียวกับ Thai-PAN คือพบเปอร์เซ็นต์การตกค้างเท่าๆ กัน และมีสารมีที่พบเหมือนๆ กัน

“อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังว่าจะสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มากขึ้นกว่านี้ เพราะผลจากการทำงานประสานงานระหว่างไทยแพนกับผู้ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน พบว่าสามารถลดการตกค้างของสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ได้จริง กล่าวคือ หากใช้เกณฑ์การวัดสารตกค้างใน 4 กลุ่มหลักแบบเดิม สามารถลดการตกค้างของสารเคมีได้จาก 48.6% ในปี 2555 จนเหลือเพียง 18% เท่านั้นในปีนี้” นางสาวกิ่งกรกล่าว

อ่านเพิ่มเติมผลการตรวจปีที่แล้ว
http://thaipublica.org/2016/05/thai-pan-4-5-2559/

--------------------------------------------------------------------



.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 23/05/2016 1:30 pm, แก้ไขทั้งหมด 4 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 19/05/2016 4:08 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ก.เกษตรฯ จ่อฟ้อง "ไทยแพน" คดีหมิ่นประมาทสารตกค้าง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน (Thai-PAN) โดยมูลนิธิชีววิถี เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนกรณีพบสารตกค้างในพืชผักผลไม้ จากกระแสข่าวช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความเสียหายต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร ตลอดจนผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยอาจจะมีการพิจารณาดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทต่อรัฐ ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนโดยฝ่ายกฎหมายเบื้องต้นแล้ว และจะได้ร่วมหารือกับเกษตรกร ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายด้วย

นายสมชายกล่าวต่อว่า กระบวนการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามหลักสากล โดยมาตรฐาน GAP รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนมาตรฐาน Organic รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร และ มกอช. ซึ่งทั้ง 2 มาตรฐานดังกล่าว จะตรวจสอบและประเมินอย่างละเอียดตามข้อกำหนดในแปลงเกษตรกรอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการตรวจสอบการใช้สารเคมีของเกษตรกร และการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะออกใบรับรองมาตรฐาน GAP และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q ติดบนตัวสินค้า และมีการตรวจติดตาม โดยเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจประเมินแปลง GAP ทุกปี และเกษตรกรต้องยื่นขอรับการตรวจต่ออายุใบรับรองใหม่เมื่อใบรับรองเดิมใกล้หมดอายุ

"ขณะนี้ก็ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการด้านข้อมูล เบื้องต้นอาจจะต้องดำเนินการในกรณีของการหมิ่นประมาท ซึ่งไทยแพนได้มีการเผยแพร่ข้อมูลลักษณะนี้สู่สาธารณชนมาตลอด 3 ปี ปีที่แล้วก็ใช้ช่วงเวลาเดียวกันกับปีนี้ หากไม่ดำเนินการใดปีหน้าต้องมีอีก อย่างไรก็ดี เราขอบคุณทางไทยแพนที่ทำเรื่องนี้ขึ้นมา และภาคประชาสังคมช่วยกันเป็นหูเป็นตาในแง่ของบทบาทผู้บริโภค แต่วิธีการนำเสนอต่อสาธารณะน่าจะต้องมีการนำเสนอให้ถูกต้อง เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความตกอกตกใจแล้ว ยังเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล" นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ กระแสข่าวก่อนหน้านี้ นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หนึ่งในสมาชิกไทยแพน ได้แถลงว่า ผลการตรวจทั้งหมดของไทยแพนได้นำเสนอต่อห้างค้าปลีกและสมาคมตลาดสดไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มกอช. กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผลการตรวจชี้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. และกรมวิชาการเกษตรจะต้องยกเครื่องการให้ตรารับรอง Q และออร์แกนิค ไทยแลนด์ อย่างจริงจังโดยทันที เพราะถ้าสภาพปัญหาที่ยังพบสารตกค้างเช่นนี้ ประชาชนทั่วไปจะขาดความเชื่อถือในตรารับรองดังกล่าว รวมถึงต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย

ต่อมาด้าน มกอช.ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนกข่าว กรณีไทยแพนตรวจพบสารตกค้างปนเปื้อนพืชผลไม้ "Q" และสินค้าออร์แกนิก เพราะการสุ่มเก็บตัวอย่างแต่ละชนิดพืชจำนวนน้อย "ผิดหลักวิชาการ" ยืนยันว่ากระบวนการรับรอง GAP เกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นไปตามสากล

ล่าสุดนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยาได้เปิดเผยว่า ทางไทยแพนยินดีพร้อมที่จะให้สาธารณชนร่วมกันตรวจสอบโดยใช้ข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย มาพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเพราะวัตถุประสงค์ของไทยแพนคือการนำเสนอข้อมูลในฐานะผู้บริโภค


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1463298944

------------------------------------------------------------------------



.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 23/05/2016 1:29 pm, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 19/05/2016 4:09 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
เตือนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก สารปนเปื้อนพืชผัก-ผลไม้
มกอช. เตือนผู้บริโภค อย่าตื่นตระหนก หลังตรวจพบสารตกค้างในพืชผลไม้ “Q” และสินค้าออร์แกนิก
ยันกระบวนการรับรอง GAP - เกษตรอินทรีย์ ของ กษ. เป็นไปตามสากล


นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน (Thai-PAN) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและตลาดทั่วไปมาตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างและเผยแพร่ผลตรวจวิเคราะห์สู่สาธารณะ เป็นข้อมูลการศึกษาที่นำมาใช้ประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องได้ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคทั่วประเทศไม่ควรตื่นตระหนกกับการนำเสนอข่าวดังกล่าวของไทยแพน เนื่องจากการสุ่มเก็บตัวอย่างของไทยแพนมีจำนวนน้อยมากซึ่งใช้เป็นตัวแทนของตัวอย่างทั้งประเทศไม่ได้

ทั้งนี้ตามหลักสถิติและหลักวิชาการแล้วถ้าจะให้เป็นตัวแทนทั้งประเทศได้ จำนวนตัวอย่างแต่ละชนิดพืชจากแต่ละห้างหรือตัวอย่างสินค้าคิว (Q) และสินค้าทั่วไป (Non Q) ที่สุ่มเก็บมาตรวจสอบควรจะเก็บอย่างน้อย 60 ตัวอย่างต่อชนิดพืช ไม่ใช่เก็บแค่ชนิดพืชละ 1 ตัวอย่างต่อห้างอย่างที่ทำ รวมทุกห้างมีเพียง 3-4 ตัวอย่าง แล้วนำมาสรุปเป็นภาพรวมของประเทศ การเก็บตัวอย่างสินค้าจำนวนน้อยมากแล้วตรวจพบปัญหาในสินค้า Q จำนวน 7 ตัวอย่าง และสินค้าออร์แกนิก 8 ตัวอย่าง แล้วสรุปว่าสินค้าพืชที่ภาครัฐรับรองไม่ผ่านมาตรฐาน 57.1 % และ 25 % เป็นการจงใจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนักซึ่งจริง ๆ ไม่ควรคิดเป็นเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือแสดงเป็นรูปกราฟแต่กลับไม่มีการใส่จำนวนที่ชัดเจนในรูปกราฟทำให้เกิดความตระหนก เช่น สุ่มตรวจแค่ 2 ตัวอย่างและในจำนวนดังกล่าวตรวจเจอปัญหาแค่ 1 ตัวอย่างกลับสรุปว่าตรวจพบ 50% ถือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคและประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเข้าใจผิดเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐานจีเอพี (GAP) กว่า 200,000 ราย โดยเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้กว่า 70,000 ราย

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันว่ากระบวนการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นไปตามหลักสากล โดยกระทรวงเกษตรฯมีการตรวจสอบและประเมินอย่างละเอียดตามข้อกำหนดในแปลงเกษตรกรอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้สารเคมีของเกษตรกรและการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้ และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q ติดบนตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์สินค้าวางจำหน่ายได้ สำหรับพืชผักและพืชล้มลุกจะมีอายุใบรับรอง 2 ปี ส่วนไม้ผลและไม้ยืนต้น มีอายุใบรับรอง 3 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจประเมินแปลง GAP ทุกปีและเกษตรกรต้องยื่นขอรับการตรวจต่ออายุใบรับรองใหม่เมื่อใบรับรองเดิมใกล้หมดอายุ” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืชมาตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ทั้งสินค้า Q และ Non Q โดยปี 2559 ได้ตรวจวิเคราะห์ไปแล้วกว่า 3,500 ตัวอย่าง เป็นสินค้า Q ประมาณ 1,500 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่าง คิดเป็นน้อยกว่า 1 % ที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน จึงเชื่อมั่นในกระบวนการรับรองของกระทรวงเกษตรฯได้ และยังมั่นใจได้ว่า สินค้า Q มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไปแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ มีระบบควบคุมกำกับดูแล เมื่อได้ข้อมูลสินค้าที่แจ้งว่าพบสารตกค้างปนเปื้อน กระทรวงเกษตรฯก็ไม่ได้ละเลย ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบผลการศึกษาของไทยแพน โดยเฉพาะรายงานที่ว่า มีสินค้า Q จำนวน 8 ตัวอย่าง และสินค้าออร์แกนิก 3 ตัวอย่าง พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยกรมวิชาการเกษตรได้เร่งติดตามผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นจะมีการตรวจสอบสินค้าที่มีปัญหาว่า ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q อย่างถูกต้อง หรือใช้เครื่องหมาย Q ปลอมหรือไม่ หากพบว่า ผู้ประกอบการลักลอบใช้เครื่องหมาย Q ปลอม มกอช.จะร่วมกับกรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามกฎหมายทันทีถ้าตรวจยืนยันแล้วพบว่า เกษตรกรได้รับการรับรองถูกต้องและใช้เครื่องหมาย Q ถูกต้อง แต่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยที่เกษตรกรใช้สารผิดอย่างตั้งใจ จะพิจารณาดำเนินการลงโทษ เช่น การตักเตือนหรือสั่งพักใช้เครื่องหมาย Q หรือเพิกถอนเครื่องหมาย Q

นอกจากนั้น หากตรวจสอบพบการปนเปื้อนโดยที่เกษตรกรไม่ได้ตั้งใจ เช่น การปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงข้างเคียง รวมทั้งน้ำและดิน จะแนะนำให้เกษตรกรเร่งปรับปรุงแก้ไข อาทิ ปลูกพืชบังลมเพื่อป้องกันไม่สารเคมีจากแปลงข้างเคียงปลิวข้ามมาปนเปื้อนพืชในแปลง GAP หรือปรับปรุงระบบการให้น้ำ เป็นต้น คาดว่า จะได้ผลตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและมกอช.จะร่วมดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาและจะแจ้งให้ทราบโดยเร็วต่อไป


http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/697339

------------------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 23/05/2016 1:47 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ไทยแพนเล็งฟ้องกรมวิชาการเกษตร ต่อศาลปกครอง 2 ประเด็น
ละเลยควบคุมสินค้าที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q
ปล่อยให้สารเคมีอันตรายที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว มีจำหน่ายในประเทศ


หลังจากเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แถลงข่าวผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559 ผ่านการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่ และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ. 2559 โดยพบผลผลิตผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับตรารับรอง Organic Thailand พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน ในขณะที่ผัก Q ซึ่งควบคุมดูแลโดยหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดียวกันพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 57% มากที่สุดในบรรดาผักและผลไม้ที่ถูกสุ่มเก็บตัวอย่างจากทุกแหล่ง

ล่าสุด วันที่ 19 พฤษภาคม ไทยแพน เปิดแถลงข่าวเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง ในข้อหา กรมวิชาการเกษตรละเลยการปฏิบัติหน้าที่ กรณีพบการตกค้างของสารเคมีเกินมาตรฐานในผักและผลไม้ ที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรอง (certify) ณ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากโครงการกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้มาตลอด เพื่อสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย และชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารให้สังคมได้รับรู้ แต่เมื่อภาคประชาสังคมเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ท่าทีของหัวหน้าหน่วยงานราชการกลับตรงกันข้าม

"คาดว่า ไทยแพนจะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้ หลังพบว่า หน่วยงานราชการทำงานไร้ประสิทธิภาพ"

นางสาวกิ่งกร กล่าวถึงการสร้างระบบเฝ้าระวัง ไทยแพนได้มีการศึกษาจากระบบเฝ้าระวังจากต่างประเทศ ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ตรวจสม่ำเสมอ ตรวจในปริมาณมาก ครอบคลุมวงกว้าง มีมาตรฐานดำเนินการฉับพลันทันที สิ่งนี้เราอยากเห็นเกิดขึ้นในประเทศไทย อยากเห็นหน่วยงานราชการมีการสร้างระบบเฝ้าระวังที่มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และรายงานผลสม่ำเสมอ เชื่อว่า จะทำให้ผู้ประกอบการที่จ้องทำความผิดก็ระวังตัว

ส่วนนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมดำเนินการฟ้องศาลปกครอง กรณีกรมวิชาการเกษตรละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ละเลยควบคุมสินค้าที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q เพราะตลอด 3 ปี ไทยแพนพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Q ทุกปี ตรงนี้จึงควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนในอนาคต

"มาตรฐาน Q มีหลายลักษณะ ทั้งมาตรฐาน Q ที่รับรองในแปลง และมาตรฐาน Q ที่รับรองที๋โรงตัดแต่งคัดบรรจุ แต่กลับมีผู้ประกอบการบางรายนำไปบอกว่าเป็นสินค้าปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ต้องมีการชี้แจงอย่างชัดเจน"

ส่วนการตรวจสอบสารเคมีอันตราย ชนิดที่ 4 ที่มีการยกเลิกการใช้ไปแล้วนั้น นางสาวปรกชล กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง และต้องมีมาตรการตรวจเข้มข้น โดยเฉพาะสารเคมีอันตรายที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว ไม่ให้มีจำหน่ายในประเทศ

"หลังการแถลงข่าวการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559 ไป ในส่วนของผู้ประกอบการได้ดำเนินสืบหาสาเหตุของปัญหา บางแห่งพบข้อมูลการกระทำความผิด และจะแจ้งกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร"

ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการหนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวว่า ไทยแพนมุ่งหวังให้ใช้ข้อมูลเกิดการตรวจสอบภายใต้หลักป้องกันไว้ก่อน ด้วยการใช้งานข้อมูลในการตรวจสอบ ส่วนการฟ้องร้อง เพราะเราเห็นปัญหาการตรวจพบสารเคมีในอาหารมาตลอด ส่วนในแง่ความบกพร่องของหน่วยงานราชการ หรือการสวมสิทธิ์เครื่องหมาย Q จึงอยากทำให้ประจักษ์ชัด


http://www.isranews.org/isranews-news/item/47073-thai-pan19_47073.html

--------------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 23/05/2016 2:34 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
สถิติการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และแนวทางการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช :

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความพยายามในการควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรยังไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนนึงอาจเกิดจากความไม่เอาจริงเอาจังของผู้ตรวจสอบ ช่องโหว่ที่สามารถเล็ดลอดไปได้ รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจในการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องของเกษตรกรเองก็ยังไม่มากพอ แล้วมาตรวัดอะไรที่สามารถสะท้อนปัญหาเหล่านี้ได้ บทความบทนี้จะแสดงให้ทุกท่านเข้าใจถึงปัญหาและแนวทางเบื้องต้นของทางออกจากปัญหา

“เมื่อมีผู้บริโภค ก็ต้องมีผู้ผลิต เมื่อมีผู้ใช้ ผู้สร้างให้ใช้จึงมี” นี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหาหรือไม่ ? ? คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า เกษตรกรเองก็มีส่วนชี้นำให้เกิดความต้องการปริมาณมหาศาลของผลิตภัณฑ์เคมีเกษตร

หลักฐานประจักษ์แก่ตามีอยู่ให้เห็นนั้นคือปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีมากขึ้นทุกๆปี ไม่ว่าตัวเกษตรกรเองจะใช้เป็นหรือไม่ ใช้มากเกินความจำเป็นไปหรือเปล่า ส่วนนึงก็เพราะเหล่าชาวเกษตรเข้าถึงการใช้สารเคมีแบบผิดๆได้มากกว่าองค์ความรู้ที่ใช้แก้ไขปัญหาได้ จึงยังไม่สามารถพัฒนาระบบเกษตรให้เข้าถึงจุดสมดุลย์ของการใช้สารเคมีทางการเกษตร
จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า

ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2553 มีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากถึง 120,000 ตัน มีมูลค่าถึงปีละ 18,000 ล้านบาท

ซึ่งพบว่าประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามามากที่สุด คือ
สารกำจัดวัชพืช 74%
สารป้องกันและกำจัดแมลง 14%
สารป้องกันและกำจัดโรคพืช 9% และ
อื่นๆอีก 3 %

มีการประเมินจากธนาคารโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ แสดงให้เห็นว่าจากการ ปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยมีค่าสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ฝรั่งเศสหรือโปรตุเกสกว่าเท่าตัว

แต่ในความเห็นของผู้เขียน : จากการศึกษาพบว่า ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากกลับมีปริมาณการใช้สารเคมีในวงการเกษตรมากกว่าประเทศไทย แต่กลับพบสารตกค้างในผลผลิตน้อยกว่ากันมาก หลักฐานคือในระหว่างปี 2553 – 2554 ระบบการแจ้งเตือนสินค้าอาหาร : RASFF ของสหภาพยุโรป มีการตรวจพบปริมาณสารเคมีตกค้างในผลผลิตของไทยมากที่สุดถึง 55 ครั้ง แต่ขณะเดียวกันกับพบสารเคมีตกค้างในผลผลิตจากประเทศเนเธอร์แลนด์น้อยกว่าไทยมาก ทั้งที่เนเธอร์แลนด์มีปริมาณการนำเข้าสารเคมีมากกว่าเราถึง 18 เท่า!!

นั้นแสดงให้เห็นว่า มาตรวัดการเปรียบเทียบระหว่างปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่ออัตราการปนเปื้อนในผลผลิตมีปัญหา ไม่อาจใช้ได้ในบางสถานการณ์ หรือข้อมูลนี้อาจผิดพลาดได้ ซึ่งต้องรอการตรวจสอบสาเหตุต่อไป

อย่างไรก็ดีสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด มีผลต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จึงเป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค รวมไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับสัมผัสสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น

แนวทางเบื้องต้นในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช :
จากปัญหาสำคัญ ที่แสดงถึงปริมาณการปนเปื้อนสารเคมีในผลผลิตและความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ใช้ ซึ่งทุกคนมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสสารทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องหันกลับมาทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหา

โดยเริ่มจากความเข้าใจในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง ปลอดภัย ในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องรู้จักเลือกผลผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือ ผู้ค้ารายย่อยก็ต้องทำความเข้าใจสินค้าให้ชัดเจนเพื่อแนะนำเกษตรกรได้ หน่วยงานรัฐควรเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบทั้งร้านค้าและฟาร์มในพื้นที่ดูแล บังคับใช้ตามมาตรฐานที่ปลอดภัย

รวมไปถึงสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ค้า ผู้ใช้ ผู้บริโภคเข้าใจบทบาทของตน การควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช การเฝ้าระวังกลุ่มเป้าหมาย รณรงค์การใช้สารอื่นทดแทน เช่น สารชีวภาพต่าง ๆ หรือการรณรงค์ให้มีการใช้น้อยลง ใช้อย่างถูกวิธี ใช้ในระยะปลอดภัยเท่าที่จำเป็น ใช้สารเคมีร่วมกับสารสกัดทางชีวภาพ, ร่วมกับวิธีกลหรือทางเลือกอื่นๆที่เป็นไปได้ ปลูกพืชด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น

ปลูกพืชหมุนเวียน
ปลูกในฤดูที่เหมาะสม
พันธ์เหมาะสม การจัดการเหมาะสม เป็นต้น

ที่สำคัญที่สุด วิธีการที่ส่งเสริมต้องใช้ได้จริง แก้ปัญหาของเกษตรกรด้วยได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้มีการปลูก และการบริโภคพืชผักปลอดสารพิษ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงปัญหาให้ชัดเจน ร่วมไปถึงหน่วยงานรัฐควรทำการศึกษา พิจารณาสารเคมีชนิดมีพิษร้ายแรง เพื่อหาความเหมาะสมในการยกเลิก/นำเข้ามาในราชอาณาจักร และการกำหนดนโยบาย ออกกฎหมายเกี่ยวกับการบรรจุ จำหน่าย การค้าและโฆษณาให้สอดครองรัดกุมต่อแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง

กล่าวโดยร่วมแล้วทุกคนทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ความจำเป็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเป็นภัยคุกคามสุขภาพคนไทยมามากแล้ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและเพื่อความสำเร็จของเกษตรเคมีไทยอย่างยั่งยืนต่อไป.

https://content.chemipan.net
----------------------------------------------------------------


.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 23/05/2016 2:43 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ความเป็นพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช :

ปัญหาสุขภาพที่สำคัญคืออันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและมีเกษตรกรส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้สารเคมีฯที่ไม่ถูกต้อง ปลอดภัย ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง

อาการแสดงเฉียบพลันมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนรุนแรงถึงแก่ชีวิต ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้น ความเป็นพิษ และปริมาณที่ได้รับ

ส่วนอาการเรื้อรัง สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะสะสมในระบบต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติและโรคต่างๆ เช่น มะเร็งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง โดยการสัมผัสทางผิวหนัง การสูดหายใจละอองที่ฟุ้งกระจายในอากาศ และการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งพฤติกรรม

การใช้สารเคมีที่ไม่ปลอดภัยนั้นทำให้เกษตรกรผู้อาศัยในชุมชน และผู้บริโภคมีความเสี่ยงจากการได้รับอันตรายจากสารเคมีเพิ่มขึ้น

ความเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืชชนิดต่างๆ :
สารออร์กาโนฟอสเฟต :
มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาท รอบนอก โดยจะจับกับตัวเอ็นไซม์

โคลีนเอสเตอเรส : ซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทหยุดการทำงาน ผลการจับ ตัวกับเอ็นไซม์ทำให้ปริมาณของเอ็นไซม์ ลดลง และมีผลต่อกล้ามเนื้อต่างๆ ต่อมต่างๆ และกล้ามเนื้อเรียบซึ่ง ควบคุมอวัยวะต่างๆ ในการทำงานมากกว่าปกติ

เนื่องจากปริมาณเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสมีไม่มากพอที่จะหยุดการทำงาน พบอาการ ม่านตาหรี่ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น เดินโซเซ ชัก หมดสติ ระบบกล้ามเนื้อพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริวที่กล้ามเนื้อ ต่อมต่าง ๆ ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมา มาก ต่อมเหงื่อขับเหงื่อออกมามาก

สารคาร์บาเมต : สารในกลุ่มนี้มีการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับสารออร์กาโนฟอสเฟต แต่ความเป็นพิษน้อยกว่า อาการที่เกิดขึ้นเหมือนกับการได้รับสาร
ออร์กาโนฟอสเฟต ยกเว้นอาการชัก ไม่รู้สึกตัวเกิดขึ้นน้อย

สารออร์กาโนคลอรีน : สารกลุ่มนี้ถูกดูดซึมที่ผิวหนัง เมื่อได้รับมาก ๆจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลาง ถูกขัดขวาง พบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ

สารไพรีทรอยด์ : เป็นสารที่มีความไวทางชีวภาพสูง และใช้แบบเจือจาง สารกลุ่มนี้ถูกกำจัดออกจาก ร่างกาย ไม่ถูกสะสมอยู่ในร่างกาย พบอาการชา หายใจเร็วตื้น เจ็บคอ คอแห้ง แสบจมูก คันตามผิวหนัง ท้องเสีย น้ำลายไหลมาก หนังตากระตุก เดินโซเซ

สารกำจัดวัชพืช : เช่น สารพาราควอท ที่ออกฤทธิ์เร็วและจะเสื่อมฤทธิ์ทันทีเมื่อตกถึงพื้นดิน สารนี้ ละลายน้ำและแอลกอฮอล์ได้ดี ไม่มีสี มีกลิ่นอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นแอมโมเนีย สารนี้มีพิษต่อผิวหนัง และเยื่อเมือกพบอาการผิวหนังแห้งแตก ผื่นแดง เป็นแผล เล็บซีดขาว เล็บเปราะ ระบบหายใจ พบอาการไอ เลือดกำเดาไหล เจ็บคอ หากรับประทานเข้าไปทำให้เกิดพังผืดที่ปอด การหายใจล้มเหลว

สารเคมีกำจัดหนู : เช่น ซิงค์ฟอสไฟต์ มีความเป็นพิษมาก เมื่อถูกน้ำและกรดในกระเพาะอาหารเกิดปฏิกิริยาได้ก๊าซพิษฟอสฟีน ทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร ตับ ไต การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทำให้มีน้ำคั่งในปอด ปวดศีรษะ หายใจขัด ความดันโลหิตสูง อาจทำให้เสียชีวิตภายในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง

สารไธโอคาร์บาเมต : เป็นสารกลุ่มรักษาโรคพืช ลักษณะอาการเกิดขึ้นมีลักษณะเหมือนไพรีทรอยด์ .... ทางเดินหายใจ : พบอาการ คอแห้ง แสบจมูก ไอ .... ตา : พบอาการเคืองตา ตาแดง .... ผิวหนัง : พบอาการคันผิวหนัง มีจุดขาวที่ผิวหนัง ผื่นแดง

http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/106
----------------------------------------


.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 24/05/2016 6:18 am, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 23/05/2016 2:46 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ขณะนี้ได้มีการเรียกร้องจากภาคประชาชนไปยังกระทรวงเกษตรฯ ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพิษอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แต่ยังมีการใช้ในประเทศไทย สารเคมีพิษกลุ่มนี้ใช้กับพืช ผัก ผลไม้ หลายชนิดที่เราบริโภคในชีวิตประจำวัน เราลองมาดูพิษภัยของสารเหล่านี้ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกบริโภคยิ่งขึ้น

คาบูโฟราน :
กลุมศัตรูพืช : กำจัดแมลงในวงกว้าง ทั้งหนอนกอ หนอนเมลงวัน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฯลฯ
กลุ่มพืชที่ใช้ : ข้าว แตงโม ข้าวโพด มะพร้าว ถั่วเหลือ ถั่วฝักยาว แตงกวา กาแฟ ส้ม ฯลฯ
อาการ : อาเจียน เสียการทรงตัว มองไม่ชัด เป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง เซลล์ตับแบ่งตัวผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดเนื้องอก กลายพันธุ์ อสุจิตาย ทำลายเอนไซม์ที่เยื่อหุ้มสมอง

เมโทมิล :

กลุ่มศัตรูพืช : กำจัดแมลงหลายประเภท เช่น แมลงปากกัด ปากดูด เพลี้ย และหนอนชนิดต่างๆ
กลุ่มพืชที่ใช้ : องุ่น ลำไย ส้มเขียวหวาน สตอเบอร์รี่ กระหล่ำปลี หัวหอม มะเขือเทศ ฯลฯ
อาการ : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชัก พิษต่อหัวใจ ฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำลายท่อในลูกอัณฑะ ทำลายดีเอ็นเอ ทำให้โครโมโซมผิดปกติ เป็นพิษต่อม้าม

ไดโครโตฟอส :

กลุ่มศัตรูพืช : กำจัดแมลงประเภทปากดูด เจาะ หรือกัดในพืชผักผลไม้
กลุ่มพืชที่ใช้ : ข้าว กาแฟ ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว อ้อย คะน้า ส้ม ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ฯลฯ
อาการ : พิษต่อยีน กลายพันธุ์ เกิดเนื้องอก ก่อมะเร็ง พิษต่อไต พิษเรื้อรังต่อระบบประสาท ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง เจ็บเหมือนเข็มแทง มือเท้าอ่อนล้า

เอ็นพีแอล :

กลุ่มศัตรูพืช : ผสมกับสารเคมีเกษตรชนิดอื่นๆ ในการเพาะปลูก เพื่อกำจัดแมลงหลายชนิด เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกอข้าว แมลงดำหนาม
กลุ่มพืชที่ใช้ : ข้าว ข้าวโพด พืชตระกูลแตง ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ
อาการ : ท้องเสีย แน่นหน้าอก มองไม่ชัด สูญเสียการทรงตัว ไอ ปอดปวม หยุดการหายใจ ทำลายระบบประสาท ไขสันหลังผิดปกติ น้ำหนักสมองลดลง

http://www.greennet.or.th/article/1097

--------------------------------------------------------------------


.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 23/05/2016 2:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ทุกฝ่ายร่วมหนุนกระทรวงเกษตรฯ แบนสารเคมีทางการเกษตรก่อมะเร็ง 4 ชนิด

เขียนโดย admin เมื่อ 18 ก.พ. 2013

เวที สช.เจาะประเด็นระดมความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หลังพบสถานการณ์โรคร้ายกับผู้บริโภคและเกษตรกร ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ภูมิแพ้ หวั่นลามไปถึงหญิงมีครรภ์และลูกในท้อง เร่งยกเลิกทันที 4 รายการ ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น เชื่อเป็นวัตถุอันตรายร้ายแรง พบหลายประเทศทั่วโลกหันหลังให้ แต่ประเทศไทยยังวางขายเกลื่อน

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็นเรื่อง

"นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง"

ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มี ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.อัมรา เวียงวีระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นพ.พิบูลย์ อิสระพันธ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์ ชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมให้ข้อมูล

นพ.พิบูลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้เจ็บป่วยจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเมื่อปี 2555 ด้วยวิธีตรวจเลือดเกษตรกรในพื้นที่ 16 จังหวัด จำนวน 152,846 คน พบผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจำนวน 46,016 คน คิดเป็นสัดส่วน 30% และเกษตรกรที่อยู่ในสภาวะปลอดภัยจำนวน 106,830 คน คิดเป็นสัดส่วน 70% เนื่องจากเกษตรบางส่วนฉีดพ่นสารเคมีโดยไม่มีการป้องกันตัวเอง มีโอกาสเป็นโรคร้ายหลายชนิด ทั้งระยะสั้น ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบ มึนงง เวียนศรีษะ คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้า ปอดเป็นผังผืด จนถึงเสียชีวิต และในระยะยาวมีผลต่อการพัฒนาสมองผิดปกติ ความจำเสื่อม ผิวหนังแข็ง และเกิดความผิดปกติของทารก

ขณะที่ตัวเลขปริมาณนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช ก็มีมูลค่าสูงขึ้นมากจาก 14,643 ล้านบาท เมื่อปี 2550 มาเป็น 20,875 ล้านบาท ในปี 2554 และเมื่อรวมปริมาณที่นำเข้าทั้งหมดในช่วง 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2548-2552 แล้ว การนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยจะมีปริมาณมากถึง 520,321 ตัน คิดเป็นความสูงเทียบเท่าตึกใบหยก 2

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 4 รายการ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนโดยตรง หรือเกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเวลานาน มีโอกาสรับสารพิษเหล่านี้ได้โดยตรง ส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และระบบประสาท หรือหากสะสมไว้ในร่างกายทำให้เกิดโรคร้ายตามมา เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน เพราะสารมีพิษเหล่านี้จะซึมลึกเข้าไปถึงระดับ ดีเอ็นเอ โครโมโซม หรือ ยีน ในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นของการมีชีวิต นำไปสู่ความบกพร่องของการสร้างเอ็นไซม์หรือฮอร์โมนต่างๆขึ้นมา

นอกจากนั้น ในงานวิจัยทางการแพทย์ ยังเคยตรวจพบสารเคมีทางการเกษตรหลายชนิด ตกค้างอยู่ในน้ำคร่ำของหญิงมีครรภ์ ขณะที่เด็กทารกซึ่งคลอดออกมาแล้ว ก็พบสารเคมีทางการเกษตรอยู่ในปัสสาวะ จะเห็นได้ว่า มหันตภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเพียงแค่ 4 ชนิดนี้เท่านั้น มีโอกาสเข้าไปสะสมใน ดีเอ็นเอ ยีน และเอ็นไซม์ ของเด็กแรกเกิด ทำให้มีโอกาสเป็นเด็กออทิสติก เกิดผลกระทบต่อการเรียนรู้ในอนาคตได้

ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำเรื่องเสนอไปยังรัฐบาลขอให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียน การนำเข้า การส่งออก รวมถึงห้ามมีสารเคมีเกษตรทั้ง 4 ชนิดไว้ในครอบครองโดยเด็ดขาด ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว อยู่ระหว่างการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและเสนอความเห็นกลับมายังครม.อีกครั้ง โดยทางสภาที่ปรึกษาฯเห็นว่าสารเคมีทางการเกษตรชนิดใด ที่ประเทศต้นทางของผู้ผลิต ได้สั่งห้ามไม่ให้มีการใช้แล้ว ก็ไม่ควรอนุมัติให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้อีก

สำหรับสารเคมีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวมีการใช้ในประเทศไทยมานาน ส่งผลให้แมลงศัตรูพืชอาจเกิดการดื้อยา เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องใช้ปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเกิดการสะสมทั้งในร่างกายของเกษตรกรผู้ปลูกเอง และปนเปื้อนมากับพืชผักที่ผู้บริโภคซื้อไปรับประทาน

ดังนั้น สภาที่ปรึกษาฯจึงเห็นควรให้มีการทบทวนและปรับวิธีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายใหม่ทั้งระบบและเสนอให้ มีคณะกรรมการเคมีแห่งชาติ เปิดให้นำเสนอข้อมูลและเอกสารทางวิชาการมาประกอบการพิจารณา มีการจำกัดระยะเวลาในการใช้ ไม่ใช่การขึ้นทะเบียนแล้วจะวางจำหน่ายได้ตลอดไป เช่น เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วทุกๆ 3 ปี ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณา นอกจากนั้น ยังควรมีการควบคุมการโฆษณาการขายสารเคมีเกษตรที่เป็นวัตถุเคมีอันตรายอย่างเคร่งครัด

นางอรพรรณ กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง “ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” นี้ เป็นฉันทามติของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกว่า 1,800 คน จากหลากหลายองค์กร/เครือข่าย เป็นมติที่ประกาศร่วมกันอย่างชัดเจนว่า ต้องการสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ประกาศเดินหน้าแบนสารเคมีทางการเกษตร 4 ชนิด โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรทบทวนการอนุญาตการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะ

คาร์โบฟูราน
เมโทนิล
ไดโครโตฟอส
อีพีเอ็น

เพื่อเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง นับเป็นการทำหน้าที่ที่น่าชื่นชมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่นำข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ไปประกอบการพิจารณาร่วมกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดจากการตีคืนสินค้าเพราะการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรที่เป็นอันตรายเหล่านี้ในสินค้าเกษตรของไทย รับเป็นการประกาศนโยบายสาธารณะทางการเกษตรที่ห่วงใยสุขภาพ ซึ่งสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติคงจะได้เฝ้าติดตามและสนับสนุนการประกาศนโยบายนี้ให้เป็นจริงโดยเร็วด้วย

ดร.อัมรา ตัวแทนจากกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการข้าวไม่แนะนำให้มีการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 4 ชนิดในการปลูกข้าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะพิษของสารเคมีจะไปทำลายตัวห้ำ ตัวเบียน ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ในการกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว และยังมีผลให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีการระบาดเพิ่มขึ้น ชาวนาก็ต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมีมากขึ้นทุกปี ผลผลิตข้าวลดลง ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ธรรมชาติก็เสียความสมดุล

“เวลามีการอบรมเกษตรกร กรมการข้าวจะย้ำเตือนว่าไม่ให้ใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ซึ่งเท่าที่พบขณะนี้ก็ถือว่ามีเพียงส่วนน้อยมากเท่านั้นที่ยังใช้อยู่ เราจะแนะนำว่าหากจำเป็นก็มีสารชนิดอื่นทดแทนและต้องไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ดร.อัมรากล่าว

นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์ ชาวบ้านอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้เคยมีประสบการณ์ใช้สารเคมีมานานถึง 10 ปี แต่ปัจจุบันหันมาทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ กล่าวว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 รายการ คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น มีการใช้มา 40-50 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่รู้ถึงผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพ การฉีดพ่นส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากากและเสื้อแขนยาวในการปกป้องผิวหนัง เมื่อสูดดมสารเคมีเข้าไปจำนวนมากทุกวัน ทำให้บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคภูมิแพ้โดยไม่ทราบสาเหตุ ผิวหนังเป็นผื่นคันหรือมีน้ำเหลืองไหลออกมา บางคนเกิดปัญหาสายตาฝ้าฟาง กระทั่งผลการสำรวจล่าสุดที่ออกมา พบภาวะผิดปกติของเลือดในร่างกาย รวมถึงโรคมะเร็งตับเนื่องจากมีสารพิษไปสะสมจำนวนมาก

“ผู้บริโภคก็ไม่มีโอกาสรับรู้ได้ว่าผักผลไม้ที่ซื้อไปรับประทานนั้นจะมีสารเคมีอยู่มากน้อยเพียงใด เนื่องจากความเร่งรีบของชีวิตคนเมือง ทำให้พฤติกรรมการบริโภคต้องทำแบบเร่งด่วน ไม่มีโอกาสเลือกหรือตรวจสอบสินค้าว่าจะมีสารปนเปื้อนอยู่หรือไม่ สุดท้ายแล้วจึงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นายน้ำค้างกล่าว

นายน้ำค้าง ระบุว่า เสนอให้รัฐบาลเร่งยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย และหากมีสินค้าที่ออกวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดก็ให้เร่งเก็บคืนให้หมดโดยเร็ว รวมถึงพัฒนาเกษตรกรรมทางเลือกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ พืชสมุนไพรไทย ซึ่งสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี แต่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าจะลดปัญหาสุขภาพและสร้างสมดุลให้กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง


สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140
http://www.nationalhealth.or.th/node/388

-----------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 23/05/2016 8:25 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

kimzagass บันทึก:
.
.
ทุกฝ่ายร่วมหนุนกระทรวงเกษตรฯ แบนสารเคมีทางการเกษตรก่อมะเร็ง 4 ชนิด

เขียนโดย admin เมื่อ 18 ก.พ. 2013


-----------------------------------------------------------------

COMMENT :

จากวันนั้น 18 ก.พ. 2013 ถึงวันนี้ 23 พ.ค. 2016 รวมระยะเวลา 3 (+) ปี
ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นคือ ไม่มีปฏิบัติการใดๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร นั่นเอง....


ยกเว้น .... ที่นี่ สีสันชีวิตไทย และ เกษตรลุงคิมดอทคอม เท่านั้น (ไม่ได้โม้.....)



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©